ฉบับที่ 132 แค่ 927.32 บาท ก็ฟ้องครับ

“ผมเห็น อ.เจิมศักดิ์(ปิ่นทอง) ฟ้องโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาดีผู้บริโภคได้ โดยไม่ต้องใช้ทนาย ผมก็ลองใช้บ้าง แต่พอเอาเข้าจริงมันไม่ง่ายเลย...” คุณณัฐพงศ์ เอกะโรหิต ผู้ซึ่งมี อ.เจิมศักดิ์ เป็นต้นแบบในการฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องใช้ทนาย จะมาบอกเล่าถึงอุปสรรคที่เขาได้เจอ เมื่อถึงเวลาจะใช้สิทธิฟ้องร้องจริงๆ มันทั้งอึดอัดและน่ารำคาญ แต่ถึงอย่างไรมันก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ แม้เส้นทางจะยากแค่ไหน เขาก็รู้สึกดีที่ได้ “ลงมือทำ”   พูดจาภาษากฎหมาย ประสบการณ์อันล้ำค่า วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกนั่งบัลลังก์ พิพากษา คดีละเมิดให้บริษัท ทีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้ คุณณัฐพงศ์ จำนวน 8,300 บาท และให้จ่ายเงินค่าเสียหายเชิงลงโทษ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 อีก 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายจนครบ แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะจำเลยได้ขอขยายเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไปวันที่ 1 มี.ค. 2555 “อ.เจิมศักดิ์ บอกว่า พ.ร.บ.นี้ฟ้องเองได้เลย เดินเข้ายื่นฟ้องได้เลยไม่ต้องใช้ทนาย ทุกอย่างจบลงสวยงาม ผมก็มองว่าเอ้ย ถ้า อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องได้เราก็น่าจะฟ้องได้ ก็เข้าไปฟ้อง อ่ะ...แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ตอนไปยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่คดีบอกว่า ‘ถ้าเขาละเมิดพี่แต่พี่ไม่มีความเสียหายพี่ก็ฟ้องไม่ได้และถ้าพี่เสียหายแต่เขาไม่ละเมิดพี่ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้’ ฟังแล้วงงไหมครับ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาจะเข้าใจไหมครับ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า พ.ร.บ.ตัวนี้ คนเขียน คนตรากฎหมายมีความตั้งใจมาก ต้องทำความเข้าใจ เหมือนปัจจุบัน กฎหมายผู้บริโภคตัวนี้ถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นเครื่องมือของนายทุน ผู้ประกอบการใช้บังคับกับผู้บริโภคแทนอย่างคดีไฟแนนซ์ คดีเช่าซื้อ นัดเดียวจบ พอผู้บริโภคอย่างผมไปฟ้องบ้างนานนะครับ ไม่แป๊บเดียว”   บริการเจ้าปัญหา ทวงหนี้ ทั้งที่ไม่เป็นหนี้คุณณัฐพงศ์ ยื่นฟ้องบริษัททีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งยื่นฟ้องทั้ง 2 บริษัทในฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ที่ประกอบกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต เป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 กรณีเรียกเก็บค่าบริการจำนวน 927.32 บาท ทั้งที่ได้แจ้งยกเลิกบริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 หลังจากนั้นก็ยังคงได้รับบิลเรียกเก็บค่าบริการอีก ซึ่งคุณณัฐพงศ์ ได้เข้าชี้แจงกับบริษัทผู้ให้บริการว่าได้ยกเลิกบริการเรียบร้อยแล้ว ด้านพนักงานก็รับปากว่าจะจัดการให้เรียบร้อย จนวันที่ 20 สิงหาคม 2553 ก็ยังได้รับหนังสือทวงถามให้ไปจ่ายค่าบริการอีก ทำให้เขาต้องหยุดงาน เข้าไปชี้แจงว่าได้ชำระค่าบริการและได้ยกบริการไปตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 แล้ว พร้อมขอคำอธิบายถึงจดหมายทวงถามให้ชำระหนี้ แต่ไม่ได้คำตอบ ซึ่งพนักงานได้ขอให้นำใบเสร็จรับเงินว่าได้ชำระค่าบริการแล้วมายืนยัน คุณณัฐพงศ์ดูทีท่าแล้วคงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงขอพบผู้ลงนามในจดหมายทวงถามพร้อมทั้งขอให้ทางบริษัททำจดหมายขอโทษถึงสิ่งที่เกิดขึ้น “ผมสงสัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผมจะเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ หรือเปล่าจึงลองค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตดู ทำให้รู้ว่าเรื่องในรูปแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นผู้บริโภครายอื่นๆ ด้วย คือไม่แสดงยอดค้างชำระในใบเสร็จรับเงิน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้บริโภคไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ เมื่อมีการทวงถามให้ชำระหนี้อีก ใครเก็บใบเสร็จไว้ก็ให้นำไปแสดง ใครไม่เก็บก็ต้องจ่ายซ้ำอีก ซึ่งถ้าผู้บริโภคที่ไม่เก็บใบเสร็จรายใดไม่ยอมจริงๆ และเมื่อนำไปฟ้องร้อง ก็จะมีการเจรจาลดหนี้ให้ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นมิได้เป็นหนี้เลย” และเพื่อพิทักษ์สิทธิของตัวเองคุณณัฐพงศ์จึงเข้าร้องเรียนต่อ สคบ. ซึ่งทาง สคบ.ได้แนะนำให้ไปร้องต่อ สบท.และทาง สบท.ได้แนะนำให้ไปพึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ท้ายที่สุดเพื่อพิสูจน์กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเข้าแจ้งความสถานีตำรวจภูธรอำเภอหัวหินไว้เป็นหลักฐาน และยื่นเรื่องฟ้องศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท   ไม่ท้อและไม่ถอยจากการนับหนึ่งเข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 เพื่อหวังใช้สิทธิตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2554 รวมระยะเวลาในการพิจารณาคดี 1 ปี 2 เดือน 11 วัน และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการขยายเวลาในการอุทธรณ์ “มันยากครับตั้งแต่การพิจารณาว่าเป็นคดีผู้บริโภคไหม หรืออาจจะเพราะติดรูปแบบเดิมที่ยึดติดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งระยะเวลาในการพิจารณา ภาระการพิสูจน์ว่าเราไม่ได้เป็นหนี้ ต้องรื้อหาใบเสร็จรับเงินมายืนยันว่าเราจ่ายไปแล้ว คือไม่รู้ว่าผู้บริโภคจะต้องเก็บใบเสร็จไว้นานแค่ไหน หรือว่าต้องตลอดชีวิตหรืออย่างไรเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็จะสู้ต่อไปครับ มันไม่คุ้มหรอกถ้ามองในแง่เศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป เราสู้นะเหนื่อยกายไม่เท่าไร แต่เราเหนื่อยใจมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจ ผมมันบ้ามากกว่า ที่ลุกขึ้นมาฟ้อง คนทั่วไปเขายื่นฟ้องกันด้วยเหตุความเสียหายเยอะๆ แต่ของผมแค่ 927.32 บาท ซึ่งศาลก็พิพากษาออกมา ซึ่งผมก็พิสูจน์แล้วว่ากฎหมายตัวนี้ใช้ได้จริงครับแต่…ยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกเยอะครับ อย่างในกฎหมายระบุว่า สามารถฟ้องได้ด้วยตัวเองไม่ต้องใช้ทนาย แต่เอาเข้าจริงผู้พิพากษาก็ยังถามหาทนายของผมในวันนัดสืบพยาน และบอกว่าจะไม่สืบพยานให้ถ้าไม่มีทนาย และยังว่าหัวหมอ เรียกค่าเสียหายสูง แล้วคิดดูครับค่าเสียหายผมเท่านี้ จะมีทนายที่ไหนมาทำให้กับผม ผมจึงยื่นเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมการตุลาการฝ่ายวินัยเพื่อขอความเป็นธรรม เพื่อขอเปลี่ยนผู้พิพากษา สุดท้ายก็ได้เปลี่ยนผู้พิพากษา หรือแม้แต่การเลื่อนวันพิจารณาคดีซึ่งในกฎหมายระบุไว้ว่าเลื่อนได้ไม่เกินครั้งละ 15 วัน แต่นี่เลื่อนผม 4 เดือน ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำความเข้าใจกฎหมายตัวนี้ให้มากๆ เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ ขอยกกรณีตัวอย่างของ อ.เจิมศักดิ์ ซึ่งศาลได้พิจารณาคดีออกมาแล้วว่าชดเชยให้ อ.เจิมศักดิ์ 50,000 บาท แล้วถ้าคนบนเครื่องบินในเที่ยวบินเดียวกับ อ.เจิมศักดิ์ ฟ้องด้วย ศาลจะพิจารณาคดีอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ อ.เจิมศักดิ์จะตกใจเป็นคนเดียวนะ จริงไหม ถึงแม้จะกินเวลาหรือเสียเวลาในการฟ้องคดี แต่ผมคิดว่าผลการฟ้องคดีไม่ใช่มีผลกับเราแค่คนเดียว แต่คนอื่นก็ได้ด้วย และสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้ ถ้าเป็นไปได้ผู้บริโภคก็ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธินะ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าทางออกที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก็คือควรจะมีองค์การอิสระในการคุ้มครองผู้บริโภค และมีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องแทนผู้บริโภคได้ครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 กระแสต่างแดน

  เมื่อเรือ “ไม่สำราญ”บรรดาผู้โดยสารเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ล่มอยู่นอกชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งในอิตาลีกำลังรวมตัวกันฟ้องผู้ประกอบการเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้เหมาะสมกับประสบการณ์ “เรือไม่สำราญ” ที่ตนเองได้รับ เบื้องต้นนั้น บริษัทประกาศว่าจะคืนเงินค่าตั๋วให้ พร้อมกับคูปองส่วนลด 30% สำหรับการเดินทางครั้งต่อไป(ถ้ายังจะกล้าไปด้วยกันอีก) แต่นั่นไม่ดีพอ บรรดาองค์กรผู้บริโภคของอิตาลี นำโดยองค์กร “อัลโตรคอนซูโม” ไปต่อรองการชดเชยได้ดีขึ้นอีกระดับ นั่นคือผู้โดยสารทุกคน(รวมถึงเด็กเล็กที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียค่าตั๋ว) จะต้องได้รับค่าชดเชยคนละ 11,000 ยูโร(ประมาณ 440,000 บาท) และได้รับคืนเงินค่าตั๋ว ค่าภาษีท่าเรือ ค่าเดินทางเพื่อมาขึ้นเรือ(แล้วแต่ว่าใครขึ้นรถยนต์ รถไฟ หรือนั่งเครื่องบินมา) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทางกลับบ้าน(ด้วยความผิดหวัง) นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดที่ผู้โดยสารใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่บนเรือ(เช่น การใช้บริการสปา บาร์เครื่องดื่ม หรือเล่นพนันในคาสิโนบนเรือ เป็นต้น)  รวมถึงจัดส่งข้าวของทั้งหมดคืนให้กับผู้โดยสารถึงบ้าน โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย บริษัทคาร์นิวาล คอร์ป เขาบอกว่าตกลงตามนั้น โดยผู้โดยสารจะได้สิทธินั้น 7 วันหลังลงนามในสัญญา แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภค โคดาคอนส์ เขาประกาศชักชวนบรรดาผู้โดยสารที่เซ็งจิตเพราะอดเดินทางตามทริปในฝัน มาร่วมกันฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเขาบอกว่าน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 125,000 – 1,000,000 ยูโร(ประมาณ 4 – 40 ล้านบาท) ข่าวบอกว่ามีคนสนใจเยอะทีเดียว รายงานข่าวอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย และผู้สูญหายอีก 15 คน นี้ทำให้เราได้รู้ว่าธุรกิจเรือสำราญนี้มีระเบียบด้านความปลอดภัยที่หละหลวมมาก เช่นไม่มีการระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน(เรียกว่า ในบรรดาลูกเรือ 1,023 คน บนเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ทำหน้าที่ดูแลสระว่ายน้ำ บาร์ คาสิโน และโรงภาพยนตร์บนเรือนั้น มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ) หรือแม้แต่การแล่นเรือเข้าไปในระยะ 150 เมตรจากฝั่งนั้น เขาบอกว่าไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ และที่เราไม่ค่อยจะได้ยินข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุเรือสำราญก็เพราะเขาถือเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอีกต่างหาก ส่วนที่เปิดแง้มๆ ออกมาผ่านฐานข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ International Maritime Database นั้นก็มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ  ออกมาแฉว่าน้อยกว่าตัวเลขจริงหนึ่งเท่าตัว     แอพแยกสี ต้องพึ่งพาตัวเองกันแล้วจริงๆ สำหรับผู้บริโภคในยุคที่การตัดสินใจของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากผู้ประกอบการเป็นหลัก หลังจากที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศใช้ฉลาก “สัญญาณไฟจราจร”บนผลิตภัณฑ์อาหาร ทีมงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาก็หันไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นในไอโฟนออกมาช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาเองจนได้ แอพฯ ที่ชื่อว่า “food switch” นี้จะสแกนบาร์โค้ดผ่านกล้องของโทรศัพท์ แล้วบอกคุณได้ว่าบรรดาอาหาร 20,000 รายการที่มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตนั้น มีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือในประมาณที่ ปลอดภัย ต้องระวัง หรือ เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือไม่ ด้วยการขึ้นเป็นสัญลักษณ์ไฟเขียว เหลือง แดง นั่นเอง เจ้าโปรแกรมที่ว่า มันไม่หยุดแค่นั้น มันสามารถแนะนำอาหารที่ดีกว่าให้คุณได้ด้วย โดยจะอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัย George Institute ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ นั่นเอง บรูซ นีล ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าวบอกว่ากำลังเก็บข้อมูลว่าการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกของผู้บริโภคได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะได้นำไปยืนยันกับรัฐบาลในทันใด เผื่อว่าคิดผิดจะได้คิดใหม่ เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าคนเราต้องการเลือกอาหารที่ดี เพียงแต่อาจจะท้อแท้เพลียใจที่จะต้องคอยเพ่งอ่าน หรือคอยคำนวณเปรียบเทียบปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือทุกครั้งที่เลือกซื้อ ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้วว่าจะเลือกแบบที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค หรือง่ายสำหรับผู้ผลิต    ชอบของเก่า เรื่องกินนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ นะคุณผู้ชม บางทีความอร่อยลิ้นก็มาเหนือความสะอาดเสียอย่างนั้น อย่างที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นถิ่นร้านอาหารหม้อไฟอันลือชื่อของจีนนั้นเกิดกระแสต่อต้านการประกาศห้ามใช้น้ำมันซ้ำจากลูกค้าคนก่อนๆ เรื่องมีอยู่ว่า ที่นี่เขาถือเป็นวิถีปฏิบัติกันมานานแล้ว การเก็บน้ำมันที่เหลือจากภาชนะของลูกค้าที่กินเสร็จแล้ว เพื่อนำมาใช้ต่อกับลูกค้ารายต่อไปนั้น ว่ากันว่ามันช่างได้กลิ่นและรสสะสมจากผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เข้มข้นยิ่งนัก เอาเป็นว่าร้อยละ 80 ของร้านในเมืองนี้เขาก็ใช้วิธีนี้แหละ แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งทางการเขาประกาศห้ามการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลว่ามันไม่ถูกสุขอนามัย แถมยังมีคนนำคลิปเปิดโปงการ “รีไซเคิล” น้ำมันในร้านพวกนี้ไปโพสต์ลงยูทูบ ทำให้คนบางส่วนตกใจและรับไม่ได้ ที่น่าประหลาดใจกว่าคือ หลังจากประกาศออกไป มีคนในฉงชิ่งกว่า 13,000 คนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บกันอย่างกว้างขวาง มีถึงร้อย 66.5 ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบน โดยให้เหตุผลว่ารสชาติจะไม่อร่อยเหมือนเดิม และ “น้ำมัน” ในที่นี้ก็เป็นคนละอย่างกับ “น้ำมัน” ในคลิปที่เห็นพนักงานร้านเก็บออกจากชามที่กินเหลือด้วย ส่วนทางร้านก็แน่นอนว่าไม่เห็นด้วย โดยบอกว่ามันเพิ่มต้นทุนและไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงทำให้คนเข้าร้านน้อยลงขาประจำรายหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนมีแค่ 60 หยวนก็กินกันได้ 2 คนแล้ว แต่หลังจากประกาศแบนแล้วต้องมีเงินเป็นร้อยถึงจะพอกินกัน เพราะทางร้านอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น จึงขอเก็บเงินเพิ่มจากค่าน้ำซุปด้วยนั่นเอง   ไวไฟ กรุณาเข้าใกล้ รู้ไว้ให้อิจฉาเขาเล่น ในประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย  ฝรั่งเศส สเปน และกรีซนั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์ ที่การันตีว่าประชาชนของเขาทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วอย่างต่ำ 1 Mbps ด้วย มาเลเซีย เพื่อนบ้านเราก็กำลังตอบรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลมาเลเซียเขามีวิธีเพิ่มการเข้าถึงสัญญาณไวไฟ WiFi แบบไม่ต้องเสียเงินด้วยการออกกฎให้บรรดา ผับ ร้านอาหารที่มีเนื้อที่เกิน 120 ตารางเมตร ทั้งหมดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จัดบริการไวไฟฟรีแก่ลูกค้า ส่วนศูนย์อาหารในพื้นที่สาธารณะ นั้นรัฐบาลรับเป็นคนจัดหาให้เอง ก่อนหน้านี้เขาก็มี hotspots ไว้ให้ประชาชนได้ใช้ 1,500 จุด แต่กำลังจะหมดสัญญาในไม่ช้า(อันนี้ไม่อยากจะโม้ว่าที่กรุงเทพฯ ของเรานั้นเขามีถึง 20,000 จุดเชียวนะ) ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายเครื่องดื่มผ่านตู้ขายของ เขาออกมาประกาศว่าในปี 2012 นี้ ตู้ขายน้ำอัตโนมัติของเขา จำนวน 1,000 ตู้ จะปล่อยสัญญาณไวไฟในรัศมี 50 เมตร รอบๆ ตู้ ให้ได้ใช้กันฟรี รอบละ 30 นาที จะเข้านานเท่าไรก็ได้เพียงแต่ต้องกดต่อสัญญาณทุกๆ 30 นาทีนั่นเอง   มีจอดต้องมีดับเมื่อมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ในฮ่องกงมาจากรถยนต์ ทางการเขาก็เลยออกกฎหมายห้ามการจอดรถแบบติดเครื่องค้างไว้เสียเลย ต่อไปนี้ถ้าใครจอดรถโดยไม่ยอมดับเครื่อง(เพราะว่ากำลังรอใคร หรือแอบนอนกลางวัน ก็แล้วแต่) จะต้องโดนปรับเป็นเงิน 320 เหรียญฮ่องกง(ประมาณ 1,300 บาท) แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เขาให้จอดได้ 3 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง(แต่สงสัยอยู่ว่าใครจะมาคอยจับเวลานะนี่) และเขาอนุโลมให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในคิวพร้อมรับผู้โดยสาร และรถมินิบัสที่อยู่ใน 2 คิวแรก สามารถติดเครื่องรอไว้ได้ เขามีตัวเลขอ้างอิงว่าการจอดรถติดเครื่องวันละ 10 นาที จะทำให้สูญเสียน้ำมันไปเปล่าๆ ปีละ 100 ลิตร และสำคัญการกระทำดังกล่าวมันทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควร แถมยังต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วขึ้นอีก ฮ่องกงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก ปัจจุบันมีรถวิ่งไปมาอยู่ 567,705 คัน บนถนนระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2555 คอนแทคเลนส์ อันตรายต่อดวงตา...ถ้าใช้ไม่เป็น ใครที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ต้องใส่ใจดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ฝากเตือนคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธีอาจมีผลทำให้กระจกตาอักเสบ ซึ่งเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดจนเกิดอาการติดเชื้อ และการที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานานเกินไป ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการใส่คอนแทคเลนส์คือไม่เกิน 7 ชั่วโมง สำหรับคำแนะนำในการใส่คอนแทคเลนส์ให้ปลอดภัย คือ อย่าใส่ในเวลานอน เพราะคอนแทคเลนส์จะไปปิดกั้นออกซิเจนที่จะเข้ามาเลี้ยงดวงตาของเรา ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม คนที่มีปัญหาด้านสายตาแล้วต้องการใส่คอนแทคเลนส์ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เพราะปัญหาเรื่องสายตาบางอย่างอาจไม่เหมาะกับการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น คนที่มีตาแห้ง หรือเป็นโรคภูมิแพ้ในตา------------------------------------------------------------------------------------------   อีกแล้ว!!! อาหารเสริมโม้สรรพคุณ “เอนไซม์ – น้ำเห็ดสกัด”คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ต้องออกมาเตือน (อีกครั้ง) เรื่องของการเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ “เอนไซม์” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เอนไซม์เจนิฟู้ด เอนไซม์ลี่เป่า เอนไซม์หว้างเหวียนเป่า และรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำเห็ดสกัด 6 สายพันธุ์ ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาสารพัดโรค  ซึ่ง อย.ได้ตรวจโฆษณาของผลิตภัณฑ์โม้สรรพคุณเกินจริงเหล่านี้ ตามเคเบิ้ลทีวี วิทยุ เว็บไซต์ และแผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ทั้งหมดไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย. เพราะฉะนั้นผู้บริโภคอย่าหลงไปซื้อหามารับประทานเด็ดขาด เพราะผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นเพียงแค่อาหารเสริมไม่ใช่ยารักษาโรค การอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ที่เห็นในโฆษณาเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค นอกจากเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุแล้ว ยังอีกเสี่ยงได้โรคเพิ่มหรือทานไปแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ใครที่พบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือจงใจหลอกลวงผู้บริโภค สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน อย. 1556------------------------------------------------------------------------------------------     ถ้าไม่มีสัญญาณ ต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมออกเกณฑ์มาตรฐานให้กับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หากต้องการปรับปรุงสัญญาณแล้วส่งผลต่อการใช้งานของผู้บริโภค ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าให้ กสทช.ทราบก่อน 30 วัน และประกาศให้ประชาชนรู้ก่อนอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเตรียมหาช่องทางสื่อสารอื่นๆ ไว้รับรอง หากเกิดความจำเป็นที่ต้องติดต่อสื่อสาร ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในระบบดีแทค เกิดปัญหาไม่มีสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ทั้งการโทรออกและรับสาย ซึ่งแม้จะมีการแก้ไขและชดเชยให้กับผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็สร้างความสงสัยถึงมาตรฐานการบริการ กสทช. จึงต้องออกข้อบังคับดังกล่าวมาใช้ เพื่อป้องกันผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค -------------------------------------------------     วันนี้คุณแปรงฟัน (ถูกวิธี) แล้วหรือยัง “ฟัน” สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจมองข้ามเรื่องการดูแล เพราะจากผลสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของคนไทยอายุ 15 – 60 ปี โดยกรมอนามัย พบว่ายังมีคนที่แปรงฟันไม่ถูกวิธีอยู่ถึง 34% ซึ่งการแปรงฟันที่ผิดวิธีจะส่งผลให้คอฟันสึกเร็วขึ้น แถมผลสำรวจยังบอกอีกว่า เวลาที่มีเศษอาหารติดฟันจะใช้ไม้แคะฟันแคะเศษอาหารมากถึง 43% ซึ่งการใช้ไม้จิ้มฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันดัน หรือแคะอย่างรุนแรง หรือเสียบไม้จิ้มฟันทะลุซอกฟันจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง แล้วหมุนหรืองัด เพราะจะทำให้เกิดปัญหาซอกฟันโหว่เป็นโพรง ฟันห่าง เหงือกร่น คอฟันหรือผิวรากฟันสึก ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ฟันผุ ทันตแพทย์ของกรมอนามัยแนะนำว่า การดูแลสุขภาพปากและฟันที่ดีที่สุด คือการแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร และหากมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลระหว่างมื้อควรบ้วนน้ำตาม เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสมกับช่องปาก ขนแปรงควรทำจากไนล่อนที่มีความนุ่มปานกลาง ซึ่งการแปรงฟันที่ถูกวิธีนั้นคือการแปรงขึ้นแปรงลงไปตามปลายฟัน หากเศษอาหารที่ติดแน่นในซอกฟันควรใช้เส้นใยขัดซอกฟันเป็นตัวช่วย ส่วนการเลือกยาสีฟัน ควรผสมฟลูออไรด์ไม่เกินร้อยละ 0.11 โดยน้ำหนัก หรือ 1,100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพราะถ้ามีฟลูออไรด์มากเกินไปจะทำให้ฟันตกกระ ใช้เวลาแปรงฟัน 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ฟลูออไรด์สัมผัสกับผิวฟันได้อย่างเต็มที่    10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2554สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ทำการคัดเลือก  “10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2554 (TOP TEN INNOVATIVE BUSINESS 2011)” จากผลงานจากโครงการที่ สนช. ได้ให้การสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 680 โครงการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือ 1. รูปแบบธุรกิจใหม่ 2. เทคโนโลยีที่โดดเด่น 3. ศักยภาพสูงในตลาดโลก 4. การบริหารจัดการองค์กรที่ดี และ 5. รูปแบบธุรกิจได้ส่งเสริมให้เกิดกระแสตื่นตัวด้านนวัตกรรมในประเทศไทย มาดูสิว่า 10 สุดยอดนวัตกรรม ประจำปี 2554 มีอะไรกันบ้าง 1."ไทเกอร์" มุ้งกันยุงนาโนหน่วงการติดไฟ ของ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มุ้งที่สามารถไล่ยุงและกันไฟได้ในผืนเดียวกัน 2. “โอไรเซ่” แป้งฟัฟจากแป้งข้าวเจ้า ของ บริษัท ไทย โปรดักส์ อินโนเวชั่น จำกัด สวยแบบธรรมชาติ แถมยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว       3.“โมบายเบิร์น” เตาเผาขยะเคลื่อนที่ ของ บริษัทเชียงใหม่ เอ็นไวรอนเมนท์ โปรเทค จำกัด ร่วมกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) เทคโนโลยีแก็ซซิฟิเคชั่น ลดการใช้เชื้อเพลิง ไม่สร้างมลภาวะ         4.“เมดซ์เพิร์ล” ระบบสื่อสารข้อมูลการแพทย์ทางไกล ของ บริษัท จี.ไอ.แคปซูล ไดแอ็คโนสติกส์ จำกัด ช่วยวิเคราะห์โรคผู้ป่วย ด้วยเทคโนโลยีกล้องขนาดจิ๋ว ให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถอ่านผลตรวจผ่านระบบเครือข่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา           5. “อีชัวร์” ชุดตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียชนิดรวดเร็ว ของ บริษัท มิตร เมดดิคอล จำกัดชุดตรวจโรคที่ให้ผลรวดเร็วขึ้น และผลที่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่คลาดเคลื่อน       6. “อี คอมโพสิม” วัสดุ BMC จากขวดเพทใช้แล้วสำหรับผลิตโคมไฟรถยนต์ ของ บริษัท ไทย โดโน-เกน เกน เคมีคอล จำกัด นวัตกรรมที่ช่วยรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกใส ให้กลายมาเป็นโคมไฟรถยนต์             7.“โทฟุซัง” น้ำเต้าหู้โปรตีนสูง ของ บริษัท โทฟุซัง จำกัด น้ำเต้าหู้โปรตีนสูง เพราะเพิ่มส่วนผสมของฟองเต้าหู้         8.“เอ็กซ์ทียูเอวี” อากาศยานไร้นักบินขนาดกลางสมรรถนะสูง ของ บริษัท จี เอ็ม ที โปรดักส์ชั่น จำกัด อากาศยานไร้นักบินระดับกลาง บังคับทิศทางอัตโนมัติด้วยระบบดาวเทียม (GPS)           9.“สยามนิชชิน” รถเข็นน้ำหนักเบาสำหรับคนพิการ ของ บริษัท สยามนิชชิน จำกัด อุปกรณ์รถเข็นน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ทุพพลภาพ       10.“กรีนพลาส เอ็นอาร์” ถุงเพาะชำกล้าไม้จากพลาสติกชีวภาพ ของ บริษัท สาลี่ คัลเล่อร์ จำกัด (มหาชน)ฟิล์มพลาสติกชีวภาพสำหรับงานเกษตรกรรมที่สลายตัวได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 วายุภักษ์สองเปอร์เซ็นต์

การให้กระทรวงการคลังโดยกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นปตท. ได้เพิ่มขึ้นอีก 2% เพื่อรัฐบาลจะได้ไม่ต้องมีหนี้สาธารณะของประเทศในสัดส่วนที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้ปตท.และการบินไทยกลายเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัวจะทำให้หนี้ของปตท.และการบินไทยไม่ต้องรวมเป็นหนี้ของภาครัฐอีกต่อไป ดูเผินๆ เหมือนน่าจะดีเพราะทำให้รัฐบาลไม่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่สูงเกินไป ไม่ขอพูดเรื่องการบินไทยเพราะกิจการของการบินไทยปัจจุบันถือได้ว่ามีคู่แข่งอีกมากและเราผู้บริโภคยังสามารถนั่งรถทัวร์ รถไฟกันได้อยู่บ้าง แต่ปตท.ซึ่งผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างครบวงจรและตอนนี้เริ่มมีสัดส่วนการเข้าไปดำเนินการในกิจการน้ำมันเพิ่มมากขึ้น การได้รับอภิสิทธิจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืนในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถึงแม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน โอนให้กับกระทรวงการคลังโดยมีมติคณะรัฐมนตรีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของทรัพย์สินที่จะคืนให้กับรัฐ โดยปตท.มีการคืนทรัพย์สินเพียง 16,176.22 ล้านบาทเท่านั้นและไม่ผ่านการตรวจสอบของ สตง. ซึ่ง สตง.ได้จัดทำรายงานและแจ้งว่าปตท.ต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมด 52,393,180.37 ล้านบาท แถมปตท. ยังได้ใช้ประโยชน์ท่อก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้เช่ารายนี้ยังได้นำ(ท่อก๊าซ) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐที่เช่ามาตีมูลค่าใหม่(Revalue) ทำให้ปตท. คิดราคาค่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตโดย กฟผ. ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะไม่เดือดร้อนสามารถนำมาเพิ่มในค่า FT ซึ่งเป็นภาระของผู้บริโภคโดยตรง และก็เช่นเดียวกันคณะรัฐมนตรี ยังได้มีมติบังคับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องซื้อก๊าซจากปตท. เพียงเจ้าเดียวทั้งๆ ที่ กฟผ. มีศักยภาพในการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติหรือเชื้อเพลิงที่ราคาถูกได้ด้วยตนเอง ยังไม่รวมถึงการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่ใช้ต้นทุนที่แท้จริง เพราะต้นทุนเนื้อก๊าซ เป็นต้นทุนที่ขายให้การไฟฟ้า บวกกำไรค่าผ่านท่อและเนื้อก๊าซไปเบื้องต้น หรือแม้แต่มีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานช่วยล้วงเงินจากกองทุนน้ำมัน มาสนับสนุนการขาดทุนกำไรให้กับปตท. สภาพหัวเป็นมงกุฎท้ายเป็นมังกรของปตท. เมื่อถึงคราวอยากได้อภิสิทธิก็บอกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อรัฐต้องการเข้าไปควบคุมหรือกำกับ ก็จะบอกว่าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์รัฐเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ดังนั้นหากกองทุนวายุภักษ์จะซื้อหุ้นปตท.เพิ่มทำให้สัดส่วนการถือหุ้นรัฐลดลงไปเหลือที่ประมาณ 49% ปตท.ก็กลายเป็นบริษัทมหาชน ที่มีอำนาจในการผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการพลังงาน หากมองแบบเศรษฐกิจเสรีก็ต้องบอกว่า ให้ทำได้เลย อาจจะขายให้วายุภักษ์ได้มากกว่านี้ เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขให้บริษัทปตท. ต้องแบ่งแยกหรือคืนท่อก๊าซธรรมชาติที่เป็นกิจการผูกขาดให้กับรัฐ ก่อนขายหุ้นให้วายุภักษ์ หรือคืนทรัพย์สินของรัฐทั้งหมดตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ลองมาทายกันดูว่าปตท.จะเลือกเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทมหาชนเต็มขั้นหากถูกเด็ดปีกการผูกขาดท่อก๊าซธรรมชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ปัญหาราคาพลังงาน ความจริงที่ไม่เท่ากัน

  พลังงานราคาแพง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 1.ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) อัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 รวม 6 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาเอ็นจีวีสิ้นปีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม (เท่ากับปรับขึ้นสูงถึง 70%) 2. ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) อัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึงธันวาคม 2555 หรือราคาหน้าโรงกลั่น รวม 9 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีสิ้นปีจะอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 18.13 บาทต่อกิโลกรัม3. ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินทั้งระบบอัตรา 1 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซิน 91 อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 อยู่ที่ 42.42 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 35.44 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จะอยู่ที่ 37.19 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 34.44 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซล อัตรา 60 สตางค์ต่อลิตร อยู่ที่ 31.09 บาทต่อลิตร เพื่อส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยน้ำมันทั้ง 2 ชนิดปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ส่วนการปรับขึ้นครั้งต่อไป กระทรวงพลังงานระบุว่าจะพิจารณาอัตราที่เหมาะสมและเสนอ กพช. พิจารณาอีกครั้ง ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. ให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ด้วยเหตุผลเพื่อให้ราคาจำหน่ายสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คำถามก็คือ ต้นทุนที่แท้จริง เป็นความจริงของใคร ต้นทุนพลังงานที่แท้จริง ?? จากผลการศึกษาและจากการจัดประชุมสัมมนาหลายครั้งที่ผ่านมาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่า นโยบายการลอยตัวเชื้อเพลิงทุกประเภทของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการประกาศให้ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก โดยอ้างถึงความต้องการให้ราคาเชื้อเพลิงสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงนั้น  ข้อเท็จจริงคือ รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน  และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่เรื่อง พลังงานแพงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใหญ่หลวง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำ รายงานการศึกษา ของคณะกรรมาธิการฯ มาสรุปสาระสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน ที่ไม่ค่อยมีสื่อใดจะนำไปเปิดเผย   รายงานศึกษาตรวจสอบ เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา   1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่หลายแหล่ง และมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   ปัจจุบันประเทศไทยมีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบทั่วประเทศแล้วกว่า 5,000 หลุม  โดยมีแปลงสัมปทานทั้งสิ้น 81 แปลง แท่นผลิต 225 แท่น     เดือนมิถุนายนปี 2553 ไทยสามารถขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 40 ล้านลิตรต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ปริมาณ 105 ล้านลิตรต่อวัน จากเอกสารรายงานประจำปี 2552 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2524 ถึงสิ้นปี 2552 รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,628,647.50 ล้านบาท4 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จัดเก็บค่าภาคหลวงได้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 329,729.26 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 12.54 และตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2551 มีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นจำนวนเงิน 429,212.28 ล้านบาท5 หากรวมค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2524-2552 โดยเทียบกับมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากพื้นแผ่นดินไทย รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศเท่ากับร้อยละ 28.87 ของมูลค่าเท่านั้น ซึ่งจัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีทรัพยากรปิโตรเลียมอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีสถิติในการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน  แผนภูมิปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ  ก๊าซธรรมชาติ  และก๊าซธรรมชาติเหลว (เทียบเท่าน้ำมันดิบ)จำนวนล้านลิตรต่อปี (พ.ศ. 2529-2553) ที่มา : กระทรวงพลังงานจากฐานข้อมูลของสถาบัน Energy Information Administration (EIA) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2552 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับ 23 และเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบ1อันดับ 35 จากจำนวน 217 ประเทศของโลก2  ขณะที่กลุ่มโอเปค หรือ Organization of the Petroleum Exporting Countries (OPEC) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตพลังงานปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของโลกจำนวน 12 ประเทศ จัดอยู่ในผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับที่ 31 แรกของโลก  ข้อมูลดังกล่าวของสถาบัน EIA จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตพลังงานได้ปริมาณมาก แม้ว่าไทยจะไม่มีศักยภาพมากเท่าประเทศซาอุดิอาระเบียก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมของไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยมูลค่าของปิโตรเลียมที่สูงนี้เองทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการรายได้จากทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ระดับสูง การใช้อำนาจโดยมิชอบ และความขัดแย้งในสังคม   2. การขึ้นราคาก๊าซ NGV เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ?     บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้ประชาสัมพันธ์ถึงต้นทุนที่แท้จริงของ NGV อยู่ที่ 14.96 บาท/ กิโลกรัมการขาย NGV ในราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม จึงทำให้ ปตท ขาดทุน และต้องการให้รัฐบาลขึ้นราคา NGV   โครงสร้างราคา NGV ของ ปตท ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท + ¬¬¬ค่าบริหารจัดการและขนส่ง 5.56 บาท + ภาษีมูลค่าเพิ่ม,ภาษีค่าการตลาด 1.01 บาท  รวม 14.96 บาท/กิโลกรัม   2.1 ต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาท เป็นราคาที่สูงเกินจริง? โฆษณาของ ปตท. ระบุว่า “ต้นทุนเนื้อก๊าซที่ 8.39 บาท/ ก.ก. เป็นราคาเดียวกับที่ขายให้โรงไฟฟ้า” แต่ ปตท. ไม่เคยสดงข้อมูลต่อสาธารณะเลยว่า ราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. ซื้อจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทยนั้นราคาเท่าไหร่?  ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงโดยตรง คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบข้อมูลว่า ปตท. ซื้อก๊าซจากปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 45-50% เช่น ในปี 2551 ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดสหรัฐ  ที่แหล่ง Henry Hub อยู่ที่ 8.79 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แต่ราคาปากหลุมก๊าซในอ่าวไทย ปตท.ซื้ออยู่เพียง 4.85 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู (รายละเอียดตามตารางด้านล่าง) ปัจจุบัน (ตุลาคม 2554)  ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกถูกลงอย่างมาก ในแหล่ง Henry Hub ราคาอยู่ที่ 3.63 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูหรือเท่ากับ 4 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น (คิดเทียบจากค่าความร้อน NGV จาก ปตท = 35,947 บีทียู/ก.ก.) ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลที่รัฐบาลและ ปตท. ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้น ประชาชนจึงต้องตั้งคำถามกับ รมต.พลังงานและรัฐบาลว่า ได้เคยตรวจสอบหรือไม่ว่า ปตท. มีต้นทุนค่าซื้อก๊าซจากปากหลุมในอ่าวไทยในราคา 2 บาท/กิโลกรัม จริงหรือไม่ ถ้าใช่ย่อมแสดงว่า ราคาเนื้อก๊าซ 8.39 บาท/กิโลกรัม ที่ ปตท. โฆษณาประชาสัมพันธ์และนำไปเสนอขอปรับขึ้นราคากับรัฐบาลนั้น ย่อมเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ และสูงกว่าราคาต้นทุนที่แท้จริงถึง 4 เท่าตัว 2.2 ต้นทุนปั๊ม NGV และค่าขนส่ง 5.56 บาท/กิโลกรัม  ต้นทุนที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของ ปตท ? ก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยผลิตได้ ส่วนใหญ่ใช้โดยตรงเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(ปตท.)และโรงไฟฟ้าเอกชน และเมื่อนำไปอัดใส่ถังด้วยความดันสูงสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ (NGV) เนื่องจาก NGV เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ และมีน้ำหนักเบากว่า LPG หลายเท่าตัวจึงมีแรงดันมหาศาล การขนส่งไปให้ถึงสถานีบริการอย่างปลอดภัยจึงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะ NGV ไม่สามารถบรรจุลงถังเหล็กขนาดใหญ่แบบรถบรรทุกก๊าซ LPG ได้ จึงต้องใช้วิธีส่งตามท่อส่งก๊าซหรือบรรจุลงในถังก๊าซที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษเท่านั้น และจะมีสถานีบริการ NGV ทำหน้าที่จ่ายก๊าซ NGV ให้กับผู้ใช้รถยนต์ NGV ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มีสถานีบริการ NGV จำนวน 453 สถานี จำหน่ายก๊าซ NGV 6,895 ตันต่อวัน และ สถานีบริการ NGV ที่มีอยู่แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ สถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ และสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ข้อมูลจาก ปตท ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 พบว่า มีสถานีบริการ NGV แนวท่อส่งก๊าซฯ เพียง 104 แห่งทั่วประเทศ (มีการใช้งานอยู่เพียงร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตเท่านั้น)  ดังนั้นจึงมีสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯมากถึงเกือบ 350 สถานี การตั้งสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ จำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดทุนของก๊าซ NGV เนื่องจากสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ชุมชนที่ไม่มีแนวท่อก๊าซธรรมชาติผ่าน จึงต้องพึ่งพารถบรรทุกพ่วง(Trailer) ขนส่ง NGV จากสถานีจ่ายก๊าซฯ หลัก ซึ่งการขนส่ง NGV ในแต่ละเที่ยวจะขนส่งในสถานะที่เป็นก๊าซจึงบรรจุได้ในปริมาณน้อย มีระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งนาน มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้สถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯ นี้มีปริมาณ NGV สำหรับบริการแก่ผู้ใช้รถ NGV ไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ความต้องการใช้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผู้ใช้ NGV จะต้องรอจนกว่ารถ Trailer รอบถัดไปจะมาถึง สถานีบริการ NGV แนวท่อฯ เป็นสถานีฯ ที่ตั้งอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งรับก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซฯ โดยตรง และสามารถจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถ NGV ได้โดยตรง ดังนั้น สถานีบริการฯ ประเภทนี้จึงไม่ต้งพึ่งพารถ Trailer ในการขนส่ง NGV ทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องความต่อเนื่องของปริมาณก๊าซฯ สำหรับให้บริการผู้ใช้รถ NGV จึงได้รับความสะดวกในการเติม NGV ที่สถานีบริการ NGVตามแนวท่อฯ ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ สถานีบริการ NGV จึงควรจะอยู่ตามแนวท่อส่งก๊าซ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องมีการบริหารสินค้าคงคลัง(Inventory) และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางรถบรรทุก เพราะก๊าซถูกส่งไปตามแนวท่ออยู่แล้ว แต่หากเพิ่มสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อฯให้มีมากขึ้น ต้นทุนของค่าขนส่งก็จะสูงตามไปด้วย แทนที่ ปตท. จะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสถานีบริการ NGV  แนวท่อฯ ให้มากขึ้น กลับแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นราคาผลักภาระมาให้ผู้ใช้ก๊าซ NGV แทน จึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้รถยนต์ NGV ทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคิดเทียบต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งก๊าซที่ ปตท. แสดงอยู่ที่ 5.56 บาท/กิโลกรัม (ซึ่งไม่ควรจะสูงขนาดนี้หากเป็นสถานีบริการ NGV แนวท่อฯ) รวมกับราคาเนื้อก๊าซ NGV ที่ ปตท ใส่เข้ามาอีก 8.39 บาท/กิโลกรัม จะพบว่าต้นทุนค่าปั๊มและค่าขนส่งก๊าซมีสัดส่วนสูงถึง 40% ของราคาก๊าซทั้งหมดที่ยังไม่รวมภาษี แต่หากคิดเทียบจากต้นทุนราคาเนื้อก๊าซที่แท้จริงซึ่งซื้อจากหลุมก๊าซในอ่าวไทยที่ 2 บาท/กิโลกรัม จะพบข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งกว่าว่า สัดส่วนของต้นทุนค่าปั๊ม ค่าขนส่งสูงถึง 73% ของราคาก๊าซทั้งหมดยังไม่รวมภาษี ใครที่ทำธุรกิจคงรู้ดีว่า...ถ้าต้นทุนค่าขนส่งมีสัดส่วนสูงขนาดนี้ หากไม่มีวิธีแก้ไขทางอื่น การเลิกทำธุรกิจน่าจะเป็นความคิดที่ดีที่สุด เพราะธุรกิจทั่วไปไม่สามารถผลักภาระขนาดนี้มาให้กับผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน   3. การขึ้นราคาก๊าซ LPG เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ? ก๊าซ LPG เป็นก๊าซที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมัน โดยการนำเอาก๊าซโพรเพนกับก๊าซบิวเทนซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติมาผสมกัน อัดใส่ถังก็จะเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas - LPG) หรือที่เรียกว่า ก๊าซหุงต้ม สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน เชื้อเพลิงของรถยนต์ และนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทได้อีกด้วย ความจริงที่ควรรู้คือ รถยนต์ LPG ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซ LPG ขาด และต้องเสียเงินนำเข้า จึงไม่ใช่เหตุผลที่รัฐบาลจะใช้เพื่อการปรับขึ้นราคา LPG ในปี 2553 ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG ได้ 4.4 ล้านตัน พบว่าภาคครัวเรือนใช้อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน และรถยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน รวมแล้วเท่ากับ 3.1 ล้านตันเท่านั้น ยังเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้ถึง 1.3 ล้านตันโดยไม่ต้องนำเข้า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่พอเพียง เป็นเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ ปตท. มีการใช้ LPG ในปริมาณที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอ ในปี 2551-2553 การใช้ก๊าซ LPG ของกลุ่ม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอยู่ที่ 9 แสนตัน , 1.28 ล้านตัน และ 1.59  ล้านตัน เรียงตามลำดับ เป็นปริมาณการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด แม้แต่ข้อมูลที่กระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุม กพช. เพื่อขอปรับราคา LPG ที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสัดส่วนการใช้ LPG สูงเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 68% ของปริมาณที่ประชาชนทั้งประเทศใช้ นี่จึงเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ก๊าซ LPG ไม่เพียงพอ และเกิดภาระ การชดเชยจากการนำเข้าจาก ต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 – กันยายน 2554 คิดเป็นเงินประมาณ 57,339 ล้านบาท แทนที่รัฐบาลจะไปจัดเก็บเงินค่าก๊าซกับกลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบ ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพียงกิโลกรัมละ 1 บาทเท่านั้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซ LPG ต้องจ่ายเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ในอัตรากิโลกรัมละ 8 - 11 บาท (ในช่วงปี 2555 เป็นต้นไป) และยังผลักภาระมาให้ประชาชนด้วยการขึ้นราคา LPG อีก   ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ข้อขี้แจงของ ปตท. ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี ปตท. ยืนยันว่าต้องปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนมาก โดยราคากลางที่สถาบันปิโตรเลียมทำการศึกษาอยู่ที่ 15 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งการที่ภาครัฐอุดหนุนราคามาโดยตลอดเป็นการบิดเบือนกลไกราคา ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ขณะนี้มีประชาชนออกรถใหม่ที่ใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงมาวิ่งบนท้องถนนเพิ่มถึงวันละ 300 คัน ซึ่งสุดท้ายจะมาแย่งการเติมก๊าซเอ็นจีวีจากรถบรรทุกและรถขนส่ง ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ จะทำให้ก๊าซเอ็นจีวีขาดแคลน และ ปตท.ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น และหากไม่ขึ้นราคาก็ต้องเข้าไปอุดหนุน โดยที่ผ่านมาตลอด 9 ปี ปตท. ขาดทุนสะสมแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท การนำราคาก๊าซแอลเอ็นจีในสหรัฐฯมาอ้างอิงกับราคาของปตท. และพบว่าราคาที่สหรัฐฯถูกกว่า นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถมาอ้างอิงได้ เนื่องจากเป็นคนละแหล่งกับที่ ปตท.นำเข้า ซึ่ง ปตท.นำเข้ามาจากพม่า จีน และยังต้องมีต้นทุนค่าขนส่งในระดับสูง นอกจากนี้ราคาก๊าซที่สหรัฐฯ ต่ำ เนื่องจากเป็นนโยบายภายในประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน   ต่อกรณีต้นทุนราคาก๊าซแอลพีจี ปตท. บริษัทที่กำลังจะถูกแปรรูปอีกครั้งได้ชี้แจงถึงราคาต้นทุกก๊าซแอลพีจีว่า  การคำนวณราคาก๊าซที่ทำโดยสถาบันปิโตรเลียม ซึ่งได้ประมาณการต้นทุนราคาแอลพีจีแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ  ต้นทุนโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 14.10 บาท กิโลกรัม มีราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 21.80 บาท กิโลกรัมซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ให้เงินชดเชยราคาก๊าซส่วนนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องรับภาระ 3.50 บาท กิโลกรัม หรือ 612 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนที่สองต้นทุนโรงกลั่นอยู่ที่ 23.33บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายเงินชดเชย 12.88 บาท กิโลกรัม หรือ 955ล้านบาท/เดือน ส่วนที่สามคือ ต้นทุนการนำเข้าอยู่ที่ 29.28บาท กิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลจ่ายชดเชย 19.22บาท กิโลกรัม หรือ 2,153 ล้านบาทต่อเดือน และจากโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี และขอยืนยันว่าราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีปัจจุบันยังต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงอยู่มาก และปัจจุบันรัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึง 2 หมื่น 6 พันล้านบาท และชดเชยราคาให้โรงกลั่นน้ำมันอีก 1หมื่นล้านบาท นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวางแผนหน่วยธุรกิจก๊าซ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )   โครงสร้างราคาที่อิงประโยชน์ผู้ขาย โครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีกับเอ็นจีวียึดราคาที่ต่างกัน ขณะที่แอลพีจีไปยึดราคาตลาดโลกแต่เอ็นจีวียึดตลาดในประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อก๊าซแอลพีจีคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องซื้อก๊าซในราคาที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่าตัว  เมื่อราคาแอลพีจีสูงก็ไปยึดหลักอิงตามราคาตลาดโลก หลักอิงนี้จะได้ประโยชน์ต่อผู้ขายอย่างเดียว แต่เมื่อเป็นก๊าซเอ็นจีวีราคาตลาดโลกต่ำกว่า 3-4 เท่า เราไม่อิงตลาดเขาแต่ยึดตลาดในประเทศ (แสดงว่าจะใช้ราคาอะไรก็ได้ใช่หรือไม่)   นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่10 อันดับแรกของ ปตท. ณ วันที่ 9 กันยายน 2554 ลําดับที่ รายชื่อ จํานวนหุน รอยละของจํานวน หุนทั้งหมด 1. กระทรวงการคลัง 1,459,885,575 51.145 2. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. เอ็มเอฟซี จํากัด (มหาชน) 217,900,000 7.634 3. กองทุนรวม วายุภักษ หนึ่ง โดย บลจ. กรุงไทย จํากั ด (มหาชน) 217,900,000 7.634 4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร จํากัด 88,919,503 3.115 5. CHASE NOMINEES LIMITED 42 72,840,201 2.552 6. HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD 57,254,742 2.006 7. STATE STREET BANK AND TRUST COMPANY 41,235,271 1.445 8. NORTRUST NOMINEES LTD 31,371,462 1.099 9. สํานักงานประกันสังคม (2 กรณี) 25,794,700 0.904 10. STATE STREET BANK EUROPE LIMITED ที่มา http://ptt-th.listedcompany.com/shareholdings.html   กําไรและที่มาของรายได้ของปตท.วิเคราะห ผลการดําเนินงาน แยกตามกลุมธุรกิจ ป กําไรกอนหัก ดอกเบี้ยและ ภาษี (ลานบาท) กําไรก่อนหัก ภาษีและดอก เบี้ย หนวยธุรกิจ กาซธรรมชาติ (ลานบาท) กําไรจาก ธุรกิจการ สํารวจ และผลิต ปโตรเลี่ยม (ปตท สผ) (ลานบาท) กําไร (ขาดทุน) จากธุรกิจ น้ำมัน (ลานบาท) จากการคา ระหวางประเทศ (ลานบาท) คาใชจายในการบริหาร (ลานบาท) คาตอบแทน กรรมการ (ลานบาท) กําไรสุทธิทั้งป (ลานบาท) กําไรตอหุน(บาท) 2551 109,882.83 48,505 74,643 (1,720) 4,310 18,190 389 66,535 18 2552 102,004.71 32,921 51,570 9,000 2,016 22,322 508 68,690 21 2553 139,037.13 37,617 64,348 9,402 2,338 24,196 697 99,930 29 2554 ถึง ก.ย. 54 137,367.382 เกาเดือนแรก 21,052 465 101,772 มค-กย 54 31 อ้างอิงจาก รายงาน 56-1 ประจําปี 2553 หน้า 306 , 311 รอบปีงบประมาณ 2554 (1 ต.ค. 2553 - 30 ก.ย. 2554) ปตท.ใช้งบประมาณว่าจ้างหน่วยงาน องค์กรเอกชน โฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ รวม 44 รายการ วงเงินรวม 651.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2553 ปตท.ได้ใช้เงินประชาสัมพันธ์ ผ่านบริษัทต่างๆ 34 รายการ รวมเม็ดเงิน 687.2 ล้านบาท รวม 2 ปี ปตท.หว่านเม็ดเงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สูงเกือบ 1,400 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสต่างแดน

CHOICE’s Shonky Awards 2011กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปพบกับงานประกาศรางวัลสินค้า/บริการที่ขัดใจผู้บริโภคชาวออสซี่สุดๆ ในปี 2554 ที่ผ่านมา งานนี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ เขาไม่ได้ปรากฏตัวในเสื้อผ้าหน้าผมที่จัดมาเป๊ะ เพื่อเดินเข้างานบนพรมแดง ... จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้มาเลยด้วยซ้ำและไม่ได้ส่งตัวแทนมาด้วย แต่องค์กรผู้บริโภค CHOICE เขาก็ยืนยันที่จะมอบให้อยู่ดี มาดูกันว่ามีใครคว้ารางวัลอันไม่ค่อยจะทรงเกียรตินี้ไปบ้าง รางวัลซ้ำเติมผู้บริโภคยอดเยี่ยมได้แก่ ... ธุรกิจประกันภัยปี 2554 รัฐควีนสแลนด์ นิวเซาท์เวลส์ และวิคตอเรีย ของออสเตรเลีย ก็พบกับปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับบ้านเรา ในเดือนเมษายนมีบริษัทประกันกว่า 20 บริษัทออกมาปฏิเสธการจ่ายชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมในทันที  อีก 7 เดือนต่อมาชาวบ้านกว่า 8,660 ครัวเรือน ได้รับจดหมายแจ้งว่าตนเองไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ คนเหล่านี้เชื่อตามที่นายหน้าบอกไว้ตอนมาขายประกันนั้นแล แต่จริงๆแล้วไม่มีการระบุไว้ในกรมธรรม์แต่อย่างใด ส่วนที่มีสิทธิจะได้ก็รอกันเหนื่อยหน่อย เพราะกระบวนการประเมินความเสียหายนั้นช่างยุ่งยากซับซ้อนและเนิ่นนานเหลือเกิน มีผู้เอาประกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องรอนานกว่า 6 เดือน ที่สำคัญกรมธรรม์ของเขาก็สร้างความมึนงงได้ยอดเยี่ยม ขนาดทนายความที่ทำงานด้านเคลมประกันน้ำท่วมโดยเฉพาะก็ยังอ่านไม่เข้าใจ รางวัลหลอกกินเงินเด็กยอดเยี่ยม ได้แก่ ... เกมส์หมู่บ้านเสมิร์ฟ ผู้บริโภคโปรดระวัง “เกมฟรี” ที่ลูกๆ หลานๆ ท่านขออนุญาตดาวน์โหลด ดังตัวอย่างเกมส์หมู่บ้านเสมิร์ฟ ที่ได้รางวัลไปหมาดๆ เพราะมันเป็นเกมที่แม้จะโหลดได้ฟรี แต่ถ้าจะเล่นให้สนุก คุณก็ต้องมีเงินเอาไว้ใช้จ่ายในเกมด้วย ในเกมที่ว่านี้ผู้เล่นจะต้องสร้างบ้าน ร้านค้า อาคารต่างๆ สะพาน รวมไปถึงจัดสวน ทำขนม เรียกว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน ซึ่งในเกมจะใช้ “เสมิร์ฟเบอรี่” เป็นเงินสมมุติ  แต่เมื่อเงินสมมุติที่ให้มาตอนแรกหมด ผู้เล่นก็จะต้องใช้เงินจริงไปซื้อเจ้าเงินสมมุตินี้ แม้เกมออนไลน์ตัวนี้จะมีคำเตือนขึ้นโดยตลอดเวลาก่อนจะขาย ว่าจะมีการเรียกเก็บเงินจริง แต่เด็กๆ มักจะไม่อ่านหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็นะ... กำลังเล่นเพลินๆ เงินเสมิร์ฟเบอรี่ ดันมาหมดพอดี อะไรขึ้นมาก็กดโอเคไว้ก่อน เพื่อให้สามารถเล่นต่อได้  ถามว่าไม่ซื้อได้หรือไม่ เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่นิยมเกมนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันก็ไม่สนุก ว่ากันว่ามีคนจ่ายเงินในเกมนี้ (ไม่แน่ใจว่ารู้ตัวหรือไม่) ไปถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว รางวัลผลิตภัณฑ์หลอกลวงซ้ำซาก ได้แก่ ... สเปรย์ลดน้ำหนัก SensaSlim ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่อ้างว่าได้ผลแบบมหัศจรรย์จนทั้งจอร์จและซาร่าพากันทึ่ง นั้นมีให้เห็นกันเป็นประจำทางทีวี แต่สเปรย์ SensaSlim เจ้านี้เขาได้รางวัลไปด้วยความหน้ามึนนั่นเอง เพราะถึงแม้จะโดนแพทย์คนหนึ่งร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์นี้กระทำผิดกฎหมายควบคุมโฆษณา และถูกปรับไปแล้วก็ตาม แต่เขาช่างไม่ย่อท้อ ยังเดินหน้าโฆษณาและขายต่อไป แถมฟ้องแพทย์คนดังกล่าวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย แค่นั้นยังไม่พอยังลงข้อความแสดงแสนยานุภาพในเว็บไซต์ว่า นี่แหละเป็นบทเรียน ให้ใครไม่กล้าบังอาจมาแหยมกับเขาอีก แต่โชคไม่เข้าข้าง เรื่องไปเข้าตานักข่าวเลยตามไปขุดคุ้ยต่อ เลยได้รู้ว่าผลการทดสอบที่อ้างว่าทำโดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในเจนีวานั้นเป็นเรื่องโม้ทั้งเพ เช่นเดียวกับที่เคยออกข่าวว่ามีชายคนหนึ่งฟ้องบริษัทโทษฐานที่ทำให้เขาน้ำหนักลดมากเกินไป (นายคนนั้นแกน้ำหนักลดไป เกือบหนึ่งกิโลกรัมภายในเวลา 30 นาที จริง แต่ไม่ใช่เพราะผลิตภัณฑ์ที่ว่า) ขนาดแพทย์ของบริษัทเองยังประกาศไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผลิตภัณฑ์ที่ว่า (คงไม่ต้องบอกว่าขณะนี้บริษัทกำลังฟ้องเขาอยู่เช่นกัน) รางวัลกางเกงหลุดโลก  ได้แก่ กางเกงกระชับสัดส่วน Peachy Pinkเรายังวนเวียนอยู่ในโลกของการลดน้ำหนักกระชับสัดส่วน  ที่ออสเตรเลียเขาก็มีกางเกงกระชับสัดส่วน Peachy Pink ออกมาจำหน่าย เขาว่ากางเกงเขามีทั้งชาเขียว คาเฟอีน และลูกพีช ... ว่าแต่ลูกพีชมาทำอะไรในผลิตภัณฑ์นี้ เขาอ้างว่าถ้าสวมกางเกงที่ว่านี้เป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกัน 21 วัน  เซลลูไลท์ที่น่องจะลดน้อยลง พร้อมๆ กับไขมัน เขาว่าเขาเป็นเจ้าเดียวเท่านั้นที่ผ่านการรับรองทางการแพทย์  ว่าแต่ใครกันนะที่ทำหน้าที่รับรองให้ เพราะไม่มีการลงผลวิจัยในวารสารทางการแพทย์เล่มใดๆ เลย นอกจากนักวิจัยจะยังไม่สามารถฟันธงเรื่องประสิทธิภาพของคาเฟอีนและชาเขียวในการลดน้ำหนัก งานวิจัยเรื่องการใช้ลูกพีชลดน้ำหนักนี่ยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่  แต่ลองคิดตามที่เขาโม้ดู ... สมมุติว่าขาของเราสามารถดูดซึมคาเฟอีนได้ดีเยี่ยม เราก็จะได้รับคาเฟอีนจากกางเกงที่ว่านี้วันละ 70 มิลลิกรัม (ซึ่งเท่ากับการดื่มชาเขียว 2 ถ้วย)  ชงชามากินจะไม่ดีกว่าหรือ ไม่เสี่ยงเป็นลมเพราะกางเกงรัดด้วย รางวัลติดหรูไม่ดูตาม้าตาเรือ ได้แก่ จุกนมหลอกประดับคริสตัล สำหรับเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยจนไม่รู้จะเอาเงินไปใช้ทำอะไรแล้ว ก็ยังมี “จุกนมหลอก ประดับคริสตัลซวารอฟสกี้ แท้ๆ” มาให้พ่อแม่ได้เลือกซื้อทางอินเตอร์เน็ท จุกนมหลอกนั้นประโยชน์ของมันยังเป็นที่ถกเถียงว่ามีจริงหรือเปล่า นี่ยังจะมีคนเอาไปติดเพชรนิลจินดาประดับประดาให้หรูเริด ทำนอง “เพิ่มมูลค่า” เข้าไปอีก แต่คุณขา ... นี่มันเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก จะติดเมล็ด “คริสตัล” เพื่อเพิ่มอันตรายจากการติดคอ หรือกลืนกินเจ้าสิ่งแปลกปลอมที่ว่านั้นไปทำไมกัน ขณะนี้เขาประกาศห้ามขายในร้านทั่วไปแล้ว แต่ยังมีให้สั่งซื้อกันได้ทางอินเตอร์เน็ท ที่ทำเนียนขายต่อไปพร้อมคำเตือนว่า “สินค้านี้ไม่เหมาะในการนำไปให้เด็กใช้จริง” รางวัลมึนทะลุหลังคา ได้แก่  รถยนต์ Chery J1 พูดกันตรงๆ คนออสซี่เขาก็ไม่ได้คาดหวังมากมายนักจากรถราคา 400,000 บาท อย่างเจ้าคอมแพค 5 ประตู เฌอรี่ เจวัน  จากจีนที่เพิ่งจะเข้ามาทำตลาดในออสเตรเลียได้ประมาณ 1 ปี รถน้อยที่ว่านี้ได้คะแนนความปลอดภัยแค่ 3 ดาว และถูกแบนในรัฐวิคตอเรียเนื่องจากขาดอุปกรณ์จำเป็นที่เขากำหนดไว้ไปหนึ่งตัว แต่นั่นยังไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้มันคว้ารางวัลนี้ไป ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะพี่น้อง ว่าเขาช่างกล้าติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่ด้านในของราวหลังคา ที่มีข้อความว่า “ราวหลังคานี้มีไว้เพื่อการตกแต่งเท่านั้น ห้ามใช้งาน”   แล้วในกรณีที่เจ้าของอยากขายต่อ (สมมุติว่ารถยังขับได้อยู่แม้สติ๊กเกอร์จะลบเลือนไปแล้ว) แล้วคนที่มาซื้อต่อจะรับทราบข้อมูลสำคัญนี้หรือไม่ ตอนท้ายของโฆษณารถเฌอรี่ จบด้วยคำถามว่า “ทำไมคุณถึงจะยังเลือกรถยี่ห้ออื่น?” ก็ได้เหตุผลมากมายเป็นหางว่าว เริ่มจากข้อนี้แหละ รางวัลเขียวจอมปลอม ได้แก่ อุปกรณ์ประหยัดไฟ Go4Green ในยุคที่ใครๆ ก็อยากจ่ายค่าไฟน้อยลง อุปกรณ์ประหยัดไฟมากหน้าหลายตาจึงออกมาตีตลาด Go4Green อ้างว่าสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึงร้อยละ 10  ด้วยการลงทุนครั้งแรกประมาณ 10,000 บาท เขาบอกว่าแค่ 6 เดือนก็คุ้มแล้ว ทางทีมของ CHOICE ก็เลยลองไปซื้อมาใช้ดู (ด้วยวิธีใช้ตามที่บอกในคำแนะนำการใช้ ของผู้ผลิต) หลังจากทดลองใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นแห้ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าเล็กๆ อื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์อย่างเครื่องดูดฝุ่น สว่าน ด้วย  ผลปรากฏว่านอกจากจะไม่ช่วยลดแล้ว ในการทดสอบบางรอบ ค่าไฟยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก รางวัลไข่ครอบจักรวาล ได้แก่ ไข่นกกระทายี่ห้อ Quail Kingdom จะว่ายังไงดีล่ะ เขาอ้างว่าไข่เขาดีจริงๆ รักษาได้ทุกอย่างตั้งแต่ ความดันเลือดสูง วัณโรค เบาหวานชนิดที่1  โรคนิ่ว แถมยังช่วยแก้ปัญหาในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผมร่วง มีริ้วรอย หรือแม้แต่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นี่ยังไม่นับว่า ถ้าคุณบังเอิญไปได้รับกัมมันตรังสี แบบเดียวกับที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าที่เชอโนบิล กินไข่นี้แล้วก็จะอยู่รอดปลอดภัยอีกต่างหาก มีคำถามเดียวว่า ถ้ามันดีและมีผลทางการรักษาเลิศขนาดนั้นทำไมมันถึงไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นยาไปเสียเลย และที่สำคัญมันหลุดรอดสายตาของนักวิจัยทางด้านเภสัชศาสตร์และการแพทย์ไปได้อย่างไรหนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2554 สวยด้วยแพทย์...ก็ยังมีเสี่ยง ใครที่อยาก “สวยด้วยแพทย์” ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดีๆ เมื่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. คปภ.) ได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงามที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ภายในพงศักด์คลินิก สำนักงานใหญ่ใน จ.ระยอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ล้วนเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็น  ยาฉีดโบท็อกซ์ , ยาฉีดฟิลเลอร์ เสริมจมูก เสริมคาง, ยาฉีดกลูตาไธโอน, ยาฉีดพลาเซนต้า หรือรกแกะ, ยาฉีดแอลคานีทีน และยาฉีดวิตามินซีผสมคอลลาเจล นอกจากนี้ยังมียาลดความอ้วน รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการเสริมความงาม เช่น เครื่องนวดเย็น เครื่องสลายไขมัน เครื่องยิงเลเซอร์ รวมมูลค่าสินค่าทั้งหมดกว่า 20 ล้านบาท อย.ฝากเตือนและขอความร่วมมือไปยังคลินิกเสริมความงามทั้งหลาย อย่าใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. เพราะจะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ที่มาใช้บริการอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อย่างกรณีการฉีดฟิลเลอร์ที่ว่าสามารถช่วยเรื่องริ้วรอยบนใบหน้านั้น เคยมีข้อมูลจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ที่ได้รับผลร้ายข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์จนทำให้ตาบอดจำนวนถึง 3 คน นอกจากนี้ฟิลเลอร์ยังอาจมีผลต่อสมองในระยะยาว หากฉีดในปริมาณมากหรือฉีดไม่ถูกวิธี คนที่อยากจะสวยทางลัดต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ว่าการเสริมความงามแต่ละประเภทมีผลเสียหรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ความน่าเชื่อถือของสถานบริการมากน้อยแค่ไหน และเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ต้องให้แน่ใจว่าได้รับรองจากทาง อย.--------------------   ชอบใส่กางเกงฟิตมีสิทธิปวดหลัง ตอนนี้แฟชั่นกางเกงรัดรูป ไม่ว่าจะเป็นกางเกงขาเดฟ สกินนี่ หรือเลกกิ้ง กำลังได้รับความนิยม ฮิตใส่ทั้งหนุ่มๆ และสาวๆ แต่ความสวยความเท่ก็อาจกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลการวิจัยที่น่าสนใจในหัวข้อที่ว่า “การสวมกางเกงขายาวแบบรัดรูปมีผลต่อองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอวและการทำงานของกล้ามเนื้อลำตัว” ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ขณะนี้มีวัยรุ่นในภาคอีสานกว่า 80% เป็นโรคปวดหลัง โดยส่วนใหญ่นิยมนุ่งกางเกงรัดรูปเอวต่ำ สำหรับวิธีการศึกษาในครั้งนี้ทำโดย ให้อาสาสมัครทำกิจกรรม 3 ประเภท คือ การนั่งยองๆ แล้วทำกิจกรรมต่างๆ การลองให้ยกของขึ้นจากพื้น และการนั่งเอื้อมมือไปหยิบวัตถุที่อยู่ด้านหน้า โดยใส่กางเกงขายาวแบบรัดรูป เทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย โดยอาสาสมัครจะได้รับการวัดองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวและวัดศักย์ไฟฟ้าของกล้ามเนื้อลำตัวไปพร้อมกัน เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างกางเกงขายาวทั้งสองแบบ ซึ่งกางเกงขายาวแบบรัดรูป จะจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ส่งผลให้องศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อหลังลดลง และทำให้ผู้สวมใส่เกิดความไม่สบายที่บริเวณหลังส่วนล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย ------------------------------------------------   ลูกชิ้น (ต้อง) ไร้สารกันบูด คนที่ชอบลูกชิ้นรู้กันหรือยังว่า ลูกชิ้นที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นไก่ ฯลฯ ถูก อย. ประกาศให้เป็นอาหารที่ห้ามใช้สารกันบูด(เว้นแต่ขออนุญาตก่อน) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตบางรายที่ยังคงใส่สารกันบูดในลูกชิ้น จากการสำรวจตลาดของ อย. พบลูกชิ้นยี่ห้อ “หมูสยาม” มีวัตถุกันเสียชนิดกรดเบนโซอิกใน 3 ตัวอย่าง คือ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว พบกรดเบนโซอิกปริมาณ 3,745, 4,731 และ 4,770 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ “หมูสยาม” ทั้งลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทาง อย. ได้ทำการลงโทษผู้ผลิต ระงับการผลิต และเรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจากตลาดแล้ว------------------- “ตัดสัญญาณ คิดเงินผิด โทรไม่ติด” ปัญหา (ที่ยัง) ยอดฮิตของคนใช้โทรศัพท์นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยผลการร้องเรียนของผู้บริโภค ในปี 2554 ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 4,615 เรื่อง เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาแล้ว 2,077 เรื่อง คิดเป็น 45% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จจำนวน 1,627 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 75% อินเตอร์เน็ต 19% โทรศัพท์พื้นฐาน 3.9% โทรศัพท์สาธารณะ 2.1% บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ ฮัทช์ ต่างก็ได้รับการร้องเรียนในหลายๆ เรื่อง ที่มากที่สุดคือ การกำหนดระยะเวลาของบัตรเติมเงินที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง คิดค่าบริการผิดพลาด และมาตรฐานการให้บริการ เช่น สัญญาณไม่ดี ไม่ชัด หลุดบ่อย ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ถูกระงับบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถูกยึดเลขหมายแล้วนำไปจำหน่ายให้ผู้บริโภครายใหม่ก่อนครบ 180 วัน ไม่สามารถใช้บริการที่สมัครได้ เปลี่ยนเงื่อนไขบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าใครที่มีปัญหาเรื่องบริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต สามารถติดต่อสอบถามไปยั งบริการ Call Center ของแต่ละค่ายผู้ให้บริการ หรือที่ กสทช. โทร.1200-----------------------------------------------------------------------   สรุปปัญหาผู้บริโภค ปี 54ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้สรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทั้งสิ้น 895 กรณี และยังมีการร้องเรียนผ่านเครือข่ายผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคอีกจำนวนหนึ่ง โดยปัญหาหลักๆ ที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้บัตรเครดิต ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร และปัญหาด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร หลักๆ จะเป็นเรื่องหนี้บัตรเครดิต มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องใบแจ้งหนี้ ที่บางบริษัทมีแต่ภาษาอังกฤษ ไม่แสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนจงใจให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน นอกจากนี้ผู้บริโภคมักจะถูกเชิญชวนกึ่งบังคับให้ทำประกันแบบคุ้มครองหนี้สินแต่ไม่มีค่าสินไหมตอบแทน และการหลอกล่อให้ผ่อนชำระเงินหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลบนฉลากที่อ่านยากหรือไม่มีข้อมูลภาษาไทย ด้านการบริการก็มักขาดความจริงใจหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนปัญหาด้านบริการสุขภาพ หนีไม่พ้นเรื่องการขาดมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ซึ่งเกิดจากการที่มีการแบ่งสิทธิการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายประเภท ทั้งระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และระบบเฉพาะสำหรับข้าราชการ กลายเป็นปัญหาโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่ใช้บัตรประกันสุขภาพ นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังมีการโยกย้ายสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ด้านการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีผู้บริโภค โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถโดยสาร ซึ่งปี 54 ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องทั้งสิ้น 124 คดี ผลคดีสิ้นสุดแล้ว 108 คดี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ทั้งสิ้น 27,244,803.39 บาท จากปัญหาต่างๆ ที่พบทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการฟ้องคดีของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้มีข้อมูลและรู้เท่าทันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหากมีองค์การอิสระผู้บริโภค จะสามารถทำหน้าที่ทั้งเผยแพร่ข้อมูล ให้ความเห็น และเสนอแนะแนวทางในการหาทางออกให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ในสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด--------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 นิวเคลียร์ในประเทศเยอรมัน

เมื่อประมาณปี 2543 หรือ 12 ปีที่แล้วรัฐบาลเยอรมันได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายใน 20 ปี(2563) ซึ่งทำให้กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ พากันยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ต้องผิดหวังกันไปตาม ๆ กันเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2552(2009) ที่ผ่านมาพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบันได้มีนโยบายในการเลือกตั้งว่า จะขยายเวลาในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งทำให้ไม่สามารถยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ได้ตามเป้าหมายเดิม การเปลี่ยนนโยบาย(กลับคำพูด)ของพรรคอนุรักษ์นิยมในครั้งนี้ได้ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวางในประเทศ เฉพาะเมืองเบอร์ลินอย่างเดียวมีคนมาชุมนุมไม่น้อยกว่า 200,000 คนและในเมืองสำคัญอื่น ๆ อีกหลายแสนคน และส่งผลให้พรรครัฐบาลแพ้การเลือกตั้งในรัฐที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ของเยอรมันซึ่งถือเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ แต่เยอรมันก็โชคดีเมื่อเหตุการณ์นิวเคลียร์ระเบิดในเมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นใจทำให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นร่วมกันอีกครั้งในการยกเลิกการใช้นิวเคลียร์ และปิดโรงงานนิวเคลียร์ทันทีจำนวน 8 โรงภายใน 3 เดือน และตั้งเป้าหมายในการปิด 9 โรงที่เหลือภายในปี 2563(2020) รวมทั้งตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวล แต่ที่สำคัญมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและตั้งเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานที่ชัดเจน หากย้อนกลับมาพิจารณากรณีของประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการนำพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของของแผนพลังงานแห่งชาติโดยเฉพาะแผนพลังงาน ปี 2020 โดยทุกแนวทางในการกำหนดรูปธรรมแผนมีพลังงานนิวเคลียร์เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานโดยภาพรวม แต่ก็ถูกนโยบายยกเลิกไปชั่วคราวเมื่อเกิดเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ความพยายามจากภาคการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ยังกำหนดการให้ผลการตอบแทนตามการลงทุน(ROIC) และการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า พลังงานทางเลือก ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานถูกกำหนดไว้เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้กฟผ.ได้นำทั้งกรรมการ พนักงาน สหภาพการไฟฟ้า และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องไปดูงานทั้งที่ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น หากมีระดับหน่อยก็เลือกประเทศฝรั่งเศส ถึงแม้ในทางนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ดูจะชะงักไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้หยุดเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะแม้ในปัจจุบันคณะกรรมการพลังงานเขตก็เตรียมการกันไว้ให้คณะกรรมการทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 140 คน ไปดูงานที่ประเทศจีนในกลางปีนี้ ถึงแม้หลายคนอาจจะภาคภูมิใจถึงความเข้มแข็ง ว่า โรงงานนิวเคลียร์ไม่สามารถจะสร้างได้ง่ายในประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมศึกษาบทเรียนจากเยอรมันที่นโยบายสามารถย้อนกลับได้ หากไม่มีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและหลักประกันเรื่องความมั่นคงของพลังงานควบคู่กันไป ความต่อเนื่องในการกำหนดเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานหรือด้านไหนก็ตาม ประเทศไทยหากตรวจสอบให้ดีจะเห็นว่าความต่อเนื่องในการกำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ด้านพลังงานมักจะทำได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากรูปธรรมของผลประโยชน์เรื่องกาซ NGV และ LPG ในปัจจุบัน แต่ขณะที่นโยบายที่ดีถูกพัฒนาหรือทำให้ก้าวหน้าอย่างจำกัด และมักถูกผลประโยชน์แทรกแซง มีรูปธรรมหลายอย่างให้เห็นในปัจจุบัน เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นโยบายที่ดีจะยั่งยืนจะพัฒนาต่อเนื่องได้ เชื่อว่า คำตอบคงอยู่ที่ความตื่นตัวของคนหรือความเข้าใจที่มากพอของคนในสังคมในเรื่องนั้นๆ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 เกมร้ายเกมรัก : บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ

  จริงหรือไม่ที่เขาว่ากันว่า “บางสิ่งที่อยากจำเรากลับลืม บางสิ่งที่อยากลืมเรากลับจำ”??? สำหรับผมแล้วนั้นเห็นว่าน่าจะจริงแท้ทีเดียว ก็คงเหมือนกับชะตากรรมของตัวละครแบบ “สายชล” และ “นางฟ้า” ที่ฮือฮากันมากในช่วงปลายพุทธศักราช 2554 เพราะปัญหาของเขาและเธอทั้งสองที่ทำให้เกิด “เกมร้าย” แกล้มกับ “เกมรัก” นั้น ก็เป็นเรื่องราวที่เวียนวนอยู่แต่กับเรื่อง “การจดจำ” และ “การหลงลืม” แบบนี้เองแหละ เริ่มต้นเปิดฉาก ละครก็พาเราไปพบชะตากรรมของลูกสาวเศรษฐีอย่างฟ้าลดา ซึ่งถูกคลื่นสึนามิซัดพามาสลบติดเกาะกลางทะเลที่ผู้คนแถบนั้นเรียกเกาะแห่งนี้ว่า “เกาะมิน” ที่ผมเองก็ยอมรับเลยว่าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพิกัดของเกาะตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งเส้นแวงใดในแผนที่ฉบับ Atlas   ด้วยความช่วยเหลือของคุณพระเอกสายชลและชาวบ้านบนเกาะมิน ฟ้าลดาก็ฟื้นคืนสติขึ้นมา แต่ก็จำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ชื่อเสียงเรียงนามของตนเอง อันนับเป็นจุดเริ่มต้นของปมปัญหา “การหลงลืม” ของเธอ แม้ว่าเครื่องจะติดไวรัสจนหลงลืมความทรงจำหมดสิ้น ทว่า ในท่ามกลางบรรยากาศแบบหาดทรายสายลมและอวลอบไปด้วยความรักที่สายชลมอบให้จนหมดใจ ฟ้าลดาก็แปรสภาพเป็นสาวชาวเกาะคนใหม่ที่ชื่อแซ่ก็เปลี่ยนไปเป็นชื่อ “นางฟ้า” และกลายเป็นภรรยาสุดที่รักของสายชลชายหนุ่มแห่งเกาะมิน แล้วผู้ชมก็ได้ทำตัวเป็นประหนึ่งนักมานุษยวิทยา ที่เข้าไปสังเกตการณ์ “พิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านชีวิต” ในแบบชนเผ่า ซึ่งนั่นหมายความว่า ละครได้นำพาเราไปสัมผัส ประเพณีประดิษฐ์ ทั้งแบบเก่าและใหม่มากมาย ตั้งแต่การสร้างตัวละครแบบปีร์กะมาเป็นแม่หมอผู้มีมนต์หยั่งรู้ชะตาชีวิต การประดิษฐ์พิธีกรรมลอยประทีปตามน้ำ การสร้างท่าเต้นโยกย้ายส่ายเอวแบบระบำฮาวาย การดีดเล่นเครื่องสายอูคูเลเล่กลางทะเล ไปจนถึงการสร้างฉากพิธีแต่งงานให้ชายหญิงเอาจมูกชนกันแบบชนเผ่าเมารีแห่งนิวซีแลนด์ ด้วยประเพณีพิธีกรรมที่ประดิษฐ์กันจนหวือหวาแปลกตาเยี่ยงนี้ ก่อนหน้านั้นเธอจะเป็นฟ้าลดาหรือเป็นใครไม่สำคัญ ในที่สุดฟ้าลดาก็เปลี่ยนผ่านกลายสภาวะเป็นสาวชาวเกาะมินได้โดยสมบูรณ์แบบ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ครึ่งแรกของเรื่องราวที่เริ่มต้นด้วยความสุข ก่อนที่ชมพูแพรผู้เป็นพี่สาวของฟ้าลดา จะมาพรากเอานางฟ้าไปจากสายชลคนรักและบรรดาผู้คนบนเกาะมิน ก่อนหน้าที่อยู่บนเกาะเธออาจจะชื่อ “นางฟ้า” แต่เมื่อมาเจอการช็อตไฟฟ้าด้วยวิทยาการสมัยใหม่เท่านั้นแหละ ความทรงจำของนางฟ้าก็ถูก delete โปรแกรมออกไปจนหมด และติดตั้งซอฟต์แวร์ความเป็น “ฟ้าลดา” กลับมาใหม่อีกครั้ง กลายเป็น “ความหลงลืม” ในระลอกที่สองในชีวิตของเธอ ครั้นเมื่อต้องกลับเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเมืองหลวงอีกรอบหนึ่ง นางเอกของเราก็ต้องเจอกับปมปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาอีกมากมาย โดยเฉพาะจากคุณพี่ชมพูแพรที่ลึก ๆ ไม่เคยรักและหวังดีกับน้องสาวเลย ส่วนคุณพระเอกสายชลนั้น ภายหลังก็ไปชุบตัวเรียนเมืองนอกก่อนจะกลับมาเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่ชื่อ “ชาร์ล” และด้วย “ความทรงจำ” ที่มีต่อภรรยาสุดที่รัก ประกอบกับจิตสำนึกท้องถิ่นของชายชาวเกาะมิน(ที่ไม่เคยถูก delete ซอฟต์แวร์ออกไป) สายชลจึงเชื่อมั่นในเรื่องรักเดียวใจเดียวและการมีเมียเดียวไปจนวันตาย และ “เกมร้าย” มากมายจึงเกิดขึ้น ก่อนที่จะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งด้วย “เกมรัก” ไปในที่สุด คุณป้าข้างบ้านของผมเคยตั้งข้อสังเกตที่น่าฟังประการหนึ่งว่า “การหลงลืม” เป็นภาวะปกติวิสัยที่ต้องเกิดขึ้นกับมนุษย์เราทุกคน ทั้งนี้เนื่องมาจากว่า ในวันหนึ่ง ๆ มนุษย์เราแต่ละคนจะมีประสบการณ์ต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตมากมาย หากมนุษย์เราไม่ลบไฟล์เหล่านั้นออกไปเสียบ้าง ก็อาจจะทำให้ data ล้นเกินกว่าที่เราจะรองรับได้ ด้วยเหตุดังกล่าว อาการหลงลืมของฟ้าลดาจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะถ้าเธอจะมาติดเกาะหรือจะมาเติมความทรงจำใหม่ ๆ ให้กับชีวิต เธอก็จำเป็นต้องลบไฟล์ในฐานข้อมูลเดิมออกไปเสียบ้าง เพื่อจะได้ install ประสบการณ์ความทรงจำที่มีต่อผู้คนในโลกแปลกใหม่อย่างสายชล แม่หมอปีร์กะ มามิ แตลอย และใครต่อใครบนเกาะมินเข้าไปแทน และที่สำคัญ สภาวะ “หลงลืม” หรือการถูกลบเมโมรี่ออกไปนั้น แท้จริงก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาสลักสำคัญแต่อย่างใด ทุกวันนี้วิทยาการสมัยใหม่แค่ช็อตไฟฟ้าไปไม่กี่โวลต์ ก็สามารถจะกู้เอาไฟล์เก่า ๆ กลับคืนมาได้ แถมยังจัดการกับไวรัสที่บรรดาชาวเกาะมินฝากฝังออกไปได้แบบถอนรากถอนโคน ดังนั้น หากการหลงลืมไม่ใช่ปัญหาที่น่าเป็นทุกข์ร้อน แล้วอันใดกันเล่าที่น่าจะเป็นตัวปัญหาในชีวิตของคนเราจริง ๆ ??? คุณป้าข้างบ้านคนเดียวกันได้บอกกับผมว่า ปัญหาเรื่อง “การจดจำ” ต่างหากที่ทำให้มนุษย์เราทุกวันนี้ต้องมาเผชิญหน้ากันจนสับสนวุ่นวาย หากไม่นับการเลือกจดจำเรื่องดี ๆ แบบที่สายชลจดจำนางฟ้าสุดที่รักของเขาอย่างไม่ลืมเลือน เราก็จะได้เห็นตัวละครแบบชมพูแพรที่แสดงให้เห็นว่า “การจดจำ” เรื่องราวในอดีตที่มีแต่ความเกลียดชังในตัวฟ้าลดานั่นเอง ที่เป็นเหตุแห่งปมปัญหาทั้งหมดทั้งมวล เพียงเพราะไวรัสที่ชื่อมิจฉาทิฐิเข้ามาบดบังตา และเห็นน้องสาวดีกว่าเธอในทุก ๆ ทาง เธอก็สามารถทำร้ายน้องสาวได้ทุกวิถีทางเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น แม้ในตอนจบ ฟ้าลดาจะไม่สามารถกู้ไฟล์ให้จดจำชีวิตแบบ “นางฟ้า” รวมไปถึงบรรยากาศการเต้นระบำฮาวายส่ายเอวเคล้าเสียงอูคูเลเล่กลางเกาะมินได้ แต่คุณค่าก็น่าจะอยู่ที่คำตอบซึ่งสายชลกล่าวกับเธอว่า “สายชลไม่สนใจว่านางฟ้าจะจำได้หรือไม่ได้ ความทรงจำสามารถสร้างด้วยกันใหม่ได้เสมอ…” ดูละครจบแล้ว “บางสิ่งที่อยากจำ” ลืม ๆ ไปเสียบ้างก็ดี เฉกเช่นเดียวกับ “บางสิ่งที่น่าลืม” ก็คงไม่ต้องหันกลับไปจดจำ บางทีชีวิตที่ข้องแวะแต่ “เกมร้าย” ก็อาจจะเหลือแต่ “เกมรัก” เอาไว้ให้ชื่นชมแทน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 บทเรียนพลุระเบิดที่สุพรรณ: ถึงเวลาภาครัฐ ต้องจัดระเบียบใหม่

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข่าวพลุระเบิด ในงานเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลสำหรับความสุข สำหรับคนไทยเชื้อสายจีน กลายเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมสำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และสภาพจิตใจ ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุดังกล่าวนี้ นอกจากจะต้องสืบหาต้นตอสาเหตุ จากอุบัติภัยอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ภาครัฐคงต้องมาทบทวน บทบาทในเรื่องการป้องกันความปลอดภัย ทั้งในเชิงมาตรฐานของสินค้าประเภท พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จัดเป็นสินค้าอันตรายอย่างหนึ่งที่มีระดับความเป็นอันตรายหลายระดับ ตลอดจนการควบคุมธุรกิจ หรืองานแสดงที่ต้องมีการจุดพลุ อย่างจริงจังเสียที เหตุการณ์การเกิดวินาศภัย ที่มีผลมาจากการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อการค้าหรือการแสดงนั้น ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นแค่ครั้งนี้เท่านั้น แต่ถ้าเราดูข่าวจะเห็นว่ามีเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรื่นเริง ตรุษจีน ปีใหม่ ที่จะมีสินค้าประเภทนี้วางขายอยู่ทั่วไป เข้าใจว่ายังไม่มีกฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ ตลอดจนหน่วยงานทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมความปลอดภัยที่จะเป็นหน่วยงานควบคุมธุรกิจและสินค้าประเภทนี้เลย ทำให้เกิดปัญหาลักลอบการผลิต และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสายอาชีพนี้  เป็นความเสี่ยงระดับรุนแรงอย่างหนึ่งสำหรับประชาชนและผู้บริโภคเลยทีเดียว สำหรับบทความในคราวนี้ ผมขอยกตัวอย่างการควบคุมเรื่องการจุดพลุ ตลอดจน การควบคุมสินค้าประเภท ประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ของประเทศเยอรมนี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ รีบเข้ามาจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน   การจำหน่ายพลุ ดอกไม้ไฟต้องขอใบอนุญาตในเยอรมนีจะมีหน่วยงานที่ทดสอบพลุ ดอกไม้ไฟ และวัตถุเทียมระเบิด ทางด้านเทคนิค เพื่อที่จะทดสอบความปลอดภัย ความรุนแรงของการระเบิด การจุดติดไฟ  (Bundesanstalt für Material Prüfung: BAM) ก่อนที่จะออกใบอนุญาต ให้นำออกมาจำหน่ายได้ สำหรับการแบ่งประเภทของสินค้าเหล่านี้นั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามระดับความรุนแรงในการติดไฟ และการระเบิด ระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 (BAM-P1)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 2 (BAM-P2)ระดับความรุนแรงประเภทที่ 3 (BAM-P3) และระดับความรุนแรงประเภทที่ 4 (BAM- P4) สำหรับพลุ ดอกไม้ไฟ นั้นปกติ จะอยู่ในระดับความรุนแรงประเภทที่ 1 และ 2 ซึ่งในการตรวจสอบสินค้าประเภทนี้นั้น หน่วยงานดังกล่าวจะตรวจดูถึงปริมาณของสารที่ต้องควบคุม เนื่องจากหากมีมากไป หรือ ไปเข้าชุดกับสารจุดระเบิดตัวอื่น ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ผู้จำหน่าย ผู้ขนส่ง หรือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด จะต้องทำตามระเบียบในการจัดเก็บ การขนส่งอย่างเคร่งครัด   การทดสอบด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัดผมขอยกตัวอย่างการทดสอบความปลอดภัยที่สำคัญ ก็คือ การทดสอบภายใต้แรงสั่น จากรูปจะเห็นว่า นำดอกไม้ไฟ หรือ พลุมาวางไว้บนโต๊ะสั่นด้วยความเร่ง 50 เท่าของความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก (-50 g) รูปที่ 1 และภายหลังจากการทดสอบด้วยแรงสั่นแล้วหากมี เศษวัสดุรั่วไหลออกมาจากภาชนะบรรจุ ก็ถือว่า เป็นอันตรายไม่สามารถนำไปวางจำหน่ายหรือ ขนส่งได้ (รูปที่ 2) นอกจากนี้ ยังต้องมีการทดสอบการตกของดอกไม้ไฟ พลุ ที่ระยะความสูง 12 เมตร เพื่อตรวจสอบว่า มีการจุดติดระเบิดหรือไม่ และนอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบ ว่า ในการจัดเก็บสินค้าที่เสี่ยงต่อการระเบิดนั้น ตัวสินค้าสามารถจุดติดระเบิดได้เองหรือเปล่า (Self ignition test) ตามรูปที่ 3 และตรวจสอบกรณีเกิดไฟไหม้ด้านนอก ว่าพลุ ดอกไม้ไฟ มีปฏิกริยาอย่างไร (Out burning test) ตามรูปที่ 4   ภาครัฐต้องเอาจริง ไม่ใช่เอาอยู่ บทสรุปในเรื่องการจัดการสินค้า ที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะก่อให้เกิดวินาศภัยและมหันตภัยอย่างร้ายแรงนั้น อยู่นอกเหนือการจัดการและสั่งการขององค์กรภาคเอกชน ภาครัฐซึ่งมีหลายๆ หน่วยงานดูแลรับผิดชอบในด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยต้องใส่ใจ ในการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการจัดการสินค้าที่เป็นอันตราย ตลอดจนคำนึงถึงสวัสดิภาพโดยรวมของประชาชนเป็นหลักสำคัญ นอกจากจะต้องมีกฎหมายด้านความปลอดภัยที่ดีแล้ว การบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจัง นอกจากนี้หน่วยงานทางเทคนิคและทางวิชาการก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ถ้าภาครัฐจะเอาจริงกับเรื่องนี้ครับ ข้อมูลอ้างอิง1 คำแนะนำในการจัดการกับวัตถุเทียมระเบิด (Aufbewahrung von Feuerwerk der Klassen I und II), Bundesanstalt für Materialprüfung, Berlin  2005 รูปที่ 1 การทดสอบพลุและ ดอกไม้ไฟภายใต้แรงสั่นสะเทือนขนาด -50 g รูปที่ 2 หลังการทดสอบ พบมีผงจุดระเบิดรั่วออกมา สินค้าไม่ผ่านการทดสอบรูปที่ 3 ทดสอบการจุดติดไฟ โดยจะนำพลุ ดอกไม้ไฟ นำไปใส่ในหลุมที่ขุดลึกพอสมควร เพื่อดูความรุนแรงในการระเบิด รูปที่ 4 ทดสอบความรุนแรงในการระเบิด ซ้ายมือ) ก่อนเริ่มทดสอบ กลาง) เริ่มทดสอบ ขวามือ) ระดับความรุนแรงจากการทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >