ฉบับที่ 206 ตลาดออนไลน์และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

โพลล์เผย คนกรุง 74.7%  เชื่อมั่นใน Online shopping แต่พบว่า  32.4% เคยถูกหลอกลวงจากการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ที่มา นิตยสารฉลาดซื้อและบ้านสมเด็จโพลล์ปัจจุบันการจับจ่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับในประเทศไทย มูลค่า e-Commerce ในปี 2559 รวมทั้งสิ้น 2,560,103.36 ล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาดิจิทัล ในปี 2559 มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท และปี 2560 พุ่งทะลุหมื่นล้านบาทไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการซื้อขายออนไลน์ ได้ทำให้เกิดปัญหาสำคัญกับผู้บริโภค เช่น การฉ้อโกง การหลอกลวง ซื้อของแล้วไม่ได้ของ ไม่ได้เงินคืนหรือถึงแม้ได้เงินคืนก็แสนยากเย็น ซึ่งปัญหาจะยิ่งร้ายแรงมากขึ้น หากการถูกหลอกลวง ฉ้อโกง นั้นเป็นเรื่องของโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ในสินค้าที่เกี่ยวพันกับสุขภาพ จนทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงตามมา ดังนั้นหากจะคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนถึงผู้ที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในงานสมัชชาผู้บริโภค ซึ่งถูกจัดขึ้นทุกปี(วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม) โดยภาคประชาชนนั้น ประเด็นในปีนี้ทางผู้จัดได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีต่อการตลาดออนไลน์ และจัดให้มีวงเสวนาที่เกี่ยวพันกับประเด็นดังกล่าวในหลายแง่มุม อย่างไรก็ตามทีมฉลาดซื้อจะขอสรุปบางส่วนของวงเสวนาสำคัญสองเรื่อง คือ “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” และ “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิตัล” มานำเสนอในลำดับแรกก่อน เพราะเห็นว่าน่าจะช่วยให้ติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด และมีข้อมูลในส่วนของการแจ้งเตือนภัยที่ผู้บริโภคควรมีไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน   เสวนาเรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตลาดออนไลน์” วันพุธที่ 14 มีนาคม 2561สถานการณ์ปัญหาการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากมุมมองของผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากประชาชน ผู้แทนหน่วยงานรัฐ (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นั้น พอสรุปได้ดังนี้  1.ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือกับสื่อโซเชียลที่มีคนจำนวนมากสนใจ เช่น มียอดแชร์ ยอดเข้าชมจำนวนมาก สินค้าได้รับการรีวิวจากบุคคลหลากหลายและหากมีการใช้บุคคลที่เป็นที่นิยมอย่างเน็ตไอดอล หรือดารา ศิลปิน จะเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  2.แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในระบบออนไลน์ คือ ราคา ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ราคาที่ถูกกว่าหน้าร้านปกติ แต่ที่จริงแล้วสินค้าบางอย่างกลับมีราคาแพงกว่า 3.ส่วนใหญ่ของผู้เสียหาย มักถูกหลอกลวงด้วยโฆษณา ไม่ว่าจะด้วยภาพหรือคำบรรยาย ที่ไม่ตรงกับความจริง  4.ผู้บริโภคมักเข้าใจว่า สินค้าบางประเภทจัดทำและจำหน่ายโดยดาราหรือคนดัง ซึ่งพอติดต่อเพื่อซื้อจริงกลับกลายเป็นบุคคลอื่น   5.คำอ้างว่า สามารถเปลี่ยนคืนสินค้าได้ หากไม่พอใจ พอถึงเวลาจริงไม่สามารถทำได้ หรือบางครั้งเกิดจากข้อสัญญาที่ผู้บริโภคไม่ได้อ่านให้ชัดเจน ซึ่งระบุว่า ไม่คืนเงินในทุกกรณี  6.แม้มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ขายที่น่าเชื่อถือ เช่น การให้เลขบัตรประชาชน การได้รับคำชมจำนวนมาก หรือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยการบริการที่ดีในระยะแรกๆ ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่า ผู้ขายจะไม่ฉ้อโกงผู้ซื้อ   7..สินค้าที่ส่งมอบมีสภาพชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงกับคำสั่งซื้อ และสินค้ามีอันตราย แต่ไม่สามารถขอเปลี่ยนคืน ขอคืนเงิน หรือการชดเชยเยียวยาหากเกิดความเสียหายต่อสุขภาพ  8.กรณีเกิดปัญหาจากการซื้อสินค้า ผู้บริโภคต้องดิ้นรนเองมากๆ ต้องเข้าไปติดตามด้วยตัวเอง ประกาศแจ้ง เพื่อให้คนในโซเชียลมีเดียรับรู้ด้วยกัน บางส่วนไม่เก็บหลักฐานการซื้อขาย ทำให้เสียโอกาสการร้องเรียน หรือในหลายกรณีแม้มีหลักฐานสมบูรณ์ เมื่อนำไปแจ้งความ ขั้นตอนจะหยุดอยู่ที่การแจ้งความแต่เรื่องจะไม่ได้รับการประสานต่อ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีน้อย  หากร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐก็มีระยะเวลาดำเนินการถึง 90 วัน ซึ่งระหว่างนั้นผู้บริโภคจะไม่สามารถเช็คสถานะได้ว่าเรื่องร้องเรียนของตนเองอยู่ตรงจุดไหน มาตรการ นโยบาย ของหน่วยงานรัฐต่อกรณีการจัดการเพื่อให้เกิดธุรกิจตลาดออนไลน์ที่เป็นธรรม ปัจจุบันและอนาคต ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวโดยสรุปว่า “การตลาดแบบออนไลน์มีสภาพคล้ายกับตลาดนัดทั่วไปหรือการเปิดท้ายขายของ คือ ผู้ค้าใช้ช่องทางบนโลกออนไลน์เป็นสถานที่ค้าขาย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ค้าเป็นล้านราย จึงไม่สามารถทำให้ทุกคนมาขึ้นทะเบียนได้ ผู้ค้าก็มีทั้งคนที่ตั้งใจดีและคนโกง กลุ่มคนที่โกงจะโหมโฆษณาสินค้าเพื่อหวังขายเอากำไรในระยะสั้น โดยใช้จุดขายเรื่องราคาถูก พอได้เงินแล้วก็หนีไปสักพักแล้วก็ไปเปิดตัวที่ใหม่ แนวคิดที่ว่าคนขายของทุกคนจะต้องมาจดทะเบียนธุรกิจไม่อาจเป็นจริงได้ แต่กลไกที่เป็นไปได้คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตลาดที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน หรือรูปแบบของการเป็นตัวกลาง ซึ่งคนกลางนี้ต้องเป็นผู้คอยดูแลปัญหา ทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้ารูปแบบที่น่าจะเป็นได้อีกอย่างหนึ่งคือการเชื่อมพลังของคนสองรุ่น คือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์กับวัยรุ่นที่อาจเผลอหรือไม่รู้เท่าทันการโฆษณาบนโลกออนไลน์ และที่สำคัญที่สุด คือการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้เกิดการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบพันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำเสนอข้อมูลการทำงานของ สคบ.ว่า ในบทบาทของการรับเรื่องร้องเรียน พบว่า มีผู้บริโภคจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ จากการซื้อขายออนไลน์ แต่ไม่ได้ร้องเรียน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมูลค่าของสินค้าไม่มาก หรือไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานของภาครัฐ ส่วนที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญคือ เรื่อง ปัญหาเรื่องโครงสร้างด้านกฎหมาย ขณะนี้มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือพ.ร.บ.ขายตรง ซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดเกี่ยวกับการขายออนไลน์น้อยมาก อีกทั้งบทบาทหน้าที่ตามที่กฎหมายเขียนไว้ มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งรับจดทะเบียนบริษัท ในขณะเดียวกันหากเป็นธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซจะต้องไปจดทะเบียนในหมวดของอีคอมเมิร์ซด้วย และยังต้องจดทะเบียนกับ สคบ.อีกด้วย “ทุกวันนี้ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีเป็นล้านราย จดทะเบียนกับกรมธุรกิจการค้ามีจำนวนหลักหมื่นราย ส่วนที่จดทะเบียนขายตรงกับ สคบ. ก็มีเพียง 400 กว่าราย” แม้ สคบ. จะเป็นหน่วยงานกลางในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ตามความจริงแล้วจะมีหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายแต่ละฉบับ เช่น อย.ก็มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องอาหารและยา เป็นต้น แต่ทุกวันนี้ประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจ คิดว่า สคบ.จะต้องเข้าไปจัดการทุกเรื่องในส่วนของกลไกการเฝ้าระวังของต่างประเทศ คุณพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการอิสระ นำเสนอว่า ในงานวิจัยของตนนั้น การคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ จะมีระบบเรื่องการป้องกันว่า ทำอย่างไรที่เว็บไซต์ต่างๆ จะไม่มีการหลอกลวง โดยมีหน่วยงานที่คอยดูแลและตรวจสอบ และมีกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น เมื่อผู้บริโภคประสบปัญหา จะทราบได้ทันทีว่าต้องไปร้องเรียนที่ไหน และสามารถติดตามสถานะได้อย่างไร ซึ่งหากเป็นเรื่องการซื้อขายออนไลน์ ก็จะมีกลไกเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์และการติดตามสถานะของการร้องเรียนทางออนไลน์ ซึ่งจะสะดวกกับผู้บริโภคยกตัวอย่างประเทศจีน มีสมาคมผู้บริโภคจีน ซึ่งเป็นของภาครัฐ เมื่อผู้บริโภคมีปัญหา เขาก็จะติดต่อกับผู้ประกอบการก่อน ถ้าผู้ประกอบการสามารถทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจได้ด้วยการคืนสินค้า คืนเงิน เรื่องก็จบ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการของการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป ซึ่งจะมีการยื่นเอกสาร มีระบบการจัดการ รวมทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 90 วันในการดำเนินการ นอกจากนี้ หากผู้บริโภคไม่พอใจการติดตามของภาครัฐ เขาจะมีระบบอนุญาโตตุลาการออนไลน์อีกด้วย โดยจะคอยติดตามต่อ เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว จะมีค่าดำเนินการไม่น้อยกว่า 4,000 หยวนส่วนในประเทศสิงคโปร์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ค้ากำไร ทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือการซื้อขายของออนไลน์ ผู้บริโภคต้องสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมและจ่ายค่าสมาชิก เมื่อผู้บริโภคมีปัญหาเขาก็จะดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนให้ด้วยภาพรวมของต่างประเทศก็คือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีช่องทางร้องเรียน โดยมีทั้งออนไลน์และไม่ใช่ออนไลน์ อย่างเช่น สมาคมผู้บริโภคของประเทศจีนที่ได้กล่าวไปแล้ว ไม่ได้ออนไลน์ ผู้บริโภคจะต้องเข้าไปร้องเรียนด้วยตัวเอง แต่หากเป็นของภาคเอกชนก็สามารถติดต่อหรือร้องเรียนทางออนไลน์ได้ ทำให้เห็นได้ว่าในแต่ละประเทศจะมีกลไกในการร้องเรียนของผู้บริโภคที่สามารถติดตามได้“เรื่องระบบการป้องกัน หลายประเทศจะมีการคัดกรองตัวเว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออยู่ในระบบที่ไม่สามารถให้บริการแก่ผู้รับบริการได้ เช่น อาจจะไม่มีชื่อ ไม่มีตัวตน ไม่มีสถานที่ เขาก็จะสุ่มตรวจ และเมื่อเห็นก็จะโชว์เป็นตัวสีแดงให้ผู้บริโภคเห็น อีกเรื่องหนึ่งก็คือหน่วยงานภาครัฐมีการคัดกรองเรื่องนี้ให้ระดับหนึ่งคือ แจ้งให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการมีปัญหาหากผู้บริโภคจะไปซื้อของกับเขา ซึ่งการระบุแบบนี้ก็จะช่วยผู้บริโภคได้” -------------------------------------------------------------------- ข้อเสนอของสมัชชาผู้บริโภคต่อหน่วยงานภาครัฐ 1.ให้มีระบบตรวจสอบเว็บไซต์ซื้อขายที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ข้อมูลผู้ประกอบการไม่ครบถ้วน ไม่มีข้อมูลที่ติดต่อ ข้อมูลราคาไม่ครบถ้วน และมีการหลอกลวง เช่น การเปลี่ยนราคาของสินค้าที่ซื้อ 2.ให้จัดทำข้อมูลของผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย และเปิดเผยต่อผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย หรือใช้ในการแจ้งเตือนเพื่อดำเนินงานแบบเชิงรุก 3.ให้พัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ และสามารถแก้ไขปัญหาแบบที่เดียวจบ  4.สนับสนุนสร้างความตื่นตัว และความเท่าทันให้กับผู้บริโภค 5.ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการกำกับการดูแลกันเอง   การเชื่อมโยงระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการเตือนภัยจากข้อเสนอที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่อง การถูกหลอกลวงจากการตลาดออนไลน์ คือเรื่องของการเฝ้าระวังภัย ด้วยการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งมีด้วยกันหลายหน่วยงาน และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ เช่นเดียวกับต่างประเทศ  ที่มีหน่วยงานภาครัฐคัดกรองให้ระดับหนึ่งคือ แจ้งให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายไหนที่มีความสุ่มเสี่ยงกับการมีปัญหาหากผู้บริโภคจะไปซื้อของกับเขา อย่างที่คุณพลินี ได้กล่าวไว้ และเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลนี้ มีการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นในวงเสวนาอีกห้องหนึ่งในวันเดียวกัน คือ การเสวนาเรื่อง “แนวทางการแจ้งเตือนภัยสินค้าไม่ปลอดภัยทางสื่อดิจิทัล” ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผู้แทนจาก สคบ.  อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และอดีตรองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีช่องทางการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ของตนเองเริ่มจาก ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คุณพิฆเนศ ต๊ะปวง พูดถึงการทำหน้าที่ของ สคบ. ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในเรื่องของการเตือนภัย อยู่ในมาตรา 10(3) ในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยให้อำนาจคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียต่อสิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการ หรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว และปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแจ้งชื่อผู้ประกอบการที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโฆษณาเป็นเท็จ การทำสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง การพิจารณาเยียวยาความเสียหาย หรือการละเมิดต่อผู้บริโภค และมีการร้องเรียนมาที่ สคบ.ปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์สำหรับการเตือนภัย มี 2 แบบคือ อย่างแรกผู้ประกอบธุรกิจสมัครใจแจ้งข้อมูลการเตือนภัยขึ้นมาว่าสินค้าของเขาขายไปที่ไหนบ้าง และการแจ้งเบาะแสสินค้าไม่ปลอดภัย เป็นส่วนที่ประชาชนส่งข้อมูลมาให้ ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์ แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ในการศึกษาข้อมูลและรวบรวมกลับเข้ามาสู่ระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่งส่วนนี้กำลังพัฒนาอยู่แบบที่สอง คือ การตรวจสอบข้อมูลสินค้า ส่วนนี้ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม เรียกว่าระบบบาร์โค้ด (GS1) จะใช้ตัวบาร์โค้ดแจ้งสถานะข้อมูลของผู้ประกอบการ โดยทั้งสองแบบนี้เกิดจากการประชุมยุทธศาสตร์อาเซียน ซึ่ง สคบ.มีบทบาทในส่วนนี้สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ นโยบายอาเซียนต้องการให้กระบวนการการจัดการเป็นไปภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละประเทศในส่วนของแนวทางที่ สคบ.กำลังพัฒนา คือ ศูนย์เตือนภัย นั้น ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะมีทั้งรับมาจากผู้บริโภค,องค์กรวิชาการต่างๆ ที่มีการศึกษาวิจัยและส่งข้อมูลเข้ามา,โรงพยาบาล,สถานีตำรวจ,ศูนย์ป้องกันภัยต่างๆ ก็จะส่งข้อมูลเข้ามาในศูนย์เตือนภัยนี้ ศูนย์นี้ก็จะวิเคราะห์ข้อมูลและแจ้งข้อมูล จัดลำดับการส่งข้อมูลเป็น 3 ระดับคือระดับต้น คือแจ้งข้อเท็จจริง คือข้อมูลที่เป็นจริง ตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริงก็แจ้งเข้าไประดับที่ 2 คือข้อมูลที่สามารถสื่อไปทางฝ่ายเฝ้าระวังได้ระดับที่ 3 คือข้อมูลที่จะนำไปสู่การจัดการ เช่น จัดการห้ามขาย จัดการเรียกคืน จัดการนำสิ่งค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศออกไป โดยจะมีกฎมายรองรับเรื่องเหล่านี้โดยข้อมูลต่างๆ ที่ สคบ.เผยแพร่ออกไปก็หวังให้ผู้บริโภคนำไปขยายต่อในวงกว้าง ภก.วิษณุ โรจน์เรืองไร นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มสารสนเทศ กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงงานในความรับผิดชอบว่า อย.ได้เตรียมช่องทางการสื่อสารดิจิทัล แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มแรก เป็นเว็บไซต์ มี 2 อันคือ www.fda.moph.go.th  เป็น official website ของ อย. มีข้อมูลที่หลากหลาย ให้บริการทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน ส่วนเว็บไซต์ที่ 2 จัดทำเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนโดยตรงคือ www.oryor.com เป็นเว็บไซต์ที่มีแต่ข้อมูลสำหรับประชาชนทั่วไปเป็นหลัก ถ้าเป็นผู้ประกอบการก็อาจจะไม่มีประโยชน์สักเท่าไร  ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นพวก แอปพลิเคชัน มีชื่อว่า oryorsmart application ปัจจุบันเป็นเวอร์ชันที่ 3 รองรับการใช้งานทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ และจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันสมัยที่สุดกลุ่มที่ 3 เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย.ก็พยายามสร้างทางเลือก เพราะเข้าใจว่าทุกคนอาจไม่ได้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เหมือนกันหมด จึงพยายามทำหลายช่องทางเพื่อรองรับ ปัจจุบันมีด้วยกัน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟสบุ๊ค,ทวิตเตอร์,ยูทูป,อินสตาแกรม,ไลน์ นี่คือช่องทางต่าง ๆ ที่อย.ใช้สำหรับการสื่อสารเตือนภัย --------------------------------------------------------------------- 5 แพลตฟอร์มของ อย. facebook.com/fdathai twitter.com/fdathai Instagram.com/fdathai YouTube.com/fdathai Line@fdathai ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ประธานมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ  เรื่องการแจ้งเตือนภัยในมุมมองของตัวเอง มองว่าเป็นการเสริมพลังในภาคประชาชนหรือผู้บริโภคและภาคี มีตัวอย่างสินค้าจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อประชาชน และกลุ่มผู้บริโภคหรือภาคีเครือข่ายเป็นผู้แจ้งเบาะแส แจ้งเตือนภัย ในฐานะที่เคยอยู่กรมวิทย์ฯ ผู้บริโภคสามารถเข้าไปดูผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยได้ที่ www.tumdee.org  ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในมุมมองของ ภก.วรวิทย์ มองว่า การแจ้งเตือนภัย ต้องมีองค์ประกอบสำคัญดังนี้1.การแจ้งเตือนภัยถ้าทำอย่างล่าช้าก็จะไม่มีประโยชน์ ต้องทำให้ทันต่อเหตุการณ์ 2.การแจ้งเตือนภัยถ้าทำไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่มีประโยชน์  3.ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้สะดวก การเฝ้าระวังที่ดีก็จะนำมาซึ่งข้อมูลที่รวดเร็ว ทำให้สามารถเตือนภัยได้เร็ว จากนั้นก็ควรนำไปสู่การจัดการสินค้านั้นๆ พ.ต.อ.ทีนัฐกรณ์ วัฒนแสงประเสริฐ   ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด   เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.)“การแจ้งเตือนภัย ทุกหน่วยงานมีอยู่แล้ว ตำรวจเองก็มี แต่ว่าในเพจกองปราบปราม พบว่ามีผู้ติดตามเพียงพันกว่าคนเท่านั้น คิดว่าประชาชนคงอยากไปดูทางอย. หรือทาง สคบ.มากกว่าเพราะคิดว่าเขารับผิดชอบโดยตรง ข้อมูลที่ได้แสดงไว้ในเพจ คือผลลัพธ์ของการสืบสวนและมีการจับกุมแล้ว มีด้วยกัน 2 เพจบนเฟซบุ๊ค ชื่อ “รู้ทันภัยเครื่องสำอาง อาหาร และยา” และอีกเพจคือ “กองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค” และก็มีเพจส่วนตัว ชื่อว่า “ผกก.เติ้ล” จะมีสาระความรู้อยู่ในเพจนี้ เป็นการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนทุกรูปแบบ บางครั้งก็มีการเผยแพร่แบบไลฟ์ด้วย เช่น เกี่ยวกับเรื่องแชร์ลูกโซ่ เรื่องการขายตรง เป็นต้น” ในกรณีของสินค้าออนไลน์ สามารถเข้าไปแจ้งได้ มีเวรรับแจ้งตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ประชาชนมักกลัวการแจ้งความเพราะกลัวการขึ้นศาล ไม่กล้าลงชื่อเพราะกลัวเขาจะรู้ว่าตัวเองไปร้องเรียน ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีชื่อ เขาก็รับการร้องเรียน แต่จะต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่หากมีชื่อหรือหมายเลขติดต่อก็จะสะดวก เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพื่อที่จะชี้ชัดเรื่องข้อเท็จจริงได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปตามหา อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหา สามารถโทรแจ้งที่สายด่วนได้เลย  เพราะหากไปแจ้งความตามโรงพักในต่างจังหวัด ตำรวจจะขาดความชำนาญเฉพาะทาง สายด่วน ปคบ.คือหมายเลข 1135 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 รู้เท่าทันแผ่นแปะเท้าดูดสารพิษ

โลกโซเชียลกำลังโฆษณาขายแผ่นแปะเท้าดูดสารพิษกันอย่างครึกโครม ทั้งในอาลีบาบา อเมซอน และอื่นๆ โดยอ้างว่าสามารถดูดสารพิษออกจากร่างกายเมื่อใช้แผ่นแปะเท้าเวลานอน แผ่นแปะเท้าสามารถขจัดสารพิษออกจากร่างกายได้จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ แผ่นแปะเท้าดูดสารพิษคืออะไร“เมื่อติดแผ่นแปะเท้า........ที่ฝ่าเท้าเวลานอน จะช่วยขับโลหะหนัก สารพิษ พยาธิ สารเคมี และเซลลูไลต์ออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยรักษา อาการซึมเศร้า อ่อนล้า เบาหวาน ข้ออักเสบ ความดันเลือดสูง และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ”นี่เป็นตัวอย่างโฆษณาขายผลิตภัณฑ์แผ่นแปะเท้าดูดสารพิษยี่ห้อที่ดังที่สุดยี่ห้อหนึ่งแผ่นแปะเท้าดูดสารพิษนั้นถูกโฆษณาขายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อสุขภาพและขับสารพิษออกจากร่างกาย  ใช้แปะที่ฝ่าเท้าเวลานอน เมื่อตื่นนอนจะเห็นสีดำๆ คล้ำๆ ที่แผ่นแปะเท้า ซึ่งเป็นสารพิษที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย แผ่นแปะเท้าดูดสารพิษ มีส่วนผสมสารประกอบต่างๆ ตั้งแต่ น้ำส้มควันไม้จากไม้ไผ่ หินแร่ ยูคาลิปตัส ไคโตซาน (เกล็ดปลา เปลือกกุ้ง) นอกจากนี้ยังมี สมุนไพร วิตามิน แร่ธาตุ เกลือทะเล วิตามินซี ไอออนลบ เส้นใยจากผัก เป็นต้นแผ่นแปะเท้าดูดพิษออกจากร่างกายได้อย่างไรแผ่นแปะเท้าดูดสารพิษเป็นความเชื่อแบบการแพทย์ตะวันออก มีการผลิตแผ่นแปะเท้าหลากหลายชนิดตามความเชื่อ ส่วนผสม และวัสดุต่างๆ  แผ่นแปะเท้าจึงมีคุณสมบัติและผลข้างเคียงแตกต่างกันไป เช่น การนวดกดจุดสะท้อน (reflexology) แผ่นแปะเท้าซึ่งไปกดจุดที่ฝ่าเท้า  อิออนลบซึ่งไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่เท้า แผ่นแปะเท้าจากถ่าน แผ่นแปะเท้าจากน้ำส้มควันไม้จากไม้ไผ่ และแผ่นแปะเท้าจากสมุนไพรต่างๆส่วนผสมต่างๆ ในแผ่นแปะเท้าจะดูดและจับกับสารพิษในร่างกาย ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดมาที่เท้า สารพิษจะถูกเลือดพามาที่เท้า และถูกดูดซึมไปที่แผ่นแปะเท้าแผ่นแปะเท้าดูดพิษได้จริงหรือเรื่องนี้ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหลายๆ ประเทศ ด้วยความไม่เชื่อว่า แผ่นแปะเท้าจะดูดสารพิษได้จริง ความจริงแผ่นแปะเท้ามีหลักการเดียวกับการขับสารพิษด้วยการแช่เท้าในน้ำที่มีแร่ธาตุ และปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ลงไปในน้ำ น้ำที่มีไอออนลบจะดึงสารพิษในร่างกายและขับออกมาทางเท้า ทำให้น้ำที่แช่เท้าเปลี่ยนเป็นสี มีงานวิจัยที่พยายามไขข้อข้องใจเรื่องนี้มากพอควร มีงานวิจัยหนึ่ง พบว่า แร่ธาตุในน้ำ รวมทั้งวัสดุที่เป็นโลหะของเครื่องแช่เท้า เมื่อมีปฏิกิริยาทางเคมีและฟิสิกส์ จะทำให้น้ำเปลี่ยนสี ไม่ว่าจะแช่เท้าหรือไม่ก็ตาม  เมื่อตรวจปัสสาวะเพื่อดูการขับสารพิษต่างๆ ทางไต และการตรวจสารพิษที่สะสมในเส้นผม ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง การวิจัยครั้งนี้ ยืนยันว่า การขับสารพิษในร่างกายด้วยเท้านั้น ไม่เป็นเรื่องจริง ทำไมแผ่นแปะเท้าดูดสารพิษจึงเปลี่ยนเป็นสีดำแผ่นแปะเท้าที่เปลี่ยนเป็นสีดำเกิดจากสารพิษที่ดูดออกมาจริงหรือเพียงแค่เอาน้ำดื่มที่สะอาดเทลงที่แผ่นแปะเท้า ก็จะเปลี่ยนสีได้เช่นเดียวกัน นักวิจัยเอาแผ่นแปะเท้าที่เปลี่ยนสีไปหาสารพิษ สารหนูและโลหะหนักในห้องปฏิบัติการ ก็ไม่พบอะไร  เมื่อตรวจแผ่นแปะก่อนและหลังการใช้ ก็ไม่พบความแตกต่าง   สรุป  แผ่นแปะเท้าดูดสารพิษนั้น ไม่สามารถขับสารพิษในร่างกายได้จริงตามโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 เรือนเบญจพิษ : จากการ “รวมศูนย์” สู่การ “กระจาย” ความรู้

ในสังคมปัจจุบันซึ่งถือเป็น “สังคมที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน” หรือเป็น “knowledge-based society” นั้น กล่าวกันว่า ใครก็ตามที่มีความรู้ ก็มักจะใช้ความรู้เป็นอำนาจเพื่อผลประโยชน์แก่ผู้ครอบครองความรู้ดังกล่าว ในขณะเดียวกัน เฉพาะคนที่มีอำนาจเท่านั้น ที่จะใช้อำนาจกำหนดให้เรื่องใดบ้างกลายมาเป็นความรู้อันเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมเมื่อความรู้กับอำนาจเป็นสองสิ่งซึ่งแยกกันไม่ขาดเยี่ยงนี้ “การจัดการความรู้” หรือ “knowledge management” ที่เรียกย่อๆ ว่า “KM” จึงกลายเป็นศาสตร์ที่ผู้คนยุคนี้พยายามทำความเข้าใจ รวมทั้งแปลงเรื่อง “KM” ให้กลายมาเป็นภาพการช่วงชิงผลประโยชน์ของภรรยาทั้งสี่คนในละครเรื่อง “เรือนเบญจพิษ”เพื่อสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้นั้น ละครได้เลือกย้อนความกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ในเรือนของ “คุณพระยศ” ผู้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาอยู่แล้วสองคนคือ เมียเอกที่มีศักดิ์ชั้นอย่าง “ปิ่น” และเมียบ่าวผู้เป็นรักแรกของคุณพระอย่าง “แหวน” แต่แล้วความขัดแย้งระลอกแรกก็เกิดขึ้น เมื่อคุณพระยศรับผู้หญิงอีกสองนางเข้ามาเป็นภรรยาอยู่ร่วมชายคาเรือนเพิ่มขึ้น คนแรกก็คือลูกสาวคหบดีจีนผู้มั่งคั่งอย่าง “ทับทิม” กับอีกคนหนึ่งคือพี่สาวบุญธรรมของทับทิมหรือ “หยก” ที่แอบบ่มเพาะความแค้นในใจอยู่ลึกๆ เนื่องจากชีวิตของหยกถูกทับทิมกดขี่เอาไว้ตั้งแต่เด็กเมื่อผู้หญิงสี่คนได้เข้ามาสู่วังวนในเรือนเดียวกันของคุณพระยศ แต่ละนางต่างก็มีความมุ่งมั่นและต่างก็พยายามใช้เขี้ยวเล็บเพื่อช่วงชิงอำนาจนำในความเป็นภรรยาหมายเลขหนึ่งของเรือนมาเป็นของตนยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับตัวแปรความขัดแย้งระลอกใหม่ เพราะสยามประเทศยุคนั้นเริ่มรณรงค์ค่านิยมแบบผัวเดียวเมียเดียว และทางการประกาศใช้กฎหมายการจดทะเบียนสมรสขึ้น ทะเบียนสมรสจึงกลายเป็น “สนามรบ” ผืนใหม่ ที่บรรดาคุณนายทั้งสี่ปรารถนาจะแก่งแย่งช่วงชิงชัยชนะมาไว้ในมือให้ได้เพียงหนึ่งเดียวแต่เพราะที่มาของอำนาจก็ต้องผนวกผสานกับการจัดการความรู้เป็นกลไกขับเคลื่อน ดังนั้นละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ชนิดหนึ่งขึ้นมาแทนอำนาจในท้องเรื่อง อันได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า “กู่” คล้ายคลึงกับหลักทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่กล่าวว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” กู่เป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นตามตำนานจีนโบราณ กรรมวิธีสร้างกู่จะใช้การจับสัตว์พิษทั้งห้าชนิดมากักขังและปิดผนึกไว้ในไห สัตว์พิษทั้งห้าได้แก่ งูพิษ แมงมุม ตะขาบ คางคก และแมงป่อง ที่เมื่อถูกขังเอาไว้รวมกัน ต่างตัวต่างก็จะเริ่มต่อสู้กัดกันจนเหลือ “อยู่รอด” ตัวสุดท้ายที่จะกลายเป็นกู่ โดยผู้สร้างก็จะใช้กู่อันเป็นอสรพิษที่ “แข็งแรงที่สุด” ไปฆ่าศัตรูของตนด้านหนึ่งละครก็คงต้องการบอกเป็นนัยๆ ว่า แท้จริงแล้วภรรยาทั้งสี่คนที่อยู่ในขอบขัณฑ์แห่งเรือนคุณพระยศ ก็ไม่ต่างอะไรจากอสรพิษที่ต้องห้ำหั่นเข่นฆ่า เพื่อจะได้เป็นประหนึ่งกู่ตัวที่ “แข็งแรงที่สุด” แต่อีกด้านหนึ่ง กู่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชุดความรู้ที่ผู้ครอบครองอยู่นั้นใช้เพื่อสถาปนาอำนาจนำขึ้นมาได้ในท่ามกลางผู้หญิงทั้งสี่คนที่ใช้ชีวิตในสังคมซึ่งความรู้มักถูกผูกขาดและ “รวมศูนย์” อยู่ในมือของคนบางกลุ่มนั้น หยกคือภรรยาที่มีองค์ความรู้เรื่องกู่ ซึ่งสืบทอดต่อมาจากบ่าวคนสนิทอย่าง “ยายพ่าง” ด้วยเหตุนี้ เมื่อการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจความเป็นเมียใหญ่เมียเดียวเริ่มเปิดศึกขึ้น หยกจึงใช้กู่เป็นอาวุธที่ขับไสไล่ส่งและขจัดเมียคนอื่นๆ ของคุณพระยศออกจากเรือนไปทีละคนเริ่มจากการบริหารความรู้เพื่อจัดการอัปเปหิทับทิมให้ต้องไปตกระกำลำบากใช้ชีวิตอยู่กับคณะงิ้วเร่ร่อน จากนั้นก็ใช้พิษกู่ทำร้ายเมียเอกอย่างปิ่นจนต้องพิการเสียแขนไปข้างหนึ่ง จนต้องหลบเร้นหนีไปบวชอยู่สำนักนางชี ปิดท้ายด้วยการไล่ฆ่าแหวนจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน และวางกลอุบายพรากเอา “เพชร” หนึ่งในบุตรชายฝาแฝดของแหวนมาสวมรอยเป็นลูกของตน ก่อนที่หยกจะได้ถือครองทะเบียนสมรสและอำนาจของภรรยาหมายเลขหนึ่งในเรือนของคุณพระยศในท้ายที่สุดอย่างไรก็ดี หลังจากยี่สิบกว่าปีผ่านไป พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่การจัดการความรู้ซึ่งเคย “รวมศูนย์” ได้เปลี่ยนผ่านสู่การบริหารความรู้แบบ “กระจายตัว” ไม่ให้ผูกขาดอำนาจหรือกระจุกตัวอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป การกระจายศูนย์แห่งความรู้ก็ส่งผลต่อการครอบครองอำนาจนำในเรือนของภรรยาตามกฎหมายอย่างหยกเช่นกันการผันผ่านสู่ความเปลี่ยนแปลงระลอกล่าสุดนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการกลับมาของภรรยาทั้งสามคนของคุณพระยศที่หายสาบสูญไปกว่าสองทศวรรษ และในขณะเดียวกัน แม้หยกจะขึ้นครองอำนาจเป็นใหญ่ในเรือน แต่เธอก็ต้องเรียนรู้ว่า อำนาจแห่งความรู้ที่เคยรวมศูนย์อยู่ในมือนั้นก็ไม่ได้เสถียรอีกต่อไปแล้วประการแรก แม้จะมีองค์ความรู้เรื่องการสร้างกู่ที่ถือครองไว้ แต่ความรู้ดังกล่าวก็ต้องเผชิญหน้ากับชุดความรู้ดั้งเดิมแบบอื่นที่ถูกใช้เพื่อช่วงชิงอำนาจในเรือน เฉกเช่นที่ทับทิมและ “ริทธิ์” บุตรชายอีกคนของแหวนได้ร่ำเรียนและฝึกฝนความรู้จีนโบราณเรื่องมีดบิน เพื่อใช้เป็นอาวุธห้ำหั่นกับกู่พิษของหยกและยายพ่างประการถัดมา เมื่อสังคมไทยได้เปิดรับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาจากโลกตะวันตก “อนงค์” ผู้เป็นคนรักของริทธิ์และประกอบอาชีพเป็นพยาบาล ก็อาศัยความรู้แผนใหม่เรื่องกรุ๊ปเลือด เป็นกลไกกุมความลับเรื่องลูกชายของหยก อนงค์จึงเป็นศัตรูหน้าใหม่ที่หยกอยากใช้กู่กำจัดออกไปเพื่อรักษาอำนาจของตนเอาไว้และประการสำคัญ ในยุคที่การจัดการความรู้เน้นเรื่องการกระจายอำนาจออกไปนั้น ตัวละครภรรยาของคุณพระยศในยุคกว่ายี่สิบปีให้หลัง ต่างคนต่างก็สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องกู่ ไปจนถึงการที่แต่ละนางก็สามารถสร้างกู่ของตนขึ้นมา เพื่อเอาไว้ประหัตประหารและช่วงชิงผลประโยชน์แบบไม่มีใครเหนือใครอีกต่อไปในท้ายที่สุดของเรื่อง แก่นแกนเรื่องเล่าของละครคงตั้งใจนำผู้ชมไปให้เห็นด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ เหมือนกับคำพูดที่แหวนได้กล่าวกับคุณพระยศหลังจากที่ตัวละครฆ่ากันตายจนเกือบหมดเรือนว่า “ความอยากได้อยากมีคือพิษที่ร้ายกาจที่สุด เราคงจะต้องปล่อยวาง จึงจะแก้พิษนี้ได้...”แต่ในเวลาเดียวกัน ควบคู่ไปกับแก่นแกนของละครข้างต้นนี้ แม้การจัดการความรู้ยุคใหม่จะเน้นกระจายอำนาจให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ก็จริง แต่หากความรู้กับอำนาจนั้นมีมิจฉาทิฐิเข้าครอบงำเพื่อให้มนุษย์ห้ำหั่นกันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องอันใดด้วยแล้ว ความรู้ในมือก็ทำให้คนเราไม่ต่างไปจากกู่ที่แข็งแกร่งน่ากลัว และปรารถนาจะอยู่เป็นอสรพิษตัวสุดท้ายในเกมแห่งอำนาจนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 แบไต๋ ‘โฆษณาออนไลน์’

โฆษณาออนไลน์...เชื่อได้แค่ไหน ผู้บริโภคจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูก “หลอก” เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ต้องอาศัยความ “เชื่อใจ” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าจริงๆ และที่สำคัญคือ ต้องจ่ายเงินไปก่อน ผู้ขายจึงจะส่งสินค้าให้  เรียกว่า ต้อง “ลุ้น” กันหลายต่อ ลุ้นว่า จ่ายเงินแล้ว ผู้ขายจะส่งสินค้ามาให้หรือไม่  จ่ายเงินแล้วจะได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อหรือไม่   จ่ายเงินไปสินค้าจะมีคุณภาพ(ผลลัพธ์) เหมือนอย่างที่ “โฆษณา” ไว้หรือไม่  ข้อมูลผลการดำเนินงานตรวจสอบและเฝ้าระวังโฆษณาฯ ปี 2559 ของศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) พบ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) รองลงมาคือ อาหาร (ร้อยละ 36) และยา ร้อยละ 15 ขณะที่ผลการรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค (มพบ.) โดยสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการอิสระ พบว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีผู้ร้องเรียนมายังศรป.มากที่สุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 47) ขณะที่ มพบ. พบการร้องเรียนอันดับ 1 คือ อาหาร (ร้อยละ 54)    ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สั่งซื้อออนไลน์มากสุดคือ เครื่องสำอาง (ร้อยละ 38) รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดอ้วน และขาวใส (ร้อยละ 24) โดยเหตุผลที่เลือกซื้อเนื่องจาก โฆษณาจูงใจ พรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และอาจได้ผลเหมือนโฆษณา  (ร้อยละ 30)  และ เห็นโลโก้ อย. บนตัวผลิตภัณฑ์ มั่นใจว่ามี อย.จึงคิดว่าปลอดภัย (ร้อยละ 25) เผยไต๋...โฆษณาออนไลน์ ผิดกฎหมายซ้ำซาก จากการเสวนาแนวทางการจัดการโฆษณาผิดกฎหมายบนออนไลน์ซ้ำซาก กรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่วนหนึ่งของงานสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย แต่ “ผู้บริโภค” ไม่รู้ หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมเสวนาครั้งนั้นคือ คุณวรรณวิษา ถนอมสินธุ์ ตัวแทนเพจดอกจิก ที่เกาะติดและเฝ้าระวังการโฆษณาออนไลน์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการ “หลอกลวงผู้บริโภค” โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา บริษัทเมจิก สกิน จำกัด ที่พบการกระทำผิด  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ภายหลังจากการตรวจค้นโรงงานที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ฐานความผิดที่พบในส่วนของ พ.ร.บ.อาหาร คือ  ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง (มาตรา 6  วรรคหนึ่ง) ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 14  วรรคหนึ่ง) ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม(ตามมาตรา 27 (4)) กรณีแสดงฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในลักษณะพิเศษว่าได้รับเลขสารบบอาหาร ณ สถานที่ผลิตแห่งนี้แล้ว(มาตรา 25(2))  โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต(มาตรา 41 ) ความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง  คือ แสดงฉลากที่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง(มาตรา 22 (1)  ฉลากไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด(มาตรา 22 วรรค 2 (3) )  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ที่พบ เช่น  Linda Drink, Apple Slim, Shi-No-Bi, Fern Vitamin และ Treechada (Underraem Serum) ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิตให้บริษัทตรีชฎา)  “ปัญหาหลักๆ เกิดจาก การโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริง ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่าย ซึ่งในที่นี้มีผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้ลงทุนโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น แม้ว่าเจ้าของแบรนด์จะชี้แจงว่า มีเลข อย. แต่ อย.แจ้งว่าเป็นการนำเข้าข้อมูลในสารบบที่ผิด เพราะบริษัทเมจิกสกินไม่ได้ผลิตสินค้าเองตามที่กล่าวอ้าง แต่มีบริษัทอื่นผลิตให้จึงถือว่าทำผิดกฎหมายชัดเจน”  คุณวรรณวิษากล่าว พร้อมยกตัวอย่าง รูปแบบการโฆษณาออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหลอกล่อให้...กิน  กินแล้วผอม กินแล้วขาว กินแล้วสวย.... ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้วิธี  “จูงใจ” ผู้บริโภคให้หลงเชื่อว่าเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้แล้วจะได้ “ผลลัพธ์” ตามคำโฆษณา ด้วยราคาที่ “ถูก”  ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นและมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัวโฆษณานั้นๆ เช่น  “หญิงย้วยอยากหน้าเด็กเหมือนอลิส อลิสอยากสวยเหมือนพี่หญิงย้วย (เด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี)”    ขณะที่ด้านหลังซองมีคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” และด้านหน้าซองมีข้อความว่า “ขาวใสใน 7 วัน”   “Mezzo 100%  สบู่เมโสหน้าใสเหมือนฉีด นำเข้าจาก Switzerland”  ทั้งที่ เมื่อตรวจตรวจสอบส่วนประกอบแล้วไม่ใช่สารสกัดจากรกแกะดังที่กล่าวอ้างแต่เป็นสารสกัดจากพืช   นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณา โดยใช้ดาราและ เน็ต ไอดอล เพื่อจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า พรีเซ็นเตอร์ย่อมมีความผิดด้วยเช่นกันหลอกล่อให้ลงทุน...รวย รวย รวย เป้าหมายสำคัญของบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้เพียงต้องการขายผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อชิ้นเท่านั้นแต่มุ่งเน้นโฆษณาเชิญชวนให้คนสมัครเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย  ด้วยการลงทุน “หลักร้อย” แต่ได้ค่าตอบแทน “หลักล้าน” เช่น  โรงเรียนสอนรวยหญิงย้วยออนไลน์  “สมัครเป็นตัวแทนจำหน่าย ลงทุนหลักร้อย ! เงินเข้าบัญชี 1.5 ล้าน”  ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงการแต่งบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการโฆษณาเท่านั้น   มีรูปแบบการขายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ คือแบ่งระดับขั้นตามมูลค่าการลงทุน เช่น ตัวแทนรายย่อย ต้องซื้อ 20 ชิ้น ตัวแทนหลัก ต้องซื้อ 1,000 ชิ้น ระดับ VIP ต้องซื้อสินค้า 5,000 ชิ้น เพื่อได้ต้นทุนต่อชิ้นที่ถูกลง  โดยตัวแทนเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น “แม่ทีม” ที่ต้องไปแสวงหาเครือข่ายมาเป็น “ลูกทีม” ต่อๆ กันเป็นทอดๆ แต่ละทีมจะมีวิธีจูงใจให้คนสมัครแตกต่างกันไป เช่น จูงใจด้วยสินค้าแบรนด์เนม โทรศัพท์มือถือ ทองคำ หรือแม้แต่การไปเที่ยวต่างประเทศ  พร้อมการรับประกันว่า “ขายไม่ได้ ยินดีคืนเงิน”  ทั้งที่ไม่เป็นเช่นนั้น มีการสอนแต่งบัญชีธนาคาร มีการดึงเน็ตไอดอล หรือดารามาโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการสอนเทคนิควิธีไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล โดยใช้ “หน้าม้า” เพื่อกระตุ้นเร่งเร้าให้รีบตัดสินใจสมัครเข้ามาเป็นตัวแทน  ดังเช่นที่ คุณณภัทร ทยุติชยาธร ในฐานะผู้เสียหายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เปิดเผยในการเสวนาครั้งนี้ว่า “ตอนแรกเราสั่งสินค้า 1,000 ชิ้น จ่ายเงินเต็ม 30,000 แต่ได้ของมา 100  ชิ้น ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าอยากได้ของมากกว่านี้ต้องเลื่อนระดับขึ้นไปอีก กระทั่งจองไป 5,000 ชิ้น จ่ายเงินไป 135,000 ได้ของประมาณ 1,000 ชิ้น เมื่อของไม่พอ ทำให้เราต้องจองสินค้าเป็น 10,000 ชิ้นเสียเงินอีก 2 แสนกว่า  แล้วบอกให้เรารีบโอนเงินมาภายในวันนี้ๆ เดี๋ยวของไม่เกิน 5 วันส่งมาให้ พอเช้ารับสินค้า บ่ายโมงเขาดีดเราออกจากกลุ่มไลน์ทันที  ไม่ให้เราอยู่  “เขาให้เหตุผลว่า เราไปบอกความจริงกับเด็กระดับล่าง เพราะเมื่อเราเข้าไปอยู่ระดับ Super VIP เขาจะสอนวิชามารการไลฟ์สดให้ว่า ก่อนจะไลฟ์สด ลูกต้องเตรียมทีมงานไว้หลายๆ  คน มีมือถือไว้คนละเครื่องสองเครื่อง แล้วโพสต์กันเข้าไปเวลาที่แม่ทีมไลฟ์สด ให้บอกว่า สินค้าเราดีมาก อยากสมัครจัง ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าม้าทั้งหมด ส่วนคนที่สมัครจริงๆ จะรู้ได้จากการทิ้งลิงค์ไลน์ไว้ด้านล่าง  เขาจะไลฟ์สดทุกวัน ทำให้ได้ยอดคนสมัครตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น เขาไม่เคยบอกให้เราไปขายเป็นซอง แล้วถามว่าสินค้าที่ได้มา เอาไปทำอะไร ถ้าขายได้ก็ขายไป แต่ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องใช้กันเอง”  ในกรณีของบริษัทเมจิก สกิน  ยังมีการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ของตัวเองด้วย  โดยการโฆษณาว่า “รับผลิต” และ “จำหน่ายสินค้า” อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และเครื่องสำอาง มีการลงรูปโรงงานที่ทันสมัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และมีการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจให้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์  “กรณีความผิดการสวมเลขสารบบ อย.  เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชิ-โน-บิ ที่ด้านหลังซองระบุว่า  ผลิตโดยบริษัท  เมจิกสกิน จำกัด แต่เมื่อตรวจสอบพบผู้ได้รับอนุญาต คือ บริษัทอินโนว่า แล็บโบราโทรี่  ส่วนผลิตภัณฑ์ Mezzo ที่ระบุว่า บริษัทเมจิกสกินผลิตเองนั้น แท้จริงกลับผลิตที่ บริษัท พี โอ เอส  คอสเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งบริษัทนี้รับผลิต ให้บริษัทเมจิก สกิน ตั้งแต่ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาวใส เช่น โอโม่  ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมลดน้ำหนักที่เป็นน้ำชง เช่น Apple Slim , Linda Drinks ผลิตที่บริษัท เนเจอร์ นิวทรี”  คุณวรรณวิษา กล่าว  เห็นได้ว่า นอกจากการ ชวนลงทุน ทั้งที่ไม่มีโรงงานผลิต ชวนกิน ว่ากินแล้วดี สวย ผอม ขาว โดยใช้กลยุทธ์สื่อบุคคล เช่น ดาราและ เน็ตไอดอล  สร้างระบบตัวแทนจำหน่ายขึ้นมาหลอกล่อให้สต๊อกสินค้าจำนวนมาก  แต่ปัญหาที่ดูจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากที่สุด คงไม่พ้น เรื่องของ “คุณภาพสินค้า” ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา หรืออาจจะได้ผลลัพธ์ แต่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพ และการ  “สูญเสียชีวิต”  ที่ด้วยเช่นกันโลกเปลี่ยน...ผู้บริโภคต้องปรับ    ในท่ามกลางการหลั่งไหลของข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ยังมีสื่อโฆษณาออนไลน์ที่ทำผิดกฎหมายซ้ำซากอีกจำนวนมาก เห็นได้จากข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ภายหลังจากที่ อย.ออกประกาศเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและมีสารอันตราย เช่น Abdomen Slim จากการค้นหาในกูเกิ้ลพบมากถึง 6,990,000 รายการ และพบมีขายอยู่ใน Market Place เช่น Lazada  3,650รายการสินค้า  แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทเมจิก สกิน ภายหลังจากบุกค้นโรงงานก็ยังสามารถพบโฆษณาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั่วไป เช่น บนสะพานลอย ป้ายรถเมล์ ท้ายรถเมล์ เป็นต้น โลกทุกวันนี้ แค่เห็นแล้ว “เชื่อ” คงไม่พอ หากผู้บริโภคต้อง “ตรวจสอบ” และแสวงหาข้อมูลรวมถึงวิธีการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ก่อนที่เราจะแตะสั่งสินค้าและจ่ายเงินไปนั้น สินค้าที่สั่งซื้อจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 เรื่องเล่าจากหมอยา

ภญ.สุภาวดี เปล่งชัย เภสัชกรชำนาญการ หรือคุณหมอติ๊กของชาวบ้าน เป็นฟันเฟืองหนึ่งในงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ทำหน้าที่แข็งขันในพื้นที่เล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่  เพราะงานของเธอเหมือนป่าล้อมเมือง เริ่มเพียงแค่เรื่องเล่าจากห้องยา เรื่องราวของความทุกข์จากใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในชุมชน กลายเป็นงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่ยั่งยืนต่อสังคม หมอติ๊กเล่าประสบการณ์การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของเธอ ที่โรงพยาบาลทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด ให้ฟังว่า “เริ่มแรกก็ทำงานตามตัวชี้วัดตามลักษณะงานที่ตัวเองต้องทำอยู่แล้ว แต่พอทำงานไปสักระยะเราก็จะเห็นว่าคนไข้ที่เราได้ดูแล เขาได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยา อาหารหรือเครื่องสำอาง เราจึงเริ่มคิดว่าจะต้องเริ่มทำงานนี้กัน โดยเริ่มจากตอนจ่ายยาผู้ป่วยนอกผู้ป่วยใน เราเห็นว่าคนไข้มีผลกระทบจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราจึงคิดว่าน่าจะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังและเข้มข้นกว่า”ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบของผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ยาส่วนใหญ่เป็นเรื่องอะไรเรื่องการใช้ยาไม่เหมาะสมของคนอีสาน อย่างเช่นพวกยาสเตียรอยด์ที่เราเจอบ่อยๆ ซึ่งบางทีก็ใช้โดยไม่รู้ตัวเพราะบางทีปลอมปนมากับยาลูกกลอน ยาน้ำแผนโบราณ ยาประดง พวกยาที่เข้ามาขายตามหมู่บ้าน คนขายจะบอกว่ารักษาอาการปวดนั่นนี่ ทำให้กินข้าวได้ ชาวบ้านก็ซื้อมากินกัน บางทีเขาก็ไม่รู้ว่ากำลังกินสเตียรอยด์อยู่ พอมาโรงพยาบาลหรือบางทีเราตรวจเจอถึงรู้ อย่างเช่นคนไข้ที่เป็นเบาหวานความดันทำไมคุมความหวานไม่ได้ คุมความดันไม่ได้ พอเราซักประวัติไปก็ได้รู้ว่าเขากินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะสเตียรอยด์มีผลทำให้น้ำตาลขึ้นสูง และอย่างเช่นการใช้ยาปฏิชีวนะที่มาจากแหล่งชุมชน เช่นพวกร้านขายของชำ เขาก็จะไปซื้อมาจากร้านค้าซึ่งพวกร้านของชำไม่ควรจำหน่ายยาพวกนี้เพราะเป็นยาอันตราย เช่น เพนนิซิลลิน แต่คนก็ไปซื้อมากินตามทัศนคติความเชื่อของเขาว่าเวลาที่เกิดอาการแบบนี้ ปวดหลังหรือปวดเอวจะคิดว่าเป็นการอักเสบก็จะไปซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง ซึ่งลักษณะการกินมันจะไม่ครบขนาดการรักษา แต่จะกิน 1 - 2 เม็ดบ้างหรือกินตอนที่มีอาการ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมสื่อต่างๆ ในชุมชนมีผลกับการใช้ยาผิดวิธีด้วยหรือไม่มีค่ะ จริงๆ แล้วยาปฏิชีวนะนั้นถ้าตาม พ.ร.บ. ยา เขาจะห้ามไม่ให้แสดงสรรพคุณยาอันตราย แต่ในวิทยุจะมีการโฆษณา อย่างเช่นยี่ห้อของกาโนรักษาอาการมดลูกอักเสบ รักษาแผลฝีหนอง ประมาณนี้ค่ะ และพวกยา แก้อักเสบ แก้ปวด พวกนี้ก็เป็นยาอันตราย อย่างเช่นยาเพียแคมจะมีโฆษณาทางวิทยุว่ากินแล้วหายปวดทันทีชาวบ้านเขาก็จะซื้อมากินกัน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนจะกินยาพวกนี้ได้หมดอย่างปลอดภัย คนไข้ที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคหัวใจ โรคไต กินยาแก้ปวดพวกนี้จะทำให้อาการเขาแย่ลงหรือคนที่ใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำก็จะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดไตวายได้ในอนาคต ซึ่งในภาคอีสานก็จะซื้อมากินเพราะความสะดวก รวดเร็ว หาซื้อได้ตามร้านขายของชำ แต่พอกินแล้วก็จะเกิดผลต่อร่างกายตามมา เห็นง่ายๆ เลยก็คือจะเกิดอาการแพ้ได้ เคยมีคนไข้ที่มาโรงพยาบาลพอเราซักประวัติจึงทราบว่าเคยแพ้ยากาโนที่ซื้อจากร้านขายของชำ ซึ่งคนที่แพ้จะเกิดร่องรอยการแพ้บนผิวหนัง สังเกตว่าคนไข้มีรอยเป็นปื้นดำๆ ที่แขน ที่ใบหน้า ซึ่งบางคนไม่ได้แพ้แค่ครั้งเดียวแต่มีการแพ้ยาซ้ำ 2 - 3 ครั้ง เพราะบางทียามันมีทั้งรูปแบบเม็ดและรูปแบบน้ำ ทำให้เขากินโดยที่ไม่รู้ว่าคือยาที่เขาแพ้นั่นเอง บางคนก็ซื้อยาตามโฆษณาบ้าง ซื้อตามพฤติกรรมที่มีการบอกต่อกันมาบ้าง อย่างเช่นมีคนไข้คนหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 25 ปี เพิ่งจะคลอดลูก แล้วมดลูกยังไม่เข้าอู่ แม่ของผู้หญิงคนนี้จึงบอกว่าให้กินยากาโนวันละ 1 เม็ด ให้กินติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งยาพวกนี้ก็จะมีผลต่อการเติบโตของกระดูกทารกได้เพราะว่าเด็กยังกินนมแม่ และยังส่งผลให้ฟันของเด็กเหลืองไปถาวรตลอดชีวิตเลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนยังไม่มีความรู้ถึงผลข้างเคียงของพวกยาเหล่านี้ แต่ไปซื้อโดยมีความเชื่อจากปัจจัยต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายของยาบางคนก็ซื้อยาตามโฆษณาบ้าง ซื้อตามพฤติกรรมที่มีการบอกต่อกันมาบ้าง อย่างเช่นมีคนไข้คนหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 25 ปี เพิ่งจะคลอดลูก แล้วมดลูกยังไม่เข้าอู่ แม่ของผู้หญิงคนนี้จึงบอกว่าให้กินยากาโนวันละ 1 เม็ด ให้กินติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งยาพวกนี้ก็จะมีผลต่อการเติบโตของกระดูกทารกได้เพราะว่าเด็กยังกินนมแม่ และยังส่งผลให้ฟันของเด็กเหลืองไปถาวรตลอดชีวิตเลยทำงานยากไหมกับความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเราก็จะไปทำเรื่องความเข้าใจในเรื่องยาในชุมชนทั้งตัวผู้ขายเองและตัวผู้ซื้อ ในส่วนของผู้ขายก็อาจจะยากหน่อยเพราะมันเป็นผลประโยชน์ของเขา และการที่เขาเอายามาขายก็เป็นเพราะชาวบ้านเรียกหาให้เอามาขายเขาจึงต้องไปหาซื้อยามาขายจากตัวเมืองบ้าง ในห้างแม็คโครบ้าง ก็ได้มีการรวมตัวกันประชุมกับเจ้าของร้านขายของชำเองว่าในตำบลของเรามันมียาที่ไม่เหมาะสมอยู่ในร้านค้า เป็นยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาอันตราย เช่น พวกยาห้ามถ่าย ยาพวกนี้ห้ามขายในร้านขายของชำนะ และเราก็จะบอกถึงผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถ้าอยู่ในร้านของท่านจะเกิดอะไรขึ้น ก็จะมีทั้งคนไข้แพ้ยา เป็นผื่นคัน หรือคนไข้ที่กินจนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเขาในระยะยาวได้ ก็ได้ขอความร่วมมือว่าให้หยุดขายยาพวกนี้เถอะ แต่ก็ให้ระยะเวลาอาจจะเป็น 1 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้างให้ขายยาเหล่านี้ให้หมดนอกจากนั้นก็มีการให้แกนนำ อสม. ในพื้นที่สำรวจว่ายังมียาพวกนี้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่บ้างหรือเปล่า ก็ต้องค่อยๆ คุยทำความเข้าใจกันไป เพราะเราจะใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แม้ว่าเภสัชกรเองเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. ยา จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านขายของชำได้ แต่ใช้วิธีนี้ก็อาจจะไม่ได้ผลในระยะยาว เราอยากให้เขาเรียนรู้และทำความเข้าใจว่ายาในร้านค้าสามารถส่งผลกระทบได้นะ และให้ความรู้ว่ายาที่พวกเขาขายได้คือยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น ก็ทำรายการให้ว่ายาตัวไหนขายได้ อย่างเช่นยาพาราเซตามอลต้องบรรจุแผงละกี่เม็ด ส่วนยาอันตรายไม่ได้เลย ห้ามขาย ก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจและขยายพื้นที่ไป ตอนนี้ทำอยู่ในอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะมีอยู่ 5 ตำบลในพื้นที่ โดยเริ่มแรกจะให้ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) และ อสม. ในพื้นที่สำรวจยาที่ขายอยู่ในร้านขายของชำทั้ง 5 ตำบล พอได้ข้อมูลมาแล้วเราก็จะคืนข้อมูลให้คนขายทั้ง 5 ตำบลว่าตำบลนี้มียาเท่านี้นะ ทั้งยาสเตียรอยด์ยาชุด ชุดละ 5 บาท 8 บาท เป็นยาชุดแก้ไข้ แก้หวัด เขาก็ขายกันแบบนี้ ซึ่งเราต้องบอกว่ายาพวกนี้เราห้ามขายและขอเก็บคืน ก็คือห้ามขายยาชุดเลย ส่วนพวกยาอันตรายเราก็ขอให้ขายให้หมดเสียและไม่ให้รับมาขายเพิ่มอีก ก็กำหนดระยะเวลาที่พอจะทำให้เขาขายหมดได้ เป็นเหมือนข้อตกลงระหว่างเรากับคนขายทำเป็นข้อกำหนดมาแบบนี้ 5 ข้อ 5 ตำบล ช่วงปีที่ผ่านมาคือปี 2560 เราก็ทำในข้อนี้ไปก่อน ส่วนปี 2561 นั้นเราก็จะลงไปดูว่ายังมีขายอยู่ไหม และให้คำแนะนำเพิ่มเติมและอาจจะมีการประสานกับทางท้องถิ่นหรือ อบต. ให้เขาช่วยมีมาตรการตรงนี้เพิ่มขึ้น อันนี้ในส่วนของคนขาย ในส่วนของประชาชนเราก็พยายามให้เขามีความรู้ความเข้าใจว่ายาพวกนี้มันมีประโยชน์ในการรักษาโรคแต่มันก็มีผลข้างเคียงที่อันตรายต่อเขาได้เหมือนกัน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะและกลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบซึ่งไม่ควรไปหาซื้อมากินเอง เพราะยาปฏิชีวนะถ้ากินพร่ำเพรื่อก็อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ซึ่งจะส่งผลกับเขาในอนาคตได้ระหว่างคนขายกับคนซื้อคุยกับใครยากกว่ากันน่าจะคนขาย เพราะเขาก็จะคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมากินสิ ไม่ต้องให้ร้านยาในอำเภอขายยาตัวนี้ให้เขาสิ เขาก็จะมองแบบนี้ไป ซึ่งจริงๆ แล้วตัวยามันไม่ได้ผิดแต่มันไปอยู่ผิดที่ เพราะยาพวกนี้ตาม พ.ร.บ. ยาอนุญาตให้อยู่ในร้านที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถขายได้ ส่วนผู้บริโภคนั้นก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจ เราอาจจะคิดว่าคนอายุ 20 ถึง 30 ปี ไม่ค่อยกินยาชุดแต่จริงๆ แล้วอายุน้อยๆ เขาก็ซื้อยาชุดกินกัน เหมือนกับซื้อกินตามความสะดวกของเขา ด้วยความไม่อยากไปโรงพยาบาล ไม่อยากไป รพ.สต. ซื้อยาชุดละ 5 บาท 10 บาทกินดีกว่า มีอยู่เคสหนึ่งอายุแค่ 25 ปี กินยาชุดไปแค่ชุดเดียวถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะไตวายฉับพลัน จึงทำให้คนในพื้นที่หมู่บ้านนั้นรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น เวลาเราไปคุยกับเขาก็จะง่ายกว่าเดิม และอย่างพวกครีมที่ขายตามตลาดนัด อย่างครีมพม่าหน้าขาวมันมีพวกสารสเตียรอยด์ มีปรอท คนไข้ก็บอกว่าเคยใช้เช่นเดียวกันและก็เกิดอาการแพ้ จะเป็นลักษณะนี้ ถ้าเราเข้าไปพูดกับเขาบ่อยๆ เขาก็จะเกิดการตระหนักรู้มากขึ้นจากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มานาน มีอะไรที่อยากฝากถึงผู้บริโภคบ้างสำหรับคนขายที่เป็นเภสัชกรก็ให้ตระหนักว่า เวลาที่คุณขายส่งยาอันตรายแบบนี้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในชุมชน นั่นก็แสดงว่าเขาต้องเอาไปขายให้คนในชุมชนอีกทีหนึ่ง ซึ่งตัวร้านขายยาเองไม่ควรเป็นแหล่งที่กระจายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลงไปในชุมชน ขอให้ขายได้เฉพาะยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ส่วนยาอันตราย ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ขอให้อย่าขายส่งให้เอาไปขายต่อเลย เพราะจริงๆ แล้วมันทำผิดกฎหมายและยังก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย ในส่วนของประชาชนก็อยากให้ใช้อะไรที่เป็นเหตุผล อย่างอาการเจ็บป่วยไข้หวัด ไอ เจ็บคอนั้นไม่ต้องกินยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ เพราะร้อยละ 90 ของไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสแต่ยาปฏิชีวนะมันฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เรากินไปมันก็ไม่หายจากโรคแต่กลับจะทำให้เชื้อดื้อยาด้วยซ้ำ ทางที่ดีให้รักษาร่างกายให้อบอุ่น ทานน้ำอุ่น ทานพาราเซตามอลลดไข้ เช็ดตัวหรือกินยาลดน้ำมูกพวกนี้ค่ะ หรือว่ากินพวกยาฟ้าทะลายโจรก็สามารถหายจากอาการไข้หวัดไอ เจ็บคอได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเลย อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องท้องเสียโดยฉับพลัน ไม่ต้องไปหายาห้ามถ่ายมากินเลยเพราะมันจะทำให้เชื้ออยู่ในร่างกาย อยู่ในลำไส้ ทำให้เกิดเชื้อแพร่มากขึ้น เกิดอันตรายมากกว่าเดิมอีก ถ้าเกิดอาการท้องเสียแบบฉับพลันให้กินพวกผงเกลือแร่หรือผงถ่าน พวกนี้จะทำให้หายจากการถ่ายได้ ไม่จำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะเลย เพราะเชื้อพวกนี้ก็เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในอาหารแต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่นถ่ายเป็นลิ่มเลือดอันนี้แสดงว่าติดเชื้อแน่ๆ อย่างนี้ควรไปโรงพยาบาลดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณาเกินจริง แม้ไม่เชื่อ ก็มีความผิด

สวัสดีครับ พบกันทุกเดือนเช่นเคยฉบับนี้ ผมขอบอกเล่าเรื่องอุทาหรณ์ของการโอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะทุกวันนี้ มีการเผยแพร่ข่าวสาร โฆษณาต่างๆ เพื่อชวนเชื่อให้เราซื้อสินค้าหรือบริการมากมาย  ที่มีทั้งจริงและไม่จริง มีคนสงสัยว่า ในทางกฎหมาย การโฆษณานอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว หากข้อความโฆษณานั้น มีลักษณะโอ้อวดเกินจริง ใครก็รู้ ไม่ได้หลงเชื่อ แบบนี้จะมีความผิดไหม  พอค้นๆ ดู ก็พบว่า มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโฆษณาในแผ่นพับของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่โอ้อวดว่าของตนดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ และไปกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของโจทก์เขาไม่ดี  ทำให้โรงพยาบาลดังกล่าวเอาเรื่องมาฟ้องศาล สู้กันจนถึงศาลฎีกา และมีคำพิพากษาในที่สุดว่า การโฆษณาของโรงพยาบาลที่โอ้อวดเกินจริงมีความผิด และเป็นการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423 หรือบางครั้ง แม้ข้อความที่พูด จะไม่เข้าข่ายการกล่าวโอ้อวดเกินจริง แต่หากทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียงก็เป็นละเมิดต้องรับผิดต่อเขาเช่นกัน ดังฎีกาต่อไปนี้คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องที่ว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” หรือ “มันเป็นสามานย์” แม้เป็นการกล่าวกระทบถึงโจทก์ทั้งเจ็ด แต่ก็มิใช่การนำความเท็จหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ทั้งเจ็ดมากล่าว หากแต่เป็นการด่าโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 423แต่การพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุม ณ ที่เกิดเหตุนั้นประชาชนที่ฟังย่อมรู้สึกได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งประธานสภาหรือสมาชิกสภาเทศบาล อันเข้าลักษณะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนจบ)

หลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Green Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค และ ผู้บริหารพรรค นอกจากนี้ หลังการเจราจาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังมีการทำสัตยาบรรณ(Koalitionsvertrag) ในการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม คือ การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรคเพื่อยอมรับสัตยาบรรณ ดังกล่าว ซึ่งเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ (66.02%) จากสมาชิกพรรคทั้งหมด 463,723 คน เรียกได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ผ่านอุปสรรคด่านแรกไปอย่างหืดขึ้นคอทีเดียวสำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็นได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิตัล (Digital  world)• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market)• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ (International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance)นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market) ทางคณะรัฐมนตรีเสนอให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการจัดการการประกันเงินบำนาญ ชราภาพแห่งชาติ โดยทำหน้าที่ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ ในการพัฒนารูปแบบการจัดการระบบประกันเงินบำนาญ ชราภาพ ภาคบังคับ (Gesetzliche Renterversicherung) เนื่องจาก ระบบสวัสดิการของประเทศเยอรมันนั้น เมื่อคนทำงานมีรายได้ จะถูกหักเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการหักเงินประกันสังคมในบ้านเรานั่นเอง วัตถุประสงค์การจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้คือ เพื่อทำให้กองทุนบำนาญชราภาพ ที่จัดเก็บจากรายได้ประชาชนและเงินสมทบของผู้ประกอบการ ให้เกิดความยั่งยืน ภายในปี 2025 องค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจาก ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญในการที่จะต้องมีตัวแทนฝ่ายองค์กรผู้บริโภคเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะระบบการประกันบำนาญ ชราภาพ ไม่ได้มีเฉพาะการประกันภาคบังคับเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการประกันเงินบำนาญชราภาพ ภาคสมัครใจ ที่ มีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการ การประกันภาคสมัครใจอยู่ และมีผลต่อนโยบายการประกันเงินบำนาญชราภาพในภาพรวมของประเทศ การจัดระบบการประกันเงินบำนาญชราภาพภาคสมัครใจ (Private Altersvorsorge) รัฐบาลมีนโยบายในการจัดการระบบ ประกันเงินบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เอาประกัน โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น(Dialog) ระหว่าง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกภาคส่วน และ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการประกันบำนาญชราภาพ ภาคสมัครใจที่เป็นมาตรฐาน( Riester Rente) ตอนนี้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน(หมายเหตุ Riester Rente เป็นมาตรการ การปฏิรูประบบการประกันเงินบำนาญชราภาพ ที่ จัดเป็นการประกันภาคสมัครใจของผู้ทำงานมีรายได้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000- 2001 ภายใต้การเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของนาย Walter Riester สังกัดพรพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสังคมนิยม โดยหักจากเงินรายได้ของผู้เอาประกันและ เงินสมทบที่รัฐบาลช่วยเหลือ) ต่อประเด็นนี้ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดในการปฏิรูประบบการประกันเงินบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้คุณภาพของระบบประกันเงินบำนาญชราภาพดียิ่งขึ้น โดยที่เงินที่จ่ายเข้ากองทุนนี้ต้องลดลง แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยใช้มาตรการ การลดค่าการตลาด ซึ่งในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น(Dialog) นั้น การมีส่วนร่วมนอกจากภาคตัวแทนภาคธุรกิจแล้ว องค์กรภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดทำ dialog โดยเฉพาะองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน รัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินกลไก การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินต่อประเด็นนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นสนับสนุน การประเมินมาตรการที่ใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลในการทำรายงานผลการประเมินมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินต่อสาธารณะ และควรระบุด้วยว่ามาตรการในการกำกับใดของรัฐ ที่เกินความจำเป็น (Over regulation) ก็ควรจะต้องปรับปรุง หรือ กลไกใดของรัฐที่ การกำกับดูแลแล้ว ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ก็ต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน  การปรับปรุงค่าธรรมเนียม Prepayment charge ในการ กู้ยืมเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์นโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นนี้ คือ ต้องการให้สัญญา การกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการ Refinance ที่อยู่อาศัย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ลดลง แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า prepayment charge มีความเป็นธรรม และฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมเข้าใจ และเห็นภาพได้ง่ายความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาล และได้เรียกร้องประเด็นนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว การกำกับ ควบคุม และเฝ้าระวัง ระบบการเงินการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายในการโอนหน้าที่การกำกับดูแล ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนทางการเงิน ให้กับ หน่วยงานรัฐคือ Federal Financial Authority (BaFin: Bundesanstalt fÜr Finanzdienstleistungsaufsicht) อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแผนที่จะให้หน่วยงานกำกับองค์กรนี้ มีอำนาจในการกำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน ใน digital platform และทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลทางด้าน IT-securityเพิ่มขึ้นด้วยความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เห็นด้วยในหลักการแต่ควรจะมีรายละเอียดในการทำงานขององค์กรกำกับดูแลนี้ให้ชัดเจนขึ้นครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 1)

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวหนึ่งซึ่งผู้เขียนสนใจและเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ข่าวนั้นคือ “พบ 102 ผลิตภัณฑ์อาหารและยาโฆษณาเกินจริงในสื่อวิทยุชุมชน-เคเบิ้ลทีวี-ทีวีดาวเทียม ผลิตภัณฑ์สุขภาพมากสุด 59% ‘สุภิญญา’ เผยเตรียมผุดโมเดล จว.นำร่อง ‘เพชรบุรี’ หวังจับมือท้องถิ่นแก้ปัญหา ชง รบ.บรรจุวาระชาติ กวาดล้างธุรกิจลวงผู้บริโภคจริงจัง” ข่าวดังกล่าวนั้นเป็นการจัดแถลงผลงานของสำนักงาน กสทช. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร ตามข้อตกลงความร่วมมือ ‘การสร้างเครือข่ายร้องเรียนการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์’ ระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัย 4 แห่ง รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 4 ภูมิภาค โดยทำการวิจัย (ธันวาคม 2555-กุมภาพันธ์ 2556) พบการโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านทางสื่อวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียมที่อวดอ้างสรรพคุณการบำบัดบรรเทาหรือป้องกันโรคตลอดจนบำรุงร่างกายทั้งสิ้น 102 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหา ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาหาร พ.ศ.2522 ทุกผลิตภัณฑ์ สุดท้ายของข่าวคือ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวประมาณว่า หากรัฐบาลจะออกนโยบายประชานิยมที่ช่วยเหลือคนยากจนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ควรแสดงความจริงใจโดยมีนโยบายกวาดล้างธุรกิจเหล่านี้ และสนับสนุนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ช่วยดำเนินการด้วย มิใช่ตั้งเป้าเพียงคดีทางการเมือง เนื่องจากหลายธุรกิจมีส่วนโยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่น”ผู้เขียนรู้สึกสะกิดใจทุกครั้งที่ย้อนไปอ่านข่าวนี้ว่า ได้พลาดการพบข่าวว่ามีหน่วยงานใดสนใจข่าวและมีการปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณสุภิญญาหรือเปล่า แต่ก็ได้ตอบตัวเองว่า ไม่น่าพลาดเพราะติดตามข่าวทำนองนี้มาตลอด อีกทั้งยังได้เห็นปรากฏการณ์ของโฆษณาตามลักษณะที่งานวิจัยข้างต้นพบนั้นตำตาอยู่ตลอดเวลา จนมีความรู้สึกว่า มันคงต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุดแบบว่า คงต้องถอดใจในความหวังว่าจะมีการแก้ไขประเด็นปัญหานี้แล้วดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้และฉบับหน้า ผู้เขียนจะนำตัวอย่างการจัดการปัญหาสินค้าที่มีการโฆษณาตามใจบริษัทในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมาเล่าเป็นตัวอย่างว่า มีชะตากรรมอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเริ่มต้นจากผู้บริโภคหรือองค์กรเอกชนแล้วสานต่อด้วยหน่วยงานรัฐที่ถูกกระตุ้นให้กระทำสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเสรีภาพอย่างสุดๆ พร้อมทั้งการบังคับใช้กฏหมายแบบ(แทบ) ไม่มีการยกเว้น ต่างจากบางประเทศที่พัฒนาแล้วได้เท่าที่เป็น(เพราะพัฒนาต่อไปไม่ไหว) โดยเรื่องราวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างให้รู้ว่า การโฆษณาขายสินค้าแบบมั่วๆ ในสหรัฐอเมริกาทำไม่ได้นะ เพราะประเทศนี้ก็มีนักร้อง (เรียน) ระดับชาติเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคและบริโภค และศาลอเมริกันนั้นเอาจริงเสมอถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดผลประโยชน์ของผู้บริโภคหลายปีมาแล้วมีบริษัทหนึ่งขายรองเท้าที่โฆษณาว่าเป็น "รองเท้าที่ใส่แล้วเหมือนวิ่งด้วยเท้าเปล่า (Barefoot Running Shoe)" อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาช่วงล่าง กระตุ้นการทำงานของประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความว่องไว อีกทั้งช่วยให้เท้าและลำตัวเคลื่อนไปเป็นธรรมชาติ รองเท้าที่ว่านี้ต่างจากรองเท้าอื่นเพราะออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนมีนิ้วเท้าห้านิ้วและส้นค่อนข้างบางมาก (FiveFingers shoes) นัยว่าเมื่อใส่แล้วควรรู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่มีลูกค้าถึง 70 ล้านคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อรองเท้าประหลาดนี้ในราคาคู่ละเกือบ 100 เหรียญดอลลาห์สหรัฐ แต่สุดท้ายก็มีนักร้อง(เรียน) ชาวอเมริกันคนหนึ่งเอาเรื่องถึงศาล โดยกล่าวหาว่าบริษัททำโฆษณาแบบไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ เป็นการโฆษณามั่วซั่วเกี่ยวกับสุขภาพเท้าของประชาชน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์สุขภาพบางคนกล่าวว่า รองเท้าประหลาดนี้อาจทำให้สุขภาพเท้าเสื่อมได้เมื่อใส่วิ่ง สุดท้ายในปี 2012 ศาลจึงตัดสินว่า บริษัทต้องจ่ายค่าปรับ 3.75 ล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐให้กระทรวงพาณิชย์(Federal Trade Commission) และต้องคืนเงินให้ลูกค้าที่ซื้อรองเท้าไปราวคู่ละ 20- 50 เหรียญ(คงเป็นไปตามสภาพรองเท้าที่เหลืออยู่)ในปี 2005 มีบริษัทผลิตน้ำบ้วนปากยี่ห้อหนึ่งถูก Federal Judge (น่าจะหมายถึง ศาลสูง) สั่งให้แพ้คดีที่บริษัทผลิตไหมขัดฟันฟ้องว่า โฆษณามั่วซั่วที่ไปอ้างว่า น้ำบ้วนปากที่ผลิตโดยบริษัทมีประสิทธิภาพดีเท่ากับการใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันฟันผุและเหงือกร่น ข่าวกล่าวว่า ผู้พิพากษาชาวอเมริกันเชื้อสายจีนตัดสินคดีพร้อมให้ความเห็นว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีการทำวิจัยก่อนกล่าวอ้างเอาเองแบบนี้ ซึ่งบริษัทขายน้ำบ้วนปากก็รับรู้จ่ายค่าปรับโดยดีเมื่อตามข่าวเกี่ยวกับน้ำบ้วนปากยี่ห้อดังกล่าวในทางลึกพบว่า เมื่อปี 1976 ซึ่งขณะนั้นบริษัทที่ผลิตน้ำบ้วนปากนี้เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ได้ถูกคำพิพากษาให้ใช้เงิน 10 ล้านเหรียญดอลลาร์ในการทำโฆษณาเผยแพร่ว่า โฆษณาเดิมที่อ้างว่า น้ำบ้วนปากยี่ห้อนี้ป้องกันหวัดและอาการเจ็บคอได้ นั้นไม่เป็นความจริงเรื่องที่สามนี้อาจเกี่ยวกับการที่เราพยายามเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่ โปรดพิจารณา เพราะมันเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟน โดยมีการอวดอ้างว่าการส่งภาพลามก(salacious pictures) ตลอดจนการเขียนหรือส่งต่อข้อความลามก(sexting) ผ่านแอปพลิเคชันหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือที่บริษัทหนึ่งเขียนขึ้นนั้นไม่มีใครสามารถเก็บไว้ได้(พูดง่ายๆ คือ ถ่อยกันได้เต็มที่ไม่ต้องกลัวว่ามีการเก็บไว้เป็นหลักฐานตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของแต่ละชาติ) เพราะมันจะถูกลบไปในเวลาสั้น ๆ ตามที่ผู้ส่งกำหนดไว้ สำหรับในบ้านเรานั้น มีการแนะนำแอปพลิเคชันนี้บนเว็บภาษาไทยโดยตอนหนึ่งกล่าวว่า “รูปที่ส่งไป หลังจากที่ผู้ใช้งานเปิดดูรูป จะมีเวลาจำกัดในการดูตามเวลาที่ถูกตั้งไว้ สามารถกด Replay ได้ 1 ครั้ง/1 วัน หลังจากนั้น รูปนั้นก็จะหายไปจากระบบตลอดกาล (แต่เราสามารถแคปเก็บไว้ได้นะครับ) อีกทั้งไม่ใช่เพียงแต่รูปที่หายไป แต่หากเราไม่ได้กดเซฟข้อความไว้ ข้อความที่เราคุยก็จะหายไปเช่นกัน” ข้อมูลจาก Wikipedia เล่าว่า แอปพลิเคชันของบริษัทที่ถูกร้องเรียนว่าหลอกลวงนี้ จัดอยู่ในโหมด Social Network ซึ่งก่อตั้งในปี 2011 โดยเริ่มแรกนั้นสื่อสารกันผ่านรูปถ่ายและคลิปสั้นๆ เป็นหลัก แต่ภายหลังเริ่มเพิ่มลูกเล่นเข้ามาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถ ส่งรูปถ่าย, คลิปสั้น, ข้อความ จนไปถึง Video callดังที่มีผู้อธิบายถึงการใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นภาษาไทยแล้วว่า ทั้งรูปและข้อความนั้นสามารถแคปเก็บไว้ได้ ผู้ใช้จึงควรคำนึงตลอดเวลาว่า ปรกติแล้วบนแป้นพิมพ์ของคอมพิวเตอร์นั้นมีปุ่ม PrtScn ไว้ให้เราเก็บสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนจอภาพอยู่แล้ว(ในกรณีที่สั่ง save ไม่ได้) สำหรับสมาร์ทโฟนซึ่งผู้เขียนไม่ชำนาญนั้นก็คงมีปุ่มวิเศษลักษณะนี้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติการในการส่งภาพหรือข้อเขียนที่สังคมไม่นิยมในที่แจ้ง (แต่อาจแอบดูในที่ลับ) ด้วยแอปพลิเคชันนี้แล้ว ก็ควรทำใจสบายๆ เกี่ยวกับผลกรรมที่อาจตามมาได้ในอนาคตตัวอย่างต่อมาคือ คำว่า Naked หรือเปลือยนั้น ได้ถูกนำไปรวมกับคำว่า น้ำผลไม้ แล้วจดทะเบียนการค้าเป็นสินค้าซึ่งจริงแล้วคือ น้ำผลไม้(คั้นสดหรือปั่น) ในชั้น premium grade สำหรับผู้ดื่มคอสูง เพราะเมื่อสำรวจราคาในอินเทอร์เน็ตแล้วพบว่า ขวด(1 ออนซ์) ราคาราว 5-25 เหรียญดอลลาร์ สินค้านี้เริ่มผลิตในปี 1983 เป็นน้ำผลไม้บรรจุขวดแช่เย็นไม่มีวัตถุกันเสีย ในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัวเพื่อขายแก่ขานู้ด(เปลือย) ที่ชอบไปอาบแดดที่ชายหาด ซานตา-มอนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจขานู้ดที่มีอันจะกินทั้งหลาย จึงขายดีมากจนในปี 2001 บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่หนึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อสินค้าแล้วทำการ rebranding ขนานใหญ่เพื่อสร้างภาพ จนในปี 2012 ก็เจอดีโดนฟ้องเนื่องจากโฆษณาเกินจริง (ตามที่ระบุใน Wikipedia) ว่า "The product was 100% Juice, was "All Natural, contained Nothing Artificial, and was Non-GMO"  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีการเติมน้ำตาล และน้ำตาลเทียม ใยอาหาร กลิ่นรสสังเคราะห์ วิตามินสังเคราะห์ ซึ่งสุดท้ายบริษัทผู้ผลิตได้ยอมลบข้อความอวดอ้างเกินจริงออกจากฉลากอาหาร สำหรับในประเทศไทยนั้นสินค้าลักษณะดังกล่าวพร้อมโฆษณาคล้ายกัน ยังมีขายในอินเทอร์เน็ต เข้าใจว่าเพื่อสนองนโยบาย “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า” ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง (โปรดติดตามตอนต่อไปในเดือนหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2561จับตาพิจารณา “พาราควอต” หมอจุฬาฯ ย้ำอันตราย ทำผู้ป่วยตายทรมานเมื่อวันที่ 9 เม.ย.61 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า ยังพบคนไทยมีความเสี่ยงจากการกินผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งอาจสะสมจนเสี่ยงต่อโรคไต โรคตับ ล่าสุดพบส่งผลต่อสมองด้วย ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้พาราควอต อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญได้สรุปข้อเสนอไปแล้วว่าควรถอนทะเบียนพาราควอต เพราะมีผลต่อสุขภาพ แต่ยังมีการตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาตัดสินในเดือนเมษายนนี้อีกว่า จะถอนหรือต่อทะเบียนพาราควอตปัจจุบันพาราควอตถูกห้ามใช้แล้วใน 48 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีที่ผิวหนัง หรือกินโดยไม่ตั้งใจ เสียชีวิตอย่างทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวาย ไตวาย และยังพบว่าชาวสวนนั้นสัมผัสสารเคมีจากการย่ำน้ำที่ขังอยู่ในไร่นา ทั้งนี้ คณะวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า รพ.จังหวัด หนองบัวลำภู ในหนึ่งปีมีคนไข้ 100 กว่าราย และเสียชีวิตแล้ว 6 ราย จากภาวะขาเน่าและติดเชื้อซ้ำซ้อน ซึ่งผู้ป่วยหลายรายต้องตัดขาทิ้ง สบส.ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค สแกนปุ๊บ รู้ทันทีคลินิกไหนเถื่อนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สร้างระบบให้ประชาชนตรวจสอบการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลด้วย “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ผ่านสมาร์ทโฟน สแกนแล้วรู้ทันทีว่าเป็นคลินิกถูกต้องตามกฎหมาย หรือ คลินิกเถื่อนนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี พ.ศ.2561 เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. เกือบ 6,000 แห่ง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพ และชีวิตประชาชน สบส.ได้พัฒนาระบบตรวจสอบคลินิกเอกชนที่มีกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ โดยนำนวัตกรรม “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) ติดที่ใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล, ใบอนุญาตแพทย์ผู้ดำเนินการ และบริเวณด้านหน้าของคลินิกหากประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วพบว่าข้อมูลชื่อสถานพยาบาลและที่ตั้งไม่ตรง หรือแพทย์ผู้ดำเนินการเป็นคนละคนกับที่แสดงในฐานข้อมูล ขอให้หลีกเลี่ยงการรับบริการจากคลินิกดังกล่าว สำหรับในพื้นที่ กทม. ให้แจ้งมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 ในส่วนภูมิภาค ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเข้าดำเนินการตรวจสอบโดยทันที พบเครื่องสำอางเกาหลี 8 ยี่ห้อ ปนเปื้อนโลหะหนักเมื่อวันที่ 23 มี.ค.61 เว็บไซต์ข่าวโพสต์ทูเดย์ ได้เผยแพร่ข่าวจากเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ซึ่งรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้โดยกระทรวงความปลอดภัยของอาหารและยา เปิดเผยเครื่องสำอาง 8 ยี่ห้อ ที่ผลิตในเกาหลีปนเปื้อนสารโลหะหนักจำนวนมาก โดยพบว่าเครื่องสำอาง 13 ชนิด มีทั้งเครื่องสำอางสำหรับชายและหญิง ที่จำหน่ายโดยแบรนด์ดัง 8 ยี่ห้อ มีตั้งแต่แบรนด์ อีทูดี้ เฮ้าส์, เอเทรียม, เมคฮัล, XTM Style, SKEDA, สกินฟู้ด, 3CE และ Makeheal Naked Slim Brow Pencil (สี BR0203 and YL0801) ซึ่งตามรายงานของหน่วยงานดังกล่าว ระบุว่า พบ antimony ในระดับตั้งแต่ 10.1 ส่วนต่อล้าน (ppm) ถึง 14.3 ppm จากทั้งใน 13 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้พบ antimony ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ppmด้านบริษัท อมอร์แปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าของแบรนด์ที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าจะหามาตรการอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก และได้สั่งเรียกคืนเครื่องสำอางที่มีปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมแล้วที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์, scmp.com สคบ. ออก“สัญญาเช่าซื้อรถ” เพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 (ฉบับใหม่ล่าสุด) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก ที่แก้ไขเป็นเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้, การปรับลดดอกเบี้ยกรณีผู้บริโภคต้องการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวกัน, ค่าใช้จ่ายจากการบังคับยึดรถกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้เกิดกำหนด ซึ่งเดิมผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อหรือบริษัทลีซซิ่ง สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการยึดรถจากผู้บริโภคได้ แต่กฎหมายใหม่กำหนดข้อห้ามไว้ ซึ่งประกาศฉบับใหม่ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้1. กำหนดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่เกิน 15% (เดิม 17%)2. บริษัทเช่าซื้อต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น-ดอกเบี้ย วันเดือนปีชำระค่างวด ให้ผู้บริโภคทราบชัดเจน3. กรณีผู้เช่าซื้อต้องการชำระเงินทั้งหมด (โปะ) บริษัทลีสซิ่งต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 50%4. ให้สิทธิ์ผู้เช่าซื้อ ซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังยึดรถ และให้สิทธิ์ผู้ค้ำประกันอีก 15 วัน5. กรณีจะนำรถขายทอดตลาด ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยจะซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ6. บริษัทเช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามใช้จ่ายจริง แต่ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการยึดรถ7. มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2561นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อ ชำระเงินค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเป็นของลูกค้าทันที โดยบริษัทลีสซิ่งต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของลูกค้าภายใน 30 วัน หากเกินกำหนด บริษัทลีสซิ่งต้องเสียเบี้ยปรับในอัตราที่เท่ากับเบี้ยปรับที่ลูกค้าต้องชำระเมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ คอบช. ทวงถาม กรมการค้าภายใน เรื่องควบคุมค่ารักษา รพ.เอกชนเมื่อวันที่ 28 มี.ค.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค(คอบช.) พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค ได้เดินทางไปติดตามทวงถาม เรื่องการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล กับ กรมการค้าภายใน หลังจากเคยยื่นหนังสือขอให้ควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมาโดยได้มีการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการสุขภาพของ รพ.เอกชน ว่าถือเป็นบริการที่มีความจำเป็นพื้นฐาน จึงควรมีการควบคุมราคา ซึ่งการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมของ รพ.เอกชน ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาน.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการ คอบช. ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า การควบคุมค่ารักษาพยาบาลแพง ใน รพ.เอกชนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะผู้ใช้บริการมีความเดือดร้อน จากการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่ไม่มีการกำกับดูแลขอบเขต จึงขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้จัดประชุมเพื่อทบทวนในเรื่องนี้ โดยขอให้กรมการค้าภายใน เก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน  เพื่อหามาตรการกำกับควบคุมต่อไป โดยหลังจากนี้ ทางเครือข่ายผู้บริโภคจะมีการติดตามทวงถามความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 กระแสต่างแดน

เปลี่ยนแล้วปังปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นเริ่มหันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น นี่คือข้อสรุปจากรายงานของ Baptist World Aid Australia ที่สำรวจแบรนด์เสื้อผ้า 407 แบรนด์มีผู้ได้คะแนนสูงสุด (A+) แปดราย แต่ที่น่าสนใจคือแบรนด์ที่เคยได้คะแนน B- เมื่อห้าปีก่อนอย่าง Cotton On สามารถเพิ่มคะแนนจริยธรรมการประกอบการของตนเองขึ้นมาเป็นระดับ A ได้สวยๆ  บริษัทยอมรับว่าผลสำรวจคราวก่อนเป็นแรงผลักดันให้คิดใหม่ทำใหม่ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบ บริษัทแสดงรายชื่อโรงงานกว่า 2,500 แห่งที่ผลิตสินค้าของบริษัทให้ผู้สนใจเข้าดูได้ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนไร่ฝ้ายในเคนยาที่มีการจ้างงานคนท้องถิ่นกว่า 1,500 คน และมีโครงการรับเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้ากลับไปรีไซเคิลด้วย  ในขณะเดียวกันรายที่ได้คะแนนต่ำอ้างว่าการสำรวจนี้ให้เวลาน้อยเกินไป ถามคำถามจุกจิก และเกณฑ์ของผู้สำรวจไม่ตรงกับเกณฑ์ที่บริษัทใช้อยู่ อืม...นะ(เผื่อคุณสงสัย... Zara และ H&M ได้คะแนน A- และ B+ ตามลำดับ)  ปิดบัญชีตำรวจเซี่ยงไฮ้กำลังจับตาบัญชีธนาคารที่ไม่มีเงินฝาก เพราะมีแนวโน้มจะเป็นบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้หลอกลวงให้คนโอนเงินผ่านมือถือหรืออินเทอร์เน็ต ล่าสุดเขาสั่งปิดบัญชีแบบนี้ไป 405 บัญชี หน่วยปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และโทรคมนาคมของเซี่ยงไฮ้ พบว่ามีโทรศัพท์ “น่าสงสัย” วันละไม่ต่ำกว่า 2,000 สาย โดยคนที่โทรมามักแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเป็นผู้ดูแลที่อยู่อาศัยที่ ทางการส่งมา การหลอกลวงรูปแบบนี้แพร่ระบาดมากขึ้น สองปีก่อนตอนที่เริ่มก่อตั้งหน่วยฯ สถิติโทรศัพท์โทรศัพท์หลอกลวงอยู่ที่วันละ 100 สายเท่านั้น นอกจากจะตามปิดบัญชีเปล่าแล้ว หน่วยนี้ยังจัดการอบรมให้กับกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ผู้สูงอายุ นักศึกษา มหาวิทยาลัย และพนักงานฝ่ายบัญชีของบริษัทต่างๆ ด้วย  “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยที่ดี กฎหมาย Fair Housing Act ของอเมริกาจึงห้ามการโฆษณาขายหรือให้เช่าที่อยู่อาศัยแบบเลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ความพิการ หรือสถานะครอบครัว  ล่าสุด กลุ่มผู้รณรงค์ด้านที่อยู่อาศัยร่วมกันฟ้อง facebook ที่ยอมให้มีการเจาะจงเลือกเสนอโฆษณาขายหรือให้เช่าบ้านกับคนบางกลุ่ม ในขณะที่ “ผู้หญิง” และ “ครอบครัวที่มีเด็ก” เสียโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยเพราะไม่สามารถมองเห็นโฆษณานั้นได้  องค์กรพัฒนาเอกชน ProPublica เคยทดลองปลอมเป็นตัวแทนขายบ้านและซื้อโฆษณากับ facebook โดยระบุเงื่อนไขว่าไม่ต้องแสดงโฆษณาดังกล่าวกับ คนเชื้อสายยิว ชาวต่างชาติจากอาร์เจนตินา คนที่พูดภาษาสเปน คนที่เคยแสดงความสนใจเรื่องทางลาด และคุณแม่ชาวอัฟริกันอเมริกันที่มีลูกกำลังเรียนมัธยมปลาย สิ่งที่เขาพบคือ facebook ยินดีจัดให้ตามนั้นจริงๆ  จัดก่อนจรการใช้จักรยานร่วมกัน (bike sharing) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในเยอรมนี ขณะนี้มีผู้ให้บริการไม่ต่ำกว่าสิบบริษัทในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ แน่นอนการเปลี่ยนมาใช้จักรยานเช่านั้นมีข้อดีหลายอย่าง ตามข้อตกลงการใช้ ผู้ขับขี่สามารถจอดจักรยานไว้ตรงไหนก็ได้เพื่อให้คนที่ผ่านมาใช้แอปเปิดล็อกและใช้ต่อได้เลย แต่สิ่งที่เริ่มเป็นปัญหาตอนนี้คือ จักรยานที่จอดเกะกะอยู่ทั่วทั้งเมือง ตั้งแต่กลางทางเท้า เลนจักรยาน หรือแม้แต่ในสวนสาธารณะ เมื่อจำนวนจักรยานดูเหมือนจะมากเกินพื้นที่จอด หลายเมืองในเยอรมนีจึงต้องรีบออกมาจัดระเบียบ เมืองโคโลญกำหนดโซนห้ามจอดจักรยานแล้ว ในขณะที่มิวนิคและแฟรงค์เฟิร์ตจัดพิมพ์คู่มือให้ผู้ประกอบการนำไปใช้กำหนดพื้นที่จอด รวมถึงจำนวนจักรยานที่อนุญาตให้จอดได้ต่อหนึ่งจุดด้วยด้านสมาคมจักรยานก็กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนพื้นที่จอดรถเป็นพื้นที่จอดจักรยานเสียเลย วนิลาบุกป่าไม่นานมานี้ มาดากัสการ์เบียดเม็กซิโกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตวนิลาอันดับหนึ่งของโลก ด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา(ปัจจุบันกิโลละประมาณ 16,000 บาท) ใครๆ ก็อยากปลูกสิ่งที่เกิดตามมาคือการถางป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกวนิลา และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การลักขโมยผลผลิต การข่มขู่รีดไถโดยกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ไปจนถึงการลงมือทำร้ายหรือสังหาร “ผู้ร้าย” โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไม่ต้องการพึ่งพาตำรวจพืชที่ให้กลิ่นรสหอมหวานนี้ยังกลายเป็นสินค้าหลักในการฟอกเงินของขบวนการลักลอบค้าไม้พยูงไปยังประเทศจีนอีกด้วย  ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เกาะมาดากัสการ์ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพอันน่าทึ่งนี้คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >