ฉบับที่ 161 ขยายเวลาบริการคลื่น 1800 ผลประโยชน์ตกเอกชน

การต่ออายุมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว กรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 ของ บริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (บริษัท ทรู มูฟ จำกัด)และ บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (GSM1800) รอบสองโดยคสช. ทำให้บริษัทได้ประโยชน์ ขณะที่ผู้บริโภคอาจเจอปัญหาคุณภาพบริการ แถมรัฐต้องควักเนื้อเพิ่มให้แก่ การสื่อสารแห่งประเทศไทย(CAT) ที่ขาดทุน ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ล่าช้าของกสทช. ทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่น 1800 MHz ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด จนต้องออกประกาศขยายเวลาให้บริการ 1 ปี แต่ดูท่าว่าจะไม่แล้วเสร็จอยู่ดี จึงทำให้ไม่สามารถประมูลคลื่นได้ทันอีกคำรบ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 8,600 ล้านบาท(ต่อปี) มาจากรายได้ที่ บริษัททรูฯ เคยจ่ายให้กับ CAT ในปี 2554 โดยบริษัททรูฯ ได้รายงานการเงินของปี 2556 ว่า ขาดทุนและยังไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ หลังออกประกาศขยายการให้บริการมาเกือบครบหนึ่งปีในวันที่ 15 กันยายนนี้ และหากคสช. ขยายไปอีก 1 ปีเป็นสองปีโดยไม่แก้ไขประกาศฉบับนี้ ย่อมทำให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 17,200 ล้านบาท ยังไม่นับว่าหากนำคลื่นนี้ประมูลได้ทันย่อมได้ประโยชน์อีกมาก ลองคิดดู เงินก้อนใหญ่นี้สามารถซื้อรถเมล์แอร์ในกรุงเทพฯ แบบชานต่ำสำหรับทุกคนได้เลย รวมถึงขยายไปซื้อรถเมล์ทั่วประเทศได้มากถึง 3,500 คัน ยังไม่นับรวมความเสียหายที่ไม่อาจนับเป็นมูลค่าได้ คือ ในความคิดของกสทช.บางท่านที่ได้เสนอทางออกปัญหา กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ โดยเขียนว่าประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องค่าตอบแทนของกสทช. รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ว่า มาจากภาษีประชาชน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการหักมาจากเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ(ต่างหาก) ทว่าค่าธรรมเนียมย่อมเป็นรายได้ประเภทหนึ่งที่ควรเป็นของรัฐมิใช่หรือ เพียงแต่กฎหมายเขียนให้ กสทช.ได้ใช้เงินก้อนนี้  ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากภาษีประเภทหนึ่ง และแน่นอนย่อมไม่ใช่เงินของผู้ประกอบการหรือผู้ถือหุ้นอย่างแน่นอน หรือหากคิดไปก็เป็นเงินของผู้บริโภคที่หยอดกระปุกจ่ายค่าโทรศัพท์กันนั่นเอง หรือกสทช.บางท่าน ช่วงชิงเสนอแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เพื่อยกเลิกการประมูลคลื่น ทั้งๆ ที่การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยการประมูลเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับระดับสากลว่า จะเป็นหลักประกันว่า คลื่นความถี่จะถูกจัดสรรไปอยู่ในมือของผู้ที่มีศักยภาพในการใช้ทรัพยากรของชาติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด ช่วยจำกัดการใช้ดุลพินิจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ลดความเสี่ยงของการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง งานนี้ ท่าทางคนเสนอยังฝันร้ายกลัวความผิดที่รอการเช็คบิลจากปปช. ของผู้ออกแบบการประมูล กรณีการประมูลคลื่น 3 G ที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันและเป็นปัญหาการฮั้วประมูลหรือเปล่า??   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 คูปองต้องไม่เกิน 690 บาท

หลายคนเข้าใจผิดว่า องค์กรผู้บริโภคเพี้ยนหรือหรือเปล่า ทำไมต้องค้าน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.). ที่เพิ่มมูลค่าคูปองดิจิตอลจาก 690 บาท  เป็น 1,000 บาท เพราะผู้บริโภคน่าจะเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากมูลค่าคูปองที่เพิ่มขึ้น ต้องบอกว่า นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ผู้บริโภค ยังเสียประโยชน์ และมีภาระต่อกระเป๋าสตังค์ของตัวเองจากราคากล่องที่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นในท้องตลาด ข้อเท็จจริงต้นทุนราคากล่องรับสัญญาณไม่ถึง 500 บาท จากข้อมูลล่าสุดของบริษัทอาร์เอส ในการขอรับการเยียวยาจากกสทช.ในกรณีถ่ายทอดฟุตบอลโลก มีต้นทุนเพียง 475 บาทเท่านั้น สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคที่พบต้นทุนเพียง 403 บาท ผลต่างที่มากว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้าในท้องตลาดสูงเกินจริงเป็นภาระแก่ผู้บริโภค และเกิดกำไรจำนวนมหาศาลขึ้น ทำให้ดึงดูดบรรดาพ่อค้าหัวใสทั้งหลายให้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ใช้เทคนิคการขายเพื่อสำรวจความต้องการคูปองล่วงหน้า บางรายแถมเก็บสำเนาบัตรประชาชนผู้บริโภคไปด้วย มีการตั้งบริษัทใหม่ ๆ ขึ้นมาดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากกสทช. ที่สำคัญไปมากกว่านั้น การมีมูลค่าคูปอง 1,000 บาท ทำให้ต้องใช้เงินมากถึง 25,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีเช่นนี้ ไม่ต่างจากโครงการจำนำข้าว เพราะเมื่อราคาคูปองแพงขึ้น แทนที่ผู้บริโภค จะได้เงินทอน กลับกลายเป็นทำให้ราคากล่องในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น แถมผู้บริโภคยังต้องรับภาระในการจ่ายเงินเพิ่มเติมการแจกคูปองครั้งนี้ และทำให้รัฐเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท   เงิน 10,000 ล้านบาท สามารถให้นักศึกษากู้ยืมเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 800,000 ราย  หรือทำโครงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้มากกว่า 13 ปีเพราะใช้เงินเพียงปีละ 950 ล้านบาทเท่านั้น สามารถทำกิจกรรมสาธารณะอีกได้มากมาย หรือแม้แต่เป็นกองทุนในการทำทีวีดิจิตอลเพื่อบริการสาธารณะ ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่สำคัญ สิ่งที่ผู้บริโภคอย่าเงราต้องรู้ คือ ใครที่ดูโทรทัศน์ในปัจจุบันผ่านระบบดาวเทียม ผ่านระบบเคเบิ้ลทีวีที่บอกรับสมาชิก เป็นระบบดิจจิตอลอยู่แล้ว อาจจะต้องดำเนินการเพียง การปรับหรือรีเซ็ตใหม่เท่านั้นเอง มีเพียงู้บริโภคที่รับชมโทรทัศฯ ผ่านระบบเสาอากาศที่จะต้องการกล่องเพื่อแปลงสัญญณจากระบบดิจิตอลไปเป็นระบบอนาล็อก รวมทั้งการทำเรื่องนี้ จะค่อยเปลี่ยนผ่านในระยะเวลา 3-4 ปี และกระจายไปในจังหวัดต่าง ๆ โดยในปัจจุบันมีการออกอากาศเพียงกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลาเท่านั้น จังหวัดอื่นๆ ถึงแม้จะมีกล่องก็ไม่สามารถดูได้เพรายังไม่มีโครงข่ายไปทั่วถึง รวมทั้งใครที่ผู้นำชุมชนให้นำสำเนาบัตรไปแลกกล่องจะได้เท่าทัน   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ปีนัง มาเลเซีย... “เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” กระบอกเสียงของผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย

ปี พ.ศ. 2513 เกิดองค์กรผู้บริโภคในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย คือ Consumer Association of Penang(CAP) โดยยึดหลักการในการให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมของผู้บริโภค(value for people)  มากกว่าทางเลือกของผู้บริโภค และได้ทำหนังสือพิมพ์สำหรับผู้บริโภคถึง 4 ภาษาชื่อว่า Utusan Konsumer มียอดจำหน่ายในอดีตไม่น้อยกว่า 100,000 เล่ม CAP ให้ความสำคัญกับการเป็นกระบอกเสียงของคนเล็กคนน้อย นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าไปแล้ว CAP เป็นภาพฝันของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย เพราะงานสร้างความตื่นตัวผู้บริโภคในโรงเรียนเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งคำถามสำคัญว่า “เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร” CAP มีรูปแบบการสาธิตที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย บอกชื่อยี่ห้อสินค้าว่ามีปริมาณน้ำตาลเท่าใด ตั้งแต่หนึ่งช้อนชาถึงสิบสี่ช้อนชา   CAP มีภารกิจที่หลากหลาย โดยเฉพาะความสำเร็จในการสร้างความตื่นตัวของชุมชนในการปกป้องสิทธิของตนเอง การต่อสู้เพื่อราคาสินค้าที่ยุติธรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี แต่ภารกิจหลักขององค์กร คือ การดูแลสิทธิของผู้บริโภคในทุกความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพอนามัย บริการขนส่งสาธารณะ การศึกษา และสภาพแวดล้อมที่สะอาด CAP มีกิจกรรมสำคัญหลายประการ อาทิ การทำงานกับสื่อมวลชน งานวิจัยในประเด็นเฉพาะ เช่น สุขภาพและโภชนาการ อาหารและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ยา ความต้องการขั้นพื้นฐาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาจากบริการสุขภาพ สินค้าทั่วไป การเงิน สิทธิ แรงงาน การโฆษณาที่ผิดจรรยาบรรณ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงและยังทำงานร่วมชุมชนในชนบท เช่น กลุ่มแรงงาน ชาวสวน ชาวประมง ชุมชนแออัด เพื่อช่วยให้ชุมชนเข้าใจปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา นอกจากนี้ยังให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคในหลายประเด็น เช่น อาหาร โภชนาการและสุขภาพ โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มนักศึกษา ครู ผู้หญิงและกลุ่มเยาวชน รวมทั้งองค์กรทางศาสนา โดยจัดการสัมมนา อบรม และจัดนิทรรศการ รวมทั้งแข่งขันเล่นละครในเรื่องที่ผู้บริโภคสนใจ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนในโรงเรียนอย่างมาก และยังวางนโยบายในการตั้งชมรมผู้บริโภคในโรงเรียนกว่า 200 แห่ง ทั้งในปีนังและรัฐอื่นๆ ส่วนการรับเรื่องร้องเรียน ก็จัดการกับข้อร้องเรียนจากประชาชนในทุกปัญหา เช่น สินค้าและบริการที่มีคุณภาพไม่ดี สารเคมีเจือปนในอาหาร โดยแต่ละปีมีข้อร้องเรียนประมาณ 3,000-4,000 กรณี ในส่วนกฎหมาย ก็จัดการกรณีที่ประชาชนและชุมชนต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยทำงาน อย่างใกล้ชิดทั้งการรับเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษาทางกฎหมายต่อผู้บริโภค และตรวจสอบกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค บทเรียนการทำงานขององค์กรผู้บริโภค น่าจะทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของกลุ่มผู้บริโภคในอาเซียนในอนาคต //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 ต้องลงมือทำ ถึงจะปฏิรูปได้จริง

ถึงแม้กสทช. จะแจกคูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 690 บาท เป็น 1,000 บาท เราทุกคนควรจะดีใจ แต่กรณีนี้ต้องบอกว่า ดีใจไม่ได้เพราะนั่นหมายความว่า เราช่วยสนับสนุนให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เพราะคูปองราคาใบละ 1,000 บาท หากแจกให้กับครอบครัวจำนวน 22 ล้านครัวเรือน เราจะใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนกล่องรับสัญญาณที่มีกำไร มีราคาเพียง 512 ล้านบาท(16 เหรียญสหรัฐ) การต่อรองราคากล่องจากจำนวน 22 ล้านครัวเรือน ย่อมมีอิทธิพลพอที่จะทำให้ราคาลดลงไปได้มากกว่า 500 บาทแน่นอน นั่นหมายความว่าหากคูปอง 1,000 บาทเดินหน้า ประเทศจะสูญเสียเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากข้อมูลการสำรวจราคากล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลของนิตยสารฉลาดซื้อ เมื่อ 15 วันที่ผ่านมา พบว่า มีการจำหน่ายกล่องในราคาต่ำสุด 690 บาท แต่ผลการสำรวจครั้งที่สองเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาพบว่า ราคากล่องตั้งต้นที่ 1,290 บาท ไม่มีกล่องราคา690 บาทจำหน่ายในท้องตลาดสะท้อนปัญหาการขึ้นราคาคูปองกลับสร้างภาระให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ต่ำสุดก็พอ ๆ กับค่าแรงขั้นต่ำ   ยังไม่นับรวม การใช้เงินสูงถึง 22,000 ล้านบาท ครั้งนี้ ขัดต่อประกาศของตนเอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ข้อ 10.2 ที่กำหนดให้กสทช. สามารถใช้เงินจากเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของราคาตั้งต้น จำนวน15,190 ล้านบาท การที่กสท. มีมติให้คูปองสามารถแลกกล่องรับสัญญาณดาวเทียมได้ด้วย แต่กล่องดาวเทียมสามารถดูทีวีดิจิตอลได้เพียง 36 ช่อง ทั้ง ๆ ที่มีแผนดำเนินการจำนวน 48 ช่อง ซึ่งอาจจะขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่สำคัญย่อมสร้างภาระให้กับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เพราะหากนำคูปองไปแลกซื้อกล่องดาวเทียม หากต้องการดูทีวีชุมชน ทำให้ต้องซื้อกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน ( Set Top Box ) อีกครั้ง หรือซื้อทีวีที่รองรับระบบดิจิตอล จึงเป็นภาระแก่ผู้บริโภคอย่างมาก อีกหนึ่งรูปธรรมความล้มเหลวของการทำงานในสายตาผู้บริโภค คงไม่พ้นขั้นตอนการดำเนินงานที่ผิดพลาด การโหมแรงโฆษณาของทุกสถานีในปัจจุบัน ทำให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคในการรับชมทีวีในระบบดิจิตอล ผู้ประกอบการกล่องย่อมมีโอกาสขายกล่องได้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนที่ทุกคนจะได้รับกล่องฟรี การปฏิรูปที่คนจำนวนมากต้องการเห็น หรือแม้แต่ปัญหาคอรัปชั่นที่ทุกส่วนให้ความสำคัญ นำเสนอกันมากมายว่าทำอย่างไรจะจัดการให้หมดไปจากสังคมไทย เป็นเพียง ลมปาก ความฝันของคนบางส่วนเท่านั้นเองหรือ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ บรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันกลับเป็นโอกาสให้ทำเรื่องเหล่านี้ได้อย่างเงียบกริบ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 องค์กรผู้บริโภคจับมือบริษัททรู ป้องกันปัญหาล้มละลายจากค่าโทรศัพท์

วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” World Consumer Rights Dayโดยปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 220 องค์กร ใน 115  ประเทศทั่วโลก โดยมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นสมาชิกประเภทสามัญในประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญการคุ้มครองผู้บริโภคในด้าน  “สิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” (Consumer Rights In the Digital Age: Fix our Phone Rights ) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ในการป้องกันปัญหาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming) สาระสำคัญของการลงนาม คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด จะกำหนดให้มีวงเงิน(credit limit) เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ โดยหากเป็นการขอปรับเพิ่ม บริษัทฯ สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ บริษัทฯ จะมีช่องทางการแจ้งเตือน เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายที่ใกล้ครบวงเงินที่กำหนด มีการระงับบริการทันทีเมื่อบริษัทฯ ทราบว่าผู้บริโภคใช้งานครบวงเงินและ/หรือเกินกำหนดวงเงิน อีกทั้งผู้บริโภคสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์ฟรีติดต่อบริษัทฯ เพื่อแจ้งว่าต้องการใช้บริการต่อหรือไม่ รวมทั้งสามารถเลือกระงับการใช้บริการเสียงและข้อมูล(Voice and Data) พร้อมกัน หรือเลือกระงับเฉพาะบริการข้อมูล(Data) ต่างหากได้ ปัญหาผู้บริโภคที่มีการเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นกรณีเปิดใช้บริการโรมมิ่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย 14 วัน ของบริษัทดีแทค มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1.3  ล้านบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ(credit  limit) จำนวน 7,000 บาท แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวบริษัทเขียนไว้ในใบแจ้งหนี้ ว่าไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยปัญหานี้เบื้องต้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ กสทช. โดยผู้ร้องต้องชำระค่าบริการจำนวน 500,000 บาท ผ่อนจำนวน 125  เดือนๆ ละ  4,000 บาท ผู้ร้องเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อขอยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หลังจากการจัดงานในการทำเอ็มโอยูไปไม่กี่วัน ผู้บริโภครายนี้ก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทให้จ่ายเงินจำนวน 48,000  บาท ถึงแม้อาจจะยังดูเป็นเงินจำนวนมากสำหรับค่าบริการโทรศัพท์ แต่กรณีนี้ผู้บริโภคแจ้งความจำนงขอจ่ายจำนวน 40,000 บาทตั้งแต่เบื้องต้นตอนร้องเรียน หวังว่า ต่อจากนี้ไป คงไม่มีใครต้องจ่ายค่าโทรศัพท์เกินกว่าที่กำหนดวงเงินไว้ ผู้บริโภคต้องเลือกใช้บริการของบริษัทที่ยอมให้มีการกำหนดวงเงิน ยุติบริการเมื่อครบวงเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มละลายจากค่าบริการโทรศัพท์   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 หรี่เสียงโฆษณา

เริ่มมีคนบ่นให้ได้ยินหนาหูมากขึ้น ว่าทีวีปัจจุบันตอนรายการข่าว หรือแม้แต่ละคร เสียงเบาเหมือนเสียงกระซิบ บางครั้งไม่ได้ยินจนต้องเพิ่มระดับเสียง แต่พอช่วงโฆษณาสินค้าเสียงดังมากจนผิดปกติ เสียงแหลมมากทันทีจนต้องหรี่เสียง คนที่บ่นบางคนก็บอกว่า เอ๊ะหรือเป็นเพราะแก่หูเลยไม่ค่อยดี แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องไม่ได้ยินเลย แต่ตอนโฆษณาเสียงแสบแก้วหูมาก ได้เสนอให้คนบ่นร้องเรียนไปยัง กสทช. พยายามคิดถึงกติกาเรื่องนี้ในเมืองไทย ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้จะสามารถจัดการหรือแก้ปัญหาด้วยกฎหมายฉบับไหนในปัจจุบัน และกสทช.จะทำอะไรได้บ้าง เมื่อสามปีที่แล้วมีปัญหาแบบเดียวกันนี้ในประเทศฝรั่งเศส และรัฐบาลได้ออกกติกา ให้หน่วยงานสามารถเข้าไปติดตามเรื่องร้องเรียน “ความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับเสียงดังเกินปกติของโฆษณาในโทรทัศน์” เพราะในทางเทคนิคที่เมืองไทยกำลังจะก้าวเข้าไปสู้ดิจิตอล การบีบอัดเสียง การเพิ่มเสียงทำได้ทุกขั้นตอน ดังนั้นเรื่องที่กำลังบ่นเป็นเรื่องเรื่องจริง ไม่ใช่จินตนาการ และจะมีปัญหาอีกมากกับโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้ในประเทศอังกฤษมีกติกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่เขียนกำหนดไว้ว่า “เสียงของการโฆษณาจะต้องไม่เสียงดังหรือเสียงแหลม” โดยมีหลักเกณฑ์ว่า “เสียงที่ดังที่สุดของโฆษณาจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับรายการและอุปกรณ์ในการดู”   โดยรัฐบาลอังกฤษมีอำนาจลงไปสอบสวนเรื่องร้องเรียน เช่นกรณีล่าสุดเป็นเรื่องร้องเรียนรายการภาพยนต์เชอร์ล็อคโฮล์มของช่อง ITV3 สำนักงานมาตรฐานการโฆษณา Advertisement Standards Authority (ASA)  ได้มีคำวินิจฉัยว่า การโฆษณาจำนวน 8 ชิ้นมีเสียงดังผิดปกติขัดต่อหลักเกณฑ์เรื่องนี้ในรายการภาพยนต์เชอร์ล็อคโฮล์มของช่อง ITV3 โดยที่สถานีโทรทัศน์ ITV3 ได้โต้แย้งว่า หนังเรื่องเชอร์ล็อคโฮล์ม ส่วนใหญ่จะมีฉากที่เสียงเบา เงียบๆ แต่เมื่อมีบทพูดที่ถกเถียง หรือตะโกนของนักแสดง เสียงดังของโฆษณาในรายการ เท่ากับเสียงของภาพยนต์ตอนที่นักแสดงตะโกน แต่สำนักงานฯ ยืนยันว่าเสียงดังที่สุดของโฆษณาในความหมายนี้ “ต้องอยู่ในระดับเดียวกับรายการและอุปกรณ์ในการดู” ไม่รู้ว่าเรื่องร้องเรียนในเมืองไทยจะจบอย่างไร อาจจะต้องใช้วิธีการแบบชมรมหรี่เสียงบนรถไฟฟ้า แต่หากเราเผลอๆ บนรถไฟฟ้าดูจะกลับมาสียงดังอีกรอบ หรือหวังว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่จินตนาการกันไปเองของผู้บริโภค แต่กสทช.ควรจะต้องมีกติกา และมีอำนาจในการติดตามและจัดการเหมือนในประเทศอังกฤษเขาทำกัน พร้อมๆ กับในอนุญาตไม่งั้นจะต้องตามแก้ปัญหากันภายหลังท่าทางน่าจะวุ่นวาย  หรือฉลาดซื้อจะลองอาสาไปทดสอบดูได้ผลอย่างไรจะกลับมาเล่ากันให้ฟัง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 ป่วยฉุกเฉิน รักษาได้ทุกโรงพยาบาล ?

ก่อนจะปิดต้นฉบับนี้ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องว่างให้ทุกฝ่ายหายใจ ว่า สามารถเลื่อนเลือกตั้งได้ ถึงแม้เราจะมีความเห็นที่แตกต่างในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายหนึ่งยืนยันจะเดินหน้าเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายก็ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ฉลาดซื้อในฐานะเป็นเครื่องมือของสังคมในการคุ้มครองผู้บริโภค ใคร่ขอให้ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากที่เราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแพ่งกรณีจอดำของฟุตบอลยูโร แต่เราก็ต้องยอมรับคำพิพากษา เราขอให้ทุกฝ่ายเจรจา เพื่อหาทางออก และขอให้รัฐบาลคุยกับประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งเลื่อนการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง เพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย เรามีสิทธิเรียกร้องรัฐบาลถึงแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ และเชื่อว่าคนที่ต้องการแบบนี้ไม่ใช่ไม่รักประชาธิปไตยหรือไม่ต้องการการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลย่อมต้องมีความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง และภาวนาอย่าให้มีการประทะกันของประชาชนผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่าย อย่าให้การเลือกตั้งในประเทศเต็มไปด้วยเลือดของคนไทย ส่วนการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำที่สำคัญด้านสุขภาพคือการทำให้ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายสมทบด้านสุขภาพ และให้มีสุขภาพมาตรฐานเดียวในการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนเส้นทางยังอีกยาวไกล...   แต่ผลพวงของการยกเลิกข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิการเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นกรณีที่มีเหตุสมควร อุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของผู้ป่วยบัตรทอง และหันมาใช้ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิขอรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ.2555 ของประชาชนทุกสิทธิ ภายใต้นโยบายป่วยฉุกเฉินไปที่ไหนก็ได้ที่ต้องการให้ใช้บริการฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ผู้บริโภคได้ถูกโรงพยาบาลเอกชนล้วงกระเป๋าไปจากกรณีฉุกเฉินจำนวนไม่น้อย หลายคนใช้บริการฉุกเฉินแล้วผูกพันค่ารักษานับล้านบาท ได้ทำให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยจากทุกระบบ โดยเฉพาะผู้ประกันตนซึ่งโดยปกติแล้วสามารถรักษากรณีฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาล(อยู่แล้ว)ได้นานถึง72 ชั่วโมง และต้องแจ้งโรงพยาบาลคู่สัญญาให้ทราบว่าจะจัดการรักษาพยาบาลต่ออย่างไรกลายเป็นสิทธินี้หายไปเพราะฉุกเฉินถูกตีความโดยโรงพยาบาลทั้งที่ก่อนหน้าที่เป็นสิทธิของผู้ประกันตน และก็เช่นเดียวกันกับบัตรทอง ที่ถูกยกเลิกกรณีเหตุอันควร และการตีความฉุกเฉินที่คำนึงถึงการรับรู้ของผู้ป่วยที่มีต่ออาการป่วยด้วย หรือข้าราชการที่รักษาที่ไหนก็ได้ในโรงพยาบาลรัฐกลายเป็นว่าต้องเสียเงินหากไปโรงพยาบาลเอกชนเพราะไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน ภาพปัญหาข้อเท็จจริงที่สะท้อน การถูกเรียกเก็บตังค์จากระบบฉุกเฉินคงต้องถึงเวลาทบทวน เพราะไม่งั้นอย่างไรเห็นทีจะเจอปัญหาหมดเนื้อหมดตัวเหมือนในอดีตที่เราไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 องค์กรอิสระของผู้บริโภค ถูก SET SERO

สังคมไทยกำลังเถียงกันอย่างมาก ว่าเราควรจะปฏิรูปก่อนแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยไปทำการปฏิรูป หลายกลุ่มมีความขัดแย้ง ถกเถียง โกรธกัน เพราะเห็นไม่ตรงกัน ทั้งๆ ที่การปฏิรูปก่อนหรือหลังเป็นมุมมองทางการเมืองที่มีความแตกต่างกัน และดูเหมือนจะยอมรับกันได้ยาก แต่หากถามว่า เราควรปฏิรูปหรือไม่ ทุกคนจะให้คำตอบเหมือนกันว่า ต้องปฏิรูปและยอมรับว่าต้องทำทันที จริงๆ คำถามนี้ไม่ควรถามกันเอง แต่หากใครชอบแบบไหนก็สนับสนุนแนวทางนั้น แต่จำเป็นต้องช่วยกันคิดแล้วว่า เราต้องปฏิรูปอะไรบ้าง ที่สำคัญ หรือเราจะบอกว่า “ต้องปฏิรูปวันนี้ และเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์” เพราะไม่มีผู้บริโภคไทยคนไหนไม่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการซื้อขนม การคิดค่าโทรศัพท์และบริการอินเตอร์เน็ตที่สามารถซื้อบ้านได้ถึงหนึ่งหลัง(1.3 ล้านบาท) หรือแม้แต่การคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นฐานที่สำคัญและควรจะมีให้ดีให้ถูกต้อง เช่น ฉลากสินค้า วันหมดอายุ ที่ควรจะต้องเป็นภาษาไทยอ่านง่าย ชัดเจน รวมทั้งคุณภาพชีวิตในหลายๆ ด้าน เช่น บริการรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่นับตั้งแต่มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาไม่น้อยกว่า 30  ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2522  หรือข้อตกลงสหประชาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531  ยังได้รับรองไว้ว่า “ผู้บริโภคควรจะมีสิทธิที่จะได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีอันตราย  รัฐต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับความยุติธรรม ความเสมอภาคและการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม ตลอดจนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม” ข้อเสนอการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญ คือ การจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐและภาคธุรกิจเอกชน ผ่านร่าง พรบ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการจะมีองค์กรของผู้บริโภคได้เองนี้ คงจะสำเร็จได้ยาก หากยังไม่มีการปฏิรูปกระบวนการจัดทำกฎหมายของรัฐสภา จากบทเรียนความไม่สำเร็จของกฎหมายทั้ง ๆ ที่ใช้เวลาในขั้นตอนรัฐสภามากกว่า 4  ปี นับตั้งแต่วันที่ 19  กุมภาพันธ์ 2552  ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และกฎหมายเดียวกันอีก 6  ฉบับของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ผ่านขั้นตอนการรับหลักการไปตั้งแต่วันที่ 5  ตุลาคม 2553  ผ่านสภาผู้แทนราษฎร  ส่งต่อไปวุฒิสภาเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการวุฒิสภา รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา ทำให้กฎหมายตกไปตามมาตรา 153 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ   รัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ และรัฐสภาเห็นชอบ กฎหมายไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาโดยมีการแก้ไข สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบการแก้ไขกฎหมาย ตั้งกรรมาธิการร่วมในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้  ออกจากรรมาธิการ่วม ส่งให้สองสภาเห็นชอบอีกครั้ง วุฒิสภามีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9  กันยายนที่ผ่านมา แต่สภาผู้แทนราษฎรยังไม่หยิบขึ้นพิจารณา จนรัฐบาลนี้ยุบสภาเมื่อวันที่ 9  ธันวาคม กฎหมายก็ตกไปสู่มาตรา 153 เช่นเดิม ไปสู่ขั้นตอนการกราบกรานให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง เพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบกฎหมาย จึงจะทำให้กฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนเดิมคือ รอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และคงไม่ได้มีปัญหาเฉพาะองค์กรของผู้บริโภค แต่มีกฎหมายที่ดีอีกหลายฉบับที่ไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา เช่น ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข 4  ปีที่อยู่ในรัฐสภาไม่มีแม้แต่ขั้นตอนการรับหลักการ  กฎหมายประกันสังคมของเครือข่ายแรงงานที่ไม่รับหลักการทำให้กฎหมายตกไป บทเรียนเหล่านี้สะท้อนความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปกระบวนการจัดทำกฎหมายได้เป็นอย่างดี //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 บ้านเมืองนี้เป็นของเรา

ความตื่นตัวของคนจำนวนมากทั้งออกมาร่วมชุมนุม ร่วมเป่านกหวีด ที่ไม่ยอมจำนนต่อกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ทำให้เสียงข้างมากในรัฐสภาที่ไม่เคยฟังเสียงใครต้องถอยหลังสุดซอย ทำให้คนเล็กๆ ที่ไม่เคยมีความหมายใดๆ ในสังคมมีความหมายและได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นทันที แต่พอกลับมามอง ว่า แล้วจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดกับสังคมและเป็นไปแบบที่เราอยากจะเห็นในเรื่องอื่นๆ  เริ่มจะยากขึ้นกับทุกคน เพราะการมารวมกันมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือสกัดกฎหมายฉบับนี้ แต่การสร้างความเปลี่ยนในด้านอื่นๆ เช่น การไม่เอาการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แบบเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร ชนชั้นนำ ลดอำนาจรัฐสภาและประชาชน หลายฝ่ายอาจจะมองว่าดี เช่น รัฐบาลที่ต้องการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ข้าราชการที่ยังเชื่อว่า การเจรจาได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ ธุรกิจจะได้เติบโต หรือข้าราชการที่รำคาญเรื่องการมีส่วนร่วมประชาชน บริษัทยาต่างประเทศ และที่สำคัญบริษัทในประเทศที่ได้ประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอย ที่ภาคธุรกิจหรือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมเห็นด้วย หรือแม้แต่ประเด็นเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน หรืองบประมาณในการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่แทบทุกจังหวัดออกมาคัดค้าน คนคัดค้านที่มากมายในหลายจังหวัด อาจจะกลายเป็นเพียงมดหรือไร ที่สร้างความรำคาญ แต่เชื่อว่าหลายจังหวัดจะเป็นชนวนไม่พอใจการจัดการเรื่องนี้ที่ไม่เห็นหัวประชาชน  การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคม และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน จนประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งมีพลเมืองมากกว่า ห่างกันเพียง 8 เท่า เท่านั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ ข้อเสนอหลายประการที่สังคมไทยควรได้ถกเถียง และลงความเห็นผ่านความตื่นตัวทางการเมือง เช่น อำนาจของจังหวัดในการจัดการตนเอง การกระจายงบประมาณที่เป็นธรรมให้กับจังหวัดแบบระบบจำนวนประชากร การปฏิรูปที่ดินขั้นต่ำผ่านการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก การเก็บแบบอัตราก้าวหน้า แทนระบบภาษีทางอ้อมในปัจจุบัน การปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่บริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วน การมีระบบสวัสดิการที่ดี เช่น ปริญญาตรีใบแรกเรียนฟรี ซึ่งไม่ใช่ประชานิยม หรือข้อเสนอในการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง การปฏิรูปสื่อโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และในปัจจุบันยังไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่ทำได้จริง หากเป็นข้อเสนอของเครือข่ายผู้บริโภค เราต้องการองค์กรของตนเองที่เป็นปากเป็นเสียงเมื่อมีปัญหา กฎหมายเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องการการปฏิรูปกลไกการจัดทำกฎหมายของประเทศ จัดโครงสร้างเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง เพราะคงไม่สามารถให้คนนับล้านออกมาเพื่อบอกว่าเราต้องการกฎหมายนี้ เราไม่เอาสิ่งนี้ อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่อย่างนั้นมีรัฐบาลไปเพื่อเอาเปรียบหรือดูถูกประชาชนทำไม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 ใครละเมิดสิทธิผู้บริโภค คนนั้นต้องเป็นผู้จ่าย

แนวคิดและมาตรการเรื่อง ใครทำคนนั้นจ่าย (Polluter Pay) เป็นที่แพร่หลายในวงการสิ่งแวดล้อมมานาน แม้แต่กรณีล่าสุดที่น้ำมันรั่วในทะเล ที่มีข้อเสนอให้บริษัทควรต้องรับผิดชอบมากกว่าการเยียวยาความเสียหาย บางประเทศนำแนวคิดนี้มาใช้กับงานรับเรื่องร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ที่ชัดเจนในระดับการออกกฎหมายบังคับ เห็นจะเป็นประเทศออสเตรเลียที่มีการออกกฎหมายบังคับให้บริษัทโทรคมนาคมต้องจ่ายเงินเมื่อมีเรื่องร้องเรียนของบริษัทใด หรือหากเปรียบเทียบกับเมืองไทยก็อาจจะไม่แตกต่างกันเพราะกสทช.ก็ได้งบประมาณในการดำเนินการจากรายได้เลขหมายของบริษัทโทรคมนาคม แต่น่าเสียดายที่เรายุบหน่วยงานร้องเรียนที่เป็นอิสระของ กทช.ในอดีตให้เป็นส่วนหนึ่งของ กสทช. แต่หลายคนก็มองว่า หากคิดให้ดีผู้บริโภคเราๆ นั่นแหละเป็นผู้จ่ายเงินให้บริษัทและให้ กสทช.ทำงาน แต่ที่น่าสนใจเห็นจะเป็นงานรับเรื่องร้องเรียนในสิงคโปร์ โดยองค์กรที่ชื่อ CASE ที่เป็นหน่วยงานเอกชนที่ให้บริการไกล่เกลี่ย และระงับข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและบริษัทเอกชน โดยคิดค่าบริการตามสัดส่วนความเสียหาย ตั้งแต่ 15-400 เหรียญสิงคโปร์ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หากสนใจเรื่องนี้ สามารถออกประกาศหรือกติกาให้บริษัทที่ถูกร้องเรียนรับผิดชอบโดยการจ่ายเงินสมทบกับการเจรจาหรือดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ เพราะจะทำให้การแก้ไขปัญหาของบริษัทในการจัดการปัญหาของผู้บริโภคที่มักจะเป็นหน่วยแรกน่าจะเพิ่มความรับผิดชอบและพยายามแก้ปัญหาให้ลุล่วง เพื่อป้องกันต้องจ่ายเงินให้หน่วยงาน นอกจากนี้ ความเดือดร้อนของผู้บริโภคในแทบทุกครั้งไม่ได้เกิดขึ้นกับคนคนเดียว หากจะทำให้การแก้ปัญหาผู้บริโภค ทำได้มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะราย การสื่อสารทำให้ผู้บริโภคที่อยู่ในซอกหลืบได้รับรู้ว่า มีคนอื่นที่เดือดร้อนหรือมีปัญหาแบบของตนเอง ไม่ต้องอาย มาช่วยกันทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา การรับร้องเรียนที่หลายคนมักบ่นเป็นเรื่องตั้งรับก็จะกลับมารุกได้อย่างสนุกสนาน เราสามารถทำให้เรื่องร้องเรียนจากคนคนเดียว กลายเป็นเรื่องของทั้งสังคม ช่วยกันหาทางออกอย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา ว่าความทุกข์ของผู้บริโภคเกิดจากผู้บริโภคเราๆ ไม่เท่าทัน หรือไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ หรือเรื่องราวทั้งหมดต้องการกฎหมาย กติกา มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม ก็จะทำให้งานรับเรื่องร้องเรียนปัญหาผู้บริโภคกลายเป็นงานสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญและร่วมมือในการร้องเรียน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ใช้ประเด็น หาทางออกปัญหาบ้านเมืองร่วมกัน

การชุมนุมของกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มเกษตรกร เครือข่ายงดเหล้า กลุ่มผู้บริโภค ภาคประชาสังคมและกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ วอชช์) ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายนที่ผ่านมา ถือว่า ประสบความสำเร็จ ในการสร้างความตื่นตัวและการรับรู้ของสาธารณะเรื่องเขตการค้าเสรี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ไม่ว่า ผลต่องบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่จะต้องจ่ายค่ายาแพงขึ้น ยาแพงขึ้นเพราะผูกขาดข้อมูลยา และผลกระทบต่อเกษตรกรเพราะผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ทำให้เสียหายมากถึง 189,000 -252,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้มากกว่า การนำเสนอมูลค่าความเสียหายและผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องใช้ยา คือความเข้าใจของกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง สะท้อนได้จากคำให้สัมภาษณ์ของดาบชิต หรือพิชิต ตามูล ในประชาไทออนไลน์ ที่มองการเคลื่อนไหวของประชาชน ว่า “....มองว่าทุกรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องเพื่อไทย ผิด เราต้องท้วงติง ถูก เราก็สนับสนุนพรรคไหนก็ได้ที่มาบริหารประเทศ ทุกรัฐบาลในนามของคนเสื้อแดง หรือเสื้อสีไหนก็ตาม หรือใครก็ตาม ถ้าเราเน้นเรื่องประชาธิปไตย ใครก็ตามมันต้องตรวจสอบได้...” เพราะก่อนหน้านั้น การชุมนุมจับตาการเจรจาเอฟทีเอ กังวลความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ เพราะเคยเกิดกรณีการเคลื่อนไหวต่อต้านการจัดกิจกรรมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเรื่องน้ำโลก หรือการปะทะกับกลุ่มหน้ากากขาว ในช่วงเดือนมิถุนายน   หรือมุมมองที่ว่า “...ส่วนตัวก็มองว่า หนึ่ง ประโยชน์ร่วมเกิดกับชุมชนไหม ในการขับเคลื่อนแต่ละเรื่อง อย่างชาวนา ออกมาเรียกร้องเรื่องจำนำข้าวคราวที่แล้ว เราเห็นด้วย เราก็ไป เรื่องไหนที่ว่าเราไม่เห็นด้วย ก็แค่ว่าเราไม่ไปแค่นั้นเอง ถามว่าจะไปขัดขวางเขาไหม ก็ไม่ การเคลื่อนไหวทุกเรื่องเกี่ยวกับมวลชน คำว่าประชาธิปไตยที่เราพูดกัน มันต้องมีพื้นที่ให้ในการแสดงออกของทุกกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มทำมาหากิน กลุ่มเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ มันต้องมีพื้นที่ให้เขา เพื่อที่จะสื่อถึงรัฐบาลให้ได้ ถามว่าให้เขาไปนั่งเรียกร้องอยู่ในบ้าน ก็คงไม่มีใครได้ยิน...” ประเด็นเขตการค้าเสรี ที่เรามีการดำเนินการกลับหลายประเทศ ไม่ว่ากับสหภายุโรป สหรัฐอเมริกาในรูปแบบทีพีพี(TPP) คงเป็นรูปธรรมนึงที่จะสามารถใช้ทำความเข้าใจต่อสาธารณะทุกกลุ่ม และหากความเข้าใจของสาธารณะมากพอก็จะทำให้สามารถหยุดการเจรจาที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อระบบสุขภาพความมั่นคงด้านอาหารระยะยาวของประเทศได้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยากหากทุกฝ่ายยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องสภาผู้แทนราษฎรที่เราต้องให้อำนาจในการเจรจา เรื่องสี เราไม่ต้องไปยุ่ง เราไม่เกี่ยว พวกนี้ล้มรัฐบาล แต่จะเป็นประโยชน์มากกับความขัดแย้งในสังคมไทย หากทุกฝ่าย ใช้ประโยชน์ ใช้ประเด็นจากปัญหาความทุกข์ของคนหาทางออกของสังคมในปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะกรณีการขึ้นราคา LPG การสร้างเขื่อนแม่วงศ์ ประเด็นเล็กๆ เหล่านี้ อาจจะทำให้เราสามารถออกจากปัญหาความขัดแย้งที่มียาวนานกว่า 7 ปี ที่ติดกรอบ ติดหล่ม ติดรูปแบบเดียวในการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และถึงตอนนั้น เราจะได้ช่วยกันทำให้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของมหาชน  ในการเปิดเผยข้อมูล กล้านำเสนอเรื่องราว เปิดเผยความจริง ไม่ว่าของใคร ทำให้สังคมได้เรียนรู้ ถกเถียง แม้จะชอบ ไม่ชอบ และแก้ปัญหาไปพร้อมกัน แทนสังคมที่จะก้าวไปสู่การใช้พวกพ้อง ผลประโยชน์ของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจผูกขาด ธุรกิจข้ามชาติ ที่นำสังคมไทยมาเป็นเวลานาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 สองเด้งที่ไม่มีเหตุผลและผู้บริโภคยอมไม่ได้

เด้งที่หนึ่ง การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในวันที่ 1 กันยายนนี้  เพิ่มทุกเดือน  เดือนละ 50 สตางค์ หรือ 6 บาท จะทำให้ราคาก๊าซจากถังละ 300 บาทที่ซื้อตามบ้านในปัจจุบัน จะกลายเป็น 400 บาทในที่สุด เด้งที่สอง การขึ้นราคาทางด่วนเพิ่มอีก 5 บาท เป็น 50 บาทในวันที่ 5 กันยายน นี้ ทางออกในการสร้างความเป็นธรรมของกรณีก๊าซแอลพีจี (LPG) ง่ายมาก เพียงจัดการเก็บเงินจากธุรกิจปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 12.55 บาทต่อกิโลกรัมเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมีจ่ายเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้กองทุนน้ำมัน ฯ มีเงินเพิ่มขึ้นถึงปีละ 30,000 ล้านบาท หากคิดจากปริมาณการใช้ในปี 2555 และจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันฯ หมดไป ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี อีกทั้งสามารถยุติการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากผู้ใช้น้ำมันได้อีกด้วย ทางออกที่สอง ปรับลดอัตราค่าผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ค่าผ่านท่อในปัจจุบันคำนวณมาจากเกณฑ์ที่กำหนดให้ ปตท. ได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการวางท่อ (IRROE) สูงเกินไปถึงร้อยละ 18 สำหรับท่อเก่าซึ่งกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และร้อยละ12.5 สำหรับท่อใหม่ที่กำหนดขึ้นมาในปี พ.ศ.  2551 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ได้ลดลงมากจากร้อยละ 10 ในปี พ.ศ. 2539  เป็นเพียงร้อยละ1.2 ในปี พ.ศ. 2555 และการลงทุนในการวางท่อของ ปตท. ไม่มีความเสี่ยงใดๆ เพราะผูกขาดกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศ   ทางออกที่สามกำหนดราคาเนื้อก๊าซที่จำหน่ายให้กับผู้ซื้อทุกรายเป็นอัตราเดียวกัน  ในปัจจุบันมีการเลือกปฎิบัติในการกำหนดราคาเนื้อก๊าซ  โดยมีการจำหน่ายก๊าซจากอ่าวไทยให้แก่โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในอัตรา 220 บาท/ล้านบีทียู ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และ ผู้บริโภคต้องซื้อก๊าซจากพม่าในราคา 274 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าราคาเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยประมาณร้อยละ 25  ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นสมบัติของประชาชนไทยทุกคน  จึงไม่ควรที่จะให้อภิสิทธิแก่กลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง  หากมีการนำราคาเนื้อก๊าซจากทั้งสองแห่งมาเฉลี่ย  ราคาจำหน่ายปลีกของก๊าซที่ผู้บริโภคต้องแบกรับจะลดลง ส่วนเรื่องค่าผ่านทาง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาได้โดยใช้เงื่อนไขสัญญา ข้อที่  12.2 ซึ่งบริษัทบีอีซีแอล มีหน้าที่ ในการทำให้การจราจรไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย   ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะว่าปัจจุบันเป็นสิ่งที่บริษัททำไม่ได้จากจำนวนรถที่มีมากกว่าล้านเที่ยวต่อวัน  หรือการทางพิเศษจะลดผลตอบแทนของตนเองที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี หรือลดโบนัสของพนักงานลงบ้างคงเป็นไร เราต้องพลังผู้บริโภคและเสียงจากสื่อมวลชนสนับสนุน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ผู้บริโภคมีพลังไม่น้อยกว่าองค์กรผู้บริโภค

สมาชิกฉลาดซื้อ หรือแฟนพันธุ์แท้มูลนิธิคงไม่ประหลาดใจที่เราเปิดเผยข้อมูลการทดสอบเรื่องข้าวสารถุงเพราะเป็นเรื่องปกติในการทำหน้าที่ของมูลนิธิที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง  และการยืนยันไม่เปิดเผยห้องทดลองก็ถือเป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน แถมครั้งนี้ห้องทดลองแอบกระซิบบอกว่า ขนาดเราไม่บอกชื่อเขายังแย่ แต่สิ่งที่รับไม่ได้ คงเป็นท่าทีของหน่วยงานที่ต่างออกมาดูถูกดูแคลนว่ามูลนิธิทั้งสองทดสอบหลังบ้านบ้าง หรือการออกมาอ้างว่าไม่ต้องกังวลถึงแม้เกินก็สามารถล้างให้ออกได้หรือหุงก็หายไปแล้ว  แต่การตรวจสอบครั้งนี้เป็นการตรวจพบอินออร์แกนนิกส์เมธิลโบรไมล์ในระดับโมเลกุลไม่ใช่ที่เปลือกข้าวสารและที่สำคัญมาตรฐานตกค้างของเมธิลโบรไมด์ ที่ตั้งไว้ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเป็นมาตรฐานข้าวสารไม่ใช่มาตรฐานของข้าวที่หุงเสร็จแล้ว  การตรวจสอบสินค้าและเผยแพร่เพื่อการตอบสนองต่อสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นแนวทางการทำงานขององค์กรผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่โด่งดังจากการนำรถยนต์ทดสอบด้วยกันชนแล้วดำเนินการเปิดเผยว่า ยี่ห้อไหนชนแล้วคนที่นั่งในรถยังปลอดภัย  หรือคนในประเทศอังกฤษรู้จักองค์กรผู้บริโภคที่อังกฤษ(Consumers Association)  ผ่านการทดสอบเครื่องซักผ้า จนทำให้องค์กรผู้บริโภคต้องออกแบบสปอตโฆษณาที่สร้างความฮือฮามาก ว่า “WHICH?...ไม่ใช่แค่เครื่องซักผ้า”นิตยสาร WHICH? เป็นของสมาคมผู้บริโภคอังกฤษ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่าหนึ่งล้านคน ถือเป็นองค์กรผู้บริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา มีเจ้าหน้าที่ทำงานไม่น้อยกว่า 400 คน Which? เชื่อว่า จะต้องสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีพลังไม่น้อยกว่าองค์กรผู้บริโภค ในการลุกขึ้นมาจัดการปัญหาในชีวิตประจำวัน  นิตยสารฉบับนี้มีการทดสอบผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 2,600 ชิ้นต่อปี มีการผลิตคู่มือ และนิตยสารเฉพาะด้าน เช่น การทำสวน การเงิน สุขภาพ เป็นต้น และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก นิตยสารฉลาดซื้อก็มีเป้าหมายและความคาดหวังที่ไม่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นอิสระในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและพลังของผู้บริโภคในการกำหนดแบบแผนการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการ หวังว่าจะช่วยกันสนับสนุนให้ทุกคนเป็นผู้บริโภคที่มีพลังไม่น้อยไปกว่าองค์กรผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 บริการ 10 โต๊ะ

จั่วหัวแบบนี้อย่าเข้าใจผิดว่า กำลังจะคุยเรื่องคุณภาพอาหารโต๊ะจีน หรือมูลนิธิจะระดมทุนด้วยการจัดโต๊ะจีนเพื่อหางบประมาณในการสนับสนุนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หากเดาก็คงผิด บริการ 12 โต๊ะ เริ่มต้นจากโต๊ะที่ 1  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กรที่ใครไปใครมาต้องเข้าไปสอบถามว่าหากจะมารับเงินคืนจะต้องทำอย่างไร โต๊ะนี้ก็ให้คำแนะนำว่า คุณต้องเขียนคำร้อง เขียนคำร้องเสร็จแล้วไปโต๊ะที่สอง โต๊ะนี้ใช้เวลาไม่มากขึ้นอยู่กับความฉลาดว่าจะเข้าใจแบบคำร้องในช่องต่างๆ ที่จะต้องเขียนหรือไม่ โต๊ะนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริโภค โต๊ะที่ 2 ยื่นคำร้องของโต๊ะที่ 1 ในตระกร้า เจ้าหน้าที่บอกว่าให้รอก่อน รอเรียกชื่อ นั่งรอ รับโทรศัพท์รอ อ่านอีเมล์ ดูเฟสบุกส์ อ่านไลน์ ไปหลายรอบประมาณ 20 นาที สุดท้ายก็ได้แฟ้มข้อมูลของตัวเอง เจ้าหน้าที่บอกไปโต๊ะที่ 3 ไปพบนิติกรชั้นสอง โต๊ะที่ 3 ไม่ต้องรอ เจ้าหน้าที่เพียงชี้ไปพบนิติกร นิติกรเปิดแฟ้ม เซ็นต์รับรองบนเอกสารในหน้าแรก และบอกว่าไปโต๊ะที่ 4 เพื่อคิดเงินว่าต้องคืนเท่าไหร่(โต๊ะนี้อยู่ชั้น 1)   โต๊ะที่ 4 รับเอกสารแล้วบอกให้นั่งรอจะเรียกชื่อ เอกสารถูกส่งไปโต๊ะที่ 5 คราวนี้โต๊ะนี้มีเรื่องสนุกหลายอย่าง หลังจากใช้เวลาไปประมาณ 30 นาทีก็ชะโงกหน้าเข้าไปถามว่าคิดเงินเสร็จแล้วยัง เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ก็ตะโกนว่า เอ๊า...ใครคิดเงินของคุณสารี ก็เห็นว่ามีคนยกมือ พร้อมน้องที่ตะโกนให้กำลังใจว่าเขากำลังคิดอยู่ รอหน่อยนะ ได้ยินคำตอบดังนั้นก็สบายใจนั่งรอ ใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านประกาศทุกอย่างของสำนักงาน เดินนับคนที่ใช้บริการในสำนักงานนี้ รอไปอีกจนประมาณ 11.15 น. ก็ทำหน้าใหม่เดินเข้าไปอีกรอบพร้อมบอกเจ้าหน้าที่ที่นั่งโต๊ะที่  6  อีกคนด้วยเสียงเบาว่า ต้องไปประชุมไม่รู้คิดเงินเสร็จแล้วยัง อ้าว ! คุณยื่นให้ใคร คุณยื่นแล้วเหรอ ใครคิดเงิน ตอนนี้เงียบ ไม่มียกมือ จะทำยังไงหลักฐานก็ไม่มี น้องที่ช่วยตะโกนก็ไม่ช่วยซะแล้ว ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ใกล้กัน เลยเปลี่ยนเสียงที่เบาเป็นบอกว่าทำไมคุณไม่มีระบบได้ขนาดนี้ขอพบผู้บริหารหน่อย เขาบอกว่าผู้บริหารไปประชุม สุดท้ายหลังจากเถียงอยู่นานก็พบว่าแฟ้มถูกเอาไปวางไว้เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรที่โต๊ะที่ 7 ก็มีเจ้าหน้าที่นำไปคิดเงินให้ ใช้เวลาคิดเงินจริงๆ ไม่ถึง 3 นาที หลังจากคิดเสร็จ ส่งโต๊ะที่ 8 เจ้าหน้าที่บอกให้เขียนคำร้องขอรับเงิน และเอาไปให้นิติกรที่ชั้นสอง (โต๊ะที่ 9) เพื่อรับรองว่าต้องจ่ายเงินตามที่คิดเงินแล้วพี่ลงไปรับตังค์ที่โต๊ะที่ 10 นะ ชั้น 1 ลงมาชั้น 1 เขาบอกเซ็นรับเช็ค 2,398 บาท เงินที่เหลือจากการดำเนินการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โต๊ะที่ 10 ได้ปะทะสังสรรค์อีกเล็กน้อย ว่า เอ๊ะทั้งหมด 9 โต๊ะทำไมไม่ให้อยู่โต๊ะเดียว เขาบอกอย่างนี้แหละพี่ต้องทำใจระบบราชการ ลองเดากันเข้ามาว่าบริการ 10 โต๊ะที่เล่าสู่กันฟังเป็นของหน่วยงานใดที่ห่วยได้ใจขนาดนี้  ใครทายถูกรับบัตรกู่เจิงไปชมฟรี 1 ใบราคา 1,000 บาท และหากใครไม่ได้บัตรฟรีก็รบกวนช่วยสนับสนุนคอนเสิร์ตจันทร์กลางฟ้าทิพยสังคีตเครื่องสายจีน บรรเลงโดยนักดนตรีฝีมือชั้นครู อาจารย์หลี่หยางและอาจารย์หลี่ฮุยที่กรุณาจัดคอนเสิร์ตระดมทุนให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในวันที่ 5-8 สิงหาคมนี้ เวลา 19.30 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (หอเล็ก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 441 บาท บทเรียนชีวิต

ข่าวการเสียชีวิตของพี่น้องสองคนที่จังหวัดพิษณุโลกเนื่องจากแม่ค้างค่าไฟฟ้า 441บาท ได้เกิดผลสะเทือนกับหลายคน ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายยกเว้นค่าไฟให้กับคนที่ใช้ไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน และไม่ใช่ครัวเรือน ที่ใช้ไฟในการประกอบธุรกิจการค้า แต่นโยบายเหล่านี้มีเพียงมาตรการยึดตัวเลขการใช้ไฟขั้นต่ำแทนที่จะพิจารณาการใช้ไฟฟ้าของผู้มีรายได้น้อยอย่างจริงจัง เห็นได้จากเมื่อไม่มีเงินชำระค่าไฟก็ถูกตัดไฟ จนต้องใช้เทียนไขอ่านหนังสือจนเป็นเหตุถึงแก่ชีวิตของเด็กประถมและมัธยมสองคน ปกติการไฟฟ้ากำหนดให้ชำระค่าไฟฟ้าภายใน 7 วัน หากรวมวันในการแจ้งเตือนอีก 3 วันเป็น 10 วัน ตามที่ สคบ.กำหนดไว้ สามารถยืดเวลาอีก 3 วัน รวมระยะเวลา 13 วัน   จากการข้อมูลของหัวหน้าแผนกบัญชีและประเมินผล(ฝ่ายตัดกระแสไฟฟ้า) กล่าวว่า พนักงานของบริษัทที่ประมูลงานตัดกระแสไฟฟ้า ไม่ได้ไปเตือน ทั้งๆที่มีเงื่อนไขว่า การงดจ่ายไฟจะต้องให้ผู้ใช้บริการรับทราบก่อน แม้ว่า พนักงานจะได้รับค่าตัดรายละ 40 บาทก็ตาม หากเจ้าของบ้านไม่ยินยอม สามารถเรียกหนังสือคำร้องขอผ่อนผันไปอีก 1 วัน เพื่องดจ่ายไฟฟ้าก็ได้ และนำหลักฐานดังกล่าว มาแสดงต่อการไฟฟ้า กรณีหลังนี้บริษัทเอกชนจะได้รับเงินเพียง 20 บาทต่อราย การกำหนดให้บริษัทเอกชน ที่รับเหมาประมูลจากการไฟฟ้า มีรายได้ที่สูงกว่าจากการตัดไฟรายละ 40 บาทต่อหลัง มากกว่าการยื่นเอกสารผ่อนผันชำระหนี้ เพียง 20 บาทต่อหลัง ย่อมจูงใจให้เกิดการตัดกระแสไฟฟ้ากับผู้ที่ค้างชำระทันที แทนการผ่อนผัน สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต(THE RIGHT TO ACCESS) อันได้แก่ อาหาร น้ำ ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษาในระดับสากล ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญทำให้บางประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศส มีการออกกฎหมายห้ามตัดน้ำตัดไฟ เพราะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค การค้างชำระค่าไฟฟ้าให้ดำเนินการทวงหนี้เช่นเดียวกับหนี้ทางแพ่งทั่วไป การยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีนี้ เห็นทีจะต้องช่วยกันผลักดันให้ยกเลิกมาตรการตัดไฟฟ้า ย่อมจะป้องกันปัญหาและป้องกันความเสียหายที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต หรือมีการคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ไม่พร้อมชำระ อาจผ่อนชำระ 6 เดือนจึงค่อยตัดไฟฟ้า หวังว่าคณะกรรมการการไฟฟ้าภูมิภาค คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ที่รับผิดชอบให้บริการไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะหาแนวทางหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะมีมาตรการเรื่องนี้อย่างชัดเจนนอกเหนือจากการยกเลิก 107 บาทในกรณีที่ไม่ได้มีการตัดไฟ ไม่สามารถเก็บได้ ขออนุญาตแจ้งข่าวสมาชิกฉลาดซื้อและผู้อ่านทุกท่าน เดือนสิงหาคมนี้จะมีการจัดคอนเสิร์ต ‘เบิกอรุณ : ทิพยสังคีตเครื่องสายจีน’ โดยจะจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมเล็ก  ในค่ำวันจันทร์ที่ 5 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม ศกนี้ เวลา 19.30 น. รวม 4 คืน 4 รอบ  รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด  มอบให้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 มุขเดิมๆ แบ่งแยกแล้วปกครอง

  นับเป็นปรากฏการณ์หลายครั้งของการเคลื่อนไหวรณรงค์ของกลุ่มองค์กรผู้บริโภค หลังจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยื่นหนังสือ กสทช. เรียกร้องให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ทบทวนมติที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการ กำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินได้ใหม่เป็นเวลา 30 วัน เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มผู้บริโภคในนามสมาพันธ์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแห่งประเทศไทย มาให้กำลังใจและขอบคุณที่กทค.กำหนดวันหมดอายุ 30 วัน ถือว่าเหมาะสมแล้ว และได้ทำเช่นเดียวกันกับการคัดค้านเงื่อนไขการประมูลระบบ 3 จีเมื่อปีที่แล้ว   หรืออีกกรณีที่บริษัทปตท. ให้สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย รับจัดเวทีชำแหละราคาพลังงานไทย 4 ภูมิภาค ครั้ง 1 อุดรธานี ครั้งที่ 2 เชียงราย ครั้งที่ 3 หาดใหญ่ และครั้งที่ 4 กทม. เกิดขึ้นหลังจากการให้ข้อมูลในสังคมออนไลน์และรณรงค์อย่างต่อเนื่องด้วยการขี่จักรยานไม่ให้ขึ้นราคาก๊าซ LPG ของกรรมาธิการธรรมาภิบาล ฯ วุฒิสภา กลุ่มกูสู้โกง และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพร้อมเรียกร้องให้ปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซในประเทศให้เป็นธรรมกับผู้บริโภคและหยุดสนับสนุนธุรกิจปิโตรเคมี   แม้แต่เรื่องใกล้ตัวอีกเรื่องการห้ามใช้แร่ใยหินในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรี ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีความพยายามให้ทำงานวิจัยใหม่ว่าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย หรือท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการทบทวนมติของตนเองว่ายังไม่มีหลักฐานการตายของคนในประเทศไทย   คิดในแง่ดีคงเป็นเพราะกลุ่มผู้บริโภค นักวิชาการ หรือกลุ่มต่างๆ ทำงานเรื่องนั้นได้ประสบความสำเร็จ จนยากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะคัดค้านหรือตอบข้อเท็จจริงให้สังคมคลายข้อสงสัยหรืออธิบายให้สาธารณะเข้าใจ แต่ง่ายกว่าที่จะเอากลุ่มผู้บริโภค(ที่ไม่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง) จัดม็อบสนับสนุนถือช่อดอกไม้หรือป้ายชมเชยว่า ไม่ได้มีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเดียว   เหมือนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ประสบความสำเร็จมาแล้วในการใช้ยุทธศาสตร์แยกมวลชนที่คัดค้านและสนับสนุน ทำให้สามารถทำโครงการขนาดใหญ่ การสร้างเขื่อน หรือจัดการความขัดแย้งอีกจำนวนมากในสังคมไทย   ช่วยกันรณรงค์ให้ใช้หลักฐานหรือ Evidence หรือข้อมูลในการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาของบ้านเมือง ไม่ใช่ป้ายสีป้ายกลุ่ม ยึดถือข้อมูล ยึดถือความจริง ยึดถือความถูกต้อง เพื่อกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ   แต่ท่ามกลางความสับสนหรือนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จนละเลยการมีกระบวนการที่ดี การมีตัวแทนผู้บริโภคในการให้ความเห็น การมีส่วนร่วมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค(มาตรา 61) เวลานี้ ผู้บริโภคเป็นกำลังสำคัญในการคุ้มครองตนเอง การใช้สิทธิ การยึดหลักป้องกันไว้ก่อน เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ยุคมือถือ 100 ล้านเลขหมาย

  ช่วงวันสิทธิผู้บริโภคสากลในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่มุ่งหวังให้สร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภคเดี๋ยวนี้  กลับได้รับรู้ความทุกข์ยากของผู้คนที่ไม่ควรมีและควรจะหมดไปในยุคที่เรามีมือถือใช้กันมากถึง 100 ล้านเลขหมาย ภาพชายหนุ่มพิการต้องหอบเครื่องนอนเท่าที่จำเป็นแบบพอเพียง มานอนค้างโรงพยาบาลด้วยเหตุที่โรงพยาบาลเริ่มแจกบัตรคิวพบแพทย์ตั้งแต่ตี 5 หากไม่มานอนค้างก็อาจจะไม่ได้พบแพทย์ในวันนั้น ทำให้นึกย้อนไปในยุค 2525 ที่ต้องจองคิวโรงพยาบาลด้วยรองเท้าและหลายแห่งยังต้องทำแบบนั้นในปัจจุบัน หรือแม้แต่มีธุรกิจหอพักเพื่อให้ผู้ป่วยมาเช่านอนก่อนพบแพทย์ในบางจังหวัดของภาคอีสาน   ทำให้นึกย้อนไปถึงเรื่องหนึ่งที่คนไข้ของอำเภอกระบุรี ต้องนั่งรถสองแถวไปประมาณ 50 กิโลเมตรเพื่อไปพบหมอตาในจังหวัด แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ได้รับการแจ้งว่า จำนวนผู้ป่วยตรวจตา 50 คนวันนี้เต็มแล้ว คิดอยู่นานกว่าจะตัดสินใจหาที่นอนในจังหวัดระนองถึงแม้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายหากไม่มีญาติ แถมต้องมีเงินค่าโรงแรม   ทั้งสองเรื่องกำลังเกิดในยุคที่เรามีโทรศัพท์มือถือ 100 ล้านเลขหมาย การนัดพบแพทย์เป็นการบริหารจัดการที่ไม่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญมาก สามารถยกหูจ่ายขั้นต่ำนาทีละ 99 สตางค์หากได้คุยคงไม่เกิน 3 บาทก็สามารถนัดไปพบแพทย์ได้เลย แล้วทำไมกลไกการนัดเพื่อพบแพทย์จึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้   หรือแม้แต่การใช้โทรคมนาคมเพื่อสอบถามข้อมูลผู้เชี่ยวชาญผู้ประกอบวิชาชีพ ว่าอาการที่เป็นจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหรือไม่ หากจำเป็นก็นัดพบแพทย์เลย แต่หากไม่จำเป็นก็ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนว่าจะต้องจัดการชีวิต ดูแลตัวเอง อย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา และหากมีอาการแบบไหนต้องรีบไปโรงพยาบาล ทำเพียงการสื่อสารเท่านี้ก็จะลดจำนวนคนไปโรงพยาบาลได้อีกมากไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เพราะคนส่วนใหญ่ไปโรงพยาบาลจากโรคที่รักษาตนเองได้ เห็นอย่างนี้แล้วอยากให้ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพ หรือแพทยสภา ลุกมาทำเรื่องนี้เพราะการปกป้องแพทย์ ควรช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้แพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพทำงานน้อยลง ทำให้คนไข้ไปโรงพยาบาลน้อยลง ทำงานกันน้อยลงทุกคน มีความสุขในการทำงานกันมากขึ้น อยากเห็นเรื่องเล็กๆ แบบนี้ทำสำเร็จในเมืองไทยและคงจะทำได้ไม่ยาก หากผู้อำนวยการโรงพยาบาลเห็นความทุกข์ยากของผู้คน   หากเราติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเราจะเห็นว่า อำนาจต่อรองของภาคธุรกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสังคมที่ซับซ้อนผ่านรูปธรรมที่เห็นจากการยืนยันทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับยุโรปที่จะต้องยอมแลกให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต คุ้มครองข้อมูลยาเหมือนยอมให้มีการขยายอายุสิทธิบัตร(TRIP+) ถึงแม้ในข้อตกลงจะไม่เขียนตรงไปตรงมาแบบนี้ เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษในการขายไก่กุ้งอาหารทะเล   มีคนบอกว่า คนที่ติดอันดับของนิตยสารฟอร์ปนัดนายกรัฐมนตรีทานข้าวได้ตลอดเวลา แต่กลุ่มผู้บริโภคยังไม่เคยพบนายกรัฐมนตรีเลยเกือบสองปีที่ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2554 ทั้งที่ต้องการให้นายกช่วยทำคลอดกฎหมายมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมานาน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 บริการเสริมโทรศัพท์มือถือ

หลายคนมักจะโกรธแค้นหรือไม่ค่อยทนกับปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร หรือคนขายของขายของแพงช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือแม้แต่ปัญหาการขายกุหลาบราคาแพงในช่วงพิเศษวาเลนไทน์ หรือเป็นเดือดเป็นร้อนกับคนขายกล้วยแขกตามสี่แยก ที่ควรจะต้องจัดการให้เด็ดขาดทั้งคนซื้อและคนขาย หรือหากจะทันสมัยก็ตุ๊กตาเฟอร์บี้ ที่เราถูกหลอกถูกโกงกันทุกวัน   อาจจะเป็นเพราะเรารู้สึกว่าเรามีอำนาจมากกว่าคนเหล่านั้น แต่ทำไมปัญหานี้ยังเกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลา และต่อเนื่อง เราอยากช่วยให้จัดการให้ได้เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา พูดแบบนี้เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าเข้าข้างคนฉวยโอกาสขายของแพง หรือแท็กซี่ที่ควรจะมีน้ำใจมากกว่านี้ หรือคนขายของที่ควรอยู่ให้ถูกที่ถูกทาง และรวมถึงปัญหาอันตรายต่อคนขายกล้วยแขกจากรถยนต์   คงไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น แต่เชื่อว่าเรายังมีปัญหาสำคัญอีกมาก และโดยเฉพาะสิ่งที่ใกล้ตัวที่เอาเปรียบกันเมื่อมองการหลอกในการซื้อขายตุ๊กตาเฟอร์บี้ เปรียบเทียบกับบริการออกกำลังกายของแคลิฟอเนียร์ไม่ว้าว และที่หลอกกันเป็นล่ำเป็นสัน ทุกวี่ทุกวันที่สำคัญคือโทรศัพท์มือถือ ที่มีให้แก้ไม่เว้นแต่ละวัน ยกตัวอย่างปัญหาในอดีตที่คนส่วนใหญ่จะรำคาญที่นั่งประชุมก็จะมีเสียงส่งเอสเอ็มเอส(SMS) มาถึงตลอดเวลา แต่เราก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยลบทิ้งปัญหาเหล่านั้นก็จะหมดไป แต่ปัจจุบันหลายคนที่ไม่ได้สนใจกับค่าใช้จ่ายรายเดือนของโทรศัพท์ หรือเติมเงินเข้าไปในระบบแล้วไมได้ดูก็จะคิดว่าเราใช้โทรศัพท์มากเงินก็เลยหมดเร็ว และคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริง   บางวันมีเสียงโทรศัพท์สายเรียกเข้า ก็คิดว่าเป็นเพื่อนโทรศัพท์มา แต่เมื่อกดรับโทรศัพท์ ก็ปรากฎว่า เป็นเสียงพูดอัตโนมัติให้เสี่ยงโชค ดูหมอ ดูดวง ทายผลฟุตบอล เล่นเกมส์ คนทั้งหมดเมื่อเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ก็กดโทรศัพท์ทิ้ง จะมีน้อยรายมากที่อดทนฟังจนจบการให้ข้อมูล ใครจะคิดว่าการกดโทรศัพท์ทิ้งจะเป็นการรับสมัครสมาชิกบริการเสริมเหล่านั้น อัตโนมัติ หรือการส่ง SMS มาถึงตัวแจ้งว่าจะได้รับโทรฟรี 50 บาทหากกดโทรศัพท์ไปที่ *... แต่เมื่อกดไปกลายเป็นสมัครสมาชิกทันที หรือการทำการตลาดกันตรงๆ ว่าซิมเหล่านี้ฟรี แต่ยังไม่ทันไร ส่งใบทวงหนี้ไปบ้าน   การทำธุรกิจที่เผื่อผู้บริโภคหน้าบาง หรือครอบครัวที่คิดว่าเป็นหนี้สินกันจริง หรือเผื่อใครจะโลภและหลงเชื่อ หรือกลุ่มที่ไม่เคยตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงิน หรือคิดว่าเราเป็นคนผิดพลาดเอง อาจจะใช้โทรศัพท์มากไป หรือยุ่งซะจนไม่สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ ที่แน่ๆ จะกลายเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไปในทันที   นักวิชาการความมั่นคงของอวกาศในกิจการโทรคมนาคม ให้ข้อมูลว่า การส่ง SMS หรือ ส่งข้อความเสียงไปถึงผู้บริโภคนี้แต่ละวันทำกันไม่น้อยกว่า 1 ล้านเลขหมาย แต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายกันคนละ 37 บาท กลายเป็น 37 ล้านบาทต่อวัน หรือเดือนละ 1,110 ล้านบาททันที หรือการเผลอไปโหลดเพลง ภาพ จากทีวีดาวเทียมที่คิดว่าโหลดครั้งเดียวก็จ่ายครั้งเดียว แต่ในทางความเป็นจริงเขาใจดีส่งมาให้ทุกวัน แทนที่จะเสีย 6 บาทต่อเพลงก็กลายเป็นรายจ่ายทุกวันวันละ 6 บาท คนนึง 180 บาท ต่อเดือนและมีคนดูทีวีดาวเทียมอีกจำนวนมากที่กำลังทดลองสิ่งเหล่านี้   นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทำให้ยุ่งยากในการคิดค่าโทรศัพท์เหมาจ่ายรายเดือนที่มักจะคิดรอบบิลที่ไม่ตรงไปตรงมา ใครจะคิดบ้างว่า ใช้เพคเกจ 1800 นาที 30 วัน 149 บาท ใช้โทรศัพท์ไป 780 นาที 5 วัน จะถูกเรียกเก็บเงิน 478 บาทผู้บริโภคส่วนใหญ่บอกตรงกันว่า หากคิด 149 บาทจะไม่ว่าเลย เพราะถือว่าเป็นรอบบิลที่ไม่ตรงกัน แต่คิดมามากถึง 478 บาทแบบนี้ต้องสู้กันซักตั้ง   ที่ยกตัวอย่างหลายเรื่องราวบริการเสริมรูปแบบใหม่ ๆ ของโทรศัพท์มือถือ จะช่วยให้มองเรื่องกุหลาบวาเลนไทน์ คนขับแท็กซี่ คนขายกล้วยแขก เป็นเรื่องน่ารักไปเลย หรือการมีอาชีพดีกว่า ต้องไปวิ่งราวหรือช่วยขนยาบ้า แต่สิ่งเหล่านี้จะลดความรุนแรงหรือดีขึ้นแน่นอนหากเรามีกลไกมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทุน หรือแม้แต่ระบบราชการ ก็ต้องช่วยกันผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น (Pro consumer policy VS Pro business policy)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 143 เปลี่ยนกรุงเทพ ฯ เพื่อผู้บริโภค

คนรักษ์อนุสาวรีย์ชัย เป็นการรวมตัวกันของบุคคล หน่วยงานที่อยู่อาศัย บุคลากรที่ทำงานบริเวณอนุสาวรีย์ชัย ตั้งแต่โรงพยาบาลราชวิถี โบสถ์บ้านเซเวียร์ สมาคมบำเพ็ญประโยชน์ เดอะเน็ตเวิร์ค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เซ็นจูรี่ คลินิกเพชรา ร้านคอมพิวเตอร์สยาม ก๋วยเตียวเรือพระนคร นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงอีกจำนวนนึง สิ่งที่น่าสนใจของอนุสาวรีย์ชัย คงหนีไม่พ้นความสะดวกสบายที่เราสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้จากจุดนี้ เดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงมีท่ารถตู้ที่สามารถขึ้นได้ทุกมุมอนุสาวรีย์ชัย ปัญหาที่ตามมาเมื่อมีคนเดินทาง ย่อมคู่กับการค้าขาย อยากจะได้อะไร ทั้งของใช้ของกิน ของย่าง ของปิ้ง ผัด ต้ม หรือทอด มีให้เลือกได้หมด จนคนเดินถนนต้องไปเดินเลนที่สอง หรือคนขึ้นรถเมล์ต้องรอรถเมล์บนถนน   ปัญหาสำคัญสี่ห้าอย่างถูกนำมาพูดคุยทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการเกือบ 20 ครั้ง เช่น การปรับปรุงเกาะรอบอนุสาวรีย์ชัย ให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการการใช้งานของอนุสาวรีย์ชัยที่เป็นเมืองเดินทางไม่ใช่ปรับปรุงเพื่อการขายของกินของใช้ถาวร การอยู่ร่วมกันของร้านค้า คนขายของบนทางเท้า คนเดินถนน คนขึ้นรถเมล์ รถตู้ หรือปัญหารถตู้ที่จอดผิดกฎหมายเย้ยบริษัทขนส่งจากทุกเส้นทางของประเทศรอบเกาะอนุสาวรีย์ชัย คนเสียชีวิตจากรถฉุกเฉินไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้จากการจราจรที่ติดขัด รถที่จอดขวางหน้าโรงพยาบาล โบสถ์ หรือรถตู้ปิดถนนแทบทุกซอยในอนุสาวรีย์ชัย ยังไม่นับรวมปัญหาความปลอดภัยและความสะอาด สิ่งที่น่าสนใจของคนรักอนุสาวรีย์ชัย คือไม่รอให้ผู้ว่ากทม. ปลัดกทม. เข้ามาจัดการปัญหาแต่ขอมีส่วนร่วมกับกทม.ในการจัดการอนุสาวรีย์ชัย การนัดพบผู้ว่ากทม. รองผู้ว่ากทม. ที่ปรึกษาผู้ว่ากทม. เขตราชเทวี สำนักจราจรและขนส่ง(สจส.) อธิบดีกรมการขนส่ง ขสมก. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สถานีตำรวจพญาไท ดินแดงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ   การเลือกตั้งมักจะคู่กับการขายฝันของผู้ว่า ไม่ว่าจะอาสามาทำ(รับใช้)อะไรให้กับคนกรุงเทพ ฯ หรือเลือกผมหากต้องการใช้ผม ผมยินดีรับใช้คนกรุงเทพ ฯ เปลี่ยนแปลงกรุงเทพ ฯ ร่วมมือกับรัฐบาลแบบไร้รอยต่อ น่าจะตอกย้ำความเชื่อเดิม ว่า เรารอให้ผู้ว่าจัดการ ปัญหาหลายอย่างจึงเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากขึ้นไปทุกวัน ผู้บริโภคต้องยอมจำนน คนเดินถนนถูกร้านค้าชิงพื้นที่ทางเท้า ปัญหารถตู้ยืน ปัญหารถติดทั่วกรุงเทพมหานคร เพราะเรารอให้มีคนมาแก้ปัญหา กรุงเทพมหานครมี 50 เขต หากทุกเขตรอให้ผู้ว่าจัดการหรือมารับใช้ 4 ปีก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และก็น่าเสียดายที่ยังไม่เห็นนโยบายผู้ว่ากทม. ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในแต่ละเขต หรือแม้แต่มีนโยบายใหม่ๆ เช่น ปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานในกรุงเทพมหานคร การจัดการเมืองและงบประมาณแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้คนร่วมตัดสินใจว่าเขาอยากให้ชุมชนหรือเมืองของเขามีหน้าตาอย่างไร ภาพลักษณ์หน้าตาของอนุสาวรีย์ชัย ควรจะเป็นอย่างไร  เป็นหมอชิต 2 สายใต้ 2 เอกมัย 2 หรือเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีก๋วยเตี๋ยวเรือแสนอร่อย สะอาด กินแล้วท้องไม่เสีย แถมใครอยู่ที่ไหนก็มีสิทธิโหวตและรักอนุสาวรีย์ชัยได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 ปีแห่งการใช้สิทธิและการตรวจสอบ

หลายวันก่อนได้รับคำแนะนำจากผู้สื่อข่าวที่ใกล้ชิดว่า ทำอย่างไรให้เรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA หรือการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเซีย-เศรษฐกิจ TPP มีข้อมูลผลกระทบเรื่องอื่นเพิ่มเติมและมีคนกลุ่มใหม่ออกมาให้ข้อมูล เพราะปัญหาเรื่องยาที่จะทำให้เราต้องจ่ายเงินเพิ่มปีละ 80,000 ล้านบาทต่อปีดูจะไม่ได้รับความสนใจ ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  หรือปัญหาเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ก็ เป็นคนกลุ่มเดิม ขออภัยนะที่ต้องบอกว่าเคยเป็นกลุ่มคนที่คัดค้านคุณทักษิณ แล้วกลุ่มนี้เป็นใคร กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือที่รู้จักกันเอฟทีเอวอทช์ FTA Watch เป็นความร่วมมือในการทำงานของหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ และเครือข่ายต่างๆ และได้ทำการศึกษา ทำงานวิจัยมานาน จนสามารถทำให้เห็นว่า การเจรจาการค้าเสรีมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะต่อการเข้าถึงยา บริการสุขภาพ เกษตรกร การเงินการธนาคาร การลงทุน การเข้าถึงความรู้ การใช้ทรัพยากรหรือกำลังคนของรัฐในการปกป้องทรัพย์สินเอกชน หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ ที่ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิกับสิทธิของผู้บริโภค หรือสาธารณะ หรือแม้แต่มูลค่าความเสียหายต่องบประมาณที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ เช่นกรณีของยาจำเป็นหรือข้อที่พึงระวังในการเจรจา   การคิดแบบเหมาโหลสำหรับกลุ่มที่ตรวจสอบการทำงานหรือเห็นต่างจากรัฐบาล และโดยเฉพาะกับทุกประเด็นร้อน กำลังจะเป็นประเด็นอันตรายกับรัฐบาลเอง เหมือนอย่างที่มีผู้สื่อข่าวออกมาเล่นงานกลุ่มติดตาม กสทช. NBTC Watch ว่าผิดพลาด และทำให้เกิดความเสียหาย แต่ขณะที่ไม่สนใจว่า การรับเงินของสื่อส่งผลต่อการตรวจสอบหรือเสนอข่าวในทางบวกหรือลบต่อหน่วยงาน กสทช.อย่างไร และข้อมูลที่กลุ่ม NBTC Watch ใช้ก็เป็นข้อมูลของ กสทช. และไม่ได้ทำข้อมูลขึ้นเอง ถึงแม้รัฐบาลอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แต่หากสื่อที่สนับสนุนหรือกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล มองทุกเรื่องที่กลุ่มคนตรวจสอบเป็นพวกตรงกันข้าม เป็นสลิ่ม แทนการมองเนื้อหาสาระ จะยิ่งทำให้ไม่เกิดการแก้ปัญหาหรือถกเถียงหาความจริง แต่กลายเป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลแทน เพราะหากมองเรื่องพลังงานเป็นตัวอย่างที่ดี ทุกคนต้องใช้น้ำมัน ใช้ก๊าซ เอ็นจีวีและแอลพีจี ไม่ทางใดทางนึง หากเรามีกิจการพลังงานที่ไม่โปร่งใส หน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่กำกับดูแล ผูกขาด เอื้อประโยชน์ย่อมไม่เป็นผลดีกับใคร และทำให้ปัญหาแอลพีจีที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา แทนที่จะได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางกลายเป็นเรื่องของคนที่ไม่หวังดีไม่ต้องทำอะไร สุดท้ายขอส่งความสุขปีใหม่มายังสมาชิกและผู้อ่านฉลาดซื้อทุกคน หวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่งดงามและเป็นปีที่มีความหวังกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะเกิดกลไกใหม่ที่เป็นความหวัง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมมาตรา 61 ที่ไม่ใช่ทั้งหน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอ สนใจดูว่าต่างอย่างไรได้จาก www.consumerthai.org

อ่านเพิ่มเติม >