ฉบับที่ 208 4 สงสัย 2 ส่งต่อ : วิธีจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยให้อยู่หมัด

การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้ไปทำร้ายผู้บริโภค จำเป็นต้องมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเอง เครื่องมือง่ายๆ เริ่มจากการ “สงสัย” และ ”ส่งต่อ” ข้อมูลเพื่อร่วมมือกันในการจัดการปัญหา1. สงสัย : ไม่มีหลักฐานการอนุญาต?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ มีหลักฐานว่าได้รับอนุญาตหรือยัง เช่น ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเช่น Reg.No…. , อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร... (หรือที่เรารู้จักกันดีคือเลข อย...) , เครื่องสำอาง ต้องมีเลขจดแจ้ง… , สถานพยาบาลต้องมีหลักฐานใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ , หน่วยตรวจสุขภาพต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาต “หากไม่มีแสดงว่ายังไม่ได้รับอนุญาต”2. สงสัย : ขาดข้อมูลแหล่งที่มา?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายฉลากและเอกสารโฆษณาต้องระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน “หากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต จะรู้ได้อย่างไรว่าใครผลิต? เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะตามผู้ผลิตได้ที่ไหน?”3. สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า สรรพคุณที่โฆษณาเป็นไปได้จริงหรือไม่ หากอวดอ้างว่าได้ผลดีแบบมหัศจรรย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไร? อย่าเพิ่งเชื่อบุคคลที่เขาอ้างอิงในโฆษณา ถ้าไม่รู้จักเขาดีพอ เพราะอาจเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น หากได้ผลจริง ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้ จะต้องได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน หรือมีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลอย่างชัดเจน “จำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เทวดาไม่มีในโลก”4.  สงสัย : ใช้แล้วผิดปกติ?ให้เริ่มสงสัยทันที หากพบว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แล้ว เห็นผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปรกติ เช่น หายปวดเมื่อยทันที ผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังหายหมด ผิวขาวขึ้นทันใด ฯลฯ “หากได้ผลรวดเร็วขนาดนี้ อาจมีอะไรที่ไม่ปลอดภัยผสมลงไปในผลิตภัณฑ์”2 ส่งต่อ1. ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเมื่อเราเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธ อันดับแรกต้องรีบแจ้งเตือนข้อมูลเบื้องต้นให้คนรอบข้างทราบโดยเร็ว แม้ว่าเรายังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่การแจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคหรือคนในชุมชนทราบเบื้องต้น เป็นการช่วยเตือนไม่ให้ผู้บริโภคผลีผลามไปใช้ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ยิ่งแจ้งได้เร็ว ก็เท่ากับช่วยให้คนข้าง เราให้เสี่ยงลดลง”2. ส่งต่อเจ้าหน้าที่รีบส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว ข้อมูลที่แจ้งเจ้าหน้าที่ควรรวบรวมรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร สรรพคุณที่อ้างอิงในการโฆษณา วิธีการขาย แหล่งที่มา ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ ฯลฯ “ยิ่งแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามรอยต้นตอแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เมื่อ ‘จิตใจ’ ไม่สบาย สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช

“ปี 2556 ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอาการป่วยทางจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 11.5 หรือประมาณ 520,000 คน” น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ปัจจุบัน เราคุ้นเคยกับความป่วยไข้ทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า อาจจะเป็นเพราะมีผู้ป่วยที่เปิดเผยตัวเอง ข่าวคราวของดารา นักร้องที่เป็นโรคซึมเศร้า (ขนาดว่าช่วงหนึ่งมีการพูดถึงกระแส ‘อยากซึมเศร้า’ เพราะรู้สึกว่าความป่วยไข้ชนิดนี้เท่) ถึงกระนั้น ตัวเลขข้างต้นก็น่าตกใจ เพราะมันหมายความว่าทุกๆ 10 คนที่เดินเหินในมหานครแห่งนี้ มี 1 คนที่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต‘ฉลาดซื้อ’ จะพาไปรู้จักอาการทางจิตเวช แนวทางดูแลตัวเอง การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย และสิทธิบางประการที่ควรรู้ เพราะเราทุกคนอาจป่วยทางจิตได้เหมือนกับที่ใครๆ ก็ป่วยเป็นไข้หวัดได้ซึมเศร้าเรื้อรัง เอก (นามสมมติ) รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างในตัวเอง มันเริ่มจากความรู้สึกเศร้าและอยากร้องไห้แบบไม่มีต้นสายปลายเหตุ ตอนแรกเขาก็ยังไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกัน 2 วันจนเกือบทำการทำงานไม่ได้ เอกไม่ได้มีความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการไปพบจิตแพทย์คือการถูกตีตราว่า ‘บ้า’ เขาจึงตัดสินใจลองไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐแห่งหนึ่ง หลังการพูดคุยกับจิตแพทย์เกือบ 2 ชั่วโมง เอกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dysthymia หรือโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จิตแพทย์จ่ายยาให้เขา แม้ว่าเอกจะพยายามต่อรองเพื่อขอรับการรักษาแบบอื่นที่ไม่ต้องใช้ยา เช่น การทำจิตบำบัด แต่ก็ไม่อาจทัดทานได้ เขากินยาอยู่ได้ไม่กี่วัน เนื่องจากไม่ชอบผลข้างเคียงจากยาดังกล่าว นัดพบจิตแพทย์ครั้งที่ 2 แพทย์ยังคงยืนกรานให้เขาทานยา แม้ว่าเขาจะยังขอพบนักจิตวิทยา กระทั่งครั้งที่ 3 จิตแพทย์จึงยอมให้เขาพบนักจิตวิทยาเพื่อทำจิตบำบัด ระหว่างการทำจิตบำบัด เอกรู้สึกว่าอาการแย่ลง ความรู้สึกเศร้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เขาจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์อีกครั้งในโรงพยาบาลที่เขามีสิทธิประกันสังคมอยู่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและรับฟัง Second Opinion ทว่า ก่อนที่จะได้พบแพทย์ทั่วไป  ซึ่งจะเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลที่ทำการตรวจสุขภาพแจ้งแก่เขาว่า อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเพื่อทำนัดและรอพบจิตแพทย์ คำพูดดังกล่าวทำให้เอกตัดสินใจเดินออกมา นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และอดีตคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในประกันสังคมมักหลีกเลี่ยงที่จะส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นผู้มีสิทธิจะต้องเรียกร้อง ร้องเรียน หรือยืนยันสิทธิในการรักษาของตน แน่นอนว่าเอกไม่รู้เรื่องนี้และไม่ได้ยืนยันสิทธิที่ว่า และก็ไม่น่าจะใช้เอกคนเดียวที่ไม่รู้เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเอกสะท้อนแง่มุมต่อผู้ป่วยจิตเวชหลายประการ มันไม่เหมือนอาการป่วยกายเสียทีเดียว การไปหาหมอเป็นกระบวนการทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็พอจะนึกออก แต่พอเป็นความเจ็บป่วยทางจิต เอกและเชื่อว่าผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร “สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์ เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด” นิมิตร์ เทียนอุดมสิทธิของเรา นิมิตร์บอกว่า โดยหลักทั่วไปแล้ว สิทธิประกันสังคมให้การดูแลสวัสดิการสุขภาพแก่ผู้ถือสิทธิไม่ต่างจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักเป็นเบื้องต้น คือเรามีสิทธิได้รับสวัสดิการสุขภาพ ผู้ป่วยจิตเวชก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นแต่เชื่อหรือไม่? กว่าจะถึงวันนี้ วันที่ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างเสมอหน้าอาการป่วยไข้ทั่วไป ต้องผ่านการต่อสู้ไม่ต่างจากโรคเรื้อรังอื่นๆ“สมัยแรกที่มีสิทธิประโยชน์ กรณีจิตเวชถูกตีความว่าต้องรักษายาวนานเกินกว่า 180 วัน ทำให้มีปัญหาว่าบางทีโรงพยาบาลรับมารักษาแล้ว 180 วันก็ไม่ได้ดีขึ้น แค่ทุเลา ต้องจำหน่ายออก แล้วก็รับใหม่ หรือบางทีก็ให้กลับบ้านเลย ไปดูแลตัวเองที่บ้าน ทำให้เกิดปัญหา จึงมีการผลักดันให้ยกเลิกและปรับแก้กติกาที่ว่า การรักษาที่เกิน 180 วันจะไม่คุ้มครอง ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งจุดนี้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเพราะทำให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เนื่องจากโรคทางจิตเวชเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ต้องอยู่ในความดูแล ต้องกินยา การยกเลิกกติกาข้อนี้จึงถือเป็นเรื่องที่พวกเราช่วยกันเคลื่อน จนผู้ป่วยจิตเวชก็ได้รับสิทธิประโยชน์นี้และมันก็ได้อานิสงค์ไปยังโรคอื่นๆ ที่ต้องรักษาเกิน 180 วันด้วยประการที่ 2 คือปัญหาเรื่องยาที่ต้องสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วยจิตเวช ช่วงหนึ่งแพทย์ที่พร้อมจะดูแลยกประเด็นนี้ขึ้นมาว่า ทำอย่างไรยาจึงจะถูก เพราะถ้าไปอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว แล้วยาแพง โรงพยาบาลก็รู้สึกเป็นภาระและอาจจะปฏิเสธการรักษาได้ ดังนั้น ตอนที่มีการสู้เรื่องซีแอล (มาตรการบังคับใช้ Compulsory Licensing: CL) ก็ดูยาตัวนี้ด้วย ทำให้ได้ยาริสเพอริโดน (Risperidone) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชกลับมามีชีวิตปกติได้” นิมิตร์ กล่าวเรื่องสิทธิและยาได้รับการแก้ไข ถึงกระนั้นใช่ว่าปัญหาจะหมดไปโดยสิ้นเชิง ในทางปฏิบัติ ทุกวันนี้ยังคงมีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยที่ยุ่งยาก เนื่องจากผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช แล้วโรงพยาบาลแห่งนั้นไม่มีจิตแพทย์ก็จำเป็นต้องส่งต่อ แล้วใช่ว่าทุกพื้นที่จะมีจิตแพทย์ หมายความว่าการหาหมอใกล้บ้านกลายเป็นหาหมอไกลบ้าน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือการบ่ายเบี่ยงการส่งตัว เพราะโรงพยาบาลที่ส่งตัวต้องตามไปจ่ายค่ารักษาให้แก่หน่วยบริการที่รับผู้ป่วยไปดูแลโรงพยาบาลต้นทางอาจทำใบส่งตัวครั้งละ 3 เดือนให้แก่ผู้ป่วยหรือที่หนักกว่า คือต้องทำใบส่งตัวใหม่ทุกครั้งที่นัดพบแพทย์ สร้างความยุ่งยากในชีวิตผู้ป่วยและญาติ นิมิตร์เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะขจัดความยุ่งยากด้วยการปรับกติกาเสียใหม่ เช่น การทำใบส่งตัวครั้งละ 1 ปี เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเดินทางมารับใบส่งตัวบ่อยๆอีกด้านหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขคงต้องลงมาศึกษาอย่างจริงจังว่า ด้วยสถานการณ์สุขภาพจิตที่หนักมือขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพียงพอแล้วหรือยังส่วนด้านการดูแลรักษาต่อเนื่อง สปสช. ยังคงเดินหน้านโยบายดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยจับมือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดระบบบริการจิตเวชในชุมชน ตั้งแต่การกินยาต่อเนื่องจนถึงการปรับทัศนคติคนในชุมชนและลดการตีตรา“สังคมไทยอาจไม่คุ้นชินกับการที่ใครสักคนต้องไปพบจิตแพทย์” นิมิตร์กล่าวเสริม “เรายังมองเป็นเรื่องประหลาด เป็นคนบ้า ซึ่งเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคโรคหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่แปลกประหลาด”ดูแลตัวเอง จิตแพทย์อภิชาติ แสงสิน นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เห็นว่า ปัจจุบันความเข้าใจของผู้คนต่อผู้ป่วยจิตเวชเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีและรับรู้ว่าเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษา เพียงแต่โรคทางจิตเวชค่อนข้างนามธรรม จับต้องได้ยากกว่าโรคทางกาย มาถึงตรงนี้ เมื่ออาการทางจิตเวชเป็นความป่วยไข้ไม่ต่างจากไข้หวัดหรือปวดท้อง มันก็ย่อมมีแนวทางที่เราจะดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพจิต การออกกำลังกาย การพักผ่อนหย่อนใจ คลายความตึงเครียดจากภาระในชีวิตประจำวันเป็นอะไรที่น่าจะรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เรายังมีคำแนะนำเพิ่มเติมจากจิตแพทย์อภิชาติ นั่นคือการคอยติดตามตนเองหรือมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน(ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คำว่า การมีสติ ในที่นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาแต่อย่างใด) มีด้วยกัน 3 เทคนิค คือ 1.การอยู่กับการกระทำ คอยรู้ตัวเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะหลายครั้งที่เรามักเผลอไผล ทำบางสิ่ง แต่ใจคิดอีกอย่าง ซึ่งมักจะเป็นอดีตไม่ก็อนาคต 2.การรับรู้ความคิด คอยรู้เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่ 3.การรับรู้อารมณ์ คอยติดตามอารมณ์ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เฉยๆ เสียใจ เศร้า ดีใจ หรือโกรธ เป็นต้น ซึ่งการติดตามอารมณ์จะค่อนข้างยากกว่าการติดตามการกระทำหรือความคิด จิตแพทย์อภิชาติเสริมว่า เราไม่สามารถตามดูทั้ง 3 อย่างพร้อมกันได้ ดังนั้น อะไรที่เด่นชัดที่สุดให้ตามดูสิ่งนั้น ประโยชน์ของเทคนิค 3 ข้อ คือการทำให้เราสามารถรับรู้สัญญาณปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ทันท่วงที จิตแพทย์อภิชาติกล่าวว่า “แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราป่วย สังเกตได้จากความรับผิดชอบที่เราควรทำได้ปกติเกิดสูญเสียไป ความรับผิดชอบที่ว่าแบ่งเป็น 3 ด้านคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เช่น เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว ชุมชน เป็นต้น หน้าที่การงาน และการฟื้นคืนสภาพจิตใจหรือการผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ถ้าทั้ง 3 เรื่องนี้หรือด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องทั้ง 3 ด้าน เกิดบกพร่องหรือสูญเสีย ก็มีแนวโน้มว่าน่าจะป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อจะได้รักษาต่อไป”เมื่อนำกรณีของเอกไปสอบถาม จิตแพทย์อภิชาติอธิบายว่า “จริงๆ ผู้ป่วยกับจิตแพทย์สามารถคุยกันได้ ต้องดูก่อนว่าความเจ็บป่วยที่ว่านั้นคืออะไร และดูว่าภาวะการตัดสินใจของผู้ป่วยมีมากน้อยแค่ไหน เขามีสิทธิเลือกการรักษาที่เหมาะกับเขาได้ แต่ถ้าแพทย์เห็นว่าไม่เหมาะสมหรือจะเป็นอันตราย หรือไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา แพทย์ก็อาจต้องให้คำแนะนำหรือเลือกทางที่ดีที่สุด แต่ในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องไปแล้ว ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ กรณีนี้ก็ต้องมีผู้ทำการแทน เช่น คู่สมรส ญาติ หรือบุตร ตัดสินใจแทนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการดูแลรักษาให้มากที่สุด การรักษาอาการทางจิตเวช การให้ยาก็ส่วนหนึ่ง การทำจิตบำบัดก็ส่วนหนึ่ง ในกรณีทั่วไป การให้ยาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว การทำจิตบำบัดก็มีข้อดีและช่วยได้ แต่จะช้ากว่าการให้ยา เพราะปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์พัฒนา โรคทางจิตเวชคือการทำงานของสมองที่ผิดปกติไป ยาเข้าไปช่วยปรับให้สมองทำงานได้ดีขึ้น อาการก็จะดีขึ้น การทำจิตบำบัดก็จะช่วยเสริมตรงนี้ด้วย เสริมในด้านการปรับความคิด พฤติกรรม อารมณ์” กรณีที่ผู้ป่วยทานยาแล้วแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียง ให้หยุดยาและกลับไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเปลี่ยนหรือปรับขนาดยา แต่หากไม่แพ้หรือไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากการรักษาโรคทางจิตเวชซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องทานยาต่อเนื่อง ยาทางจิตเวชกว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ต้องค่อยๆ ติดตามผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อหายดีแล้วก็ยังต้องทานยาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้พ้นระยะโรค เมื่อพ้นระยะแล้วก็ใช่ว่าจะหยุดยาได้ทันที แต่ต้องค่อยๆ ลดยาลง ขณะที่โรคทางจิตเวชบางโรคต้องกินยาตลอดชีวิต วินัยในการทานยาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยและญาติต้องตระหนัก“หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น”อยู่ร่วมกัน สำหรับผู้ที่ต้องอยู่กับผู้ป่วยจิตเวช สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือการปรับทัศนคติ โรคทางจิตเวชจับต้องยาก อธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ยาก หลายครั้งถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือแกล้งทำบ้าง คนรอบข้างต้องปรับทัศนคติใหม่ว่ามันคือความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น ประการต่อมา จิตแพทย์อภิชาติบอกว่า ต้องรับฟังอย่างเข้าใจ หลายครั้งที่คนรอบข้างพยายามเข้าไปจัดการ แก้ปัญหา หรือแนะนำ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของผู้แนะนำโดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าการแนะนำคือการรับฟัง บางครั้งผู้ป่วยแค่ต้องการคนรับฟังหรือเข้าใจสิ่งที่ต้องการพูดเท่านั้น ซึ่งอาจได้ผลดีกว่าการแนะนำให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้เสียอีก ประการที่ 3 เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย เมื่อเห็นความผิดปกติ ความเปลี่ยนแปลง ดูไม่เป็นคนเดิม ควรพามารับการรักษาหรือการบำบัด เพราะหลายครั้งที่มองข้ามไป ละเลย รู้อีกทีก็อาการรุนแรงเสียแล้ว และประการสุดท้าย เก็บอาวุธหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ให้ห่างจากผู้ป่วย เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่ไว เมื่อมันผุดขึ้นมาโดยไม่เท่าทัน อาจนำไปสู่กระทำที่ไม่ทันยั้งคิดทั้งต่อตนเองและผู้อื่น หากไม่ใช่กรณีที่หนักหนาจริงๆ ผู้ป่วยจิตเวชสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพียงเราปรับทัศนคติ ลดการตีตรา และรับฟัง ก็ไม่ยากนักที่เราจะเป็นเพื่อนกับผู้ป่วยจิตเวช

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 รู้เท่าทัน ไขมันทรานส์

การบริโภคไขมันทรานส์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ร้อยละ 21  และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรร้อยละ 28  ไขมันทรานส์ยังนำไปสู่การแข็งตัวและการอุดตันของหลอดเลือด ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจากไขมันทรานส์กว่า 500,000 รายในแต่ละปีนับเป็นความกล้าหาญขององค์การอนามัยโลกอีกครั้งที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ว่า จะขจัดไขมันทรานส์ให้หมดจากระบบการผลิตอาหารของโลก และได้กำหนดยุทธศาสตร์ทีละขั้นตอนเพื่อให้บรรลุผลในปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023)  การขจัดไขมันทรานส์นี้เป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องสุขภาพและช่วยชีวิตผู้คน เรามารู้เท่าทันไขมันทรานส์กันเถอะไขมันทรานส์ คืออะไรไขมันได้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้รักสุขภาพ ความจริงไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายและช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค และแคโรทีนอยด์  เมื่อกินไขมันเท่าที่จำเป็นจะช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตที่เหมาะสมและช่วยรักษาสุขภาพ  แต่ทุกวันนี้เรากินไขมันมากเกินไป ออกกำลังกายน้อย ทำให้เกิดไขมันส่วนเกินไปสะสมในร่างกาย ไขมันในอาหารมี 3 ชนิดหลัก ได้แก่ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว และ ไขมันทรานส์ไขมันทรานส์ ถูกใช้ในการผลิตอาหารในต้นคริสศตวรรษที่ 20 เพื่อใช้แทนเนย และเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงคริสต์ศักราช 1950-1970  ไขมันทรานส์เกิดจากกระบวนการผลิตโดยทำให้น้ำมันพืชแข็งตัวด้วยการเติมไฮโดรเจน (Partially Hydrogenated Oils, PHOs) ทำให้อาหารที่ใช้ไขมันทรานส์นั้นยืดอายุ (การขาย) ได้นาน เพิ่มความคงตัวของรสชาติ ที่สำคัญคือ มีราคาถูกกว่าไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว  อาหารหลายชนิดที่ใช้ไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยขาว เนยเทียมหรือมาการีน คุกกี้ อาหารว่าง อาหารทอด และขนมอบ เป็นต้นไขมันทรานส์มีโทษต่อร่างกายอย่างไรไขมันทรานส์มีผลเหมือนไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลทำให้ระดับ LDL (โคเลสเตอรอลชนิดอันตราย) ในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ  นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ยังลดระดับ HDL (โคเลสเตอรอลชนิดดี) ในเลือดอีกด้วย ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้นองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า การบริโภคไขมันทรานส์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ร้อยละ 21  และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรร้อยละ 28  ไขมันทรานส์ยังนำไปสู่การแข็งตัวและการอุดตันของหลอดเลือด ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจากไขมันทรานส์กว่า 500,000 รายในแต่ละปี การลดการบริโภคไขมันทรานส์จะช่วยลดการเกิดหัวใจวายและการเสียชีวิตได้องค์การอนามัยโลกใช้ปฏิบัติการ REPLACE   องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศใช้ปฏิบัติการ REPLACE เพื่อขจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหาร  Dr Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการคนใหม่ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “การใช้ REPLACE จะช่วยในการขจัดไขมันทรานส์ และจะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของโลกในการต่อสู้เอาชนะกับโรคหลอดเลือดและหัวใจ”REPLACE ได้แก่Review  ทบทวนแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตไขมันทรานส์ และฉากทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายPromote  ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการผลิตไขมันทรานส์ใช้ไขมันและน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพแทนไขมันทรานส์Legislate  การออกกฎหมายเพื่อขจัดไขมันทรานส์จากการผลิตแบบอุตสาหกรรมAssess  การประเมินและกำกับดูแลการใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารและการเปลี่ยนแปลงการบริโภคไขมันทรานส์ของประชากรCreate การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบในทางลบของไขมันทรานส์ในผู้กำหนดนโยบาย ผู้ผลิต ผู้ขาย และสังคม Enforce  การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆขณะนี้หลายประเทศได้ขจัดการใช้ไขมันทรานส์ จากอุตสาหกรรมเกือบสิ้นเชิง เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่จำกัดการใช้ไขมันทรานส์จากอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณของไขมันทรานส์ในอาหารลดลงอย่างชัดเจน และอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศ OECD (สมาชิกประเทศยุโรปตะวันตก 19 ประเทศ)ประเทศไทยต้องมีความตื่นตัวเรื่องนี้ และร่วมกันขจัดการใช้ไขมันทรานส์ในอุตสาหกรรมอาหารโดยเร็ว เพื่อให้ลูกหลานของเราไม่ต้องเสี่ยงกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 บุพเพสันนิวาส : ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น

“ประวัติศาสตร์” คืออะไร ? ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยามประวัติศาสตร์ว่า เป็นเรื่องราวของจริงซึ่งมีอยู่ในอดีต และถูกบันทึกส่งต่อไว้ผ่านกาลเวลาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ก็มีนักคิดอีกกลุ่มหนึ่งโต้แย้งว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาของคนแต่ยุคที่มีต่ออดีตของตนเอง แต่ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะเป็นการบันทึกเรื่องราว หรือเป็นการสนทนากับอดีตของมนุษย์ สิ่งที่เรามักจะไม่ค่อยตระหนักเป็นคำถามกันก็คือ ใครกันที่มีอำนาจในการบันทึกหรือสนทนาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าให้เราๆ ต้องเรียนรู้หรือรับฟังกันผ่านรุ่นสู่รุ่น ลองย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นนักเรียน และถูกบังคับให้ท่องจำเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ ผู้เรียนเองก็แทบจะไม่เคยถามเลยว่า ประวัติศาสตร์ดังกล่าวเขียนขึ้นโดยใคร บันทึกไว้ด้วยเหตุผลใด หรือเป็นอำนาจและผลประโยชน์ของผู้ใดที่กำหนดให้เราต้องทั้ง “ท่อง” และ “จำ” เรื่องเล่าเหล่านั้น เพราะหน้าที่ของนักเรียนและเราๆ ก็คือ ผู้จดจำและสืบต่อ หาใช่คนที่จะมีส่วนร่วมในการเขียนหรือสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ อย่างไรก็ดี จะเกิดอะไรขึ้นหากบทบาทของคนรุ่นใหม่เริ่มย้ายปีกจาก “ผู้เสพ” มาเป็น “ผู้มีส่วนร่วมสร้าง” ประวัติศาสตร์ไทยกันบ้าง และที่สำคัญ หน้าตาของ “ประวัติศาสตร์ในวันนี้” ที่คนปัจจุบันร่วมขีดเขียน “จะแตกต่างจากวันนั้น” กันอย่างไร คำตอบเฉกเช่นนี้ดูจะปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรตติ้งแรงแซงทางโค้งของบรรดาออเจ้าทั้งหลายอย่าง “บุพเพสันนิวาส” เรื่องนี้นี่เอง หากจะทวนความกันสักเล็กน้อย เหตุแห่งรักข้ามภพข้ามชาติตามท้องเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นั้น เริ่มต้นเมื่อ “เกศสุรางค์” นักศึกษาโบราณคดีรุ่นใหม่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ดวงวิญญาณของเธอสิ้นไปในภพปัจจุบัน และย้อนกลับไปสวมสิงอยู่ในร่างของ “แม่หญิงการะเกด” จนท้ายที่สุดก็พานประสบพบรักกับ “พ่อเดช” หรือ “หมื่นสุนทรเทวา” คู่หมายของแม่หญิงเมื่อราวกว่าสามศตวรรษก่อนหน้านี้  ด้วยเรื่องราวที่มีกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นฉากหลัง และด้วยการสร้างตัวละครที่เชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่จริงในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น “คอนสแตนติน ฟอลคอน” “ท้าวทองกีบม้า มารี กีมาร์” “ออกญาโหราธิบดี” และอีกหลากหลายชีวิตในยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ยืนยันธีมหลักของเรื่องว่า ความรักของชายหญิงแม้จะอยู่ต่างภพชาติ แต่ก็ว่ายวนจนมาพบกันได้ก็ด้วยเพราะอำนาจแห่ง “บุพเพสันนิวาส” แม้จะมีแก่นหลักเป็นรักโรมานซ์และอำนาจของบุพเพที่ขีดกำหนดความรักเอาไว้ แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักโรแมนติกนั้น ดูเหมือนละครได้สอดแทรกมุมมองของคนยุคใหม่ที่มีต่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรังสรรค์ให้มีทั้งด้านที่ “เหมือน” และ “ต่าง” ไปจากที่เราๆ ต่างคุ้นเคยหรือท่องจำกันเพื่อทำข้อสอบส่งคุณครู เพื่อจะฉายให้เห็นจุดยืนของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยว่าเป็นเช่นเฉกใด ละครจึงสร้างโลกเสมือนจำลองภาพกรุงศรีอยุธยากันขึ้นมาเสียใหม่ โดยมี “มนต์กฤษณะกาลี” กลายเป็นช่องทางที่ชักนำให้เกศสุรางค์ได้เดินทางข้ามภพชาติมาพานพบรักกับหมื่นสุนทรเทวา พร้อมๆ กับพบพานหน้าประวัติศาสตร์เสมือนที่ตนได้เข้าไปร่วมขีดเขียนเรื่องเล่าดังกล่าวเอาไว้ ลำดับแรก หากประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาที่คนแต่ละยุคมีต่ออดีตของตนเองแล้ว เกศสุรางค์ก็จัดการแปลงความทรงจำในอดีตให้กลายเป็นเรื่องราวที่หวือหวาแปลกตา ดังประโยคที่เธออุทานขึ้นพลันที่รู้ตัวว่าได้ย้อนยุคไปในอดีตแห่งกรุงศรีอยุธยาว่า “สิ่งมหัศจรรย์อย่างนี้มีจริง ไม่ใช่เรื่องฝันของคนเขียนนิยาย มันคือทวิภพหรือคะเนี่ย...มันโคตรจริงเลยโว้ย!!!” หลังจากนั้น อากัปกิริยาต่างๆ ที่เกศสุรางค์ได้แสดงออกมาให้ตัวละครโดยรอบได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการปั้นหน้าเป็นคุณกิ๊กสุวัจนีตำนานนางร้ายในโลกร่วมสมัย การสอนบ่าวอย่าง “ผิน” และ “แย้ม” ให้ทำมือเป็นท่า “โอเค” การเล่นโยคะเพื่อให้ร่างฟิตแอนด์เฟิร์มจนเล่นเอาหมื่นสุนทรเทวาถึงกับตกใจ  การไปเวจเพื่อทำธุระส่วนตัวหรือขี่ม้าในวันนั้นของเดือน การออกท่าเชียร์ลีดเดอร์ให้กับฝีพายเรือแข่ง การประดิษฐ์สารพันเมนูอาหารตั้งแต่กุ้งเผาจิ้มน้ำจิ้มรสเด็ด หมูกระทะ หรือมะม่วงน้ำปลาหวาน ไปจนถึงอาการตื่นตาตื่นใจกับสถานที่ในอดีตที่ได้เห็นกับตาจริงๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่า คนรุ่นเราๆ มองอดีตด้วยมุมมองที่ตื่นเต้นตื่นตากันเพียงไร ลำดับถัดมา เพราะเกิดในยุคที่ธรรมเนียมปฏิบัติแตกต่างออกไป เกศสุรางค์จึงมีอีกด้านที่รู้สึกลึกๆ ว่า กับวิถีปฏิบัติของคนยุคก่อน “มันโบราณ มันออกจะโบราณ มันไม่เป็นรุ่นใหม่...” แบบเดียวกับที่เธอมักพูดจากระทบกระเทียบค่านิยมบางเรื่องของคนพระนครยุคนั้นว่า “เชย” บ้าง หรือเป็น “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” บ้าง ทั้งนี้ สำหรับคนรุ่นใหม่ในสังคมยุคประชาธิปไตยผู้ยึดมั่นในหลัก “สิทธิมนุษยชน” ด้วยแล้ว เกศสุรางค์จึงเห็นว่า “ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน...” ไม่ว่าจะเป็นภาพการลงโทษโบยตีทาสในเรือน ไปจนถึงกฎมณเฑียรบาลที่ลงทัณฑ์ผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็ถูกนางเอกของเรานิยามไปแล้วว่า ช่างละเมิดต่อสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์และอยุติธรรมต่อสิทธิของสตรีชนเสียนี่กระไร และที่สำคัญ แม้ฉากหลังของเรื่องละครจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ในยุคที่สยามประเทศเผชิญกับพายุแห่งจักรวรรดินิยมตะวันตกระลอกแรกๆ แต่ในทัศนะของคนรุ่นใหม่ เกศสุรางค์ก็เล่นบทบาทเพียงแค่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ โดยไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองของยุคสมัยนั้น (แม้จริงๆ เธอจะรู้อยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตตัวละครทั้งหลายในอนาคตก็ตาม)  เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ คนรุ่นใหม่ก็จัดการปรับมุมมองเสียใหม่และทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นตำนานบุพเพและรักโรมานซ์กันไปเสียเลย  ทั้งฉากพลอดรักของพระนางท่ามกลางแสงจันทร์ ฉากสบตาและเดินเที่ยวงานวัดเป็นคู่ๆ ของตัวละคร ฉากแอบมองกันและกันผ่านช่องหน้าต่างพร้อมเสียงดนตรีหวานๆ ที่เปิดคลอประหนึ่งมิวสิกวิดีโอ ไปจนถึงฉากจุมพิตในที่สาธารณะที่เล่นเอาสะท้านกันไปทั้งพระนคร ประวัติศาสตร์การเมืองของอดีตจึงสามารถ “มุ้งมิ้ง” และ “ฟรุ้งฟริ้ง” ไปด้วยโลกทัศน์แบบรักโรแมนติกของคนยุคปัจจุบัน ในท้ายที่สุด แม้ “บุพเพสันนิวาส” จะทำให้เกศสุรางค์และหมื่นสุนทรเทวาได้ข้ามมาพบรักครองคู่กัน แต่ก็เป็นเพราะ “บุพเพสันนิวาส” อีกเช่นกัน ที่ทำให้ภาพแห่งอดีตของสังคมไทยได้ถูกรื้อถอนและรื้อสร้างให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ในโฉมหน้าใหม่แบบ “มุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้ง” หรือเป็นแบบที่คนยุคนี้ต้องการสนทนาเล่าสู่กันฟังว่า “ประวัติศาสตร์ในวันนี้จะแตกต่างจากวันนั้น” เพื่อที่ “รักของเราจะทันสมัย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิด หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดด้วยหรือไม่

ทนายอาสาฉบับนี้ ผมอยากจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีข่าวออกมาไม่น้อย ว่าในบางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้กระทำไปในหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ แต่ก็มีผลทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพ ชื่อเสียง เหล่านี้ หากเราจะเอาผิด จะต้องไปเรียกร้องเอากับหน่วยงานต้นสังกัด หรือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้น  จะขอยกตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ คือ กรณีตำรวจไปยึดรถยนต์ของโจทก์ เป็นของกลาง ต่อมาปรากฏว่า ดูแลรักษาไม่ดี เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวสูญหาย เช่นนี้ ตำรวจต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2540 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรใหญ่และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนคนทั้งสองต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บ  ในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง และมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลาง เหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตน  แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายกรณี จึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วยจะอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้หรืออีกกรณี ครูพลศึกษาของโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ศาลถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อต่อมานักเรียนคนนั้นถึงแก่ความตาย ครูพละดังกล่าวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่แม่ของนักเรียนคนนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา ได้สั่งให้นักเรียนชั้น ม.1 วิ่งรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ เป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัติ และได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ต่ออีก 3 รอบ เป็นการกระทำโทษที่วิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์ แต่การที่สั่งให้วิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำไม่ได้เรียบร้อย ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย สภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ เป็นความประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนล้มลง ในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชาย พ. จึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจ ก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย แต่ความไม่รู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้น้อยลงการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียน ว. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย พ. นักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาของเด็กชาย พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่งแม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิด ซึ่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผลคือต้องฟ้องหน่วยงานรัฐต้นสังกัด และเมื่อหน่วยงานรัฐรับผิดต่อผู้เสียหายแล้วจึงไปใช้สิทธิไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่อีกคราวหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ตอนที่ 4

สำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็น ซึ่งในตอนที่ 1-3 ได้นำเสนอไป ในส่วนของการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล ตลาดเงิน ตลาดทุน การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย ไปแล้ว คราวนี้ขอนำเสนอในส่วนที่สำคัญคือประเด็นเรื่องอาหารนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็นอาหาร(Food market)ประเด็นสวัสดิภาพของปศุสัตว์ ทางคณะรัฐมนตรีมีนโยบายในการออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานรัฐในการตรวจสอบ พัฒนานโยบาย โดยเฉพาะแหล่งเพาะเลี้ยง ตลอดจนการลดช่องว่างของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปศุสัตว์ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่อยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ควรวางกรอบระยะเวลา การดำเนินการ และงบประมาณให้ชัดเจน ตลอดจนคำนึงถึงกฎระเบียบของอียูในมิติที่เกี่ยวข้องกับ การติดฉลาก ที่จะต้องเพิ่มเข้าไปในวาระการดำเนินการตามกรอบเวลานโยบายการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร รัฐบาลมีนโยบายในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนอาหารที่ไม่ปลอดภัย และกำหนดค่าปรับจากการละเมิด พระราชบัญญัติอาหาร และอาหารสัตว์ (LFGB §40 Abs. 1a) อย่างชัดเจน ผู้ประกอบการสามารถเผยแพร่ผลการตรวจสอบได้โดยความสมัครใจ และให้อำนาจบางประการแก่มลรัฐโดยระบุไว้ ใน พ.ร.บ. อาหารและอาหารสัตว์ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่าน่าผิดหวังสำหรับมาตรการของรัฐ แบบนี้ คณะรัฐมนตรี ควรรีบดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อาหารและอาหารสัตว์ อย่างเร่งด่วน  สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของผู้ประกอบการภาคสมัครใจ และการให้อำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นนั้น ทางสหพันธ์มองว่า ไม่เพียงพอในการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลแบบสมัครใจ นำไปสู่การหมกเม็ดของปัญหา และเปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่เป็นแกะดำของวงการธุรกิจเนื้อสัตว์หลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบได้ นโยบายการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร คณะรัฐมนตรีมีนโยบายให้หน่วยงานที่คุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค ประเมินช่องว่าง และกำจัดจุดอ่อนของกลไกปัจจุบัน สนับสนุนระบบเชื่อมต่อการแจ้งเตือนระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ผ่านเวบไซต์ www.lebensmittelwarnung.de ซึ่งเป็นเวบไซต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน(user friendly plattform)ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องกำหนดรายละเอียดในมาตรการดังกล่าว และสนับสนุนเวบไซต์การแจ้งเตือนอาหารอันตราย ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานภาวะโภชนาการ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานทางด้านภาวะโภชนาการของชาติ และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ พลานามัยจะจัดทำแผนการดำเนินงานในปี 2018 โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาระบบการให้ข้อมูล และฉลากโภชนาการ ภายใต้โครงการ IN FORM ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ และทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ก็เสนอตัวในการเข้าร่วมดำเนินการในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบายนี้ โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำฉลาก และข้อมูลทางโภชนาการที่จะต้องเน้นในด้านความชัดเจน เข้าใจง่าย และเปรียบเทียบกันได้ แต่ยังกังวลในรายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นฉลากโภชนาการที่ใช้สีไฟจราจรอธิบาย และการใช้ทรัพยากรจากโครงการ IN FORM ควรมีการพัฒนานโยบายร่วมใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆโดยสรุปสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล และเฝ้าระวังเรื่องสวัสดิภาพของปศุสัตว์ แต่กลับเปิดช่องให้เกิดการปกปิดข้อมูล สำหรับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ และกังวลว่ามาตรการการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคที่รัฐบาลให้ความสำคัญ จำเป็นต้องมีรายละเอียดในการดำเนินการออกมาอย่างรวดเร็วนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น พลังงาน (Energy market)ประเด็นการรักษาสภาพภูมิอากาศ(Climate Protection)รัฐบาลมีนโยบายในการป้องกันรักษาสภาพอากาศ ให้บรรลุเป้าหมายปี 2030 โดยจะออกมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2019 โดยมีผลในการกำกับ กลุ่มตลาดไฟฟ้า อาคารและการคมนาคมขนส่งต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงานในเฟสการดำเนินการที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการของแผน ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาสภาพอากาศของผู้บริโภคที่เป็นปัจเจก และผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่เช่าที่อยู่อาศัยการปฏิรูปพลังงาน การปฏิรูปพลังงาน เป็นการเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภครายเล็กอย่างไม่เป็นธรรม และแผนการขยายโครงข่ายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อภาระค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น รัฐบาลรับประกันว่าจะมีการเฝ้าระวังภาระค่าใช้จ่ายเป็นระยะๆ โดยมีกฎหมายรองรับเพื่อให้ผู้บริโภครายเล็กรายน้อยสามารถจ่ายได้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การเฝ้าระวังค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมตาม เช่น การลดภาระค่าไฟให้กับผู้บริโภครายเล็ก โดยไปลดเงินสนับสนุนที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายปฏิรูปและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน(EEG: German Renewable Energy Source Act) โดยให้ลดภาษีของไฟฟ้า และลดเงินสนับสนุนจากภาษีที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมลง และจำกัดงบประมาณการขยายโครงข่ายไฟฟ้าลง โดยให้ขยายเท่าที่จำเป็น และหามาตรการอื่นในการลดการขยายโครงข่าย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครายย่อยแบกรับภาระเกินความจำเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลกลางมีแนวคิดพัฒนานโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้นโยบาย “Efficiency First” ประสิทธิภาพต้องมาก่อนสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยังตั้งข้อสงสัยต่อความสำเร็จของนโยบายนี้ หากร่างกฎหมายอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยังถูกแช่แข็งอยู่ ซึ่งนโยบายใหม่นี้จะไม่ประสบความสำเร็จหากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ประกาศการบังคับใช้ออกมา จะส่งผลให้แผนในการลดการใช้พลังงานลง 50% ภายในปี 2050 ยังห่างไกลความสำเร็จอีกมากโดยสรุปสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า แม้จะมีการทำสัญญาจัดตั้งรัฐบาลร่วม และในข้อสัญญามีการพูดถึงแนวทางในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่ ท่าทีของรัฐบาลผสมยังไม่ชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะระบบสนับสนุนงบประมาณแบบใหม่ ที่จะช่วยลดภาระของผู้บริโภครายย่อย และการเพิ่มสิทธิให้กับผู้บริโภคในกิจการพลังงานครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย(Real estate and accommodation) การเดินทาง การท่องเที่ยว(Mobility and tourism) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ฉลากมะเร็งในร้านกาแฟ

“ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวัน” ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านไปนั้น ผู้เขียนได้แว่วข่าว(ขณะนั่งพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์) จากโทรทัศน์ช่องหนึ่งประมาณว่า “ต้องมีการทำป้ายเพื่อแจ้งผู้ดื่มกาแฟในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็ง” ซึ่งเมื่อฟังแล้วก็ไม่น่ามีอะไร เพราะมันเป็นของรู้กันมานานแล้วในแวดวงนักพิษวิทยาจนต่อมามีเพื่อนที่เล่นแบดมินตันด้วยกันถามความเห็นเกี่ยวกับประกาศที่เกี่ยวกับกาแฟนี้ แต่ด้วยความที่ผู้เขียนไม่ได้ตามข่าวเลยตอบเพื่อนไม่ได้ จึงต้องกลับบ้านเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงได้พบว่า ประมาณวันที่ 27 มกราคม 2518 ที่ผ่านไปนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายฉบับเช่น USA Today มีการพาดหัวข่าวว่า “Coffee must carry cancer warning label, California judge rules” ซึ่งแปลได้ประมาณว่า (ร้าน) กาแฟจะต้องติดประกาศเตือน ตามกฏหมายแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียว่า กาแฟมีสารก่อมะเร็งเนื้อข่าวที่ได้จาก USA Today กล่าวว่า องค์กรเอกชนชื่อ The Council for Education and Research on Toxics ได้ฟ้องบริษัทที่ขายกาแฟทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กราว 90 แห่งว่า ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียคือ California’s Proposition 65 (เดิมชื่อ The Safe Drinking Water and Toxic Enforcement Act of 1986) ที่ต้องมีคำเตือนผู้ดื่มเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการที่กาแฟมีสารเคมี ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้ โดยสารเคมีนั้นคือ อะคริลาไมด์(นอกเหนือไปจากสารพิษกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน)California’s Proposition 65 เป็นกฎหมายที่มีเป้าประสงค์ในการปกป้องผู้บริโภคจากอันตรายที่เกิดจากการได้รับสารพิษในน้ำดื่ม(ปัจจุบันขยายความสู่อาหารที่เป็นของเหลวต่าง ๆ) ซึ่งอาจก่อมะเร็งและความพิการของทารก ดังนั้นเพื่อให้มีการลดหรือขจัดความเสี่ยงของผู้บริโภคเนื่องจากสารพิษในผลิตภัณฑ์ที่ทราบแน่ว่า มีสารพิษที่อาจก่อปัญหา ผู้ประกอบการต้องมีการเตือนผู้บริโภคก่อนการสัมผัสอาหารเหล่านั้น (โดยยังยึดหลักว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิซื้อสินค้าดังกล่าว บนพื้นฐานความเสี่ยงที่ยอมรับเอง) ซึ่งว่าไปแล้วก็ดีต่อผู้ประกอบการในกรณีที่เกิดมีผู้บริโภคเป็นมะเร็งแล้วอ้างว่า เนื่องจากบริโภคสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการประกาศเตือนแล้วคงฟ้องได้แต่ชนะยากโดยหลักการตามกฎหมายแล้ว คำเตือนของฉลากมีลักษณะทั่วไปดังนี้ WARNING: This product contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm. (สินค้าที่ผู้บริโภคจะซื้อนั้นได้ถูกตรวจพบว่ามีสารเคมี ซึ่งเป็นที่รู้ต่อรัฐแคลิฟอร์เนียว่า ก่อมะเร็งและความผิดปรกติของทารกแรกเกิดหรือความผิดปรกติอื่นต่อระบบสืบพันธุ์)   โดยอาจมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคได้กลับมาที่กรณีของร้านกาแฟในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลังการยื่นฟ้องศาลในปี 2511 แล้ว ได้มีการสืบพยานต่อๆ กันมาจนสุดท้ายในปีนี้ (2518) ผู้พิพากษาศาลในลอสแองเจลิสจึงได้ตัดสินว่า ร้านกาแฟจำต้องมีป้ายเตือนให้ผู้บริโภคระลึกว่า การดื่มกาแฟนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากมีสารก่อมะเร็ง (ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการคั่ว) ทั้งนี้เพราะบริษัทกาแฟขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกายมากจนสามารถมองข้ามความเสี่ยงจากสารพิษในกาแฟได้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ต่างๆ ได้กล่าวพ้องกันประมาณว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมล็ดกาแฟคั่วแล้วมีการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่กำหนดตามรัฐบัญญัติ  the Emergency Planning and Community Right-to-Know Act) ในปริมาณน้อย ในความเป็นจริงแล้วสารอะคริลาไมด์นั้น เป็นสารปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในปริมาณน้อยๆ จนดูเป็นของธรรมดาในเมล็ดกาแฟคั่วและอาหารอื่นที่ปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น มันฝรั่งทอด บิสกิต และอาหารทารกของบางบริษัท แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ทนายความของบริษัทขายกาแฟ กลับมักง่ายอ้างด้วยความรู้สึกว่า ปริมาณของอะคริลาไมด์นั้นมีค่อนข้างต่ำ จนความเสี่ยงต่อสุขภาพเนื่องจากการดื่มกาแฟนั้นไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งคำพูดดังกล่าวนั้นขาดการสนับสนุนทางวิชาการที่หนักแน่นพอ ศาลจึงไม่รับฟัง เมื่อสืบดูข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟแล้ว ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพค่อนข้างเชื่อว่า กาแฟนั้นมีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งในผู้บริโภค ศักยภาพในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟนั้น อาศัยหลักการว่า หลังจากเมล็ดกาแฟถูกคั่วแล้วสีของเมล็ดจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งเกิดจากการไหม้และควันที่เกิดจากการคั่วลอยกลับลงมาเคลือบผิวเมล็ด ซึ่งทำให้กาแฟมีกลิ่นไหม้ที่มนุษย์ชอบ ในความเป็นจริงแล้วนักพิษวิทยาทราบมานานแล้วว่า ที่ใดมีควันที่นั่นมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอนเสมอ แต่สารพิษกลุ่มนี้มีอยู่ในปริมาณไม่มากจนก่อให้เกิดพิษในคนส่วนใหญ่ ประการสำคัญคือ สารพิษปริมาณน้อยนี้ (น่าจะ) ช่วยกระตุ้นระบบเอ็นซัมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับสารพิษอื่น ๆ ในอาหารที่เรากินออกจากร่างกายด้วยอัตราที่เร็วขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องดื่มกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมคือ 3 - 4 แก้วต่อวันดังนั้นการที่รัฐแคลิฟอร์เนียเตรียมพร้อมบังคับให้ร้านกาแฟติดประกาศเตือนดังกล่าว ดูไปก็เหมือนการเหวี่ยงแหโดยไม่ได้หวังปลาสักเท่าใดนัก เพราะผู้ประกอบการต่างๆ ไม่ใคร่กังวลในเรื่องการติดประกาศนี้ อาจเป็นเพราะคนอเมริกันก็ไม่ได้ใส่ใจในการอ่านฉลากหรือประกาศเช่นกันข้อบังคับทางกฎหมายของ California’s Proposition 65 นี้ ปรากฏว่ามีคนอเมริกันนำไปทำให้ดูเป็นของเล่น ตัวอย่างเช่น ป้ายเตือนติดในที่สาธารณะที่ว่า WARNING: The Disneyland resort contains chemicals known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm หรือ WARNING: Breathing the air in this parking garage can expose you to chemicals including carbon monoxide and gasoline or diesel engine exhaust, which are known to the State of California to cause cancer and birth defects or other reproductive harm เป็นต้น ตัวอย่างตลกอื่นๆ สามารถหาดูได้จาก Googleเว็บไซต์เกี่ยวกับมะเร็งเว็บหนึ่งได้กล่าวเป็นเชิงว่า มีการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยปกป้องผู้ป่วยจากมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก” นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายคนได้กล่าวในอินเทอร์เน็ตประมาณว่า การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า “การดื่มกาแฟอาจช่วยป้องกันผู้ดื่มจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ดื่มกาแฟที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ไม่ดื่มกาแฟ” อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถตอบแบบ ฟันธง ให้ศาลยุติธรรมเข้าใจได้ เนื่องจากข้อสรุปที่ได้นั้นจำต้องอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า อาจจะ ซึ่งเป็นกรอบการพูดภาษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องรอบคอบ เนื่องจากการทดสอบหรือหาข้อมูลในมนุษย์นั้นมีปัจจัยแฝง(confounding factor) หลายประการที่อาจทำให้สิ่งที่ไม่น่าเกิดกลับเกิดขึ้นมาได้ในภาวะใดภาวะหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 กระแสต่างแดน

แบบนี่สิ “ซูเปอร์”ต่อไปนี้ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องการเรียกตัวเองว่า ซูเปอร์มาเก็ต ในเวียดนามจะต้องผ่านเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า  “ซูเปอร์มาเก็ต” ต้องมีพื้นที่มากกว่า 250 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 9,999 ตารางเมตร (หากพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปจะเป็น “ศูนย์การค้า”) และต้องเปิดให้บริการระหว่างสิบโมงเช้าถึงสี่ทุ่มเป็นอย่างต่ำนอกจากข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวอาคาร อุปกรณ์ในร้าน วิธีการเก็บรักษาสินค้า รวมถึงบริการที่ต้องจัดให้สำหรับเด็กและผู้พิการแล้ว เขายังระบุเงื่อนไขการทำโปรโมชั่นด้วย...ซูเปอร์มาเก็ตจะจัดโปรฯ ลดราคาได้ไม่เกินสามครั้งต่อปี แต่ละโปรฯ จะต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน และโปรโมชั่นใหม่ต้องทิ้งระยะห่างจากโปรฯ ก่อนหน้า ไม่ต่ำกว่า 30 วันที่สำคัญ “โปรฯ ลดราคา” หมายความว่าต้องมีสินค้าในร้านมากกว่าร้อยละ 70 ที่ปรับราคาลดลง เรื่องขยะ ต้องขยับหลายประเทศตื่นตัวและเริ่มลงมือจัดการกับขยะพลาสติกที่กำลังจะท่วมโลกมานานแล้ว สิงค์โปร์เพื่อนบ้านของเราก็จัดการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เขายังไม่หยุดแค่นั้น  ล่าสุดองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์เตรียมกำหนดให้ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาเก็ตรายงาน ปริมาณถุงพลาสติกที่ใช้ ขยะจากหีบห่อสินค้า รวมถึงนำเสนอแผนลดการใช้พลาสติกต่อรัฐฯ ภายในปี 2021  เขาบอกว่าอาจมีมาตรการจูงใจด้วยการลดภาษีเพื่อตอบแทนผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ รัฐบาลก็สนับสนุนให้เอกชนร่วมมือกันจัดเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ภายใต้โครงการ (RENEW: Recycling Nation’s Electronic Waste Programme) ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปฝากทิ้งได้ที่สาขาของร้าน Best Denki ร้าน Courts ร้าน Gain City และร้าน Harvey Normanของมันต้องมีธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสวิตเซอร์แลนด์และบริษัทด้านการเงิน UBS สำรวจราคาของสินค้าที่มนุษย์มิลเลเนียลต้องมีใน 11 เมือง (นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส ซูริค ดูไบ ฮ่องกง โจฮันเนสเบิร์ก มอสโคว บัวโนสไอเรส โตรอนโต และกรุงเทพฯ“ของ” ดังกล่าวได้แก่ ไอโฟน คอมพิวเตอร์พกพา กางเกงยีน รองเท้าผ้าใบ ค่าสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ กาแฟ บิ๊คแม็ค และอโวคาโด  เขาพบว่า มิลเลนเนียล(คนที่มีอายุระหว่าง 22 ถึง 34 ปี ซึ่งจะเป็นคนส่วนใหญ่ในการขับเคลื่อนธุรกิจ) ชาวบางกอก ต้องใช้เงินซื้อ “ของต้องมี” มากกว่ามิลเลนเนียลในฮ่องกงหรือดูไบ  คุณสามารถซื้อสินค้าทั้ง 8 อย่างได้ในราคา 1,825 เหรียญ (59,500 บาท) ที่ฮ่องกง และ 2,004 เหรียญ (65,500 บาท) ที่ดูไบ  แต่หากซื้อที่กรุงเทพฯ คุณต้องจ่ายถึง 2,131 เหรียญ (69,500 บาท)  เฉพาะทะเบียนปักกิ่งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนปีหน้า รถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในปักกิ่งจะไม่สามารถวิ่งหรือจอดในเมืองนี้โดยไม่มีใบอนุญาต ทั้งนี้ผู้ขับขี่สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ปีละ 12 ครั้ง แต่ละครั้งเป็นระยะเวลาเจ็ดวันติดต่อกันปักกิ่งใช้ระบบจับฉลากทะเบียนรถมาตั้งแต่ปี 2010 ผู้ที่ต้องการซื้อรถต้องลุ้นโชคเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของทะเบียน คนที่ไม่รอโชคชะตาก็จะหันไปพึ่งพาตัวแทนขายรถให้ดำเนินการจดทะเบียนที่เมืองอื่นให้ ด้วยค่าบริการ 4,500 หยวน (ประมาณ 23,000 บาท)จากนั้นเจ้าของรถก็ขอใบอนุญาตออนไลน์เพื่อนำรถเข้ามาใช้ในเมืองได้ครั้งละเจ็ดวัน ปัจจุบันสถิติการขอใบอนุญาตสูงถึง 725,000 ใบต่อสัปดาห์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรถยนต์สัญจรไปมาในตัวเมืองปักกิ่งมากกว่าวันละ 700,000 คัน มาตรการดังกล่าวจึงออกมาเพื่อลดความแออัดบนท้องถนน ลดมลภาวะในเมือง และทำให้ผู้คนกลับไปเชื่อมั่นในนโยบายจับฉลากมากขึ้น อาหารก็เปลี่ยนปัญหาโลกร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกรเท่านั้น งานวิจัยจากลอนดอนพบว่าภาวะแห้งแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นสามารถส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการของผลผลิตทางการเกษตรด้วยนักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าคุณค่าทางอาหารของพืชหลักที่เราบริโภคนั้นเริ่มลดน้อยลง แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเพราะการปลูกแบบเชิงเดี่ยวที่เน้นปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งที่พืชต้องใช้ในการเติบโต แต่การได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเร่งกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้พืชผลิตคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวอย่างกลูโคสมากขึ้น ในขณะที่ผลิตโปรตีน สังกะสี และเหล็กน้อยลงปัจจุบันร้อยละ 76 ของประชากรโลกพึ่งพาโปรตีนจากพืชอย่างข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และมันฝรั่ง มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดระบุว่า ภายในปี 2050 จะมีคน 150 ล้านคนเป็นโรคขาดโปรตีนเพราะความเปลี่ยนแปลงทางอากาศ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 กระแสข่าวในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2561ประกาศ “ควบคุมสัญญาห้องเช่า” ยังมีผล เมื่อศาลปกครองกลางไม่รับคุ้มครองชั่วคราว 14 มิ.ย.61 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ในคดีที่เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่อที่อยู่อาศัยยื่นฟ้องคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา และ สคบ. ต่อศาลปกครองกลาง ว่าร่วมกันออกประกาศดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อให้ สคบ. ใช้เป็นมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำสัญญาเช่าให้บรรลุผล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งทุเลาตามคำร้องก็จะทำให้ สคบ.ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ สคบ. ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบได้ทันท่วงที ส่วนการออกประกาศดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปกฟภ. เตือนชาวบ้าน ระวังมิจฉาชีพลวงติดชุดประหยัดไฟ นายพิชัย ตติยสุขพร พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.คง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า และพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อติดตั้งชุดประหยัดไฟ และเครื่องป้องกันไฟช๊อตในราคา 7,500 บาท จึงได้ไปตรวจสอบและพบกลุ่มบุคคลดังกล่าว พร้อมได้บันทึกภาพถ่ายเก็บไว้ แต่ปรากฏว่ามีการเรียกพรรคพวกหลายสิบคนเข้ามาห้อมล้อมคุกคามให้ลบภาพถ่ายดังกล่าวออก แล้วรีบขึ้นรถขับออกไปอย่างรวดเร็วจึงอยากขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่มาแอบอ้างว่าเป็นพนักงานการไฟฟ้า ถ้ามีกลุ่มคนมาแอบอ้างในลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ให้ร้องเรียนที่สายด่วนศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า 1129  หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าตรวจสอบทันทีกสทช.ประกาศยุติการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เหตุค่ายมือถือเมินนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประกาศยุติประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) หลังจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นรายสุดท้ายได้ประกาศไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จากก่อนหน้านี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เรื่องการไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ต่อจาก กลุ่มทรู ที่เป็นรายแรก ในการไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800ทั้ง 3 ราย ให้เหตุผลว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาวนั้น เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า คาดการณ์ผิด เนื่องจากการประมูลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวทางของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ กสทช. จัดการประมูล ก่อนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นี้ พร้อมระบุว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่สามารถปรับลดเหลือ 16,000 ล้านบาท ตามที่ดีแทคเสนอ เนื่องจากจะเกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ที่ชนะการประมูลรอบที่แล้วในราคา ประมาณ 40,000 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วร้อยละ 70 ส่วนมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 MHz จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเปิดประมูลไม่ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน อย่างไรก็ตาม กสทช. จะเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคา กสทช. คงปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะจะเกิดข้อครหากับสังคม เนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้กำลังจะจ่ายค่าประมูลครบถ้วนแล้ว  สรรพากรชี้แจง ข่าวขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ไม่เป็นจริงสำนักข่าวไทย รายงานว่ากรมสรรพากรได้ออกประกาศชี้แจงกรณีข่าวในโซเชียลระบุรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มเป็น 9% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นั้นไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาได้มีกระแสความเข้าใจคลาดเคลื่อนลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกหลงเชื่อข่าวดังกล่าวและขอให้ช่วยแชร์ข้อมูลนี้ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อๆ ไปด้วย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161คอบช. ยื่นข้อเสนอ ก.พลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเมื่อ 13 มิ.ย.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านบริการสาธารณะ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค 8 ข้อ ได้แก่ 1) ขอให้ยกเลิกการคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์) ซึ่งใช้กลไกราคาเสมือนการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ที่มีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย รวมเข้ากับราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ และเปลี่ยนมาใช้กลไกราคาเทียบเท่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปประเทศสิงคโปร์และไม่เกินราคาของประเทศสิงคโปร์ที่มีราคาต่ำกว่า 2) ให้ปรับปรุงราคาเอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศ ให้มีราคาใกล้เคียงกับราคาจากประเทศผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตเอทานอลทั้งภาคเกษตรและภาคการผลิต3) กำหนดราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ไว้เท่าเดิมที่ 333 เหรียญต่อตัน โดยไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชย และให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก4) หยุดการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานชั่วคราว 5) แก้ไขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 โดยเก็บจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก่อน6) ขอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 7) ให้รัฐบาลใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ใช้กองทุน8) ขอให้รัฐบาลจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้เสร็จก่อนการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 สิทธิผู้รับบริการ กรณีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

17 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีสองข่าวใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อในสื่อออนไลน์ ข่าวแรก คือ วินจักรยานยนต์รับจ้างบุกประท้วงบริษัทแกร็บไบท์ และข่าวที่สอง วินจักรยานยนต์เตะหน้านักท่องเที่ยวกลางเมืองพัทยา  โดยทั้งสองข่าวเป็นเรื่องของจักรยานยนต์รับจ้าง ถึงตรงนี้สองข่าวจะเกี่ยวกันยังไงตามมาดูกันครับข่าวแรก กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพมหานคร รวมตัวประท้วงเผาเสื้อวินเป็นสัญลักษณ์ ที่หน้าอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัท แกร็บ ประเทศไทย เรียกร้องให้ หยุดนำรถจักรยานยนต์ป้ายขาวมารับส่งผู้โดยสาร หลังจากมีเหตุปะทะรุนแรงเพื่อแย่งผู้โดยสารกันมาโดยตลอด การรวมตัวประท้วงใหญ่ครั้งนี้  ถือเป็นการส่งสัญญาณจากกลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างที่เป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจ เพราะเห็นว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะจัดระเบียบและเข้มงวดกับกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่กลับละเลยต่อการควบคุมจัดการกับกลุ่มรถรับจ้างที่เจตนาทำผิดกฎหมาย แน่นอนว่าการเข้ามาตีตลาดกินส่วนแบ่งของธุรกิจรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชัน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการรายเดิมอย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะฐานลูกค้าเดิมหายไป มีผลทำให้มีรายได้ลดลง และผู้ให้บริการรถรับจ้างแบบใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ แทบไม่ต้องทำตามกฎหมายเพื่อให้เป็นรถรับจ้างเลย เช่น  1. นำรถส่วนบุคคลมาวิ่งได้ ไม่ต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะ  2.  ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะก็วิ่งรับส่งคนโดยสารได้  3. ไม่ต้องมีหน่วยงานกำกับควบคุม และ  4. ไม่ต้องมีเสื้อวิน ไม่ต้องมีสถานที่ตั้ง (วิน) ก็วิ่งได้ เป็นต้น  ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างว่า ในขณะที่ผู้ให้บริการรายเดิมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่รัฐกำหนดไว้ให้ทุกอย่าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่มีกติกาของรัฐควบคุมเลยทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นที่นิยมต้องการของผู้บริโภคจำนวนมากอีกด้วย ข่าวที่สอง จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิป ชายขับวินจักรยานยนต์รับจ้าง เตะเข้าที่ใบหน้านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เมืองพัทยา ภายหลังถูกตำรวจตามรวบตัวได้ อ้างถูกด่าก่อนจึงเกิดบันดาล สุดท้ายโดนดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับในข้อหาทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่สอบหนักขึ้นจึงพบว่า ผู้ต้องหารายนี้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาต แต่งกายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และฝ่าฝืนใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างให้บริการ  ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท  และขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจสอบไปถึงคนขับรถในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ผู้ต้องหารายนี้ขับรถอยู่ด้วย โดยมีคำสั่งให้ระงับการขอเพิ่มรถจักรยานยนต์ในวินเป็นเวลา 6 เดือน และเรียกสมาชิกทุกคนในวินเข้ามารายงานตัว พร้อมกำชับตักเตือนคาดโทษหนักสุด หากพบมีความผิดซ้ำมีโทษถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนได้ทันทีเห็นหรือยังครับว่าสองข่าวนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร  ประเด็นคือ ท่ามกลางการเรียกร้องสิทธิและข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อไม่ให้มีธุรกิจแบบแกร็บไบท์เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด โดยอ้างสภาพเศรษฐกิจ สังคม จนถึงการทำลายระบบขนส่งของประเทศชาติ แต่ความเสี่ยงของผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา โดยที่ยังพบเห็นได้ทั่วไปในวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบางแห่งที่มีรถส่วนบุคคลป้ายขาวร่วมวิ่งให้บริการรับส่งคนโดยสารอยู่เหมือนเป็นปกติ หรือคิดราคาเอาเปรียบผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงปัญหาด้านความปลอดภัย อาทิ ขับรถเร็ว วิ่งย้อนศรสวนเลน การฝ่าฝืนกฎจราจร และอีกมากมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตราบใดที่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ถูกจัดการแก้ไข เมื่อผู้ให้บริการเดิมยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคย่อมต้องมีสิทธิที่จะหาทางเลือกใหม่ที่ดีและตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า  ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  คือ สิทธิที่มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ อย่างไรก็ดีแม้ในทางปฏิบัติจะเชื่อได้ว่าผู้บริโภคส่วนมากยังนิยมการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างแบบเดิมอยู่ เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย ใช้ประจำในระยะทางสั้นๆ แต่หากยังปรากฎพบเห็นพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้างตามสื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ย่อมมีส่วนทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเสี่ยงกับการใช้รถรับจ้างทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์การเดินทาง ทั้งที่เป็นรถผิดกฎหมายก็ตาม นั่นก็เพราะผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกแล้วนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >