ฉบับที่ 97 เขาหาว่าผมค้างค่างวดรถ

คุณเดชาเดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พี่ช่วยผมด้วยครับ” เจ้าหน้าที่รับกระดาษมาอ่านในรายละเอียด เห็นหัวกระดาษเป็นชื่อและที่อยู่ของบริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เนื้อหาแจ้งว่า คุณเดชาได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น M’TX ตอนเดียว จำนวน 1 คัน จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2547 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนังสือแจ้งว่าคุณเดชาไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลยสักงวด จึงมีหนังสือฉบับนี้มาถึงคุณเดชาเพื่อให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา หนี้ที่คุณเดชาจะต้องจ่ายคือค่างวดเช่าซื้อ 48 งวดเป็นเงิน 254,976 บาท ค่าเบี้ยปรับโดยคิดจากยอด ณ วันที่ออกหนังสือ เป็นเงิน 401,954 บาท และค่าผิดสัญญาค่าติดตามอีก 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 666,930 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านรายละเอียดในกระดาษเสร็จจึงเงยหน้าขึ้น “จะให้เราช่วยยังไงครับ ไม่ใช่จะให้เราช่วยชำระหนี้แทนนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยถามด้วยอาการเสียวๆ เพราะมีคนเป็นหนี้หลายรายคิดว่ามูลนิธิฯเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ “ไม่ใช่อย่างงั้นครับพี่ คือไอ้สัญญาฉบับที่ไฟแนนซ์เขาอ้างมาในจดหมายทวงหนี้น่ะ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลยครับ ไม่รู้เคยไปเซ็นอะไรไว้ตรงไหน คนค้ำประกันผมก็ไม่รู้จักตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ถ้าผมไปทำสัญญาจริงๆ ตอนนั้นผมก็อายุแค่ 22 ปียังเดินเตะฝุ่นหางานทำอยู่เลยครับ ไฟแนนซ์หน้าไหนจะปล่อยเงินให้ผมไปซื้อรถ อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายทวงหนี้โผล่มาที่บ้าน...แม่ผมแทบช็อกตาย หนี้ตั้ง 5 แสน 6 แสน บ้านผมทำนาคงไม่มีปัญญาจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้หรอกครับ ช่วยผมที” “เอ้า...ช่วยก็ช่วย” เจ้าหน้าที่รับปาก  แนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยมีสัญญาข้อหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หากมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน...แต่กรณีนี้บริษัทปล่อยให้หนี้ค้างอยู่ได้ตั้ง 48 งวด แถมไม่เคยมีการติดตามทวงถามกันมาก่อนเลย เมื่อสอบถามกับคุณเดชาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับใบแจ้งหนี้ ใบทวงหนี้มาก่อนหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ามีโทรศัพท์มาทวงหนี้อยู่ครั้งเดียว ก่อนที่จะได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับดังกล่าวเท่านั้น แปลกไหมล่ะครับ ถ้าผู้บริโภคท่านใดเจอหนี้แปลกพิสดารแบบนี้ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือการทำจดหมายทักท้วงปฏิเสธหนี้ดังกล่าวโดยทันทีส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากบริษัทไฟแนนซ์ยืนยันที่จะเรียกเก็บหนี้ต่อไปก็ต้องมั่นใจในเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่า เป็นเอกสารที่ได้มาโดยชอบ และดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แต่หากเป็นการ “ลักไก่” เรียกเก็บหนี้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเรารู้ทัน เขาก็ต้องยุติการติดตามทวงหนี้ไปโดยปริยาย กรณีของคุณเดชา มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือทักท้วงแจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวส่งไปถึงบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้สัญญาณตอบรับจากบริษัทยังคงเงียบฉี่ ติดต่อไม่ได้ในขณะนี  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่

“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...” เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ “อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส  ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาบริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้

เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552 คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551 “ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า “การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ” จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กระแสในประเทศ

สุมาลี พะสิม ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 255211 ก.พ. 52 5 ปีผ่านไป ยังพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพียบ นิยายเรื่องยาวของเครื่องสำอางผิดกฎหมายยังไม่จบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังตรวจวิเคราะห์พบเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพียบตลอดช่วงปี 2547-2551 โดยสารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ ปรอทแอมโมเนีย รองลงมา คือ สารไฮโดรควิโนนรวมกับกรดเรทิโนอิก และพบตัวอย่างที่มีสารไฮโดรควิโนนหรือพบกรดเรทิโนอิกอย่างเดียว รองลงมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีกฎหมายใหม่ด้านเครื่องสำอางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องแจ้งและจัดทำแฟ้มข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขหวัด (สสจ.) ก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้การติดตาม กำกับดูแลและแก้ปัญหาการใช้สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางได้อย่างครอบคลุม สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการชุดทดสอบเครื่องสำอางนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99499, 99926 หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ รุมค้านประกาศสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายจากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข และมี ผลบังคับใช้แล้วนั้น นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดี กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า การบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลแน่นอน เพราะพืชทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมานาน หากมีการกำหนดเป็นวัตถุอันตรายแล้ว ถ้ามีครอบครอง หรือครอบครองไว้เพื่อจำหน่ายจะต้องมีการจดแจ้งหรือขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนนี้จะมีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ปลูกหรือขายพืชเหล่านี้ ตามตลาดสดต่างๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น วิสาหกิจชุมชน ที่นำพืชสมุนไพรไทยมาดัดแปลงทำเป็นยาสมุนไพรด้วย 13 ก.พ. 2552 ก.สาธารณสุขขอให้ถอนประกาศพืช 13 ชนิดออกจากวัตถุอันตรายจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีตัวแทนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมมากมายนั้น ต่างก็เห็นด้วยให้ถอนสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดออกจากการเป็นวัตถุอันตราย นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า “จากการรับฟังความเห็นต่างเห็นตรงกันว่า ควรมีการถอนประกาศที่ให้สมุนไพรไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากมีผลกระทบ โดยเฉพาะการสร้างความกังวลในการใช้และบริโภคสมุนไพรดังกล่าว ทั้งในรูปแบบอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้ว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำไปเพื่อเจตนาคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า น่าจะใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า เช่น การส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้สมุนไพรในการควบคุมแมลงและศัตรูพืช การจัดตั้งกองทุนที่จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสารฆ่าแมลงเพื่อนำมาใช้ในการลดผลกระทบจากการใช้สารยาฆ่าแมลงรวมทั้งดูแลสุขภาพประชาชน ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะสรุปความเห็นจากที่ประชุมนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมในการหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป” ขณะที่ นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ทางเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายเกษตรกรรม จะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีนางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. เป็นประธาน เพื่อให้มีการตรวจสอบวิธีการกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศฉบับนี้ว่ามีความไม่ชอบพากลหรือไม่ เพราะสันนิษฐานว่าจะมีผลประโยชน์จากบริษัทผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาชี้แจงเหตุผลโดยระบุว่าเกิดผิดพลาดนั้นไม่เพียงพอ ควรจะมีหน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบและหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ขอปรับเนื้อหาใหม่ รับทำสังคมสับสน ยันหวังดี ป้องกันเกษตรกรถูกหลอกใช้สารสกัดปราบศัตรูพืชไม่มีคุณภาพ ส.ส.ปชป.เรียกร้องให้ยกเลิก เผย"อภิสิทธิ์-สุเทพ"หนุนให้ทบทวน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงว่า “ผมจะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้ถอนประกาศฉบับนี้ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อความบางส่วน อาทิ เพิ่มเติมชื่อสารนำหน้าชื่อพืชสมุนไพร พร้อมระบุว่าใช้สำหรับการผลิตสารปราบศัตรูพืชไว้ด้านหลัง เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และจะถอนร่างประกาศของกรมฯ ที่ระบุถึงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกันด้วย" 16 ก.พ. 52สปสช.เสนอ ครม.ขยายสิทธิครอบคลุมคนไร้สัญชาตินพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประชาชนประชาชนที่เกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้และอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานซึ่งมีอยู่ประมาณ 370,000 คน ให้มีหลักประกันสุขภาพ โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการให้ใช้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวครอบคลุมบุคคลกลุ่มดังกล่าว โดยเริ่มในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับ ปี 2552 ในอัตรา 2,202 บาทต่อประชากร ซึ่งเป็นไปตามตามจำนวนที่มีการขึ้นทะเบียนจริง ที่ผ่านมา รพ.ในถิ่นทุรกันดารโดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน ต้องรับภาระด้านงบประมาณคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โดยก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพยังพอมีงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมาดูแล แต่ปัจจุบันสิทธิด้านการรักษาครอบคลุมคนไทยทุกคน คนที่รอการพิสูจน์สัญชาติจึงไม่มีงบใดๆ มาช่วยเหลือ และหากไม่ดูแลคนกลุ่มนี้ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด หรือเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ทำให้สถานพยาบาลต้องรับภาระหนักขึ้นในการดูแล 26 ก.พ.52 เครื่องสำอางทำให้ขาวไม่มีสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษเรื่อง “ขาวอันตราย ...ขาวอย่างปลอดภัย” โดย รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตผู้ขายที่นำผงไข่มุก ไข่ปลาคาร์เวีย หรือน้ำลายหอยทาก ทั้งที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและใช้โดยตรง โดยอ้างว่าเพื่อบำรุงผิวพรรณนั้น ขอยืนยันว่า ทางการแพทย์ ไม่พบว่ามีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณแต่อย่างใด รวมถึงสารกลูตาไธโอนที่เป็นยารักษาโรคมะเร็ง แต่นิยมนำมาทำให้ผิวขาว ก็ยังไม่พบว่ามีการวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ยืนยันสรรพคุณดังกล่าวเช่นกัน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ ดีหรือไม่ดี ในส่วนของทองคำ พบว่า มีงานวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการสมานผิว ลดการอักเสบของผิวหนัง รวมถึงรักษาโรคปวดข้อ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ อนุภาพของเงินกับทองที่มีขนาดเล็กมาก อาจเข้าไปสะสมตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆของร่างกายทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่วนที่มีการโฆษณามากๆ อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ โดยมีครีมที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์สำหรับทา เพื่อให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะสเต็มเซลล์จะใช้วิธีฉีดเท่านั้น อีกทั้งการใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์รับรองแต่เพียงการใช้เพื่อการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ดังนั้นเครื่องสำอางที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์นั้นไม่เป็นความจริง อย่างมากก็แค่มีสารในน้ำเลี้ยงสเต็มเซลล์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องสเต็มเซลล์อาจเป็นคำตอบของการรักษาในอนาคต วิธีที่ทำให้ผิวขาวทำได้แต่ก็คงไม่ขาวเกินกรรมพันธุ์ของแต่ละคน วิธีการคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นการกางร่ม ใส่แว่นดำ รวมถึงการใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟเหมาะสม และมีการใช้ที่ถูกวิธี ผู้บริโภคยื่น 12,000 รายชื่อ เสนอ กม.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อประธานรัฐสภา19 กุมภาพันธ์ 2552 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคฟันธง...ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลไม่ อิสระจริง เดินหน้า ยื่น 12,000 รายชื่อเสนอกฎหมายฉบับของประชาชนต่อประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำไปพิจารณาผลักดันให้เป็นกฎหมายของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จากภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กลุ่มคนคอนโด ชมรมเพื่อนโรคไต ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค รวมจำนวน 120 คน ได้เดินทางมาเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อของประชาชนจำนวน 12,208 รายชื่อเพื่อเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ.....ฉบับของภาคประชาชนเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ฉบับปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบันในมาตรา 61 ที่ได้บัญญัติให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้มี (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลอยู่อีก 1 ฉบับ ซึ่งนำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้จัดประชุมพิจารณาสาระกฎหมายของรัฐบาลเปรียบเทียบกับร่างฉบับประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น ร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้ให้คณะกรรมการองค์การอิสระทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลา แต่เน้นความสำคัญไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานที่จะเป็นผู้ชงเรื่องส่งขึ้นไปให้ คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ไม่ต่างจากโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังไม่สามารถทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปัญหาที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของภาคประชาชนนั้นจะให้ความสำคัญกับคณะกรรมการองค์การอิสระฯ โดยให้ทำงานในลักษณะเต็มเวลา และให้มีเลขาธิการสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการและบริหารกิจการในสำนักงานเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในฉบับของภาคประชาชนนั้นจะเขียนอย่างชัดเจน ที่จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคขึ้นอย่างน้อยในทุกจังหวัด และที่สำคัญคือการสนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งร่างของรัฐบาลไม่มีในส่วนนี้ หรือการไม่เขียนอย่างชัดเจนว่า งบที่รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อการดำเนินการขององค์การอิสระนั้นจะเป็นจำนวนเท่าไร แต่กลับปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้องค์การอิสระผู้บริโภคไม่อิสระอย่างแท้จริง เพราะถูกควบคุมกำกับด้วยงบประมาณ ในขณะที่ร่างกฎหมายของประชาชนนั้นจะกำหนดชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศต่อปี หรือตกปีละ 300-400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายงบของรัฐบาลตามโครงการต่างๆ ในปัจจุบันนอกจากนั้นนางสาวสารี คาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคมีที่ปรึกษา เป็นจุดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ มีการทำงานเชิงรุกไม่ตามแก้ปัญหา เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคในการให้ความเห็นต่อการดำเนินการทั้งที่เป็นประโยชน์และเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างเช่น การออกประกาศวัตถุอันตรายที่เป็นสมุนไพร 13 รายการ การออกกฎกระทรวงยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตและใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคว่าคิดเห็นอย่างไรไม่น่าจะกระทำได้“พวกเราเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลถูกนำมาบังคับใช้ในอนาคต เราก็อาจเห็นคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค เป็นเพียงแค่คณะอนุกรรมการชุดหนึ่งเท่านั้นของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ช่วยกันรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อ เสนอกฎหมายที่เป็นร่างของประชาชน โดยสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 12,208 รายชื่อ ซึ่งได้ยื่นให้ท่านประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกที่ดูแลรับผิดชอบ งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้นำไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป และหวังว่าร่างกฎหมายองค์การอิสระของภาคประชาชนจะถูกบังคับใช้ในรัฐบาลสมัย นี้” นางสาวสารีกล่าว เครือข่ายผู้บริโภค ร้อง กทช.สะสางปัญหา 107 บาท12 กุมภาพันธ์ 2552 เครือข่ายผู้บริโภค 7 ภูมิภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือต่อ กทช.ให้ออกคำสั่งยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุบัตรเติมเงิน และขอให้บังคับไม่ให้เรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท จี้ให้ยกเลิกใบอนุญาตผู้ประการที่เรียกเก็บ 107 บาทด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกว่า 200 คน นำโดยนางปฐมมน กันหา เครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง เดินขบวนจาก สถานีรถไฟฟ้า อารีย์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เพื่อ ยื่นหนังสือเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยยกเลิกบทเฉพาะกาล ข้อ 36 วรรคสุดท้าย เพราะเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าเป็นช่องโหว่ที่ถูกนำมาอ้างว่าสัญญาใหญ่ยัง อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กทช.พร้อมทั้งขอให้ทาง กทช.มีคำสั่งที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุของระบบบัตรเติมเงิน และยกเลิกการเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณ ส่วนผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค และละเมิดสิทธิโดยการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการต่อบุคคลอื่น ขอให้ยกเลิกใบอนุญาต หรือกำหนดมาตรการการลงโทษขั้นเด็ดขาด รวมทั้งขอให้ กทช.เร่งดำเนินการคงสิทธิเลขหมาย โดยควบคุมการเรียกเก็บค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 อายุความสินเชื่อบัตรเรดดี้เครดิต

รู้กฎหมายกับทนายอาสาsmbuyer@hotmail.comอายุความบัตรเครดิตนั้นมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น ทางฝ่ายสถาบันการเงินจึงพยายามทำสัญญาต่างๆ เพื่อลากให้เป็น “บัญชีเดินสะพัด” ให้ได้เพราะบัญชีเดินสะพัดมีอายุความถึง 10 ปี ถึงขนาดให้ลูกค้าเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้วมอบเช็คให้ไว้เบิกจ่ายเลยทีเดียว เรามาดูกันสิว่าศาลท่านจะเล่นด้วยหรือไม่  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2550 แม้สัญญาให้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตโจทก์กับจำเลยต้องเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับโจทก์เพื่อให้จำเลยใช้บัญชีดังกล่าวเบิกถอนเงินโดยการใช้เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยไว้และมีข้อตกลงให้โจทก์หักทอนเงินในบัญชีเพื่อการชำระหนี้ใดๆ ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาใช้สินเชื่อข้อ 11 ระบุไว้ว่า หากผู้กู้นำเงินสดและ/หรือเช็คเข้าฝากในบัญชีกระแสรายวันที่ผู้กู้เปิดไว้โดยผู้กู้ไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ใดๆ แก่ธนาคาร ผู้กู้ยอมให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวหรือที่เรียกเก็บได้ตามเช็คเข้าฝากในบัญชีเงินฝากประเภทไม่มีดอกเบี้ยที่ธนาคารจัดให้มีขึ้นทันที  ทั้งนี้ ผู้กู้ตกลงและรับทราบว่าในเวลาใดๆ เวลาหนึ่ง ยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีกระแสรายวันจะมีจำนวนเท่ากับศูนย์ ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยไม่มีโอกาสเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันอันจะเป็นเหตุให้ต้องหักทอนบัญชีกัน ทั้งตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ปรากฏว่าจำเลยใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเพียงช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจำเลยเบิกถอนเงินโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติเพียงอย่างเดียว ในการคิดดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนดก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยอย่างทบต้นแต่อย่างใด บัญชีกระแสรายวันที่จำเลยเปิดไว้จึงเป็นบัญชีกระแสรายวันที่ใช้ให้เพื่อให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเรดดี้เครดิตของจำเลยฝ่ายเดียวโดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวขึ้นโดยมีเจตนาตกลงกันโดยตรงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย และคงชำระหนี้แต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 865  การที่โจทก์ออกบัตรซิตี้การ์ดพร้อมเลขรหัสประจำตัวให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้เบิกถอนเงินสดจากพนักงานของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติโดยไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเบิกเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์เท่านั้น ซึ่งหากจำเลยเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของสถาบันการเงินอื่นๆ โจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยไปก่อน อันเป็นการรับทำการงานแทนนั่นเอง ส่วนการมอบเช็คให้จำเลยไว้ใช้ในการเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย หรือออกรหัสประจำตัวแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยสามารถใช้บริการสินเชื่อเรดดี้เครดิตได้นั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว  กรณีถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้จำเลยเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 20 มีนาคม 2546 ตามที่กำหนดไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 25 เมษายน 2548 ซึ่งพ้นกำหนด 2 ปี แล้วสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ  สรุปว่า ศาลท่านไม่เล่นด้วยนะครับ อายุความยังเป็น 2 ปีเช่นเดิมสำหรับบัตรเรดดี้เครดิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ทรัพย์สิน “หนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท” เป็นของใคร

บทบรรณาธิการ โดย สารี อ๋องสมหวัง saree@consumerthai.org จากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม ๕ คน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น ณ. วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑ บริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดิน มูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดินเวนคืน ๑.๔๒ ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน ๑,๑๒๔.๑๑ ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ ๓ โครงการอีก ๑๕,๐๕๐.๖๙ ล้านบาท ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และได้แจ้งให้กับสำนักงานเลขาธิการศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะรัฐมนตรี บริษัทปตท. ว่า ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก ๓๒,๖๑๓ ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ จากการตรวจสอบเพิ่มเติมขององค์กรผู้บริโภค พบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ นั้น ไม่มีการโอนคืนแต่อย่างใดซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑๕๗,๑๐๒ ล้านบาท หากรวมทรัพย์สินทั้งสองกลุ่มนับว่าไม่น้อยกว่า ๑๘๙,๑๗๕ ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้ต่างใช้อำนาจมหาชน การรอนสิทธิ การเวนคืน การใช้ที่ดินราชการ การใช้ที่สาธารณะ ซึ่งบริษัทปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน นอกจากไม่มีใครสนใจทวงคืน นับตั้งแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ดูเหมือนจะร่วมมือกันไม่ปฏิบัติหน้าที่กันถ้วนหน้า จะให้ปตท.แจ้งคืนก็ดูจะผิดธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาทวงแล้วก็ยังคืนไม่ครบถ้วน แต่ที่น่าเจ็บใจบริษัทปตท. ได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกทั้ง ๆที่อัตราที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอัตราที่สูงเกินควรและเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี กำลังจะนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเองขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำหน้าที่เป็นตรายางชั้นดีให้ปตท. ขูดรีดผู้บริโภค ได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นจาก ๑๙.๗๔ บาทต่อล้านบีทียู เป็น ๒๑.๗๖ บาทต่อล้านบีทียู หรือปรับเพิ่มขึ้น ๒.๐๒ บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ประชาชนตาดำผู้ใช้ไฟต้องรับภาระค่าไฟฟ้า สูงถึง ๔,๕๐๐ ล้านบาทต่อปี ใครมีข้อเสนอดี ๆ ว่าเราจะสามารถนำทรัพย์สินของบริษัทปตท.คืนให้ครบ และคัดค้านการนำทรัพย์สินของเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้น เพราะที่ผ่านมาไปยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวน ท่านก็มีคำสั่งว่าประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจบังคับคดี แถลงข่าวว่าปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบก็ไม่ค่อยเป็นข่าว ไปยื่นหนังสือกระทรวงพลังงานว่า ห้ามขึ้นค่าบริการใช้ท่อก๊าซกับ รัฐมนตรีปลัดกระทรวงพลัง และกกพ. ก็เงียบ “ ทำอย่างไรกันดีประเทศไทย”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ช้อปนม(สด) แบบเยอรมัน

ช่วง ฉลาด ช้อปดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภคบทความในคราวนี้ขอให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนมสดที่เป็นข่าวอื้อฉาวกรณีนมโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและอาจจะเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วยนั้น ซึ่งมีหลายๆ องค์กรเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ (แต่ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้) เลยขอเกาะกระแสเรื่องนม หาข้อมูลมาเพิ่มเติมในประเด็นของตัวสินค้าที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อนมสดได้บ้าง  การแบ่งประเภทของนมนมดิบ เป็นนมที่ได้จากการรีดและผ่านกรรมวิธีการกรอง เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้สามารถเก็บรักษาวิตามินและกรดไขมันธรรมชาติ ซึ่งจะมีค่าระหว่าง 3.8- 4.2 % นมดิบจะจำหน่ายให้แก่โรงงานเพื่อผลิตเป็นนมสดต่อไป และจะถูกควบคุมคุณภาพและมาตรฐานอย่างเข้มงวด (ของเยอรมันนะครับ) นมดิบเป็นนมที่มีคุณค่าสูงที่สุด แต่นมดิบจะมีจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อนอยู่ในนมดิบด้วยเช่นกัน จึงไม่ควรดื่มนมสดจากเต้าหรือนมดิบ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะนำนมดิบมาบริโภคได้จึงต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรทราบว่า นมที่ผ่านความร้อนแล้วนั้นคุณค่าจะยิ่งลดลงไป ยิ่งถ้าความร้อนสูงมากเท่าไร คุณค่าของนมจะลดลงมากเท่านั้น ดังนั้นในกระบวนการผลิตนมสด อาจใช้ความร้อนที่สูงมากแต่จะใช้เวลาที่สั้นมากๆ เช่นกัน  ในทางกลับกัน หากใช้ความร้อนที่น้อยเกินไป อาจจะไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดได้ ดังนั้นการใช้ความร้อนที่ต่ำแม้ว่าจะเป็นผลดีต่อคุณภาพของน้ำนม แต่ต้องใช้เวลาต้มที่นานขึ้น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ คือนมที่ฆ่าเชื้อแล้วโดยวิธีการผ่านความร้อนที่อุณหภูมิระหว่าง 72- 75 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15- 30 วินาที นมประเภทนี้คือนมที่บรรจุในถุงหรือขวดพลาสติก หรือกล่องแบบมีฝาเกลียวปิด กระบวนการพาสเจอร์ไรซ์สามารถกำจัดจุลินทรีย์ที่อาจก่อให้เกิดโรคต่อผู้บริโภคได้ นมสดพาสเจอร์ไรซ์สามารถเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิต่ำได้นานถึง 8 วัน แต่ข้อเสียของกระบวนการนี้คือคุณค่านมจะลดลงไป วิตามินที่อยู่ในน้ำนมจะสูญเสียไปถึง 10 % ส่วนนมสดที่อยู่ในหม้อต้มขายตามรถเข็นหรือ ร้านนมสดต่างๆ นั้น จะมีคุณค่ามากกว่าเนื่องจากจะใช้ความร้อนในระดับที่ต่ำแต่เป็นเวลานาน (ต้มไปเรื่อยๆ)  นมประเภท ESL: Extended Shelf Life เป็นนมที่มีรสชาติเหมือนกับนมพาสเจอร์ไรซ์ และมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับนมพลาสเจอร์ไรซ์ แต่สามารถเก็บได้นานกว่าถึง 3 อาทิตย์ กระบวนการผลิตนมชนิดนี้ คือให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 127 องศาเซลเซียสนาน 2-3 วินาที นมประเภทนี้เรียกว่า นมยืนหรือนมยาวก็ได้ เพราะมีอายุในการเก็บรักษายาวนาน (long life fresh milk) นม ยูเอชที (UHT: Ultra High Temperature) เป็นนมที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะผ่านความร้อนสูงที่อุณหภูมิ 135 องศาเซลเซียส ใช้เวลาสั้นมากคือ 1-2 วินาทีเท่านั้น นมยูเอชทีเป็นนมที่บรรจุกล่องวางขายทั่วไป ซึ่งจะสามารถเก็บได้โดยไม่ต้องใส่ตู้เย็นเป็นเวลานาน แต่นมประเภทนี้จะมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่านมประเภทอื่นที่ได้กล่าวมาในที่นี้เนื่องจากผ่านความร้อนสูงมากกระบวนการโฮโมจีไนเซชัน (Homogenization) นมสดทุกประเภทที่กล่าวมาแล้วจะผ่านกระบวนการนี้ เพื่อให้ไขมันที่อยู่ในน้ำนมกระจายตัวออกไปทั่วๆ โดยจะอัดน้ำนมผ่านหัวฉีดเล็กๆ จนทำให้ไขมันแตกตัวเป็นก้อนกลมเล็กๆ และด้วยวิธีการนี้ทำให้นมไม่จับตัวเป็นครีมที่ผิว แต่มีสมาคมผู้ค้านมบางรายในประเทศเยอรมันนีที่ตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภคมักปฏิเสธกระบวนการนี้ เพราะการไปเปลี่ยนสภาพการกระจายตัวของไขมันและโปรตีนในนม ซึ่งอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้จากการบริโภคนม น้ำนมจากวัวในทุ่งหญ้า (Milk form grazing cattle) ถือว่าเป็นนมชั้นดี ตามค่านิยมของชาวยุโรปที่มีวัฒนธรรมการบริโภคนมมายาวนาน เป็นน้ำนมที่รีดได้จากวัวที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าธรรมชาติ และถ้าติดยี่ห้อว่าเป็น Alpen Milk (นมที่ได้จากเทือกเขาแอลป์) ก็จะเป็นนมสดระดับไฮโซทีเดียว (ผมเคยลองดื่มดูแล้วรสชาติก็ใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรมากนักจากนมสดทั่วไปในตลาด) แต่ปัจจุบันนี้วัวส่วนมากไม่ได้กินแต่หญ้าอ่อนอย่างเดียว เกษตรกรมักให้กินอาหารเสริมและข้าวโพด ซึ่งไปกระตุ้นให้แม่วัวผลิตน้ำนมปริมาณมากขึ้น แน่นอนว่าการผลิตนมด้วยวิธีให้อาหารเสริมนี้ มีผลต่อคุณภาพของน้ำนมเช่นกัน นมโรงเรียนกรณีของนมโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานและคุณภาพนั้น สมควรที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดเจ้าของหรือผู้ผลิตและจำหน่ายนมจะต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นให้สังคมรับทราบ เพราะพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้แล้วนะครับ (ที่มา: วารสาร Test ฉบับ 11 ปี 2007)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กินเปลี่ยนโลก : ชวนคุณเปลี่ยนโลกให้หมุนไปตามใจปาก

เรื่องเรียงเคียงจานนก อยู่วนาromsuan@hotmail.comรสชาติอาหารอร่อยอย่างที่เราเคยกินถูกกลืนหายไปกับวิถีการกินในโลกยุคใหม่กับความรวดเร็วทันใจ ซึ่งนอกจากความสุขจากลิ้นที่สัมผัสรสจะค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับอาหารดีๆ รสนิยมการกินดีๆ ที่เราเคยมีและเลือกได้ก็หดหายไปพร้อมอำนาจในการเลือกซื้อเลือกกิน ยิ่งกินแต่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็งยิ่งหมดทางไป แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาอย่างไม่ทันรู้ตัว ก็คือโรคภัยไข้เจ็บจากการกินแบบด่วนได้ กิน คำกริยาที่เราทุกคนทำอยู่กันเป็นประจำ บ้าง 2 มื้อ บ้างมากกว่า 3 มื้อ และบางคนทำเกือบตลอดเวลาที่ไม่ได้หลับ และหากเราจับตาดูเรื่องการกินของเราในแต่ละวัน เราจะเห็นว่าทางเลือกในการกินของเรานั้นมีน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมาแบบเห็นๆ แม้เราจะมีสิ่งของที่มีให้เลือกซื้อไปกินหลากหลาย มากมาย และแปลกไปจากที่เราเคยมี บางอย่างเราสามารถนำเข้าได้จากต่างประเทศ แต่ทว่า…ในขณะเดียวกัน ของกินดีๆ อร่อยๆ ที่เราเคยหากินได้ในอดีตกลับสูญหายไปตั้งหลายอย่าง เดี๋ยวนี้หากจะหากินทุเรียนให้อร่อยสุดใจอย่างที่เคยกิน ก็ต้องลุ้นทุกครั้งไปว่าจะเจอแข็งเป็นไต ห่ามไป เละไป ไม่อร่อยอย่างที่เคยกินเลย มะม่วงที่เห็นมีวางขาย เราก็เจอแค่ มะม่วงน้ำดอกไม้ เขียวเสวย โชคดีหน่อยอาจจะเจอ อกร่อง พิมเสน กะล่อน แต่อีกนับสิบๆ สายพันธุ์ไม่รู้มันหายไปไหนหมด จะกินส้มเขียวหวานบางมดที่มีรสและเนื้อสัมผัสเฉพาะตัว ชาวสวนบางมดก็ยกร่องสวนหนีไปปลูกเสียที่อื่นโดยเอาพันธุ์ดีดั้งเดิมของตัวเองไป แต่ปัญหาการใช้สารเคมีกับส้มกลายเป็นปัญหาอมตะที่ชาวสวนส้มเคมีต้องปะฉะดะกันร่ำไป และสุดท้ายเราก็ต้องมานั่งกินส้มอะไรไม่รู้ที่ทั้งฝ่อ และรสไม่อร่อย ส่วนส้มรสดีๆ หน่อยแต่บวกสารเคมีจากการปลูกและการแว็กซ์เสียจนตั้งทิ้งไว้นานนับเดือนก็ไม่เหี่ยวไม่ย่น ก็ไม่อยากจะทนกินอร่อยแบบเสี่ยงตาย หันมาดูอาหารโปรตีน เนื้อหมูที่แต่ก่อนแม้เราจะนานๆ กินที แต่ตอนนี้เปลี่ยนมากินได้ถี่ๆ ตามที่ต้องการ แต่ก็อาจจะมีสารเคมีตกค้างในเนื้อแดงได้ ส่วนปลาตามธรรมชาติ มีทั้งชนิดและปริมาณลดลง แต่สำหรับคนที่พิถีพิถันในการกินปลาก็แทบจะไม่อยากกินปลาเลี้ยงในกระชังที่ทั้งมันและไม่อร่อย แถมสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันกับการกดขี่แรงงานของชาวประมง ทำให้ปลากระชังยิ่งไม่อร่อยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในความรู้สึก ส่วนไก่บ้านและเป็ดไล่ทุ่งที่เลี้ยงแบบปล่อยให้ไปหาอาหารกินตามรายทาง ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบประหยัดต้นทุนของชาวบ้านรายย่อย กลับกลายเป็นการเลี้ยงที่ผิดกฎหมายและถูกทำลายให้กลายเป็นตัวร้ายของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาจากเลี้ยงแบบปล่อย แบบพื้นบ้านนี้ไม่เคยมีปัญหาโรคไข้หวัดนก ซึ่งที่สุดเราก็ต้องทนให้ลูกหลานกินไก่เนื้อกระดาษยุ่ยๆ และเป็ดโป๊ยฉ่ายมันๆ โดยหวั่นเกรงว่าสักวันลูกสาวเราจะมีหนวดเฟิ้ม และลูกชายจะมีทรวงอกดั่งหญิงสาว แต่พอคิดจะประท้วงเรื่องนี้โดยไม่กินไก่มันเสียเลย ก็ต้องหันไปพึงพิงโปรตีนเกษตรและถั่วเหลือง ก็อีกนั่นแหละ เจอถั่วเหลืองปนเปื้อนจีเอ็มโอที่แพร่ระบาดไปทั่วจนน้ำเต้าหู้ดูน่ากลัวขึ้นมาพลัน เลยต้องขวนขวายและดิ้นรนหาถั่วต่างๆ มากินสับเปลี่ยนหมุนเวียนลดความเสี่ยงแบบตัวใครตัวมันไปวันๆ เรากินอาหารกันแบบไหน? แล้วโลกในอนาคตที่เราอยากให้ลูก ให้หลานอยู่ล่ะ เป็นแบบไหน? รสชาติอาหารอร่อยอย่างที่เราเคยกินถูกกลืนหายไปกับวิถีการกินในโลกยุคใหม่ กับความรวดเร็วทันใจ ซึ่งนอกจากความสุขจากลิ้นที่สัมผัสรสจะค่อยๆ หายไปพร้อมๆ กับอาหารดีๆ รสนิยมการกินดีๆ ที่เราเคยมีและเลือกได้หดหายไปพร้อมอำนาจในการเลือกซื้อเลือกกิน ยิ่งกินแต่อาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็งยิ่งหมดทางไป แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาอย่างไม่ทันรู้ตัว ก็คือ โรคภัยไข้เจ็บจากการกินแบบด่วนได้ ขณะเดียวกันรายย่อยที่เป็นคนผลิตและคนขายก็ล่มสลายไปพร้อมๆ กัน เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวลาบ่ายๆ ที่สำนักงานกลุ่มละครมะขามป้อม ซ.อินทรามระ3 มีเวทีเสวนาเปิดตัวกิจกรรมรณรงค์ “กินเปลี่ยนโลก” ซึ่งทางไบโอไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ชุมชนคนรักป่า สถาบันต้นกล้า และ we change ได้จัดขึ้น เพื่อชักชวนผู้บริโภคให้หันกลับมาใช้ อำนาจจากการกินที่เชื่อมโยง ไปสู่ความใส่ใจในคุณภาพ รสชาติของอาหาร ที่มาจากขบวนการผลิตที่ยั่งยืน ปลอดภัยต่อคนกิน คนผลิต และธรรมชาติ รวมไปถึงความเป็นธรรมในการผลิตและกระจายอาหาร ตามหลักของขบวนการ slow food ที่ว่า Good Clean & Fair ซึ่งในวันงานได้แจกคู่มือกินเปลี่ยนโลกไว้ให้เราได้เริ่มต้นง่ายๆ อย่าง “ถามถึงที่มา แบ่งปันของกินกับเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งเลือกอุดหนุนร้านค้ารายย่อย... ” ซึ่งสำหรับผู้บริโภคแล้วร้านเล็กๆ น้อยๆ เราสามารถกำหนดคุณภาพและบริการได้ดีกว่าร้านค้าใหญ่โตหรือห้างต่างชาติ และยังมีอีกหลายกลวิธีที่เราทำได้เองทันที และร่วมเป็นนักรณรงค์ชั้นดีโดยชวนคนข้างเคียงรอบตัวมาช่วยกันเปลี่ยนโลก ก่อนเปิดตัว คณะรณรงค์ได้จัดให้มีการพบปะกับอาสาสมัครที่สนใจเข้าร่วมรณรงค์กินเปลี่ยนโลกไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยหลังจากการเปิดตัวแล้วจะมีกิจกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดอีเวนท์ การพาผู้สนใจไปพบปะแหล่งผลิต การจัดเสวนา และมีเป้าว่าต้นปี ราวมกราคม 2552 จะมีงาน มหกรรมกินเปลี่ยนโลก : Slow Food Thai อีกด้วย สนใจต้องการคู่มือกินเปลี่ยนโลก หรือเข้าร่วมเป็นนักรณรงค์ โปรดติดต่อ สถาบันต้นกล้า โทร. 02-437-9445 หรือ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บ www.slowfoodthai.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 เก่ายังไม่ทันไป....ใหม่ดันจะมาอีก

เรื่องเล่าเฝ้าระวังภก.ภาณุโชติ ทองยัง : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงครามnuchote@hotmail.com จำได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเคยออกข่าวประชาสัมพันธ์ “อย.เผยพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่ยาลดความอ้วน ไซบูทรามีน...อันตราย!” ตามข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทเวนตี้ โฟร์ อินซ์ (ผลิตโดยบริษัท หจก. เนเจอร์ส เบสท์ เฮลท์ โปรดักส์ จัดจำหน่ายโดย บริษัท ท็อป ออฟ มายด์ จำกัด) ภายหลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว แต่เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง เจ้าหน้าที่จึงไปเก็บตัวอย่าง ทเวนตี้ โฟร์ อินซ์ ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจปรากฏว่า พบยาลดความอ้วนไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องจ่ายโดยแพทย์ ในสถานพยาบาลเท่านั้นและยังเป็นยาที่อยู่ภายใต้การติดตามความปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้การใช้ยานี้ยังต้องระวังในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ดี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดีกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายดังกล่าว ล่าสุด มีผู้ป่วยหญิงสูงอายุ ในจังหวัดสมุทรสงคราม อายุประมาณ 61 ปี ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัด ด้วยอาการใจสั่น หงุดหงิด มึนงง กินอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ จากการซักประวัติ จึงทราบว่าผู้ป่วยได้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ฉลากระบุ ยี่ห้อ 3S Topofmind บรรจุอยู่ในซองฟอยด์ ซึ่งจากการวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์คาดว่าน่าจะเกิดจากยาที่อาจจะผสมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และที่น่าสังเกตคือ เป็นผลิตภัณฑ์ของผู้จัดจำหน่ายเจ้าเดิมที่มีคดีความกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อยู่ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารโฆษณา ได้ข้อมูลจากการโฆษณาดังนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3S (สกัดจากสาหร่ายทะเลน้ำลึก) ชนิดนี้มีส่วนประกอบที่สำคัญของ คือ สารสกัดจากสาหร่ายสีน้ำตาล และสาหร่ายสีแดง วิธีรับประทาน วันละ 1-2 แคปซูล ก่อนอาหารเที่ยง จัดจำหน่ายโดย บริษัท ท๊อป ออฟ มายด์ จำกัด ขนาด 1 กล่อง ( 40 แคปซูล) ราคาขาย 1,200.00 บาท (ตกเม็ดละ 30 บาท) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว แม้ผลจะยังไม่ออก แต่ดูจากข้อมูลทั้งอดีตและปัจจุบัน เชื่อว่าผู้อ่านน่าจะเดาเอาเองได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปลอดภัย หรือถูกต้องตามกฏหมายอย่างไรนะครับ ดังนั้นขอให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และหากพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายต้องสงสัย อย่าลืมร้องเรียนกับ อย.หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >