ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสต่างแดน

จ่ายแล้วต้องจำผู้บริโภคชาวออสซี่ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ได้รับ “ใบแจ้งหนี้” ค่าไฟ ค่าก๊าซ และค่าเน็ต/โทรศัพท์ ที่มิจฉาชีพไฮเทคส่งมาบอกให้รีบชำระหนี้ก่อนจะโดนตัด หรือไม่ก็ติดต่อกลับด่วนเพื่อขอรับเงินส่วนต่างที่จ่ายเกินมายอมรับว่างานก้อปของเขาเกรดเอจริงๆ...เมื่อ “ลูกหนี้” โทรไปสอบถามเพิ่มเติม “แก๊งแจ้งหนี้” ก็จะถามวันเดือนปีเกิดและหมายเลขใบขับขี่ “เพื่อยืนยันตัวตน” ด้วย สรุปว่านอกจากจ่ายหนี้ให้ใครก็ไม่รู้ แล้วยังแถมข้อมูลให้อีก  ความเสียหายเฉลี่ยจากทุกรัฐในออสเตรเลียในรอบปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 8,000 เหรียญ(ประมาณ 190,000บาท) ต่อครัวเรือน รัฐที่มีผู้เสียหายมากที่สุดคือนิวเซาท์เวลส์ ตามด้วยควีนส์แลนด์ และวิคตอเรียผู้ประกอบการตัวจริงอย่าง Optus Telstra AGL และ Origin เตือนผู้บริโภคให้ระวังใบแจ้งหนี้ที่มีคำผิด หรือส่งมาไม่ตรงรอบ และหากมีข้อสงสัย ให้ตรวจสอบกับใบเสร็จที่ได้จากการชำระหนี้ครั้งล่าสุด (หวังว่าคุณยังเก็บมันไว้ หรืออย่างน้อยก็จำวันที่ได้นะ)    ได้ใหม่ลืมเก่าตั้งแต่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนญี่ปุ่นแบบหัวบันไดไม่แห้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำพื้นที่ของสนามบินต่างๆ ก็ต้องรับมือกับปัญหาล้อลากทุกวันnปีที่แล้วมีกระเป๋าเดินทางถูกทิ้งที่สนามบินนาริตะประมาณ 250 ใบ ส่วนใหญ่พบที่ห้องพักผู้โดยสารระหว่างประเทศ บริเวณใกล้ๆ ถังขยะ ในรถเข็น และในห้องน้ำ  กระเป๋าเหล่านี้ถือเป็น “ทรัพย์สินที่สูญหาย” และต้องนำไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจเป็นเวลาสามเดือนก่อนจะนำไปทิ้งได้ ตำรวจสันนิษฐานว่าเจ้าของกระเป๋าเหล่านี้ตัดสินใจทิ้งมันเพราะไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม... เมื่อต้องเลือกแค่หนึ่งใบ ก็เลือกกระเป๋าใหม่ที่เพิ่งซื้อจากญี่ปุ่นดีกว่าแต่เรื่องไม่จบแค่นั้น เจ้าหน้าที่สนามบินจะต้องตรวจหาโลหะหรือนำกระเป๋าที่ดูน่าสงสัยไปสแกนดูสัมภาระข้างในเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม และการทิ้งกระเป๋าแบบนี้ผิดกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะด้วย  ไม่มีทำไมไม่บอกเครือข่ายมือถือ ทีโมบาย ถูกคณะกรรมการกำกับดูแลโทรคมนาคมของสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นเงิน 40 ล้านเหรียญ(กว่า 1,200 ล้านบาท) โทษฐานใช้ริงโทนหลอกลวงผู้บริโภคเวลาโทรไปหาเพื่อนหรือญาติในพื้นที่ห่างไกล คนโทรจะได้ยินเสียงเหมือนโทรติดแล้วแต่ไม่มีคนรับ แต่ความจริงคือพื้นที่นั้นไม่มีสัญญาณ และสหรัฐฯ ออกกฎหมายห้ามใช้ริงโทนปลอมตั้งแต่ปี 2557 บริษัทอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ และได้แก้ไขเรื่องดังกล่าวแล้ว(แต่ยังไม่ได้ตอบข้อกล่าวหาของคณะกรรมการเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานในพื้นที่ห่างไกล)การลงมือครั้งนี้ดูเผินๆ ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว แต่สมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวออกมายอมรับว่า สิ่งที่ยังขาดไปจากการเจรจาต่อรองครั้งนี้คือการให้บริษัทชดเชยเยียวยาผู้บริโภคในรูปแบบของการคืนเงินหรือให้ส่วนลดนั่นเอง ขยะใคร ขยะมันขณะนี้ชายแดนตอนใต้ของเยอรมนีกับสวิตเซอร์แลนด์กำลังมีเหตุ “ขยะข้ามแดน” ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของสวิตเซอร์แลนด์สูงมากจนคุ้มกับการขับรถนำมาทิ้งในเขตประเทศเยอรมนี ที่มีการกำจัดบางชนิดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ป้ายข้างถนนที่บอกชัดเจนว่า “การนำขยะบ้านจากสวิตเซอร์แลนด์ไปทิ้งต่างประเทศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย” เหมือนจะไม่ช่วยอะไร(ความจริงแล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือขยะอินทรีย์ก็นำมาทิ้งไม่ได้เช่นกัน)บทลงโทษก็ชัดเจนว่า ถ้าถูกจับได้ คนที่เอาไปทิ้งต้องกลับไปเอากลับมาเองด้วยสวิตเซอร์แลนด์เข้มงวดเรื่องการทิ้งขยะมาก เช่น กล่องหรือลังกระดาษต้องพับและผูกเชือกให้แน่นไม่เช่นนั้นรถขยะจะไม่เก็บและคนทิ้งจะโดนปรับ รายที่เป็นข่าวโดนไป 270 ฟรัง(ประมาณ 8,600 บาท) คุ้มครองสองเท่าดีอะไรเบอร์นี้ หน่วยงานที่ดูแลการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ได้ขยายอำนาจหน้าที่มาทำงานข้อมูลเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เป็นการเสริมทัพให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่เดิมงานสำคัญหลังจากเปลี่ยนชื่อจาก the Competition Commission of Singapore เป็น the Competition and Consumer Commission of Singapore เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมาคือการศึกษาบริการต่างๆ ของเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม เพราะคนสิงคโปร์นิยมใช้กันมากอีกเรื่องคือการศึกษาร่วมกับคณะกรรมการที่ดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันทางการค้า และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยจะเน้นเรื่องของการส่งต่อข้อมูล ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นหากจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนผู้ให้บริการได้โดยไม่ยุ่งยากและใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมธุรกิจผ่านการเพิ่มทางเลือกและการคุ้มครองผู้บริโภคจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รถจักรยานยนต์รับจ้างกับการคิดค่าบริการ

ท่ามกลางวิกฤติจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องการเร่งรีบในการเดินทาง  การเลือกหารถโดยสารซักคันเพื่อเดินทาง จึงกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก รถจักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางออกของคนเมืองที่ต้องใช้งานกันแทบทุกวัน แต่ทางเลือกนี้กลับพบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะโก่งราคาค่าโดยสาร ขับรถเร็วหวาดเสียว เรียกแล้วไม่ไป หรือไปแต่ส่งไม่ถึงจุดหมาย บางครั้งปริมาณรถมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนใช้ ที่แย่ไปกว่านั้น แม้บางคนเลือกที่จะเดินไปต่อแถวขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างที่วินรถแท้ๆ แต่กลับได้รถคันที่ขึ้นเป็นรถป้ายขาว หรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการแทน แน่นอนว่าในใจคงไม่อยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ารถคันที่ขึ้นเป็นใครมาจากไหน แต่ด้วยความจำเป็น ทำให้ต้องขึ้นเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แม้ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกจะออกมาตรการควบคุมราคาค่าโดยสาร กำหนดให้ระยะทาง 2 กม.แรก จัดเก็บอัตราค่าโดยสารได้ไม่เกิน 25 บาท กม.ที่ 2 – 5 ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท และหากระยะทางมากกว่า 15 กม.ขึ้นไป ให้สามารถเลือกการตกลงราคากันเอง หรือให้คิดค่าโดยสาร กม.ละไม่เกิน 10 บาท โดยย้ำทุกวินต้องทำป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารแสดงให้เห็นชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติมักพบว่า มีการเรียกเก็บค่าโดยสารที่สูงกว่าความเป็นจริง และยังมีวินเถื่อนรถเถื่อนแอบให้บริการอยู่ทั่วไปจากข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก ในกลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีรถจักยานยนต์สาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศมากถึง 194,393 คัน แต่ในความเป็นจริงนอกจากกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนถูกต้องแล้ว ยังมีกลุ่มรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอยู่อีกเช่นกัน เพราะรถที่นำมาวิ่งให้บริการส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นรถป้ายเหลืองหรือขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะ  ทั้งนี้ตามกฎหมายรถจักรยานยนต์ที่นำมารับส่งผู้โดยสารได้ ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลืองเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัว ที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสะสมมาถึงจุดหนึ่ง และมีผู้เข้าร่วมวงใหม่อย่าง GrabBike ที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถผ่านแอปพลิเคชัน ที่สะดวก รวดเร็วและมารับถึงที่ แถมราคาถูกกว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิม ปรากฏขึ้น จึงเป็นที่ถูกใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ แม้จะเป็นบริการผิดกฎหมายไทยก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า การให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ซ้ำยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร, มาตรา 5 (15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่เมื่อ GrabBike ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า เราจึงเห็นภาพความขัดแย้งผ่านสื่อทั้งหลาย ระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับ GrabBike  อยู่บ่อยๆ จึงกลายเป็นคำถามว่า การที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการที่บอกว่า ผิดกฎหมายนั้น ยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมีสิทธิหรือไม่ แล้วจะมีทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะได้มีการคิดทบทวนกันว่า เหตุใดการให้บริการที่ถูกกฎหมายอย่างรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ควบคุมโดยรัฐ จึงมีคุณภาพบริการที่แย่กว่าบริการเอกชนที่รัฐบอกว่าผิดกฎหมาย ทางออกจะนำไปสู่การพัฒนาระบบรถรับจ้างให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ขณะเดียวกันหากจะยอมรับผู้ประกอบธุรกิจในมิติใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ก็ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าถูกหรือผิด หากผิดแล้วยังฝ่าฝืนก็ต้องมีบทลงโทษที่ควบคุมจัดการได้ มิเช่นนั้นปัญหาการทะเลาะวิวาทแบบนี้ก็จะยังคงมีอยู่ ด้วยต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิและประโยชน์ที่มี ท่ามกลางความขัดแย้งที่นำไปสู่การปะทะกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้บริโภคที่ยังคงเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับความเสี่ยงกับระบบขนส่งสาธารณะแบบนี้ต่อไปเหมือนเดิม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 แปะก๊วย ไม่ได้ช่วยได้ทุกเรื่อง

ผมได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรร้านยาว่า ระยะหลังๆ มีคนมาซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดชนิดเม็ด กล่องละ 30 เม็ด ราคาประมาณ 230 - 260 บาท ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ระยะหลังๆ พบว่ามีผู้บริโภคมาซื้อกันเยอะขึ้นเรื่อยๆ  บางรายมาซื้อทีละ 10 กล่อง จากการสอบถามผู้ซื้อจึงได้ข้อมูลว่า หลายรายซื้อไปกินรักษาโรคต่างๆ เพราะฟังโฆษณาทางวิทยุว่ากินแล้วดี น้องเภสัชกรพยายามอธิบายว่าผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น ไม่ใช่ยารักษาโรค ผู้ซื้อก็ไม่ยอมเชื่อ แปะก๊วยสกัดที่ได้รับอนุญาต มี เลข อย.คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ที่ไม่สามารถรักษาโรคได้” ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแป๊ะก๊วยสกัด จึงไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ตามที่หลายคนเข้าใจไปผิดๆ  ซึ่งข้อมูลการศึกษาในคนพบว่า แปะก๊วยมีผลอาการโรคความจำเสื่อมได้เพียงเล็กน้อย และไม่มีผลป้องกันโรคความจำเสื่อมผมประสาน อสม.ในชุมชนให้ลองสอบถามคนในชุมชนว่า ใครรับประทานผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดชนิดนี้บ้างหรือเปล่า พบข้อมูลว่า มีผู้บริโภคในชุมชนหลายรายซื้อเพราะเห็นในสื่อโซเชียล บอกว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีสรรพคุณมากมาย บางคนบอกว่าได้ยินโฆษณาในรายการเพลงทางวิทยุ ซึ่งจัดโดยนักจัดรายการท่านหนึ่ง มีการให้ข้อมูลจากบุคคลที่บอกว่าเป็นแพทย์ อ้างถึงประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยเพิ่มความทรงจำในผู้สูงอายุ ที่มีอาการความจำเสื่อมจากสมองขาดเลือด ที่มีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป  ช่วยบำรุงสายตา สายตาที่มองไม่ชัด ตาพร่ามัว จากอาการเบาหวาน ช่วยลดอาการเสียงในหู การทรงตัวไม่ดี จากความผิดปกติของการควบคุมจากสมอง ช่วยลดอาการขาดเลือดของเนื้อเยื่อในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเส้นเลือดอุดตัน เช่น อาการปวดขาเป็นครั้งคราว ช่วยในอาการสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ และบรรเทาอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เนื่องจากเลี้ยงไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง ฯลฯ โดยในโฆษณาแนะนำให้กินผลิตภัณฑ์ใบแปะก๊วยสกัดชนิดนี้เป็นประจำ สุดท้ายก็เลยซื้อมากิน บางคนมีโรคประจำตัว เวลาไปหาหมอก็ไม่กล้าบอกว่าแอบกินแปะก๊วยสกัดชนิดนี้ เพราะกลัวว่าหมอจะว่าแม้แป๊ะก๊วยจะเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้มานาน โดยชงเป็นชาดื่ม ปัจจุบันยังมีการผลิตเป็นทั้งยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  โดยความแตกต่างคือ ถ้าเป็นยาจะมีปริมาณสารสำคัญค่อนข้างสูง กว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้แจ้งสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย) แปะก๊วยสกัดที่ได้รับอนุญาต มี เลข อย.คือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ที่ไม่สามารถรักษาโรคได้” ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแป๊ะก๊วยสกัด จึงไม่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ตามที่หลายคนเข้าใจไปผิดๆ  ซึ่งข้อมูลการศึกษาในคนพบว่า แปะก๊วยมีผลอาการโรคความจำเสื่อมได้เพียงเล็กน้อย และไม่มีผลป้องกันโรคความจำเสื่อมยุคปัจจุบัน สื่อโฆษณามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคสูง ดังนั้นแม้ว่าการนำรับประทานผลิตภัณฑ์ใบแป๊ะก๊วยสกัดอาจจะไม่ก่อให้เกิดโทษ(ยกเว้นคนที่อาจจะมีปัญหาแพ้แปะก๊วย) แต่การที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินมากมายไปซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากิน โดยหวังผลในการรักษาโรค จึงเป็นการเสียเงินที่อาจไม่คุ้มค่า  ท่องไว้ในใจกันลืมนะครับ “แปะก๊วยไม่ได้ช่วยได้ทุกเรื่อง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เช่าบ้าน แต่ไม่จ่าย ผู้ให้เช่าปิดห้องเลยได้ไหม

สวัสดีครับฉบับนี้ ผมขอเขียนถึงเรื่องสัญญาเช่า เพราะตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป หากทุกท่านติดตามข่าวกันจะทราบว่า สคบ. ได้ออกประกาศฉบับหนึ่ง เพื่อคุมธุรกิจเช่าอาคารเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีประโยชน์กับผู้บริโภคหลายประการ ทั้งเรื่องเงินประกันค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าได้ไม่เกินหนึ่งเดือน ผู้เช่าเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าได้โดยทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า 30 วัน  ค่าน้ำค่าไฟที่ต้องคิดตามจริง  ทำสัญญาเช่าแล้วต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้เช่า ห้ามคิดค่าต่อสัญญา เมื่อเลิกสัญญาหรือสัญญาเช่าสิ้นสุด เงินประกันต้องคืนภายใน 7 วัน เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังมีอีกเรื่องที่ประกาศดังกล่าวได้คุ้มครองผู้เช่า เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไปปิดกั้นการใช้ห้องเช่า หรืออาคาร ซึ่งเมื่อย้อนไปก่อนมีกฎหมายนี้ เคยมีเรื่องที่ทะเลาะกันจนขึ้นศาลฏีกา และศาลเคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบ้านไม่ชำระค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเช่า ผู้ให้เช่าไปล็อกกุญแจไม่ให้ผู้เช่าเข้าบ้าน หรือบางทีก็งัดบ้านแล้วทำการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไป โดยผู้ให้เช่าไม่ทราบ เช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 “การที่เจ้าของบ้านใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูบ้านเช่า ที่ผู้เช่าได้ครอบครองอยู่ และโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่า ทำให้ผู้เช่าเข้าบ้านไม่ได้ ถือว่าการกระทำของเจ้าของบ้านเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า อันเป็นการรบกวนการครอบครองบ้านของผู้เช่า เจ้าของบ้านจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี”ดังนั้น กรณีผู้เช่าผิดนัดค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงไม่มีสิทธิไปปิดกั้น ล็อกกุญแจ หรือไปขนย้ายทรัพย์สินผู้เช่า แต่ต้องไปใช้สิทธิทางศาล บอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ ซึ่งจากฏีกาข้างต้น เห็นได้ว่าเป็นการบุกรุกเพราะอยู่ระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีผลใช้บังคับ ผู้เช่าจึงมีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าอยู่  แต่หากเป็นกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ศาลฏีกา ก็ได้ตัดสินไว้เช่นกันว่า ต้องไปใช้สิทธิทางศาล เพราะถึงแม้จะมีการตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าโดยชัดแจ้งว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่า และขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปด้วยตนเอง ทำให้ผู้เช่าได้รับความเสียหาย การกระทำของผู้ให้เช่า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เช่า คำพิพากษาฎีกาที่ 3379/2560 เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าเข้าปิดร้านขับไล่โจทก์ผู้เช่าแล้วเอาคืนการครอบครองพื้นที่ และขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินออกจากพื้นที่ที่โจทก์เช่าและนำออกขายได้ราคาต่ำ นับแต่สิ้นสุดสัญญาเช่าและระยะเวลาที่ผ่อนผันให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไป โจทก์ไม่ยินยอมออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินไป ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าแล้วแต่ต้น ดังนี้แม้ตามข้อสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะให้สิทธิจำเลยที่หนึ่งกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปได้ก็ตาม แต่การบังคับแก่บุคคลโดยการขับไล่หรือขนย้ายออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อมีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยที่ 1 ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลและดำเนินการบังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ดำเนินการแต่กลับไปเข้าครอบครองพื้นที่เช่า หรือกระทำในสิ่งที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าเข้าขอคืนพื้นที่ และเวลาต่อมายังได้ไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปโดยตนเองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ตัดกระแสไฟฟ้าโจทก์ก็นำแบตเตอรี่มาใช้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างและใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าและได้ซื้อน้ำแข็งมาให้ความเย็นเพื่อรักษาสินค้า การกระทำของฝ่ายโจทก์แสดงออกถึงความดื้อดึงที่คิดแต่จะอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไป ไม่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนได้ทำไว้และไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตลอดถึงความเดือดร้อนของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นการละเมิด แต่ถึงอย่างไรการกระทำก็ยังพออาศัยอ้างอิงไปตามข้อสัญญาจากเบาไปหาหนัก ซึ่งสำหรับสินค้าและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายไปเก็บรักษาไว้ ในเวลาต่อมานั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ และสำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ปรากฏว่าจำเลยที่หนึ่งได้กระทำโดยการขายทอดตลาดมีลักษณะเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้น อย่างไรจำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 442 โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม  ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับนอกจากคำพิพากษาข้างต้นจะรับรองสิทธิของผู้เช่า และสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแล้ว ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ และสามารถใช้สิทธิร้องเรียน ต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ดำเนินการตรวจสอบสัญญาเช่าดังกล่าวได้ เพราะการใช้ข้อสัญญาที่ขัดต่อประกาศ สคบ. ดังกล่าว มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 Voice Translator แปลภาษาผ่านเสียง

หลังจากแนะนำแอปพลิเคชันแปลภาษาไปพอสมควร ล่าสุดผู้เขียนได้เจอแอปพลิเคชันล่าสุดดูดีมีประโยชน์ จึงขอนำมาแนะนำให้ผู้อ่านได้ทราบกันเจ้าค่ะแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Free Voice Translator ความพิเศษของแอปพลิเคชันนี้คือวิธีการใช้ที่ง่าย โดยภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏภาพธงชาติขึ้นมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนเท่านั้น และนั่นคือสัญลักษณ์ที่แสดงในการเลือกภาษาที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันต้องการแปล  การเลือกภาษาสามารถกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลงที่อยู่ข้างใต้ระหว่างสัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและด้านขวา เมื่อกดไปที่สัญลักษณ์ลูกศรชี้ลง  ภาษาทั้งหมดที่มีอยู่ภายในแอปพลิเคชันจะปรากฏขึ้นโดยมีสัญลักษณ์ธงชาติของภาษานั้นกำกับอยู่ด้วย ซึ่งจะมีภาษาให้เลือกประมาณ 100 ภาษา เมื่อปรากฏภาษาทั้งหมดแล้ว ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านซ้าย ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านซ้ายและกดเลือกภาษาที่ต้องการ  ถ้าต้องการเปลี่ยนภาษาด้านขวา ให้กดเลือกที่สัญลักษณ์ธงชาติด้านขวาและกดเลือกภาษาที่ต้องการเช่นกัน โดยการแปลภาษาในแอปพลิเคชันนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเลือกภาษาใดก่อนหรือหลัง เพราะสามารถแปลสลับไปมาระหว่างภาษาที่เลือกด้านซ้ายและด้านขวาได้แอปพลิเคชันนี้จะมีสัญลักษณ์วิธีการป้อนคำหรือประโยคอยู่ 2 วิธี ได้แก่ สัญลักษณ์รูปไมค์และสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์ สัญลักษณ์รูปไมค์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง ส่วนสัญลักษณ์รูปแป้นพิมพ์หมายถึงวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการพิมพ์ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งวิธีการเลือกนั้นให้เลื่อนซ้ายและขวาแต่ขอแนะนำวิธีที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก นั่นคือวิธีการป้อนคำหรือประโยคโดยการใช้เสียงพูดผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง เพียงแค่พูดเป็นประโยคภาษาไทย จากนั้นแอปพลิเคชันจะแปลภาษาที่ต้องการให้ โดยจะปรากฏเป็นคำหรือประโยคที่ป้อนเข้าไปและที่แปลออกมาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชันยังสามารถกดสัญลักษณ์เสียงหลังประโยคที่ปรากฎนั้น เพื่อให้สมาร์ทโฟนออกเสียงและสามารถยื่นสมาร์ทโฟนให้เจ้าของภาษานั้นฟังได้ทันที บริเวณมุมบนซ้ายของแอปพลิเคชันจะมีสัญลักษณ์สำหรับการตั้งค่าการใช้ของแอปพลิเคชันนี้ไว้ ซึ่งจะมีปุ่มปรับเปลี่ยนความเร็วของการออกเสียงภาษาว่าจะมีความเร็วมากน้อยแค่ไหน การเลือกเสียงที่ออกเสียงว่าจะเป็นเสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย และการลบประวัติการแปลภาษาภายในแอปพลิเคชัน แค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ ก็ไม่ต้องกลัวการพบปะคนต่างชาติและไม่ต้องเดินหลงทาง(อีกแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษาอื่นๆ ก็สามารถรับมือได้แน่นอน  เท่านี้จะให้เดินทางไปไหนก็พร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางเลยเจ้าค่ะ แถมเป็นการฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วยนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 รู้เท่าทันยาลดไขมัน

มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาลดไขมันโดยเฉพาะกลุ่มยาสแตตินว่า จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา ซึ่งมีอันตรายกว่าไขมันในเลือดสูง ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ สมองเสื่อม มะเร็ง เป็นต้น  ความวิตกกังวลเหล่านี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เป็นมากแค่ใด เรามารู้เท่าทันกันเถอะยาลดไขมันคืออะไรยาลดไขมันที่รู้จักกันในชื่อ สแตติน (statins) นั้นคือ Hydroxymethyl glutaryl coenzyme A reductase (HMG-CoA) inhibitors เป็นกลุ่มยาลดไขมันที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกมานานกว่า 20 ปี ในท้องตลาดมียาสแตติน 6 ชนิดได้แก่ pitavastatin, atorvastatin, rosuvastatin, pravastatin, simvastatin และ fluvastatin  ยา pitavastatin เป็นยาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยเอเชีย  มีหลักฐานชัดเจนว่า การรักษาด้วยยาสแตตินมีผลในการลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีหลักฐานชัดเจนว่า การรักษาด้วยยาสแตตินมีผลในการลดการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดยาสแตตินจะยับยั้ง HMG-CoA ซึ่งไปลดการสร้างโคเลสเตอรอลในร่างกาย ยาสแตตินจะช่วยในการลดระดับของไขมัน LDL-C (low density lipoprotein cholesterol) ในเลือด ร้อยละ 20-50 และลดไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 10-20  และช่วยเพิ่ม HDL-C (high density lipoprotein cholesterol) ร้อยละ 5-10 ผู้อ่านคงทราบกันดีว่า ไขมัน LDL และ ไตรกลีเซอไรด์นั้นเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ส่วนไขมัน  HDL นั้นเป็นไขมันที่ดี ช่วยป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีนั้นเกิดผลเสียต่อร่างกายข้อดีของการใช้ยาสแตตินมีหลักฐานบ่งชี้ว่า การรักษาด้วยยาสแตตินนั้นมีผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือด ในบทความทบทวนของคอเครน ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ. 2013 จากการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม 18 การทดลอง จากผู้เข้าร่วมการวิจัย 56,934 ราย พบว่า การรักษาด้วยสแตตินลดการตายลงจากทุกสาเหตุ ลดอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ทำให้เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต และลดอุบัติการของโรคหลอดเลือดในสมองที่ทำให้เสียชีวิตและไม่เสียชีวิตนอกจากนี้ The Cholesterol Treatment Trialists’ (CTT) Collaboration in 2010 ได้ทำการวิเคราะห์อภิมาณ (meta-analysis) การทดลอง 26 รายงาน มีผู้เข้าร่วมการวิจัยกว่า 170,000 ราย ระยะเวลาการศึกษาเฉลี่ยเกือบ 5 ปี ก็พบว่า มีการลดลงโดยรวมของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุร้อยละ 10 ต่อการลดลงของ LDL-C ทุก 1.0 mmol/L รวมทั้งการลดลงของอาการผิดปกติของหลอดเลือดสำคัญอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ หัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดในสมองตีบ  ด้วยหลักฐานดังกล่าว ทำให้สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมหัวใจวิทยาแห่งสหภาพยุโรปได้กำหนดให้การรักษาด้วยสแตตินเป็นแนวทางมาตรฐานในการรักษาผลข้างเคียงของยาลดไขมันยาลดไขมันมีผลข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อ อาการปวดกล้ามเนื้อเป็นอาการที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 9.4 ของผู้ใช้ยา ยาลดไขมันอาจทำให้เอนไซม์ของตับสูงขึ้น ร้อยละ 1-3 ของผู้ป่วย แต่จะพบในช่วงสามเดือนแรกเท่านั้น และไม่มีผลต่อการทำงานของตับในระยะยาวยาลดไขมันอาจมีผลต่อการเป็นเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณของยาที่ใช้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานจะได้รับประโยชน์จากยาสแตตินในการป้องกันความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดยาลดไขมันไม่มีผลในการทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น และไม่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมในการใช้ระยะยาว แต่กลับพบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์โดยสรุป ยาลดไขมันมีประโยชน์ ป้องกันการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจมีผลข้างเคียงบ้าง แต่โทษที่ไม่สามารถลดไขมันในเลือดได้นั้นจะเป็นอันตรายมากกว่าผลข้างเคียงจากยา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ชั่วโมงต้องมนต์ : อย่าปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปดุจสายน้ำ

“เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งในชีวิตมนุษย์ทุกวันนี้ แต่ดูเหมือนว่า คนยุคใหม่แทบจะไม่สำเหนียกเลยว่า “เวลา” มีคุณค่าเพียงไร และปล่อยให้กาลเวลาไหลผ่านไปไม่แตกต่างอันใดจากสายน้ำ จนกว่าที่คนเราจะสูญสิ้น “เวลา” ไปจากชีวิตนั่นแหละ เราจึงจะรู้ว่า “เวลา” มีค่ากับตนเพียงใด ด้วยโจทย์ง่ายๆ เกี่ยวกับ “เวลา” เช่นนี้ เป็นที่มาของการวางพล็อตหรือโครงเรื่องของละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ผสานแฟนตาซี อย่างเรื่อง “ชั่วโมงต้องมนต์” เหตุแห่ง “ชั่วโมง” ที่ “ต้องมนต์” เกิดขึ้นเมื่อ “มาร์ค” หรือ “ณฤทธิ์” หนุ่มเกย์เซเล็บไฮโซเจ้าของบริษัทปั้นนางแบบนายแบบชื่อดัง “มาร์คเอ็นเตอร์เทนเมนท์” ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต และด้วยความเป็นคนที่เป็นคนบ้างาน อารมณ์เหวี่ยงวีนต่อผู้คนรอบข้างอยู่เนืองนิตย์ และไม่เคยสนใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของใครใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสิ้นลมหายใจลง มาร์คก็ได้กลายเป็นวิญญาณผีเร่ร่อน ที่ไม่อาจหลุดพ้นไปสู่สุคติได้ ในเวลาเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง “บุญสิตา” นางเอกสาวสุดเฉิ่ม แต่จิตใจดีงาม มองโลกสวยแสนซื่อ ก็เผชิญชะตากรรมชีวิตของชนชั้นที่ฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ครอบครัวของเธอมีภาระหนี้สินมากมายเพราะแม่เลี้ยงติดการพนันอย่างหนัก แถมบุญสิตาก็มีเหตุให้ตกงานในคราวเดียวกันอีก ดังนั้น เมื่อผีเกย์หนุ่มไฮโซขี้วีนวนเวียนโคจรมาพบเจอกับหญิงสาวแสนเชย และบุญสิตาก็กลายเป็นมนุษย์เพียงผู้เดียวที่มีสัมผัสที่หก และติดต่อพูดคุยกับวิญญาณผีเร่ร่อนของมาร์คได้ จุดเริ่มต้นของการจัดการเปลาะปมต่างๆ ในชีวิตของผีเกย์หนุ่มกับนางเอกสาวคนสวยจึงออกตัวขึ้นนับแต่นั้น ด้วยความเป็นวิญญาณผีเร่ร่อน และด้วยทรัพยากร “เวลา” ในชีวิตมีอันต้องสิ้นสุดลง มาร์คจึงค่อยๆ ทบทวนและเล็งเห็นว่า มีหลายสิ่งในชีวิตที่ยังค้างคาและไม่ได้รับการสะสางในขณะที่ตนยังมีลมหายใจอยู่ และปรารถนาจะ “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ดังกล่าวอีกครั้ง ปมที่ผูกไว้และยังค้างคาอยู่ในจิตใจของมาร์ค มีตั้งแต่การมองไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่ตนมีกับ “สมบัติ” ผู้เป็นบิดา ซึ่งมาร์คคิดตลอดมาว่าพ่อไม่เคยรักหรือภูมิใจในตัวเขาเลย การมองข้ามความรู้สึกของคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงาน เพราะตนเองเอาแต่มุ่งมั่นทำงาน...งาน...และงานเพียงอย่างเดียว ไปจนถึงการได้ล่วงรู้ความจริงที่ว่า “กันต์” ชายคนที่เขารักเป็นหนักเป็นหนานั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงคนหลอกลวงและวางแผนให้เขารถคว่ำจนเสียชีวิต แต่เนื่องจากภารกิจหรือ “mission” ที่มีแนวโน้มจะ “impossible” มากในครั้งนี้ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้หากว่ามาร์คไม่อาจ “ต่อเวลา” ในชีวิตของเขาออกไป ดังนั้น โครงเรื่องของละครจึงเปิดโอกาสให้วิญญาณของมาร์คถูกดูดเข้าไปในโลกเสมือนคล้ายกับนาฬิกาขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “ห้องเวลาชีวิต” ซึ่งมีตัวละครสมมติเป็นหญิงสาวชื่อว่า “เวลา” คอยทำหน้าที่กำกับควบคุมความเป็นไปในชีวิตของผู้คน รวมทั้งเวลาในชีวิตของผีเกย์หนุ่มด้วย  และเพราะวิญญาณของมาร์คสามารถสิงร่างของบุญสิตาได้ เวลาจึงต่อชะตาอนุญาตให้เขาสามารถอยู่บนโลกได้อีกร้อยวัน เพื่อใช้ห้วงเวลาครั้งสุดท้ายไปจัดการสิ่งที่เขาคิดว่ามีค่าและค้างคาอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่า เขาสามารถสิงร่างของบุญสิตาได้วันละไม่เกิน 1 ครั้ง และครั้งละไม่เกิน 4 ชั่วโมง  จากที่เคยคิดว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มนุษย์เรามีอยู่อย่างไม่สิ้นไม่สุด เมื่อต้องมาอยู่ในบริบทที่เวลากลายเป็นทรัพยากรมีจำกัด มีเงื่อนไขการใช้ และตนเองไม่อาจควบคุมเวลาได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ มาร์คก็ได้หวนทบทวนว่า การปล่อยให้กาลเวลาผ่านไปเหมือนสายน้ำ หรือใช้ห้วงเวลาในชีวิตไปทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นภาพลวงตามากกว่าของจริงนั้น เป็นประหนึ่งการพร่าผลาญให้เวลาชีวิตหมดคุณค่าลงไป  ด้วยเหตุฉะนี้ มาร์คจึงใช้ห้วงเวลาที่มีอยู่จำกัดและน้อยนิดแบบนี้จัดการกับปัญหาต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ความพยายามต่อสายสัมพันธ์และปรับความเข้าใจกับบิดา ซึ่งท้ายสุดคุณสมบัติเองก็เรียนรู้เช่นกันว่า การเรียกร้องให้บุตรชายเป็นแบบที่เขาคาดหวัง ทั้งในแง่หน้าที่การงานและในแง่การดำเนินชีวิตไปตามเพศสภาพที่สังคมกำหนดนั้น หาได้มีคุณค่าอันใดไม่เมื่อเทียบกับลมหายใจในชีวิตของมาร์คบุตรชายตน จากนั้น มาร์คก็บริหารเวลาของเขาเพื่อให้บทเรียนกับคนรอบข้าง ทั้ง “ศรัณย์” “จัสติน” “เจนนี่” “ดนุดล” และบรรดาผองเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานของเขาว่า แม้มนุษย์เราจะรักการทำงาน หรือรักที่จะสร้างสรรค์งานการเป็นชิ้นเป็นอัน แต่จริงๆ แล้ว มนุษย์เราก็ต้องจัดสรรห้วงเวลาบางช่วงเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนและคนรอบข้างควบคู่กับการทำงานรับใช้ระบบเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญ กับชีวิตของหนุ่มไฮโซผู้เติบโตมาบนกองเงินกองทอง มาร์คเองไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า บนโลกใบนี้ยังมีชีวิตของคนกลุ่มอื่นที่ฐานะต่ำต้อยกว่า อย่างกรณีของบุญสิตาซึ่งก็มีปัญหารุมล้อมในช่วงเวลาชีวิตหลายอย่าง ไม่แตกต่างจากคนที่ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” อย่างเขาเลย แม้บุญสิตาจะมีฐานะทางเศรษฐกิจน้อยกว่ามาร์ค แต่คุณงามความดีในจิตใจของเธอก็ทำให้มาร์คพบว่า การตัดสินคุณค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ฐานะการเงินหรอก แต่เป็นเรื่องนิสัยใจคอต่างหาก ซึ่งในท้ายที่สุด มาร์คก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุญสิตากับ “พุฒิเมธ” น้องชายของตนลงเอยสมหวังในความรัก เพื่อตอบแทนคุณความดีที่เธอยอมให้เขาสิงร่างและทำให้ “mission” ของเขาเป็นไปได้นั่นเอง กล่าวกันว่า ในปัจจุบันระบอบทุนนิยมประสบความสำเร็จยิ่งที่พรากเวลาไปจากชีวิตของคนเรา หรืออีกนัยหนึ่ง สังคมทุนนิยมมีอำนาจดึงห้วงเวลาของเราให้ไปอยู่กับการทำงาน...งาน...และงาน เพียงเพื่อรับใช้และต่อลมหายใจให้กับสายพานของระบอบดังกล่าวออกไป คล้ายๆ กับบรรดาชีวิตของมนุษย์งานแบบมาร์คที่ทำงานโดยเพิกเฉยต่อสายสัมพันธ์และโลกรอบตัว จนกว่ามาร์คและรวมทั้งมนุษย์ในระบอบอย่างเราๆ จะสูญเสียเวลาชีวิตของตนไป หรือต้องเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขที่เวลาชีวิตมีจำกัด และเราไม่อาจจัดการต่อรองกับเงื่อนไขดังกล่าวได้เลย เมื่อนั้นตัวละครและผู้คนทั้งหลายจึงจะตระหนักว่า เวลามีคุณค่าและความหมายต่อชีวิตเราอย่างไร  คงคล้ายๆ กับประโยคที่บิดาของมาร์คกล่าวเตือนสติกับ “ธีมา” เพื่อนที่บ้างานของเขาว่า “ชีวิตของคนเรามีช่วงเวลาอยู่สามช่วงคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่ปัญหาก็คือ เราจะได้ใช้เวลาในชีวิตทั้งสามช่วงนั้นหรือเปล่า” นั่นก็เป็นเพราะว่า “ชั่วโมงต้องมนต์” แบบที่ผีเกย์ไฮโซอย่างมาร์คได้รับนั้น อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ “ต้องมนต์” ให้ชีวิตคนเราทุกคนได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 โฆษณามั่วซั่วต้องตอบแทน (ตอนที่ 2)

ดังได้กล่าวในตอนที่แล้วประมาณว่า การทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกานั้น ใครใคร่ทำนั้นสามารถทำได้ แต่อย่าโอ้อวดจนน่าเกลียดเพราะมีนักร้อง(เรียน) อาชีพคอยจัดการอยู่ตัวอย่างต่อไปที่ผู้เขียนอ่านพบในอินเทอร์เน็ตคือ เมื่อปี 2009 ซึ่งกระแสความตื่นกลัวของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู(H1N1) กำลังแรง บริษัทขายอาหารเช้าชนิดที่ใช้ธัญพืชเป็นวัตถุดิบยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งตัวสินค้านั้นมีความละม้ายคล้ายข้าวเม่าคั่ว ได้ทำฉลากติดพาดกลางกล่องสินค้าชนิดที่ผลิตจากข้าวโพดว่า สินค้านี้ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของเด็กได้ดี พร้อมการอวดอ้างว่า การกินสินค้าดังกล่าวด้วยปริมาณที่บริษัทแนะนำนั้น ทำให้ผู้บริโภคได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารอาหารถึงร้อยละ 25 ที่ร่างกายต้องการ แต่ทันทีที่ข้อมูลบนฉลากกระทบตานักวิชาการ คำถามถึงที่มาและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ส่งผลถึงที่มาของข้อความดังกล่าวก็ถูกตั้งเป็นประเด็นขึ้น จนสุดท้ายบริษัทก็ฉีกฉลากดังกล่าวทิ้งถังขยะไปในปีเดียวกันนั้นกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ขอคำอธิบายจากบริษัทเดียวกันนั้นว่า การอวดอ้างว่าสินค้าที่ทำจากข้าวสาลีนั้นช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในเรื่อง ความเอาใจใส่(attentiveness) สูงขึ้นร้อยละ 20 นั้น ท่านได้แต่ใดมา ซึ่งทางบริษัทก็ไม่สามารถอธิบายได้ สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจึงได้สั่งการแบบปรานี ประมาณว่า ให้บริษัทถอดโฆษณาดังกล่าวออกพร้อมสำทับว่า คราวหน้าถ้าจะโฆษณาอะไรก็ตามเกี่ยวกับสินค้าว่า มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภคนั้น ขอให้ทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนได้ข้อมูลที่ชัดแจ้ง อย่าได้บังอาจคิดว่าผู้บริโภคนั้นกินฟางเป็นอาหารหลักสืบเนื่องจากการโฆษณาสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อการเพิ่มความสามารถของคนดังกล่าวข้างต้นนั้น ชาวอเมริกันหลายคนที่มีโอกาสได้ดูโฆษณาสินค้าอาหารบางชนิดในประเทศไทย อาจประหลาดใจว่า โฆษณาสินค้าที่อ้างว่าทำให้คนฉลาดนั้นหลุดรอดออกมาสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไร เช่น สินค้าบางชนิดอ้างเองว่า ผู้ที่กินเข้าไปแล้วจะฉลาดขึ้น เสมือนคนที่มะงุมมะงาหราอยู่ในที่มืดมานานแล้วสามารถเปิดไฟสว่างมองเห็นทางออก เช่น สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า ความฉลาดของมนุษย์นั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวคุม โดยหนึ่งนั้นคือ สภาวะโภชนาการ ซึ่งเป็นผลจากการกินอาหาร ซึ่งต้องเป็นอาหารที่ครบหมู่ต่างๆ ที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่สินค้าที่เหมือนได้จากการต้มโครงหมูกระดูกไก่แล้วแต่งสีบรรจุขวดขายอีกตัวอย่างที่ดูเหมือนเป็นปัจจัยที่ห้าของชีวิตสตรีและผู้ที่ข้ามเพศจำต้องหามาใช้บำรุงชีวิตนั้น คือ เครื่องสำอาง ผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์สั้นเรื่องหนึ่งใน YouTube เกี่ยวกับสตรีไทยผู้มีอาชีพเป็นนางแบบภาพเปลือย ซึ่งทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า nude นั้นเป็นอย่างไร มีตอนหนึ่งที่สะกิดใจมากคือ นางแบบนั้นขอทาอายไลเนอร์ก่อนถ่ายภาพทั้งที่วันนั้นเป็นการถ่ายภาพที่มองไม่เห็นส่วนดวงตาของเธอก็ตาม ซึ่งน่าจะแสดงว่าสตรีบางคนในเมืองที่มีแสงสีนั้น ขอบำรุงผิวหน้าสักหน่อยก่อนออกไปไหนๆ เพื่อความมั่นใจในตนเอง เกี่ยวกับเครื่องสำอางโฆษณาเกินจริงนี้ ผู้เขียนขอข้ามจากสหรัฐอเมริกาไปยังสหราชอาณาจักรสักหน่อย เพราะในปี 2009 นั้นผู้ดูแลด้านกฏหมายการโฆษณาของสหราชอาณาจักร(U.K.’s Advertising Standards Authority) ได้สั่งถอดโฆษณาเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นครีมที่ใช้บำรุงผิวหนังบริเวณหลังตา โดยการสั่งห้ามนั้นมาจากสาเหตุที่ในการโฆษณานั้นมีการใช้นางแบบวัยดึกอายุราว 60 ปี คนหนึ่งซึ่งเคยถูกขนานนามว่า สวยแบบผอมกระหร่องที่สุดในโลก (นางเข้าวงการเดินแบบเมื่ออายุ 15 ปีในปี 1966 โดยเป็นต้นกำเนิดของแฟชั่นสไตล์ "Androgyny" ซึ่งเป็นสไตล์กึ่งหญิงกึ่งชาย) มาอวดอ้างว่า ครีมนั้นป้องกันตีนกา(ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า crow’s feet) ได้ สุดท้ายแล้วข่าวในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า หลังจากการพูดจากันระหว่างผู้ดูแลกฎหมายและผู้ประกอบการ  ซึ่งก็ยอมรับแบบเสียไม่ได้ว่า ภาพที่โฆษณานั้นใช้การตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์(retouching) เพื่อกำจัดริ้วรอยของความแก่ตามวัยที่หางตานางแบบนั้นออกไป และสุดท้ายบริษัทก็เปลี่ยนภาพนางแบบจากสาวแก่เป็นสตรีเยาว์วัยแทนปรากฏการณ์เอาเรื่องของผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาเครื่องสำอางในอังกฤษนั้น ยากที่จะเกิดในบางประเทศ เพราะผู้ดูแลกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องสำอางส่วนใหญ่ในประเทศ กำลังพัฒนา มักใช้กระบวนการประมาณว่า(สมน้ำหน้า) ถ้าเครื่องสำอางนั้นใช้ไม่ได้ผลก็ให้โยนลงถังขยะแล้วอย่า(โง่) ไปซื้อมาใช้อีก โดยไม่คำนึงเลยว่า ค่าโง่ของผู้บริโภคนั้นมันต้องเสียเงินไปมากแค่ไหนย้อนกลับไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อดูข่าวเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการที่คนอเมริกัน ถูกหลอกให้กินผลไม้กวนปลอมปนที่ผลิตโดยบริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่หนึ่งของสหรัฐอเมริกา(บริษัทนี้ขึ้นชื่อในการผลิตอาหารที่ทำจากแป้งเมื่อเริ่มต้นตั้งบริษัท จากนั้นก็ขยายไลน์ของผลิตภัณฑ์ออกไปมากมาย พร้อมธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือชามากคือ ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดแผ่นอบกรอบชนิดที่ขายดีในวันฮาโลวีน) ขนมผลไม้กวนม้วนที่คล้ายมะม่วงกวนบ้านเราซึ่งบริษัท(ซึ่งผู้เขียนไม่ขอออกนาม) ผลิตนั้น ได้ใช้ชื่อที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ทำจากผลสตรอว์เบอร์รี ทั้งที่มีส่วนผสมหลักคือ น้ำคั้นจากลูกแพร์เข้มข้น น้ำตาลข้าวโพดเข้มข้น น้ำตาลทราย และอื่น ๆ เช่น เพ็กตินซึ่งทำให้สินค้าเป็นแผ่นเหมือนผลไม้กวน โดยอาจมีสตรอว์เบอร์รีบ้างเป็นบางครั้งแต่ก็ไม่ถึงร้อยละ 2 (ข้อมูลจาก wikipedia)การหลอกพ่อแม่เด็กชาวอเมริกันว่า สินค้านั้นทำจากผลไม้ธรรมชาติแล้วโฆษณาว่า เด็กจะมีสุขภาพดีเพราะได้สารอาหารเหมือนกินผลไม้แท้นั้น กระตุ้นให้ The Center for Science in the Public Interest (CSPI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นั้นเกิดอาการ หัวร้อน จัดการฟ้องร้องบริษัทนี้ในด้านละเมิดสิทธิที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี 2011 จนสุดท้ายมีการตกลงกันนอกศาล(ตามระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา) ว่า ผู้ผลิตต้องเลิกใช้รูปผลไม้บนฉลากสินค้า เลิกอวดอ้างว่าทำจากผลไม้แท้ หรือข้อมูลที่ทำให้ผู้จ่ายเงินซื้อเข้าใจว่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลไม้แท้ สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้กระทำครบแล้วตามศาลสั่งในปี 2014สินค้าอาหารหลายอย่างที่มีลักษณะการผลิตดังที่ผู้เขียนเล่าให้ฟังนี้ ในบ้านเราคงมีขายอยู่บ้าง ตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบและคิดว่าน่าจะเข้าข่ายการหลอกลวงนั้นเกิดในสมัยผู้เขียนยังทำงานสอนหนังสืออยู่คือ เมื่อชงกาแฟ 3 in 1 ยี่ห้อหนึ่งในช่วงเช้าก่อนเวลาทำงาน ปรากฏว่าเกิดกลิ่นหอมออกไปจากห้องทำงานถึงทางเดินส่วนกลางจนมีผู้ตามกลิ่นเข้ามาดูว่า กาแฟอะไรทำไมถึงหอมอย่างนี้ ปรากฏว่าเมื่อดูที่ฉลากบนซองได้พบมีการระบุชัดเจนว่า เติมกลิ่นรสกาแฟสังเคราะห์ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวนี้ผู้เขียนคงได้เคยประสบมาแล้วอีกเช่นกัน เมื่อวันหนึ่งเดินเข้าไปในศูนย์การค้าใหญ่แถวสยามสแควร์เวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้กลิ่นกาแฟหอมฉุยมาจากร้านกาแฟร้านหนึ่ง จึงเดินตามกลิ่นไปดู สิ่งที่พบคือ พนักงานของร้านยังไม่ได้ต้มน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟเลย เพียงแต่เอาสเปรย์กลิ่นกาแฟฉีดเพื่อให้เกิดบรรยากาศเรียกน้ำย่อยเท่านั้น ดังนั้นโดยสรุปแล้ว สินค้าที่ท่านซื้อมาบริโภคในวันนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการได้จริงในบางครั้ง เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลิตเพื่อตบตานั้นได้ก้าวล้ำไปไกลแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >