ฉบับที่ 163 รับมือกับความเสี่ยงเรื่อง บ้าน

บ้าน..เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตของคนทุกคน  หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นของครอบครัว หรือการอยากมีบ้านหลังแรกในชีวิตเป็นของตนเอง แต่การลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากตัวผู้ซื้อที่ไม่มีความพร้อมจากสภาพเศรษฐกิจ และความไม่สนใจในสิทธิผู้บริโภคของผู้ประกอบการ  ทำให้การจะได้บ้านสักหลังกลายเป็นเรื่องที่ยากเสียแล้ว แต่การจะมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะสมกลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะเราพบว่าปัญหาที่เกิดหลังการซื้อบ้าน มีอยู่มากมาย ดังนั้นการรู้วิธีแก้ไขปัญหาก่อนที่ปัญหาจะเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ   ภาพรวมปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จากข้อมูลการร้องเรียนของผู้บริโภคต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย สามารถจัดกลุ่มปัญหาได้ดังนี้ บ้าน / ที่ดิน / อาคารพาณิชย์ ไม่สร้างบ้านตามสัญญา , ไม่ได้สร้างตามแบบที่ขออนุญาต ไม่สามารถโอนบ้านได้ตามสัญญา วัสดุที่นำมาสร้างบ้านไม่มีคุณภาพ ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการประมูลของธนาคาร แต่ต้องรับภาระฟ้องขับไล่ผู้อยู่อาศัยเดิม ชำรุดหลังปลูกสร้าง ,  ผู้รับเหมาทิ้งงาน ก่อสร้างล่าช้า สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 2.  อาคารชุด / คอนโดมิเนียม สร้างไม่เสร็จตามสัญญา ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ลูกบ้าน ไม่โอนตามสัญญา พื้นที่ไม่ครบตามสัญญา ไม่คืนเงินมัดจำ วัสดุไม่มีคุณภาพ ชำรุดหลังรับโอน สัญญาไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภค 3.  สาธารณูปโภค / พื้นที่ส่วนกลาง (รวมทั้งบ้านและอาคารชุด) ไม่สร้างสาธารณูปโภคตามสัญญา ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางตามแบบที่ขออนุญาตจัดสรร ปัญหาการบริหารจัดการงานของนิติบุคคล ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของลูกบ้าน นำพื้นที่ส่วนกลางไปจำหน่ายให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่น 4.  อื่นๆ เช่น การขอคำปรึกษาการฟ้องคดี   เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยง Ø ปัญหาระหว่างการจองหรือก่อนตกลงทำสัญญา ผู้บริโภคขาดข้อมูลการตัดสินใจในการซื้อ หรือละเลยการแสวงหาข้อมูล เรื่องความพร้อมของผู้บริโภคเองและความมั่นคงของผู้ประกอบการในโครงการที่ต้องการซื้อขาย รวมถึงปัญหาของสัญญาจะซื้อจะขายที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสียเงินจองเงินมัดจำ แล้วเมื่อเกิดปัญหาก็เรียกคืนไม่ได้   ก่อนเสียเงินจอง ผู้ซื้อต้องรู้อะไรบ้าง แม้ปัญหาที่อยู่อาศัยจะมีหลายระดับ แต่ก้าวแรกของปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย  คือ การทำสัญญาจอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา  ซึ่งขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องรอหน่วยงาน เพื่อจะได้ที่อยู่อาศัยดีๆ อย่างที่วาดหวังไว้ คือ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้ 1.  รู้จักตัวเองให้ดีก่อน  จำไว้ ก้าวแรกของปัญหา คือเราต้องป้องกัน เมื่อมีความคิดอยากจะมีบ้านสักหลัง  ผู้ซื้อต้องประมาณกำลังซื้อและความพร้อมของตนเองก่อน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะท่านอาจเจอปัญหาผิดนัดชำระ  กลายเป็นซื้อบ้านไม่ได้บ้าน แถมยังต้องเป็นหนี้ก้อนโตอีกต่างหาก 2. ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการที่สนใจ  ตรวจสอบโครงการที่สนใจ ว่าเป็นโครงการบริษัทใด มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ บริษัทเป็นที่รู้จักหรือมีผลงานการบริหารจัดการโครงการในอดีตหรือไม่ เพื่อเปรียบเทียบผลงาน โดยดูจากใบโฆษณาการขาย หรือ เว็บไซด์ของโครงการนั้นๆ ที่สำคัญ ผู้ซื้อต้องไม่ลืมที่จะเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการทั้งหมดไว้ด้วย 3. ต้องรู้กฎหมายเบื้องต้น   การอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก ผู้ซื้อควรต้องรู้ว่า เบื้องต้นมีกฎหมายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้านและที่ดิน  เพื่อเป็นอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ หรือ เป็นการเพิ่มศักยภาพทางข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้ซื้อได้ 4. ไปดูสถานที่จริง  มีหลายกรณีที่ ภาพจากหน้าเว็บไซด์หรือเอกสารแนะนำโครงการ(โบรชัวร์) มีความแตกต่างจากสถานที่จริง ดังนั้นผู้ซื้อควรตระหนักถึงข้อนี้ มิใช่เพียงแค่ดูจากใบโบรชัวร์หรือหน้าเว็บไซด์ ผู้ซื้อต้องไปสำรวจสภาพของสถานที่ตั้ง ตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดของโครงการว่าเป็นอย่างไร  มีความสะดวก เหมาะสมสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและตรงกับความต้องการหรือไม่ 5.  ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี  ก่อนการทำสัญญาและวางเงินจอง  ผู้บริโภคควรสอบถามถึงรูปแบบของสัญญาว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หรือขอตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายจากผู้ขายเพื่อมาศึกษาเป็นตัวอย่างก่อนตัดสินใจ  รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับโครงการมาพิจารณาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ โดยต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานด้วย กรณีสัญญาจะซื้อจะขายบ้านจัดสรรนั้น  ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร ตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2546 ซึ่งหากผู้จัดสรรที่ดินใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  34 มีโทษตามมาตรา 63 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือกรณีอาคารชุด  ตามมาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551  กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องใช้แบบมาตรฐานสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ระหว่างผู้มีกรรมสิทธิในที่ดินและอาคารกับผู้จะซื้อห้องชุด  หรือแบบ อช.22 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6/2  มีโทษตามมาตรา 63  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท 6. มีสติ อย่าหลงเชื่อพนักงานขาย ผู้ซื้อไม่ควรเร่งรีบที่จะเสียเงินจองเพราะของแถม สิทธิพิเศษ บรรยากาศ การให้บริการของโครงการ เช่น เห็นมีผู้คนสนใจจองเป็นจำนวนมาก หรือพนักงานสวยๆ พูดจาหวานๆ มาคอยต้อนรับดูแลอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการหาลูกค้าและกลวิธีอย่างหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้สนใจ 7. ทำสัญญาต้องมีใบจอง    การทำสัญญาจองบ้านหรือคอนโดแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องมีใบจองหรือสัญญาจองให้กับผู้ซื้อ เพื่อใส่รายละเอียดข้อมูลการซื้อขายเป็นหลักฐาน เช่น วันเวลาสถานที่ทำสัญญาจอง , ชื่อผู้จองและผู้รับจอง , รายการทรัพย์สินและราคา ต่อกัน (ถ้าไม่มีห้ามทำสัญญาจองด้วยเด็ดขาด)     วิธีแก้สุดแนว ของการจองบ้าน มีอะไรบ้าง ? หากเสียเงินทำสัญญาจองแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อจะได้เงินจองคืนได้หรือไม่ ก่อนทำสัญญาจอง ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเครดิตการเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อน ว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากพร้อม ค่อยทำสัญญาต่อไป ผู้ซื้อต้องไม่อาย ที่จะสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าหากผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่าน จะคืนเงินหรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการตัดสินใจของผู้ซื้อ ผู้ซื้อต้องรู้จักสังเกตเงื่อนไขในสัญญาให้ดี หากพบข้อความในทำนองว่า ถ้ากู้ธนาคารไม่ผ่านจะถูกริบเงิน  ผู้ซื้อต้องโต้แย้งและขอให้แก้ไขข้อความดังกล่าวโดยทันที หากผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไขสัญญา ผู้ซื้อก็ไม่ควรทำสัญญาด้วย การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารเดียวอาจจะมีความเสี่ยง ผู้ซื้อควรขอยื่นกู้มากกว่าหนึ่งธนาคาร และอาจหาผู้ค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ให้ผ่านมากขึ้น   หลังทำสัญญาจองแล้ว กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อต้องกลับไปดูสัญญาให้ละเอียดว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ถ้าผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่านแล้วผู้ประกอบการจะคืนเงินหรือไม่ หากไม่มีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการขอเงินคืนได้ทันที ด้วยการทำหนังสือขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับ แต่หากมีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืนด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้สัญญามาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ ซึ่งสัญญามาตรฐานจะไม่มีสัญญาข้อนี้อยู่ หากผู้ประกอบการปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี ผู้ซื้อมีสิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องเงินคืนได้       สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ หลังจากที่เราทราบวิธีการเบื้องต้นในการที่จะซื้อบ้านแล้ว หลังจากวางเงินมัดจำหรือเงินจองแล้ว ก็จะอยู่ในระหว่างที่เราต้องใส่ใจในเรื่องการผ่อนชำระค่าบ้านแก่โครงการ ก่อนที่จะรับโอนบ้าน หรือการโอนกรรมสิทธิ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อบ้านต้องใช้ความระมัดระวัง มากกว่าก่อนการทำสัญญา เพราะเงินเฉลี่ยประมาณ 10-20 % ของราคาขายได้ถูกชำระไปแล้วกับการทำสัญญา หากภายหลังพบว่า บริษัทเอาเปรียบเช่นไม่ก่อสร้างตามกำหนด บ้านไม่เป็นไปตามแบบบ้านตัวอย่าง ฯลฯ ผู้ซื้อบ้านบางรายส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะหยุดผ่อนชำระ เพราะหากไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิตามกำหนดก็จะเป็นผู้ผิดสัญญา และถูกริบเงินดาวน์   ข้อสังเกตและคำเตือนมีดังนี้ 1. ผู้บริโภคต้องชำระเงินค่าผ่อนบ้านให้ตรงตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขในสัญญา  ไม่ควรผิดนัด หรือค้างชำระหนี้ มิฉะนั้น ท่านอาจถูกทางโครงการบอกเลิกสัญญาซื้อขายเอาได้เนื่องจากตกเป็นผู้ผิดสัญญา  และอาจถูกริบเงินค่ามัดจำในที่สุด 2. ในระหว่างที่ผ่อนบ้านนั้น ก็ควรเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ  ในการทำเรื่องขอกู้เงินผ่อนบ้านกับสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ให้เรียบร้อย  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ กู้เงินไม่ผ่านและถูกริบเงินมัดจำเนื่องจากผิดสัญญา ไม่สามารถรับโอนบ้านได้ 3. ก่อนที่จะรับโอน  ควรใส่ใจ แวะตรวจดูบ้านที่ทำสัญญาซื้อขาย  หากยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการก่อสร้างล่าช้า  ผู้บริโภคควรระงับการชำระเงินค่าผ่อนบ้านเอาไว้ก่อน และทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา 4. แต่หากทำหนังสือแจ้งแล้ว โครงการยังเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้า ไม่สร้างให้เสร็จตามสัญญา  กรณีเช่นนี้ ถือว่าโครงการเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินที่ชำระไปแล้วคืน  และหากมีค่าเสียหายเกิดขึ้นจากการที่บ้านสร้างไม่เสร็จ เช่น ต้องไปซื้อบ้านที่อื่น ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็สามารถเรียกร้องให้โครงการรับผิดในส่วนนี้ได้อีกเช่นกัน 5. หรือหากบ้านที่จะซื้อ ทางโครงการได้สร้างเสร็จแล้ว ก่อนการรับโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของบ้านอย่างละเอียด โดยแจ้งนัดตรวจบ้านกับเจ้าหน้าที่โครงการให้ชัดเจน อาจทำเป็นหนังสือแจ้งทางโครงการและควรนัดช่วงเช้า เพื่อให้มีเวลาตรวจสอบได้ทั้งวัน อีกทั้งมีแสงสว่างเพียงพอ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ละเอียดอีกด้วย หากตรวจสอบบ้านแล้ว พบว่าบ้าน ยังไม่เรียบร้อย   ไม่เหมาะสมกับการพักอาศัยอยู่ คำตอบเดียวที่ทำได้ คือ ห้ามรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยเด็ดขาด !!  แม้จะถูกรบเร้า ขอร้อง อ้อนวอน จากพนักงานขาย ผู้บริโภคควรทำหนังสือแจ้งไปยังโครงการให้รีบดำเนินการแก้ไข  และขอขยายกำหนดเวลารับโอนกรรมสิทธิออกไปก่อน จนกว่าทางโครงการจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จึงจะยอมรับโอนกรรมสิทธิบ้านตามสัญญาได้   Ø ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ ผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิแล้ว ไม่ว่าจะพบการชำรุดเสียหาย บ้านจัดสรรปลูกสร้างผิดแบบ การไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญา การบริหารจัดการของนิติบุคคลที่เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ เมื่อผู้บริโภคเรียกร้อง ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักเพิกเฉย ทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาลเป็นหนทางสุดท้าย เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย   Ø หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ด้านที่อยู่อาศัย 1. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ร้องเรียนด้วยตัวเองได้ที่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10120 สายด่วน 1166 http://www.ocpb.go.th Email : consumer@ocpb.go.th2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ศาลากลางประจำจังหวัดทุกจังหวัด)3. กรมที่ดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ : 02-1415555 http://www.dol.go.th4. การเคหะแห่งชาติ เลขที่ 905 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์ 0-2351-7777 สายด่วน 1615 Email : prdi@nha.co.th5. ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02 248 3734-7 โทรสาร 02 248 3733  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 ภัยจากพิษตะกั่วในสีทาอาคารกับความเสื่อมถอยของสติปัญญาชาติ

องค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ไม่มีระดับของสารตะกั่วในร่างกายที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ในระดับโลก มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารตะกั่วในเลือดกับพัฒนาการทางสมองเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2550 ระบุว่า เด็กชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 8,600 คน ที่ตรวจพบสารตะกั่วในเลือดเพียง 2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) มีผลการสอบคณิตศาสตร์และทักษะการอ่านที่ด้อยกว่าปกติ[1] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าสารตะกั่วส่งผลระยะยาวต่อพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ก้าวร้าวและเป็นโรคสมาธิสั้น[2] และเมื่อปี พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม[3] สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อมนุษย์[4] แตกต่างจากโลหะหนักบางชนิดซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณเล็กน้อย ในทางตรงกันข้าม สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม้ในปริมาณเพียงน้อยนิด เนื่องจากมีพิษต่อสมองและระบบประสาท ตะกั่วสามารถสะสมอยู่ในกระแสเลือดและกระดูก ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะมีอาการอ่อนเพลียตามนิ้วหรือข้อมือข้อเท้า รวมถึงมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นและอาจเป็นโรคโลหิตจางได้ ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณมากอาจเกิดอาการเนื้อเยื่อสมองเสื่อมได้ด้วย เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงจากพิษตะกั่วสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายเด็กดูดซับสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ราว 4-5 เท่า นอกจากนี้ สารตะกั่วยังไปขัดขวางพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ส่งผลให้สติปัญญาบกพร่องไปตลอดชีวิตได้ ในประเทศไทย “ค่าที่ยอมรับได้” ของสารตะกั่วในเลือดเด็ก คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ug/dL ก็จะทำให้ระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็กลดลง[5] และยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว” (lead-caused mental retardation) เป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของโรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารตะกั่วเป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 600,000 คน[6]   ตะกั่วจากสีเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2551  แสดงให้เห็นว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีฝุ่นจากสารตะกั่วในสี จะมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ และหากบ้านมีฝุ่นตะกั่วมาก เด็กก็จะมีระดับตะกั่วในเลือดสูงมากเช่นกัน[7] เนื่องจากสารตะกั่วจากสีสามารถเข้าสู่ร่างกายง่าย ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องกำหนดมาตรฐานของอาคารที่พักอาศัยให้มีสารตะกั่วในฝุ่นได้ไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อตารางฟุต (ug/ft2) สารตะกั่วในสีเข้าสู่ร่างกายได้สองทาง คือ การหายใจและการกิน ผู้ใหญ่ส่วนมากได้รับสารตะกั่วจากการหายใจและสูดฝุ่นสีที่อาจฟุ้งกระจายออกมาระหว่างการขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ หรือจากสีที่หลุดลอกเองตามธรรมชาติ  สำหรับเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะได้รับสารตะกั่วจากสีโดยการกิน ทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนื่องจากเด็กวัย 1 - 6 ขวบ มีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นและมักหยิบของเข้าปาก ทั้งนี้ เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินรอบตัวได้ถึงประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม โดยที่ระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากถึงร้อยละ 50 ของทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป แตกต่างจากระบบทางเดินอาหารของผู้ใหญ่ ซึ่งดูดซึมสารตะกั่วได้เพียงร้อยละ 10 ฉะนั้น พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายจึงควรระวังอย่าให้ลูกหลานหยิบแผ่นสีเข้าปาก และหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวในบริเวณที่เด็กเล่นอยู่เสมอด้วยการถูพื้น เนื่องจากฝุ่นตะกั่วยากต่อกำจัดโดยการกวาดและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า   ไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรฐานบังคับเรื่องปริมาณตะกั่วในสี ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเคมีทำให้มีสารทดแทนที่จะใช้ผสมในสีทาอาคารได้ดีและปลอดภัยกว่าสารตะกั่วทุกชนิดมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 (ช่วง พ.ศ. 2523) เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศทั่วโลกที่ทยอยประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2521) สหภาพยุโรป (พ.ศ. 2532) ออสเตรเลีย (พ.ศ. 2540) จีน (พ.ศ. 2550) เป็นต้น แต่บางประเทศก็ไม่ถึงกับให้เลิกใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารทันที แต่มีการออกข้อกำหนดให้ผู้ผลิตใช้สารตะกั่วได้เพียงเล็กน้อย คือ ไม่เกิน 600 ppm เช่น สิงคโปร์ (พ.ศ. 2547) บราซิล (พ.ศ. 2551) แอฟริกาใต้ (พ.ศ. 2551) ฯลฯ ขณะที่บางประเทศแนะนำให้ผู้ผลิตสีเลิกใช้สารตะกั่วโดยสมัครใจ และบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน ยกตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ผลิตสีของญี่ปุ่นจะรับรองเฉพาะผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่ปลอดสารตะกั่วเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สีทาอาคารปลอดสารตะกั่วหรือใช้สารตะกั่วในปริมาณน้อยเริ่มมีวางจำหน่ายในท้องตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520[8] และมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์สีประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย รวมทั้งยังไม่มีมาตรการเสริมอื่นๆ การผสมสารตะกั่วในสีจึงถูกฝากไว้กับความตระหนักต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตสีแต่ละราย ในสถานการณ์จริงพบว่า ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังมีการผลิตและจำหน่ายสีที่ใช้สารตะกั่วในปริมาณสูง รวมถึงผู้ผลิตบางรายหรือบางบริษัทยังมีการผลิตสีต่างยี่ห้อต่างมาตรฐานกัน โดยที่มีข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายว่า การเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น   ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารของไทยอุดมด้วยตะกั่ว เมื่อปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดสอบสีทาอาคารทั้งหมด 27 ตัวอย่าง (สีน้ำมัน 17 ตัวอย่างและสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง) พบว่า สีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm หรือ 600 ส่วนในล้านส่วน (เกินเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 327-2538) มีถึง 8 ตัวอย่าง ส่วนสีพลาสติกไม่พบตัวอย่างที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (มาตรฐานบังคับ สหรัฐอเมริกา) ค่าของตะกั่วที่พบจากการศึกษาในปีนั้น พบว่า บางตัวอย่างมีปริมาณตะกั่วในสีน้ำมันสูงระดับหลายหมื่นถึงเกือบแสน ppm    ผลที่น่าตกใจจากการสำรวจในครั้งนั้นนำมาสู่การสำรวจซ้ำอีกสองครั้ง ซึ่งยังพบปัญหาเช่นเดิม แต่เนื่องจากจำนวนตัวอย่างอาจยังไม่มากพอ ดังนั้นจึงนำมาสู่การทดสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 นี้ โดยเจาะจงตรวจเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และเพิ่มจำนวนเป็น 120 ตัวอย่าง ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์สีถึง68 ยี่ห้อ การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN)   ราคาไม่ใช่ตัวตัดสิน ของถูกก็ปลอดภัยได้ จากงานศึกษาตัวอย่างสีทั้ง 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อครั้งนี้ได้พบข้อมูลสำคัญว่า ราคาไม่ได้มีนัยสำคัญกับการปนเปื้อนตะกั่ว โดยตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วต่ำไม่ได้มีราคาแพงกว่าตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วสูง ยกตัวอย่างเช่น จากตัวอย่างสีที่มีขนาดบรรจุ 1/4 แกลลอนหรือประมาณ 1 ลิตร จำนวน 107 ตัวอย่าง มีราคาขายอยู่ระหว่าง 80 – 353 บาท โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) มีราคาขายอยู่ระหว่าง 100-150 บาท แต่ตัวอย่างสีที่ขายในแต่ละช่วงราคาก็มีตะกั่วเจือปนในช่วงปริมาณที่ค่อนข้างกว้างมาก เช่น ที่ราคาขาย 120 บาท ซึ่งมีตัวอย่างสี 22 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณตะกั่วตั้งแต่ 26 ถึง 63,000 ppm นอกจากนี้หากพิจารณาราคาขายของตัวอย่างสีที่มีตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ราคาขายมีลักษณะกระจายตั้งแต่ 90 บาทถึงเกือบ 300 บาท แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ใช้สารตะกั่วนั้นมีขายทั้งในราคาต่ำและราคาสูง ดังนั้นข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายที่ระบุว่าการเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง   ก้าวสำคัญทางนโยบาย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่อง “ตะกั่วในสีทาอาคาร ภัยที่ป้องกันได้” ที่เสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเร่งด่วนและรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะการกำหนดให้มาตรฐานปริมาณตะกั่วในสีเป็นมาตรฐานบังคับภายในปี พ.ศ. 2556 เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศให้มีการแสดงปริมาณสารตะกั่วในสีตกแต่งหรือสีทาอาคาร และมีฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่มีสารตะกั่วเจือปน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อภายในปี พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังให้กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ออกข้อกำหนดให้ผู้รับเหมาใช้สีที่ควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคาร และสีทาเคลือบผิววัสดุที่ใช้ในอาคารและใช้ในโรงเรียน โดยมีปริมาณสารตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm รวมถึงข้อเสนอแนะถึงสถาปนิกและสมาคมสถาปนิกสยามให้กำหนดให้สีทาอาคารและสีทาเคลือบผิว วัสดุที่ใช้ในอาคารอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้ออกคำสั่งถึงหน่วยงานภายใต้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร รวมถึง ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานสารพิษ เช่น สารตะกั่ว สารหนู และอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์สีทุกชนิดให้เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มบทบาทการติดตามและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและของเล่นที่มีสารตะกั่วเกินมาตรฐาน ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สีและอื่นๆ ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. เพื่อป้องกันเด็กจากการได้รับสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ สำหรับหน่วยงานราชการก็ให้เลือกใช้สีที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. ในงานจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ     ตะกั่วในกระแสโลก  ในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมมือกันก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint – GAELP) เป้าหมายสำคัญคือการป้องกันเด็กไม่ให้ต้องรับอันตรายจากสารตะกั่วในสีและลดความเสี่ยงของคนงานจากสารตะกั่ว ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เลิกการผลิตและการขายสีผสมสารตะกั่ว และทำให้สังคมปลอดภัยจากสีผสมตะกั่ว องค์การอนามัยโลกและ UNEP เริ่มเปิดศักราชงานรณรงค์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมกันจัด “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” พร้อมกันในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้   ขอเชิญชวนทุกท่านสนับสนุนให้ “เด็กไทยปลอดภัยจากสารตะกั่ว”   โดยร่วมส่งภาพถ่ายลูกหลานตัวน้อยของท่าน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์เผยแพร่ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและผู้บริโภคจากพิษตะกั่วในสีทาอาคาร   กรุณาส่งภาพถ่ายใบหน้าของเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ซึ่งอยู่ในความปกครองของท่าน มายัง LeadFreeThailand@gmail.com พร้อมชื่อและที่อยู่ เพื่อทีมงานจะจัดส่งโปสเตอร์กลับไปให้ท่านทางไปรษณีย์   หรืออาจส่งภาพถ่ายมาทางไปรษณีย์ ถึง มูลนิธิบูรณะนิเวศ 211/2 ซ.งามวงศ์วาน 32 ต.บางเขน อ.เมือง นนทบุรี 11000 หมดเขต 10 ตุลาคมศกนี้   ตัวอย่างฉลากเตือนภัยเรื่องสารตะกั่วในสี   ระวัง! คุณอาจทำให้ฝุ่นตะกั่วฟุ้งกระจายจากการขูด ขัด หรือลอกสีเก่า สารตะกั่วเป็นพิษ การได้รับฝุ่นตะกั่วอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น สมองเสื่อม โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับฝุ่นตะกั่วเช่นกัน ควรใช้หน้ากากหายใจเพื่อจำกัดการได้รับสารตะกั่ว และควรทำความสะอาดด้วยเครื่องดูดฝุ่นและการเช็ดถูด้วยน้ำ ก่อนจะขูดลอกสีเก่า ควรสอบถามข้อมูลเรื่องการปกป้องตนเองและครอบครัวโดยติดต่อสายด่วนข้อมูลสารตะกั่ว หรือเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ www.epa.gov/lead   [1]Miranda ML, Kim D, Galeano AO, et al. The relationship between early childhood blood lead levels and performance on end-of-grade tests. Environ Health Perspect 2007; 115: 1242-1247. [2]Braun JM, Kahn RS, Froehlich T, et al. Exposures to Environmental Toxicants and  Attention Deficit  Hyperactivity Disorder in US Children. Environ Health Perspect  2006; 114: 1904-1909. [3] WHO, 2011. Evaluation of certain food additives and contaminants: 73rd report of the Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives. apps.who.int/ipsc/database/evaluations/chemical.aspx?chemID=3511 สืบค้นเมื่อ 21 ก.ค. 56 [4] Staudinger, K.C. and V.S. Roth. Occupational Lead Poisoning. Am Fam Physician. 1998 Feb 15; 57(4):719-726. สืบค้นจาก http://www.aafp.org/afp/1998/0215/p719.html เมื่อ 1 กันยายน 2556 [5] WHO, 2010. Childhood Lead Poisoning. http://www.who.int/ceh/publications/leadguidance.pdf  สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2556 [6] WHO, 2010. Exposure to lead: a major public health concern. http://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/lead/en/index.html สืบค้นเมื่อ 14 ส.ค. 56. [7] Jacobs, DE et al. The relationship of housing and population health: a 30-year retrospective analysis. Environ Health Perspect. 2009 April; 117(4): 597-604. [8] www.toagroup.com/th/about/8/25-ก้าวสำคัญ.html

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 One bans. All ban.เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม

การที่อาเซียนมุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) โดยจะเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” นั้น จะทำให้เกิดมีการหมุนเวียนหลั่งไหลของสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่า สินค้าและบริการส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าและบริการที่ด้อยคุณภาพ หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเตรียมตัวกันเต็มที่เพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งคือ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Committee on Consumer Protection) ขึ้น ซึ่งมีสมาชิกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกประเทศ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โดยมีหน่วยแข่งขันทางการค้า กรมคุ้มครองผู้บริโภคและกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเลขาธิการอาเซียนเป็นสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการฯ นี้จะทำหน้าที่สร้างระบบเตือน การเรียกคืนสินค้าและสินค้าอันตราย สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งของกลไก สร้างความตื่นตัวและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังมีกลไก องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน Southeast Asian Consumer Council (SEACC) อีกหนึ่งแห่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับทางภาครัฐ โดยก่อตั้งขึ้นที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 สมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภคชั้นนำจากประเทศ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม โดยการสนับสนุนของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน   และเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน ที่ผ่านมา “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ได้จัดงานประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับสินค้า(ผลิตภัณฑ์) อันตราย ในหัวข้อ “เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม : ความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน” ซึ่งฉลาดซื้อ ขอนำประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในงานนี้มาเสนอเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้บริโภคในการเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป   องค์การอิสระผู้บริโภคต้องเกิดเสียที ในเวทีประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ตัวแทนสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศในอาเซียนได้สั่งห้ามยกเลิกการใช้และห้ามนำเข้าไปนานแล้ว แต่ยังพบในอีกหลายประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียน นายเซีย เซ็งชุน (Mr. Seah Seng Choon) ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  กล่าวว่า “ในสิงคโปร์การคุ้มครองผู้บริโภครุดหน้าไปมาก เมื่อสิบปีที่แล้วได้แบน แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสไปแล้ว พอได้ฟังข้อมูลที่ประเทศไทยวันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการแบนไปอย่างน้อยห้าปี รู้สึกตกใจมากเพราะแม้ผลของโรคที่เกิดจากแร่ใยหินไม่ได้เห็นในเวลานี้ แต่ผลกระทบจากการสะสมเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าจะต้องแบนแร่ใยหินทันที เพราะจะได้ไม่มีผลร้ายมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามในมุมมองเรื่องการแบนสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศของสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนั้น หากขาดประเทศไทยที่เดียวที่ไม่มีการแบน ประเทศไทยก็ต้องเป็นแหล่งเดียวที่รับสินค้าอันตรายเช่นแร่ใยหินเข้าประเทศไทยแทนประเทศอื่นที่ได้สั่งแบนสินค้าไปแล้ว” นางสาวโมฮานา ปรียา (Ms. Mohana Priya) จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “ในมาเลเซียนั้น สารบีพีเอ ถูกแบนโดยไม่ยากนักเพราะมีข้อมูลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สารบีพีเอในขวดนม มีผลกระทบต่อสุขภาพทารกและเด็ก ซึ่งทำให้รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจอย่างไม่ยากเย็นในการห้ามใช้สารบีพีเอในขวดนม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของอนาคตของชาติที่จะละเลยมิได้” ในขณะที่ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์   ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า “จากประสบการณ์การจัดการปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัย หน่วยงานราชการเกี่ยงกันไปมา ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น กรณีของบีพีเอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างชัดเจนว่ามีอันตราย ดังนั้นจึงเห็นด้วยหากประเทศใดในอาเซียนแบนสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนควรแบนด้วย ไม่เช่นนั้น สินค้าอันตรายที่ถูกประเทศอื่นยกเลิกแล้วจะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสินค้านั้น” และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นปิดท้ายว่า“นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบอีกครั้งก่อนที่จะเป็นกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นกลไกใหม่ในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นตัวแทนในประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเช่น สินค้าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแร่ใยหิน หรือ สารบีพีเอในขวดนม ที่มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะไม่มีหน่วยงานที่อยากจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างชัดเจนเบ็ดเสร็จได้” เมื่อจบการประชุมในวันแรก ตัวแทนจากองค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ร่วมในงานเลี้ยงต้อนรับที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรผู้บริโภคอาเซียนเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี  นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เร่งออก พรบ.  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค  ห้ามผลิต  และนำเข้าผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งภูมิภาคอาเซียน   ถ้ามีการประกาศห้ามผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกห้ามผลิต/นำเข้าในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งภูมิภาค   1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน One bans. All ban. ในส่วนการประชุมวันที่ 5 กันยายน 2555 องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ประกาศ ปฏิญญากรุงเทพ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ สภาผู้บริโภคอาเซียน ร่วมประกาศปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 “1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน” ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน   รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ 2555 ตกลงกันในการร่วมกันแบนสินค้า แอสเบสตอสและ บีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันในครั้งนี้  การประชุมสภาอาเซียนผู้บริโภคนี้ ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ดังเช่นที่ปฏิญญาได้ให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องข้อมูลผลกระทบ FTA ของไทย  และต้องการศึกษาผลกระทบในอินโดนีเซียเช่นกัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการจัดการปัญหาในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน”   นางสาวอินดา  สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวต่อว่า “เมื่อค่ำวานนี้มีความยินดีที่ได้มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดีในเรื่องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน  ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง”   นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้างอยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าพวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน”   นางสาวโมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์” --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ขอแนะนำ 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Badan Perlindungan Konsumen Nasional หรือ(National Consumer Protection Agency เขาเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย วิสัยทัศน์ของ BPKN ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วคือการเป็นองค์กรชั้นนำที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้นพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้นด้วย เขาเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคผ่านหน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงต่างๆ ผู้ว่าการรัฐ สถาบัน/หน่วยงาน/คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง/ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคธุรกิจ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ หน่วยงานจัดการข้อพิพาท องค์กรระหว่างประเทส องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่สำคัญของ BPKN ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 4 ฝ่าย (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการศึกษาและสื่อสารสังคม ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน และฝ่ายสร้างความร่วมมือ) คือ ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ในการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ของผู้บริโภค ศึกษาและประเมินกฎระเบียบต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านสื่อ และส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ ภาคธุรกิจ ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการต่างๆ ตัวอย่าง งานด้านการศึกษาวิจัยของ BPKN ได้แก่ การศึกษามาตรฐานขั้นต่ำของบริการสายการบินสัญญามาตรฐาน  การทบทวนกฎหมายเรื่องมาตรวิทยา และการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค BPKN ไม่เด่นในเรื่องการรับร้องเรียนเท่าไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องต่างๆ เช่น -          เสนอให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาการห้ามส่งสแปมหรือ SMS ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้บริโภค -          เสนอให้กระทรวงการคลังและการธนาคารควบคุมพฤติกรรมของบริษัททวงหนี้ -          เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน -          และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อต้นปีคือข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมให้มีการออกกฎให้มีการตรวจหายาเสพติดในกัปตันและลูกเรือทุกคน และให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับสายการบินที่จ้างกัปตันที่ติดยาเสพติดไว้ในสังกัดด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผู้อ่านฉลาดซื้ออาจสงสัยว่าสังคมเป๊ะเวอร์อย่างสิงคโปร์เขามีมาตรการจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างไร  จากคำบอกเล่าของคุณเซีย เซ็ง ชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  ที่นั่นเขามีองค์กรชื่อว่า SPRING Singapore ทำหน้าที่ดูแลจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัย โดยเป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไปพร้อมๆกับการคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง แรกเริ่มเดิมที่มีผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งหมด 45 ประเภท (ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ที่รัฐกำหนดให้มาขึ้นทะเบียนกับ SPRING เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนจะได้รับอนุญาตให้วางขายได้ ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ SPRING ถึง 15,000 รายการ (สินค้าที่เข้าข่าย ผลิตภัณฑ์อันตรายนี้ครอบคลุมตั้งแต่อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม สารเคมีต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค) ค่าปรับของการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นอยู่ที่ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 250,000 บาท ใครยังจะกล้าขายก็ให้รู้กันไป ไหนๆ ก็แวะมาสิงคโปร์กันแล้ว จะไม่แถมเรื่อง Lemon Law ซึ่งสิงคโปร์ประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ก็ดูจะกระไรอยู่ กฎหมายนี้เราเคยเรียกร้องขอให้มีในกรณีของรถยนต์ เมื่อหลายปีก่อน (สมาชิกฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีคุณผู้หญิงคนหนึ่งออกมาทุบรถออกสื่อ เพราะคับแค้นใจที่รถที่ทุ่มทุนซื้อมาหมาดๆ ดันเสียซ้ำเสียซ้อน แถมโชว์รูมก็ไม่ยอมเปลี่ยนคันใหม่ให้อีกต่างหาก) อิจฉากันได้เลย เพราะสิงคโปร์เขาล้ำหน้าไปถึงขั้นมีกฎหมายที่ระบุให้มีการเยียวยาให้กับผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ซื้อไปนั้นไม่เป็นไปตามสัญญา / โฆษณาที่ระบุไว้ขณะที่ซื้อ (ถ้าพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 6 เดือนก็ให้ถือว่าเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นในขณะที่ซื้อ) โดยผู้ขายจะต้องซ่อม เปลี่ยน คืนเงินทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับผู้บริโภค ตามขั้นตอนคือให้ซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าบกพร่องนั้นก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคาสินค้านั้น หรือคืนสินค้าแล้วขอรับเงินคืน โดยผู้บริโภคต้องทำเรื่องร้องเรียนภายใน 6 เดือนหลังจากซื้อสินค้า ความจริงแล้วหลัง 6 เดือนก็ยังร้องเรียนได้ เพียงแต่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระการพิสูจน์เอง และที่สำคัญ การติดป้ายว่า “สินค้านี้ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน” ก็ไม่สามารถปกป้องผู้ขายจากความรับผิดชอบนี้ได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (ASEAN-5) สิงคโปร์ • การตัดสินใจซื้อ: ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ชาวสิงคโปร์มักนิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพค่อนข้างสูง • รสนิยม: วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมากในสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยัง อ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ • การบริโภค: ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย นอกจากนี้ ผู้มีรายได้และ มีระดับการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกมากขึ้น บรูไน • การตัดสินใจซื้อสินค้า: ชาวบรูไนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และนิยมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรามูลค่าสูง และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก • รสนิยม: ชาวบรูไนมีข้อจำกัดจากทางด้านวัฒนธรรมและมีกฎระเบียบรวมถึงข้อห้ามที่เคร่งครัด ขณะเดียวกันมีรสนิยมที่ค่อนข้างทัน สมัยและอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย โดยนิยมอาหารฮาลาลตามการยึดถือศาสนาอิสลาม - ชาวบรูไนค่อนข้างเชื่อถือคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร จากสิงคโปร์และมาเลเซีย มาเลเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายใน ชีวิตประจำวัน สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าหรูหรามากขึ้น ขณะที่ กลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างให้ความ สำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สะท้อนจากการใช้จ่ายสินค้าไอทีที่มากเป็นอันดับแรกเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย ด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ • รสนิยม: ผู้บริโภคมาเลเซียมีรสนิยมค่อนข้างหลากหลายตามกลุ่มเชื้อชาติ แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักมี รสนิยมอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - ผู้บริโภคมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารสด ขณะที่อาหารแปรรูปและอาหารบรรจุถุงมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นจากความ เร่งรีบในชีวิตประจำวัน - ชาวมาเลเซียรับประทานอาหารวันละ 3 ครั้ง และระหว่างวันจะมีช่วงพักดื่มน้ำชา และนิยมทานขนมขบเคี้ยว/บิสกิตเป็นอาหารว่างควบคู่ไปด้วย - ชาวมาเลเซียในวัยแรงงานนิยมบริโภคสินค้า Functional Food เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ให้พลังงาน อินโดนีเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวอินโดนีเซียยังมีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคส่วน ใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพงหรือสินค้าที่มี บรรจุภัณฑ์ราคาสูง • รสนิยม: ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสินค้านำเข้าจากเอเชียและประเทศตะวัน ตก • การบริโภค: - ชาวอินโดนีเซียมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารค่อนข้างสูง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมด) - ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับเพื่อนและครอบครัวโดยการออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน - พฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนจากซื้อวันต่อวันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จ รูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน ที่เก็บไว้ได้นานขึ้น ขณะที่สินค้า กลุ่ม Cereal ยังเป็น อาหารหลักสำหรับทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ยังนิยมอาหารรสจัด - มีแนวโน้มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ฟิลิปปินส์ • การตัดสินใจซื้อ: แม้ปัจจุบันกระแสไอทีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมโลกมากขึ้น แต่ชาว ฟิลิปปินส์ไม่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่นิยมเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง (ยกเว้นสินค้า กลุ่มสื่อบันเทิง) นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยยึดติดกับสินค้าแบรนด์เนม แต่นิยมสินค้า Private Label มากกว่า • รสนิยม: มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย โดยทั่วไปเน้นความเรียบง่าย สะดวกและเหมาะสมกับระดับรายได้ • การบริโภค: - ชาวฟิลิปปินส์ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ และการดูแลความสวยงามและผิวพรรณ - ชาวฟิลิปปินส์ค่อนข้างผูกพันกับตราสินค้าเดิมที่เคยใช้และไม่เปลี่ยนตราสินค้าบ่อย - ชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก - เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอาเซียนอื่นที่มีรายได้สูงขึ้น ชาวฟิลิปปินส์นิยมซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์มือถือ   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (CLMV)   เวียดนาม พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา • การตัดสินใจซื้อ: พฤติกรรมชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ • รสนิยม: ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีรสนิยมการบริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มวัย แรงงานของเวียดนามค่อนข้างอ่อนไหวต่อ กระแสความนิยมในตลาดโลก • การบริโภค: - ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมสินค้าแฟชั่น สินค้าไอทีและการสื่อสารที่ทันสมัย - อาหารสไตล์ตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสฟู้ดที่เข้ามาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ - ชาวเวียดนามนิยมอาหารสด ผักสดเป็นหลัก ขณะที่ความนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าประมาณ อาทิตย์ละครั้ง - พฤติกรรมทางสังคมที่มีการพบปะทางธุรกิจและสังสรรค์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายและไม่เสียเวลาทำอาหารเอง ทำให้นิยมรับประทานอาหารนอก บ้านมากขึ้น - ระดับรายได้ที่สูงขึ้นทำให้ชาวเวียดนามนิยมซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน/เครื่องใช้ ในบ้านมากขึ้น โดยยังนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก • การตัดสินใจซื้อ: ผู้บริโภคในพม่า/ สปป.ลาว / กัมพูชา ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ทำให้ การตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าเป็นสำคัญ และมักซื้อ สินค้าเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว พบว่า กระแสแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาสินค้าด้าน เครื่องแต่งกายและการ ดูแลสุขภาพ • รสนิยม: ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 มีรสนิยมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย จากประเพณีและวัฒนธรรม และพรมแดนที่อยู่ติดกัน ทั้งยังนิยม เลียนแบบการบริโภคสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ ของไทย • การบริโภค: - สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาดพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา - สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดกลุ่มนี้ยังไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม - ผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกยังได้รับความนิยมในวงจำกัด เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง / นักการเมือง - ชาวลาวได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางอาหารจากฝรั่งเศสมาพอสมควร อย่างไรก็ดี อาหารท้องถิ่นของชาวลาวยังคงเป็นที่นิยมโดยทั่วไป   ที่มา ”พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน”...ตัวแปรสำคัญที่ SMEs ไทยควรรู้ก่อนก้าวสู่ AEC ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กรกฎาคม 2554

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 116 ฟังเสียงหัวใจ ผู้เสียหายทางการแพทย์

จาก 2516 ถึง 2552 เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง“พ่อออกมาจากห้องไอซียู ไม่เกิน 48 ชั่วโมงแบบที่หมอบอก พ่อก็จากพวกเราไปอย่างสงบ” ครอบครัวตันทวีวงศ์ เสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเมื่อ 5 เมษายน 2552 หากย้อนไปเมื่อปี 2516 ครอบ ครัวตันทวีวงศ์ก็เคยเสียบุคคลอันเป็นที่รักในฐานะแม่ไปด้วยสาเหตุคล้ายๆ กัน “ตอนนั้นแม่ไม่ได้ป่วยอะไรเลยนะ เพียงแค่แม่ต้องการไปเช็คสุขภาพเท่านั้นที่โรงพยาบาลเพราะแม่เป็นโรคหอบหืด หมอเลยทำการเช็คหัวใจด้วย เพราะอาจจะเป็นโรคหัวใจโตได้ แม่ก็นอนที่โรงพยาบาลเพื่อจะเช็คหัวใจให้ละเอียด พอเช้าวันรุ่งขึ้นโรงพยาบาลก็ทำการฉีดสีเพื่อตรวจหัวใจ แล้วแม่ก็ช็อคเพราะแม่แพ้และจากไปในวันนั้น ซึ่งทำให้ทุกคนช็อคมาก เพราะด้วยวัยและสุขภาพของแม่ที่แข็งแรงดี แค่การเข้าไปตรวจสภาพร่างการเท่านั้น ทำให้ครอบครัวต้องเสียโอกาสในชีวิตไปหมด” อภิญญา ตันทวีวงศ์ เผยลิ้นชักความทรงจำถึงการจากไปของแม่ด้วยอายุเพียง 34 ปี หลังจากมีลูกสาวให้พ่อได้เชยชม 3 คนในวัยไล่เลี่ยกันพี่สาวคนโต 9 ขวบ น้องสาววัย 3 ขวบ และเธอ 6 ขวบ พ่อจึงกลายเป็นแม่ในอีกบทบาทหนึ่งของครอบครัว และเลี้ยงลูกมาโดยลำพัง และเธอยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นนำความทุกข์ และชิงโอกาสต่างๆของคำว่าครอบครัวไปจากเธอ เมื่อเธอเติบโตขึ้นเธอเคยถามพ่อว่า ‘เคยคิดที่จะฟ้องหมอไหม’ พ่อตอบว่าเคยคิด แต่ครั้นปรึกษาผู้ใหญ่แล้ว การยื่นฟ้องศาลถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และองค์การด้านสิทธิผู้บริโภคก็ยังไม่เกิด การฟ้องรังแต่จะสร้างภาระให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น พ่อจึงไม่เอาความหมอแต่ความทุกข์นั้นก็ไม่ได้หายไปจากใจของพ่อ และทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกจนเติบโตทั้งสามคน หลังจากล้มเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2551 ด้วยวัย 81 ปี พ่อของอภิญญาเส้นเลือดในสมองซีกซ้ายแตก ครอบครัวพาพ่อส่งโรงพยาบาลที่พ่อมีสิทธิประกันสังคม ซึ่งถึงแม้พ่อจะออกจากงานแล้วก็ส่งมาตลอด ระหว่างนั้นลูกๆ ก็เฝ้าพยาบาลพ่อจนออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านได้ จากนั้นก็ฟื้นฟูด้วยการพาไปทำกายภายบำบัดอยู่เสมอๆ จนเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พ่อของเธอมีการเกร็ง กระตุก และชัก เธอจึงพาพ่อส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง ครั้นถึงโรงพยาบาล แพทย์มองว่าพ่ออยู่ในภาวะวิกฤตจึงนำตัวเข้าห้องไอซียู และติดตามดูอาการในห้องไอซียู 48 ชม.เพื่อป้องกันการชักซ้ำ ซึ่งอาจทำให้สมองขาดออกซิเจนได้ในขณะชัก หลังจากนั้นพ่อก็กลับไปพักฟื้นที่บ้านโดยทุกคนในครอบครัวช่วยกันดูแลใกล้ชิดพ่อตลอดเวลา ซึ่งถึงแม้พ่อจะไม่กลับมาเดินได้อีกครั้งแต่พ่อก็รู้สึกตัว มีสติ จำทุกคนได้หมด จนพ่อมีอาการเกร็งกระตุก อีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนและตุลาคมซึ่งก็ได้รับการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาลมาโดยตลอด ปลายปี 2551 โรงพยาบาลแห่งนี้ก็จะออกจากประกันสังคม ทางครอบครัวจึงมองหาโรงพยาบาลใกล้บ้านไว้เพราะหมอได้บอกไว้ว่า อาการพ่อของเธอนั้นเมื่อเกิดอาการชัก เกร็ง ซึ่งเป็นลักษณะอาการของคนที่เส้นเลือดในสมองแตก จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้สมองได้รับความเสียหายและอาจเสียชีวิตได้ ทางครอบครัวจึงเลือกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสังกัดประกันสังคม ย่านถนนรามคำแหง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 15 – 20 นาทีก็ถึงโรงพยาบาล และด้วยความเป็นห่วงพ่อ ทางครอบครัวจึงพาพ่อไปหาหมอที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ดังกล่าว เพื่อจะได้มีการทำประวัติและบันทึกอาการของพ่อของเธอไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อเตรียมการในกรณีป่วยฉุกเฉิน แล้วภาวะนั้นก็มาถึง วันที่ 19 มีนาคม 2552 พ่อของเธอชักอีกครั้ง และนั่นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้ใช้สิทธิที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ “พ่อชัก เกร็งกระตุก ด้วยอาการแบบนี้ เราก็รีบนำตัวพ่อส่งโรงพยาบาล พอถึงโรงพยาบาลเวลา 9.45 น. ก็ถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินและฉีดยากันชักให้ พร้อมห่มผ้าให้พ่ออย่างหนา ซึ่งทำให้เราไม่เห็นว่าพ่อยังชักอยู่ไหม ยังมีการเกร็งอยู่หรือเปล่า แล้วก็วัดความดันเป็นครั้งคราว เราก็ยืนอยู่ข้างเตียงพ่อแล้วก็ถามว่าจะรักษาพ่อต่ออย่างไร เขาบอกต้องทำซีทีสแกนสมองก่อน สักพักเวลา 10.30 น. เขาก็พาพ่อไปทำซีทีสแกนและส่งขึ้นหอผู้ป่วยตอน 11 โมงแล้วก็ตรวจวัดความดันอีกเช่นเดิม ไม่มีหมอมาตรวจ มีเพียงพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลเท่านั้น สักเที่ยงก็เลยไปถามพยาบาลว่า ‘เมื่อไรหมอประจำวอร์ดจะมาดูอาการ’ พยาบาลบอกว่าหมอไปทำธุระที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะเข้ามาดูอาการหลังบ่าย 3 แต่หมอสั่งยาทางโทรศัพท์ไว้แล้ว ไม่ต้องห่วง เราก็กังวลละสิทีนี้ ระหว่างนั้นเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องรออย่างอดทน สักบ่าย 2 บุรุษพยาบาลก็มาวัดความดันพ่ออีกครั้ง ครั้งนี้ความดันพ่อสูงเกิน 200 แต่พยาบาลก็ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่บอกว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยแบบนี้ สักพักพ่อก็ตาค้าง ไม่มีสติ เราก็ขอร้องให้พยาบาลตามหมอมาที พยาบาลก็โทรไปหาหมอเล่าอาการของพ่อ แล้วหมอก็สั่งให้พยาบาลฉีดยาให้กับพ่อเพิ่ม พ่อก็ยังเกร็ง และกระตุกอยู่ จนบ่ายสามโมงครึ่ง หมอก็มาดูอาการของพ่อ บอกว่าผลซีทีสแกนออกมาแล้ว พ่อมีน้ำคั่งในโพรงสมอง แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเขาเองเป็นหมออายุรกรรมทั่วไป ต้องให้หมอด้านสมองมาดู ซึ่งหมอสมองนี่ก็เป็นคุณหมอพาร์ทไทม์อีก ไม่รู้จะมาเมื่อไร เราก็โห...นี่รอหมอมาครึ่งค่อนวัน แล้วยังช่วยอะไรไม่ได้อีก” เมื่อรู้ว่าการรอคอยอย่างอดทนกว่า 7 ชั่วโมง ที่มีชีวิตของพ่อเป็นเดิมพันไม่มีสัญญาณที่ดี เธอจึงขอย้ายพ่อไปรักษาอีกโรงพยาบาลในย่านเดียวกัน ก่อนจะย้ายทางโรงพยาบาลนั้น หมอบอกกับเธอว่าพ่อของเธออยู่ในภาวะวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะย้าย ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ พร้อมส่งเอกสารให้เธอเซ็น 1 ฉบับ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงชุลมุนเธอก็ยังมีสติที่จะอ่าน ซึ่งใจความบอกว่า จะไม่เอาความและไม่ฟ้องร้องโรงพยาบาลหากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น และเธอก็ใช้นาทีชุลมุนเก็บเอกสารนั้นมาด้วย เพราะเธอมองว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่โรงพยาบาลจะทำแบบนี้ ถ้าหากเป็นญาติผู้ป่วยรายอื่นๆ อาจจะเซ็นไปแล้วก็ได้เพราะเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเร่งรีบและอาจเกรงว่าถ้าไม่เซ็นโรงพยาบาลจะไม่ให้พาตัวออกไปก็เป็นได้ บ่ายสี่โมงครึ่ง พ่อของเธอก็ถึงอีกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นพ่อของเธออยู่ในภาวะหัวใจวาย และโคม่า จึงถูกนำตัวเข้าห้องไอซียู และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา  ตลอด 15 วันที่พ่อนิ่งสนิทไม่รู้สึกตัว เธอและครอบครัวอยู่ดูแลไม่ห่างถึงแม้จะเข้ามาเยี่ยมได้บางเวลาเท่านั้น แต่ก็อยู่ที่หน้าห้องไอซียูเสมอ การงานที่เคยทำของลูก หนังสือที่เคยเรียนของหลาน ความกังวลใจต่างๆ นานา ถาโถมเข้าสู่ครอบครัวตันทวีวงศ์อีกครั้ง ทำให้เธอเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการรักษาพยาบาล เมื่อคราวแม่และเมื่อคราวของพ่อ ที่ระยะเวลาห่างกันถึง 37 ปี แต่เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็ยังเกิดขึ้น “หมอเรียกพวกเราไปคุยและบอกว่าพ่อจะไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้วนะ ถึงแม้พ่อจะฟื้นขึ้นมา เพราะสมองของพ่อขาดออกซิเจนนานเกินไปแล้วตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ ต้องเป็นผู้ป่วยนอนเตียงเวลากินก็กินทางสายยาง การรับรู้ก็น้อยมากเพราะสมองเสียหายไปมากตั้งแต่ตอนเริ่มชัก และทางเลือกที่มีอยู่ก็คือการเจาะคอเพื่อที่จะให้อาหารและให้อากาศ เพื่อให้พ่อมีชีวิตอยู่ได้ พอได้ฟังแบบนั้นเราก็ปรึกษากัน หาข้อมูลต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เราจะยอมให้พ่อตื่นขึ้นมาทุกครั้งแล้วอยู่กับความเจ็บปวดไหม ของที่ชอบก็ไม่ได้กิน หายใจเองก็ยังทำไม่ได้ สุดท้ายพวกเรายอมให้พ่อจากไป ยอมให้หมอถอดเครื่องช่วยหายใจและย้ายพ่อมารักษาที่ห้องพักฟื้นผู้ป่วย ไม่เกิน 48 ชั่วโมง พ่อก็จากไปอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานครบทุกคน” เธอเล่าถึงนาทีสุดท้ายที่ได้อยู่กับพ่อ หลังการจากย้ายโรงพยาบาลมาอยู่โรงพยาบาลใหม่ อภิญญาบอกว่าทางโรงพยาบาลเดิมก็มาเยี่ยม และส่งเจ้าหน้าที่มาเจรจา เพราะเธอไม่ได้ส่งใบสัญญานั้นคืนให้โรงพยาบาล  ด้วยหลักฐานต่างๆ ที่เธอมีมันพร้อมที่จะเอาผิดโรงพยาบาลได้ แต่เธอเลือกที่จะไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เธอหวังเพียงจะให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และเพื่อปกป้องผู้ประกันตนคนอื่นๆ อยากให้เกิดการกำกับดูแลมาตรฐานโรงพยาบาลนั้นที่มีการบันทึกเวชระเบียนที่เป็นเท็จหลังจากเธอยื่นขอเวชระเบียนไป เหตุการณ์นี้ทำให้เธอนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อประกันสังคม สุดท้ายหลังการเจรจา ทางโรงพยาบาลยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดราวๆ 340,000 บาท “ญาติที่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการเห็นอะไรบางอย่างต้องการความรับผิด ต้องการการดูแลที่ดีจากโรงพยาบาล ต้องการวัดใจกันว่าทางโรงพยาบาลรู้สึกสำนึกไหมกับสิ่งที่ทำลงไปไหม ก็รู้สึกเสียใจที่พาพ่อส่งโรงพยาบาลผิด ถ้าเราพาพ่อส่งโรงพยาบาลถูกพ่อก็จะอยู่กับเราต่อ ถึงแม้ญาติๆ จะมีความรู้บ้างแต่ถึงที่สุดแล้วความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ ก็ต้องเป็นหมอ และอีกอย่างการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่การซื้อของที่ไม่พอใจก็ไปซื้อที่อื่น ในขณะที่พ่อชักอยู่ก็พาพ่อขึ้นรถไปโรงพยาบาลอื่น มันไม่ใช่ เราไม่ฟ้องหมอหรือโรงพยาบาล เราเพียงแค่อยากให้มีการควบคุมดูโรงพยาบาล อยากให้ประกันสังคมเข้าไปควบคุมดูแลให้สมกับเงินที่จ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือนๆ หน่อย เราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก อยากให้เรื่องของพ่อเป็นบทเรียนในการปรับปรุงบริการ ถ้าหมอมองว่าผู้ป่วยจะใช้โอกาสที่เขาพลาดเพื่อฟ้องเรียกเงิน 10 ล้าน 20 ล้าน มันไม่ใช่เลย ความสูญเสียต่างๆ มันเกิดขึ้น อย่างโรงพยาบาลทำแม่ตาย ถ้ามองว่าเราสูญเสียอะไรบ้าง เราเสียโอกาสการได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เสียคุณภาพชีวิต เสียแม่ ซึ่งถ้าหากจะคิดเป็นตัวเงินเพื่อฟ้องร้องตอนนั้นมันก็มีเหตุผลที่ฟ้องร้องกันได้ ถ้าเทียบกับกรณีของพ่อ ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต้องจ่ายมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมากๆ “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” เนื้องอกที่มีหัวใจ ของบังอร มีประเสริฐ “แม่ใครน่ะ ใครเหรอ” น้องอาร์มแฝดคนน้องเซ้าซี้ถามบังอร มีประเสริฐ ผู้เป็นแม่ด้วยความใคร่รู้ว่าแม่พูดโทรศัพท์กับใคร ส่วนน้องอั้มแฝดคนพี่ นั่งคลอเคลียไม่ห่างแม่  ลูกชายแฝดวัย 8 ขวบของบังอร  ที่ครั้งหนึ่งหมอมีคำวิจฉัยว่าเขาสองคนเป็นเนื้องอกในมดลูกของบังอรเมื่ออยู่ในท้องได้ 6 เดือน ย้อนไปเมื่อปี 2545 เดือนเมษายน บังอร มีประเสริฐ รู้อึดอัดแน่นท้อง อีกทั้งท้องก็โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากเธอมีลูกชายให้สามีได้เชยชมแล้ว 1 คน บังอรก็กินยาคุมมาตลอด 9 ปี จึงแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งท้องอย่างแน่นอน แต่อาการผิดปกติทำให้กังวล เธอจึงให้สาธิต  นาคขันทอง ผู้เป็นสามี พาไปตรวจที่สถานีอนามัยปากมาบ แต่ด้วยความจำกัดด้านอุปกรณ์ หมออนามัยจึงใช้การคลำท้องและพบว่ามีก้อนเนื้อภายในท้อง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือว่าบังอรตั้งท้องกันแน่ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล ผลการตรวจของโรงพยาบาลซึ่งตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ พบว่าบังอรไม่ได้ท้อง หมอจึงวินิจฉัยว่าเหตุที่บังอรท้องโตนั้นเกิดจากเนื้องอก ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงทำการผ่าตัดเพื่อผ่าตัดเนื้องอกในท้องของบังอร แต่แล้วหลังการผ่าตัดที่หมอวินิจฉัยว่าเป็น “เนื้องอก” นั้นแท้จริงแล้วเป็นเด็กแฝด 2 คนอยู่ในมดลูกของบังอรที่ขณะนี้มีอายุครรภ์ถึง 6 เดือนแล้วหลังการผ่าตัดคุณหมอได้ออกมาแสดงความยินดีกับครอบครัวของบังอรที่หน้าห้องผ่าตัดว่า ‘ยินดีด้วย เพราะบังอรไม่ได้เป็นเนื้องอกในท้อง แต่บังอรท้องเด็กแฝด’ กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ ไม่มีอะไรต้องกังวล ‘ไม่มีอะไรต้องกังวล’ แต่กลับเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลและความลำบากให้กับครอบครัวของบังอรเป็นอย่างมาก การตั้งท้องดูจะเป็นเรื่องยากเย็นที่สุดของผู้หญิงแล้ว แต่บังอรอุ้มท้องลูกแฝด  ซ้ำร้ายกว่านั้นเป็นท้องที่มีแผลผ่าตัดที่ยาวกว่าคืบ การจะพลิกตัวแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องที่แสนสาหัสสำหรับบังอร  อีกทั้งกังวลว่าแผลจะปริออกด้วยเพราะท้องเธอก็โตขึ้นทุกวันๆ  ตลอดระยะ 3 เดือน ที่รักษาแผลให้หายจนผ่าตัดคลอด สามีจึงต้องคอยอยู่ดูแลบังอรเกือบจะตลอดเวลา งานรับจ้างและทำประมง ด้วยรายได้ 2 คนที่ตกวันละ 200 – 300 บาท จึงมีอันต้องหยุดลง และประทังชีวิตครอบครัวด้วยการหยิบยืมเงินเพื่อนบ้านเพื่อเลี้ยงปากท้อง ในเดือนกรกฎาคม 2545 น้องอั้มและน้องอาร์ม ลูกชายฝาแฝด ของบังอรก็ลืมตาดูโลก ร่างกายสมบูรณ์ดีด้วยน้ำหนัก 3 ก.ก. กรัม เมื่อแรกคลอดทั้งคู่ ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเดิม หากแต่ว่าเปลี่ยนหมอในการผ่าตัด “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” ความกังวลของบังอรหมดไป 1 เปาะ แต่มีอีกเปาะที่เธอยอมรับว่าท้อเหลือเกินในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการเยียวยา ความผิดพลาดของทางโรงพยาบาล 23 พฤษภาคม 2545 บังอรได้ได้ยื่นเรื่องต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พิจารณาชดเชยค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2535 เพราะเธอถูกผ่าท้องฟรีและได้สร้างความวิตกกังวลว่า การผ่าท้องที่เกิดขึ้นจะทำให้ส่งผลกระทบต่อลูกแฝดในท้องหรือไม่ เธอเฝ้ารอผลการร้องเรียนด้วยใจหวัง แต่แล้ววันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ผลที่ออกมาทำให้เธอถึงกับเข่าอ่อน นั่นเพราะว่าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าการผ่าตัดของหมอนั้นเหมาะสมแล้ว และนั่นเป็นการผ่าท้องเพื่อวินิจฉัยโรค ไม่ใช่การรักษาโรค ทำให้เธอสงสัยว่าเดี๋ยวนี้เขาวินิจฉัยโรคกันอย่างนี้เลยหรือ หลังจากได้ฟังคำตอบจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เธอไม่เชื่อว่านั่นเป็นการวินิจฉัยโรค เธอยังคงตามหาความเป็นธรรมต่อไปด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเมื่อต้นปี 2546 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และขอให้หมอที่ทำการผ่าตัดเธอ และโรงพยาบาลร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวของเธอเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เธอก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะวันที่ 18 มีนาคม 2546 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง ในเรื่องให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ทำให้ใจเธอชื้นขึ้นมาบ้างเพราะศาลยอมรับคำฟ้องในข้อหาขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานปลัดฯ 3 ปีผ่านไป บังอรกลับมาใช้ชีวิตด้วยอาชีพรับจ้าง และทำประมง เลี้ยงครอบครัวดังเช่นปกติ โดยคดีของเธอยังคงดำเนินต่อไป และวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ผลการรับคำฟ้องไปเมื่อ 3 ปีก็ออกมาว่าศาลยกฟ้อง เพราะกระบวนการในการออกคำสั่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว 29 มิถุนายน 2549 เธอจึงยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด และการรอคอยก็ผ่านไปอีก 1 ปี 15 สิงหาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาว่า การผ่าตัดเธอนั้นถือเป็นการกระทำละเมิด และให้โอนคดีของเธอกลับไปยังศาลยุติธรรม จังหวัดที่เกิดเรื่องนั่นก็คือที่จังหวัดสมุทรสงคราม  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เธอจึงยื่นเรื่องฟ้องศาลใหม่อีกครั้ง ในที่สุด 15  พฤษภาคม 2551 ก็มีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดขึ้นระหว่าง ครอบครัวของบังอร โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไป ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งทราบว่าหมอที่ทำการผ่าตัดบังอรได้เสนอค่าเยียวยาเธอมาเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งการฟ้องครั้งนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและบังอร ต้องการให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ต้องการรับค่าเสียหายจากหมอ จึงยื่นข้อเสนอสำนักงานปลัดจ่ายไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 จึงมีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง โดยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดยินดีที่จะรับผิดชอบแทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอยากจะยุติเรื่องราวทั้งหมด เพราะส่วนตัวแล้วหมอเองก็รู้สึกเสียใจกับเรื่องที่ผ่านมา จึงยินดีช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียหายและเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกชายทั้งสองของบังอร เป็น 120,000 บาท  สุดท้ายวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 บังอรได้รับการชดเชยเยียวยาจำนวนเงิน 140,000 บาท กว่า 6 ปีของเส้นทางการตามหาความยุติธรรมของบังอร เธอบอกว่าระยะเวลาการต่อสู้นานขนาดนี้ ทำให้เธอท้อมาก “พอเห็นหน้าเขาก็ดีใจนะ ดีใจที่เขาเกิดมาปกติ ไม่พิการ” แต่ยาใจสำคัญที่ทำให้เธอมีแรงสู้ต่อก็คือ “ลูก” ของเธอนั่นเอง และเธอหวังว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอพิจารณาอยู่ในสภาฯ ขณะนี้จะมีส่วนในการช่วยลดความขัดแย้งระหว่างหมอกับผู้ป่วย และจะมีกระบวนการเยียวยาที่รวดเร็ว รวมถึงน่าจะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยด้วยเช่นกัน -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องเล่าจากหัวใจพ่อ กลางดึกวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ขวัญอุทัย แสนทายก ในฐานะพ่อ กำลังส่งใจไปยื้อหัวใจลูกสาวคนเล็ก “น้องครีม” วัย 1 ขวบ 22 วัน ที่เต้นแผ่วลงทุกทีๆ ในห้องรักษาของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องยื้อหัวใจที่ยังเต้นตุบๆ หากแต่ว่าสลายไปแล้วของ สริชญา ติดสันโดษ  ภรรยาของเขา ที่ร่ำไห้ปานจะขาดใจอยู่หน้าห้อง “หมอบอกว่าลูกเราจะไม่เป็นไร แต่ทำใจดีๆ ไว้นะ” คำปลอบของเขากลับทำให้ภรรยาร้องไห้หนักขึ้น ด้วยคำว่า “ทำใจดีๆ” และนั่นเป็นถ้อยคำที่ดีที่สุดแล้วของเขา  ย้อนไปเมื่อเช้าของวันที่ 6 กรกฎาคม ย่าพาน้องครีมมาหาหมอด้วยอาการอาเจียนและถ่ายท้องอย่างหนัก หลังหมอตรวจอาการแล้ว บอกว่าเป็นไวรัสลงกระเพาะ ไม่เป็นอะไรมากให้กลับไปพักที่บ้านได้ ในขณะที่ขวัญอุทัย ซึ่งลางานมาเฝ้า “น้องคริส” ลูกสาวแฝดผู้พี่ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ก่อนหน้า 2 วันแล้วด้วยอาการเดียวกัน รู้สึกเบาใจขึ้นมาบ้างหลังรู้ว่าลูกสาวคนเล็กไม่เป็นอะไรมาก ทว่าตกเย็นวันนั้น “น้องครีม” อาการทรุดลงขึ้นจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยโรงพยาบาลนำตัวไปที่ห้องฉุกเฉินและปล่อยให้รออย่างนั้นกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการตรวจรักษา ขวัญอุทัยจึงขอปรอทจากพยาบาล มาวัดไข้ลูกเองซึ่งปรอทขึ้นถึง 38 องศา ทำให้เขากังวลว่าน้องครีมจะช้อคเพราะน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อไข้ขึ้นถึง 39 องศา หลังวัดไข้เสร็จ “น้องครีม” ก็เปลี่ยนจากการงอแง เป็นเริ่มนิ่งแบบไม่ตอบสนอง เขาจึงขอให้หมอและพยาบาลช่วยรักษาให้หน่อย จึงได้รับการตอบสนองโดยพยาบาลนำตัวน้องครีมไปเช็ดตัว จนน้องเริ่มตัวเย็นลงแล้วก็ให้มาอุ้มไว้เช่นเดิม จนเวลา 4 ทุ่ม ทางโรงพยาบาลจึงให้เข้าพักรักษาตัว และพักอยู่เตียงใกล้ๆกับ “น้องคริส” แฝดผู้พี่ “มันเป็นช่วงเวลาการรอคอยที่ยาวนานมากครับ ไปตั้งแต่ 5 โมงเย็น กว่าจะได้ขึ้นไปห้องผู้ป่วยในก็ 4 ทุ่ม แต่ก็อุ่นใจครับเพราะเตียงอยู่ใกล้ๆกันกับพี่สาวของเขา ทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น น้องครีมจะแข็งแรงกว่าพี่สาว อย่างครั้งนี้ก็เหมือนกันพี่สาวเขาเป็นหนักกว่า” ขวัญอุทัยย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เขาไม่อาจลืมได้ แต่แล้วขณะแม่น้องครีมกำลังให้นมอยู่กับอก ไข้ขึ้นสูงและเกิดอาการช็อค นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะเช็ดตัวให้ ก็รีบนำตัวเข้าห้องรักษา นักศึกษาแพทย์ก็กรูกันเข้าไปช่วยกัน โดยไม่มีหมอประจำการอยู่ที่นั่น จนเวลาผ่านไปกว่า 45 นาที ที่นักศึกษาแพทย์ช่วยกันปั๊มหัวใจ สักครู่ก็มีคนเข้ามา และบอกให้เขาทำใจ… สุดท้ายน้องครีมจากไป เวลาตี 1 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552 ด้วยสาเหตุระบุว่า “หัวใจล้มเหลว” “คือเหมือนหัวใจผมมันสลายไปแล้ว" ตอนแรกผมก็อุ่นใจเพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้นก็จะช่วยเหลือได้ทัน แต่พอถึงเวลาฉุกเฉินจริงๆ กลับช่วยเหลือไม่ได้เลย ผมเชื่อว่าลูกผมไม่ได้ตายเพราะโรค เพราะครั้งหนึ่งน้องเคยช้อคมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ได้รับการช่วยเหลือทัน แต่ครั้งนี้ กดกันจนหน้าอกช้ำแล้วหมอก็ไม่มีอยู่เวร การเยียวยาหลังการเสียชีวิตของน้องครีมครอบครัวของขวัญอุทัย ขอพบผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้นคิดไว้ว่าหากไม่ยอมดำเนินการอะไรต่อเรื่องการเสียชีวิตของ “น้องครีม” ทางครอบครัวก็ตกลงกันว่าจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด ด้วยหวังว่าอยากให้ทางโรงพยาบาลปรับปรุงบริการ และดูแลเอาใจใส่คนอื่นๆให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะแสดงอาการเจ็บป่วยหรือไม่ ก็ควรจะดูแลไม่ควรที่จะเพิกเฉยต่อการรักษาและควรจะมีทีมหมอพร้อมถึงแม้จะเป็นวันหยุดยาว ไม่ใช่ปล่อยไปแบบนี้ พร้อมเรียกค่าเยียวยาและค่าเลี้ยงดูไป 290,000 บาท ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ซึ่งขณะนั้นลูกสาวคนโตยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หลังการเข้าพบทางโรงพยาบาลมีการเรียกประชุมผู้บริหาร และเข้าเจรจากับครอบครัวขวัญอุทัย พร้อมให้การดูแลน้องคริสเป็นอย่างดี และชดเชยเยียวยาค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนที่เรียกไปในวันที่ 22 ตุลาคม 2552 “ผมว่าถ้าเขาดูแลน้องครีมดีแบบนี้ตั้งแต่ตอนแรก การสูญเสียทั้งสองฝ่ายก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเงินที่นำมาชดเชยให้ผมก็เป็นเงินจากภาษีประชาชนนั่นเอง และเงินจำนวนเพียงเท่านี้ถ้าเทียบกับชีวิตของลูกสาวผม มันเทียบกันไม่ได้เลย” นอกจากการได้รับการเยียวยาจากทางโรงพยาบาลแล้ว ครอบครัวของขวัญอุทัย ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยื่นเรื่องไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเดือนเดียวกันและได้รับการเยียวยาในวันที่ 21 มกราคม 2553 จำนวนเงิน 200,000 บาท อีกหนึ่งชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เมื่ออีกหนึ่งชีวิตจากไป อีกสามชีวิตที่อยู่จะอยู่ต่ออย่างไร แม่น้องครีมบอกเพียงว่า ไม่อยากจะพูดถึง เธอบอกได้เพียงเท่านั้น หยาดน้ำตาก็รื้นขึ้นมาเล่าเรื่องราวแทนถ้อยคำ “มันพูดยากครับ เพราะเขาสองคนเคยเล่นอยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน แล้วชีวิตคู่แฝดเขาจะมีความสัมพันธ์กัน เขาก็จะไปเล่นกับลูกของเพื่อนบ้าน มีอะไรเขาก็แบ่งปันให้ เขาคงคิดว่าเป็นน้องของเขาเวลาเห็นหน้าน้องคริส แล้วจะคิดถึงน้องครีมตลอด คือเราจะคิดว่าถ้าน้องครีมยังอยู่นะโตเท่านี้แล้วนะ พ่ออุ้มคนนั้น แม่อุ้มคนนี้ คือมัน…ขาดไปหลายอย่าง อืม…ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดีครับ” เขาหยุดผ่อนลมหายใจอีกครั้งและนั่นเป็นการอธิบายที่ดีแล้วสำหรับเขา ถึงแม้จะผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงชัดเจนสำหรับเขาเสมอ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 ตะกั่วในสีอันตรายที่ห้ามมองข้าม

ทั่วโลกขับเคลื่อนห้ามมีตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งในประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโยฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลนานาชาติและองค์กรระหว่าง ได้มีมติร่วมกันในการจัดตั้งยุทธศาสตร์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) และต่อมาในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลนานาประเทศได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันอีกครั้งในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 (The 1st International Conference on Chemicals Management: ICCM-1) ณ กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   น.ส. วลัยพร มุขสุวรรณ นักวิจัยอาวุโสด้านสารเคมีและของเสียอันตราย จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเริ่มปรับนโยบาย มาตรการ และแผนงานการจัดการสารเคมีอันตรายต่างๆ ภายในประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไซคัม ตัวยุทธศาสตร์นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการเน้นให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้นๆ และมีเป้าหมายร่วมกันในระดับโลกว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่เป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ยุทธศาสตร์ไซคัมให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานสั้น 5 ข้อด้วยกัน คือ 1) การลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) การสร้างธรรมาภิบาล 4) การเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) การห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย เธอกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ไซคัมเองยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องสุขภาพของเด็ก สตรีมีครรภ์ คนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ คนยากจน คนงาน และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางทั้งหลายไม่ให้ได้รับอันตรายจากสารเคมีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้องค์กร Toxics Link (อินเดีย) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของอินเดีย ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศที่ต่อต้านสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า International POPs Elimination Network (IPEN) ได้เสนอให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งมีมาตรการควบคุมการใช้ตะกั่วในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งต่าง ๆ ในเวทีการประชุมระดับโลก 2 ครั้งคือ ในการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมีครั้งที่ 6 หรือ Sixth Session of International Forum on Chemical Safety (IFCS Forum VI) ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2551 ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล และต่อมามีการเสนอในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2 (ICCM 2) เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2552 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ความพยายามผลักดันให้มีการควบคุมสารตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่กระจายของตะกั่วสู่เด็กแหล่งใหญ่ที่สุด หลังจากที่ทั่วโลกได้มีมาตรการยกเลิกการใช้ตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้เพราะว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยังไม่มีกฎข้อบังคับที่ควบคุมหรือห้ามการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมในสี ที่ประชุม ICCM 2 มีมติร่วมกันในการควบคุมสารตะกั่วในสีที่สำคัญ 2 เรื่องด้วยกันคือ 1) มีมติให้บรรจุเรื่องตะกั่วในสีเป็นนโยบายเร่งด่วนใน SAICM และ 2) มีมติให้นานาประเทศสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักเรื่องผลกระทบของตะกั่วในสีที่มีต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ให้มีการพัฒนาโครงการป้องกันอันตรายจากตะกั่วในสีโดยหามาตรการหรือสร้างความรู้เพื่อป้องกันสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้กำหนดกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยมีมาตรการอะไรแล้วบ้าง น.ส. วลัยพร ซึ่งได้เข้าร่วมกับโครงการทดสอบสีของ Toxics Link กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้เข้าร่วมกับการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 และได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์ไซคัมด้วย โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของไซคัม ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องนำเอายุทธศาสตร์และหลักการสำคัญที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ไซคัมมาดำเนินการในประเทศด้วย ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550 – 2554) ซึ่งจัดทำเสร็จแล้ว โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้บรรจุเอานโยบายและหลักการสำคัญๆ ของยุทธศาสตร์ไซคัมเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันติดตามต่อไปว่า ประเทศไทยมีการปฏิบัติตามหรือมีการดำเนินมาตรการอะไรในเรื่องนี้บ้าง เพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมีภายในปี 2563 ตามที่ไซคัมตั้งเป้าหมายเอาไว้ สำหรับประเด็นตะกั่วในสีนั้น กรมควบคุมมลพิษในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของ ไซคัมได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและกำหนดท่าทีของประเทศ 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 และครั้งที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2552 และได้นำประเด็นนี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทย แต่เนื่องจากมีข้อมูลการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีไม่ตรงกัน ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงงานผลิตสีว่ามีการใช้สารตะกั่วหรือไม่อย่างไร ล่าสุดนี้คณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมีมีการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ในที่ประชุมครั้งนี้มีการนำเอาผลการประชุมของ ICCM 2 มาพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการขึ้นในประเทศด้วย ในส่วนของปัญหาตะกั่วในสี ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับไปดำเนินการให้เกิดการจัดการตะกั่วอย่างเหมาะสมตลอดทั้งวงจรตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกั่วในสี เอกสารอ้างอิง1. SAICM Secretariat, Information bulletin No.1, January 2008.2. เอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 3/ 2552

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 มีสี (ไม่จำเป็นต้อง) มีเสี่ยง

บังเอิญได้เหมาะเจาะจริงๆ หลังจากที่สมาชิกของฉลาดซื้อได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรทำทดสอบสีทาบ้านดูบ้าง เราก็ได้รับข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery - Thailand, EARTH) ว่าทางมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีตกแต่งและสีทาบ้านใน 10 ประเทศ ซึ่งดำเนินการโดย Toxics Link ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในอินเดีย และเครือข่ายระหว่างประเทศต่อต้านสารพิษ POPs (International POPs Elimination Network, IPEN) โครงการนี้เน้นการทดสอบหาความเข้มข้นของตะกั่วในสีที่ใช้กันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า มีวัตถุดิบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าตะกั่วและสามารถนำมาใช้แทนตะกั่วได้ในการผลิตสีได้ แต่ที่ยังไม่ทราบคือมีผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของเรา   ฉลาดซื้อจึงขอนำผลการทดสอบดังกล่าวมาลงให้สมาชิกได้รู้กันก่อนใคร ว่าสียี่ห้อไหนปลอดภัย และยี่ห้อไหนไม่ควรซื้อมาใช้ ในการสำรวจครั้งนี้ที่มีประเทศ 10 ประเทศเข้าร่วมโครงการและส่งตัวอย่างสีไปทดสอบหาสารตะกั่วในห้องปฎิบัติการของประเทศอินเดีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย อัฟริกาใต้ ไนจีเรีย เซเนกัล เบลารุส เม็กซิโก และบราซิล การเก็บตัวอย่างสี (ทั้งสีน้ำและสีพลาสติก) ทำในระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 และมีสีที่ถูกทดสอบทั้งหมด 317 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ของ Toxics Link ได้เตรียมตัวอย่างก่อนส่งไปทดสอบที่ห้องปฎิบัติการด้วยการทาสีลงบนแผ่นแก้ว ทิ้งไว้ 72 ชั่วโมงให้แห้ง จากนั้นจึงขูดสีที่แห้งแล้วออกมา เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการ Delhi Test House สำหรับประเทศไทยนั้นส่งตัวอย่างสีทั้งหมด 27 ตัวอย่าง เป็นสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง สีพลาสติก 10 ตัวอย่าง ยี่ห้อที่มีการเก็บตัวอย่างได้แก่ ทีโอเอ กัปตัน เบเยอร์ โจตัน นิปปอน รัสท์-โอเลียม และเดลต้า ผลทดสอบ ไม่มีสีพลาสติกรุ่นใดมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (ส่วนในล้านส่วน) พบสีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm ถึง 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 17 ตัวอย่าง สีน้ำมันในกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 200 บาท ทุกตัวอย่างมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm สีน้ำมันยี่ห้อ ทีโอเอ เบเยอร์ และโจตัน มีความเข้มข้นของตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่มไปยังห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้ทดสอบด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับที่ทางอินเดียได้ทำไว้ ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2550 เรามีโรงงานผลิตสีอยู่ทั้งหมด 296 โรง ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 9,300 ล้านบาท ผู้ผลิตสีส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีบริษัทผู้ผลิตสี ขนาดใหญ่เพียง 6 ราย ได้แก่ ทีโอเอ อีซึ่นเพ้นท์ นิปปอนเพ้นท์ ไทยคันไซ และบริษัทข้ามชาติอัคโซโนเบิล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ โจตัน จากประเทศนอร์เวย์ มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจสีในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2551 อยู่ที่ 24,500 ล้านบาท  ส่วนแบ่งการตลาดของสียี่ห้อต่างๆในประเทศไทย   ยี่ห้อ ผู้ผลิต ร้อยละของส่วนแบ่งตลาด ทีโอเอ ทีโอเอ เพ้นท์ 40 ไอซีไอ อัคโซ โนเบล 15 กัปตัน กัปตัน เพ้นท์ 15 เบเยอร์ เบเยอร์ 8 โจตัน โจตัน ไทยแลนด์ 7 อื่นๆ 15   สถานการณ์สีทาบ้านกับสารตะกั่วในประเทศอื่นเราลองมาดูผลการทดสอบในประเทศอื่นๆ กันบ้าง เผื่อว่าเห็นแล้วจะรู้สึกดีใจเล็กๆ ที่เราเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของสีที่มีสารตะกั่วเกินต่ำที่สุดในกลุ่ม แต่ความจริงแล้วไม่น่าจะต้องมีผู้บริโภคที่ไหนต้องเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ปลอดภัย ....   * มีน้ำมันเคลือบเงา 3 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย** มีน้ำมันเคลือบเงา 4 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย   สีประกอบด้วยอะไรบ้าง สีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันจะมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ชนิด คือ 1.ตัวเนื้อสี (Pigment) มีหน้าที่ทำให้เกิดสีที่สวยสดงดงามกับตาของเรา 2.สารยึดเกาะ (Binder) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะกับตัวผนัง พื้นผิว และมีหน้าที่เป็นเนื้อของสี ซึ่งเกรดของสีจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผสมตัวสารยึดเกาะลงไปในผลิตภัณฑ์ 3.ตัวทำละลาย (Solvent) ทำหน้าที่ให้ เนื้อสีและกาว เจือจางลง จนสามารถนำมาทาได้ในบริเวณที่กว้างขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสีน้ำ ก็ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ส่วนสีประเภทสีน้ำมัน ก็จะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ตัวทำละลายนี้จะระเหยออกไปหลังการทาสี4.ตัวเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ (Additive) เพื่อให้สีมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบัน ตัวนี้คือจุดขายสำคัญที่บริษัทสีแข่งขันกัน เช่น ทนกรดด่าง ทนชื้น ปกปิดรอยร้าว ฯลฯ คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1.สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาตั้งแต่ถังละ 400 บ. - ถังละ 3,000 บ จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด การเลือกใช้สีว่าจะของยี่ห้อใดนั้นให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 2.เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ3. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา4.เลือกชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point