ฉบับที่ 233 ตั้งใจไปเรียนตัดเสื้อ ถูกเรียกเงินเพิ่มจนเกือบตัดใจ

        ปัจจุบันมีการขายคอร์สเรียนหลากหลายในหน้าโซเชียล โปรโมชันหลายอย่างก็เร่งรัดจนผู้บริโภคตัดสินใจอย่างขาดความระมัดระวังทำให้เสียประโยชน์ อย่างไรก็ตามการโฆษณานั้นหากไม่ตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิตนเองได้         คุณรุ่งรัตน์ สนใจเรียนตัดเสื้อและทำผม ลองค้นหาโรงเรียนหลายแห่งทางอินเทอร์เน็ต พบโฆษณารับสมัครเรียนบนหน้าเฟซบุ๊ก ของโรงเรียนตัดเสื้อทำผมเก่าแก่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นโปรฯ ช่วงโควิด รับสมัครนักเรียนแค่ 10 คนเท่านั้น เมื่อติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียด คุณรุ่งรัตน์พบว่าหากต้องการเรียน ต้องจ่ายเงินค่าเรียนทันทีก่อนหมดโอกาส โดยพนักงานแจ้งว่าใกล้เต็มแล้ว         คุณรุ่งรัตน์จึงโอนเงินทันที เป็นจำนวน 8,900 บาท ตามที่ระบุบนโฆษณา ซึ่งเป็นค่าเล่าเรียนในระยะเวลา 30 ชั่วโมง เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็รู้สึกว่าตนเองรีบร้อนไปหน่อย ไม่ทันได้สอบถามรายละเอียดอื่นๆ จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงเรียนเพื่อขอรายละเอียดตารางเวลาเรียน ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงเข้าใจว่าผู้เรียนคงยังไม่ครบจำนวน ต่อมาประมาณ 1 อาทิตย์มีโทรศัพท์แจ้งจากทางโรงเรียนว่าให้เข้าไปเรียนได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 6,000 บาท “ตกใจมากค่ะ บอกกับทางพนักงานไปว่า ตนเองมีเงินเท่าที่จ่ายไป 8,900 บาทเท่านั้น” ในโปรฯ ไม่เห็นรับรู้เลยว่าจะมีการจ่ายเพิ่ม ทางพนักงานบอกว่า ไม่จ่ายเพิ่มก็เรียนไม่ได้ “แล้วดิฉันก็กังวลมากเพราะในใบเสร็จระบุว่า จ่ายแล้วไม่คืนเงินทุกกรณี” ได้ไปแจ้งความไว้แล้ว และติดต่อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทาง สคบ.แจ้งว่า กรณีของคุณรุ่งรัตน์เป็นการเรียนเพื่อหารายได้ จึงไม่เข้าข่ายคดีผู้บริโภค “แล้วจะต้องทำอย่างไรดี” คุณรุ่งรัตน์ปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้เข้าข่ายการทำสัญญา ศูนย์ฯ แนะนำให้คุณรุ่งรัตน์ทำหนังสือถึงโรงเรียนสอนตัดเสื้อทำผมดังกล่าว เพื่อบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (การทำจดหมายควรใช้แบบไปรษณีย์ตอบรับเพื่อเป็นหลักฐาน) จำนวน 8,900 บาท โดยทำสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อการติดตามเรื่อง         ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณรุ่งรัตน์ว่า ทางโรงเรียนได้รับคุณรุ่งรัตน์เป็นนักเรียนแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 6,000 บาทเพิ่ม ทั้งนี้ทางโรงเรียนแจ้งว่า เป็นความผิดพลาดของพนักงานที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง คุณรุ่งรัตน์เองก็ตั้งใจเรียนจริงๆ เมื่อเห็นว่าไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว จึงตกลงไปเรียนตามที่ตั้งใจไว้และขอยุติเรื่องการบอกเลิกสัญญา ลงเอยด้วยดีไป หวังว่าจะมีช่างตัดเสื้อและทำผมดีๆ เพิ่มขึ้นอีกราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 คัดแยกเห็ดมีพิษ ผ่านแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย”

        เห็ดมีรสชาติอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นอาหารที่ปราศจากไขมัน มีปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ มีโปรตีนสูง บางชนิดมีคุณสมบัติในการป้องกันโรค ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงตับ บำรุงกระเพาะ บำรุงลำไส้ เพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นต้น คนไทยจึงมักนำเห็ดมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร แต่บางครั้งก็มีประชาชนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดเช่นกัน โดยที่ไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้ ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และการแยกแยะในการระบุชนิดของเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ        กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ไม่อยากให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “คัดแยกเห็ดไทย” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการคัดกรองให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นรู้จักเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้ โดยสามารถดาวน์โหลดในระบบปฏิบัติการ Android        ภายในแอปพลิเคชั่นมีข้อมูลเกี่ยวกับการคัดแยกชนิดเห็ด 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเห็ดระโงกกินได้ กลุ่มเห็ดระงากพิษ กลุ่มเห็ดระโงกไส้เดือน กลุ่มเห็ดโคนกินได้ กลุ่มเห็ดผึ้งกินได้ กลุ่มเห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากกินได้ กลุ่มเห็ดหมวกจีนและเห็ดคันร่มพิษ เห็ดหัวกรวดครีบเขียว         ขั้นตอนแรกหลังจากดาวน์โหลดต้องลงทะเบียนผู้ใช้งาน โดยให้ระบุชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์มือถือ อายุ จังหวัด พร้อมกับกำหนดรหัสในการเข้าใช้งาน แอปพลิเคชั่นคัดแยกเห็ดไทยนี้ไม่มีเมนูซับซ้อน ใช้งานได้ง่าย มีการใช้ข้อมูลที่เป็นความรู้ในเรื่องของกลุ่มเห็ดชนิดต่างๆ แบ่งเป็นเห็ดมีพิษและเห็ดที่รับประทานได้ นอกจากนี้มีข้อมูลที่ให้ความรู้ในรูปแบบคู่มือชนิดเห็ดที่มีพิษ ที่ระบุข้อมูลเรื่องสารพิษ วิธีการแยกเห็ดมีพิษกับเห็ดที่ทานได้ วิธีการทดสอบเห็ดพิษที่ไม่ถูกต้อง ข้อแนะนำในการบริโภคเห็ด วิธีการเก็บและรักษาตัวอย่างเห็ดที่สงสัยว่ามีพิษ รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและแนวทางการรักษา         ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พัฒนาให้แอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดว่ามีพิษหรือไม่ ได้ทันที ผ่านการใช้กล้องสมาร์ทโฟน เพียงกดเข้าเมนูที่เขียนว่า 24h Realtime สแกนเห็ด แอปพลิเคชั่นจะนำไปยังกล้องสมาร์ทโฟน เพื่อให้สแกนภาพหรือถ่ายภาพเห็ดที่ผู้ใช้มีความสงสัยว่าเป็นเห็ดชนิดทานได้หรือมีพิษ ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะปรากฎผลทันทีใน 3 ลักษณะ ดังนี้ ถ้าภาพเห็ดไม่ชัดเจนจะปรากฎข้อความว่า N/A ระบุไม่ได้ ถ้าเป็นเห็ดที่สามารถรับประทานได้จะปรากฎข้อความชนิดเห็ดและสัญลักษณ์ภาพช้อนส้อมอยู่ในวงกลมสีเขียว และถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะปรากฎข้อความชนิดเห็ดและสัญลักษณ์ภาพหัวกระโหลกอยู่ในวงกลมสีแดง         หลังจากนี้ไม่ต้องกังวลแล้วว่าเห็ดที่ซื้อมาจากตลาดหรือเห็ดที่เจอในป่า จะทำให้เกิดอันตรายจากการรับประทาน เพราะแอปพลิเคชั่น “คัดแยกเห็ดไทย” สามารถตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ให้กับคนไทยในการแยกแยะเห็ดที่รับประทานได้กับเห็ดที่มีพิษได้มากจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ภูมิคุ้มกันกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

        ในช่วงชีวิตที่อยู่บนดาวดวงนี้ของผู้เขียน ไม่เคยพบปรากฏการณ์ใดที่ทำให้คนทั้งโลกเครียดได้เท่ากับการระบาดของเชื้อไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวปลายปี 2019 ซึ่งเรียกว่าโรค COVID-19 ตลอดมาจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้คือ ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 เหตุการณ์อาจดูดีขึ้นบ้างในบางส่วนของโลก แต่จำนวนของคนที่ตายด้วยโรคนี้คงต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า สูง แม้ว่าจะไม่สูงเท่าในอดีตสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังพัฒนาไม่ดีเท่าปัจจุบันที่มีคนตายเป็นหลายล้านคนเนื่องจากไข้หวัดใหญ่สเปนใน ค.ศ. 1918         สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าการติดเชื้อและการตายเนื่องจาก COVID-19 จะลดลงหรือไม่นั้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในแต่ละส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติหรือภูมิคุ้มกันซึ่งถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ในประการหลังนี้ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความหวัง ซึ่งจะสมหวังหรือผิดหวังนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้ในตอนนี้         แม้ว่าความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนนั้นดูให้ความหวังค่อนข้างมากเพียงแต่ต้องรอเวลาเท่านั้น สำหรับประการแรกคือ การที่ประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เองนั้นก็เป็นความหวังที่น่าสนใจ แต่ความหวังนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ที่แน่ๆ คือ ความแข็งแรงของประชาชนแต่ละคนจะแปรตามพฤติกรรมความเป็นอยู่ในสังคมนั้นว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังในบางประเทศ         มีประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอีกประการคือ ความเจริญของประเทศก็เป็นปัจจัยที่น่าจะกำหนดความเสี่ยงเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีการฉีดวัคซีน BCG เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค ซึ่งเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันแล้วน่าจะมีผลพลอยได้ในการป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันแบบฆ่าสิ่งแปลกปลอมไม่เลือกด้วยเม็ดเลือดขาวบางประเภทนั้น ดูว่าจะกระตุ้นได้ดีและยืนยาวด้วย ดังนั้น BCG จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ติดเชื้อหรือตายน้อยกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วและเลิกการฉีดวัคซีน BCG ให้เด็ก (ดูได้จากลำดับจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตเนื่องจาก COVID-19 ที่ประกาศแต่ละวัน)         ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) นั้นเป็นประเด็นความรู้ใหม่ของผู้เขียน อาจเนื่องจากไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนักในความรู้เบื้องต้นของวิชาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (เมื่อนานมาแล้ว) ที่ได้เรียนมา ผู้เขียนเข้าใจว่าประเด็นนี้คงอยู่ในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคซึ่งใช้ความรู้ทางระบาดวิทยาซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจนัก แต่ในช่วงของการระบาดของ COVID-19 นั้น เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่นี้ได้เป็นประเด็นที่บางประเทศทางยุโรปยกขึ้นมาเป็นแนวทางหนึ่งในการพยายามควบคุมโรคนี้        แนวคิดเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ นั้นได้จากการสังเกตว่า การที่คนซึ่งหายป่วยแล้วไม่ป่วยซ้ำหรือคนที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ป่วยนั้นเกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย เพราะเมื่อไม่มีใครป่วยเชื้อโรคก็ไม่มีการเพิ่มจำนวนและไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เสมือนได้เกิดภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มประชากรในสังคมนั้น ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่จึงดูว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการป้องกันประชากรที่อ่อนแอ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ในทางอ้อมจากโรคระบาด         มีข้อสงสัยว่าภูมิคุ้มกันหมู่เกิดได้ไหมกับคนไทยปัจจุบันนี้        เนื่องจากในหลักการแล้วภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดได้ต้องมีการติดเชื้อในประชากรอย่างน้อย 60-70 % ก่อน ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียนแล้วเมื่อพิจารณาการบริหารการติดเชื้อของประเทศไทย ซึ่งพยายามควบคุมและแนะนำให้คนไทยห่างไกลโรค (ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ถูกต้อง) โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่คงยาก         ในอดีตภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกป้องกันนั้น ประสบความสำเร็จในเรื่องของไข้ทรพิษ โปลิโอ หัด และคางทูม โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้นานหลายสิบปี อย่างไรก็ดีเรายังขาดหลักฐานที่จะระบุว่า ภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นอยู่ในร่างกายคนนานเพียงใด         ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการหวังพึ่งภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ต้องมีประชากรติดเชื้อบ้างและประชากรนั้นต้องเป็นประชากรที่แข็งแรงจนไม่ตายหลังติดเชื้อ จนมีภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 ได้เป็นอย่างดี ความน่ากังวลนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานใดกล้าพูดว่า ประเทศไทยมีประชากรที่แข็งแรงพร้อมสู้ไวรัสด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเป็นเท่าใดและอยู่ส่วนไหนของประเทศบ้าง        การมีร่างกายแข็งแรงพร้อมถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อนั้น มีปัจจัยหลายประการที่จำเป็น เช่น การกินอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ (ปัจจุบันเรายึดแนวทางการกินอาหารครบห้าหมู่ในแต่ละวัน) การนอนหลับพักผ่อนที่พอเพียง การขับถ่ายที่เป็นปรกติและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายหรือได้ออกแรงทุกวันอย่างพอเพียงจนร่างกายแข็งแรงไม่ติดเชื้อเช่น หวัด ในฤดูที่มีการระบาด         ตัวอย่างดัชนีชี้วัดที่อาจแสดงว่า ไทยพร้อมหรือไม่ที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ความไม่มีระเบียบในการแย่งกันซื้อเหล้าทันทีที่มีการคลาย lockdown (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเหล้าทำลายตับ อวัยวะที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน) ความแออัดของการไปโรงพยาบาลในแต่ละวันก่อนและหลัง COVID-19 มาเยือน การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการที่รัฐจ่ายเช่น กรณีประกันสังคม บำนาญ หรือแม้แต่การใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งมากเหลือล้นและแสดงว่าคนไทยป่วยมากเหลือเกิน                    ในด้านการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนนั้น จำนวนสถานที่ออกกำลังกายทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงอัตราค่าบริการในประเทศไทยนั้นยังดูไม่น่าพอใจ อีกทั้งอัตราการใช้สถานออกกำลังกายซึ่งอาจรวมถึงการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกายยังดูต่ำอยู่ สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความหลงผิดของสังคมที่คิดว่า e-sport เป็นของดีเพื่อใช้แก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม (ทั้งที่จริงแล้วควรต่อต้านเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนลดการออกแรงกายเพื่อสุขภาพและทำลายสุขภาพตา จนถึงภาพรวมของสุขภาพที่ทำให้เข้าข่ายนั่งนานตายเร็ว)         เรื่องของการมีภูมิคุ้มกันทั้งเนื่องจากการติดเชื้อแล้วไม่ตายหรือได้รับวัคซีน (ถ้ามีในอนาคต) เป็นเรื่องสำคัญในบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่ง ดร. แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติกล่าวไว้ในเดือนเมษายน 2020 ว่า เป็นไปได้ที่ในอนาคตสหรัฐจะพิจารณานโยบายการมีบัตรผ่านทางสำหรับผู้ที่มีแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเรียกว่า Immunity Passport และจากนั้นราวปลายเดือนเมษายนประเทศชิลีและประเทศเยอรมันก็มีแนวคิดที่จะออก "บัตรภูมิคุ้มกัน" (Immunity Cards) เพื่อให้คนที่ติดเชื้อและหายแล้วสามารถกลับไปทำงานนอกบ้านได้         ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020 ว่า อย่าได้เชื่อเกี่ยวกับกระแสข่าวลือที่บางประเทศจะออก“immunity passport” แก่ประชากรที่ได้รับการระบุว่า มีภูมิคุ้มกันต้านไวรัส SARS-CoV-2 เพียงเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปทำงานหรือเดินทางได้อย่างเสรี เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อใหม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 26 เมษายนว่า ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อนั้นมีแอนติบอดีต่อสู้กับเชื้อไวรัสสูงแค่ในบางคน ในขณะที่บางคนกลับมีระดับแอนติบอดีต่ำในกระแสเลือด         สิ่งที่องค์การอนามัยโลกกังวล         การที่คนซึ่งทราบว่าตนเองมีระดับของแอนติบอดีสูงในขณะตรวจด้วย rapid tests อาจละเลยในการควบคุมตนเองให้มีระยะห่างในการติดต่อกับผู้อื่น และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไปแม้ไม่มีอาการ ทั้งนี้เพราะ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ การตอบสนองของร่างกายในการสร้างแอนติบอดีนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจนัก ประการหนึ่งที่สำคัญและยังไม่มีความแน่ใจคือ โปรตีนที่เป็นแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 นั้นมีอายุได้นานเพียงใด และเมื่อใดจะถูกทำลายลง ซึ่งตอนนั้นร่างกายคงเหลือเพียง memory cell เพื่อปกป้องการติดเชื้อซ้ำ         การสร้างแอนติบอดีต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้นได้รับการยืนยันจาก Kara Lynch นักวิจัยจาก University of California, San Francisco ที่ศึกษาน้ำเลือดของผู้ติดเชื้อแล้วราว 100 คน ซึ่งได้รับการบำบัดโรคที่ที่ Zuckerberg San Francisco General Hospital โดยใช้วิธีเดียวกับที่ใช้ที่ประเทศจีนซึ่งสามารถเลือกตรวจเฉพาะโปรตีนที่จับกับ spike protein ของ SARS-CoV-2 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไข้สามารถสร้างแอนติบอดีได้ในช่วง 2-15 วันหลังมีอาการป่วย (ข้อมูลการศึกษาในจีนกล่าวว่า 10-15 วัน) โดยแอนติบอดีที่เกิดก่อนคือ IgM จากนั้นจึงเป็น IgG (ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี) นอกจากนี้มีข้อมูลจากการศึกษาอื่นๆ ว่า แอนติบอดีนี้คงสภาพในระบบเลือดนานอย่างน้อย 2 อาทิตย์         เนื่องจาก COVID-19 นั้นเพิ่งมีการระบาดได้เพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นประเด็นที่ยังไม่มีการกล่าวถึงคือ เรื่องของ memory cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนที่ถูกกระตุ้นให้รู้จักเชื้อโรคที่เคยเข้าสู่ร่างกายแล้วพร้อมสร้างแอนติบอดี (memory B-cell) หรือปรับตัวให้เป็นเม็ดเลือดขาวพร้อมสู้เชื้อ (memory T-cell) ได้เร็วเพียงใดเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งว่าไปแล้วข้อมูลลักษณะนี้จะแสดงได้เมื่อมีการผลิตวัคซีนแล้วฉีดแก้ประชากรทั่วไป         มียกประเด็นเกี่ยวกับ memory cells ที่เกิดจากโรค SARS ซึ่งเกิดจาก SARS-CoV ซึ่งเป็น  coronavirus กลุ่มใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในงานวิจัยเรื่อง Lack of Peripheral Memory B Cell Responses in Recovered Patients with Severe Acute Respiratory Syndrome: A Six-Year Follow-Up Study ในวารสาร Journal of Immunology ปี 2011 ว่า คนไข้ 23 คน ที่เคยเป็นโรค SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003 นั้นมีทั้ง memory B-cell และ memory T-cell แต่เฉพาะ memory T-cell ของคนไข้ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ตอบสนองต่อโปรตีนซึ่งแสดงความเป็นแอนติเจนของ SARS-CoV        ดังนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าคุณสมบัติของวัคซีนต้าน COVID-19 จะเป็นอย่างไร โดยทุกคนต่างหวังว่ามันคงไม่ต่างจากกรณีของฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่ก่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันได้นานถึงราว 88 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่น่าไว้ใจพอกับโควิด

        ปิดเทอมหน้าร้อนนี้ปีนี้เป็นการปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดเนื่องจากพิษโควิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอน แต่การให้มีวันหยุดเพิ่มก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแค่ชั่วคราว เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเปิดเทอมให้มาเรียนกันอยู่ดี แต่ครั้นจะปล่อยให้นักเรียนมารวมตัวกันโดยไม่มีมาตรการป้องกันทั้งที่ไวรัสโควิด 19 ยังไม่ไปไหนก็คงไม่ดีนัก แนวคิดการเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นทางออกแบบเร่งด่วนในยุคนี้         แม้การเรียนออนไลน์จะมีข้อดีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงเรียน แต่ข้อเสียที่สำคัญกว่าคือยังมีเด็กจำนวนมากที่ขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ออนไลน์ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ขาดคุณภาพชีวิตที่ดีในการเข้าถึงอาหารโรงเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสหรือยากจน รวมถึงภาระความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่มีเวลามาเฝ้าลูกเรียนออนไลน์ได้          จากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ภาพรวมสถิติในปี 2562 ระบุว่า มีนักเรียนในระบบ 10,938,698 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 1,705,205 คน คิดเป็น 16%  ประถมศึกษา 4,730,416 คน คิดเป็น 43% มัธยมศึกษาตอนต้น 2,270,657 คน คิดเป็น 21% มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,204,249 คน คิดเป็น 11% และอื่นๆ 1,028,101 คน คิดเป็น 9%         ขณะที่มีสถานศึกษาหรือโรงเรียนทั่วประเทศอยู่ 41,246 แห่ง  นั่นหมายความว่าจะมีนักเรียนเกือบ 11 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากมาตรการเรียนออนไลน์ในครั้งนี้ แม้แนวทางนี้เป็นเรื่องที่ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะให้นักเรียนทั่วทั้งประเทศเรียนในรูปแบบออนไลน์สักเท่าไรนัก         นอกจากมาตรการความปลอดภัยที่จะต้องเตรียมป้องกันขั้นสูงสุดสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว รูปแบบการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดเช่นกัน กรณีที่ผู้ปกครองมาส่งเองคงไม่มีอะไรมาก แต่หากเป็นนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะหรือรถรับส่งนักเรียนที่ในแต่ละครั้งต้องแออัดเบียดเสียดกันแน่นรถ อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างการเดินทางได้หากมีการระบาดของไวรัสโควิด19         ทำให้กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องรถรับส่งนักเรียนต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 นอกเหนือจากการกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างในรถโดยสารสาธารณะอยู่แล้ว โดยกำหนดให้คนขับรถรับส่งนักเรียนต้องมีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประจำรถ การทำความสะอาดก่อนและหลังการให้บริการแต่ละรอบ ลงทะเบียนบันทึกข้อมูลนักเรียนที่ใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19          ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งเลือกที่จะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน โดยขอความร่วมมือให้แบ่งการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนเป็นสองรอบ เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของนักเรียนบนรถ กำหนดจุดจอดรถรับส่งนักเรียนเพื่อให้เป็นระเบียบและสะดวกสอดคล้องกับมาตรการป้องกันของโรงเรียนเพิ่มเติม            จากความร่วมมือของทุกคนที่ช่วยกันตั้งการ์ดอย่างเต็มที่ ส่งผลให้สถานการณ์หลังเปิดเทอมสองอาทิตย์ สถิติด้านสุขภาพของนักเรียนดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากจะหยุดโควิดไม่ให้มาแล้ว โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้ต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย เรียกได้ว่างานนี้ต้องชื่นชมปรบมือให้กับทุกคนจริงๆ         ส่วนสิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้คือ ผลกระทบจากโควิด 19 อาจทำให้ผู้ปกครองบางส่วนกังวล ไม่อยากให้บุตรหลานใช้รถโดยสารสาธารณะหรือรถรับส่งนักเรียน แต่เลือกให้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางไปโรงเรียนแทน แม้จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างเดินทางได้บ้าง กลับกันก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนให้กับนักเรียนเช่นกัน เพราะอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตของเยาวชนไปจากครอบครัว และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 นำทองไปขาย ต้องระวังเรื่องการหักค่าเสื่อม

        ทองคำราคาพุ่งไม่หยุด คนที่มีเก็บไว้ตอนราคายังไม่ถึงสองหมื่นหรือสองหมื่นนิดๆ ก็สนใจนำมาขายหวังกำไร แต่อาจผิดหวังเพราะโดนหักค่าเสื่อมที่ทำให้กำไรในฝันลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทราบไว้         คุณดีพร้อม นำทองรูปพรรณหนัก 2 บาท ไปขายที่ร้านทองร้านหนึ่งในเมืองภูเก็ต โดยราคาทองที่ประกาศรับซื้อ ณ วันนั้น คือ 26,000 บาท แต่ทางร้านแจ้งว่าจะถูกหักค่ากัดกร่อนจำนวนบาทละ 1,000 กว่าบาท เมื่อคำนวณเป็นราคารับซื้อจะได้เงินเป็นจำนวนเพียง 48,800 บาท ซึ่งผิดไปจากที่คุณดีพร้อมคาดไว้มาก อีกทั้งสงสัยว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เพราะตนเองเคยโทรไปถามจากร้านเดิมที่ตนเองเคยซื้อ (แต่ไกลบ้าน) ทางร้านเดิมบอกว่าขายที่ร้านนี้ก็ได้ราคา 26,000 บาท ประกอบกับเพื่อนของตนเองนำทองรูปพรรณไปขายร้านอื่นก็ได้ราคาสูงกว่าผู้ร้องถึง 700 บาทในน้ำหนักสองบาทเท่ากัน (49,500 บาท)         ร้านนี้เอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ คือความสงสัยของคุณดีพร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหา          ก่อนอื่นเราควรทราบข้อมูลการรับซื้อทองรูปพรรณก่อน         ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าทองที่เป็นธรรม         ข้อ 3 (1) (ค) 2) ทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ราคารับซื้อคืน คือ ราคารับซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท หักด้วยค่าเสียหายจากการหลอมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เกิน 5% ของมูลค่าซื้อคืนทองคำแท่งหนัก 1 บาท ณ วันที่ทำการซื้อขายตามราคาที่สมาคมค้าทองคำประกาศ ทั้งนี้เฉพาะทองรูปพรรณที่ได้ซื้อไปจากร้านค้าทองที่รับซื้อคืน         กรณีของคุณดีพร้อม เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากทางร้านค้าที่คุณดีพร้อมมีข้อสงสัยเรื่องการเอาเปรียบ ทราบว่าราคาทองที่ประกาศรับซื้อคืนวันนั้นคือ บาทละ 26,550 บาท น้ำหนักทองสองบาททางร้านจะให้ราคา 53,100 หากเป็นราคาน้ำหนักเต็มจำนวน เมื่อหัก 5% คือ 2,655 บาท จะเหลือ 50,445 บาท แต่ที่แจ้งผู้ร้องว่า จะได้เงินเพียง 48,800 บาทนั้น เนื่องจากทางร้านได้กำไร 1,645 แต่ทางร้านต้องนำไปขายคืนโรงงานเพราะไม่สามารถหลอมเองได้ และทางโรงงานจะหักค่ากัดกร่อนของทองคำเก่าในอัตรา 3.5-4.5 % บวกกับค่าใช้จ่ายที่ทางร้านทองต้องจ่ายเป็นค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าน้ำหนักทองที่หายไป (ปกติทองคำรูปพรรณหนัก 2 บาท 30.4 กรัม แต่ทองของผู้ร้องมีน้ำหนักเหลือเพียง 30.31 กรัม)         รายละเอียดดังกล่าว คุณดีพร้อมยอมรับว่าตนเองไม่ทราบข้อมูลนี้มาก่อน จึงยุติการร้องเรียน แม้ว่ามีประกาศเรื่องการหักค่ากัดกร่อนตามประกาศได้ไม่เกิน 5% แต่ตามประกาศไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ เป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติของร้านค้าทองคำ ทำให้ร้านทองบางร้านอาจเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายมากกว่า 5 %  แต่อย่างไรก็ตามทางร้านควรชี้แจงรายละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะขายหรือไม่ขายในราคาที่ร้านเสนอ

อ่านเพิ่มเติม >




ฉบับที่ 232 โมโครเวฟพร้อมกริล

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเตาไมโครเวฟพร้อมฟังก์ชั่นปิ้งย่าง องค์กรผู้บริโภคในยุโรปร่วมกันส่งเข้าทดสอบในนามขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) เอาไว้มากกว่า 80 รุ่น แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดและเราจึงขอเลือกรุ่นความจุระหว่าง 20 – 40 ลิตร มาให้สมาชิกได้พิจารณากัน 15 รุ่น         คะแนนรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย         ร้อยละ 55       ประสิทธิภาพการใช้งาน เช่น ละลายน้ำแข็ง ปิ้งย่าง และอุ่นร้อน         ร้อยละ 40       ความสะดวกในการใช้งาน เช่น เลือกโปรแกรม ตั้งเวลา หยิบภาชนะ การมองเห็นอาหารขณะใช้งาน เสียงรบกวน การทำความสะอาด ฯลฯ)           ร้อยละ   5       การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ          สนนราคาของเตาไมโครเวฟเดี๋ยวนี้ลดลงมาก เราสามารถหารุ่นที่ใช้งานได้ดีด้วยงบประมาณไม่เกิน 3,000 บาท  ใครชอบใช้งานด้านไหนเป็นพิเศษพลิกดูคะแนนการทำงานฟังก์ชั่นต่างๆ ในหน้าถัดไปได้เลย (ราคาที่แสดงเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโร) หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายในการทดสอบเตาไมโครเวฟแต่ละรุ่นอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 550 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 สารกันบูดและปริมาณไขมัน ในสลัดครีม

        สลัดผักอาจถูกเลือกเป็นอาหารเย็นมื้อเบาๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยากควบคุมน้ำหนักและสายรักสุขภาพ ผักสดหลากสีสันให้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนน้ำสลัดในห้างสรรพสินค้าก็มีให้เราเลือกซื้ออยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งน้ำสลัดแบบอิตาเลียน ฝรั่งเศส บัลซามิค ซีซาร์ เทาซันไอร์แลนด์ หรือจะเป็นน้ำสลัดงาสไตล์ญี่ปุ่น แต่ที่ดูคลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘สลัดครีม’ ที่มีเนื้อครีมเข้มข้นหอมมัน เป็นน้ำสลัดขวัญใจผู้บริโภคชนิดยืนพื้นที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงเลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม จำนวน 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) และปริมาณไขมันเพื่อเอาใจผู้บริโภคสายผักที่รักสุขภาพสรุปผลการทดสอบ·      ผลทดสอบปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม         พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) น้อยที่สุด ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) มากที่สุด ได้แก่ สลัดครีม คิวพี จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม ·      ผลการตรวจวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก        จากผลการทดสอบ พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีม จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่        1) Heinz ไฮนซ์ สลัดครีม สูตรต้นตำรับ จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน        2) EZY FRESH อีซี่เฟรช น้ำสลัดครีม  จาก 7-Eleven สาขาสยามอินเตอร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ         3) สุขุม สลัดครีม  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอนและ  4) สลัดครีม คิวพี  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน         ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกัน เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ   664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และตรวจพบปริมาณกรดซอร์บิก   เท่ากับ 569.47  มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ  1,233.61  มิลลิกรัม/กิโลกรัม         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน หากการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         ข้อสังเกตสำคัญ จากผลการสำรวจฉลากพบว่า ผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากให้ผู้บริโภคทราบทุกตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ข้อแนะนำ        ในการเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่างๆ อยู่ที่ 30 กรัม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ผลิตภัณฑ์กันยุงชนิดปลอดจาก DEET

        เข้าหน้าฝนยุงเริ่มเป็นปัญหากวนใจ ดังนั้นแม้โรคโควิด-19 ยังต้องระวัง แต่ต้องไม่ลืมปัญหาไข้เลือดออกจากยุงลายที่เป็นพาหะ หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุง การป้องกันยุงทำได้หลายวิธี ทั้งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ การฉีดพ่นสเปรย์สารเคมีเพื่อฆ่ายุงโดยตรง หรือการใช้ยาจุดกันยุงแบบขดให้เกิดควันเพื่อไล่ยุง เรายังมีผลิตภัณฑ์ทากันยุงทั้งชนิดสเปรย์ ชนิดโลชั่นหรือปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ชนิดแผ่นแปะไล่ยุงออกมาเป็นทางเลือกเพื่อความสะดวกอีกด้วย  อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ทากันยุงส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่เรียกว่า DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ เพราะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงสูง แต่ก็มีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์เช่นกัน จึงมีผลิตภัณฑ์ชนิดปลอด DEET หรือการใช้สารธรรมชาติพวกน้ำมันหอมระเหยออกมาแข่งขันในตลาดมากขึ้น        ฉลาดซื้อเคยสำรวจผลิตภัณฑ์ทากันยุงไว้ในฉบับที่ 187 (ผู้อ่านสามารถดูผลการสำรวจได้ที่ www.ฉลาดซื้อ.com) ซึ่งส่วนใหญใช้ DEET เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ และตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพิ่มขึ้น ดังนั้นฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสำรวจเพิ่มในส่วนของผลิตภัณฑ์ทากันยุง/ป้องกันยุง ที่ปลอดจากสาร DEET พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อปริมาตรเพื่อเป็นข้อมูลใน สารทากันยุงชนิดอื่นนอกจาก  DEET        ·  น้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) เป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอม จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยน้ำมันตะไคร้หอม ควรปิดฝาให้สนิท อย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟหรือความร้อน        ·   พิคาริดิน (Picaridin, KBR3023) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง หากมีความเข้มข้นสูง เช่น 20% จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ DEET แต่ระยะเวลาสั้นกว่า        ·   น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of Lemon eucalyptus) ซึ่งมีพีเอ็มดี (PMD: P-menthane-3,8-diol) เป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพเป็นครึ่งหนึ่งของ DEET เช่น PMD 30% มีประสิทธิภาพเทียบเท่า DEET 15%        ·   ไออาร์ 3535 (IR3535: Ethyl butylacetylamino propionate) เป็นสารสังเคราะห์ จากการศึกษาหนึ่งพบว่า IR3535 มีประสิทธิภาพรองจาก DEET และ Picaridin         ·   ไบโอยูดี (BioUD: 2-undecanone) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) การใช้ผลิตภัณฑ์ทากันยุงเพื่อความปลอดภัยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดไม่ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอตหรือพิคาริดิน มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเข้มข้นของสารเคมีในระดับดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงมากขึ้นและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ทายากันยุง (แต่อาจต่ำกว่า 4 ปีได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์)ควรคอยเฝ้าดูขณะเด็กใช้ยาทากันยุง และหลีกเลี่ยงการทายากันยุงบริเวณมือเด็ก เพราะเสี่ยงต่อการนำนิ้วเข้าปากหรือขยี้ตาไม่ควรทายากันยุงบริเวณที่เป็นแผลไม่ควรใช้สเปรย์กันยุงฉีดใบหน้าโดยตรง ควรฉีดพ่นลงบนฝ่ามือก่อนนำมาทาบนใบหน้า หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตาและริมฝีปากไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างครีมกันแดดและยาทากันยุง เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการทายากันยุงซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไปที่มา https://www.pobpad.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะในการแสดงความเห็นออนไลน์

        ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มรีวิวเรื่องต่างๆ เราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับใคร ในเรื่องใดก็ได้ แต่เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่กับคนที่เรากำลังวิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเห็นแบบไม่ระบุชื่อ อาจทำให้หลายคนแสดงความเห็นด้วยความโกรธ ความผิดหวัง หรือเกลียดชัง โดยไม่มีการกลั่นกรอง แต่การใช้แพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความคิดเห็นก็ไม่ต่างจากการใช้รถใช้ถนนบนโลกจริง การแสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงกฎและมารยาทเช่นกัน         ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การเขียนสิ่งที่เป็นโดยไม่ตรงกับความจริงนั้นอาจมีผลทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องที่เราอาจจะมองข้าม เช่นการเขียนวิจารณ์ว่า "ผมว่าพิซซ่าร้านนี้ไม่อร่อย" นั้นถือเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเขียนว่า "ร้านนี้เอาพิซซ่าแช่แข็งมาอุ่นให้ลูกค้า" อาจเข้าข่ายการใส่ความ หากทางร้านไม่ได้ทำเช่นนั้นจริง ความแตกต่างระหว่าง การแสดงความคิดเห็นและการตั้งข้อกล่าวหา อาจมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่         ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น เราควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้        1. ตั้งอยู่บนความจริง        การวิพากษ์วิจารณ์ร้านค้าหรือบริการต่างๆ นั้นได้รับการคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นธรรม พยายามกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง  ระวังอย่าให้อารมณ์มาเป็นตัวกำหนด เพราะอาจทำให้ความเห็นของเรากลายเป็นการใส่ร้าย ซึ่งอาจมีผลทางกฎหมาย        2. การเปิดเผยข้อมูล        เมื่อเข้าใช้ระบบโซเชียลมีเดียต่างๆ ให้คิดอย่างรอบคอบว่าใครอ่านความเห็นของเราได้บ้าง ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เพื่อดูว่าใครสามารถเข้ามาดูข้อมูลโปรไฟล์และกิจกรรมของเราได้        3. อย่าใช้อารมณ์นำ        ถ้าเราได้แสดงความเห็นออกไป ที่เข้าข่ายดูถูกเหยียดหยามหรือใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่มีมูลความจริง ขอให้รีบลบโพสต์นั้นโดยเร็วที่สุด อย่าเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะถ้าถูกส่งต่อไป อาจทำให้ถูกออกจากงานได้         โดยทั่วไปไม่มีใครต้องกังวลเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นในด้านลบ ถ้าสิ่งที่กล่าวนั้นเป็นธรรม ตั้งอยู่บนความจริงและเป็นการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ โดยหลักการแล้วการวิจารณ์ไม่ควรมุ่งทำร้ายผู้อื่นหรือเป็นการแก้แค้น        วิจารณ์อย่างไรให้ได้ผล        · แนะนำว่าปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง ดีกว่าที่จะเขียนแค่ว่าอะไรต้องปรับปรุง หรือแค่ติว่าอะไรไม่ดี        · วิจารณ์ในสิ่งที่เราได้สัมผัสหรือประสบมาด้วยตัวเองเท่านั้น        · เน้นว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเราเอง เช่น "ผมคิดว่ากาแฟเข้มไปหน่อย"        · ไม่อ้างข้อเท็จจริงที่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน        · ไม่เปิดเผยชื่อบุคคล (อาจมีข้อยกเว้น)        สำหรับเจ้าของกิจการ หรือผู้ที่ทำงานกับผู้คนนั้น มักจะตกเป็นเป้าหมายของการประเมินและวิพากษ์วิจารณ์เสมอ  โดยทั่วไปผู้มีอาชีพในกลุ่มนี้ ต้องยอมรับคำวิจารณ์เกี่ยวกับบริการของพวกเขา แต่เมื่อพบเจอกับการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม อาจใช้วิธีจัดการเบื้องต้นดังนี้         · ในคำวิจารณ์ที่รุนแรง มักมีคำแนะนำที่นำไปใช้ในการปรับปรุงการบริการที่สามารถนำไปใช้ได้ซ่อนอยู่เสมอ        · ระบบโซเซียลหรือแพลตฟอร์มบางแห่ง อนุญาตให้เจ้าของกิจการเข้าไปชี้แจงต่อคำวิจารณ์ได้ ให้รีบเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริง จะสามารถลดความเสียหายจากความคิดเห็นที่ไม่เป็นธรรมได้        · หากพบคำวิจารณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ของแพลทฟอร์มนั้นโดยตรง ถ้าไม่สำเร็จอาจต้องให้ทางกฏหมายจัดการ        · สำหรับเรื่องที่ผิดกฏหมายอย่างชัดเจน ควรไปแจ้งความ         ผู้รับคำวิจารณ์ควรตระหนักว่า การแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ตมักจะแตกต่างจากการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวเสมอ การที่ไม่ต้องระบุตัวตนอาจทำให้ผู้วิจารณ์ขาดความระมัดระวังในการใช้คำพูด ส่วนทางผู้วิจารณ์เองก็ควรจะระลึกว่าอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน ควรยึดหลักการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้ถูกวิจารณ์ได้นำความคิดเห็นนั้นไปใช้ปรับปรุงบริการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง

        ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง         จากกรณีองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ (PETA) ออกมาให้ข้อมูลและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ถอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าวของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการผลิตมีการทารุณกรรมสัตว์ ด้วยการใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ซึ่งเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้รับทราบจากที่ประชุม “ความร่วมมือในการแก้ปัญหามะพร้าวและกะทิ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะได้มีการอภิปรายและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิ อย่างกว้างขวาง          ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนของเวทีดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านรับทราบและพิจารณาไปด้วยกัน แน่นอนว่าปัญหาเกี่ยวกับมะพร้าวของไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกเหนือไปจากกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยขอแยกเป็นประเด็นๆ คือ         ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว         เรื่องนี้ “ตัวแทนผู้ประกอบการ” ระบุว่า ทางยุโรปมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานสัตว์ แม้ว่าทางผู้ผลิตจะพยายามส่งหนังสือชี้แจงว่า นี่คือวัฒนธรรม และที่สำคัญลิงเหล่านี้ได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บจะจำหน่ายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งออก แต่ทางยุโรปยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และนำมาสู่การเคลื่อนไหวถอดกะทิกล่องออกจากชั้นวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ         ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ และนายพรชัย เขียวขำ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2555  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ก็พบว่าลดเหลือ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2557-2562 ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 พบว่าเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าว 1.2 ล้านไร่ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าในปี 2563พื้นที่ปลูกมะพร้าวเหลือเพียง 7.6 แสนไร่ เท่ากับว่าลดลงไป 40% ภายในปีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการสำรวจผิดพลาดหรือไม่          คุณจินตนา แก้วขาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไม่ได้ลดลง แต่วิธีการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารไปให้เกษตรกรกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเกษตรกรอกข้อมูลไม่เป็น ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเซ็นชื่อและทำแบบประเมินนั้นเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่พบพื้นที่ลดลงเพราะ 1.มีการครอบครองสวนบนที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เช่น ที่ สปก. จึงไม่กรอกตามจริง 2.ไม่ยอมแจ้งเพราะครอบครองเยอะ 3. ไม่แจ้งเพราะกลัวเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่า สศก.ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ตรงกัน           ต้นทุนการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรคือ 5 บาท หรือ 8 บาท         คุณนุกูล ลูกอินทร์ ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอทับสะแก ระบุว่าตามหลักของ สศก. เมื่อปี 2562 ได้จัดทำต้นทุนมะพร้าวอยู่ที่ 6.80 บาท บวกเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 8-9 บาท พร้อมตั้งคำถามว่ากำไร 20% ของต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากมีพื้นที่ปลูกเยอะอาจจะอยู่ได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกเพียง 10-50 ไร่ อาจจะลำบาก เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะขายมะพร้าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคิดอัตราขายที่ 20 % จากต้นทุนเดือนละครั้งเท่ากับว่ามีรายได้น้อยมาก ยกตัวอย่างมะพร้าว 1 ลูก ต้นทุน 8 บาท ขายได้ 10 บาท กำไร 2 บาท ถ้าขายมะพร้าว 1,000 ลูก ก็ได้กำไรแค่ 2,000 บาทต่อเดือน         เพราะฉะนั้นจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าโรงงานซื้อมะพร้าวขาวประกันราคาต่ำสุดไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ประมาณ 2 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม โรงงานต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 24 บาท แต่ปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรของรัฐไม่สามารถเชื่อมหรือบริหารจัดการนำเข้าและของที่มีอยู่ในประเทศเพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในราคา 12-15 บาททั้งนี้ ตามที่สศก.ระบุว่าบวกเพิ่มต้นทุน 20% แต่ถ้ากำหนดต้นทุนราคาอยู่ที่ 5 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีต้นทุนแรกต่างกัน เช่น มะพร้าวทับสะแกมีต้นทุน 9 บาท แพงกว่าบางสะพานที่มีต้นทุน 7 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ราคาที่อยู่ได้ควรเป็น 7 บาท ดังนั้นการคิดราคาต้นทุนจะใช้วิธีคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัดไม่ได้         ปัญหาการผูกขาดการรับซื้อมะพร้าวโดยพ่อค้าคนกลาง         คุณนุกูล ยังบอกอีกว่า จากการหารือกันของกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ ยังมีความกังวลว่ามะพร้าวคุณภาพที่ผลิตออกมานั้นจะนำไปขายให้ใครได้บ้าง จะมีโอกาสขายตรงกับโรงงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ “อรหันต์” ได้หรือไม่ เพราะถูกกดราคา หรือการขายให้ “ล้ง” ก็ทำให้เกิดการเหลื่อมราคาตลาด ดังนั้นจึงจะมีทางใดหรือไม่ที่เกษตรกรจะขายมะพร้าวให้โรงงานได้โดยตรง และโรงงานสามารถประกาศราคาหน้าโรงงานให้ทราบได้หรือไม่         “ยืนยันว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต่อสู้เรื่องราคามะพร้าว ยืนยันไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของราคา เพราะหากราคาสูงเราก็หยุด เราต้องการสู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการแก้ไขในทุกมิติ หาทางออกร่วมกัน โรงงานกะทิก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้”         ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ         ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตมะพร้าวประมาณ 9 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดอยู่ประมาณ 2 แสนตัน แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเลขของภาครัฐ เช่น ชี้แจงตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็งว่า ปี 2560 นำเข้า 53 ล้านลิตร และปี 2561 นำเข้า 49 ล้านลิตร         อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่ามะพร้าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะข้น ไม่มีไขมัน เมื่อทำเป็นกะทิแล้วถูกตำหนิว่ามีการเติมแป้งลงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเติมแป้งแต่อย่างใด  ส่วนที่มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูปจากประเทศเวียดนาม ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์ ก็พบว่าคุณภาพไม่ผ่านตามมาตรฐาน         “มะพร้าวทับสะแก ทำเป็นกะทิดีที่สุดในแง่ของคุณภาพ ความหอม มัน จึงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตกะทิ ไม่มีใครอยากได้มะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะควบคุมคุณภาพยาก เสี่ยงเจอปัญหาแมลงหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่ามาจากเวียดนาม”          “กะทิ 100 % คือ กะทิที่มีไขมัน 17 %”         ศ.ดร.วิสิฐ ย้ำว่า ปัจจุบันกะทิกล่องที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีฉลากระบุ “กะทิ 100 %” ส่วนที่ส่งออกนั้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าว มีเพียงคำว่า “Coconut Extract” คือการสกัดโดยที่ไม่เติมน้ำ และมีการเติมน้ำภายหลัง         ทั้งนี้การผลิตกะทิไทยจะอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดว่า กะทิ (Coconut Milk) ต้องมีไขมัน 10-17 % ซึ่งผู้ผลิตควบคุมมาตรฐานไขมันอยู่ที่ 17% ดังนั้นจึงสามารถระบุในฉลากได้ว่าเป็น กะทิ 100% ส่วนหัวกะทิ (Coconut Cream) ต้องมีไขมันไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้าเขียนว่ากะทิ 100% คือมีไขมัน 17% นั้น แต่ถ้าเอามาคั้นดิบๆ โดยที่ไม่เติมน้ำจะมีไขมันประมาณ 32% บริษัทก็ใช้เป็นตัวคำนวณ และเป็นวิธีการที่เขียนบนฉลากในการส่งออก         อย่างไรก็ตาม การผลิตกะทิมีหลายสูตร มีทั้งเติม และไม่เติมอะไรลงไปเพิ่ม เช่น เติมน้ำมันมะพร้าวอาจจะมีปัญหาความไม่อร่อย หรือเติมอย่างอื่น เมื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้กะทิมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ หรือการเติมสารเพื่อให้กะทิเนื้อเนียน เมื่อนำไปทำกับข้าวกะทิจะไม่แยกชั้น เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากผสมอะไรลงไป ต้องระบุในฉลากด้วย หากไม่ได้ระบุไว้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น กะทิ UHT หากไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเมื่อใส่ไว้ในตู้แช่แข็งกะทิจะแยกชั้นเป็นก้อน หากมีการเติมสารลงไปกะทิจะมีเนื้อเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามกะทิที่ส่งต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวจะมีการเติมสารเพื่อให้กะทิคงสภาพเนื้อเนียนไม่แยกชั้น          โจทย์ในอนาคตของกะทิ          ศ.ดร. วิสิฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาด “กะทิ” มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น จึงมีการกำหนดข้อห้ามตามมาเยอะ เช่น ในยุโรปกำหนดห้ามใช้คลอรีน เพราะมีสารไนคลอเรทที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นหากมะพร้าวไทยยังมีการแช่คลอรีน หรือแช่น้ำแข็งในมะพร้าวขาว อาจจะเจอปัญหานี้ได้อีกในอนาคต         มีการวิจัยที่โรงงานว่า ถ้าทิ้งมะพร้าวไว้ให้แห้ง 8 ชั่วโมง โดยไม่แช่น้ำเลยก่อนนำมาคั้น จะทำให้ได้กะทิคุณภาพดีมาก ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีระบบบริหารจัดการความสะอาดโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำ เวลาส่งก็ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง น่าจะช่วยเพิ่มราคามะพร้าวให้มากขึ้นตามคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการแช่น้ำทำให้น้ำหนักมะพร้าวมากขึ้น          กะทิกับคลอเรสเตอรอล         นอกจากนี้ “ศ.ดร.วิสิฐ” ยังให้ข้อมูลด้านโภชนาการด้วยว่า มีการศึกษาวิจัยให้คนกินกะทิ คือ กินไขมันจากมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือน เทียบกับการกินน้ำมันถั่วเหลืองในระยะเวลาเท่ากัน พบว่ามีปริมาณคอเรสเตอรอลเท่ากัน  ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเสนอต่อองค์การอนามัยโลกว่าในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไขมันอิ่มตัวไม่ควรรวมไขมันจากมะพร้าวเข้าไปด้วย แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังปฏิเสธไม่ให้เข้าพบเพื่อส่งรายงานดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ จึงมีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบไม่ได้มีผลต่อระดับคอเรสเตอรอลแต่อย่างใด        ด้าน ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่าไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม           ขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้กินกะทิ และมีความเชื่อว่ากะทิทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกะทิถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นตัวที่ไปเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวิเคราะห์ลงลึก บวกกับงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวที่อาจปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อแดง คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ         คณะกรรมการพืชน้ำมัน         อาจารย์ปานเทพ กล่าวถึงประเด็นคณะกรรมการพืชน้ำมันว่าทำอย่างไรให้มีตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่รู้ปัญหาจริงๆ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้เสนอปัญหาของเกษตรกร ที่ผ่านมา “ตัวแทนเกษตรกร” นั้นเป็นตัวแทนของนักการเมือง หรือ ตัวแทนโรงกะทิ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่พูดคุย ไม่มีการนำเสนอประเด็นปัญหาของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขอย่างถูกจุด         “เราต่อสู้เรื่องหนอนหัวดำ เจาะต้น ฉีดยา เรามีมติของกลุ่มคนในกลุ่มของเราที่ไปเรียกร้อง ห้ามไปรับจ้างเจาะ ห้ามรับจ้างฉีด ทำอย่างไรให้มีการฟังเสียงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอย่างเป็นระบบ”         ต่อประเด็นนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่าตนไม่เห็นด้วยในการจัดมะพร้าวอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมัน เพราะมะพร้าวมีคุณค่ามากกว่านั้น มะพร้าวเป็นวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น และมีผลในเชิงนิเวศน์มาก  ในขณะที่พืชน้ำมันคือพืชที่เอาไปใช้เป็นพลังงานใช้เป็นอาหารผัด ทอด แต่มะพร้าวไม่ใช่ เป็นพืชนิเวศน์เชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นอนาคตสำหรับประเทศเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์การท่องเที่ยว มีคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่ามันคนละเรื่องเลยกับพืชน้ำมันอื่นๆ          ทางออกเกษตรกร         คุณวิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลายเรื่องมาจากหน่วยงานของรัฐกับนักการเมือง การกำหนดมาตรฐาน อย่างเรื่อง GI  เรื่องของการตรวจรับรองมาตรฐานล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งการรับรองมาตรฐานของไทยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งตามมาตรฐานของไทยจะใช้คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” แต่คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” ก็ไม่ถูกยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับ IFOAM แต่ก็มีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่รัฐจะให้ 1,500 บาทต่อไร่ หรือ 2,000 ต่อไร่ หรือถ้าไม่ใช้ “ออร์แกนิกไทยแลนด์” รัฐก็จะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้ แต่ถ้าใช้ก็มีเงินให้ แปลงละประมาณ 7,000 – 10,000 กว่าบาท         “หน่วยงานรัฐสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้ทั้งสิ้น เราต้องจัดการปัญหาเรื่องหน่วยงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคให้มาเกื้อกูลเกษตรกรให้ได้ คนของรัฐอยู่ภายใต้นักการเมือง ต้องต่อรองกับนักการเมืองและหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน เกษตรกรต้องมีเครือข่ายความร่วมมือเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดตรงนี้ไปลำบากทุกเรื่อง”         อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าราคาต้นทุนที่รัฐกำหนดในปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง จะต้องทบทวนใหม่ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มทำเกษตรที่ได้มาตรฐาน และมีตัวแทนเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกต่างๆ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ต้องเจรจาสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “มะพร้าวออร์แกนิก” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการรวมกลุ่มกันและค่อยๆ สื่อสารให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเอง และหากมีการทำการตลาดดีๆ ก็มีโอกาสที่จะขายได้ในราคาที่ดีต่อไป            ทางออกของผู้บริโภค                 ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยรู้แหล่งที่มาของอาหาร ลดการขนส่ง เป็นต้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “น้ำกะทิ” หรือ “หัวกะทิ” แทนการระบุว่า “กะทิ 100% Product of Thailand” แต่ยังคงระบุแหล่งที่มาว่าเป็นมะพร้าว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าที่ทำให้เกิดความมั่นคงและอธิปไตยในการผลิตอาหาร         รวมทั้งการบริโภคที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การหาช่องทางทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคตรวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง

        ปลาทูน่า (Tuna) เป็นปลาทะเลที่อยู่กันเป็นฝูง เคลื่อนที่ว่องไว อาศัยอยู่ตามเขตชายฝั่งและทะเลน้ำลึก ปลาทูน่าเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ติด 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภค โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมจับมาเป็นอาหาร นั้นมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna), ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna), ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) และ ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna) โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมนำมาทำปลากระป๋องถึงร้อยละ 58 คือ ปลาทูน่าท้องแถบ         นอกจากความนิยมรับประทานปลาทูน่าสดๆ อย่าง ซาชิมิ (Sashimi) กับ ซูชิ (Sushi) ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังนิยมนำปลาทูน่ามาทำปลากระป๋องอีกด้วย ปลาทูน่าอุดมไปด้วยโปรตีน และ โอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ลดไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ทั้งยังให้ไขมันต่ำและเป็นไขมันดี รวมถึงมีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี และเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่ย่อยง่ายอีกด้วย         ปลาทูน่ากระป๋องสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแซนวิชทูน่าที่เหมาะเป็นอาหารเช้า ผัดกะเพราทูน่า ทูน่าคอร์นสลัด ขนมจีนน้ำยาปลาทูน่า น้ำพริกทูน่ารับประทานคู่กับผักสด เป็นต้น แต่นอกจากความอร่อยของทูน่ากระป๋อง ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทะเล เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โดยเฉพาะปรอท ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดระบบการจัดการที่ดี ปล่อยโลหะหนักสู่สภาพแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร ทำให้สัตว์ทะเลปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านั้น และสุดท้ายก็เข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของเราผู้บริโภค          เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวนทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนพฤษภาคม 2563 นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ          จากผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องข้างต้น สรุปได้ว่า         ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ ตรวจพบปริมาณปรอท ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และ ตรวจพบปริมาณตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม         สำหรับการปนเปื้อนของแคดเมียม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลา ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม          ซึ่งจากผลทดสอบหากเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า        ปรอท (Mercury)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่          1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า                 ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลือง / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก.        - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่         1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.189 มก./กก.         ตะกั่ว (Lead)         สำหรับการตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.          แคดเมียม (Cadmium)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่                 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช / BigC สาขาสุขสวัสดิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ / FoodLand หลักสี่             ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก.          - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่      1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.029 มก./กก.         ทั้งนี้ ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า        ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 45 มิลลิกรัม          และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง / Tesco Lotus สาขา ถ.สุขสวัสดิ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 350 มิลลิกรัม  คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค        แม้ว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง ให้แคลอรีต่ำ แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต อันตรายที่ไกลตัว?

                มหากาพย์เรื่องยาวของการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) 2 ชนิด (พาราควอต และไกลโฟเซต) กับ สารกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง) 1 ชนิด (คลอร์ไพริฟอส) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ได้จบบทแรกลงไปแล้ว โดยที่ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ประกาศดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้สารเคมีประสบความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือสารเคมีอีก 1 ตัวที่ยังไม่ถูกแบน ซึ่งได้แก่ยาฆ่าหญ้า – ไกลโฟเซต ที่ยังอยู่ในการควบคุมระดับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือการจำกัดการใช้เท่านั้น         การคงอยู่ของการใช้ไกลโฟเซตในวงจรการผลิตนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตกค้าง ว่าจะมีการตกค้างของไกลโฟเซตหรือไม่ และถ้ามีจะมีมากน้อยเพียงใด “ฉลาดซื้อ” เลยถือโอกาสเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก เพื่อทดสอบหาการตกค้างของไกลโฟเซต มาให้หายสงสัยกัน อย่างไรก็ตามต้องแจ้งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบก่อนว่าผลการทดสอบครั้งนี้เป็นผลที่เก็บตัวอย่างและทดสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วมิใช่การทดสอบที่เพิ่งดำเนินการแต่ประการใด         การเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองรวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การทดสอบทำตามเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิงใช้ค่าการตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้จากมาตรฐานอาหารสากล (MRL CODEX : glyphosate 2006) ที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        สรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) (แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 3 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้าง (ร้อยละ 37.5) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์         นอกจากไกลโฟเซตแล้ว “ฉลาดซื้อ” ยังได้ตรวจสอบหาสารที่เป็นเมตาโบไลท์หลักของไกลโฟเซตชื่อ Aminomethyphosphonic acid: AMPA ซึ่งตรวจพบการตกค้างของ AMPA จำนวน 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.16 มิลลิกรัม/กิโลกรัม,   ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.79 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 4 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต         ข้อสังเกต จากทั้งหมดที่พบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างมี 3 อย่าง (ถั่วเหลืองตราไร่ทิพย์, ถั่วเหลืองซีกตราเอโร่, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท) ที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกันคือ บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด         แม้ว่าการตรวจพบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง (มี 1 ตัวอย่างเป็นถั่วเหลืองออร์กานิค) นั้น จะไม่มีตัวอย่างใดเลยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารสากล (ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 0.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แต่การพบการตกค้างหมายความว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ฯลฯ         การตกค้างที่ตรวจพบไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองในกลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะต้องสนใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบของอาหารของเราให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของฉลาดซื้อ คือ การแสดงฉลากโดยระบุว่า “ใช้ สาร….” (ในที่นี้คือไกลโฟเซต) ตรงส่วนประกอบของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเกินสมควรด้วยตนเอง         อย่างไรก็ตามความปลอดภัยของผู้บริโภค ณ ต้นทาง ย่อมสำคัญกว่าการจัดการที่ปลายทาง ฉลาดซื้อยังคงคาดหวังที่จะเห็นการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเช่นเดียวกันกับ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีส่วนร่วมโดยการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด โดยร่วมกันไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ให้เริ่มจากไกลโฟเซตเป็นลำดับแรก*ข้อมูลประกอบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%95 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ลิปสติกสีแดง

        ช่วงปลายปีที่แล้วนิตยสารเกอชัวร์ซีร์ Que Choisir  ซึ่งเป็นนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ได้ทำการตรวจหา “สารไม่พึงประสงค์” ใน “ลิปสติกสีแดง” ยอดนิยม 20 ยี่ห้อ หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทย ฉลาดซื้อเลยถือโอกาสนำมาเผยแพร่ให้สมาชิกสายบิวตี้ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ        การทดสอบซึ่งทำโดยห้องปฎิบัติการในกรุงเบอลิน เยอรมนี ครั้งนี้เป็นการตรวจหา        - โลหะหนัก ซึ่งมักพบในสารให้สี ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม พลวง และปรอท        -  สารไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมิเนอรัล Mineral oil saturated hydrocarbons (MOSH),  Mineral oil aromatic hydrocarbons (MOAH) และไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ Polyolefin Oligomeric saturated hydrocarbons (POSH)         ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อฉบับเดือนตุลาคม 2560 เคยนำเสนอผลทดสอบลิปบาล์มทั้งในแง่ความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ใช้ แต่คราวนี้เราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักจึงไม่มีการนำเสนอด้วย “ดาว” เราจะขอแยกเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย” “ผลิตภัณฑ์ที่พอรับได้” และ “ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แนะนำ”  ในภาพรวมเราพบสารตะกั่วในลิปสติก 19 จาก 20 ยี่ห้อ แต่ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานยุโรป (แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของเยอรมนีที่เข้มข้นกว่าจะพบว่ามีสองยี่ห้อที่ไม่ผ่าน คือ L’OREAL และ BOHO Green) ส่วนยี่ห้อที่ไม่พบตะกั่วเลยได้แก่ Two Faced … แต่ถึงแม้จะไม่มีตะกั่ว ยี่ห้อนี้ป็นหนึ่งในห้ายี่ห้อในกลุ่ม “ไม่แนะนำ” เพราะมีสารไฮโดรคาร์บอนเกินร้อยละ 10 ... พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูกันเต็มๆ ว่ายี่ห้อไหนบ้างที่คู่ควรกับคุณ-----น้ำมันมิเนอรัล (หรือพาราฟินเหลว) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สารนี้เป็นที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางหลายชนิดเพราะหาได้ง่าย ราคาถูก และไม่เน่าเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีข้อห่วงใยว่ามันอาจเป็นสารก่อมะเร็งหรือเร่งการเกิดเนื้องอกได้ ผู้ผลิตหลายเจ้าจึงหันไปหาทางเลือกอื่น------ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 350 ถึง 500 ยูโร (ประมาณ 12,000 ถึง 17,500 บาท) และต้องใช้ลิปสติกอย่างน้อย 16  แท่งต่อหนึ่งตัวอย่าง-----            “ลิปสติกเอ็ฟเฟ็กต์” คือข้อสันนิษฐานที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เครื่องสำอางโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิปสติกจะขายดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการเป็นเจ้าของ “สินค้าหรูหรา” แต่ยังเป็นห่วงเงินในกระเป๋า จึง “ลดสเปก” จากสินค้าราคาสูง (เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม) มาเป็นลิปสติกที่พอจะสู้ราคาไหวนั่นเอง ในขณะที่บางคนก็เลือกประหยัดงบด้านอื่นเพื่อเก็บไว้ซื้อลิปสติก ... จริงเท็จอย่างไรยังฟันธงไม่ได้ แต่มีข่าวลือว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ในนิวยอร์ก ยอดขายลิปสติกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว        ลิปสติกจะหมดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่การใช้ของแต่ละคน เรื่องนี้พูดยาก แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2005 ที่วัดปริมาณลิปสติกของของผู้ใช้ลิปสติกเป็นประจำ 360 คน (อายุระหว่าง 19 – 65 ปี) ในช่วงสองสัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทาลิปสติกเฉลี่ยวันละ 2.4 ครั้ง (ร้อยละ 11 ใช้มากกว่าวันละ 4 ครั้ง) ในแต่ละครั้งเนื้อลิปสติกจะหมดไปประมาณ 5 มิลลิกรัม (มีถึงร้อยละ 12 ที่ใช้ 20 มิลลิกรัมหรือมากกว่า) โดยรวมแล้วมีการใช้ลิปสติกระหว่าง 24 - 80 มิลลิกรัมในแต่ละวัน… แน่นอนว่าในปริมาณนี้บางส่วนก็ถูกผู้ใช้กลืนลงกระเพาะไปบ้าง ส่วนผสมในลิปสติกจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องใส่ใจ นอกจากสีสัน เนื้อสัมผัส หรือราคา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 232 อู่ซ่อมรถด้วยอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรได้บ้าง

        รถยนต์เกิดความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุ เมื่อนำเข้าอู่ซ่อมตามที่บริษัทประกันรถแนะนำ ก็ยังไม่วายโดนดี มีการซ่อมแซมด้วยอะไหล่มือสองของไม่มีคุณภาพ แถมยังกักรถไว้ต่อรองเรียกเงินอีก นี่คือสิ่งที่คุณชนิกาและสามีร้องเรียนมาเพื่อขอคำปรึกษา เรามาดูกันว่าเรื่องเป็นมาอย่างไรและควรจัดการอย่างไร         เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณชนิกาขับรถอยู่ดีๆ ในช่องทางที่ถูกต้อง ก็มีรถยนต์อีกคันพุ่งมาชน โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่โชคร้ายที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจนใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามรถยนต์คันนี้มีประกันภัย ชั้นสอง บวกทุนค่าซ่อมรถยนต์ 1,000,000 บาท กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้ ขอเรียกว่า บริษัท A จึงพอให้อุ่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการซ่อม        เจ้ากรรมรถยนต์ที่อุตส่าห์ลากไปยังอู่ที่รู้จักปฏิเสธให้บริการด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่อู่ที่อยู่ในเครือของบริษัทประกัน A จึงปรึกษากับตัวแทนบริษัทประกันว่า ควรเข้าซ่อมที่อู่ไหน ซึ่งบริษัทแนะนำ อู่ ช. ว่าเป็นอู่ในเครือของประกัน เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมแซมกับอู่ดังกล่าว อู่กับบ.ประกันทำสัญญาซ่อมแซมกัน แบบเต็มวงเงินคือ 1 ล้านบาท โดยบ.ประกันโอนเงินดังกล่าวให้กับสามีของคุณชนิกาซึ่งเป็นเจ้าของรถ เมื่อโอนเงินแล้วก็ยกเลิกกรมธรรม์ไป และระบุว่า ไม่รับผิดชอบใดๆ หลังโอนเงินเต็มทุนประกันแล้ว         ดังนั้นเธอและสามีจึงต้องเป็นคนติดตามการซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งพบปัญหาหลายประการ เช่น การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ตรงกับรุ่น มีการนำอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพมาเปลี่ยนและมีการแปลงสภาพรถ เธอกับสามีพยายามติดต่อเพื่อขอให้ใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐาน แต่ทางอู่ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอ เธอและสามีจึงขอยุติการซ่อมกับ อู่ ช. และตั้งใจจะนำรถไปซ่อมที่อู่อื่นแทน ทางบ.ประกันก็ทำหนังสือยุติการซ่อมมาให้ในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อเธอกับสามีจะไปนำรถออกจากอู่ ต้องพบกับท่าทีคุกคามของเจ้าของอู่และพนักงานของอู่ ช. เพื่อเลี่ยงการทะเลาะวิวาทเธอและสามีจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และไปร้องเรียนต่อ คปภ.และแจ้งให้บริษัทประกันภัยช่วยเข้ามาเคลียร์ให้ จึงมีการนัดเจรจากันขึ้น ผลการเจรจาคือ อู่ขอเก็บเงินค่าซ่อมแบบเหมา 850,000 บาท โดยไม่มีการชี้แจงค่าใช้จ่ายในส่วนของอะไหล่ต่างๆ หากไม่ยินยอมจ่ายอู่จะใช้สิทธิกักรถไว้ คุณชนิการู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะอู่ชี้แจงไม่ได้ว่า จำนวนเงิน 850,000 มีที่มาอย่างไร อู่จึงยึดรถไว้ ทำให้คุณชนิกาขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ไปถึง 93 วัน เธอจึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากโทรมาปรึกษา คุณชนิกาตัดสินใจฟ้องร้องอู่ ช. โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำว่า แม้จะเป็นการซ่อมรถตามที่ซื้อประกันไว้ แต่การซ่อมก็ยังคงต้องทำตามหลักเรื่องสัญญา หากซ่อมแล้วมีการปกปิดและแอบนำเอาอะไหล่มือสองมาอ้างเป็นอะไหล่แท้ อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง หรือการคิดการซ่อมแซมแบบเหมาจ่ายโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมก่อน ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >