ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 2 )

       ความเดิมจากตอนที่ 1 ที่ได้อธิบายข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไร ได้แก่อะไร ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้เกี่ยวข้องกับเราทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของข้อมูล รวมถึงผู้ประกอบการ หน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่โดยตรงกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้งาน        ทำไมต้องมีกฎหมายฉบับนี้ เนื่องมาจากสหภาพยุโรป (European EU) ได้ออก GDPR (General Data Protection Regulation) เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ซึ่งนอกจากมีผลบังคับใช้แก่การส่งข้อมูลภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ผู้ประกอบการในไทยที่ติดต่อ รับส่งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Cross-Border Data Transfer Issues) ก็ต้องมีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เหมาะสมและเพียงพอด้วย และที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือในมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ   หากประเทศไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ย่อมทำให้เสียโอกาสและความเชื่อมั่นจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และอาจรวมไปถึงประชาคมโลกด้วย เพราะปัจจุบันมีการตื่นตัวเรื่อง Data Protection เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายล้านบัญชี หรือกรณีความลับทางทหารของประเทศมหาอำนาจได้รั่วไหลออกมาสู่สาธารณะ เป็นต้น ที่ผ่านมาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยได้กำหนดไว้โดยทั่วไปในกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้อย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องดังกล่าวนี้         อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนบุคคลก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจในยุคปัจจุบันเพราะสามารถส่งต่อกันข้ามประเทศได้ และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมีความซับซ้อนมากขึ้นในการนำไปใช้ประโยชน์ จึงถือได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งในด้านธุรกิจและในด้านความมั่นคงในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง และเพื่อเป็นการทำความเข้าใจ เราจึงจำเป็นต้องทราบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเรานั้นคือใครบ้าง         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และ         การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ดังนั้นหากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปเผยแพร่เพื่อหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยหลักทั่วไป ผู้เผยแพร่ก็จะมีความผิดตามกฎหมายนี้         ด้วยเหตุนี้ บุคคลสำคัญที่เก็บข้อมูลของเราอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนใครจะเป็นผู้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็ต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูลก่อนหรือไม่ และใช้ข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์อะไร การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใครจะมีอำนาจที่จะเก็บได้ตามหลักกฎหมาย เหล่านี้คือคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาตรา 6 “ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล “ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล          การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ เพื่อนำไปรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลต่อไปนั้น ต้องเก็บจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง และได้รับการยินยอมโดยตรงจากเจ้าของข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรหรือผ่านระบบออนไลน์ตามรูปแบบที่กำหนด ดังนั้นก่อนที่จะยินยอม เจ้าของมูลต้องอ่านรายละเอียดให้ดี รวมถึงเก็บข้อมูลว่าได้ยินยอมให้เก็บ ใช้ เปิดเผยข้อมูล ไปกับหน่วยงานใดบ้าง โดยต้องแจ้งรายละเอียดชัดเจนครบถ้วน ผู้เก็บข้อมูลต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล ระยะเวลาที่เก็บ เงื่อนไขต่างๆ ให้เจ้าของข้อมูลอย่างชัดเจน ที่สำคัญข้อมูลรายละเอียดในการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลต้องแยกส่วนออกมาจากข้อความอื่นอย่างชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย เพื่อให้เจ้าของข้อมูลอ่านและทำความเข้าใจก่อนที่จะยินยอมให้เก็บข้อมูล         ข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ไว้นั้น ผู้มีสิทธิเด็ดขาดคือเจ้าของข้อมูล เจ้าของข้อมูลสามารถยกเลิกการเก็บข้อมูล การนำไปใช้ แก้ไขและลบข้อมูลออกจากระบบได้ โดยที่ผู้เก็บข้อมูลไม่สามารถปฏิเสธได้ ดังนั้น ผู้เก็บข้อมูลต้องเตรียมการให้การยกเลิกทำได้สะดวกเช่นเดียวกับการยอมรับ ซึ่งการคุ้มครองนี้รวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่ส่งไปเพื่อสมัครงาน ผู้สมัครสามารถแจ้งให้ทางบริษัทส่งข้อมูลกลับหรือทำลายข้อมูลส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย เอกสารการศึกษา ฯลฯ หลังจากการสมัคร เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญเหล่านี้รั่วไหลออกไป และผู้เก็บต้องรักษาข้อมูลให้ปลอดภัยเป็นความลับ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องมีหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล มิให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของของมูล หรือเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ และดูแลไม่ให้เกิดการสูญหาย ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้ประกอบการหรือองค์กรที่เก็บข้อมูลต้องมีการวางระบบ วิธีการ คณะทำงาน ทีมงานที่รับผิดชอบ ในการดูแลข้อมูลให้ปลอดภัยมากที่สุด แต่หากข้อมูลเกิดรั่วไหลหรือถูกขโมยไป ผู้เก็บข้อมูลต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบใน 72 ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุ         ในฐานะเราเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เรามีสิทธิอะไรบ้างตามกฎหมายในการที่จะติดตามหรือตรวจสอบในการไม่เอาข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รายละเอียดนี้ ติดตามกันต่อไปในตอนที่ 3

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ป้องกันโควิดแบบไหน ถึงเสี่ยงโควิด

แม้ผู้บริโภคจะปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ เพื่อป้องกันตนเองจากโควิด 19 อย่างเคร่งครัดแล้ว แต่ก็พบความเข้าใจผิดหลายๆอย่างที่เราก็คาดไม่ถึง ทำให้ผู้บริโภคหลายรายยังคงเสี่ยงต่อโควิด 19 จึงขอทำความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดลง         กินร้อน : คำว่ากินร้อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงห้ามใครกินอาหารที่เย็น หรือต้องกินอาหารที่ร้อนควันฉุยเท่านั้น แต่หมายถึงให้กินอาหารที่ปรุงจนสุกใหม่ๆ เพราะการปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนนั้น ความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคตาย ส่วนใครจะกินตอนร้อนๆ ทันที หรือทิ้งไว้ให้คลายร้อนก็ได้ ส่วนอาหารที่เย็น เช่น เครื่องดื่ม หวานเย็น ไอศครีม ฯลฯ ก็กินได้ เพียงแต่ขอให้ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า ได้ผ่านกรรมวิธีที่สะอาดมาก่อนถึงปากเราหรือเปล่า         ช้อนกลาง : เนื่องจากเราไม่อาจจะรู้ได้ว่า มือของใครไปสัมผัสเชื้อโรคมาแล้วบ้าง ดังนั้นการกินอาหารโดยมีช้อนกลางเพียงอันเดียวแต่ทุกคนมาใช้ร่วมกัน ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะช้อนที่สะอาดก็อาจจะเจอมือของบางคนที่อาจมีเชื้อโรคมาสัมผัส และเมื่อมือของเราที่แม้จะทำความสะอาดแล้วไปสัมผัส ก็จะทำให้มือเราติดเชื้อโรคได้ ดังนั้นการใช้ช้อนกลางจึงหมายถึงการใช้ช้อนกลางในวงกินข้าว (ที่ไม่ใช่ช้อนที่เราใช้ตักอาหารเข้าปาก) ที่แต่ละคนมีเป็นของตนเอง เพื่อใช้ตักอาหารในวงสำรับให้ตนเองเท่านั้น เพราะช้อนของเราจะมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่สัมผัสมัน แต่ถ้ามันยุ่งยาก วิธีง่ายๆ คือ ตักกับข้าวหรืออาหารใส่จานเราตั้งแต่แรกให้เป็นอาหารจานเดียวไปเลย จะได้ไม่ต้องปวดหัวหาช้อนหลายอันให้วุ่นวาย         ล้างมือ : ผู้บริโภคหลายคนคิดว่าการล้างมือบ่อยๆ จะป้องกันเชื้อโควิดได้ เพราะจำมาเพียงว่า เชื้อโควิด 19 เจอสบู่ก็ตายแล้ว ซึ่งมีส่วนถูกแต่ยังไม่หมด เพราะการล้างมืออย่างรวดเร็ว ไม่ถูสบู่ให้ทั่วทุกซอกทุกมุมทั้งซอกนิ้วและข้อมือ และยังใช้เวลาล้างมือแบบรวดเร็ว ก็อาจจะทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อโควิด 19 หลงเหลืออยู่ตามบริเวณที่ไม่โดนสบู่ หรืออาจโดนสบู่แต่ยังไม่ทันจะตาย ก็เจอน้ำชะล้างเอาคราบสบู่ไปแล้ว ดังนั้นการล้างมือจึงต้องล้างให้ทั่วทุกซอกทุกมุมและใช้เวลาให้มือสัมผัสสบู่สักครู่หนึ่ง มีคนแนะนำง่ายๆ ว่า เวลานานประมาณร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ หรือเพลงช้างช้างช้างจบสองรอบประมาณนั้นก็น่าจะใช้ได้         บางคนใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ หรือใช้แอลกอฮอล์สเปรย์พ่นมือ แม้จะเลือกยี่ห้อที่มีปริมาณของแอลกอฮอล์ได้ตามมาตรฐาน และมีฉลากดูต้องแล้ว แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี เช่น พอมือสัมผัสเจลหรือแอลกอฮอล์ ก็ไม่ถูให้ทั่ว บางคนยังเอามือไปเช็ดเสื้อผ้าให้แห้งอีก แบบนี้แอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถไปฆ่าเชื้อโควิดได้ วิธีที่ถูกต้องคือไม่ต้องเช็ดมือ ปล่อยให้มันแห้งไปเอง แอลกอฮอล์จะได้ไปฆ่าเชื้อโรคให้ตายหมด         ใส่หน้ากาก : เราใส่หน้ากากไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองฝอยจากน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอหรือจามของคนอื่นหรือเชื้อโควิดที่อาจฟุ้งอยู่ในบริเวณนั้น เข้ามาสู่ปากหรือจมูกเรา ขณะเดียวกันหากเรามีเชื้อโรค หน้ากากก็จะกันไม่ให้กระเด็นไปสู่คนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเราสวมหน้ากากแล้ว เราไม่ควรเอามือของเราไปสัมผัสด้านนอกของหน้ากาก เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าบริเวณนั้นมีเชื้อโรคมาติดอยู่หรือไม่ หรือถ้าเผลอไปสัมผัสแล้ว ควรรีบล้างมือให้สะอาดทันที และเมื่อจะถอดก็ควรระวังไม่ให้มือสัมผัสบริเวณด้านนอก จับสายคล้องหูแล้วถอดออกจะปลอดภัยกว่า และควรเปลี่ยนหน้ากากทุกวัน ถ้าใช้หน้ากากผ้าก็ให้ซักทำความสะอาดทุกวัน อย่าทิ้งไว้รวมๆ กันแล้วค่อยมาซัก เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ขาลาย เพราะน้ำเหลืองไม่ดีจริงหรือ

        ผู้ใหญ่หลายคนมักทักเด็กน้อย หรือคนที่ขาเป็นแผลถลอกพุพอง มีน้ำเหลืองเยิ้ม หรือมีรอยแผลเป็นที่ลายพร้อยไปทั้งแขน ขาว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งก็งงกันไปว่า มันไม่ดียังไง เกิดจากอะไร เป็นกรรมพันธุ์หรือเปล่า เพราะอันที่จริงโรคน้ำเหลืองไม่ดีนั้น ไม่มี มีแต่สิ่งที่เรียกว่า ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง         บ้านเรานั้นอากาศร้อนชื้น มีแมลงรำคาญก็มาก ดิน น้ำ พงหญ้าชื้นแฉะ แมลงชุม เวลาที่ผิวหนังของเรา โดนแมลงต่างๆ กัด หรือระคายเคืองจากพืชบางชนิด หากมีอาการแพ้เกิดผื่นหรือตุ่มคัน บางคนเกาเบาๆ อาการก็ดีขึ้นหรือแค่ป้ายยาหม่องก็หาย แต่หลายคนคันมากก็เกามาก บางคนห้ามใจไม่อยู่เกากันจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มหนอง เมื่อแผลหายแล้วก็ยังเกิดเป็นรอยแผลเป็นทิ้งไว้ให้คิดถึงอีก อาการแบบนี้คนสมัยก่อนจะบอกว่า เป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ต้องกินยานี้ ไม่กินอาหารนี้เพราะมันแสลงโรค รวมทั้งมีสื่อที่โฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมหลายชนิดที่มักอวดอ้างสรรพคุณว่า กินแล้วช่วยให้หายจากโรคน้ำเหลืองไม่ดี มาขายในราคาแสนแพงอีกด้วย  สวยอย่างฉลาดคราวนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดอีกต่อไป และเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการรักษา            โรคน้ำเหลืองไม่ดี ไม่มีอยู่จริงในวงการแพทย์ ภาวะที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงแค่ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือโรคที่มีแผลเรื้อรังที่ขา แขน หรือผิวหนังของร่างกาย บางที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Impetigo ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่ชื่อว่า Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes ที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ทั้งนั้น เพียงแค่การลุกลามและเรื้อรังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดูแลและรักษาอาการนั้นมากน้อยแค่ไหน                    การรักษาความสะอาดสำคัญที่สุด        ภาวะนี้หากเกิดกับเด็ก จะดูแลยากหน่อย เพราะห้ามเด็กไม่ให้เกาเมื่อคันนั้นยาก บางทีหลับแล้วก็ยังเผลอเกาจนน้ำเหลืองเยิ้มกลายเป็นแผลติดเชื้อ ดังนั้นต้องเริ่มจากการป้องกัน กล่าวคือ ไม่ควรให้เด็กเล่นดิน ทราย หรือน้ำที่สกปรก ไม่เข้าพงหญ้าที่มีแมลง แต่หากสัมผัสกับสิ่งสกปรกเหล่านี้ต้องรีบล้างทำความสะอาดทันที และควรต้องตัดเล็บเด็กให้สั้นเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเล็บและการเกาจนเกิดบาดแผล         การรักษา หากเกิดตุ่มคัน ผื่นแพ้ บวม แดง ให้รีบล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลโดยอาจฟอกด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น chlorhexide หรือทายาฆ่าเชื้อกลุ่ม cloxacillin dioxacillin หรือ Cephalexin แต่หากอาการรุนแรง แผลลุกลาม มีไข้ ต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแบบกินหรือฉีด และอาจต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล         ในผู้ใหญ่ก็คล้ายกัน ป้องกันก่อนดีที่สุด หากเกิดผื่นแพ้หรือตุ่มคัน ควรหายาทาบรรเทาอาการ หรือรับประทานยาแก้แพ้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้คือ การรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น อาบน้ำล้างแผลให้สะอาด ไม่แกะ ไม่เกาแผล เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบที่แผล เพราะจะทำให้แผลหายช้า         เรื่องจริงของแผลติดเชื้อ        ·  ไม่มีของแสลง อาหารกินได้ทุกชนิด ไม่ต้องงด เนื้อ นม ไข่        ·  พ่นยา พ่นเหล้า พ่นสมุนไพร อาจจะยิ่งติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น        ·  ไม่มีอาหารเสริมเพื่อมารักษา ดีสุดกินอาหารครบ 5 หมู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 อกเกือบหักแอบรักคุณสามี : เพราะผู้หญิง...แซ่บจริงไม่มโน

        ว่ากันว่า เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษเพศมักมีเงาของผู้หญิงคอยผลักดันและต่อสู้อยู่ข้างหลังเสมอ และด้วยตรรกะดังกล่าวนี้ ละครโทรทัศน์อย่าง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องเล่ากุ๊กกิ๊กโรแมนติกหวานแหวว แต่ลึกลงไปกว่านั้น ละครได้ให้คำตอบที่น่าขบคิดว่า ผู้หญิงผู้ชายได้จัดวางความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกันและกันไว้เช่นไร         โครงเรื่องของละครเริ่มต้นด้วยเสียงก้องในห้วงความคิดของ “เมย” หรือ “นทีริน” นางเอกของเรื่อง ที่สะท้อนทัศนะอันลุ่มลึกแห่งปรัชญาเหตุผลนิยมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันเสมอ”          เพราะฉะนั้น การที่เมยได้มาประสบพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “เธียร” หรือ “เธียรวัฒน์” เธอได้ตกหลุมรักเขาตั้งแต่เป็นน้องรหัสสมัยเรียนมัธยม ได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็น “น้องสาวนอกไส้” ในบ้านของพี่เธียร จนถึงมีความจำเป็นที่ทั้งคู่ต้องลงเอยได้แต่งงานกันกันนั้น ก็หาใช่ด้วย “เหตุบังเอิญ” ในชีวิตไม่ แต่เป็นเพราะด้วย “เหตุผล” บางอย่างที่เข้ามากำหนดความเป็นไปในชีวิตของชายหนุ่มหญิงสาวต่างหาก         หากคิดตามหลักพุทธศาสนา เหตุผลที่คนสองคนได้มาพบกันและตกลงแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ก็มักมาจากเงื่อนไขเรื่องกรรมที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน แต่ทว่าละครหาได้ยืนยันในเหตุแห่งกรรมไม่ หากแต่ใช้คำอธิบายเหตุผลจากการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศมาเป็นแกนหลักมากกว่า         ในสนามรบระหว่างเพศหญิงชายนั้น โดยปกติแล้ว ตัวละครหนุ่มหล่อเลือกได้ มีการศึกษาดี ฐานะร่ำรวย และเลิศเลอเพอร์เฟ็คแบบเธียรวัฒน์ ที่คอยถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คเพื่อ “คืนกำไร” ให้แก่ผู้ชมอยู่เนืองๆ นั้น มักถูกวาดให้เป็นตัวแทนของ “ชายในฝัน” ที่สตรีทั้งหลายมุ่งมาดหมายตาให้มาเป็น “สามีในจินตนาการ”        และเพราะเป็น “สามีในฝัน” เยี่ยงนี้เอง บุรุษเพศที่สมบูรณ์แบบก็มักจะมีอหังการบางอย่างซึ่งเชื่อว่า ตนคือผู้มีอำนาจคุมเกมความสัมพันธ์กับผู้หญิงทั้งมวลให้ “อกเกือบหักที่มาแอบรักเขา” ได้ ยิ่งเมื่อเธียรวัฒน์ดำเนินอาชีพเป็นสถาปนิกด้วยแล้ว เขาจึงเชื่อมั่นว่า นทีรินก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถกำกับควบคุมชะตาชีวิตได้ เฉกเช่นการจับวางสรรพสิ่งที่อยู่ในงานสถาปนิกออกแบบของเขานั่นเอง         กระนั้นก็ดี ท่ามกลางม่านควันแห่งอคติที่บังตาบุรุษเพศอย่างเธียรวัฒน์อยู่นั้น ละครกลับเผยให้เห็นว่า อีกด้านหนึ่งในเกมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผู้หญิงเองก็หาใช่จะจำนนสมยอมเสมอไป หากแต่มีสถานะเป็นผู้เดินเกมได้ ทั้งๆ ที่เล่นอยู่บนหมากกระดานเดียวกัน        สำหรับพระเอกหนุ่มแล้ว อย่างน้อยก็มีผู้หญิงสามคนที่เข้ามาร่วมเดินหมากบนกระดาน แถมเป็นกระดานเกมที่เธอๆ เหล่านี้ให้บทเรียนกับเธียรวัฒน์ได้อย่าง “ดุเด็ดเผ็ดแซ่บจริงไม่มโน” กันเลยทีเดียว         “ศจี” มารดาของเธียรวัฒน์ ก็คือ ผู้หญิงคนแรกที่สาธิตให้เห็นการวางกลเกมในการจัดการบุตรชายให้อยู่หมัด เมื่อเธียรวัฒน์พลั้งเผลอไปมีสัมพันธ์ลับๆ กับ “ญาดา” ภรรยาของ “พลเดช” นักการเมืองผู้มีอิทธิพล จนเขาถูกขู่อาฆาตจะฆ่าให้ตาย คุณศจีจึงเลือกใช้อำนาจบังคับให้บุตรชายของตนแต่งงานเสียกับเมย         ด้วยสถานะของสตรีผู้ให้กำเนิด อำนาจของคุณศจีสามารถบังคับให้เธียรวัฒน์จดทะเบียนสมรสกับเมย ผู้หญิงที่เขาไม่เคยคิดจะผาดตามองในฐานะคนรักมาก่อน แม้พระเอกหนุ่มแอบซ้อนกลวางแผนที่จะหย่าขาดกับเมยในภายหลัง แต่ความชาญฉลาดเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบุตรชาย คุณศจีก็จัดการกับเขาได้ทุกครั้ง         ผู้หญิงคนถัดมาก็คือ ญาดา ผู้ที่เธียรวัฒน์แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วย ที่ผ่านมาญาดาเองก็ถูกสามีอย่างพลเดชมองว่า เธอเป็นประหนึ่ง “วัตถุสิ่งของ” มากกว่าจะเป็น “มนุษย์” เพศหญิงที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ฉากที่พลเดชกระทำทารุณเหนือทั้งร่างกายและจิตใจของญาดา ก็ส่อให้เห็นทัศนะของผู้ชายบางคนที่เชื่อว่า หลังวันแต่งงาน ผู้หญิงก็มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินภายใต้ปกครองของเขาเท่านั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ การที่ญาดาพยายามเอาชนะเกมพิชิตหัวใจของเธียรวัฒน์ ก็มีนัยแห่ง “สงครามตัวแทน” ที่ผู้หญิงอยากจะกำชัยเหนือบุรุษเพศ แบบเดียวกับที่เธอรำพึงกับตนเองเมื่อเข้าสู่สนามประลองระหว่างเพศว่า “พี่เลือกเล่นเกมนี้แล้ว ยังไงพี่ก็ต้องชนะ และพนันได้เลยว่า ยังไงเธียรก็ต้องแพ้พี่...”        และที่น่าสนใจ เมื่อถึงฉากท้ายของเรื่องที่พลเดชถูก “ปริวัตถ์” พี่ชายของเธียรวัฒน์ ซ้อนแผนตัดปีกตัดหางและสั่งสอนจนปางตาย ญาดาก็เลือกจะใช้สูตร “how to ทิ้ง” เขาไปแบบไร้เยื่อใยไมตรี พร้อมกับเสียงประกาศอิสรภาพของสตรีปรากฏในห้วงคำนึงที่ก้องขึ้นมาว่า “ในวันที่ฉันไม่เหลือใคร คนที่คอยกอดปลอบฉันก็คือตัวฉันเอง ตอนนี้สิ่งที่ฉันทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ กลับมารักตัวเองอีกครั้ง...”         ส่วนผู้หญิงคนสุดท้ายที่มาร่วมปะทะต่อกรอำนาจกับเธียรวัฒน์ก็คือ นางเอกอย่างเมย แม้เธียรวัฒน์จะรู้จักเมยมานับสิบปี และเชื่อมั่นตลอดว่า เขาสามารถกำกับชีวิตเมยไว้ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่เขาชอบสั่งให้เมยทำนั่นทำนี่ แต่ทว่า อีกด้านของความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอก เรากลับเห็นถึงกลยุทธ์ทางอำนาจของเมยที่จะพิชิตหัวใจชายหนุ่มที่เธอหลงรักตั้งแต่แรกเจอ          ในฉากแรกๆ เมยอาจจะดูเป็นเพียงผู้หญิงเปิ่นๆ ที่ไม่เข้าตากรรมการ แต่พลันที่เธอสวมบทบาทเป็นแฮคเกอร์เล่นล่อเอาเถิดหลอกเธียรวัฒน์จนเสียศูนย์บนโลกไซเบอร์สเปซ สถาปนิกหนุ่มที่เคยมองว่า ตนควบคุมบงการหญิงสาวได้ ก็ถึงกับเปรยขึ้นมาว่า “คนที่เราคิดว่ารู้จักมาทั้งชีวิต อาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จักเค้าเลย...”         ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป และทั้งคู่ได้โคจรมาเจอกันที่ไซต์งานเมืองทวาย เมยก็ถือโอกาส “ประกาศเจตนารมณ์จีบพี่เธียร” ในทุกวิถีทาง ตั้งแต่จำลองฉากโรแมนติกท่องเที่ยวทัวร์รอบพม่า แต่งกลอนเกี้ยวพาชมโฉมสามีหนุ่ม ไปจนถึงใช้สายตาลวนลามให้ชายหนุ่มได้กลายเป็น “วัตถุทางเพศแห่งการจ้องมอง”         ที่สำคัญ การเฉลยความจริงท้ายเรื่องว่า หากนิยายโรมานซ์ทั่วไป ต้องเป็นพระเอกที่ปกป้องชีวิตนางเอกผู้อ่อนแอ แต่ในชีวิตคู่ของเมย กลับเป็นนางเอกต่างหากที่ลุกขึ้นมาเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องพระเอกหนุ่มครั้งแล้วครั้งเล่าได้ไม่แตกต่างกันเลย         อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเล่าแบบโรมานซ์มักจะลงเอยฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันถ้วนหน้า แต่กว่าที่เรื่องเล่าจะดำเนินมาถึงบทสรุปอันสุขสมอารมณ์หมายเช่นนี้ ยุทธการจัดการกับ “สามีในฝัน” อย่างเธียรวัฒน์ คงไม่ใช่เกิดขึ้นบน “เหตุบังเอิญ” แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก “เหตุผล” ที่ผู้หญิงขอมีส่วนร่วมจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ซึ่งหาใช่การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นอำนาจของผู้ชายแต่เพียงเพศเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ถอดบทเรียนการรักษาโควิด-19 ในไทย

        นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อปลายปี 2019 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 211 ประเทศ โดยยอดป่วยสะสมอยู่ที่ 6,031,023 ราย เสียชีวิต 366,812 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2563) แต่ก็ยังไม่มีที่ว่าการระบาดจะยุติในเร็ววัน นักวิชาการทางการแพทย์คาดการณ์ว่าทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค         ขณะนี้มีนักวิจัยในหลายประเทศกำลังเร่งมือพัฒนาทั้งวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาออกมาใช้ หลายประเทศมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังไม่มียาจำเพาะต่อการรักษาโควิด-19 โดยตรง ตอนนี้การรักษาโควิดจึงเป็นเรื่องของการศึกษาและปรับใช้สูตรยาสำหรับการรักษาโรคอื่นๆ มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19         สำหรับประเทศไทย (สัมภาษณ์เมื่อเดือน พฤษภาคม 2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้สรุปแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมามีรายงานข่าวเป็นระยะว่าประเทศต่างๆ มีการใช้ยาบางประเภทแล้วได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ซึ่งประเทศไทย โดยกรมการแพทย์ร่วมกับเครือข่ายโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ อยู่ระหว่างการสรุปผลการรักษา ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ ถอดบทเรียน และปรับแนวทางคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศไทยเป็นระยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากันอีกครั้ง โดยจะบวกกับข้อมูลในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้         อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ถ้าดูจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่มาจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนหนึ่ง เบื้องต้นเฉพาะข้อมูลที่มีการสรุปตรงกันคือการรักษาจะไม่ใช่การใช้ยาตัวเดียว แต่ต้องเป็นสูตรผสมหรือยาสูตรคอคเทล ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสูตรคอคเทลจะต้องเป็น สูตร 1. ยาต้านเอชไอวี 2 ตัวคือ “โลพินาเวียร์ (lopinavir)” กับ “ริโทนาเวียร์ (ritronavir)  บวกกับยาตัวที่ 3 คือยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” หรือสูตร 2.ยาต้านเอชไอวี 2 ตัวคือ “โลพินาเวียร์” กับ “ริโทนาเวียร์ บวกกับยาตัวที่ 3 คือยาต้านไวรัส “โอเซลทรามิเวียร์ (Oseltamivir)”        หากจำได้จะมีเคสผู้ป่วยชาวจีนที่เข้ารับการรักษาที่รพ.ราชวิถี ซึ่งเคยมีคนบอกว่าใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล แต่ปรากฏว่าถ้าให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว บวกกับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือบวกกับยาโอเซลทรามิเวียร์ ตัวใดตัวหนึ่งได้ผล ทำให้ผู้ป่วยนอนรพ.สั้นลง เฉลี่ยผู้ป่วยจะนอนรพ.ประมาณ 8-9 วัน ถ้าเทียบกับการให้ยาต้านเอชไอวี บวกกับยา “คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate)  หรือ ยารักษาโรคมาลาเรีย ไฮดร็อกซี่คลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ผู้ป่วยจะนอนรพ.เฉลี่ย 13 วัน ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าองค์การอนามัยโลกได้ให้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว        อย่างไรก็ตาม การให้ยาคอกเทลสูตรยาต้านไวรัสเอชวี 2 ตัวบวกตัวที่ 3 เป็นโอเซลทรามิเวียร์ นั้นได้ให้เฉพาะผู้ป่วยชาวจีนที่รพ.ราชวิถีเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นมาตรฐาน ตอนนี้จึงมีเพียงสูตรที่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นตัวที่ 3 เท่านั้น ที่ผ่านมาเราจะให้ฟาวิพิราเวียร์เฉพาะในผู้ป่วยอาการหนัก แต่ก็มีการปรับมาเป็นการให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะปอดอักเสบทุกราย และกำลังพิจารณาอยู่ว่าจำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยโควิดที่เริ่มมีอาการเลยหรือไม่          นพ.สมศักดิ์ บอกด้วยว่าที่ผ่านมามีการใช้ยาอีกหลายตัว เช่น อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะช่วยอะไร ส่วน ยาต้าน “ไซโตไคน์ สตอร์ม (cytokine storm)” ก็ยังมีการใช้เพียงบางรายเท่านั้น อีกวิธีหนึ่งคือการใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว แต่เพิ่งมาเริ่มเก็บพลาสมาในระยะหลังที่ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยน้อยลงแล้ว ทำให้มีการนำไปใช้จริงในผู้ป่วยไม่กี่รายเท่านั้น จึงยังบอกอะไรไม่ได้         อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลกในโครงการทดลอง โซลิดาริที ไทรอัล (Solidarity Trial) ร่วมกับอีกประมาณ 30 ประเทศ ในการทดลองยาแต่ละสูตร ประมาณ 4-5 สูตร อาทิ  ยาเรมเดซิเวียร์" (Remdesivir) ซึ่งได้มีการทดลองใช้ในประเทศอื่นบ้าง หรือยาไซโตไคน์สตอม หน่วยงานหลักๆ ที่เข้าร่วมน่าจะมีทั้งโรงเรียนแพทย์ รพ.ราชวิถี รพ.ทรวงอก และน่าจะมีรพ.บำราศนราดูรด้วย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยและต้องอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย         อีกด้านหนึ่ง คือสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็น รพ.เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อฯ ที่รับส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการหนักจากทุกจังหวัด โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผอ.สถาบันบำราศราดูร ฝ่ายควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ถอดบทเรียนการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ก่อนการระบาดระลอกแรกจะคลี่คลายว่า ที่สถาบันมีผู้ป่วยทุกประเภทกว่า 200 ราย อายุต่ำสุดคือทารกวัย 47 วัน และสูงสุดอายุ 83 ปี ช่วงอายุที่พบมากสุดคือ 21-30 ปี เป็นชาย 60% หญิง 40% ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 90% อีก 10% เป็นชาวต่างชาติ มากที่สุดคือชาวจีนประมาณ 8% อีก 2% คือชาติอื่นๆ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยนอนรพ. 2 สัปดาห์         สำหรับกลุ่มอาการของโรคมี 4 ลักษณะตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ         อาการน้อยสุดหรือไข้หวัดพบ 60% รองลงมาคือปอดอักเสบเล็กน้อย 21%  ปอดอักเสบรุนแรง 13% และปอดอักเสบและระบบหายใจล้มเหลว ADRS 6%         เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้ป่วยหนักทั่วประเทศไทยและทั่วโลก จะอยู่ที่ 3% แต่สถาบันบำราศฯ รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากรพ.ทั่วประเทศจึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักสูงถึง 6% หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยผู้ป่วยหนักทั่วโลก         ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง เมื่อเข้ารับการรักษาจากบวกจะกลายเป็นลบใช้เวลาเฉลี่ย10 วัน ส่วนกลุ่มอื่นๆ ประมาณ 12 วัน ดังนั้นเฉลี่ย 10-12 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจมีอยู่ 10% โดยบางคนต้องให้ออกซิเจนความเร็วสูง และบางส่วนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะหายใจเองไม่ได้          ส่วนยารักษานั้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับยาเหมือนกัน คนที่มีแค่อาการไข้หวัดก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยา แค่สังเกตอาการก็เพียงพอ โดยกลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด         เนื่องจากสถาบันบำราศฯ เป็นสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยรายแรกๆ ของประเทศ ในขณะที่ข้อมูลการรักษามีน้อยมาก แนวทางการรักษาก็ยังไม่มี จึงต้องมีการศึกษางานวิจัยของต่างประเทศและ ใช้ความรู้ที่มีอยู่ทบทวนและประชุมทีมแพทย์ สร้างสูตรยาให้กับผู้ป่วย โดยมี 3 กลุ่ม คือ 1. ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2. ยารักษาโรคมาลาเรีย ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และ 3. ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์          ต่อมาหลังจากที่เริ่มมีผู้ป่วยหนักเมื่อเดือน ก.พ. ก็ประสานนำเข้า “ยาเรมดิสซีเวีย” ชนิดฉีดตัวแรกเข้ามาใช้กับผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถรับยาด้วยการกินได้         ที่สำคัญยังได้สร้างกรอบการรักษาใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย เช่น นำยาลดการอักเสบกลุ่มที่ลดสารเคมี “ไซโตไคม์” ในร่างกาย ซึ่งเกิดในผู้ป่วยวิกฤต ระบบการหายใจล้มเหลว รวมถึงความพยายามในการนำพลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วมารักษาผู้ป่วยใหม่ การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal membrane oxygenation : ECMO) ทำให้ภาพรวมการรักษาหายสูง อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.8 % ในขณะที่ภาพรวมของโลกอยู่ที่ 7%         มาต่อที่ความพยายามในการพัฒนายาและวัคซีนของไทย จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าในส่วนของการพัฒนาวัคซีนมีหลายหน่วยงานที่เริ่มเดินหน้า และที่มีความคืบหน้าไปมากคือการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า จุฬาฯ ได้เลือกเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้เอสโปรตีน (s protein) ทั้งตัว จากการทดลองในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และเริ่มฉีดให้กับสัตว์ใหญ่ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะรอประมาณ 4-6 สัปดาห์ถึงจะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19 อีกครั้ง          หากได้ผลดีก็จะเริ่มทดลองในมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส         เฟสแรกเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ต่ำ ประมาณ 100 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-15 คน โดยให้วัคซีนในโดสที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นขนาดสูง กลาง ต่ำ         เฟสที่ 2 เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนา 2019 สูง และต่ำ ประมาณ 500 กว่าคน         และเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และบางส่วนต้องใช้อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อด้วย โดยใช้อาสาสมัครประมาณหลักพันคน          อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้ประสานโรงงานผลิตวัคซีน mRNA 2 แห่ง คือ บริษัทไบโอเนท สหรัฐอเมริกา และไบโอเนทเยอรมัน เพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส สำหรับใช้ในการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ต่อไป  หากได้ผลดีจริงคาดว่าจะสามารถทดลองในคนได้ราวเดือนพฤศจิกายน 2563 และถ้าได้ผลดีตามแผนที่วางไว้ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนได้เองราวปลายปี 2564           ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ได้เปิดเผยถึงความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบ โดยให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบ 2 ชนิด คือชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งหากวัคซีนต้นแบบสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ อภ.จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเพื่อพัฒนาต่อในการขยายขนาดการผลิตเป็นวัคซีนตามมาตรฐาน GMP สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิกต่อไป         นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV2 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza virus-based COVID-19 vaccine) เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักของอภ. ที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกต่อไป โดยคาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นของการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิดในปลายปี 2563          ส่วนเรื่องการสำรองยาไว้รักษาโรคนั้น “ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ระบุว่าได้สำรองยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโควิด-19 รวม 7 รายการ  คือ        1.ยาคลอโรควิน        2.ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์        3.ยาต้านไวรัสเอชไอวีดารุนาเวียร์        4.ยาต้านไวรัสเอชไอวีริโทนาเวียร์        5.ยาอะซิโทรมัยซิน          6.ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน และ        7. ยาฟาร์วิพิราเวียร์         ภญ.นันทกาญจน์ บอกอีกว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนายาฟาร์วิพิราเวียร์ โดยนำเข้าวัตถุดิบมาพัฒนาเป็นยาเม็ดผลิตขึ้นเอง คาดว่าจะผลิตกึ่งอุตสาหกรรมได้ในต้นปี 2564 ก่อนศึกษาการคงตัวและการละลายของยาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ นำไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมประสิทธิผลด้านชีวสมมูลต่อในกลุ่มอาสาสมัคร และคาดว่าปลายปี 2564 น่าจะพร้อมยื่นขอขึ้นทะเบียนยา และผลิตได้ต้นปี 2565             สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้มีหลายประเทศพัฒนา ทั้งจีน ยุโรป อเมริกา ส่วนไทยเองมีหลายหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังเตรียมความพร้อมและเตรียมเข้ามาประเมินความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ว่ามีความสามารถในการผลิตวัคซีนหรือไม่ อย่างไร โดยการผลิตอาจจะเป็นการซื้อวัตถุดิบมาแบ่งบรรจุ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้พัฒนาก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 รู้เท่าทันการรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด

        ไส้ติ่งอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน การรักษามาตรฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบันคือการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกทางหน้าท้องหรือด้วยการส่องกล้องเป็นการรักษาหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เริ่มมีใช้ยาปฏิชีวนะฉีดทางหลอดเลือดดำแทนการผ่าตัด ซึ่งให้ผลดีได้เช่นเดียวกับการผ่าตัด เรามารู้เท่าทันกันเถอะ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องกับการส่องกล้อง         ไส้ติ่งอักเสบเป็นความเจ็บป่วยที่พบบ่อยในอาการปวดท้องเฉียบพลันที่ต้องทำการผ่าตัด มักเป็นในผู้ที่มีอายุ 15-30 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง ประมาณว่า เด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี 4 รายจาก 1,000 ราย ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งออก           การตัดไส้ติ่งออกเป็นการรักษาหลัก อย่างไรก็ตาม โรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดก็เกิดขึ้นได้ จึงเกิดนวัตกรรมในการผ่าตัดทางหน้าท้องเป็นการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้อง ซึ่งพบว่า การตัดไส้ติ่งด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีแบบเดิม การต้องนอนพักในโรงพยาบาลสั้นกว่า การดมยาสลบน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่าและสามารถกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานได้เร็วกว่า การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดน้อยกว่า แต่ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันอาจสูงกว่า         การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้องกับการส่องกล้องจึงเป็นวิธีการรักษามาตรฐานทั้งสองวิธีที่ใช้กันในโรงพยาบาลทั่วไป แต่การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะต้องใช้อุปกรณ์เลนส์ที่ใช้ส่อง แต่ในอนาคตอันใกล้นี้คาดว่าการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีมาตรฐานหลักของการรักษา การรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการไม่ต้องผ่าตัด         ห้องสมุดคอเครนได้ทำการทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะกับการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะหายภายใน 2 สัปดาห์ และไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญ (กลับมาเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้ง) ภายในหนึ่งปี ไม่มีอาการแทรกซ้อนสำคัญและเล็กน้อยในระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยังไม่สามารถสรุปผลได้ว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะดีกว่าหรือด้อยกว่าการผ่าตัดไส้ติ่ง เนื่องจากคุณภาพของการวิจัยยังมีข้อจำกัด          การทบทวนงานวิจัยของ Pubmed ก็พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาไส้ติ่งอักเสบก็เป็นวิธีการที่สะดวกสำหรับไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และไม่ทำให้เกิดการแตกของไส้ติ่งในผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กเพิ่มมากขึ้น การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยในจะไม่ได้ผลร้อยละ 8 ของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ และอาจกลับโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยการเป็นไส้ติ่งอักเสบอีกครั้งร้อยละ 20         ดังนั้น การผ่าตัดไส้ติ่งจึงยังเป็นวิธีการมาตรฐานหลักในการรักษาไส้ติ่งอักเสบ ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นอาจใช้ได้ดีในไส้ติ่งอักเสบแบบธรรมดา และในผู้ที่มีความเสี่ยงในการผ่าตัด ควรตัดไส้ติ่งออกก่อนที่จะมีอาการหรือไม่         ยังไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์ที่ให้มีการตัดไส้ติ่งออกเพื่อป้องกันการเกิดไส้ติ่งอักเสบ เพราะการผ่าตัดแม้ว่าจะปลอดภัย แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 233 ตั้งใจไปเรียนตัดเสื้อ ถูกเรียกเงินเพิ่มจนเกือบตัดใจ

        ปัจจุบันมีการขายคอร์สเรียนหลากหลายในหน้าโซเชียล โปรโมชันหลายอย่างก็เร่งรัดจนผู้บริโภคตัดสินใจอย่างขาดความระมัดระวังทำให้เสียประโยชน์ อย่างไรก็ตามการโฆษณานั้นหากไม่ตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิตนเองได้         คุณรุ่งรัตน์ สนใจเรียนตัดเสื้อและทำผม ลองค้นหาโรงเรียนหลายแห่งทางอินเทอร์เน็ต พบโฆษณารับสมัครเรียนบนหน้าเฟซบุ๊ก ของโรงเรียนตัดเสื้อทำผมเก่าแก่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นโปรฯ ช่วงโควิด รับสมัครนักเรียนแค่ 10 คนเท่านั้น เมื่อติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียด คุณรุ่งรัตน์พบว่าหากต้องการเรียน ต้องจ่ายเงินค่าเรียนทันทีก่อนหมดโอกาส โดยพนักงานแจ้งว่าใกล้เต็มแล้ว         คุณรุ่งรัตน์จึงโอนเงินทันที เป็นจำนวน 8,900 บาท ตามที่ระบุบนโฆษณา ซึ่งเป็นค่าเล่าเรียนในระยะเวลา 30 ชั่วโมง เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็รู้สึกว่าตนเองรีบร้อนไปหน่อย ไม่ทันได้สอบถามรายละเอียดอื่นๆ จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงเรียนเพื่อขอรายละเอียดตารางเวลาเรียน ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงเข้าใจว่าผู้เรียนคงยังไม่ครบจำนวน ต่อมาประมาณ 1 อาทิตย์มีโทรศัพท์แจ้งจากทางโรงเรียนว่าให้เข้าไปเรียนได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 6,000 บาท “ตกใจมากค่ะ บอกกับทางพนักงานไปว่า ตนเองมีเงินเท่าที่จ่ายไป 8,900 บาทเท่านั้น” ในโปรฯ ไม่เห็นรับรู้เลยว่าจะมีการจ่ายเพิ่ม ทางพนักงานบอกว่า ไม่จ่ายเพิ่มก็เรียนไม่ได้ “แล้วดิฉันก็กังวลมากเพราะในใบเสร็จระบุว่า จ่ายแล้วไม่คืนเงินทุกกรณี” ได้ไปแจ้งความไว้แล้ว และติดต่อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทาง สคบ.แจ้งว่า กรณีของคุณรุ่งรัตน์เป็นการเรียนเพื่อหารายได้ จึงไม่เข้าข่ายคดีผู้บริโภค “แล้วจะต้องทำอย่างไรดี” คุณรุ่งรัตน์ปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้เข้าข่ายการทำสัญญา ศูนย์ฯ แนะนำให้คุณรุ่งรัตน์ทำหนังสือถึงโรงเรียนสอนตัดเสื้อทำผมดังกล่าว เพื่อบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (การทำจดหมายควรใช้แบบไปรษณีย์ตอบรับเพื่อเป็นหลักฐาน) จำนวน 8,900 บาท โดยทำสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อการติดตามเรื่อง         ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณรุ่งรัตน์ว่า ทางโรงเรียนได้รับคุณรุ่งรัตน์เป็นนักเรียนแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 6,000 บาทเพิ่ม ทั้งนี้ทางโรงเรียนแจ้งว่า เป็นความผิดพลาดของพนักงานที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง คุณรุ่งรัตน์เองก็ตั้งใจเรียนจริงๆ เมื่อเห็นว่าไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว จึงตกลงไปเรียนตามที่ตั้งใจไว้และขอยุติเรื่องการบอกเลิกสัญญา ลงเอยด้วยดีไป หวังว่าจะมีช่างตัดเสื้อและทำผมดีๆ เพิ่มขึ้นอีกราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 คัดแยกเห็ดมีพิษ ผ่านแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย”

        เห็ดมีรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นอาหารที่ปราศจากไขมัน มีปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ มีโปรตีนสูง บางชนิดมีคุณสมบัติในการป้องกันโรค ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงตับ บำรุงกระเพาะ บำรุงลำไส้ เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นต้น คนไทยจึงมักนำเห็ดมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร แต่บางครั้งก็มีประชาชนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดเช่นกัน โดยที่ไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้ ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และการแยกแยะในการระบุชนิดของเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ        กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่อยากให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการคัดกรองให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นรู้จักเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้ โดยสามารถดาวน์โหลดในระบบปฏิบัติการ Android        ภายในแอปพลิเคชั่นมีข้อมูลเกี่ยวกับการคัดแยกชนิดเห็ด 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเห็ดระโงกกินได้ กลุ่มเห็ดระงากพิษ กลุ่มเห็ดระโงกไส้เดือน กลุ่มเห็ดโคนกินได้ กลุ่มเห็ดผึ้งกินได้ กลุ่มเห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากกินได้ กลุ่มเห็ดหมวกจีนและเห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว         ขั้นตอนแรกหลังจากดาวน์โหลดต้องลงทะเบียนผู้ใช้งาน โดยให้ระบุชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์มือถือ อายุ จังหวัด พร้อมกับกำหนดรหัสในการเข้าใช้งาน แอปพลิเคชั่นคัดแยกเห็ดไทยนี้ไม่มีเมนูซับซ้อน ใช้งานได้ง่าย มีการใช้ข้อมูลที่เป็นความรู้ในเรื่องของกลุ่มเห็ดชนิดต่างๆ แบ่งเป็นเห็ดมีพิษและเห็ดที่รับประทานได้ นอกจากนี้มีข้อมูลที่ให้ความรู้ในรูปแบบคู่มือชนิดเห็ดที่มีพิษ ที่ระบุข้อมูลเรื่องสารพิษ วิธีการแยกเห็ดมีพิษกับเห็ดที่ทานได้ วิธีการทดสอบเห็ดพิษที่ไม่ถูกต้อง ข้อแนะนำในการบริโภคเห็ด วิธีการเก็บและรักษาตัวอย่างเห็ดที่สงสัยว่ามีพิษ รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและแนวทางการรักษา         ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พัฒนาให้แอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดว่ามีพิษหรือไม่ ได้ทันที ผ่านการใช้กล้องสมาร์ทโฟน เพียงกดเข้าเมนูที่เขียนว่า 24h Realtime สแกนเห็ด แอปพลิเคชั่นจะนำไปยังกล้องสมาร์ทโฟน เพื่อให้สแกนภาพหรือถ่ายภาพเห็ดที่ผู้ใช้มีความสงสัยว่าเป็นเห็ดชนิดทานได้หรือมีพิษ ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะปรากฎผลทันทีใน 3 ลักษณะ ดังนี้ ถ้าภาพเห็ดไม่ชัดเจนจะปรากฎข้อความว่า N/A ระบุไม่ได้ ถ้าเป็นเห็ดที่สามารถรับประทานได้จะปรากฎข้อความชนิดเห็ดและสัญลักษณ์ภาพช้อนส้อมอยู่ในวงกลมสีเขียว และถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะปรากฎข้อความชนิดเห็ดและสัญลักษณ์ภาพหัวกระโหลกอยู่ในวงกลมสีแดง         หลังจากนี้ไม่ต้องกังวลแล้วว่าเห็ดที่ซื้อมาจากตลาดหรือเห็ดที่เจอในป่า จะทำให้เกิดอันตรายจากการรับประทาน เพราะแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” สามารถตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ให้กับคนไทยในการแยกแยะเห็ดที่รับประทานได้กับเห็ดที่มีพิษได้มากจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ภูมิคุ้มกันกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

        ในช่วงชีวิตที่อยู่บนดาวดวงนี้ของผู้เขียน ไม่เคยพบปรากฏการณ์ใดที่ทำให้คนทั้งโลกเครียดได้เท่ากับการระบาดของเชื้อไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวปลายปี 2019 ซึ่งเรียกว่าโรค COVID-19 ตลอดมาจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้คือ ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 เหตุการณ์อาจดูดีขึ้นบ้างในบางส่วนของโลก แต่จำนวนของคนที่ตายด้วยโรคนี้คงต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า สูง แม้ว่าจะไม่สูงเท่าในอดีตสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังพัฒนาไม่ดีเท่าปัจจุบันที่มีคนตายเป็นหลายล้านคนเนื่องจากไข้หวัดใหญ่สเปนใน ค.ศ. 1918         สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าการติดเชื้อและการตายเนื่องจาก COVID-19 จะลดลงหรือไม่นั้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในแต่ละส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติหรือภูมิคุ้มกันซึ่งถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ในประการหลังนี้ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความหวัง ซึ่งจะสมหวังหรือผิดหวังนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้ในตอนนี้         แม้ว่าความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนนั้นดูให้ความหวังค่อนข้างมากเพียงแต่ต้องรอเวลาเท่านั้น สำหรับประการแรกคือ การที่ประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เองนั้นก็เป็นความหวังที่น่าสนใจ แต่ความหวังนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ที่แน่ๆ คือ ความแข็งแรงของประชาชนแต่ละคนจะแปรตามพฤติกรรมความเป็นอยู่ในสังคมนั้นว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังในบางประเทศ         มีประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอีกประการคือ ความเจริญของประเทศก็เป็นปัจจัยที่น่าจะกำหนดความเสี่ยงเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีการฉีดวัคซีน BCG เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค ซึ่งเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันแล้วน่าจะมีผลพลอยได้ในการป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันแบบฆ่าสิ่งแปลกปลอมไม่เลือกด้วยเม็ดเลือดขาวบางประเภทนั้น ดูว่าจะกระตุ้นได้ดีและยืนยาวด้วย ดังนั้น BCG จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ติดเชื้อหรือตายน้อยกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วและเลิกการฉีดวัคซีน BCG ให้เด็ก (ดูได้จากลำดับจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตเนื่องจาก COVID-19 ที่ประกาศแต่ละวัน)         ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) นั้นเป็นประเด็นความรู้ใหม่ของผู้เขียน อาจเนื่องจากไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนักในความรู้เบื้องต้นของวิชาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (เมื่อนานมาแล้ว) ที่ได้เรียนมา ผู้เขียนเข้าใจว่าประเด็นนี้คงอยู่ในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคซึ่งใช้ความรู้ทางระบาดวิทยาซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจนัก แต่ในช่วงของการระบาดของ COVID-19 นั้น เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่นี้ได้เป็นประเด็นที่บางประเทศทางยุโรปยกขึ้นมาเป็นแนวทางหนึ่งในการพยายามควบคุมโรคนี้        แนวคิดเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ นั้นได้จากการสังเกตว่า การที่คนซึ่งหายป่วยแล้วไม่ป่วยซ้ำหรือคนที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ป่วยนั้นเกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย เพราะเมื่อไม่มีใครป่วยเชื้อโรคก็ไม่มีการเพิ่มจำนวนและไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เสมือนได้เกิดภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มประชากรในสังคมนั้น ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่จึงดูว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการป้องกันประชากรที่อ่อนแอ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ในทางอ้อมจากโรคระบาด         มีข้อสงสัยว่าภูมิคุ้มกันหมู่เกิดได้ไหมกับคนไทยปัจจุบันนี้        เนื่องจากในหลักการแล้วภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดได้ต้องมีการติดเชื้อในประชากรอย่างน้อย 60-70 % ก่อน ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียนแล้วเมื่อพิจารณาการบริหารการติดเชื้อของประเทศไทย ซึ่งพยายามควบคุมและแนะนำให้คนไทยห่างไกลโรค (ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ถูกต้อง) โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่คงยาก         ในอดีตภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกป้องกันนั้น ประสบความสำเร็จในเรื่องของไข้ทรพิษ โปลิโอ หัด และคางทูม โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้นานหลายสิบปี อย่างไรก็ดีเรายังขาดหลักฐานที่จะระบุว่า ภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นอยู่ในร่างกายคนนานเพียงใด         ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการหวังพึ่งภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ต้องมีประชากรติดเชื้อบ้างและประชากรนั้นต้องเป็นประชากรที่แข็งแรงจนไม่ตายหลังติดเชื้อ จนมีภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 ได้เป็นอย่างดี ความน่ากังวลนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานใดกล้าพูดว่า ประเทศไทยมีประชากรที่แข็งแรงพร้อมสู้ไวรัสด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเป็นเท่าใดและอยู่ส่วนไหนของประเทศบ้าง        การมีร่างกายแข็งแรงพร้อมถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อนั้น มีปัจจัยหลายประการที่จำเป็น เช่น การกินอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ (ปัจจุบันเรายึดแนวทางการกินอาหารครบห้าหมู่ในแต่ละวัน) การนอนหลับพักผ่อนที่พอเพียง การขับถ่ายที่เป็นปรกติและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายหรือได้ออกแรงทุกวันอย่างพอเพียงจนร่างกายแข็งแรงไม่ติดเชื้อเช่น หวัด ในฤดูที่มีการระบาด         ตัวอย่างดัชนีชี้วัดที่อาจแสดงว่า ไทยพร้อมหรือไม่ที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ความไม่มีระเบียบในการแย่งกันซื้อเหล้าทันทีที่มีการคลาย lockdown (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเหล้าทำลายตับ อวัยวะที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน) ความแออัดของการไปโรงพยาบาลในแต่ละวันก่อนและหลัง COVID-19 มาเยือน การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการที่รัฐจ่ายเช่น กรณีประกันสังคม บำนาญ หรือแม้แต่การใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งมากเหลือล้นและแสดงว่าคนไทยป่วยมากเหลือเกิน                    ในด้านการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนนั้น จำนวนสถานที่ออกกำลังกายทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงอัตราค่าบริการในประเทศไทยนั้นยังดูไม่น่าพอใจ อีกทั้งอัตราการใช้สถานออกกำลังกายซึ่งอาจรวมถึงการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกายยังดูต่ำอยู่ สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความหลงผิดของสังคมที่คิดว่า e-sport เป็นของดีเพื่อใช้แก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม (ทั้งที่จริงแล้วควรต่อต้านเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนลดการออกแรงกายเพื่อสุขภาพและทำลายสุขภาพตา จนถึงภาพรวมของสุขภาพที่ทำให้เข้าข่ายนั่งนานตายเร็ว)         เรื่องของการมีภูมิคุ้มกันทั้งเนื่องจากการติดเชื้อแล้วไม่ตายหรือได้รับวัคซีน (ถ้ามีในอนาคต) เป็นเรื่องสำคัญในบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่ง ดร. แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติกล่าวไว้ในเดือนเมษายน 2020 ว่า เป็นไปได้ที่ในอนาคตสหรัฐจะพิจารณานโยบายการมีบัตรผ่านทางสำหรับผู้ที่มีแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเรียกว่า Immunity Passport และจากนั้นราวปลายเดือนเมษายนประเทศชิลีและประเทศเยอรมันก็มีแนวคิดที่จะออก "บัตรภูมิคุ้มกัน" (Immunity Cards) เพื่อให้คนที่ติดเชื้อและหายแล้วสามารถกลับไปทำงานนอกบ้านได้         ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020 ว่า อย่าได้เชื่อเกี่ยวกับกระแสข่าวลือที่บางประเทศจะออก“immunity passport” แก่ประชากรที่ได้รับการระบุว่า มีภูมิคุ้มกันต้านไวรัส SARS-CoV-2 เพียงเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปทำงานหรือเดินทางได้อย่างเสรี เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อใหม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 26 เมษายนว่า ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อนั้นมีแอนติบอดีต่อสู้กับเชื้อไวรัสสูงแค่ในบางคน ในขณะที่บางคนกลับมีระดับแอนติบอดีต่ำในกระแสเลือด         สิ่งที่องค์การอนามัยโลกกังวล         การที่คนซึ่งทราบว่าตนเองมีระดับของแอนติบอดีสูงในขณะตรวจด้วย rapid tests อาจละเลยในการควบคุมตนเองให้มีระยะห่างในการติดต่อกับผู้อื่น และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไปแม้ไม่มีอาการ ทั้งนี้เพราะ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ การตอบสนองของร่างกายในการสร้างแอนติบอดีนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจนัก ประการหนึ่งที่สำคัญและยังไม่มีความแน่ใจคือ โปรตีนที่เป็นแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 นั้นมีอายุได้นานเพียงใด และเมื่อใดจะถูกทำลายลง ซึ่งตอนนั้นร่างกายคงเหลือเพียง memory cell เพื่อปกป้องการติดเชื้อซ้ำ         การสร้างแอนติบอดีต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้นได้รับการยืนยันจาก Kara Lynch นักวิจัยจาก University of California, San Francisco ที่ศึกษาน้ำเลือดของผู้ติดเชื้อแล้วราว 100 คน ซึ่งได้รับการบำบัดโรคที่ที่ Zuckerberg San Francisco General Hospital โดยใช้วิธีเดียวกับที่ใช้ที่ประเทศจีนซึ่งสามารถเลือกตรวจเฉพาะโปรตีนที่จับกับ spike protein ของ SARS-CoV-2 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไข้สามารถสร้างแอนติบอดีได้ในช่วง 2-15 วันหลังมีอาการป่วย (ข้อมูลการศึกษาในจีนกล่าวว่า 10-15 วัน) โดยแอนติบอดีที่เกิดก่อนคือ IgM จากนั้นจึงเป็น IgG (ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี) นอกจากนี้มีข้อมูลจากการศึกษาอื่นๆ ว่า แอนติบอดีนี้คงสภาพในระบบเลือดนานอย่างน้อย 2 อาทิตย์         เนื่องจาก COVID-19 นั้นเพิ่งมีการระบาดได้เพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นประเด็นที่ยังไม่มีการกล่าวถึงคือ เรื่องของ memory cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนที่ถูกกระตุ้นให้รู้จักเชื้อโรคที่เคยเข้าสู่ร่างกายแล้วพร้อมสร้างแอนติบอดี (memory B-cell) หรือปรับตัวให้เป็นเม็ดเลือดขาวพร้อมสู้เชื้อ (memory T-cell) ได้เร็วเพียงใดเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งว่าไปแล้วข้อมูลลักษณะนี้จะแสดงได้เมื่อมีการผลิตวัคซีนแล้วฉีดแก้ประชากรทั่วไป         มียกประเด็นเกี่ยวกับ memory cells ที่เกิดจากโรค SARS ซึ่งเกิดจาก SARS-CoV ซึ่งเป็น  coronavirus กลุ่มใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในงานวิจัยเรื่อง Lack of Peripheral Memory B Cell Responses in Recovered Patients with Severe Acute Respiratory Syndrome: A Six-Year Follow-Up Study ในวารสาร Journal of Immunology ปี 2011 ว่า คนไข้ 23 คน ที่เคยเป็นโรค SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003 นั้นมีทั้ง memory B-cell และ memory T-cell แต่เฉพาะ memory T-cell ของคนไข้ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ตอบสนองต่อโปรตีนซึ่งแสดงความเป็นแอนติเจนของ SARS-CoV        ดังนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าคุณสมบัติของวัคซีนต้าน COVID-19 จะเป็นอย่างไร โดยทุกคนต่างหวังว่ามันคงไม่ต่างจากกรณีของฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่ก่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันได้นานถึงราว 88 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่น่าไว้ใจพอกับโควิด

        ปิดเทอมหน้าร้อนนี้ปีนี้เป็นการปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดเนื่องจากพิษโควิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอน แต่การให้มีวันหยุดเพิ่มก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแค่ชั่วคราว เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเปิดเทอมให้มาเรียนกันอยู่ดี แต่ครั้นจะปล่อยให้นักเรียนมารวมตัวกันโดยไม่มีมาตรการป้องกันทั้งที่ไวรัสโควิด 19 ยังไม่ไปไหนก็คงไม่ดีนัก แนวคิดการเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นทางออกแบบเร่งด่วนในยุคนี้         แม้การเรียนออนไลน์จะมีข้อดีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงเรียน แต่ข้อเสียที่สำคัญกว่าคือยังมีเด็กจำนวนมากที่ขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ออนไลน์ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ขาดคุณภาพชีวิตที่ดีในการเข้าถึงอาหารโรงเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสหรือยากจน รวมถึงภาระความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่มีเวลามาเฝ้าลูกเรียนออนไลน์ได้          จากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ภาพรวมสถิติในปี 2562 ระบุว่า มีนักเรียนในระบบ 10,938,698 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 1,705,205 คน คิดเป็น 16%  ประถมศึกษา 4,730,416 คน คิดเป็น 43% มัธยมศึกษาตอนต้น 2,270,657 คน คิดเป็น 21% มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,204,249 คน คิดเป็น 11% และอื่นๆ 1,028,101 คน คิดเป็น 9%         ขณะที่มีสถานศึกษาหรือโรงเรียนทั่วประเทศอยู่ 41,246 แห่ง  นั่นหมายความว่าจะมีนักเรียนเกือบ 11 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากมาตรการเรียนออนไลน์ในครั้งนี้ แม้แนวทางนี้เป็นเรื่องที่ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะให้นักเรียนทั่วทั้งประเทศเรียนในรูปแบบออนไลน์สักเท่าไรนัก         นอกจากมาตรการความปลอดภัยที่จะต้องเตรียมป้องกันขั้นสูงสุดสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว รูปแบบการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดเช่นกัน กรณีที่ผู้ปกครองมาส่งเองคงไม่มีอะไรมาก แต่หากเป็นนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะหรือรถรับส่งนักเรียนที่ในแต่ละครั้งต้องแออัดเบียดเสียดกันแน่นรถ อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างการเดินทางได้หากมีการระบาดของไวรัสโควิด19         ทำให้กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องรถรับส่งนักเรียนต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 นอกเหนือจากการกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างในรถโดยสารสาธารณะอยู่แล้ว โดยกำหนดให้คนขับรถรับส่งนักเรียนต้องมีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประจำรถ การทำความสะอาดก่อนและหลังการให้บริการแต่ละรอบ ลงทะเบียนบันทึกข้อมูลนักเรียนที่ใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19          ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งเลือกที่จะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน โดยขอความร่วมมือให้แบ่งการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนเป็นสองรอบ เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของนักเรียนบนรถ กำหนดจุดจอดรถรับส่งนักเรียนเพื่อให้เป็นระเบียบและสะดวกสอดคล้องกับมาตรการป้องกันของโรงเรียนเพิ่มเติม            จากความร่วมมือของทุกคนที่ช่วยกันตั้งการ์ดอย่างเต็มที่ ส่งผลให้สถานการณ์หลังเปิดเทอมสองอาทิตย์ สถิติด้านสุขภาพของนักเรียนดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากจะหยุดโควิดไม่ให้มาแล้ว โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้ต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย เรียกได้ว่างานนี้ต้องชื่นชมปรบมือให้กับทุกคนจริงๆ         ส่วนสิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้คือ ผลกระทบจากโควิด 19 อาจทำให้ผู้ปกครองบางส่วนกังวล ไม่อยากให้บุตรหลานใช้รถโดยสารสาธารณะหรือรถรับส่งนักเรียน แต่เลือกให้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางไปโรงเรียนแทน แม้จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างเดินทางได้บ้าง กลับกันก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนให้กับนักเรียนเช่นกัน เพราะอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตของเยาวชนไปจากครอบครัว และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 นำทองไปขาย ต้องระวังเรื่องการหักค่าเสื่อม

        ทองคำราคาพุ่งไม่หยุด คนที่มีเก็บไว้ตอนราคายังไม่ถึงสองหมื่นหรือสองหมื่นนิดๆ ก็สนใจนำมาขายหวังกำไร แต่อาจผิดหวังเพราะโดนหักค่าเสื่อมที่ทำให้กำไรในฝันลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทราบไว้         คุณดีพร้อม นำทองรูปพรรณหนัก 2 บาท ไปขายที่ร้านทองร้านหนึ่งในเมืองภูเก็ต โดยราคาทองที่ประกาศรับซื้อ ณ วันนั้น คือ 26,000 บาท แต่ทางร้านแจ้งว่าจะถูกหักค่ากัดกร่อนจำนวนบาทละ 1,000 กว่าบาท เมื่อคำนวณเป็นราคารับซื้อจะได้เงินเป็นจำนวนเพียง 48,800 บาท ซึ่งผิดไปจากที่คุณดีพร้อมคาดไว้มาก อีกทั้งสงสัยว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เพราะตนเองเคยโทรไปถามจากร้านเดิมที่ตนเองเคยซื้อ (แต่ไกลบ้าน) ทางร้านเดิมบอกว่าขายที่ร้านนี้ก็ได้ราคา 26,000 บาท ประกอบกับเพื่อนของตนเองนำทองรูปพรรณไปขายร้านอื่นก็ได้ราคาสูงกว่าผู้ร้องถึง 700 บาทในน้ำหนักสองบาทเท่ากัน (49,500 บาท)         ร้านนี้เอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ คือความสงสัยของคุณดีพร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหา          ก่อนอื่นเราควรทราบข้อมูลการรับซื้อทองรูปพรรณก่อน         ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทองที่เป็นธรรม         ข้อ 3 (1) (ค) 2) ทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน คือ ราคารับซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท หักด้วยค่าเสียหายจากการหลอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เกิน 5% ของมูลค่าซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท ณ วันที่ทำการซื้อขายตามราคาที่สมาคมค้าทองคำประกาศ ทั้งนี้เฉพาะทองรูปพรรณที่ได้ซื้อไปจากร้านค้าทองที่รับซื้อคืน         กรณีของคุณดีพร้อม เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากทางร้านค้าที่คุณดีพร้อมมีข้อสงสัยเรื่องการเอาเปรียบ ทราบว่าราคาทองที่ประกาศรับซื้อคืนวันนั้นคือ บาทละ 26,550 บาท น้ำหนักทองสองบาททางร้านจะให้ราคา 53,100 หากเป็นราคาน้ำหนักเต็มจำนวน เมื่อหัก 5% คือ 2,655 บาท จะเหลือ 50,445 บาท แต่ที่แจ้งผู้ร้องว่า จะได้เงินเพียง 48,800 บาทนั้น เนื่องจากทางร้านได้กำไร 1,645 แต่ทางร้านต้องนำไปขายคืนโรงงานเพราะไม่สามารถหลอมเองได้ และทางโรงงานจะหักค่ากัดกร่อนของทองคำเก่าในอัตรา 3.5-4.5 % บวกกับค่าใช้จ่ายที่ทางร้านทองต้องจ่ายเป็นค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าน้ำหนักทองที่หายไป (ปกติทองคำรูปพรรณหนัก 2 บาท 30.4 กรัม แต่ทองของผู้ร้องมีน้ำหนักเหลือเพียง 30.31 กรัม)         รายละเอียดดังกล่าว คุณดีพร้อมยอมรับว่าตนเองไม่ทราบข้อมูลนี้มาก่อน จึงยุติการร้องเรียน แม้ว่ามีประกาศเรื่องการหักค่ากัดกร่อนตามประกาศได้ไม่เกิน 5% แต่ตามประกาศไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ เป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติของร้านค้าทองคำ ทำให้ร้านทองบางร้านอาจเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายมากกว่า 5 %  แต่อย่างไรก็ตามทางร้านควรชี้แจงรายละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่ขายในราคาที่ร้านเสนอ

อ่านเพิ่มเติม >




ฉบับที่ 232 โมโครเวฟพร้อมกริล

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเตาไมโครเวฟพร้อมฟังก์ชั่นปิ้งย่าง องค์กรผู้บริโภคในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบในนามขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) เอาไว้มากกว่า 80 รุ่น แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดและเราจึงขอเลือกรุ่นความจุระหว่าง 20 – 40 ลิตร มาให้สมาชิกได้พิจารณากัน 15 รุ่น         คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย         ร้อยละ 55       ประสิทธิภาพการใช้งาน เช่น ละลายน้ำแข็ง ปิ้งย่าง และอุ่นร้อน         ร้อยละ 40       ความสะดวกในการใช้งาน เช่น เลือกโปรแกรม ตั้งเวลา หยิบภาชนะ การมองเห็นอาหารขณะใช้งาน เสียงรบกวน การทำความสะอาด ฯลฯ)           ร้อยละ   5       การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ          สนนราคาของเตาไมโครเวฟเดี๋ยวนี้ลดลงมาก เราสามารถหารุ่นที่ใช้งานได้ดีด้วยงบประมาณไม่เกิน 3,000 บาท  ใครชอบใช้งานด้านไหนเป็นพิเศษพลิกดูคะแนนการทำงานฟังก์ชั่นต่างๆ ในหน้าถัดไปได้เลย (ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร) หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายในการทดสอบเตาไมโครเวฟแต่ละรุ่นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 550 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point