ฉบับที่ 210 เข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคม

เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม เป็นเอกสารแจ้งรายละเอียดเงินสมทบกรณีชราภาพ ตั้งแต่ปีที่เริ่มทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสในสังคมเกี่ยวกับการตรวจสอบเงินสมทบว่า สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่ใดบ้าง  ฉบับนี้จึงขอมานำเสนอข้อมูลการเข้าตรวจสอบดังกล่าวให้ได้ทราบกันขอให้ความรู้สักนิดเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม โดยปกติการมีสิทธิประกันสังคมได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ทำงานและเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 (ยังทำงานในสถานประกอบการ) หรือเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ออกจากงานและยังส่งเงินประกันสังคมต่อ) แต่ปัจจุบันมีมาตรา 40 ขึ้นมาเพื่อรองรับประชาชนที่ต้องการมีสิทธิประกันสังคมในเรื่องการทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ เงินชราภาพและกรณีเสียชีวิต แต่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทอง 30 บาท         กลับมาที่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลสิทธิประกันสังคมให้เข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม                    ได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน เริ่มต้นจากการคลิกสมัครสมาชิก โดยเว็บไซต์จะให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน รหัสผ่านที่ตั้งขึ้น ชื่อนามสกุล เบอร์มือถือ วันเกิดและเมล จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP เข้าเบอร์มือถือที่ให้ไว้ และนำไปกรอกบนหน้าเว็บไซต์ คลิกยืนยัน  หลังจากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งขึ้น เพื่อเข้าสู่ระบบ ต่อจากนั้นผู้อ่านสามารถคลิกเข้าไปที่คำว่าผู้ประกันตน ซึ่งภายในจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคม ดังนี้ ข้อมูลผู้ประกันตน ข้อมูลการส่งเงินสมทบ ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ และตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ในข้อมูลผู้ประกันตน จะแจ้งข้อมูลชื่อนามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานพยาบาลที่เลือกไว้ ในส่วนข้อมูลการส่งเงินสมทบ จะแสดงรายละเอียดงวดเงินสมทบ วันที่ชำระเงิน จำนวนเงินสมทบที่นำส่ง โดยจะมีข้อมูลแยกเป็นรายเดือน สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน เป็นการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิที่ผู้ประกันตนเคยขอรับ อย่างเช่น กรณีการทำฟันที่จะเบิกได้ปีละ 900 บาท เป็นต้น ต่อไปเป็นการคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ จะเป็นรายละเอียดเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างเป็นยอดรวมจำนวนเงินในแต่ละปี ซึ่งเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้ประกันตนรู้ว่าเงินออมที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมีจำนวนเท่าไร เรื่องการยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ก็จะใช้เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล ซึ่งจะสอดคล้องกันกับเรื่องประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล อันสุดท้ายคือเรื่องตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้สำหรับผู้ที่ต้องการใบเสร็จรับเงินโดยต้องสมัครขอรายละเอียดในเรื่องนี้ตามขั้นตอนต่อไป หลายคนอาจไม่เคยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินประกันสังคมของตนเองเลย หรืออาจไม่เคยเข้าใจว่าเมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนแล้วจะมีเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออม ดังนั้นการได้รู้และเข้าถึงข้อมูลของตนเองถือว่าเป็นสิทธิและเป็นข้อดีสำหรับเราแม้ว่าคนไหนจะเคยทำงานเมื่อนานมาแล้ว และไม่ได้ทำงานมาหลายปี แต่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ก็สามารถติดต่อขอรับสิทธิเงินสงเคราะห์ชราภาพหรือเงินออมได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (1)

ข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องสำอางและอาหารเสริมผิดกฎหมาย ที่มีดารานักร้องนักแสดงหลายรายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนหันมาสนใจและเริ่มตั้งคำถามว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่เราใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านหันมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เริ่มต้นจากบ้านของเราเอง เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกของบ้านเราห้องครัว : เป็นห้องที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทุกคนในบ้าน ผลิตภัณฑ์ที่พบในห้องครัวส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ ถ้าเป็นอาหารสด เราคงรู้อยู่แล้วว่าต้องเก็บรักษาอย่างไรเพื่อไม่ให้เน่าเสีย ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างให้สะอาด ยิ่งเป็นอาหารที่รับประทานสดๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านความร้อน (เช่น ผัก ผลไม้) ยิ่งต้องล้างให้สะอาด เพื่อกำจัดสิ่งอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง ไข่พยาธิ ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ หากบรรจุในภาชนะปิดสนิท เช่น ขวด กระปุก กระป๋อง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องขออนุญาตก่อนผลิตจำหน่าย ซึ่งเราจะสังเกตได้จากเลขสารบบอาหาร ซึ่งจะแสดงในกรอบเครื่องหมาย อย. แต่เพื่อความปลอดภัย เราควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ บนฉลากเพิ่มเติม เช่น มีชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน นอกจากนี้ อย่าลืมดูวันผลิตหรือวันหมดอายุด้วย (ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เก็บได้นานหลายปี กฎหมายยกเว้นไม่ต้องแสดงวันหมดอายุ) และที่สำคัญอย่าลืมดูว่าของที่เหลืออยู่นั้น มันเลยวันหมดอายุที่ระบุตรงฉลากหรือไม่ หรือถ้าเราเก็บมานานหลายปีแล้ว หากไม่มั่นใจก็อย่าเสียดาย นำไปทิ้งดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านของเรา นอกจากรายละเอียดทั่วๆ ไปบนฉลากแล้ว หากเราลองอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบหรือฉลากโภชนาการต่างๆ เราก็จะทราบข้อมูลพวกสารอาหารหรือวัตถุเจือปนต่างๆ ด้วย เช่น ทราบว่ามีน้ำตาล เกลือ ไขมัน หรือพลังงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสมาชิกในครอบครัว หากจะต้องจำกัดการบริโภคอาหารบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจต่างๆนอกจากผลิตภัณฑ์อาหารที่เราใช้ปรุงรับประทานแล้ว พบว่าหลายบ้านยังซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานด้วย อย่าลืมว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเท่านั้น มันไม่สามารถรักษาโรคได้” เพียงแต่มันอาจมีการเติมวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางอย่างเพิ่มเข้าไป เพื่อจูงใจผู้ซื้อหรือประโยชน์ในการอ้างตอนโฆษณา ดังนั้นหากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสมาชิกในบ้าน มีการระบุสรรพคุณทางยา เช่น ระบุว่ารักษาโรคต่างๆ หรือลดความอ้วน ได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายแน่นอน หรือแม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบจะแสดงฉลากถูกต้อง แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหลังรับประทานไปเพียงไม่กี่วัน เช่น ผอมลงทันที หรือผลการตรวจเลือดต่างไปจากเดิม แสดงว่าอาจมียาหรือสิ่งอันตรายเจือปนอยู่ได้ห้องน้ำและห้องนอน : ส่วนใหญ่เรามักจะพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ ในสองห้องนี้ (บางคนอาจเก็บเครื่องสำอางบางชนิดในตู้เย็น) เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเพื่อประทินผิว จึงไม่สามารถรักษาโรคหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายได้ โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นเครื่องสำอางพื้นฐานที่เราใช้กันอยู่ เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ มักไม่ค่อยพบปัญหา แต่หากเป็นเครื่องสำอางบางชนิด เราต้องระวัง (อ่านต่อฉบับหน้านะครับ) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 “แชทเป็นพิษ”

 “เมื่อบุคคลใดเป็นลูกหนี้ของบุคคลอื่น ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่หาช่องทางหลีกเลี่ยงจนก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ฝ่ายผู้อื่น” “แชทเป็นพิษ”โลกในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตแทบทุกระดับของสังคม ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างใช้ช่องทางเทคโนโลยี ในการติดต่อและทำธุรกรรมกันอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งเรื่องของการหยิบยืมเงินทองก็ใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  เมื่อเร็วๆ นี้ มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ “เรื่องการแชทขอกู้ยืมเงินเท่ากับการทำสัญญากู้ยืมเงิน” ซึ่งเปิดเผยข้อมูลโดยสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมายว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และมีหลักกฎหมายที่เข้ามาใช้พิจารณาได้จริงหรือไม่ โดยบทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลต่อผู้อ่านให้สามารถเข้าใจ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเรื่องที่จำเลยได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์เป็นเงินกว่าสามแสนบาท โดยมีการขอยืมเงินผ่านช่องทางแชทสนทนาในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วมีการโอนเงินผ่านธนาคารให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยจึงนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัว ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและกดสลิป ภายหลังจำเลยปฏิเสธไม่ชำระหนี้ โดยอ้างเหตุว่าฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” คดีนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงฟ้องไม่ได้”ศาลฎีกาในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556 ได้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้ในการตัดสิน เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีข้อความตอนหนึ่งที่ว่า “…การทำธุรกรรมในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการติดต่อสื่อสารที่อาศัยการพัฒนาการเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีความแตกต่างจากวิธีการทำธุรกรรม ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้ต้องมีการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ การรับรองวิธีการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้น่าเชื่อถือ และมีผลในทางกฎหมายเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมโดยวิธีการทั่วไปที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม….” การใช้กฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับ  จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการพัฒนาการใช้และการตีความกฎหมายของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำความเข้าใจผ่านประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นแรก “ฟ้องโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่” การที่จำเลยสมัครใจขอกู้ยืมเงินจากโจทก์กว่าสามแสนบาทในแชทสนทนาและตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด ถือเป็นการสมัครใจทำธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว” จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วประเด็นที่สอง “ฟ้องโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่” การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินสดรวม 8 ครั้ง ซึ่งการถอนเงินสดดังกล่าวจำเลยจะต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ 6 ถึง 36 เดือน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ (5,000 ถึง 20,000 บาท ต่อรายการ) และรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐานซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย ถือเป็นอักษร อักขระ ตัวเลข ที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น จึงเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของจำเลย ตามมาตรา 3 และเมื่อพิจารณาประกอบกับหลักฐานเป็นหนังสือตามประเด็นแรก และมาตรา 9 บัญญัติว่า   “ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน...” เมื่อโจทก์แสดงใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ประกอบทั้งจำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ รวม 11 รายการ โจทก์จึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยฝ่ายผู้ต้องรับผิดมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรก ข้อต่อสู้จำเลยฟังไม่ขึ้น และบรรทัดฐานดังกล่าว เป็นที่มาของคำพิพากษาในเวลาต่อมาอีกฉบับหนึ่ง คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 เป็นเรื่องที่โจทก์ประชดจำเลยโดยการปลดหนี้ให้ในแชทสนทนา ศาลก็นำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตีความว่าเป็นการปลดหนี้โดยได้ทำเป็นหนังสือแล้ว จึงมีผลเป็นการปลดหนี้ที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วจากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการตีความข้อความในแชทสนทนาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถือเป็นตัวอย่างบรรทัดฐานที่ดีต่อสังคมส่วนรวมและเป็นการชี้แนะแก่ตัวลูกหนี้ด้วยว่า “เมื่อบุคคลใดเป็นลูกหนี้ของบุคคลอื่น ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องดำเนินการชำระหนี้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่หาช่องทางหลีกเลี่ยงจนก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ฝ่ายผู้อื่น” ถือเป็นคำพิพากษาที่พัฒนาการใช้กฎหมายได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในมิติของเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค

รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภคจากเหตุการณ์ รถทัวร์สองชั้นไม่ประจำทาง ที่เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนเพิงพักของชาวบ้านข้างทาง บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย นั้น  ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก และหลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ต่างพูดกันถึงอนาคตรถสองชั้นว่าจะไปยังไงต่อ อย่างกระทรวงคมนาคมที่สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งศึกษาแนวทางกำหนดการให้บริการของรถโดยสารหมวด 30 (สามศูนย์) หรือ รถโดยสารไม่ประจำทาง โดยเฉพาะรถสองชั้นที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 คัน โดยให้มีการกำหนดเส้นทาง รวมทั้งพื้นที่ให้บริการใหม่ทั้งหมด เช่น การจำกัดว่าเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยจะไม่อนุญาตให้ทำการวิ่งโดยเด็ดขาด หรือ จำกัดให้วิ่งเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ โดยจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงยังมีประเด็นผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสาธารณะทั่วไปอีกว่า ในปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากท้องถนนในประเทศไทย แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางแก้ไขปัญหารถสองชั้นของกระทรวงคมนาคมที่สั่งกรมการขนส่งทางบกให้คิดแผนจัดการออกมา รวมถึงไม่มีการแก้ไขข่าวสารที่สื่อมวลชนระดมว่าปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากประเทศไทยด้วยจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบเหงานี้ ผู้บริโภคจะต้องรู้อะไรบ้าง เพราะผู้บริโภคยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงกันเอง และคาราคาซังกันต่อไปว่า รถสองชั้นปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเวทีเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวนขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วม เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถสองชั้น รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยนำเสนอข้อมูลว่า รถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถชั้นเดียว ถึง 8 เท่า และรถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 10 เท่า โดยเป็นการเทียบจำนวนอุบัติเหตุกับจำนวนรถจดทะเบียน หรือที่เรียกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คันนอกจากนี้จากข้อมูลการศึกษาเชิงลึกจากสถิติอุบัติเหตุรถสองชั้นพบว่า รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด และยังพบอีกว่าในรถสองชั้นเมื่อเกิดการพลิกคว่ำจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ารถชั้นเดียว ถึง 3 เท่า ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ 8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค คือ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง แต่อย่างไรก็ดี การจะผลักดันและขับเคลื่อนให้ข้อเสนอต่อมาตรการความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อในประเด็นรถสองชั้นให้มีผลในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย อีกทั้งผู้แทนกรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงที่มาร่วมเวทีก็ยังไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่า จากข้อเสนอ 8 ข้อ มาตรการอะไรบ้างที่กรมการขนส่งทางบกจะทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหารถสองชั้น แต่กลับกันสิ่งที่คิดว่าได้รับคำตอบชัดเจนและคลายข้อสงสัยได้ คือ ในปี 2563 จะยังมีรถสองชั้นวิ่งอยู่ ไม่ได้หมดไปตามที่ข่าวลงไว้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม

ซูเปอร์มาร์เก็ต คือหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว การเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงและสร้างงานโดยอ้อมจำนวนมาก การเป็นปลายทางของสินค้าของซัพพลายเออร์  เกษตรกร ชาวประมงและผู้ประกอบการรายย่อยอีกนับล้านทั่วประเทศ หากจะกล่าวว่าซูเปอร์มาร์เก็ต คือคนกลางที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคนับล้านเข้าด้วยกันคงจะไม่ผิดนักปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอาหารของซูเปอร์มาร์เก็ตงานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (2561) ชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ในหลายประเทศทั่วโลก เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหาร กลายเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) เนื่องมาจากรายได้ที่จากการขายสินค้าการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ การขาดอำนาจการต่อรอง และพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาไปถึงผู้ซื้อ ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปนั้น มีรายได้ที่เติบโตน้อยกว่าค่าครองชีพ ทำให้แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา ในบางรายต้องทำงานเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และพบแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงสัญญาการจ้างงาน การต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการหางานและเข้าทำงาน จนก่อให้เกิดปัญหาความยากจนแม้ว่าจะมีงานทำ(In-work Poverty) ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ที่สามารถใช้อำนาจต่อรองในฐานะผู้ซื้อผ่านนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ว่ามีนโยบายครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร เป็นที่มาของงานรณรงค์ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก  โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ที่จะเริ่มต้นด้วยการใช้ กรอบการประเมินนโยบายด้านความเท่าเทียมและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทค้าปลีก  เพื่อมองภาพสถานการณ์ของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  โดยหวังให้เกิดความร่วมมือหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขายอาหารรายใหญ่ในระบบอาหารของไทย บริษัทค้าปลีกที่ได้รับการประเมินนโยบายในปี 2560-2561 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะนั้น พิจารณาจากมูลค่าการตลาด สัดส่วนของกลุ่มสินค้าอาหาร และความสำคัญต่อกลุ่มผู้บริโภคในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการติดต่อและได้รับการประเมินมีทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ท, ซีพี เฟรชมาร์ท, และ Gourmet Market    ทั้งนี้นอกเหนือจากประเทศไทยซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความเป็นธรรมและยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยมีองค์การอ็อกแฟมในระดับสากลเป็นองค์กรผู้ประเมิน โดยใช้กรอบการประเมินชุดเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศไทยกรอบและแนวทางการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทยกรอบการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทย เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นอ้างอิงมาจากกรอบ Food Retailers Accountability Tool ขององค์การอ็อกแฟมในระดับสากล โดยประกอบไปด้วยการประเมินใน 4 มิติ คือด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการรายย่อย และด้านสตรี ซึ่งทั้งสี่มิติถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาหารที่โปร่งใสและเป็นธรรมมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ พิจารณาจากการมีนโยบายและการกำกับดูแล ตลอดจนคณะกรรมการหรือผู้บริหารที่ดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท(Human Rights Due Diligence) การพัฒนาและปรับใช้กลไกร้องทุกข์และการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ(Grievance Mechanism and Remedy) ตลอดจนการมีมาตรฐานจริยธรรมทางการค้าและการตลาด(Ethical Marketing Standards)มิติด้านแรงงาน ครอบคลุมถึงการมีนโยบายสิทธิแรงงานสำหรับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทงยึดตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ เช่น แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ การจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ การไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับใช้ในองค์กร ตลอดจนการสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานมีนโยบายและแนวปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกจากนี้มิติด้านแรงงานยังให้ความสำคัญกับการที่บริษัทเข้าร่วมหรือจัดตั้งการริเริ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่น่าเชื่อถือ(Credible Multi-stakeholder Initiatives) เพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพมิติด้านผู้ประกอบการรายย่อย การประเมินในมิติผู้ประกอบการรายย่อยนั้น องค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessments: HRIAs) ของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย การสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงของผู้ผลิต การมีแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม การสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองของผู้ผลิต ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มรายได้ของผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานมิติด้านสตรี เน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทและความสำคัญของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาจากการลงนามพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ(UN Women's Empowerment Principles), ความโปร่งใสในการติดตามและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสตรีในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท การประเมินผลกระทบของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อสตรี การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับปรุงบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้นหลักการประเมินจะพิจารณาบนพื้นฐานของนโยบายของบริษัทที่เผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์กร รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนและธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนหลักจริยธรรมพนักงานและนโยบายการจัดซื้อที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น โดยพิจารณาจากนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โครงการ รวมถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และสตรีเหตุผลหลักในการพิจารณาจากข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากสามารถแสดงให้ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลและรับทราบความมุ่งมั่นตั้งใจของบริษัทค้าปลีกในการเป็นองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารระยะเวลาการดำเนินการและการมีส่วนร่วมการประเมินครั้งนี้ทางภาคีทั้งสามองค์กรได้ประสานกับทางบริษัทค้าปลีกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ทางบริษัทได้แสดงความคิดเห็นตลอดจนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ภายใต้กรอบเวลาที่เพียงพอ (4 เดือน) ให้ทางบริษัทสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาในกระบวนการทำงาน ทางภาคีทั้งสามให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล และคำอธิบายเพิ่มเติมแก่ทางบริษัทค้าปลีกที่ถูกประเมิน ตลอดจนยินดีตอบคำถามและข้อสงสัยเพื่อให้ทางการจัดทำ Scorecard ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เชิญทางซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด เข้าร่วมพบปะเพื่อร่วมรับฟังหลักการและเหตุผล กรอบและแนวทางการประเมินนโยบาย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคเอกชนสามารถสอบถามข้อมูลและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินในครั้งนี้นอกจากนี้ในระหว่างช่วงที่ทำการประเมิน บริษัทยังสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายด้วย ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  ข้อสรุปจากการประเมินนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทยทั้ง 8 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-เมษายน 2561 มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้1. ซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยในภาพรวมยังมีระดับของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอาหาร นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานกับคู่ค้า ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเพียงบางบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดทำรายงานประจำปี และรายงานด้านความยั่งยืนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายรายนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและโปรโมชั่นเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หรือมีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มีผลการประเมินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ 2. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำได้มากกว่ามิติอื่นๆในภาพรวม คือมิติด้านเกษตรกรรายย่อย (Small-Scale Producers) ซึ่งพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 ราย ได้รับคะแนนในประเด็นการส่งเสริมให้เกษตรกรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนจัดการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามประเด็นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยสามารถพัฒนาได้อีกคือการพัฒนานโยบายและข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นธรรม (Sourcing practices and fair deals) เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทได้รับข้อตกลงที่โปร่งใส มั่นคง และยาวนานเพียงพอ ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีอานาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้และให้ได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมเกษตรรายย่อยในปัจจุบันมักเป็นการทำงานเชิงโครงการในแต่ละกลุ่มสินค้าหรือแต่ละพื้นที่มากกว่าเป็นนโยบายที่มีความผูกพันกับองค์กร3. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังสามารถทำให้ดีขึ้นคือมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability) และมิติด้านแรงงาน (Workers) ซึ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ต 3 รายที่ได้รับคะแนนในหมวดดังกล่าว ทั้งนี้ช่องว่างที่สำคัญคือการขาดการศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยงด้านแรงงานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดจนการตรวจสอบด้านมนุษยนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ต่อไป นอกจากนี้มีบริษัทค้าปลีกเพียงส่วนน้อยที่แสดงคำมั่นอย่างเปิดเผยในการยอมรับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล4. มิติด้านสตรีเป็นมิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้รับคะแนนน้อยที่สุด ทั้งนี้ผลการประเมินดังกล่าวมิได้แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสตรีหรือความเท่าเทียมทางเพศ แต่แสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านสตรียังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างชัดเจนและเปิดเผย ตลอดจนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในนโยบายที่ทางบริษัทปรับใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ อย่างไรก็ดีสัญญาณที่ดีที่เห็นได้บางประการคือมีซูเปอร์มาร์เก็ตไทยบางรายมีโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรี หรือวิสาหกิจที่ส่งเสริมอาชีพสตรี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้และลดความเปราะบางให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายจาก 7 รายที่มีผลการประเมิน ทั้งนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีผลการประเมินในแต่ละหมวดแสดงถึงการที่บริษัทค้าปลีกรายนั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความเท่าเทียมของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานโยบายด้านความโปร่งใสที่แตกต่างอย่างมีนัยยะจากองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามภาพรวมของการประเมินชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) มาครอบคลุมถึงประเด็นด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรายย่อย ด้านสตรี และต้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก  ทั้งนี้หากผู้อ่านสนใจหรือต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านรายงาน “ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย กับนโยบายสาธารณะด้านสังคม” ฉบับเต็มได้ที่ www.dearsupermarkets.com------------------------------------------------บทบาทและความสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) โดยมีสัดส่วนสูงถึงราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.4% ภาพของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมมาก ในปี 2544 สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกส่งสมัยใหม่อยู่ที่เพียง 25% ในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้เข้ามาทดแทนธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือมีสัดส่วนเกินกว่า 60% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดนอกเหนือจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานราวร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ คิดเป็นอันดับสามรองจากภาคการเกษตรและภาคบริการ ข้อมูลในในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศมีการจ้างงานประมาณ 6.6 ล้านคนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตและการเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับอำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะของปี 2559 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาด (Market Share) สูงที่สุดในไทยคือ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีรายได้ในปี 2559 อยู่ที่ 218,163 ล้านบาท รองลงมาคือแม็คโคร (172,790 ล้านบาท) และบิ๊กซี (120,918 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งสามแห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาทนอกเหนือไปจากสัดส่วนทางการตลาดที่สูง ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (Market Penetration) และมีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 อันดับแรกของไทยมีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนกระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรายได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ตลอดจนเป็นการลดต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น กล่าวได้ว่าจากนี้ต่อไปหน้าร้านของซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่แค่เพียงสาขานับพันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศเช่นกันในบรรดาสินค้านับหมื่นชนิดที่วางขายอยู่บนชั้นวางสินค้า กลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ คือสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสดต่างๆ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2558) สินค้าประเภทอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ย และเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสำคัญกับซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 สูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จริงหรือ ?

จากผลสำรวจ ปี 2560 พบประชากรไทย ราว 10.7 ล้านคน บริโภคยาสูบ(ชนิดมีควัน) หรือเท่ากับ ร้อยละ 19.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป อันตรายจากการสูบบุหรี่จากผลสำรวจสถิติการสูบบุหรี่ของคนไทย จากโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้บริโภคยาสูบชนิดมีควัน คือ 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราการบริโภคยาสูบในเพศชายร้อยละ 37.7 และในเพศหญิงร้อยละ 1.7และจากการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในช่วงระยะเวลา 30 วัน พบว่า 17.3 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านอย่างน้อยเดือนละครั้งการสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง หญิงมีครรภ์ที่สูบบุหรี่มีโอกาสแท้งลูกมากขึ้น และเด็กที่คลอดออกมาอาจมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มโอกาสของอาการหัวใจวาย และโรคมะเร็งประเภทอื่นๆ อีกด้วยโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดจากการสูบควันนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับลักษณะของการสูบ สารที่สูบ และความถี่ จากสถิติพบว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดประมาณ 10 - 20 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่ การสูดสารพิษและสารก่อมะเร็งจากควันบุหรี่ เช่น เรดอนและเรเดียม-226 เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งจากบุหรี่ธรรมดาสู่บุหรี่ไฟฟ้าจากการให้ข้อมูลที่ชัดเจนทั้งในทางสถิติและคำเตือนที่หน่วยงานรัฐได้พยายามแจ้งสื่อสารต่อประชาชนมาเป็นเวลาหลายสิบปี ทุกคนน่าจะตระหนักดีถึงอันตรายอันร้ายแรงของการสูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามผู้ที่เสพติดการสูบบุหรี่ การละเลิกจากสิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย นวัตกรรมหนึ่งจึงเกิดขึ้น เราเรียกมันว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” หรือให้ถูกต้องคือ “ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่ง “ฉลาดซื้อ” เราจะมาหาคำตอบกันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่(ธรรมดา) จริงๆ หรือ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป จริงหรือ ?   คำตอบคงต้องแบ่งเป็นสองประการ คือ ถ้าจะวัดกันที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปล่อยควันยาสูบที่เป็นอันตราย บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายตรงนี้น้อยกว่าจริง   แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจได้รับมีสารตกค้าง และความเสี่ยงในการรับนิโคตินมากเกินไปบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากบริษัทบุหรี่ว่า อาจไม่มีความปลอดภัยในการใช้ นอกจากนี้บริษัทยาขนาดใหญ่ที่สนใจเกี่ยวกับยาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่ เช่น แผ่นแปะนิโคติน หรือเม็ดอมนิโคติน ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเป็นธูปธรรมต่อกลุ่มสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้มีการห้ามยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยาสูบอิเล็กทรอนิกส์มีผลต่อความอยากบุหรี่ และอาจทำให้เลิกบุหรี่ได้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์และได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ก็เป็นสินค้าผิดกฎหมายในอีกหลายประเทศเช่นกันในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ - พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 มาตรา 10 เรื่องห้ามผลิต นำเข้า เพื่อขายหรือเพื่อจ่ายแจกเป็นการทั่วไปหรือโฆษณาสินค้าอื่นใดที่มีรูปลักษณะ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิการ์แรต หรือบุหรี่ซิการ์ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท - พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510  มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำ หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนปัจจุบัน เว้นได้แต่ได้รับอนุญาตฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และมาตรา 72 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขาย หรือนำเข้า หรือสั่งนำเข้ายาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มาในราชอาณาจักร ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท - พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัดหรือของต้องห้าม หรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครั้งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรขาเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำโดยกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่า พบปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปหลายเท่า และมีผลเสียต่อผู้ที่สูบ หากสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 1 มวน จะเท่ากับสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 15 มวน หากนำไปใช้โดยปราศจากการดูและของแพทย์จะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ขณะเดียวกันผู้ใช้ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการโต้แย้งว่าบุหรี่จริง มีนิโคตินที่ได้รับจากการเผาไหม้ใบยาสูบ ซึ่งนอกจานิโคตินแล้ว ยังมีสารก่อมะเร็งและสารพิษมากมายปัจจุบันในสังคมไทยยังไม่อนุญาตให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ จากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA ชี้ว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarette) ไม่ได้ทำให้อัตราการเลิกบุหรี่ลดลง หลังจากการใช้ 1 ปี แต่อย่างใดแม้ว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และการสันดาปที่ก่อให้เกิดสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในบุหรี่จริงก็ตาม แต่ผู้สูบยังคงได้รับนิโคตินอยู่ ซึ่งการรับนิโคตินที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คลื่นไส้ และมีผลต่อหัวใจได้ จึงไม่อาจกล่าวว่า ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องต้องรู้ ความต่างของบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าบุหรี่ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกม้วนห่อด้วยกระดาษ ขนาดปกติจะมีความยาวสั้นกว่า 12 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีใบยาสูบบดหรือซอยบรรจุอยู่ภายใน ปลายด้านหนึ่งใช้สำหรับจุดไฟ อีกด้านจะมีตัวกรองใช้สำหรับใช้ปากดูดควันไส้บุหรี่ ทำจากใบยาสูบตากแห้ง นำไปผ่านกระบวนการทางเคมี ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นสารพิษ สารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และสารก่อมะเร็ง สารเคมีที่มีอยู่ในบุหรี่ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide), คลอโรฟอร์ม (Chloroform), ไซยาไนด์/ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Cyanide/Hydrogencyanide), ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde), นิโคตีน (Nicotine), ทาร์ (Tar)บุหรี่ไฟฟ้า หรือ ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Cigarette) หรือบุหรี่ไอน้ำ (Vapor Cigarette) คือผลิตภัณฑ์ยาสูบจำพวกบุหรี่ บุหรี่ซิการ์ และบุหรี่แบบกล้องสูบ ซึ่งทำขึ้นจากอุปกรณ์ประจุแบตเตอรีที่จะส่งผ่านนิโคตินไปยังผู้สูบ โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่คล้ายกับบุหรี่จริง กับแบบที่เรียกว่าแบบปากกา (Pen style) มีลักษณะเหมือนบุหรี่ที่มีปลายด้านก้นกรองเสียบอยู่กับตัวต่อก้นกรองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นถูกคิดค้นขึ้นในประเทศจีนบุหรี่ไฟฟ้าสามารถอดแยกชิ้นส่วนได้เป็น 3 ส่วน คือ- ส่วนแบตเตอรี่ (Battery) คือ ส่วนที่มีลักษณะคล้ายกับตัวบุหรี่ มีความยาวราว 55-80 มิลลิเมตร ส่วนปลายมักมีหลอดไฟแอลอีดี (LED) แสดงสถานะการทำงาน และแจ้งเตือนระดับแบตเตอรี่ มีทั้งแบบอัตโนมัติและแบบตรวจด้วยมือ- ส่วนตัวสร้างควัน และความร้อน (Atomizer) คือ ส่วนกลาง จะมีไมโครชิพ (Microship Circuit) ควบคุมการทำงาน และขดลวดอิเล็กตรอนเพื่อเปลี่ยนน้ำยา (e-Liquid) ให้กลายเป็นละอองไอน้ำ และสร้างกลิ่นเสมือนบุหรี่จริง- ส่วนเก็บน้ำยา (Cartridge) หรือส่วนปากดูด (Mouth piece) จะมีรูปร่างคล้ายปากเป็ด หรือทรงกระบอก และอีกด้านหนึ่งจะเป็นกระเปาะใส่วัสดุซับน้ำยาไว้นอกจากส่วนประกอบในตัวเครื่องแล้ว ส่วนประกอบสำคัญของยาสูบอีกอย่างคือ น้ำยา (e-Liquid) ซึ่งผลิตจาก สารโพรพีลีน กลีเซอรอล (Propylene Glycerol) หรือ สารโพรพีลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) หรือเรียกสั้นๆ ว่าสารพีจี (PG) ซึ่งเป็นตัวทำละลายระดับที่บริโภคได้ (Food-grade) ซึ่งสารพีจีนั้นมีอยู่ในเครื่องสำอางแทบทุกชนิด รวมทั้งในผลิตภัณฑ์จำพวก แชมพู สบู่ โฟมล้างหน้า หรือแม้กระทั่งลูกอม สารพีจีนี้อาจมีการสะสมหรือระคายเคืองหากได้รับเป็นเวลานานระดับของสารนิโคตินในน้ำยา โดยทั่วไปจะกำหนดไว้ดังนี้- ระดับสูงมาก (Extra High) มีระดับนิโคติน 20 - 24 มิลลิกรัม- ระดับสูง (High) มีระดับนิโคติน 16 - 18 มิลลิกรัม- ระดับปานกลาง (Medium) มีระดับนิโคติน  11 - 14 มิลลิกรัม- ระดับต่ำ (Low) มีระดับนิโคติน  4 - 8 มิลลิกรัม- ไม่มีนิโคติน (Non) มีระดับนิโคติน   0 - 2 มิลลิกรัมนอกจากนี้ ยังมีบางบริษัทที่ผลิตระดับนิโคตินสูงสุด (Super High) คือ 34 มิลลิกรัม ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย หากได้รับในปริมาณมากควันที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า คือ ไอน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของสารพีจีที่ถูกคลื่นความร้อนไมโครเวฟจากตัวสร้างควันทำให้แตกตัวและดูดน้ำในอากาศกลายเป็นสายหมอกไอน้ำสีขาว ที่มีความคล้ายคลึงกับไอน้ำจากกาต้มน้ำ แต่มีความหนาแน่นและรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากควันบุหรี่จริงที่มีสีออกเทาแม้ว่ายาสูบอิเล็กทรอนิกส์จะปราศจากส่วนผสมของใบยาสูบ และการสันดาปที่ก่อให้เกิดสารพิษกว่า 7,000 ชนิด ในบุหรี่จริงก็ตาม แต่ผู้สูบยังคงได้รับนิโคตินอยู่ ซึ่งการรับนิโคตินที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คลื่นไส้ และมีผลต่อหัวใจได้ จึงไม่อาจกล่าวว่า ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ต้องการลดปริมาณพิษสะสม อันเกิดจากบุหรี่จริงและเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริงนั้น ถูกต้องหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงได้สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อคลายข้อสงสัยดังกล่าว“ความจริงอันหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ถ้าคนสูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่เลย อันตรายจะน้อยกว่าซึ่งอันนี้จริง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนที่สูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่สูบทั้งสองอย่าง เขาจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไปในที่ๆ คนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในที่ๆ เขาสูบบุหรี่ได้ เขาก็จะสูบบุหรี่”จริงหรือไม่ ที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยไม่ให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ? ศ.นพ.ประกิต ได้ให้ข้อมูลว่า จากรายงานขององค์กร The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine หรือ สถาบันวิชาการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (https://www.nap.edu/catalog/24952/public-health-consequences-of-e-cigarettes) ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ได้สรุปรายงานเมื่อ เดือนมกราคม 2561 ว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถลดตัวเลขสถิติของนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ลง แต่กลับกันมีแนวโน้มว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งเริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้า จากการติดตามในระยะเวลา 1 - 2 ปี ผลปรากฏว่า เด็กเหล่านั้นกลายมาสูบบุหรี่จริง มากกว่าเด็กที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 - 4 เท่า ซึ่งพบว่ามีรายงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประเด็นที่น่ากังวลก็คือ บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย มีความเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า เพราะไม่เหม็นเหมือนบุหรี่ธรรมดา ก็เริ่มติดบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคติน แล้วก็เริ่มหันไปสูบบุหรี่จริง แม้แต่รายงานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ก็ได้มีการสั่งให้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เยาวชนติดนิโคติน และหันมาสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น นี่คือประเด็นที่ประเทศออสเตรเลียก็ห่วงเช่นกันผู้ที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่ธรรมดา สามารถเลิกบุหรี่ได้จริงหรือ ?ศ.นพ.ประกิต ได้ให้ข้อมูลว่า มีหลักฐานรายงานที่ให้ข้อเท็จจริงว่า คนที่สูบบุหรี่จริงแล้วหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการเลิกบุหรี่นั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งยังคงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการวิจัย โดยพบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ ยังคงต้องทำพร้อมกันควบคู่ไปกับการเข้ารับคำแนะนำ ตัวยา และกำลังใจจากแพทย์ผู้ดูแล การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ด้วยตนเองนั้น มีโอกาสที่จะเลิกได้น้อยกว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใต้ความดูแลของหมอ ซึ่งคล้ายกันกับการใช้ยาอดบุหรี่ “ความจริงอันหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ถ้าคนสูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่เลย อันตรายจะน้อยกว่าซึ่งอันนี้จริง ปัญหาส่วนใหญ่ก็คือ คนที่สูบบุหรี่แล้วหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียวแต่สูบทั้งสองอย่าง เขาจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อไปในที่ๆ คนไม่ให้สูบบุหรี่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ในที่ๆ เขาสูบบุหรี่ได้ เขาก็จะสูบบุหรี่”บุหรี่ไฟฟ้านั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะการส่งนิโคตินไปสู่สมองยังไม่เท่าบุหรี่จริง ในแง่ความรื่นรมย์ การใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังให้ความรื่นรมย์ในการสูบสู้บุหรี่จริงไม่ได้ ถ้าคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาหันไปสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเลิกสูบบุหรี่จริงได้ อันตรายจะน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดาแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความตั้งใจเลิกบุหรี่ด้วยวิธีอื่นๆ โดยไม่พึ่งบุหรี่ไฟฟ้านั้นสามารถเลิกได้มากกว่าบุหรี่จริงนั้นมีการพัฒนามานานกว่าสองสามร้อยปี แต่สำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้นเพิ่งพัฒนาได้ไม่ถึง 10 ปี และบุหรี่ไฟฟ้าก็มีการเปลี่ยนเทคนิคการผลิตไปเรื่อยๆบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นแรก มีการนำขดลวดและสำลีชุปน้ำยาซึ่งสูบได้ 200 ครั้ง มีแบตเตอรี่ในตัว ใช้เสร็จแล้วทิ้งได้เลย ส่วนในน้ำยามีนิโคตินและสารเคมีอีกหลายตัว ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าก็มีทั้งประเภทเหลว หรือ แบบน้ำ รวมถึงล่าสุด มีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้ง (ที่ไม่ใช่นิโคตินเหลว) มีตัวชาร์จแบตเตอรี่ และตัวสูบ แยกออกจากกัน เมื่อดูดแล้วเกิดความร้อนซึ่งทำให้เกิดควัน บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่นั้น ส่วนที่เป็นยาเส้น ไม่ใช่ใบยาแบบบุหรี่ธรรมดา แต่เป็นใบยาที่บดเป็นผง ใส่สารเคมี แล้วรีดเป็นแผ่น จากนั้นจึงตัดเป็นใบยาใหม่ แต่ยังคงใช้ความร้อนจากแบตเตอรี่เหมือนกันในประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่เติมน้ำยาแบบเหลว เพราะนิโคตินถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในกฎหมายยาพิษ ในประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งได้ เพราะไม่มีส่วนประกอบของนิโคตินเหลว (ซึ่งถือว่าเป็นยาพิษ) ส่วนประเทศออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามไม่ให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรูปแบบนิโคตินแห้ง และ นิโคตินเหลวส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเหลวได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ขายแบบแห้ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ยังไม่เห็นด้วยกับบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้ง เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่มาสนับสนุนว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าชนิดน้ำที่ยังขายอยู่ในอเมริกา จะถูกออกกฎหมายควบคุมภายในปี 2021 กรณีดังกล่าวเป็นความหลากหลายของนโยบายในแต่ละประเทศต่อเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า อย่างเช่นในประเทศสิงคโปร์ที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งเพิ่งออกวางจำหน่ายในตลาดเพียงแค่ปีกว่าๆ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งให้ควันที่น้อยกว่าบุหรี่จริง บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เดียว และยังมีส่วนประกอบต่างกันอีกด้วย ซึ่งบางรายงานก็บอกว่ามีอันตรายน้อย บ้างรายงานก็บอกว่าเยอะกว่า เพราะมีหลากหลายยี่ห้อ และประกอบไปด้วยสารเคมีกว่า 7,000 ตัวที่ใช้ทำกลิ่น (Favor)การซื้อบุหรี่ไฟฟ้าไปเพื่อใช้เลิกสูบบุหรี่เองส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ อาจจบลงด้วยการสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่จริง ซึ่งจากรายงานของสหรัฐอเมริกา พบว่า ภายใน 4 ปี เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 มาเป็นร้อยละ 16 ภายในระยะเวลา 4 ปี บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็น แอบสูบได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีการพัฒนาให้ตัวสูบคล้ายกับธัมไดรฟ์ (Thumb Drive) ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแอบนำเข้าไปในโรงเรียนได้ คนไทยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาลดลง แต่มีแนวโน้มในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขั้น จากข้อมูลสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจระดับประเทศในเด็กช่วงอายุ 13 - 15 ปี พบว่ามีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นเพศชายร้อยละ 4.9 เพศหญิงร้อยละ 1.9 ในความเป็นจริงแล้วเด็กผู้หญิงในวัยนั้นก็เริ่มสนใจทดลองสูบบุหรี่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่เลือกที่จะสูบต่อ คือทดลองแล้วเลิก เพราะสังคมไม่ยอมรับ ผู้หญิงนั้นมีการทดลองสูบบุหรี่ไม่ได้น้อยกว่าผู้ชายเท่าไหร่ มันเป็นธรรมชาติ แต่ผู้ชายมีการทดลองต่อ ซึ่งถ้าลองเกิน 100 มวน ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ลองจะติดบุหรี่ เพราะสารนิโคตินพูดกันให้ชัดในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าก็คือ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนคนสูบบุหรี่ธรรมดาทั้งหมด ให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาขณะนี้คือแนวโน้มมันอาจจะทำให้คนติดบุหรี่เพิ่มขึ้น จากคนที่ไม่ได้สูบ ก็เข้าไปติดบุหรี่ไฟฟ้า แล้วก็หันมาสูบบุหรี่จริง มันอันตรายในเชิงเพิ่มปริมาณคนสูบบุหรี่ให้เพิ่มขึ้นการนำเข้า - จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งห้ามมิให้มีการขาย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้าแต่หากนักท่องเที่ยวนำเอาบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวมาเพื่อใช้ส่วนตัว นั้นไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้นำเข้าเพื่อการจำหน่าย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามไว้ เว้นแต่นำเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้สูบส่วนตัวสำหรับคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า นั้นไม่มีความผิดตามกฎหมาย จริงๆ ควรถามต่อไปว่าได้บุหรี่ไฟฟ้ามาจากไหน เพื่อสืบไปยังต้นตอที่นำมาจำหน่าย ซึ่งสำหรับคนขายนั้นมีความผิดทั้งจากการขาย และมีความผิดจากการนำเข้า ซึ่งไทยเองก็ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะยิ่งนับวัน ก็ยิ่งเห็นฤทธิ์ของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และหลักฐานที่จะสนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้านั้นช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้เองก็มีน้อยลงการห้ามมิให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภคหรือไม่ต้องคิดถึงภาพรวมว่า สุดท้ายแล้วบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้คนสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ส่วนประเด็นว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ ก็คงต้องบอกว่าประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่จำกัดสิทธิเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในประเทศออสเตรเลียก็มีการห้าม ญี่ปุ่นก็ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าบางประเภท สิงคโปร์นั้นห้ามหมดเลย ห้ามแม้แต่การมีครอบครองก็ผิดกฎหมาย ซึ่งก็แล้วแต่บริบทของแต่ละประเทศต้องให้ความจริงกับผู้บริโภค เพราะธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าอยู่เบื้องหลังคนบางกลุ่มที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะปิด หรือ เปิดขาย ก็ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภคให้มากที่สุด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถูกบิดเบือนไปว่าไม่มีอันตรายซึ่งไม่ใช่ บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอันตราย แต่อาจจะน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ส่วนผลกระทบในระยะยาวยังไม่สามารถบอกได้ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า “มีคนไทยเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยไม่มีอันตราย ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้มาจากคำของคนขาย เขาจะอ้างประเทศอังกฤษ ต้องเข้าใจเพราะอังกฤษเขาตายจากการสูบบุหรี่ปีละเกือบแสนคน ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเขาเต็มที่ จากการป่วยจากการสูบบุหรี่ เขาเลยโปรโมทให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า และเขาคุมการเข้าถึงของเด็ก เขาห้ามใส่พวกกลิ่นที่ดึงดูดนักสูบหน้าใหม่”อ้างอิง:- https://www.nap.edu/catalog/24952/public-health-consequences-of-e-cigarettes- 10 ความเชื่อผิดๆ ของการสูบบุหรี่ ที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่, หนังสือคู่มือชุดนิทรรศการยืม-คืน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตประเด็น “บุหรี่และยาสูบ” โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.- Wikipedia (https://th.wikipedia.org/wiki/ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์)- ผลวิจัยสหรัฐชี้ บุหรี่ไฟฟ้า ทำติดยาสูบ 6.8 เท่า (มติชนออนไลน์) (https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_790745)- รายงานโครงการสำรวจการบริโภคยาสูบในผู้ใหญ่ ระดับโลก ปี 2554 (http://www.ashthailand.or.th/th/data_center_page.php?id=505)- e-cigarette โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)(http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/514474)-  https://www.honestdocs.co/cigarette-effects

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปรึกษาคุณหมอกับแอปพลิเคชัน Raksa

ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะคะอากาศร้อนสลับกับเย็นด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมา ทำให้หลายคนต้องเข้าสู่สภาวะเจ็บป่วย ไม่ว่าจะจาม ไอ มึนหัว ไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บที่ตามมาหลังจากสุขภาพร่างกายอ่อนแอจนไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ได้สิ่งที่ทำได้เบื้องต้นนั่นคือพยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลการกิน การพักผ่อนให้เพียงพอ การใช้ยารักษาโรค เป็นต้น แต่ถ้าโรคภัยไข้เจ็บถามหาแล้ว ก็คงต้องปรึกษาคุณหมอโดยด่วน  ฉบับนี้ขอแนะนำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Raksa ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่รวมคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวมไว้ ได้แก่ อายุรแพทย์  กุมารแพทย์  สูตินรีแพทย์  แพทย์ระบบประสาทและสมอง  แพทย์ทางเดินปัสสาวะ แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป แอปพลิเคชัน Raksa เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีเวลาว่างและไม่สะดวกไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล โดยต้องไม่เป็นโรคเฉียบพลัน ควรเป็นเพียงการขอคำปรึกษาและวินิจฉัยในเบื้องต้น ซึ่งทำให้รู้วิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามคำแนะนำจากคุณหมอผ่านการส่งข้อความ การคุยผ่านโทร และการคุยผ่านวิดีโอ แต่ละวิธีที่เลือกขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว จะเริ่มจากการลงทะเบียนโดยใช้เบอร์มือถือ หลังจากเข้ามาในแอปพลิเคชัน จะมีหมวดหน้าหลัก หมวดคุณหมอ หมวดแจ้งเตือน หมวดรู้โรค และหมวดส่วนตัว โดยหมวดหน้าหลักจะแสดงว่าคุณหมอท่านใดออนไลน์อยู่หรือกำลังให้คำปรึกษาอยู่บ้าง และรายละเอียดตารางเวลาที่สามารถปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านได้ฟรีหมวดคุณหมอ จะบอกรายละเอียดคุณหมอทั้งหมดที่แอปพลิเคชันนี้มีอยู่ โดยจะมีประวัติ สถานที่ทำงาน ความเชี่ยวชาญของคุณหมอ นอกจากนี้ถ้าต้องการคุยกับคุณหมอที่ยังไม่ออนไลน์ สามารถกดสัญลักษณ์แจ้งเตือนเมื่อคุณหมอท่านนั้นออนไลน์ ซึ่งจะไปปรากฏอยู่ในหมวดแจ้งเตือนนั่นเอง  ส่วนหมวดรู้โรค จะบอกข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา และโรคภัยไข้เจ็บ สุดท้ายหมวดส่วนตัว จะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แอปพลิเคชันแต่...คุณหมอบางท่านอาจมีการเก็บค่าให้คำปรึกษากับผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้ โดยราคาจะแจ้งไว้ตรงสัญลักษณ์ที่จะเลือก ได้แก่ การส่งข้อความ การคุยผ่านโทร และการคุยผ่านวิดีโอ เพื่อเป็นการให้ตัดสินใจก่อนว่าจะจ่ายเงินหรือไม่ ส่วนขั้นตอนการเติมเงินมีบริการภายในแอปพลิเคชันเรียบร้อย ถ้าอยากปรึกษาคุณหมอในแอปพลิเคชันนี้ แนะนำว่าให้ดูตารางเวลาคุณหมอที่จะใช้คำปรึกษาฟรีน่าจะดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ปลอมยาผีบอก

กรณีร้องเรียนนี้ ส่งมาจากเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องราวน่าสนใจที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของคนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสูตรยาผีบอก หรือยาพื้นบ้าน ซึ่งผู้บริโภคสูงวัยมีแนวโน้มที่จะถูกหลอกได้โดยง่าย ดังเช่นผู้ร้องรายนี้คุณยายวัย 70 ปี ท่านหนึ่งถือซองยาผีบอกมาสอบถามเภสัชกรชุมชนขณะออกเยี่ยมบ้าน เนื่องจากคุณยายสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างบนซองยา ซองแรกที่ซื้อมากินชื่อว่า ยาผงจินดามณี (ยาผีบอก) มีเลขทะเบียน อย 5120033820060 แต่ยาซองที่สองที่ซื้อมากิน ฉลากยาหน้าตาเปลี่ยนไป ชื่อว่ายาผงจินดามณี (ยาผีบอก) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 และซองที่สามเพิ่งซื้อมาล่าสุด ฉลากยาก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมอีก ชื่อว่ายาผงจินดามณี (สมุนไพรสูตรโบราณ) ทะเบียนยาเลขที่ G 185/48 จากการสอบถามพบว่า คุณยายเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าไปแล้ว 1 ข้าง เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้อีกข้างหนึ่งเริ่มมีอาการปวด ลูกหลานเห็นว่าอายุมาก ไม่อยากให้ผ่าตัด เพราะกลัวว่าจะกลับมาเดินไม่ได้อย่างเดิม ก็เลยไปหาซื้อยาโบราณมาให้กินตามความเชื่อ เมื่อกินแล้วหายปวดก็เริ่มติดใจ ไม่ยอมไปหาหมอที่โรงพยาบาล เคยมี อสม.มาวัดความดันให้ก็ไม่พบความผิดปกติ แถมช่วงนี้หน้าตาดูอิ่มเอิบ มีน้ำมีนวล ก็ยิ่งเชื่อมั่นในความวิเศษของยาที่ตัวเองใช้  ญาติพี่น้องคนไหนเจ็บป่วย ปวดเมื่อยก็แนะนำบอกต่อกันไป ยิ่งเมื่อรู้ว่าหาซื้อได้ที่วัดก็ยิ่งเกิดศรัทธา บางรายสั่งซื้อยากับหลวงพ่อขณะที่รอใส่บาตรยามเช้าก็มี   เรื่องนี้ต้องชื่นชมเภสัชกรชุมชนคนเก่ง ที่ทำงานเกาะติดในพื้นที่ได้ดีเยี่ยมมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังเรื่องยา ในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง สามารถไขข้อข้องใจคุณยายได้อย่างจัดเจน ตั้งแต่รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่น่าเชื่อถือมีการเปลี่ยนฉลากไปเรื่อยๆ (ปลอมตัวเอง) เวลาถูกตรวจสอบก็มักจะอ้างว่าฉลากแบบนี้ของปลอม ฉลากแบบนี้ของจริง มีการ ใช้เลข อย ปลอม หรือใช้เลขทะเบียนยาปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีนี้พบว่าเป็นเลข อย ของขนมขบเคี้ยว (ยา ยาแผนโบราณ จะไม่มีการใช้เลข อย.) และเป็นทะเบียนยาน้ำแผนโบราณที่เคยมีปัญหาว่าตรวจพบสเตียรอยด์ ซึ่งเคยระบาดในพื้นที่เมื่อหลายปีก่อน แถมคุณยายก็เคยใช้ยาน้ำสมุนไพรดังกล่าวด้วยเช่นกัน พอเห็นรูปขวดยาถึงกับร้องอ๋อเลยทีเดียว เรื่องนี้ก็เลยจบลงไม่ยาก คุณยายยอมเลิกใช้ยาแต่โดยดี เบื้องต้นพบว่าคุณยายเริ่มมีอาการของการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันมาต่อเนื่อง เช่น หน้าบวมกลม มีหนอกที่ต้นคอ ความดันต่ำ จึงได้ส่งตัวคุณยายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการแก้ไขปัญหายาในชุมชนก็ใช้วิธีประชาคมหมู่บ้าน ให้ความรู้ แนะนำ บอกต่อ และเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมข้อมูลแหล่งจำหน่ายยา เส้นการกระจายยาส่งต่อให้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 อาหารหมดอายุกว่า 4 เดือนแต่ยังวางขายอยู่ในห้าง

ภูผา คุณพ่อวัยรุ่นมือใหม่ กำลังตื่นเต้นเห่อลูกคนแรกมาก อะไรว่าดีก็หามาให้ลูกได้รับประทานเสริม โดยหวังให้ลูกแข็งแรง แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นดังหวัง สาเหตุเกิดจากอะไรมาดูกันคุณภูผาซื้อข้าวกล้องงอกบด ผสมกล้วยและผักขมออร์แกนิค ยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 3 กล่อง จากร้านวิลล่ามาเก็ท สาขาเพลินจิต เมื่อคุณภูผาได้นำข้าวกล้องบดผสมน้ำให้ลูกน้อยทาน ปรากฏว่า ลูกสาวมีอาการผิดปกติ ร้องไห้จ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวผิดปกติ คุณภูผาจึงลองตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกที่ให้ลูกน้อยรับประทานก็พบว่า ข้าวกล้องงอกบดนั้นหมดอายุมากว่า 4 เดือนแล้ว เมื่อคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากเหตุที่อาหารหมดอายุ  ตัวคุณพ่ออาสาดูแลลูกน้อย ส่วนคุณแม่ ภรรยาของคุณภูผา ได้นำสินค้าที่หมดอายุไปร้องเรียนยังวิลล่ามาเก็ทสาขาที่ซื้อมา ซึ่งวิธีการของวิลล่ามาเก็ทคือ พนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนและเก็บสินค้าไว้ก่อน และแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ซึ่งก็โทรศัพท์ติดต่อมาจริง  โดยแจ้งให้คุณภูผาพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรักษาพยาบาลและออกใบรับรองแพทย์  คุณหมอให้ความเห็นในใบรับรองแพทย์ว่า “อาหารเป็นพิษ” คุณภูผาจึงได้แจ้งให้ทางห้างทราบ...ต่อมาเมื่อคุณภูผาได้เข้าไปสอบถามความคืบหน้ากับสาขาที่ซื้อสินค้า พนักงานเพียงแจ้งว่าได้แจ้งสำนักงานใหญ่แล้ว คุณภูผาจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ว่าจะพยายามทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแสดงรับผิดชอบของวิลล่ามาเก็ทสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องเรียนยังมูลนิธิเพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแนะนำเรื่องการคำนวณค่าเสียหายคุณภูผาและวิลล่ามาร์เก็ท มาเจราที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ โดยวิลล่าฯ เสนอเยียวยาเป็นหนังสือขอโทษและชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ฉบับ, เงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง, และเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาท คุณภูผาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา โดยขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย 150,000 บาท และทำหนังสือชี้แจงขอให้ระบุแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้อง บริษัทรับข้อเสนอไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อมาบริษัทเสนอเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย 50,000 บาท และออกนโยบายจัดเก็บสินค้าลงจากชั้นวางก่อนสินค้าหมดอายุ และต้องไม่มีสินค้าหมดอายุอยู่บนชั้นวางสินค้าอีก พร้อมจัดเก็บสินค้าก่อนหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ประเภท  1) สินค้าคืน Supplier ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อทำการแจ้งคืน 2) สินค้าที่คืนไม่ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อนำมาลดราคา 3) สินค้าของสดชั่งกิโล เก็บสินค้าเพื่อทำการเปลี่ยนบาร์โค้ด ก่อนหมดอายุ 3 วันและทำการตรวจสอบสินค้าทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน และตักเตือนแจ้งพนักงานโดยลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันและงดพิจารณาขึ้นค่าจ้าง คุณภูผายอมรับตามที่บริษัทเสนอนับว่าการร้องเรียนของคุณภูผาในครั้งนี้ ทำให้วิลล่ามาร์เก็ทยกระดับมาตรการการจัดเก็บสินค้าหมดอายุออกจากชั้นวางจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >