ยิ่งแชร์ฉลาดซื้อ ยิ่งรับ Point :: แลกของรางวัล

การแชร์เพื่อใช้ point แลกโปรโมชั่นสะสมแต้มได้ทั้ง สมัครชิกฟรี และ สมาชิก VIP  การแชร์ข้อมูลบนเว็บไซต์ไปยัง Facebook ที่ทางเว็บไซต์ได้กำหนดแต้ม (Point)ไว้  จะต้องเป็นสมาชิกเว็บฉลาดซื้อก่อนเพื่อสะสมแต้มเข้าบัญชี  โดยมีกติกาดังนี้• ท่านจะต้องแชร์จากบทความในเว็บฉลาดซื้อไปยัง Facebook  (ไม่ใช่แบบ Copy Link)•  จำนวน Point ที่ท่านจะได้ต่อการแชร์จะแสดงอยู่ตรง ไอคอน Facebook ด้านล่างบทความทางมือถือ หรือ ด้านข้างทางคอมพิวเตอร์• ท่านจะต้องแชร์บทความที่ไม่ใช่มีลักษณะบทความใดบทความหนึ่งซ้ำๆ ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน• การแชร์ของท่านจะต้องเป็นการเปิด สาธารณะ หรือ เพื่อนของท่านเห็น ไม่ใช่การแชร์ที่เห็นเพียงท่านคนเดียว• การแชร์ของท่านจะต้องกระทำโดยบุคคลโดยไม่ใช่เป็นการใช้โปรแกรมบอททางคอมพิวเตอร์ในการแชร์ข้อมูลดังกล่าง• หากทางนิตยสารฉลาดซื้อ ตรวจสอบการแลกโปรโมชั่นไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ทางเราขอสงวนสิทธิ์การแลกโปรโมชั่นของท่าน• ท่านต้อง Login บนเว็บไซต์ฉลาดซื้อก่อนการแชร์ เพื่อสะสมเข้าบัญชีท่าน• สามารถชมของ  "โปรโมชั่น" คลิกที่นี่สมัครสมาชิกฉลาดซื้อ คลิกที่นี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

“คดีส่วนใหญ่ที่เราไปฟ้อง เขาจะจ้างลอว์เฟิร์มมาต่อสู้คดีกับเราเพราะเขามีเงิน  แต่ผู้บริโภคไม่มีเงินมากขนาดที่จะไปจ้างได้ แต่เราก็มีทนายจากศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมาช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้” จากสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคทั่วประเทศ ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ในปี 2560 พบว่า มีเรื่องร้องเรียนสูงถึง 3,615 กรณี ในจำนวนนี้ปัญหาที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ ปัญหาด้าน อาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 885 กรณี สินค้าและบริการทั่วไป 682 กรณี บริการสุขภาพและสาธารณสุข 631 กรณี การเงินการธนาคาร 527 กรณี บริการสาธารณะ 424 กรณี สื่อและโทรคมนาคม 176 กรณี อสังหาริมทรัพย์ 127 กรณี และอื่นๆ 163 กรณี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเกิดขึ้น โดยคุณเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าถึงที่มาว่าทนายความจิตอาสามีความสำคัญในงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร“ปัญหาของผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ์ ในปัจจุบันเป็นเรื่องสลับซับซ้อนและเป็นเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามากขึ้น เช่นการรักษาพยาบาล การซื้อรถยนต์มาใช้ก็มีปัญหาเรื่องรถเสีย ซึ่งต้องมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี หรือต้องใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 ถึงจะช่วยผู้บริโภคได้ เพราะปัญหาผู้บริโภคสมัยนี้ไม่ได้โบราณ แบบ ไปตลาด เช่น ซื้อเนื้อมา 1 กิโล แต่ได้เนื้อมา 9 ขีด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้มันก็ง่าย แต่ปัจจุบันนี้  มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะระบุว่า สินค้าที่ผู้บริโภคมาใช้แล้วมีปัญหานี่ มันเป็นความผิดของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการไหม ตัวอย่างที่เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ปัญหาเรื่องรถยนต์ที่เราซื้อมาใหม่ อยู่ในระยะประกันป้ายแดง ผู้บริโภคคิดว่ามันไม่ปกติ แต่เวลาไปเข้าศูนย์ของผู้ประกอบการเขาบอกว่าปกติ แล้วตกลงมันเป็นอย่างไรกันแน่ แล้วที่ว่าไม่ปกติ ไม่ปกติแค่ไหน จึงถือว่าเป็นความชำรุดบกพร่องที่ตัวผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภค ด้วยการแก้ไขซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ ถ้าหากว่าแก้ไขซ่อมแซมแล้วมันไม่ดีขึ้น เรื่องเหล่านี้ทนายทั่วๆ ไป ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ ก็จะดำเนินคดีไม่ถูกว่าจะเริ่มตรงไหนจากจุดไหน ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีประสบการณ์ทางด้านการฟ้องคดีเกี่ยวกับรถยนต์ มีนักวิชาการให้การสนับสนุน ช่วยตรวจสอบดูว่าเหตุที่มันเกิดเพราะสาเหตุอะไรทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่จะไปโต้แย้งกับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่บอกว่าปกติ ไม่เป็นไร หรือการไปใช้สิทธิทางศาล เพราะว่าการเจรจาไม่เป็นผล ก็จะมีข้อมูลจากนักวิชาการเพียงพอที่ทนายจะใช้ไปประกอบในคำฟ้องของตนได้จึงทำให้เราเกิดศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการรวบรวมทนายที่มีจิตช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยไม่ได้หวังสิ่งอื่น และเป็นทนายความที่มีความรู้หลากหลาย บางคนจบปริญญาโท จบเนติบัณฑิต รับรองว่าทนายของศูนย์ฯ มีทนายที่มีความรู้ความสามารถไม่น้อยหน้ากว่าองค์กรไหนๆ ทั้งสิ้น  คดีส่วนใหญ่ที่เราไปฟ้อง เขาจะจ้างลอว์เฟิร์มมาต่อสู้คดีกับเราเพราะเขามีเงิน  แต่ผู้บริโภคไม่มีเงินมากขนาดที่จะไปจ้างได้ แต่เราก็มีทนายจากศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมาช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้” คุณศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายประจำมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “การเป็นทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มันจะแตกต่างตรงที่ เราจะได้รับรู้ถึงความเป็นผู้บริโภค ว่ามันเป็นอย่างไร  แล้วเวลาที่ผู้บริโภคเดือดร้อนแต่เค้าไม่รู้จะหันไปหาใคร เรามาทำงานส่วนนี้ก็เป็นเพราะใจของเราด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นลูกความ เหมือนเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน ที่เราอยากให้คำแนะนำให้เค้าหลุดพ้นจากปัญหา”สิ่งที่ได้จากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเราจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผู้บริโภคโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าเราทำงานที่อื่น เราจะไม่ได้ในจุดนี้นะคะ ปกติก็จะเป็นคดีทั่วไป แพ่ง อาญา ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับผู้บริโภค  เราก็ต้องปรับใช้  อย่างเช่นคดีทางการแพทย์ ซึ่งเราก็จะได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยการถามหมอเพิ่มเติมเพื่อเอามาทำคดีได้ หรือคดีเกี่ยวกับผู้บริโภคก็จะมีเรื่องเฉพาะ อย่าง เช่น ประกาศ สคบ. อะไรพวกนี้ที่ต้องใช้โดยตรง อย่างเรื่องเครื่องสำอางเพิร์ลลี่ ซึ่งต้องไปดูเรื่องสินค้าไม่ปลอดภัยว่าเป็นอย่างไร ถ้าคุณมาทำงานที่นี่คุณจะไม่ได้แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว คุณจะได้เรื่องความเข้าใจเพราะส่วนหนึ่งเราก็เป็นผู้บริโภค ซึ่งเราสามารถเอาความรู้ไปปรับใช้กับครอบครัวเราได้ ว่าถ้าครอบครัวเราหรือคนรู้จักมีปัญหา เราจะรู้ว่าวิธีเบื้องต้นที่จะแก้ไขปัญาจะมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ต้องฟ้องอย่างเดียว อาจจะทำหนังสือร้องเรียน สอบถามเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองก่อน แต่ถ้าเราทำงานกฎหมายเราก็ยื่นโนติสแล้ว ซึ่งถ้าเรารู้หลักของมันเราอาจจะไม่ถึงฟ้อง เราแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ แล้วเรื่องมันก็จบในคดีผู้บริโภคนั้น อาจไม่ต้องมีทนายความเลยก็ได้ ผู้บริโภคสามารถดำเนินคดีด้วยตนเองได้ แต่การไม่มีทนายให้คำปรึกษา อาจทำให้ในหลายคดี ซึ่งต้องมีการสืบพยาน การที่ผู้บริโภคไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ  จะเกิดความอยากลำบาก เพราะไม่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกฎหมาย เกิดการเสียเปรียบในการดำเนินคดีในชั้นศาล โอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำในคดีก็จะมีมาก โดยทางฝั่งผู้ประกอบธุรกิจ จะมีทนายความประจำอยู่แล้ว การที่ผู้บริโภคมีทนายความในการช่วยเหลือในคดี ทำให้ไม่เป็นการเสียเปรียบในเชิงคดีปัจจุบันจะเห็นว่า ยังมีผู้บริโภคเป็นจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการเชิงป้องกันที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ จึงสมควรที่สนับสนุนให้ผู้บริโภค ได้ความรู้หรือศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องนั้นๆ ก่อนที่ตนเองทำการบริโภคสินค้าหรือบริการ เช่น การได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ครบถ้วนถูกต้อง การให้ผู้บริโภคได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าหรือบริการ เมื่อพบปัญหาขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีความแตกต่างของการเป็นทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคงานทนายความเพื่อผู้บริโภค ได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน เห็นการถูกละเมิดสิทธิ โดยที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ และขาดอำนาจต่อรองในการเข้าทำสัญญา ทำให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ  และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ผู้บริโภคก็ขาดความรู้ ในวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตามขั้นตอน  ทนายความจึงควรมีบทบาทในการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิผู้บริโภคโดยการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือด้านคดีความกับผู้บริโภค  ทำงานกับผู้บริโภค รับรู้ถึงความเป็นผู้บริโภคการเป็นทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มันจะแตกต่างตรงที่ เราจะได้รับรู้ถึงความเป็นผู้บริโภค ว่ามันเป็นอย่างไร  แล้วเวลาที่ผู้บริโภคเดือดร้อนแต่เค้าไม่รู้จะหันไปหาใคร เรามาทำงานส่วนนี้ก็เป็นเพราะใจของเราด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นลูกความ เหมือนเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน ที่เราอยากให้คำแนะนำให้เขาหลุดพ้นจากปัญหาถ้าเป็นลูกความก็จ่ายเงินมา เราทำตามหน้าที่รับเงิน แต่พอมาที่นี่ก็เหมือนได้หลายๆ อย่าง ผู้ร้องกับเราก็เหมือนเกิดความผูกพัน ไปไหนมาไหนก็คิดถึงเราซื้อขนมมาให้ เป็นเหมือนครอบครัว สังคมผู้บริโภค คือเขาเดือดร้อนก็จะนึกถึงมูลนิธิว่ามูลนิธิเป็นที่พึ่ง เขาไปร้องเรียนที่ศาลหรือศูนย์ดำรงธรรม เขาก็จะแนะนำให้มาร้องเรียนที่มูลนิธิ แล้วเวลาเขาร้องเรียนเรื่องกฎหมายก็จะนึกถึงมูลนิธิก่อน เพราะว่าจะเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคดีผู้บริโภคที่สุด รักษาผลประโยชน์ให้เขาได้ เนื่องจากคดีมีความหลากหลาย อยากได้คนที่มีความรู้ที่หลากหลายสาขาอาชีพมาช่วย เช่น ปัญหาเรื่องการเงินการธนาคารมาช่วยเรื่องการคิดคำนวณเรื่องดอกเบี้ย ด้านวิศวกรรม เรื่องสินค้าชำรุดบกพร่องอย่างเช่น เรื่องรถยนต์ เป็นต้น มีพี่คนหนึ่งเขาจบพยาบาลมา ก็รับคดีเกี่ยวกับการแพทย์ไป เพราะอ่านเวชระเบียนได้ ในส่วนของใครที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยนั้นอย่างตัวเองทำงานมา 2 ปีกว่าๆ เราทำงานด้วยใจและทำตามหน้าที่ โดยนำข้อเท็จจริงมาปรับใช้ในการทำงาน กฎหมายบ้านเมืองก็มีอยู่แล้ว คุณมาทำงานที่นี่ไม่ต้องกลัวเรื่องการถูกคุกคาม เพราะเราทำมาสองปีกว่า เราก็มีความปลอดภัยและมีความสุขกับการทำงานดีค่ะ ปัจจุบันทีมทนายความจิตอาสา ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีประมาณมากกว่า 20 ท่าน โดยมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายกันไปค่ะ”ทนายความสวิทย์ จันทร์ต๊ะคาด“ทนายความอาสาเป็นเรื่องจำเป็นเพราะว่า อาชีพทนายเป็นอาชีพอิสระ และหาคนที่มีจิตอาสาหรือจิตที่เป็นบุญกุศลมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยาก และทนายอาสาควรที่จะมีความรู้ความสามารถ ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนได้ด้วย”เหตุที่สนใจงานด้านจิตอาสาพอดีเห็นจากประกาศของมูลนิธิประกาศรับสมัครทนายความที่มีจิตอาสามาร่วมองค์กร เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ผมคิดว่าตนเองพอจะมีความรู้ความสามารถ และมีจิตอาสาที่อยากช่วยประชาชน ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่าหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายควบคุมอยู่ในมือไม่สามารถใช้กฎหมายนั้นบังคับได้จริง ต้องให้ประชาชนใช้สิทธิทางศาลเอง ถึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย กฎหมายไทยมองว่าจะต้องพัฒนาอีกไกลเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ ทนายความอาสาเป็นเรื่องจำเป็นเพราะว่า อาชีพทนายเป็นอาชีพอิสระ และหาคนที่มีจิตอาสาหรือจิตที่เป็นบุญกุศลมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยาก และทนายอาสาควรที่จะมีความรู้ความสามารถ ที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนได้ด้วยความคาดหวังเมื่อเข้ามาเป็นทนายอาสาปกติจะมีส่วนกลางใช่ไหมครับ ส่วนภูมิภาคใช่ไหมครับ ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัย สามารถขอคำปรึกษากับเครือข่ายที่อยู่ตามภูมิภาคได้ เพื่อที่จะได้ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางมาส่วนกลางเราจะช่วยดำเนินการด้านคดีอย่างไร ต้องดูว่าสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมีอะไรบ้าง และเราจะขอให้ศาลคุ้มครองสิทธิอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดตามกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นๆ ยุคนี้คือเทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกล ทำให้มีการผลิตสินค้าและบริการมากมาย ซึ่งก่อนที่เราจะบริโภคสินค้าหรือบริการนั้น ควรมีการตรวจสอบที่มาที่ไป ส่วนประกอบ ผลข้างเคียง ถ้าได้บริโภคหรือใช้สินค้านั้นทนายความวาสนา สายเป้า“ผู้บริโภคเมื่อจะใช้สิทธิอะไรเมื่อตัวเองเสียเปรียบ หรือสินค้าตัวนั้นไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธินั้นกลับมาให้คุ้มกับที่เงินที่จ่ายไปถึงแม้ราคาสินค้าจะเป็นบาทเดียว ห้าบาท สิบบาท แต่ควรให้คุ้มค่าตรงนั้น”ความคิดกับงานคุ้มครองผู้บริโภคงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้บริโภคในเบื้องต้น กรณีการเป็นทนายอาสาเป็นการดูแลเบื้องต้นของผู้บริโภคที่มี คือการรักษาสิทธิของผู้บริโภคเบื้องต้น ซึ่งบ้างครั้งผู้บริโภคไม่ทราบว่าตนเองสามารถเรียกร้องสิทธิ ที่ตัวเองเสียไปจากการใช้บริการสินค้าต่างๆได้ เราจะเป็นตัวแทนให้คำแนะนำ ให้ช่องทางในการเรียกร้องสิทธิ ไม่ว่ากรณีสินค้าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการใช้สินค้าไม่ตรงตามคุณสมบัติของรายการสินค้าที่ควรจะต้องเป็นไปตามที่ผู้บริโภคต้องได้รับ เราจะเป็นตัวแทนที่ให้ทราบสิทธิของผู้บริโภคเบื้องต้น ทำหน้าที่ต่อโดยการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภคต่อไปจะสนับสนุนความรู้เรื่องกฎหมายแก่ผู้บริโภคอย่างไรอันนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภค จริงๆ ผู้บริโภคอาจจะไม่คิดถึงว่าการบริโภคแค่ทานอาหาร ต้องใช้กฎหมายเลยเหรอ ถ้าเราให้ความรู้ผู้บริโภคก็จะสังเกตถึงสิ่งที่ตนเองบริโภคเข้าไปว่า มันถูกต้อง คุ้มราคา คุ้มที่เราจ่ายไปไหม และการบริโภคมันสมกับที่เขาโฆษณาไหม ให้ผู้บริโภคได้สังเกตสินค้ามากขึ้น แล้วก็เป็นการตรวจสอบเบื้องต้น ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อไปด้วยคิดว่าเมื่อเข้ามาอาสา จะช่วยงานคดีทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรชัดเจนอยู่แล้ว มันดีขึ้นอยู่แล้ว เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสิทธิตนเอง เมื่อคุณเสียเงินไปแล้วหรือการใช้บริการไปแล้ว คุณควรได้คุ้มค่ากับการที่ต้องเสียเงินบริโภคสิ่งนั้น เพราะผู้บริโภคเมื่อจะใช้สิทธิอะไรเมื่อตัวเองเสียเปรียบ หรือสินค้าตัวนั้นไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรเรียกร้องสิทธินั้นกลับมาให้คุ้มกับที่เงินที่จ่ายไปถึงแม้ราคาสินค้าจะเป็นบาทเดียว ห้าบาท สิบบาท แต่ควรให้คุ้มค่าตรงนั้น ถ้าผู้บริโภคไม่รักษาสิทธิ ผู้ประกอบการก็จะใช้โอกาสหรือช่องที่ผู้บริโภคไม่ได้สนใจเอาเปรียบไป ถึงแม้ผู้บริโภคจะมีสักล้านนึง คนละบาทคนละบาท อย่างกรณีค่าโทรศัพท์มันก็เหมือนกันนั้นก็คือเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะเรียกร้องกลับมา(มีอะไรฝากถึงมูลนิธิฯ) ฝากให้มูลนิธิดูแลผู้บริโภคต่อไป อยากให้ดูแลไปตลอดเพราะผู้บริโภคไม่มีที่พึ่งตรงไหน ก็มีที่พึ่งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเท่านั้น อยากให้ผู้บริโภคทุกคนมาใช้มูลนิธิทำงาน มูลนิธิยินดีอยากให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดกับสินค้าทุกตัว นั้นคือความสุขของมูลนิธิทนายความจิราภา เต็มเพ็ชร“หากผู้บริโภคมีฐานะยากจนไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ้างทนายความ ทนายความอาสาจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคที่ยากจนให้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น”แนวคิดกับงานคุ้มครองผู้บริโภคผู้บริโภคคือประชาชนทั้งประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐในทุกด้าน รัฐควรเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และหากมีการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคเพื่อเป็นกระบอกเสียงของผู้บริโภคด้วยกันแล้ว รัฐควรเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องนี้ เช่น เรื่องงบประมาณ, การศึกษาวิจัย, การดำเนินคดี ฯลฯงานทนายอาสามีความสำคัญกับงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไรทนายความอาสานั้นมีบทบาทสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาก เพราะใช้ความรู้ด้านกฎหมายช่วยเหลือในการฟ้องร้องและต่อสู้คดีแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้า และหากผู้บริโภคมีฐานะยากจนไม่มีทุนทรัพย์ที่จะจ้างทนายความ ทนายความอาสาจะเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคที่ยากจนให้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้นผู้บริโภคต้องการความช่วยเหลือหรือสนับสนุนความรู้เรื่องกฎหมายอย่างไรผู้บริโภคควรได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุน ในด้านกฎหมายเรื่องที่ว่าควรจะเลือกบริโภคสินค้า อาหาร และผลิตภัณฑ์ อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหากว่าต่อมาผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการบริโภคแล้ว จะมีแนวทางในการดำเนินคดีกับผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการอย่างไรบ้าง คิดว่าเมื่อเข้ามาอาสาช่วยให้คำแนะนำกับผู้บริโภคนั้น จะช่วยงานด้านคดีให้ดีขึ้นด้วยการทำให้ผู้บริโภคที่ยากจนมีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น จากการที่ตนได้รับความเสียหายจากการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ขวดบรรจุน้ำสุญญากาศ

จะเลือกขวดน้ำหรือกระบอกน้ำแบบสุญญากาศอย่างไรดี? น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนอาจจะเคยนึกสงสัย ด้วยว่าขวดหรือกระบอกน้ำประเภทนี้ มันมีหลากหลายราคาๆ แต่ที่แน่ๆ เริ่มต้นด้วยราคาที่แพงเอาเรื่อง และบางยี่ห้อแพงมากจนทำให้เกิดความกลัวว่าซื้อมาแล้วจะใช้คุ้มหรือไม่ เพราะฉะนั้นคราวนี้ นิตยสารฉลาดซื้อและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค จะช่วยคลายข้อสงสัยด้วยผลทดสอบวัดประสิทธิภาพของขวดน้ำชนิดนี้กันแบบตัวต่อตัว เราสุ่มเก็บตัวอย่างขวดน้ำสุญญากาศ ในขนาด 0.35-0.50 ลิตร (350-500 มิลลิลิตร) จำนวน 12 ยี่ห้อ เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อทดสอบใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค1.สัดส่วนการบรรจุต่อน้ำหนักของขวดน้ำสุญญากาศ2.ทดสอบความสามารถในการเก็บรักษาอุณหภูมิ(ร้อน-เย็น)3.การทดสอบ ตกจากที่สูง 1.5 เมตร4.การประเมินความสะดวกในการใช้งาน (ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน)5.สัดส่วนการบรรจุต่อน้ำหนักภาชนะสรุปผลการทดสอบตารางสรุปผลการทดสอบ ข้อสังเกต และคำแนะนำการเลือกซื้อขวดน้ำสุญญากาศ ควรคำนึงถึงลักษณะการใช้งานว่าจะใช้งานที่ไหน ในกรณีที่ใช้งาน Outdoor ควรคำนึงถึงภาชนะที่มีฝาปิดที่พร้อมใช้งานเป็นแก้วใช้รินสำหรับดื่มได้ กรณีที่ใช้งานสำหรับพกพา ขณะออกกำลังกาย ควรคำนึงถึงความสะดวกในการพร้อมดื่ม ควรพิจารณาขวดน้ำที่มีหลอดดูดอัตโนมัติกิตติกรรมประกาศเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องขอขอบพระคุณ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ ใช้เครื่องมือวัดและพื้นที่การทดสอบ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 โซเดียมในเมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโมและเมล็ดฟักทองอบ

เมื่อสี่สิบปีก่อนอาจไม่มีใครทราบว่าเมล็ดทานตะวันอบแห้งนั้นสามารถทานได้ เมล็ดอบแห้งที่นิยมสมัยก่อนนั้นจะเป็นเมล็ดแตงโมหรือที่เรียกว่า เม็ดก๋วยจี๊ มากกว่า เมล็ดฟักทองก็มีบ้าง ต่อมาเมื่อมีการเพาะปลูกต้นทานตะวันมากขึ้น เพราะเป็นพืชที่สร้างรายได้ที่ดี ด้วยสามารถนำทุกส่วนมาทำประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด  โดยเฉพาะการสร้างตลาดเรื่องการบริโภคเมล็ดทานตะวันในลักษณะของอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งน้ำมันสกัด ยอดอ่อนทานตะวัน และเมล็ดอบแห้ง  ปัจจุบันเมล็ดทานตะวันอบแห้ง จึงกลายเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมแซงหน้าเมล็ดแตงโมไปเรียบร้อย  เมล็ดทานตะวันอบแห้ง ตามนิยามของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.739/2548) หมายถึง  ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเมล็ดทานตะวันดิบที่คัดเมล็ดเสียและลีบออกมาต้มในน้ำเกลือแล้วทำให้แห้ง อาจนำมากะเทาะเปลือกแล้วคัดแยกเมล็ดออกจากเปลือก มาตรฐานทั่วไป คือต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ สิ่งสกปรก ขนาดของเมล็ดที่บรรจุในซองหรือบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดใกล้เคียงกันและเป็นเมล็ดสมบูรณ์ เมื่อมองไปบนชั้นวางสินค้าประเภทเมล็ดอบแห้ง เราจะพบเมล็ดทานตะวันอบแห้งหลายยี่ห้อ มีทั้งที่ไม่แกะเปลือกและกะเทาะเปลือกแล้ว ซึ่งฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างเมล็ดทานตะวันอบแห้งมาจำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ และเก็บตัวอย่างเมล็ดแตงโมและเมล็ดฟักทองอีก 7 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 19 ตัวอย่าง ส่งไปทดสอบเพื่อหาสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ ว่า มีหรือไม่ (ผลทดสอบจะนำเสนอในฉบับถัดไป) และเปรียบเทียบฉลากจากทุกผลิตภัณฑ์ โดยเลือกที่โซเดียมเป็นหลัก เพราะของว่างชนิดนี้จะได้รสอร่อยกลมกล่อมต้องมีเกลือเป็นตัวชูรส ซึ่งหากกินเล่นกินเพลินไปก็อาจได้รับโซเดียมเพิ่มขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นก่อนอร่อยเพลินครั้งต่อไป โปรดดูตารางที่ฉลาดซื้อนำเสนอผลการเปรียบเทียบฉลาก ผลิตภัณฑ์เมล็ดอบแห้งที่มีโซเดียมสูง ได้แก่• เมล็ดทานตะวันอบ ตรา ปาป้าฮัท (ไม่แกะเปลือก)  ปริมาณโซเดียม 250 มก./หน่วยบริโภค 25 กรัม (1000 มก./100 กรัม)• เมล็ดทานตะวัน ตรา ซันสแนคดั๊งค์ (กะเทาะเปลือก) ปริมาณโซเดียม 150 มก./หน่วยบริโภค 25 กรัม(600 มก./100 กรัม)• เมล็ดฟักทอง ตราทองการ์เด้น (กะเทาะเปลือก) ปริมาณโซเดียม 190 มก./หน่วยบริโภค 33 กรัม(575.7 มก./100 กรัม) • เมล็ดแตงโม ตรา M16 (ไม่แกะเปลือก) ปริมาณโซเดียม 105 มก./หน่วยบริโภค 20 กรัม(525 มก./100 กรัม)-------------------------------------------------------------------------คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดทานตะวันอบแห้ง ต่อ 100 กรัม• พลังงาน 584 กิโลแคลอรี 29%• คาร์โบไฮเดรต 20 กรัม 15%• โปรตีน 20.78 กรัม 37%• ไขมัน 51.46 กรัม 172%• ใยอาหาร 8.6 กรัม 23%• วิตามินเอ 50 หน่วยสากล 1.6%• วิตามินบี 1 1.480 มิลลิกรัม 123%• วิตามินบี 2 0.355 มิลลิกรัม 27%• วิตามินบี 3 8.335 มิลลิกรัม 52%• วิตามินบี 5 1.130 มิลลิกรัม 22%• วิตามินบี 6 1.345 มิลลิกรัม 103%• วิตามินบี 9 227 ไมโครกรัม 57%• วิตามินซี 1.4 มิลลิกรัม 2%• วิตามินอี 35.17 มิลลิกรัม 234%• ธาตุแคลเซียม 78 มิลลิกรัม 8%• ธาตุเหล็ก 5.25 มิลลิกรัม 63%• ธาตุแมกนีเซียม 325 มิลลิกรัม 81%• ธาตุแมงกานีส 1.950 มิลลิกรัม 85%• ธาตุฟอสฟอรัส 660 มิลลิกรัม 94%• ธาตุโพแทสเซียม 645 มิลลิกรัม 14%• ธาตุโซเดียม 9 มิลลิกรัม 1%• ธาตุสังกะสี 5.00 มิลลิกรัม 45%• ธาตุทองแดง 1.800 มิลลิกรัม 200%• ธาตุซีลีเนียม 53 ไมโครกรัม 96%% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 RDU รู้เรื่องยา กับการสแกน QR code

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายเริ่มมีสัญญาณเตือนของโรคภัยไข้เจ็บตามมา ดังนั้นการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลจึงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่วัยหนุ่มสาวก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน และสิ่งที่ได้ตามมานั่นคือ ถุงยาชนิดต่างๆ ที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องแอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลยาสู่ประชาชนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยา โดยแอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับการสแกน QR code ใบสรุปยาหรือชนิดของยา เพื่ออ่านข้อมูลยา วิธีการใช้ คำเตือน ข้อควรระวังให้กับผู้รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความตั้งใจให้แอปพลิเคชันป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้นการให้ความรู้และข้อมูลยาภายในแอปพลิเคชันจะแบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่ หมวด RDU รู้เรื่องยา หมวดสแกน QR code ของยา หมวดข้อมูลยา หมวดข่าวสารเรื่องยา หมวดสาระยาน่ารู้ หมวดโรงพยาบาลและร้านยาหมวด RDU รู้เรื่องยา และหมวดข่าวสารเรื่องยา เป็นหมวดที่ตั้งใจให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา เรื่องสุขภาพ อาการต่างๆ การเก็บรักษายา การแพ้ยา และเรื่องอื่นๆ ในลักษณะของข้อมูลข่าวสาร บทความต่างๆ  ส่วนหมวดสแกน QR code ของยา จะมีไว้สำหรับการสแกน QR code ยาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหมวดข้อมูลยา เป็นหมวดที่แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับยาแต่ละชนิด โดยจะจัดเรียงตามอักษรภาษาอังกฤษของชื่อยา หรือผู้ใช้สามารถป้อนชื่อยาและค้นหาได้ ต่อมาเป็นหมวดสาระยาน่ารู้ จะเป็นหมวดข้อควรรู้ในการใช้ยาที่จัดเก็บในรูปแบบวิดีโอ  สุดท้ายเป็นหมวดโรงพยาบาลและร้านยา ซึ่งใช้ในการค้นหาโรงพยาบาลและร้านยาบริเวณใกล้เคียงที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันใช้อยู่ หรือค้นหาโรงพยาบาลที่ต้องการ พร้อมทั้งมีแผนที่ในการบอกเส้นทางนอกจากนี้แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ยังสามารถบันทึกข้อมูลของตนเองไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้กับโรงพยาบาลได้อีกด้วย โดยผู้ใช้แอปพลิเคชันเข้าลงทะเบียนและกรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อนามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด เพศ อีเมล เบอร์โทรติดต่อ รวมถึงการตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน เมื่อลงทะเบียนภายในแอปพลิเคชันเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถสแกน QR code เพื่อนำไปบันทึกเป็นข้อมูลการใช้ยา โดยจะปรากฏข้อมูลยาแต่ละชนิดที่ได้รับ วันเวลาที่ได้รับยาจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษา ถ้าผู้ใช้ต้องการรู้รายละเอียดเกี่ยวกับยาชนิดนั้นให้กดเลือกชื่อยาที่ต้องการ แอปพลิเคชันจะนำไปหน้ารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลยา ตั้งแต่ชื่อสามัญของยา รูปแบบของยา การใช้รักษาอาการแบบใด คำแนะนำในการใช้ยา อาการที่อาจเกิดหลังจากรับประทานยา ข้อควรระวังในการใช้ยา ข้อระวังในการใช้ยาร่วมกับยาชนิดอื่น ข้อห้ามใช้ยา และการเก็บรักษายาแต่สิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือการไม่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและไม่ต้องใช้แอปพลิเคชัน RDU รู้เรื่องยา ดังนั้นควรออกกำลังกายสม่ำเสมอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงกันดีกว่านะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ห้างติดฉลากใหม่ทับข้อมูลเดิม

เดี๋ยวนี้ห้างต่างๆ มีการขายผลไม้สดปอกเปลือกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรับประทาน แต่หากเราซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า สินค้านั้นมีบางอย่างผิดปกติ เราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร คุณภูผาซื้อเม็ดบัวต้มสุกจากร้านโกเด้นเพลส มาจำนวน 1 กล่อง เมื่อเปิดกล่องเพื่อจะทานพบว่าเม็ดบัวมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงตรวจสอบฉลากดูพบว่า มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยเปลี่ยนวันที่ผลิตและวันหมดอายุใหม่ จากฉลากเดิมที่หมดอายุไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปติดต่อร้านโกเด้นเพลสสาขาที่ซื้อสินค้าว่า เมื่อวานได้ซื้อเม็ดบัวต้มสุกไป แล้วพบว่าเป็นของเก่าแต่มีการติดฉลากใหม่ทับ เขาจึงต้องการให้ทางร้านคืนเงินเมื่อได้ฟังคุณภูผาทักเช่นนั้น พนักงานหันไปคุยกันว่า “ของที่พลัสไปเมื่อวานลูกค้าบอกว่าเสีย”  ทำให้คุณภูผารู้สึกว่าพนักงานน่าจะทำแบบนี้เป็นประจำหรือไม่ พนักงานอีกคนหนึ่งจึงรับกล่องสินค้าพร้อมหยิบกล่องเม็ดบัวที่เหลือในชั้นวางไปด้วย จากนั้นขอใบเสร็จเพื่อไปยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าในเครื่องคิดเงิน และคืนเงินให้ตามราคาที่ได้ซื้อไป โดยไม่มีการขอโทษหรือรับผิดใดๆ จากพนักงานเลย คุณภูผารู้สึกว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า การกระทำของโกเด้นเพลสเป็นการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ผู้ร้องถ่ายรูปสินค้าและใบเสร็จ นำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ได้ไปแจ้งความตามคำแนะนำ เนื่องจากได้ให้ใบเสร็จและคืนสินค้าให้โกเด้นเพลสแล้วไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ศูนย์พิทักษ์จึงนัดเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทฯ บริษัทฯ ชี้แจงว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และปัจจุบันได้ลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมดเรื่องการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จบรรจุแพ็ค สุดท้ายได้กล่าวขอโทษคุณภูผา ซึ่งไม่ได้ติดใจเอาเรื่องอะไรกับบริษัทอีก เพียงขอให้บริษัทฯ ทำหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องมาตรการในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีระบบตรวจสอบสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้บริโภครายอื่นอีก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็ได้แนะนำให้บริษัทฯ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและบริษัทด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ข้องใจทำไมบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินไม่แจ้งการเลื่อนเที่ยวบิน

ปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร มีบริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เลือกมากมาย หนึ่งในผู้ให้บริการที่นิยมกันในเวลานี้ คือ ทราเวลโลกา(Traveloga) ซึ่งมีผู้ร้องรายหนึ่งปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ควรทำอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า คุณตุลยา ใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินกับ ทราเวลโลกา ทั้งหมด 3 ครั้ง สองครั้งแรกพบปัญหาว่า เมื่อสายการบินต้องเลื่อนเวลาการเดินทาง คุณตุลยาจะไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนจาก ทราเวลโลกา เลย เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอไปตามตารางเวลาบินแต่พบว่า สายการบินประกาศเลื่อนการเดินทาง เมื่อสอบถามกับสายการบินว่าทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้า “สายการบินแจ้งว่า ได้บอกข้อมูลเรื่องเลื่อนการเดินทางกับทราเวลโลกาแล้ว” เหตุดังกล่าวทำให้คุณตุลยาต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินหลายชั่วโมง  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน จองตั๋วเที่ยวบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เวลา 21.40 น. ครั้งนี้อาศัยว่ามีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เลยโทรไปสอบถามกับสายการบินเอง พบว่าเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางเป็น 20.35 น. ซึ่งถ้าไม่สอบถามเองเธอคงต้องพลาดโอกาสขึ้นเครื่องบินแน่ๆ  ทางคุณตุลยาอยากให้ทางทราเวลโลกาปรับปรุงเรื่อง บริการแจ้งเตือนลูกค้า และไม่อยากพลาดอีกเป็นครั้งที่สาม แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ประสานไปที่ ทราเวลโลกา ผ่านทางระบบแชทหน้าเว็บไซต์ พนักงานให้ข้อมูลว่า ทราเวลโลกา มีระบบเรื่องการแจ้งเตือนเมื่อมีการเลื่อนเที่ยวบิน  โดยปกติสายการบินจะแจ้งตรงต่อผู้โดยสารเอง และหากแจ้งผ่านมาทางทราเวลโลกา บริษัทจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านทางอีเมล ทั้งนี้ทราเวลโลกา อยากทราบข้อมูลผู้ร้องเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้คุณตุลยาไม่อยากเปิดเผยข้อมูลกับทราเวลโลกา เพราะเกรงว่า อาจมีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตามคุณตุลยาสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ใครเป็นฝ่ายผิด ผู้โดยสารหรือทราเวลโลกา หากขึ้นเครื่องไม่ทัน เรื่องนี้ต้องดูที่เงื่อนไขการให้บริการของตัวแทน หากบริษัทตัวแทนมีภาระหน้าที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ บริษัทก็เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่แจ้งเตือน สำหรับกรณีทราเวลโลกา ทางบริษัทแจ้งว่า มีระบบแจ้งสองแบบ คือ สายการบินแจ้งเองกับสายการบินแจ้งผ่านทราเวลโลกา  ก็มองได้ว่าทราเวลโลกาเป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกค่าเสียหายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไม่พอใจบริการบริษัทหาคู่ ทำอะไรได้บ้าง

บริการแม่สื่อหรือการหาคู่ดูตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีมาแต่โบราณ เพียงแค่ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โตเช่นปัจจุบัน มีการประมาณการว่า ธุรกิจจัดหาคู่ เฉพาะตลาดเมืองไทยนั้น มูลค่าปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวไปตลอด แต่จะเที่ยวไปค้นหาเองอาจไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  ธุรกิจนี้จึงตอบสนองชีวิตคนเหงาที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้บริการที่น่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ให้ได้มาเจอกัน เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงล้านบาทคุณลัดดาเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจบริการจัดหาคู่  โดยก่อนจะมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เธอได้จ่ายเงิน 40,000 บาทให้แก่บริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเธอตรวจสอบแล้วว่า มีชื่อเสียงพอสมควรตามคำอ้างของพนักงานที่ว่า เคยออกรายการโทรทัศน์และมีการรับรองธุรกิจจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่จ่ายนี้เป็นแพ็กเกจที่จะได้รับคำแนะนำให้ออกเดท(นัดพบ) กับบุคคลที่ทางบริษัทคัดเลือกจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยรับรองว่าจะพยายามหาผู้ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการที่คุณลัดดาได้เคยตอบแบบสอบถามไว้ “ก่อนจะมีเดทแรก บริษัทส่งโปรไฟล์คู่เดทมาให้ดิฉันดู ต้องบอกว่า ไม่ตรงกับความต้องการที่ดิฉันเคยทำสัมภาษณ์ไว้ แต่พนักงานก็พยายามโน้มน้าวว่า ส่วนที่ไม่ตรงกับสเปคของคุณนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิตคู่”เมื่อได้พบกันจริง คุณลัดดาผิดหวังมากกับคู่เดทที่บริษัทเลือกให้ เพราะเขาไม่เพียงไม่ตรงกับคนที่ใช่ เขายังเป็นผู้ชายที่ทำในสิ่งที่เธอเคยให้ข้อมูลไว้กับบริษัทว่า เธอไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เอามากๆ เธอจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดในการเจรจาด้วยตัวเองนั้น เธอได้รับคำตอบว่า บริษัทจะคืนเงินให้ส่วนหนึ่ง แต่เธอไม่ยินยอม บริษัทก็ขอเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทคืนเงินให้ทั้งหมด คุณลัดดาต้องเซ็นยินยอมในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษว่าจะไม่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด เรื่องนี้ทำให้คุณลัดดาเห็นว่า ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าเพราะเหตุนี้เมื่อตอนที่เธอค้นหาข้อมูลในคราวแรก จึงไม่เคยมีเรื่องการร้องเรียนบริษัทนี้ในสื่อใดๆ เลย เธอมองว่าทำให้เธอเสียโอกาสในการพิจารณาเข้าใช้บริการสำหรับเรื่องที่คุณลัดดาขอคำปรึกษามีอยู่ 2 ประเด็น1.สามารถขอรับเงินคืนทั้งหมด โดยไม่เซ็นสัญญาเรื่องห้ามเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่2.สามารถเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะต้องเสียเวลาไปนัดพบกับบุคคลที่ไม่ใช่ตามที่เคยให้ข้อมูลแก่บริษัทไว้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้ผู้ร้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขอตอบคำถามทั้งสองข้อไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น กรณีนี้เป็นการซื้อขายบริการ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา คู่สัญญามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้ กรณีที่บริษัทมีเงื่อนไขว่า จะคืนเงินทั้งหมดหากยินยอมเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล บริษัทสามารถทำได้ และถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษา สามารถนำผลของคดีมาเผยแพร่ได้ เงื่อนไขนี้เป็นอันตกไป ส่วนในเรื่องของค่าเสียหาย ผู้ร้องสามารถเรียกเพิ่มเติมเป็นค่าเสียเวลา ค่าเดินทางได้ตามที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคุณลัดดาฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจใช้บริการธุรกิจจัดหาคู่ ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการที่จะต้องออกไปพบกับคู่เดท เพราะอาจจะเสียความรู้สึกและเกิดอันตรายได้ หากคนที่บริษัทนัดให้มาเจอกันนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 อุบัติเหตุรถเกี่ยวสายไฟหน้าบ้านทำให้บาดเจ็บ

อุบัติเหตุเกิดได้ทุกที่ แม้แต่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง โดยเหตุที่เกิดแก่ผู้ร้องรายนี้ มีประเด็นเกี่ยวกับการชดเชยเยียวยาที่ผู้สร้างความเสียหาย ไม่ค่อยจะยินดีจ่าย ทำให้กว่าจะตกลงกันได้ ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เรื่องนี้ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลจาก สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น หนึ่งในเครือข่ายผู้บริโภคที่ทำงานช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างเข้มแข็งบนพื้นที่ภาคอีสาน เหตุเกิดประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณดาว(นามสมมติ) ขณะกำลังใช้เวลาเพลินๆ กับแม่บริเวณหน้าบ้านตัวเอง เกิดมีรถรับส่งพนักงานของโรงงานผลิตกระดาษแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น วิ่งเบียดเข้ามาหน้าบ้านเกี่ยวเอาสายไฟฟ้า(จากเสาที่ทำขึ้นเองเพื่อต่อเข้าบ้าน) ดึงรั้งจนทำให้เสาไฟฟ้าล้ม และชิ้นส่วนของเสาไฟกระเด็นมาถูกร่างกายคุณดาวจนบาดเจ็บ ซึ่งญาติได้รีบนำส่งโรงพยาบาลคุณดาวต้องเย็บแผลถึง 12 เข็ม ในขณะเดียวกันแม่ของคุณดาวก็ปรากฏอาการหวาดผวาจากเหตุดังกล่าว แม้ทางผู้ก่อความเสียหายคือ คนขับรถได้ซ่อมแซมเสาไฟฟ้าจนใช้งานได้ตามปกติ ทางคุณดาวและญาติเห็นว่า ควรต้องได้รับการดูแลเยียวยาทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลและอาการทางจิตใจของคุณแม่ด้วย จึงเดินทางไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.น้ำพอง   เบื้องต้นมีการเจรจาค่าทำขวัญ  สินไหมทดแทนเรียกร้องไป  100,000  บาท แต่ทางคนขับรถต่อรองโดยยินยอมจะจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน  10,000 บาท  ซึ่งคุณดาวเห็นว่าได้รับน้อยเกินไป จึงยังไม่ตกลงใดๆ และให้ทางตำรวจลงบันทึกการเจรจาไว้เป็นหลักฐาน ส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย คนขับรถทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการปรับเป็นเงิน 400 บาท จากเหตุขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ต่อมาคุณดาวได้นำเรื่องมาปรึกษากับทางสมาคมฯ ว่าจะต้องดำเนินการเรียกร้องอย่างไร   แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อทางสมาคมฯได้รับเรื่องร้องเรียน  ได้มีการรวบรวมเอกสารและตรวจสอบข้อมูลว่า  รถคันดังกล่าวได้ทำประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจไว้กับบริษัทใด  วงเงินประกันกี่บาทเพื่อจะได้ทราบว่าประกันคุ้มครองรายการอะไรบ้าง  จากนั้นได้มีการประสานงานกับทางบริษัทรถ บริษัท/โรงงานผู้ผลิตกระดาษ (บริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างรถ-รับส่งพนักงาน)   ด้วยเหตุว่า เป็นกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากผู้ที่มาทำละเมิด  จึงต้องเรียกร้องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วย  คนขับรถ  บริษัทรถและฝ่ายโรงงาน  โดยทางสมาคมฯ ได้นัดหมายให้ทางฝ่ายโรงงานเป็นผู้ประสานงานกับทางผู้ร้องเรียน  บริษัทรถ  คนขับรถ และใช้สถานที่โรงงาน เป็นสถานที่เจรจา ซึ่งทางสมาคมได้ร่วมเจรจากับผู้ร้องด้วย  ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องเรียนได้ยื่นข้อเรียกร้องตามเดิมคือเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  100,000  บาท เมื่อมีการเจรจารอมชอมกัน จึงได้ข้อยุติทั้งสามฝ่าย(บริษัทรถ คนขับรถ และโรงงาน) จะชดเชยความเสียหายให้กับผู้ร้องเป็นเงิน  60,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว  ผู้ร้องเรียนพอใจ  มีการลงบันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐานและยุติเรื่องดังนั้นผู้บริโภคที่อยู่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง หากพบปัญหาจากการถูกละเมิดสิทธิ สามารถติดต่อขอคำปรึกษากับสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น ได้ที่ 686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000  โทร.083-599-9489

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ฟันขาวใน 1 สัปดาห์ มีจริงหรือไม่

ไม่เฉพาะแต่ผิวพรรณเท่านั้น ที่คนไทยส่วนหนึ่งอยากให้ขาวผ่อง ฟันก็เป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่คนต้องการให้ขาววับเงางาม ทั้งที่ธรรมชาติฟันแต่ละคนจะมีระดับของความขาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งที่เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากการกินในชีวิตประจำวัน เช่น ขนมสีสด การดื่มชา กาแฟ ก็มีส่วนทำให้ฟันมีคราบสะสม หรือการสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฟันเป็นคราบดูไม่สะอาดได้ ซึ่งหากปรึกษากับทันตแพทย์ ส่วนใหญ่วิธีที่ใช้คือการฟอกสีฟัน แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ทำให้ฟันขาววิ้งค์ได้ เพียงแค่ช่วยขจัดคราบที่ทำให้ดูไม่สะอาดให้หมดไป ตรงจุดที่ทางการแพทย์เองก็ไม่ได้มีเครื่องวัดว่าระดับความขาวของฟันนั้นทำได้สุดแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละคนเป็นสำคัญ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ออกมามากมายเพื่อชวนให้ผู้บริโภคเชื่อว่า ฟันสามารถขาวขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่นานและรักษาฟันผุได้ จนถึงขนาดว่า ไม่ต้องพบทันตแพทย์อีกเลย หรืออาจอวดอ้างสรรพคุณที่วิเศษไปมากกว่านี้ล่าสุดทันตแพทยสภาได้ออกแถลงข่าว เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า ไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดมาสนับสนุนว่ายาสีฟันประเภทใด ที่จะมีประสิทธิภาพสามารถซ่อมแซมฟันที่ผุและทำให้หินปูนสลายเองภายใน 1 เดือน รวมถึงการทำให้ฟันขาวขึ้น 4-5 ระดับ  ดังนั้นหากต้องการให้ฟันดูสะอาดไม่เป็นคราบเหลือง  วิธีที่เหมาะสม คือต้องแก้ที่สาเหตุ เรามาดูกันว่า อะไรคือสาเหตุทำให้ฟันเหลืองได้บ้าง เพื่อจะได้ดูแลให้ถูกวิธีสาเหตุที่ทำให้ฟันเหลืองและการแก้ไข1. สีสันของอาหาร บรรดาสีย้อมที่ผสมในอาหาร สามารถสร้างคราบไม่สะอาดให้กับฟันได้ รวมถึงเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ ดังนั้นหลังการรับประทานอาหารกลุ่มนี้ ควรแปรงฟันเพื่อขจัดคราบไม่ให้สะสมอยู่ที่ฟัน 2. สูบบุหรี่เป็นประจำก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฟันไม่ขาว ควรเลิกหรือเบาลง 3. ฟันผุ ซึ่งมักจะทำให้ฟันมีสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาล ควรพบทันตแพทย์เพื่อรักษาฟันให้มีสุขภาพดี 4. เกิดจากฟันตาย (ฟันตาย คือ อาการของฟันผุมากๆ และถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานไม่มีการรักษาทำให้ไม่มีเลือดและประสาทฟันมาหล่อเลี้ยงเนื้อฟัน) ทำให้ฟันมีสีทึบไม่โปร่งเหมือนฟันปกติ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางรักษา5. โรคบางชนิดก็สามารถทำให้สีของฟันเปลี่ยนได้ รวมไปถึงการตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิดด้วย 6. กรรมพันธุ์และวัย ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก คนที่มีอายุมากขึ้นโอกาสที่ฟันจะยังคงความขาวก็ยิ่งมีน้อยลง เนื่องจากเคลือบฟันบางลง ทำให้สีเหลืองของชั้นเนื้อฟันที่อยู่ข้างในปรากฏออกมาให้เห็นชัดมากขึ้น7. แปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือแปรงสีฟันไม่มีคุณภาพทำให้ขจัดคราบที่ตกค้างบนผิวฟันได้ไม่หมด วิธีใดบ้างที่จะทำให้ฟันขาววิธีที่ง่ายที่สุดคือ การแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึงหลังอาหารทุกมื้อ ร่วมกับการไปพบทันตแพทย์ อย่างสม่ำเสมอเพื่อขูดหินปูนและขัดฟัน รวมทั้งดูแลไม่ให้เกิดฟันผุ ถ้าต้องการให้ฟันดูขาวขึ้น ทันตแพทย์จะแนะนำให้ฟอกสีฟัน คือการฟอกสีฟันทั้งปาก ซึ่งได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไป และปัจจุบันยาที่ฟอกสีฟันนั้นพัฒนาไปมาก ทำให้ใช้ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถนำสารฟอกสีกลับไปทำเองได้ที่บ้าน (ควรปรึกษาทันตแพทย์)ส่วนยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว ซึ่งมีออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้นนั้น ถ้าผู้บริโภคไม่ดูแลที่ต้นเหตุที่ทำให้ฟันไม่ขาว ยาสีฟันก็อาจช่วยได้เพียงแค่การขจัดคราบ แต่ไม่ได้ทำให้ฟันขาวมากไปกว่าสีฟันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาจนเข้าข่ายเป็นของวิเศษ อย่าหลงเชื่อเพราะไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด    ข้อมูลจาก http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/radiology/dept_article_detail.asp?a_id=94

อ่านเพิ่มเติม >