ฉบับที่ 213กระแสต่างแดน

ยังรู้ได้อีก     ร้อยละ 90 ของคนออสเตรเลียเห็นด้วยว่าการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ควรทำและร้อยละ 71 มั่นใจว่าตนเองรู้ว่าขยะแบบไหนสามารถนำมารีไซเคิลได้     แต่จากการสำรวจเทศบาล 180 แห่งในประเทศ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Planet Ark พบว่าร้อยละ 46 ของเทศบาลเหล่านี้มีคนนำพลาสติกอ่อนมาทิ้งลงในถังขยะรีไซเคิล     ความจริงแล้วถุงพลาสติกหรือพลาสติกห่ออาหารควรถูกนำไปทิ้งในถัง RedCycle ที่ร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจัดไว้ต่างหาก เพราะมันจะเข้าไปติดในเครื่องแยกขยะ นอกจากนี้ร้อยละ 41 ของเทศบาลเหล่านี้ยังพบว่าผู้คนมักจะนำพลาสติกรีไซเคิลมาใส่รวมกันในถุงใบใหญ่ก่อนทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และการทิ้งเศษอาหารในถังรีไซเคิลก็ยังมีอยู่เช่นกัน ออเตรเลียเริ่มใช้ฉลากรีไซเคิลที่ระบุว่าบรรจุภัณฑ์ส่วนไหนควรถูกกำจัดอย่าง แต่ Planet Ark บอกว่าผลการสำรวจนี้ยืนยันว่ารัฐบาลต้องให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย        ตกมาตรฐาน         บริษัทชั้นนำของโลกส่วนใหญ่ไม่ผ่านมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติกำหนดองค์กร Corporate Human Rights Benchmark  ได้ทำการสำรวจนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องความโปร่งใส การหลีกเลี่ยงบังคับใช้แรงงาน และการให้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ของบริษัทข้ามชาติ 100 แห่ง โดยดูจากการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ     คะแนนเฉลี่ยของบริษัทเหล่านี้อยู่ที่ 27 จากคะแนนเต็ม 100  และมีถึงสองในสามที่ได้น้อยกว่า 30 คะแนน     อันดับหนึ่งได้แก่ อาดิดาสที่ได้ไป 87 คะแนน ตามด้วยผู้ประกอบการเหมืองแร่ Rio Tinto และ BHP Billiton     สองอันดับท้ายสุดได้แก่ บริษัทสุรากุ้ยโจวเหมาไถ และแบรนด์เสื้อผ้า Heilan Home (HLA) จากประเทศจีน  ทั้งนี้ สตาร์บัคส์ ปราด้า และแอร์เมส ก็อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยเช่นกัน      ปัจจุบันการใช้แรงงานเด็กและการเอาเปรียบแรงงานหญิงยังมีอยู่ และมีคนไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกอยู่ในสภาพถูกบังคับใช้แรงงานคิดก่อนคีบ       สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์(เรียกสั้นๆ ว่า CASE) ได้เก็บตัวอย่างตะเกียบไม้ไผ่แบบใช้ครั้งเดียว ทิ้ง 20 ยี่ห้อจากห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต มาตรวจหาปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้เพื่อฟอกขาวและป้องกันเชื้อรา    จากตัวอย่างที่นำมาตรวจ  เขาพบว่าไม่มียี่ห้อไหนมีสารดังกล่าวเกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ต่ำที่สุดคือ 7มล./กก. และสูงที่สุดคือ 364มล./กก.)     สิงคโปร์ใช้เกณฑ์อ้างอิงจากจีนและไต้หวันที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 600 มล./กก. และ 500 มล./กก. ตามลำดับ       แม้จะดูเหมือนปลอดภัย แต่ CASE ย้ำว่าเขายังไม่ได้ทดสอบตะเกียบจากร้านหรือศูนย์อาหารต่างๆ(ด้วยเหตุผลด้านการสืบหาที่มา) จึงแนะนนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงตะเกียบที่ดูขาวเกินไปหรือมีกลิ่นสารเคมีรุนแรง การได้รับซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ปีใหม่ต้องไม่เจ็บ         เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงทีไร ต้องได้ยินเสียงประทัดแว่วมา แต่ที่ฟิลิปปินส์นั้นเสียงประทัดไม่อาจจัดว่า “แว่ว” เพราะเขานิยมจุดให้เปรี้ยงปร้างอลังการเพื่อส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่     ความรื่นเริงนั้นไม่เป็นปัญหาแต่สิ่งที่มักเกิดตามมานี่สิใช่ เมื่อปี 2012 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัด ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องหามาตรการมารับมือ     เดือนมิถุนายนปีที่แล้วประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ได้ออกคำสั่งให้หยุดการขึ้นทะเบียนหรือออกใบอนุญาตให้กับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายและผู้ขายประทัด       กรมสุขภาพฟิลิปปินส์พบว่า จำนวนผู้ผลิตที่ลดลงมีส่วนทำให้สถิติการบาดเจ็บลดลงด้วย ปีใหม่ที่ผ่านมามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากประทัด 463 คน (ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 27)       กรมฯ ยังยืนยันว่าเป้าหมายสูงสุดคือการบาดเจ็บต้องเป็นศูนย์ และขอร้องให้ผู้ปกครองช่วยกันระมัดระวังดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยในงานปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประเทศนี้ต้องไม่หมู         ตามข้อตกลงการค้าล่าสุดระหว่างบริษัทของเดนมาร์กและจีน บริษัท  Danish Crown ของเดนมาร์กจะจัดส่งเนื้อหมูปริมาณ 250 ตันต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลาห้าปี ให้กับ Win-Chain ของประเทศจีนเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเบคอน      งานนี้เดนมาร์กจะได้เงินเข้าประเทศเกือบ 11,500 ล้านบาท และได้ของแถมเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วย      ตัวแทนกรีนพีซเดนมาร์กบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลยินยอมให้ผู้ประกอบการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศอื่น       เขายังบอกด้วยว่า แม้จะรู้กันว่าเนื้อสัตว์ คือผลิตภัณฑ์อาหารที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เดือนที่แล้วรัฐบาลเดนมาร์กกลับนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยไม่กล่าวถึงปัญหามลภาวะจากการผลิตเนื้อหมูเลย      เท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้บริษัทสามารถทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 การยกเลิกบริการสถานออกกำลังกาย

“...อุปกรณ์อะไรก็ไม่เพียงพอ ตอนที่เข้าไปใช้งานดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมืออะไร เทรนเนอร์ก็ไม่มาดูแล มีเพียงพนักงานมาสอบถามว่า เทรนเนอร์ยังไม่ได้โทรนัดหรือ แล้วให้ดิฉันไปปั่นจักรยาน 20 นาที จากนั้นก็ไม่มีใครมาดูแลอีก แล้วดิฉันก็ใช้เครื่องมืออื่นๆ ไม่เป็น วันต่อมาก็เหมือนกัน” การยกเลิกบริการสถานออกกำลังกาย    สุขภาพดีและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนสะดวกแบบที่โล่งแจ้งก็สามารถใช้สวนสาธารณะ วิ่ง เดิน สร้างความแข็งแรง แต่หลายคนชอบที่จะใช้สถานบริการออกกำลังกายเพราะเห็นว่ามีเครื่องออกกำลังกายที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีเทรนเนอร์คอยให้คำปรึกษา จึงเลือกที่จะทำสัญญาเพื่อใช้บริการ ซึ่งการทำสัญญาลักษณะนี้ต้องพอใจกันทั้งผู้ให้และผู้รับ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถทำตามเงื่อนไขอย่างที่ตกลงกันไว้ ก็สามารถบอกเลิกสัญญาได้     คุณเป็นหนึ่ง เข้ามาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ได้ทำสัญญาเข้าใช้บริการกับสถานบริการออกกำลังกายชื่อดังแห่งหนึ่ง ลองฟังเรื่องที่เธอเล่าก่อน “ดิฉันอยากขอยกเลิกสัญญา เพราะบริษัทไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญา อุปกรณ์อะไรก็ไม่เพียงพอ ตอนที่เข้าไปใช้งานดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมืออะไร เทรนเนอร์ก็ไม่มาดูแล มีเพียงพนักงานมาสอบถามว่า เทรนเนอร์ยังไม่ได้โทรนัดหรือ แล้วให้ดิฉันไปปั่นจักรยาน 20 นาที จากนั้นก็ไม่มีใครมาดูแลอีก แล้วดิฉันก็ใช้เครื่องมืออื่นๆ ไม่เป็น วันต่อมาก็เหมือนกัน แล้วยังต้องรอกว่าคนอื่นๆ จะเลิกปั่นจักรยานซึ่งเป็นอย่างเดียวที่ดิฉันทำได้ แล้วดิฉันก็เป็นโรคหอบหืด เวลาที่ออกกำลังจะมีอาการกำเริบเหนื่อยหอบจนต้องใช้ยาพ่นทุกครั้ง จึงคิดว่าแบบนี้น่าจะไม่สามารถใช้บริการได้ จึงอยากขอยกเลิกสัญญา”      เมื่อฟังดังนี้แล้ว ข้อที่น่าจะใช้ในการยกเลิกสัญญาได้คือ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 กำหนดว่า     ข้อ 3(4) สิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภคมี ดังนี้(ก)   ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ หรืออุปกรณ์ชำรุดบกพร่อง บริการไม่เหมาะสมไม่เพียงพอ โดยผู้ประกอบการหาอุปกรณ์หรือบริการมาทดแทนไม่ได้(ข)    มีหลักฐานเป็นหนังสือจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ(ค)   ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องแล้วไม่มีคำเตือน ดังนั้นเรื่องของคุณเป็นหนึ่งเข้าลักษณะที่จะบอกเลิกสัญญาได้  แนวทางการแก้ไขปัญหา    เมื่อพิจารณาว่าเรื่องของคุณเป็นหนึ่งที่เล่ามาเข้าข่ายบอกเลิกสัญญาได้ จึงแนะนำให้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงผู้ประกอบธุรกิจ หนังสือแจ้งธนาคาร (เจ้าของบัตรเครดิต) ขอใบรับรองแพทย์ เพื่อแนบส่งให้ทางผู้ประกอบธุรกิจ และสำเนาถึงศูนย์พิทักษ์ฯ เพื่อดำเนินการต่อหากยังไม่สามารถยุติสัญญาได้     คุณเป็นหนึ่งดำเนินการตามที่แนะนำ ประมาณต้นเดือนมกราคม ต่อมาพบว่าผู้ประกอบธุรกิจได้หักเงินในบัญชีไปประมาณ 2 พันกว่าบาท แจ้งว่าเป็นค่าบริการของเดือนมกราคม และยังมีใบเรียกเก็บของเดือนกุมภาพันธ์ตามมาอีกด้วย      ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงนัดให้มีการเจรจากันเพื่อยุติเรื่อง อย่างไรก็ตาม มีคำชี้แจงของทางสถานบริการออกกำลังกายว่า  เนื่องจากผู้ร้องได้ค้างชำระค่าบริการ เดือน ก.พ. มี.ค.และเม.ย. ซึ่งระบบจะยกเลิกสถานะสมาชิกโดยอัตโนมัติ  ต่อมาผู้จัดการสาขาที่คุณเป็นหนึ่งเข้าใช้บริการได้ชี้แจงรายละเอียดว่า “ลูกค้าได้เข้ามารับบริการที่สาขา โดยแจ้งกับพนักงานว่าเป็นโรคหอบหืดและแพทย์อยากให้ออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพ จึงตกลงซื้อคอร์สฟิตเนสเป็นสัญญา 1 ปี ทั้งนี้ลูกค้าได้ซื้อบริการเทรนเนอร์เพิ่มอีก 3 ครั้ง ซึ่งลูกค้าใช้บริการเทรนเนอร์ครบแล้ว แต่ต่อมาลูกค้าต้องการยกเลิกสัญญา  แจ้งว่าไม่สะดวก ต้องไปรับลูกจากโรงเรียน แล้วยังแจ้งอีกโดยอ้างว่าเทรนเนอร์ไม่ดี  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นสัญญา 1 ปี ทางสาขาจึงแนะนำให้ลูกค้าโอนสิทธิการใช้บริการให้บุคคลอื่น หรือหยุดการใช้บริการชั่วคราว หรือลดเกรดการรับบริการลง แต่ทั้งนี้เมื่อลูกค้าค้างชำระค่าบริการ 3 เดือน ระบบจะทำการยกเลิกสมาชิกอัตโนมัติ” เป็นอันว่าเรื่องยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้

“ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” รถยนต์ซื้อใหม่แต่เร่งความเร็วไม่ได้     รถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตคนยุคปัจจุบัน เพราะช่วยให้สะดวกในเรื่องการเดินทาง การประกอบอาชีพ บางคนถ้าพอมีฐานะการเงินพอที่จะมีรถยนต์ส่วนตัวได้ ก็ไม่ลังเลที่จะมีไว้สักคัน แล้วถ้ายิ่งได้ครอบครองรถใหม่ป้ายแดงก็ยิ่งมีความคาดหวังที่สูง เพียงแต่ว่าหลายคนก็โชคไม่ดีเจอปัญหารถป้ายแดงทำพิษ     คุณสมหวังผิดหวังอย่างแรง เมื่อรถยนต์หรูราคา 3 ล้านบาทของเธอ ซึ่งใช้งานได้ยังไม่ถึงเดือนก็เกิดอาการผิดปกติเสียแล้ว “รถคันนี้ซื้อมาเมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ก็นำมาใช้งานทุกวันไม่มีปัญหาอะไร จนวันที่ 24 ก.พ. ขณะขับบนทางด่วน สังเกตที่ปุ่ม P มีไฟโชว์ขึ้นมา ตอนนั้นไม่ได้เอะใจอะไรคิดว่าเดี๋ยวคงหาย ทว่าสักพักพอจะเร่งความเร็วรถ กลับเร่งไม่ขึ้น  ไม่มีกำลัง”            เหตุคาดไม่ถึงนี้ทำให้คุณสมหวังต้องค่อยๆ ประคองรถขับเรื่อยๆ จนถึงบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ขับแบบสภาพไม่มีกำลังเร่งไปที่ศูนย์บริการของแบรนด์รถยนต์ดังกล่าว ช่างขอรับรถไว้ตรวจสภาพและหาสาเหตุก่อน ผลคือรถยนต์อยู่ในศูนย์ซ่อมถึง 3 สัปดาห์ เมื่อมารับรถยนต์คุณสมหวังยังรู้สึกดีกับบริการต่างๆ อยู่ เพราะเชื่อมั่นในแบรนด์และคุณภาพของช่างว่าจะจัดการปัญหาได้เรียบร้อย แต่เมื่อนำมาใช้งานตามปกติเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ปัญหาเดิมก็กลับมาอีก และเกิดขึ้นตอนอยู่บนทางด่วนเช่นเดิม    “ซ่อมแล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิม ในเวลาไม่นานด้วย อย่างนี้พี่ไม่วางใจเลย มันหมดความเชื่อมั่น ตอนนี้รถก็ยังอยู่ในศูนย์ซ่อม พี่เคยไปที่ สคบ.แล้วแต่เรื่องยังไม่คืบ ทางบริษัทรถบอกเพียงว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ แบบนี้พอจะทำอย่างไรได้บ้าง” เป็นคำปรึกษาที่ทางคุณสมหวังแจ้งต่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางแก้ไขปัญหา   เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคต้องการคือ ให้บริษัทเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้หรือรับซื้อคืนคันที่มีปัญหา วิธีที่ต้องทำคือ ผู้บริโภคต้องทำหนังสือถึงบริษัทรถยนต์ดังกล่าว แจ้งลักษณะของปัญหาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความไม่มั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง ซึ่งรถยนต์หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพก็อาจส่งผลถึงชีวิตของผู้ขับขี่ได้  ดังนั้นจึงขอให้บริษัทดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ผู้บริโภคร้องขอ พร้อมกับทำสำเนาส่งถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งจะดำเนินการต่อหากบริษัทปฏิเสธคำร้องของผู้บริโภค    ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณสมหวังว่า ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับซื้อรถคืนแล้ว โดยจะมีการหักค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่งตรงนี้คุณสมหวังพอใจ จึงขอยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม

เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ              รับมือไม่ไหวโดนรุมให้เซ็นสัญญาซื้อคอร์สเสริมความงาม    เคยไหมเวลาเดินเล่นเพลินๆ ให้ห้างสรรพสินค้า แล้วถูกเซลล์ของบรรดาคลินิกหรือสถานเสริมความสวยงาม สถานบริการลดน้ำหนัก พุ่งเป้าเล็งคุณด้วยการเชิญชวนที่ยากจะปฏิเสธ กว่าจะรู้ตัวก็เซ็นสัญญารูดบัตรเครดิตไปเรียบร้อย ถ้าพลาดไปแล้วจะทำอย่างไร ลองดูกรณีตัวอย่างนี้     ขณะคุณปิ๊กกำลังเพลิดเพลินเดินห้างอย่างสบายอารมณ์ พนักงานขายของคลินิกบริการด้านความงาม (ขอเรียกว่า คลินิก T) “พยายามเรียกดิฉันให้เข้าไปในบูท บอกว่าแค่เขียนชื่อเพื่อที่ตัวน้องเขาจะได้ยอด” ด้วยความใจดี คุณปิ๊กจึงช่วยเขียนชื่อให้เพราะไม่คิดว่าต้องเสียอะไร      แต่คุณปิ๊กคงคาดไม่ถึงว่าตนเองต้องผจญกับการเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งลด แจก แถม ที่พนักงานขายพยายามเสนอให้อย่างสุดความสามารถ เมื่อคุณปิ๊กปฏิเสธ พนักงานขายอีกสองสามคนก็เข้ามารุมให้ข้อมูล เกลี้ยกล่อม “พูดล่อลวงให้หลงเชื่อและเปลี่ยนใจซื้อบริการ...มีการขอบัตรเครดิต พอบอกว่าขอกลับไปคิดก่อน ก็อ้างว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้ว ปิดบูท โปรโมชั่นนี้จริงๆ ไม่มีแล้วแต่มอบให้คุณปิ๊กเป็นกรณีพิเศษ...” อยู่ในวงล้อมนี้ราวหนึ่งชั่วโมง สุดท้ายคุณปิ๊กก็ต้านทานไม่ไหว รูดบัตรเครดิตจ่ายค่าคอร์สไปแบบงงๆ     เมื่อกลับมาบ้านจึงมีเวลาได้ทบทวนและตรวจสอบราคาค่าบริการ คุณปิ๊กพบว่าราคาค่าบริการของคลินิก T แพงกว่าราคาตลาดประมาณ 5-10 เท่า แม้แต่ราคาโปรโมชั่นที่ได้ซื้อไปก็แพงกว่า 2 เท่า จึงโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา     เนื่องจากยังไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงแนะนำเบื้องต้นให้ทำหนังสือ (จดหมาย) “บอกเลิกการใช้บริการและขอเงินคืนทั้งหมด” ถึงคลินิก T และทำหนังสือ “ขอระงับการจ่ายเงิน” ถึงผู้ให้บริการบัตรเครดิต (ธนาคาร) แล้วสำเนาส่งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อจะได้ดำเนินการต่อเนื่อง     ผลการดำเนินการ ทางคลินิกแจ้งเป็นหนังสือว่าจะจ่ายเงินค่าคอร์สคืนให้แก่ผู้ร้องคือคุณปิ๊ก จำนวน 19,500 บาท จากจำนวนเต็ม 30,000 บาท โดยขอหักไว้ 35% (10,500 บาท) อ้างว่า เป็นค่าธรรมเนียม กรณีนี้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่าผู้ร้องควรใช้สิทธิดำเนินการทางศาลหรือฟ้องเรียกเงินคืนจะดีกว่าวิธีที่ผู้ร้องคิด คือจะขอไปใช้บริการในส่วน 10,500 บาทและรับเงินคืน 19,500 ซึ่งวิธีนั้นทางคลินิกไม่ยินยอมและยืนยันการคืนเงินตามหนังสือที่แจ้งมา ถ้าผู้ร้องฟ้องคดีอาจได้รับเงินในส่วนที่ถูกหักไว้ 35% คืนกลับมา เพราะค่าธรรมเนียมที่ทางคลินิกเรียกถึง 35% นั้นสูงเกินไป ซึ่งคุณปิ๊กเห็นด้วย เรื่องนี้จึงอยู่ในกระบวนการฟ้องคดี และจะนำมารายงานต่อเมื่อคดีสิ้นสุด                               ใจแข็งไว้นะคะเวลาเผชิญหน้ากับเซลล์ ไม่ว่าจะสินค้าใดก็ตาม ผู้บริโภคควรมีเวลาสำหรับการหาข้อมูลให้แจ้งชัดและมีเวลาสำหรับการตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ไข่จริงไข่ปลอม ?

“ไข่ขาวมีลักษณะผิดปกติคือ มีความหนืดมากและเป็นแผ่นยาว มีเยื่อผนังส่วนติดอยู่กับเปลือกไข่ และก่อนทอดสีของไข่แดงออกสีจางๆ  ต่อเมื่อทอดเป็นไข่ดาวจึงมีลักษณะปกติ”  ไข่จริงไข่ปลอม ?“ตลาดอรัญฯ ป่วน ตื่นไข่ปลอม ส่งตัวอย่างตรวจ” ไทยรัฐ“หนุ่มผงะไข่นกกระทาปลอม ทอดแล้วเหนียวเหมือนพลาสติก” Sanook“สาวโพสต์เตือน ไข่ต้มปลอม!”  LINE Todayข้อความข้างต้นคือพาดหัวข่าวในช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวไข่ปลอมทำให้ผู้บริโภครู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะ “ไข่” เป็นอาหารประจำของทุกๆ บ้าน เราในฐานะผู้บริโภคก็พยายามเลือกซื้อไข่ที่มีแหล่งที่มาชัดเจนเพื่อจะได้มั่นใจว่าเป็นไข่จริงและปลอดภัยในการบริโภค แต่แล้วการเลือกไข่ที่มีแหล่งที่มาชัดเจน บรรจุภัณฑ์ (packaging) สวยงาม ซื้อจากร้านค้าในห้างใหญ่ กลับทำให้ผู้บริโภคท่านนี้สงสัยว่าไข่ที่ซื้อมาเป็นไข่ปลอมหรือไม่ หลายวันก่อนคุณภูผาผู้ร้องเจ้าประจำไปเดินเล่นพักผ่อนที่ห้างสรรพสินค้า ก่อนกลับบ้านได้แวะ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างนั้นเพื่อซื้ออาหาร หนึ่งในนั้นคือไข่ไก่ เบอร์ 1 จำนวน 1 แพค บรรจุ 10 ฟอง ตอนเลือกเขาเห็นว่าบรรจุภัณฑ์ของไข่มีลักษณะสวยงามแปลกไปจากผลิตภัณฑ์เจ้าอื่นบนชั้นวางเดียวกัน และราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่น ก็คิดว่าน่าจะเป็นไข่ไก่ออร์แกนิคจึงซื้อมา เมื่อกลับถึงบ้านเขานำไข่ออกจากบรรจุภัณฑ์มาแช่ตู้เย็น หลังจากนั้นก็นำไข่มาประกอบอาหารตามปกติ ไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร แต่ตอนไข่เหลืออยู่ 4 ฟอง คุณภูผานำมาทอดกับเนย 2 ฟอง กลับพบว่าไข่ขาวมีลักษณะผิดปกติคือ มีความหนืดมากและเป็นแผ่นยาว มีเยื่อผนังส่วนติดอยู่กับเปลือกไข่ และก่อนทอดสีของไข่แดงออกสีจางๆ  ต่อเมื่อทอดเป็นไข่ดาวจึงมีลักษณะปกติ อย่างไรก็ตาม คุณภูผาเสพข่าวสารมาพอสมควร และเห็นข่าวไข่ปลอมกำลังระบาด จึงรู้สึกกังวลใจว่าตัวเองโดนหลอกเสียแล้ว เริ่มไม่แน่ใจว่าไข่ที่เขาพบความผิดปกตินี้เป็นไข่ปลอมหรือไม่ เขาจึงนำเปลือกไข่ที่พบความผิดปกติและไข่ที่เหลืออีก 2 ฟองมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ตรวจสอบและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังในการรับไข่มาจำหน่ายในห้างของตัวเอง แนวทางการแก้ปัญหา   การจำหน่ายอาหารปลอมเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27 และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 59 ระบุให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท    กรณีไม่แน่ชัดว่าไข่เป็นของจริงหรือของปลอม ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ส่งให้นักวิชาการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างไข่ไก่ของผู้ร้องกับไข่ไก่ที่ซื้อมาจากตลาด ผลปรากฏว่าไข่มีลักษณะเป็นทรงวงรี สีขาวนวลออกเหลือง เมื่อตอกไข่เนื้อไข่มีลักษณะมีน้ำค้างของไข่หุ้มไว้ สีสม่ำเสมอ มีกลิ่นคาวไข่ เมื่อนำไปทอดมีลักษณะเหมือนกัน เผาเปลือกไข่ ไม่มีกลิ่นสารเคมี ซึ่งเป็นลักษณะของไข่ไก่จริง ต่อมาได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าไข่ของผู้ร้องไม่ใช่ไข่ปลอม เป็นไข่จริง ผู้ร้องเข้าใจและลดความกังวลลงอย่างมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ทดสอบสารกันบูดในแป้งทำขนม

ฉลาดซื้อทดสอบวัตถุกันเสียในขนมอบหรือเบเกอรี่ค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันมาก หลายครั้งที่พบว่า มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มาก ซึ่งผู้ผลิตเองก็ระบุว่า ไม่มีการเติมวัตถุกันเสียใดๆ ลงไปจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงตรวจพบ ซึ่งจากคำแนะนำของนักวิชาการด้านอาหาร เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตขนม  ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  จึงสุ่มตัวอย่าง “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด จำนวน 19 ตัวอย่าง ทดสอบหาสารกันเสียยอดนิยมคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และสารฟอกขาว(ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) จากผลวิเคราะห์พบ กรดเบนโซอิกปริมาณน้อยในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมิใช่การจงใจใส่วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกโดยตรง แต่เกิดจากการใช้วัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นในกระบวนการผลิตแป้งสาลีเพื่อฟอกขาว และสารนั้นมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกรดเบนโซอิก ดังนั้นเมื่อมีการนำแป้งสาลีมาทำขนมอบ เช่น ขนมเปี๊ยะ ผลวิเคราะห์จึงพบค่าวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อย ทั้งที่ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีการเติมวัตถุกันเสียในสูตรขนม ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ผู้ผลิตขนมจึงควรแจ้งบริษัทแป้งสาลีเพื่อขอใช้แป้งสาลีที่ไม่มีสารฟอกขาว สรุปผลการทดสอบจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 19 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของกรดซอร์บิกและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุกตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อยตั้งแต่ 2.52 – 71.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านอาหาร ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยให้ความคิดเห็นไว้ในการประชุมร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อว่า การพบวัตถุกันเสียในปริมาณที่ไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในอาหาร ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตในการใส่สารกันเสียเพื่อถนอมอาหาร อีกทั้งในกระบวนการผลิตแป้งสาลีจะมีการใช้สารเสริมคุณภาพหรือวัตถุเจือปนอาหารเพื่อฟอกสีแป้งให้ขาว ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้ได้แก่ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-  “การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ใส่ลงไปในวัตถุดิบเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจกลายเป็นการปนเปื้อนวัตถุกันเสียจากความเข้าใจผิดได้ เช่น การใช้สารฟอกขาวประเภท Benzoyl peroxide เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก” ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่มีการกำหนดค่าวัตถุกันเสีย BENZOATES (กลุ่มเบนโซเอต) ในแป้ง แต่มีการกำหนดค่า BENZOYL PEROXIDE (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) INS: 928 ซึ่งมีหน้าที่เป็น สารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง, สารกันเสีย  ในแป้งไว้ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตารางผลการทดสอบ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเก็บตัวอย่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561*หมายเหตุ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อการฟอกสีประเภท Benzoyl peroxide มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ผลวิเคราะห์ในปริมาณที่ปรากฏ จึงไม่น่าใช่การจงใจเติมวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ฟอกสีแป้งสาลีเพื่อปรับปรุงคุณภาพหรือสีของผลิตภัณฑ์ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-แป้งสาลี    แป้งสาลีเป็นแป้งที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด ไม่มีแป้งชนิดอื่นใช้แทนแป้งสาลีได้ ทั้งนี้เพราะแป้งสาลีมีโปรตีน 2 ชนิด ที่รวมกันอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ กลูเตนินและไกลอะดิน (Glutenin & Gliadin) ซึ่งเมื่อแป้งผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้องจะทำให้เกิดสารชนิดหนึ่งเรียกว่า “กลูเตน” (gluten) มีลักษณะเป็นยาง เหนียว ยืดหยุ่นได้ กลูเตนนี้จะเป็นตัวเก็บก๊าซไว้ทาให้เกิดโครงร่างที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์ และจะเป็นโครงร่างแบบฟองน้ำเมื่อได้รับความร้อนจากตู้อบ ประเภทของข้าวสาลี ข้าวสาลีที่นำมาโม่เป็นแป้งสาลีนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทตามความแข็งและสีของเมล็ดจัดเป็นข้าวสาลีชนิดแข็ง (Hard wheat) กับข้าวสาลีชนิดอ่อน (Soft wheat) ชนิดของแป้งสาลี แป้งสาลีที่ผลิตออกมาขายเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมี 3 ชนิดคือ แป้งขนมปัง แป้งเค้ก และแป้งเอนกประสงค์ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณลักษณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์ต่างกันคือ 1.แป้งขนมปัง มีโปรตีนสูง 12-14 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดแข็ง ใช้ทำผลิตภัณฑ์พวกขนมปังจืด ขนมปังหวาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้หมักด้วยยีสต์ทุกชนิด 2.แป้งเอนกประสงค์ มีโปรตีนสูงปานกลาง 10-11 เปอร์เซ็นต์ เป็นแป้งที่ได้จากผสมข้าวสาลีชนิดแข็งกับชนิดอ่อนเข้ากับเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสมการทำผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ขนมปังจืดและหวาน ขนมเค้กบางชนิด ปาท่องโก๋ บะหมี่ เพสตรี 3.แป้งเค้ก มีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดอ่อน ใช้ทำเค้ก คุกกี้ ลักษณะของแป้งเมื่อถูด้วยนิ้วมือจะรู้สึกอ่อนนุ่มเนียนละเอียด มีสีขาวกว่าแป้ง 2 ชนิดแรก เมื่อกดนิ้วลงไปบนแป้ง แป้งจะเกาะรวมกันเป็นก้อนและคงรอยนิ้วมือไว้ แป้งชนิดนี้ใช้สารเคมีช่วยทำให้ขึ้นฟูเท่านั้น ไม่ใช่ยีสต์ ซึ่งสารเคมีก็ได้แก่ ผงฟู โซดา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้สั่งข้าวสาลีจากต่างประเทศมาทำการโม่เป็นแป้ง โดยโรงโม่ที่มีอยู่จะทำแป้งจากทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว และจากแป้งหลักเหล่านี้ โรงโม่แต่ละแห่งจะทำการโม่แป้งสาหรับทำผลิตภัณฑ์เฉพาะยิ่งขึ้น โดยจะบ่งไว้ที่ถุงบรรจุแป้งว่า ใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องรู้ว่าแป้งที่จะใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนั้นเป็นแป้งชนิดใด มีโปรตีนชนิดใด แล้วจึงเลือกซื้อให้เหมาะสม     เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ให้ได้ผลดี คุณลักษณะที่สำคัญหนึ่งของแป้งสาลี คือ สีของแป้ง(Color) แป้งที่ดีควรมีสีขาว ถ้าหากมีสีอื่นปน เช่น สีเหลืองอ่อนของแซนโทฟิลล์ หรือสีครีม จะทำให้ขนมปังมีเนื้อใน(crumb) ที่มีสีไม่ดี ดังนั้นแป้งที่โม่ออกมาจึงควรผ่านการฟอกสีก่อน               สารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายอาหาร เพื่อยกเลิกการใช้โพแทสเซียมเป็นสารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ทำให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีต้องเลือกใช้สารออกซิไดส์อื่นแทน เช่นใช้กรดแอสคอร์บิกในปริมาณ 15-25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ของแป้งสาลี เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อขนมปังดีขึ้นโดยผสมลงในแป้งก่อนขายให้ช่างทำขนมปัง นอกจากนี้ยังอาจใช้คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารออกซิไดส์อย่างอ่อนและเป็นสารฟอกสีแป้งด้วย เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อสัมผัสที่ดี หรือใช้เบนโอซิลเพอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารฟอกสี จะช่วยให้ได้ขนมปังที่มีเนื้อขนมปังขาวขึ้น โดยผสมลงในแป้งในปริมาณที่เหมาะสม สารเสริมคุณภาพแป้งสาลีอีกชนิดหนึ่งที่โรงโม่แป้งสาลีต้องคำนึงถึงคือ แป้งมอลล์ หรือเอนไซม์อะมิเลสจากเชื้อรา โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพแป้งในการทำขนมปังให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้นและมีเนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น ถ้าใช้แป้งมอลล์จะใช้ปริมาณ 1800 ส่วนในล้านของแป้ง แต่ใช้เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสได้เช่นกันแต่มีประสิทธิภาพในการทนความร้อนได้น้อยกว่า   เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสจากเชื้อรา จึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่า ซึ่งเอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสนี้จะช่วยย่อยสลายสตาร์ชในขณะหมักเพื่อให้ได้น้ำตาลมอลโทสสาหรับการทำงานของยีสต์ให้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมขณะหมักเพื่อให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรดี ที่มา : จิตธนา แจ่มเมฆ และอรอนงค์ นัยวิกุล. 2549. เบเกอรี่เทคโนโลยีเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิชาการแย้งกฤษฎีกา ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ... ไม่ขัด รธน.

(29 ต.ค.61) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น - กรุงเทพฯเวทีเสวนา ความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตั้งแต่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มิ.ย.61 ได้ถูกเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อเข้าสู่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ โดยเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าว ถูกคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 46 จึงได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. …. ขึ้นใหม่ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ และมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายด้วยโดยนักวิชาการได้อภิปรายโต้แย้ง 3 ประเด็น คือ 1. ไม่มีหลักประกันงบประมาณของสภา ต้องของบประมาณผ่านหน่วยงานรัฐ ขอตรงไม่ได้ ซึ่งอาจไม่เป็นอิสระในการทำงาน  2. เปิดโอกาสให้มีหลายสภา ทำให้ไม่เป็นองค์กรที่จะมีตัวแทนผู้บริโภคเพียงหนึ่งเดียวที่มีพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 3. ยืนยันว่าร่างกฎหมายสภาผู้บริโภคของ สคบ. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างที่กฤษฎีกาให้ความเห็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 จดหมายถึงบอกอ

ความต่างของผงปรุงรสกับผงชูรส ดิฉันเคยเขียนไปรษณียบัตรถาม มีความสงสัยเรื่องผงปรุงรสที่ว่าไม่ใช่ผงชูรส แต่อ่านส่วนผสมก็มีโมโนโซเดียมกลูตาเมต ช่วยขยายความด้วย ประเด็นนี้เคยถามไปนาน ไม่มั่นใจว่ากี่ปี ลืมแล้ว แต่ติดตามทางนิตยสารก็ยังไม่มี หรือตอบไปแล้ว ดิฉันลืมอ่าน แล้วผงปรุงรสมีผลเสียอย่างไรบ้างไหมคะ หมายถึงปริมาณที่แนะนำให้บริโภคคงไม่มีโทษ แต่ความจริง แม่ค้าขายอาหารน่าจะใส่ผงปรุงจำนวนมากกว่าปริมาณแนะนำเพื่อให้มีรสอร่อยมาก ถ้าผลิตมาจากเนื้อสัตว์ ใส่มากๆ ก็แค่เพิ่มต้นทุน และได้ความอร่อยเพิ่ม ไม่ได้รับส่วนปรุงรสที่เป็นอันตราย อย่างนี้ไหมคะวงษ์จันทร์ต้องขออภัยด้วยที่ไม่ได้ตอบคำถาม อย่าเพิ่งโกรธกันเสียก่อนนะคะ พอดีฉลาดซื้อเปลี่ยนแอดมินเพจเฟซบุ๊กและเว็ปไซต์เลยอาจจะมีอะไรผิดพลาดไปบ้าง  ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) คือ วัตถุปรุงแต่งอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น มันสำปะหลัง หรือ อ้อย นำมาผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อตกผลึกกลายเป็นผงชูรส มีคุณสมบัติทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น หากใส่ในปริมาณที่พอดีจะให้รสอูมามิในอาหาร ส่วน ผงปรุงรส คือ การนำเอาเครื่องปรุงรสอาหารต่างๆ มาหมักรวมกับเนื้อสัตว์ นำไปต้มและอบแห้งทำให้เป็นผง ซึ่งผงปรุงรสเองอาจจะมีส่วนประกอบของผงชูรสหรือไม่มีเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของผงปรุงรส ต้องอ่านฉลากให้ดีค่ะ ผงปรุงรสมีผลเสีย ตรงที่มีปริมาณโซเดียมสูง ผู้ที่มีปัญหาภาวะความดันโลหิตสูง โรคไต ควรหลีกเลี่ยง หรือรับประทานให้น้อยลงค่ะ   ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นคอ พวกยาฉีดพ่นคอ ระงับอาการระคายเคือง ที่ทำให้ไอ กระแอม ตัวนี้พ่นบ่อยๆ จะมีอันตรายไหมคะ Kanokporn Vongpradit Mouth Spray ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเคลมว่าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ไม่น่าจะมีอันตราย อย่างไรก็ตาม หากพ่นบ่อยๆ โดยไม่ได้มีอาการระคายเคือง อาจเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์เกินความจำเป็น และเสียเงินโดยใช้เหตุค่ะ เปลี่ยนมาเป็นจิบน้ำบ่อยๆ หรือใช้พวกยาอมหรือเม็ดอมสมุนไพร ก็ช่วยให้ชุ่มคอได้เช่นกัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 จ่ายหนี้ไม่ถึงเจ้าหนี้

จ่ายหนี้ไม่ถึงเจ้าหนี้ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้มีเรื่องมาเตือนภัย จากประสบการณ์ของคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 คนขับสามล้อรับจ้างจำนวนกว่า 100 ราย (จากจำนวนผู้เสียหายประมาณ 300 ราย) เข้ามาร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่ากู้เงินจากธนาคารออมสินโดยผ่านสหกรณ์จักรเพชร เพื่อซื้อรถสามล้อมาขับ แต่ปรากฎว่าเมื่อส่งรถไประยะเวลาหนึ่งกลับถูกฟ้องจากธนาคารออมสินว่า ไม่ได้ชำระเงินกู้ ที่มาของเรื่องคือ บรรดาคนขับสามล้อรับจ้างเหล่านี้  ต้องผ่านเงื่อนไข ดังนี้ คือต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์จักรเพชร ก่อนโดยจ่ายค่าสมัครสมาชิก 300 บาท จึงสามารถจองรถกับสหกรณ์ได้ จากนั้นต้องทำสัญญากู้ยืมเงินและได้รับรถ (ประมาณ 3 เดือน) โดยลักษณะวิธีการทำสัญญากู้ยืมเงินที่สหกรณ์ให้ทำ มีข้อสังเกต ดังนี้·       ให้เซ็นชื่ออย่างเดียว อ้างว่า มีผู้กู้รอทำสัญญาจำนวนมาก ·       ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดในสัญญา·       ไม่มีการอธิบายเรื่องการค้ำประกัน·       ผู้กู้ไม่ทราบว่าตนเองต้องจ่ายเงินเดือนละเท่าไหร่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ผู้กู้ทราบแต่เพียงว่า ต้องจ่ายเงินค่างวดตามใบสรุปรายจ่ายสินเชื่อ โดยสหกรณ์ให้ดูตารางระยะเวลากู้และจำนวนเงินค่างวดแต่ไม่ได้ให้ผู้กู้เก็บสัญญาไว้ คุณวันทอง ศรีจันทร์ และคุณเจริญ งามเด่น กลุ่มสามล้อรับจ้าง ชาวจังหวัดสุรินทร์ เป็นตัวแทนเล่าเรื่องราวให้เราฟังเพิ่มเติม คุณวันทอง เริ่มต้นว่า “ออมสินไม่จ่ายให้คนกู้ คือจ่ายให้สหกรณ์จักรเพชร สหกรณ์จักรเพชรเป็นคนรับเงินแทน อย่างของตัวผม มันก็คือราคารถจริงๆ ราคาไม่เกิน 200,000 บาท แต่สหกรณ์ฯ มาขายให้เรา เป็นราคารถ 295,000 บาท แล้วบวกค่าจดทะเบียน พ.ร.บ.อะไรอีก 50,000 มันก็ตก 345,000 บาท แต่ยอดกู้ของออมสิน 400,000 แล้วเงิน 400,000 นั้นไปไหน มันก็อยู่ในสหกรณ์ฯ ”  คุณวันทอง ศรีจันทร์ตอนนี้มีผู้เสียหายประมาณกี่คนก็ประมาณ 300 คน ตอนผมไปกู้ ออมสินจัดให้ 3 คน ต่างคนต่างค้ำกัน 3 คน เขาบอกว่าไม่ต้องอ่านหรอกสัญญา กู้ได้ตามความเป็นจริงของเรา ตามรถสามล้อเขาบอกแบบนี้ (ก็คือกู้ตามนั้น) ครับ กู้เขาก็ให้เซ็น คือก็ไม่มีใครรู้ว่ายอดหนี้เท่าไหร่ เซ็นไป ทีนี้เขาก็มาให้ไปรับรถ เขาก็มีหนังสือตอนรับรถ 345,000 คุณต้องจ่าย 78 งวด งวดละ 7,873 บาท ของสหกรณ์ทำขึ้นมา เขาให้ส่งไปตามนั้นแหละ ส่งไปส่งไป รถมันก็ซ่อม โทรคุยกับสหกรณ์ฯ ก็บอกว่าไม่เป็นไร พี่มี 2-3 พันก็มาให้ได้ เราก็ส่งไปตามนั้นรถต้องซ่อม มารู้อีกทียอดคือ 4 แสน ตอนหมายศาลมา (สัญญาเป็นอย่างไร) เซ็นสัญญาทีเดียว ตอนเซ็นสัญญากู้ออมสิน เขาทำเครื่องหมายไว้ว่าให้เซ็นตัวไหนๆ เขาติ๊กเลขหนึ่งเลขสองเลขสามบอกเซ็นตามนี้ มันอยู่ในปึกเดียวกัน ตอนกู้ทีแรก สัญญากู้ยืมไม่ได้ให้ไว้ คู่ฉบับไม่มีเลย แล้วยอดหนี้เขาก็ไม่แจ้งเรา หนี้ที่เรากู้ก็ไม่ทราบด้วยซ้ำกู้เท่าไหร่ เพิ่งมารู้ตอนหลัง ตอนที่มีหมายศาลมา มารู้ตอนไหน ผ่านไปกี่เดือนเกือบ 2 ปี รู้ตอนผ่อนไปแต่เงินไม่ได้เงินเข้าออมสิน เข้าสหกรณ์อย่างเดียว เราก็ผ่อนผ่านสหกรณ์ไป  แล้วเขาออกใบรับเงินอะไรให้เรามีใบเสร็จ คือเขาให้สมาชิกทุกคนส่งเงินผ่านสหกรณ์ฯ ตอนนี้สมาชิกบางคนคือถูกยึดรถไป แล้วก็ถูกออมสินยื่นฟ้อง มีสมาชิกบางคนไปคุยกับสหกรณ์ฯ อย่างกรณีรถผมถูกยึดไปจะให้ทำยังไง หนี้ผมออมสินจะให้ทำยังไง เขาก็บอกมาว่า คุณไม่ส่งงวดสหกรณ์ฯ สหกรณ์ยึดรถคุณ ออมสินคุณกู้ออมสิน คุณก็ส่งเองไม่เกี่ยวกับสหกรณ์ฯ เขาพูดบอกว่าแบบนี้ เรื่องมันก็เกิดมาร้องเรียนกันอย่างนี้ คุณเจริญ งามเด่น คนที่ถูกธนาคารฟ้องคือภรรยาที่เป็นคนทำสัญญากู้แทนของผมแฟนไปทำสัญญาให้ บางคนก็ญาติบางคนก็ไม่ใช่ญาติ แค่ละเคสไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าบูโร(เครดิตบูโร) ไม่ผ่านแล้วไปเอาที่คนใกล้ชิดมาเป็นคนกู้ให้ ที่ช้ำใจที่สุด คือไปกู้ออมสินเสร็จแล้วไม่ได้ดูเอกสารอะไรเซ็นอย่างเดียว แล้วยอดเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายอดกู้เท่าไหร่ แล้วกู้มาสหกรณ์เป็นคนรับเงิน พอไป ที่สำคัญคือติดไปทำสัญญาซ้ำกับสหกรณ์อีก โดนจบไปประมาณ 7 แสน แต่เขาเก็บผมไป 7 แสน  รายละเอียดเป็นอย่างไรคือซื้อรถ แฟนไปกู้ออมสินใช่ไหม กู้ออมสินมาในราคาประมาณ 4 แสน กู้ออมสิน 4 แสน เงินก็ไม่ได้รับ(เพราะออมสินให้สหกรณ์) แถมสหกรณ์ออกใบสัญญากู้อีกฉบับหนึ่งให้เรา ว่าแฟนไปกู้สหกรณ์อีก 3 แสน โดยที่แฟนไม่รู้เรื่องเลย ไปครั้งเดียวคือไปทำสัญญาที่ออมสิน แต่ในส่วนของสหกรณ์ไม่รู้เลยว่าเขาทำให้ตอนไหน   คือตอนนั้นผมกับแฟนยังไม่ได้แต่งงานกันยังไม่ได้อยู่ด้วยกัน คล้ายๆ ว่าอยู่คนละบ้านเลขที่ ผมช้ำใจตรงที่เราเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นหนี้ ปัญหาคือเป็นปัญหาครอบครัวด้วย ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะ คือคล้ายๆ ว่าพูดเรื่องนี้ทีไรเขาก็ว่าผมเป็นคนหลอกลวงเขา ไปติดหนี้ แล้วสมาชิกทุกคนส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ด้วย เป็นอย่างนี้แล้วทำให้ครอบครัวสามล้อแทนจะเป็นครอบครัวอบอุ่นกลับกลายเป็นครอบครัวที่แตกแยกกันแล้วยอดกู้บางคนนะ เราส่งไป 2 แสน หรือ 3 แสน เงินก็เข้าแค่ 2 - 3 หมื่นเองที่เข้าออมสินจริงๆ สมาชิกส่งผ่านสหกรณ์ไป จำนวนที่เข้าสหกรณ์จริงๆ ไม่เข้าตามที่ส่ง โทรศัพท์ไปถามประธานสหกรณ์ฯ เขาบอกว่า ที่แฟนคุณเป็นหนี้คือ คุณไปกู้ออมสินแล้วก็คุณเอาเงินมาออม(ฝาก)ที่สหกรณ์ แล้วในเมื่อคุณอยากได้สามล้อ แฟนคุณก็กู้เงินสหกรณ์มาซื้อสามล้อจึงเป็นหนี้สองทาง จริงๆ เงินที่เรากู้มาก็เป็นเงินของเราใช่ไหม แล้วสหกรณ์ไปเอารถมาก็ทำให้เรากู้อีกนี่นะ ปัญหาคืออยากได้รถก็กู้เงินเราเอง ไม่ควรเป็นกู้สหกรณ์  อย่างของพี่นี่ซ้ำซ้อนอย่างนี้มีสักกี่คน หมดเลยครับ ทุกคน  รวมทั้งหมดประมาณ 300 ราย โดยประมาณ (ยอดรวมทั้งหมดก็หลายล้าน) ครับ ความเสียหาย แล้วมารวมตัวกันยังไงทีแรกก็รวมกันได้ 5-6 คนนี่แหละ ก็ไปยื่นเรื่องที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทางสำนักงานนายกฯ เขาก็ส่งเรื่องไปกระทรวงยุติธรรม ก็พากันไปยื่นเรื่องตรงกระทรวงยุติธรรมก็ประมาณ 10 คน หลังจากนั้นมาตัวผมก็กลับบ้านไป ทีนี้แฟนผมก็บอกว่าโทรปรึกษากับคุณนายท่านผู้ว่า ท่านก็แนะนำมาให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมก่อน ศูนย์ดำรงธรรมก็ให้ไปสำนักงานยุติธรรมของจังหวัด สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ก็บอกว่า นี่มันเป็นคดีแพ่งของออมสิน เอกสารเขาครบทุกอย่าง คล้ายๆ ว่า คือช่วยอะไรไม่ได้ เอกสารกู้ยืมทางออมสินครบพร้อมหมด คุณมีทางเดียวก็คือไปมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เขาแนะนำมา ก็เลยได้มาตรงนี้ เมื่อก่อนไม่รู้จักด้วยซ้ำ ผมก็ถามเขาว่ามูลนิธิอยู่ตรงไหน อยู่แถวอนุสาวรีย์ฯ ที่อยู่ก็ไม่มี หาเอายังไง หาเอาในเน็ตเขาบอก ทีนี้ผมก็มา ก็ไปเนติก่อนไปยื่นขอทนาย ทนายก็บอกนู้นแนะ สขพบ. เจ้าหน้าที่เขาเยอะ เลือกให้ดีเขาช่วยได้ ทีนี้ผมก็นึกถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผมก็เลยให้ลูกสาวค้นหาที่อยู่ในเน็ตให้ พอค้นได้ผมก็โทรมาก่อน มานั่งเล่าเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่ฟัง ก็นัดหมายมาคุย ผมมากันสองคน  มากันสองคนครับ เจ้าหน้าที่ก็รับเรื่องไว้ ให้ผมไปชวนสมาชิกสหกรณ์มา แรกๆ สมาชิกชวนยากด้วย ไม่อยากมา บางคนเขาว่า เขาส่งดีแล้วเขาไม่จำเป็นต้องอาศัยคนช่วย ยังไงเขาก็ส่งเป๊ะๆ อยู่แล้ว แต่พอไม่ใช่แล้วมันก็มีหมายศาลไปเรื่อยๆ นี่แหละคนถึงมาร่วมฟ้องกันเยอะๆ เพราะว่าทุกคนโดนหมายศาลจึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ตอนนั้นทางมูลนิธิบอกว่า จะขอเลื่อนจากสุรินทร์เข้ากรุงเทพฯ ย้ายคดีจากศาลสุรินทร์มาอยู่กรุงเทพฯ  ทำไมต้องให้ย้ายมาที่กรุงเทพฯเพื่อความสะดวก ไม่ต้องลำบากไปต่างจังหวัด เพราะคนเสียหายมันเยอะ ทางมูลนิธิฯ ให้ย้ายมาที่กรุงเทพฯ เพราะว่าเรากู้ที่กรุงเทพฯ ย้ายคดีมาอยู่กรุงเทพฯ จะดีกว่า ซึ่งจะขอส่วนนี้ได้ ช่วยแบบทันเหตุการณ์ไม่ต้องลำบากไปต่างจังหวัด ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานอย่างไรเอกสารหลักฐานมีหลายอย่างเตรียมมาเอาเท่าที่เรามี ทางมูลนิธิฯ ว่าจะเจรจาให้ออมสินยกฟ้อง ภายใน 7 วัน ถ้าไม่ยกฟ้องภายใน 7 วัน ก็จะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ไปตรวจสอบสหกรณ์จักรเพชรในส่วนของการเงินออมกับการทำสัญญากู้ ภายในเดือนหนึ่ง ในส่วนสหกรณ์ฯ  ก็ให้ทางสหกรณ์ส่งคู่มือเล่มที่เป็นสิทธิของผู้กู้ให้สมาชิก เท่าที่ทราบก็ยังไม่ตอบรับว่าจะให้หรือไม่ให้ทางมูลนิธิ แต่ใบเสร็จของที่เราได้จากสหกรณ์เราเก็บไว้หมดใบเสร็จจ่ายเงินเก็บไว้ พวกต่างจังหวัดบางคนขับตุ๊กๆ ก็รู้เลยรายได้ไม่ค่อยดีเนอะ และขึ้นอยู่บึงกาฬ ก็ไม่รู้ว่าหมายศาลไปตอนไหน บางคนไม่รู้ ชาวบ้านไปติดต่อไม่ได้ ก็โดนปิดคดี ก็โดนฟ้องไปโดยที่ตัวเองไม่รู้ หลายเจ้า บางคนไปตอนทางบ้านโทรมาบอกตอนเข้าไปติดอันนั้นแล้ว มีอยู่ 2 คนถูกบังคับคดีไปแล้ว เขาไปติดหมายศาลหน้าบ้าน แต่ยังไม่ได้ยึดอะไรไป รถเขาโดนสหกรณ์ยึดไปแล้ว ความจริงสหกรณ์ฯ ในเอกสารออมสินนะ  สหกรณ์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกู้ คล้ายๆ เป็นผู้พาไปเฉยๆ ติดต่อไปเฉยๆ  สหกรณ์ไม่เกี่ยวไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับเอกสารการกู้ยืมของสมาชิก ไม่รู้เขาคิดได้ไงเขาเอาเงินไปออมไว้ที่สหกรณ์ฯ  พูดง่ายๆ เขาวางแผนล่วงหน้าในการที่จะทำเรื่องแบบนี้ขึ้นมา เพราะมันมีทางเรือ เรือเขาก็เคยสอบถามผมก็แจ้งมาที่นี่ และที่สำคัญเมื่อกี้ก็มี ผู้บริหารของสาย 29 กับ 39 ก็โดนเหมือนกัน โดนเคสเดียวกันนี่แหละ โดนสหกรณ์ฯ นี้แหละ โดนคดีแบบนี้ โดนแบบเดียวกันกับออมสิน โดยมีสหกรณ์ฯ เป็นคนพาไปกู้เหมือนกัน อยากบอกคนอื่นๆ ที่เขามีปัญหาเหมือนกันให้เขาทำยังไงต่อได้บ้าง อยากให้คนที่มีปัญหาแบบนี้ออกมาเพื่อที่จะร้องเรียนให้มูลนิธิหรือสื่อได้รับรู้ และจะได้ช่วยกัน บางทีเราไปหาหน่วยงานรัฐ ปฏิเสธเลย บอกว่า กับออมสินเอกสารเขาแน่นมาก ไม่สามารถที่จะสู้กับเขาได้ ของออมสินนะ แม้แต่พยานบุคคลยังใช้ไม่ได้ คืออยากให้ออกมาแล้วพากันช่วยกันส่งเสียง ให้สื่อรับรู้เพื่อที่จะสื่อสารไปหาหน่วยงานที่รับผิดชอบของแต่ละพื้นที่ ช่วยแบ่งเบาภาระ เพราะคนส่วนมากจะเป็นผู้มีรายได้น้อย ใช่ไหม รัฐเขารู้แล้วเขาก็คำนวณต่อเดือนเท่าไหร่ๆ จะมีฝ่ายสวัสดิการมาใช่ไหม แล้วคนมีรายได้น้อยจะมีปัญญาอะไรไปกู้ออมสินตกไปคนละ 7 - 8 แสน นี่แหละ คืออยากให้ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่ออะไรต่างๆ ที่ออมสินปล่อยไป แล้วถ้าคุณไม่ได้รับความเป็นธรรม ออกมาส่งเสียง ไม่ใช่ไปทนทุกข์ทรมานทำให้ครอบครัวแตกแยก อันนี้เรื่องจริงนะ บางคนต้องหย่าร้างกันเพราะโครงการฯ อันนี้สำหรับผม ตอนนี้ดีใจ เห็นผู้ที่เดือดร้อนมาแสดงตัว ดูจากสีหน้าของเขาคล้ายๆ ว่า เรียกว่า ปลาได้น้ำมา จากคนที่เศร้า คือมาเป็นผัวเมียเนอะ มาถึงพอได้ยินมูลนิธิฯ พูดก็สดชื่นทั้งผัวทั้งเมียเลย ตอนนั่งรถมาสังเกตดูเมียหน้าบูดหน้าบี้เลยนะ ผัวก็ขับรถ โดยที่ผัวอยากให้เมียมาฟังด้วย พอมีความหวัง เขาก็ดีใจ เออออกันกลับไป เห็นหน้าเขา เราก็ภูมิใจแทนเขา วันนี้คือเห็นจริงๆ ได้เห็นสีหน้าของครอบครัวหนึ่งมีความสุขก็ถือซะว่าแกนนำบางคนก็ดีใจ ได้เท่านี้เขาก็ดีใจที่เห็นคนที่ผ่านมามีความสุข หมายเหตุ เรื่องราวอยู่ระหว่างเจรจา ผลสรุปจะเป็นอย่างไร ทางฉลาดซื้อจะนำเสนอความคืบหน้าแน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 มาความรู้จัก เครื่องมือ หาเสียง สื่อสังคมออนไลน์ “Socialbot”

มาความรู้จัก เครื่องมือ หาเสียง สื่อสังคมออนไลน์  “Socialbot”ประเทศของเรากำลังเข้าสู่ โหมดการเลือกตั้ง(รัฐบาลประกาศ 24 ก.พ. 62) และใกล้เวลาสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งเต็มรูปแบบเข้ามาทุกขณะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา Artificial Intelligence (AI) ได้ถูกนำมาใช้ ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา จนทำให้เกิดบทเรียนมากมายจากเหตุการณ์ดังกล่าว  การใช้ Socialbot ซึ่งเป็นตัวอย่างของการใช้ AI ให้เป็นอาวุธทางการเมือง จนอาจนำไปสู่การละเมิดกฎหมายและหลักการการหาเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้นบทความนี้ขอกล่าวถึง เรื่อง Socialbot เนื่องจาก อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเลือกตั้งในบ้านเมืองของเราได้เช่นกัน      Bot มาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งคำเต็มๆ คือ Robot นั่นก็คือหุ่นยนต์ที่เรารู้จักกันดี แต่ในบริบทของโลกยุคไซเบอร์ ความหมายคือ Artificial Intelligence รูปแบบหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ เสมือนคนใน สื่อสังคมออนไลน์ เช่นใน Facebook หรือ twitter โดยจะส่งข่าวสารหรือความเห็นผ่านไปยังสื่อโซเชียลเหล่านี้ โดยพยายามในการสร้างกระแสขึ้นมา สำหรับคนทั่วๆ ไป เป็นการยากที่จะจำแนกว่า ข้อความหรือความเห็นดังกล่าวมาจาก Socialbot หรือ มาจากคนจริงๆ ในสื่อโซเชียล สำหรับเหตุผลในการใช้ Socialbot ก็คือเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง รูปแบบการทำงานของ Socialbot คือ ค้นหา Keywords ในสื่อโซเชียล เมื่อค้นพบคำดังกล่าว ก็เริ่มปฏิบัติการให้ข้อมูลหรือ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ และพยายามในการสร้างบทสนทนากับคน(จริงๆ) โดยที่คนทั่วๆ ไปไม่ทราบเลยว่ากำลังพูดคุยกับ Socialbot อยู่ ความสามารถของ Socialbot คือ สามารถเลียนแบบพฤติกรรมหรือ รูปแบบการสนทนาของมนุษย์ได้ สามารถขอเป็นเพื่อนกับเราได้ใน Facebook สามารถติดตามการ twit ของมนุษย์ ใน twitter หรือส่งข้อความที่สร้างโดย Socialbot ได้เองอีกด้วย การทำงานของ Socialbot มีหลายอย่างแต่สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ใหญ่ ได้ 3 กลุ่มคือ  1 Overloadingเป็นกลไกการส่งข้อมูลเพื่อทำให้เกิดการท่วมท้น page ใด page หนึ่ง ในกรณีที่ Socialbot พบคำสำคัญ(Keywords) ที่ถูกกำหนดไว้ในโปรแกรม และทำการตอบโต้ ด้วยการกระทำดังกล่าวเพื่อทำลายกระบวนการ dialogue หรือ discuss ในประเด็นทางการเมืองนั้น 2 Trendsettingเป็นกลไกที่ Socialbot กำหนด เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะทั้งๆ ที่ ประเด็นนั้น เป็นเพียงประเด็นเล็กๆ น้อยๆ แต่ Socialbot ทำหน้าที่ในการปั่นกระแส จนคนที่ใช้ Social Media จริงๆ ก็อาจหลงไปร่วมถกแถลง อภิปรายในประเด็นนั้นๆ ด้วย เพราะเข้าใจว่า เป็นกระแสที่อยู่ในความสนใจสาธารณะ และบางครั้งอาจติดกับไปกับกระแสดังกล่าว ที่เป็นเพียงข่าวปลอม (Fake News) 3 Automatic trollsเป็นรูปแบบ ของ Socialbot ที่ใช้การเบี่ยงเบนความสนใจ ในประเด็นหลักของการสนทนาของคน 2 คน และหากคู่สนทนาติดกับดักก็อาจต้องเสียเวลาหลายๆ ชั่วโมงกับบทสนทนาที่ไร้ความหมายเหล่านี้ โดยที่ไม่ทราบว่ากำลังสื่อสารกับ Socialbot อิทธิพลของ Socialbotบ่อยครั้งที่ การทำงานของ Socialbot ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ Hate Speech และความรุนแรง โดยที่มียอดกด ไลค์ กดแชร์สูงมากจนคนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นความเห็น ความชอบ ความนิยมของคนจริงๆ ส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก ย่อมมีอิทธิพลต่อคนเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในขณะที่ ผลการศึกษาในประเทศเยอรมนี ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ยังมีข้อโต้แย้งถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ต่อผลการเลือกตั้ง เนื่องจากจำนวนประชากรที่ใช้ สื่อสังคมออนไลน์ในเยอรมนียังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามในประเทศเยอรมนีพรรคการเมืองทุกพรรคทำสัตยาบันร่วมกันว่า จะไม่ใช้ Socialbot ในการหาเสียง จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมในผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเหมือนกับการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาสำหรับแนวทางการจัดการการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่โปร่งใส และเป็นธรรม การเฝ้าระวังและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน แหล่งข้อมูลที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้ ก็เป็นเวบไซต์ที่ให้ความรู้ในเชิง รู้เท่าทันสื่อโซเชียล ที่เกิดจากการทำงานของ สื่อสาธารณะและองค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองมาทำหน้าที่จัดการเรื่องความรู้ของสังคม

อ่านเพิ่มเติม >