ฉบับที่ 142 สวัสดีปีใหม่ แก๊สหุงต้มจะปรับขึ้นราคา ?

เรื่องนี้ยังไม่มีใครร้องเรียน เพราะหลายคนยังไม่รู้ว่า แก๊สหุงต้มกำลังนับถอยหลังดีเดย์ปรับขึ้นราคา ในเดือนมกราคม ปี 2556 หน้าค่อนข้างแน่นอนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้สรุปแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เสนอนายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน โดยอาศัยการคาดการณ์ราคา LPG ในตลาดโลกปี 2556-2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้ราคา LPG ขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 18 บาท/กก. สำหรับก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนสนพ. ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เมื่อราคาตลาดโลกสูงขึ้นอย่างนี้ราคาก๊าซที่ขายในประเทศก็ต้องสูงตามไปด้วย แต่เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกตกใจ จึงเสนอให้ใช้วิธีขึ้นราคาแบบนวดคลึง คือค่อยๆปรับ ค่อยๆเจ็บ สู่ราคาเป้าหมายที่ 36 บ./กก. ภายใน 2 ปี จากเดือนมกราคม 2556-ธันวาคม 2557โดยภาคครัวเรือนจะทยอยปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บ./กก. ภาครถยนต์จะปรับขึ้นเดือนละ 1.20 บ./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 21.38 บ./กก. และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะปรับขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 30.13 บ./กก.คาดว่ารัฐบาลจะลดแรงต้านด้วยการเสนอมาตรการบรรเทาความด้วยร้อนด้วยการแบ่งแยกกลุ่มประชาชน ผ่านกลไกบัตรเครดิตพลังงานที่จะให้ส่วนลดแก่ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 6 ล้านครัวเรือน และร้านค้า หาบเร่ แผงลอย อีกราว 2 แสนกว่าราย ซึ่งจะมีลักษณะให้ไปลงทะเบียนคล้ายกับบัตรเครดิตพลังงานที่ใช้กับกลุ่มรถแท๊กซี่และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วงที่ผ่านมา   ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ผลกระทบโดยตรง สำหรับบ้านที่ใช้แก๊สถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 50 สต./กก.ราคาแก๊สจะขยับจากถังละ 290 บาท ขึ้นเป็น (0.50 x 15) + 290 = 297.50 บาท/ถังหลังปรับขึ้นราคาครบปีที่ 1ราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x 12) + 290 = 380 บาท/ถัง (สูงขึ้น 31%)หลังปรับราคาครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (0.50 x 15 x24) + 290 = 470 บาท/ถัง (สูงขึ้น 62%)หมายเหตุ : ราคายังไม่รวมค่าบริการส่งก๊าซถึงที่อยู่อาศัย   สำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงราคาแก๊สปัจจุบันอยู่ที่21.38 บ./กก. หรือ 11.56 บ./ลิตร (LPG 1 กก. = 1.85 ลิตร)ในเดือนที่ 1 หลังปรับขึ้นราคา 1.20 บ./กก.ราคาแก๊สจะขยับจาก21.38 บ./กก. ขึ้นเป็น (21.38 + 1.20 ) = 22.58บ./กก. (12.20 บ./ลิตร)หลังปรับขึ้นราคาครบ 1 ปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 12) + 21.38 = 35.78 บ./กก. (19.34 บ./ลิตร) หรือ สูงขึ้น 67.35%หลังปรับขึ้นครบสองปีราคาแก๊สจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ (1.20 x 24) + 21.38 = 50.18 บ./กก. (27.12 บ./ลิตร) หรือสูงขึ้น 134.7% ผลกระทบโดยอ้อม ประชาชนอาจจะใช้แก๊สหุงต้มในครัวเรือนและในรถยนต์น้อยลง แต่ในทางเดียวกันประชาชนก็ไม่มีทางเลือกการใช้พลังงานมากขึ้น ป่าไม้อาจถูกทำลายมากขึ้น จากการที่ประชาชนหันกลับมาใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม ไม่มีหลักประกันใดว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะสามารถดูแลราคาสินค้าเครื่องใช้อุปโภค บริโภค ต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมกับผู้บริโภคได้ เพราะจากอดีตที่ผ่านมาในการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ NGV แม้รัฐบาลจะมีมาตรการบัตรเครดิตพลังงานให้ส่วนลดค่าเชื้อเพลิง มาตรการเปิดร้านค้าธงฟ้าที่ต้องใช้งบประมาณมากมาย หรือมาตรการประกาศราคาแนะนำข้าวแกงขึ้นมา แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำให้ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นไปแล้วทยอยลดราคากลับคืนมาแต่อย่างใด แนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาก๊าซ LPG ขาดแคลน โดยอ้างว่ามีการใช้ผิดประเภทในภาครถยนต์และในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป จนทำให้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปจ่ายชดเชยราคาส่วนต่างของราคานำเข้า LPG ตลาดโลก นับแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบันรวมเกือบ 1 แสนล้านบาทนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนแก่ประชาชน เนื่องจากในขณะที่ภาคครัวเรือนใช้ก๊าซ LPG ในราคาประมาณ 18 บ./กก. ส่วนผู้ใช้รายอื่นใช้ในราคาที่สูงกว่านี้อีก แต่ปรากฏว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมของตนกลับใช้ LPG ในราคาเพียง 16 บ./กก. เท่านั้น และมีสัดส่วนการใช้มากถึง 33-34% ของกลุ่มผู้ใช้ทั้งหมด (รถยนต์ใช้เพียง 14% )และยังเป็นการใช้ก๊าซโดยตรงจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิต จึงมีราคาถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน หรือก๊าซนำเข้าด้วยเรื่องนี้เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับประชาชนทั้ง 70 ล้านคน  จึงน่าจะมีกระบวนการประชาพิจารณ์ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและเปิดรับฟังความคิดเห็นกับประชาชนทั่วไปเสียก่อน หากตรวจสอบแล้วว่า มีข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง หรือมีการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม จะได้มีมาตรการจัดการปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ปั๊มแก๊สไม่ยอมทอนเศษสตางค์

ดิฉันมีข้อสงสัยที่จะหารือดังนี้ค่ะ คุณนลินศิริเริ่มเรื่องดิฉันเพิ่งซื้อรถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV มาใช้ค่ะที่สงสัยคือเวลาไปเติมแก๊ส NGV แต่ละปั๊ม เวลามีเศษสตางค์ไม่ว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ จะถูกปั๊มปัดเศษเป็นจำนวนเต็ม 1 บาทเพิ่มทุกปั๊ม อย่างเติมเป็นเงิน 87.40 บาทหรือ 87.90 บาทก็จะถูกคิดเป็น 88.00 บาทคุณนลินศิริให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีครั้งหนึ่งเคยไปเติมแก๊สและต้องจ่าย 87.40 บาท คุณนลินศิริพอดีมีเศษสตางค์ก็เลยให้เด็กปั๊มไป 87.50 บาท“เขามองหน้า แล้วบอกเอาคืนไปเหอะ ดิฉันก็รับเงินเศษ 50 สตางค์คืน”อย่างนี้ก็ถือว่าโชคดีเพราะปั๊มรังเกียจเศษสตางค์“แต่บางครั้งเราก็คิดว่าเศษน้อยคือแค่ 9-10 สตางค์เขาน่าจะปัดทิ้ง เขาก็ไม่เคยปัดทิ้งมีแต่จะปัดขึ้นแล้วไม่ใช่ปัดเป็นสลึงหรือห้าสิบสตางค์ ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นเป็นหนึ่งบาทเลย” “ดิฉันสงสัยว่า เราดูถูกค่าเงิน 25 สตางค์กันแล้วหรือถ้าเด็กปั๊มจะบอกว่า ผมไม่สะดวกทอนเงินดิฉันก็คงยินดีที่จะให้มากกว่ามาบังคับกัน เคยได้ยินข่าวพักหนึ่งเรื่องเดียวกันกับปั๊มแก๊ส LPG แล้วเงียบหายไป ก็เลยสงสัยว่าเรื่องนี้(ปัดเศษสตางค์ขึ้นเป็นหนึ่งบาท) เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าจะได้ทำใจค่ะแนวทางแก้ไขปัญหาปัจจุบันประเทศไทยมีเหรียญที่มีค่าเงินที่น้อยที่สุดที่สามารถนำมาชำระหนี้กันได้คือที่ 25 สตางค์ หากเราซื้อสินค้าแล้วมีเศษสตางค์ที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 25 สตางค์คือ 12.50 สตางค์ ในทางปฏิบัติก็ควรจะปัดเป็น 0 สตางค์ เพราะไม่สามารถหาเหรียญหรือธนบัตรมาชำระหนี้กันได้ แต่หากมูลหนี้นั้นมีค่าตั้งแต่ 12.50 สตางค์ขึ้นไป ก็ให้ชำระหนี้หรือทอนเงินด้วยเหรียญ 25 สตางค์ แต่การที่สินค้ามีมูลค่าตกเศษสตางค์แล้วผู้ประกอบธุรกิจปรับเป็นมูลค่า 1 บาท ต้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ เนื่องจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้ประกาศให้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีและก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในสินค้าหลายร้อยชนิดที่จะต้องแสดงราคาจำหน่ายขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่แสดงราคาขายปลีกให้ผู้บริโภคทราบจะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือหากมีการจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงเกินกว่าราคาที่แสดง จะถือว่ามีความผิดในลักษณะเดียวกันคือไม่ได้แสดงราคาป้าย มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทเช่นกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสามารถกล่าวโทษร้องทุกข์ได้กับกรมการค้าภายใน หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัด โทรสายด่วน 1569 หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ครับเพราะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ไม่ให้ไม่ว่า…ขอแค่อย่าทำร้าย

เป็นที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตยบ้านเรา เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สนุกดีแบบไทยๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยก็ยังเป็นไทยอยู่วันยังค่ำ(จริงไหม?)เสร็จจากการประท้วง สุดฤทธิ์สุดเดช กันไปตามอัธยาศัยแล้ว ถึงการเมืองบ้านเราจะยังมีกรุ่นๆ กันอยู่บ้างแต่ก็ทำให้เราๆ ท่านๆ หายใจได้ทั่วปอดขึ้นใช่ไหมล่ะ เมื่อการเมืองเบาบางลง ก็ตามมาด้วยเสียงเพรียกร้องหาความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ที่ดังขึ้นมาแทรกแทนเสียงโหยหวน.. ของเหล่านักการเมือง ทั้งกลุ่มหนี้สินชาวนา กลุ่มหนี้สินอื่นๆ และเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ต้องเรียกร้องกันทุกปี เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรแบบระยะยาวเลยสักพรรคเดียว มีเพียงการแก้ไข แบบขอไปที น้อง-พี่-ลุง-ป้า จึงต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันทุกปีจะว่า น้อง-พี่-ลุง-ป้า เหล่านี้คือเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองก็ไม่น่าจะผิด เพราะการแก้ไขแต่ละครั้ง ใช้งบมหาศาลและก็รั่วไหลทุกครั้งที่มีโครงการช่วยเหลือ(ก็อดคิดเสียไม่ได้ว่าเพราะเรื่องนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักการเมืองจึงไม่คิดแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ กันเสียที) แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงมาสู่รัฐ เขาเหล่านั้นไม่เคยร้องขอให้รัฐไปช่วยเหลืออะไร ขอเพียงขอให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่เขาคุ้นชินเท่านั้น เขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานขนาดใหญ่ ที่พวกเขากลัวว่าการก่อสร้างเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของพวกเขา แก่นแท้ของการร้องขอนั้น เขาไม่เคยขอให้รัฐช่วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออื่นๆ เขาขอเพียงรัฐยอมปล่อยให้เขาได้อยู่ในสิ่งที่เขาเคยอยู่เท่านั้นจนได้อ่านข่าวที่ กกต. ชี้ออกมาว่า ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ หลายท่านน่าจะพ้นสภาพการเป็น สส.เพราะตนเองหรือภรรยาเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งหุ้น ปตท. หุ้นไฟฟ้า และหุ้นอื่นๆ อ้อ..เพราะอย่างนี้นี่เองนักการเมืองทั้งหลายถึงไม่ใยดีและเพิกเฉยต่อคำเรียกร้อง ของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ท่านทั้งหลายที่กล่าวถึงมามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่มากมายนี่เอง อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่สามารถล้างบางนัก การเมืองขี้ฉ้อได้เท่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้เลย(สะใจเจงๆๆ) เพราะการเขียนไว้ว่าห้ามนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นถูกต้องแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการในทุกด้าน และนักการเมืองก็เป็นมนุษย์มันก็หนีไม่พ้นที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ความเป็นธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้ถ้าไม่สามารถกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนออกไปได้(ถึงแม้ออกไม่หมดแต่ก็ดีกว่าไม่ออกเลย) เอาเป็นว่าผู้เขียนชูจั๊ก-กะ-แร้ เชียร์เพื่อนพ้องน้องพี่ พลังบริสุทธิ์ที่ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป และช่วยยืนยันสโลแกนที่ว่า “ไม่ให้ไม่ว่าขอแค่อย่าทำร้าย” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้ไอ้พวกขี้ฉ้อสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปสักที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 สาหร่ายแก้ว

หลายคนเรียก เส้นแก้วหรือวุ้นเส้นสาหร่ายแก้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงคนที่ห่วงใยเรื่องน้ำหนักตัวเพราะเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับอาหารอื่นหรือ “เส้น” อื่นๆ กินจนอิ่มคาร์โบไฮเดรตก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สาหร่ายแก้ว หน้าตาจะคล้ายวุ้นเส้นแต่อวบล่ำกว่ามากมองเผินๆ นึกว่าเส้นบุก แต่ไม่ใช่ เส้นนี้นิยมกันมากในเกาหลีและจีนก่อนลามมาเมืองไทยถ้าชอบกินสลัดบาร์จะเห็นเส้นแก้วนี้วางอยู่เคียงกับผักสลัดอื่นๆในเกือบทุกห้างที่มีขาย ระยะหลังมีขายเป็นแพ็กแยกต่างหากเป็นล่ำเป็นสัน  เพราะเมืองไทยสามารถผลิตเองได้แล้ว สาหร่ายเส้นแก้วเป็นโซเดียมอัลจิเนต โดยสกัดมาจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลผ่านกระบวนการทำให้เป็นเจลและจากเจลทำให้คงตัวเป็นเส้นคล้ายวุ้นเส้นอย่างที่เราเห็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่เป็นน้ำ ปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานไม่เกิน 20 กิโลแคลอรี มีคาร์โบไฮเดรต 4 กรัม ใยอาหาร 4 กรัม และโซเดียมกับแคลเซียม นิดหน่อยจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักเพราะกินแล้วอิ่มท้องดี ลดความอยากอาหารไปได้ แต่ใยอาหารของเส้นแก้ว เป็นใยอาหารชนิดที่ไม่ได้ช่วยเรื่องการขับถ่ายมากนักดังนั้นหากต้องการให้ขับถ่ายสะดวกควรเลือกกินพวกผัก ผลไม้ ดีกว่า   ตัวสาหร่ายเส้นแก้ว ไม่ได้มีรสชาติอะไรออกจืดๆ ดังนั้นต้องนำไปปรุงไปแต่งให้มีรสชาติมากขึ้น จะยำจะแกงก็ว่าไป รสสัมผัสที่ได้จะกรุบๆ กรอบๆบางคนก็เอามาทำเป็นขนมหวานแบบวุ้นใส่น้ำแข็งใส อร่อยดีเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 แก้วตาหวานใจ : อุดมคติกับความเป็นจริงของครอบครัว

ในบรรดาเรื่องราวและเรื่องเล่าที่อยู่ในละครโทรทัศน์นั้น ดูเหมือนว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “สถาบันครอบครัว” เป็นเนื้อหาที่ละครมักจะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นอันดับแรกๆ อาจเนื่องด้วยว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนเรามากที่สุด จนช่วงเวลาไพรม์ไทม์มิอาจมองข้ามเรื่องราวดังกล่าวไปได้เลย             แต่คำถามก็คือ ถ้าภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวจักต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก และสมาชิกครอบครัวที่รักผูกพันกันแน่นแฟ้น อุดมคติแบบนี้กับความเป็นจริงที่เราเห็นในละครจะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเดียวกันมากน้อยเพียงไร?             คำตอบต่อข้อคำถามนี้ก็คือ “อุดมคติ” เป็นภาพที่สังคมคาดฝันว่าอยากไปให้ถึง หรืออาจเป็นจินตกรรมความฝันในความคิดของใครหลายๆ คน แต่ภาพฝันของครอบครัวที่อบอุ่นครบครันพ่อแม่ลูกและหมู่มวลสมาชิกในบ้านนั้น ช่างเป็นภาพที่พบเห็นได้ยากหรือพบได้น้อยมากในละครโทรทัศน์ เหมือนกับภาพชีวิตครอบครัวของ “มดตะนอย” เด็กสาวตัวน้อยที่เติบโตมาโดยที่ไม่เคยได้พานพบหน้าบิดามารดาของตนเองเลย             เพราะคุณแม่วัยใสอย่าง “แม่กวาง” ผู้เป็นมารดา รู้สึกผิดที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยตั้งแต่วัยเรียน ดังนั้นหลังจากที่ให้กำเนิดมดตะนอยมาแล้ว เธอจึงหลบลี้หนีหน้าไปอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ “พ่อหมึก” ผู้เป็นบิดาเอง ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ตนมีลูกสาวกับเขาหนึ่งคน แม่กับพ่อจึงไม่เคยได้เลี้ยงหรือใกล้ชิดกับมดตะนอย และปล่อยให้เด็กสาวตัวน้อยเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของ “ลุงช้าง” พระเอกของเรื่อง             จนกระทั่งหลายปีผ่านไป พ่อหมึกได้ทราบข่าวจากเพื่อนว่า ตนเคยมีบุตรสาวหนึ่งคนตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนมหาวิทยาลัย เขาเองก็ต้องการตามหาลูก จึงไหว้วานให้ “ไข่หวาน” ผู้เป็นน้องสาว เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อสืบค้นหาที่อยู่ของมดตะนอย             จะว่าเป็นพรหมลิขิต หรือการผูกเรื่องของนักเขียนบทให้เกิดเงื่อนปมขัดแย้งอย่างไรมิอาจทราบได้ แต่ในที่สุด สาวห้าวผู้รักรถยนต์เป็นชีวิตจิตใจอย่างไข่หวาน ก็มีอันได้มาพำนักพักอยู่ในบ้านของลุงช้างหนุ่มหวานขี้งอนและรักการทำครัวเป็นพ่อบ้านพ่อเรือน โดยมีมดตะนอยกลายเป็นกามเทพสื่อรักตัวน้อยระหว่างลุงช้างกับอาไข่หวานแบบไม่รู้ตัว             ภายใต้โครงเรื่องแบบที่กล่าวมานี้ ละครได้ผูกโยงฉายให้เห็นภาพของสถาบันครอบครัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ทั้ง “สะท้อน” ภาพความจริงเอาไว้ด้านหนึ่ง ทั้ง “ตอกย้ำบรรทัดฐาน” เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกับที่ “ชี้นำ” หรือ “ตั้งคำถามใหม่ๆ” ให้ผู้ชมได้ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวเอาไว้เช่นกัน             ในลำดับแรกที่ละคร “สะท้อน” ภาพความจริงของครอบครัวเอาไว้นั้น ถ้าเราคิดถึงภาพอุดมคติของความเป็นครอบครัวที่ต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกที่รักใคร่อบอุ่นผูกพัน เพราะลูกมักถูกตีความว่าเป็น “แก้วตา” ในขณะที่คู่ชีวิตก็มีสถานะเป็น “หวานใจ” แต่ทว่า ภาพของละครกลับสะท้อนฉายไปที่ความเป็นจริงของสังคมในอีกทางหนึ่งว่า ชีวิตครอบครัวแท้จริงนั้นไม่ได้มีสูตรสำเร็จเหมือนกับภาพอุดมคติดังกล่าวเพียงด้านเดียว ภาพที่พ่อไปทางและแม่ไปทาง อาจเป็นชีวิตที่จริงแท้ยิ่งกว่าของครอบครัวได้เช่นกัน             แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เด็กที่เกิดมาภายใต้บรรยากาศครอบครัวแตกแยกจะกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาเสมอไป ตราบเท่าที่ยังมีฟันเฟือนตัวอื่นที่หมุนให้สถาบันครอบครัวขับเคลื่อนต่อไปได้ ครอบครัวก็ยังคงดำเนินไปและผลิตเยาวชนรุ่นใหม่ที่น่ารักและเป็นเด็กดีแบบมดตะนอยได้ไม่ต่างกัน             ในแง่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ครอบครัวที่เป็นไปตามขนบจารีตไม่อาจตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้อย่างสมบูรณ์อีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวจะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับว่า คนแต่ละกลุ่มหรือใครแต่ละคนจะเป็นผู้คิดค้นนิยามและตีความความหมายให้กับครอบครัวของเขาแบบแตกต่างกันไป             ฉะนั้น เมื่อขาดซึ่งพ่อกับแม่ มดตะนอยก็ยังมีลุงช้างที่ทำหน้าที่แทนทั้งเป็นพ่อและแม่ที่เลี้ยงเด็กน้อยให้เติบโตมาเป็นคนดี หรือแม้แต่ช่วงที่มีไข่หวานมาพำนักอาศัยใต้ชายคาเดียวกัน ไข่หวานก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “อาไข่หวาน” หากแต่ยังเล่นบทบาทเป็น “แม่ในจินตนาการ” ของมดตะนอยไปในเวลาเดียวกัน             ในขณะที่ด้านหนึ่งละครก็ “สะท้อน” สิ่งที่ “กำลังเป็นอยู่” ว่า ชีวิตจริงของครอบครัวร่วมสมัยไม่ได้อบอุ่นหรือเป็นไปตามอุดมคติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกครอบครัวจะตีความและรังสรรค์สายสัมพันธ์ระหว่างกันของตนเองจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ในมุมฉากจบของละคร ก็เลือกที่จะรอมชอมด้วยการตอกย้ำกลับไปที่ภาพบรรทัดฐานที่ “ควรจะเป็น” ของครอบครัวว่า พ่อแม่ลูกที่อยู่พร้อมหน้าค่าตากัน ก็ยังเป็นอุดมคติที่ทุกๆ ครัวเรือนยังวาดฝันเอาไว้             เพราะฉะนั้น แม้จะพลัดพรากจากแม่กวางและพ่อหมึกไปตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อถักทอสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้กลับคืนมา ในฉากจบของเรื่อง ละครก็ได้ยึดโยงให้มดตะนอยได้พบพ่อกับแม่ และหวนกลับมาร่วมสร้างครอบครัวที่เชื่อว่า “สมบูรณ์” กันอีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ลุงช้างและอาไข่หวานก็ได้ลงเอยกับความรัก และเริ่มที่ก่อรูปก่อร่างสร้างครอบครัวในอุดมคติกันไปอีกทางหนึ่ง             แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ไม่เพียงแต่สะท้อนหรือตอกย้ำเท่านั้น ละครอย่าง “แก้วตาหวานใจ” ยังได้เลือกใช้เส้นทางการ “ชี้นำ” หรือ “เสนอทางเลือกใหม่ๆ” ให้เราได้เห็นด้วยว่า แล้วภาพความจริงที่เราเคยยึดเคยเชื่อกับความสัมพันธ์ที่เวียนวนอยู่ในครอบครัวนั้น จำเป็นต้องเป็นเฉกเช่นนั้นอยู่ทุกครั้งจริงหรือไม่             ภาพตัวละครอย่างลุงช้างที่ชอบทำครัว เลี้ยงเด็ก หรืองุนงงสับสนทุกครั้งที่เกิดรถเสีย กับภาพที่ตัดสลับมาที่อาไข่หวาน ที่เป็นหญิงห้าว สนใจกับงานช่างงานซ่อมรถยนต์ ล้างจานแตกเสมอๆ ก็เป็นตัวอย่างของภาพที่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับคนดูว่า ผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องชอบเรื่องที่ใช้กำลังร่างกายและผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามรักเรื่องที่ละเอียดอ่อนเสมอไป บทบาททางเพศของหญิงชายในสถาบันครอบครัวพร้อมที่จะสลับไปมาระหว่างกันได้ตลอดเวลา             ภายใต้การเล่นบทบาทของละครแบบ “เหรียญสามด้าน” ที่ทั้งฉายภาพสะท้อนสิ่งที่ “กำลังเป็น” ตอกย้ำภาพที่ “ควรจะเป็น” และตั้งคำถามใหม่ๆ กับภาพที่ “อาจจะเป็น” เช่นนี้ ในท้ายที่สุด เมื่อละครจบลง ก็คงทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ในอุดมคติของความเป็นครอบครัวนั้น มดตะนอย ลุงช้าง อาไข่หวาน ตัวละครต่างๆ รวมถึงตัวเราเอง จะขับเคลื่อนนำพานาวาชีวิตครอบครัวของแต่ละคนกันไปเช่นไร                                                                                                

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว : ความรู้กับอำนาจ (แบบผู้หญิงๆ)

  คุณยายทาฮิร่ามาอีกแล้วจ้า... มาแต่ละครั้งคุณยายก็มักจะนำพาทั้งความสนุกสนาน เวทมนตร์วิเศษ และเจ้าแมวชิกเก้นสมุนคู่ใจแนบพกติดตัวมาด้วยเสมอ จาก “สาวน้อยในตะเกียงแก้ว” มาจนถึงเวอร์ชั่นล่าสุด “อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว” คุณยายทาฮิร่าก็ยังสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันอย่างสนุกสนานเช่นเคย คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า แล้วทำไม “แม่มด” อย่างคุณยายทาฮิร่าจึงถูกสร้างให้เป็นภาพของผู้หญิงที่มีมนต์วิเศษและมีอำนาจที่จะเสกโน่นเสกนี่ได้มากมายมหาศาลเช่นนั้น คำตอบแบบนี้คงต้องย้อนกลับไปในโลกอารยธรรมตะวันตกเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงราวศตวรรษที่ 14-15 ในยุโรป ที่นักประวัติศาสตร์หลายๆ คนจะเรียกขานยุคสมัยดังกล่าวว่าเป็นยุคมืดหรือยุค “Dark Age” ที่เรียกกันว่า “ยุคมืด” เช่นนี้นั้น ก็เป็นเพราะว่าช่วงเวลาดังกล่าว คริสตจักรกำลังเรืองอำนาจในยุโรป เพราะฉะนั้น สัจจะและความรู้ใด ๆ ก็ตามที่เวียนว่ายอยู่ในสังคมตะวันตก จึงเป็นความรู้ที่ผลิตผ่านแหล่งอำนาจของศาสนจักรเพียงสถานเดียว ในขณะเดียวกัน หากผู้ใดก็ตามที่ริหาญกล้าจะต่อกรหรือตั้งคำถามกับสัจจะและความรู้ในพระคัมภีร์แล้วล่ะก็ ผู้นั้นก็จะถูกนิยามว่าเป็นพวกนอกรีตที่ต้องขจัดออกไป  และในท่ามกลางกลุ่มนอกรีตดังกล่าว ก็มีการรวมตัวกันของบรรดาผู้หญิงจำนวนมาก ที่ตั้งลัทธิต่อต้านคริสตจักรและผลิตความรู้ที่แหกกฎออกไปจากสัจจะดั้งเดิม ผู้หญิงกลุ่มนี้เองที่ถูกตีความว่าเป็นพวกแม่มด อันเป็นบ่อเกิดของขบวนการ “witch hunt” หรือขบวนการล่าแม่มด ที่จะตามล่าพวกเธอมาลงโทษและเผาไฟให้ตายไปทั้งเป็น ความรู้ของขบวนการแม่มดแบบนี้ ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์และต้องรื้อถอนเสียให้สิ้นซากไปจากโลกตะวันตกในยุคอดีตกาล อย่างไรก็ดี แม้บรรดาแม่มดจะได้ถูกกวาดล้างกันขนานใหญ่ไปแล้วตั้งแต่ยุคมืด แต่ก็มิได้แปลว่า ในปัจจุบัน อำนาจและอิทธิฤทธิ์ของคุณๆ แม่มดเหล่านี้จะได้สูญสลายหายไปหมด เพราะอย่างน้อย การกลับมาอาละวาดเป็นครั้งเป็นคราวของคุณยายทาฮิร่าและแม่มดร่วมก๊วน ก็บอกผู้ชมเป็นนัยๆ ว่า ความรู้และอำนาจของแม่มดนั้น ยังมีให้เห็นอยู่ เพียงแต่หลบเร้นและรอคอยจังหวะจะสำแดงพลังอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมากับเวอร์ชั่นของ “อสูรน้อยในตะเกียงแก้ว” ด้วยแล้ว คุณยายทาฮิร่าไม่ได้โผล่มาคนเดียว เธอได้พกพาเอาคุณยายแม่มดบาบาร่า (คู่ปรับเก่า) กับบรรดาคุณหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นรุ่นหลังอย่างแนนนี่และดารกามาร่วมวงไพบูลย์เสวนาประชาคม สลับกับโยกย้ายส่ายสะโพกร่ายมนตราคาถากันไป เมื่อคุณยายเธอส่งคุณหลานๆ มาใช้ชีวิตยังโลกมนุษย์ เพราะด้วยเหตุผลที่ว่า แนนนี่หรือดารกา ใครคนใดคนหนึ่งอาจจะเป็นอสูรร้ายที่เกิดมาเพื่อกวาดล้างทำลายดินแดนแม่มด คุณหลานทั้งสองคนนั้นก็ต้องเริ่มเข้ารีตเรียนรู้วิถีชีวิตแบบที่มนุษย์ทั่วๆ ไปเขาทำกัน และที่ขาดเสียมิได้ก็คือ เนื่องจากความรู้และอำนาจแบบแม่มดได้ถูกตีตราไว้ตั้งแต่หลายศตวรรษก่อนว่า เป็นอำนาจด้านมืดที่ไม่ชอบธรรม ดังนั้น ทั้งแนนนี่และดารกาจึงต้องมีภารกิจแบบตื่นเช้าล้างหน้าแปรงฟันและออกจากบ้านไปมหาวิทยาลัย เพื่อซึมซับเอาความรู้ตามตำราทางโลกแบบที่มนุษย์คนอื่นๆ เขาเรียนกัน รวมทั้งแนนนี่เองก็ต้องทำพันธะสัญญากับคุณหมอภวัตพระเอกหนุ่มว่า เธอจะต้องไม่ไปเที่ยวใช้ความรู้และอำนาจแบบแม่มดไปทำร้ายใครต่อใคร หรือแม้แต่ใช้อำนาจดังกล่าวแบบไม่มีที่มาที่ไปโดยไม่จำเป็น แล้วทำไมคุณหมอภวัตจึงต้องจับน้องแนนนี่มาทำพันธะสัญญากันเช่นนี้ด้วย??? คำตอบที่ละครให้ไว้ก็คือ เพราะความรู้แบบแม่มด ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือความรู้แบบผู้หญิงๆ นั้นมีความพิเศษหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความรู้ที่ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของสังคมโลก เริ่มตั้งแต่แม่มดผู้หญิงเหล่านี้สามารถหายตัว ปรากฏตัว ขี่ไม้กวาดเหาะเหินเดินอากาศได้ เสกให้บรรดาน้องแมวน้องเสือพูดภาษามนุษย์อย่างเราๆ ได้ หรือเสกสิ่งของต่างๆ ให้เป็นโน่นเป็นนี่ได้หมด อิทธิฤทธิ์และความรู้ของแม่มดแบบนี้เอง ที่ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีอำนาจที่ไม่แตกต่างไปจากอำนาจของพระเจ้าที่เป็นผู้สร้างโลกและมวลสรรพชีวิต และเมื่อมีอำนาจที่ท้าทายความเชื่อสูงสุดอย่างพระเจ้าได้เช่นนั้น ความรู้ของแม่มดจึงต้องถูกจัดวินัย หรือแม้แต่กักขังไว้ใน “ตะเกียงแก้ว” เพราะเป็นความรู้ “ด้านมืด” ที่ยากแก่การควบคุมเป็นอย่างยิ่ง ผิดกับความรู้แบบคุณหมอภวัตที่เป็นองค์ความรู้ “ด้านสว่าง” ที่มีเหตุผลและจริยธรรมทางวิชาชีพ รวมทั้งมีเป้าหมายในการใช้บำบัดรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ กระนั้นก็ตาม แม้อำนาจแบบแม่มดจะถูกตีตราไว้ว่าเป็นความรู้ด้านมืด แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ปัญหาของความรู้นั้นๆ จะเป็นแบบ “มืด” หรือ “สว่าง” อย่างใด กลับไม่ได้ผิดหรือถูกที่ตัวขององค์ความรู้นั้นเองหรอก ตรงกันข้ามอำนาจของความรู้จะ “มืด” หรือ “สว่าง” ได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ใช้ และใช้ความรู้นั้นด้วยวิธีการใดมากกว่า แน่นอนว่า ด้านหนึ่งเราก็ได้เห็นการสาธิตพลังอำนาจแห่งอวิชชาที่เหนือการควบคุม แบบเดียวกับที่ดารกาได้สำแดงฤทธิ์เดชของอสูรสาวเที่ยวไล่เข่นฆ่าใครต่อใครในท้องเรื่อง แต่กระนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งคุณยายทาฮิร่าและหลานแนนนี่กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า ความรู้ด้าน “มืด” ของแม่มดที่หากมีคุณธรรมพ่วงเข้ามา ก็สามารถกลายเป็นความรู้ที่สร้างสรรค์และกอบกู้โลกมนุษย์จากอสูรร้ายได้เช่นกัน จะเป็นความรู้ในระบบหรือนอกระบบ หรือจะเป็นความรู้แบบศาสนาดั้งเดิม แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือแบบคุณยายแม่มดทาฮิร่า ความรู้เหล่านี้จะเปล่งรัศมีได้ก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้ใช้มากกว่า หากเป็นพวกอวิชชามหานิยมแล้วล่ะก็ จับใส่ “ตะเกียงแก้ว” ขังไว้ ก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้ออกมาเพ่นพ่านจนปั่นป่วนทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นแล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 กระแสต่างแดน

คราวนี้ต้องเลิกให้ได้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้ยาแก้อักเสบกันเป็นว่าเล่น ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ บอกว่าคนจีนก็ติดยาแก้อักเสบเข้าขั้นเหมือนกัน  ซื้อมากินกันเองยังไม่เท่าไร แต่ข่าวบอกว่าขนาดไปพบแพทย์แล้วก็ยังไม่วายได้ยาแก้อักเสบกลับมากินไปพลางๆ ยามที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  สถิติระบุว่าโรงพยาบาลในประเทศจีนมีการจ่ายยาแก้อักเสบเกินปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า  เขาซุบซิบกันอย่างหนาหูในชุมชนออนไลน์ของจีนว่าเหตุที่มีการจ่ายยาแก้อักเสบกันมากมายนั้นเป็นเพราะโรงพยาบาลได้ประโยชน์จากการสั่งยาประเภทนี้นั่นเอง จีนเป็นผู้ผลิตยาแก้อักเสบรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยอัตราการผลิต 147,000 ตันต่อปี มีทั้งหมด 181 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่(ร้อยละ 83) ของปริมาณที่ผลิตได้นั้นเป็นการบริโภคภายในประเทศ  อย่างที่ทราบกัน การใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไปทำให้การรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นทำได้ยากขึ้น ปีที่แล้วจีนก็ต้องเจอกับปัญหาเชื้อชั่วฆ่าไม่ตาย ที่เรียกกันว่าซุปเปอร์แบคทีเรีย NDM-1 ที่สามารถต้านทานยาแก้อักเสบได้เกือบทุกชนิด ร้ายแรงกว่านั้น ขณะนี้มีทารกที่เกิดมาพร้อมอาการดื้อยาแล้วด้วย รัฐบาลจีนคงต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อหยุดพฤติกรรมการใช้และการจ่ายยาแก้อักเสบอย่างพร่ำเพรื่อ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายจนไม่สามารถหายาที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะจัดการกับเชื้อแบคทีเรียที่อัพเกรดตัวเองได้     หรือผู้บริโภคจะไม่แคร์สื่อ? หลายคนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายของพนักงานบริษัทฟ็อกซ์คอน ด้วยการกระโดดหน้าต่างโรงงานถึงวันนี้ มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จไปแล้ว 17 รายโรงงานที่ว่านี้ก็เป็นโรงงานที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี อย่างไอพอด และไอโฟนกันนั่นเอง และประธานบริษัทนี้ก็คือชายที่ร่ำรวยที่สุดในไต้หวัน นามว่าเทอรี่ กั๊ว นั่นเอง หลังจากข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายแพร่ออกไป บริษัทก็ประกาศขึ้นเงินเดือนเกือบร้อยละ 70 ให้กับพนักงานในสายการผลิต เพิ่มจากเดือนละ 1,200 หยวน เป็น 2,000 หยวน ฟ็อกซ์คอนมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่เมืองเฉินเจิ้น ประเทศจีน ในฟ็อกซ์คอนซิตี้หรือไอพอดซิตี้นี้มีโรงงานทั้งหมด15 โรง มีประชากร 300,000 ถึง 450,000 คน เขาบอกว่าเหมือนเมืองขนาดย่อมๆเที่มีทุกอย่างพร้อมสรรพ รวมถึงสถานีโทรทัศน์ของตัวเองด้วย เรียกว่าไม่จำเป็นต้องออกนอกกำแพงเมืองไปไหนกันเลย  ข่าวการฆ่าตัวตายทำให้กลุ่ม SACOM (Students and Scholars against Corporate Misbehavior) ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักศึกษาและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 20 แห่งในจีน ที่คอยจับตาดูพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธุรกิจ ทำการติดตามสำรวจสภาพการทำงานในโรงงานของฟ็อกซ์คอนเป็นเวลา 4 เดือน  SACOM บอกว่าที่นี่มีการควบคุมระเบียบวินัยแบบเคร่งครัดเต็มอัตรา พนักงานต้องยืนตัวตรงตลอดการทำงาน และต้องทำชิ้นงานให้เสร็จตามจำนวนที่กำหนด ถ้าทำไม่เสร็จหรือใช้เวลากับกิจกรรมอื่น เช่น เข้าห้องน้ำ หรืออาบน้ำนานเกินไป ก็จะถูกทำโทษทั้งด้วยการทุบตีและการทำให้อับอาย   นอกจากนี้ยังห้ามคุย ห้ามหัวเราะ ห้ามบิดขี้เกียจในเวลางาน (ห้ามหลับคงไม่ต้องพูดถึง)  ฟ็อกซ์คอนออกมาโต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า ไม่จริงนะ บริษัทออกจะมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานจำนวน 937,000 คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และได้รับค่าตอบแทนและการชดเชยที่ไม่แพ้บริษัทอื่นๆ ทางแอปเปิ้ลเองก็ยืนยันว่าตนเองเลือกใช้ฐานการผลิตที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับสูงสุดเสมอมา ที่สำคัญคือทั้งๆ ที่มีข่าวนี้ออกไป ยอดขายเขาก็ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนแต่อย่างใด แอปเปิ้ลก็ยังทำยอดขายได้ 16,000 ล้านปอนด์ต่อไตรมาส  หรือเพราะผู้บริโภคยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึงการควบคุมต้นทุน การผลิตให้มีราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะมีคนต้องทุกข์ทรมานบ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ อย่างน้อยก็ได้ของถูก แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ รายงานจากสำนักวิจัย iSupply ระบุว่าไอโฟนเครื่องหนึ่งนั้นมีต้นทุนในการประกอบ 6.54 เหรียญ ค่าชิ้นส่วนต่างๆ อีก 187.51 เหรียญ รวมแล้วต้นทุนอยู่ที่ 194 เหรียญ หรือ 5,842 บาท ว่าแต่คุณซื้อไอโฟนมาในราคาเท่าไร?     อยู่บ้านอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ เกาะเชจู นอกจากจะเป็นสถานที่ยอดฮิตในการไปเที่ยวตากอากาศของพระเอก นางเอกหนังเกาหลีแล้ว เขายังเป็นเกาะที่มีหมู่บ้านอัจฉริยะอีกด้วย ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเชจู เขากำลังทดลองใช้ระบบเครือข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Smart Grid เป็นแห่งแรกในเกาหลี ที่ว่าฉลาดนั้นก็เพราะมันสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และช่วยให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลการใช้ไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที และยังจะได้รับการเตือนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคด้วย   นอกจากแผงโซล่าเซลล์ที่จะติดตั้งเพื่อให้แต่ละบ้านสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เองแล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญในระบบที่ว่านั้นได้แก่ Smart Tag หรือ Smart Plug ตามจุดปลั๊กไฟ ที่จะช่วยป้องกันการบริโภคไฟฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้อยู่ในโหมด Stand-by   เขาบอกว่าถ้าทุกครัวเรือนในประเทศใช้ระบบดังกล่าว ก็จะสามารถประหยัดเงินได้ปีละ 1,500 ล้านเหรียญ แต่ที่เห็นผลทันทีคือผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟได้ ด้วยการขายพลังงานไฟฟ้า (จากแสงอาทิตย์) ที่เหลือใช้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำไปหักลบจากค่าไฟฟ้าที่ตนเองจะต้องเสีย   มีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งซึ่งมีสมาชิก 3 คน เคยจ่ายค่าไฟเดือนละ 50,000 วอน (ประมาณ 1,300 บาท) หลังจากติดระบบแล้ว ค่าไฟเหลือเพียง 1,000 วอน(ประมาณ 26 บาท) เท่านั้น   เมืองผู้ดีก็มีไม้เถื่อน อังกฤษเป็นประเทศที่นำเข้าไม้ผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ความจริงแล้วผู้บริโภคที่นั่นสามารถช่วยหยุดการค้าไม้เถื่อนได้ ด้วยการเลือกซื้อไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีฉลาก FSC (Forestry Stewardship Council) แต่จากการสำรวจขององค์กร WWF พบว่ามีคนอังกฤษมีการรับรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย มีเพียงร้อยละ 28 ของผู้บริโภค ที่ตอบแบบสำรวจที่รู้จักเครื่องหมายดังกล่าว เมื่อเทียบกับการรับรู้ในเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของการค้ากาแฟอย่างเป็นธรรม(หรือแฟร์เทรด) แล้วถือว่าน้อยมาก   ร้อยละ 50 ของผู้บริโภคไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ขายในอังกฤษนั้นอาจจะมาจากแหล่งที่ผิดกฎหมาย หรือพูดให้ชัดคือมาจากการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง พวกเขาเชื่อว่าถ้าเข้ามาขายในอังกฤษก็น่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว  แต่ละปีผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายเงินกว่า 700 ล้านปอนด์ไปกับผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้   เมืองไม่ประหยัดน้ำ ลิมา เมืองหลวงของประเทศเปรู เขาขาดแคลนน้ำใช้จนต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ประธานาธิบดีอลัน การ์เซีย ออกมาประกาศว่าจะให้ทุกคนได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปี ค.ศ. 2011 เหตุที่น้ำน้อยก็เพราะเมืองนี้เป็นเมืองทะเลทรายที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากเมืองไคโร ประเทศอียิปต์  แล้วที่วิกฤติซ้ำคือการใช้น้ำอย่างไม่ประหยัด ข่าวบอกว่าเมืองนี้เขาไม่มีการติดตั้งมิเตอร์น้ำด้วย  ข้อมูลของศูนย์วิจัยภูมิศาสตร์ประยุกต์ระบุว่าประชากรในเมืองลิมา มีการบริโภคน้ำต่อหัววันละ 250 ลิตร ในขณะที่เมืองหลวงในทวีปยุโรปกลับมีอัตราการใช้น้ำเพียงวันละไม่เกิน 140 ลิตรต่อวัน  หรือแม้แต่กรุงไคโรซึ่งเป็นเมืองทะเลทรายเหมือนกัน มีการใช้น้ำวันละ 100 ลิตรต่อหัวเท่านั้น  นอกจากนี้อัตราการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ( เช่น น้ำรั่ว) นั้นสูงถึงร้อยละ 42 ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นสูญเสียน้ำใช้เพียงร้อยละ 3.5  เยอรมนีร้อยละ 5  และเม็กซิโก ร้อยละ 17

อ่านเพิ่มเติม >