ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 ‘โซลาร์ รูฟท็อป’ พูดได้ แต่ทำไมยังทำไม่ได้

โครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยแบบเสรีหรือโซลาร์ รูฟท็อปเสรี น่าจะเป็นโครงการที่ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง หลายครอบครัวอาจคาดว่าจะเป็นแหล่งรายได้เสริมและช่วยประหยัดไฟฟ้าในคราวเดียวกันแต่มันเป็นฝันที่ค้างคาอยู่เช่นนั้น เพราะแม้ทางกระทรวงพลังงานจะประกาศนโยบายนี้มาพักใหญ่ แต่แนวทางในการรับซื้อก็ยังไม่ชัดเจนเสียที มีรายละเอียดจุกจิกที่เพิ่มความยุ่งยากมากกว่าจะอำนวยความสะดวก การปฏิบัติที่ไม่ค่อยตรงหลักการของชื่อโครงการที่บอกว่า ‘เสรี’ ทว่า จำกัดจำนวนรับซื้อไว้ไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อปี หรือการกำหนดราคาที่ผู้ขายไฟฟ้ารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากข่าวช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ รูฟท็อปอิงกับราคาค่าไฟฟ้าขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยทั่วไปจะรับซื้อในราคา 2.30-2.50 บาทต่อหน่วย แต่ขายในราคา 4.30 บาทต่อหน่วย เรียกว่าได้กำไรเกือบเท่าตัวทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานยังอ้างเรื่องความพร้อมของระบบสายส่งและถ้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมากเกินไปจะกระทบกับค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้ไฟ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะพาไปดูตัวอย่างคนที่ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปและประสบความสำเร็จ พร้อมกับสำรวจแบบคร่าวๆ ว่าสิ่งที่ภาครัฐอ้างนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ แล้วข้ออ้างดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดในไทยหรือไม่? อย่างไร?วัดป่าศรีแสงธรรมคนที่สนใจประเด็นพลังงานน่าจะเคยได้ยินชื่อวัดป่าศรีแสงธรรม ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม เจ้าอาวาส และผู้รับใบอนุญาตและก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้สู่การพึ่งตนเองด้านพลังงาน ทำให้ชื่อของวัดป่าศรีแสงธรรมเป็นที่รู้จักการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เองทำให้โรงเรียนสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 20,000 บาท ทว่า กว่าจะได้ผลลัพธ์นี้ก็ต้องอาศัยเวลาเรียนรู้และฝ่าฟันกับระบบระเบียบของทางราชการที่ไม่เอื้อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านพลังงานของประชาชน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องเลือกตัดปัญหาเพื่อไม่ต้องวุ่นวายกับระบบที่ไม่เอื้อนี้“ระบบออนกริด(On-grid) ข้อดีคือถูกมาก ตอนแรกๆ โรงเรียนผลิตไฟได้ 40 หน่วยต่อวัน กลางวันใช้ไป 30 หน่วย เหลือ 10 หน่วย มันก็ไปหมุนมิเตอร์กลับ กลางคืนใช้อีก 10 หน่วย เช้ามาก็เท่ากับ 0 หน่วยทุกวัน การไฟฟ้าไม่ยอม บอกว่าไม่มีระเบียบแบบนี้ ไฟที่ออกจากมิเตอร์แล้ว ต้องจ่ายเงิน ไม่ใช่เอาไฟฟ้าเข้าไปหมุนคืน ประเทศไทยยังไม่มีระบบแลกไฟไปกลับแบบนี้“ถามว่าจะเอาไฟฟ้าเข้าระบบยุ่งยากหรือไม่ หนึ่ง-ต้องไปแจ้งที่ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) เอาแบบไปยื่น ไปขอยกเว้นไม่รับใบประกอบกิจการพลังงาน เมื่อได้ใบนี้แล้วจึงนำไปยื่นขอขนานไฟกับการไฟฟ้า ตรงนี้จะยุ่งยากขึ้นไปอีก การไฟฟ้าจะตรวจอุปกรณ์ว่าตามมาตรฐานหรือไม่ ทดสอบผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ให้ผ่าน ก็ไม่ให้เชื่อม ไม่ให้ขนาน สำหรับบางคนระเบียบแบบนี้มันยุ่งยากจนเขาไม่ไปขอขนานไฟ เกิดเป็นโซลาร์กองโจรขึ้นมา อยากจะติดก็ติดเลย เพราะทั่วโลกเขาก็ให้ส่งขายอยู่แล้ว ทำไมมาติดที่ประเทศไทย” พระครูวิมล เล่าประสบการณ์พระครูวิมลเล่าอีกว่า ไม่ได้คิดจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขาย หากมีไฟฟ้าเหลือใช้เข้าระบบก็ยินดียกให้ เพียงแต่กำลังผลิตที่มีอยู่สร้างขึ้นพอดีกับปริมาณการใช้ พอมีประเด็นมิเตอร์หมุนกลับ ทางพระครูวิมลจึงสร้างระบบจัดเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืน ทำให้ปัจจุบันทางโรงเรียนศรีแสงธรรมไม่ได้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเลย ฟังแบบนี้อาจคิดว่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองต้องเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก แน่นอนว่าการติดตั้งต้องอาศัยช่างเทคนิค แต่หากเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพ มีการรับประกันนานถึง 20 ปีเช่นที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ถือว่าคุ้มต่อการลงทุน อีกทั้งการดูแลรักษาก็ง่ายดายขนาดว่าเด็กนักเรียนก็ทำเองได้“เรื่องการดูแลรักษา เราก็ให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียน เต็มที่ก็ดูว่าแผ่นโซล่าร์สกปรกมั้ย มีนกไปขี้ใส่มั้ย ล้างแผ่นมั้ย แค่นี้เอง ทางบริษัทมอนิเตอร์หรือเรามอนิเตอร์เองก็ได้”ประโยชน์และความคุ้มค่าจากตัวอย่างของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรมแสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานของประชาชนไม่ใช่เรื่องยากเย็น แม้เริ่มต้นจะลงทุนสูง แต่ในระยาวถือว่าคุ้มค่า อีกทั้งหากมีการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์ เซลล์ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้นและราคาถูกลงดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การส่งเสริม มิใช่การสร้างอุปสรรคและความไม่ชัดเจนเราพูดคุยกับนักวิชาการที่ติดตามประเด็นพลังงาน 2 คนคือประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโซลาร์ รูฟท็อปทีละประเด็นตามข้อจำกัดของพื้นที่ เดชรัต กล่าวถึงการทำโซลาร์ รูฟท็อปว่า เหมือนการมีโรงไฟฟ้าขนาดย่อยกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 3 จุด คือ การมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอยู่ติดกับบ้านของผู้ใช้ทำให้ความสูญเสียในสายส่งน้อยลง ทำให้ปัญหาไฟตกหรือไฟดับลดลง และการทำให้ระบบกลับคืนมาใหม่ดีขึ้น เพราะมีแหล่งกำเนิดพลังงานรออยู่หลายจุดประเด็นที่ 2 คือผลพลอยได้ เช่น กรณีภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ระบบสายส่งไม่สามารถทำงานหรือไม่สามารถส่งไฟได้ ความพร้อมในการดูแลผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติจะสามารถทำได้อีกทางหนึ่ง อย่างน้อยในระยะสั้นก็ยังสามารถมีไฟฟ้าใช้ประเด็นสุดท้ายคือการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์ เซลล์ ก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าถ่านหิน เพราะโซล่าร์ เซลล์ไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยสังคมโดยภาพรวมเมื่อถามถึงความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ เดชรัต อธิบายดังนี้“เทคโนโลยีในระยะแรกจะแพงมาก แต่เมื่อมีการใช้มากขึ้นก็จะเกิดเส้นโค้งการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลง ตัวเลขล่าสุดที่มีการประมูลขายไฟเข้าระบบ โซล่าร์ เซลล์ ไม่ถึง 4 บาทแล้ว ขณะที่ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ก็ประมาณ 4 บาทนิดๆ เพราะฉะนั้นแนวโน้มในอนาคตน่าจะแข่งขันได้มากขึ้น ตอนนี้อาจจะแพงกว่าไฟฟ้าจากถ่านหินเล็กน้อย แต่การที่มันแพงกว่าเป็นเพราะเราไม่ได้คิดต้นทุนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน”ระบบที่สร้างอุปสรรค ถ้าติดโซลาร์ รูฟท็อปแล้วต้องการขายไฟฟ้าส่วนเกินให้แก่การไฟฟ้าจะใช้ระบบใด ประสาทกล่าวว่า ปัจจุบันมี 3 ระบบหลักที่ใช้ในประเทศต่างๆ คือ Net Mitering ไฟฟ้าที่ผลิตได้ไหลเข้าสายส่ง มิเตอร์เดินถอยหลัง เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านมิเตอร์ก็เดินหน้า เมื่อครบรอบเดือนก็มาหักลบเป็นตัวเลขสุทธิว่าต้องชำระเพิ่มหรือไม่ แบบที่ 2 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาสูงและขายในราคาต่ำกว่า แบบที่ 3 คือบริษัทไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนในราคาต่ำและขายกลับในราคาสูง ซึ่งแบบนี้ประสาทบอกว่ากำลังเป็นคดีความอยู่ในสหรัฐฯอย่างไรก็ตาม ระบบการรับซื้อเป็นเรื่องหลังจากที่มีกติกาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งในประเทศไทยความชัดเจนที่ว่ายังไม่เกิดขึ้น ประสาทอธิบายปัญหาเชิงระบบของไทยโดยตั้งต้นจากตัวอย่างของประเทศเยอรมนีว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์ รูฟท็อป ไม่จำเป็นต้องจำกัดโควตาเช่นที่ประเทศไทยทำ ในเยอรมนีมีระเบียบว่าใครที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ก่อนสามารถขายได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะไม่มีอุปสรรคต่อระบบการผลิตไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นนั้นพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีแพงกว่าพลังงานอื่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจึงต้องมาเฉลี่ยกันทั้งประเทศ“ในส่วนของประเทศไทยไม่เมคเซ๊นส์เพราะ หนึ่ง-จำกัดจำนวน สอง-มีระเบียบหยุมหยิม สาม-มีการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์แต่ละการไฟฟ้าก็ไม่เหมือนกัน สี่-มาตรฐานอุปกรณ์ที่ว่าก็สูงเกินจริงมากๆ ทำให้ต้นทุนแพง เพราะฉะนั้นคนจึงไม่ไปขอ โควตาที่ให้ก็ไม่เต็ม ขณะที่โซล่าร์ ฟาร์มของบริษัทขนาดใหญ่กลับเติบโตเร็วมาก สัดส่วนระหว่างโซล่าร์ ฟาร์ม กับโซล่า รูฟท็อป พบว่าร้อยละ 99 เป็นโซล่าร์ ฟาร์ม คือเน้นทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ในเยอรมนี โซล่าร์จะเน้นชาวบ้านธรรมดา ประเทศไทยมันสลับหัวสลับหาง”ประเด็นที่ว่าจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นหรือไม่ ประสาท อธิบายคล้ายกับเดชรัตว่า เวลานี้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ถูกลงมากและลดลงมาเรื่อยๆ ปีละประมาณร้อยละ 14-15 เขายังยกตัวอย่างการประมูลในประเทศซาอุดิอาระเบียที่เวลาค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกที่สุดไม่ถึง 3 เซนต์ต่อหน่วยไฟฟ้าหรือประมาณ 1.50 บาท ขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 3.50-4 บาทต่อหน่วย และต้องไม่ลืมประเด็นที่เดชรัตกล่าวในตอนต้นด้วยว่า ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าตัวหนึ่ง“สถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าเราจะติดบนหลังคา” ประสาทกล่าวถึงกรณีประเทศไทย “ภาครัฐบอกว่าไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน และยังมีข้อแม้ว่าห้ามไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในสายส่ง ปัญหาคือพระอาทิตย์มาตอนกลางวัน คนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็ต้องเข้าสายส่ง แต่เมื่อห้ามไหลย้อน ก็ทำให้คนที่ติดโซล่าร์ รูฟท็อปแล้วไม่คุ้มทุนเพราะไฟฟ้าที่เข้าไปในสายส่งเขาไม่จ่ายเงิน“ยกกรณีโรงเรียนศรีแสงธรรม ไฟฟ้าไหลย้อนเข้าไปในมิเตอร์ ทำให้มิเตอร์ติดลบ ทางการไฟฟ้าตรวจพบก็โวยวาย ถอนมิเตอร์ออกไป นำมิเตอร์ใหม่มาติดให้ คิดค่ามิเตอร์ในราคาแพง คำถามคือหลังจากนั้นมันก็ไม่คุ้มที่จะผลิต ทีนี้ ที่โรงเรียนศรีแสงธรรมก็ผลิต แต่ติดตัวกันไฟไหลย้อน อุปกรณ์ชิ้นนี้ราคาเป็นแสน เมื่อไฟไม่ไหลย้อน ไฟฟ้าก็จะไม่ผลิตโดยอัตโนมัติ ไม่มีคนใช้ก็จะไม่ผลิต ที่ลงทุนไปสองสามแสนก็ไม่คุ้ม มันจึงไม่เกิดขึ้น นี่คือปัญหาบ้านเราที่ดำรงอยู่ตอนนี้”สายส่งไม่พอ?เป็นเหตุผลคลาสสิกของภาครัฐที่ทำให้ยังไม่เกิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อปเสรีเดชรัตอธิบายว่า ถ้าพูดในกรณีสุดขั้วคือทุกบ้านติดโซลาร์ รูฟท็อป ทุกบ้านจะกลายเป็นโรงไฟฟ้า จึงต้องลงทุนเพิ่มเพื่อต่อไฟฟ้าจากทุกบ้านไปยังที่ใดที่หนึ่ง แต่...“แต่ประเด็นคือมันยังไกลจากสถานการณ์นี้มาก มันจะเป็นจริงกรณีโซล่าร์ ฟาร์ม เพราะไปตั้งอยู่ไกลก็ต้องมีสายส่ง แต่เขาไม่พูดเรื่องนี้เพราะต้องการผลักภาระสายส่งให้กับคนที่ทำโซล่าร์ ฟาร์ม จึงไม่ได้ยกข้อนี้ขึ้นมา หรือถ้ามีโซล่าร์ ฟาร์มอยู่ใกล้ๆ กัน สายส่งก็ต้องใหญ่ขึ้นอีก แบบนี้ต้องลงทุนเพิ่ม กรณีโซลาร์ รูฟท็อปยังไม่มีมากถึงขนาดนั้น ถ้าพูดในเชิงทฤษฎี ใช่ครับ เมื่อคุณติดโซล่าร์ เซลล์มากขึ้นถึงระดับหนึ่ง ก็มีความจำเป็นต้องปรับสายส่ง ทำนองกลับกัน เราก็ไม่ต้องไปเดินสายไฟแรงสูงมาจากเขื่อนเข้ามาในเมือง โดยสรุปคือมันเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วพอมันจะเกิดขึ้นจริงๆ มันจะมีทั้งได้ทั้งเสีย”อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ระบว่า กรมพลังงาน ทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับ กกพ. และภาคเอกชนเกี่ยวกับโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ให้มีความเสรีมากขึ้น คาดว่าจะสรุปผลได้ภายใน 1 เดือนสรุปคือต้องรอต่อไปว่าการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเกิดเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ ......ก่อนจบมีข้อสังเกตที่ชวนให้ขบคิดต่อจากเดชรัตว่า เมื่อการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีมากกว่าไม่ดี เหตุใดถึงล่าช้าและมีขั้นตอนวุ่นวายเพียงนี้“เมื่อพูดในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า เวลาเราผลิตไฟฟ้า มูลค่าจะเกิดขึ้นจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือส่วนที่ขายเชื้อเพลิง ส่วนที่ 2 คือส่วนผลิตไฟฟ้า และส่วนที่ 3 คือส่วนที่ส่งไฟฟ้า ถ้าเราทำโซล่าร์ เซลล์ ห่วงโซ่มูลค่า 3 ส่วนนี้จะหายไปเลย เชื้อเพลิงไม่ต้องซื้อ ซื้อแต่โซล่าร์ เซลล์ ผู้ผลิตไฟฟ้าก็จะไม่ได้เงินจากการขายไฟฟ้า ส่วนการจัดส่งก็จะน้อยลงไปอีก เพราะไม่ต้องผ่านสายส่งเส้นใหญ่ ผ่านแต่เส้นย่อยๆ จึงไม่แปลกที่ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมไม่อยากให้เปลี่ยน”คำถาม-ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าเดิมที่ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือใคร?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 พ่อยุ่งลุงไม่ว่าง : แล้วใครจะปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานเล่น?

จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะดูแลเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลเบื้องต้นก็เป็นเพราะว่า ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นในปริมณฑลของสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยที่ประกอบขึ้นด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา และเครือญาติอีกมากมาย สมาชิกที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนนี้เองที่ต้องมีภาระรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตของเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวังไว้ แต่ทว่า คำถามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้านไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับลูกๆ หลานๆ ได้แล้ว ผลต่อการเติบโตของเด็กตามความคาดหวังของสังคมจะเป็นเช่นไร ก็คงคล้ายๆ กับชีวิตของ “น้องกาโม่” ที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้ง “พ่อเองก็ยุ่ง” แถม “ลุงก็ยังไม่ว่างอีก” กาโม่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ที่สังคมคาดหวังได้แล้ว จะเกิดปัญหาอันใดบ้างกับเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ปัญหาของเด็กน้อยกาโม่เริ่มต้นเมื่อ “โต๊ด” และ “พาย” พ่อแม่วัยใสที่มีลูกตั้งแต่วัยเรียน แต่ไม่กล้าบอกกับทางบ้าน เพราะกลัวว่าตนจะถูกตัดออกจากกองมรดกของตระกูล จึงนำกาโม่มาฝากไว้ให้ “เต็ง” พระเอกของเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นลุงคอยเลี้ยงดู และทั้งคู่ก็ตัดสินใจทิ้งลูกน้อยเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยอาชีพการงานของเต็งที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย กอปรกับภาระใหม่ที่ต้องมาสวมบทบาท “คุณพ่อจำเป็น” แทนน้องชาย ลุงเต็งจึงไปติดต่อเนิร์สเซอรี และได้พบกับ “ชิดดาว” ซึ่งเขาไม่เพียงแต่จ้างให้เธอมาช่วยเลี้ยงดูกาโม่เท่านั้น แต่ชิดดาวยังกลายเป็น “รักแรกพบ” ที่เต็งสะดุดตกหลุมรักเมื่อแรกเจอ ความใกล้ชิดระหว่างเต็งกับชิดดาวค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักขึ้นมา ยิ่งเมื่อ “โต้” แฟนหนุ่มของชิดดาวเกิดนอกใจเลือกไปคบหากับ “ละออง” ผู้จัดการดารา เพื่อหวังใช้หล่อนเป็นทางลัดหรือสะพานไต่เต้าอยู่ในแวดวงบันเทิงด้วยแล้ว ชิดดาวจึงเลือกที่จะหันมาคบหาดูใจกับเต็งแบบเต็มตัว ลุงเต็งซึ่ง “ยุ่ง” อย่างมากกับหน้าที่การงาน ก็จึงยิ่งต้อง “ยุ่ง” กับภาระแห่งหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ว่าความรักระหว่างเต็งกับชิดดาวจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนามใดๆ เลย เพราะละครได้ผูกเรื่องเอาไว้ตามสูตรตำราที่ว่า หากตัวละครเอกจะ “lucky in love” แล้ว พวกเธอและเขาก็ไม่ควรจะ “lucky in game” ได้ง่ายนัก ฉะนั้น ในฟากของเต็งเองนั้น โต้ก็คือตัวละคร “ศัตรูหัวใจ” ที่เข้ามาขัดขวางและคอยทำตัวเป็น “สุนัขหวงก้าง” ราวีทุกวิถีทางที่จะเขี่ยเต็งออกไปจากชีวิตของชิดดาว และกลั่นแกล้งเขาในหน้าที่การงานด้วยการถอดรายการโทรทัศน์ที่เต็งและเพื่อนๆ รับผิดชอบอยู่ ให้หลุดออกไปจากผังของสถานี เมื่อปัญหาการงานรุมเร้าเข้ามา เราจึงเห็นภาพฉากที่หลายๆ ครั้ง ลุงเต็งก็พกพาเอาความหงุดหงิดจากนอกชายคาเข้ามาระบายออกในพื้นที่ของบ้าน และดุว่าหลานน้อยกาโม่ ที่ดึงดื้อตามประสาเด็กด้วยอยากจะเรียกความสนใจจากคุณลุงนั่นเอง ในขณะที่ทางฟากของชิดดาวนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับคำข่มขู่ของละอองที่หึงหวงไม่อยากให้เธอเข้าไปพัวพันกับชีวิตของโต้ ทำให้ชิดดาวเลือกตัดสินใจทิ้งปัญหารุมเร้าและหลบเร้นตัวเองออกไปจากชีวิตของเต็งและกาโม่ แม้ว่าเต็งจะเคยพูดกับเธอในฐานะคนรักว่า “ผมทุ่มสุดตัว พุ่งชนปัญหามาขนาดนี้ ผมต้องการกำลังใจมากนะครับ...” ก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สนใจและเล็งเห็นแต่ปัญหาของตนว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งมวลในโลกนี้ ไม่เพียงแค่ “พ่อที่ยุ่ง” เพราะหายตัวไปกับแม่ตั้งแต่ต้นเรื่อง และ “ลุงที่ไม่ว่าง” เพราะสาละวนแต่จะแก้ปัญหาสารพันในที่ทำงาน แถมซ้ำด้วย “อาที่เอาแต่จะหนีปัญหา” แล้ว คำถามก็คือ ใครกันจะมาทำหน้าที่ “ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานของเรากัน”? เพราะสถาบันครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวละครหน้าใหม่อย่าง “ทอย” ที่เป็นเพื่อนร่วมงานและแอบหลงรักเต็ง ก็กลายมาเป็นตัวกลางใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างเต็งกับกาโม่ ในขณะที่ชิดดาวตัดสินใจตีจากเต็งเพื่อหนีปัญหาทั้งปวง ทอยก็ถือโอกาสเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ดูแลกาโม่แทนชิดดาวเสียเลย แม้จะมีความรักใส่ใจเด็กน้อยกาโม่อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ทอยก็มี “ผลประโยชน์” ที่อยากจะช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจของเต็งให้ได้ เด็กน้อยจึงมิใช่ “เป้าหมาย” ที่ทอยอยากจะทำหน้าที่ฟูมฟักดูแลจริงๆ หากแต่เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ถูกใช้เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย” อันเป็น “ผลประโยชน์แฝงเร้น” ของเธอเท่านั้น  ด้วยมิจฉาทิฐิที่มีอยู่ในจิตใจ ทอยก็เริ่มต้นเป่าหูให้กาโม่เป็นสะพานเชื่อมเธอเข้าไปอยู่ในหัวใจลุงเต็ง เสแสร้งเป็นแม่คนใหม่ที่คอยดูแลกาโม่ และที่สำคัญ เมื่อชิดดาวย้อนกลับมาคบหากับเต็งอีกครั้ง ทอยก็ยุแยงให้กาโม่เกลียดและทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของคุณลุง  เมื่อเทียบกับบรรดาพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือสมาชิกครอบครัวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์หลักมักจะตั้งต้นที่ตัวของเด็ก ตัวละครแบบทอยก็คือตัวอย่างของคนนอกบ้านที่พร้อมจะเสี้ยมสอนและใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของตนเสียมากกว่า  จนมาถึงตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จะลุกลามจนเกินเยียวยา บรรดาผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาทบทวนตัวเองและเข้าใจว่า บทบาททางสังคมในการดูแลบุตรหลานหาใช่การฝากฝังไว้ในมือของคนอื่น แต่เป็นภารกิจแรกๆ ที่ตนมิอาจเพิกเฉยไปได้  เริ่มจากโต๊ดและพายที่ตัดสินใจกลับมาจากเมืองนอก เพราะได้เข้าใจแล้วว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่ต้องเลี้ยงดูเด็กน้อยโดยชอบธรรมที่สุด ในขณะที่เต็งก็เรียนรู้ว่า ภาระงานนอกบ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสุขความทุกข์ของหลานชายตัวน้อยได้เลย หรือแม้แต่ชิดดาวที่ตระหนักว่า การเอาแต่วิ่งหนีปัญหานั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามเป็นไฟไม่สิ้นไม่สุด “พ่อที่เลิกยุ่ง” กับ “ลุงที่เริ่มทำตัวว่างๆ” พร้อมกับ “อาผู้หญิงที่หันหน้ามาสู้กับปัญหา” ก็คือคำตอบแก่เราๆ ว่า อยู่บ้านของตนก็อย่ามัวนั่งนิ่งดูดายเสียเอง เพราะลูกหลานยังรอให้เราคอยอบรมดูแล หาไม่แล้วก็อาจมี “บ่างช่างยุ” จากนอกบ้าน ที่ย่างก้าวเข้ามา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เล่นแทนเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 เมื่อคิดลดน้ำหนักก็มีข้อต้องระวัง

การขายอาหารหรืออุปกรณ์ที่อุปโลกน์เองว่า ทำให้คนมีสุขภาพดีโดยดูจากการมีน้ำหนักตัวตามมาตรฐานนั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั้งในแผ่นพับ ประกาศติดเสาไฟฟ้า โทรทัศน์ ตลอดถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีวิธีอะไรที่ทำให้น้ำหนักลดได้ง่าย ส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดกันนั้นอาจได้ผลเฉพาะกับตัวผู้พูดแต่ไม่ได้ผลกับคนอื่น ซึ่งมีความแตกต่างตั้งแต่พันธุกรรมไปจนถึงพฤติกรรมการบริโภคและเศรษฐานะ บทความเรื่อง 9 Myth About Weight Loss เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2017 ในวารสารออนไลน์ TIME Health บรรยายถึงความอึมครึม (Myth) เกี่ยวกับความเชื่อบางประการในการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและอื่นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันได้พยายามหาคำอธิบาย ถึงที่มาของความเชื่อนั้นๆ ว่า จริงหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนขอเลือกบางประเด็นที่น่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ซึ่งกำลังพยายามลดน้ำหนักอยู่มาเล่าให้ฟังมนุษย์ส่วนใหญ่เมื่อเป็น สว. (สูงวัย) แล้วหลายท่านมักกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลดน้ำหนักตัว ซึ่งเมื่อไปคุยกับผู้ที่เคยพยายามลดน้ำหนักแล้วไม่สำเร็จ จะได้ยินคำสารภาพว่า การลดน้ำหนักนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ ทั้งกายและใจ ดั่งเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งที่ความจริงแล้วสามารถทำได้องค์กรไม่หวังผลกำไรชื่อ National Weight Control Registry ซึ่งก่อตั้งในปี 1994 ได้เริ่มติดตามคนอเมริกันที่สามารถลดน้ำหนักได้อย่างน้อย 30 ปอนด์และสามารถคงสภาพน้ำหนักหลังลดได้อย่างน้อย 1 ปี มีข้อค้นพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ลงทะเบียนคือ การเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมการบริโภค(ร้อยละ 98) และเริ่มออกกำลังกาย(ร้อยละ 94) โดยมีพฤติกรรมเสริมคือ การกินอาหารเช้าทุกวัน(ร้อยละ 78) ชั่งน้ำหนักตนเองอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง(ร้อยละ 75) และดูโทรทัศน์(คิดว่าคงหมายถึงรายการไร้สาระต่างๆ เช่น เกมโชว์ ละครน้ำเน่า ฯลฯ) น้อยกว่าอาทิตย์ละ 10 ชั่วโมง(ร้อยละ 62) โดยมีการออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน(ร้อยละ 90)หลายท่านอาจเคยเข้าใจว่า เพียงกินให้น้อยลงและออกกำลังกายเพิ่มขึ้นก็ลดน้ำหนักได้ แต่ National Weight Control Registry ได้พบว่า นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภครวมถึงรูปแบบอาหารและเริ่มออกกำลังกายแล้ว ชนิดของอาหารที่แต่ละคนเลือกกิน นั้นเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งนักโภชนาการหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำว่า ให้นับจำนวนแคลอรีที่กินทุกวัน เพราะการกระทำดังนั้นอาจไม่ก่อประโยชน์อย่างเต็มที่ในการลดน้ำหนัก เนื่องจากเป็นการมองข้ามระบบทางชีวภาพของร่างกายผู้พยายามลดน้ำหนักไป ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เพียงจำนวนพลังงานเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยแห่งความอ้วน แต่กระบวนการนำพลังงานออกมาจากอาหารให้ร่างกายนั้น อาจเป็นประเด็นสำคัญในการเพิ่มหรือลดการสะสมไขมันในร่างกาย ตัวอย่างที่อธิบายความในเรื่องนี้คือ การกินอาหารพวกแป้งที่ผ่านกระบวนการเช่น ขนมปังแครกเกอร์ ข้าวเกรียบต่างๆ (ที่ชัดมากในบ้านเราคือ ข้าวเกรียบว่าว) น้ำอัดลม ขนมอบกรอบต่างๆ เหล่านี้เป็นอาหารที่ย่อยเร็วและกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินสูงกว่าการกินอาหารแป้งที่ย่อยช้า ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า complex carbohydrates ดังนั้นจึงมีกลูโคสเข้าเซลล์เพื่อนำไปใช้ผลิตสารให้พลังงานอย่างรวดเร็วและเกินพอจนร่างกายรู้สึกอิ่มพลังงาน(ซึ่งแฝงอยู่ในรูป ATP หรือ adenosine triphosphate) จึงมีสารตัวกลาง (metabolic intermediate) คือ อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอคั่งขึ้นมา ส่งผลให้มีการนำสารตัวกลางนี้ไปสร้างเป็นไขมัน ส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันในร่างกาย ดังนั้นแม้ว่าการคำนึงถึงค่าแคลอรีนั้น เป็นเรื่องดีแต่ก็ควรเลือกอาหารชนิดที่ค่อยๆ ปล่อยแคลอรีออกมา เพื่อลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนพลังงานไปเป็นไขมันคำอธิบายดังกล่าวนี้ดูจะเป็นเหตุผลที่อธิบายถึงความล้มเหลวของผู้ประสงค์จะลดน้ำหนักตัว แต่ไม่เข้าใจในวิธีการเลือกชนิดของอาหารกิน ดังนั้นนักโภชนาการในปัจจุบันจึงให้ความสนใจในเรื่องการเลือกกินอาหารที่มีค่า Glycemic Index (GI ซึ่งมีผู้เสนอคำภาษาไทยว่า ดัชนีน้ำตาล) ต่ำ ในการวัดค่า GI ของอาหารแป้งแต่ละชนิดนั้น ทำได้โดยการให้อาหาร ซึ่งคำนวณได้ว่าให้คาร์โบไฮเดรต 50 กรัม(ไม่รวมใยอาหาร) แก่อาสาสมัครที่อดอาหารมาก่อน 12 ชั่วโมง อย่างน้อย 10 คน แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก 15 ถึง 30 นาทีของช่วงเวลาสองชั่วโมง เพื่อสร้างกราฟการตอบสนองระหว่างเวลาที่ผ่านไปกับระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลง จากนั้นจึงเปรียบเทียบกับผลที่อาสาสมัครกลุ่มเดิม(ซึ่งได้พักแล้วอดอาหาร 12 ชั่วโมงเช่นกัน) ได้รับน้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวซึ่งกำหนดให้มีค่า GI เท่ากับ 100 รายละเอียดการศึกษาดูได้จาก www.youtube.com/watch?v=nXyIaDgTBAk ซึ่งโดยปรกติแล้วกำหนดว่า ค่า GI นั้น มีค่าต่ำเมื่อตัวเลขน้อยกว่า 55 มีค่าปานกลางเมื่อเท่ากับ 56-69 และมีค่าสูงเมื่อเท่ากับหรือมากกว่า 70มีคำแนะนำสำหรับผู้สนใจลดน้ำหนักโดยการกินอาหารประเภทแป้ง(ที่ปรุงสุกแล้วและไม่ผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีการเติมน้ำตาล) ซึ่งมีค่า glycemic index ต่ำ เช่น ข้าวกล้อง มันเทศ เผือก ข้าวโพด ฯลฯ (สังเกตได้ง่ายว่าอาหารเหล่านี้กินแล้วจะอิ่มนาน) ผู้ที่สนใจในรายละเอียดเช่น International table of glycemic index นั้นสามารถดูได้จาก ajcn.nutrition.org/content/76/1/5.full.pdf และจากเว็บไทย ๆ คือ www.ezygodiet.com/ดัชนีน้ำตาลในอาหาร, www.honestdocs.co/table-of-glycemic-index-per-food-types เป็นต้น ผู้ห่วงใยสุขภาพตนเองอาจเข้าใจว่า จำเป็นต้องทำให้น้ำหนักตัวลดอย่างชัดเจนจึงจะระบุได้ว่าสุขภาพดีขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อ Benefits of Modest Weight Loss in Improving Cardiovascular Risk Factors in Overweight and Obese Individuals With Type 2 Diabetes ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Care (วารสารของสมาคม American Diabetes Association) ชุดที่ 34 หน้าที่ 1481–1486 ของปี 2011 ว่า การที่น้ำหนักลดลงแค่ร้อยละ 10 ของอาสาสมัครในการศึกษานั้นทำให้ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แถมด้วยการลดความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจและเบาหวานประเภท 2 สำหรับความอึมครึมในประเด็นว่า อาหารที่ดีที่สุดสำหรับการลดน้ำหนักมีเพียงสูตรเดียวนั้น ในความจริงแล้วใครๆ ก็สามารถลดน้ำหนักอย่างได้ผลด้วยวิธีการที่ต่างกัน โดยร้อยละ 45 ของอาสาสมัครที่ลงทะเบียนกับ National Weight Control Registry กล่าวว่า ต่างก็ลดน้ำหนักด้วยสูตรอาหารของตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 55 กล่าวว่า ได้พยายามลดน้ำหนักตามสูตรอาหารของโครงการที่มีผู้กำหนดไว้ให้ แต่สุดท้ายกลับจำต้องใช้อาหารหลายสูตรในการลดน้ำหนักที่ให้ผลระยะยาวตามรูปแบบชีวิตที่เหมาะสม  ในปี 2516 NIH (U.S. National Institute of Health ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงสาธารณสุข) ได้ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนประมาณ 931 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ได้ผลงานวิจัยที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า เหตุใดการจำกัดอาหารจึงเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำให้น้ำหนักที่ลดได้แล้วในช่วงเวลาหนึ่งคงดำเนินต่อไปได้ และที่ยากไปกว่านั้นคือ การหากระบวนการลดน้ำหนักเพียงหนึ่งกระบวนการที่ให้ได้ผลดีกับทุกคน เพื่อสร้างความหวังใหม่ให้แก่ชาวอเมริกันราว 155 ล้านคนที่มีน้ำหนักเกิน ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC หรือ U.S. Centers for Disease Control and Prevention) สำรวจพบมีตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า บางโครงการลดน้ำหนักนั้นทำให้อาสาสมัครบางคนลดน้ำหนักตัวได้ถึง 60 ปอนด์และรักษาน้ำหนักตัวหลังลดอยู่ได้ถึง 2 ปี ในขณะเดียวกันนั้นอาสาสมัครบางคนที่อยู่ในโครงการเดียวกันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 5 ปอนด์ ซึ่งสรุปได้ว่า อาหารที่เหมาะสมนั้นเป็นแบบตัวใครตัวมัน ต้องปรับปรุงเอาเองจนกว่าจะได้ผลในการลดน้ำหนัก สุดท้ายนี้ผู้อ่านที่กำลังพยายามลดน้ำหนักต้องไม่ท้อใจ ครั้งใดที่ลดแล้วไม่ได้ผล หรือได้ผลแต่มันกลับมาใหม่ ก็พึงหาทางปรับปรุงวิธีที่เหมาะสมแก่ตนเอง สักวันหนึ่งอาจประสบความสำเร็จ ดังที่ผู้เขียนได้ประสบกับตนเองแล้ว ในการพยายามทำน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ของดัชนีมวลกายต่ำกว่า 22.9

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 รู้เท่าทันกบฏผีบุญทางการแพทย์ (ตอนที่ 2)

เรื่องราวของหมอเทวดานั้น ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนมีปรากฏการณ์หมอเทวดาเกิดขึ้นทั่วไป  เราควรมีทัศนะต่อเรื่องนี้อย่างไร เราควรศึกษาทัศนะต่อเรื่องนี้ของประเทศต่างๆ เพื่อที่จะได้มองเห็นแนวทางในการจัดการเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิมในการดูแลสุขภาพที่ดีองค์การอนามัยโลกเห็นคุณค่าของการแพทย์ดั้งเดิมองค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นองค์การด้านสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ประกาศสนับสนุนการนำการแพทย์ดั้งเดิมเข้ามาในระบบสุขภาพของประเทศต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ  ด้วยการช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้พัฒนานโยบายระดับชาติ จัดทำแนวเวชปฏิบัติ มาตรฐานสากล ระเบียบวิจัย และกระตุ้นให้มีการใช้การแพทย์ดั้งเดิมอย่างสมเหตุสมผล ฯลฯองค์การอนามัยโลกได้จัดทำยุทธศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2557-2566 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ • ให้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ความอยู่ดีมีสุข บริการสุขภาพที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า• ส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล โดยอาศัยการควบคุมและกำกับดูแล การศึกษาวิจัย และการบูรณาการผลิตภัณฑ์ เวชปฏิบัติ และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์ดั้งเดิมและการแพทย์เสริม เข้าในระบบสุขภาพอย่างเหมาะสมนี่เป็นทิศทางใหญ่ของโลกในการยอมรับคุณค่าของการแพทย์ดั้งเดิม และควรสนับสนุนให้เกิดการใช้การส่งเสริมการใช้ที่ดี ต้อง ได้ผลจริง ปลอดภัย เข้าถึงได้   การส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมที่ดีนั้น ต้องคำนึงถึง ได้ผลจริง  ต้องเชื่อได้ว่าการรักษาด้วยวิธีการนั้นได้ประสิทธิผลจริง ไม่ใช่เชื่อแบบงมงาย ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้  ที่สำคัญต้องมีที่มาที่ไปของภูมิปัญญานั้น มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมจริงหรือไม่ต้องปลอดภัย  การรักษานั้นนอกจากได้ผลจริงแล้ว ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วยด้วย  หรือแม้จะยังไม่รู้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ ก็ต้องมีความปลอดภัยเสียก่อน  ดังนั้น การรักษาที่ต้องกระทำต่อร่างกายและจิตใจผู้ป่วยจึงต้องพิจารณาประเด็นนี้การเข้าถึง  การรักษาที่ผูกขาด ปิดลับข้อมูล(การใช้ยา) และผู้ป่วยส่วนใหญ่หรือทั่วไป ไม่สามารถเข้าถึงหมอหรือการรักษาได้โดยสะดวก นั้นจะเป็นช่องทางให้เกิดจากหลอกลวง หาประโยชน์ และไม่เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ควรสนับสนุนการใช้อย่างสมเหตุสมผล  การใช้ภูมิปัญญานั้นๆ ต้องเหมาะสม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ความเชื่อของชุมชน  ดังนั้น โดยหลักการขององค์การอนามัยโลกแล้ว เราต้องมีทัศนะที่ดี เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม  เราต้องส่งเสริมการใช้การแพทย์ดั้งเดิมอย่างถูกต้อง ถูกทาง นั่นคือ ต้องพิสูจน์ว่าได้ผลในการรักษาจริง ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเข้าถึงการรักษาได้ และต้องเกิดการใช้อย่างสมเหตุสมผลปรากฏการณ์ของหมอเทวดาที่เกิดในสังคมไทย และประเทศต่างๆ นั้น จึงต้องเปิดใจกว้าง เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนร่วมด้านสุขภาพนั้นเป็นเรื่องดี เป็นไปตามนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าในขณะเดียวกัน ทั้งภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะหมอเทวดาต่างๆ นั้น ก็ต้องเปิดใจกว้างให้เกิดการตรวจสอบ ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ การรักษานั้น ได้ผล ปลอดภัย เข้าถึง และสมเหตุสมผลหรือไม่สุดท้าย ถ้าวิธีการรักษาใด วิธีการหนึ่ง ได้ผล ปลอดภัย ก็ควรเผยแพร่วิธีการนั้นให้เป็นสาธารณะเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 สิ่งที่สร้างแรงจูงใจในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (ในเยอรมนี)

โดย : ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการการลงทุนติดตั้ง โซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ กลับมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ของครอบครัวในเยอรมนี อีกครั้งเนื่องจาก  มีการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ (solar roof top) เพิ่มขึ้นมากถึง 43,000 ครัวเรือน (เฉลี่ยแล้ว กำลังในการติดตั้งต่อครัวเรือนอยู่ที่ 10 กิโลวัตต์) เพิ่มมากขึ้นกว่า 35% เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการติดตั้งปี 2015 สาเหตุที่มีการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ ในระดับครอบครัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากราคาแผงโซลาร์เซลล์ลดลงอย่างมาก ในขณะที่เงินสนับสนุนจากภาครัฐคงที่ ยิ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพิ่มความน่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีก จากการคำนวณต้นทุน รายได้ รายจ่าย จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในระดับครัวเรือน ในเวลา 20 ปี ครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะได้รับผลตอบแทนคืน 5 % ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคารที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก(และอาจยังต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการฝากเงินอีกด้วย) และหากบริหารจัดการ การผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงานในครอบครัวมีประสิทธิภาพ ผลตอบแทนอาจมากกว่า 10 %ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ รวมค่าติดตั้งอยู่ที่ 1,200- 1,500 ยูโร ต่อ กิโลวัตต์(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนั้นเงินลงทุนจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อยู่ระหว่าง 6,000- 7,500 ยูโร (240,000 – 300,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าการซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลเสียอีก) จากการประมาณการการใช้พลังงานของครอบครัวชาวเยอรมัน 1 ครอบครัว จำเป็นต้องใช้พลังงานโดยการติดแผงโซลาร์เซลล์ 5  กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถให้กำลังการผลิตไฟฟ้าระหว่าง 4,300- 5,000 ยูนิต (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน พลังงานส่วนที่ไม่ได้ใช้ สามารถขายเข้าสู่สายส่งได้ ในราคา 4-5 บาท ต่อยูนิต ในขณะที่ค่าไฟ จะแพงกว่าประมาณเท่าหนึ่ง คือ 8- 10 บาท ต่อยูนิต ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจจากโซลาร์เซลล์จากครัวเรือน คือ การใช้ไฟฟ้าจากที่ครัวเรือนสามารถผลิตได้เอง แต่อย่าลืมว่า พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีข้อจำกัด คือ ตอนกลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ดังนั้นการมีแบตเตอรี สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในยามขาดแคลน จึงเป็นเรื่องจำเป็น หากไม่มีแบตเตอรี จะสามารถใช้พลังงานที่ผลิตได้เองเพียง 15- 30% แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว ก็ยังถือว่าคุ้มค่าอยู่ดี**ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (The Federation of German Consumer Organisations: VZBV)จากกราฟที่แสดง เปรียบเทียบผลตอบแทน ต่อปี กราฟด้านบน ที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ แบบไม่มีแบตเตอรี เส้นกราฟจะสูงขึ้น ผลตอบแทนมากขึ้น ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เอง ถ้าสามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง 40 % และหากอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 % ผลตอบแทนจากการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะขยับสูงขึ้นสูงถึง 10 % (เส้นสีเขียว) ในกรณีที่ค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจากการใช้ไฟที่ผลิตได้เองจะได้ผลตอบแทนเพียง 7 % (เส้นสีฟ้า)สำหรับกราฟด้านล่างคือ การแสดงผลค่าตอบแทน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีแบตเตอรี ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงกว่าแบบไม่มีแบตเตอรี เส้นกราฟจะสูงขึ้น ผลตอบแทนมากขึ้น ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้เอง ถ้าสามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง 80 % และอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 % ผลตอบแทนจากการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะเหลือเพียงแค่ 6 % (เส้นสีเขียว) ในกรณีที่ค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจากการใช้ไฟที่ผลิตได้เองจะได้ผลตอบแทนเพียง 1 % (เส้นสีฟ้า)ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นโยบายด้านพลังงานทางเลือก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี จึงเกิดขึ้นได้ ดำเนินการได้โดยประชาชนเป็นผู้ร่วมเล่น และให้การสนับสนุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เทคโนแครต และผู้นำทางการเมืองเขาไม่ได้มีมิจฉาทิฐิเหมือนกับเทคโนแครตที่ผูกขาดความรู้ ผูกขาดอำนาจ และผูกขาดทุน เหมือนอย่างในบ้านเราครับที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 12/2017

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เลือกใช้ยารักษาฝ้า อย่างถูกวิธี

เลือกใช้ยารักษาฝ้า อย่างถูกวิธีแม้ความขาวใสจะเป็นสิ่งที่สาวๆ ส่วนใหญ่ปรารถนา แต่บางครั้งเราอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม อย่างการใช้ยารักษาฝ้าที่มีส่วนประกอบขอสารไฮโดรควิโนนมาทำให้หน้าขาวขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลเสียร้ายแรงต่อผิวได้ หรือเผลอใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารดังกล่าวไปอย่างไม่รู้ตัว โดยเราจะมีวิธีเลือกอย่างไรให้ปลอดภัย ลองไปดูกันมารู้จักยารักษาฝ้ากันสักนิด หนึ่งในวิธีการรักษาฝ้าหรือกระที่แพร่หลาย คือการใช้ยาในกลุ่มที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนน(Hydroquinone) ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบครีมและเจล เพราะไฮโดรควิโนนเป็นสารมาตรฐานสำคัญ ที่สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง และส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ภายในเวลาที่รวดเร็วหรือประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการเลือกใช้ยาดังกล่าว จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะจัดอยู่ในประเภทยาอันตรายที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ง่าย หรือสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง รวมทั้งส่งผลเสียต่อผิวพรรณได้ในระยะยาว สารไฮโดรควิโนนส่งผลเสียอย่างไรแม้สารไฮโดรควิโนนจะมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาวขึ้นได้ แต่ต้องใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์ และยังถูกสั่งห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถทำให้ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดฝ้าที่มากกว่าเดิม หรือทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสและการระคายเคือง รวมทั้งอาจทำให้เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรหรือฝ้าเส้นเลือดได้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือสามารถทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ หรือเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้แนะวิธีการเลือกใช้อย่างปลอดภัยด้วยคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการรักษาฝ้า ทำให้ยาที่มีส่วนประกอบของไฮโดรควิโนนยังสามารถใช้ได้ แต่ในกรณีนี้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาดังกล่าวมาใช้เอง โดยควรเลือกซื้อตามร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธี ต่างจากยาทั่วไปเช่น ยาแก้ปวดหัว ยาแก้ไอหรือยาแก้โรคหวัดบางชนิดที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อเองได้ทั้งนี้เราควรตรวจสอบข้อมูลสำคัญทางยาบนฉลากยา ได้แก่ ชื่อตัวยาสำคัญ วัตถุประสงค์หรือข้อบ่งใช้ คำเตือนหรือคำแนะนำ หรือเปอร์เซ็นต์ของยาให้อยู่ในปริมาณที่ อย.กำหนด (ไม่เกิน 2%) รวมทั้งควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัด และทาเฉพาะจุดที่เป็นฝ้าเท่านั้น โดยหลังจากหยุดการใช้ยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนแล้ว ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องการอาการไวต่อแสงแดดสำหรับในส่วนของเครื่องสำอางบางยี่ห้อที่แอบลักลอบใส่สารไฮโดรควิโนน ซึ่งผู้บริโภคอาจเผลอใช้โดยไม่รู้ตัว โดยจะทำให้ผิวขาวขึ้นเร็วผิดปกติ เพราะมักใส่สารดังกล่าวในปริมาณสูงนั้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบให้ดีก่อนตัดสินใจ ด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการตรวจสอบฉลากว่ามีฉลากภาษาไทยหรือไม่ โดยอย่างน้อยต้องระบุชื่อเครื่องสำอาง ส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต ว/ด/ป ผลิตหรือหมดอายุ และเลขที่จดแจ้ง ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำเลขที่จดแจ้งหรือชื่อเครื่องสำอางดังกล่าว เข้าไปสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ว่าตรงกับที่ระบุไว้ฉลากหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ต้นตอ ปัญหาบริการ sms ขี้โกง แอบคิดเงินโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาถูกคิดเงินจากบริการเสริม sms ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมานาน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองถามคนใกล้ๆ ตัวคุณดู ผมว่า ต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เคยโดนคิดเงินจากบริการเสริม sms สมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเคยไปสมัครใช้บริการพวกนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไร ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเทียบกับการร้องเรียนบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ เราจะพบการร้องเรียนที่หลากหลาย เช่น บริการที่ได้รับไม่ตรงตามสัญญาหรือโฆษณา  หรืออาจจะมีบ้างที่ร้องเรียนว่าไม่ได้สมัครใช้แต่ถูกคิดเงิน แต่กับการร้องเรียนบริการเสริม sms มันชัดเจนมากว่า ผู้ร้องเรียนแทบจะทุกคนยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้บริการเสริม sms พวกนี้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในว่าสมัครไปแล้วได้บริการไม่ครบ หรือบริการเสริม sms ที่ได้รับไม่ตรงตามที่โฆษณา  ตรงนี้ผมว่า มันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการสมัครใช้บริการของบริการเสริม sms ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ร้องเรียนนับพันคน จะจำไม่ได้ว่าเคย แสดงเจตนาสมัครใช้บริการเสริม sms เหล่านี้   “สัญญา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน” หลักกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ คือ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ทั้ง คำเสนอ คำสนอง และ “การแสดงเจตนาที่ต้องชัดเจน ถูกต้องตรงกัน” คำถามก็คือ แล้วการสมัครใช้บริการเสริม sms ที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันมีระบบที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนา หรือยืนยันว่าต้องการสมัครใช้บริการจริงๆ หรือไม่ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงพอหรือไม่   ที่ผ่านมา ก็คงมีผู้บริโภคบางคนเผลอไปกดปุ่มสมัครใช้บริการโดยไม่เจตนา แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกกลโกงเขียนโปรแกรมดักไว้ให้สมัครใช้บริการเพียงแค่มือไปโดนป้ายข้อความโฆษณา แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ก็ยังเคยถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริม sms ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยสมัครใช้บริการมาก่อน ซึ่งเป็นกลโกงของผู้ประกอบการ content partner บางรายที่ใช้วิธีเขียนโปรแกรมดักผู้ใช้บริการ เพียงแค่ลากมือผ่านป้าย banner ของบริการเสริมเหล่านี้ ก็จะมีผลเป็นการสมัครใช้บริการแล้ว ดังนั้น ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟน หน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ปัญหาถูก sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเทียบกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อนทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการซื้อสินค้า ผ่าน mobile payment ผ่าน QR Code ในขณะที่การสมัครบริการเสริม sms ไม่มีขั้นตอนนี้ ให้ผู้ใช้บริการต้องกรอกรหัสแสดงตัวตนและยืนยันเจตนาสมัครใช้บริการ จึงเปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาบริการเสริม sms คิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครให้ตรงจุดที่สุด ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ทำให้ระบบการสมัครบริการมีความชัดเจน ทั้งในแง่เนื้อหาที่โฆษณา ที่ต้องไม่กำกวม เพราะหลายบริการอ่านแล้วก็งง เช่น กด *xxxx ใช้ฟรี 7 วัน” บางคนอาจจะแค่อยากทดลองใช้ฟรี แต่เมื่อกดไปแล้วกลับกลายเป็นการสมัครใช้ และหลังจากนั้นจะได้ใช้ฟรี 7 วัน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนจริงๆ ก็คือ สมัครใช้บริการแล้วจะได้แถมฟรี 7 วัน และที่สำคัญ จะต้องมีระบบที่มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคต้องกรอกรหัสยืนยันตัวตน และแสดงเจตนาสมัครใช้บริการอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่การคลิกเลือกช่องสมัครใช้บริการ ซึ่งแม้จะต้องคลิกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน bot (โปรแกรมอัตโนมัติ) ได้  ในขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจ พยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้ ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ถ้าระบบความปลอดภัย ยังไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนก็คงไม่กล้าใช้บริการ  ก่อนจะเดินหน้าประเทศไทยยุค 4.0 แก้ปัญหาซ้ำซากอย่างเรื่อง  sms โกงเงิน กันก่อนดีไหม ครับ - CPA มีการเขียนโปรแกรมดัก ให้ mouse over มีผลเป็นการสมัครใช้บริการ- ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ sms ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัย และรัดกุม เพียงพอ เปิดโอกาสให้มีการ เขียนโปรแกรม โกงผู้ใช้บริการได้ แม้จะมีการต้อง คลิกเลือกในหลายขั้นตอนก็ตามข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา  ทำให้การสมัครใช้บริการ sms ข้อมูล ข่าวสาร ต้องมีกระบวนการขั้นตอน ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และมีความรัดกุม ปลอดภัย ในทางอิเล็กทรอนิกส์  เทียบกับธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน ทุกครั้งที่จะทำธุรกรรม ในขณะที่การสมัคร บริการ sms ไม่มีกระบวนการในขั้นตอนนี้ ทำให้เปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย รูปธรรมในการแก้ไขปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ใช้อำนาจ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 5 (6) กำหนดให้บริการโทรคมนาคม ที่ไม่มีระบบสมัครใช้บริการ ที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงตัวตนและเจตนาที่ชัดแจ้งในการสมัครใช้บริการ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ต่อกรณีปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ  ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ที่กำหนดลักษณะการกระทำของผู้ให้บริการและตัวแทนที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อาทิ ข้อ 5 (3 )การโฆษณาเกินความจริง ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ , ข้อ 5 (1)การไม่แจ้งรายละเอียดของบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ,ข้อ 5 (5) การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวส่งข้อความโฆษณา sms โดยมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น  เมื่อมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงและมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ให้บริการจะต้องห้ามกระทำการในลักษณะนั้นกับผู้ใช้บริการทุกราย และถ้ายังไม่หยุดการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะปรับต่อไปเรื่อย ๆ อีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ  มาตรการนี้ จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เพราะการร้องเรียนของผู้บริโภค 1 คน จะส่งผลช่วยให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการด้วยโดยอัตโนมัติ และมีผลห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  การเสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ให้ กสทช. พิจารณา หลายกรณี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. ควรที่จะพิจารณาใช้อำนาจตามประกาศข้างต้น สอบสวนข้อเท็จจริง และสั่งห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นการทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ก็จะหยุดอยู่แค่การแก้ปัญหา case by case ให้แก้ผู้ร้องเรียน  แม้ว่า อนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม และกสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พยายามเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ในแง่มุมของการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่ก็มีการขัดขวาง ตัดตอนเรื่องร้องเรียน ให้หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคล 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 เราไม่ได้โดดเดี่ยว ความในใจกลุ่มผู้เสียหายจากรถยนต์มาสด้า

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้า  และเพื่อนซึ่งเป็นผู้เสียหายจากกรณีคล้ายกัน คือซื้อรถยนต์มาสด้า 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น XD High Plus และ Sky Active ปี 2014 – 2016 แล้วพบว่า มีอาการสั่นขณะเร่งความเร็วและเกิดอาการกระตุกขณะขับรถในช่วงความเร็ว 60 – 120 กม./ชม. เมื่อนำรถเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงช่างแจ้งว่าปัญหาเกิดจากเขม่า จึงทำการเปลี่ยนสปริงวาล์วกับระบบหัวฉีด และเปลี่ยนกล่อง Converter DCDC ให้ อย่างไรก็ตามเมื่อนำรถกลับมาใช้กลับพบอาการเดิม ผู้เสียหายจึงได้เข้าร้องเรียนที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้บริษัทฯ ขยายเวลารับประกันและชี้แจงวิธีการแก้ไขปัญหาให้เป็นปกติ หากไม่สามารถแก้ไขได้ขอให้รับซื้อรถยนต์คืน และชดเชยค่าขาดประโยชน์จากการใช้งาน ทว่าหลังจากนั้น บริษัทฯ ได้ฟ้องกลับผู้บริโภคข้อหาใช้สิทธิเกินส่วน เรามาฟังความในใจของผู้เสียหายที่รับทุกข์ซ้ำซ้อนอย่าง คุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์ และ   “การออกมาเรียกร้องสิทธินั้นตนได้ทำด้วยความสุจริตใจและอยากให้บริษัทแก้ปัญหาที่เกิดเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาหรือจงใจทำลายชื่อเสียงของบริษัท" ภัทรกร ทีปบุญรัตน์ก่อนจะมาถึงขั้นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค เรื่องราวเป็นมาอย่างไร  ซื้อรถยนต์มาแล้วพบว่า มีอาการสั่นขณะเร่งความเร็วและเกิดอาการกระตุกขณะขับรถในช่วงความเร็ว 60 – 120 กม./ชม. ซึ่งเป็นปัญหาของรถที่มันเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ใช้รถที่ไปเจอปัญหานี้ครั้งแรกบนถนนในจังหวะเร่งแซงซึ่งอันตรายมาก เมื่อผมได้ส่งรถเข้าซ่อมที่ศูนย์ฯ แล้วแต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จึงมีการตั้งกลุ่มทางเฟซบุ๊คชื่อว่า อำนาจผู้บริโภคช่วยเหลือผู้ใช้ Mazda Skyactiv เครื่องสั่น เร่งไม่ขึ้น ฯลฯ เพื่อรวมตัวกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของรถ ผมมองว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาของส่วนรวม ผมเรียนตามตรงว่าผมเป็นนักวิทยุสมัครเล่นและทำงานจิตอาสามาตลอดอยู่แล้ว เรื่องอะไรที่เรามองว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะผมก็ดำเนินการแทนเพราะส่วนใหญ่น้องๆ ก็ใช้รถรุ่นนี้ที่ถือว่าเป็นอีโคคาร์ ก็ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียนว่าต้องดำเนินการอย่างไร แต่เราทำมาเรารู้กระบวนการว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียวมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ซึ่งเรามองว่าผู้ผลิตควรต้องรับรู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของส่วนรวม สิ่งที่เราเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตมาชี้แจงก็เพื่อประโยชน์สาธารณะทั้งนั้นจำนวนผู้เสียหายที่รวบรวมได้ มีแนวทางทำงานกันอย่างไร เริ่มต้นจากกรณีของผมเอง ซึ่งร้องเรียนในประเด็นปัญหาอื่นก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้รับคำตอบจากทางผู้ผลิตจนร้องมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และทางมูลนิธิฯ เป็นคนดำเนินการให้เรื่องผ่าน สคบ. ก็ผ่านมาเกือบปีครึ่ง ซึ่ง สคบ.ไม่ได้ดำเนินการอะไรให้เลย ทางโน้น(บริษัทผู้ผลิต) ตอบมาว่ายังไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไรและก็ไม่ได้ตอบคำถามของเรา เราก็เรียกร้องไปจนมีการตั้งกลุ่มและเปิดเพจชื่อ “อำนาจผู้บริโภค” ขึ้นมา เพื่อจะบอกว่ามีปัญหาอาการรถแบบนี้ใครมีปัญหาบ้างก็รวบรวมรายชื่อมาจนได้ระดับหนึ่งเพื่อเพิ่มเติมรายชื่อในส่วนของ สคบ. จนร้องมาที่มูลนิธิฯ ว่าปัญหานี้มันรุนแรงนะมีเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่และมีการรวมกลุ่มกันและไปยื่นเรื่องที่ สคบ. ในกรณีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์สั่นเร่งไม่ขึ้นในการขับขี่ ตอนนี้จากหลักฐานทางทะเบียนที่เปิดทาง Google doc มีผู้เสียหายประมาณ 200 กว่าท่าน แต่ว่าคนที่มาแสดงตัว ประมาณ 20 – 30  กว่าท่านที่มีความประสงค์จะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค  ข้อดีของการที่ผู้เสียหายได้รวมกลุ่มกันคือ ทำให้คนที่ไม่ทราบปัญหาว่าสิ่งผิดปกตินี้มันไม่ได้เกิดจากผู้บริโภคนะ เราต้องเรียกร้องสิทธิสิ อย่างที่บอกว่าไป คือแทนที่ผมจะสู้คนเดียว ณ วันนี้เขาฟ้องผมคนเดียว(การใช้สิทธิเกินส่วน) ถ้าผมยืนคนเดียวผมคงเหนื่อย แต่พอมีผู้เสียหายมารวมตัวกันอย่างน้อยมันก็เป็นกำลังใจให้ผมด้วย และเป็นแนวทางในการต่อสู้ ผมถือว่าผู้บริโภคที่มีปัญหาต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองรู้สึกอย่างไรเมื่อโดนบริษัทฟ้องว่าใช้สิทธิเกินส่วน(ช่วงปลายปี 2560 กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ มาสด้า 2 รุ่น รวมตัวกันและเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ สคบ. เรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบ อีกทั้งยังได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อตัวแทนบริษัทมาสด้าเซลส์(ประเทศไทย) ในงาน Motor EXPO ทำให้บริษัทฯ ฟ้องคดีคุณภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เรียกค่าเสียหายถึง 84 ล้านบาทโดยอ้างเหตุว่า เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ทำให้ภาพลักษณ์บริษัทฯ เสียหาย ขายรถไม่ได้)  ผมคงเดินหน้าสู่ศาลผู้บริโภค ในเมื่อผู้ผลิตเขาไม่ยอมรับว่าสินค้าของเขามีข้อบกพร่อง คงไปพิสูจน์ในชั้นศาลครับ ความกังวลมันไม่ได้กังวลว่าเราจะแพ้คดีหรืออะไรนะ ผมกังวลว่าเราจะต้องเสียเวลามากกว่า แต่เรื่องข้อเท็จจริงผมมั่นใจว่าผมพูดไปด้วยประโยชน์สาธารณะและเป็นไปด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมดซึ่งผมไม่พูดอะไรเกินเลยจากข้อเท็จจริงเลย ผมสู้แค่ตายครับสิ่งที่อยู่ในใจและฝากให้คนอื่นคืออะไรถ้าเรายึดถือสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญก็คงต้องรักษาสิทธิของเราเอง แต่ว่าแทนที่เราจะรักษาสิทธิของตนเองต้องหาว่ามีพวกร่วมชะตากรรมเรื่องนี้ไหมและเดินไปด้วยกัน พลังของผู้บริโภคพวกนี้มันสามารถจะเอาไปต่อรอง อย่างที่ผมบอกว่ามาร้องเรียนไปหากผู้ผลิตไม่เคยตอบอะไรกลับมาเลยจนเรื่องถึงที่สุดมีหนังสือออกมา1 ฉบับ ก็ยังดีที่สิ่งที่เราเรียกร้องไปมันรับรู้ถึงบริษัทว่ามีปัญหาอยู่จริงซึ่งเขาจะปฏิเสธก็อีกเรื่องหนึ่ง“เวลาขับจะมีการสะเทือน สั่น และเร่งไม่ขึ้นควบคู่กันไป”คุณกรกนก อรรถพรพิมล ผู้เสียหายอีกท่านที่เข้ามารวมกลุ่มฟ้องคดี เล่าถึงความยากลำบากเมื่อไม่ได้ใช้งานรถยนต์ตามวัตถุประสงค์ที่ซื้อมาลำบากตรงต้องไปยืมเช่าหรือขอยืมรถญาติ ทั้งๆ ที่เรายังต้องผ่อนทุกเดือนและไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าอะไรมันเสีย ได้แต่รอให้เขาแจ้งมาหลังจากเสร็จจากช่างนำไปซ่อม เราก็มาคิดว่าน่าจะจบแต่มันมีปัญหาจุกจิกสารพัด เช่น ฝาถังน้ำมันเปิดไม่ได้มากกว่า 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งก็มีปัญหาคือน้ำมันจะหมดแต่ฝาเปิดไม่ได้ เขาบอกว่าถ้าเราแงะเองนั่นคือหมดประกัน ก็เลยต้องรอ บางทีติดวันเสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งศูนย์ปิด ต้องเปิดโรงแรมนอนรอก็ทำมาแล้ว เพื่อให้ศูนย์เปิดฝาถังให้โดยไม่มีค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น และหลังจากนั้นก็เกิดอาการล่าสุดที่รับไม่ได้เลยก็คือ จอดซ่อมอีก 18 วัน สาเหตุเกิดจากเทอร์โบแตก ต้องยกเครื่องออกทั้งหมดเลยและก็หมดวารันตีพอดี เพิ่งเข้าไปเช็คระยะ 100,000 กม. แล้วหมดพอดี ไฟหน้าก็มีอาการหนักกว่าตอนที่ไปเช็คระยะ 60,000 กม. คือวิ่งได้ที่ความเร็ว 20 รถกระชาก เร่งไม่ขึ้น พอช่วงถอนคันเร่งก็กระชาก เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนกลางคืน วันรุ่งขึ้นก็ต้องขับรถเข้าศูนย์เพราะว่าไม่มีบริการลากแล้วการดูแลของบริษัทต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีการดูแลเลย เขาได้แต่ถามไถ่และให้เหตุผลประมาณว่า “เป็นอย่างนี้แหละรถเทคโนโลยีสูง รถต้นแบบเทคโนโลยีล้ำมันก็ต้องมีข้อผิดพลาดแบบนี้แหละ” เลยอยากถามกลับว่า ทำไมไม่ทดลองให้มันเสร็จก่อนค่อยออกมาขาย และลูกค้าตอบรับเยอะ ทำให้ผลิตอะไหล่ไม่ทัน ทำให้ต้องไปจ้างโรงงานอื่นผลิต ซึ่งมันไม่สามารถเช็คได้ทั่วถึงว่าโรงงานนั้นๆ ผลิตดีไหม แล้วบังเอิญเราไปเจอเทอร์โบที่ผลิตโรงงานนี้เลยพัง แต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องทราบ แล้วตั้งแต่บัดนั้นจนวันนี้ไม่มีความสบายใจในการที่จะขับรถเลย ต้องเลิกเปิดวิทยุเพื่อที่จะเงี่ยหูฟังว่า จะมีอะไรพังอีกไหม ไม่มีความสุขเลย  แล้วเราต้องเดินทางทุกวันด้วยทราบว่ามีการเก็บหลักฐานไว้ตลอดทุกเรื่องบันทึกไว้ตลอดทุกข้อมูล พยายามขอข้อมูลจากศูนย์ว่า ให้ช่วยออกเอกสารยืนยันมาหน่อยว่ามันได้เข้าซ่อมจริง เกิดอาการจริง เพราะว่ารถจะหมดวารันตีแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็หมดไปแล้ว และถ้าจะขายต่อก็ไม่มีใครซื้อหรอก ทั้งๆ ที่เป็นรถใหม่ และข้อมูลมันทำให้เราไม่มีความสบายใจในการขับรถเลย ค่าอะไหล่แพงมาก เทอร์โบตัวหนึ่ง 5 – 6 หมื่นบาท ยังไม่รวมค่าแรงอีก แถมยังต้องจอดทิ้งไว้ทีละครึ่งเดือน นี่มันใช่หรือกับรถใหม่มั้ย แล้วที่เราเลือกยี่ห้อนี้เพราะมันดูแลง่าย เป็นเครื่องดีเซล และทุกครั้งที่เขาบอกต้องรอเขาจะพูดลักษณะคือ มีแต่คำพูดเท่านั้น เลยบอกให้เขาออกเอกสารมาให้เราว่าพบปัญหานี้จริง ให้ลงวันที่ด้วยและคุณขอเวลา เอกสารพวกนี้ก็ต้องขอและบางที่ไม่ยอมให้ด้วย ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของรถแต่ขอประวัติการซ่อมรถที่ศูนย์ก็ไม่ให้ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเพราะอะไร เข้ามาร่วมกลุ่มกับพวกพี่ๆ เขา เพราะว่าตอนแรกทางศูนย์บอกว่าเราต้องจ่ายเอง หลังจากนั้นเราก็ได้มารวบรวมข้อมูลว่า มันเป็นการเสียต่อเนื่องถึงจะได้สิทธินั้น แต่ถ้าคนที่ไม่ทราบก็ต้องซ่อมทีละ 5 – 6 หมื่น บ้าหรือเปล่า เราคือผู้บริโภคยังต้องผ่อนรถอยู่เลยทั้งๆ ที่การใช้งานของเราไม่ได้สมบุกสมบัน ออกรถมาไม่ถึงปีต้องเปลี่ยนโช้คหลังทั้งซ้ายขวา แล้วทางศูนย์ยังมาถามว่าเจ้าของรถน้ำหนักเท่าไร เลยตอบไปว่ามันเกี่ยวอะไรกันนี่มันรถยนต์ 7 ที่นั่งนะไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์ถึงมาถามว่าเราหนักเท่าไร แล้วก็ถามกลับว่าถามทำไม เขาตอบว่าโช้คพบการรั่วซึมของน้ำมัน นี่เลยทำให้รู้สึกว่าจะมั่นใจได้ไหม รถใหม่ป้ายแดงส่องกระจกหลังทุกวันๆ เริ่มรู้สึกว่าทำไมมองเห็นน้อยลง สรุปกระจกเสื่อม มันลามเข้ามาเหมือนกระจกหมดอายุเลย ทุกวันนี้เริ่มทยอยเสีย กระจกข้างปกติมันพับเก็บได้ ตอนนี้เก็บได้ข้าง ไม่ได้ข้าง บางทีเก็บไปไม่อ้าออก ซึ่งน่าจะเป็นที่มอเตอร์ ทุกอย่างทยอยเสีย แบตเตอรี่ก็ 2 ลูกแล้ว ลูกแรกก่อน 1 ปีแต่เขาบอกว่าด้วยความที่มันเป็น...มันเปลืองแบตฯ ก็ไม่เป็นไรเปลี่ยนที่ศูนย์ พอมาอีกทีให้เปลี่ยนอีกแล้ว คือมีแต่เรื่อง เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลให้เราต้องมาวันนี้เพราะมันเป็นแบบนี้ไง ไม่ใช่การมโนแต่มันเกินที่เราจะอดทนแล้วจริงๆ ทำไมจึงร่วมฟ้องคดี  มีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้บริโภค เราก็กลัวนะเพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรเลยมีแค่ข้อมูลความเป็นจริงแค่นั้น แต่อยากรู้เพราะว่าไม่ใช่แค่เราคนเดียวแล้วมันเป็นสิทธิของเราด้วย ถ้ามีการยื่นข้อเสนอมาแล้วไปตกลงนั่นก็อีกเรื่อง แต่นี่ไม่ใช่ หนำซ้ำยังฟ้องกลับอีก เดิมเราก็ไม่ได้เรียกร้องจะเอาค่าเสียหายหรืออะไรมาเยอะๆ แต่เราเป็นลูกค้าของเขานะ ซื้อด้วยความที่ชอบและตัดสินใจอย่างดีแต่ผลที่เราได้รับกลับลอยๆ ขึ้นมา และเขาก็ส่งหนังสือกลับมาว่าเสียจากปัจจัยภายนอก ถ้าลูกค้ามีความไม่สบายใจให้นำรถเข้ามาเช็คที่ศูนย์ได้ เนื่องจากว่ามันอาจมีความบกพร่องจากปัจจัยภายนอก เลยถามว่าปัจจัยภายนอกคืออะไร ต้องมีหิมะหรือเปล่า  ตอนนี้อยากให้คนอื่นๆ ที่มีปัญหาอย่างเดียวกัน มาแสดงตัวไม่ใช่อะไรก็ไม่เป็นไร และมูลค่าก็ไม่ใช่ 20 บาท แต่นี่มัน 890,000 บาท เงินเกือบล้านทั้งๆ ที่เรายินดีจ่ายแม้กระทั่งดอกเบี้ยค่างวดรถเราบวกไปแล้วในส่วนที่เรายินดีไม่ใช่ว่ารถต้นแบบแล้วเซลส์ให้ 50 % ถ้าแบบนั้นถือว่าเราก็ยินดีซื้อของเซลส์ แต่นี่เก็บเราเต็มและเราก็ยินดี เลยมีความรู้สึกว่าเราต้องสู้ ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง ไม่ได้หวังว่าจะต้องชนะหรืออะไรแต่ว่าอยากให้รู้ว่าความถูกต้องมันต้องมี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ภาพยนตร์ผู้บริโภค

กรณี น.ส.รัตนฉัตร ใช้ขวานทุบรถยนต์ที่จอดขวางประตูหน้าบ้าน บริเวณหมู่บ้านเสรีวิลลา เขตประเวศ จนได้รับฉายาในโลกโซเชียลว่า "ป้าทุบรถ" นำมาสู่การบอกเล่าความทุกข์ตลอด 10 ปี ท่ามกลางตลาดที่รายล้อมรอบบ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทำให้นึกย้อนถึงหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในหลายกรณี คุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา และครอบครัวที่ปรากฏตัวตนต่อสู้ต่อสาธารณะหลายครั้งหลายหน จนคุณหมอวิชัย โชควิวัฒน์ ให้ฉายาว่า เป็นตัวแสบ หรือนางปีศาจร้ายที่ “เล่นไม่เลิก” แต่ในอีกด้านหนึ่ง คุณปรียนันท์กลายเป็นตำนานของการต่อสู้ที่ยืนหยัดจนถึงปัจจุบัน ให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขทั้งคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์เรื่องราวของ “รัตนา สัจจเทพ” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “รัตนา บ้านสีดำ” ยังคงอยู่ในใจใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้ บทบาทนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องจากการเอารัดเอาเปรียบของข้าราชการขี้ฉ้อ เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง มากกว่าการทำหน้าที่โดยยึดหลักความถูกต้องเป็นธรรม ได้ก่อให้เกิดกรณี  “บ้านสีดำ” สู่สายตาสาธารณชนในที่สุด กรณีที่ น.ส.เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ เจ้าของร้าน "ศิลาเกษ" ซึ่งจำหน่ายเสื้อผ้าย่านพาหุรัด ซื้อรถยนต์ป้ายแดง แต่ปรากฏว่า รถมีปัญหาตั้งแต่ซื้อมาใหม่ๆ เข้าศูนย์ซ่อมมาหลายครั้งหลายหนแล้วก็ไม่หาย ร้องเรียนขอความเป็นธรรมแล้วไม่ได้ผล จนทุบรถเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีเหล่านี้ สะท้อนภาพการคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รัฐสม่ำเสมอกับการคุ้มครองผลกำไรของธุรกิจเอกชน จนละเลยสิทธิของคนเล็กคนน้อย ผู้บริโภค และหลายครั้งรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิ หรือร่วมมือในการกระทำเหล่านั้นเสียเอง ความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่จุดเริ่มต้น กระบวนการชดเชยเยียวยา ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ในทุกหน่วยงานที่ต่างมีกำแพงความยุติธรรม สะท้อนความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และการป้องกันปัญหาภายในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี ทุกคนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมในปัญหาของแต่ละคน ต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องจนสามารถสร้างภาพยนตร์จากเรื่องราวเหล่านั้นได้ทุกคน สิ่งหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ คงไม่พ้นความรับผิดชอบ ความเที่ยงตรงของหน่วยงานรัฐ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเสมอหน้า เกิดขึ้นซ้ำซาก ๆ แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรัฐ และการเรียนรู้จากสังคมไทย เพราะขาดความเด็ดขาดของกระบวนการยุติธรรมร่วมด้วยที่พอจะเกี่ยวข้อง คงเป็นปัญหาบริโภคนิยมที่มากับข่าวสารที่มากมาย รวดเร็ว มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถรองรับการแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในขณะเดียวกัน เหมือนอย่างที่ล้อเลียนกัน ว่า ขอบคุณเสือดาวที่ทำให้ปัญหานาฬิกาหายไป หรือขอบคุณป้าที่มาช่วยชีวิตคนฆ่าเสือดาว ทำให้ความรับผิดชอบที่ไม่มากพอของหน่วยงานรัฐทั้งระบบ เงียบหายไป หรือคนที่ลงมือทำเหนื่อยเกินไปจนท้อ และเกิดเรื่องราวใหม่อีกรอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ทนายความทิ้งคดี

ผู้บริโภคหลายคนที่ประสบปัญหาด้านคดีความ มักว่าจ้างทนายความให้มาช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งต่อให้ไม่ชนะคดี แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ความเอาใจใส่ด้านคดีความหรือการทุ่มเทให้กับคดีอย่างเต็มที่ และหากเราพบภายหลังว่าทนายความมีการทิ้งคดี หรือหนีหายจากการทำคดีไปดื้อๆ จะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณชูชาติพบว่า มีหลายคนเข้ามาบุกรุกที่ดินของตัวเอง จึงไปว่าจ้างทนายความมาช่วยฟ้องร้องให้ ซึ่งภายหลังส่งเรื่องไปที่ศาล ทนายความก็นัดให้เขาเตรียมตัวขึ้นศาลเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามหลังจากนัดแนะวันเวลากันเรียบร้อย ทนายความก็กลับมาบอกว่าศาลเลื่อนนัดและเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งคุณชูชาติจึงลองเดินทางไปที่ศาลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเองและพบว่า ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีของเขาไปนานแล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองคนที่เข้ามาบุกรุกให้เป็นคดีเดียวกัน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะแยกฟ้องจำเลยเข้ามาใหม่ แต่ทนายกลับไม่ได้ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่แต่อย่างใด ส่งผลให้คดีขาดอายุความในที่สุดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณชูชาติจึงรู้สึกว่าถูกทิ้งคดี และส่งเรื่องร้องเรียนปัญหาไปยังสภาทนายความ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทนายความคนดังกล่าวไม่ได้มีสถานภาพเป็นทนายความแล้ว เนื่องจากใบอนุญาตการประกอบอาชีพของเขาได้หมดอายุไปแล้ว และยังไม่มีการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตแต่ประการใด อย่างไรก็ตามคุณชูชาติกลับพบชื่อของทนายดังกล่าว ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ของสภาทนายความประจำจังหวัด ซึ่งเป็นการโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในสภา ส่งผลให้คุณชูชาติส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 กำหนดให้ทนายความต้องมีมรรยาทต่อตัวความ ซึ่งไม่ควรกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้  เพราะอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ คือ 1.จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี 2. จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน  หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ ซึ่งผู้ร้องสามารถร้องเรียนปัญหาไปที่สภาทนายความเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ นอกจากนี้หากพบว่าทอดทิ้งคดีจริงและทำให้ผู้ร้องเสียหาย อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ที่กำหนดว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับในกรณีนี้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังสภาทนายความอีกครั้ง ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >