ฉบับที่ 213 แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู

     ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ในบ้านเรายืดเยื้อมามากกว่าหนึ่งปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่หน้าเพจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 ชุด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเอง แสดงจุดยืนชัดเจนในการแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต) หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมได้แถลงจุดยืนดังกล่าวก่อนแล้วและในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคและทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากการใช้ยาฆ่าหญ้า 2 พื้นที่ คือที่ รพสต.หนองเรือ อ.โนนสัง และรพสต.บ้านพนาวัลย์ อ.นากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมผู้ได้รับผลกระทบที่ให้ข้อมูลจำนวน 7 ราย โดย 4 รายจาก อ.โนนสัง นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่ผู้เสียหายจะได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้า ลักษณะบาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิด 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) ส่วนอีก 3 รายจาก อ.นากลาง เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด มีผู้เสียหายใช้สารเคมียี่ห้อพาราควอต 2 ราย ใช้ เอชโซนัด 95 ตราหมาแดง 1 ราย บาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิน 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้าทางทีมงานจึงได้พูดคุยกับ ทญ.วรางคณา  อินทโลหิต หรือหมอฝน ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู และหัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้เล่าเรื่องสารเคมีในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาว่า “เริ่มมาจากการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม  เรื่องสารเคมีมันเกิดจากเมื่อปี 2555 จังหวัดหนองบัวลำภู และทำโครงการร่วมกับ อบจ.กับ สสส. เรื่องจังหวัดน่าอยู่ เรื่องสารเคมีเกษตรเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน 5 เรื่องที่เราทำ ตอนแรกที่คณะทำงานคิด เราคิดว่าจะทำเรื่องป่ากับขยะ ในเวทีนั้นมีเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แกนำเข้าข้อมูลสารเคมีเกษตร ซึ่งตอนนั้นถือว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ของกรรมการเลยว่ามันมีปัญหาสารเคมีในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าปัญหาสารเคมีในพื้นที่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา คิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ต่อมาพยาบาลโรงพยาบาลนากลางเขาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่า พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ มีโรงเรียนต้องปิดโรงเรียนเพราะเด็กๆ ได้รับผลกระทบจาการฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะต้องเดินผ่านจากไร่อ้อยไปโรงเรียน แล้วเกิดอาการวิงเวียน อาเจียนจนต้องปิดโรงเรียน พยาบาลก็นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็รู้ว่าสารเคมีเป็นพิษ แต่ก็ต้องทำมาหากิน พยาบาลเลยมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเราเลยนึกถึงเวทีที่เกษตรกรคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ท่านนั้นพูดถึง ตัวเราคิดว่าเราสาธารณสุขคงมีกำลังไม่พอที่จะทำเรื่องนี้  เลยว่าจะชวนเครือข่ายเกษตรมาช่วย แล้วในโครงการจังหวัดน่าอยู่มีงบประมาณที่จะพอจัดเวทีให้ความรู้ได้ แล้วตอนนั้นได้รู้จักกับนายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เลยจัดเวทีให้ความรู้ที่นากลาง และศรีบุญเรือง เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและคุณหมอปัตพงษ์มาพูดเรื่องผลกระทบ นักวิชาการของเรา นักวิชาการสมัชชาสุขภาพ คุณโกวิท พรหมวิหารสัจจา ก็อยู่บนเวทีนี้ด้วย แกจะทำพื้นที่นวเกษตร เราเลยจะทำเป็นพื้นที่นำร่อง ใครไม่ทำ เราจะทำ คุณโกวิทเลยไปซื้อที่ใหม่แล้วเข้าไปตัดหญ้าถางพื้นที่ อยู่ๆ วันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าแกเป็นโรคเนื้อเน่า แกบอกว่าแกไปสัมผัสอยู่ 2 วันในพื้นที่นั้น บอกว่ามียาฆ่าหญ้า ปวดขามาก เลยไปหาหมอกระดูก หมอบอกว่ามันเป็นการติดเชื้อ ก็ส่งต่อไปที่ รพ.อุดรตอนนั้นแกเกือบเสียชีวิตเลยนะ ช็อกไปเลยที่ถูกลอกหนัง ถูกทำอะไรหลายอย่าง เราก็เลยได้มาศึกษาว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรเนื่องจากคนใกล้ตัวเป็น จึงนำเรื่องปรึกษากับหมอปัตพงษ์ อาจารย์บอกว่า เกิดจากยาฆ่าหญ้า ประจวบกับสมัชชาสุขภาพนั้นต้องคิดนโยบายและการทำงานเชิงวิชาการด้วย ช่วงนั้นพออาจารย์โกวิท หายป่วย ซึ่งเป็นระยะเวลาปีกว่า เราก็มาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ทำโฟกัสกรุ๊ปก็พบว่าส่วนใหญ่จะไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มียาฆ่าหญ้า จึงเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกัน การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพาราควอต ในช่วงที่ทำสมัชชาสุขภาพจังหวัดในที่ประชุมของสาธารณสุขจังหวัด มีศัลยแพทย์ท่านหนึ่งได้มานำเสนอในที่ประชุมว่า โรคเนื้อเน่าเป็นโรคอันดับ 1 ในแผนกศัลยฯ ของหนองบัวลำภู ซึ่งเขาก็ไม่รู้สาเหตุ ในวันนั้นเราก็พูดในที่ประชุมว่า มันเกิดจากยาฆ่าหญ้าทุกคนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเองเป็นทันตแพทย์ พี่เป็นทันตแพทย์ไง ศัลยแพทย์ท่านจึงบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกว่าในส่วนของโรงพยาบาล เขาจะมีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยอะไรมาก สถิติการป่วยของผู้ป่วย มีค่าใช้จ่ายสูงไหม เขาจะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งเขายังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้นะ เป็นปัญหาอันดับ 1 ในปี 2556  ของแผนกศัลยฯ พอปี 57 มีพยาบาลไปเรียนโท แล้วทำงานวิจัยเรื่องสารเคมีเกษตร เขาเลยเจาะไปที่อ้อย เพราะที่ อ.ศรีบุญเรืองปลูกอ้อยเยอะ เลยทำข้อมูลมาให้เห็นว่าสารเคมีที่ใช้เยอะที่สุดคือยาฆ่าหญ้า อันดับ 1 คือ พาราควอต และก็บอกปริมาณ บอกอะไร ข้อมูลที่เราเริ่มรณรงค์กับชาวบ้านก็เป็นสไลด์จากข้างนอก แล้วก็มีข้อมูลจากข้างใน ระหว่างนั้นก็มีการเจาะเลือดเกษตรกร โครงการ เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เขาจะเจาะเลือดเกษตรกรเพื่อดูยาฆ่าแมลง ก็จะพบว่าเสี่ยงกว่า 50%  ซึ่งตอนนั้นอาจารย์หมอปัตพงษ์ บอกว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะมีแต่ยาฆ่าแมลง เราเคยไปเยี่ยม รพ.สต.กำนันคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาเป็นคนรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า แต่เขาไปเจาะเลือดแล้วเขาปลอดภัย เขาเลยนึกได้ว่าเคยคุยกับอาจารย์หมอปัตพงษ์ว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะเป็นยาฆ่าแมลง เราจึงทำรณรงค์ว่าที่เราเจาะเลือดเจอไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า แต่เป็นยาฆ่าแมลง จนมาปี 57 เราไปหาว่าที่ไหนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ เพราะเรารู้ว่าคนเขาใช้เยอะ ทางด้านเกษตรกรที่งานสมัชชาสุขภาพก็มองว่ามันต้องลด ละเลิก พอดีว่ารู้จักกับคุณนิพัท ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปรึกษาของนายก อบจ. พอเรานำประเด็นของสมัชชาสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  แล้วแนวทางที่เราไปศึกษามาจากต่างประเทศนี่บอกว่า ต้องเกษตรอินทรีย์นะ ต้องลดการใช้จึงจะปลอดภัย เราก็ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลแบบนี้ไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พอปี 58 พอเราจะขับเคลื่อนสมัชชาคุณนิพัทก็รวมเครือข่ายได้ 6 เครือข่าย ซึ่งดิฉันมีหน้าที่ไปให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ ในการทำงานเรายังมีอีกเครือข่ายชื่อ สกว.ท้องถิ่น ซึ่งเสนอว่า สมัชชาฯ ต้องมีการวิจัยในท้องถิ่นว่ามีการใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ขนาดไหน แต่ในปี 57-58 ยังไม่ได้ทำประเด็นนั้น ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ ก่อนจาก 6 เครือข่ายเพิ่มมาเป็น 12 เครือข่าย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านผู้ว่าจะย้ายบ่อย ผู้ว่ามาทีไรคณะกรรมการสมัชชาจะต้องไปให้ข้อมูล ผู้ว่าฯ สองท่านมองว่า ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน พอปี 60 เราก็ไปเจาะที่อำเภอสุวรรณคูหาให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ว่าเขามีปํญหาอะไร มีที่บุญทันทำเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ที่นาดีทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาสารเคมี ที่กุดผึ้งทำเรื่องสารทดแทนยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย จนในปี 60 ที่มีการเริ่มแบนพาราควอต ดิฉันกับคุณนิพัทก็ได้รับเชิญไปที่กรุงเทพฯ โดยองค์กรไทยแพน ได้จัดแถลงข่าวที่จะแบนสารเคมี เพราะในเดือนเมษายน ปี 60 รมต.สาธารณสุขขอให้แบนสารเคมี เราก็ดีใจนะในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ เดือนกันยายนช่วงนั้น ญาติของคุณนิพัทแกเป็นโรคเนื้อเน่าที่แขนพอดี แกเลยถ่ายรูปแล้วโพสต์ขึ้นไลน์ของเครือข่ายเกษตรอินทรย์ พอวันรุ่งขึ้นไปประชุมที่ไทยแพนเขาก็ถามว่า จังหวัดไหนจะแบนบ้าง เราก็เลยขึ้นไปแถลงข่าวกับเขา เราพูดเรื่องโรคเนื้อเน่าหรือ NF (Necrotizing fasciitis) คนก็ไม่เข้าใจ ภาษาวิชาการเรียกว่าโรคหนังเน่า ต่อมาก็เรียกว่าโรคเนื้อเน่า เราก็เล่าว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร คุณนิพัทก็โพสต์ภาพไป มันก็เป็นข่าวดังเพราะคนไม่รู้จัก นักข่าวก็มาทำข่าวที่ รพ.หนองบัวลำภู ประกอบกับช่วงนั้นท่านผู้ว่าคนที่แล้ว(ตอนนี้ย้ายไปอุตรดิตถ์) เราไปเล่าให้ท่านฟังพร้อมกับให้ข้อมูล ประโยคเด็ดซึ่งท่านผู้ว่าบอกมาทีหลังว่า ฟังแล้วกระตุกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง คือนำเสนอท่านว่า “ในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ” แล้วเราเอาเอกสารข้อเท็จจริงเสนอผู้ว่าฯ ท่านก็นำเสนอส่วนราชการ นี่คือก่อนจะเป็นข่าว พอเป็นข่าวนักข่าวมาทำข่าวเยอะ ท่านผู้ว่าไปเยี่ยมผู้ป่วย พอท่านถามก็จะพบว่า ผู้ป่วยจะมีแผลก่อนแล้วไปสัมผัสยา มีคนหนึ่งโดนปูหนีบแล้วไปล้างมือในที่นา จากนั้นเกิดอาการแขนบวมพอง จึงต้องลอกเนื้อที่แขน พอใครไปสัมภาษณ์ก็จะพบว่าที่บ้านผู้ป่วยมียาฆ่าหญ้าเยอะมาก พอได้ข้อมูลแบบนี้เลยคิดว่าเราต้องขยับต่อ ต้องทำงานต่อ พอหนองบัวลำภูบูมขึ้นมา ทางส่วนวิชาการก็มา แพทย์จากสำนักระบาดวิทยาก็ลงมา เขาก็ไม่รู้จักมาก่อนก็มาทำข้อมูลให้ เราบอกว่าเกิดจากยาฆ่าหญ้า เขาก็ไม่ฟันธง สงสัยว่ามันเกิดได้อย่างไร เนื้อเน่า NF เกิดจากเชื้อโรค แต่เขาก็บอกว่า รูปกราฟการติดเชื้อที่เป็นฟันปลาว่า ถ้าติดเชื้ออย่างเดียวรูปกราฟจะไม่เป็นฟันปลาแบบนี้ เขาต้องไปค้นหาให้ได้ว่าเกี่ยวข้องกับฤดูกาลอย่างไร ประกอบกับในปี 60 นี้ทางไทยแพนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ นักวิจัยชุมชนที่เก็บข้อมูลมาจากหลายพื้นที่ ก็บอกว่าที่เขาเก็บมาเห็นชัดเจนว่ามีการใช้พาราควอตเยอะ เราก็อยากรู้ว่าใช้เยอะแล้วมีการตกค้างเยอะขนาดไหน เรามีหน้าที่ประสานก็ประสาน จนในที่สุดได้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมา ตอนแรกทางนั้นจะไม่มาเพราะว่าไกล แล้วเคยทำที่น่านแล้วแต่ผู้ว่าฯ ไม่ยอมรับ แต่หลังจากเราโทรหา ดร.พวงรัตน์ ซึ่งตอนแรกไม่รู้จักหนองบัวลำภูมาก่อน ระหว่างนั้นเราก็สื่อสารกับผู้ว่าฯ ว่าแพทย์ระบาดวิทยาให้ทำวิจัยเพิ่มเติม ท่านบอกว่าเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วง อย่ากังวลเรื่องราคา ท่านบอกว่าจะหาเงินทำวิจัยให้ เลยคุยกับดร.พวงรัตน์ว่า ท่านผู้ว่าฯ เห็นด้วย ทางนักวิจัยจากนเรศวรเลยมาเก็บข้อมูลก่อนว่า สมเหตุสมผลไหมที่จะมาทำ หลังจากที่ดร.พวงรัตน์มาเก็บข้อมูลในเดือนธันวาคม คราวนี้ตกใจมาก เนื่องจากเห็นสภาพแวดล้อมแล้วน่ากลัวมาก เพราะที่ทำกินคือ ไร่อ้อยกับบ้านชาวบ้านนี่อยู่ติดกันเลย ซึ่งต่างจากที่น่าน ที่จะมีที่ทำกินอยู่ที่หนึ่ง บ้านอยู่ที่หนึ่ง เขาบอกว่าน่ากลัว เมื่อกลับไปวิเคราะห์ตัวอย่าง 2-3 วันแกรีบโทรกลับมาเลยว่า ที่นี่มีการตกค้างสูงมาก ในที่สุดต้องมีการจัดการ ทางจังหวัดต้องทำอย่างไร โดยการทำต้องไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนกด้วย พอเดือนมกราคมก็ให้มีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน เช่น ที่ระบบประปา แบ่งหน้าที่กันว่า อบจ.ต้องทำอะไร แล้วผู้ว่าก็เน้นว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นจริง จึงนำปัญหาสารเคมีนำเข้าเป็นวาระของจังหวัด ต่อมาเราก็มีการวางแผนการลดใช้สารเคมี โดยมี ม.นเรศวร(มน.) มาช่วยเก็บตัวอย่าง 500 ตัวอย่าง ได้ข้อมูลมาว่าตกค้างเยอะ จากนั้นเราก็ขอทุนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ มช.ว่าจะลดสารเคมี เขาเลยให้เข้าโครงการท้าทายไทย ในเรื่องของการลดการใช้สารเคมี ให้ทาง มน.ช่วยเขียนโครงการว่าจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร ได้ผลสรุปว่า ต้องลดการใช้สารเคมีประมาณ 40% ให้ได้ในปี 64 และจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างไร การกรองสารพาราควอตในน้ำประปา โดยที่จังหวัดน่านใช้ถ่านกัมมัน ได้เชิญคนที่เผาถ่านกัมมันเป็นมาช่วย อันนี้เป็นการแก้ไขเองปัญหาสารเคมี ส่วนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มีการขับเคลื่อน เช่น รพ.สต.ไปเจาะเลือดเกษตรกรเจอตกค้างเยอะ ปลูกผักในพื้นที่สาธารณะ สนับสนุนเรื่องน้ำประปา สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทำโครงการหัวนาโมเดลให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ มีบุญทันโมเดลที่แก้ปัญหาสารเคมี และกำลังจะประกาศยกระดับเป็นหนองบัวลำภูโมเดล ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารเคมี 3 ปี เพราะถ้าหนองบัวลำภูเป็นโมเดล(ต้นแบบ) ได้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ได้ เมื่อปี 57 เราเล่าเรื่องโรคเนื้อเน่าให้ นพ.วีรวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ฟังท่านยังไม่รู้จัก แต่พอเมื่อปีที่ผ่านมาเจอท่านอีกครั้งท่านบอกว่าให้ไปช่วยที่ยโสธรด้วยที่นั่นเป็นเยอะ พอเราไปถามหลายๆ จังหวัด โรคนี้เป็นเยอะนะแต่คนยังไม่สนใจ   บทเรียนในการทำงานและสิ่งที่อยากเห็นในการแก้ปัญหา เวลาเราไปให้ข้อมูลชาวบ้าน เขาจะรู้สึกว่าเขาใช้มัน(ยาฆ่าหญ้า) จนเหมือนเป็นยาธรรมดา เหมือนเรากินยาพาราที่เราไปซื้อที่ไหนก็ได้ แล้ววันดีคืนดีพอเราไปบอกว่าพาราเป็นพิษ ชาวบ้านจะถามว่า ถ้ามันอันตรายทำไมนำเข้าล่ะ ชาวบ้านจะมองแบบนี้ จะมองว่ามันไม่อันตราย เราเลยคุยกับชาวบ้านว่าทำอย่างไรเราจะลด ละ เลิก ได้ก่อน เพราะ 50 ประเทศยกเลิกไปแล้ว เราไม่ใช่ประเทศแรกที่ยกเลิกแล้วทำไมเราจะยกเลิกไม่ได้ ชาวบ้านจะถามว่า สารทดแทนเขาจะใช้อะไร ในขณะเดียวกันหน่วยงานของกระทรวงเกษตรก็บอกว่าแล้วชาวบ้านจะใช้อะไรแทนพาราควอต มันยังจำเป็นอยู่ ตัวเราเองเป็นผู้บริโภคอยากให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะเวลาไปซื้อผัก เราไว้ใจไม่ได้เลย คือเราไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลยนะ ความมั่นคงทางอาหารเราไม่มีเลย เราจะทำอย่างไร ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสารเคมีเกษตร ยังไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธินะคะ โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องเป็นเรื่องใหม่มาก เราก็อยากให้เขายกเลิกการใช้ เพราะเรารู้ว่ามันอันตราย ในส่วนของตัวเองก็จะพยายามทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมารองรับมันก็จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นความรู้ใหม่ของหมอว่ามันดูแลตรงนี้ได้นะ ต้องขอบคุณทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงตรงนี้ก็อยากฝากว่า เราทุกคนอยู่ในอันตรายทั้งนั้น เพราะว่าตอนนี้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ตอนนี้พืชผัก ผลไม้มันปนเปื้อนหมดเลย ที่ผ่านมาไทยแพนตรวจเจอแต่ยาฆ่าแมลงไม่เคยตรวจยาฆ่าหญ้า ปี 60 เจอยาฆ่าหญ้าเยอะมากเพราะมันแทรกซึมไปทุกที่ เพราะมันลงน้ำบาดาลแล้ว ฉะนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนด้วยการไม่ใช้และไม่นำเข้า ถ้าไม่ลุกขึ้นมา ถ้าไม่ห่วงตัวเอง คนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แร่ใยหินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมี

นับแต่มี มติ ครม. ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ทุกวันนี้ประเทศเรายังนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 4 หมื่นตันทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่คำสั่งของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ง่ายๆ สำหรับประเทศนี้  แร่ใยหินเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพตัวที่สำคัญที่สุด      แร่ใยหิน เป็นกลุ่มของแร่ในธรรมชาติจำพวกเส้นใยเซอร์เพนไทน์(serpentine) หรือแอมฟิโบล(amphibole) ซึ่งเป็นแร่ที่มีประโยชน์ทางการค้าเนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำและทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี จึงนิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานสูงทั้งความร้อนและกรด ด่าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ท่าน้ำซีเมนต์ เบรกและคลัทช์รถยนต์ เสื้อกันไฟ เป็นต้น แต่เพราะก่ออันตรายสูงโดยเฉพาะต่อคนทำงานที่ต้องสัมผัสแร่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า แร่ใยหิน เป็นต้นเหตุราวครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งจากการประกอบอาชีพ   และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภควัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินได้อีกด้วย หากเกิดกรณีที่วัสดุเสื่อมสภาพจนฝุ่นแร่ฟุ้งกระจายออกสู่อากาศ       แร่ใยหินชนิดหลัก คือ ไครโซไทล์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารเซอร์เพนไทน์ ปัจจุบันยังคงมีการใช้อยู่ ขณะที่กลุ่มแอมฟิโบล เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการนำเข้าแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย      สำหรับประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินมาอย่างยาวนาน เพราะไม่มีการทำเหมืองแร่ใยหินในไทย ดังนั้นเกือบทั้งหมดจึงเป็นการนำเข้า โดยเริ่มมีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2518 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ  เคยนำเข้าสูงสุดถึงเกือบ 180,000 ตัน ในปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก จนถึงปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่าขณะที่หลายประเทศ ซึ่งกังวลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ได้สั่งห้ามการนำเข้าแร่ใยหินทุกชนิด แต่ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล คาซัคสถานและแคนาดา ตารางการนำเข้าแร่ใยหินข้อถกเถียงเรื่องการก่อมะเร็งของไครโซไทล์      ประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน ไครโซไทล์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทั้งที่มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกต่างก็ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดแล้ว เพราะห่วงใยต่อสวัสดิภาพของคนในประเทศ ประเทศไทยเองก็มีคณะทำงาน (เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย หรือ T-BAN) ที่ติดตามเฝ้าระวังและพยายามผลักดันให้เกิดการห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิดในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าการใช้แร่ใยหินเพื่อทำเป็นวัสดุต่างๆ นั้น  ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน วิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้ทันที  ซึ่งการทำงานทั้งทางด้านวิชาการและรณรงค์ภาคสังคม ทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบตามยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเห็นชอบแนวทางห้ามนำเข้า แร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินทุกชนิด พร้อมมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป      หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการประกาศห้ามนำเข้าได้ทันทีหรือวางแนวปฏิบัติในการยกเลิกให้ชัดเจน กลับไม่ดำเนินการใดๆ โดยยกเหตุผลว่า  “ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการระบุถึงวัสดุทดแทนแร่ใยหินที่มีอันตรายน้อยกว่าหรือไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ”  (เหตุผลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักแล้ว เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันได้มีวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย)      ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังไม่มีมาตรการใดๆ ต่อมติ ครม. ดังกล่าว จากที่เคยคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยน่าจะยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินได้แล้ว กลับยังต้องรอต่อไป เหมือนปล่อยให้คนไทยยังต้องเสี่ยงต่อภาวะโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้แต่จะยกเลิกได้ทันทีในปี 2554  แต่ในอนาคตก็จะยังมีผู้ป่วยจากแร่ใยหินเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินกันมานานหลายสิบปี และโรคที่เกิดจากแร่ใยหินมีระยะฟักตัวยาวนาน ดังนั้นการลดอันตรายที่ดีที่สุดจึงควรเป็นการหยุดใช้ทันทีเพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป การทอดเวลาหยุดนำเข้าออกไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการปล่อยให้คนไทยยังคงเสี่ยงต่อภัยของแร่ใยหินหรือเพิ่มผู้ป่วยขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง      แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์กลับดำเนินการโต้ตอบทางข้อมูลว่า ไครโซไทล์ปลอดภัยในการใช้ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แม้แต่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในข่าวของไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ถึงความก้าวหน้าในการห้ามการนำเข้าแร่ใยหินยังกล่าวว่า “...การแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ผู้ผลิตกระเบื้องทั่วโลกกำลังทยอยยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และในไทยเหลือเพียง 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตอีก ทั้งยังไม่พบรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายจากการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน...”      นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ระบุว่า เป็นศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ อ้างว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นใยหินประเภทที่ก่ออันตรายน้อยมาก ใช้กันมากกว่า 70 ปี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบใยหินที่รู้จักกันดี ได้แก่ กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา ท่อน้ำซีเมนต์ชลประทานและท่อประปา ขนาดใหญ่ ฉนวนต่างๆ และผ้าห้ามล้อและจานคลัตช์ คนไทยดื่มน้ำฝนจากหลังคา และน้ำประปาจากท่อน้ำใยหินมาหลายสิบปี ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเป็นโรคจากใยหิน      ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับผลการศึกษาทั้งในประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสแร่ใยหินที่สำคัญ ได้แก่ โรคหรือภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด (น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื่อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป) พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม(เมโสเธลิโอมา) มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่และเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยาย เรื่อง “แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้” ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพว่า จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ     ทั้งยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย”แนวทางในการยุติการนำเข้าแร่ใยหินและการป้องกันกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องจัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย     ส่วนแนวทางในการยุติการนำเข้า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการนำเสนอเหตุผลและหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินมากเพียงใดก็ตาม แต่ภาครัฐก็ยังไม่มีการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีมาตรการระดับประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างหลักประกันสูงสุดให้กับประชาชน  กุญแจดอกสำคัญอยู่ที่หน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลักแทนที่จะมองถึงผลได้ผลเสียแต่ในเชิงเศรษฐกิจ     หรืออาจต้องทำดำเนินการตามข้อเสนอของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการแบนแร่ใยหิน และ คณะกรรมการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิด คือ คณะกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารพิษรวมอยู่ ซึ่งเมื่อดูแล้วจะพบว่า   ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันที่กระทบกับสุขภาพประชาชน ดังนั้นมันมีความชัดเจนแล้วว่ามันมีผลต่อสุขภาพ หากยังมีการใช้เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณผู้ป่วยขึ้นไปอีก สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้ทั้งสองเรื่องมีความเป็นไปได้ คือ    การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้มีการแบนไปเลยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 อ้างบุญอ้างราศี ที่แท้ก็ขายยา

ผู้อ่านหลายท่านคงเคยดูรายการทีวีเกี่ยวกับการทำนายดวงชะตาราศีต่างๆ แต่นึกไม่ถึงว่ามันจะลามมากระทั่งการขายยาพ่วงด้วย“ทีแรกก็ไม่คิดว่าจะซื้อกินหรอก แต่แกมีอาการปวดๆ เมื่อยๆ พอเจอคนขาย เขาบอกว่ามียาดี หายทุกราย รายได้จะเอาไปทำบุญ ก็เลยช่วยเขาซื้อ คงกะว่าจะลองดูด้วย” พี่ๆ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุข) เล่าพฤติกรรมของคุณป้าท่านหนึ่งที่อยู่ในชุมชนให้ฟัง ระหว่างที่ผมพาคณะอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท ลงพื้นที่ไปพูดคุยเรื่องการใช้ยา“ยาอะไรทำไมราคาแพงจัง ขวดละตั้งหลายร้อย เป็นยาสมุนไพรแผนโบราณนะ พี่อ่านฉลากข้างขวดก็มีทะเบียนยา มีที่อยู่ครบถ้วนนะ เราเป็น อสม.พอมีความรู้เรื่องการอ่านฉลากอยู่บ้าง ก็เอะใจที่ฉลากมันไม่ได้บอกว่ารักษาอาการปวดเมื่อยได้มากมายตามที่คนขายเขาบอก ฉลากมันบอกแค่เป็นยาบำรุงร่างกาย  เราเป็นห่วงก็พยายามเตือนแกแต่แกไม่เชื่อนะ ยังเถียงอีกว่ายาดี คนขายบอกว่าจะเอาเงินไปทำบุญ คนซื้อก็ได้ต่อยอดบุญ ชีวิตจะได้รุ่งเรือง”            “แล้วพี่ตามดูไหมครับว่า หลังจากนั้นคุณป้าท่านนี้เป็นยังไง” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้            “แกไม่หายหรอก ก็ปวดๆ เมื่อยๆ เหมือนเดิม ลูกหลานห้ามก็ไม่เชื่อ ใครเตือนแกโกรธนะ แกศรัทธาเจ้าของผลิตภัณฑ์นี้มาก แกบอกว่าเขาเป็นองค์เทพมาจุติ มาโปรดสัตว์ มาชวนคนทำบุญ หลังๆ แกซื้อเป็นชุดเลยนะ คนขายไปบอกแกว่า ยานี้ต้องกินให้ครบ 12 ราศี แกก็เชื่อนะ ซื้อมาชุดละเจ็ดพันบาทครบ 12 ราศี เวลาได้มาก็ต้องเอายาวางในที่สูง ห้ามวางต่ำกับพื้นมันบาป ลูกหลานก็ยิ่งห่วง กลัวจะถูกหลอก พอเตือนแกหนักๆ เข้า แกตัดจากกองมรดกเลย แกเป็นคนมีสตางค์”            “ไอ้เราเป็น อสม. ก็อดเป็นห่วงแกไม่ได้ เผอิญช่วงนั้นมีงานศพ คนตายก็เคยกินยานี้ แกป่วย พอศรัทธายานี้ ก็เลยไม่ยอมกินยาเดิมที่หมอตรวจ เอาแต่กินยานี้ เราก็เลยชวนแกไป กะจะให้แกกลัว จะได้เลิก ขนาดเอาคนตายมาเป็นตัวอย่างสอนแกในงานศพ แกยังไม่เชื่อเลย แกยังเถียงว่า คนที่ตายได้ยาปลอมมา เพราะไม่ได้ซื้อยาจากศูนย์ขายเดียวกับแก”            “แล้วตอนนี้แกยังกินอยู่ไหมครับ ท่าทางคุณป้าแกเชื่อหัวปักหัวปำขนาดนี้” ผมถามด้วยความอยากรู้            “เลิกแล้ว แต่กว่าจะเลิกก็หมดตังค์ไปหลาย คือหลังจากงานศพแกก็ไปซื้อกินอีกเรื่อยๆ แหละ แต่ไม่กี่เดือนภรรยาของลุงที่เสียชีวิตก็มาเสียชีวิตตามไปอีกคนนึง เรารู้ว่าทั้งผัวทั้งเมียกินยานี้ทั้งคู่ แล้วก็ไม่ยอมไปตรวจรักษาเหมือนเดิม ก็เลยชวนแกไปงานศพอีก คราวนี้ก็เลยพาแกไปนั่งคุยกับญาติๆ ของคนที่เสีย ญาติมันด่าเช็ดเลยว่า ขายยาอะไรแบบนี้ เตือนแล้วห้ามแล้วก็ไม่ฟังเอาแต่กินยานี้ ไม่ยอมไปตรวจตามที่หมอเคยตรวจ ยาเดิมๆ ที่หมอเคยจ่ายตอนตรวจก็เลิกกิน “เราก็เลยถามต่อว่าซื้อยาจากที่ไหน เป็นไงล่ะ ซื้อมาจากศูนย์ขายที่เดียวกับที่แกซื้อมานั่นแหละ เราเลยถือโอกาสบอกแกว่า ถ้ายังไม่เลิก แกอาจจะเป็นรายต่อไปนะ” เรื่องนี้ น่าทึ่งทั้งเทคนิคการขายที่แพรวพราว และเทคนิคการทำงานของพี่ อสม.ท่านนี้ จริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 คนต่างด้าวซื้อห้องชุดเพื่อให้เช่าทำได้หรือไม่ ? ตอน 2

สามารถทำได้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง หลักเลยคือ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด(ฉบับที่ 4) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ของคนต่างด้าวที่จะซื้ออาคารชุดได้ โดยบทความคราวที่แล้วกล่าวถึงคุณสมบัติของคนต่างด้าว และค้างไว้ที่การจะเข้าถือกรรมสิทธิ์...        ข้อ 2. มาตรา 19 ทวิ กำหนดว่า อาคารชุดแต่ละอาคารชุดจะมีคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลตามที่ระบุไว้ใน ข้อ 1. ถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ49ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้นในขณะที่ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามมาตรา6                                                              หากคนต่างด้าว มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ทั้งสองประการข้างต้น ก็สามารถทำสัญญาซื้ออาคารชุดและสามารถมีชื่อเป็นเจ้าของห้องได้ตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นว่า          ก) สำหรับอาคารชุดใดที่จะมีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเกินกว่าอัตราร้อยละ 49 อาคารชุดนั้นจะต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเทศบาล หรือเขตเมืองพัทยา และมีที่ดินที่ตั้งอาคารชุดรวมกับที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้ หรือเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมทั้งหมดไม่เกิน 5 ไร่ มีห้องชุดไม่น้อยกว่า 40 ห้อง และได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันที่จะขอให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดเกินร้อยละ ๔๙ และอาคารชุดนั้นต้องไม่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตปลอดภัยในราชการทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตต์ปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2478                                                                                                     ข) เมื่อครบกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติอาคารชุด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542  ใช้บังคับ กล่าวคือ วันที่ 28 เมษายน 2542 กฎหมายบัญญัติให้ยกเลิกความในข้อ 1. และให้คนต่างด้าวที่ได้ห้องชุดมาตามข้อ 1. หรือคนต่างด้าวซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่อมาจากคนต่างด้าวดังกล่าวนั้น มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้นต่อไปได้ แม้ว่าจะเกินอัตราร้อยละ 49 ของเนื้อที่ของห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดนั้น โดยแต่เดิมกฎหมายยินยอมให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้เกินร้อยละ 49 จึงเท่ากับว่าคนต่างด้าวสามารถซื้ออาคารชุดได้มากกว่าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน ดังนั้น ปัจจุบันคนต่างด้าวจึงมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้เพียงไม่เกิน ร้อยละ 49 ตามมาตรา 19 ทวิ เท่านั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่คนต่างด้าวซื้ออาคารชุดนั้น ต่อจากคนต่างด้าวอื่นที่ได้ซื้ออาคารชุดไว้ก่อนที่กฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้ยกเลิกตามข้อ 2. โดยการถือครองกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดสอดคล้องกับเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 ที่กล่าวว่า         โดยที่เป็นการสมควรให้คนต่างด้าวและนิติบุคคลที่มีสิทธิในที่ดินเสมือนคนต่างด้าวบางประเภทอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนอันจะก่อให้เกิดความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ และต่อมาก็ได้มีการให้เหตุผลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 กำหนดว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติม หลักเกณฑ์การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าวและนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าคนต่างด้าว เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดเกี่ยวกับกับการนำเงินตราต่างประเทศประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยกำหนดให้ผู้นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศนั้นได้รับอนุญาตและแก้ไขอัตราส่วนการถือ กรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารแต่ละอาคารชุดของคนต่างด้าวและนิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าคนต่างด้าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อห้องชุดของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่กำลังประสบปัญหาสภาวะซบเซา ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม นอกจากนั้นได้เพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการ ตรากฎหมายที่มีบทบัญญัติเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้        ปกติแล้วการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติจะมีการดำเนินการในลักษณะของบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและนิติบุคคลสัญชาติไทย กรณีของบุคคลธรรมดาจะให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับตนเป็นผู้ถือครองแทน ส่วนกรณีการถือครองโดยนิติบุคคลจะถือครองโดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและมีชาวต่างชาติถือหุ้น ร้อยละ 49 ส่วนอีก ร้อยละ 51 ถือโดยคนสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลสัญชาติไทย และในนิติบุคคลดังกล่าวก็อาจมีชาวต่างชาติถือหุ้นด้วยทำให้สัดส่วนจริงของชาวต่างชาติจะถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ต่อมารัฐบาลจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแก้ปัญหาหุ่นเชิด ซึ่งจะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมีสิทธิเช่าอสังหาริมทรัพย์ในไทยได้สูงสุดเพียง 30 ปีเท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวส่งผลให้ชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของรวมถึงผู้ที่มีแผนจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยพากันวิตกกังวลเป็นอันมาก ทว่าสำหรับการเช่าที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 เอื้อประโยชน์ให้กับชาวต่างชาติไม่น้อย เพราะสามารถเช่าได้ไม่เกิน 50 ปีและสามารถตกลงต่อระยะเวลาเช่าได้อีกไม่เกิน 50 ปี ซึ่งเท่ากับว่าสามารถเช่าได้เกือบ 100 ปีอยู่แล้ว เพียงแต่มีข้อเสนอแนะให้ทบทวนในการแก้ไขปัญหา ดังนี้        ข้อ 1. พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกรรมประเภทอื่นด้วยหรือไม่             ข้อ 2. แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม. พ.ศ.2542 ให้ครอบคลุมถึงการเช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัยโดยควรกำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะเช่นเดียวกันและกำหนดกรอบของจำนวนพื้นที่ให้เหมาะสมด้วยหรือไม่ต่อกันไปตอนที่ 3 ฉบับหน้าครับ         ข้อ 3. แก้ไขพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้การจัดสรรที่ดินครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์ในการเช่าได้ด้วย เพราะปัจจุบันโครงการที่อยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินไม่สามารถนำที่ดินไปให้เช่าได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการเช่าจะมีผลดีในด้านการควบคุมพื้นที่ควบคุมจำนวน                       ข้อ 4. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ให้คนต่างชาติสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ได้เกินกว่า ร้อยละ 49 แต่อาจกำหนดเป็น ร้อยละ 60 หรือ ร้อยละ 70 โดยกำหนดเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งการลงทุนของชาวต่างชาติหรือแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดียวกันโดยจำกัดจำนวนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารชุดเพื่อมิให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อมการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติมีผลดีทั้งในด้านที่ทำให้นักลงทุนเกิดเชื่อมั่นส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานภายในประเทศ แต่ต้องกำหนดขอบเขตและมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน           

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ฝึกภาษาอังกฤษกับ Echo English

การสื่อสารในปัจจุบันถือว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นภาษาที่สามารถใช้สื่อสารได้กับคนทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การทำงานในบริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความต้องการบุคคลที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดี ทั้งการพูด การฟัง การเขียนและการอ่าน  ดังนั้นคนยุคใหม่ที่กำลังมองหางาน จึงควรมีทักษะทางด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษไว้บ้าง เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการสมัครงานในที่ต่างๆ ฉบับนี้มาเสริมทักษะภาษาอังกฤษกันดีกว่าค่ะแอปพลิเคชันที่น่าสนใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มต้น มีชื่อว่า Echo English ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนามาโดยกระทรวงศึกษาธิการกับภาคเอกชน ที่เน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในรูปแบบสถานการณ์ต่างๆ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และระบบปฏิบัติการ Androidเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว ระบบจะให้สร้างบัญชีหรือลงทะเบียนผ่านเฟสบุ๊ค ภายในแอปพลิเคชันจะมี 2 หมวด ได้แก่ หมวด Home ซึ่งจะเป็นหมวดที่เก็บบทเรียนที่ผู้ใช้ได้ดาวน์โหลดบทเรียนนั้นไว้เรียบร้อยแล้ว และหมวด Discover โดยในหมวดนี้จะแบ่งบทเรียนตามความยากง่าย และมีบทเรียนให้เลือกตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้มีความสนใจ อาทิ บทเรียน Can-do A1 จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับการทักทาย บทสนทนาเกี่ยวกับการถามข้อมูล หรือบทเรียน Intermediate จะมีบทเรียนบทสนทนาเกี่ยวกับระบบขนส่ง บทสนทนาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้นหลังจากที่ผู้ใช้สามารถเลือกบทสนทนาที่ต้องการเรียนรู้ได้แล้วให้กดเลือก จะปรากฏหัวข้อบทสนทนาและวิดีโอสอน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนที่มีความต่อเนื่องกัน และให้ผู้ใช้กดดาวน์โหลดหัวข้อที่ต้องการ ทั้งนี้ภายในแต่ละหัวข้อบทสนทนาจะแบ่งรายละเอียดออกเป็นดังนี้  บทเรียน การฟัง การพูด การเขียน การทดสอบ และโหมดอัดเสียง ส่วนหัวข้อวิดีโอสอนจะเป็นการสอนแบบลงรายละเอียดในแต่ละประโยคของบทสนทนาส่วนรายละเอียดของหัวข้อบทสนทนา ในเรื่องบทเรียนจะเป็นวิดีโอบทสนทนาตามสถานการณ์ เรื่องการฟังจะเป็นการฝึกฟังทีละประโยค เรื่องการพูดจะเป็นการฝึกพูดโดยให้ผู้ใช้กดปุ่มบันทึกและพูดแต่ละประโยค หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะประมวลผลว่าดีหรือไม่ โดยจะปรากฏผลในรูปแบบคะแนน เรื่องการเขียนจะเป็นการฝึกเติมคำลงในช่องว่างในแต่ละประโยค เรื่องการทดสอบจะเป็นการทดสอบจากการเรียนรู้จากบทเรียนนั้น และเรื่องโหมดอัดเสียงจะเป็นการอัดเสียงขณะพูดแต่ละประโยคของผู้ใช้ เพื่อนำมาฟังได้ภายหลัง แอปพลิเคชันนี้เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่เข้าใจ เพราะเป็นบทเรียนที่ง่าย  ลองดาวน์โหลดมาเรียนรู้และลองใช้เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การลบไฝ ปาน

ไม่ว่าใครคงอยากมีผิวสวยเกลี้ยงเกลาปราศจากตำหนิ นอกจากรอยด่างดำ เหี่ยวย่นแล้ว กลุ่มไฝ ปาน ก็ดูจะขวางความสวยอยู่เหมือนกัน หลายคนจึงคิดกำจัดทิ้งซึ่งทำได้ไม่ยากในสมัยนี้ แต่หากคิดจะกำจัดออกจริงๆ ก็ควรทำให้ถูกวิธี มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้      ไฝ ปาน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง  อาจเป็นมาตั้งแต่เกิดหรือมาเป็นทีหลังก็ได้ จะเริ่มเป็นในวัยใดก็ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ซึ่งทั้งไฝและปาน จัดอยู่ในกลุ่มของโรคผิวหนังกลุ่มเดียวกัน โดยปานต่างจากไฝที่ลักษณะของเซลล์ที่เป็นต้นเหตุ ปาน จะเป็นรอยสีผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ผิว มีรูปร่าง ขนาดและสีต่างๆ กัน เช่น ปานแดง ปานดำ ส่วน ไฝ จัดเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย อาจเกิดเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกิดได้ทุกตำแหน่งบนผิวหนัง ไฝที่พบได้บ่อยคือไฝดำ ที่เรียกกันว่า ขี้แมลงวัน     ทั้งไฝและปาน นอกจากเรื่องที่ว่าทำให้รู้สึกไม่สวย ส่วนใหญ่แล้วจะไม่อันตราย แต่ก็ต้องใส่ใจหากว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติจนสังเกตชัด ไฝนั้น อาจมีความเสี่ยงในการเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่ต้องสัมพันธ์กับขนาด คือ หากไฝมีขนาดใหญ่มาก หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสี รูปร่าง หรือมีเลือดออก เจ็บ คัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ส่วนปานบางชนิดอาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือการเกิดปานขึ้นในบางตำแหน่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานของอวัยวะ เช่น ตาหรือปาก หรือการที่ปานขยายขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ดูน่าเกลียด ก็ความจำเป็นต้องลบออก วิธีการลบไฝ ปานไฝ มีหลายวิธี ทั้งการจี้แบบภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยปูนแดง หรือการตัดไฝด้วยมีดผ่าตัดหรือเลเซอร์  สำหรับการจี้ออกด้วยตัวเองหรือร้านรับจี้ไฝทั่วไป มีข้อควรระวังจากสารเคมีที่ใช้ ซึ่งอาจ ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผิวบริเวณรอบๆ ได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อเรื่องของรอยแผลเป็นที่ตามมา แนะนำให้ทำกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสมัยนี้ค่าบริการราคาไม่แพง ในส่วนของปาน วิธีที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดคือ การใช้เลเซอร์ สำหรับเรื่องของการใช้แสงเลเซอร์ลบไฝ ปาน หลักการใหญ่คือ เมื่อแสงเลเซอร์ถูกฉายลงสู่ผิวหนังของร่างกายบริเวณที่เป็น ไฝ ปาน เซลล์ของไฝ ปานซึ่งมีสีคล้ำกว่าเซลล์ปกติของผิวหนังจะดูดกลืนแสงเลเซอร์ได้มากกว่าเซลล์ธรรมดา เม็ดสีบริเวณที่ผิดปกติจึงถูกทำลายลบหายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ลูกไม้ลายสนธยา : คงจะมีรักจริงรออยู่ ที่ดินแดนใดสักแห่ง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมมนุษย์เราปลอดซึ่งอคติทั้ง 4 อันได้แก่ รัก โลภ โกรธ และหลง ในขณะเดียวกัน สังคมที่ปราศจากอคติทั้ง 4 อันถูกเชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของกิเลส และเป็นวิถีปฏิบัติไปในทางที่ผิดเช่นนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสุขแห่งมนุษยชาติที่แท้จริงได้หรือไม่   ในวรรณกรรมคลาสสิกของ เซอร์โธมัส มอร์ ที่เขียนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ได้เคยเสนอภาพดินแดนอุดมคติซึ่งเรียกว่า “ยูโทเปีย” ที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ดีกินดี มีระบบแห่งการแบ่งสันปันส่วนชนิดที่ไม่ต้องแก่งแย่งกัน ไม่มีร้านเหล้าหรือสิ่งอบายมุขใดๆ ผู้คนไม่ยึดติดกับวัตถุ ไม่มีความขัดแย้งและสงครามใดๆ หรือถ้าสรุปแบบง่ายๆ ยูโทเปียก็เป็นประหนึ่งรัฐในฝันที่ผู้คนอยู่กันโดยไร้อคติ แต่อาศัยศีลธรรมคุณธรรมในการดำเนินชีวิต    อย่างไรก็ดี ตามทัศนะแบบตะวันตก สังคมอุดมความสุขเช่นนี้ถือเป็นเพียงจินตนาการที่หาได้มีอยู่จริง และถูกวาดขึ้นเป็นนัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อสภาวะวิกฤติที่เกิดในระบบเศรษฐกิจการเมืองของสังคมของยุคนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ยูโทเปียกับโลกจริงจึงเป็นสองดินแดนที่มีเส้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน   แต่ในทางกลับกัน หากเป็นในทัศนะแบบคนไทย เรามีมุมมองแตกต่างไปว่า โลกอุดมคติที่เหนือจริงหาใช่เป็นพรมแดนที่แยกขาดจากโลกที่มนุษย์เราใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในกิเลสโดยสิ้นเชิง ดินแดนที่แตกต่างกันทั้งสองกลับดำเนินอยู่แบบคู่ขนาน และอาจมีบางจังหวะเงื่อนไขที่ทั้งสองโลกดังกล่าวเวียนวนมาบรรจบพบกันได้   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกยูโทเปียกับโลกความเป็นจริงแบบไทยๆ ดูจะเป็นเส้นเรื่องหลักที่ถูกวางพล็อตเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกจินตนิมิตอย่าง “ลูกไม้ลายสนธยา” ที่จำลองภาพความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านการแก่งแย่งช่วงชิงสิทธิ์ในการถือครอง “บ้านรัชดาพิพัฒน์” อันเป็นสถานที่ซ่อนของประตูสู่อีกมิติของดินแดนอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสุข   ในโครงเรื่องที่ผูกขึ้นของละครนั้น โลกจริงอันเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์เราวนว่ายอยู่ในกิเลส ถูกเรียกขานว่าเป็นดินแดน “ชมพูทวีป” ในขณะที่ภาพสมมติแทนอุดมคติยูโทเปียก็ถูกวาดขึ้นมาในชื่อของ “อุตรกุรุทวีป” โดยมีคำอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ในอดีตกาลนั้น สองทวีปนี้เคยมีสะพานเชื่อมข้ามมิติไปมาหากันได้ แต่เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปเริ่มสั่งสมบาปกรรมและความโลภโมโทสันกันจนล้นเกิน ประตูแห่งกาลที่กั้นทางเข้าอุตรกุรุทวีปจึงปิดตัวลง เพื่อมิให้มนุษย์และกิเลสต่างๆ ได้ข้ามไปแปดเปื้อนดินแดนแห่งอุดมคติดังกล่าว   แม้ยูโทเปียกับโลกจริงจะเป็นสองอาณาบริเวณที่แยกขาดจากกันในตอนต้นเรื่อง แต่พลันที่ “เหมหิรัญญ์” พระเอกหนุ่มในดินแดนอุตรกุรุทวีปเกิดมีข้อสงสัยขึ้นว่า เหตุใดชมพูทวีปทุกวันนี้จึงได้กลายสภาพเป็นที่สั่งสมไว้ซึ่งกิเลสและอคติต่างๆ และที่สำคัญ ผู้คนในทวีปแห่งนี้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอคติที่ถาโถมอยู่รอบทิศนั้นได้อย่างไร ปมปัญหาที่ละครผูกไว้กับยูโทเปียจึงได้เริ่มต้นขึ้นมา   เพราะบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นแกนกลางที่ตัวละครต่างๆ หวังจะเข้ามาครอบครอง จนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ “ประพิม” ผู้กำความลับเรื่องผ้าลูกไม้ลายสนธยา ในฐานะกุญแจไขไปสู่ดินแดนอุตรกุรุทวีป เหมหิรัญญ์จึงสวมวิญญาณเป็นนักวิจัยภาคสนามมาทั้งสืบเงื่อนปมการตาย และเข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตตัวละครที่ต้องมนต์กิเลสในการถือครองคฤหาสน์หลังงามดังกล่าว   เมื่อได้ลงสนามในชมพูทวีป เหมหิรัญญ์ก็ค้นพบว่า รักโลภโกรธหลงเป็นสิ่งที่ “มี” และ “ผลิดอกออกผล” ได้ไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะผ่านกลุ่มตัวอย่างอย่าง “นายหัววรงค์” และ “แก้วเพชร” หรือ “ทองมาตย์” และ “รัตนพรรณ” ที่ความเป็นสามีภรรยาของทั้งสองคู่ชีวิตถูกสะบั้นลงได้เพียงเพราะต้องการครอบครองบ้านหลังเดียว หรือกรณีของ “หันตรา” “ดิถี” และ “วโรชา” ที่ความรักความหลงทำให้ “ตาบอด” ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไปจนถึง “สารวัตรทัศน์เทพ” ที่ยอมทรยศอุดมการณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน   แม้ตัวละครจำนวนมากจะเป็นภาพแสดงการก่อและขยายตัวของกิเลสแห่งมนุษย์ในชมพูทวีป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเหมหิรัญญ์ได้มาพบกับ “เดือนพัตรา” นางเอกผู้ได้รับบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นมรดกสืบต่อจากคุณยายประพิมที่เสียชีวิตไป เขากลับได้คำตอบเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางวังวนมหาสมุทรแห่งกิเลส ก็ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ทุกทางเพื่อรักษาคุณงามความดีอยู่ในมุมเล็กๆ ของความขัดแย้งแก่งแย่งกัน ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของอุตรกุรุทวีปที่อวลอบเอาไว้ด้วยคุณธรรมความดีแต่เพียงด้านเดียว   ในโลกยูโทเปียแบบอุตรกุรุทวีปนั้น แม้จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์งดงามและยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงแล้ว อะไรก็ตามที่สุดขั้วไปทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติดีงามสุดขั้ว หรือโลภโมโทสันอย่างสุดโต่ง มันก็ช่างขัดแย้งกับวิถีคิดพื้นฐานแบบ “ทางสายกลาง” ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้แต่ในดินแดนที่เพียบพร้อมความสุขแบบเปี่ยมล้นเอง ก็มีอีกด้านที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสหรือขาดซึ่ง “ภูมิต้านทานความทุกข์” เพราะมัวแต่ “สำลักความสุข” กันเพียงอย่างเดียว   ด้วยเหตุนี้ แม้ชมพูทวีปจะเต็มไปด้วยกิเลสรอบตัว แต่การที่เดือนพัตรายังคงยืนหยัดยึดมั่นความดีเป็นสรณะท่ามกลางสิ่งเร้ารายรอบได้ เหมหิรัญญ์ก็พบว่า ความดีที่ฝ่าพายุคลื่นลมของกิเลสแบบนี้ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” จนทำให้เขาตกหลุมรักเดือนพัตรา และต้องการใช้ชีวิตอยู่กับเธอที่ชมพูทวีป โดยยอมรับกติกาที่ว่ายิ่งใช้ชีวิตอยู่นานเท่าใด อายุขัยของเขาก็จะลดลงไปตามกฎแห่งโลกมนุษย์    ครั้งหนึ่ง เมื่อ “ผู้กองมรุต” นายตำรวจที่ช่วยเหลือเดือนพัตราสืบเรื่องราวความตายของคุณยาย และถูกลอบทำร้ายจนต้องเข้าโรงพยาบาล ภาพที่หญิงสาวคอยปรนนิบัติดูแลผู้กองหนุ่ม ก็ทำให้เหมหิรัญญ์เข้าใจความจริงแห่งความทุกข์ และพูดกับเธอว่า “โลกของผมไม่มีการเจ็บป่วย แต่ถ้าผมรู้ว่าเวลาเจ็บป่วยแล้วมีคนมาดูแลเอาใจใส่แบบนี้ การเจ็บป่วยมันก็ดีเหมือนกัน”    ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” นี้เอง ในท้ายที่สุด หลังจากคลี่คลายปมว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าคุณยายประพิม และจัดการปัญหาของบ้านรัชดาพิพัฒน์ลงได้ เหมหิรัญญ์ก็ตัดสินใจละทิ้งดินแดนอุดมคติ เพื่อมาใช้ชีวิตแบบ “ทุกข์บ้างสุขบ้าง” เคียงคู่กับเดือนพัตราที่ชมพูทวีปนั่นเอง   “ทุกข์สุขอยู่ที่ใจ” น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ตนไปอยู่ในดินแดนอุดมคติยูโทเปีย หรือไม่ต้องทนวนว่ายในกระแสธารกิเลสที่เปี่ยมล้นหรอก บางทีผ้าที่มีสีขาวหรือสีดำไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ไม่ทำให้เราเข้าใจสีสันชีวิตแบบ “ทางสายกลาง” ได้เหมือนกับผ้าที่มี “ลูกไม้ลายสนธยา” ซึ่งมีเลื่อมลายทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รู้เท่าทันคอลลาเจน

   ตลาดโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในวันนี้ ไม่มีอะไรที่จะมาแรงแซงโค้งคอลลาเจนได้เลย มีการโฆษณาว่า เมื่อคนเราแก่ตัวลง คอลลาเจนในร่างกายจะหายไป ทำให้หน้าเหี่ยวย่น เป็นริ้วรอย ข้อเสื่อมลง ปวดข้อ ดังนั้นผลิตภัณฑ์คอลลาเจน ครีมทาคอลลาเจน จะทำให้ร่างกายกลับเป็นหนุ่มสาวเหมือนเดิม มารู้เท่าทันคอลลาเจนกันดีกว่าคอลลาเจนคืออะไร    คอลลาเจนมาจากคำกรีก หมายถึง “กาว” จึงหมายถึงเป็นเหมือนกาวที่คอยยึดโยงเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายเข้าด้วยกัน  คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาติ กระจายทั่วร่างกายเรามากถึง 1 ใน 3 ของปริมาณโปรตีนทั่วร่างกาย เป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เป็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ เอ็นกล้ามเนื้อ  เอ็นกระดูก กระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ ผิวหนัง หลอดเลือด ทางเดินอาหาร เป็นต้น    โปรตีนจะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนซึ่งร่างกายจะนำไปสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน ผม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และอื่นๆ อีกจำนวนมาก  กรดอะมิโนในคอลลาเจนจะพบมากที่สุดในร่างกาย แต่เมื่อร่างกายแก่ตัวลง ร่างกายจะสร้างคอลลาเจนน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน เสื่อมและอ่อนแอ จึงเข้าทางการโฆษณาชวนเชื่อของธุรกิจสุขภาพว่า การฉีด การกินผง ยาเม็ด ยาทา คอลลาเจน จะทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนเพิ่มขึ้น คอลลาเจนบำบัดรักษาอะไรได้บ้าง  มีการโฆษณาในสื่อต่างๆ ว่า คอลลาเจนสามารถช่วยลดอาการปวดข้อจากข้อเสื่อม ผิวพรรณสวยงาม ระบบทางเดินอาหารดี และสมรรถนะทางกีฬาสูงขึ้น ดาราหลายคนได้ออกมาโฆษณาด้วยตนเอง ทำให้คอลลาเจนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ทำรายได้มหาศาล (คาดว่าจะถึงหกพันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2025)  คอลลาเจนที่ขายทำจากอะไร   คอลลาเจนที่ขายกันนั้นทำจากกระดูกหรือหนังของวัว เกล็ดปลา ดังนั้น ผู้ที่ไม่กินหมู วัว จึงต้องพิจารณาและอ่านฉลากให้ชัดเจนว่า ผลิตจากอะไร    ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนที่ขายกันส่วนใหญ่เป็นแบบที่ละลายน้ำได้ เพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดี  ความจริงแล้ว อาหารหลายชนิดที่เรากินก็ช่วยเพิ่มคอลลาเจนอยู่แล้ว เช่น หนังหมู ซุปกระดูก นม ไข่ เนื้อสัตว์ เป็นต้น คอลลาเจนมีสรรพคุณตามโฆษณาจริงหรือไม่  เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ความเชื่อที่ว่า ถ้าเรากินคอลลาเจนเข้าไป ร่างกายก็จะนำคอลลาเจนไปเสริมหรือสร้างเนื้อเยื่อ กระดูกอ่อน ผิวหนังที่ขาดคอลลาเจน    ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า คอลลาเจนนั้นเป็นโปรตีน เมื่อกินเข้าไป จะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน ถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และกระจายไปทั่วร่างกาย ร่างกายไม่สามารถกำหนดว่าจะให้ไปซ่อมเสริมส่วนใดของร่างกายตามต้องการได้    เมื่อทบทวนงานวิจัยต่างๆ ในการใช้คอลลาเจนเพื่อการบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับการปวดข้อจากข้อเสื่อม กระดูกพรุน พบว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนว่า คอลลาเจนมีผลลดอาการปวดของข้อ และความหนาแน่นของกระดูกดีขึ้นในระยะสั้น จึงต้องมีการศึกษาระยะยาวและการศึกษามากกว่านี้ก่อนที่จะสรุปผลของการใช้คอลลาเจนที่ชัดเจนสรุป  การกินอาหารให้ครบทุกหมู่ อาหารพื้นบ้าน การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนได้เพียงพอแล้ว คงไม่ต้องเสียเงินทองมากมายไปซื้อผลิตภัณฑ์คอลลาเจนมาใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 คนไทยขาดวิตามินดี...ได้ไง

คนไทยไม่ควรขาดวิตามินดี เพราะเราอาศัยในประเทศเขตร้อนที่อุดมด้วยแสงแดด คนทางซีกโลกตอนเหนือตั้งแต่เส้นแวงที่ 23.5 องศาเหนือขึ้นไปและซีกโลกตอนใต้ตั้งแต่เส้นแวงที่ 23.5 องศาใต้ลงไป ซึ่งเป็นประเทศเขตอบอุ่นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เพราะภูมิศาสตร์โลกบริเวณนั้นกำหนดให้ช่วงเวลามีแสงแดดในบางฤดูสั้นเกินไปและบางช่วงของปีอากาศหนาวเกินกว่าที่จะออกมาสัมผัสแสงแดดได้ คำอธิบายเรื่องวิตามินดีกับแสงแดดนี้ถูกสอนกันมานานเท่านานแล้ว และมันยังเป็นจริงอยู่หรือ คำตอบคือ ใช่และไม่ใช่ ขึ้นกับปัจจัยบางประการในปัจจุบัน ก่อนอื่นคนไทยส่วนใหญ่มักลืมว่า วิตามินดีนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่วิตามินในความหมายทางสรีรวิทยาและชีวเคมี ทั้งนี้เพราะมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เองโดยอาศัยรังสีอัลตราไวโอเล็ตชนิด UVB ในแสงแดดมากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสารชีวเคมีที่มีอยู่ในร่างกายคือ ดีไฮโดรคลอเลสเตอรอล (7-dehydrocholesterol ซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายสังเคราะห์ เพื่อเปลี่ยนต่อไปเป็นโคเรสเตอรอลด้วยระบบเอ็นซัมในสัตว์เลือดอุ่นต่างๆ) ซึ่งลอยอยู่ในหลอดเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมนุษย์ ผลที่ได้คือ คลอลีคัลซิเฟอรอล (cholecalciferol) ที่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงต่อเมื่อผ่านไปที่ตับและไปที่ไต จึงได้เป็นวิตามินดี 3 ซึ่งเป็นรูปของวิตามินดีที่ออกฤทธิ์ในร่างกายกล่าวกันว่า จริงแล้ววิตามินดีทำหน้าที่เป็นฮอร์โมน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของหน่วยพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องต่อการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นแคลเซียมจึงถูกใช้ในการสร้างและดำรงสถานภาพของกระดูกให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมประสิทธิภาพการสร้างวิตามินดีนั้น มีปัจจัยหนึ่งที่กำหนดคือ สีผิว ซึ่งขึ้นกับเม็ดสีเมลานินที่ร่างกายสร้างขึ้นสะสมเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าคือ แสงแดด คนที่มีสีผิวเข้มกว่าย่อมรับแสงอัลตราไวโอเล็ทได้น้อยกว่าคนที่มีผิวขาวกว่า ดังนั้นในคนสองคนที่มีสีผิวเข้มไม่เท่ากัน เมื่อยืนรับแสงแดดที่ตำแหน่งเดียวกันของโลกด้วยเวลาเท่ากันจึงสร้างวิตามินดีไม่เท่ากัน  คนไทยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีหรือไม่ ถ้าตอบว่า ไม่ นั้นหมายถึงเขาหรือหล่อนผู้นั้น เป็นผู้มีโอกาสสัมผัสแสงแดดอันอบอุ่นตอนเช้าและเย็นระหว่างการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ โดยแดดที่สัมผัสต้องไม่ทำให้ผิวหนังร้อนจนแดง ดังนั้นการออกกำลังกายกลางแจ้งของนักเรียนในตอนสายหรือหลังเที่ยงนั้น จึงเป็นความทารุณต่อนักเรียนอย่างแท้จริง ส่วนคำตอบว่า ใช่ คนไทยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีนั้น ก็เป็นจริงได้ด้วยเหตุผลในหลายกรณี เช่น ในคนที่รักนวลสงวนผิวไม่ให้ถูกแดดเพราะต้องการมีผิวสีซีดที่เข้าใจเอาเองว่าสวย ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าคลุมทั้งตัวตามข้อกำหนดทางศาสนา ผู้ที่ออกจากบ้านตั้งแต่ไก่โห่คือ ยังไม่มีแสงแดด แล้วทำงานในตึกที่ติดฟิลม์กันแดดไม่ได้โผล่ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันจนค่ำจึงกลับบ้าน ครั้นถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตื่นนอนสายตะวันโด่ง แดดร้อนจ้าเกินกว่าจะสัมผัสได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมีงานวิจัยของนักวิจัยไทยปรากฏในวารสาร Dermato-Endocrinology เมื่อปี 2013 เรื่อง Vitamin D status and sun exposure in Southeast Asia ได้สำรวจโดยการเจาะเลือดคนในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้ววิเคราะห์ปริมาณวิตามินดีพบว่า ความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีนั้นอยู่ในช่วงร้อยละ 6-70 ซึ่งขึ้นกับการใช้ครีมกันแดด การนับถือศาสนาที่มีประเพณีการสวมเครื่องแต่งกายที่ปกปิดทั้งร่างกาย พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน อาหารและโภชนาการ ที่สำคัญคือ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น บางกลุ่มชนมีแนวโน้มต่อการขาดวิตามินดีเพิ่มขึ้น คำแนะนำที่สำคัญคือ แสงแดดที่ช่วยสร้างวิตามินดีนั้น ต้องเป็นแสงที่ส่องตรงลงผิวไม่ใช่แสงที่ผ่านกระจกเพราะกระจกสามารถยับยั้งแสง UVB ได้ อีกทั้งคนไทยควรได้รับแสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสม(เช้าตรู่หรือใกล้พลบ) ที่บริเวณ ผิวหน้า แขน ขา ประมาณ 5-30 นาที อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาการที่แสดงว่าขาดไวตามินดีเรื้อรังคือ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูกชาวเกาหลี ซึ่งอยู่ในเขตอบอุ่นเหนือของโลกนั้น เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีมากพอสมควร งานวิจัยเรื่อง Vitamin D Status in Korea ตีพิมพ์ในวารสาร Endocrinology and Metabolism ของปี  2013 นั้นระบุว่า ในเกาหลีใต้นั้น การขาดวิตามินดีพบมากในเด็กวัยรุ่นมากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งอาจเป็นเพราะเด็กติดมือถือจึงต้องการอยู่แต่ในที่ร่มเพื่อเขี่ยหน้าจอให้หนำใจ ต่างจากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่มีความชุกในการขาดวิตามินดีน้อยกว่า บทความกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาของสองประเทศนี้ว่า ทำโดยกระตุ้นให้มีการเพิ่มวิตามินดีสังเคราะห์ในอาหารหรือให้มีการกินวิตามินดีเม็ดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีขนาดของประเทศตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 8 องศาเหนือถึง 34 องศาเหนือนั้นก็ยังมีกรณีที่ชาวอินเดียขาดวิตามินดีเช่นกัน มีรายงานวิจัยเรื่อง Vitamin D status and sun exposure in India ในวารสาร Dermato-Endocrinology ของปี 2013 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาการรับแสงแดดทั้งปีที่เหมาะสมต่อชาวอินเดียในเมือง Tirupati ซึ่งมีตำแหน่งเส้นรุ้งที่ 13.4 เหนือ เส้นแวงที่ 77.2 ตะวันออก สัมผัสแสงแดดวันละ 4 ชั่วโมงโดยมีส่วนของร่างกายสัมผัสแดดร้อยละ 35 แต่ก็ยังพบว่า ชาวบ้านในเมืองนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีได้ นักวิจัยจึงทดลองดูว่า ช่วงเวลาการสัมผัสแสงแดดช่วงเวลาใดของเมืองนี้ที่ทำให้มีการสร้างวิตามินดีสูงสุด การทดลองนั้นไม่ยาก นักวิจัยได้นำดีไฮโดรโคเลสเตอรอลใส่ภาชนะแช่ไว้ในอ่างน้ำแข็ง (เพื่อตัดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ) แล้ววางไว้กลางแดดในช่วงเวลาที่ต่างกันตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา (โดยมีภาชนะใส่สารแบบเดียวกันแต่มีแผ่นอะลูมิเนียมบังป้องกันแดดเป็นตัวควบคุม) จากนั้นนำแต่ละภาชนะใส่ตัวอย่างที่ได้รับแสงช่วงเวลาต่างกันไปวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินดีที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่า ช่วงเวลา 11 นาฬิกาถึง 14 นาฬิกา ของทั้งปี เป็นช่วงที่มีแดดเหมาะสมต่อการสังเคราะห์วิตามินดีมากที่สุด ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ใครตากแดดโดยไม่ใส่เสื้อผ้าคงถูกแดดเผาจนผิวไหม้แน่ แสดงว่า ตำแหน่งของเมืองตามภูมิศาสตร์นั้น เป็นตัวกำหนดหนึ่งของช่วงวันที่ควรสัมผัสแสงแดดเพื่อให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีมากที่สุดช่วงอายุของคนนั้นดูมีความสำคัญต่อการสร้างวิตามินดีเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ใช่ผลโดยตรงเนื่องจากทางสรีรวิทยาของร่างกาย เพราะจริงแล้วเมื่อแก่ตัวลงร่างกายจะสร้างสารต่างๆ ได้น้อยลง แต่ในคนสูงอายุบางคน (เช่นผู้เขียน) กลับมีโอกาสสัมผัสแสงแดดมากกว่าหนุ่มสาว เนื่องจากไม่ต้องทำงานประจำในที่ร่มแล้ว ว่างเมื่อใดก็ออกกลางแจ้งได้ตามใจปรารถนา มีเรื่องน่าสนใจในประเด็นการไม่อยู่ในที่ร่มของคนเกาหลีใต้ รัฐบาลประเทศนี้ใส่งบประมาณลงไปในชุมชนต่างๆ ที่มีคนสูงอายุ เพื่อให้เงินนี้ไปส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย (http://koreabizwire.com/government-to-support-seniors-living-alone/6985) ด้วยการจัดให้มีการจับคู่กันในหมู่คนโสดหรือเป็นหม้าย ไม่ว่าเพศเดียวกันหรือต่างเพศ ได้มีโอกาสออกทำกิจกรรมกลางแสงแดดในช่วงที่มีอากาศเหมาะสม ทั้งนี้เพราะคนเกาหลีนั้นเชื่อในคำกล่าวที่ว่า แค่เพื่อนคนเดียวก็ทำให้มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้สังสรรค์กัน แล้วได้วิตามินดีเป็นของตอบแทนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 กระแสในประเทศ

โพลล์หนุน ‘รัฐสวัสดิการ’ เผยคนกรุงอยากเห็นนโยบายรักษาพยาบาลฟรี – เงินยังชีพรายเดือน8 พ.ย.61 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับ บ้านสมเด็จโพลล์ แถลงผลสำรวจคนกรุง 1,211 คน ประเด็น “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” โดย ผศ.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น เรื่องการศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ คนกรุงยังต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า โพลล์สะท้อนว่าคนกรุงเทพฯ รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิตทั้งด้านสุขภาพ และเรื่องรายได้ แต่ก็พยายามเตรียมตัวด้วยการออมเงินไว้ใช้ โจทย์สำคัญคือ คนที่ไม่มีกำลังออมหรือหากออมแล้วไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องมีนโยบายจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชนทุกคนอย่างถ้วนหน้าสรรพสามิตเสนอเก็บภาษีอาหารเค็ม-มัน อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นจะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางจัดเก็บภาษีความหวาน และจะให้เวลาผู้ประกอบการเพื่อปรับตัว 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีให้ด้วยกกพ. มอบของขวัญปีใหม่ ขึ้นค่าไฟงวด ม.ค. - เม.ย.62 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม – เมษายน 2562 จำนวน -11.60 สตางค์/หน่วย ปรับเพิ่มขึ้น 4.30 สตางค์/หน่วย จากปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค.61) -15.90 สตางค์/หน่วย โดยจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยเมื่อรวมค่าไฟฐานอยู่ที่ 3.6396 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เนื่องจากต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งน้ำมันและก๊าซฯ เพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ กกพ. ได้หามาตรการในการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่จำเป็นสำหรับการผลิต, มาตรการนำเงินสะสมจากการเรียกเก็บ Ft มาชดเชยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดความผันผวน Ftครม. เตรียมกฎหมาย ‘สภาดิจิทัล’ ยกเอกชนทำงานควบคู่รัฐนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... โดยสภาดิจิทัลฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล 2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล และ 4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเรื่องของดิจิทัลคณะกรรมการชุดนี้สามารถกำหนดนโยบายและการดำเนินงานของสภาดิจิทัลได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นภาคเอกชนทั้งหมด แต่ทำงานควบคู่ไปกับทางภาครัฐ โดยให้ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้กำกับการดูแลการทำงานของสภาดิจิทัล โดยมีอำนาจตรวจสอบและขอความเห็นชอบเปลี่ยนตัวกรรมการได้เกาะสิมิลันยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวแม้ถูกหลายฝ่ายต้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันว่า ตนเห็นใจผู้ประกอบการ และคิดว่าทุกฝ่าย เห็นด้วยว่าต้องดูแลรักษาธรรมชาติก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว มีเท่าไรปล่อยเข้าไปหมด ส่วนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนไว้กับกรมอุทยานฯ จะได้รับโควต้านำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังหมู่เกาะสิมิลันหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้าของพื้นที่

อ่านเพิ่มเติม >