ฉบับที่ 240 ผลการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5

        สังคมเมืองในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัดมักจะเกิดปัญหาคุณภาพอากาศ โดยหนึ่งในปัญหาที่พบมากในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละออง (PM) ซึ่งเกิดขึ้นจากการจราจร การเผาไหม้ในที่โล่ง และภาคอุตสาหกรรม จากการวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมักเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 μm (PM2.5) ทำให้ในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้เครื่องฟอกอากาศ (Air cleaner/ Air Purifier) มาช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในอาคาร/บ้านเรือนของตนเอง จึงมีผู้ผลิตหลายรายหันมาผลิตเครื่องฟอกอากาศ เน้นประชาสัมพันธ์ว่าสามารถช่วยลดฝุ่นละออง (PM2.5) พร้อมช่วยขจัดมลพิษและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ          การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง  เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน จากการสุ่มซื้อตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศในท้องตลาด และทางออนไลน์จำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่  Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563)         ผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ         ผลการทดสอบเป็นผลลัพธ์จากการคำนวณค่าอัตราการส่งอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate; CADR) และพื้นที่ห้องที่ใช้ได้ (Applicable floor area) ของทั้ง 9 รุ่น          สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบ พบว่า ประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้         อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้        วิธีการทดสอบ        การทดสอบครั้งนี้ ทำการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 รุ่น โดยอ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน เช่น บ้านเรือน สำนักงาน ร้านค้า เป็นต้น โดยทำการทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3          3.1 เงื่อนไขการทดสอบ        สำหรับฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบนี้ ทางผู้ทดสอบจะใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 (ดังรูปที่ 1‑1) เพื่อสร้างฝุ่นจำลอง โดยปกติเครื่องนี้จะสร้างฝุ่นจำลองที่มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm ซึ่งฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm โดยแผนภูมิการกระจายตัวของขนาดฝุ่นแสดงดังรูปที่ 1‑2              3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ            เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533 แสดงดังรูปที่ 1‑3 ซึ่งเครื่องวัดดังกล่าวสามารถวัดความเข้มข้นของ PM2.5 แบบ Real-time ได้             3.3 ลักษณะของห้องที่ใช้ในการทดสอบ             ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m] โดยคุณสมบัติของห้องดังกล่าวสามารถรักษาระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องได้ ซึ่งฝุ่นละอองต้องลดลงน้อยกว่า 20% ของความเข้มข้นเริ่มต้นในระยะเวลา 30 นาที        นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบริเวณริมห้องโดยให้เว้นระยะจากผนังห้องเป็นระยะ 30 cm ตามที่ผู้ผลิตได้ระบุไว้ รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่นละอองและเครื่องมืออื่นๆ บริเวณกึ่งกลางห้อง โดยมีความสูงจากพื้น 1.2 m แผนผังห้องและการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบทั้งหมด แสดงดังรูปที่ 1-4 และรูปที่ 1-5        3.2 วิธีการทดสอบ        สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพนี้จะทำการทดสอบโดยตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่เปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา เพื่อคำนวณหาค่าประสิทธิภาพของการกำจัดฝุ่นละออง และเพื่อหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศอย่างถูกต้อง ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องทดสอบอัตราการระบายอากาศ (Air exchange rate) การลดลงตามธรรมชาติของฝุ่นละอองภายในห้องขณะยังไม่มีเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ (Natural decay) และทดสอบการลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ (Decay of dust concentration)        การลดลงของฝุ่นละอองตามธรรมชาติ (Natural decay)         ดำเนินการโดยการสร้างฝุ่นละอองเพื่อให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 ภายในห้องมีค่าอยู่ในช่วง 1.0 - 5.0 mg/m3 จากนั้นจะทำการวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องเป็นเวลา 30 นาที เพื่อหาค่าที่การ Natural decay โดยความเข้มข้นของฝุ่นละอองหลังจากเวลาผ่านไป 30 นาที ควรมีค่าความเข้มข้นมากกว่า 80 % ของความเข้มข้นเริ่มต้น         การลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration)         ในการทดสอบนี้จะดำเนินการเหมือนกับการทดสอบ Natural Decay แต่หลังจากสร้างฝุ่นละอองจนได้ความเข้มข้นของ PM 2.5  ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3 จะทำการเปิดเครื่องฟอกอากาศโดยจะวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นเวลา 90 นาที หรือจนกว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเหลือความเข้มข้นน้อยกว่า 0.020 mg/m3 หรือ 20 µm/m3        การคำนวณหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ                 สำหรับการคำนวณนี้จะทำการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในแง่ของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR) เพื่อให้ทราบถึงอัตราการสร้างอากาศสะอาดของเครื่องฟอกอากาศhttps://consumerthai.org/consumers-news/product-and-other/4554-641203_airpurifier.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ว่าด้วยเรื่องการคงอยู่ของวิตามินซี

ฉลาดซื้อฉบับนี้ พารองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องวิตามินซี ถึงรายละเอียดเรื่องการทดสอบและเหตุของการอยู่และหายไปของวิตามินซี การวิเคราะห์ของวิตามินซีโดยทั่วไปใช้วิธีการอะไร        วิตามินซี เป็นวิตามินที่อ่อนแอต่อแสง อากาศ (ก๊าซออกซิเจน) และความร้อน หรือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  การวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีจะต้องทำในห้องที่ไม่มีแสงยูวี  แสงยูวีปกติอยู่ในแสงแดด  ในหลอดไฟฟ้า  และทำในห้องที่ปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสนะครับ  โดยจะทำการสกัดวิตามินซีออกมาด้วยตัวทำละลายวิตามินซี  โดยจะต้องเป็นการสกัดเย็น จากนั้นทำการตรวจวัดด้วยเครื่อง  HPLC หรือ ชื่อเต็มว่า High Performance Liquid Chromatography   วิธีที่ใช้เครื่อง HPLC เป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์  ซึ่งโดยทั่วไปวิตามินซีในธรรมชาติหรือในเครื่องดื่มต่างๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ  คือ  แบบออกซิไดซ์ (oxidized form) และ  แบบรีดิวซ์  (reduced form)    มีบางคนก็พูดถึงไปแล้วว่ามันถูกออกซิเดชันได้ง่ายจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน  ทำให้มีฟอร์มที่เป็นออกซิไดซ์เพิ่มขึ้น  ซึ่งการออกซิเดชันแบบไม่รุนแรง วิตามินซีไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่หากเป็นการออกซิเดชันที่รุนแรงที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อากาศ แสงและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือมีสารประเภทโลหะร่วมด้วย  วิตามินซีจะถูกทำลายในระดับโครงสร้าง แบบนี้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้คือ สลายตัวไปเลย ดังนั้นในการวิเคราะห์วิตามินซีทั้งหมดในอาหารจะต้องวิเคราะห์ทั้งสองฟอร์มจะวิเคราะห์เพียงฟอร์มใดฟอร์มหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไปทำปฏิกิริยารีดักชันเพื่อทำให้วิตามินซีมาอยู่ฟอร์มเดียวกันทั้งหมดก่อนที่จะทำการตรวจวัด   ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วไม่พบว่ามีวิตามินซี  ไม่ได้แปลว่า ค่าที่ได้เป็นศูนย์หรือไม่มีวิตามินซีเสมอไป  แต่สามารถบอกได้แค่ว่า  ปริมาณที่มีอยู่ต่ำกว่าที่เครื่องมือจะตรวจวัดได้เขาเรียกว่าเป็น Detection Limit คือ ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับได้ของการวิเคราะห์นั้น  ทำให้ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณได้ บางเครื่องอาจจะตรวจวัดและรายงานผลได้ตั้งแต่  0.5 มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ไม่สามารถจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งโดยทั่วไปจะรายงานว่า ตรวจไม่พบ (not detected หรือ nd)            เราไปคุยประเด็นเรื่องเขาบอกไม่ตรงฉลาก  หนึ่งคือว่าตัววิตามินซีมันสามารถที่จะสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยแสง อากาศ ออกซิเจนและก็ความร้อนนะครับ รวมถึงอาจจะเรื่องของการเก็บ การขนส่ง Transportation มันก็ทำให้มันเกิดการสูญเสียได้ ทีนี้ออกซิเจนมันมาจากไหน  คือในตัวขวดมันก็จะมีอากาศอยู่แล้ว ตรงช่วงต่อระหว่างฝากับตัวน้ำ เขาเรียก Head Space ตัวนั้นนะครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งถ้าขนส่งมันก็อาจจะมีการเขย่า มีอะไรทำไปอีกด้วยมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายขึ้นได้เพิ่มขึ้น  แล้วก็คือวิตามินซีในฟอร์มที่มันเป็นแบบแห้งมันจะคงอยู่ทนกว่าไงครับ  ทีนี้พอมันเป็นแบบที่เป็นน้ำการออกซิเดชันมันเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมันสามารถทำปฏิกิริยากับอากาศได้ง่ายขึ้น  เพราะฉะนั้นมันสลายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บรักษาการขนส่งว่าทำให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในอีกฟอร์มหนึ่งที่เปลี่ยนกลับได้หรือว่าสลายหายไปเลย  (อันนี้ ต้องขอบอกก่อนว่าผมพูดในด้านวิชาการนะครับ   ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวไม่ได้ส่งมาวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการนะครับ) อายุการเก็บของวิตามินซี         อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์กับอายุการเก็บของวิตามินซี   ต้องแยกออกจากกัน  อายุการเก็บมันเก็บได้ไม่เน่าเสีย แต่ว่าอายุการเก็บมันอาจจะไม่ได้ถูกศึกษาด้วยตัววิตามินซีว่ามันเหลือเท่าไหร่   คืออายุการเก็บเขาจะดูการเสื่อมสภาพ การเป็นตะกอน การเสียรสชาติ อะไรอย่างนี้มากกว่า  ที่เขาเอามาใช้  หรือการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เน่าเสียหรือก่อโรค  ที่เขาเอามาใช้เป็นอายุการเก็บ  ไม่ใช่อายุการเก็บวิตามิซี บางคนบอกว่ามันอยู่ได้ถึง 1 ปี แต่วิตามินมันไม่เหลือแล้ว  จริงๆ แล้ววิตามินซีมันสลายเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ เมื่อเทียบกัน  วิตามินซี ถือว่าสลายได้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้น ในทางโภชนาการเขาใช้วิตามินซีเป็นตัวชี้วัดการคงอยู่ของวิตามินที่อยู่ในอาหาร   ถ้าวิตามินซีมันอยู่ได้ตัวอื่นก็อยู่ได้ ถ้าตัวมันอยู่ไม่ได้ตัวอื่นๆ ก็อาจจะยังอยู่  แต่ว่ามันก็จะเหลือน้อยลง  แต่ถ้าวิตามินซียังอยู่เยอะแสดงว่าตัวอื่นๆ ก็ยังอยู่เยอะ  แต่ถ้าวิตามินซีหายไปเยอะค่อยไปดูตัวอื่นๆ น่าจะลดลงไปบ้าง  แต่มันก็ไม่ลดเท่าวิตามินซีนะ   สมมติว่าออกจากโรงงานแล้วบริษัทเขาส่งไปวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ  ที่เขาส่งไปวิเคราะห์เขาก็ได้ค่าหนึ่ง  ค่าอันนั้นเขาก็เอาไปขึ้นทะเบียนทำเป็นฉลาก  แต่ทีนี้พอเวลาไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ซ้ำ  มันได้ไม่เท่ากันก็คือมันไม่ใช่ตัวอย่างเดิม  มันถูกสลายแล้ว ที่ออกมาจากโรงงานแล้วก็ส่งเข้า Lab เลยนี่มันก็จะได้อีกค่าหนึ่งนะมันก็ยังไม่ได้สลายไปไง  เพราะฉะนั้นวิตามินซีมันลดลงตั้งแต่เริ่มออกจากโรงงาน ตั้งแต่วันแรก   คือมันก็ค่อยๆ ลดลงขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งสองอาทิตย์ก็อาจจะเหลืออยู่สักครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้วย   เรื่องการขนส่ง  (Transportation) อุณหภูมิในการเก็บ  และระยะเวลาการเก็บ อันนี้ดูจากวันผลิตก็ได้  ถ้าหากเก็บอุณหภูมิในตู้เย็นก็จะยืดระยะเวลาที่จะสลายตัวให้ช้าลงได้ แต่มันก็ยังสลายตัวอยู่นะไม่ใช่ไม่สลายนะ   หากไปวางตั้งไว้ข้างนอกบางทีอยู่นอกร้านภูมิอากาศบ้านเรามันก็ร้อนนะวิตามินมันก็เกิดการสูญเสียเร็วขึ้นนะครับ    ความแตกต่างของภาชนะบรรจุส่งผลต่อการสลายของวิตามินซีไหมคะ         โดยหลักการภาชนะบรรจุที่ทึบแสง หรือที่แสงผ่านเข้าไม่ได้  และภาชนะที่ไม่มีโลหะผสมจะป้องกันวิตามินซีได้ดีกว่าภาชนะบรรจุที่ใสและแสงผ่านเข้าได้   คนจะสงสัยค่ะอาจารย์ว่ามันก็ใสเหมือนกันขวดแบบเดียวกันทำไมอันหนึ่งมันอยู่ Stable อีกอันหนึ่งทำไมมันหายไป        น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต  การขนส่ง ระยะเวลาหลังจากผลิต  การเก็บรักษา  อุณหภูมิในการเก็บอะไรต่างๆ  บางทีจะเห็นไปตั้งเอาไว้เป็นสต็อกไม่โดนแอร์เลย  ตั้งเอาไว้ข้างร้านๆ   บางทีตั้งไว้อยู่ริมถนน  อากาศมันก็ร้อนนะ  บางทีโดนแดดคือผมพยายามไม่พูดถึงยี่ห้อนะครับ ผมพูดเรื่องวิชาการอย่างเดียวนะครับ   มีคำแนะนำสำหรับคือการผลิตจะมีคำแนะนำอย่างไรดีคะสำหรับการคงคุณภาพหรือการผลิตที่ต้องดูแลควบคุม         ก็ต้องเริ่มจากการควบคุมกระบวนการผลิต   เลือกใช้สารวิตามินซีที่มีความบริสุทธิ์หรือมีเปอร์เซนต์ของวิตามินซีสูง   อุณหภูมิขณะเติมวิตามินซีและตลอดกระบวนการผลิตไม่ควรเกิน 25 องศา  ควรใช้ขวดทึบแสงหรือขวดที่ป้องกันแสงผ่านได้   ลดพื้นที่อากาศบริเวณปากขวดให้เหลือน้อย เก็บรักษาในที่เย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน           ในแต่ละวัน เราสามารถรับวิตามินซีจากแหล่งอาหารอื่นๆ จากที่ไหนได้บ้าง         ผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซี รวมทั้ง  ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มะขามป้อม  สตรอว์เบอร์รี  เป็นต้น กรณีที่มีบางยี่ห้อเราตรวจได้ปริมาณวิตามินซีมากๆ         อย่างเช่นถ้าเราตรวจพบ   500 ต่อ Serving เพราะฉะนั้นถ้าคนไปกินแทนน้ำนี่มันก็มีความเสี่ยงถ้าคนกินแทนน้ำวันหนึ่งสักสามขวดอย่างนี้  ขวดหนึ่งมัน  140 มิลลิลิตรเองนะ ขวดเล็กด้วยนะ  ถ้าหากใครกินสามขวดก็จะได้ไป 1,500 มิลลิกรัม  ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับมากเกินไป  เช่น  โรคนิ่วในไต  แต่อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไต มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่น  กรดออกซาลิก  กรดยูริก  แต่ถ้าจะลดความเสี่ยง ก็คือวันหนึ่ง  ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัม ขณะที่ในอาหารเสริม หนึ่งเม็ดก็จะมี 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม กินวันละเม็ดเดียวก็พอแล้ว    เพราะเรายังได้รับวิตามินซีจากอาหารอีก  เพราะเราไม่ได้กินแต่น้ำ  จริงๆ แล้วร่างกายต้องการน้ำเพื่อแก้กระหาย  น้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายแต่มีการไปเติมวิตามินลงไปเพื่อให้มันมี  เพื่อความสะดวกคือดื่มน้ำแล้วได้วิตามินซีด้วยแต่มันไม่เสถียร  ไม่คงทน  มันสลายได้จึงอยากให้เน้นกินผลไม้ที่มีวิตามินซีที่สด  ซื้อมาปอกเปลือกแล้วกินเลยอันนี้เราควบคุมได้เองวิตามินซีอยู่ครบหรือลดลงแค่เล็กน้อย   เราจะได้ทั้งวิตามินซีทั้งใยอาหารด้วย  ใยอาหารช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ทำให้ผิวพรรณสดใส  เมื่อลำไส้เราสะอาดผิวพรรณเราก็จะสดใสก็จะเปล่งปลั่งขึ้นมา    ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายรับได้ต่อวันเป็นอย่างไร         การกินวิตามินซีวันละ  60 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย   อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถรับวิตามินซีในปริมาณมากกว่านี้ได้ มีผลวิจัยว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันบางโรค ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและอาจช่วยป้องกันหวัดหรือบรรเทาอาการหวัด   ข้อดีของวิตามินซี คือ เป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำ   เพราะฉะนั้นหากได้รับมากจนเกินไปร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะ  อย่างไรก็ตามไม่ควรกินเกิน  1,000 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

        เครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตามกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี น้ำดื่มและเครื่องดื่มผสมวิตามินกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะการผสมวิตามินซี ได้กลายมาเป็นจุดขายด้วยการอ้างถึงคุณค่าของวิตามินซีต่อร่างกายและปริมาณเข้มข้นหรือสูงกว่าร้อยละของ RDI ที่แนะนำให้คนไทยบริโภคต่อวัน คือ 60 มิลลิกรัม เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทำให้มีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  ประมาณกันว่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาทและโตต่อไปได้ถึง 7,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2563)         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวนทั้งหมด 47 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคว่าการกล่าวอ้างวิตามินซีสูงนั้นเป็นไปตามคำอ้างหรือไม่ เพราะทราบกันดีว่า วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่สลายตัวได้ง่าย เรามาดูผลตรวจวิเคราะห์กันเลยว่าเป็นอย่างไรในหน้าถัดไป สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ทั้งหมด 47 ตัวอย่าง พบว่า         - จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลากร้อยละ 30           - จำนวน 8 ตัวอย่าง ไม่พบวิตามินซี ได้แก่        1) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน)         2) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ กราสเจลลี่  (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)         3) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200         4) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่         5) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร        7) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน         8) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน         - จำนวน 10 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีตามที่ระบุไว้บนฉลาก ไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30          ที่มาเรื่องส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารต้องไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30        1.เครื่องดื่มผสมวิตามิน ซี จัดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท         2.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522         3.เป็นอาหารทั่วไป ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีปริมาณวิตามิน ซี เท่าไร         4.แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างบนฉลาก จึงอยู่ในเกณ์ กฎหมายอาหาร มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         5.มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตราย         6.จาก ข้อ 5. ผลทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากคือ มีทั้งปริมาณมากกว่าและน้อยกว่าร้อยละ 30  โดยการกล่าวอ้างว่ามีวิตามินซี ร้อยละ 200 ต่อ RDI (120 มิลลิกรัม)  ควรมีปริมาณวิตามินซีอยู่ในช่วง 84-156 มิลลิกรัม และไม่พบวิตามินซีเลยจำนวน 8 ตัวอย่าง อาจจะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมหรือไม่         ข้อเสนอต่อหน่วยงาน        1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ อย. ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก         2.อย.ควรกำหนดให้มีคำเตือน เรื่อง การดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซีไว้บนฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค         3.อย.ควรมีมาตรการในเรื่องของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังได้รับการขึ้นทะเบียน (Post Marketing) ว่าเป็นไปตามที่ได้แจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หรือไม่         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         1.ควรบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงจากแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ ผักและผลไม้        2.เลือกเครื่องดื่มผสมวิตามินที่อยู่ในภาชนะและการเก็บรักษาที่เหมาะสม เช่น ทึบแสง เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ วันผลิตใหม่  และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมมากเกินไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ตั้งใจซื้อครีมล้างหน้าแค่ 1,300 แต่เผลอจ่ายไปเกือบแสนสาม

        เครื่องสำอางกับสุภาพสตรีเป็นของคู่กัน ยิ่งผลิตภัณฑ์นั้นได้รับคำโฆษณาว่าเป็นของที่ดาราใช้หรือดาราเป็นเจ้าของแบรนด์ มันจะดึงดูดใจมากไปกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ธรรมดา         คุณศรีสุดาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางนาในวันหยุดตามประสาสาวนักช้อป ขณะเดินผ่านบูธในลานกิจกรรมพิเศษ สาวๆ นักขายได้ชักชวนคุณศรีสุดาให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและพูดคุยโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าโดยอ้างว่า เครื่องสำอางในบูธนี้แบรนด์นี้ เป็นสินค้าที่ดาราดังคนหนึ่งใช้อยู่เป็นประจำ คุณศรีสุดาตั้งใจจะซื้อครีมล้างหน้าที่มีโปรโมชันแถมที่มาร์คหน้าในราคา 1,300 บาท เพราะทดลองมาร์คหน้าแล้วรู้สึกโอเค         “ดิฉันสอบถามพนักงานว่ามีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามสินค้าหรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ หรือไม่ พนักงานตอบว่ามีค่ะ แต่หนูไม่ทราบ ยังไงจะให้ทางบริษัทติดต่อกลับไปนะคะ” ขณะคุณศรีสุดากำลังจะถามเรื่องอื่นๆ ต่อ พนักงานขายก็ชิงลงมือโอ้อวดว่า เครื่องสำอางนี้เป็นของบริษัทที่ดาราดังคนหนึ่งพร้อมโชว์ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพของตัวพนักงานและดาราคนดังกล่าวหลายรูป สร้างความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก คุณศรีสุดาก็ฟังเพลินไปดูภาพสินค้าและดาราเพลินไปหน่อย สุดท้ายกลายเป็นว่า จ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไป 13 รายการ รวมเป็นเงิน 127,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต        คุณศรีสุดานั้นย้ำว่าขอให้พนักงานขายส่งเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องสำอางให้ตนเองทันทีที่กลับบริษัทฯ เพราะตนเองต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งรีวิวที่ดาราคนดังได้ใช้ตัวสินค้าเหล่านี้  ต่อมาคุณศรีสุดาได้รับลิงค์ที่เป็นเพจเฟซบุ๊กของบริษัทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณศรีสุดาซื้อมาเลย หนำซ้ำที่อยู่ของบริษัทในเพจไม่ตรงกับที่อยู่ของบริษัทที่อยู่ในใบเสร็จสินค้าราคาแสนกว่าบาทที่อยู่ในมือคุณศรีสุดา เธอจึงรีบติดต่อพนักงานขายแต่ติดต่อไม่ได้หลายวัน อย่างไรก็ตามวันหนึ่งก็ติดต่อได้ พนักงานขายบอกว่าสินค้าในมือเธอเป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ และโอนเรื่องให้พนักงานของบริษัทคนอื่นมาพูดแทน         “จะข้องใจอะไรกับสินค้าหนู ของนำเข้าถูกกฎหมายทุกอย่าง” ซึ่งวิธีการพูดจาแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว คุณศรีสุดาจึงไม่พอใจมากและไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาด้วย เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย จึงนำสินค้าทั้งหมดกลับไปคืนที่บูธที่ยังจัดขายสินค้าอยู่ แต่พนักงานขายแจ้งว่าผู้บริหารบริษัทไม่อยู่ไปเมืองนอกขอเวลา 7 วัน ต่อมาได้รับแจ้งว่า ไม่รับคืนสินค้า “ดิฉันเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทไม่เป็นธรรมเพราะอวดอ้างและโฆษณาด้วยข้อมูลเท็จ เอาดารามาแอบอ้าง ไม่มีเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าด้วย ดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่ายน่าจะไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน และได้ส่งเรื่องราวถึงห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงสินค้าให้รับทราบปัญหา ต่อมาทราบจากคุณศรีสุดาว่าได้ไปร้องเรียนไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้คุณศรีสุดาต้องการคืนสินค้าและขอคืนเงินทั้งหมด ส่วนบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่รับคืนสินค้า ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการของทาง สคบ.จะส่งร้องเพื่อขอให้พิจารณารับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณศรีสุดาจึงยุติเรื่องร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

        ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)         สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย         แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี         ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น)         ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)         หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า          ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี...          ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ         เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate         บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต          จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ซื้อเครื่องตัดหญ้าออนไลน์ แต่ใช้งานไม่ได้

        คุณวิรัชต์ ผู้ซึ่งรักต้นไม้และการทำสวนเป็นชีวิตจิตใจ แต่การต้องตัดหญ้าในสนามหน้าบ้านทุกๆ สองสัปดาห์ ก็ทำเอาคุณวิรัชต์รู้สึกปวดเอวอยู่ไม่น้อย มาวันหนึ่งขณะที่คุณวิรัชต์เปิดเว็บไซต์ดูสินค้าในร้านค้าออนไลน์ ก็ไปพบเข้ากับเครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าแบบชาร์จแบตเตอรี่ได้ พร้อมโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ในราคา 1,090 บาท เมื่อดูภาพโฆษณาและอ่านรีวิวแล้ว ก็คิดว่าน่าจะใช้งานได้ดี และคงสะดวกกว่าการใช้กรรไกรตัดหญ้าอยู่ไม่น้อย คุณวิรัชต์จึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องตัดหญ้าดังกล่าว         ไม่กี่วันให้หลังสินค้ามาถึงผู้รับอย่างรวดเร็ว เมื่อเปิดกล่องพัสดุออกดูด้วยความตื่นเต้น กลับพบว่า รูปลักษณ์ของเครื่องตัดหญ้านั้นช่างแตกต่างจากที่โฆษณาไว้เหลือเกิน ทั้งยังไม่มีกล่องแบตเตอรี แต่กลับเป็นช่องใส่ถ่านขนาดสองเอ (AA) แทน เมื่อคุณวิรัชต์ลองใช้ดูก็พบว่า ไม่สามารถตัดหญ้าได้เหมือนอย่างที่รีวิวเอาไว้อีกด้วย         ด้วยความผิดหวังคุณวิรัชต์จึงรีบโทรกลับไปยังร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืน เพราะร้านค้าเคยแจ้งว่า สินค้ามีการรับประกันสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ภายใน 7 วัน ซึ่งทางร้านค้าก็ได้ให้คำมั่นว่าจะรีบดำเนินการตรวจสอบสินค้าให้ แต่เอาเข้าจริงคุณวิรัชต์ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย พอสอบถามไปบ่อยๆ เข้า ก็เงียบหายและติดต่อไม่ได้อีกเลย คุณวิรัชต์จึงลองกลับไปดูที่เว็บไซต์อีกครั้ง ปรากฏว่ามีผู้ที่ซื้อสินค้าไปแล้วเข้ามาบ่นว่าสินค้าไม่ได้คุณภาพและใช้งานไม่ได้จริงเหมือนกัน แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ คุณวิรัชต์สามารถรวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน ได้แก่ ข้อมูลของร้านค้าที่คู่กรณี, ภาพถ่ายสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา, หลักฐานการโอนเงินว่าโอนเงินไปยังบัญชีใด เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ออกหนังสือขอให้ทางธนาคารปลายทางอายัดบัญชีดังกล่าวไว้ เพื่อติดตามเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์แล้วพบว่า ชำรุดบกพร่องไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคำโฆษณาก็ให้ขอคืนสินค้าโดยทันทีตามกรอบระยะเวลาเงื่อนไขที่ทางร้านได้แจ้งไว้ หรือแจ้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องโฆษณา และหากเป็นไปได้ควรซื้อสินค้าออนไลน์จากร้านค้าที่จดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และขึ้นทะเบียนขายตรงกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถติดต่อไปยังผู้ขายได้

อ่านเพิ่มเติม >

วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลยแต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร         เครื่องดื่มผสมวิตามินซี        ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า        ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี....         ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ        เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrateบทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต         จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง และมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

วันนี้ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)        2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021  )        3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน  ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021  )        4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )        5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021  )        7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)          และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก          ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อนอย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chaladsue.com* Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบเครื่องทำกาแฟ

        ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเครื่องทำกาแฟมาฝากคุณอีกครั้ง มีทั้งแบบแมนนวล แบบอัตโนมัติ และแบบแคปซูล รอบนี้เราคัดมา 20 รุ่นจากที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทดสอบไว้ในปีนี้ สนนราคาตั้งแต่ 1,530 ถึง 43,900 บาท เครื่องทำกาแฟที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกในการทดสอบรอบนี้ (84 -82 คะแนน) เป็นเครื่องทำกาแฟแบบแคปซูล (Jolie ของ Lavazza / Nespresso ของ Krups / Creatista ของ Sage) และที่เข้ามาเป็นอันดับแรกของเครื่องแบบอัตโนมัติคือ Jura E6 Piano (80 คะแนน) ในขณะที่รุ่นแมนนวลที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ ECF01 ของ Smeg (76 คะแนน)           คะแนนเต็ม 100 ประกอบด้วย        คุณภาพ/รสชาติของกาแฟ ร้อยละ 50        ประสิทธิภาพการทำงาน             ร้อยละ 25        ความสะดวกในการใช้งาน ร้อยละ 20        และการประหยัดพลังงาน   ร้อยละ 5          ใครเล็งเครื่องแบบไหนไว้ ไปดูกันเลย นี่เป็นครั้งที่เจ็ดแล้วที่ฉลาดซื้อนำเสนอผลทดสอบเครื่องทำกาแฟหรือบางคนเรียกว่าเครื่องทำเอสเปรสโซ สมาชิกสามารถค้นหาผลการทดสอบรุ่นที่เราเคยทำไว้ก่อนหน้านี้ได้ในฉบับที่ 114/141/195/206/207 และ 221         หมายเหตุ ราคาที่แสดงเป็นราคาจากอินเทอร์เน็ต โปรดตรวจสอบราคาและโปรโมชันอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 233 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

เครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติบโตทางการตลาดสูงในปัจจุบันก็คือ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี โดยมีมูลค่าการตลาดเมื่อปี 2562 สูงถึง 933 ล้านบาทและก้าวเข้าสู่หลัก 1,300 ล้านบาทในปี 2563          เครื่องดื่มผสมวิตามินซีนั้น จัดเป็นเครื่องดื่มประเภทฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) หรือ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Health Beverage) เครื่องดื่มเหล่านี้จะอ้างสรรพคุณว่าเพิ่มเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่น เสริมกรดอะมิโน, ช่วยเผาผลาญไขมัน, ช่วยชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการออกกำลังกาย, ผสมสารสกัดจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่าง ๆ จนไปถึงคอลลาเจนและสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเครื่องดื่มผสมวิตามินซีจะเน้นการโฆษณาที่จุดขายนี้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 21 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ว่าเป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหรือไม่ โดยผลตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางหน้าถัดไป                                                                                                ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น                                                                                                เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกรกฎาคม 2563                                                                                                *ค่า RDI (สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน  สรุปผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี          จากผลการทดสอบ พบว่า        (1) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี มากที่สุด ได้แก่              - เครื่องดื่มวู้ดดี้ ซี+ล็อค วิตามินซี 200% (ขนาด 140 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 496.76 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (140 มล.)                 หรือเท่ากับ 354.83 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (2) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี น้อยที่สุด ได้แก่             - อควาฟิน่า ไบโอ น้ำผสมวิตามินซี กลิ่นออเร้นจ์โรส (ขนาด 350 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 30.73 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (350 มล.)                หรือเท่ากับ 8.78 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (3) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบไม่พบปริมาณวิตามินซีเลย จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่                1) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 (ขนาด 345 มล.)                 2) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ออเรนจ์ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสส้ม 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร (ขนาด 100 มล.)                      3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)                4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นส้มผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)        (4) เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 11 ตัวอย่างที่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลาก และจำนวน 10 ตัวอย่างไม่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหมายเหตุ ค่า RDI ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน (Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)  ข้อแนะนำในการบริโภค        หากเลือกซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินซี นอกจากเรื่องรสชาติความชอบ ปริมาณวิตามินซี และราคาแล้ว ผู้บริโภคอาจสังเกตฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย เพราะบางยี่ห้อนั้นมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หรือดูข้อมูลการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติม เพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท เช่น โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria)วิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ร่างกายจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยร่างกายควรได้รับวิตามินซีไม่น้อยกว่า 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรืออยู่ในช่วง 100 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากได้รับในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 75 เปอร์เซ็นต์วิตามินนั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามินซีนั้นตัวมันเองไม่ได้รักษาโรคหวัด แต่สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหวัดได้ แต่หากร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไป ก็จะขับออกทางปัสสาวะโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และวิตามินซีนั้นมีคุณสมบัติเป็นกรด เมื่อถูกขับออกทางไตบ่อย ๆ อาจทำให้ไตระคายเคืองจนก่อให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานวิตามินซีอย่างพอเหมาะทั้งนี้ นอกจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถบริโภควิตามินซีจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินซีแบบเม็ดเป็นอีกทางเลือกก็ได้ หรือ การรับประทานผักหรือผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ฝรั่ง, มะขามป้อม, มะเขือเทศ, พริกหวาน, ผักคะน้าข้อมูลอ้างอิง- วิตามินและแร่ธาตุ  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/413) - วิตามินซีกับการป้องกันหวัด  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17) - วิตามินซี (Vitamin C) ประโยชน์ของวิตามินซี 18 ข้อ !  (https://medthai.com/วิตามินซี/) - ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับ     (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/7189/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2563

พาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าบังคับ ผลิต นำเข้า จำหน่าย ต้องมี มอก.         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศกฎกระทรวงระบุให้ พาวเวอร์แบงค์ เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานบังคับ จะผลิต นำเข้า จำหน่าย จะต้องมี มอก        โดยประกาศกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา: คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2563 ประกาศให้สินค้าที่เป็น Powerbank จะต้องผ่านมาตรฐานบังคับ มอก.2879-2560 กฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 150 วันนับแต่วันประกาศ ช่วงล็อกดาวน์สินค้ากีฬา-เครื่องครัว-เฟอร์นิเจอร์ ยอดขายพุ่ง 500%.         บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เผยข้อมูลตัวเลขการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของชาวไทยในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาว่า ยอดผู้ซื้อและจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้นกว่า 75%         . โดยนักช็อปใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ (ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม) สินค้าเครื่องกีฬา ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการกลางแจ้ง เครื่องครัวขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายนั้นมียอดขายพุ่งขึ้น 250% ถึงกว่า 500% โดยลาซาด้าคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยจะมีมูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท สูงขึ้น 35% จากปี 2562  มะเร็งตับเจอในชายไทยสูงเป็นอันดับ 1 ตายปีละกว่าหมื่น ไร้อาการเตือน         กรมการแพทย์ เผยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยแนะปรับพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยง แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย เพศชายพบมากสุด         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้         นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  โพสต์เหล้าเบียร์ไม่มีเจตนาโฆษณาไม่ผิด         นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาให้ข้อมูลเรื่องโพสต์แก้วเหล้าเบียร์มีความผิดเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้แต่ประชาชนทั่วไปโพสต์ก็มีความผิด ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และเกิดกระแสให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิกมาตรา 32 การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า “การตีความมาตราดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน ซึ่งในมาตรา 32 ระบุใจความสำคัญไว้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ 2. ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังกล่าว         ดังนั้น การที่ประชาชนโพสต์ภาพขวดเหล้าเบียร์ หรือแก้วเบียร์ที่มีโลโก้เบียร์ จึงยังไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายนี้ ...แต่ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า มีผลป็นการโน้มน้าวหรือชักจูงใจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม จึงไม่สามารถทำได้" นพ.นิพนธ์กล่าว  มหากาพย์ที่นอนยางพารา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำกลุ่มผู้เสียหายร้อง ปคบ.เอาผิดเพจขายของ         บก.ปคบ. วันที่ 19 มิ.ย. นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกซื้อที่นอนยางพาราจำนวนกว่า 50 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ปคบ.และ ร.ต.อ.ดลพิษิฐ คำผง รอง สว.(สอบสวน)กก.1 บก.ปคบ. เพื่อขอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับเพจที่ขายของไม่ได้มาตรฐาน         นฤมล กล่าวว่า มูลนิธิฯ พาผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือกับเจ้าพนักงาน ปปง. เพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเจ้าของบัญชี และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ขอให้ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ          สำหรับที่มาของปัญหานี้คือ มีผู้เสียหายจากการสั่งซื้อที่นอนยางพาราผ่านเฟชบุ๊กเพจจำนวนกว่า 10 เพจ โดยบางรายได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่บางรายก็ยังไม่ได้รับสิ่งของที่สั่งซื้อไป จนกระทั่งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้เสียหายหลายรายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเพจดังกล่าว จนเจ้าของเพจถูกจับและถูกปิดเพจไปแล้ว   แต่หลังจากนั้นกลับปรากฎพบว่าเพจต่างๆ เหล่านั้นมีความเคลื่อนไหว กลับมาเปิดหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์อีก โดยเฉพาะที่นอนยางพารา จนมึผู้หลงเชื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้บรรดาผู้เสียหายตั้งไลน์กลุ่มโอเพ่นแชต ชื่อ 'กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา' เพื่อรวบรวมความผู้เสียหายและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก่อนจะนำข้อมูลเข้าร้อง ปปง. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเดินทางเข้าแจ้งความ บก.ปคบ.เพิ่ม  เพื่อเร่งให้ทางการตรวจสอบดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพจดังกล่าว ร่วมทั้งเพจอื่นๆ          ทั้งนี้ มีผู้เสียหายที่รวบรวมได้มีจำนวนกว่า 389 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ที่สั่งซื้อที่นอนยางพาราแล้วยังไม่ได้รับสินค้าหรือบางรายได้รับสินค้าไม่ครบถ้วนหรือส่งสินค้ามาให้แต่ไม่ใช่ ที่นอนยางพารา สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่หลอกลวงผู้บริโภคมีด้วยกันหลายชื่อ  และมีเพจที่ปิดไปแล้วแต่มีจุดสังเกตของพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงนั้น คือในบางเพจมีการใช้ชื่อบัญชีและเลขบัญชีเดียวกันในหลายเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทำสัญญายอมในคดีแพ่งจะมีข้อตกลงยกเว้นให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ จริงหรือไม่

ช่วงนี้เรายังอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง เน้นอยู่บ้าน ถ้าออกไปไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งนะครับ  ในฉบับนี้ผมก็อยากจะพูดถึงกฎหมายในเรื่องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาเราตกลงกันได้เพื่อให้เรื่องยุติและมีหลักฐาน เราก็จะทำสัญญายอมกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าผลของการทำสัญญายอม กฎหมายจะถือตามสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลให้หนี้เดิมที่เคยโต้แย้งกันระงับไปด้วยผลของสัญญายอมนะครับ อย่างเช่นในคดีตัวอย่างที่จะยกมาพูดถึงกันในวันนี้         เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยจ่ายหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์เป็นเช็ค ต่อมาเช็คเด้งทำให้ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็เอาเรื่องมาฟ้องศาลทั้งคดีแพ่งและอาญา ต่อมาในคดีแพ่ง โจทก์กับจำเลยเขาตกลงกันได้ ก็ทำสัญญายอมกันไว้ และในสัญญายอมมีข้อตกลงว่า สัญญายอมไม่ผูกพันคดีอาญา คือโจทก์ยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ศาลฎีกาก็มองว่า เมื่อทำสัญญายอมกันแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คที่พิพาทกันหมดไป และต้องรับผิดกันตามสัญญายอมที่เกิดขึ้น มีผลให้คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปด้วย ดังนั้นการทำข้อตกลงที่ให้คดีอาญายังมีอยู่ ก็เป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีผลใช้บังคับ และข้อตกลงนี้สามารถแยกออกต่างหากได้จากข้อตกลงอื่นในสัญญายอม จึงไม่ทำให้สัญญายอมโมฆะทั้งหมด ยังมีผลใช้บังคับได้ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2788/2562         มูลหนี้ซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งจําเลยที่ 2 ชําระหนี้ด้วยเช็คพิพาท ถูกโจทก์ นําไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทําให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระเงินตามมูลหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์ รถยนต์จากการออกเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอม ยอมความเท่านั้น แม้จําเลยที่ 2 จะไม่ชําระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก จึงต้องถือว่าหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ที่จําเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลในคดีนี้ มีคําพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุไว้ว่า การทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่วินิจฉัยอยู่นี้ เป็นทํานองยกเว้น มิให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งข้อตกลง ดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทําให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         จากตัวอย่างคดีนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้นะครับว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใดๆ ก็ตาม แม้คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายด้วย ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยก่อนทำสัญญา หากไปกำหนดข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วและมีข้อตกลงนั้นขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่มีผลใช้บังคับเหมือนในคดีนี้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 กระแสต่างแดน

โอกาสทอง        หลุยส์ วิตตอง และชาแนล ในเกาหลีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อลูกค้าที่ไปต่อแถวเข้าร้านหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้องเซอร์ไพรซ์กับสินค้า “ราคาใหม่”         ค่ายแบรนด์เนมมองว่าผู้บริโภคมีเงินเหลือใช้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ชาแนลปรับราคาสินค้าในร้านขึ้นร้อยละ 7 -18 ในขณะที่หลุยส์ วิตตองก็ปรับราคาขึ้นเป็นครั้งที่สามในรอบ 7 เดือน ขึ้นอีกร้อยละ 5 - 10 เช่นกัน         นี่ยังไม่นับเรื่องความ (ไม่) รับผิดชอบต่อสังคมของค่ายหลุยส์ ที่ไม่จัดอบรมแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดการระบาดของไวรัสให้กับพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ และเมื่อพบว่าพนักงานติดเชื้อจากการไปกินดื่มในย่านอินแทวอน ก็ยังเปิดดำเนินการต่อไปโดยไม่แจ้งให้ลูกค้าที่เข้าร้านสาขาตึกล็อตเต้เวิล์ดในช่วงที่พนักงานดังกล่าวอยู่ประจำร้าน ได้ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย           แต่เขาก็คาดการณ์ไม่ผิด ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมหลังช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจริงๆ     ขยะเราต้องมาก่อน        โปรตุเกสเป็นปลายทางของขยะจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะเพียงตันละ 11 ยูโร (ประมาณ 400 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 80 ยูโร (ประมาณ 2,800 บาท)          แต่รัฐบาลได้ประกาศหยุดรับขยะจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับขยะในประเทศที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคไปจนถึงกล่องพลาสติกใส่อาหารจากบริการเดลิเวอรี         รวมถึงลดกำลังการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสัมผัสกับขยะพลาสติกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส         ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมโปรตุเกสระบุว่าในปี 2018 มีขยะจากต่างประเทศเข้ามาถึง 330,000 ตัน หนึ่งในสามถูกจัดการโดยการฝังกลบ และตั้งแต่ต้นปี 2020 โปรตุเกสปฏิเสธขยะต่างประเทศไปแล้วกว่า 246,000 ตัน  มุมทำงาน        ในเยอรมนี หากคุณมีห้องที่จัดไว้เป็น “ออฟฟิศในบ้าน” คุณจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ สถิติก่อนการล็อกดาวน์ระบุว่าร้อยละ 12 ของคนเยอรมันทำงานจากบ้าน แต่ช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ มีคนเยอรมันถึงร้อยละ 25 ที่ทำงานที่บ้าน และแนวโน้มนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล”         ที่ผ่านมาร้อยละ 40 ของนายจ้างในเยอรมนีเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ร้อยละ 60 ของคนเยอรมันก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่จะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานจากบ้านวันไหนบ้าง หรือทำทุกวันไปเลยหากลักษณะงานเอื้อให้ทำได้            สมาคมผู้เสียภาษีแห่งเยอรมนีเสนอว่าคนที่ใช้โน้ตบุ๊คนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านควรมีสิทธิขอลดหย่อนภาษีเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน การใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างขยะก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 20 ของค่าเช่าบ้านควรนำไปขอลดหย่อนภาษีได้     เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง        คนแคนาดาเกือบร้อยละ 50 เชื่อ “ข่าวโคมลอย” เกี่ยวกับโรคโควิด-19           การสำรวจโดยคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ที่สอบถามคนแคนาดา 2,000 คน พบว่าร้อยละ 46 เชื่อข่าวลืออย่างน้อยหนึ่งข่าวจากข่าวที่แชร์กันทางออนไลน์มากที่สุดสี่อันดับแรก         ข่าวลืออันดับหนึ่งได้แก่รายงานที่บอกว่าต้นกำเนิดโรคนี้มาจากไวรัสที่พัฒนาขึ้นโดย “แล็บแห่งหนึ่งในประเทศจีน” ร้อยละ 26 ของคนแคนาดาเชื่ออย่างนั้น         ร้อยละ 23 เชื่อว่ายาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาบอก         ร้อยละ 11 เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาการต่างๆ เป็นผลจากเทคโนโลยี 5G ต่างหาก ตำรวจกำลังสืบสวนว่าความเชื่อนี้เป็นเหตุให้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลายแห่งในควิเบกถูกเผาทำลายหรือไม่         แต่ที่เด็ดสุดคือร้อยละ 57 ของคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองสามารถแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงได้   มันอยู่ในตลับ        แอสเบสทอสหรือแร่ใยหินหายหน้าจากสื่อไปนาน เพราะผู้คนตระหนักถึงอันตรายและเลิกใช้มันไปแล้ว คราวนี้มันแฝงมากับเครื่องสำอางที่มีทัลคัมเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถหาซื้อได้ในเว็บอเมซอน         การทดสอบพบว่า อายชาโดว์ Jmkcoz 120 Colors Eyeshadow Palette  มีแร่ใยหินถึง 3.9 ล้านใยต่ออายชาโดว์1 กรัม และพบในร้อยละ 40 จาก 45 เฉดสีที่ทดสอบ           ในขณะที่อีกรุ่น ได้แก่ Jmkcoz Beauty Glazed Gorgeous Me Eye Shadow Tray Palette มีถึง 3.5 ใยต่ออ่ายชาโดว์ 1 กรัม พบในร้อยละ 20 จาก 55 เฉดสีที่ทดสอบ         ก่อนหน้านี้มีการพบแร่ใยหินใน “ชุดเมคอัป” ของเล่นเด็กมาแล้ว และในเดือนตุลาคม 2019 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ประกาศเรียกคืนแป้งเด็ก หลังจาก อย.สหรัฐพบแร่ใยหินในแป้งดังกล่าวแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไปสะสมในปอด และผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจไม่แสดงอาการในทันที ทั้งนี้ผู้เชียวชาญย้ำว่าไม่มี “ระดับที่ปลอดภัย” ของการรับแร่ใยหินไม่ว่าประเภทใดเข้าสู่ร่างกาย       

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 227 เครื่องปั่นผสมอาหาร/เครื่องดื่ม

        สายสุขภาพเชิญทางนี้ ฉลาดซื้อมีผลทดสอบเครื่องปั่นผสมอาหารและเครื่องดื่มมาให้คุณได้เลือกกันถึง 20 รุ่น (กำลังไฟตั้งแต่ 300 ถึง 2000 วัตต์) ที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ร่วมกันทำไว้ด้วยต้นทุนทดสอบ 400 – 500 ยูโร (ประมาณ13,500 ถึง 17,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง         คะแนนรวม 100 คะแนน คิดจากประสิทธิภาพ (50 คะแนน) ความสะดวกในการใช้งาน (30 คะแนน) การทำงานโดยไม่ส่งเสียงดังเกินไป (10 คะแนน) และความแข็งแรงทนทาน (10 คะแนน) ส่วนการทดสอบด้านการประหยัดพลังงานนั้น ทีมทดสอบให้คะแนนไว้แต่ไม่ได้นำมาประมวลผลด้วย          เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ความปลอดภัยของทุกรุ่นจะอยู่ในระดับ 5 ดาว แต่ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งานซึ่งวัดจากการทำสมูตตี้ผักและผลไม้ บดน้ำแข็ง และเตรียมอาหารเหลว ทีมทดสอบพบว่าไม่มีรุ่นไหนได้คะแนนถึง 70 ทั้งนี้รุ่นที่ได้คะแนนดีที่สุดในกลุ่มคือ Princess ไฮสปีด เดอลุกซ์เบลนเดอร์ (ราคา 2,760 บาท) และเช่นเคย รุ่นที่แพงที่สุดไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุด เราพบว่าหลายรุ่นที่ราคาแพงมีประสิทธิภาพด้อยกว่ารุ่นที่ราคาปานกลางหรือราคาถูก อยากรู้ว่าเราหมายถึงยี่ห้อไหน พลิกหน้าถัดไปได้เลย·        หมายเหตุ ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่แปลงจากหน่วยเงินยูโรที่เพื่อนสมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ซื้อจากร้านค้าในประเทศตนเอง โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ที่มาที่ไปของมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือน

        จากการติดตามดูเสียงสะท้อน ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ ที่ร่วมจัดทำกับนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่า ยังต้องมีการทำความเข้าใจและอธิบายเพิ่มในเรื่องมาตรฐานการทดสอบอีกพอสมควร ซึ่งทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ใช้มาตรฐานของ JEMA (The Japan Electrical Manufacturers’ Association เป็นแนวทางในการทดสอบ ผมขออนุญาตใช้คอลัมน์นี้ อธิบายความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของมาตรฐานนี้ เพื่อให้ ประชาชนและผู้บริโภคที่สนใจได้รับทราบเพิ่มเติม          มาตรฐานที่ทางทีมวิชาการของเรา ใช้อ้างอิง คือ JEM 1467 เป็นมาตรฐานสำหรับ เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือน และ การใช้งานที่คล้ายกัน ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1995 และแก้ไขปรับปรุง (ฉบับที่ 4) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2015 จุดมุ่งหมายของการบัญญัติมาตรฐาน        มีการกำหนดมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศสำหรับ Commercial Use ตามมารตรฐานของ JIS C 915 (เครื่องฟอกอากาศ) .ในปี 1976 อย่างไรก็ตามในปี 1983 เริ่มมีการใช้เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือนอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่ใช้ Filter ที่กำจัดกลิ่น และดักจับฝุ่น แต่เนื่องจากเกณฑ์การเปลี่ยนและวิธีการทดสอบ Filter แตกต่างกันไปในแต่ละผู้ผลิต จึงมีความต้องการให้กำหนดมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน         คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเครื่องฟอกอากาศของสมาคม JEMA จึงสร้างมาตรฐานโดยความสมัครใจของวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดกลิ่น และวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นขึ้นมา ก่อน ปรับให้เข้ากับการบังคับใช้ แล้วพิจารณากำหนดมาตรฐานแยก ในฐานะเป็น  The Japan Electrical Manufacturers’ Association ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประยุกต์ใช้กับเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก แยกกับ JIS          ที่น่าสนใจสำหรับ การทดสอบตามมาตรฐานของ JEMA คือ ในปี 2015 มีการแก้ไขมาตรฐานให้สอดคล้องกับสภาพปัจุจบัน โดยใช้เนื้อหาและข้อมูลวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5)  ของเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน และวิธีการคำนวณเปลี่ยนแปลงมาตรฐานโดยสมัครใจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเครื่องฟอกอากาศของสมาคมที่ได้กำหนดไว้        ขอบเขตการประยุกต์ใช้ คือ เป็นกฎข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับเครื่องฟอกอากาศที่ติดตั้งในครัวเรือนทั่วไป และในสำนักงาน เพื่อกำจัดกลิ่น ดักจับฝุ่นและควบคุมไวรัส หรือ ดักจับฝุ่นอย่างเดียว         ขอยกนิยาม และ คำศัพท์เฉพาะ และเงื่อนไขการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการดักจับฝุ่น กรณี PM 2.5                เครื่องฟอกอากาศ หมายถึง อุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์ ในการกำจัดกลิ่นและดักจับฝุ่น หรือดักจับฝุ่นเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นวิธีการดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้า และแบบเชิงกล        เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้า เป็นเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้ประจุไฟฟ้าที่มีแรงดันสูงเพื่อดักจับฝุ่นละออง        หมายเหตุ เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าที่ไม่มีอุปกรณ์พัดลม โดยทั่วไปถือว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศ แบบอิออน         เครื่องฟอกอากาศแบบเชิงกล ส่วนมากเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดักจับฝุ่นที่ใช้วัสดุตัวกรอง        อัตราการไหลของอากาศ (Rated Air Flow) เป็นการไหลของลมในขณะที่เครื่องฟอกอากาศกำลังทำงาน ที่ระดับความถี่ (Rated Frequency) และที่ระดับแรงดันไฟฟ้า ( Rated Voltage) ในกรณีที่ เครื่องฟอกอากาศที่มีอุปกรณ์ปรับการไหลของอากาศ ให้ใช้อัตราการไหลของอากาศสูงสุด        ความคงทนของตัวกรอง (Durability)        เกณฑ์การเปลี่ยนตัวกรองกำจัดกลิ่น และตัวกรองดักจับฝุ่น แสดงเป็นจำนวนวัน        พื้นที่ห้องที่ใช้งาน        เงื่อนไขจำนวนครั้งในการระบายอากาศตามธรรมชาติ คือ สิ่งสกปรกในอากาศที่ความหนาแน่น 1.25 mg / m3 ในเวลา 30 นาที โดยเป็นห้องที่สามารถทำความสะอาดให้เหลือสิ่งสกปรก 0.15 mg/ m3 ตามกฎหมายการจัดการอาคารและสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น        ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) คือ ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นขนาดไมโคร (PM 2.5) เมื่อทดสอบตามข้อกำหนด ตามภาคผนวก G ในพื้นที่ 32 ตารางเมตร ภายใน 90 นาที เมื่อได้ค่า Capacity ที่สามารถกำจัดฝุ่นได้ 99 % จึงถือว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) ของเครื่องฟอกอากาศ (ที่การทดสอบครั้งนี้ ใช้เป็นแนวทาง)        หมายเหตุ ในข้อกำหนดมาตรฐานการทดสอบประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) คือ เป็นข้อกำหนดสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ อย่างไรก็ตามสามารถบังคับใช้โดยอนุโลม กับผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากเครื่องฟอกอากาศได้ โดยให้พิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ แล้วตั้งค่าขนาดพื้นที่ทดสอบและเวลาวัดตามแต่ละรายการ        และบทความนี้ต้องขอขอบคุณ ผศ. ดร. ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่กรุณาให้ข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐาน JEM 1467        สุดท้ายนี้ผมคิดว่า ถึงเวลาที่หน่วยงานทางด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะต้องรีบออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กทารก ผู้ป่วยทางเดินหายใจ ในกรณีที่เครื่องฟอกอากาศไม่มีคุณภาพ ในการกรองดักจับฝุ่นครับ แหล่งข้อมูลJapan Electrical Manufacturers’ Association Regulation JEM 1467: 2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ผลการสำรวจฉลากปลั๊กพ่วง

        ปลั๊กพ่วงเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับบ้านทุกหลัง เพราะเพียงแค่ช่องเสียบปลั๊กไฟบนผนังบ้าน อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มี ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, พัดลม, เครื่องเป่าผม, ที่ชาร์จมือถือ เป็นต้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานในจุดต่างๆ ที่มีระยะห่างจากผนังบ้าน ยังต้องพึ่งพาปลั๊กพ่วงอีกด้วย นอกจากนี้ ปลั๊กพ่วงยังมีคุณสมบัติเสริมความปลอดภัยช่วยตัดกระแสไฟฟ้าฉุกเฉินในกรณีที่เกิดการลัดวงจร         ดังนั้นการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพมาตรฐานและตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปลั๊กพ่วงที่วางจำหน่ายในประเทศไทย มีคุณภาพที่หลากหลาย ปลั๊กพ่วงจำนวนไม่น้อยถูกผลิตด้วยวัสดุที่ด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน และวางขายในราคาถูก ซึ่งหากผู้บริโภคซื้อไปใช้ก็อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินได้  ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงได้ออกประกาศ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน : ชุดสายพ่วง (มอก. 2432-2555) ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับให้กับผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายปลั๊กพ่วง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วงที่มีวางจำหน่ายตามร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป จะต้องมีการติดแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555 เอาไว้ที่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งปลั๊กไฟแบบเก่าที่ไม่มีมาตรฐาน มอก. 2432-2555 กำกับ จะสามารถขายได้ต่อจนกว่าสินค้าจะหมดสต๊อก ซึ่งปลั๊กพ่วงที่เหลือค้างต้องรายงานจำนวนไว้กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ด้วย         ฉลาดซื้อ ในโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วง จำนวน 21 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เพื่อสำรวจข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก.2432-2555, วันผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ และราคาที่วางจำหน่ายมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้สรุปผลการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์        จากการสำรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วง จำนวน 21 ตัวอย่าง พบว่า        การแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555        มีผลิตภัณฑ์ปลั๊กพ่วง 19 ตัวอย่าง ที่มีการแสดงเครื่องหมายสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555และ มี 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีสัญลักษณ์ มอก.                 ซึ่งปลั๊กพ่วง 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีสัญลักษณ์ มอก. 2432-2555 ได้แก่        1) ยี่ห้อ D-VER รุ่น DV-88k4U  (ไม่ระบุวันผลิตหรือวันที่นำเข้า) ราคา 380 บาท              ที่สุ่มซื้อจาก ร้านเจ้เล้ง (ในห้างเซียร์ รังสิต)และ  2) ยี่ห้อ ELECTON รุ่น TE-2163 (วันผลิตหรือนำเข้า 1 ม.ค.61) ราคา 450 บาท            ที่สุ่มซื้อจาก ร้านนัตตี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ในห้างฯ ฟอร์จูน พระรามเก้า)        (ซึ่งวันผลิตหรือนำเข้าที่ระบุไว้ คือ 1 ม.ค.61 ซึ่งเป็นวันที่ก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ (24 ก.พ.61)                  โดยหากรายงานไว้กับ สมอ. แล้ว ก็สามารถจำหน่ายได้ตามข้อยกเว้น)        การแสดงวันที่ผลิตหรือนำเข้า        พบว่า มีปลั๊กพ่วงจำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ไม่แสดงวันที่ผลิตหรือนำเข้า ได้แก่        1) ยี่ห้อ Randy  ราคา 289 บาท ที่สุ่มซื้อจาก เทสโก้ โลตัส สาขาบางปะกอก        2) ยี่ห้อ D-VER รุ่น DV-88k4U  ราคา 380 บาท ที่สุ่มซื้อจาก ร้านเจ้เล้ง ในห้างเซียร์ รังสิต        3) ยี่ห้อ Elektra รุ่น 814U  ราคา 459 บาท ที่สุ่มซื้อจาก โฮมโปร สาขาพระรามสองและ  4) ยี่ห้อ ELECTON รุ่น EP9-4303  ราคา 550 บาท ที่สุ่มซื้อจาก ร้าน IKANO ในห้าง IKEA สาขาบางใหญ่ คำแนะนำในการเลือกซื้อปลั๊กพ่วง        1. เลือกปลั๊กพ่วงที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. 2432-2555        2. หากมีวัตถุประสงค์ใช้เฉพาะจุด ให้ดูกำลังไฟตามปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งาน เช่น 10A, 16A        3. เลือกปลั๊กพ่วง ที่มีจำนวนช่องเสียบที่เหมาะสมกับจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการใช้ การซื้อปลั๊กพ่วงที่มีช่องเสียบจำนวนมากแล้วไม่ได้ใช้ทุกช่อง อาจสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น        4. เลือกปลั๊กพ่วงที่มีความยาวของสายไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน หากเลือกสายไฟที่สั้นเกินไป อาจทำให้ใช้งานลำบาก หรือ ถ้าหากเลือกสายไฟที่ยาวเกินไป ก็จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และจัดเก็บสายไฟส่วนเกินยาก และอาจเป็นที่แหล่งกักเก็บฝุ่น        5. ปลั๊กไฟบางรุ่น มีช่องจ่ายไฟแบบ USB ให้ด้วย เป็นตัวเลือกการใช้งานข้อมูลอ้างอิง        - มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเต้าเสียบและเต้ารับสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน (มอก.2432-2555) โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม        - รู้ก่อนซื้อ! มอก.ใหม่ ควบคุมปลั๊กพ่วง หมดห่วงเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร (www.officemate.co.th/blog/มาตรฐาน-มอก-ปลั๊กพ่วง)        - ผู้บริโภคต้องรู้! มาตรฐาน “มอก. ปลั๊กพ่วง” เพื่อความปลอดภัย บังคับใช้แล้วทั่วประเทศ  (www.https://www.thepower.co.th/knowledge/extension-cord-standard-ปลั๊กพ่วง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 เปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ

        การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศที่ทำการสุ่มซื้อตัวอย่างจากท้องตลาด และทางออนไลน์จำนวน 10 ยี่ห้อ ดังนี้        1.   รายละเอียดเครื่องฟอกอากาศ        2.  คุณสมบัติเฉพาะของเครื่องฟอกอากาศ        3. วิธีการทดสอบ         การทดสอบนี้จะทำการทดสอบเครื่องฟอกอากาศโดยการปรับปรุงมาตรฐาน Standards of The Japan Electrical Manufacturers’ Association (JEM Standards), JEM1467-Air Cleaner for Household Use (Air cleaners of household and similar use) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศครัวเรือน โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้         3.1 เงื่อนไขการทดสอบ             3.1.1 ฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบ             ในการทดสอบครั้งในใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS Aerosol Generator ATM 226 (รูปที่ 2.1) โดยเครื่องดังกล่าวจะสร้างฝุ่นจำลองที่มีขนาดช่วง 0.1 - 0.9 ไมครอน โดยฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาด 0.2 ไมครอน 3.1.2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ            การทดสอบนี้ใช้เครื่อง Dusttrak DRX Aerosol Monitor 8533 (รูปที่ 2.2) เพื่อวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 โดยเครื่องวัดนี้สามารถวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 แบบ Real-time3.1.3 ลักษณะของห้องที่ทดสอบ        ห้องที่ใช้ในการทดสอบมีขนาด 26.46 m3  (กว้าง x ยาว x สูง: 3.6 x 3 x 2.45 m3) ทำการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบริเวณริมกำแพงห้อง โดยตั้งเครื่องฟอกอากาศให้สูงจากพื้น 70 เซนติเมตร และติดตั้งเครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่นให้สูงจากพื้น 70 เซนติเมตร บริเวณกึ่งกลางห้อง         ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการบำบัดฝุ่นละอองมีคุณสมบัติสามารถรักษาระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้อง และมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ ดังรูป        3.2 วิธีการทดสอบ        การทำสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศทำได้โดยทดสอบการลดลงตามธรรมชาติของฝุ่นละอองภายในห้องขณะยังไม่มีเครื่องฟอกอากาศ (Natural decay) และทดสอบการลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration) สำหรับการทดสอบเครื่องฟอกอากาศแต่ละเครื่อง ทำการทดสอบเครื่องละ 2 ครั้ง เพื่อยืนยันผลการทดสอบ โดยค่าการตรวจวัดดังกล่าวจะแสดงในรูปของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR)       การลดลงของฝุ่นละอองตามธรรมชาติ (Natural decay)        ดำเนินการโดยการสร้างฝุ่นละอองเพื่อให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 ภายในห้องมีค่าอยู่ในช่วง 1.0 - 5.0 mg/m3 จากนั้นจะทำการวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องเป็นเวลา 30 นาที เพื่อหาค่าที่การ Natural decay โดยความเข้มข้นของฝุ่นละอองหลังจากเวลาผ่านไป 30 นาที ควรมีค่าความเข้มข้นมากกว่า 80 % ของความเข้มข้นเริ่มต้น        การลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration)        ในการทดสอบนี้จะดำเนินการเหมือนกับการทดสอบ Natural Decay แต่หลังจากสร้างฝุ่นละอองจนได้ความเข้มข้นของ PM 2.5  ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3 จะทำการเปิดเครื่องฟอกอากาศโดยจะวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นเวลา 90 นาที หรือจนกว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเหลือความเข้มข้นน้อยกว่า 0.020 mg/m3 หรือ 20 µg/m3        การคำนวณหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ        สำหรับการคำนวณนี้จะทำการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในแง่ของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR) เพื่อให้ทราบถึงอัตราการสร้างอากาศสะอาดของเครื่องฟอกอากาศ        โดยการคำนวณ CADR จะคำนวณจาก4. ผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศผลการทดสอบได้แสดงดังตารางที่ 2 โดยค่าการตรวจวัดดังกล่าวจะแสดงในรูปของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate: CADR)สรุปผลการทดสอบจากผลการทดสอบสามารถแบ่งประเภทของเครื่องฟอกอากาศ โดยพิจารณาจาก การเปรียบเทียบ พื้นที่ห้องที่เหมาะสม กับ พื้นที่ห้องที่แนะนำตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้เป็น 5 กลุ่มกลุ่มที่ 1 คือ เครื่องฟอกอากาศเหมาะกับกลุ่มที่ขนาดพื้นที่ห้องจากการทดสอบ มีขนาดเล็กมาก        (2.32 ตารางเมตร) ซึ่งสามารถแปลผลการทดลองได้ว่า ไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Clairกลุ่มที่ 2 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มี ขนาด 13 - 16  ตารางเมตร  และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Blueair **   กลุ่มที่ 3 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Hitachi Fanslink Air D  Sharp และ Bwell  กลุ่มที่ 4 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ได้กับห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Hatari, Mitsuta   กลุ่มที่ 5 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Philips และ Mi** หมายเหตุ ** เนื่องด้วยทีมบริหารของผลิตภัณฑ์ Blueair ได้นำเอกสารยืนยันจาก AHAM (Association of Home Appliance Manufacturers) ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์ Blueair สามารถใช้กับห้องในขนาด 16 ตารางเมตร ได้ ตามที่ระบุในคู่มือการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากทีมทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อว่า การทดสอบผลิตภัณฑ์ของบลูแอร์ เป็นการทดสอบที่ค่า CADR ขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นที่ใช้ทดสอบด้วย โดยดูจากผลการทดสอบของ Blueair (ขนาดฝุ่น tobacco smoke 0.1- 1 micron CADR 119  ขนาดฝุ่น Dust 0.5- 3 micron CADR 121  ขนาดฝุ่นละอองเกสร ดอกไม้  CADR 131)         การที่ค่า CADR มีความแตกต่างกัน การระบุปริมาตรหรือขนาดห้องที่เหมาะสมจึงแตกต่างตามไปด้วย ดังนั้นทางบลูแอร์ควรทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าขนาดห้องที่เหมาะสมกับเครื่องฟอกอากาศควรเป็นเท่าไร และควรต้องแจ้งเรื่อง การทดสอบแบบไม่มี prefilter ซึ่งเป็นการทดสอบที่แตกต่างจากทางนิตยสารฉลาดซื้อ ที่ทดสอบแบบมี prefilter ซึ่งเป็นสภาพจริงที่ผู้บริโภคใช้งาน        นอกจากนี้ การทดสอบความสามารถในการดักจับฝุ่น ตามมาตรฐานของ JEMA มีข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ฝุ่นละอองไมโครขนาดเล็ก ( PM 2.5) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศของนิตยสารฉลาดซื้อ        คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้บริโภคในการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ และการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะความเข้มข้นของ ฝุ่น PM 2.5 ด้วยตนเอง  คือ การใช้เครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่น ขนาดพกพา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องไฟฟ้าและร้านค้าออนไลน์ แก้ไขปรับปรุง ณ วันที่ 4 ก.พ. 2563   

อ่านเพิ่มเติม >