ฉบับที่ 131 สมุนไพรหมื่นแปดหายทุกโรค!

  หากมีคนมาขายยาสมุนไพร ชุดละ 18,000 บาทต่อเดือน โดยโฆษณาว่ารักษาหายได้ทุกโรค ท่านคิดว่าผู้ป่วย จะซื้อหรือไม่ ? น้องเภสัชกรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลำปางแจ้งข้อมูลให้ผมทราบว่า มีบุคคลอ้างว่าตนเป็นหมอสมุนไพร จบจากเมืองนอก มาจัดการโฆษณาขายยาสมุนไพรที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยในการจัดกิจกรรมนั้นได้เชิญชวนให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ซื้อยาสมุนไพรที่อ้างว่ารับประทานแล้วหายได้ทุกโรคนำไปใช้รับประทาน สมุนไพรที่ว่านี้ราคาสูงถึงชุดละ 18,000 บาท (มีทั้งแบบซองสำหรับชงและแบบแท่งสำหรับต้มดื่ม) ผู้บริโภครายหนึ่งที่ได้เข้าไปฟังการโฆษณาจึงหลงเชื่อ ซื้อกลับมา 1 ชุดเพื่อให้ญาติของตนที่ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ ลองใช้รักษาอาการป่วย หลังจากนั้นไม่นาน ทางโรงพยาบาลก็ได้รับตัวผู้ป่วยชาย อายุ 58 ปี ซึ่งป่วยเป็นเนื้องอกร้ายของมะเร็งท่อน้ำดีในตับ กลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คราวนี้ ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการปวดขาข้างขวามาก เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจึงพบว่าเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันที่ขา เภสัชกรที่โรงพยาบาลได้ไปซักประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติม ได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมการบริโภคอะไรที่ผิดแปลกไปจากเดิมเลย นอกจากกินยาสมุนไพร 18,000 บาทที่โฆษณาว่าหายทุกโรคนี่แหละ เมื่อขอยาสมุนไพรที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 2 แบบมาดู ก็พบว่า ยาสมุนไพรทั้ง 2 แบบนี้ มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ยาดองเหล้าสมุนไพรแอนนี่ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนยาแต่กลับโฆษณาสรรพคุณมากมาย ส่วนยาสมุนไพรแอนนี่ แม้ไม่ได้ระบุสรรพคุณยาบนฉลาก แต่ก็เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกัน หากแสดงเลขที่ใบอนุญาตตั้งคลินิกที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะไม่สามารถมาเร่ขายยาตามโรงแรมได้ เพราะเขาอนุญาตให้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยที่รับบริการจากคลินิกเท่านั้น ล่าสุดทราบว่า เภสัชกรได้แจ้งข้อมูลไปให้ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางและจังหวัดอุบลราชธานีทราบ เพื่อช่วยกันติดตามดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว หากใครเจอการเร่จัดมหกรรมโฆษณาขายยาที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ อย่าหลงเชื่อนะครับ อาจจะเสียทั้งเงินและได้รับอันตรายได้ ช่วยๆ กันเตือนเพื่อนฝูงและแจ้งข้อมูลให้หน่วยราชการทราบด้วยนะครับ จะได้ช่วยกันจัดการให้ยาหายทุกโรคแบบนี้ หายไปจากการหลอกลวงซะที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ซื้อคอนโดจากการขายทอดตลาด ต้องรับภาระหนี้เดิมหรือไม่

การซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาด เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการจะมีบ้านหรือห้องชุด อย่างแรกไม่โดนหลอกขายแน่ๆ เพราะมีการรับประกันโดยหน่วยงานของรัฐ ราคาก็แล้วแต่การประมูล แต่ข้อพึงระวังก็เยอะเช่นกัน ทั้งเรื่องสภาพบ้านที่อาจจะประเมินยากว่า เสื่อมสภาพไปแค่ไหน หรือปัญหาการไม่ยอมออกจากบ้านของเจ้าของเดิมที่ยังทำใจไม่ได้ ฉลาดซื้อมีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีศึกษาของผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาด ที่โดนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของเดิมค้างชำระไว้ ปัญหาคือเจ้าของใหม่ต้องจ่ายหรือไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10390/2553  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ...โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี  แต่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดิมค้างชำระกับเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 1,264,798.51 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต่อมาตรวัดน้ำให้ห้องชุดพิพาท ไม่มอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับผ่านประตูเข้าออกอาคารชุดและไม่ออกหนังสือรับรองรายการหนี้ห้องชุดพิพาทให้โจทก์เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทหรือไม่  เห็นว่า ตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วม(หมายถึงเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด)  ต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูและรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 หรือตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และมาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง  นางสาวชลธร  มีวงษ์อุโฆษ เจ้าพนักงานบังคับคดีเบิกความประกอบประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดไว้ว่า “ ...ผู้ซื้อได้ต้องรับผิดชอบเรื่องภาระหนี้สิน(หากมี)ที่มีต่อนิติบุคคลอาคารชุดด้วย” ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมบังคับคดีที่กำหนดให้ระบุข้อความลักษณะดังกล่าวในกรณีที่ทรัพย์ที่ขายทอดตลาดเป็นอาคารชุดเพื่ออนุวัตรตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ห้องชุดพิพาทได้จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะปฏิเสธอ้างว่าไม่ทราบเงื่อนไขนี้ไม่ได้ ทั้งนางสาวชลธรยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า ก่อนประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม  2544 แจ้งบอกหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจำนวนดังกล่าวที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คนเดิมค้างชำระอยู่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว  ซึ่งโจทก์สามารถตรวจสอบภาระหนี้สินดังกล่าวได้จากเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนเข้าสู้ราคาได้อยู่แล้ว เพราะเอกสารดังกล่าวอยู่ในสำนวนบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี  ทั้งเป็นข้อมูลสำคัญที่โจทก์ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด  ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าไม่ทราบว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทมีภาระหนี้สินจำนวนเท่าใดจึงฟังไม่ขึ้น  เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือการปลอดหนี้ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน หมายเหตุ ตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้แม้โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเพราะจำเลยไม่ออกหนังสือปลอดหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถนำหนังสือปลอดหนี้มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับโอนมาโดยไม่สุจริตศาลฎีกาจึงรับรองสิทธิการครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ซื้อห้องชุดได้จากการประมูลขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยที่ 1 (นิติบุคคลอาคารชุด) โดยจำเลยที่ 2 (ผู้แทน) ต่อมาตรวัดน้ำ มิเตอร์ไฟ และส่งมอบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์(คีย์การ์ด)ให้โจทก์เพื่อให้โจทก์สามารถใช้ประโยชน์และครอบครองห้องชุดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พฤกษา ยอมคืนเงินผู้บริโภค เหตุสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับคนที่จะซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้านใหม่ หลังภาวะน้ำท่วม บทเรียนของผู้บริโภคเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2553 คุณภัทรวรรธน์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในโครงการบ้านพฤกษา 47/2 (เทพารักษ์-หนามแดง) จ.สมุทรปราการ กับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)บ้านที่จะซื้อจากโครงการของพฤกษา เป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น หน้ากว้าง 5 เมตร ห้องริมไม่มีหน้าต่าง อยู่บนเนื้อที่ 16.20  ตารางวา ราคารวมทั้งสิ้น 909,000 บาทกลยุทธ์การขายบ้านราคาไม่ถึง 1 ล้านของพฤกษา เรียลเอสเตท มักจะล่อลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงน้อยด้วยการคิดเงินจองเงินดาวน์ในอัตราที่ไม่สูง สำหรับโครงการบ้านพฤกษา 47/2 พฤกษาเรียลเอสเตทคิดค่าจองเพียง 3,499 บาท ส่วนเงินดาวน์คิด 36,000 บาทให้แบ่งจ่าย 8 งวด งวดละ 4,500 บาท เงินค่าบ้านก้อนใหญ่ที่เหลืออีก 869,500 บาท ให้ผู้บริโภคไปหากู้เงินจากธนาคารมาจ่ายในวันนัดโอนบ้านคุณภัทรวรรธน์ทำเรื่องติดต่อธนาคารและจ่ายเงินจองเงินดาวน์มาถึง 6 งวด โครงการได้นัดเข้าไปตรวจรับบ้านเพื่อเตรียมการโอนบ้าน คุณภัทรวรรธน์จึงมอบหมายให้บริษัทตรวจรับบ้านที่มีประสบการณ์เข้าไปตรวจสภาพการก่อสร้างบ้านผลการตรวจบ้านพบปัญหาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหลายจุด ดูไม่สมกับชื่อเสียงของโครงการฯ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดตรงที่ผนังบ้าน ไม่แน่ใจว่าช่างตาเอียงตาเหล่แค่ไหน ถึงได้ก่ออิฐบิดเบี้ยวจนทำให้ผนังบ้านซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักบ้านเอียงไม่ได้ฉากและเกิดรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด คุณภัทรวรรธน์ จึงได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบ ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ช่างของโครงการฯ เสนอวิธีการแก้ไขแบบง่ายแสนง่าย ว่า จะซ่อมแซมให้ด้วยการฉาบปิดรอยร้าว และฉาบปูนเพิ่มเพื่อให้กำแพงได้ฉาก คุณภัทรวรรธน์จึงสอบถามไปที่บริษัทตรวจรับบ้านว่าปัญหาผนังบ้านเอียงไม่ได้ฉาก จะใช้วิธีฉาบปูนเพิ่มเข้าไปได้หรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า ผนังบ้านที่เอียงอย่างเห็นได้ชัดขนาดนั้นเป็นส่วนรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งจะเกิดอันตรายในอนาคตได้ หากไม่ดำเนินการรื้อและก่อผนังขึ้นใหม่คุณภัทรวรรธน์ ได้พยายามเรียกร้องให้โครงการฯ แก้ไขงานบ้านตามที่บริษัทตรวจรับบ้านให้คำแนะนำแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซ้ำยังกำชับให้จ่ายค่างวดที่เหลือต่ออีก ในขณะที่ธนาคารก็นัดวันเซ็นสัญญาใกล้เข้ามา จึงปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า จะขอให้โครงการแก้ไขต้องทำอย่างไร และยังต้องจ่ายค่างวดให้ครบและต้องรับโอนบ้านหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหาถ้าผู้บริโภคคนไหนทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านหรือว่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ แล้วเรื่องเดินมาถึงจุดที่พบว่าสภาพการก่อสร้างมีปัญหา คิดจะใช้วิธีไม่จ่ายค่างวดที่เหลือ หรือไม่รับโอนบ้าน กะจะใช้เป็นเงื่อนไขกดดันหวังให้เจ้าของโครงการทำการซ่อมแซมแก้ไข ต้องระวังให้ดีเพราะผลีผลามทำไปโดยไม่รู้ขั้นตอนจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาถูกฟ้องคดีบังคับให้ต้องจ่ายเงินตามสัญญาที่เหลือได้โดยที่บ้านก็ไม่ได้ซ่อม หรืออาจจะสูญบ้านทั้งหลังไปเลยก็ได้หากต้องการจะหยุดส่งค่างวดหรือไม่รับโอนบ้าน โดยไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง การมีหนังสือแจ้งถึงปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขตามกรอบระยะเวลาที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาก่อนหน้า ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของโครงการไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด อย่าใช้ปากเรียกร้องเพียงอย่างเดียว เพราะมีแต่ลมจับต้องอะไรมาเป็นหลักฐานยืนยันในภายหลังไม่ได้ยิ่งได้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาประกอบถึงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งทำให้เหตุผลของฝั่งผู้บริโภคมีน้ำหนักมากขึ้น และหากความชำรุดบกพร่องนั้นเกี่ยวกับโครงสร้างหลักของตัวบ้าน เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่อาจทำการแก้ไขได้ตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินที่ได้ชำระไปคืนทั้งหมดได้  โดยให้ทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาส่งไปทางแฟกซ์หรือจดหมายลงทะเบียนตอบรับก็ได้หลังจากได้รับคำแนะนำ คุณภัทรวรรธน์ไม่มั่นใจในคุณภาพการก่อสร้างบ้าน จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ซึ่งบริษัทไม่ได้งอแงอิดออดแต่อย่างใด ยอมคืนเงินทั้งหมดให้ในเวลาไม่นานท้ายที่สุดของเรื่อง หวังว่าปัญหาของบ้านหลังนี้ บริษัทฯจะได้ทำการซ่อมแซมให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานการก่อสร้างที่ดีก่อนนำไปขายต่อให้ใคร อย่าให้เสียชื่อกันอีกรอบเพียงเพราะบ้านไม่ได้มาตรฐานเพียงแค่หลังเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 แอร์หรือระเบิดเวลา?

ซื้อแอร์ใหม่ราคา 2 หมื่นเศษ แทนที่จะทำงานเย็นเฉียบเงียบสนิท ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ในยามพักผ่อนหลับนอน แอร์เจ้ากรรมกลับมีเสียงดังติ๊กๆ น่ารำคาญหูเล็ดลอดตลอดเวลา พาอารมณ์หงุดหงิด สะกิดหัวใจ ฟังไปเรื่อยๆ ยิ่งหนัก คิดว่ากำลังนอนหลับกับระเบิดเวลา ลุ้นและเครียดเอาเรื่องเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา คุณสุรพิเชษฐ์ ได้ซื้อเครื่องปรับอากาศยี่ห้อไดกิ้น รุ่น F13 HV2S ในราคา 21,000 บาท จากบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัดหลังจากให้ช่างมาติดตั้งเสร็จสรรพ เปิดใช้งานกะว่าเย็นฉ่ำสบายอารมณ์แน่ พอแอร์เริ่มทำงาน ความเย็นค่อยๆไหลไล่ความร้อนให้หลบหนี“อืม เย็นจัง” กำลังเคลิ้มๆ กับความเย็นแต่ก็ต้องร้องเอ๊ะ“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊กๆๆๆๆ” มันดังไม่หยุด ดังอยู่ตลอดเวลาที่แอร์เปิดทำงานคุณสุรพิเชษฐ์เงี่ยหูฟังเสียงไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาพร้อมความเย็นฉ่ำจากการทำงานของแอร์ที่เพิ่งซื้อมา“เสียงอะไร เสียงจากไหน” คิดในใจพร้อมกับลองปิดแอร์เงียบ...! “ไหนลองเปิดอีกครั้งสิ”“ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก...” เสียงที่น่ารำคาญดังมาทันทีวันนั้นคุณสุรพิเชษฐ์ ลองปิด-เปิดแอร์อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งก็มีเสียงดังติ๊กๆ ออกมา เหมือนว่าเป็นมาตรฐานติดมากับแอร์เครื่องนี้เมื่อพบความผิดปกติ จึงได้แจ้งบริษัท เจเอสบี แอร์ แอนด์ เซอร์วิส ให้ส่งช่างมาตรวจสอบ หลังจากที่ช่างมาตรวจสอบอยู่ครู่ใหญ่ จึงได้มีคำตอบที่น่าผิดหวังว่า เสียงติ๊กๆ ที่เกิดขึ้นช่างไม่สามารถซ่อมได้ ต้องให้ช่างของบริษัทไดกิ้นโดยตรงมาซ่อมให้ ซึ่งบริษัทเจเอสบีฯ จะติดต่อกับไดกิ้นให้ส่งช่างมาซ่อมต่อมาช่างของไดกิ้นเข้ามาซ่อมแก้ไขแอร์ โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเสียงของแผ่นพลาสติกที่ไปกระทบกันภายในเครื่องแอร์ จึงใช้แผ่นกำมะหยี่เป็นวัสดุแทรกกันการกระแทกสั่นไม่ให้เกิดเสียงดัง ปรากฏว่าเช้าวันต่อมาแอร์ที่เพิ่งซ่อมไปมีน้ำหยดออกมาจากตัวเครื่องคุณสุรพิเชษฐ์รู้สึกว่าเช้านั้นเซ็งอารมณ์สุดๆ“แอร์ซื้อมาใหม่ๆ แท้ๆ ครับ ใช้ไม่กี่วันก็ต้องเรียกให้ช่างมาซ่อมแล้วซ่อมอีก”“ช่างที่มาซ่อมบอกว่าที่บ้านก็ใช้แอร์รุ่นนี้ก็มีเสียงดังเหมือนกัน”เมื่อนำเหตุผลทั้งหมดมารวมกัน ความไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์สินค้าจึงเกิดขึ้น จึงได้ติดต่อไปที่บริษัทไดกิ้นเพื่อจะขอเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ หลังติดต่อไปบริษัทก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธที่ชัดเจน ทำให้คุณสุรพิเชษฐ์มีความกังวลและคิดว่าบริษัทไดกิ้นอาจจะไม่ยอมเปลี่ยนแอร์รุ่นใหม่ให้ จึงโทรปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับฟังปัญหาของผู้บริโภคจนได้รายละเอียดเสร็จสิ้น เราจึงแนะนำให้คุณสุรพิเชษฐ์รีบทำจดหมายไปที่บรัทไดกิ้นโดยทันที โดยให้ระบุเนื้อหาในจดหมายว่า ผู้บริโภคได้ซื้อแอร์เครื่องใหม่และเลือกยี่ห้อไดกิ้นก็เพราะว่า เป็นสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน แต่เมื่อใช้ไปได้ไม่กี่วัน เครื่องมีอาการผิดปกติ มีเสียงดังเล็ดลอดออกมาตลอดเวลาที่เครื่องเปิดใช้งาน การที่ได้ซื้อแอร์เครื่องนี้ในราคาเป็นหมื่น เพราะประสงค์ที่จะได้แอร์ที่ดีมีคุณภาพพร้อมทั้งมาตรฐานที่ดี เพื่อนำความสุขมาให้ครอบครัว แต่เมื่อแอร์เกิดปัญหาเช่นนี้โดยไม่ใช่ความผิดจากการใช้งานของผู้บริโภค บริษัทที่มีความรับผิดชอบจะต้องทำการเปลี่ยนเครื่องให้ใหม่ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงและยี่ห้อของสินค้าให้คงอยู่ตลอดไป จึงขอให้ทางบริษัทไดกิ้นฯ ช่วยพิจารณาดำเนินการเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้ด้วยหลังจากที่ได้ทำจดหมายออกไป ปรากฏว่าบริษัทไดกิ้น ได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการแจ้งว่า บริษัทยินดีที่จะเปลี่ยนแอร์เครื่องใหม่ให้กับคุณสุรพิเชษฐ์โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดใครที่มีปัญหาซื้อสินค้าใหม่ใช้งานแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดปัญหาจนต้องเรียกช่างมาซ่อมแซมแก้ไข หากต้องการจะให้บริษัทเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ ลองใช้วิธีนี้ดู  ไม่สงวนลิขสิทธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อพาร์ทเมนต์ ถูกคนเช่าทวงเงินมัดจำ

แจ้งย้ายออกจากห้องเช่า แต่เจ้าของหอไม่ยอมคืนเงินค่ามัดจำ หลายคนคงปล่อยทิ้งไม่อยากวอแว แต่สำหรับคุณเบญจมาภรณ์ยืนยัน ไม่มีวันเสียล่ะที่จะเสียเงินมัดจำไปง่ายๆ เจออย่างนี้ต้องเอาคืนคุณเบญจมาภรณ์ ได้เช่าอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัย เป็นอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อ ชั้นล่างทำเป็นร้านขายก๋วยจั๊บ ต้องจ่ายค่ามัดจำ 6,000 บาท และค่าเช่าห้องล่วงหน้า 1 เดือน อีก 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายควักไป 9,000 บาท สำหรับห้องเช่าธรรมดาๆ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม“สุดๆค่ะ ต้องเอาพัดลมมาเอง แรกเข้ามาอยู่ก็ไม่ได้ทำความสะอาดไว้ให้ เจ้าของห้องเขาตั้งน้ำยาทำความสะอาด แปรงถูกพื้น และกระป๋องไว้หน้าห้อง ไปกับเพื่อนก็ช่วยกันทำความสะอาดกันเอาเอง”“ห้องแคบมาก...ของที่ขนไปเข้าไม่หมด บานเกร็ดไม่มีเหล็กดัด ถ้าถามว่าทำไมต้องทนอยู่ ก็คงบอกได้ว่า มันใกล้กับที่ทำงาน มีรถไฟฟ้า และคิดว่าคงจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว” คุณเบญจมาภรณ์สาธยายให้เห็นภาพคงเพราะเป็นอพาร์ทเมนต์ที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ คุณเบญจมาภรณ์ก็ไม่แน่ใจ อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องอึดอัดใจ เพราะอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อแห่งนี้ หาความสงบแทบไม่ได้เลย มีคนเดินขึ้นลงตลอดเวลา เพราะร้านก๋วยจั๊บที่เปิดขายอยู่ชั้นล่าง เปิดยาวถึงตีสาม เวลาเข้าห้องน้ำ น้ำจะรั่วและมีสนิมปนมากับน้ำ แจ้งให้เจ้าของมาแก้ไขก็ไร้วี่แววมีครั้งหนึ่งที่คุณเบญจมาภรณ์เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด พอกลับเข้าห้องสังเกตเห็นว่าหวีไม้ที่วางไว้ในห้องมีราขึ้น ชั้นวางโทรทัศน์ก็มีราขึ้น พอเห็นราขึ้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คิดในใจว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายด้วยหรือเปล่าแจ้งเจ้าของห้องเพื่อขอย้ายออก ได้รับคำตอบว่าให้ย้ายตอนสิ้นเดือน จะคืนเงินมัดจำให้ 3,000 บาท“เราก็ไม่มีปัญหานะ ขอให้ได้ย้ายออกจะได้ค่ามัดจำเท่าไหร่ก็ยอมทั้งนั้น” พอถึงสิ้นเดือนก็ยังไม่ได้ย้าย เจ้าของห้องบอกยังไม่มีเงินให้อยู่ไปก่อน ได้เงินมัดจำคืนแล้วค่อยย้ายออก จนถึงกลางเดือนถัดมาคุณเบญจมาภรณ์บอกไม่ไหวแล้ว ตัดสินใจย้ายออกทันที“โทรติดต่อเจ้าของห้อง แต่ไม่เจอตัวเจอแต่คนดูแล เอาเงินมัดจำคืนไม่ได้  เลยฝากบอกกับคนดูแลให้เจ้าของห้องช่วยโอนเงินค่ามัดจำคืนเข้าบัญชีด้วย”เมื่อออกจากห้องเช่าแล้ว คุณเบญจมาภรณ์ ได้พยายามโทรไปทวงเงินค่ามัดจำคืนอยู่หลายสิบครั้ง มีเสียงเรียกแต่ไม่มีคนรับสาย มีครั้งหนึ่งมาตามด้วยตัวเองก็ได้ผลเหมือนเดิมหันซ้ายหันขวาเห็นป้ายสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่ใกล้ๆ จึงเดินเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาข้อแนะนำของเรา เมื่อโทรเข้าไปแล้วไม่รับสาย ก็ให้ไปดักรอที่หน้าอพาร์ทเมนต์เลยจะดีที่สุด เพราะเจ้าของห้องต้องออกมาขายก๋วยจั๊บทุกวันอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเจอเมื่อเจอแล้วก็ทวงถามได้เลย ถ้ายังบ่ายเบี่ยงปฏิเสธอีก ทีนี้ก็สามารถไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้ทันที แต่อยากให้พูดคุยกันดีๆ ก่อนเป็นดีที่สุดหลังได้รับคำแนะนำ คุณเบญจมาภรณ์จึงไปดักรอที่ร้านก๋วยจั๊บที่เจ้าของห้องเปิดขายทันที คิดในใจว่า ไม่ออกมาก็ไม่ต้องขายของกันละวันนี้ ปรากฏว่าเจอตัวเจ้าของเป็นๆ ซึ่งยอมคืนเงินค่ามัดจำให้ แต่ก็ยังทิ้งลายด้วยการขอหักค่าทำความสะอาดและค่าดูแลส่วนกลางรวม 300 บาท เหลือคืนให้ 2,700 บาท“ไม่เป็นไรค่ะ ไม่อยากให้มันยืดเยื้อ เพราะเสียเวลามามากแล้ว” คุณเบญจมาภรณ์บอกพร้อมขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำจนทวงคืนค่ามัดจำได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 เปรียบเทียบความหวานสารพัดของทา (น) กับขนมปัง

  ขนมปังอาจจะไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย แต่ขนมปังก็เป็นของโปรดของใครหลายๆ คน จะรับประทานเป็นขนมเป็นของว่าง หรือจะรับประทานเอาอิ่มเป็นมื้อหลัก แบบที่หลายๆ คนนิยมเป็นอาหารเช้า ไม่ว่าจะแบบไหนก็อร่อยได้เหมือนกัน แค่ขนมปังธรรมดาๆ ก็ว่าอร่อยแล้ว ยิ่งถ้าทาแยมหรือเนยด้วยก็ยิ่งช่วยเพิ่มรสชาติขึ้นไปอีก แต่ก็อย่าอร่อยจนลืมตัว หรือหลงคิดว่าขนมปังทาแยม ขนมปังทาเนยจะแค่เป็นอาหารเบาๆ แทนข้าวแล้วจะไม่อ้วน เพราะในความอร่อยของ แยม เนยถั่ว หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดอื่นๆ ล้วนมีตัวแปรสำคัญของความอร่อยอยู่ที่ความหวานของน้ำตาล เรามารู้ทันความหวานจากน้ำตาลกับผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังกันดีกว่า การทดสอบครั้งนี้ฉลาดซื้อสำรวจเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ที่นิยมนำมารับประทานคู่กับขนมปัง ไม่ว่าจะเป็น แยม เนยถั่ว มาร์การีน รวมทั้งที่เป็นสไตล์ไทยๆ อย่าง สังขยา และ น้ำพริกเผา   ฉลาดซื้อใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลที่อยู่บนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยดูตัวเลขปริมาณน้ำตาลที่แจ้งไว้ในข้อมูลส่วนประกอบ ซึ่งทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบครั้งนี้จะแจ้งปริมาณน้ำตาลเอาไว้เป็น % เราจึงต้องปรับตัวเลขให้มีหน่วยเป็นกรัม แล้วเปรียบเทียบที่ปริมาณต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (16 กรัม) เพราะการนำมาคิดเป็นน้ำหนักต่อช้อนโต๊ะน่าจะทำให้ข้อมูลที่ได้ เป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับปริมาณที่เรารับประทานจริงในแต่ละครั้งมากที่สุด สำหรับการสำรวจในครั้งนี้ -ปริมาณ 16 กรัม ต่อ 1 ช้อนโต๊ะเป็นข้อมูลที่นำมาจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ หรือ “Thai RDI” ของผลิตภัณฑ์ สุรีย์ น้ำพริกเผาเสวย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตัวอย่าง ที่มีการแจ้งข้อมูลโภชนาการ อีก 1 ตัวอย่างคือ สตรีมไลน์ รีดิวซ์ ชูการ์ มาร์มาเลดส้มสูตรลดปริมาณน้ำตาล   ตารางแสดงผลสำรวจปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ทาขนมปังชนิดต่างๆ   ผลทดสอบ 1. แยม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาหรือทานคู่กับขนมปังที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ตัวอย่างที่มีน้ำตาลมากที่สุดตามข้อมูลที่แจ้งไว้ในส่วนประกอบก็คือ เบสท์ ฟู้ดส์ มาร์มาเลดส้ม ที่มีน้ำตาลอยู่ประมาณ 8.9 กรัม ต่อปริมาณแยม 1 ช้อนโต๊ะ มากกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรบริโภคใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ถ้าเทียบจากเกณฑ์ที่ฉลาดซื้อใช้ แต่จริงๆ แล้ว วิธีการรับประทานของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป บางคนอาจจะชอบทาแยมมากๆ เวลาทาบนขนมปังก็อาจทามากกว่า 1 ช้อนโต๊ะ หรือรับประทานต่อครั้งก็อาจกินขนมปังมากกว่า 1 แผ่น ปริมาณน้ำตาลก็จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมการบริโภค เพราะฉะนั้นก็ต้องคำนวณกันให้ดีว่าจะเลือกกินแบบไหนเพื่อให้ได้น้ำตาลในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มากเกินไป ส่วนตัวอย่างแยมยี่ห้ออื่นๆ ก็มีปริมาณน้ำตาลใกล้เคียงกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 5 – 8 กรัม ต่อแยม 1 ช้อนโต๊ะ แยมที่เราสำรวจทั้งหมดเป็นแยมผิวส้ม หรือที่เรียกว่า มาร์มาเลด (marmalade) 2. เนยถั่ว เหมือนจะดูไม่น่าจะหวานมาก แต่ก็พบน้ำตาลในปริมาณที่สูงเช่นกัน ตัวอย่างที่พบมากที่สุดคือ นัทเกา โกโก้และเฮเซลนัทครีม พบปริมาณน้ำตาลประมาณ 8.16 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่คนไทยควรรับประทานใน 1 วัน ข้อสังเกตที่น่าสนใจ เนยถั่วบางผลิตภัณฑ์น้ำตาลไม่มาก หรือไม่มีเลยบนฉลาก แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเนยถั่วนิยมใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นแทนน้ำตาล ซึ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือ  คอร์นไซรัป เป็นสารให้ความหวานที่ทำมาจากแป้งข้าวโพด ว่ากันว่าให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย แถมร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ได้ง่ายกว่าน้ำตาลทราย แต่ในบ้านเราไม่นิยมใช้เพราะราคาแพงกว่าน้ำตาลทรายที่ทำจากอ้อยค่อนข้างมากความนิยมต่อเนยถั่วในบ้านเรายังมีค่อนข้างน้อย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เราสำรวจล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า ซึ่งส่งผลให้แต่ละตัวอย่างมีราคาที่ค่อนข้างสูง 3. สังขยา เราสำรวจพบ 1 ยี่ห้อ  2 รสชาติ คือ เอ็มไพร์ สังขยา กลิ่นใบเตย กับ กลิ่นวานิลลา ซึ่งปริมาณน้ำตาลของทั้ง 2 รสมีเท่ากัน คือ 6.89 กรัม ต่อปริมาณตัวอย่าง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณน้ำตาลที่ควรรับประทานใน 1 วัน   ไม่ว่าคุณจะทาขนมปังด้วยหน้าอะไร ก็อย่าลืมความจริงข้อหนึ่งว่า ขนมปัง ก็มีความหวานเช่นกัน  ยกตัวอย่าง จากข้อมูลโภชนาการของผลิตภัณฑ์ขนมปังยี่ห้อฟาร์มเฮ้าส์ ทั้งแบบธรรมดาและแบบโฮลวีต บอกไว้ว่ามีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัม ต่อขนมปัง 2 แผ่น (50กรัม) ลองนำไปเป็นข้อมูลไว้ใช้คำนวณกันดูเวลาจะทานขนมปังทาหน้าต่างๆ จะได้หวานกันแต่พอดี   สารกันบูด ยังพบในหลายผลิตภัณฑ์สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่งในการรับประทานขนมปังทาหน้าต่างๆ ก็คือ สารกันบูด  เพราะถ้าลองดูจากผลสำรวจจะเห็นว่ามีหลายตัวอย่างที่มีการใช้สารกันบูด แถมก่อนหน้านี้ก็เพิ่งมีข่าวว่าศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างขนมปังหลากหลายชนิดจำนวน 800 กว่าตัวอย่าง ผลที่ออกมาพบว่ามีมากกว่า 600 ตัวอย่างที่พบสารกันบูด เนย กับ มาร์การีน แตกต่างกันอย่างไร เพราะรูปร่างหน้าตาก็เหมือนกัน วิธีนำไปรับประทานก็ไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าจะให้อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ เนยคือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแตกตัวของไขมันในนม ขณะที่มาร์การีนก็คือ เนยเทียม ที่ใช้ไขมันจากพืชแทน เนื่องจากเนยจะมีไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโคเลสเตอรอลสูง มาร์การีนหรือเนยเทียม จึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ขณะเดียวกันตัวมาร์การีนเองก็มีความเสี่ยงของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเนยแท้หรือเนยเทียมก็ต้องเลือกอย่างระมัดระวัง นึกถึงสุขภาพของตัวเองมาเป็นอันดับแรก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 อาหารต้องมาก่อนเสมอ

  “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา เซเว่น อีเลฟเว่น” สโลแกนนี้ฝังอยู่ในหัวคนไทยจำนวนมาก และเขาก็ทำได้จริงเสียด้วย ผู้คนจำนวนไม่น้อยชื่นชมกับข้าวกล่อง ไส้กรอก ขนมจีบซาลาเปา ในร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ แต่ทว่า ในช่วงวิกฤตอุทกภัยกว่าสองเดือนที่ผ่านมา ให้ตายเถอะ เข้าไปเซเว่นไหน ก็หาอะไรกินแทบไม่ได้ แม้แต่น้ำเปล่าสักขวด มันเกิดอะไรขึ้น แต่พลันที่หันหลังจากร้านที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงออกมาด้านนอก ร้านค้าของชาวบ้านธรรมดาๆ กลับมีน้ำดื่มวางขายให้ดื่มกินชื่นใจ พร้อมกับข้าวสารอาหารแห้งและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หายากยิ่งกว่าทองคำในช่วงเวลานั้น มันเกิดอะไรขึ้นสภาพขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ภาพชั้นวางสินค้าที่ว่างเปล่า โดยเฉพาะในห้างร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับยักษ์ ตลอดจนร้านสะดวกซื้อที่ว่ามีการจัดการกับระบบการกระจายสินค้าที่ยอดเยี่ยม  ทำไมจึงเน่าสนิทเมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นในบ้านเมืองแห่งนี้ ระบบอาหารของประเทศอยู่ในมือคนจำนวนน้อยที่ตัวอ้วนกลม ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการกินของเราเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะคนเมืองที่วิถีชีวิตเร่งรีบ คนจำนวนมากพึ่งพิงการซื้อสินค้าโดยเฉพาะอาหารจาก Modern Trade ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาเก็ตขนาดยักษ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาน์สโตร์และร้านสะดวกซื้อที่เปิดอยู่ทุกมุมเมือง แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า สินค้าที่ขายในห้างร้านเหล่านี้มากกว่า 50% (บางห้างก็ 100 %) เป็นอาหาร ถ้ามองในระดับโลก เราก็จะพบว่าห้างขนาดใหญ่อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาสโตร์ ร้านสะดวกซื้อ เป็นแหล่งกระจายอาหารหลัก ไฮเปอร์มาร์เก็ต  35 % เป็นอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้ากว่า 70  % เป็นอาหาร  ดิสเคาน์สโตร์ 69 % เป็นอาหาร ร้านสะดวกซื้อ 58 %เป็นอาหาร ซึ่งการค้าอาหารในปัจจุบันถูกครอบครองในมือบริษัท  15  บริษัทของโลกนี้เท่านั้น   Leading retailers in global food market sales, by type of retail outlet, 2008 Global sales rank Supermarkets Hypermarkets Discounters   1 Kroger Co (United States) Wal-Mart Stores Inc (United States) Aldi Group (Germany)   2 Safeway Inc (United States) Carrefour SA (France) Schwarz Beteiligungs GmbH (Germany)   3 Tesco Plc (Uniked Kingdom) Tesco Plc (United Kingdom) Rewe Group (Germany)   4 Royal Ahold NV (Netherlands) Auchan Group SA (France) Supervalu Inc (United States)   5 Edeka Zentrale AG & Co KG (Germany) E Leclerc (France) Carrefour SA (France)   6 Rewe Group (Germany) J Sainsbury Plc (United Kingdom) Wal-Mart Stores Inc (United States)   7 Delhaize Group SA (Belgium) Casino Guichard-Perrachon SA (France) Tengelmann Group, The (Germany)   8 ITM Entreprises SA (France) Schwarz Beteiligungs GmbH (Germany) George Weston Ltd (Canada)   9 Carrefour SA (France) Royal Ahold NV (Netherlands) Dansk Supermarked A/S (Denmark)   10 Woolworths Ltd (United States) Metro AG (Germany) X5 Retail Group NV (Russia)   11 Supervalu Inc (United States) Target Corp (United States) Edeka Zentrale AG & Co KG (Germany)   12 Publix Super Markets Inc (United States) Meijer Inc (Japan) Reitan-Gruppen AS (Norway)   13 Internationale Spar Centrale BV (Netherlands) Shinsegae Department Store Co Ltd (South Korea) Norma Lebensmittel Filialbetrieb GmbH & Co KG (Germany)   14 Mercadona SA (Spain) Systeme U Central Nationale SA (France) Tander ZAO (Russia)   15 Casino Guichard-Perrachon SA (France) Louis Delhaize SA (Belgium) Jerónimo Martins SGPS SA (Portugal)   Sales share of top 15 30.6 percent 73.5 percent 68.8 percent     Source: Euromonitor, 2008.   การรุกคืบเข้ามาเป็นผู้ป้อนอาหารให้กับผู้คนจำนวนมาก แน่นอนว่าร้านค้ารายย่อย ร้านโชว์ห่วย และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตลาดสด คือกลุ่มคนแรกๆ ที่ต้องล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถแข่งขันกับความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและทุนมหาศาลของค้าปลีกขนาดยักษ์ได้ และผู้บริโภคคือกลุ่มถัดมา ที่ค่อยๆ ถูกครอบงำวิถีการกินอยู่ อย่างช้าๆ ปรากฏการณ์ที่ผู้คนจำนวนมากแห่แหนกันไปไฮเปอร์มาเก็ตต่างๆ เพื่อระดมซื้อสินค้ามากักตุนยามวิกฤติหรือเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อจะหาน้ำกินสักขวด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคเราคิดอะไรไม่ออก และเคยชินกับการพึ่งพิงค้าปลีกขนาดยักษ์ร้านสะดวกซื้อทันสมัยมากกว่าจะอุดหนุนร้านค้าหรือโชว์ห่วยใกล้บ้าน ยิ่งเจาะไปที่รายการสินค้าที่ซื้อมาเพื่อสะสมเป็นเสบียง ยิ่งบอกชัดถึงจินตนาการที่ตีบตันของผู้บริโภค คิดอะไรไม่ออก นอกจาก มาม่ากับปลากระป๋อง ผลก็คือ ทั้งสองสิ่งหายากยิ่งกว่าทองคำ ในห้วงเวลาวิกฤต   ระบบกระจายอาหารย้ายไปอยู่ในมือค้าปลีกขนาดยักษ์ได้อย่างไร ในอดีตเมื่อใครสักคนผลิตอาหารอะไรได้ ก็จะมีพ่อค้าขายส่งหรือที่เรียกว่า ยี่ปั๊ว มารับซื้อสินค้าแล้วไปกระจายยังร้านค้าปลีกเล็กๆ ที่ฝังรากอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ยี่ปั๊วจะรู้ว่าสินค้าอะไรเป็นที่ต้องการของร้านไหน การค้าขายอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันค่อนข้างสูง  ยี่ปั๊วที่มีสมาชิก(ร้านค้า) อยู่ในมือจำนวนมาก ก็จะมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิตสูง สามารถขอส่วนลดของแถมหรือเครดิตกับผู้ผลิตได้ ต่อมาโครงสร้างสังคมเปลี่ยน ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ รุดหน้าไปเรื่อยๆ เริ่มมีห้างร้านขนาดใหญ่ อย่างที่เราเรียกว่า ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น ห้างฯ ที่ยิ่งกระจายตัวออกไปมากเท่าไหร่ คนก็นิยมเข้าไปซื้อหาสินค้าในห้างมากขึ้น เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ราคาที่มีโปรโมชั่นพิเศษ สินค้าที่ดูคัดเกรดมาอย่างดี มีแอร์เย็นฉ่ำหรือพนักงานต้อนรับที่อัธยาศัยดี ทำให้ห้างสรรพสินค้าเริ่มเข้ามามีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตมากกว่ายี่ปั๊วในระบบการค้าแบบเก่า เพราะเป็นแหล่งที่คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับแข่งขันกันมาก เพราะตัวสินค้าจะมีความแตกต่างกันสูง จนเมื่อห้างฯ เริ่มขยับตัวมาเป็นห้างค้าปลีกขนาดยักษ์และถูกทุนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ที่เรียกกันว่า Modern Trade นั้น กลายเป็นยักษ์ที่ทำลายระบบการค้าเดิมจนแทบจะอยู่ไม่ได้ พวกเขามีทุนมหาศาล มีหน้าร้านหรือสาขาที่กระจายออกไปทั่วประเทศ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ จนเหลียวมองไปทางไหนก็เห็น ดังนั้น  Modern Trade จึงสามารถสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านยี่ปั๊วอีกต่อไป เท่ากับลดต้นทุนในการสั่งซื้อได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ ราคาสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดยักษ์จะสามารถ ขายในราคาที่ถูกกว่าได้ เพราะส่วนต่างของราคาไม่ต้องผ่านคนกลางอีก ปรากฏการณ์นี้เกิดกับสินค้าทุกชนิดและแน่นอนว่า อาหาร ก็เป็นสิ่งที่  Modern Trade นำมาวางขายมากกว่า 50 % ของสัดส่วนสินค้าทั้งหมด เพราะอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่คนไม่อาจขาดได้   จุดแข็งของ Modern Trade ใช้ไม่ได้ในยามวิกฤต ด้วยจำนวนหน้าร้านหรือสาขาที่มีเป็นจำนวนมาก การกระจายสินค้าเพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว และไม่มีการสะสมไว้ในคลังสินค้าเป็นจำนวนมากๆ ถือเป็นหัวใจหลักที่การค้ายุคใหม่ให้ความสำคัญมาก ในการค้าแบบเดิม เมื่อผู้ผลิต ผลิตสินค้าได้ก็เตรียมสินค้าไว้ในคลังสินค้าก่อนเพื่อรอการจำหน่ายให้กับพ่อค้าส่ง พ่อค้าส่งเองก็อาจมีคลังสินค้าหรือที่เรียกว่า โกดัง ไว้เก็บสินค้าเพื่อรอกระจายไปให้กับร้านค้าปลีกในกลุ่มของตน ปัญหาคือ การบริหารให้สินค้าไม่ค้างในคลังสินค้ามากเกินไปจนเป็นภาระและไม่น้อยเกินไปจนอาจขาดแคลนเมื่อจำเป็นต้องส่งให้ร้านค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ Modern Trade คือผู้ที่สามารถพัฒนาระบบคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพถึงขีดสุดได้ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ศูนย์กระจายสินค้า(Distribution Center) ศูนย์กระจายสินค้าก็คือ คลังสินค้าของ Modern Trade ที่ดำเนินการในการรวบรวมคำสั่งซื้อจากหลายๆ ที่แล้วรวบรวมเป็นคำสั่งซื้อเดียว และจัดส่งคำสั่งซื้อไปยังผู้ผลิต(Suppliers) เพื่อให้จัดส่งสินค้ามาในคราวเดียว จึงลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการจัดส่ง และทำหน้าที่ในการแยกย่อยสินค้าไปบรรจุลงกล่องจัดส่งไปยังสาขาต่าง ๆ ของModern Trade ด้วยวิธีการที่ทันสมัยนี้ จะช่วยลดต้นทุน ลดการมีสินค้าคงคลังเกินความจำเป็น ลดระยะเวลาในการเก็บรักษาสินค้า เพราะไม่ต้องสั่งสินค้ามาเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันก็สามารถส่งผ่านสินค้าออกไปยังหน้าร้านได้อย่างทันท่วงที ทำให้หน้าร้านเองก็ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าเอาไว้จำนวนมาก ผู้ผลิตเองก็ได้ประโยชน์เพราะรับรู้ได้ว่า สินค้าของตนขายไปได้เท่าไหร่ ต้องผลิตเพิ่มเติมในจำนวนเท่าไหร่ ลองมาดูกรณีตัวอย่างของค้าปลีกยักษ์ เทสโก้ โลตัส  เมื่อโลตัสได้ผุดสาขาแห่งแรกขึ้นที่ซีคอนสแควร์ เมื่อปี 2538  ก็ได้มีการสร้างศูนย์กระจายสินค้าครบวงจรที่วังน้อย อยุธยา เพื่อแก้ปัญหาการคอนโทรลสินค้าเข้าห้าง โดยเฟสแรกมีพื้นที่ 1.5 หมื่นตารางเมตร และต่อมาได้ขยายเฟส 2 อีก 2.5 หมื่นตารางเมตร ศูนย์กระจายสินค้า หรือ Distribution Center (DC.) แห่งนี้สามารถรองรับการขยายร้านได้ถึง 60 สาขา และยังมีแผนขยายพื้นที่ออกไปอีก กว่า2 หมื่นตารางเมตร  ศูนย์กระจายสินค้าของโลตัสที่วังน้อย ทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อจัดส่งสินค้าให้แก่สาขาต่างๆ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1. คลังสินค้าประเภทไม่ต้องแช่เย็น ได้แก่ สินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า ส่วนที่ 2. ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด มีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร    ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้จัดได้ว่าเป็นศูนย์แรกของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานแบบครบวงจร ระบบลำเลียงสินค้าใช้ระบบบาร์โค้ดและระบบสายพานไฟฟ้าที่ทันสมัย ช่วยในการจัดเรียงและกระจายสินค้าด้วยความรวดเร็ว   ด้วยระบบดังกล่าวสินค้าที่คู่ค้าจัดส่งมายังศูนย์กระจายสินค้าจะถูกจัดส่งไปยัง เทสโก้ โลตัส สาขาต่าง ๆ ภายใน 12 ชั่วโมง โดยมีระบบคอมพิวเตอร์แจ้งจำนวนและตำแหน่งที่จัดเก็บสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งระยะเวลาที่สินค้านั้นอยู่ในคลังจัดเก็บสินค้า   ทุกวันจะมีรถบรรทุกจำนวนตั้งแต่ 500-700 คันนำสินค้าอุปโภคบริโภคมาส่งที่นี่ โดยจะมีกล่องสินค้าทั้งหมดส่งผ่านศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ประมาณ 300,000-800,000 กล่องเป็นประจำทุกวัน (ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 23 ฉบับที่ 1806 วันที่ 5-7 มิถุนายน 2546 หน้า 22 “เปิดหลังบ้านโลตัส สำรวจอาณาจักร 2,000 ล้านที่วังน้อย) ไม่เพียงเฉพาะโลตัส ระบบศูนย์กระจายสินค้ากลายเป็นหัวใจหลักของระบบค้าปลีกใน Modern Trade ทั้งหมด โดยพื้นที่ที่นิยมในการตั้งศูนย์กระจายสินค้า เพื่อจัดส่งสินค้าให้กับค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลาง คือ เขตอำเภอวังน้อย อยุธยา บางบัวทอง นนทบุรี เมื่อศูนย์กระจายสินค้าหลักๆ ของค้าปลีกยักษ์และร้านสะดวกซื้อไปอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหนัก ก็เป็นอันว่า สิ้นหวัง สินค้าในคลังถูกน้ำล้อมไว้หมด เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด สินค้าจึงขาดแคลน ชั้นวางของจึงว่างเปล่าอย่างที่เห็น โชว์ห่วยพระเอกตัวจริง ถ้าจะประมวลหาสาเหตุของสินค้าขาดแคลนในยามวิกฤตที่ผ่านมา อาจพอสรุปได้ 4 ประการ คือ 1. การผลิตสินค้าหลายชนิดทำไม่ได้ เนื่องจากโรงงานถูกน้ำท่วม ขณะที่ผลผลิตในภาคการเกษตรเสียหายทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต 2. การขนส่ง และกระจายสินค้าทำไม่ได้ เพราะถนนถูกตัดขาด 3. การกักตุน ฉวยโอกาสขึ้นราคาของพ่อค้า แม่ค้า และกฎเกณฑ์การนำสินค้าวางขายที่ไม่ผ่อนปรนของ Modern Trade 4. การแห่กันกักตุนสินค้าของประชาชน ข้อ 1 และ 2 ต้องยอมรับว่าเกิดความเสียหายจริง แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้สินค้าขาดแคลนทั้งหมด เพราะยังมีตัวเลือกรองๆ ให้ผู้บริโภคเลือกได้ อย่างกรณีน้ำดื่มบรรจุขวด แน่นอนว่าผู้ผลิตรายใหญ่ต่างถูกน้ำท่วมทั้งหมด (สองรายใหญ่ สิงห์ ช้าง โรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ที่น้ำท่วมเกือบ 100 %) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตน้ำดื่มอีกจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วม ส่วนการคมนาคมยังมีเส้นทางรองให้สามารถจัดหาสินค้าเข้ามาขายได้ แม้ต้องเพิ่มต้นทุนในการขนส่ง ข้อ 4 อันนี้ไม่ควรกล่าวโทษกัน เพราะอาการตื่นตระหนักที่เกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนไม่มีข้อมูลเพียงพอในการที่จะตัดสินใจได้ว่า จะต้องดูแลชีวิตตัวเองอย่างไร ดังนั้น การกักตุนสินค้าถือเป็นการประกันความเสี่ยงของผู้บริโภค ถ้ารัฐสามารถรับประกันหรือให้ความมั่นใจ ให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างเพียงพอ ปัญหาการกักตุนก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ข้อที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ ความแข็งตัวของ Modern Trade ดังที่ได้กล่าวไป สาขาของ Modern Tread ไม่มีการกักเก็บสินค้าไว้มาก เพราะเชื่อมั่นในระบบการกระจายสินค้าของตน และผู้ค้าที่จะเข้าไปวางสินค้าขายของใน Modern Tradeได้ ก็มีจำนวนจำกัด เพราะต้องเสียค่าจัดการสูง ด้วยความที่เป็นระบบใหญ่ การนำจัดหาสินค้ามาวางขายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคในภาวะวิกฤตเลยทำได้ลำบาก ปัญหาสินค้าหมดเกลี้ยงจึงเกิดขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันร้านค้าแบบดั้งเดิมที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากการถูกรุกพื้นที่ทำมาหากินของ Modern Trade กลับเป็นที่พึ่งของผู้ประสบภัยเพราะสามารถหาสินค้าอุปโภคบริโภคมาให้แก่ชุมชนได้ตลอด แม้ในเขตที่มีน้ำท่วมหนัก ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าระบบการค้าแบบดั้งเดิมที่กำลังจะตายจากนั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าและการเข้าถึงอาหารของประชาชนในภาวะฉุกเฉิน   เหตุใดระบบร้านค้าดั้งเดิมจึงสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารได้มากกว่าระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ เมื่อการขนส่งหยุดชะงักเพราะน้ำท่วมเส้นทางและศูนย์กระจายสินค้า ระบบที่แข็งตัวของ Modern Trade ทำให้ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงเข้าไปนำสินค้าออกมาจากศูนย์กระจายสินค้า เพราะต้นทุนจะสูงขึ้นแต่ราคาขายกลับต้องเป็นไปตามกติกาของรัฐ แม้ในภาวะวิกฤติห้างปลีกขนาดใหญ่ก็ยังใช้หลักการทำงานโดยการคำนวณจากกำไรและขาดทุนมากกว่าการช่วยเหลือชุมชน ที่เข้าไปตั้งสาขาทำมาหากิน ถ้าการนำสินค้าออกมาจากคลังสินค้าสร้างต้นทุนสูงขึ้น Modern Trade ไม่ยินดีทำ แต่หันมาสนับสนุนให้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแทนทั้งๆ ที่ในคลังสินค้ายังมีสินค้าอีกมาก และผู้ผลิตสินค้าที่เป็นตัวเลือกรองก็มีอีกมาก เพียงพอที่จะบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำและอาหารModern Trade ไม่เลือกทางนั้น สิ่งนี้ ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเสียสละเพื่อชุมชนหรือการนำสินค้าที่ผลิตในประเทศจากจุดอื่นมาขายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ระบบค้าปลีกดั้งเดิมนั้นมีการสต๊อกสินค้าไว้หลังร้านในจำนวนที่มากกว่า แม้ความหลากหลายของสินค้าอาจจะน้อยกว่าค้าปลีกขนาดใหญ่ แต่การสต็อกสินค้าที่ส่วนมากเป็นสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นทำให้มีสินค้ารองรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่า อันที่จริงก็อาจจะมีบ้างที่ร้านค้าดั้งเดิมกักตุนสินค้า แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นทุกร้าน และราคาก็ไม่ได้ขูดรีดเกินไป เพราะอย่างไรก็เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ผู้ค้าส่ง(ยี่ปั๊ว) ที่ส่งของให้ร้านค้าแบบดั้งเดิมมีหลายเจ้ากว่าและผู้ค้าจะช่วยกัน แบ่งสต็อกให้จุดที่ขาดแคลนช่วยกันกระจายกันหลายๆ ทอดจนทำให้สินค้าเข้าไปใน ร้านโชว์ห่วยชุมชนได้ และทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภค ในขณะที่พนักงานร้านสะดวกซื้อเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนประจำ พวกเขาจึงขาดความผูกพันกับชุมชนจึงไม่กระตือรือร้นที่จะหาอาหารหรือสินค้าที่ขาดแคลนมาให้ชุมชน แต่เจ้าของร้านค้าแบบดั้งเดิมมักจะมีหลักแหล่งในชุมชนมานานและมีความผูกพันต่อสมาชิกในชุมชนจึงขวนขวายออกไปนำเอาอาหารและน้ำดื่มจากที่อื่นเข้ามาขาย ให้ประชาชนแม้จะต้องรับภาระต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นก็ตาม ร้านสะดวกซื้อและค้าปลีกขนาดใหญ่มักจะมีการสั่งซื้อในปริมาณที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว จึงขาดความยืดหยุ่นในการจัดหาสินค้าประเภทที่ขาดแคลนให้มีจำนวนมากพอกับความ ต้องการ ในขณะที่ร้านค้าแบบดั้งเดิมสามารถมีความยืดหยุ่นในการสั่งและสต็อกสินค้าจึงสามารถนำสินค้าที่ขาดแคลนมากที่สุดมาสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ   อาหารต้องมาก่อนเสมอ เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป Modern Trade คงต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่มีแนวโน้มคุกคามประเทศทุกปี และก็เชื่อว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องพึ่งพากับระบบอาหารที่อยู่ในมือของModern Trade ต่อไปเพราะวิถีการกินใช่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ แต่ก็อีกนั่นแหละไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้เสียทั้งหมด ยังโชคดีที่เรายังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง และเพื่อไม่ให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยต้องหายไป ทั้งๆ ที่พวกเขาคือพระเอกในยามวิกฤต ฉลาดซื้อมีข้อเสนอดังนี้ 1.เราควรหันกลับมาใส่ใจกันสักนิด ว่าอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ มีที่มาจากไหนและการบริโภคของเราจะไปสร้างผลกำไรให้กับใคร พ่อค้าตัวอ้วนใหญ่หรือคนเล็กคนน้อยเช่นเดียวกับเรา 2.เลือกซื้ออาหารจากตลาดสด ร้านค้ารายย่อย ร้านค้าใกล้บ้านในชุมชน โชว์ห่วยปากซอย เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจเล็กๆ ให้มีที่ยืนในสังคม 3.ทำอาหารกินเองบ้างเพื่อให้ได้เกิดการสร้างสรรค์และก่อเกิดจินตนาการที่กว้างไกล มากกว่าจะนึกถึงแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋อง เมื่อชีวิตเข้าสู่ภาวะวิกฤตจะได้มีตัวเลือกในการกินมากขึ้น 4.อะไรที่พอผลิตเองได้ ก็น่าลองเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกผูกขาดอยู่ในวังวนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ   และข้อเสนอต่อรัฐเมื่อยามเกิดวิกฤตชาติ ระยะสั้นในภาวะฉุกเฉินรัฐต้อง : 1.ดึงศักยภาพของภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำงานในการบริหารจัดการเรื่องการเข้าถึง อาหารในภาวะวิกฤติให้เกิดประสิทธิภาพ เพราะภาคประชาชนสามารถเข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริงและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่าหน่วยงานราชการ 2.ดึงศักยภาพของหน่วยงานรัฐที่มีกลไกและระบบในการขนย้ายลำเลียงในภาวะฉุกเฉินเช่น ทหารมาแทนที่ระบบเอกชนเพื่อลำเลียงอาหารจากแหล่งกระจายให้ถึงมือประชาชน อย่างทั่วถึง 3.จัดทำจุดยุทธศาสตร์คลังสินค้าอาหารที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้หรือเป็นจุด ที่ขนย้ายได้ใกล้กับเขตพื้นที่ภัยพิบัติโดยใช้พื้นที่สถานที่ราชการที่ใกล้ เคียงเพื่อมาทดแทนพื้นที่ของเอกชนในยามวิกฤติ 4.จัดระบบกระจายสินค้าจากมือเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารไปสู่มือผู้บริโภคให้เหลือน้อยที่สุดสั้นที่สุดและเร็วที่สุด มาตรการระยะยาว 1. รัฐต้องสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการค้าแบบดั้งเดิม ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนในยามวิกฤติ เพราะร้านค้าดั้งเดิมสามารถเข้าถึงและกระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อระบบค้าปลีกสมัยใหม่ล่ม ควรมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อไม่ให้การค้าในลักษณะค้าปลีกขนาดใหญ่ขยายตัวและครอบงำระบบการบริโภคมากไปกว่านี้ 2.จัดระเบียบการสำรองอาหารโดยการขอให้เอกชนกระจายจุดคลังสินค้าหลายๆ แห่งเพื่อลดความเสี่ยงต่อความขาดแคลนอาหาร 3.ปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้าการผูกขาดทางการค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร เนื่องจากการเข้าถึงอาหารเกี่ยวข้องโดยตรงตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมอาหาร ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อและร้านโชว์ห่วย ก่อนจะมาถึงมือประชาชน 4.สร้างกลไกการค้าที่คล่องตัวให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ ด้วยการตัดขั้นตอนค้าส่งค้าปลีกลงให้มากที่สุดเพื่อลดต้นทุนค่าอาหารลง ในบางประเทศสนับสนุนให้ผู้ผลิตพบกับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการสร้างอาคารสถานที่ให้ แทนที่จะต้องพึ่งพาแต่สาขาของร้านค้าปลีกขนาดยักษ์ 5.สร้างระบบพึ่งพาตนเองของชุมชน ให้สามารถสร้างอาหารเองได้เมื่อเจอภาวะวิกฤต เช่น การสร้างจุดกรองน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค หรือการทำแปลงผักชุมชนลอยฟ้า 6.สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น กิจกรรมการร่วมมือทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อให้ชุมชนมีจิตสำนึกสาธารณะและช่วยเหลือกันเองยามวิกฤติ 7.ให้แต่ละชุมชนมีการฝึกซ้อมภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อการอยู่รอดในภาวะวิกฤติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 PROMOTIONTOYOU ถ้ารู้ก็ฉลาดซื้อ

  ผู้อ่านหลายๆ คงเคยมีปัญหาแบบนี้ไหมคะ ว่าบัตรอันนี้ใช้เป็นส่วนลดอะไร ... ช่วงนี้มีอะไรแถม...หรือช่วงนี้ซื้ออะไรได้ส่วนลด...ซึ่งไม่แปลกอะไรหรอกค่ะ  เพราะนั่นคือสิทธิของเราเต็มๆ ที่จะใช้สิทธินั้นได้ ทำให้ต้องนั่งจดจำกันเป็นธรรมดา  ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบสรรหาอะไรที่แบบว่า ลดแล้วลดอีก หรือคุ้มค่าสุดๆ ถึงไปเลือกใช้สิทธิตามโปรโมชั่นเสนอมา... แต่หากท่านผู้อ่านเป็นสมาชิกสินค้าต่างๆ หรือเป็นนักช้อปแบบอยากรู้โปรโมชั่นเด็ดๆ ทุกรูปแบบแต่ไม่มีเวลาหรือจำไม่หมดล่ะก็ ขอแนะนำเว็บนี้เลยคะ PROMOTIONTOYOU.COM PROMOTIONTOYOU.COM   เป็นเว็บไซต์โปรโมชั่นหลากหลายสไตล์ที่ถูกรวบรวมมาไว้ที่เดียว โดยได้อัพเดทข้อมูลโปรโมชั่นทางด้านสินค้าและบริการไว้ในเว้บอย่างครบครันรวมถึงเทศกาลต่างๆ จึงไม่แปลกที่เว็บไซต์นี้จะทำให้ใครๆ หลายคน Click Like ให้หลายหมื่นคนนะคะ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการใช้จ่ายภายใต้โปรโมชั่นต่างๆ ที่ให้ราคาถูกกว่าปกติ   เพียงแค่คลิกก็สามารถรู้ได้ว่ามีโปรโมชั่นอะไรในช่วงนี้ที่น่าสนใจบ้าง...จะกินจะเที่ยว  สิทธิพิเศษต่างๆ เพียบ....เช่น คุณจะเห็นโปรโมชั่นที่น่าสนใจเพื่อตอบรับกับผู้บริโภคได้อย่างหลาหลาย ดังนี้ โปรโมชั่นไอที –  โปรโมชั่นเรื่องบันเทิง - โปรโมชั่นมือถือ โปรโมชั่นเสื้อผ้าลดล้างสต๊อก - โปรโมชั่นอีเว้นท์ (Event) โปรโมชั่นอาหารและเครื่องดื่ม - โปรโมชั่นการเดินทางและท่องเที่ยว แต่อย่าเพิ่งว่าผู้เขียนว่า  ปลุกกระแสช้อปปิ้งให้มุ่งสู่บริโภคนิยมตั้งแต่ต้นปีนะคะ...ที่ผู้เขียนแนะนำให้เข้าไปดูในเว็บนี้ก็เพราะว่า บางทีเราใช้จ่ายกันแบบว่าลืมดูช่วงจังหวะโอกาสในการซื้อหามาใช้ ถ้าเรารู้จักอดใจรอ ตามเทศกาลโปรโมชั่นต่างๆ ก็อาจทำให้การจับจ่ายมีเงินเหลือเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีการวางแผนการใช้สินค้าในช่วงโปรโมชั่นต่างๆ ได้ดีขึ้นนะคะ ... เช่น ผู้เขียนจะเข้าไปเว็บนี้มีอยู่ 2 เรื่อง คือ  โปรโมชั่นอาหารและเครื่องดื่ม และโปรโมชั่นการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นส่วนใหญ่ เพราะคุ้มค่าและมีการวางแผนในการจับจ่ายได้ดีเหมือนกันคะ ...ฉลาดซื้อ ฉลาดคิด ฉลาดใช้ชีวิตในยุคบริโภคนิยม ... สะสมโปรโมชั่นดีๆ ไว้ค่ะ แล้วพบกันอีกคราวหน้านะคะ ถ้าคุณรู้สึกว่าการเข้าเว็บไซต์ดูจะช้าเกินไป จะติดตาม Promotion2u ในทวิตเตอร์หรือเฟสบุ๊คได้เช่นกัน  รวมถึงมี แอป สำหรับสมาร์ทโฟน  เกือบทุกรุ่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 ของขวัญปีใหม่

ข่าวการเตือนห้ามขายกระเช้าหมดอายุของตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ) ทำให้คิดว่าปัญหาเรื่องกระเช้าหมดอายุในปัจจุบันน่าจะคลี่คลายลงไปได้มาก เพราะกลายเป็นวัฒนธรรมของทั้งหน่วยงานและผู้บริโภคที่ต้องออกมาเตือนและดูกันให้ดีทุกปีและรวมถึงการรณรงค์ไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ ผู้บริโภคทุกวันนี้ต้องเข้มงวดกับความไม่ถูกต้องไม่ตรงไปตรงมาเพราะจะทำให้ผู้ประกอบการต่างทำหน้าที่ของตนเอง ทำตามกฎหมาย และตัวอย่างที่เราเห็นกันจนกลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ไม่ว่าเรื่องเล็กแต่สำคัญ เช่น ปัญหาสินค้าไม่มีฉลากภาษาไทย ห้างสรรพสินค้าจำหน่ายสินค้าหมดอายุ หรือเอาป้ายหมดอายุใหม่ทับสินค้าของเดิมที่หมดอายุ การไม่ขออนุญาตโฆษณายา อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ยอมให้ถูกปรับเพราะค่าปรับไม่ถึง ๕,๐๐๐ บาทแถมเมื่อปรับแล้วยังอ้างได้ว่า บริษัทเก็บป้ายโฆษณาที่มีมากมายไม่ไหว แต่ตอนติดโฆษณาที่ผิดกฎหมายติดกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยอมเอื้อประโยชน์ให้กันไป จนชาวบ้านก็รู้สึกและรับรู้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา น่าเบื่อหน่าย แต่หากเราที่เป็นผู้บริโภควิเคราะห์ไปให้ดีก็จะพบว่า ที่บริษัทเหล่านี้ต้องโฆษณาเพราะยากที่เราอยากให้คนขายมีคุณธรรมในยุคการค้าเสรีปัจจุบัน แต่เขาต้องการให้เรารู้จักสินค้า เขาไม่มีวันบอกจุดอ่อนของสินค้า และหากเราไม่รู้กติกาว่าอะไรที่เขาสามารถโฆษณาได้บ้าง แบบไหนที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โฆษณาเป็นเท็จและมักจะคิดว่ามีหน่วยงานช่วยดำเนินการ เช่น ในกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่อย่างน้อยต้องมีคำเตือนว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวดหรือห้ามชิงโชคแถมพก หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่โฆษณาเป็นยาอ้างสรรพคุณรักษาโรคสารพัดทางเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชนและกระแสหลัก ช่วยกับจับช่วยกันแฉ เราก็อาจจะมีปัญหาเหล่านี้น้อยลงแต่คงไม่สามารถคาดหวังว่าปัญหาจะหมดไป และหากเรารู้เท่าทันเขาจะหลอกเราได้น้อยลงหรือเอาเปรียบกันน้อยลง เหมือนอย่างเช่นที่เมื่อเรารู้ว่าบริษัทเก็บ 107 บาทไม่ได้หากขอใช้บริการโทรศัพท์เขาก็เก็บเราไม่ได้ ปีใหม่นี้ขอให้สมาชิกและผู้อ่านทุกคนมีความสุขและช่วยกันดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นของเราไม่ใช่ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ช่วยทำให้ปัญหาผู้บริโภคกลายเป็นวัฒนธรรมของเราที่ต้องช่วยกันปกป้องดำเนินการช่วยกันจับ ช่วยกันแฉทำให้การละเมิดสิทธิกันน้อยลง เป็นปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคและหวังว่าองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 จะเกิดขึ้นเพื่อมาช่วยสนับสนุนให้เราได้ข้อมูลที่เป็นจริงและร่วมมือกับเราในการทำให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง(แฉ)แห่งชาติเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >