ฉบับที่ 116 การเลือกซื้อที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็ก

หลายครั้งที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ พาลูกที่เป็นทารก หรือเด็กน้อยติดไปกับรถยนต์ด้วย และก็มักจะพบภาพ ที่ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากกฎหมายบ้านเรา ไม่ได้บังคับให้ติดตั้งที่นั่งเสริมนิรภัยสำหรับเด็กเหมือนในยุโรปหรืออเมริกา เนื่องจากเด็กนั้นมีสถานะพิเศษต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ (ที่ไม่ใช่รัฐล้มเหลว หรือ failed state) หากพ่อแม่หรือใครก็ตามที่ละเมิดสิทธิของเด็ก ก็จะต้องโดนกฎหมายเอาผิดครับ ทำให้พ่อแม่ที่พาเด็กติดรถ จะต้องขับด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เด็กจะบาดเจ็บมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า  ถึงแม้นว่าจะขับด้วยความเร็ว 30 กิเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขับรถชน ด้วยความเร็วขนาดนี้ ทารกหรือเด็ก ก็อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ ที่ตระหนักถึงความปลอดภัย และคิดอยากจะติดตั้งที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ช่วง ฉลาด ช้อป วันนี้มีเคล็ดลับดีๆ มาแนะนำครับ ประเภทของที่นั่งเสริม ในการเลือกซื้อที่นั่งสำหรับเด็ก จะต้องพิจารณาถึงอายุ และขนาดของเด็กเป็นสำคัญ การแบ่งประเภทของที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ตามน้ำหนักของเด็กครับ โดยแบ่งออกเป็นประเภท 0, 0+, I, II, III ประเภท 0 หมายถึง ที่นั่งเสริม ที่จะติดตั้งให้หันหัวไปทางด้านหลังรถ เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม เป็นที่นั่งเสริมที่ปลอดภัยสูง ประเภท I เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักระหว่าง 9-18 กิโลกรัม ที่นั่งเสริมประเภทนี้ จะมีระบบยึดติดตัวเด็กแบบยึดเข็มขัดนิรภัยที่ตัวเด็ก (full belt safety harness system) และระบบนี้มีข้อดี คือ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกัน แรงกระแทกที่กระทำต่อที่นั่งเสริมจะน้อย แต่การติดตั้งที่นั่งเสริมประเภทนี้ ค่อนข้างยุ่งยากทีเดียว ประเภท II เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 15 – 25 กิโลกรัม หรือ อายุ ตั้งแต่ 3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ปี และ ประเภท III เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 22 – 36 กิโลกรัม หรือ อายุ ตั้งแต่ 6 ขวบ ถึง 12 ปี ที่นั่งเสริมทั้งสองสามารถปรับระดับความสูงของที่นั่งได้ และมีพนักพิงด้านหลังและด้านข้าง ตำแหน่งและทิศทางในการติดตั้ง ทิศทางในการติดตั้งที่นั่งทารกและเด็กเล็กที่ปลอดภัย คือ การที่ให้เด็กนั่งหันหน้าเข้าสู่เบาะหลัง  เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุ มีการชนเกิดขึ้น ความปลอดภัยจากการติดตั้งที่นั่งแบบนี้จะสูงมาก เพราะกระดูกต้นคอเด็กจะได้รับการปกป้องจากแรงชนปะทะ นักวิจัยทางด้านอุบัติภัยแนะนำให้ใช้การติดตั้งที่นั่งแบบนี้ กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ การติดตั้งที่นั่งแบบหันหน้าเข้าสู่เบาะ จะใช้พื้นที่มาก บางครั้งอาจต้องปรับที่นั่งข้างคนขับไปด้านหน้าจนสุด เพื่อให้มีพื้นที่ด้านหลังเพียงพอต่อการติดตั้ง กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 4 ขวบ ควรติดตั้งที่นั่งหันหน้าไปทิศทางเดียวกับรถวิ่ง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ กล้ามเนื้อต้นคอแข็งแรงแล้ว นอกจากนี้เข็มขัดนิรภัยของที่นั่งเสริม ยังช่วยป้องกันการเหวี่ยงตัวได้ดี ที่นั่งเสริมแบบนี้ประกอบด้วย พนักหลังพิง (seat back) และพนักสำหรับพักศีรษะ (head cusion) ตามรูปที่ 1 ในกรณีที่ติดตั้งที่นั่งสำหรับเด็ก ไว้ที่ที่นั่งข้างคนขับ จะต้องปรับตำแหน่งที่นั่งให้เลื่อนไปข้างหลัง และต้องล็อคการทำงานของ air bag เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เมื่อ air bag ทำงานจะไปกระแทกที่นั่งเสริม ทำให้ไม่ปลอดภัยได้  เครื่องหมายแห่งคุณภาพ การเลือกซื้อที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก คุณพ่อคุณแม่ ควรจะลองติดตั้งในรถดู และลองให้ลูกลองนั่งดูก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสบายของเด็ก และดูว่าที่นั่งเสริมนั้น เหมาะกับขนาดตัวของเด็กหรือเปล่า นอกจากนี้ยังจะต้องดูด้วยว่าที่นั่งเสริมสำหรับเด็กนั้น มีเครื่องหมายมาตรฐาน ECE R 44 หรือไม่ เครื่องหมายนี้ ทางสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (Der Allgemein Deutsche Automobile Club: ADAC) ได้ทำการทดสอบและให้ เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้คุณพ่อแม่สะดวกในการตัดสินใจเลือกซื้อที่นั่งเสริม เนื่องจากตามกฎหมายยุโรปนั้น ที่นั่งเสริมเป็นอุปกรณ์บังคับ ในกรณีที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี นั่งอยู่ในรถ สำหรับประเทศไทยนั้นการใช้ที่นั่งเสริมยังไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายบังคับ แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ท่านใด ที่ประสงค์อยากจะติดตั้งที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก ในเบื้องต้นก็อาจจะลองหาสัญลักษณ์ ECE R 44 เพื่อความปลอดภัยของลูกรักในการนั่งรถยนต์ร่วมทางไปกับผู้ใหญ่ครับ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 “รถใช้น้ำ” ช่วยโลกร้อน ประหยัดเชื้อเพลิง ?

ราคาน้ำมันที่พุ่งตัวสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้ สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้ใช้รถเป็นจำนวนมาก ในสื่อต่างๆ มีการโฆษณาถึงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบหลากหลาย ที่อวดอ้างสรรพคุณว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความสามารถ ช่วยลดปริมาณการปล่อยมลภาวะ และยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมัน อันทำให้ช่วยผู้ใช้รถจำนวนมากสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ วันนี้มีเพื่อนสมาชิกสอบถามเข้ามาถึงเรื่อง “รถใช้น้ำ” ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด คอลัมน์ ช่วง ฉลาด ช้อป มีคำตอบให้ครับ รถพลังงานน้ำ vs. รถพลังงานไฮโดรเจนตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว การได้มาซึ่งพลังงานเกิดจากการปฏิกริยาทางเคมีของสสารที่มีพลังงานสะสมสูงกว่า เปลี่ยนไปเป็นสสารที่มีพลังงานสะสมต่ำกว่า โดยระหว่างการเปลี่ยนแปลงนั้นสสารจะปลดปล่อยพลังงานออกมา ยกตัวอย่างเช่น การเผาไหม้ของสสารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (พลังงานฟอสซิล) ไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซออกซิเจน   เปรียบเช่นเดียวกับกระบวนการหายใจของมนุษย์ ที่สามารถเปลี่ยนอาหารที่มนุษย์รับประทานไปทำปฏิกริยากับก๊าซออกซิเจน ทำให้ได้มาซึ่งพลังงานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราหายใจออกมา   ในลักษณะเดียวกัน ก๊าซไฮโดรเจน สามารถทำปฏิกริยากับก๊าซออกซิเจน ทำให้เกิดน้ำและพลังงาน ได้เช่นกันดังสมการเคมี   เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนมีพลังงานสะสมสูงกว่าน้ำ ลักษณะเช่นนี้เป็นที่มาของพลังงานทางเลือกใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า Hydrogen Fuel เมื่อนำหลักการนี้มาใช้เป็นพลังงานแก่รถยนต์ เราจึงเรียกว่ารถพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาและกำลังคาดหมายว่าจะสามารถมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ในทางตรงกันข้ามหากเราต้องการนำน้ำมาทำให้เกิดไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน สิ่งที่เราต้องทำคือการใส่พลังงานลงไปในน้ำเพื่อทำให้เกิดปฏิกริยาดังสมการเคมี ซึ่งปฏิกริยาดังกล่าวสามารถทำได้ด้วยกระบวนการ Electrolysis คือการใส่พลังงานไฟฟ้าผ่านขั้วไฟฟ้าทั้งสองลงไปในน้ำ ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนที่ขั้วลบ และก๊าซออกซิเจนที่ขั้วบวก  จากหลักการที่อธิบายมานี้จะเห็นได้ว่า รถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนนั้นกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ในทางตรงกันข้ามการให้ได้มาซึ่งพลังงานจากน้ำโดยปฏิกริยาเคมีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะน้ำเป็นสสารที่มีพลังงานสะสมต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจน ดังนั้นรถยนต์ที่วิ่งได้ด้วยพลังงานน้ำล้วนๆ จึงไม่มีอยู่จริง แล้ว “รถใช้น้ำ” ที่โฆษณากันคืออะไร? หลักการของอุปกรณ์เหล่านี้ คือ ติดตั้งตัว Electrolyze โดยนำพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อแยกเอาก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนออกจากน้ำ แล้วนำเอาก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซออกซิเจนที่ได้เหล่านั้น ใส่เข้าไปในเครื่องยนต์ โดยมักจะอ้างว่าเป็นการทำให้เครื่องยนต์ใช้น้ำมันน้อยลง และเกิดมลภาวะที่น้อยลงด้วย   ข้อเท็จจริง: การนำก๊าซไฮโดรเจนใส่เข้าไปในเครื่องยนต์นี้ ได้รับการศึกษาและรับรองทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า “สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ และทำให้เกิดมลภาวะที่น้อยลงจริง” แต่ประสิทธิภาพก็เพิ่มในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้มักไม่พูดถึงคือ กระบวนการ Electrolysis เพื่อแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงานเช่นเดียวกัน โดยพลังงานที่ว่านี้ก็มาจากแบตเตอรี่ ซึ่งมาไล่เรียงกันดีๆ แล้ว จะเห็นว่าพลังงานแบตเตอรี่ก็มาจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ ก็คือพลังงานน้ำมันนั้นเอง  และเมื่อพิจารณาตามกฎทางเทอร์โมไดนามิกแล้ว ในทุกกระบวนการนั้นจะต้องเกิดการสูญเสียพลังงานทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การนำพลังงานทางกลที่ได้จากน้ำมัน ไปปั่นเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วนำพลังงานไฟฟ้าไปแยกไฮโดรเจน แล้วนำกลับมาเผาไหม้ใหม่ จึงเป็นกระบวนการที่ไม่คุ้มอย่างยิ่ง โดยสรุปจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อุปกรณ์พวกนี้จะสามารถช่วยประหยัดการใช้น้ำมันได้ ที่ต่างประเทศก็มีการขายผลิตภัณฑ์เช่นนี้เหมือนกันไม่ใช่หรือ? ณ ปัจจุบัน ไม่มีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ใดๆ ที่ได้รับการรับรองและค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์จาก United States Environmental Protection Agency นั้นหมายความถึง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในต่างประเทศก็อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคเช่นกัน ผลิตภัณฑ์พวกนี้โดยส่วนมาก มักจะมีการอ้างถึงผลการทดสอบการประหยัดน้ำมัน และการปล่อยมลภาวะ ซึ่งค่าที่เกิดจากการทดสอบเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นได้จากลักษณะการขับขี่ หรือการปรับค่าของหัวฉีดและ Engine Control Unit (ECU) ต่างๆ สรุปโดยรวมแล้ว การใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดจากการใช้กระบวนการ Electrolysis แยกออกมาจากน้ำนั้น ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้รถที่ติดตั้งอุปกรณ์สามารถประหยัดน้ำมันได้จริง ขณะที่เรากำลังรอการมาของเทคโนโลยีรถที่ใช้ Hydrogen fuel cell การดูแลเช็คสภาพรถยนต์ ให้อยู่ในสภาพดี ตรวจสอบลมยางและไส้กรองอยู่เสมอ ไม่บรรทุกของเกินความจำเป็น รวมถึงขับรถไม่เร็วเกินไปนัก หรือถ้าเป็นไปได้ก็หลีกเลี่ยงการใช้รถเมื่อไม่จำเป็น น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการประหยัดน้ำมันในยุคน้ำมันราคาแพงนี้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 ที่นอนแบบไหน เหมาะกับตัวเรา

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค  ที่นอนแบบไหน เหมาะกับตัวเรามีคำถามจากเพื่อนสมาชิกเข้ามาว่า จะเลือกซื้อที่นอนประเภทไหนถึงจะดีที่สุด ช่วง ฉลาด ช้อป มีคำตอบให้ดังนี้ครับ เนื่องจากที่นอนที่ขายอยู่ในตลาดปัจจุบันนั้น มีความหลากหลายมาก และแตกต่างกันมาก ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งในการเลือกซื้อ เราควรจะต้องเลือกที่นอนที่ทำให้เรามีความสบายที่สุดในเวลาที่เรานอน ซึ่งแต่ละคนนั้นก็จะแตกต่างกันไปไม่ว่า จะป็น อายุ เพศ สภาพร่างกายและน้ำหนัก  การเลือกซื้อที่นอนจึงเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อที่นอนสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ เราจะต้องทดลองนอนก่อน โดยที่เราจะต้องมีการเตรียมการและวางแผนนานพอสมควร(ซึ่งเป็นนิสัยของคนเยอรมันนะครับ ที่ก่อนจะทำอะไรไม่ว่าเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ก็ต้องมีการวางแผน ซึ่งบางครั้งมันก็น่าเบื่อครับ สู้ปล่อยให้เป็นเรื่องของดวงไม่ได้ น่าตื่นเต้นกว่า) เพื่อให้ได้ที่นอนที่เหมาะกับเราที่สุด อย่าลืมว่า ที่นอนที่เราซื้อมานั้น เราจะใช้งานนานเป็นสิบๆ ปี และต้องใช้ทุกวัน เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อให้มากที่สุด การมีที่นอนที่ดี ก็เหมือนกับมีชีวิตที่ดี  สำหรับคนที่มีปัญหา ปวดเมื่อย ก็ลองหันไปเปลี่ยนที่นอนดู อาจจะช่วยได้ครับ ในช่วงอายุของคนเรานั้น ความต้องการเรื่องที่นอนก็จะต่างกันไปตามวัย สภาพและขนาดของร่างกาย เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อ ก็ต้องคำนึงถึงอายุ สภาพและขนาด ของร่างกายของเราด้วย มาเริ่มด้วยที่นอนสำหรับเด็กเล็ก ในกรณีที่นอนของเด็กเล็ก ควรเลือกซื้อที่นอนของเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพราะถ้าที่นอนไม่เหมาะสมกับเด็กแล้วจะส่งผลให้พัฒนาการทางร่างกายของเด็กผิดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็น ศีรษะ กระดูกสันหลัง อาจส่งผลให้เด็กมีอาการปวดหลังได้ ที่นอนสำหรับเด็กควรจะยืดหยุ่น แต่มีความแข็งแรง เนื่องจากกระดูกสันหลังของเด็กเล็กยังไม่ได้พัฒนาเป็นรุปตัว S เหมือนผู้ใหญ่ หากที่นอนไม่ยืดหยุ่นพอ ก็ทำให้ไม่สามารถรับแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังของเด็กได้ทำให้เกิดปัญหากระดูกสันหลังตามมา  ในการเลือกซื้อที่นอนของเด็ก ก็ให้ดูว่าเมื่อวางตัวเด็กลงบนที่นอนแล้ว ที่นอนไม่ควรยุบตัวลงเกิน กว่า 2- 3 เซนติเมตร นอกจากนี้ควรเลือกที่นอนที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติที่ปลอดจากสารเคมี เช่น ที่นอนเส้นใยมะพร้าว ที่นอนจากขนม้า แต่ข้อเสียของที่นอนประเภทนี้ คือ การดูแลรักษาที่ยุ่งยาก เพราะต้องหมั่นพลิกกลับที่นอนเป็นประจำ  เพื่อให้ที่นอนคงคุณภาพไว้ได้นานๆ   ที่นอนสำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ ต้องการที่นอนแบบพิเศษ ที่ไม่ทำให้ร่างกายเกิดอาการผื่นคันหรือระคายเคืองตาและมีน้ำมูกไหล เพราะอาการภูมิแพ้  สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นที่นอนที่ไม่ได้เป็นแหล่งหลบซ่อนของไรฝุ่น (Acarodermatitis) เนื่องจากที่นอนที่มีความชื้น สัตว์ประแภทนี้ชอบหลบอาศัยอยู่ และหากเป็นที่นอนประเภทเส้นใยธรรมชาติ ก็จะเป็นแหล่งอาศัยของไรฝุ่นป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงไรฝุ่น ควรเลือกที่นอนที่ทำจากยางพารา เพราะสามารถระบายความชื้นออกจากที่นอนได้ดี   ที่นอนจากยางพารา โดยทั่วไปแล้วที่นอนที่ทำจากยางพารา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยางสังเคราะห์ (synthetic latex) และยางธรรมชาติ (natural latex) ที่นอนจากยางธรรมชาติ จะมีความยืดหยุ่นสูงกว่ายางสังเคราะห์  ส่งผลให้อายุการใช้งานนานกว่า ที่นอนรักษารูปทรงดีกว่า ที่นอนที่ทำจากยางสังเคราะห์ เพราะฉะนั้นในการเลือกซื้อควรพิจารณาดูด้วยว่าที่นอนจากยางพารานั้น เป็นยางธรรมชาติ  100 % หรือ มียางสังเคราะห์ผสมอยู่ ถ้าปริมาณของยางสังเคราะห์ผสมอยู่มากคุณภาพก็จะลดลง แต่ผู้บริโภคต้องพึงระวังด้วยว่า บางครั้งผู้ขายอาจโฆษณาว่าเป็นที่นอนทำจากยางพารา แต่ตามกฎหมายของยุโรป หากมียางสังเคราะห์ผสมอยู่ไม่เกิน 20 % ก็สามารถเรียกผลิตภัณฑ์ได้ว่าเป็น ที่นอนจากยางธรรมชาติ ข้อดีของที่นอนจากยางพาราคือ ไม่ดูดซึมความชื้น ระบายอากาศดี ทำให้หลับสบาย และเนื่องจากมีความยืดหยุ่นดีทำให้  ปรับรูปทรงให้เข้ากับร่างกายขณะนอน และรับน้ำหนักได้ดี นอกจากนี้การดูแลรักษาก็ง่ายและสะดวก ในการดูแลรักษาควรพลิกกลับที่นอนเป็นระยะๆ  เพื่อช่วยในการระบายความชื้น นอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องโดยตรงบนที่นอน โดยเฉพาะที่นอนที่มีส่วนผสมยางธรรมชาติเพราะจะทำให้ที่นอนเสื่อมสภาพ และเสียรูปทรงเร็วกว่าปกติ  นอกจากนี้ผ้าปูที่นอน ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าที่นอน ซึ่งเราควรเลือกผ้าปูที่นอนที่ไม่ดูดความชื้นและปลอดสารเคมี นอกจากนี้ควรหมั่นถอดออกมาซักเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งของไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 112-113 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 2

  คราวที่แล้วได้นำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป ไปด้วยกันหลายข้อ ได้แก่ คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อ เที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง, ค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่, ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย)…ซึ่งยังไม่หมดนะครับ ยังมีคำแนะนำที่น่าสนใจอีกหลายข้อ ดังนี้ คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป(ต่อ) 5. แล้วถ้าไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบิน และบริการเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจท่องเที่ยว• รายงานปัญหาต่อบริษัทเรือ/รถไฟ/รถประจำทางทันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังจุดหมายปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเดินทางโดยเรือ/รถไฟ/รถประจำทาง เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน 6. แล้วถ้าไม่สามารถต่อเที่ยวบินได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า (ก) ในกรณีที่เป็นเที่ยวบินทรานสิท (ข) ในกรณีที่บัตรโดยสารสองใบซื้อแยกกัน ก) ดูข้อ 7 กรณีแพ็คเกจท่องเที่ยวข) ผู้โดยสารมี• สิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบิน (เช่น สายการบินต้องให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในฐานะผู้โดยสาร และต้องแจ้งสถานการณ์ให้ผู้โดยสารรับทราบกรณีมีการเปลี่ยนแปลง)• สิทธิที่จะเลือกระหว่างการขอเงินค่าบัตรโดยสารคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร• สิทธิที่จะได้รับการดูแลตามที่อธิบายไว้ในข้อ 1 ถ้าทางเลือกของผู้โดยสารคือการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ และการยกเลิกเที่ยวบินทรานสิทเกิดขึ้นหลังจากที่ออกจากสถานที่พักอาศัยแล้ว 7. ในกรณีที่จองแพ็คเกจท่องเที่ยวไว้ แล้วเที่ยวบินถูกยกเลิกไม่สามารถเดินทางได้เพราะน่านฟ้าปิด สามารถเรียกร้องเงินที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับแพ็คเกจท่องเที่ยวได้หรือไม่(ตัวอย่างของแพ็คเกจท่องเที่ยวคือสิ่งที่ผู้โดยสารเลือกจากโบรชัวร์ของบริษัทท่องเที่ยว ซึ่งรวมเที่ยวบินและการพักโรงแรมไว้ด้วย การท่องเที่ยวของผู้โดยสารจะไม่ถือว่าเป็นแพ็คเกจท่องเที่ยวถ้าผู้โดยสารจองบริการต่างๆ แยกจากกัน ถ้าผู้โดยสารยังไม่เริ่มต้นเดินทางผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลจากสายการบินหรือจากบริษัทท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนที่จ่ายไป (รวมถึงค่าโดยสารและค่าโรงแรม) หรือผู้บริโภคอาจจะรับแพ็คเกจทดแทน ถ้าได้รับการยื่นข้อเสนอจากผู้จัด ผู้โดยสารไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยอื่น นอกจากการเรียกร้องเงินคืน ถ้าแพ็คเกจท่องเที่ยวถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ (“เหตุสุดวิสัย”) ซึ่งกรณีเถ้าภูเขาไฟระเบิดปกคลุมน่านฟ้า จะถูกพิจารณาเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอื่นเพิ่มเติม  ถ้าผู้โดยสารอยู่ที่จุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทนำเที่ยว (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ตัวอย่างเช่น ข้อมูลสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การยกเลิกและระยะเวลาที่ล่าช้า เครื่องดื่ม อาหารและอุปกรณ์ในการสื่อสาร ผู้จัด (หรือตัวแทนท่องเที่ยว) ยังต้องจัดหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมโดยไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สำหรับความต่อเนื่องของแพ็คเกจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการเดินทาง เช่น เที่ยวบินสองสามวันหลังจากนั้น และที่พักในโรงแรม  (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) 8. กรณีจองบ้านพักตากอากาศ/โรงแรม/เรือ แยกจากกัน ถ้าเครื่องบินไม่สามารถออกเดินทางได้เนื่องจากการปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจองคืนหรือไม่• รายงานปัญหาต่อเจ้าของบ้านพัก/โรงแรม/บริษัททันที และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร• รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้• ถ้าผู้โดยสารได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว อาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น• ถ้าผู้โดยสารไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่าพัก เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น (คำแนะนำ ผู้โดยสารควรจะเก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เนื่องจากการถูกระงับเที่ยวบิน) ถ้าทำสัญญาแยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปข้อใดที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในลักษณะนี้ ดังนั้น ผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับสัญญาที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสารทางอากาศผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทสายการบิน การ ทำงานขององค์การอิสระผู้บริโภคของยุโรป เป็นการกระทำที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสากลแบบไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาติ และสีทางการเมืองของผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้า และจริงๆ แล้วคณะกรรมมาธิการยุโรปได้มีนโยบายเฝ้าระวังสายการบินราคาถูกที่มักจะมีปัญหาเรื่องเครื่องบินล่าช้า หรือยกเลิกเที่ยวบินเป็นประจำจนทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนมาก หวังว่าหากเพื่อนสมาชิกฉลาดซื้อจะได้ประโยชน์จากบทเรียนครั้งนี้บ้าง และถ้ากรมขนส่งทางอากาศ ที่ทำหน้าที่เป็น เรกูเลเตอร์โดยตรง เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศไทยในปี 2552 ที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน คนต่อปี* นำไปปรับใช้กับสายการบินในประเทศไทยเราบ้างก็จะได้รับการสรรเสริญจากผู้โดยสารอีกไม่น้อยเลยทีเดียว * ข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 111 เมื่อน่านฟ้าถูกปิด ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง ตอนที่ 1

จากเหตุภูเขาไฟอายยาฟยาพลาเยอร์คุดุในไอซ์แลนด์ปะทุขึ้น จนทำให้เกิดกลุ่มหมอกและควันไฟปกคลุมทั่วท้องฟ้าจนมีผลให้ทางอียูต้องสั่งปิดน่านฟ้า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการปิดน่านฟ้าได้สร้างความวุ่นวายใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปต่อนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางทั่วไป แต่แม้จะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ สิทธิของผู้โดยสารทางอากาศของสหภาพยุโรปยังคงใช้ได้อยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิของผู้บริโภคนั้น เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หากคนไทยที่เดินทางไปยุโรปแล้วประสบเคราะห์กรรมจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ สิทธิของผู้บริโภคก็ย่อมได้รับความคุ้มครองเช่นกันโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและความเชื่อ ตลอดจนสีทางการเมือง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์การอิสระนั้น จึงถือว่าเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งผู้บริโภคควรจะช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง คำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินในสหภาพยุโรป 1. เกิดอะไรขึ้นถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องถ้าเที่ยวบินของเราถูกยกเลิก หรือล่าช้าเป็นเวลาเกินกว่าห้าชั่วโมง หรือผู้โดยสารได้รับการปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนสำหรับบัตรโดยสารที่ไม่ได้ใช้ หรือสามารถยอมรับการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ไปยังจุดหมายปลายทางสุดท้ายได้ ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารสามารถเลือกได้ระหว่างการขอเงินคืนหรือการเปลี่ยนเส้นทาง ถ้าผู้โดยสารเลือกขอเงินคืน ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะขอเงินคืนเต็มจำนวนค่าบัตรโดยสารที่ได้จ่ายไป(รวมภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) สำหรับการขอเงินคืน ผู้โดยสารควรจะยื่นเรื่องต่อบริษัทสายการบินที่ทำการจองบัตรโดยสารไว้ จำไว้ว่าเมื่อไรที่ผู้โดยสารรับเงินคืนแล้ว สายการบินไม่มีข้อผูกมัดต่อผู้โดยสารในเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางใหม่หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ถ้าผู้โดยสารเลือกการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทสายการเช่นอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักของผู้โดยสาร และถ้าจำเป็นก็ต้องเปิดห้องพักโรงแรมสำหรับพักค้างคืนให้ โดยขึ้นกับความล่าช้าเกิดขึ้น  2. ผู้โดยสารมีสิทธิในค่าชดเชยอื่นๆ หรือไม่ (นอกเหนือจากที่อธิบายไว้ในข้อ 1) ถ้าเที่ยวบินถูกยกเลิก ล่าช้า หรือถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่น การปิดน่านฟ้า ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 3. สามารถขอค่าชดเชยกรณีที่กระเป๋าเดินทางล่าช้า สูญหาย หรือเสียหายได้หรือไม่3.1 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงล่าช้า“ล่าช้า” หมายความว่ากระเป๋าของผู้โดยสารเดินทางมาถึงภายในเวลา 21 วันนับจากวันที่ผู้โดยสารมาถึงสนามบินปลายทาง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญามอนทรีออล) ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงสุดประมาณ 1,223 ยูโรสำหรับความล่าช้า อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ • ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ผู้โดยสารควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่โต๊ะรับร้องเรียนเรื่องกระเป๋า โดยปกติมักจะตั้งอยู่ในบริเวณที่รับกระเป๋า ควรให้รายละเอียดเกี่ยวกับกระเป๋าของผู้โดยสารและเก็บสำเนาแบบฟอร์มไว้กับตัวเอง ถ้ากระเป๋าเดินทางมาถึงภายในสามสัปดาห์นับจากเวลาถึงของผู้โดยสาร แสดงว่าเกิดความล่าช้าขึ้น ผู้โดยสารควรจะร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงสายการบินภายใน 21 วัน เพื่อร้องขอค่าชดเชยเรื่องความล่าช้า • เก็บบัตรที่นั่ง (Boarding pass) และป้ายชื่อคล้องกระเป๋าไว้ (baggage tags) • หาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของบริษัทสายการบินถ้าเป็นไปได้ • ถามรายละเอียดผู้ติดต่อของแผนกกระเป๋าและถามว่ามีระบบติดตามข้อมูลออนไลน์เพื่อให้ตรวจสอบสถานะกระเป๋าหรือไม่ • เก็บใบเสร็จรับเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดที่เกิดจากความล่าช้าของกระเป๋าไว้ภายใต้อนุสัญญามอนทรีออล ผู้โดยสารมีเวลา 21 วัน นับจากวันที่กระเป๋าถูกส่งมาถึง เพื่อยื่นแบบเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นลายลักษณ์อักษร 3.2 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางชำรุดเสียหายขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน ระบุความเสียหายที่มีต่อกระเป๋าของผู้โดยสาร ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะมีบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย จากนั้นเขียนจดหมายถึงสายการบินภายใน 7 วัน นับจากวันที่กระเป๋ามาถึง และแนบสำเนาแบบฟอร์ม PIR ไปด้วยเพื่อเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมาย ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความเสียหาย 3.3 ควรจะทำอย่างไรถ้ากระเป๋าเดินทางสูญหายไปโดยเกิดจากการกระทำของสายการบินกระเป๋าของผู้โดยสารจะถือว่า “สูญหาย” ถ้าผู้โดยสารไม่ได้รับกระเป๋าเดินทางภายใน 21 วัน หรือถ้าสายการบินแจ้งว่าสูญหาย ขณะที่ยังอยู่ที่สนามบิน ควรกรอกแบบฟอร์ม PIR (Passenger Irregularity Report) ที่ได้จากสายการบิน รายงานถึงกระเป๋าที่ยังไม่มา ซึ่งหมายความว่าสายการบินจะบันทึกการร้องเรียนของผู้โดยสาร ผู้โดยสารควรที่จะเก็บสำเนาไว้ด้วย ถ้ากระเป๋าไม่มาภายใน 21 วัน เขียนจดหมายถึงสายการบินเรียกร้องค่าชดเชย ภายใต้กฎหมายผู้โดยสารมีสิทธิได้รับค่าชดเชยสูงถึงประมาณ 1,223 ยูโร สำหรับความสูญเสีย 4.ทำการจองรถเช่าไว้แล้ว และวางแผนที่จะไปรับรถที่สนามบินปลายทาง แต่ไม่สามารถไปรับรถได้ (ตามเวลา/ไม่สามารถรับรถได้เลย) เนื่องจากการปิดน่านฟ้า – จะต้องปฏิบัติอย่างไร • แจ้งบริษัทรถเช่าทันทีที่ทำได้ และควรแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร • รวบรวมเอกสารประกอบให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมถึงไม่สามารถไปยังสนามบินปลายทางตามที่วางแผนไว้ได้ • ถ้าได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว ผู้โดยสารอาจจะขอเงินคืนได้ โดยอ้างสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ถ้าไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า แจ้งยกเลิกการเช่ารถเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอ้างถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (การปิดน่านฟ้า) อย่างไรก็ตาม มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้กับสัญญานั้น • ตรวจสอบว่ากรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมสถานการณ์นี้หรือไม่ กรณีนี้เป็นสัญญาที่แยกกัน หรือไม่ใช่แพ็คเกจท่องเที่ยว ไม่มีกฎของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกในสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้นผลทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาและกฎหมายที่บังคับใช้ ภายใต้กฎของสหภาพยุโรป ผู้โดยสารไม่มีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทสายการบิน เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ขอนำเสนอส่วนที่เหลือในตอนหน้าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 แอร์ฆ่าเชื้อโรค จำเป็นแค่ไหน

ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามจากสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับ “แอร์ฆ่าเชื้อ” หลายครั้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อได้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น SARS หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น แอร์ฆ่าเชื้อมีจริงหรือไม่? ทำงานได้จริงหรือไม่? ทำไมมีโฆษณาแอร์ที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วย? เลยถือโอกาสมาบอกเล่าให้ชาว ”ฉลาดซื้อ” ทราบ เชื้อโรคกับฟิลเตอร์“เชื้อ” หรือ “เชื้อโรค” ที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่คงจะหมายถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ให้เกิดโรคได้ ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส รา ยีสต์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทั่วไป ทุกที่ทุกเวลาและทุกชนิดที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ คือไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อที่ก่อโรคจริงๆ ก็สามารถพบได้ด้วยแต่จะมีอยู่น้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกจะพบได้น้อยมากๆ ถ้าถามว่า แอร์ที่ฆ่าเชื้อได้มีจริงหรือ ผมคงต้องตอบว่ามี แต่พวกที่สามารถฆ่าเชื้อหรือกรองเชื้ออย่างละเอียดนั้นจะไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะแห่งเท่านั้น เช่นในห้องที่ต้องการการปลอดเชื้อปลอดฝุ่นอย่างมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องวิจัย ห้องทำแผงวงจรต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องเหล่านี้จะมีราคาแพงมาก บางครั้งเครื่องที่ฆ่าเชื้อหรือดักฝุ่น อาจไม่อยู่รวมกับเครื่องปรับอากาศ แต่จะแยกต่างหากเป็นระบบการกำจัดเชื้อจากอากาศ กลไกในการกำจัดจุลินทรีย์ที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่นิยมใช้คือ การกรองด้วยฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้จะไม่ใช่ฟิลเตอร์ที่กรองฝุ่นที่ติดมากับเครื่องปรับอากาศ ลักษณะจะเป็นคล้ายฟองน้ำบางๆ มีรูพรุน หากส่องแสงจะเห็นแสงลอดออกมาได้หรืออาจเป็นฟิลเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายมุ้งลวดพลาสติก ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (เฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอนหรือ 1/1000 มิลลิเมตร) และจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) มีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ (แบบที่เป็นใยสีขาว) แต่จะมีจำนวนชั้นเรียงทบกันหนากว่า สามารถกรองอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย รา ซึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ชนิดนี้จะไม่สามารถกรองไวรัสได้(ฟิลเตอร์ที่จะกรองไวรัสได้ต้องมีขนาด 0.1 ไมครอน) HEPA filter นั้นจะมีราคาแพง ในประเทศอเมริกา HEPA filter หนึ่งตารางฟุตหรือ 30 ซม x 30 ซม. หนาประมาณ 2 นิ้ว ราคาประมาณ 3,000 บาท และเช่นเดียวกับฟิลเตอร์ต่างๆ HEPA filter ก็มีอายุการใช้งานด้วย แม้เครื่องปรับอากาศมีระบบกรอง HEPA filter นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนด้วย(ไม่สามารถล้างได้) และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการดักจับจุลินทรีย์ได้อีกต่อไปอีกวิธีการหนึ่งที่มีการโฆษณาว่าใช้ระบบไอออนเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งกำจัดกลิ่น หลักการทำงานของระบบไอออนนี้ก็คือจะสลายน้ำเพื่อให้ได้อนุมูลออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2-) และอนุมูลไฮดรอกซิล (OH-) ซึ่ง อนุมูลทั้งสองชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์หรือผิวของแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานคำยืนยันใดๆ จากนักวิชาการอิสระ(ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต) ที่ยืนยันคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศแบบนี้ นอกจากนี้ในทางเดินหายใจของมนุษย์เราก็มีโปรตีนเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนด้วยหรือไม่ (Bolashikov & Melikov, Building and Environment 44(2009), 1378-1385) แอร์ไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ในทุกที่บนโลกจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มากน้อยต่างกันไป พบได้ทั้งในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็กเล็ก จุลินทรีย์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่ก่อโรค ดังนั้น แม้ว่าจะมีแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้จริงตามที่กล่าวอ้างก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเมื่อเปิดประตูห้องออกไป เราก็จะเจอกับจุลินทรีย์สารพัดชนิด และที่สำคัญ เมื่อเราเปิดประตูห้อง จุลินทรีย์จากภายนอกก็จะปะปนเข้ามาในห้องได้ใหม่ และถ้าเป็นห้องที่เปิดเข้าออกบ่อยครั้ง แอร์ฆ่าเชื้อยิ่งไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีวันฆ่าจุลินทรีย์ได้หมดนั่นเอง และต่อให้ในห้องมีแอร์ฆ่าเชื้อโรคได้ หากคนที่นั่งข้างๆ หรือคนในห้องเป็นหวัด 2009 เราก็คงมีโอกาสติดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อแอร์ สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือประโยชน์ที่สำคัญของแอร์นั่นเอง คือเป็นเครื่องทำความเย็นให้แก่ห้อง การเลือกซื้อ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องของความสามารถในการทำความเย็น อัตราการใช้ไฟ (ควรเป็นเบอร์ 5) หรือความเงียบในการทำงานมากกว่า ส่วนเรื่องของการฆ่าเชื้อ น่าจะเป็นเรื่องรอง ซึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของผู้ผลิต และจะทำให้เครื่องมีราคาแพงมากขึ้นโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าผู้บริโภคยังยืนยันที่จะต้องการการฆ่าเชื้อในอากาศ เครื่องฟอกอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 109 GT200 กับการคุ้มครองผู้บริโภค

นับตั้งแต่ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ให้สังคมไทยรับทราบทั่วกันว่า เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ที่จัดซื้อกันมาใช้ในหลายหน่วยราชการ ด้วยราคาแสนแพงนี้ ไม่น่าทำงานจริงได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในทุกระดับ มีทั้งผู้ที่เชื่อถือว่าเครื่องนี้จะทำงานได้ และมีผู้ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่สามารถทำงานได้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์) จนกระทั่งท้ายสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ และผลการทดสอบก็เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนแล้วว่า จากการตรวจ 20 ครั้ง ถูกต้องเพียง 4 ครั้งเท่านั้น หรือคิดเป็นโอกาสถูกเพียง 20% หรือเท่ากับการเดาสุ่ม ซึ่งน้อยกว่าการเดาสุ่มอีกแบบที่บอกเพียงแค่ว่า “มีหรือไม่มี” เสียอีก (ซึ่งโอกาสถูกยังมีมากถึง 50%) ซึ่งหมายความว่าเครื่องมือที่ตรวจสอบนี้ไม่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับราคาที่แพงเป็นแสนเป็นล้านบาท น่าแปลกใจว่า บรรดาหน่วยงานทั้งหลายกลับมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่นี้ต่อไป พร้อมทั้งมีการชี้แจงเป็นระยะว่า ผู้ใช้ตัวจริงจากพื้นที่จริงยืนยันว่าใช้ได้ แม้ว่าการตรวจสอบจะให้ผลในทางตรงข้ามก็ตาม.... สังคมไทยที่ยังเป็นสังคมประเภทที่อาศัยความเชื่อมากกว่าความจริง เช่นเชื่อว่าวัวห้าขาจะสามารถใบ้หวยได้หรือการขูดหาเลขท้ายสองตัวสามตัวจากต้นไม้ประหลาดหน้าตาคล้ายมังกร ความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีคนที่บังเอิญถูกเลขท้ายเพียงแค่คนหรือสองคนจากคนที่ขูดหาเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วมีคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกหวย ก็โพนทะนาว่ามันแม่นมาก ศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก คนอื่นๆ ที่ขูดแล้วได้เลขที่ไม่ถูกต้องก็พาลพาด่าทอตัวเองว่า เราดันไม่ไปขูดตรงที่เค้าขูดเอง หรือขูดไม่ถูกวิธี หรือขูดโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สมควรเช่นมีดหรือส้อมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใครทั้งสิ้น นอกจากวัวหรือต้นไม้ที่จะถูกรบกวนโดยความไม่รู้ของผู้คน แต่สำหรับความเชื่อในเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดนี้ หากเชื่อว่าเครื่องทำงานได้ แต่พอถึงเวลาใช้งานเครื่องทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด นั่นอาจหมายถึงชีวิตของทั้งผู้ที่ตรวจหาหรือประชาชนที่จะต้องรับเคราะห์กรรม ดังนั้น เรื่องราวประเภทนี้จึงควรใช้ความจริงเป็นสิ่งตัดสินใจมากกว่าความเชื่อ ผมเชื่อว่าบรรดานักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการเพื่อตรวจสอบเครื่อง GT200 ซึ่งคงเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีการออกแบบการทดลองใช้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ถ้าผมได้ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ผมคงจะขอเสนอให้ผู้ที่เชี่ยวชาญชำนาญใช้งานเครื่องนี้มาเป็นผู้ทดสอบด้วยตนเอง ขอเชิญผู้ที่ชำนาญมากที่สุด อยู่ในสภาวะที่ท่านคิดว่าพร้อมที่สุด แล้วเชิญท่านมาทดสอบใช้เครื่อง เพื่อให้เห็นชัดกันไปจริงๆ ว่า มันใช้ได้หรือไม่ได้โดยตัวท่านเอง หรือแม้การพิสูจน์จะผ่านไปแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทุกท่านที่ใช้งานเครื่องนี้จริง จากพื้นที่จริงและมีข้อสงสัยในประสิทธิภาพได้มาทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะบรรเทาความคลางแคลงใจในประสิทธิภาพลงไปได้อีกระดับหนึ่ง การจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นในหลายรัฐบาล หลายผู้นำ จำนวนเครื่องมากน้อยต่างๆ กันไป แล้วแต่ความต้องการของหน่วยงานที่ใช้ และเมื่อมีประเด็นในด้านประสิทธิภาพของเครื่องมือกับราคาที่แพงมาก ก็คงมีคำถามจากสังคมมากมายในทำนองว่า มีการคอรัปชันหรือไม่ ใต้โต๊ะบนโต๊ะหรือไม่ หรือเราโดนหลอกหรือไม่ การตอบคำถามเพื่อแก้ประเด็นเหล่านี้กลับไปอยู่ที่ความพยายามบอกว่าเครื่องทำงานได้มีประสิทธิภาพดี เหตุเกิดเพียงเพราะนักวิชาการชอบมากวนน้ำให้ขุ่น แต่ไม่ได้เคยมีความพยายามที่จะพิสูจน์ให้ทราบว่าการจัดซื้อโปร่งใสหรือไม่ หรือแม้กระทั่งเราอาจถูกหลอกให้ซื้อเครื่องเหล่านี้จริงๆ เพราะการยอมรับในข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อย่อมเท่ากับยอมรับว่าอาจมีการทุจริตในองค์กร และการยอมรับเรื่องถูกหลอกขายของ ก็จะทำความเสียหาย เสียหน้า เสียชื่อเสียงขององค์กรนั่นเอง หากผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีเครื่องมือเหล่านี้อยู่ในครอบครอง ทันทีที่นายกฯ ได้แถลงผลการทดสอบจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างเป็นทางการว่าเครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพและขอให้ระงับการใช้งาน สิ่งแรกที่ผมจะทำคือฟ้องร้องบริษัทที่ขายเครื่องมือดังกล่าวต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทันที ผมเห็นว่าการถูกหลอกขายของยังไม่น่าจะอับอายเท่ากับการทรยศคดโกงชาติด้วยการคอรัปชัน หน่วยงานราชการทั้งหลายที่จัดซื้อถือว่าเป็นผู้บริโภคโดยตรงได้ซื้อเครื่องมือเหล่านี้มาใช้หลายเครื่อง แต่พิสูจน์และปรากฎชัดแล้วว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามที่กล่าวอ้าง ถือเป็นการหลอกลวงอย่างชัดเจน ถ้าร้องเรียนต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค ศาลจะพิจารณาอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ผู้บริโภค (ในที่นี้ผู้ชื้อคือหน่วยงานของรัฐ) เมื่อประเด็นข้อพิพาทข้อใดจำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบหรือส่วนผสมของสินค้า การให้บริการหรือการดำเนินการใดๆ ซึ่งศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผลการพิจารณาตัดสินก็จะชี้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครเป็นคนผิดดังนั้นหากหน่วยงานของรัฐจัดซื้อไปเนื่องจากเชื่อในคำโฆษณากล่าวอ้าง แล้วได้สินค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพจริง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรที่จะรีบดำเนินการฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค หากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายเชื่อมั่นว่าเครื่องมือของตนสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างจริง ก็หาหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้เลยครับ อย่าใช้วิธีปิดบริษัทหนีไปเสียก่อน ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าท่านมาหลอกขาย และเมื่อศาลตัดสินหรือมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว หน่วยงานของรัฐก็ควรรีบดำเนินการฟ้องร้องศาลอื่นๆ ต่อไป เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเรากลับคืนมา ซึ่งควรที่จะรวมไปถึงค่าเสียหายของบรรดาทหาร ตำรวจ รวมทั้งบุคลากรของรัฐที่ต้องเสี่ยงภัยใช้เครื่องมือไม่มีประสิทธิภาพนี้ไปด้วยครับ แน่นอนครับ ผมเชื่อว่า อ้อยเข้าปากช้างแล้ว ยากที่จะไปดึงเอาออกมาได้ เช่นเดียวกัน เงินที่เราได้จ่ายไปแล้วสำหรับเครื่องมือประเภท “ไม้ล้างป่าช้า” คงจะไม่มีวันที่ตามคืนกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม ผมอยากที่จะให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นบทเรียนแก่ประเทศไทย แก่หน่วยงานของรัฐทั้งหลายที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อเครื่องมือพิเศษทันสมัยล้ำยุคอื่นๆ ได้ควรได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนถ่องแท้ และในกรณีที่มีข้อข้องใจสงสัย ในประเทศไทยมีองค์กรของรัฐและเอกชนที่มีเทคโนโลยีทัดเทียมหรือล้ำหน้าอารยประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าหลายองค์กรเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความเห็นในเชิงวิชาการอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติความเชื่อและผลประโยชน์แอบแฝง เพื่อที่คนไทยจะได้ไม่เสีย “ค่าโง่” กันอีกต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 108 นาโนเทคโนโลยี : โอกาสหรือความเสี่ยง (ตอน 2)

เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และผู้บริโภคเชื่อว่าการใช้งานวัสดุนาโนจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก่อให้เกิดคำถามว่าผลิตภัณฑ์นาโนใหม่ๆ เหล่านี้จะนำความเสี่ยงที่ยังไม่รู้มาสู่มนุษย์หรือไม่ อนุภาคนาโนบางชนิดที่ปรากฎอยู่ในรูปแบบที่ไม่เกาะเกี่ยวกัน (unbound form) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพบางประการได้… ทำไมถึงมีการใช้วัสดุนาโนในเครื่องสำอาง ?อนุภาคนาโน เช่น ไททาเนียมไดอ๊อกไซด์และซิงค์อ๊อกไซด์ ถูกนำใช้งานอย่างกว้างขวางในการป้องกันแสงยูวีในผลิตภัณฑ์กันแดด อนุภาคนาโนเหล่านี้ให้ผลในด้านการปกป้องผิวหนังจากรังสียูวีในระดับสูง  วัสดุที่ผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยี (หรือที่เรียกว่า โครงสร้างทางชีวภาพ) ส่งเสริมกระบวนการซ่อมแซมฟันตามธรรมชาติของน้ำลาย ในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ แคปซูลนาโนสามารถป้องกันและขนส่งสารที่ออกฤทธิ์และเพิ่มประสิทธิภาพของพวกมัน ฟูลเลอร์รีน (โมเลกุลที่สร้างจากอนุภาคคาร์บอนที่มีรูปทรงเหมือนลูกฟุตบอล) ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดแรกๆ เพื่อจุดประสงค์นี้ การวิจัยเพื่อพัฒนาสมบัติทางกายภาพ (เช่น การโปร่งใส) ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความจำเป็นต้องดำเนินต่อไปเพื่อหาความรู้ และข้อมูลเพิ่มเติมจากปัจจุบัน วัสดุนาโนถูกนำใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือไม่ ?มีรายงานว่าวัสดุนาโนถูกนำมาใช้เป็นส่วนเสริมหรือวัตถุเจือปนในอาหาร ยกตัวอย่างเช่น กรดซิลิซิกและสารประกอบที่มีซิลิกอนอื่นๆ ถูกนำมาใช้เป็นสารตัวกรองหรือสารทำให้ข้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผลึกโซเดียมคลอไรด์และอาหารที่มีแป้งเป็นหลักเกิดการติดกันเป็นก้อน และทำให้ซอสมะเขือเทศไหลได้ง่ายยิ่งขึ้น กรดซิลิซิกยังถูกนำใช้เป็นสารจับอนุภาคเพื่อให้ตกตะกอนในไวน์และผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ สำหรับประเด็นในเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า ควรจะให้เลิกใช้หรือให้มีอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารต่อไป วัสดุนาโนถูกนำใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อจุดประสงค์เฉพาะด้วย มีรายงานการใช้ซิลิกอนไดอ๊อกไซด์ คอลโลดัลซิลเวอร์ แคลเซี่ยมและแมกนีเซี่ยมในรูปอนุภาคนาโน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าวัสดุเหล่านี้ปรากฎอยู่ในอาหารในรูปอนุภาคนาโนหรือในรูปรวม ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมอาหารกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาอาหารเสริมพิเศษที่ประกอบไปด้วยวิตามิน กรดไขมันโอเมก้า 3 ไฟโตสเตอรอล และกลิ่น เพื่อบรรจุในแคปซูลนาโน วัสดุนาโนถูกนำใช้ในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคหรือไม่วัสดุนาโนถูกนำมาใช้งานหลากหลายรูปแบบในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ยกตัวอย่างเช่น วัสดุนาโนในบรรจุภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ อุปกรณ์เครื่องครัว วัสดุเคลือบเงาและสี นอกจากนี้ยังใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับการปกปิดพื้นผิวและทำความสะอาดเช่นเดียวกับสารขัดเงาอีกด้วย อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กำลังสนใจการใช้งานอนุภาคนาโนซึ่งเกาะติดกันเหมือนเป็นตัวกรองในพลาสติกและชั้นเคลือบเงา และใช้เป็นตัวเคลือบบนผิวหน้าโพลีเมอร์ (ฟิล์มและภาชนะ) ในบรรจุภัณฑ์อาหาร อนุภาคนาโนป้องกันก๊าซ ไม่ให้เข้าไปในบรรจุภัณฑ์และป้องกันไม่ให้ความชื้นระเหยออกมา การใช้อนุภาคนาโนสามารถปรับปรุงสมบัติด้านกลศาสตร์และความร้อนของบรรจุภัณฑ์อาหารและปกป้องอาหารจากแสงยูวี  ในอนาคตนาโนเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารซึ่งสามารถระบุได้ว่าขั้นตอนการแช่เย็นต่อเนื่องหรือไม่ หรือว่าเลยวันหมดอายุมาแล้ว ในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ เส้นใยชนิดพิเศษถูกพัฒนาขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าที่กันความร้อน หรือพื้นผิวเส้นใยสิ่งทอที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ในอนาคตสิ่งทอจะมีสมบัติใหม่ๆ และสามารถป้องกันรังสียูวีหรือทำตัวเสมือนตัวกันน้ำโดยการผลิตสารเคลือบโพลีเมอร์ที่มีโครงสร้างนาโนบนพื้นผิวของสิ่งทออีกด้วย  อนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่ต่อต้านจุลชีพมีการใช้งานแล้วในถุงเท้า ด้านในรองเท้า และสิ่งทอที่ใช้ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม การใช้ผลิตภัณฑ์นาโนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ ?ในการที่จะประเมินว่าผลิตภัณฑ์นาโนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือว่าวัสดุนาโนที่ใช้เกาะติดกันเป็นเมตริกซ์หรือเป็นวัสดุนาโน ปรากฎในรูปที่ไม่เกาะกัน อนุภาคนาโนที่เป็นอิสระ หลอดนาโนและเส้นใยนาโนสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ เนื่องจากขนาดที่เล็ก รูปทรงที่เล็ก สามารถเคลื่อนไหวได้ง่ายและเกิดปฏิกิริยาได้ดีกว่า อนุภาคนาโนที่ไม่เกาะติดกันสามารถเข้าถึงกลไกของมนุษย์ผ่านสามช่องทางและทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นพิษภายใต้สถานการณ์บางอย่าง ได้แก่ ทางการหายใจ ทางผิวหนังและจากการรับประทาน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดเกิดจากการสูดดมอนุภาคนาโน  การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดลบล้างความเป็นไปได้ที่อนุภาคนาโนจะแทรกซึมเข้าทางผิวหนังของมนุษย์ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่ามีความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการได้รับอนุภาคทางการรับประทานหรือไม่ จนถึงขณะนี้ ผลิตภัณฑ์นาโนส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยอนุภาคนาโนที่พัวพันกับเมตริกซ์ที่แข็งแรงหรือสารละลายของเหลว ยิ่งไปกว่านั้น อนุภาคนาโนมีแนวโน้มที่จะเกาะกลุ่มเป็นสิ่งที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมักจะใหญ่กว่า 100 นาโนเมตร ผลกระทบที่เป็นพิษของอนุภาคนาโนยังไม่มีใครสามารถบอกได้แน่ชัด แต่ตามกฎแล้ว ผู้ผลิตถูกกำหนดให้รับประกันว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาปลอดภัย หมายเหตุ : ล่าสุดมีประเด็นในเรื่องความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้วัสดุนาโน (Nano particle ) โคบอลท์โครเมียม( CoCr- Particle ) ที่เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค โดยโคบอลท์โครเมียม( CoCr- Particle ) จะไปทำลาย DNA ในเซลล์ของมนุษย์ โดยที่ เซลล์ยังไม่ตาย จากผลการทดลองนี้ นักวิจัย ได้ตั้งข้อเสนอเพื่อให้มีการประเมินความเสี่ยงในด้านสุขภาพของการใช้ผลิตภัณฑ์นาโน แบบใหม่ที่ต้องคำนึงถึง ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ วัสดุนาโน2 มีการตรวจสอบความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการใช้วัสดุนาโนในสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วหรือยัง มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับการใช้อนุภาคนาโนในเครื่องสำอาง ยกตัวอย่างเช่น มีการวิจัยมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของอนุภาคนาโนที่เกิดจากไทเทเนียมไดอ๊อกไซด์และซิงค์อ๊อกไซด์บนผิวหนัง การทดลองหลายชิ้นยืนยันว่าอนุภาคนาโนเหล่านี้ไม่แทรกซึมสู่เซลล์ผิวหนังของมนุษย์ที่แข็งแรงแต่ยังอยู่บนด้านบนของผิวหนัง พวกมันลงไปถึงผิวหนังชั้นที่ลึกกว่าได้ผ่านรูขุมขน ที่ซึ่งพวกมันตกค้างอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่แทรกซึมลงไปลึกกว่านั้น เมื่อขนยาวขึ้นจะนำพาพวกมันกลับมาสู่ชั้นบนของผิวหนังอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในขณะนี้ยังมีคำถามหลายข้อที่ต้องตอบเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากอนุภาคนาโน เรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่คุณสมบัติที่เป็นพิษจะมีความเชื่อมโยงกับขนาดในระดับนาโน และมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับรายงานเรื่องการที่มนุษย์ได้รับอนุภาคนาโน นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานเรื่องกลยุทธ์การทดสอบที่เหมาะสมเพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เป็นไปได้ เพื่อที่จะตอบคำถามปลายเปิด เคยมีผลิตภัณฑ์ใดที่วัสดุนาโนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ?เท่าที่ผ่านมาทางสถาบันประเมินความสี่ยงของสหพันธรัฐ ยังไม่ได้รับรายงานกรณีที่เกิดอันตรายต่อสุขภาพโดยตรงอันมีผลมาจากอนุภาคนาโนหรือวัสดุนาโน เราควรหันมาพิจารณาดูอีกด้านของเทคโนโลยีใหม่กันบ้าง เปรียบดังคำพังเพยที่ว่า คุณอนันต์ โทษมหันต์ สำหรับเรื่องการศึกษาผลประทบของนาโนเทคโนโลยีนั้น ที่มีผลต่อสุขภาพนั้น รัฐต้องศึกษา วิจัยในเชิงสุขภาพและความปลอดภัย และให้ความรู้(ความไม่รู้) แก่ประชาชน หากยังไม่สามารถหามาตรการในด้านการป้องกันที่ดีได้ อย่างน้อยรัฐก็ควร บังคับการติดฉลากระบุว่าเป็นสินค้าประเภทนาโนเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือก(หรือไม่เลือก) กับเทคโนโลยีที่เรายังมีความรู้ในด้านนี้น้อยมาก และในด้านผลกระทบต่อสุขภาพก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันความปลอดภัยกันเลย ข้อมูลอ้างอิง1 Frequently Ask Question on Nanotechnology, Federal Institute for Risk Assessment, 20062 Nanoparticle can cause DNA damage across a cellular barrier, Bhabra, G. et al., Nature Nanotechnology, p. 1-8, 2009

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 107 นาโนเทคโนโลยี : โอกาสหรือความเสี่ยง (ตอน 1)

นาโนเทคโนโลยีถือว่าเป็นเทคโนโลยี ในอนาคตที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการใช้เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากมนุษย์ได้นำมาใช้งานตั้งแต่เมื่อหลายทศวรรษก่อนในผลิตภัณฑ์เคลือบ เงาและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาถึงแม้ว่าในตอนนั้นมันจะไม่ได้ใช้ชื่อนี้ก็ตาม ปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่กำหนดไว้ในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องสำอาง อาหารและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้มีโอกาสรับรู้เลย และปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อกำหนดว่าต้องมีการติดฉลากแสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์นาโน บทความในคราวนี้จึงขออธิบายความรู้และความไม่รู้ ที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยี ที่มีผลต่อชีวิตของผู้บริโภคกระแสหลักในบ้านเราครับ โดยขออนุญาตนำข้อมูลจาก สถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งของสหพันธรัฐ เยอรมนี (Federal Institute for Risk Assessment) มาลงในคอลัมน์นี้ครับ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และผู้บริโภคเชื่อว่าการใช้งานวัสดุนาโนจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก่อให้เกิดคำถามว่าผลิตภัณฑ์นาโนใหม่ๆ เหล่านี้จะนำความเสี่ยงที่ยังไม่รู้มาสู่มนุษย์หรือไม่ อนุภาคนาโนบางชนิดที่ปรากฎอยู่ในรูปแบบที่ไม่เกาะเกี่ยวกัน (unbound form) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพบางประการได้ การวิจัยเรื่องความเสี่ยงของนาโนเทคโนโลยี ในบริบทนี้ทางสถาบันประเมินความเสี่ยง ให้ความสนใจเรื่องปฏิกิริยาต่อต้านอนุภาคนาโนที่อาจเกิดขึ้นได้ในร่างกายมนุษย์ ถึงแม้ว่าพบวัสดุนาโนในผลิตภัณฑ์หลายประเภทจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประชากรเยอรมันเกินกว่าครึ่งหนึ่งแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้เลย ประโยชน์ของมันหรือความเสี่ยงที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นบทความนี้ จะตอบคำถามในประเด็นที่สำคัญ สำหรับนาโนเทคโนโลยี1 “นาโน” มีขนาดเล็กแค่ไหน ?“นาโน” มาจากภาษากรีก หมายความว่าคนแคระ “นาโน” เป็นคำศัพท์ที่ใช้สำหรับเศษส่วนพันล้านของเมตร (= 1 นาโนเมตร)อนุภาคนาโนหมายถึงอะไร ?อนุภาคนาโนคืออนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 100 นาโนเมตร (nm) เนื่องจากอนุภาคนาโนขนาดเล็กเหล่านี้มีสมบัติทางกายภาพ แตกต่างจากอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่าในวัสดุประเภทเดียวกัน สิ่งนี้ทำให้มันน่าสนใจสำหรับการนำไปใช้งานที่หลากหลาย แต่ทว่า ในขณะเดียวกันความเล็กของอนุภาคนาโนก็สามารถนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อต้านของร่างกายมนุษย์ได้   สถาบันประเมินความเสี่ยง เกี่ยวข้องอย่างไรในการวิจัยเรื่องความเสี่ยงของนาโนเทคโนโลยี ?สถาบัน (FRA) ร่วมมือกับสถาบันกลางความปลอดภัยและสุขภาพในสถานที่ทำงาน (Federal Institute for Occupatioanl Safety and Health) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมกลาง (Federal Environment Agency) ได้พัฒนากลยุทธ์ในการวิจัยเพื่อแยกแยะความเสี่ยงที่เป็นไปได้จากนาโนเทคโนโลยี จุดประสงค์ของ กลยุทธ์การวิจัยนี้คือจัดโครงสร้างในเรื่องสาขาการวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการในการวัดผลและแยกแยะอนุภาคนาโน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับอนุภาคและผลกระทบที่เป็นพิษหรือผลกระทบที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการทดสอบความเสี่ยงและกลยุทธ์ในการตรวจสอบ ในขณะเดียวกัน (FRA) จะทำการสำรวจผู้เชี่ยวชาญในสาขานาโนเทคโนโลยี เป้าหมายคือแยกแยะวัสดุนาโนที่กำลังถูกใช้หรืออาจจะถูกใช้ เพื่อจัดกลุ่มพวกมันตามการนำไปใช้งานและเพื่อร่างข้อสรุปเกี่ยวกับการที่ผู้บริโภคได้รับอนุภาคจากข้อมูลเหล่านั้น จากพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้ที่มีเรื่องการได้รับสารและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น (FRA) ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ แยกประเภทการใช้งานตามระดับความเสี่ยงที่เป็นไปได้และพัฒนากลยุทธ์สำหรับทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลงที่สุด ในตอนที่ 2 ฉบับหน้าจะตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีครับ   ข้อมูลอ้างอิง1 Frequently Ask Question on Nanotechnology, Federal Institute for Risk Assessment, 2006   นาโนเทคโนโลยีหมายถึงอะไร ?นาโนเทคโนโลยีเป็นศัพท์ทั่วไปที่ใช้เรียกเทคโนโลยีกว้างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในวิทยาศาสตร์ตามธรรมชาติหลายประเภท เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และการแพทย์ ที่จริงแล้วมันจะถูกต้องมากกว่าถ้าจะเรียกว่ากลุ่มของนาโนเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการวิจัยในเรื่องกระบวนการประมวลผลและการผลิตโครงสร้างและวัสดุที่ด้านอย่างน้อยหนึ่งด้านมีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร (nm)  วัสดุนาโนมีโครงสร้าง “รูปทรงจุด” (อนุภาคนาโน แคปซูลนาโน กลุ่มก้อนหรือกลุ่มโมเลกุล) โครงสร้าง “เส้นตรง” (เส้นใยนาโน หลอดนาโน เสื้อร่มนาโน) และการเคลือบที่บางมาก โครงสร้างกลับรูป (รู) ก็อยู่ในประเภทนี้ด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ในการนำนาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาโครงสร้าง เทคนิค และระบบที่มีคุณสมบัติและการทำงานแบบใหม่ จึงเพิ่มความน่าสนใจในภาคอุตสาหกรรม การแพทย์ วิทยาศาสตร์และผู้บริโภค โดยหวังว่าศักยภาพนี้จะนำไปสู่การใช้งานที่มีประโยชน์ เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยีรับรู้ความรู้สึก วิศวกรรมกระบวนการ ชีวเทคโนโลยี และการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และเครื่องสำอาง ฐานข้อมูลของผลิตภัณฑ์นาโนที่อยู่ในท้องตลาด ณ ปั¬¬¬จจุบันนี้สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.nanotechproject.org/44/consumer-nanotechnology ฐานข้อมูล “คลังผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่ใช้นาโนเทคโนโลยี” เป็นโครงการของ Woodrow Wilson International Centre for Scholars. จะทราบได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นมีวัสดุนาโนอยู่รึเปล่า ?ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีวัสดุนาโนหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนดว่าต้องติดฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์นาโน ผู้บริโภคสามารถรู้ถึงการใช้วัสดุนาโนได้ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของพวกเขาโดยการอ้างถึงนาโนเทคโนโลยี แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีอนุภาคนาโนหรือวัสดุนาโนอยู่จริงหรือไม่ ผู้บริโภครู้อะไรบ้างเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี ?ถึงแม้ว่าจะมีวัสดุใหม่ๆ ที่ผลิตโดยการใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค คนจำนวนมากไม่รู้ว่าจริงๆ ว่าสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับอะไร ตามที่มีการสำรวจมา คนเยอรมัน 50% ไม่รู้เลยว่าคำย่อที่เรียกว่า “นาโน” นั้นหมายถึงอะไร คนที่ได้ยินอะไรบางอย่างเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี มักจะมองเทคโนโลยีในทางบวกและชี้ไปที่ประโยชน์ของมัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนมากอยากให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยการใช้นาโนเทคโนโลยีมีการติดฉลากอย่างชัดเจน  นาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ประเภทไหนแล้วบ้าง ?ขณะนี้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ซึ่งมีส่วนประกอบที่ผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยีแล้ว ได้แก่ เครื่องสำอาง อาหารหรือสิ่งทอ ตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นาโนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขนาดในระดับนาโนคือสิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการที่จะผลิตวัตถุที่มีสมบัติใหม่อย่างสิ้นเชิง เช่น สีรถยนต์ที่ทนต่อรอยขูดขีด เน็คไทที่กันฝุ่น หรือผลิตภัณฑ์กันแดดที่ปกป้องแสงยูวีได้ดีขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 106 ของขวัญไอทีรับปีเสือยิ้ม

ปีใหม่นี้ หากคุณอยากซื้ออุปกรณ์ไอทีดีๆ สักชิ้นเพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองหรือคนที่คุณรัก แต่ยังไม่รู้ว่าจะซื้ออุปกรณ์อะไร ยี่ห้อหรือรุ่นไหนเพื่อจะให้ “คุ้ม” กับเงินและมี “ค่า” กับผู้รับที่สุด ฉลาดซื้อฉบับนี้ยินดีนำเสนอตัวเลือกเด็ดๆ ที่คัดสรรมาแล้วผลทดสอบตลอดปีให้คุณ   สำหรับใครที่ชอบท่องโลกไซเบอร์เราขอแนะนำ แอปเปิ้ล “iPhone 3GS” โทรศัพท์ที่ให้คุณมากกว่าดีไซน์เก๋ เพราะมาพร้อมระบบดาวเทียมค้นหาตำแหน่งรองรับโปรแกรม Google Maps และเข็มทิศดิจิตอล กล้องดิจิตอล 3 ล้านพิกเซลที่สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหว ใช้งานอินเตอร์เน็ต Full HTML รับ-ส่งข้อความอีเมล์ เอาใจคนชอบฟังเพลงด้วยเครื่องเล่นเพลง iPod รองรับชุดหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มม. ที่สำคัญคือมีความทนทานและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน(แบตเตอรี่)ในระดับดีมาก นอกจากนี้ยังรองรับระบบ 3G ที่กำลังเริ่มใช้ในเมืองไทย แต่เพราะมีกล้องหลังตัวเดียวจึงอาจใช้งาน video call ได้ยากสักหน่อย 16GB 24,500 บาท และ32GB 28,500 บาท “โนเกีย N97” คงถูกใจผู้รักการฟังเพลงและการส่งเอสเอ็มเอสเป็นชีวิตจิตใจ เพราะได้คะแนนในด้านนี้ไปถึง 5 ดาว แถมยังได้คะแนนเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับดีมาก มาพร้อมจอสัมผัส TFT-LCD 16 ล้านสี - 360 x 640 พิกเซล (3.5") แป้นพิมพ์คีย์บอร์ด QWERTY เครื่องเล่นเพลงรองรับไฟล์เสียง MP3, AAC, eAAC, eAAC+, WMA กล้องดิจิตอล 5 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลช สามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวและกล้องตัวที่ 2 รองรับระบบ video call ราคา 23,730 บาท มอบความปรารถนาดีให้คนที่คุณรัก“โทรไม่ถือ”ขณะขับรถ ด้วยอุปกรณ์บลูทูธ “Jabra BT500v” ได้คะแนนความสบายในการสวมใส่และการใช้โดยทั่วไปในระดับดีมาก สนทนาต่อเนื่องได้ 12 ชั่วโมง และเปิดรอรับสายได้นาน 300 ชั่วโมง สามารถโทรออกด้วยเสียง โทรออกเบอร์โทรล่าสุด ปฏิเสธสาย พักสาย รับสายเรียกซ้อน ระยะรับสัญญาณ 10 เมตร น้ำหนัก 19.4 กรัม ราคา 2,490 บาท ส่วนผู้ที่อยากใช้บลูทูธมากกว่าการโทรออกหรือรับสาย หูฟังสเตอริโอ “โซนี่ อีริคสัน HBH-DS970” จะตอบสนองความต้องการของคุณ บลูทูธที่สามารถฟังเพลงด้วยปลั๊กสองหู เรียกดูเพลงได้ และมีรีโมตควบคุมระดับเสียงเพลง ส่วนฟังก์ชั่นการโทรก็ไม่น้อยหน้า มีระบบการโทรด้วยเสียง การจัดการสายที่สอง โทรซ้ำและแสดงหมายเลขผู้โทรเข้า สนทนาต่อเนื่องได้นาน 6 ชั่วโมง เปิดเครื่องรอสายได้ 300 ชั่วโมง น้ำหนัก 29.6 กรัม ราคา 4,590 บาท อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อบลูทูธอย่าลืมตรวจสอบว่าอุปกรณ์รุ่นนั้นๆ สามารถใช้กับโทรศัพท์ของคุณได้หรือไม่ และหาโอกาสทดลองใส่ดูว่าสบายหูไหม ไม่เช่นนั้นหากอุปกรณ์ดีแค่ไหน หากใช้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนนี่ มีประโยชน์กับคนขี้เหงาแน่นอน ด้วยเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลขนาดเล็กที่สุดในโลก “Apple iPod Shuffle” ไปที่ไหนก็ไม่เหงาเพราะมีเสียงเพลงเป็นเพื่อน ได้คะแนนความสะดวกในการพกพาถึง 5 คะแนน คุณภาพเสียงอยู่ในระดับดี พร้อมฟังก์ชั่น VoiceOver สำหรับบอกชื่อเพลงและชื่อศิลปิน (เสียอย่างเดียวคือมันยังไม่พูดภาษาไทย) เล่นเพลงต่อเนื่องได้นาน 12 ชั่วโมงต่อการชาร์ตหนึ่งครั้ง น้ำหนักเพียง 9 กรัม ราคา 2,800 บาทแต่หากใครชอบสะสมเพลงโปรด ขอแนะนำ “Apple iPod classic 160GB hard disk” เครื่องเล่นเพลง MP4 ที่จุ???เพลง???ได้???สูงสุด?? 40,000 ??เพลง?? ??ให้คุณภาพเสียงระดับดี เล่นเพลงต่อเนื่อง?? 46.5 ??ชั่วโมง???และ???ชมวิดี???โอ?? 7 ??ชั่วโมง พร้อมจอแสดงผลสีขนาด?? 2.5 ??นิ้ว น้ำหนัก 137 กรัม ราคา 10,200 บาท “Samsung YP-Q2” เครื่องเล่นเพลงสารพัดประโยชน์ เพราะมีทั้งฟังก์ชั่น วิทยุ FM เล่นเกม บันทึกเสียง และบันทึกจากเสียงวิทยุ หน้าจอขนาด 2.4 นิ้วสำหรับดูภาพและคลิปวิดีโอ มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในระดับดีมาก เล่นเพลงต่อเนื่องได้ 53.5 ชั่วโมง น้ำหนัก 58 กรัม ราคา 3,490 บาท คุณภาพเสียงที่ดีนอกจากจะมาจากเครื่องเล่นเพลงที่ดีแล้ว ยังมาจากหูฟังที่มีคุณภาพด้วย “Beyerdynamic DTX800” ให้คุณภาพเสียงดีเลิศในระดับ 5 ดาวในราคาที่ต่ำกว่าหูฟังยี่ห้ออื่นๆ กว่าครึ่ง ตอบสนองความถี่ 10 Hz-22 kHz ได้คะแนนปราศจากเสียงรบกวนจากสายหรือตัวเครื่องในระดับดีมาก น้ำหนักรวมสาย 290 กรัม ราคา 4,373 บาท  หากงบประมาณไม่เกิน 1,000 บาท แต่ต้องการหูฟังคุณภาพสูง “Sennheiser HD 201” ราคาเพียง 990 บาท แต่ได้คุณภาพเสียง ความทนทาน ความสะดวกในการใช้งานและความสบายในการสวมใส่ถึง 4 ดาว ตอบสนองความถี่ 21 Hz-18 kHz น้ำหนักรวมสาย 188 กรัม เตรียมเก็บภาพประทับใจตลอดปีขาลด้วยกล้องวิดีโอ “Canon Legria HF200” ระบบบันทึกภาพแฟลชเมมโมรี่ เลนส์วีดีโอ HD ออพติคอลซูม 15 เท่า ให้ภาพความละเอียดสูงแบบ Full HD คุณภาพภาพเคลื่อนไหวในระดับดีมาก ฟังก์ชั่น Dual Shot สามารถบันทึกภาพนิ่งที่ความละเอียด 3.3 ล้านพิกเซล และบันทึกภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งในขณะเดียวกันที่ความละเอียด 3 ล้านพิกเซล ราคา 29,900 บาท จิ๋วแต่แจ๋วต้องตัวนี้ “Canon Legria FS200” กล้องวิดีโอที่มาพร้อมฟังก์ชั่นซูมออฟติคอลถึง 37 เท่าและระบบป้องกันภาพสั่นไหว ได้คะแนนระยะเวลาในการบันทึกภาพในระดับดีมาก เพราะบันทึกภาพได้นานสูงสุดถึง 3.5 ชั่วโมงต่อการชาร์ตหนึ่งครั้ง น้ำหนัก 279 กรัมราคา 12,900 บาท ฉลาดซื้อหวังว่าคุณคงจะได้ไอเดียในการเลือกซื้ออุปกรณ์ไอทีที่คุณภาพดีและเหมาะสมกับการใช้งานให้เป็นของขวัญแด่คนที่คุณรัก เพราะการพิถีพิถันในการเลือกซื้อ เลือกใช้ นอกจากผู้ใช้จะได้ประโยชน์แล้วยังส่งผลดีต่อธรรมชาติด้วย เพราะหมายความว่าคุณจะสามารถใช้อุปกรณ์นั้นๆได้นานก่อนจะทิ้งให้เป็นภาระกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 105 รถเข็นเด็ก: อันตรายจากสารเคมีที่แอบแฝง

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการรายการข่าวหลายช่องได้นำเสนอข่าวอุบัติเหตุสุดช็อคที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย กรณีที่รถเข็นเด็กไถลจากชานชาลาและคว่ำลงในรางรถไฟจังหวะเดียวกับที่รถไฟวิ่งเข้าชานชาลาพอดี เดชะบุญเด็กน้อยไม่เป็นอะไรมากนอกจากหัวโน เนื่องจากคุณแม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยไว้ทำให้เด็กไม่กระเด็นหลุดออกมานอกรถเข็นขณะโดนกระแทก (ตามข่าววันที่ 16 ตุลาคม 2552)  ไม่ว่าคุณแม่คนดังกล่าวจะเลือกใช้รถเข็นเด็กยี่ห้ออะไร แต่ถือว่ารถเข็นยี่ห้อดังกล่าวใช้ได้ครับ เพราะมีความแข็งแรงมากพอจนสามารถป้องกันเด็กจากอุบัติเหตร้ายแรงได้ พูดถึงเรื่องของรถเข็นเด็ก ในเยอรมนีก็ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอย่างมาก มีการทดสอบสินค้าประเภทนี้เฉลี่ยแล้วปีละครั้ง แต่ละครั้งที่ทดสอบก็จะพบข้อบกพร่องมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งทางผู้ทดสอบก็จะแจ้งให้ผู้ผลิตรับทราบ ซึ่งผู้ผลิตของเยอรมนีเองก็ไม่เคยเพิกเฉย และไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับผลการทดสอบเลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่มาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีเองก็ขึ้นชื่อว่ามีมาตรการควบคุมและบังคับอย่างเข้มข้น สำหรับเมืองไทยของเรานั้น หากมีการร้องเรียนหรือการแจ้งข้อมูลจากผู้บริโภค/สื่อสารมวลชน ผู้ประกอบการและผู้ผลิตควรมีมาตรการรับผิดชอบหากพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ หากเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งผู้ซื้อซื้อไปไม่เกิน 7 วัน แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่สามารถใช้ได้ เกิดข้อบกพร่องเสียหายซึ่งมาจากการผลิต ก็ควรจะเปลี่ยนสินค้าอันใหม่ให้เลย หลายครั้งที่ผู้เขียนมีประสบการณ์จากเพื่อนฝูง พี่น้องมาปรารภเกี่ยวกับการซื้อสินค้ามาใช้ไม่นานแล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนบางอย่างเสียโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ซื้อเองต้องการจะเปลี่ยนสินค้าเป็นชิ้นใหม่แต่ผู้ขายไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทำได้แค่เพียงส่งซ่อมและแก้ไขให้เท่านั้น บางกรณีอ้างว่า ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้ซื้อเงินสด (ใช้บริการผ่อนชำระ 0% ทำให้เสียสิทธิ!!!) ซึ่งการเปลี่ยนสินค้าให้แบบไม่มีเงื่อนไขคงไม่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการเพราะโอกาสเกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ (หากเกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง สินค้าชิ้นนั้นควรได้รับการตรวจสอบ เพราะอาจจะผลิตไม่ได้มาตรฐานจริงๆ) ลองติดตามดูข่าวคราวเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในบ้านเรายังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวเลยครับ แต่เรื่องลักษณะนี้ก็มีเกิดขึ้นในสังคมอยู่เป็นประจำ สำหรับผมนั้นก็จะนำข่าวเหล่านี้มาเสนอให้เพื่อนสมาชิกทราบเป็นระยะๆ ครับ และหวังว่าการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีผลต่อความรับผิดขอบของผู้ผลิตในเมืองไทย ตามมาตรฐานสากล สมกับที่ได้ตรามาตรฐาน ISO ซึ่งผู้ผลิตบ้านเราพยายามทำหรือหาวิธีที่จะให้ได้มาซึ่งมาตรฐานนี้ สำหรับมาตรฐานของฝรั่งที่ไม่ได้ออกเป็น ISO แต่เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ผลิตคือ การรับผิดชอบสินค้าที่ผลิตขึ้นและพบข้อบกพร่อง โดยการรับเปลี่ยนสินค้าแบบไม่มีเงื่อนไข และหากผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขจริยธรรมแบบฝรั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อไหร่ คงต้องดูกันต่อไปครับ กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ฉบับนี้ผมนำเรื่องผลการทดสอบรถเข็นเด็กของนิตยสาร Test เยอรมนี ฉบับเดือนกันยายน 2552 มานำเสนอครับ ผลการทดสอบพบสารเคมีอันตรายในรถเข็นเด็กถึง 10 ยี่ห้อ จากจำนวนยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ ชิ้นส่วนที่มีการตรวจพบสารเคมีอันตราย ได้แก่ บริเวณที่จับ (Handle) เข็มขัดนิรภัย เบาะคลุม และที่กันฝน ชิ้นส่วนดังกล่าวมีปริมาณสารเคมีประเภท Plasticizer หรือ Phatalate และ สารเคมีประเภท Polycyclic Aromatic Hydro Carbon (PAHC) สารเคมีกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง และทำให้เป็นหมันได้ สารเคมีดังกล่าวถูกตรวจพบในกลุ่มสินค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเด็กอ่อน (baby article) ได้แก่ เก้าอี้เสริมของเด็ก เก้าอี้หัดเดิน และเครื่องเขียน เป็นต้น ในการทดสอบครั้งนี้ยังพบสารเคมีอันตรายชนิดอื่นด้วย อาทิ Chlorinated paraffin, สารป้องกันการติดไฟ (flame retardant) สารเคมีกลุ่ม Organozine กลุ่ม Phenol และFormaldehyde ผลการทดสอบสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตยังไม่ตระหนักถึงอันตรายที่หลบซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ ถึงแม้ว่าสารเคมีที่กล่าวมานี้จะไม่ทำให้เกิดอันตรายแบบปัจจุบันทันด่วน แต่หากสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ก็จะเกิดการสะสม สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กในอนาคตได้ ดังนั้น ผู้ผลิตควรต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายทั้งหลายเหล่านี้ สำหรับยี่ห้อที่ตรวจพบสารเคมีอันตรายดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถดูได้จากข้อมูลที่เรานำมาลง และหากพบสินค้ายี่ห้อดังกล่าวมีวางจำหน่ายในประเทศไทย ก็ควรจะหลีกเลี่ยงไม่เลือกมาใช้งานและแจ้งมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วยนะครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 103 Electro smog มีผลต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์?

จากที่เราได้ทำการทดสอบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าและวัดค่าความเข้มของสนามแม่เหล็ก ซึ่งพบว่ามีค่าสูงมาก ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคหลายท่านสนใจว่า สนามแม่เหล็กไฟฟ้า จะมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง ขอขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาวะ อิเลคโตรสมอก (Electrosmog) เพื่อไขข้อข้องใจของทุกๆ ท่านนะครับ หวังว่าจะสามารถช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านทราบถึงภาวะความเสี่ยงเมื่ออยู่ภายใต้สนามแม่เหล็ก และจะได้หลีกเลี่ยงสำหรับประเด็นดังกล่าว นักวิชาการทั่วโลกก็ให้ความสนใจและมีการทำการศึกษาวิจัยอยู่ หากมีรายงานความคืบหน้าของผลการวิจัยในเรื่องนี้ ก็จะนำมาเล่าให้ฟังอีกเป็นระยะๆ นะครับ คำว่า อิเลคโตรสมอก (Electro smog) เป็นศัพท์ที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงไว้ตั้งแต่ปี 1980 เป็นคำใช้เรียก สนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายของสิ่งมีชีวิต สำหรับคำว่า smog มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษสองคำมาผสมกัน คือ smoke (ควัน) กับ fog (หมอก) มาจากปรากฏการณ์ของอากาศที่เป็นมลภาวะ ซึ่งมนุษย์เราเริ่มเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม หากเกิดปรากฏการณ์ smog ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็แสดงว่า สภาพของอากาศนั้นแย่มากและเป็นพิษต่อมนุษย์ด้วยผลกระทบจากการอยู่ภายใต้สนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีคลื่นความถี่ต่างกัน จะมีอาการแตกต่างกันออกไป เป็นต้นว่า ภายใต้สนามไฟฟ้าหรือคลื่นแม่เหล็กที่มีคลื่นความถี่ต่ำ อาจทำให้มีการระคายเคืองหรือคันที่ผิวหนัง เพราะคลื่นแม่เหล็กสามารถวิ่งผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ และหากความเข้มข้นของคลื่นสูงจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อ ให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น การเพิ่มของอุณหภูมิขึ้นอยู่กับค่าที่เรียกว่า อัตราการดูดซึมจำเพาะ (Specific Absorption Rate: SAR) ถ้าวัตถุใดมีค่า SAR น้อย หากอยู่ภายใต้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีอุณหภูมิต่ำในประเทศเยอรมนีมีกฎหมายควบคุมมลภาวะ (26. BImSchV, Verordnung zur Durchführung des Bundes Immissionsschutzgesetz- Federal Pollution Protection Laws) โดยมีการควบคุมความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น ค่าความเข้มข้นที่มากที่สุดไม่ควรจะเกินค่า marginal value (marginal value = ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็ก ซึ่งทดสอบแล้วว่าไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์)โดยทั่วไปแล้วขณะที่เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน จะเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ของคลื่นไฟฟ้าต่ำ และค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กไม่สูงมากนัก โดยอยู่ต่ำกว่า 100 ไมโครเทสลา ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เครื่องเป่าผมและเครื่องโกนหนวด เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสูง แต่เนื่องจากเราใช้งานเป็นระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ สำหรับค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน สามารถตรวจสอบได้จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กขึ้นอยู่กับ ระยะห่างระหว่างร่างกายมนุษย์กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ยิ่งอยู่ไกล ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กก็จะลดลงตารางที่ 1 ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ค่าความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ที่ระยะต่างๆ (ไมโครเทสลา mT) อุปกรณ์ 3 cm 30 cm 1 m วิทยุ (แบบพกกพา) 16-56 1 < 0.01 โทรทัศน์ 2.5- 50 0.04- 2 0.01- 0.15 คอมพิวเตอร์ 0.5- 30 < 0.01 ไม่ระบุ เตาไมโครเวฟ 73- 200 4- 8 0.25- 0.6 เตาไฟฟ้า 1- 50 0.15- 0.5 0.01- 0.04 เครื่องล้างจาน 3.5- 20 0.6- 3 0.07- 0.3 ตู้เย็น 0.5- 1.7 0.01- 0.25 < 0.01 เตารีด 8- 30 0.12- 0.3 0.01- 0.03 เครื่องซักผ้า 0.8- 50 0.15- 3 0.01- 0.15 เครื่องดูดฝุ่น 200- 800 2- 20 0.13- 2 ดรายเป่าผม 6- 2,000 0.01- 7 0.01- 0.3 เครื่องโกนหนวด 15- 5,000 0.08- 9 0.01- 0.3 หลอดไฟฟลูออเสเซนต์ 40- 400 0.5- 2 0.02- 0.25 สว่านไฟฟ้า 400- 800 2- 3.5 0.08- 0.2 ที่มา Radiation Protection Commission of Federal Republic of Germany, 1997เตาไมโครเวฟ มีการแผ่รังสีของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงออกมา เพื่อทำให้อาหารร้อน โดยปกติแล้วหน้าต่างของเตาไมโครเวฟจะมีตัวกำบังทำให้รังสีไม่รั่วไหลออกมาจากเตาได้แหล่งกำเนิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง ภายในบ้านคือ โทรศัพท์ไร้สาย (cordless telephone) ขณะที่เรากำลังใช้โทรศัพท์ไร้สายนั้น ตัวฐานของโทรศัพท์จะปล่อยคลื่นสนามแม่เหล็กออกมา ตลอดเวลา เช่นเดียวกับ Baby phone  ก็จะปล่อยสนามแม่เหล็กออกมาได้เช่นกัน (Baby phone  เป็นเครื่องมือรับส่งสัญญาณ คุณพ่อคุณแม่ชาวเยอรมันนิยมใช้เครื่องมีนี้อย่างแพร่หลาย โดยวางเครื่องดังกล่าวไว้ในห้องของลูก เพื่อใช้ฟังเสียงทารกน้อยว่าตื่นหรือหลับ  ช่วยให้พ่อแม่ทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในบ้านได้ ไม่ต้องเฝ้าลูกตลอดเวลา) Bluetooth เป็นเครื่องมือที่เชื่อมต่อสัญญาณในระยะสั้นๆ อยู่ในเครื่องมือสื่อสารอิเลคโทรนิคส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุค แลปทอป ปาล์มทอป ออร์กาไนเซอร์  พริ้นเตอร์ และสแกนเนอร์  ความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กที่เกิดจาก Bluetooth มีความเข้มข้นน้อยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเป็นพิเศษ โทรศัพท์มือถือ ที่ใช้ในเยอรมันต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลมลพิษจากการปลดปล่อยรังสี (Strahlenschutzkommission) ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จาก ฉลากน้ำเงิน Der blaue Engelในประเทศเยอรมนีมักมีการโฆษณาเกี่ยวกับวัสดุที่สามารถป้องกันสนามแม่เหล็กได้ (Magnetic field protection shield) ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถนำไฟฟ้าได้ โดยจะต่อสายดินพ่วงเข้าไปด้วย ข้อเท็จจริงคือวัสดุดังกล่าวสามารถป้องกันได้เฉพาะสนามไฟฟ้าความถี่ต่ำเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันสนามแม่เหล็กได้ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันรังสีแห่งชาติ (The federal office for radiation protection) ออกมาเตือนประชาชนไม่ให้ใช้วิธีการดังกล่าวในการป้องกันสนามแม่เหล็ก TIPS: วิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง Electro smog1. ควรเดินสายไฟโดยฝังลงไปในผนังให้ลึกพอสมควร 2.หากไม่ได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ควรถอดปลั๊กไฟออกไม่ควรปล่อยให้อยู่ใน mode standby โดยเฉพาะทีวี และเครื่องเล่นสเตอริโอ เนื่องจากจะมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเครื่องตลอดเวลาทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้3. มาตรการการป้องกันสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นระยะเวลานานๆ โดยเฉพาะในห้องนอน และห้องของเด็กทารก ไม่ควรตั้งนาฬิกาปลุกที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือวางโทรศัพท์ไร้สายไว้บนหัวเตียง 4. ไม่ควรให้เด็กเล็กอยู่ใกล้เตาไมโครเวฟขณะกำลังใช้งาน5. หลีกเลี่ยงการใช้ Babyphone ที่มีการส่งสัญญาณตลอดเวลาและติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณให้ไกลจากตัวเด็ก นอกจากนี้ ควรใช้ Babyphone ที่ใช้พลังงานจากถ่านไฟฉาย เพื่อหลีกเลี่ยง สภาวะสนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำ6. หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ ควรรอสัญญาณให้คู่สายรับสัญญาณก่อนที่จะนำโทรศัพท์ไปแนบหู ใช้ Head set หรือส่ง SMS แทนการคุยทางโทรศัพท์ ขณะอยู่ที่บ้านควรใช้โทรศัพท์บ้านแทน วิธีการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการอยู่ภายใต้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 มีอะไรอยู่บนไข่ ในยุโรป

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความฉบับนี้ เกิดจากความซุกซน ของคนชอบกินไข่ บวกกับเรื่องไข่ไก่ปลอมจากเมืองจีน เลยมีเรื่องของไข่ในยุโรปมาฝากครับ ตอนที่ผมเรียนอยู่ในเยอรมนีนั้น ก็มักจะซื้อไข่เก็บไว้ทำอาหารรับประทาน ซึ่งเป็นไข่ไก่ บรรจุอยู่ในกล่องอยู่ 10 ฟอง (คนยุโรปไม่ค่อยรับประทานไข่เป็ด) อาจจะเป็นสีขาว หรือ สีน้ำตาลก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปเดินตลาด แล้วเจอไข่สีขาวๆ ฟองโตๆ ให้เราคิดไว้ก่อนเลยว่า เป็นไข่ไก่ คนยุโรปเขาเป็นคนละเอียด แม้แต่ไข่ ซึ่งตามสามัญสำนึกของเรา มันก็ไม่น่าจะไปยุ่งอะไรกับมันมากนัก เขาก็จัดการให้มันพูดกับผู้บริโภคได้ วิธีการก็คือ กำหนดหมายเลขลงบนไข่ โดยตัวเลขจะมีความหมายดังนี้   หมายเลขตัวแรก หมายถึง ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงโดยวิธีต่างๆ คือ0 เป็นไข่ที่ได้จากการเลี้ยงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Ecology Products 1 ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงปล่อย (ในทุ่ง) (Free range egg)2 ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงในกรงกว้าง แต่มีบริเวณให้ไก่เดินและบิน ได้บ้าง3 ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงในกรงแคบ ซึ่งจัดว่าเป็นการเลี้ยงไก่ ที่จัดว่า ทรมานสัตว์ เนื่องจากไก่ไม่สามารถเดินไปไหนได้เลย นอกจากนอนอุดอู้อยู่ในกรง เพื่อการวางไข่เท่านั้น   หมายเลขโค้ดถัดมา จะบอกถึงประเทศ ? เป็นแหล่งที่มาของไข่ เช่น AT ประเทศออสเตรีย BE ประเทศเบลเยียม DE หมายถึงประเทศเยอรมนี NL ประเทศเนเธอร์แลนด์หมายเลขโค้ด7 หลัก ซึ่งจะบ่งบอกถึงฟาร์มที่ผลิตไข่ โดยหมายเลขสองหลักแรก จะ เป็นรหัสที่ระบุว่ามาจากมลรัฐใด (ประเทศเยอรมนี แบ่งการปกครองออก เป็น 16 รัฐ) สำหรับข้อกำหนดในเรื่องนี้ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงแหล่งที่มาของไข่ที่เป็นอาหารหลัก สามารถเลือกบริโภคได้ตรงตามรสนิยม ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการไม่สนับสนุนการทรมานสัตว์ ซึ่งทางยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ที่เข้มงวด และเพื่อเป็นการป้องกัน ผู้บริโภคที่สูงอายุ จากการติดเชื้ออาหารเป็นพิษ อันมีสาเหตุจากการบริโภคไข่ไก่ โดยเฉพาะหากไข่ไก่ไม่สุก การติดหมายเลขบนไข่นั้น จะช่วยให้ผู้บริโภค สามารถเลือกไข่อย่างมั่นใจได้ว่ามาจากฟาร์มเลี้ยงที่ปลอดภัย แต่การที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในตลาดบ้านเรานั้น ยังอาจเป็นเรื่องของอนาคตครับ เพราะยังมีเรื่องเร่งด่วนพื้นฐานอีกหลายเรื่อง เช่น ตารางการเดินรถโดยสารประจำทาง ที่บอกเวลาของรถแต่ละสาย ที่ป้ายรถเมล์ที่จะต้องมีการปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบและสามารถเลือกได้อย่างอิสระจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

เป้สะพายหลังสำหรับเด็กเล็ก:การฝึกและวิธีการสะพายที่ถูกต้อง

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคถึงวันเปิดเทอมใหม่ เด็กๆ ก็ต้องสะพายเป้ใส่ของไปโรงเรียน เด็กเล็กๆ บางคนสะพายเป้ใบใหญ่กว่าตัวมาก แถมยังแบกสัมภาระมหึมาไปโรงเรียนทุกวัน ซึ่งการแบกน้ำหนักมากๆ มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้ปกครองทุกคนต้องให้ความสนใจในการเลือกเป้สำหรับบรรจุข้าวของต่างๆ ของลูกน้อยเป็นพิเศษ  ในบางกรณีผู้ปกครองจำเป็นต้องเลือกใช้เป้ของโรงเรียน ซึ่งอาจยังไม่ได้คำนึงถึงการยศาสตร์ ในการออกแบบสำหรับเด็กเล็กเท่าไรนัก วิธีการหนึ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้คือ การฝึกเด็กให้สะพายเป้ให้ถูกต้องนั่นเอง วันนี้ผมขอนำวิธีการฝึกสะพายเป้ให้ถูกต้องตามหลักการทางออร์โธเปดิกส์มาฝาก ซึ่งหากเด็กสามารถสะพายเป้ได้อย่างถูกต้อง จะส่งผลต่อชีวิตของเด็กในอนาคตเองเลยทีเดียว เพราะการสะพายเป้ที่ไม่ถูกต้องนั้นจะทำให้มีผลกระทบต่อกระดูกสันหลังของเด็ก เพราะกระดูกสันหลังของเด็กในวัยนี้ยังไม่แข็งแรง เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย และอาจนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ผิดรูปร่างได้หากต้องรับน้ำหนักมากเกินไปน้ำหนักของเป้พ่อแม่ผู้ปกครองควรแนะนำให้เด็กจัดกระเป๋าทุกวัน และควรจัดกระเป๋าโดยใส่ของที่ต้องการใช้วันต่อวัน เพื่อป้องกันมิให้เด็กแบกน้ำหนักมากเกินไป เมื่อใส่ของลงไปแล้วไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 10- 12 % ของน้ำหนักตัวเด็ก นอกจากนี้ควรจัดสิ่งของต่างๆ ให้น้ำหนักกระจายอย่างสม่ำเสมอตามสายสะพายทั้งสองข้าง อย่าให้ข้างใดข้างหนึ่งหนักเกินไป ในการจัดของลงในเป้นั้น ถ้าเป็นหนังสือที่มีน้ำหนักมาก ควรใส่ลงให้แนบชิดบริเวณหลังและไหล่ของเด็ก ของที่มีน้ำหนักเบาๆ เช่น สมุดหรือกล่องดินสอควรใส่บริเวณด้านหน้าของเป้ ตามรูปที่ 1การฝึกการยืนการฝึกการยืนจะช่วยให้ร่างกายของเด็กรับน้ำหนักได้ดีขึ้น วิธีการคือ แยกปลายเท้าออกจากกันเล็กน้อย ปล่อยเข่าตามสบายไม่เกร็ง และลำตัวตั้งตรง (รูปที่ 2) พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูควรฝึกการยืนร่วมกันกับเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจและสามารถนำไปปฎิบัติได้จริง การสะพายเป้การสะพายเป้ที่ถูกต้อง คือ การสะพายบนไหล่ทั้งสองข้าง ไม่ควรสะพายเป้ด้วยไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง เด็กๆ ต้องฝึกให้ชินกับการสะพายด้วยไหล่ทั้งสองข้าง ขนาดของเป้ก็มีความสำคัญเช่นกัน เป้ที่เหมาะสมควรมีขนาดแนบพอดีกับหลังเด็กและความยาวของเป้ไม่ควรเกินเอวด้านล่างของเด็ก ด้านหลังของเป้ต้องแนบกับแผ่นหลังของเด็ก (รูปที่ 2)  เมื่อเด็กจะหิ้วหรือวางเป้ลง ควรใช้โต๊ะ เก้าอี้ ช่วยซึ่งจะป้องกันกระดูกสันหลังของเด็กให้ปลอดภัยได้มากกว่าการต้องก้มหรือโค้งตัวลงไป ซึ่งจะทำให้มีน้ำหนักกดทับที่กระดูกสันหลังสูงมาก เพราะฉะนั้นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรหาโต๊ะที่เหมาะกับความสูงของเด็ก เพื่อให้เด็กสะพายเป้หรือวางเป้ลง (รูป ที่ 3) เมื่อเด็กสะพายเป้ ควรใช้มือทั้งสองช่วยประคองน้ำหนักด้วย และเมื่อเด็กเจอสิ่งกีดขวางหรือ เดินขึ้นบันได ควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้รักษาสมดุลในการเดินและป้องกันไม่ให้เด็กหกล้มอีกด้วย (รูปที่ 4) การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเด็กการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการสะพายให้แข็งแรง สามารถเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กขณะสะพายเป้ได้ วิธีการฝึกที่ดีอย่างหนึ่งคือ การให้เด็กได้เดินเล่นบ้างหลังจากที่ต้องนั่งเรียนเป็นเวลานานๆ การเดินจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อท้อง หลัง และก้นแข็งแรง นอกจากนี้ ก็ยังมีท่าฝึกเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น รูปที่ 5 เป็นท่าที่ฝึกให้เด็กรักษาสมดุล และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก้นและกล้ามเนื้อขา รูปที่ 6 ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณหลัง   และรูปที่ 7 แสดงการฝึกความแข็งแรงของกล้ามท้อง   TIP! เคล็ดลับที่สำคัญในการฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง คือ ทั้งพ่อแม่ หรือ คุณครู ควรร่วมฝึกกับเด็กด้วย วิธีนี้จะช่วยให้เด็กจดจำได้เร็วขึ้นและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง (ที่มา วารสาร Test ฉบับเดือนสิงหาคม 2008)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 หลอดไฟประหยัดพลังงาน

ช่วงฉลาดช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค  ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมาครับ ความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยเกือบกลายมาเป็นสงครามกลางเมือง แต่ยังโชคดีที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตประชาชนมากเหมือนกับการขัดแย้งในอดีต นับว่าเป็นวิวัฒนาการของสังคมไทยที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไปในทิศทางที่ดีขึ้น วันนี้ขอเล่าเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับหลอดไฟประหยัดพลังงาน ว่ามีหลักการทำงานอย่างไร ตลอดจนประเภทของหลอดไฟ และการเลือกหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งานภายในบ้าน ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคนในการเลือกซื้อหลอดไฟฟ้าครั้งต่อไปครับ หลักการทำงานของหลอดประหยัดพลังงาน (หลอดตะเกียบ)หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงานโดยทั่วไปใช้กับความต่างศักย์ ขนาด 230 โวลต์ เมื่อกดสวิตช์เพื่อเปิดไฟ ความต่างศักย์ที่สตาร์เตอร์ (Starter) จุดติดอยู่ระหว่าง 250 โวลต์- 450 โวลต์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวจ่ายกระแสไฟฟ้า (Glow discharge) เมื่อกระแสไฟไหลผ่านวงจรผ่านขั้วบวกและขั้วลบที่มีแท่งโลหะ (Bimetal) ต่อเชื่อมอยู่ เมื่อกระแสไฟไหผ่านขั้วทั้งสองแล้ว จะเกิดการไหลของกระแสไฟภายใต้ความต่างศักย์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ขดลวดที่ทำมาจากโลหะทังสเตนปล่อยอิเลคตรอนวิ่งไปชนกับอะตอมของก๊าซในหลอดไฟ (Impact ionization) ทำให้อะตอมของก๊าซเกิดปฎิกริยาไอออนไนเซชัน (เกิดเป็นอนุภาคของก๊าซที่มีขั้ว) เมื่ออนุภาคที่มีขั้วดังกล่าววิ่งไปชนกับสารเรืองแสง (Luminescent substance) ก็จะเกิดเป็นสเปคตรัมหรือแสง ที่เรามองเห็นนั่นเอง อายุการใช้งานจากผลการทดสอบของนิตยสาร TEST ของเยอรมันนี สามารถบอกได้เลยว่า หลอดตะเกียบมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไส้ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6,000 – 15,000 ชั่วโมง ขณะที่หลอดไส้มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 1,000 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่า ความสว่างของหลอดไฟจะลดลงตามอายุการใช้งานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 15- 40 % (เป็นสินค้าที่น่าทดสอบเปรียบเทียบเป็นอย่างมาก นอกจากการประหยัดไฟฟ้าแล้ว ความสว่างที่ลดลงตามอายุการใช้งานของแต่ละยี่ห้อนั้นเป็นอย่างไร)อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานจริงมักจะน้อยกว่าตามที่ฉลากบอกไว้ รวมไปถึงรายละเอียดอื่น เช่น กำลังไฟฟ้าด้วย (ไม่ทราบว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายติดฉลากลวงหรือไม่ เนื่องจากในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีการติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริงถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากเรื่องการติดฉลากลวงแล้ว ยังมีเรื่องบรรจุลวงด้วย ซึ่งหากบรรรจุสินค้าโดยใช้หีบห่อที่มีขนาดใหญ่กว่าสินค้ามากๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้ามีขนาดใหญ่ สำหรับปัญหาเรื่องการบรรจุลวงนี้ ไม่มีกฏหมายรองรับ แต่แสดงให้เห็นถึงคุณธรรม จริยธรรมและการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ)หลอดประหยัดไฟช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม?ในเชิงอนุรักษ์ทรัพยากร เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างหลอดธรรมดากับหลอดประหยัดพลังงาน หลอดประหยัดพลังงานสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 80 % หมายความว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของหลอดประหยัดไฟ 1 หลอดเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของหลอดไส้ 5 หลอด โดยที่ความสว่างของหลอดไฟเท่ากัน สาเหตุที่หลอดประหยัดไฟใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟแบบไส้ เพราะหลอดประหยัดไฟสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้มากถึง 25 % ขณะที่หลอดไฟแบบไส้จะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่างได้เพียง 5 % พลังงานที่สูญเสียจะเปลี่ยนเป็นความร้อนประเภทของหลอดไฟประหยัดพลังงานหลอดประเภท Warm white แสงที่ได้จากหลอดไฟประเภทนี้เป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีหรือแสงจากสารเรืองแสง อุณหภูมิของสี (Color temperature) มีค่า 2,700 เคลวิน อุณหภูมิของสีเป็นตัวที่บอกถึงอัตราของสีที่ผสมในแสงไฟ แสงสีน้ำเงินเป็นแสงที่มีค่า Color temperature สูง และแสงสีแดงมีค่า Color temperature ต่ำ ค่า Color temperature นี้สามารถดูได้จากกล่องบรรจุ สำหรับหลอดไฟประเภท Warm white เหมาะจะใช้ในห้องนอนและห้องนั่งเล่น เป็นที่ชื่นชอบของคนที่อยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ เพราะให้ความรู้สึกอบอุ่นและไม่สว่างจ้าเกินไป หลอดประเภท Day light ให้แสงไฟที่คล้ายกับแสงแดดธรรมชาติ ค่า Color temperature ของหลอด ไฟประเภทนี้มากกว่า 5,000 เคลวิน คนที่อยู่ในภูมิภาคที่อบอุ่น เช่น คนแถวยุโรปใต้ รวมทั้งคนไทยมักนิยมใช้หลอดไฟประเภทนี้ ข้อดีของหลอดไฟประเภทนี้คือ ใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างในห้องหรือบนโต๊ะทำงานได้ดีกว่า เพราะให้แสงสว่างที่ใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติมากที่สุด มีผลต่อการทำงานของมนุษย์คือ ทำให้มนุษย์ทำงานได้ดี และทำให้ไม่ง่วง การจัดการขยะที่เกิดจากหลอดประหยัดไฟเมื่อหลอดไฟสิ้นอายุการใช้งานแล้ว วิธีการกำจัดหรือจัดการกับขยะประเภทนี้ ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะปกติ เนื่องจากหลอดไฟประหยัดพลังงานมีสารปรอทเคลือบเป็นสารเรืองแสงที่หลอดด้านใน โดยเฉลี่ยสูงถึง 7 มิลลิกรัม ปรอทเป็นโลหะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต หากสารปรอทไปปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับบริโภคอุปโภคของประชาชน  การกำจัดและจัดการขยะที่เป็นพิษควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยที่หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรหามาตรการและวิธีการจัดการตลอดจนให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกกับประชาชน อย่างเช่นประชาชนในยุโรป เขาตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการจัดการขยะที่เป็นพิษ ไม่ใช่เพราะว่ามีกฎหมายบังคับในเรื่องดังกล่าว แต่เกิดจากความรู้สึกสำนึกในด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องการแยกขยะที่เป็นพิษ โดยการนำไปคืนให้กับผู้ผลิต ผู้ขาย ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ขายก็ต้องรับผิดชอบในการกำจัดขยะพิเศษนี้อีกทีหนึ่ง ภายใต้การควบคุมดูแลของภาครัฐและการจับตามองหรือเฝ้าระวังขององค์กรภาคประชาชน แหล่งข้อมูลอ้างอิง[1] เวปไซต์ http://www.energiespar-lampen.de[2] วารสาร Test NO. 3 March, 2008

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ช้อปนม(สด) แบบเยอรมัน

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคบทความในคราวนี้ขอให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนมสดที่เป็นข่าวอื้อฉาวกรณีนมโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วยนั้น ซึ่งมีหลายๆ องค์กรเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ (แต่ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้) เลยขอเกาะกระแสเรื่องนม หาข้อมูลมาเพิ่มเติมในประเด็นของตัวสินค้าที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อนมสดได้บ้าง  การแบ่งประเภทของนมนมดิบ เป็นนมที่ได้จากการรีดและผ่านกรรมวิธีการกรอง เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้สามารถเก็บรักษาวิตามินและกรดไขมันธรรมชาติ ซึ่งจะมีค่าระหว่าง 3.8- 4.2 % นมดิบจะจำหน่ายให้แก่โรงงานเพื่อผลิตเป็นนมสดต่อไป และจะถูกควบคุมคุณภาพและมาตรฐานอย่างเข้มงวด (ของเยอรมันนะครับ) นมดิบเป็นนมที่มีคุณค่าสูงที่สุด แต่นมดิบจะมีจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อนอยู่ในนมดิบด้วยเช่นกัน จึงไม่ควรดื่มนมสดจากเต้าหรือนมดิบ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะนำนมดิบมาบริโภคได้จึงต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรทราบว่า นมที่ผ่านความร้อนแล้วนั้นคุณค่าจะยิ่งลดลงไป ยิ่งถ้าความร้อนสูงมากเท่าไร คุณค่าของนมจะลดลงมากเท่านั้น ดังนั้นในกระบวนการผลิตนมสด อาจใช้ความร้อนที่สูงมากแต่จะใช้เวลาที่สั้นมากๆ เช่นกัน  ในทางกลับกัน หากใช้ความร้อนที่น้อยเกินไป อาจจะไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดได้ ดังนั้นการใช้ความร้อนที่ต่ำแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อคุณภาพของน้ำนม แต่ต้องใช้เวลาต้มที่นานขึ้น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ คือนมที่ฆ่าเชื้อแล้วโดยวิธีการผ่านความร้อนที่อุณหภูมิระหว่าง 72- 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15- 30 วินาที นมประเภทนี้คือนมที่บรรจุในถุงหรือขวดพลาสติก หรือกล่องแบบมีฝาเกลียวปิด กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์สามารถกำจัดจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรคต่อผู้บริโภคได้ นมสดพาสเจอร์ไรซ์สามารถเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิต่ำได้นานถึง 8 วัน แต่ข้อเสียของกระบวนการนี้คือคุณค่านมจะลดลงไป วิตามินที่อยู่ในน้ำนมจะสูญเสียไปถึง 10 % ส่วนนมสดที่อยู่ในหม้อต้มขายตามรถเข็นหรือ ร้านนมสดต่างๆ นั้น จะมีคุณค่ามากกว่าเนื่องจากจะใช้ความร้อนในระดับที่ต่ำแต่เป็นเวลานาน (ต้มไปเรื่อยๆ)  นมประเภท ESL: Extended Shelf Life เป็นนมที่มีรสชาติเหมือนกับนมพาสเจอร์ไรซ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับนมพลาสเจอร์ไรซ์ แต่สามารถเก็บได้นานกว่าถึง 3 อาทิตย์ กระบวนการผลิตนมชนิดนี้ คือให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 127 องศาเซลเซียสนาน 2-3 วินาที นมประเภทนี้เรียกว่า นมยืนหรือนมยาวก็ได้ เพราะมีอายุในการเก็บรักษายาวนาน (long life fresh milk) นม ยูเอชที (UHT: Ultra High Temperature) เป็นนมที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะผ่านความร้อนสูงที่อุณหภูมิ 135 องศาเซลเซียส ใช้เวลาสั้นมากคือ 1-2 วินาทีเท่านั้น นมยูเอชทีเป็นนมที่บรรจุกล่องวางขายทั่วไป ซึ่งจะสามารถเก็บได้โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็นเป็นเวลานาน แต่นมประเภทนี้จะมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่านมประเภทอื่นที่ได้กล่าวมาในที่นี้เนื่องจากผ่านความร้อนสูงมากกระบวนการโฮโมจีไนเซชัน (Homogenization) นมสดทุกประเภทที่กล่าวมาแล้วจะผ่านกระบวนการนี้ เพื่อให้ไขมันที่อยู่ในน้ำนมกระจายตัวออกไปทั่วๆ โดยจะอัดน้ำนมผ่านหัวฉีดเล็กๆ จนทำให้ไขมันแตกตัวเป็นก้อนกลมเล็กๆ และด้วยวิธีการนี้ทำให้นมไม่จับตัวเป็นครีมที่ผิว แต่มีสมาคมผู้ค้านมบางรายในประเทศเยอรมันนีที่ตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภคมักปฏิเสธกระบวนการนี้ เพราะการไปเปลี่ยนสภาพการกระจายตัวของไขมันและโปรตีนในนม ซึ่งอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้จากการบริโภคนม น้ำนมจากวัวในทุ่งหญ้า (Milk form grazing cattle) ถือว่าเป็นนมชั้นดี ตามค่านิยมของชาวยุโรปที่มีวัฒนธรรมการบริโภคนมมายาวนาน เป็นน้ำนมที่รีดได้จากวัวที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าธรรมชาติ และถ้าติดยี่ห้อว่าเป็น Alpen Milk (นมที่ได้จากเทือกเขาแอลป์) ก็จะเป็นนมสดระดับไฮโซทีเดียว (ผมเคยลองดื่มดูแล้วรสชาติก็ใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนักจากนมสดทั่วไปในตลาด) แต่ปัจจุบันนี้วัวส่วนมากไม่ได้กินแต่หญ้าอ่อนอย่างเดียว เกษตรกรมักให้กินอาหารเสริมและข้าวโพด ซึ่งไปกระตุ้นให้แม่วัวผลิตน้ำนมปริมาณมากขึ้น แน่นอนว่าการผลิตนมด้วยวิธีให้อาหารเสริมนี้ มีผลต่อคุณภาพของน้ำนมเช่นกัน นมโรงเรียนกรณีของนมโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพนั้น สมควรที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดเจ้าของหรือผู้ผลิตและจำหน่ายนมจะต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นให้สังคมรับทราบ เพราะพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้แล้วนะครับ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับ 11 ปี 2007)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย และบทบาทของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค (2)

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค บทความในฉบับนี้ มาว่ากันต่อเรื่องผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอันตราย ปนเปื้อนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันแทบทุกวัน ดูว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เราควรระมัดระวัง  ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายจานชามที่ทำมาจากพลาสติก จานชามประเภทนี้จะพบสาร Bisphenol A สารเคมีตัวนี้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และจะทำให้เกิดความผิดปรกติทางพฤติกรรม (Behavioral disorder) อีกด้วย สารตัวนี้สามารถปนเข้ามากับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หากใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสารดังกล่าวอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติก โดยใช้ภาชนะที่ทำจากกระเบื้อง เซรามิกส์ หรือแก้วแทนพลาสติกคลุมโต๊ะรับประทานอาหารที่ทำจาก พีวีซี (PVC: Poly Vinyl Chloride) สินค้าตัวนี้มีสารพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) ผสมอยู่ด้วย อันตรายของสารเคมีดังกล่าว คือ อาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากและทำให้ปริมาณของเชื้ออสุจิลดลงครีมทาผิวและโลชั่น ต้องระวังที่มีส่วนผสมของพลาสติไซเซอร์ (Plastisizer) และกลิ่นมัสค์สังเคราะห์ (Musk Fragrance) ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นและเกิดอาการคันจากการแพ้ได้ เวลาเลือกซื้อครีมทาผิวควรอ่านที่ฉลากดูว่าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์มีสารเคมีเหล่านี้อยู่หรือไม่ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ บทบาทของภาครัฐในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงตัวอย่างองค์กรเอกชนและบทบาทในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุโรปไปแล้ว ฉบับนี้ ขอยกตัวอย่างบทบาทภาครัฐโดยเฉพาะของสหภาพยุโรปในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกันบ้าง เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหภาพยุโรป (EU) มีคณะกรรมการที่ดูแลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะนโยบายด้านการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้า ที่ปัจจุบันมีสารเคมีที่ใช้ประมาณ 70,000 ชนิด และกว่า 70% ของสารเคมีนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของมนุษย์ แต่กลับไม่มีข้อมูลในด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว มีการตรวจพบในเสื้อผ้าจากใยสังเคราะห์ จอคอมพิวเตอร์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ดังที่เคยเขียนเล่าให้เพื่อนๆ สมาชิกทราบไปแล้ว สาเหตุที่ทางกรรมการดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (EU commissioner for consumer protection) และองค์กรภาคประชาชนต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากตามสถิติ พบว่าคู่สามีภรรยามากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถมีบุตรได้เพราะได้รับสารเคมีอันตราย ที่มีผลต่อระบบการสืบพันธุ์ ทำให้ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง มีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น คนงานในยุโรปกว่า 23% ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะเกิดจากการทำงานในโรงงานที่มีสารเคมีอันตรายเป็นเวลานาน จึงต้องหามาตรการในการป้องกันปัญหาดังกล่าว นโยบายการควบคุมสารเคมีอันตราย (REACH)ขณะนี้สหภาพยุโรปจะผลักดันมาตรการที่สำคัญ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจาณาร่างกฎหมายที่จะออกบังคับใช้ คือ การบันทึกเก็บข้อมูล (Registration) การตรวจสอบ (Evaluation) และการออกใบอนุญาต (Authorization of Chemicals) ซึ่งมีชื่อย่อว่า REACH โดยภายในระยะเวลา 10 ปี สหภาพยุโรปจะทำการศึกษาสารเคมีกว่า 30,000 ชนิด ว่ามีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะหาสารเคมีทดแทนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสามารถจัดการและควบคุมการใช้สารเคมีเหล่านี้ได้ดีขึ้น เนื้อหาสาระของ REACH คือ สารเคมีต้องถูกตรวจและทดสอบถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะออกสู่ตลาด และถ้าสารเคมีใดก็ตามที่วางอยู่ในตลาดแล้ว ก็สามารถทำการทดสอบย้อนกลับไปได้อีกด้วย หากผู้ผลิตสารเคมีละเลยในการกระทำตามมาตรการดังกล่าว จะโดนอาญัติสินค้าไม่ให้จำหน่าย นอกจากนี้ในปี 2009 ผู้ผลิตและผู้ขายจะต้องให้ข้อมูลกับลูกค้า ว่าสินค้าของผู้ผลิตนั้นมีสารเคมีที่เป็นพิษ ปนเปื้อนหรือผสมมาในสินค้าหรือเปล่า ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอบและให้ข้อมูลกับลูกค้าภายใน 45 วัน โดยถือเป็นบริการของผู้ผลิตและไม่สามารถไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากลูกค้าได้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านความปลอดภัยจากสารเคมี และจากมาตรการนี้จะมีผลทำให้งบประมาณทางด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยารักษาคนป่วย และผู้บริโภค ลดลง จากการประมาณของสหภาพยุโรป เมื่อมาตรการ REACH ออกเป็นกฏหมายบังคับใช้แล้วจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 50,000 ล้านยูโร ภายในระยะเวลา 30 ปี แต่ที่สำคัญก็คือ สุขภาพและสวัสดิภาพภาพของประชาชนในยุโรปที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเงินได้นั้น จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล และกฏหมายนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ขายที่ไม่ได้อยู่ในยุโรปด้วย เพราะสินค้าที่จะนำไปขายในยุโรปทุกชนิดจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียนขึ้น เท่าที่ปรากฏขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์กรหลักคือ สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี (SEACC: Southeast Asian Consumer Council) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคประชาชนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และไทย ที่จะคอยเกาะติดประเด็นสิทธิผู้บริโภค คู่ขนานไปกับอีกองค์กรหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของประเทศในอาเซียนที่เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน หรือ เอซีซีพี (ACCP : ASEAN Committee on Consumer Protection) โดยในส่วนของประเทศสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนในเอซีซีพีถามว่าเอซีซีพีมีภารกิจอะไร คำตอบคือ เพื่อคอยประสานงานด้านการดำเนินการและกำกับติดตามการจัดทำกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจและใส่ใจเป็นพิเศษ ยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคƒ    อุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ACCP ได้มีการร่างแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยส่งร่างเข้าไปยังที่ประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการเรียกว่า แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2559-2568 ตามแผนนี้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งหมด 4 ด้านยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ให้มีการกำหนดหลักการขั้นสูงด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หมายถึง การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นระดับสากล ซึ่งจะต้องมีการทบทวนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศสมาชิก และเมื่อพอทบทวนเสร็จจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายของประเทศภายในสมาชิกให้เป็นสากลยุทธศาสตร์ที่ 2 การคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคในระดับสูง ยุทธศาสตร์นี้จะพูดในเรื่องของการส่งเสริม เช่น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้บริโภค และต้องมีการนำเสนอประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ เอ็นจีโอยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำธุรกรรมข้ามพรมแดน วิธีการก็คือส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการตั้งกลไกการหารือและการพัฒนาชุดเครื่องมือข้อมูลข่าวสาร มีการบังคับใช้กฎมายอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของสินค้าต่างๆ มีการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยหรือที่เรียกว่า Alert System ขึ้นมา ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบูรณาการนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน การส่งเสริมให้มีการประสานกันในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกับส่วนอื่นๆ เช่น ประเด็นการแข่งขันทางการค้า E-Commerce และจะต้องมีการพัฒนาดัชนีการเพิ่มขึ้นของความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของผู้บริโภคในอาเซียน มีการพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อผู้บริโภคเหล่านี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงในปีนี้ ที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคมว่า จะต้องพัฒนามาตรฐานระบบการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศและรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎระเบียบด้านมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การปรับปรุงกฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงคุณภาพการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและการคุ้มครองสิทธิ รวมถึงช่องทางการรับข้อร้องเรียน พร้อมทั้งปรับปรุงกลไกเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ จากการร้องเรียน การเพิ่มสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สร้างความตระหนักของ ผู้บริโภคในการรักษาสิทธิและดูแลผลกระทบจากการใช้สินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการกระตุ้น จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจเอกชนสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน การผนึกกำลังของภาคประชาสังคมสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายเพิ่มเติมว่า“แต่เนื่องจากการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยและในอาเซียนมีการแยกส่วน ตัว สคบ. หรือเอซีซีพีดูเฉพาะเรื่องสินค้าปลอดภัยหรือความร่วมมือในบางเรื่อง แต่ก็มีกรรมการเฉพาะด้าน เช่น กรณีอาหารเสริมหมามุ่ย มีคณะกรรมการที่เรียกว่า Traditional Medicine and Health Product ซึ่งกรรมการชุดนี้จะดูเรื่องยาสมุนไพร ซึ่งก็ไปกำหนดกติกาอีกที ทำแนวทางเรื่องยา เครื่องสำอาง คือ เขาจะมีกรรมการเฉพาะในบางด้านอีกต่างหาก ไม่ได้หมายความว่าเอซีซีพีดูทุกเรื่อง ซึ่งก็คล้ายๆ กับบริบทในประเทศ เพราะแต่ละที่ก็จะมีเหมือน อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ของทุกประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในประเด็นเฉพาะบางด้านก็มีความร่วมมือแยกออกไป”อีกด้านหนึ่ง ฟากคนทำงานด้านสิทธิผู้บริโภคก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ผลักดันจนเกิดสภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซี โดยมีพันธกิจในการก่อตั้งคือ เป็นตัวแทนและส่งเสริมการเคารพสิทธิของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค  ส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและเสนอความเห็นเพื่อการตัดสินใจของอาเซียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค และทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคสารี กล่าวว่า SEACC เป็นอีกหนึ่งกลไกที่พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคข้ามแดนขึ้น และอีกข้อผลักดันหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกครั้งที่รัฐบาลประชุมก็ขอให้มีการจัดประชุมกับองค์กรผู้บริโภคควบคู่กันไป แล้วให้โอกาสภาคประชาสังคมเข้าไปเสนอประเด็นเรื่องผู้บริโภคในการประชุมของเอซีซีพีกติกากลาง-การเชื่อมโยงข้อมูล งานหลักที่ต้องรีบดำเนินการ    อุฬาร อธิบายว่า เบื้องต้นขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต่างก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของตนเอง บางประเทศเพิ่งร่าง บางประเทศเพิ่งผ่านสภา เช่น กัมพูชาที่เพิ่งจะมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนเมียนมาร์ก็เพิ่งตั้งหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เป็นต้น ซึ่งการจะมีกฎหมายกลางระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในเบื้องต้นมีแค่ความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุฬารเห็นว่าการสร้างกติการ่วมกันนั้นมีความเป็นไปได้“มันมีความเป็นไปได้ เนื่องจากประชาคมอาเซียน เราก็อยู่ในสังคมโลกเหมือนกัน ทางสหประชาชาติก็กำหนดไกด์ไลน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคออกมา ซึ่งประเทศสมาชิกก็ต้องรับมาปฏิบัติ มีคณะกรรมการ กรรมาธิการกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ก็ประชุมกันเพื่อกำหนดเกณฑ์ในเรื่องของกฎหมายการค้า ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคมันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละประเทศก็คงจะต้องปรับแก้กฎหมายของตนเองให้สอดคล้อง พอกฎหมายของตนเองสอดคล้องแล้ว มันก็จะมีกำหนดกติการ่วมกันได้ในอนาคต”อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสร้างฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับอาเซียน อุฬารยอมรับว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยยังกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ สคบ. พยายามปรับองค์กรเพื่อให้มีศูนย์ข้อมูลแห่งชาติด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเชื่อมโยงข้อมูลกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ด้วย เพราะทาง สคบ. เห็นว่าทาง มพบ. มีข้อมูลที่เป็นเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคอยู่มากพอสมควร ซึ่งควรนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลส่วนในระดับชาติจะต้องเชื่อมโยงกับอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางอาเซียนก็ได้เริ่มจัดทำอินเตอร์เน็ต แพล็ตฟอร์มขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประเทศสมาชิกสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและจะมีการพัฒนาต่อไป“ตอนนี้น่าจะยังไม่มีตัวอย่างการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล ตอนนี้เราอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพูดคุยกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สพทอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะนำมากำหนดนโยบายพื้นฐาน ถ้าเราขาดข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ออกมาให้ครบถ้วน วิธีการแก้ไขปัญหามันก็จะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งตอนนี้รูปธรรมยังไม่ออกมาเป็นแพทเทิร์นที่สมบูรณ์ จะมีเรื่องการระงับข้อพิพาทข้ามแดน การเยียวยาผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยออนไลน์ ต่างๆ เหล่านี้พ่วงเข้ามาด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการริเริ่มเบื้องต้นเท่านั้น อย่าง สคบ. เอง ตอนนี้ก็กำลังเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้าง ปรับปรุงระบบงานเพื่อให้สอดคล้องและมีความเป็นสากลมากขึ้นกับทาง สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อนเสนอทางรัฐบาลต่อไป”อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสารี สะท้อนทัศนะวิพากษ์ต่อการดำเนินการเรื่องของรัฐบาลว่ายังไม่มีความกระตือรือร้นมากนัก โดยยกตัวอย่างว่า“มีความร่วมมือตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าการรายงานผลิตภัณฑ์ที่เอาออกจากท้องตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย อยู่ในหน่วยที่เรียกว่า Product Alert อันนี้คือฝั่งเอซีซีพี พบว่าประเทศไทยเข้าไปแอคทีฟกับการรายงานเรื่องพวกนี้น้อยมาก ทั้งที่เรามีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยเรื่องสินค้า บริการเยอะแยะ ด้วยความที่มันอาจจะมีหน่วยงานเยอะก็ได้อย่างของเวียดนามมีการรายงานเรื่อง โน้ตบุ๊ค เลอโนโว รถยนต์รุ่นนั้นรุ่นนี้ที่มีปัญหา เราเสนอให้ สคบ. นำข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้ เพราะบางรุ่นอาจจะผลิตที่เวียดนาม เราเชื่อว่า ถ้าพบความผิดพลาดในบางประเทศ ก็น่าจะพบความผิดพลาดที่บ้านเรา ถ้าผู้บริโภครู้ก็จะได้แก้ปัญหา แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ามีแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น ที่เอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ แต่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เอาข้อมูลออกมาทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนตื่นตัว รู้ว่ามีสินค้ารุ่นนี้ที่ประเทศนี้เอาออกจากท้องตลาดหรือในยุโรปที่ใช้กติกาเดียวกัน ใช้ระบบฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน เช่น ไทยส่งผักไปยุโรปและพบว่ามีซัลโมเนลลา(เชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ) ปนเปื้อน ภายใน 24 ชั่วโมง 27 ประเทศในยุโรปจะรู้หมดว่าผักนี้อยู่ในตลาดไหน บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้ แม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ให้ความสำคัญกับสินค้าปลอดภัยที่ค้าขายกันอยู่ตามชายแดน เรายังไม่เห็นระบบเตือนภัยลักษณะนี้ หรืออย่างอินโดนีเซียก็ก้าวหน้ามาก เขาเอาไดร์เป่าผมออกจากท้องตลาดเพราะไม่มีฉลากเป็นภาษาบาฮาซาร์ ซึ่งมันสะท้อนระดับความจริงจังของการจัดการเรื่องพวกนี้ที่แตกต่างกัน”สารีเห็นว่า การสร้างกติกากลางเป็นประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยยกตัวอย่างว่าขณะนี้สิงคโปร์มีกฎหมายคืนสินค้า ถ้าสิงคโปร์สั่งรถจากไทยไป แล้วพบว่ามีการชำรุด บกพร่อง คนสิงคโปร์จะได้เงินคืนหรือได้รถคันใหม่ ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการทำนองนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำกติกากลางร่วมกัน    ในมิตินี้ อุฬาร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือความแตกต่างระหว่างกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคที่แตกต่างกันภายในประเทศ เรื่องขอความกระจัดกระจายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดการซ้ำซ้อน เกิดช่องว่าง ซึ่งตรงนี้มันจะต้องมาปรับทัศนคติหน่วยงานที่รับผิดชอบภายในประเทศให้เกิดการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ตอนนี้ สคบ. ก็เสนอให้มีศูนย์ประสานการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น โดยที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการและก็มีการแก้ไขกฎหมายไปพร้อมๆ กัน“อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของตัวผู้บริโภคเอง เนื่องจากว่าช่องว่างระหว่างรายได้ การศึกษาของของบุคคลในประเทศเรามีค่อนข้างหลากหลาย ทีนี้จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอ ให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงกระบวนการเยียวยาได้โดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ”    อุฬาร เสริมว่า การทำ One Stop Service ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทาง สคบ. กำลังพัฒนา โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นศูนย์กลางเพื่อส่งต่อข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภค ส่วนในกรณีสินค้าจากต่างประเทศ อุฬารอธิบายว่า“สมมติว่ามีผู้ประกอบการรายหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ไปซื้อสินค้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้บริโภคของเราเกิดความเสียหาย ผู้บริโภคมาเรียกร้องขอให้ชดเชย เยียวยา พอเข้าระบบนี้ก็จะถูกคัดกรองและส่งผ่านระบบการเยียวยาข้ามแดนไป จากไทยผ่านไปที่ สปป.ลาว ทางองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่นก็ไปดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาความเสียหายจากผู้ผลิตที่นั่น เป็นต้น”ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดที่ทาง สคบ. กำลังดำเนินการ แม้ว่าจะพบเผชิญอุปสรรคอยู่บ้าง ขณะที่สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียนหรือเอสอีเอซีซีก็ยังคงเกาะติดการทำงานของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปหมายเหตุ หน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรอบอาเซียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทางนิตยสารฉลาดซื้อได้ทำการขอสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการ และการส่งต่อคำร้องขอสัมภาษณ์อันไม่สิ้นสุด จึงทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลจากทาง อย. มาเสนอได้ทันในการนำเสนอครั้งนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 เรื่องที่คนรักสุขภาพต้องรู้ ก่อนสมัครเป็นสมาชิก “ฟิตเนส เซ็นเตอร์”

ยุคนี้เป็นยุคของคนรักสุขภาพ ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการรองรับกระแสคนอยากออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเหตุการณ์ของ “แคลิฟอร์เนีย ว๊าว” ฟิตเนส เซ็นเตอร์ชื่อดัง ที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปิดตัวลงในปี 2555 จากการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นคดีฉ้อโกง มีผู้เสียมากกว่าหนึ่งพันคน ผลจากกรณีของ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่กับทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมามองหามาตรการควบคุมดูแล และรวมถึงตัวผู้บริโภค ผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกาย ที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานการบริการและเรื่องสัญญาการให้บริการมากขึ้น ปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว การเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ มากกว่าจะมองเพียงแค่สุขภาพหรือรูปร่างที่เราจะได้ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายจากการใช้บริการ ระบบดูแลที่มีมาตรฐานของสถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ชวนให้ตกใจ เมื่อมีผู้ใช้บริการฟิตเนสเสียชีวิตเนื่องจากเหตุไฟไหม้อาคารที่ฟิตเนสดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่แม้ต้นเพลิงจะเกิดขึ้นในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตรงส่วนของฟิตเนสก็ตามแต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบัน สถานบริการด้านการออกกำลัง หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ มีกฎหมายที่ควบดูแลหลักๆ อยู่ 4 ฉบับ คือ   สถานออกกำลังกาย แบบไหนน่าใช้บริการ จากจำนวนของสถานออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก  “ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานออกกำลังกายต่างๆ นำไปเป็นปฏิบัติ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการเองก็จำเป็นต้องทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ที่มีการกำหนดควบคุม เพื่อที่เราจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย 1.มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม- อาคาร สถานที่ตั้ง ทั้งภายใน ภายนอก ต้องดูแล้วมีความมั่นคง แข็งแรง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร - ต้องมีการแสดงแผนผังสถานที่ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกทางหนีไฟ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ และระเบียบการใช้บริการที่ชัดเจน- ต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตารางเมตรสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้ง 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 100 ตารางเมตร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละเครื่อง ต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นได้ง่าย และนำไปใช้ได้โดยสะดวก- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์ (มาตรความสว่าง (lux meter))- ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีคุณภาพการปรับอากาศที่ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และห้องออกกำลังกายที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีการถ่ายเทอากาศที่เพียงพอไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ความดังของเสียงในห้องออกกำลังกายเฉลี่ยสูงสุดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ)- มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกกำลังกาย เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย และพื้นที่กิจกรรมการออกกลุ่ม- พื้นที่จัดวางอุปกรณ์ ควรมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และช่องทางเดินร่วมไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร- พื้นที่กิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่ม มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2x2 ตารางเมตร- มีห้องน้ำ แยกชาย-หญิง อย่างละ 1 ห้องต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 15 คน, 2 ห้อง ต่อผู้ใช้บริการ 40 คน, 3 ห้อง ผู้ใช้บริการไม่เกิน 80 คน และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ 1 ห้อง ต่อจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50 คน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เก็บของ และอ่างล้างมือแยกชาย-หญิง ที่สะอาดและเพียงพอ2.มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย- ต้องมีอุปกรณ์ หรือรูปแบบวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การสร้างเสริมระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต การสร้างเสริมระบบกล้ามเนื้อ และการสร้างเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ- มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาดและพร้อมใช้งานทุกวัน- ต้องมีป้ายคำแนะนำ คำเตือนในการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดไว้เห็นได้ชัดเจน- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันโลหิต และ สายวัดรอบเอว3.มาตรฐานด้านการให้บริการ- มีการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพแก่สมาชิก ก่อนการให้บริการครั้งแรก เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต การจัดทำประวัติสุขภาพ และการตอบแบบสอบถามการประเนิมความพร้อมก่อนออกกำลังกาย- จัดให้มีคำแนะนำ หลักการ และขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย การประเมินผลสมรรถภาพทางกายและสัดส่วนของร่างกาย- จัดทำป้ายคำแนะนำและคำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ป้ายคำแนะนำหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วิธีการออกกำลังการที่เหมาะสมกับเพศและวัย ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ- มีบริการน้ำดื่มที่สะอาดและมีปริมาณเพียงพออยู่ใกล้บริเวณที่ออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าบริการ4.มาตรฐานบุคลากรผู้ให้บริการ- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ควรมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์การกีฬา, พลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (instructor exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อยปีละครั้ง- บุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกกำลังกาย สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกาย คัดกรองสุขภาพก่อนกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพของสมาชิกทั้งก่อนและหลังการรับบริการ- มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ 1 คนต่ออุปกรณ์ออกกำลังกายทุกชนิดไม่เกิน 15 เครือง และกรณีการออกกำลังกายกลุ่ม มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน5.มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน- ต้องมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิต และแผนการระงับอัคคีภัย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน- ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล พร้อมใช้ตลอดเวลา โดยชุดปฐมพยาบาลควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท หรืออุปกรณ์ที่กันน้ำ และติดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ด้วย ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 1โดย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนไทยกับการออกกำลังกาย   สุขภาพดีได้ไม่ต้องง้อฟิตเนสประโยคที่บอกว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะต่อให้มีเงินไปสมัครตามฟิตเนสชื่อดัง ค่าสมาชิกหลักพันหลักหมื่น อุปกรณ์แน่น เทรนเนอร์เก่ง แต่ถ้าได้แค่สมัครสมาชิกทิ้งไว้โดยไม่เคยไปใช้บริการเลย หรือเดือนหนึ่งจะได้เข้าไปออกกำลังสักครั้งสองครั้ง แบบนั้นสุขภาพดีๆ ก็คงไม่ทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน ฉลาดซื้อ ขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีใจรักอยากจะออกกำลังกาย อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่อยากต้องเสียทรัพย์ไปกับฟิตเนส เซ็นเตอร์ ด้วย 3 ทางเลือกในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตัวของคุณเอง 1.ออกไปสูดอากาศอันสดชื่นที่ “สวนสาธารณะ”ประเทศไทยเรามีสวนสาธารณะอยู่ทั้งหมด 593 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากการสำรวจของกองออกกำลังกายฯร่วมกับศูนย์อนามัย) ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นผู้คนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ไปใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลิกเรียน เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็มักจะเลือกวิธีเดินหรือวิ่ง แต่สวนสาธารณะหลายๆ ที่ก็ยังมีกิจกรรมออกกำลังกายวิธีอื่นๆ เตรียมไว้รอคนรักสุขภาพ ทั้งเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รวมทั้งมีเครื่องออกกําลังกายกลางแจ้ง สำหรับคนที่อยากอยากลองออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์แต่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องมาไว้ที่บ้าน และก็ไม่อยากต้องเสียเงินไปสมัครเป็นสามาชิกตามฟิตเนส เซ็นเตอร์ เรียกว่าเราสามารถมีสุขภาพดีได้ไม่ยาก ขอแค่แบ่งเวลาวันละนิด อย่างน้อย 30 นาที หารองเท้าสำหรับออกกำลังกายดีๆ สักคู่ แค่นี้ก็ออกไปออกกำลังกายกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้านได้แล้ว2.ฟิตผ่านหน้าจอ กับช่องออกกำลังกายใน “Youtube”เดี๋ยวนี้เราสามารถหาดูคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เกือบจะทุกอย่างผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) แน่นอนว่าวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายก็มีให้ชมมากมายเช่นกัน ในต่างประเทศจะมีช่องรายการในยูทูป (Youtube Channel) ที่เสนอวิดีโอเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องรายการที่ทำโดยคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ฉลาดซื้ออยากแนะนำ 3 ช่องรายการเกี่ยวกับการออกกำลังกายในยูทูป ที่สอนทั้งท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ แค่ดูก็ทำตามได้ทันที พร้อมด้วยความรู้เกี่ยวการดูแลสุขภาพ เรื่องของโภชนาการ เอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาเป็นว่าไปเปลี่ยนชุดสำหรับออกกำลังกาย แล้วเปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ คลิ้กรอไว้ที่เว็บไซต์ยูทูปได้เลยFitjunctionsหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากฟิตหุ่นให้เฟิร์ม อยากมีกล้ามอย่างสร้างซิกแพ็ค น่าจะชื่นชอบช่องรายการนี้เป็นพิเศษ  เพราะ Fitjunctions มีคลิปวิดีโอที่สอนท่าออกกำลังกายตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ไปจนถึงความรู้สำหรับที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับรูปร่างให้ดูใหญ่ขึ้น ที่สำคัญคือมีคลิปที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา การออกกำลังกายแบบไหนมีผลต่อรูปร่างอย่างไร รวมทั้งเรื่องการกินอาหาร ว่ากินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย ตามสโลแกนของช่องที่ว่า “แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการ ฟิตหุ่นและรักษาสุขภาพ  เน้นหลักๆ 3 ข้อ คือ ไม่อดของอร่อย ไม่หักโหม และเน้นที่การสอนความรู้ที่เข้าใจง่าย แต่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์”KalamareTVช่องรายการของพิธีสาวเก่งชื่อดังอย่าง “กะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ” ที่ทำยูทูป แชนแนล เป็นของตัวเอง โดยในช่องรายการของเธอก็จะรวบรวมหลากหลายผลงานในฐานะพีธีกรของเธอเอาไว้ให้แฟนคลับและคนที่ชอบผลงานของเธอได้เข้ามาชมกัน ซึ่ง 1 ในรายการที่มีให้ชมทาง KalamareTV ก็คือรายการ “ทุกที่ทุกท่ากับกาละแมร์” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พิธีกรคนเก่งจะมาสอนท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เรียกว่าเป็นท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากอิริยาบถธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน  ทั้งการนั่ง การยืน การนอน ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายสุดๆ ไม่ต้องออกไปไหนไกล แค่อยู่บ้านก็ออกกำลังกายได้Fit Minutes [by Mahidol]ช่องรายการนี้เป็น ช่องรายการย่อยของ มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel) เป็นช่องรายการที่จะมาสอนการออกกำลังกายแบบถูกต้องถูกวิธี ที่เราสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายๆ เพราะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆ แบบละเอียดในการออกกำลังกายแต่ละท่า คำแนะนำที่ถูกต้อง ได้ความรู้ว่าท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่เราทำอยู่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างไร ส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหน  สามารถทำได้เองสบายๆ ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำได้ไปพร้อมกับๆ เทรนเนอร์ผู้ฝึกสอนในคลิปได้ทันที3.สุขภาพดีผ่านตำรา ด้วยสารพัดคู่มือออกกำลังกายปัจจุบันมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เทคนิคต่างๆ ในการดูแลสุขภาพและรูปร่างออกมาว่างจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อมามาลองอ่านลองฝึกด้วยตัวเองดูได้ นอกจากนี้ยัง E-book เกี่ยวกับการออกกำลังกายให้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ  ซึ่งมี 2 เว็บไซต์ที่ฉลาดซื้ออยากจะแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพอยากออกกำลังกายลองคลิ๊กเข้าไปดูกัน 1.เว็บไซต์ของกองออกกำลังกาย กรมอนามัย (dopah.anamai.moph.go.th) ที่นี่มี E-book ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทั้งความรู้ในการการเล่นกีฬา และดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ การออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายสำหรับเด็ก การยืดเหยียดพื้นฐาน ฯลฯ2.ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สสส. (resource.thaihealth.or.th) ในเว็บไซต์นี้จะมีบริการ E-book ให้โหลดไปอ่านกันแบบฟรีๆ จำนวนมาก โดย 1 หมวดหมู่ยอดนิยมก็คือ หมวดการออกกำลังกาย ซึ่งมี E-book ที่แนะนำเรื่องการออกกำลังกายมากกว่า 100 เล่มให้ได้ลองโหลดไปอ่านและฝึกออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 157 ตรวจสุขภาพอย่างไรไม่เปลืองเงินไม่เปลืองตัว

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจข้อมูลจากนิตยสารฉลาดซื้อ>>> อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่าน online 200 บาท/ ต่อปี  ข้อมูลการสมัครอยู่ด่านล่าง ขอบคุณค่ะ   เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความ “คุ้มเงิน” สินค้าบริการต่างๆ นานาจึงต้องมาเป็นแพ็คเกจ บริการตรวจสุขภาพก็ไม่น้อยหน้า มีโปรแกรมให้เลือกกันตั้งแต่ราคาไม่ถึงหนึ่งพันไปจนเลยหนึ่งหมื่น อย่างที่ ฉลาดซื้อ เคยลงเปรียบเทียบราคาและรายการตรวจของสถานบริการตรวจสุขภาพไปแล้ว แต่หลายคนยังมีปัญหาคาใจอยู่ถึงความจำเป็นและความถูกต้องแม่นยำของการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เป็นที่นิยมแพร่หลายกันอยู่ในขณะนี้ เหตุฉะนี้เราจึงต้องมีภาคสองเพื่อค้นหาคำตอบในเรื่องดังกล่าว เราตกลงกันตรงนี้ก่อนว่า “การตรวจสุขภาพ” หรือ “การตรวจคัดกรองสุขภาพ” ในที่นี้หมายถึงการเข้ารับการตรวจเบื้องต้นในขณะที่เรายังไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วย และเป็นการตรวจเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยงหรือลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเท่านั้น ย้ำอีกที ... การตรวจสุขภาพไม่ใช่การตรวจหาโรค แต่เป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรค    เราควรรับการตรวจคัดกรองอะไรบ้าง เราคงไม่บอกคุณว่าควรหรือไม่ควรตรวจอะไร เพราะสุดท้ายแล้วคุณคือคนที่ทราบถึงปัจจัยแวดล้อมตัวเองดีที่สุด แต่เนื่องจากปัจจุบันบ้านเรายังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชน และเรายังอยู่ในระหว่างการรอคู่มือการตรวจสุขภาพสำหรับผู้บริโภค ฉลาดซื้อ จึงขออ้างอิงผลการวิจัยของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ศึกษารายการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสม เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบสุขภาพ (ซึ่งในอนาคตอาจมีการรวมกันของทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ที่ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ในปัจจุบัน*)     การตรวจทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่เกิน 400 บาทต่อคนต่อปี  (เทียบกับระบบการตรวจคัดกรองตามสวัสดิการข้าราชการที่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง  530 – 1,200 บาท เพราะมีการตรวจบางรายการที่ค่าใช้จ่ายสูงแต่ประโยชน์ยังไม่ชัดเจน) อาจต้องเลิกใช้คำว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” เพราะบางอย่างไม่ต้องตรวจทุกปี ในขณะที่บางอย่างตรวจได้ปีละมากกว่า 1 ครั้ง   ในกรณีที่คุณรู้สึกว่ารายการตรวจข้างต้นน่าจะยังไม่เพียงพอ และกำลังชั่งใจกับแพ็คเกจตรวจสุขภาพสุดคุ้มที่ฝ่ายการตลาดของสถานบริการสุขภาพปล่อยออกมาเอาใจ “คนรักสุขภาพ” ที่มีรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ด้วยสนนราคา “พิเศษ” เราขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ให้คุณพิจารณา   ฉลาดซื้อขอแชร์ ทุกครั้งที่เราส่งผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบในห้องปฏิบัติการ เราจะต้องเลือกว่าต้องการตรวจเพื่อหาอะไร และอ้างอิงตามมาตรฐานไหน เพราะมันสัมพันธ์กับการเตรียมอุปกรณ์/เครื่องมือ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการนำผลไปใช้ด้วย เช่นกรณีของขนมปัง เราต้องระบุไปว่าต้องการตรวจหาสารกันบูด (เพราะมีประเด็นที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามา) เป็นต้น นอกจากนี้เรายังต้องยอมรับข้อจำกัดของเครื่องมือที่ใช้ เช่นบางครั้ง สารเคมีที่เราต้องการตรวจหานั้นมีปริมาณน้อยกว่าที่เครื่องจะตรวจจับได้ (แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี เป็นต้น) สำคัญที่สุดคือห้องปฏิบัติการที่เราใช้จะต้องผ่านการตรวจรับรองเพื่อความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบที่ได้ (ไม่ได้ส่งไปตรวจที่หลังบ้านใครอย่างที่เคยถูกกล่าวหา) เรื่องนี้น่าจะพอนำมาประยุกต์ได้กับการเลือกแพ็คเกจตรวจร่างกาย คุณสามารถเลือกตรวจเฉพาะรายการที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผลที่ออกมานั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการตั้งค่าของเครื่อง และที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานควบคุมบริการตรวจคัดกรองสุขภาพเอาไว้อ้างอิงด้วย     ตามที่เป็นข่าวเมื่อปีกลาย คนไทยใช้เงินกับการตรวจคัดกรองสุขภาพไปถึงปีละ 2,200 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้คือผู้ที่มีสิทธิได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการถึง 16 รายการภายใต้ระบบสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว) ข่าวไม่ได้บอกว่ามีกี่กรณีที่ตรงกับความเป็นไปได้ในรูปแบบที่ 1   เจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการฉลาดซื้อพบเจอมาด้วยตนเอง เนื่องจากไอต่อเนื่องอยู่หลายสัปดาห์จึงไปโรงพยาบาล แพทย์สั่งตรวจเอ็กซเรย์ปอดด้วยเครื่องตรวจแบบอัตโนมัติ แพทย์อ่านผลแล้วบอกว่าพบจุดที่อาจหมายถึงเป็นวัณโรค จึงให้ตรวจซ้ำตอนบ่าย (เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพักเที่ยง) คราวนี้ตรวจด้วยเครื่องอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏว่าไม่พบจุดดังกล่าวแล้ว  ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. สายพิณ หัตถีรัตน์ อาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี ดร.ภญ. ศิตาพร ยังคง นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) บทความ “การตรวจคัดกรองที่เหมาะกับสังคมไทย” โดย ภญ.ธนัญญา คู่พิทักษ์ขจร นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)   ฉลาดซื้อสำรวจ จากการโทรศัพท์ไปสอบถามสถานบริการการตรวจสุขภาพ 9 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง และ ศูนย์ตรวจสุขภาพ 1 แห่ง) โดยอาสาสมัครของฉลาดซื้อ เราพบว่าแม้ประเทศเราจะยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสุขภาพและยังไม่มีการตรวจสอบบริการเหล่านี้ แต่สถานประกอบการเหล่านี้มีความพร้อมและให้ความสำคัญกับการจัดบริการตรวจคัดกรองสุขภาพ หรือบางแห่งอาจเรียกว่า “การตรวจสุขภาพประจำปี” ออกมาให้บรรดา “ผู้รักสุขภาพ” ได้เลือกช้อปกัน อาสาสมัคร (สาวทำงานวัย 38 ปี) ที่โทรไปสอบถามข้อมูลจากสถานพยาบาลเหล่านี้ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ประชาสัมพันธ์ผ่านอินเตอร์เน็ทหรือโบรชัวร์ พบว่า   ธุรกิจสถานพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าการตลาดสูงที่สุด 5 อันดับได้แก่ อันดับ 1         บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 194,400 ล้านบาท  กิจการ: โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ   โรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งกรุงเทพ ถือหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช อันดับ 2         บริษัทโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 63,931 ล้านบาท   กิจการ: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  อันดับ 3         บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 21,600 ล้านบาท    กิจการ: โรงพยาบาลรามคำแหง อันดับ 4         บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 19,400 ล้านบาท   กิจการ: กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช อันดับ 5         บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) มูลค่าการตลาด 14,900 ล้านบาท กิจการ: โรงพยาบาลเกษมราษฎร์  โรงพยาบาลเวิรลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์  นวนครการแพทย์ -------------------------------------------------->>>อ่านแล้วอยากสนับสนุนให้เรามีเงินทุนต่อเนื่อง >>> ร่วมอ่านonline 200 บาท/ ต่อปี >>> โอนเงินแล้วแจ้งมาที่ >> อีเมล์ chaladsue@gmail.com + แนบรูปโอน >> เปิดอ่าน full Version ทันทีจ้าาาาาา>>> ต้องการใบเสร็จ >> พิมพ์ชื่อ - ที่อยู่  ใน อีเมล์ด้วยนะครับ---------------------------------ชื่อ บช. "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"กสิกรไทย : 058-2-86735-6ไทยพาณิชย์ : 319-2-62123-1กรุงไทย : 141-1-28408-9ทหารไทย : 026-2-40760-4กรุงเทพ : 088-0-38742-8กรุงศรีอยุธยา : 463-1-10884-6--------------------------------->>> อ่านย้อนหลังได้กว่า 90 ฉบับ ผลทดสอบเพียบ! >>>นิตยสารนี้ไม่มีโฆษณา...เพื่อข้อมูลที่เป็นกลางและตัดสินใจได้ สำหรับผู้บริโภค--------------------------------   //

อ่านเพิ่มเติม >