ฉบับที่ 203 ผู้ประกอบการขนมเปี๊ยะ ปั้นด้วยใจ

เริ่มศักราชใหม่ทุกคนมีสิทธิ์นำเรื่องราวดีๆ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นิตยสารฉลาดซื้อได้จัดเวทีเชิญผู้ประกอบการที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อเคยนำสินค้ามาทดสอบในเรื่อง สารกันบูด จากกลุ่มขนมและอาหารประเภทต่างๆ จำนวน 9 ราย และตัวแทนจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในเวทีได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ในเรื่องของสารกันเสียและการใช้ที่ถูกวิธี และยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งว่าจะได้นำข้อมูลจากการทดสอบไปปรับปรุงและควบคุมวัตถุดิบในการผลิตของตน อย่างเช่น ขนมเปี๊ยะครูสมทรง ขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร และขนมเปี๊ยะคุณหมู ถือเป็นความร่วมมือที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการยกระดับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ส่วนทางห้างค้าปลีกเอง ก็รับจะนำข้อเสนอและข้อมูลจากเวทีไปพัฒนาในเรื่องการจัดซื้อสินค้าเพื่อผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับบนี้จึงพาไปพบกับมุมมองของผู้ประกอบการรายเล็กๆ  3 เจ้า ที่มีมุมมองในการเลือกสรรสิ่งดีๆ ได้ด้วยมือของเราเองท่านแรกคุณวิมล ศิริวณิชย์วงศ์ จากขนมเปี๊ยะร้านหมู ซอยโปโล เล่าว่า “ พื้นเดิมของครอบครัวพี่จะทำอาหารทานเอง พ่อแม่ก็ทำให้ทานเองตั้งแต่ปู่ย่าเขาก็จะทำอาหารให้ทานเอง แล้วเราก็จะรู้วิธีการว่าจะทำอย่างไรให้อาหารอยู่ได้นานและเราก็จะรู้จักวิธีเลือกวัตถุดิบว่าอย่างไรถึงจะดี เขาจะสอนเราหมดเหมือนมันเป็นอะไรที่มันซึมอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ ทั้งครอบครัวเลยไม่ใช่เฉพาะแต่พี่หรอก คนในครอบครัวจะรู้สึกว่าการที่เราจะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการกิน และบวกกับความที่เราชอบทำอาหารก็คิดว่าถ้าเรารู้สึกอย่างไรก็อยากให้คนอื่นเค้ารู้สึกเหมือนเรา การควบคุมคุณภาพเลือกวัตถุดิบอย่างไรบ้างอย่างหนึ่งที่ต้องซื้อก็คือเรียกว่าต้องมาจากแหล่ง อย่างไข่เค็มที่เราใช้ก็ไม่ได้ซื้อทั่วๆ ไปจากท้องตลาด เราต้องมีเจ้าประจำซึ่งเรียกได้ว่าค้าขายกันมานาน ทุกอย่างเลยแม้กระทั่งแป้งสาลี ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ผ่าน อย. ทุกอย่างต้องมีใบกำกับเรียบร้อยซึ่งตรงนั้นก็จะเหมือนกับเรากรองมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือคุณภาพของวัตถุดิบ ต้องมีการผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมมาทุกอย่าง จากข่าวที่ออกไปมีผลกระทบอย่างไรตอนแรกที่นักข่าวเขียนคือการที่พี่ใช้คำว่าไม่มีวัตถุกันเสียนั้นมันผิดนะ ไม่ถูกต้องเพราะว่าถ้าไม่มีแปลว่าต้องไม่เจอเลย แต่จากที่เคยฟังตัวสารเบนโซอิกไม่ได้เกิดจากวัตถุกันเสียแต่มันเกิดจากถั่วด้วยเพราะฉะนั้นอะไรคือข้อสรุปที่ให้เราเขียน พี่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่แม้กระทั่งผู้ประกอบการแบบพี่เอง หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันผิดอย่างไร และถ้าพี่ไม่ไปฟังพี่ก็ยังไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ตอนที่ข่าวออกไปส่วนหนึ่งลูกค้าเขาไม่เข้าใจนะ เขาอ่านข่าวปุ๊บหมดเลย 10 กว่าร้านที่เจอวัตถุกันเสีย เมื่อวันก่อนลูกค้ามาเขาบอกเขาไม่ได้ทานมาเกือบปีเลยเพราะแฟนเขาไม่ให้ซื้อแต่เขาก็มั่นใจว่าพี่ไม่ได้ใส่เพราะเขาซื้อไปถ้าวางทิ้งไว้ 10 วันขึ้นราหมดเลย คือพี่ไม่ได้ทำตรงนี้มาแค่ปีสองปี พี่ทำงานตรงนี้มาจะ 40 ปีแล้ว ถ้าเราไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับลูกค้ามันคงยืนมาไม่ถึงตรงนี้ เพราะขายอยู่แต่ในร้านไม่เคยลงเฟสบุคหรืออะไรทั้งนั้น ไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์ ตอนที่เป็นข่าวมีนักข่าวบอกว่าทำไมพี่ไม่ตอบโต้ พี่ก็บอกไปว่าไม่จำเป็นหรอกพี่คิดว่าลูกค้าเข้าใจนะ ถูกก็คือถูก วันหนึ่งลูกค้าก็จะกลับมาเหมือนเดิมและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนที่เป็นลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ตอนที่เป็นข่าวเขาโทรมาหาเลย บอกว่าเขาเสียความรู้สึกมาก วันนั้นพี่ไม่ได้อยู่บ้านเลยไม่ได้ฟังข่าวก็ถามเขาว่าเสียความรู้สึกเรื่องอะไร เขาก็ถามว่าทำไมพี่ใส่วัตถุกันเสีย วันนั้นลูกค้าโทรมากันใหญ่เลย พี่ก็ถามว่าไปเอามาจากไหน เขาถึงบอกว่าข่าวออก พี่ก็งงและก็ไม่รู้เรื่อง ที่บ้านก็ไม่รู้เรื่อง แล้ววันต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กลงแล้วคนก็อ่านแค่ว่าพบสารกันเสียในขนมเปี๊ยะ คนอ่านแค่นี้ไม่ได้อ่านข้างในแต่ว่ามันมีแบรนด์ร้านเราอยู่ก็แสดงว่าอ๋อร้านนี้มีแน่นอน คือคนไทยเป็นแบบนี้เขาไม่อ่านทั้งหมด ถ้าเขาอ่านทั้งหมดเขาก็เข้าใจว่าข่าวมันก็เป็นตามเนื้อข่าว แต่พี่ก็ไม่มีอะไรก็ช่างมัน แต่ถามว่ากระทบไหมก็มีผลกระทบนะ ไม่เฉพาะแต่ร้านพี่นะร้านอื่นๆ ก็คงเหมือนกัน แต่พอเรามาคิดว่าเราทำผิดอย่างไร ซึ่งก็มีลูกค้ามาแนะนำนะว่าพี่ต้องเขียนอย่างนี้ๆ สรุปพี่บอกว่าเอาอย่างนี้พี่ไม่เขียนอะไรเลยพี่เขียนแค่ว่าเก็บในตู้เย็นแล้วกัน (หัวเราะ) คนที่เขาทำอาหารให้คนอื่นกินต้องคงคุณภาพของอาหารถูกที่สุดเลย ถ้าคุณเป็นคนรุ่นพี่คุณจะรู้ว่าเคยทานอะไรแล้วมันอร่อยแล้วเดี๋ยวนี้มันจะไม่เหมือนเดิม แต่คำพูดแบบนี้คูณจะไม่ได้ยินจากปากลูกค้าของพี่นะ แต่ถ้าของร้านพี่ทานเมื่อ 30 ปีที่แล้ววันนี้ก็ยังโอเคเหมือนเดิม คุณต้องคิดว่าพี่ต้องทำมันด้วยใจรักขนาดไหนมันถึงอยู่มาได้ ไม่ว่าข่าวจะว่าอย่างไรแต่พี่ก็ยังผ่านมาได้แต่ก็น้อยใจนะเพราะเราไม่สามารถไปบอกลูกค้าทุกคนที่ได้รับข่าวนี้ได้ บางคนเข้าใจแต่บางคนอาจจะเสียความรู้สึกไปเลยก็ได้ ว่าที่กินมาตั้งนานนี่ใส่วัตถุกันเสียเหรออยากฝากอะไรถึงผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับทำขนม เช่น บริษัทผลิตแป้ง,ถั่วกวนสำเร็จรูปเขาก็ต้องมีคุณธรรมนะ หมายถึงว่าเขาต้องไม่เติมวัตถุกันเสีย ต้องมีวิธีรักษาให้มันอยู่ได้นาน ต้องมีความซื่อสัตย์กับลูกค้า อย่างของพี่ก็เลือกตั้งแต่ถั่วเลยต้องเป็นถั่วเกรด 1 ที่ไม่มีกรวด หิน ซึ่งราคาจะแพงกว่า แต่พอล้างน้ำให้สะอาดแช่ไว้แล้วใช้ได้เลย แต่มันก็จะมีถั่วผ่านรังสี ถั่วพอผ่านรังสีแล้วมันจะเก็บได้นาน แต่มันก็จะมีอันตรายกับผู้บริโภค อย่างโรงถั่วที่เขาโม่ให้พี่พอเขากะเทาะเมล็ดออกจากฝักแล้วจะอยู่ได้แค่ 1 เดือนเท่านั้นเอง ไม่นานกว่านี้ซึ่งถั่วที่พี่สั่งมานั้นก็จะเก็บนานไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะมีแมลงอะไรต่ออะไร เราก็การันตีจากความรู้สึกได้ว่ามันไม่ใส่ยา เพราะถ้ามียาผ่านรังสีปุ๊บแมลงไม่มีแน่นอนคุณชุติกานจน์ กิตติสาเรศ และคุณนลพรรณ มั่นนุช พี่ดาและพี่อิ๋ว ร้านขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร ซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน เล่าประวัติก่อนเริ่มมาทำขนมเปี๊ยะขายว่าแต่เดิมนั้นขายน้ำ และขนมอยู่กับเตี่ย รับขนมของคนอื่นมาขายหลายยี่ห้อ จนวันหนึ่งก็มีความคิดว่าจะทำอะไรขายดี จึงได้ไปเรียนทำขนมปังแต่ก็ทำไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเรียนทำขนมเปี๊ยะ ด้วยความที่ชอบทานมาตั้งแต่เด็ก จึงชอบที่จะทำขนมเปี๊ยะ แล้วนำความรู้ที่เรียนมาลองทำทานเองบ้าง ทิ้งบ้าง ให้เพื่อนช่วยชิมบ้าง และปรับปรุงสูตรให้เป็นสูตรของตนเองจนเพื่อนบอกว่าสูตรนี้อร่อยแล้ว จึงมาทำขาย โดยเริ่มไปตั้งบูธขายที่เดอะมอลล์ท่าพระ และเดอะมอลล์บางแค ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากข่าวเรื่องพบสารกันบูดในขนมเปี๊ยะออกไปเป็นอย่างไรบ้างแต่ข่าวที่ออกไปก็ส่งผลให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่าหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง ทราบมาจากข่าวจึงอยากลองชิม เราคิดว่าวัตถุกันเสียน่าจะปนเปื้อนมากับแป้งที่ใช้ทำขนม  แต่แป้งที่เราใช้นั้นมีฉลาก อย. เพราะเราคิดว่าของที่มี อย. กำกับน่าจะสะอาดอยู่แล้ว เราจึงไม่ทราบจริงๆ ว่ามีสารปนเปื้อนอยู่ จากเรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายตกลงไปนิดหน่อย เพราะผู้บริโภคอาจจะยังไม่กล้าซื้อไปทานแล้วมีวิธิแก้ไขอย่างไรเมื่อยอดขายตกลงไปแบบนี้ ได้คุยกับลูกค้าหรือไม่ลูกค้ามีทั้งที่หยุดซื้อขนมเราไปบ้าง และที่ยังซื้ออยู่บ้าง แม้จะซื้อน้อยลง แต่ยังมีลูกค้าที่ยังไว้ใจร้านเรา เพราะขนมเราทำครั้งละน้อยๆ พยายามทำใหม่ทุกวัน เราเน้นที่ความสดใหม่ เพราะร้านเราเพิ่มเริ่มต้น ต้องคงคุณภาพให้ได้  คือเมื่อทำเสร็จแล้วก็จัดส่งให้ลูกค้าทันที เพราะส่วนใหญ่เราจะทำขนมตามออเดอร์ลูกค้า เช่น ลูกค้าโทรมาสั่งจำนวน และนัดเวลาส่งขนมไว้ เราก็จะทำตามนั้น  แต่หากไม่ทันก็ต้องขอเลื่อนเวลาลูกค้าออกไป เพราะขนมของเราจะใช้เวลาในการทำค่อนข้างนานในการทำขนมให้อร่อย และคงคุณภาพไว้ต้องมีความสด ใหม่ เพราะขนมที่นำออกมาจากเตาใหม่ๆ จะกรอบ รสชาติจะหวาน หอม ละมุนในปาก แต่หากพักไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แป้งขนมจะนิ่มและเย็นลิ้น  นี่เป็นคำบอกเล่าจากลูกค้าที่ติดใจในความอร่อยของขนมร้านเรา และขนมทางร้านเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย นี่จึงเป็นจุดขายของร้าน นอกจากนี้ที่ร้านเราจะซื้อแป้งทำขนมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วทำขนมให้หมดภายในอาทิตย์นั้นๆเพราะหากซื้อมาเก็บไว้นานแป้งจะไม่สด พี่คิดว่าผู้ประกอบการท่านอื่นควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้างอย่างร้านเรา ของใหม่ก็คือของใหม่ที่เพิ่มทำออกมา เพราะเราทำตามออเดอร์ลูกค้า จะไม่ทำขนมเก็บไว้นาน และต้องการให้ผู้ประกอบการรายย่อยรักษาเรื่องนี้ไว้ ไม่โกหกลูกค้า ไม่นำของเก่าออกมาขาย แล้วบอกว่าเป็นของใหม่ คือให้เปรียบเหมือนเราทำรับประทานเอง และวัตถุดิบที่ทางร้านใช้ ทั้งแป้งทำขนม เกลือ สีผสมอาหาร จะใช้ยี่ห้อที่มีฉลาก อย. หลังจากที่กลับมาจากการอบรม เราได้กลับมาจัดโต๊ะใหม่ มีการใส่ถุงมือตลอดเวลาที่ทำขนม จากเดิมที่ใส่บ้าง ถอดบ้าง เพราะเราใช้ถุงมือแพทย์จะขาดง่าย  ก็ได้ปรับเปลี่ยนถุงมือใหม่เมื่อลูกค้าเสนอความคิดเห็น หรือมีคำติชมเข้ามา ได้นำมาปรับใช้กับที่ร้านหรือไม่มีค่ะ เช่นเริ่มแรกขนมที่ทำมาเป็นแป้งนิ่ม ซึ่งจะเสียง่าย จึงนำมาปรับสูตรไปเรื่อยๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ขนมก็จะเก็บไว้ได้นานขึ้นจากเดิมเก็บไว้ได้ 2-3 วัน เมื่อปรับปรุงสูตรใหม่จะเก็บไว้ได้ 4 วัน ฉลากที่ร้านจะเขียนแจ้งว่าควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที เพราะขนมเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย ขนมอยู่ในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์  รวมทั้งบอกกล่าวกับลูกค้าโดยตรงมากกว่า เช่น เมื่อลูกค้ามาซื้อขนมก็จะบอกกับลูกค้าทันทีว่าควรทานขนมให้หมดภายใน 3 วัน เหตุที่เราไม่ใส่วัตถุกันเสีย เพราะเราต้องการให้ลูกค้าได้ดูแลสุขภาพด้วยคุณครูสมทรง นาคศรีสังข์ ขนมเปี๊ยะครูสมทรง  อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมสมัยก่อนตอนเริ่มทำขนมก็ช่วยกันทำกับลูกอีก 3 คน ในห้องแถว 1 ห้อง ลูกเรียนที่สาธิตเกษตร ส่วนครูเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ ร.ร.อนุบาลกำแพงแสน ตอนเช้าก่อนไปส่งลูกเราก็ตั้งเตาถ่านนึ่งถั่วไว้หน้าบ้าน  ไฟก็ดับไปเอง พอกลับมาตอนเย็นก็จะนำถั่วมาบด นวดแป้ง ช่วยกันปั้นขนม ช่วยกันทำจนเสร็จ และนำไปส่งตอนเช้าโดย บรรจุถุงละ   5 ลูก  ขนมลูกจะลูกใหญ่มาก ขายถุงละ 20 บาท ซึ่งถ้าถุงไหนที่ขนมลูกไม่สวยเราก็จะนำไปให้ลูกๆ ทานที่ จะขายเฉพาะลูกสวยๆ จะเห็นว่าเราดูแลเรื่องคุณภาพมาตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นจึงทำให้เราเครียดมากจากกิจการเล็กๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ เราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตั้งแต่เริ่มทำมาก็เติบโตมาเรื่อยๆ แต่เมื่อมีคนเชิญให้ไปออกรายการทางช่อง 5 พอรายการออกอากาศก็มีคนโทรเข้ามาสั่งเป็นจำนวนมากจนเราทำไม่ทัน ตอนนั้นเหมือนเป็นการฆ่าตัวเองเลย เพราะทำไม่ทัน พอเราเร่งรีบขนมก็ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งมีผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเจ้าอื่นเกิดขึ้นมาอีกหลายราย จึงค่อยๆ เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ขนมของเราเน้นที่ความสดใหม่ จึงไม่คิดที่จะใส่สารกันบูด ครูจะเล่าถึงกลยุทธ์ที่เหตุใดครูจึงทำขนมที่ไม่ใส่สารกันบูด และก็ไม่มีความคิดที่จะใส่ด้วย เพราะหากเราทำขนมที่ขายหมดภายใน 3 วัน เราจะสามารถทำขนมได้ทุกวัน เพราะลูกค้าที่ซื้อไปจะต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน เพราะไม่เช่นนั้นขนมจะเสีย แต่หากเราใส่สารกันบูด หรือทำขนมที่อยู่ได้ 7 วัน หรือนานเป็นเดือน เราก็ไม่รู้ว่าขนมเราจะขายได้เมื่อไร แล้วขนมก็จะไม่อร่อยเหมือนขนมที่ทำสดใหม่ด้วย  ตอนที่มีข่าวว่าขนมของคุณครูใส่สารกันบูดมีอะไรเกิดขึ้นบ้างครูก็รู้สึกเสียใจ และโมโหเหมือนกัน เพราะขนมเราไม่ได้ใส่สารกันบูดจริงๆ คิดว่ามีคนกลั่นแกล้งเราหรือเปล่า เพราะช่วงนั้นมีทั้งข่าวโทรทัศน์ และข่าวหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ทำไมข่าวออกมาแบบไม่นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของเรา เพราะโดยตัวเราเองนั้นไม่ทำอาชีพนี้ก็มีอาชีพอื่น แต่พนักงานของเราจะเดือดร้อน ดังนั้นเราจึงคิดหาวิธีแก้ไข เพราะเห็นในตอนท้ายข่าวว่าอาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ จึงนำเรื่องมาปรึกษากับหลาน โดยให้นำวัตถุดิบทุกชนิด ทั้ง แป้งสาลี   ไข่  เกลือ  ทุกอย่างที่เราใช้ประกอบในการทำขนมไปตรวจหาสารปนเปื้อน ซึ่งผลปรากฏว่าพบอยู่ใน แป้งสาลีที่ใช้ทำขนม จึงติดต่อสอบถามไปที่บริษัทผู้ผลิตแป้ง เขาแจ้งว่าในตัวแป้งสาลีได้ใส่สารฟอกขาว  “ตอนแรกติดต่อขอให้ทางบริษัทผลิตแป้งที่ไม่ใส่สารให้เรา ได้รับคำตอบที่ไม่แน่นอนว่าต้องมีการสั่งซื้อในแต่ละครั้งจำนวนมากน้อยเพียงใด และคิดว่าเราเป็นธุรกิจเล็กๆ เขาจะทำให้เราหรือไม่  จึงติดต่อให้ทางบริษัทออกใบรับรองให้สำหรับวัตถุดิบที่เราใช้ทุกอย่างว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ต่อไปจะพยายามติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิตแป้งอีกครั้งว่าต้องสั่งผลิตในจำนวนเท่าไรที่จะไม่ต้องใส่สารฟอกขาวให้เราได้ คิดอย่างไรหากจะต้องมีการรวมกลุ่มกันของผู้ผลิตขนมเปี๊ยะในการสั่งแป้งเพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับผู้ผลิตรายอื่นเหมือนกัน แต่คิดว่าเรื่องนี้ต้องมีคนกลางช่วยประสานให้ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะหลายรายมารวมตัวกันเพื่อสั่งแป้งสาลีกับผู้ผลิตรายเดียว น่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าให้ครูเป็นผู้ประสานเอง ดังนั้นจึงขอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลางช่วยประสานกับกลุ่มผู้ผลิตขนมที่เขาต้องการแป้งสาลีที่ไม่ใส่สารให้ด้วยค่ะ อยากให้ไปสอบถามผู้ผลิตขนมเจ้าที่ไม่พบสารกันบูดว่าใช้แป้งชนิดใดเป็นส่วนผสม ให้เขาช่วยแนะนำเรา ซึ่งวิธีนี้ครูคิดว่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ต้องลองดูก่อน  แต่อาจไม่ได้รวมกลุ่มเฉพาะผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ผลิตขนมชนิดอื่นที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนม หรือให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีเสนอมาให้เราว่าบริษัทใดที่สามารถผลิตแป้งแล้วไม่ใส่สารกันเสียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เรียนรู้ประวัติศาสตร์

มีผู้รู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยว่า ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำ ซาก เกิดแล้วเกิดอีกลองมาย้อนดูประวัติศาสตร์ผู้บริโภคกันบ้าง สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียน จำกัด(มหาชน) CAWOW ซึ่งฉ้อโกงสมาชิกออกกำลังกาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) พบพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีการโอนเงินไปต่างประเทศจำนวนมากต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่ปี 2545- 2556 มากกว่า 1,600 ล้านบาท เจ้าของบริษัทหรือผู้ร่วมลงทุนหนีหาย คดีได้มีคำพิพากษาถึงกรรมการผู้มีอำนาจที่เป็นอดีตเทรนเนอร์ เมื่อกลางปี 2560 ผ่านมา พบมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 9 หมื่นบาท ลดโทษเหลือ 8 เดือน ปรับ 60,000บาท รอลงอาญา 2 ปีต่อมาบริษัท ทรูฟิตเนส ปิดบริการ ลอยแพลูกค้าหลายร้อยคน สูญเงินหลักหมื่นยันหลักแสน เมื่อกลางปีที่แล้ว บริษัทเปิดให้บริการ 3 สาขาในประเทศไทย เมื่อ เดือน มิ.ย. 2549 ที่อาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ สุขุมวิท มีพื้นที่ให้บริการโดยรวมขนาด 3,700 ตารางเมตร ต่อมาเปิดสาขาห้างสรรพสินค้าเซน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อปี 2550 และสาขาเอสพลานาด แคราย เมื่อปี 2552หรือแม้แต่กรณีรถยนต์ที่เคยเกิดปัญหาทุบรถยนต์ฮอนด้า หรือปัญหาจากการใช้งานรถยนต์บางรุ่นของเชฟโรเล็ต ฟอร์ด และมาสด้า แต่จนถึงปัจจุบันสำหรับผู้บริโภคก็ยังมีความยากเย็นแสนเข็ญในการต่อสู้ และหาทางเยียวยาความเสียหายของตนเอง แถมล่าสุดเมื่อต้นปีนี้เอง บริษัทรถยนต์มาสด้า ได้ว่าจ้างสำนักงานทนายความเบเคอร์แอนด์แม็คแคนซี่ ฟ้องผู้ใช้รถยนต์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตนเอง แถมผู้ถูกฟ้องคดีได้รับคำฟ้องจากบริษัททนายแทนที่จะได้คำฟ้องจากศาลยุติธรรมที่น่าสนใจคงจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่รถยนต์ดีเซลมาสด้า 3 และ SUV crossover รุ่น CX-3 ถูกเรียกคืน 2.3 ล้านคันทั่วโลก เกี่ยวกับปัญหาเครื่องยนต์ดีเซล หลังจากมีข้อร้องเรียนของผู้บริโภคจำนวน 846 รายในประเทศญี่ปุ่น บริษัทต้องตอบคำถามว่า เป็นกรณีเดียวกันหรือใกล้เคียงกันหรือไม่กับรถยนต์ มาสด้า 2 ที่ถูกร้องเรียนจากผู้บริโภคในประไทยประวัติศาสตร์เหล่านี้มีไว้เรียนรู้ และปรับปรุงแก้ไขร่วมกันทุกฝ่าย ไม่งั้น ปัญหายืมนาฬิกาเพื่อน พรรคการเมืองทหาร จนถึงปัญหาผู้บริโภค มาตรฐานการดูแลคุ้มครองที่เท่าเทียมกันทั่วโลก คงมีให้เห็นเป็นระยะ เมื่อผู้คนลืมเลือนสิ่งเหล่านั้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ไม่ส่งสินค้าให้ เพราะแสดงราคาผิด

เพราะสินค้าในตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่มักมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากตัดสินซื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่หากเราซื้อแล้วพบว่าราคาที่แสดงหน้าเว็บไซต์กับราคาที่ต้องจ่ายจริงต่างกัน จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้างคุณพอใจต้องการลำโพงไร้สายคุณภาพดี ราคาเหมาะสม จึงตัดสินใจเลือกซื้อผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดกลาง คอยรวบรวมสินค้าจากร้านค้าหรือบริษัทต่างๆ เอาไว้ภายในเว็บไซต์เดียว คล้ายห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าต่างๆ มากมายมาเช่าพื้นที่เปิดร้านขายสินค้านั่นเอง ทั้งนี้หลังจากเธอพบสินค้าที่ต้องการในราคาที่ถูกกว่าร้านทั่วไป จึงรีบกดซื้อและชำระเงินผ่านบัตรเครดิต พร้อมรอให้มีการจัดส่งสินค้าภายใน 10 วันตามที่ระบุไว้อย่างไรก็ตามหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว คุณพอใจก็ยังไม่ได้รับสินค้า เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านค้าและได้รับการตอบกลับมาว่า เหตุที่ยังไม่ส่งสินค้าดังกล่าวให้ เนื่องจากทางร้านลงราคาผิดพลาดและไม่มีความประสงค์จะขายในราคาที่ระบุไว้บนหน้าเว็บไซต์ ดังนั้นจึงขอให้ลูกค้าไปติดต่อขอคืนเงินกับทางเว็บไซต์ได้เลยเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณพอใจจึงไม่พอใจมาก จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาว่าสามารถจัดการร้านค้าเช่นนี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องแจ้งรายงานพฤติกรรมผู้ขายไปยังเว็บไซต์ เพื่อให้มีมาตรการลงโทษผู้ขายที่มีพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมแนะนำให้ดำเนินการขอเงินคืนทั้งหมด ส่วนการเรียกค่าเสียหายหรือขอให้ส่งของมาให้ตามที่ซื้อ จะต้องแจ้งให้ผู้ขายหรือเว็บไซต์รับผิดชอบ แต่หากยังปฏิเสธหรือเพิกเฉย สามารถฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือบังคับให้ส่งสินค้าตามสัญญาได้ทั้งนี้หลังการดำเนินการข้างต้นและผู้ร้องได้แชร์เรื่องราวดังกล่าวลงสื่อสังคมออนไลน์ ก็พบว่าทางเว็บไซต์ได้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ ด้วยการคืนเงินทั้งหมดพร้อมคูปองลดราคาสินค้าอื่นๆ และลงโทษผู้ขายตามข้อกำหนดของบริษัท 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 บอกเลิกสัญญาฟิตเนสไม่ได้

เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มหันมาออกกำลังกายกันเป็นประจำมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็นิยมออกกำลังกายในฟิตเนส เพราะสะดวก มีอุปกรณ์หลากหลาย แต่หากวันหนึ่งเกิดปัญหาและต้องการยกเลิกสัญญาใช้บริการ เราสามารถทำได้ง่ายๆ จริงหรือคุณณรงค์สมัครใช้บริการฟิตเนสเจ้าหนึ่ง มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี แต่วันหนึ่งเขากลับประสบอุบัติเหตุขณะกำลังออกกำลังกาย ทำให้ต้องพักรักษาตัวและงดออกกำลังกาย 1 เดือน เขาจึงไปแจ้งกับพนักงานของฟิตเนสดังกล่าวว่า ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว โดยยินดีเสียค่าธรรมเนียมการระงับตามระเบียบของบริษัท อย่างไรก็ตามพนักงานกลับแจ้งว่าไม่สามารถระงับชั่วคราวในทันทีได้ เพราะตอนที่คุณณรงค์มาแจ้งนั้น เริ่มเข้าเดือนใหม่แล้ว ซึ่งกฎของบริษัทกำหนดให้สามารถระงับได้ในเดือนถัดไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณณรงค์จึงเห็นว่าในเดือนถัดไป เขาน่าจะอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอระงับชั่วคราว ดังนั้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือนดังกล่าว คุณณรงค์จึงไปขอยกเลิกสัญญา และแจ้งระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปกติจะตัดยอดอัตโนมัติ พร้อมนำกุญแจล็อกเกอร์ไปคืน แต่พนักงานของฟิตเนสกลับแจ้งว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้อีกเช่นกัน เพราะตามกฎการบอกยกเลิกสัญญานั้น จะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แสดงว่าจะในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ คุณณรงค์ยังคงต้องชำระค่าบริการก่อนและบอกยกเลิกได้ในเดือนถัดๆ ไป ส่งผลให้เขารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบและส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระค่าบริการ เนื่องจากการที่ผู้ร้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถออกกำลังกายได้นั้น เป็นเหตุในบอกระงับการใช้บริการได้ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค เรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาฟิตเนสที่กำหนดว่า หากมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์(ใบรับรองแพทย์) ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจปกติ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังไม่มีการดูแลหรือแจ้งข้อเสนออื่นๆ ให้ผู้ร้องทราบก่อนเลย เช่น กฎของบริษัทในการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของบริษัท อาจเข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน ขณะนี้ยังอยูระหว่างเจรจา ได้ผลเช่นไรเราจะติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สินค้าใหม่ ใช้ครั้งแรกก็พังแล้ว

แม้จะเป็นสินค้าใหม่ แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาการชำรุดบกพร่อง หากเราซื้อสินค้าที่มีปัญหาเช่นนี้ขึ้นมา จะสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้างไปดูกันคุณสมัยกำลังจะไปเที่ยวต่างประเทศ จึงไปเดินเลือกซื้อกระเป๋าเดินทางที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแถวรังสิต เธอตัดสินใจซื้อกระเป๋ายี่ห้อหนึ่ง ราคาประมาณ 2,000 บาทกลับบ้านมา แต่เมื่อนำไปใช้งานในวันเดินทางจริง กลับพบว่าหูกระเป๋าด้านข้างและด้านบนหลุดออกมา ทำให้ไม่สามารถถือหรือลากกระเป๋าได้ ส่งผลให้ได้รับความลำบากในการเดินทางอย่างมากเมื่อกลับมาประเทศไทย คุณสมัยจึงรีบติดต่อไปยังบริษัท เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทางบริษัทยินดีจะซ่อมกระเป๋าดังกล่าว ด้วยการเปลี่ยนหูกระเป๋าให้ใหม่ คุณสมัยไม่รับข้อเสนอดังกล่าวเพราะรู้สึกว่าหูกระเป๋าสามารถใส่และหลุดออกได้ง่าย จึงอาจทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกหากนำไปใช้งาน แต่เนื่องจากบริษัทไม่ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างอื่นเพิ่มเติม เธอจึงตัดสินใจส่งเรื่องไปร้องเรียนยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พร้อมโทรศัพท์มายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้แนะนำผู้ร้องว่า ตามมาตรา 472 ประมวลกฎหมายแพ่งฯ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง จนเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งจะใช้เป็นปกติ ผู้ขายต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้หากผู้ร้องไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัท ก็สามารถแจ้งความประสงค์ขอคืนสินค้าได้ ส่งผลให้ภายหลังก่อนการเจรจาที่ สคบ. ทางบริษัทก็ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมมาว่า ยินดีจะเปลี่ยนกระเป๋ารุ่นอื่นให้ แต่หากมีราคาแพงกว่าก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม ทั้งนี้ผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้น ผู้ร้องยินดีไปเจรจาที่ สคบ. ต่อด้วยตนเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ถูกอายัดเงินเดือน เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิต

หลายคนที่นิยมการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย อาจทำให้เป็นหนี้ก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัวได้ แล้วตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณอมรเคยเป็นเจ้าของร้านหมูย่างเกาหลีที่ขายดีมากๆ แต่หลังพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เริ่มขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลให้หมุนเงินไม่ทันและต้องนำเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จ่ายไปก่อน โดยเมื่อคุณอมรใช้จนหมดวงเงินและไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนด เขาก็เป็นหนี้ก้อนโตรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ทำให้โดนบริษัทฟ้องและถูกบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตมาก เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา              ในกรณีนี้ผู้ร้องสงสัยว่า ทำไมเขาจึงถูกอายัดเงินเดือน ทั้งที่ๆ เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เพราะตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 60 เป็นต้นมานั้น เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน              อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องถูกอายัดเงินเดือนนั้น อาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ               1. เงินเดือนของผู้ร้องเกินกว่า 20,000 บาทจริง ซึ่งควรสอบถามทางฝ่ายการเงิน หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ว่า นำเงินอื่นไปบวกเข้ากับฐานเงินเดือนหรือไม่ เช่น ค่าโอทีหรือค่าคอมมิชชั่น เพราะหากทางบริษัทส่งรวมกันไปทั้งหมด ทางกรมบังคับคดีก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง แต่หากสามารถแจกแจงรายละเอียดของเงินเดือนได้ ก็สามารถบอกทางบริษัทให้แจ้งกับกรมบังคับคดีใหม่อีกครั้ง หรือ              2. กรณีที่ผู้ร้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก่อนกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ หรือก่อนวันที่ 4 กันยายน 60 ซึ่งในกฎหมายฉบับเก่านั้น กำหนดให้อายัดเงินเดือนที่ไม่เกิน 10,000 บาทได้ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผิวเต่งตึงด้วยกรดไฮยาลูโรนิก (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับเซลล์ผิวหนัง ในการช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นทำให้ผิวไม่แห้งตึง โดยฉบับที่ผ่านมาเราได้พูดถึงกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันบ้าง มารู้จักผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันสักนิดผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเสริมมีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ และไม่สามารถใช้รับประทานแทนอาหารหลักได้ โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติรับประทาน ในขณะที่ “อาหารเสริม” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารจริงๆ เช่น ฟักทองบด ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก หรือ โจ๊กปั่น ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกินอาหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้กินเป็นมื้อเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเองได้ตามท้องตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพและได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อมารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกแม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกจำนวนมาก ซึ่งผู้บริโภคหลายคนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยชะลอความเหี่ยวย่นได้จริง แต่เราไม่ควรลืมว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และไม่ควรถูกโฆษณาอวดอ้างในลักษณะสรรพคุณทางยาหรือเครื่องสำอาง เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง กระชับรูขุมขนหรือลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อตามท้องตลาด มักโฆษณาว่ามีฤทธิ์หรือให้สรรพคุณคล้ายกับยารักษาโรค จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้เราจึงควรสำรวจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนตัดสินใจซื้อด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการอ่านฉลาก ซึ่งหากพบว่ามีเลขสารบบอาหาร 13 หลักก็แสดงให้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารและไม่มีสรรพคุณทางยาใดๆ แต่หากพบว่ามีเลขทะเบียนยา เช่น Reg. No. …/.. ก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นยารักษาโรค ซึ่งเราสามารถคาดหวังสรรพคุณหรือการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือให้ออกฤทธิ์ในการเติมเต็มร่องลึกและทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น แต่ทั้งนี้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับการดูดซึมของร่างกายแต่ละคนด้วยวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากเราควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร 13 หลักแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคต้องระบุ ดังนี้1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า (แล้วแต่กรณี) 4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” (ถ้ามี) 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” (ถ้ามี) 8. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” (ถ้ามี) 9. ข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ” 10. คำแนะนำในการใช้ 11. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) 12. วันเดือนและปีที่ผลิต/ หมดอายุการบริโภค ทั้งนี้การแสดงข้อความตามข้อ (12) ต้องมีข้อความที่ฉลากระบุตำแหน่งที่แสดงข้อความดังกล่าวด้วย 13. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร 14. ข้อมูลเฉพาะอื่นๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ หรือฉลากโภชนาการ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 แบ่งปันผ่านหนังสือเสียงกับ RFB

ฉบับนี้ขอต้อนรับปีจอด้วยการแนะนำแอปพลิเคชันที่สามารถทำให้ผู้ใช้ทำความดีช่วยเหลือสังคมและสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นโครงการดีๆ ที่ช่วยแบ่งปันบทความและหนังสือต่างๆ ให้กับผู้พิการทางสายตา ผ่านหนังสือเสียงในแอปพลิเคชันนี้ได้เลยแอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า Read for the Blind เป็นแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้เข้ามาอ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ พร้อมทั้งให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้ามาใช้แอปพลิเคชันนี้เพื่อฟังหนังสือหรือบทความที่น่าสนใจได้เช่นกันโดยในขณะนี้ภายในแอปพลิเคชันมีหนังสือที่มีผู้ใช้แอปพลิเคชันได้อ่านแล้วมากถึง 33,676 เล่ม โดยแบ่งหมวดหมู่ประเภทของหนังสือ 14 หมวดหมู่ ได้แก่ หมวดหมู่วรรณคดีวรรณกรรม หมวดหมู่ธุรกิจและการจัดการ หมวดหมู่หนังสือสำหรับเยาวชน หมวดหมู่การท่องเที่ยว หมวดหมู่คู่มือสิบต่างๆ หมวดหมู่เบ็ดเตล็ด หมวดหมู่ปรัชญาจิตวิทยา หมวดหมู่ศาสนาโหราศาสตร์ หมวดหมู่สังคมศาสตร์ หมวดหมู่ภาษาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาศาสตร์ หมวดหมู่วิทยาการและเทคโนโลยี หมวดหมู่ศิลปกรรมและการบันเทิง และหมวดหมู่ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้ว แอปพลิเคชันจะให้ผู้ใช้ลงชื่อการใช้งาน ซึ่งสามารถเลือกลงชื่อการใช้งานผ่านการเชื่อมต่อเฟซบุ๊คได้ จากนั้นผู้ใช้แอปพลิเคชันสามารถค้นหาและตรวจสอบชื่อหนังสือหรือชื่อผู้แต่ง เพื่อให้ทราบว่ามีหนังสือที่ต้องการจะบันทึกเสียงหรือไม่ และมีการบันทึกการอ่านหนังสือเล่มนั้นหมดเล่มแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่อยู่บริเวณภาพหนังสือว่าครบร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยังในกรณีที่ต้องการบันทึกหนังสือเล่มใหม่ให้กดตรงคำว่า “สร้างหนังสือเสียงเล่มใหม่” แอปพลิเคชันจะให้กรอก ISBN หรือสแกน ซึ่งเป็นหมายเลขประจำหนังสือนั้นๆ เมื่อกรอก ISBN หรือสแกนเรียบร้อยแล้ว แอปพลิเคชันจะขึ้นชื่อและรายละเอียดมาอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่มีหมายเลขจะให้กรอกชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ชื่อสำนักพิมพ์ จำนวนบท จำนวนหน้า และเลือกหมวดหมู่ของหนังสือ หลังจากนั้นจะสามารถบันทึกเสียงได้คำแนะนำของทางแอปพลิเคชันสำหรับผู้เริ่มใช้นั้น อยากให้เริ่มการอ่านบทความก่อน โดยควรฝึกก่อนเริ่มบันทึกเสียงจริง โดยให้ทดลองอ่านก่อนหนึ่งรอบ ทำความเข้าใจกับเรื่องการอ่าน อ่านด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจเรื่องที่อ่าน เว้นจังหวะการอ่านให้เหมาะสม อ่านทอดอารมณ์ และตั้งใจอ่านทั้งนี้การกดฟังเสียงของหนังสือหรือบทความต่างๆ จะมีไว้ให้เฉพาะผู้ที่ลงชื่อใช้งานที่เป็นผู้พิการทางสายตาเท่านั้น นอกจากแอปพลิเคชั่น Read for the Blind แล้ว ยังมีเฟซบุ๊ค readfortheblind ที่บอกเล่ากิจกรรมและข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย  ลองมาเป็น “ผู้ให้” กันนะคะ และจะรู้ว่าความสุขทางใจดีอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เคล็ดวิชาสู้พวกหลอกลวง

หลายครั้งที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปะทะกับผู้ขายสินค้าที่หลอกลวง และมักจะเกิดเรื่องเกิดราวหรือเพลี่ยงพล้ำ จนบางครั้งพาลจะหมดกำลังใจ  คอลัมน์นี้ขอให้กำลังใจนักคุ้มครองผู้บริโภคทุกคนครับ แต่อย่าลืมว่าการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมันก็เหมือนการต่อสู้  มันต้องมีรูปมวยหรือวรยุทธ์ที่ดี ถึงจะได้เปรียบจนโค่นคู่ต่อสู้ลงได้ผมเคยไปฟังนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ต้องทำงานเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ละท่านได้เล่าประสบการณ์ของท่าน ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยนำมาเล่าให้นักคุ้มครองผู้บริโภคทราบ เผื่อลองนำไปปรับใช้เป็นแนวทางของตนเอง1. ต้องลงไปสัมผัสกับข้อมูลจริงๆ : การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่คนทำงานได้ลงไปในพื้นที่ ได้สอบถามข้อมูลจากผู้บริโภค จะทำให้เราได้รายละเอียด ตลอดจนพยานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานได้มากขึ้น 2. พยายามหากลุ่มคนหรือภาคีเครือข่ายที่สนใจในปัญหาเดียวกันหรือคนที่ได้รับผลกระทบ : เพราะคนกลุ่มนี้จะมีหัวอกเดียวกัน และจะมีข้อมูลชัดเจน เพราะเคยใช้ผลิตภัณฑ์และได้รับอันตรายมาก่อน  นอกจากนี้การรวมกลุ่มกัน จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการปัญหาต่างๆ3. ควรนำเสนอข้อมูลปัญหาในลักษณะการเปรียบเทียบ : การนำเสนอข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบ จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายว่า ขนาดปัญหามันใหญ่ หรือรุนแรงขนาดไหน เช่น อาจนำเสนอว่า เงินที่ผู้บริโภคถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้ง เท่ากับกี่เท่าของเงินเดือนที่เขาได้รับ หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวหลังใช้ผลิตภัณฑ์เท่ากับกี่เท่าของราคาที่ซื้อมาใช้4. ใช้การสื่อสาร ที่สั้น กระชับ : ในแต่ละวันผู้บริโภคเองมีเรื่องต่างๆ ให้จำมากมาย  การให้ความรู้เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค แม้เราจะหวังดี โดยพยายามยัดข้อมูลให้มากที่สุด บางทีมันอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีศักยภาพในการรับรู้ที่ต่างกัน เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยเน้นข้อความ ให้สั้นกระชับ เข้าใจง่าย และเมื่อเขาสนใจแล้ว เราค่อยเพิ่มรายละเอียดเนื้อหาให้มากขึ้น ตามที่เขาสนใจในลำดับต่อๆ ไป5. ไม่ต้องกังวลแต่ควรระวัง “ต้องพูดความจริง” : นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายคนมักจะกังวลว่า หากเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายไปแล้ว อาจถูกผู้จำหน่ายสินค้าฟ้องร้องได้  ในประเด็นนี้มีคำแนะนำว่า การพูดความจริงในที่นี้หมายถึงการนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น แจ้งว่าผลิตภัณฑ์นี้  รุ่นที่ผลิตนี้  ตรวจพบสารอะไรบ้าง และสารชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร สิ่งที่ต้องควรระวังคือคำพูดที่ไปแสดงความรู้สึก เพราะอาจไปเข้าข่ายหมิ่นประมาท เช่น ผลิตภัณฑ์นี้มีสารอันตรายผสม เลวมาก  ทั้งนี้หากไม่มั่นใจ อาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้แจ้งข้อมูลก็ได้6. ลองใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกบ้าง : การใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวก ไม่ได้หมายถึงการห้ามนำเสนอข้อมูลด้านลบ แต่หมายถึงการใช้ศักยภาพดึงพลังบวกในตัวของแต่ละคนออกมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น เราอาจใช้วิธีชักชวน หรือโน้มน้าว ให้เขาลุกขึ้นมาเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชน โดยเน้นให้เขาเห็นว่าเมื่อเขาช่วยกันแล้ว จะเกิดสิ่งดีๆ อะไรขึ้นในชุมชน เช่น  พ่อแม่ ลูกหลานในชุมชนของเราเองจะได้ปลอดภัยลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคราวนี้แหละ พลังนักคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้มแข็งขึ้นทันตา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 สารกันบูด เรื่องจริงบางอย่างที่คุณอาจยังไม่รู้

สารกันบูดคืออะไรสารกันบูดเป็นสารเคมีที่สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติหรือสังเคราะห์ขึ้น ซึ่งมีหน้าที่หลักในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ในอาหาร  เพราะการขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดพิษภัยในอาหารหรือทำให้อาหารเน่าเสียได้ จึงเป็นสารที่มีประโยชน์โดยตรงในการยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารนั้น บางครั้งสารกันบูดชนิดเดียวกันอาจมีคุณสมบัติในการปรับคุณภาพด้านประสาทสัมผัสให้ดีขึ้นด้วย เช่น สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (สารฟอกขาว) ไม่เพียงช่วยป้องกันจุลินทรีย์หลายชนิดไม่ให้เจริญแล้ว ยังช่วยป้องกันให้อาหารไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำได้  หรือสารไนไตรท ที่หยุดยั้งการเจริญของสปอร์แบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินั่มในไส้กรอก ยังช่วยให้ไส้กรอกมีสีชมพูสวยงามด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อจะใช้สารกันบูดก็ควรเน้นในปริมาณที่หยุดยั้งการเจริญของจุลินทรีย์เป็นสำคัญ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคเป็นหลักอันตรายจากสารกันบูดไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเป็นแบบเฉียบพลัน  แต่มักเป็นแบบเรื้อรังที่สะสมเป็นเวลานานและมักจบที่โรคมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ยกเว้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีผลเฉียบพลันที่ทำให้เกิดการหอบหืดจนอาจเสียชีวิตได้ ในผู้บริโภคที่มีอาการแพ้ประเภทของสารกันบูดสารกันบูดมีหลากหลายชนิด ทั้งที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์  ซึ่งสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอินทรีย์ ได้แก่ กรดอินทรีย์ ชนิดต่างๆ เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก กรดโพรพิโอนิก สารกันบูดที่เป็นกรดอินทรีย์ยังพบในพืชหลายชนิดตามธรรมชาติและยังสามารถสร้างได้โดยจุลินทรีย์บางชนิด เช่น กรดเบนโซอิกมีพบในผลไม้พวกเบอรี่หลายชนิด เครื่องเทศจำพวกอบเชย และนมเปรี้ยว ผลแครนเบอรี่เป็นตัวอย่างของผลไม้ที่มีกรดเบนโซอิกในปริมาณที่สูงมาก กรดซอร์บิกก็มีพบในผลไม้หลายชนิดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกรดโพรพิโอนิกที่ใช้เติมเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เบเกอรี ก็สร้างได้โดยแบคทีเรียที่ใช้ในกระบวนหมักเนยแข็งบางประเภท   ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีสารเคมีบางชนิดที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสารกันบูดแต่มีโครงสร้างคล้ายสารกันบูด เช่น สารเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ ที่ใช้ฟอกแป้งให้ขาว มีโครงสร้างเหมือนกรดเบนโซอิก ซึ่งอาจทำให้ถูกวิเคราะห์เป็นสารกันบูดชนิดดังกล่าวได้ จุดนี้จึงอาจเป็นข้อเตือนใจในการวิเคราะห์ผลส่วนสารกันบูดที่อยู่ในรูปสารอนินทรีย์ เช่น สารไนเตรท สารไนไตรท สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์  สารอนินทรีย์เหล่านี้มีสมบัติที่ควรทราบไว้ด้วย เช่น สารไนเตรทและสารไนไตรทสามารถเปลี่ยนกลับไปมาได้ตามปฏิกริยาเคมีที่เกิดจากจุลินทรีย์ในเนื้อสัตว์  สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์สามารถสลายตัวได้ในระหว่างกระบวนการผลิตที่มีการให้ความร้อนและระหว่างการเก็บรักษา  ดังนั้นในการอนุญาตให้ใช้สารกันบูด จึงได้มีการศึกษาถึงปริมาณที่ต่ำสุดที่สามารถก่อให้เกิดผลในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารและปริมาณสูงสุดที่มีโอกาสก่ออันตรายกับสุขภาพ พร้อมกำหนดเป็นเกณฑ์ที่อนุญาตให้เหลืออยู่ในอาหาร เพื่อให้สารเหล่านั้นได้ทำหน้าที่ในการยืดอายุการเก็บรักษาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการผู้ประกอบการหากจะใช้สารกันบูดในผลิตภัณฑ์ของตน ต้องเข้าใจข้อความในกฎหมายอย่างถ่องแท้เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ปริมาณของสารกันบูดที่กำหนดไว้ในกฏหมายมักระบุปริมาณสารกันบูดให้มีหน่วยเป็นมิลลิกรัมในอาหารที่มีหน่วยเป็นลิตรหรือกิโลกรัม  ซึ่งหน่วยมิลลิกรัมต่อกิโลกรัมหรือลิตร บางครั้งเรียกว่า พีพีเอ็ม (ppm) ซึ่งก็สามารถคิดกลับมาเป็นค่าเปอร์เซนต์ที่คุ้นเคยกันได้ โดยใช้บัญญัติไตรยางค์ธรรมดา เช่น กฎหมายอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิก 1000 มิลลิกรัมในเครื่องดื่ม 1 ลิตร หมายถึง 0.1%  ทั้งนี้ จะเห็นว่ากรดเบนโซอิก 1000 มิลลิกรัม คือ 1 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากและไม่สามารถชั่งด้วยตาชั่งตามบ้านได้  ผู้ประกอบการจึงมีทางเลือกเพียง 2 วิธี คือ (1) เตรียมเครื่องดื่มครั้งละอย่างน้อย 25 ลิตร เพื่อให้สามารถใช้ตาชั่งพลาสติกที่ใช้ในร้านเบเกอรีที่มีขีดตัวเลขที่อ่านเห็นเป็น 25 กรัม ตัวละประมาณ 800 บาท หรือ (2) ซื้อตาชั่งไฟฟ้าที่มีความละเอียดเพียงพอให้สามารถใช้ชั่งที่น้ำหนักต่ำขนาด 1 กรัม  ซึ่งมีราคาประมาณ 3,000-5,000 บาท  ทั้งนี้ ห้ามใช้วิธีตวงสารกันบูด(กะเอา) ต้องชั่งเท่านั้น ส่วนอาหารที่เป็นของเหลว อนุโลมให้ตวงได้ แต่อุปกรณ์ที่ใช้ตวงต้องมีความละเอียดเพียงพอ หากอาหารเป็นของแข็งต้องใช้การชั่งเท่านั้น ห้ามตวงเด็ดขาดหลังจากเข้าใจข้อความในกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิบัติในการชั่งตวง ซึ่งเป็นการควบคุมให้ปริมาณสารกันบูดที่ใช้ไม่เกินกว่าที่กฏหมายกำหนดแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก คือ ความทั่วถึงของสารกันบูดที่เติมลงในอาหาร หากเติมลงในอาหารเหลว ต้องมั่นใจว่ามีการคนจนละลายหมด ไม่ตกตะกอนและกระจายตัวจนทั่ว ซึ่งสามารถทำและสังเกตเห็นไม่ยากในกรณีที่อาหารมีลักษณะใสและไม่ข้น  แต่หากอาหารมีลักษณะขุ่นข้นหรือเป็นของแข็งที่อาจเป็นผงหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว ต้องมีวิธีการปฏิบัติที่ช่วยให้มั่นใจว่ามีการกระจายตัวของสารกันบูดอย่างทั่วถึง ได้แก่ การผสมสารกันบูดกับส่วนผสมที่เป็นผงซึ่งใช้ในปริมาณมากให้ทั่วถึงก่อน แล้วจึงนำผงที่ผสมกันแล้วเติมลงในอาหาร  เช่น ในสูตรอาจใช้สารกันบูด 10 กรัมและน้ำตาล 500 กรัม ก็นำสารกันบูดทั้งหมดผสมกับน้ำตาล 100 กรัมให้ทั่วถึงก่อน แล้วนำน้ำตาลที่ผสมกับสารกันบูดแล้วดังกล่าว ไปผสมกับน้ำตาลส่วนที่เหลือ 400 กรัม ให้ทั่วถึง  แล้วจึงนำน้ำตาลทั้งหมดที่มีสารกันบูดผสมอยู่ลงไปคลุกเคล้าในอาหารให้ทั่วถึง ตามวิธีการปกติสรุปแล้วการเติมสารกันบูดลงในอาหารต้องมีข้อควรปฏิบัติ 3 ประการ คือ (1) รู้ปริมาณที่เติมได้ตามกฏหมาย (2) ชั่งสารกันบูดและอาหารให้ถูกต้อง และ (3) ผสมให้ทั่วถึงคำถามที่พบได้บ่อยจากคนใช้สารกันบูดQ1. ทำไมใช้สารกันบูดแล้ว บางทีก็บูด ยกชุด  บางทีก็ไม่บูด ยกชุดชั่งน้ำหนักสารกันบูดถูกต้องไหม? ชั่งน้ำหนักอาหารถูกต้องไหม?2. ทำไมใช้สารกันบูดแล้วบางห่อก็บูด  บางห่อก็ไม่บูด ผสมทั่วถึงหรือเปล่านะ3. เราไม่ใช่คนใช้สารกันบูดสักหน่อย แต่มาหาว่าเราใช้ ได้อย่างไรA- ขอรายละเอียดสินค้าจากคนส่งวัตถุดิบหรือส่วนประกอบทุกตัวว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะอาจมีการใช้ในส่วนประกอบเหล่านั้น ซึ่งภาษาวิชาการ เรียกว่า carry over  ที่หมายความว่าตกค้างมาถึงของเรา- อาจใช้วัตถุดิบจากพืช หรือจากการหมักที่โดยธรรมชาติมีสารกันบูดชนิดนั้นปะปนอยู่- อาจใช้วัตถุดิบที่มีการเติมวัตถุเจือปนอาหารบางชนิด ที่มีโครงสร้างคล้ายสารกันบูดบางชนิด หรือมีการผสมสารกันบูดบางชนิดในวัตถุดิบQเราไม่อยากใช้สารกันบูดแต่อยากให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ควรทำอย่างไรA ต้องสังเกตว่าอาหารเน่าเสียจากสาเหตุอะไรแล้วป้องกันตามเหตุนั้น เช่น อาหารกึ่งแห้งพวกขนมเปี๊ยะมักเสียจากเชื้อรา ซึ่งตามธรรมชาติต้องใช้อากาศเพื่อการเจริญ เราก็ใส่ซองสารดูดออกซิเจนลงในถุงที่จำหน่าย ทำให้ในถุงไม่มีออกซิเจนเพียงพอ เชื้อราก็ไม่เจริญ เป็นต้นคำถามจากคนตรวจสารกันบูดQ1. ทำไมสุ่มอาหารชุดเดียวกัน เราตรวจเจอสารกันบูดเกินที่กำหนด  คนขายส่งตรวจเจอต่ำกว่าถามคนขายว่าผสมอย่างไร ทั่วถึงไหม2. ทำไมสุ่มอาหารชุดเดียวกัน คนขายบอกไม่ได้เติมสารกันบูด เราตรวจเจอสารกันบูด  คนขายส่งตรวจไม่เจอ- อาจใช้วัตถุดิบที่มีปนเปื้อนตามธรรมชาติไหม หรือมีการเติมสารกันบูดหรือสารที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายสารกันบูด3. ถ้าพบสารกันบูดปริมาณนิดเดียว ไม่เกินมาตรฐาน แต่ไม่ยอมแจ้งบนฉลาก จะจัดเข้าข่ายฉลากปลอมไหมA- ปริมาณสารกันบูดที่มีผลในการยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าพบว่าต่ำกว่า น่าจะไม่จงใจ ซึ่งอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากวัตถุดิบหรือการปนเปื้อนข้ามจากอาหารสูตรอื่นที่มีการเติมสารกันบูด จึงต้องมีการสอบสวนเหตุ ซึ่งหากมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่น่าจะเข้าข่าย แต่หากเป็นการ carry over จากวัตถุดิบหรือปนเปื้อนข้ามน่าจะเข้าข่าย อย่างไรก็ตาม ต้องระวังผลวิเคราะห์ที่อาจผิดพลาดจากวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกันด้วยข้อเตือนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคเอง ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความไว้วางใจและปรารถนาดีต่อกัน ทั้งนี้  เรื่องสารกันบูดที่เล่าสู่กันฟังเป็นตัวอย่างของความร่วมมือของหน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ทำหน้าที่ของตนในแนวทางที่ควรจะเป็น แต่ก็รับฟังผู้ผลิตอาหารที่ก็มีเจตนาดีเช่นกัน เมื่อพบปัญหาแล้วจึงพูดคุยกัน แสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบและทางออกร่วมกัน   ความจริงใจเหล่านี้ในที่สุดจะยังประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้บริโภค ซึ่งก็คือพวกเราทุกคนนั่นเอง********สรุปการประชุมสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร กรณีวัตถุกันเสีย28 พฤศจิกายน 2560  โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค   นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดย สสส. ผลการประชุมพบว่า ผู้ประกอบการมีความตั้งใจจริงในการที่จะปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยการขอให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบทำใบรับรองสินค้าของตนเอง(Certificate of analysis) ว่าปราศจากสารกันบูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐาน การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีก ซึ่งต่างเป็นผู้เล่นที่สำคัญในการผลิตและจำหน่ายสินค้าด้านอาหาร โดยนิตยสารฉลาดซื้อส่งหนังสือเชิญประชุมถึงผู้ประกอบการทุกราย ที่ทางนิตยสารได้เคยสุ่มสำรวจและทดสอบผลิตภัณฑ์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้สารกันบูด ในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก มีการบรรยายด้านวิชาการจาก ศ.วิสิฐ จะวะสิต นักโภชนาการ จากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เรื่อง ความสำคัญและการใช้สารกันบูดอย่างเหมาะสม ในหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้  1.สารกันบูดมีความสำคัญเพราะช่วยยืดอายุอาหาร สามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้อง คือ ปริมาณถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ต้องใช้เครื่องชั่งที่เหมาะสม และผสมให้ถูกวิธี  2.ความสำคัญของการระบุข้อความบนฉลาก เพื่อแจ้งเป็นข้อมูลแก่ผู้บริโภค  3.เรื่องที่ต้องเข้าใจ บางครั้งเมื่อตรวจพบการปนเปื้อนของสารกันบูด ในปริมาณไม่มากทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการไม่ได้ใส่ลงไปในกระบวนการผลิต อาจเป็นได้จากตัววัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งมีทั้งที่เป็นการตั้งใจใส่ลงไปในวัตถุดิบก่อนถึงมือผู้ประกอบการ หรือเป็นสารกันบูดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่เองในตัววัตถุดิบ  หรือมีสารบางตัวที่อาจมีคุณสมบัติคล้ายกับตัวสารกันบูดทำให้ผลการวิเคราะห์ได้ค่าที่แสดงว่าตรวจพบ(ในปริมาณน้อย)  4.การเก็บรักษาที่ถูกวิธีช่วยยืดอายุสินค้าได้ ด้วยการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการบูดเสียและแก้ให้ถูกจุด 5.อาหารหลายชนิดจำเป็นจริงๆ ต้องใช้สารกันบูด มิฉะนั้นจะก่อผลเสียในการบริโภคมากกว่าไม่ใส่เช่น การใช้ไนเตรทในไส้กรอก เป็นต้น แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหลังการบรรยายมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมในบรรยากาศที่ดี ผู้ประกอบการได้นำเสนอให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสร้างความเข้าใจให้กับผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในขั้นตอนในทางกฎหมายหรือวิธีปฏิบัติที่ง่าย เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งทางองค์กรผู้บริโภคยินดีนำข้อเสนอดังกล่าวไปจัดประชุมและเสนอเป็นความเห็นกับทางหน่วยงานต่อไป โดยบทสรุปในครั้งนี้คือ  ผู้ประกอบการได้แสดงเจตนารมณ์ว่าตนเองนั้นมีความตั้งใจจริงในการที่จะปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยจะมีการขอให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบทำใบรับรองสินค้าของตนเอง(Certificate of analysis) ว่าปราศจากสารกันบูด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี ได้มาตรฐานต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >