ฉบับที่ 232 โมโครเวฟพร้อมกริล

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเตาไมโครเวฟพร้อมฟังก์ชั่นปิ้งย่าง องค์กรผู้บริโภคในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบในนามขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) เอาไว้มากกว่า 80 รุ่น แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดและเราจึงขอเลือกรุ่นความจุระหว่าง 20 – 40 ลิตร มาให้สมาชิกได้พิจารณากัน 15 รุ่น         คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย         ร้อยละ 55       ประสิทธิภาพการใช้งาน เช่น ละลายน้ำแข็ง ปิ้งย่าง และอุ่นร้อน         ร้อยละ 40       ความสะดวกในการใช้งาน เช่น เลือกโปรแกรม ตั้งเวลา หยิบภาชนะ การมองเห็นอาหารขณะใช้งาน เสียงรบกวน การทำความสะอาด ฯลฯ)           ร้อยละ   5       การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ          สนนราคาของเตาไมโครเวฟเดี๋ยวนี้ลดลงมาก เราสามารถหารุ่นที่ใช้งานได้ดีด้วยงบประมาณไม่เกิน 3,000 บาท  ใครชอบใช้งานด้านไหนเป็นพิเศษพลิกดูคะแนนการทำงานฟังก์ชั่นต่างๆ ในหน้าถัดไปได้เลย (ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร) หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายในการทดสอบเตาไมโครเวฟแต่ละรุ่นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 550 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 สารกันบูดและปริมาณไขมัน ในสลัดครีม

        สลัดผักอาจถูกเลือกเป็นอาหารเย็นมื้อเบาๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยากควบคุมน้ำหนักและสายรักสุขภาพ ผักสดหลากสีสันให้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนน้ำสลัดในห้างสรรพสินค้าก็มีให้เราเลือกซื้ออยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งน้ำสลัดแบบอิตาเลียน ฝรั่งเศส บัลซามิค ซีซาร์ เทาซันไอร์แลนด์ หรือจะเป็นน้ำสลัดงาสไตล์ญี่ปุ่น แต่ที่ดูคลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘สลัดครีม’ ที่มีเนื้อครีมเข้มข้นหอมมัน เป็นน้ำสลัดขวัญใจผู้บริโภคชนิดยืนพื้นที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงเลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม จำนวน 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) และปริมาณไขมันเพื่อเอาใจผู้บริโภคสายผักที่รักสุขภาพสรุปผลการทดสอบ·      ผลทดสอบปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม         พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) น้อยที่สุด ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) มากที่สุด ได้แก่ สลัดครีม คิวพี จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม ·      ผลการตรวจวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก        จากผลการทดสอบ พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีม จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่        1) Heinz ไฮนซ์ สลัดครีม สูตรต้นตำรับ จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน        2) EZY FRESH อีซี่เฟรช น้ำสลัดครีม  จาก 7-Eleven สาขาสยามอินเตอร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ         3) สุขุม สลัดครีม  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอนและ  4) สลัดครีม คิวพี  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน         ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกัน เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ   664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และตรวจพบปริมาณกรดซอร์บิก   เท่ากับ 569.47  มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ  1,233.61  มิลลิกรัม/กิโลกรัม         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน หากการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         ข้อสังเกตสำคัญ จากผลการสำรวจฉลากพบว่า ผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากให้ผู้บริโภคทราบทุกตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ข้อแนะนำ        ในการเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่างๆ อยู่ที่ 30 กรัม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ผลิตภัณฑ์กันยุงชนิดปลอดจาก DEET

        เข้าหน้าฝนยุงเริ่มเป็นปัญหากวนใจ ดังนั้นแม้โรคโควิด-19 ยังต้องระวัง แต่ต้องไม่ลืมปัญหาไข้เลือดออกจากยุงลายที่เป็นพาหะ หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุง การป้องกันยุงทำได้หลายวิธี ทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ การฉีดพ่นสเปรย์สารเคมีเพื่อฆ่ายุงโดยตรง หรือการใช้ยาจุดกันยุงแบบขดให้เกิดควันเพื่อไล่ยุง เรายังมีผลิตภัณฑ์ทากันยุงทั้งชนิดสเปรย์ ชนิดโลชั่นหรือปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ชนิดแผ่นแปะไล่ยุงออกมาเป็นทางเลือกเพื่อความสะดวกอีกด้วย  อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ทากันยุงส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่เรียกว่า DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ เพราะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงสูง แต่ก็มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เช่นกัน จึงมีผลิตภัณฑ์ชนิดปลอด DEET หรือการใช้สารธรรมชาติพวกน้ำมันหอมระเหยออกมาแข่งขันในตลาดมากขึ้น        ฉลาดซื้อเคยสำรวจผลิตภัณฑ์ทากันยุงไว้ในฉบับที่ 187 (ผู้อ่านสามารถดูผลการสำรวจได้ที่ www.ฉลาดซื้อ.com) ซึ่งส่วนใหญใช้ DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ และตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพิ่มขึ้น ดังนั้นฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสำรวจเพิ่มในส่วนของผลิตภัณฑ์ทากันยุง/ป้องกันยุง ที่ปลอดจากสาร DEET พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อปริมาตรเพื่อเป็นข้อมูลใน สารทากันยุงชนิดอื่นนอกจาก  DEET        ·  น้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) เป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอม จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม ควรปิดฝาให้สนิท อย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟหรือความร้อน        ·   พิคาริดิน (Picaridin, KBR3023) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง หากมีความเข้มข้นสูง เช่น 20% จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ DEET แต่ระยะเวลาสั้นกว่า        ·   น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of Lemon eucalyptus) ซึ่งมีพีเอ็มดี (PMD: P-menthane-3,8-diol) เป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพเป็นครึ่งหนึ่งของ DEET เช่น PMD 30% มีประสิทธิภาพเทียบเท่า DEET 15%        ·   ไออาร์ 3535 (IR3535: Ethyl butylacetylamino propionate) เป็นสารสังเคราะห์ จากการศึกษาหนึ่งพบว่า IR3535 มีประสิทธิภาพรองจาก DEET และ Picaridin         ·   ไบโอยูดี (BioUD: 2-undecanone) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) การใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงเพื่อความปลอดภัยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดไม่ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอตหรือพิคาริดิน มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเข้มข้นของสารเคมีในระดับดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงมากขึ้นและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ทายากันยุง (แต่อาจต่ำกว่า 4 ปีได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์)ควรคอยเฝ้าดูขณะเด็กใช้ยาทากันยุง และหลีกเลี่ยงการทายากันยุงบริเวณมือเด็ก เพราะเสี่ยงต่อการนำนิ้วเข้าปากหรือขยี้ตาไม่ควรทายากันยุงบริเวณที่เป็นแผลไม่ควรใช้สเปรย์กันยุงฉีดใบหน้าโดยตรง ควรฉีดพ่นลงบนฝ่ามือก่อนนำมาทาบนใบหน้า หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตาและริมฝีปากไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างครีมกันแดดและยาทากันยุง เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการทายากันยุงซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไปที่มา https://www.pobpad.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะในการแสดงความเห็นออนไลน์

        ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มรีวิวเรื่องต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับใคร ในเรื่องใดก็ได้ แต่เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับคนที่เรากำลังวิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเห็นแบบไม่ระบุชื่อ อาจทำให้หลายคนแสดงความเห็นด้วยความโกรธ ความผิดหวัง หรือเกลียดชัง โดยไม่มีการกลั่นกรอง แต่การใช้แพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ไม่ต่างจากการใช้รถใช้ถนนบนโลกจริง การแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงกฎและมารยาทเช่นกัน         ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การเขียนสิ่งที่เป็นโดยไม่ตรงกับความจริงนั้นอาจมีผลทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องที่เราอาจจะมองข้าม เช่นการเขียนวิจารณ์ว่า "ผมว่าพิซซ่าร้านนี้ไม่อร่อย" นั้นถือเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเขียนว่า "ร้านนี้เอาพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นให้ลูกค้า" อาจเข้าข่ายการใส่ความ หากทางร้านไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง ความแตกต่างระหว่าง การแสดงความคิดเห็นและการตั้งข้อกล่าวหา อาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่         ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น เราควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้        1. ตั้งอยู่บนความจริง        การวิพากษ์วิจารณ์ร้านค้าหรือบริการต่างๆ นั้นได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรม พยายามกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง  ระวังอย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวกำหนด เพราะอาจทำให้ความเห็นของเรากลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมาย        2. การเปิดเผยข้อมูล        เมื่อเข้าใช้ระบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้คิดอย่างรอบคอบว่าใครอ่านความเห็นของเราได้บ้าง ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อดูว่าใครสามารถเข้ามาดูข้อมูลโปรไฟล์และกิจกรรมของเราได้        3. อย่าใช้อารมณ์นำ        ถ้าเราได้แสดงความเห็นออกไป ที่เข้าข่ายดูถูกเหยียดหยามหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ขอให้รีบลบโพสต์นั้นโดยเร็วที่สุด อย่าเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าถูกส่งต่อไป อาจทำให้ถูกออกจากงานได้         โดยทั่วไปไม่มีใครต้องกังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นในด้านลบ ถ้าสิ่งที่กล่าวนั้นเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความจริงและเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการแล้วการวิจารณ์ไม่ควรมุ่งทำร้ายผู้อื่นหรือเป็นการแก้แค้น        วิจารณ์อย่างไรให้ได้ผล        · แนะนำว่าปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะเขียนแค่ว่าอะไรต้องปรับปรุง หรือแค่ติว่าอะไรไม่ดี        · วิจารณ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัสหรือประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น        · เน้นว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเราเอง เช่น "ผมคิดว่ากาแฟเข้มไปหน่อย"        · ไม่อ้างข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        · ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล (อาจมีข้อยกเว้น)        สำหรับเจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำงานกับผู้คนนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประเมินและวิพากษ์วิจารณ์เสมอ  โดยทั่วไปผู้มีอาชีพในกลุ่มนี้ ต้องยอมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับบริการของพวกเขา แต่เมื่อพบเจอกับการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีจัดการเบื้องต้นดังนี้         · ในคำวิจารณ์ที่รุนแรง มักมีคำแนะนำที่นำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้ซ่อนอยู่เสมอ        · ระบบโซเซียลหรือแพลตฟอร์มบางแห่ง อนุญาตให้เจ้าของกิจการเข้าไปชี้แจงต่อคำวิจารณ์ได้ ให้รีบเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง จะสามารถลดความเสียหายจากความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมได้        · หากพบคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของแพลทฟอร์มนั้นโดยตรง ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องให้ทางกฏหมายจัดการ        · สำหรับเรื่องที่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ควรไปแจ้งความ         ผู้รับคำวิจารณ์ควรตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตมักจะแตกต่างจากการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเสมอ การที่ไม่ต้องระบุตัวตนอาจทำให้ผู้วิจารณ์ขาดความระมัดระวังในการใช้คำพูด ส่วนทางผู้วิจารณ์เองก็ควรจะระลึกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน ควรยึดหลักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ถูกวิจารณ์ได้นำความคิดเห็นนั้นไปใช้ปรับปรุงบริการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง

        ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง         จากกรณีองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ (PETA) ออกมาให้ข้อมูลและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ถอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าวของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการผลิตมีการทารุณกรรมสัตว์ ด้วยการใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ซึ่งเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้รับทราบจากที่ประชุม “ความร่วมมือในการแก้ปัญหามะพร้าวและกะทิ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะได้มีการอภิปรายและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิ อย่างกว้างขวาง          ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนของเวทีดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านรับทราบและพิจารณาไปด้วยกัน แน่นอนว่าปัญหาเกี่ยวกับมะพร้าวของไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกเหนือไปจากกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยขอแยกเป็นประเด็นๆ คือ         ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว         เรื่องนี้ “ตัวแทนผู้ประกอบการ” ระบุว่า ทางยุโรปมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานสัตว์ แม้ว่าทางผู้ผลิตจะพยายามส่งหนังสือชี้แจงว่า นี่คือวัฒนธรรม และที่สำคัญลิงเหล่านี้ได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บจะจำหน่ายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งออก แต่ทางยุโรปยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และนำมาสู่การเคลื่อนไหวถอดกะทิกล่องออกจากชั้นวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ         ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ และนายพรชัย เขียวขำ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2555  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ก็พบว่าลดเหลือ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2557-2562 ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 พบว่าเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าว 1.2 ล้านไร่ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าในปี 2563พื้นที่ปลูกมะพร้าวเหลือเพียง 7.6 แสนไร่ เท่ากับว่าลดลงไป 40% ภายในปีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการสำรวจผิดพลาดหรือไม่          คุณจินตนา แก้วขาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไม่ได้ลดลง แต่วิธีการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารไปให้เกษตรกรกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเกษตรกรอกข้อมูลไม่เป็น ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเซ็นชื่อและทำแบบประเมินนั้นเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่พบพื้นที่ลดลงเพราะ 1.มีการครอบครองสวนบนที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เช่น ที่ สปก. จึงไม่กรอกตามจริง 2.ไม่ยอมแจ้งเพราะครอบครองเยอะ 3. ไม่แจ้งเพราะกลัวเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่า สศก.ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ตรงกัน           ต้นทุนการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรคือ 5 บาท หรือ 8 บาท         คุณนุกูล ลูกอินทร์ ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอทับสะแก ระบุว่าตามหลักของ สศก. เมื่อปี 2562 ได้จัดทำต้นทุนมะพร้าวอยู่ที่ 6.80 บาท บวกเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 8-9 บาท พร้อมตั้งคำถามว่ากำไร 20% ของต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากมีพื้นที่ปลูกเยอะอาจจะอยู่ได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกเพียง 10-50 ไร่ อาจจะลำบาก เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะขายมะพร้าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคิดอัตราขายที่ 20 % จากต้นทุนเดือนละครั้งเท่ากับว่ามีรายได้น้อยมาก ยกตัวอย่างมะพร้าว 1 ลูก ต้นทุน 8 บาท ขายได้ 10 บาท กำไร 2 บาท ถ้าขายมะพร้าว 1,000 ลูก ก็ได้กำไรแค่ 2,000 บาทต่อเดือน         เพราะฉะนั้นจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าโรงงานซื้อมะพร้าวขาวประกันราคาต่ำสุดไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ประมาณ 2 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม โรงงานต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 24 บาท แต่ปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรของรัฐไม่สามารถเชื่อมหรือบริหารจัดการนำเข้าและของที่มีอยู่ในประเทศเพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในราคา 12-15 บาททั้งนี้ ตามที่สศก.ระบุว่าบวกเพิ่มต้นทุน 20% แต่ถ้ากำหนดต้นทุนราคาอยู่ที่ 5 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีต้นทุนแรกต่างกัน เช่น มะพร้าวทับสะแกมีต้นทุน 9 บาท แพงกว่าบางสะพานที่มีต้นทุน 7 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ราคาที่อยู่ได้ควรเป็น 7 บาท ดังนั้นการคิดราคาต้นทุนจะใช้วิธีคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัดไม่ได้         ปัญหาการผูกขาดการรับซื้อมะพร้าวโดยพ่อค้าคนกลาง         คุณนุกูล ยังบอกอีกว่า จากการหารือกันของกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ ยังมีความกังวลว่ามะพร้าวคุณภาพที่ผลิตออกมานั้นจะนำไปขายให้ใครได้บ้าง จะมีโอกาสขายตรงกับโรงงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ “อรหันต์” ได้หรือไม่ เพราะถูกกดราคา หรือการขายให้ “ล้ง” ก็ทำให้เกิดการเหลื่อมราคาตลาด ดังนั้นจึงจะมีทางใดหรือไม่ที่เกษตรกรจะขายมะพร้าวให้โรงงานได้โดยตรง และโรงงานสามารถประกาศราคาหน้าโรงงานให้ทราบได้หรือไม่         “ยืนยันว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต่อสู้เรื่องราคามะพร้าว ยืนยันไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของราคา เพราะหากราคาสูงเราก็หยุด เราต้องการสู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการแก้ไขในทุกมิติ หาทางออกร่วมกัน โรงงานกะทิก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้”         ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ         ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตมะพร้าวประมาณ 9 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดอยู่ประมาณ 2 แสนตัน แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเลขของภาครัฐ เช่น ชี้แจงตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็งว่า ปี 2560 นำเข้า 53 ล้านลิตร และปี 2561 นำเข้า 49 ล้านลิตร         อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่ามะพร้าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะข้น ไม่มีไขมัน เมื่อทำเป็นกะทิแล้วถูกตำหนิว่ามีการเติมแป้งลงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเติมแป้งแต่อย่างใด  ส่วนที่มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูปจากประเทศเวียดนาม ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์ ก็พบว่าคุณภาพไม่ผ่านตามมาตรฐาน         “มะพร้าวทับสะแก ทำเป็นกะทิดีที่สุดในแง่ของคุณภาพ ความหอม มัน จึงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตกะทิ ไม่มีใครอยากได้มะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะควบคุมคุณภาพยาก เสี่ยงเจอปัญหาแมลงหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่ามาจากเวียดนาม”          “กะทิ 100 % คือ กะทิที่มีไขมัน 17 %”         ศ.ดร.วิสิฐ ย้ำว่า ปัจจุบันกะทิกล่องที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีฉลากระบุ “กะทิ 100 %” ส่วนที่ส่งออกนั้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าว มีเพียงคำว่า “Coconut Extract” คือการสกัดโดยที่ไม่เติมน้ำ และมีการเติมน้ำภายหลัง         ทั้งนี้การผลิตกะทิไทยจะอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดว่า กะทิ (Coconut Milk) ต้องมีไขมัน 10-17 % ซึ่งผู้ผลิตควบคุมมาตรฐานไขมันอยู่ที่ 17% ดังนั้นจึงสามารถระบุในฉลากได้ว่าเป็น กะทิ 100% ส่วนหัวกะทิ (Coconut Cream) ต้องมีไขมันไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้าเขียนว่ากะทิ 100% คือมีไขมัน 17% นั้น แต่ถ้าเอามาคั้นดิบๆ โดยที่ไม่เติมน้ำจะมีไขมันประมาณ 32% บริษัทก็ใช้เป็นตัวคำนวณ และเป็นวิธีการที่เขียนบนฉลากในการส่งออก         อย่างไรก็ตาม การผลิตกะทิมีหลายสูตร มีทั้งเติม และไม่เติมอะไรลงไปเพิ่ม เช่น เติมน้ำมันมะพร้าวอาจจะมีปัญหาความไม่อร่อย หรือเติมอย่างอื่น เมื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้กะทิมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ หรือการเติมสารเพื่อให้กะทิเนื้อเนียน เมื่อนำไปทำกับข้าวกะทิจะไม่แยกชั้น เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากผสมอะไรลงไป ต้องระบุในฉลากด้วย หากไม่ได้ระบุไว้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น กะทิ UHT หากไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเมื่อใส่ไว้ในตู้แช่แข็งกะทิจะแยกชั้นเป็นก้อน หากมีการเติมสารลงไปกะทิจะมีเนื้อเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามกะทิที่ส่งต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวจะมีการเติมสารเพื่อให้กะทิคงสภาพเนื้อเนียนไม่แยกชั้น          โจทย์ในอนาคตของกะทิ          ศ.ดร. วิสิฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาด “กะทิ” มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น จึงมีการกำหนดข้อห้ามตามมาเยอะ เช่น ในยุโรปกำหนดห้ามใช้คลอรีน เพราะมีสารไนคลอเรทที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นหากมะพร้าวไทยยังมีการแช่คลอรีน หรือแช่น้ำแข็งในมะพร้าวขาว อาจจะเจอปัญหานี้ได้อีกในอนาคต         มีการวิจัยที่โรงงานว่า ถ้าทิ้งมะพร้าวไว้ให้แห้ง 8 ชั่วโมง โดยไม่แช่น้ำเลยก่อนนำมาคั้น จะทำให้ได้กะทิคุณภาพดีมาก ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีระบบบริหารจัดการความสะอาดโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำ เวลาส่งก็ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง น่าจะช่วยเพิ่มราคามะพร้าวให้มากขึ้นตามคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการแช่น้ำทำให้น้ำหนักมะพร้าวมากขึ้น          กะทิกับคลอเรสเตอรอล         นอกจากนี้ “ศ.ดร.วิสิฐ” ยังให้ข้อมูลด้านโภชนาการด้วยว่า มีการศึกษาวิจัยให้คนกินกะทิ คือ กินไขมันจากมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือน เทียบกับการกินน้ำมันถั่วเหลืองในระยะเวลาเท่ากัน พบว่ามีปริมาณคอเรสเตอรอลเท่ากัน  ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเสนอต่อองค์การอนามัยโลกว่าในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไขมันอิ่มตัวไม่ควรรวมไขมันจากมะพร้าวเข้าไปด้วย แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังปฏิเสธไม่ให้เข้าพบเพื่อส่งรายงานดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ จึงมีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบไม่ได้มีผลต่อระดับคอเรสเตอรอลแต่อย่างใด        ด้าน ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่าไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม           ขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้กินกะทิ และมีความเชื่อว่ากะทิทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกะทิถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นตัวที่ไปเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวิเคราะห์ลงลึก บวกกับงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวที่อาจปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อแดง คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ         คณะกรรมการพืชน้ำมัน         อาจารย์ปานเทพ กล่าวถึงประเด็นคณะกรรมการพืชน้ำมันว่าทำอย่างไรให้มีตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่รู้ปัญหาจริงๆ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้เสนอปัญหาของเกษตรกร ที่ผ่านมา “ตัวแทนเกษตรกร” นั้นเป็นตัวแทนของนักการเมือง หรือ ตัวแทนโรงกะทิ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่พูดคุย ไม่มีการนำเสนอประเด็นปัญหาของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขอย่างถูกจุด         “เราต่อสู้เรื่องหนอนหัวดำ เจาะต้น ฉีดยา เรามีมติของกลุ่มคนในกลุ่มของเราที่ไปเรียกร้อง ห้ามไปรับจ้างเจาะ ห้ามรับจ้างฉีด ทำอย่างไรให้มีการฟังเสียงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอย่างเป็นระบบ”         ต่อประเด็นนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่าตนไม่เห็นด้วยในการจัดมะพร้าวอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมัน เพราะมะพร้าวมีคุณค่ามากกว่านั้น มะพร้าวเป็นวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น และมีผลในเชิงนิเวศน์มาก  ในขณะที่พืชน้ำมันคือพืชที่เอาไปใช้เป็นพลังงานใช้เป็นอาหารผัด ทอด แต่มะพร้าวไม่ใช่ เป็นพืชนิเวศน์เชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นอนาคตสำหรับประเทศเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์การท่องเที่ยว มีคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่ามันคนละเรื่องเลยกับพืชน้ำมันอื่นๆ          ทางออกเกษตรกร         คุณวิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลายเรื่องมาจากหน่วยงานของรัฐกับนักการเมือง การกำหนดมาตรฐาน อย่างเรื่อง GI  เรื่องของการตรวจรับรองมาตรฐานล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งการรับรองมาตรฐานของไทยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งตามมาตรฐานของไทยจะใช้คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” แต่คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” ก็ไม่ถูกยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับ IFOAM แต่ก็มีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่รัฐจะให้ 1,500 บาทต่อไร่ หรือ 2,000 ต่อไร่ หรือถ้าไม่ใช้ “ออร์แกนิกไทยแลนด์” รัฐก็จะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้ แต่ถ้าใช้ก็มีเงินให้ แปลงละประมาณ 7,000 – 10,000 กว่าบาท         “หน่วยงานรัฐสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้ทั้งสิ้น เราต้องจัดการปัญหาเรื่องหน่วยงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคให้มาเกื้อกูลเกษตรกรให้ได้ คนของรัฐอยู่ภายใต้นักการเมือง ต้องต่อรองกับนักการเมืองและหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน เกษตรกรต้องมีเครือข่ายความร่วมมือเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดตรงนี้ไปลำบากทุกเรื่อง”         อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าราคาต้นทุนที่รัฐกำหนดในปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง จะต้องทบทวนใหม่ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มทำเกษตรที่ได้มาตรฐาน และมีตัวแทนเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกต่างๆ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ต้องเจรจาสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “มะพร้าวออร์แกนิก” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการรวมกลุ่มกันและค่อยๆ สื่อสารให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเอง และหากมีการทำการตลาดดีๆ ก็มีโอกาสที่จะขายได้ในราคาที่ดีต่อไป            ทางออกของผู้บริโภค                 ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยรู้แหล่งที่มาของอาหาร ลดการขนส่ง เป็นต้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “น้ำกะทิ” หรือ “หัวกะทิ” แทนการระบุว่า “กะทิ 100% Product of Thailand” แต่ยังคงระบุแหล่งที่มาว่าเป็นมะพร้าว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าที่ทำให้เกิดความมั่นคงและอธิปไตยในการผลิตอาหาร         รวมทั้งการบริโภคที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การหาช่องทางทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคตรวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง

        ปลาทูน่า (Tuna) เป็นปลาทะเลที่อยู่กันเป็นฝูง เคลื่อนที่ว่องไว อาศัยอยู่ตามเขตชายฝั่งและทะเลน้ำลึก ปลาทูน่าเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ติด 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภค โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมจับมาเป็นอาหาร นั้นมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna), ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna), ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) และ ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna) โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมนำมาทำปลากระป๋องถึงร้อยละ 58 คือ ปลาทูน่าท้องแถบ         นอกจากความนิยมรับประทานปลาทูน่าสดๆ อย่าง ซาชิมิ (Sashimi) กับ ซูชิ (Sushi) ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังนิยมนำปลาทูน่ามาทำปลากระป๋องอีกด้วย ปลาทูน่าอุดมไปด้วยโปรตีน และ โอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ลดไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ทั้งยังให้ไขมันต่ำและเป็นไขมันดี รวมถึงมีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี และเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่ย่อยง่ายอีกด้วย         ปลาทูน่ากระป๋องสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแซนวิชทูน่าที่เหมาะเป็นอาหารเช้า ผัดกะเพราทูน่า ทูน่าคอร์นสลัด ขนมจีนน้ำยาปลาทูน่า น้ำพริกทูน่ารับประทานคู่กับผักสด เป็นต้น แต่นอกจากความอร่อยของทูน่ากระป๋อง ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทะเล เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โดยเฉพาะปรอท ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดระบบการจัดการที่ดี ปล่อยโลหะหนักสู่สภาพแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร ทำให้สัตว์ทะเลปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านั้น และสุดท้ายก็เข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของเราผู้บริโภค          เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวนทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนพฤษภาคม 2563 นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ          จากผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องข้างต้น สรุปได้ว่า         ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ ตรวจพบปริมาณปรอท ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และ ตรวจพบปริมาณตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม         สำหรับการปนเปื้อนของแคดเมียม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลา ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม          ซึ่งจากผลทดสอบหากเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า        ปรอท (Mercury)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่          1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า                 ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลือง / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก.        - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่         1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.189 มก./กก.         ตะกั่ว (Lead)         สำหรับการตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.          แคดเมียม (Cadmium)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่                 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช / BigC สาขาสุขสวัสดิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ / FoodLand หลักสี่             ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก.          - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่      1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.029 มก./กก.         ทั้งนี้ ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า        ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 45 มิลลิกรัม          และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง / Tesco Lotus สาขา ถ.สุขสวัสดิ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 350 มิลลิกรัม  คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค        แม้ว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง ให้แคลอรีต่ำ แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต อันตรายที่ไกลตัว?

                มหากาพย์เรื่องยาวของการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) 2 ชนิด (พาราควอต และไกลโฟเซต) กับ สารกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง) 1 ชนิด (คลอร์ไพริฟอส) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ได้จบบทแรกลงไปแล้ว โดยที่ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ประกาศดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้สารเคมีประสบความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือสารเคมีอีก 1 ตัวที่ยังไม่ถูกแบน ซึ่งได้แก่ยาฆ่าหญ้า – ไกลโฟเซต ที่ยังอยู่ในการควบคุมระดับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือการจำกัดการใช้เท่านั้น         การคงอยู่ของการใช้ไกลโฟเซตในวงจรการผลิตนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตกค้าง ว่าจะมีการตกค้างของไกลโฟเซตหรือไม่ และถ้ามีจะมีมากน้อยเพียงใด “ฉลาดซื้อ” เลยถือโอกาสเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก เพื่อทดสอบหาการตกค้างของไกลโฟเซต มาให้หายสงสัยกัน อย่างไรก็ตามต้องแจ้งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบก่อนว่าผลการทดสอบครั้งนี้เป็นผลที่เก็บตัวอย่างและทดสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วมิใช่การทดสอบที่เพิ่งดำเนินการแต่ประการใด         การเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองรวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การทดสอบทำตามเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิงใช้ค่าการตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้จากมาตรฐานอาหารสากล (MRL CODEX : glyphosate 2006) ที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        สรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) (แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 3 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้าง (ร้อยละ 37.5) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์         นอกจากไกลโฟเซตแล้ว “ฉลาดซื้อ” ยังได้ตรวจสอบหาสารที่เป็นเมตาโบไลท์หลักของไกลโฟเซตชื่อ Aminomethyphosphonic acid: AMPA ซึ่งตรวจพบการตกค้างของ AMPA จำนวน 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.16 มิลลิกรัม/กิโลกรัม,   ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.79 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 4 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต         ข้อสังเกต จากทั้งหมดที่พบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างมี 3 อย่าง (ถั่วเหลืองตราไร่ทิพย์, ถั่วเหลืองซีกตราเอโร่, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท) ที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกันคือ บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด         แม้ว่าการตรวจพบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง (มี 1 ตัวอย่างเป็นถั่วเหลืองออร์กานิค) นั้น จะไม่มีตัวอย่างใดเลยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารสากล (ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 0.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แต่การพบการตกค้างหมายความว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ฯลฯ         การตกค้างที่ตรวจพบไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองในกลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะต้องสนใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบของอาหารของเราให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของฉลาดซื้อ คือ การแสดงฉลากโดยระบุว่า “ใช้ สาร….” (ในที่นี้คือไกลโฟเซต) ตรงส่วนประกอบของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเกินสมควรด้วยตนเอง         อย่างไรก็ตามความปลอดภัยของผู้บริโภค ณ ต้นทาง ย่อมสำคัญกว่าการจัดการที่ปลายทาง ฉลาดซื้อยังคงคาดหวังที่จะเห็นการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเช่นเดียวกันกับ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีส่วนร่วมโดยการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด โดยร่วมกันไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ให้เริ่มจากไกลโฟเซตเป็นลำดับแรก*ข้อมูลประกอบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%95 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ลิปสติกสีแดง

        ช่วงปลายปีที่แล้วนิตยสารเกอชัวร์ซีร์ Que Choisir  ซึ่งเป็นนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ได้ทำการตรวจหา “สารไม่พึงประสงค์” ใน “ลิปสติกสีแดง” ยอดนิยม 20 ยี่ห้อ หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทย ฉลาดซื้อเลยถือโอกาสนำมาเผยแพร่ให้สมาชิกสายบิวตี้ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ        การทดสอบซึ่งทำโดยห้องปฎิบัติการในกรุงเบอลิน เยอรมนี ครั้งนี้เป็นการตรวจหา        - โลหะหนัก ซึ่งมักพบในสารให้สี ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม พลวง และปรอท        -  สารไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมิเนอรัล Mineral oil saturated hydrocarbons (MOSH),  Mineral oil aromatic hydrocarbons (MOAH) และไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ Polyolefin Oligomeric saturated hydrocarbons (POSH)         ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อฉบับเดือนตุลาคม 2560 เคยนำเสนอผลทดสอบลิปบาล์มทั้งในแง่ความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ใช้ แต่คราวนี้เราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักจึงไม่มีการนำเสนอด้วย “ดาว” เราจะขอแยกเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย” “ผลิตภัณฑ์ที่พอรับได้” และ “ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แนะนำ”  ในภาพรวมเราพบสารตะกั่วในลิปสติก 19 จาก 20 ยี่ห้อ แต่ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานยุโรป (แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของเยอรมนีที่เข้มข้นกว่าจะพบว่ามีสองยี่ห้อที่ไม่ผ่าน คือ L’OREAL และ BOHO Green) ส่วนยี่ห้อที่ไม่พบตะกั่วเลยได้แก่ Two Faced … แต่ถึงแม้จะไม่มีตะกั่ว ยี่ห้อนี้ป็นหนึ่งในห้ายี่ห้อในกลุ่ม “ไม่แนะนำ” เพราะมีสารไฮโดรคาร์บอนเกินร้อยละ 10 ... พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูกันเต็มๆ ว่ายี่ห้อไหนบ้างที่คู่ควรกับคุณ-----น้ำมันมิเนอรัล (หรือพาราฟินเหลว) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สารนี้เป็นที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางหลายชนิดเพราะหาได้ง่าย ราคาถูก และไม่เน่าเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีข้อห่วงใยว่ามันอาจเป็นสารก่อมะเร็งหรือเร่งการเกิดเนื้องอกได้ ผู้ผลิตหลายเจ้าจึงหันไปหาทางเลือกอื่น------ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 350 ถึง 500 ยูโร (ประมาณ 12,000 ถึง 17,500 บาท) และต้องใช้ลิปสติกอย่างน้อย 16  แท่งต่อหนึ่งตัวอย่าง-----            “ลิปสติกเอ็ฟเฟ็กต์” คือข้อสันนิษฐานที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เครื่องสำอางโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิปสติกจะขายดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการเป็นเจ้าของ “สินค้าหรูหรา” แต่ยังเป็นห่วงเงินในกระเป๋า จึง “ลดสเปก” จากสินค้าราคาสูง (เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม) มาเป็นลิปสติกที่พอจะสู้ราคาไหวนั่นเอง ในขณะที่บางคนก็เลือกประหยัดงบด้านอื่นเพื่อเก็บไว้ซื้อลิปสติก ... จริงเท็จอย่างไรยังฟันธงไม่ได้ แต่มีข่าวลือว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ในนิวยอร์ก ยอดขายลิปสติกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว        ลิปสติกจะหมดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่การใช้ของแต่ละคน เรื่องนี้พูดยาก แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2005 ที่วัดปริมาณลิปสติกของของผู้ใช้ลิปสติกเป็นประจำ 360 คน (อายุระหว่าง 19 – 65 ปี) ในช่วงสองสัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทาลิปสติกเฉลี่ยวันละ 2.4 ครั้ง (ร้อยละ 11 ใช้มากกว่าวันละ 4 ครั้ง) ในแต่ละครั้งเนื้อลิปสติกจะหมดไปประมาณ 5 มิลลิกรัม (มีถึงร้อยละ 12 ที่ใช้ 20 มิลลิกรัมหรือมากกว่า) โดยรวมแล้วมีการใช้ลิปสติกระหว่าง 24 - 80 มิลลิกรัมในแต่ละวัน… แน่นอนว่าในปริมาณนี้บางส่วนก็ถูกผู้ใช้กลืนลงกระเพาะไปบ้าง ส่วนผสมในลิปสติกจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องใส่ใจ นอกจากสีสัน เนื้อสัมผัส หรือราคา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 อู่ซ่อมรถด้วยอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรได้บ้าง

        รถยนต์เกิดความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุ เมื่อนำเข้าอู่ซ่อมตามที่บริษัทประกันรถแนะนำ ก็ยังไม่วายโดนดี มีการซ่อมแซมด้วยอะไหล่มือสองของไม่มีคุณภาพ แถมยังกักรถไว้ต่อรองเรียกเงินอีก นี่คือสิ่งที่คุณชนิกาและสามีร้องเรียนมาเพื่อขอคำปรึกษา เรามาดูกันว่าเรื่องเป็นมาอย่างไรและควรจัดการอย่างไร         เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณชนิกาขับรถอยู่ดีๆ ในช่องทางที่ถูกต้อง ก็มีรถยนต์อีกคันพุ่งมาชน โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่โชคร้ายที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจนใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามรถยนต์คันนี้มีประกันภัย ชั้นสอง บวกทุนค่าซ่อมรถยนต์ 1,000,000 บาท กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้ ขอเรียกว่า บริษัท A จึงพอให้อุ่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการซ่อม        เจ้ากรรมรถยนต์ที่อุตส่าห์ลากไปยังอู่ที่รู้จักปฏิเสธให้บริการด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่อู่ที่อยู่ในเครือของบริษัทประกัน A จึงปรึกษากับตัวแทนบริษัทประกันว่า ควรเข้าซ่อมที่อู่ไหน ซึ่งบริษัทแนะนำ อู่ ช. ว่าเป็นอู่ในเครือของประกัน เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมแซมกับอู่ดังกล่าว อู่กับบ.ประกันทำสัญญาซ่อมแซมกัน แบบเต็มวงเงินคือ 1 ล้านบาท โดยบ.ประกันโอนเงินดังกล่าวให้กับสามีของคุณชนิกาซึ่งเป็นเจ้าของรถ เมื่อโอนเงินแล้วก็ยกเลิกกรมธรรม์ไป และระบุว่า ไม่รับผิดชอบใดๆ หลังโอนเงินเต็มทุนประกันแล้ว         ดังนั้นเธอและสามีจึงต้องเป็นคนติดตามการซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งพบปัญหาหลายประการ เช่น การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ตรงกับรุ่น มีการนำอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพมาเปลี่ยนและมีการแปลงสภาพรถ เธอกับสามีพยายามติดต่อเพื่อขอให้ใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐาน แต่ทางอู่ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอ เธอและสามีจึงขอยุติการซ่อมกับ อู่ ช. และตั้งใจจะนำรถไปซ่อมที่อู่อื่นแทน ทางบ.ประกันก็ทำหนังสือยุติการซ่อมมาให้ในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อเธอกับสามีจะไปนำรถออกจากอู่ ต้องพบกับท่าทีคุกคามของเจ้าของอู่และพนักงานของอู่ ช. เพื่อเลี่ยงการทะเลาะวิวาทเธอและสามีจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และไปร้องเรียนต่อ คปภ.และแจ้งให้บริษัทประกันภัยช่วยเข้ามาเคลียร์ให้ จึงมีการนัดเจรจากันขึ้น ผลการเจรจาคือ อู่ขอเก็บเงินค่าซ่อมแบบเหมา 850,000 บาท โดยไม่มีการชี้แจงค่าใช้จ่ายในส่วนของอะไหล่ต่างๆ หากไม่ยินยอมจ่ายอู่จะใช้สิทธิกักรถไว้ คุณชนิการู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะอู่ชี้แจงไม่ได้ว่า จำนวนเงิน 850,000 มีที่มาอย่างไร อู่จึงยึดรถไว้ ทำให้คุณชนิกาขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ไปถึง 93 วัน เธอจึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากโทรมาปรึกษา คุณชนิกาตัดสินใจฟ้องร้องอู่ ช. โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำว่า แม้จะเป็นการซ่อมรถตามที่ซื้อประกันไว้ แต่การซ่อมก็ยังคงต้องทำตามหลักเรื่องสัญญา หากซ่อมแล้วมีการปกปิดและแอบนำเอาอะไหล่มือสองมาอ้างเป็นอะไหล่แท้ อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง หรือการคิดการซ่อมแซมแบบเหมาจ่ายโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมก่อน ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ซื้อมือถือใหม่ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณศิริพร อยากเปลี่ยนมือถือใหม่ จึงตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟน จำนวน 2 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 5,000 บาท จากร้านขายโทรศัพท์มือถือในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต เมื่อคุณศิริพรนำมือถือไปใช้งานก็พบปัญหาการใช้งานทั้ง 2 เครื่อง โดยสมาร์ทโฟนมีการอาการติดๆ ดับๆ ขัดข้องอยู่เป็นประจำ         เมื่อโทรศัพท์เกิดอาการผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง คุณศิริพรจึงตัดสินใจนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้านค้าเพื่อส่งตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อม หลังจากที่ได้รับเครื่องกลับจากศูนย์บริการ คุณศิริพรก็ยังคงพบอาการผิดปกติเช่นเดิมอีก อยู่ประมาณ 4-5 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุด โทรศัพท์ที่ถูกชาร์จแบตเตอรี่ทิ้งไว้ ก็เกิดเสียงดังจนน่ากลัว คุณศิริพรจึงตระหนักถึงความไม่ปลอดภัย คิดว่าหากยังคงฝืนใช้งานต่อไปอาจเกิดอันตรายได้         เธอจึงนำโทรศัพท์กลับไปที่ร้านอีกครั้ง เพื่อขอให้ทางร้านช่วยเปลี่ยนโทรศัพท์เป็นรุ่นอื่นแทน เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโทรศัพท์รุ่นที่ใช้อยู่แล้ว โดยยินดีจ่ายเงินเพิ่มหากมีราคาส่วนต่าง แต่พนักงานร้านได้แจ้งกับคุณศิริพรว่า ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ให้ได้ ตามนโยบายเปลี่ยนได้ก็เพียงเครื่องใหม่แต่เป็นรุ่นเดิม คุณศิริพรเห็นว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงได้ติดต่อมาขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดีแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด          เว้นแต่ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง แต่ยังคงยินดีที่จะซื้อ หรือสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ขายทอดตลาด ผู้ขายจึงจะไม่ต้องรับผิดชอบ        กรณีคุณศิริพรซื้อโทรศัพท์ใหม่แล้วไม่สามารถใช้งานได้ทั้งสองเครื่อง โดยอาการผิดปกติดังกล่าวเป็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าตั้งแต่ต้น ซึ่งคุณศิริพรได้ทราบถึงความชำรุดก็เมื่อนำมาใช้งาน และความชำรุดนั้นไม่ได้เกิดจากการใช้งานของคุณศิริพรเอง ถือว่าผู้ขายได้ทำการส่งมอบทรัพย์ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตรงตามสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิขอบอกเลิกสัญญาได้         คุณศิริพรจึงสามารถบอกเลิกสัญญา โดยนำโทรศัพท์ที่ชำรุดกลับไปขอคืนเงินได้ทั้ง 2 เครื่อง หรือ หากต้องการเปลี่ยนเป็นเครื่องรุ่นใหม่ ก็สามารถเจรจาทำความตกลงกับผู้ขายใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำโทรศัพท์เข้าศูนย์ซ่อม โดยเฉพาะเมื่อชาร์จแล้วเกิดเสียงดัง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย หากร้านค้ายังคงไม่ให้เปลี่ยน ก็สามารถฟ้องคดีได้โดยข้อรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คุณศิริพรได้พบเห็นถึงความชำรุดบกพร่องนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 อยู่ๆ ก็มีคนเอาบัตรเครดิตไปใช้

        ภูผา หนุ่มผู้ชอบสะสมบัตรเครดิตเป็นชีวิตจิตใจ จนต้องมีกระเป๋าสำหรับใส่บัตรเครดิตโดยเฉพาะ ด้วยความที่รู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นคนขี้กังวล เขาจึงใช้บัตรเครดิตด้วยความระมัดระวังตลอด แต่แล้ววันหนึ่งขณะเขานั่งทำงานอยู่ก็ได้รับข้อความว่า มีการใช้บัตรเครดิตของธนาคาร B ของเขา จ่ายค่าที่พักที่ประเทศเกาหลี เป็นเงินวอน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 19,000 บาท เขาตกใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเขาไม่เคยไปประเทศเกาหลีเลย และจะมีการใช้บัตรได้อย่างไร แล้วบัตรเครดิตใบนี้ก็ยังอยู่ที่เขาขณะได้รับข้อความ         หลังจากตั้งสติได้เขารีบโทรศัพท์ไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตร ว่ามีการขโมยข้อมูลใช้บัตรเครดิต ขอให้ธนาคารอายัดบัตรเครดิตใบดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะดำเนินการอายัดบัตรให้ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์เขาได้รับใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตโดยมียอดที่เขาไม่ได้ใช้ คือยอดเงินที่เขาถูกขโมยใช้ข้อมูลบัตรเครดิตที่ได้โทรศัพท์ไปแจ้งคอลเซ็นเตอร์แล้วประมาณ 19,000 บาท         ด้วยความไม่สบายใจว่าตนเองไม่ได้ใช้เงินดังกล่าวและสงสัยว่าเขาได้โทรศัพท์ไปแจ้งธนาคารเจ้าของบัตรแล้ว ทำไมยังมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินดังกล่าวมาอีก เขาจึงโทรศัพท์ไปตามเรื่องที่คอลเซ็นเตอร์ธนาคารเจ้าของบัตรอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่แนะนำให้เขาเข้าไปติดต่อธนาคารเพื่อกรอกแบบฟอร์มปฏิเสธการจ่ายเงินยอดดังกล่าว เขาไม่แน่ใจว่าการธนาคารจะดำเนินเรื่องให้เขาหรือไม่ เพราะว่าก่อนหน้านี้เขาโทรไปแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินมายังเขาอีก เขาจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ผู้ร้องได้ทักท้วงไปยังธนาคารเจ้าของบัตรแล้วว่าไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิต เป็นการถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ธนาคารต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง เว้นแต่ธนาคารเจ้าของบัตรจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ใช้บัตร ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (7) (ก)         เนื่องจากผู้ร้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยการโทรศัพท์อายัดบัตรเครดิตที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตรแล้ว ผู้ร้องสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้ดังนี้         1. ผู้ร้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน โดยแจ้งรายละเอียดว่าบัตรเครดิตถูกขโมยข้อมูลอย่างไร เหตุเกิดเมื่อไร ฯลฯ         2. ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้ร้องไม่ได้ใช้ และแนบสำเนาใบลงบันทึกประจำวัน ส่งไปยังธนาคารเจ้าของบัตร ณ สำนักงานใหญ่ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึง ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ตำแหน่งอื่นๆ ที่เทียบเท่า         3. ผู้ร้องชำระหนี้บัตรเครดิตตามรายการที่ได้ใช้จ่ายจริง ยกเว้นหนี้ที่เกิดจากถูกขโมยใช้ข้อมูลบัตรเครดิตจำนวน 19,000 บาท          4. ทุกครั้งที่ธนาคารแจ้งให้ชำระหนี้รายการที่ไม่ได้ใช้งานจริง ให้ทำผู้ร้องหนังสือแจ้งปฏิเสธรายการที่ไม่ได้ใช้ทุกครั้ง         หลังจากผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้ร้องไม่ได้ใช้ประมาณ 2 วัน ผู้ร้องได้รับ SMS จากธนาคารว่าจะดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้ร้องได้รับจดหมายแจ้งปลดยอดวงเงินในบัตร และได้รับบัตรเครดิตใบใหม่        “การติดต่อขอปฏิเสธการจ่ายเงิน ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐาน การติดต่อด้วยวาจาอาจจะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ถึงโควิดบุกแหลก ก็อย่าสติแตกกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

        ยุคโควิด 19 ระบาด สิ่งที่บุกแหลกไม่แพ้เชื้อโควิด 19 ก็คือ ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ จริงบ้าง มั่วบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง กระหน่ำมาตามๆ กัน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ยอมตกขบวนมีจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย แต่ละผลิตภัณฑ์ก็อ้างว่าจัดการเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อยู่หมัด แต่ที่แน่ๆ มันจะจัดการดูดเงินในกระเป๋าสตางค์เราไปก่อนเป็นอันดับแรก ฉลาดซื้อเล่มนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์และวิธีการการทำความสะอาดอย่างฉลาดซื้อฉลาดใช้เพื่อความปลอดภัยและไม่สิ้นเปลือง        สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ โควิด 19 มันคือไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหากมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา มันก็จะมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ ยิ่งคนที่อ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำๆ มันก็จะยิ่งออกลูกออกหลานกันสนุกสนานอยู่ในร่างกายเราเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราเป็นคนแข็งแรงมีภูมิต้านทานสูงภูมิต้านทานในร่างกายเราก็จะช่วยกันจัดการเจ้าไวรัสตัวแสบนี้ได้         และเมื่อมันหลงเข้ามาอยู่ในร่างกายเราแล้ว บางทีเราก็จะเผลอแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ เพราะมันจะหลุดออกมากับละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และน้ำตาของเรา กระเด็นไปสู่คนรอบข้างที่อยู่ใกล้ๆ หรือกระเด็นไปติดตามที่ต่างๆ แล้วดันมีคนโชคร้ายไปสัมผัสตรงพื้นที่นั้นก็รับเชื้อจากเราไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่เขาจึงรณรงค์ให้ กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง เร่งล้างมือ คาดหน้ากากปิดจมูกและปาก และอย่าอยู่ใกล้ชิดกันเกินไป         โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัสเมื่อมันอยู่นอกร่างกายเรา มันจะใจเสาะอายุสั้น แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตายแล้ว แต่เจ้าโควิด 19 มันเป็นไวรัสพันธุ์หัวแข็งตายยากกว่าไวรัสอื่นๆ เช่น ถ้าอยู่บนโต๊ะ พื้นผิวต่างๆ หรือลูกบิดประตู ก็อยู่ได้ถึง 4 – 5 วัน แต่ถ้ามันเจออากาศที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุก็จะสั้นลง ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ ที่อ้างว่าสามารถใช้ทำลายเชื้อโควิด 19 ได้ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสารเคมี บางชนิดก็ราคาแพงมาก แต่ที่จริงแล้วเจ้าโควิด 19 นี้ มันตายได้ง่ายถ้าเจอสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ตลอดจนเจอความร้อนสูงๆ  รู้อย่างนี้จะจ่ายแพงกว่าทำไม ขอแนะนำในการทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ที่ง่ายและประหยัดดังนี้        การทำความสะอาดมือ ถ้าอยู่บ้านหรือสำนักงาน ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือก็พอแล้ว ทางสาธารณสุขเขาแนะนำให้ล้างมือ 7 ขั้นตอน แต่ถ้าจำไม่ได้ ก็จำง่ายๆ แค่ล้างให้ละเอียดทั่วทุกซอกทุกมุม ให้มือสัมผัสกับสบู่หรือน้ำยานานพอสมควร นานประมาณร้องเพลงช้างช้างช้าง 2 รอบก็ได้ และหากออกไปนอกบ้าน หาที่ล้างมือไม่ได้ ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแทนได้ จะเป็นน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เจลก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมี % ของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 70% และเมื่อใช้แล้วก็ไม่ต้องเช็ดออก ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้มือแห้งเองด้วย         ถ้วยชามภาชนะต่างๆ ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไปก็พอแล้ว ถ้าไม่มั่นใจก็นำมาตากแดด หรือลวกด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเดือดสัก 30 วินาที         สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้ผงซักฟอกเหมือนที่เคยใช้ แล้วเอามาตากแดดร้อนๆ ของเมืองไทย ก็ใช้ได้แล้ว         ส่วนพื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิด ราวบันได ใช้แอลกอฮอล์ 70 %  หรือน้ำยาทำความสะอาดชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาดให้ทั่ว และเช็ดบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาสัมผัสมากน้อยขนาดไหน         สำหรับพื้นที่เราเหยียบย่ำนั้น สามารถใช้ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้นชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำคัญไฉน ? (ตอนที่ 1 )

        สถานการณ์ปัจจุบันกับการเฝ้าระวังและดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อโควิค – 19 แต่ในขณะเดียวกัน ในเร็วๆ นี้ก็จะมีการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 ในวันที่ 28 พ.ค.2563 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รูปแบบการดำเนินธุรกิจและการกระทำของหน่วยงานรัฐ โดยผู้เขียนจะยกเอาประเด็นทั่วไปมากล่าวเบื้องต้น        ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ยกตัวอย่างว่าอย่างไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นเพื่อให้มีหลักในการพิจารณาโดยจะกำหนดแนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ดังนี้        แนวปฎิบัติการกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล        ขั้นตอนพื้นฐานเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคล แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ        1. ขอบเขตของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่อยู่ในขอบเขตความหมายของข้อมูลส่วนบุคคล        2. การกำหนดและแยกแยะข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยให้สามารถระบุข้อมูลส่วนบุคคลตามกระบวนการทำงานต่างๆขององค์กรและจัดการตามความเสี่ยงของแนวปฎิบัติ        ความสามารถในการระบุไปถึงเจ้าของข้อมูลมี 3 ลักษณะ        1.การแยกแยะ หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถระบุแยกแยะตัวบุคคลออกจากกันได้ เช่น ชื่อสกุล หรือเลขบัตรประชาชน        2. การติดตาม หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้ในการติดตามพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่บุคคลนั้นทำได้ เช่น Log file        3. การเชื่อมโยง หมายถึง การที่ข้อมูลสามารถถูกใช้เชื่อมโยงกันเพื่อระบุไปถึงตัวบุคคล         ดังนั้นข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นข้อมูลทั้งหลายที่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลได้ แม้ว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นจะไม่สามารถใช้ระบุถึงบุคคลได้แต่หากใช้ร่วมกับข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นๆประกอบกันแล้วก็สามารถระบุถึงตัวบุคคลได้ โดยไม่จำเป็นว่าข้อมูลหรือสารสนเทศอื่นนั้นได้มีอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และเมื่อเป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานหรือองค์กรทั้งหลายจะต้องขอความยินยอมในการที่จะเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ และต้องปฎิบัติตามแนวปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจ         ตัวอย่างที่เป็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อสกุลหรือชื่อเล่น เลขหนังสือเดินทาง เลขบัตรประกันสังคม เลขใบอนุญาตขับขี่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขบัตรเครดิต หรือข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือ เช่น IP address , Cookie ID หรือข้อมูลทางชีวมิติ เช่น รูปใบหน้า,ลายนิ้วมือ,ฟิล์มเอกซเรย์ ข้อมูลสแกนม่านตา ,ข้อมูลอัตลักษณ์เสียง,ข้อมูลพันธุกรรม หรือข้อมูลระบุทรัพย์สินของบุคคล เช่น ทะเบียนรถยนต์,โฉนดที่ดิน หรือข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลข้างต้นได้ เช่น วันเกิดหรือสถานที่เกิด,เชื้อชาติ,สัญชาติ,น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อมูลการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลบันทึกต่างๆที่ใช้ติดตามหรือตรวจสอบกิจกรรมต่างๆของบุคคล เช่น Log file เป็นต้น         ตัวอย่างข้อมูลที่ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลสำหรับการติดต่อทางธุรกิจที่ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคล เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือที่อยู่ที่ทำงาน ,อีเมล์ที่ใช้ในการทำงาน,อีเมล์ของบริษัท หรือข้อมูลผู้ตาย         ข้อมูลอ่อนไหว ( Sensitive Personal Data ) เป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้ของบุคคล แต่มีความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ในการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตัวอย่างข้อมูลอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ หรือข้อมูลสุขภาพจิต ข้อมูลชีวภาพ เป็นต้น         ข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล จึงเป็นสาระสำคัญเบื้องต้นที่คนไทยจะต้องเข้าใจว่าคืออะไร และได้แก่อะไรบ้าง รายละเอียดเนื้อหาต่อไป โปรดติดตามตอนที่ 2 ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เมื่อถูกหลอกขายที่นอนยางพารา

จากเรื่องที่มีผู้เสียหายกว่า 400 ราย เข้าร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจากเหตุสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟซบุ๊กจำนวนกว่า 10 เพจ ซึ่งบางรายได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพขณะที่บางรายไม่ได้รับสินค้านั้น แม้ทางกลุ่มผู้เสียหายได้ไปแจ้งความทำให้เจ้าของเพจถูกดำเนินคดีและเพจถูกปิดไปแล้วนั้น ปรากฎว่าเพจที่เคยถูกปิดไปแล้วกลับคืนชีพขึ้นมาอีกและเคลื่อนไหวสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้นในวันที่  19 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายจึงรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ กองกำกับการ ๑ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.๑ บก.ปคบ.) ให้เร่งตรวจสอบเพจหลอกลวงดังกล่าว ฉลาดซื้อได้ขอสัมภาษณ์ตัวแทนผู้เสียหาย 2 ท่าน คือ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง และคุณมณฑวรรณ  บัวศรี ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายเพื่อย้อนทวนเรื่องราวดังกล่าว คุณมณฑวรรณ บัวศรี           ปัญหาอย่างแรกของการใช้สิทธิคือ ความไม่ชัดเจน         ผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่เจอปัญหากันตั้งแต่แรกเลย คือปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละ สน. แต่ละท้องที่ก็มีบรรทัดฐานในการทำงานที่ไม่เหมือนกัน มีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่ง สน.เดียวกันบางครั้งเจ้าหน้าที่สอบสวนคนละท่าน วิธีการทำงานก็ต่างกันแล้ว ข้อหาที่ได้ก็ต่างกัน ทำให้ผู้เสียหายมีความสับสนว่าต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร หาหลักฐานอย่างไรมาสนับสนุนเพื่อให้คดีคืบหน้า บางท่านเจอว่าคดีเป็นแค่แพ่ง ตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือบางท่านพบว่าเป็นแค่ฉ้อโกงเฉยๆ ไม่ใช่ฉ้อโกงประชาชน บางท่านได้แค่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซ้ำร้ายกว่านั้นบางท่านบอกว่าไม่ใช่หน้าที่เขาให้ไปติดต่อส่วนกลางเขาไม่มีอำนาจ ซึ่งการไปติดต่อส่วนกลางมันมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ หรือมีจำนวนผู้เสียหายอย่างละเท่าไหร่ เมื่อผู้เสียหายบางครั้งฟังจากทางเจ้าหน้าที่แล้วไปติดต่อส่วนกลาง เขาก็พบว่าเรื่องของเขายังเข้าส่วนกลางไม่ได้ส่วนกลางไม่รับแล้วก็ให้เขากลับมาที่ สน. อย่างเดิม กลายเป็นว่าผู้เสียหายเสียเวลาแล้วก็เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือบางครั้งพอเจ้าหน้าที่รับแจ้งความแล้วคดีไม่เดิน แม้ว่าผู้เสียหายจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนก็ล่าช้า เจ้าหน้าที่อาจจะอ้างว่าคดีเยอะ เราเข้าใจแต่ว่าบางครั้งความเสียหายของผู้เสียหายเขาก็ร้อนใจเขาก็อยากทราบว่ากระบวนการที่เป็นรูปธรรมมันจะเป็นไปในทิศทางไหน เขาจำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อเพื่อที่จะสามารถให้เป็นไปได้เร็วที่สุด สนับสนุนตำรวจให้ได้มากที่สุด” ทางกลุ่มแก้จุดนี้อย่างไร         ที่เราดำเนินการมาตอนนี้ส่วนใหญ่เราจะแจ้งให้ทางผู้เสียหายไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้น ก่อน ทางกลุ่มจะทำการรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายทั้งหมดเพื่อที่จะมาปะติดปะต่อว่า ในความเสียหายนั้นมีจำนวนผู้เสียหายจำนวนเท่าไหร่ มูลค่าความเสียหายแค่ไหน เลขที่มาที่ไปทางบัญชี และมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อที่จะได้รวบรวมเอาหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ยื่นเข้าส่วนกลาง เพื่อผลักดันให้เรื่องมันได้เดินไปได้เร็วมากขึ้นและก็เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะว่าถ้ากระจายกันตามและท้องที่ แต่ละ สน. มันช้ามากแล้วก็ไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่เป็นขบวนการใหญ่มากๆ เชื่อไหมว่าพลังของผู้บริโภคมีจริง         เรื่องการรักษาสิทธิมันเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องทราบ แม้เงินแค่ไม่กี่บาท บางคนอาจจะมองว่ามันเสียเวลาในการดำเนินการ แต่คุณลองคิดนะว่าถ้าคุณโดนเขาโกงไป 700 บาท เขาโกงไปพันคน เขาได้เท่าไหร่ต่อเดือน แล้วเขาโกงแบบนี้เรื่อยๆ เขาได้เงินไปเท่าไหร่ ถ้าเกิดทุกคนคิดแบบนี้ (คิดว่าเสียเวลา) เหมือนกันขบวนการพวกนี้มันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนโกงเขาก็จะมองว่าทำแบบนี้มันง่าย การเป็นมิจฉาชีพมันง่าย ไม่มีใครมาขัดขวางอะไรเขา หรือแม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมบางครั้งก็ช้า เขาก็กินไปได้เรื่อยๆ แล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนต้องรักษาสิทธิของตัวเองเจอแบบนี้          เราขอให้แจ้งความดำเนินคดีก่อน แล้วคอยตรวจสอบช่วยกันดูว่ากลุ่มที่เป็นเพจขายของพวกนี้มีผู้เสียหายเยอะไหม ถ้ามีเยอะรวมตัวกันเถอะค่ะ ช่วยเหลือกัน ช่วยกันเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐานแล้วก็ดำเนินคดีกับเขา มันไม่ยากเลยมันเหมือนอย่างที่กลุ่มเราทำกันอยู่ตรงนี้ ทุกคนโดนราคาต่างกันตั้งแต่ 600 บาท ถึง 20,000 บาท 600 บาทก็เอาเข้าคุกได้นะคะทำกันมาแล้ว รักษาสิทธิตัวเอง ถ้าเกิดคุณไม่ทำคนพวกนี้จะทำต่อไปเรื่อยๆ พอมีคนไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกว่าไม่เห็นคนนี้เคยมีประวัติอะไรเลย ทำอะไรไม่ได้อย่างน้อยให้เขาติดแบล็กลิสต์ (Blacklist)  ก็ยังดีเพื่อที่ว่าเป็นการรักษาสิทธิตัวคุณ และเป็นการรักษาสิทธิของคนอื่นด้วยที่จะหลงกลเข้ามาอยู่ตรงนี้ คุณเศรษฐภูมิ  บัวทอง        สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือคาดหวังให้เพจที่กลับมาหลอกลวงผู้บริโภคถูกจัดการอย่างจริงจัง         ตอนนี้แต่ละคนก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษใน สภ.ท้องที่ของตัวเอง และในวันนี้ (19 มิ.ย.) ที่เราดำเนินการกันก็คือ  เรารวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากคนที่มาลงในระบบ และมายื่นหนังสือต่อ ปคบ. ส่วนในช่วงบ่ายเราก็จะมอบให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยสืบสวน เราคาดหวังว่าทางสำนักงาน ปปง.แล้วก็ ปคบ.จะขับเคลื่อนต่อ จริงๆ แต่ละคนก็ไปแจ้งความแล้ว ร้อยละเจ็ดสิบจากสามร้อยกว่า คือคนเกือบสี่ร้อยคนแจ้งความเกือบหมดแล้ว แต่ก็คาดหวังว่าเขาสามารถที่จะดึงมาเป็นส่วนกลางแล้วก็ขับเคลื่อนให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงในคดีนี้ สิ่งที่อยากบอกคนกับนักช้อปออนไลน์         ตอนนี้คนหันมาซื้อของออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะซื้ออยากให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดีๆ ลองเปรียบเทียบหลายๆ เพจก่อนการโอนเงิน ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าจ่ายเงินก่อน คือให้รับของก่อนแล้วค่อยจ่ายเงินจ่ายเงินปลายทาง ควรเลือกร้านที่มีหน้าร้านถูกต้อง มีเลขจดทะเบียนถูกต้อง แสดงรายละเอียดถูกต้องและรู้สึกไม่ปิดบังอย่างเช่นเพจที่เราโดน  ซึ่งถ้าเราไปสังเกตจริงๆ มันดูเหมือนมีมาตรฐานมากเลย มันมีการไลฟ์ มีการรีวิว เราก็ไปเปรียบเทียบกับหลายเพจในกูเกิล (Google) แต่เพจนี้ปิดส่วนคอมเมนต์ (Comment) ไม่ให้เห็น  คือจุดพลาดเพราะเราไม่ได้เอะใจ มัวไปหลงคำที่บอกว่าโละ โละหนักมาก คือไปหลงคำโฆษณา เรื่องนี้อาจต้องชั่งใจสักนิด อย่าเพิ่งไปหลงในคำชวนเชื่อให้ซื้อสินค้า  หากมีผู้เสียหายที่พลาดข่าวสารสามารถเข้าร่วมได้ที่ไหน         ถ้าคุณโดนละเมิดสิทธิก่อนอื่นต้องรักษาสิทธิตัวเองก่อน ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษในแต่ละ สน. หรือ สภ. ท้องที่ก่อน หลังจากนั้นต้องปรึกษาหน่วยงานกลางที่เขาทำเรื่องอยู่แล้ว อาจจะต้องมาปรึกษาทางมูลนิธิฯ ก็ได้  อย่างของเราก็ปรึกษามูลนิธิก่อน ทำให้พอทราบขั้นตอนการดำเนินการ เพราะที่ผ่านมาเหมือนว่ามันไปไม่ถูกจุดแยกกันทำ แต่พอมีที่ปรึกษามันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีกลุ่มรวมกันแล้ว เราจะทำอะไรเรามีที่ปรึกษา พอมีประเด็นขึ้นมาก็อยากให้รีบไปแจ้งความ หลังจากนั้นอาจจะต้องเข้ามาติดต่อที่มูลนิธิฯ ตอนนี้ยังประเมินไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีหน่วยงานรัฐหรือองค์กรกลางจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ไม่อยากให้ทุกคนละเลย เราต้องรักษาสิทธิของตัวเองไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 หนี้ดีกับหนี้ไม่ดี เลือกเอา

        ยุคนี้น่าจะหาคนไม่เป็น ‘หนี้’ ได้ยากเต็มที พูดกันขำๆ ว่าคนมีหนี้ถือว่าเป็นคนมีเครดิต แต่ถามหน่อยเถอะ! อยากเป็นหนี้จริงๆ เหรอ?         การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกถ้าไม่จำเป็น        ทำไมเราถึงเป็นหนี้ ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือสภาพคล่องไม่พอ รายจ่ายมากกว่ารายได้ แต่มันต้องไปค้นสาเหตุอีกว่าทำไมรายจ่ายถึงมากกว่ารายได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ต้องใช้เงินก้อน เช่น ซ่อมรถ อุบัติเหตุ หรืออื่นๆ (เงินฉุกเฉินจึงสำคัญ) การวางแผนจัดสรรเงินไม่ดี ไม่ได้ตระเตรียมล่วงหน้า ง่ายๆ ก็ค่าเทอมลูก ค่าประกันรถ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เรารู้ล่วงหน้าและสามารถทยอยสะสมได้         หรือเกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เห็นเพื่อนมีแล้วต้องมีบ้าง (อย่าทำเป็นเล่นไป มีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ ทั้งที่รายได้สัปดาห์ละหลายหมื่น แต่แข่งรวยกับเพื่อน สุดท้ายก็ต้องหาเงินด้วยวิธีผิดกฎหมาย แล้วจบไม่สวย) การต้องการสินค้าแบบเดี๋ยวนั้นเวลานั้น อดใจไม่ได้ รูดปื๊ดๆ รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงแค่ไหน         แล้วจะจัดการหนี้สินอย่างไร?         อันนี้ต้องย้อนกลับไปเริ่มจากสาเหตุก่อน เพราะหนี้เป็นปลายทาง จากตัวอย่างที่พูดมาข้างบน การวางแผนการใช้จ่าย การสำรองเงินฉุกเฉิน การตระเตรียม จัดสรรเงิน สำหรับรายจ่ายที่รู้แน่นอนในอนาคต         การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น เก็บเงินซื้อโดยจ่ายเป็นเงินก้อน ถ้าจะจ่ายด้วยบัตรเครดิตก็ต้องรู้ว่าเมื่อถึงรอบเราสามารถจ่ายได้ทั้งหมด ไม่ใช่จ่ายขั้นต่ำ         แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยนะว่า ไม่ใช่หนี้ทุกชนิดเป็นหนี้ไม่ดี         แปลว่าอะไร? มีหนี้ที่ดีด้วยเหรอ?         มีสิ! หนี้ไม่ดีนั้นชัดเจน ส่วนใหญ่มักเป็นหนี้เพื่อการบริโภค เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เที่ยว แก็ดเจ็ดนั่นนู่นนี่ ไม่ได้บอกว่าซื้อไม่ได้ แต่ต้องประเมินตัวเองได้ว่าจุดไหนที่เกินกำลังและจะก่อหนี้         ส่วนหนี้ที่ดีเป็นหนี้ที่จะช่วยต่อยอดผลประโยชน์ในอนาคตหรือหนี้ที่สร้างรายได้ งงล่ะสิ สมมติคุณเพิ่งทำงานใหม่ๆ เงินเดือน 25,000 บาท เพื่อนๆ ขับรถมาทำงาน เลยอยากมีบ้าง ไม่ต้องถามว่าจำเป็นมั้ย? มนุษย์สามารถหาเหตุผลให้ตัวเองได้เสมอแหละ ต้องผ่อนเดือนเท่าไหร่ล่ะ ทั้งที่การใช้ขนส่งสาธารณะประหยัดกว่า แม้จะไม่สะดวกเท่า ซ้ำไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา แบบนี้ถือเป็นหนี้ไม่ดี          กับอีกคน กู้เงินมาซื้อรถเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ใช้ส่งของ ใช้เดินทางไปติดต่อลูกค้า แบบนี้ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้เพราะมันเป็นตัวช่วยสร้างรายได้          จะเห็นว่ากู้เงินซื้อรถเหมือนกัน แต่หนี้ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน         หรือการกู้เงินมาเทคคอร์สอะไรสักอย่างที่คุณคิดแล้วว่า หากมีความรู้ด้านนี้จะช่วยเพิ่มทักษะหรือต่อยอดให้กับอาชีพการงาน ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต นี่ก็ถือเป็นหนี้ดีที่ยอมรับได้อีกเช่นกัน         เอาล่ะ ลองสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ดีหรือหนี้ไม่ดี แล้วหาวิธีจัดการกับหนี้ไม่ดีซะ        ส่วนรายจ่ายจำเป็นอย่างค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ใช่ เราต้องมีสำรองไว้ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราเองมีสิทธิที่รัฐต้องจัดให้อย่างสิทธิในการเรียนฟรี สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อย่างที่เคยบอก เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องของตัวเราเองโดยสมบูรณ์ มันเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเหมือนกันที่จะดูแลประชาชนในส่วนที่เป็นสิทธิ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 มาลองแปรงแห้งกันไหม

        เคยได้ยินคำว่าแปรงแห้งไหม การแปรงแห้งหรือการแปรงฟันแบบไม่บ้วนน้ำทิ้ง เป็นคำแนะนำที่ทันตแพทย์และองค์กรที่ส่งเสริมสุขภาพปากและฟัน พยายามรณรงค์ให้ทุกคนปฏิบัติ คำฝรั่งที่ใช้คือ Spit don’t rinse โดยที่มาของการแปรงแห้งเกิดจากข้อสงสัยที่นักวิจัยเขาพบว่า เด็กที่แปรงฟันแบบน้ำไม่ค่อยเข้าปาก(ใช้ก๊อกแทนการใช้แก้ว) ฟันผุน้อยกว่าเด็กที่ใช้แก้วน้ำในการแปรงฟัน         พอศึกษากันไปก็พบคำตอบว่า ยิ่งบ้วนน้ำน้อยเท่าไหร่ ฟันยิ่งผุน้อย         เหตุที่แปรงฟันแบบบ้วนน้ำทิ้งทำให้ฟันผุ คือ น้ำทำให้ฟลูออไรด์ของดีในยาสีฟันเจือจางไปนั่นเอง         เราเคยชินกันมานาน คือ ทำให้แปรงสีฟันเปียกแล้วบีบยาสีฟันมากๆ ลงไปบนแปรง เหตุผลคือ เราต้องการฟองล้นๆ ในปากเพื่อให้แปรงได้ลื่นขึ้น (บางคนเชื่อว่าทำให้สะอาดขึ้น แบบเดียวกับที่ชอบให้มีฟองในการซักผ้ามากๆ) แต่การมีฟองเยอะในปากจะทำให้เราแปรงฟันได้ไม่นาน เพราะมันเลอะเทอะ บางคนเลยแปรงฟันแค่ 10-20 วินาที ซึ่งไม่เพียงพอ การแปรงฟันที่ถูกต้องคือ อย่างน้อย 2 นาที เพราะอะไร เพราะต้องการให้ฟลูออไรด์ในยาสีฟันได้มีเวลาในการไปเคลือบบนผิวฟันได้ทั่วถึง          แปรงฟันเร็วเกินไปไม่พอ เรายังชินกับการต้องบ้วนปากด้วยน้ำเพื่อกำจัดคราบฟองอีก ซึ่งบางคนก็บ้วนมากกว่าหนึ่งครั้ง เพราะรู้สึกไม่สะอาด(จากฟองที่มากเกินไป เพราะใช้ยาสีฟันมากไป) ฟลูออไรด์ก็ไปหมดแล้วจ้า ไม่เหลือพอให้ทำงานเพื่อปกป้องฟันได้ ยิ่งแปรงฟันบ้วนน้ำมากเท่าไหร่ ฟันจึงผุมากเท่านั้น         จึงขอเชิญชวนให้เปลี่ยนมาแปรงฟันแบบแห้งกันเถอะ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ยังไม่สั่งสมความเคยชินเรื่องการใช้น้ำมากๆ แปรงฟัน         วิธีการแปรงแห้ง        1.บางคนกังวลเรื่องเศษอาหาร ธรรมดาแล้วถ้าฟันมีการสบกันที่ดี ไม่ซ้อน เก เศษอาหารจะไม่ติดฟันมาก อาจบ้วนน้ำทิ้งสักครั้งก่อนแปรงเพื่อกำจัดความกังวลเรื่องนี้        2.หากใช้ไหมขัดฟัน ควรใช้ไหมขัดฟันก่อนเริ่มแปรงฟันแบบแห้ง        3.บีบยาสีฟัน ซึ่งควรใช้แบบผสมฟลูออไรด์ (ไม่งั้นจะแปรงแห้งทำไม) เพียงจำนวนน้อย แค่เม็ดถั่วเขียวก็เพียงพอแล้ว        4.แปรงฟันให้นานสัก 2 นาที เพื่อให้เนื้อยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ผสมได้เคลือบไปบนผิวฟันอย่างทั่วถึง        5.เมื่อแปรงเสร็จแล้ว ในช่องปากจะมีน้ำลายออกมา ซึ่งมากพอที่เราจะบ้วนฟองทิ้งออกไปได้เกือบหมด ถ้ายังรู้สึกฟองยังค้างอยู่มาก ก็เพิ่มน้ำลายด้วยการบีบกระพุ้งแก้มและถ่มฟองทิ้งไป         หลังการแปรงฟันแบบแห้งนี้แล้ว ไม่ควรดื่มน้ำหรือกินอาหารอย่างน้อยสัก 30 นาที ทั้งนี้เพื่อให้ฟลูออไรด์อยู่ทำงานบนผิวฟันได้นานขึ้นนั่นเองทดลองกันดูนะคะ แล้วจะรู้ว่า ยิ่งบ้วนน้ำน้อย ฟันยิ่งผุน้อย ค่ะ         ·   รู้ไหม ฟลูออไรด์ในยาสีฟันหลังการแปรงแห้ง(ฟองที่เหลือจากการบ้วนทิ้ง) คือน้ำยาบ้วนปากที่ดีที่สุด        ·  ปลอดภัยไหม ไม่ต้องกังวล ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องกังวลใจเรื่องนี้        ·  แปรงฟันตอนไหนดี  หลังอาหารเช้า และ ก่อนเข้านอน คือเวลาที่ดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >