ฉบับที่ 204 ไขมันทรานส์ ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

ตามที่สัญญากันไว้ว่าเราจะกลับมาพบกันอีกครั้ง กับผลการทดสอบไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง หลังจากเล่มที่ผ่านมาเราได้เสนอผลการตรวจสอบ ปริมาณพลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าวไปแล้ว ไขมันทรานส์(Trans fat) หรือกรดไขมันทรานส์(Trans Fatty acid) เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการแปรรูป พบมากในการผลิตอาหารจำพวกขนมอบ เบเกอรี่ที่มีมาการีน/เนยขาว อาหารทอดหรือครีมเทียม เพราะสามารถทำให้อาหารเก็บได้นาน ทนความร้อน ไม่มีกลิ่นหืนและต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไรก็ตามไขมันทรานส์กลับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง เพราะสามารถส่งผลร้ายเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว โดยทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี(LDL: low-density lipoprotein) เพิ่มสูงขึ้น และลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี(HDL: high-density lipoprotein) ในเลือดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ จอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดีและการอักเสบ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อไม่เรื้อรังทั้งหลายดังนั้นหลายประเทศจึงออกกฎหมายกำกับปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(USFDA) กำหนดให้อาหารทุกประเภทที่วางจำหน่ายและมีส่วนประกอบของกรดไขมันดังกล่าว ต้องระบุการใช้กรดไขมันทรานส์ไว้บนฉลากโภชนาการ รวมทั้งต้องมีปริมาณไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทั้งนี้ภายหลังก็ได้ออกกฎหมายใหม่ให้เข้มงวดขึ้น โดยควบคุมการผลิตอาหารให้มีไขมันทรานส์เป็น 0% หรือห้ามไม่ให้มีไขมันทรานส์ในอาหารอีกเลย(หลังวันที่ 16 มิถุนายน 2561) เนื่องจากตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของประชากรโลก องค์การอาหารและยา(อย.) บ้านเราตระหนักในผลร้ายของไขมันทรานส์เช่นกัน โดยล่าสุดทาง อย. ได้ออกประกาศว่ากำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย ที่ห้ามนำส่วนประกอบอาหารที่มีไขมันทรานส์มาผลิตอาหาร หรือห้ามเติมสารไฮโดรเจนลงไปในกระบวนการผลิตน้ำมัน โดยคาดว่าจะสามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้ภายในเดือนเมษายน 2561 (ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978)ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสาช่วยตรวจสอบปริมาณไขมันทรานส์ในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่าง โดยอ้างอิงตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคกรดไขมันทรานส์ คือ ไม่ควรบริโภคเกินกว่า 2.2 กรัม/วัน หรือควรพบความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันผลการทดสอบไขมันทรานส์ในทั้ง 15 ยี่ห้อ 22 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจพบว่า มีปริมาณกรดไขมันทรานส์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 ยี่ห้อที่มีปริมาณกรดไขมันดังกล่าวสูง คือ เครื่องดื่มข้าวกล้องงอก ผสมธัญพืช 7 ชนิด สูตรไม่ผสมน้ำตาล ยี่ห้อ โกเด้นท์ มีปริมาณไขมันทรานส์มากที่สุดคือ 2.43 กรัม/ 100 กรัม(0.7 ต่อหน่วยบริโภค)  ส่วนตัวอย่างที่เหลือพบว่ามีไขมันทรานส์อยู่ในปริมาณน้อย ซึ่งอาจพบได้ในธรรมชาติและไม่เกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก  ตารางแสดงผลการทดสอบอย.เตรียมประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อย.ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) และมาตรา 6 (5) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยให้เพิ่มความลงในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ในข้อ 2.13 “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) “ยกเว้น” การใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก”การออกประกาศฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า “ไขมันทรานส์ (trans fatty acids)” จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oil) จะเพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น อย.จึงได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวขึ้น โดยขณะนี้ตัวร่างอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ โรงงานผลิตวัตถุดิบอาหาร, โรงงานผลิตน้ำมันพืช, โรงงานผลิตนม-เนย-เบเกอรี่ และโดนัท ฯลฯ ที่ใช้กระบวนการผลิตที่มีไขมันทรานส์เกิดขึ้น“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักอาหาร อย. รวมถึงการส่งหนังสือไปยังองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่งความคิดเห็นกลับมายัง อย. ภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้น อย.จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดสรุปเสนอคณะกรรมการอาหาร ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน หากความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อย.จะเร่งประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา” น.ส.ทิพย์วรรณกล่าวที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-90978**อัพเดท**เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2561ปิยะสกล สกลสัตยาทรรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 203 พลังงานและน้ำตาลในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง

เชื่อว่าหลายคนนิยมรับประทานเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นนมถั่วเหลือง โกโก้ ช็อกโกแล็ต ชานม หรือไมโล โอวันติน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มักมาในรูปแบบทรีอินวัน ทำให้มีรสชาติที่กลมกล่อม และเพียงแค่เราฉีกซองเติมน้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย อย่างไรก็ตามด้วยรสชาติที่อร่อย พร้อมขนาดซองที่ไม่ใหญ่มากนักของเครื่องดื่มประเภทนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคหลายคนอร่อยเพลิน จนลืมตรวจสอบปริมาณพลังงานและน้ำตาลที่เราจะได้รับ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราได้รับพลังงานและน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน สามารถส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานจากการได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม/วัน หรือโรคหัวใจจากการได้รับไขมันไม่ดีสะสม รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาตรวจสอบน้ำตาลและพลังงานในเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง จาก 15 ยี่ห้อยอดนิยมจำนวน 22 ตัวอย่าง รวมทั้งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ซึ่งจะแสดงผลในเล่มถัดไป สรุปผลการสำรวจฉลากจากตัวอย่างเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงที่นำมาทดสอบทั้งหมด 15 ยี่ห้อ จำนวน 22 ตัวอย่าง พบว่า 1. มี 1 ตัวอย่าง ไม่มีฉลากโภชนาการคือ มัช ชานมปรุงสำเร็จชนิดผง 2. ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ ซองเดอร์ เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปผสมงาดำ รสจืด มีปริมาณน้ำตาล 0 กรัม/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้ปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ปริมาณน้ำตาล 22 กรัม/หน่วยบริโภค3. ยี่ห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุดคือ ซุปเปอร์ ชานมปรุงสำเร็จ ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุดคือ เอ็ก ซอง ชาปรุงสำเร็จ รสนม ชนิดซอง ให้พลังงาน 190 กิโลแคลอรี่/หน่วยบริโภค4. นอกจากนี้ยังพบว่ามี 1 ยี่ห้อที่ไม่มีเลขสารบบอาหารคือ Royal Myanmar Teamix ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (กูร์เมต์ มาร์เก็ต)ข้อสังเกต- การแสดงฉลากอาหารจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมดพบว่า 1 ตัวอย่างที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร อาจเข้าข่ายผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ที่กำหนดไว้ว่า การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตเพื่อจำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่าย ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ (เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะยกเว้นให้ไม่ต้องระบุข้อความหนึ่งข้อความใด) 1.ชื่ออาหาร 2.เลขสารบบอาหาร 3.ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้าหรือสำนักงานใหญ่ (แล้วแต่กรณี) 4.ปริมาณของอาหาร 5.ส่วนประกอบที่สำคัญ 6.คำเตือน/ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร 7.ชื่อวัตถุเจือปนอาหาร (ถ้ามี) 8.ข้อความ “แต่งกลิ่นธรรมชาติ/ สังเคราะห์” (ถ้ามี) และ 9.แสดงวันเดือนปี ผลิต/หมดอายุนอกจากนี้ตัวอย่างที่ไม่มีฉลากโภชนาการหรือไม่ระบุฉลากโภชนาการภาษาไทย อาจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคบางส่วนได้ เนื่องจากฉลากโภชนาการมีความสำคัญในแง่ของของการให้ข้อมูลและความรู้ ด้านคุณค่าทางโภชนาการอาหารกับผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารในแต่ละวันให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการตารางแสดงผลการสำรวจฉลากภาษีน้ำตาล ปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักของการเติบโตนี้มาจากการขายเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แม้ว่าภาครัฐจะมีการเพิ่มอัตราภาษีน้ำตาลจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 แต่ก็ยังสวนทางกับจำนวนคนเป็นโรคอ้วนที่มีมากขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557 ดังนั้นรัฐจึงได้มีการเพิ่มภาษีน้ำตาลในอาหารชนิดต่างๆ ในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยหวังให้เป็นมาตรการหนึ่ง ในการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของผู้บริโภคให้หันมาลดการทานหวาน มัน เค็ม  โครงสร้างการจัดเก็บค่าความหวานนั้น จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มล. ไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน  8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14  กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร โดยให้เวลาภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ต.ค. 2562

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 202 เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง

ร่วมสนับสนุนเราให้มีทุนทดสอบต่อเนื่อง สมัครสมาชิก อ่านรายละเอียดคลิกที่นี่สมาชิกที่กำลังมองหาตัวช่วยในการทำความสะอาด ไม่ว่าจะล้างรถ ล้างแอร์ หรือล้างพื้นบ้าน โปรดฟังทางนี้ เรามีผลทดสอบเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงที่องค์กรผู้บริโภค CHOICE ของออสเตรเลียได้ทำไว้มาฝากกัน อุปกรณ์ที่ว่านี้อาจราคาไม่ถูกนักแต่ถ้าเทียบกับเงินที่เราประหยัดได้จากการซื้อบริการทำความสะอาดในแต่ละครั้ง รวมกับการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็ถือว่าน่าลงทุนไม่น้อย  CHOICE แบ่งการให้คะแนนออกเป็นสามด้านได้แก่ ประสิทธิภาพในการทำความสะอาด ความสะดวกในการใช้งาน และความดังของเสียงขณะใช้งาน ทุกด้านมีคะแนนเต็ม 100 แต่คะแนนรวมจะคิดจากประสิทธิภาพ (ร้อยละ 60) และความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 40) เท่านั้น  • ราคาที่แสดงเป็นการแปลงค่าจากเงินเหรียญออสเตรเลีย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 202 “ย้ายค่ายใช้เบอร์เดิมไม่ได้ เพราะติดสัญญาส่วนลดค่าเครื่อง” บริษัทมือถือ อ้างอย่างนี้ก็ได้เหรอ ??

มหกรรมช้อปช่วยห้าง เอ๊ย !! ไม่ใช่ ช้อปช่วยชาติ ประจำปี 2560 นี้ หลายคนตัดสินใจควักกระเป๋า เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ เพราะค่ายมือถือทุกค่าย จัดโปรโมชั่นลดราคา ค่าเครื่อง Smart Phone หลายรุ่น และโปรโมชั่นที่ HOT HIT ก็คือ ซื้อโทรศัพท์พร้อมสมัครใช้งานแพ็กเกจรายเดือน จะสามารถซื้อโทรศัพท์ได้ในราคาถูกกว่าซื้อเครื่องเปล่า ๆ  โดยมีเงื่อนไขให้ลูกค้าจะต้องใช้บริการรายเดือนประมาณ 6 – 24 เดือน แล้วแต่โปรโมชั่น  ดูแล้วโปรโมชั่นแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโทรศัพท์ซื้อมาแล้วยังไงก็ต้องใช้บริการ ไม่ใช่ซื้อมาตั้งเฉยๆ ใช่ไหมครับ หลายคนคงคิดอย่างนี้ แต่ปัญหาดันมาเกิดตรงที่ บางคนซื้อโทรศัพท์มาแล้วใช้งานไม่ได้ เพราะคุณภาพสัญญาณไม่ดี ต่อเน็ตก็ไม่ได้ ติดๆ หลุดๆ เสียงก็ขาดๆ หายๆ เพราะตอนซื้อมัวแต่สนใจเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง ลืมตรวจสอบว่าบ้านเราอยู่ในพื้นที่ให้บริการรึเปล่า พอแจ้ง Call Center ก็ได้คำตอบว่า คนเยอะ หนาแน่น ก็ต้องแบ่ง ๆ กันใช้ ส่วนการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ ปรับปรุงคุณภาพสัญญาณเมื่อไรนั้น ก็ให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้เพราะเป็นเรื่องนโยบายลงทุนของบริษัท จบ  เจอปัญหาแบบนี้ แล้วจะเอาโทรศัพท์ตั้งไว้เฉยๆ จ่ายค่าบริการรายเดือนไปเรื่อยๆ ก็ใช่ที่ “โทรศัพท์ดี แต่สัญญาณห่วย ก็ย้ายค่ายสิครับ จะรออะไร” ลูกค้าหลายคน จึงติดต่อขอย้ายเลขหมายไปใช้ค่ายอื่น เผื่อสัญญาณจะดีกว่า แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “ให้ย้ายค่าย ใช้เบอร์เดิมไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขส่วนลดค่าเครื่องที่ต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะต้องเสียค่าปรับอีกต่างหาก” ข้ออ้างแบบนี้ ฟังขึ้นหรือไม่   ตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 32 กำหนดว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ และ ข้อ 15 ได้ห้ามผู้ให้บริการกำหนดเงื่อนไขอันก่อให้เกิดภาระ ห้ามเรียกเก็บค่าปรับ หรือค่าเสียหาย จากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ปัญหาในทำนองนี้ ก็เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ยุคที่บริษัทอินเทอร์เน็ตแข่งกันทำตลาด แจก Modem Router แลกกับการผูกสัญญาให้ต้องใช้บริการ 1 -2 ปี ฟังดูคุ้น ๆ ไหมครับ ที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้เคยพิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด และบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่สามารถคิดค่าปรับในกรณีนี้ได้ สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ เดิมบริษัทผู้ให้บริการจะเอาเงื่อนไขการรับโทรศัพท์ เครื่องอุปกรณ์ ต่างๆ เขียนรวมกันไว้ในสัญญาใช้บริการฉบับเดียว แต่เมื่อ กสทช. มีแนววินิจฉัยเรื่องร้องเรียนชัดเจนแล้วว่า ตามกฎหมาย สัญญาใช้บริการโทรคมนาคม(ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์พื้นฐาน มือถือ ก็ตาม) ห้ามมีข้อกำหนดเรื่องค่าปรับ ค่าเสียหาย ถ้าผู้บริโภคยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ในกรณีที่มีการแจกเครื่องฟรี หรือ ขายให้ในราคาถูก หลังจากนั้น บริษัทก็เลยไม่เขียนเรื่องค่าปรับ หรือเงื่อนไขว่าต้องใช้บริการนานเท่าไร ไว้ในสัญญาใช้บริการโทรคมนาคม แต่แยกเงื่อนไขเรื่องเครื่องฟรี เรื่องส่วนลดราคาพิเศษออกมาเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่ง   การแก้เกมหนีการกำกับ ดูแลของ กสทช. โดยแยกสัญญาออกไปแบบนี้ ว่ากันตามตัวบทกฎหมาย สัญญา หรือ ข้อตกลงเรื่องส่วนลดค่าเครื่อง ค่าอุปกรณ์นี้ ก็ไม่ใช่สัญญาบริการโทรคมนาคม จึงไม่อยู่ในอำนาจกำกับดูแล ควบคุมของ กสทช. ถือว่า เป็นเรื่องทางแพ่งที่คู่สัญญาจะไปตกลงเงื่อนไขกันเองตามความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย  แล้วบริษัทมือถือจะเอาเรื่องอยู่ไม่ครบสัญญาและไม่จ่ายค่าปรับ นี้เป็นเหตุปฏิเสธไม่ให้ผู้บริโภคย้ายค่ายไปใช้บริการค่ายอื่น เพราะถือว่ายังมีหนี้ค้างชำระ ได้หรือไม่  ตามข้อ 17 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และข้อ 4.9  ของเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เหตุหนึ่งที่ผู้ให้บริการจะปฏิเสธมิให้ย้ายค่าย ก็คือ ลูกค้ามีค่าบริการค้างชำระ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาก็คือ การไม่จ่ายค่าปรับกรณีอยู่ไม่ครบสัญญานั้น ถือว่าเป็นการค้างชำระค่าบริการหรือไม่ ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวผมแล้ว ก็เห็นว่า ค่าปรับกรณีนี้ เป็นคนละเรื่องกับหนี้ค่าบริการโทรคมนาคม จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะปฏิเสธการโอนย้ายเครือข่าย บริษัทต้องยอมให้ลูกค้าย้ายเครือข่ายไปใช้บริการค่ายอื่น แต่ก็ยังมีสิทธิฟ้องร้องเรียกให้ผู้ใช้บริการมาชำระค่าปรับตามสัญญาทางแพ่ง ส่วนฟ้องแล้ว ศาลจะพิจารณาว่าข้อกำหนดเรื่องค่าปรับนี้ เข้าข่ายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือจะให้จ่ายค่าปรับจำนวนเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันในศาล แต่ไม่ใช่กรณีที่บริษัทจะถือเอาเป็นเหตุว่า “อยู่ไม่ครบสัญญาและไม่ยอมจ่ายค่าปรับ จึงไม่ให้ย้ายค่าย”  แต่ถ้าจะว่ากันแบบ “แฟร์ แฟร์” ส่วนลดค่าเครื่องที่บริษัทเขาให้มาเพื่อชวนเรามาใช้บริการ ถ้าเราอยู่ไม่ครบตามสัญญา ก็สมควรจะต้องคืนบริษัทเขาไปตามส่วนจึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ก่อนซื้อเครื่องสำอาง อย่าลืมดูฉลาก

สาวๆ หลายคนที่ชื่นชอบการแต่งหน้า อาจเคยเผลอซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งบางคนอาจโชคดีไม่เกิดอาการแพ้ใดๆ แต่ไม่ใช่กับผู้ร้องรายนี้ คุณปาริชาตร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ว่า เธอซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากร้าน  K'Saranon Beauty and Herb  ที่ตั้งอยู่หลังตึกการบินไทยมาใช้ ซึ่งหลังใช้แล้วเกิดอาการคัน แพ้ แสบปาก และเมื่อตรวจสอบสินค้าดูอีกครั้งก็พบว่ากล่องก็ไม่มีฉลากภาษาไทย เธอจึงกลับไปที่ร้านเพื่อขอคืนสินค้า แต่แม่ค้าไม่ยินยอม โดยอ้างว่าเป็นของแท้และไม่คืนเงินให้ อย่างไรก็ตามจะให้เปลี่ยนเป็นสินค้าอื่นภายในร้านแทนด้านคุณปาริชาตไม่มั่นใจว่าสินค้าอื่นๆ จะได้มาตรฐานหรือเปล่า จึงไม่ต้องการแลกสินค้าและถ่ายรูปร้านค้าไว้ ทำให้แม่ค้าแจ้งว่าจะไม่ขายสินค้ายี่ห้อดังกล่าวแล้ว และจะคืนเงินให้ 60% แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด เธอจึงส่งเรื่องมายังศูนย์ฯ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อให้มีการเข้าไปตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว ซึ่งภายหลังการดำเนินการ อย. ได้แจ้งกลับมาว่า สถานที่จำหน่ายเครื่องสำอางตามที่ผู้ร้องได้แจ้งมานั้นปิดทำการไปแล้ว โดยได้มีการเข้าตรวจสอบหลายครั้งก็ไม่พบว่าร้านเปิดทำการอีกเลย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อย่างไรก็ตามทาง อย. จะติดตามผลต่อไป และหากพบว่าทางร้านกระทำผิดจริงหรือจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานก็จะสั่งระงับการขายทันที ทั้งนี้สำหรับผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรตรวจสอบฉลากภาษาไทยก่อนซื้อทุกครั้ง โดยอย่างน้อยฉลากต้องระบุข้อความดังนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ รวมทั้งต้องมีเลขที่จดแจ้ง 10 หลัก ซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย. หรือ http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 คืนสินค้าเร็ว แต่ได้รับเงินช้า

คุณปราณีสั่งซื้อเครื่องสำอางจากรายการขายของในช่องเคเบิลทีวี ซึ่งผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าหากซื้อไปใช้แล้ว เกิดอาการแพ้ก็สามารถคืนสินค้าได้ เธอจึงตัดสินใจลองสั่งเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้ดูเป็นจำนวนเงินเกือบ 2,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้ไปได้ประมาณ 3 วัน คุณปราณีกลับรู้สึกมีอาการคันและผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า จึงไปพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่งวินิจฉัยว่าเกิดจากอาการแพ้เครื่องสำอางนั่นเอง เธอจึงโทรศัพท์ไปแจ้งบริษัทเครื่องสำอางถึงอาการแพ้ดังกล่าว เพื่อขอคืนสินค้าและขอเงินคืน เมื่อบริษัทเครื่องสำอางรับทราบก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มารับสินค้าคืน และขอเลขบัญชีของคุณปราณีไป เพื่อจะโอนเงินค่าสินค้าให้ อย่างไรก็ตามหลังผ่านไปเกือบ 4 เดือนก็ไม่พบว่ามีการโอนเงินคืนจากบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยโทรศัพท์ไปสอบถามที่บริษัทเครื่องสำอางถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับมาว่าเหตุที่คืนเงินล่าช้า เพราะผู้ร้องแจ้งเลขบัญชีผิดและไม่มีการติดต่อเข้ามายังบริษัทเพื่อแจ้งเลขบัญชีใหม่ ทำให้บริษัทไม่สามารถโอนเงินคืนให้ได้ อย่างไรก็ตามบริษัทยินดีรับผิดชอบด้วยการโอนเงินคืนเต็มจำนวน ซึ่งภายหลังผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้วก็ยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 เครื่องสำอางราคาไม่เหมาะสม

เครื่องสำอางกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากดูดี ดังนั้นต่อให้เครื่องสำอางราคาแพงแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนก็ยอมที่จะซื้อมาใช้ อย่างไรก็ตามเครื่องสำอางบางยี่ห้อ กลับคิดราคาตามใจชอบ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนที่ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้คุณปราณีไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านรังสิต และถูกชักชวนจากพนักงานขายเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติหน้าตาดีมาเชิญชวนให้เข้ามาทดลองสินค้า ซึ่งเธอได้บอกปฏิเสธไป เพราะไม่ได้ต้องการซื้อเครื่องสำอางดังกล่าว แต่พนักงานเหล่านั้นก็หว่านล้อมต้อนหน้าหลัง จนทำให้เธอไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าไปทดลองสินค้าในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลองสินค้าหลายชนิดที่พนักงานนำมาทดสอบให้ดู เธอก็มีความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อสอบถามราคากลับต้องตกใจ เพราะเครื่องสำอางแต่ละชิ้นราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียวเมื่อพนักงานเห็นว่าคุณปราณีมีท่าทางตกใจในราคาก็พากันเสนอโปรโมชั่นมากมาย ซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธไปเพราะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากแต่พนักงานก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการขาย ด้วยการเสนอราคาโปรโมชั่นสุดร้อนแรงลดกระหน่ำไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ คุณปราณีก็เริ่มลังเลใจและเกรงใจพนักงาน จนทำให้ตกลงซื้อสินค้ามาทั้งหมด 7 ชิ้น รวมเป็นเงินกว่า 100,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อเธอกลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ก็พบว่า มีคนรีวิวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสินค้าในด้านบวกไว้มากมาย แต่หลายคนก็ไม่พอใจกับราคาสินค้า เพราะนอกจากจะแพงมากแล้ว ยังเสนอขายในราคาตามใจชอบ ทั้งๆ ที่หน้าร้านไม่ได้มีการจัดโปรโมชั่นที่เห็นได้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่จะถูกเชิญชวนเพราะบอกว่าเป็นโปรโมชั่นลับเฉพาะสำหรับพนักงาน และเสนอให้กับผู้ซื้อเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังการใช้สินค้าคุณปราณีพบว่ามีอาการผื่นคัน จึงไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มา เพื่อนำไปแจ้งยังบริษัทฯ เพื่อขอให้คืนเงิน แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ใบรับรองแพทย์ไม่ได้ระบุว่าเธอแพ้ครีมของบริษัท จึงไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดสินค้าทั้งหมด ภาพถ่ายสินค้า ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์มาให้เพิ่มเติม และช่วยทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบราคา รวมทั้งส่งสินค้าทดสอบสารประกอบ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลจะเป็นอย่างไรไว้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้สำหรับใครที่พบเห็นสินค้ามีราคาไม่เหมาะสม ควรถ่ายรูปป้ายราคาสินค้าที่หน้าร้านเก็บไว้ หรือหากซื้อสินค้ามาแล้วก็ควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ก่อน และโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายในเบอร์ 1569 นอกจากนี้ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางโดยพิจารณาจากปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งสามารถทดสอบด้วยการทาทิ้งไว้ในบริเวณที่บอบบางอย่างใต้ท้องแขนเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ รวมทั้งเลือกซื้อเครื่องสำอางที่แสดงรายละเอียด ดังนี้1.มีเลขที่จดแจ้ง10หลักซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย.หรือ ค้นหาที่นี่ เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย นอกจากนี้เลขที่จดแจ้งยังมีไว้ในกรณีที่ผู้ใช้เกิดความผิดปกติกับผิวหนัง ซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งหรือตามตัวผู้ผลิตได้  2. มีฉลากภาษาไทยที่อย่างน้อยแสดงข้อความต่อไปนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 เครื่องทำกาแฟ

ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบมาฝากสมาชิกที่กำลังมองหาเครื่องทำกาแฟมาไว้ใช้เองในบ้าน เรามีมาให้เลือก 19 รุ่น ทั้งแบบอัตโนมัติที่ทำให้ตั้งแต่บดเมล็ดกาแฟไปจนออกมาเป็นเอสเปรสโซ แบบแคปซูลสำเร็จรูปและแบบธรรมดา สนนราคาก็มีให้เลือกตั้งแต่ 2,000 กว่าไปจนเกือบหกหมื่นบาทในการทดสอบครั้งนี้ทีมทดสอบขององค์การทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ให้สัดส่วนคะแนนด้านต่างๆ ไว้ดังนี้ความสะดวกในการใช้งาน (เช่น การทำกาแฟ ตั้งโปรแกรม ปรับอุณหภูมิ เติมน้ำ ทำความสะอาด ล้างตะกรัน  เป็นต้น) 30 คะแนนคุณภาพและรสชาติของกาแฟ 20 คะแนนความสม่ำเสมอของอุณหภูมิ 15 คะแนนการประหยัดพลังงาน 10 คะแนนการทำฟองนม 10 คะแนนความเร็วในการทำงาน 5 คะแนนฟังก์ชั่นทำพร้อมกัน 2 แก้ว   5 คะแนนคู่มือการใช้งาน 5 คะแนนส่วนเรื่องดีไซน์และความสวยงามนั้นแม้จะไม่มีสัดส่วนคะแนนให้ แต่ทีมเขาบอกว่าเป็นงานดีห้าดาวทุกรุ่น วางไว้เฉยๆ ก็ทำหน้าที่เป็นงานศิลป์ประดับครัวได้ ในภาพรวม รุ่นที่ได้คะแนน 5 ดาวเพียงมีรุ่นเดียวได้แก่ Delonghi ECAM 650.55.MS PRIMADON- ELITE ที่ราคาเหยียบหกหมื่น แต่ที่เหลือก็ไม่ธรรมดา ได้คะแนนไปในระดับ 4 ดาวทุกรุ่น ใครชอบแบบไหน เลือกกันได้ในหน้าถัดไป หมายเหตุ: - เมล็ดกาแฟที่ใช้เป็นไปตามสเปคของเครื่องแต่ละยี่ห้อ แต่กรณีที่ไม่ได้ระบุไว้ ทีมงานจะใช้เมล็ดกาแฟของ illy- ราคาที่ลงไว้เป็นราคาที่แปลงจากสกุลเงินยูโร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 194 เครื่องดื่มจากต้นไม้

ผู้เขียนเป็นคนตื่นเช้า อาจเพราะอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (30 ปีเรียนหนังสือ 30 ปีทำงาน และ 30 ปีลิ้มรสความสงบสุข) จึงต้องการเห็นแสงแดดและหายใจในแต่ละวันให้มากเท่าที่ทำได้ อีกทั้งปัจจุบันผู้เขียนได้เปลี่ยนระบบอินเทอร์เน็ตจาก ADSL ซึ่งเป็นเน็ตที่มาตามสายโทรศัพท์บ้านไปเป็นเน็ตที่มากับสายนำสัญญาณใยแก้วหรือไฟเบอร์ออปติคซึ่งมีความเร็วสูงกว่าเดิมเป็น 4-5 เท่าตัว ด้วยค่าบริการที่ผู้ให้บริการแจ้งว่าเท่าเดิม แถมได้ดูโทรทัศน์ผ่านกล่อง (ให้ยืม) ของผู้ให้บริการซึ่งมีรายการน่าสนใจที่ไม่เคยดูจากโทรทัศน์ระบบปรกติ เช้าวันหนึ่งผู้เขียนได้ดูช่องข่าวของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีล้วน ปรากฏว่าข่าวหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มจากต้นเมเปิลของเกาหลีด้วยวิธีไม่ยากนัก กล่าวคือเป็นการเจาะรูที่ลำต้นแล้วเอาชุดสายยางเสียบเข้าไปในรูที่เจาะ จากนั้นน้ำซึ่งเรียกว่า sap ก็ไหลออกมาค่อนข้างเยอะ จนสามารถรวมน้ำจากหลายต้นแล้วบรรจุขวดขายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพในลักษณะ SMEคนไทยรู้จักดีถึงน้ำหรือของเหลวที่ได้จากต้นไม้ เช่น น้ำจากผลมะพร้าว น้ำตาลสดจากจั่นของต้นตาลและต้นมะพร้าว น้ำจืดจากเถาวัลย์ในป่า น้ำจืดจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความรู้เรื่องน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้แล้วมีรสชาติดีสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ คงเป็นเพราะบ้านเราไม่มีไม้ที่เหมาะแก่การเจาะเอาน้ำออกมาจากต้นได้นั่นเองบทความหนึ่งเรื่อง In South Korea, Drinks Are on the Maple Tree เขียนโดย Choe Sang-Hun ในวารสารออนไลน์ชื่อ Hadong Journal เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2009 ให้ข้อมูลสรุปว่า ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิของเกาหลีต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืนแล้วอุ่นขึ้นในตอนกลางวัน ซึ่งมีแสงแดดจ้าและปราศจากลมแรง นั้นเป็นช่วงเวลาที่กบเลิกจำศีลและนกหัวขวานเริ่มเจาะต้นไม้ทำรังใหม่ ชาวบ้านในชนบทของเกาหลีใต้จะเริ่มเทศกาลเจาะต้นเมเปิลเพื่อให้ได้ของเหลวซึ่งเรียก โกโระเซะ (Gorosoe) มาดื่มกัน ภาพข่าวซึ่งเห็นได้ทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์นั้นดูเรียบง่าย เพราะเป็นการเจาะรูกลางต้นไม้แล้วเสียบหัวก๊อก (tap) เข้ากับต้นไม้โดยตรงจากนั้นน้ำหวานก็ไหลผ่านสายยางเข้าสู่ภาชนะที่ปลายสายยางตามธรรมเนียมของชาวชนบทในเกาหลีแถบฮาดอง ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโซลราว 180 ไมล์นั้น ผู้นิยมดื่มโกโระเซะนี้อาจดื่มได้ถึง 20 ลิตรต่อวัน โดยปักหลักปูเสื่อแล้วดื่มของเหลวจากท่อที่ต่อออกมาจากต้นเมเปิลพร้อมกินขนมขบเคี้ยวเช่น ปลาแห้งรสเค็ม (ซึ่งทำให้หิวน้ำมากขึ้น) ควบไปกับการเล่นไพ่ สำหรับชาวแคนาดา อเมริกันและชาติอื่นๆ ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่มีต้นเมเปิลขึ้นได้นั้น มีการรวบรวมเอาน้ำที่เจาะได้จากต้นเมเปิลมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมเมเปิล (น้ำที่เจาะได้ 10 ลิตรทำน้ำเชื่อมได้ 1 ลิตร) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นน้ำเชื่อมที่หอมหวานเหมาะกับการราดหน้าแพนเค็กแบบสุดๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า น้ำเชื่อมเมเปิลนั้นมีไวตามินบี 2 สูงเนื่องจากน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นั้นถูกนำมาใส่ขวดขายได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่ามีการอ้างถึงประโยชน์ของน้ำจากต้นไม้นี้ต่อร่างกายในลักษณะที่ปราศจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีใครสามารถจดลิขสิทธิ์สินค้าลักษณะนี้ได้ จึงไม่มีเอกชนลงทุนทำการวิจัยถึงคุณประโยชน์ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลการศึกษาที่ได้นั้นใคร ๆ ก็นำไปใช้ในการโฆษณาสินค้าได้ การศึกษาความจริงลักษณะนี้ทางวิทยาศาสตร์จึงทำได้เฉพาะในหน่วยราชการหรือเป็นงานวิจัยของนักศึกษาเท่านั้นการทำน้ำเชื่อมเมเปิลในทวีปอเมริกาเหนือนั้น ที่จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนพื้นเมือง ซึ่งผู้อพยพจากยุโรปได้ตอบรับนำมาสู่วิถีชีวิตแบบไม่รีรอ พร้อมกับทำการพัฒนากระบวนการให้ประณีตขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ดีขึ้น ประเทศแคนาดาเป็นแหล่งผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลิตได้ราว 3 ใน 4 ของปริมาณที่พลโลกต้องการ โดยมีการส่งออกด้วยมูลค่าเกือบ 150 ล้านเหรียญดอลลาร์แคนาดา อีกทั้งประเทศนี้ยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ชนิดที่เรียกว่า DIY (do it yourself) รายใหญ่สำหรับมือสมัครเล่นที่ประสงค์จะเจาะน้ำจากต้นเมเปิลที่ปลูกไว้ข้างบ้าน (วิธีการและสินค้านั้นหาดูได้จาก YouTube)จากคลิปเรื่อง Maple syrup ใน YouTube ให้ข้อมูลว่า น้ำเชื่อมเมเปิลเป็นน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำที่ได้จากท่อส่งน้ำ (xylem) ของต้นเมเปิลเช่น เมเปิลน้ำตาล (sugar maple) เมเปิลแดง (red maple) หรือเมเปิลดำ (black maple) โดยในช่วงก่อนเข้าหน้าหนาวต้นเมเปิลจะสะสมแป้งในลำต้น จนพอเริ่มเข้าฤดูใบไม้ผลิ แป้งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลซึ่งถูกลำเลียงเข้าสู่ท่อส่งน้ำซึ่งมนุษย์สามารถเจาะดูดเอาน้ำซึ่งมีรสหวานเฉพาะตัวมาบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระบวนการต้มจนได้เป็นน้ำเชื่อมในประเทศอื่นเช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ก็มีการดื่มน้ำจากต้นเมเปิลเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับการดื่มของชาวเกาหลี นอกจากเมเปิลแล้วยังมีไม้ในสกุลอื่นอีกชนิดซึ่งมีผู้กล่าวว่า เป็นไม้ประจำชาติรัสเซีย ที่มนุษย์เจาะเอาน้ำจากท่อนำน้ำออกมาดื่มได้คือ เบิร์ช (Birch) ผู้เขียนพบบทความเรื่อง น้ำหวานจากต้นเบิร์ช ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 3 พฤษภาคม 2552 ในเว็บ oknation โดยผู้เขียนบทความนี้ได้เล่าประมาณว่า ร้านค้าของชำและอาหารในประเทศรัสเซียนั้นมีเครื่องดื่มใส ๆ ออกสีเขียวจาง ๆ ขายคล้ายน้ำผลไม้ น้ำนี้มีรสชาติหอมนิด ๆ หวานหน่อย ๆ พร้อมกลิ่นไม้ซึ่งได้มาจากต้นเบิร์ช สินค้าชนิดนี้มีขายทั้งที่เป็นของจริงและทำเทียมเลียนแบบ เนื่องจากน้ำต้นเบิร์ชของจริงนั้นเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องได้เพียงไม่นานก็สูญเสียรสชาติ จึงจำต้องแช่แข็งแล้วละลายออกมาขาย การเจาะต้นเบิร์ซให้ได้น้ำมากที่สุดนั้นต้องเป็นช่วงก่อนฤดูใบไม้ผลิ (เช่นเดียวกับต้นเมเปิลที่กล่าวแล้วข้างต้น) ต้นเบิร์ชใหญ่ ๆ 1 ต้นสามารถให้น้ำได้มากถึง 15 ลิตรใน 1 วัน อย่างไรก็ดีช่วงเวลาการเก็บน้ำหวานนี้มีเวลาไม่เกิน 1 เดือนในแต่ละปี และในช่วงเวลาตอนปลายของการเก็บน้ำจะเริ่มขม ชนชาติอื่นที่นิยมดื่มน้ำต้นเบิร์ชเช่นกันนั้นอยู่ในยูเครน เบลารุส ฟินแลนด์ จีนตอนเหนือ คนแถบทะเลบอลติก สวีเดนและเดนมาร์ก จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า น้ำต้นเบิร์ชนั้นมีน้ำตาลไซลีทอล แคลเซียม โปแตสเซียม แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสและเหล็ก โปรตีน กรดอะมิโน และพฤกษเคมี ย้อนกลับมาที่น้ำซึ่งเจาะได้จากต้นเมเปิลนั้น คนเกาหลี รัสเซียและอีกหลายชาติเชื่อกันว่า น้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นี้มีคุณค่าทางการแพทย์ อีกทั้งความหมายของคำว่า โกโระเซะ (Gorosoe) ในภาษาเกาหลีคือ ดีต่อกระดูก ซึ่งอาจเป็นจริงก็ได้ เพราะเมื่อมีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำที่ได้จากต้นไม้เหล่านี้เมื่อทำเป็นน้ำเชื่อมแล้วมีแมงกานีสสูง ซึ่งเชื่อกันว่าธาตุนี้ช่วยทำให้มวลกระดูกคงสภาพอยู่ได้นาน (ดูข้อมูลได้ที่ http://umm.edu/health/medical/altmed/supplement/manganese) ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทหนึ่งชื่อ Happy Tree (www.drinkhappytree.com) มีสินค้าชื่อ Maple Water สินค้านี้เป็นน้ำจากต้นเมเปิลบรรจุขวดพลาสติกด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ความร้อนจึงคุยว่า สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ได้ดี มีรสชาติเป็นที่โปรดปรานของลูกค้า บริษัทนี้ระบุว่า น้ำจากต้นเมเปิลของบริษัทเต็มไปด้วยจุลโภชนาสาร (micronutrients) และเอ็นซัม (ขอให้ฟังหูไว้หูเพราะเอ็นซัมส่วนใหญ่แล้วมักเสื่อมสภาพเมื่อถูกบรรจุใส่ขวด) นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาต่ออีกว่า ในปัจจุบันมีร้านอาหารชื่อดังนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในการปรุงอาหารและผสมทำเครื่องดื่มมึนเมา (นัยว่าเพื่อสุขภาพ ???) อีกหลายสูตรถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงพอเห็นแล้วว่า สักวันหนึ่งเครื่องดื่มที่ได้จากการเจาะต้นไม้ (นอกเหนือไปจากน้ำเชื่อมเมเปิล) ไม่ว่าจะผลิตจากเกาหลี รัสเซีย หรือสหรัฐอเมริกานั้น คงมาเติมเต็มความอยากดื่มกินของแปลกของผู้บริโภคชาวไทย ผู้เขียนขอทำนายว่า คงมีการโฆษณาขายผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นหลักโดยมีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นส่วนเสริม ในช่วงเวลาที่ผู้ดูปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและโภชนาการละสายตาจากจอมอนิเตอร์เพื่อทำธุระส่วนตัวหรือนอนหลับพักผ่อน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 การใช้ smart phone สำหรับ ช่วยเป็นเครื่องมือบอกทิศทางด้วย Navigator Application

ปัจจุบันผู้ขับขี่รถยนต์นิยมใช้ Appication ของสมาร์ตโฟนทำหน้าที่ เป็น navigator สำหรับบอกเส้นทางและสภาพการจราจร Application เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถได้มาก ลดเวลาการเดินทางที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัด และช่วยให้คนขับไม่ต้องประสบปัญหาการหลงทิศทาง อย่างไรก็ตามการจะใช้ สมาร์ตโฟน เป็นเครื่องมือบอกทิศทางนั้น ต้องพึงระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย และต้องเป็นไปตามกฎจราจรด้วย การใช้งานต้องติดตั้งสมาร์ตโฟนในที่จัดเก็บ และระหว่างขับรถต้องไม่ใช้มือจับหรือสัมผัสจอภาพ และต้องมีสติกับการขับรถตลอดเวลา ข้อดีของการใช้ Application ของฟรีที่ติดมากับเครื่อง คือ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนขับรถที่ต้องใช้งาน Navigator เป็นประจำทุกวัน และใช้งานต่อเนื่อง ขอแนะนำให้ใช้ เครื่องนำทางตัวจริงจะดีกว่า เนื่องจาก กรณีของ Application ที่เป็น Navigator ติดมากับสมาร์ตโฟน จะแสดงแผนที่ บนหน้าจอเพียงแค่ระยะ 500 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่สั้นมาก ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการขับขี่โดยเฉพาะการขับขี่บนทางหลวง หรือทางด่วนที่ต้องขับด้วยความเร็วสูง และไม่ได้ระบุถึงช่องจราจรที่รถควรขับอาจทำให้เกิดปัญหาในการที่จะต้องเปลี่ยนช่องจราจรได้ทันเวลา และข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของ Application ที่ติดมากับเครื่องสมาร์ตโฟน คือ การบอกเส้นทางไม่ได้มาจากข้อมูลที่บันทึกอยู่ในหน่วยความจำของสมาร์ตโฟน แต่มาจากการเชื่อมต่อข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงมีการใช้ Bandwidth อย่างสิ้นเปลืองเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องขับรถในระยะไกลๆ ยกตัวอย่างเช่น หากขับรถเดินทางระยะ 120 กิโลเมตร ก็ใช้ Bandwidth ประมาณ 9-10 Mbyte และหากเดินทางไกล ติดต่อกันหลายวัน ในกรณีที่เดินทางท่องเที่ยว ปริมาณของ Bandwidth ก็อาจเกินกว่า ปริมาณ Bandwidth ที่ Flatrate ระบุไว้ได้ และในกรณีที่ใช้ สมาร์ตโฟนในต่างประเทศ การเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมีค่า Roaming ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานด้วย การใช้ smart phone สำหรับ ช่วยเป็นเครื่องมือบอกทิศทางด้วย Navigator Application นั้น เหมาะสำหรับการใช้งานในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช้งานต่อเนื่อง และใช้งานบนเส้นทางที่เรามีความคุ้นเคยบ้างแล้ว  ดังนั้นหากใครที่ขับรถเป็นระยะทางไกลๆ และไม่คุ้นเคยกับเส้นทางโดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแบบขับรถเอง เครื่องช่วยนำทาง (Navigator) จึงเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ นอกจากจะช่วยในเรื่องบอกทางแล้ว ยังช่วยในเรื่องบอกเรื่องอัตราความเร็วของรถ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ป้องกันการถูกจับและ ไม่ต้องประสบปัญหาการได้รับใบสั่งโดยไม่จำเป็นและต้องเสียค่าปรับที่อัตราปรับค่อนข้างสูงทีเดียว บางครั้งการเช่ารถขับเองหากจะใช้เครื่อง  Navigator ที่ติดตั้งมากับรถ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และอาจแพงกว่า กรณีที่ซื้อมาใช้เอง ปัจจุบัน เครื่อง  Navigator ที่ใช้งานได้ดีราคาไม่ได้สูงมาก และสามารถซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ตัวอย่างเครื่อง  Navigator ที่ราคาไม่แพงและใช้งานได้ดีจากการทดสอบการใช้งานของ มูลนิธิทดสอบสินค้า เยอรมนี คือ ยี่ห้อ TomTom รุ่น Start M ราคาระหว่าง 130- 150 ยูโร (ที่มา วารสาร  Test ฉบับ 2/2014)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กันแดดด้วยเครื่องสำอาง

ความร้อนแรงของแสงแดดในบ้านเรามากขึ้นทุกวัน สาวๆ หลายคนจึงต้องสรรหาสารพัดวิธีมาปกป้องผิวสวย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเลือกซื้อเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดด เพราะเชื่อว่าเครื่องสำอางเหล่านั้นมีความสามารถในการป้องกันอันตรายจากรังสียูวีได้เทียบเท่ากับครีมกันแดดทั่วไป และสามารถช่วยประหยัดเวลาการแต่งหน้าได้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องทาครีมกันแดดเพิ่มอีก อย่างไรก็ตามการป้องกันแดดด้วยวิธีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผิวจริงหรือ เราลองไปดูกันรู้จักเครื่องสำอางผสมสารกันแดดกันก่อนเครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด ตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง หมายถึง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด เพื่อปกป้องผิวหนังหรือส่วนของร่างกายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (รังสียูวี) แต่ไม่รวมถึงสารป้องกันแสงแดดที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางเพื่อทำหน้าที่อื่น เช่น ปกป้องผลิตภัณฑ์ไม่ให้เสื่อมคุณภาพหรือแต่งสีของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ต้องมีการแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดตามจริง ซึ่งแบ่งเป็น 1.ค่า SPF (Sun Protection Factor) คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีบี 2.ค่า PFA (Protection factor of UV-A) คือ ค่าที่แสดงถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสรังสียูวีเอ และ 3.ค่า PA (Protection factor of UVA)คือ ค่าที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางแห่งประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดขึ้นแทนการใช้ค่า PFA เครื่องสำอางกันแดดได้แค่ไหนแม้ร่างกายเราจะต้องการแสงแดด เพื่อช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่มีข้อจำกัดอยู่ว่าควรได้รับในปริมาณที่ไม่มากเกินไปหรือประมาณ 10 – 15 นาที/วัน และต้องไม่อยู่ในช่วงเวลาที่แดดจัดหรือตั้งแต่ 10.00 น. - 16.00 น. เพราะอาจทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัย ผิวไหม้ หรือเป็นมะเร็งผิวหนังได้ อย่างไรก็ตามหากเราหลีกเลี่ยงได้ยาก จึงควรปกป้องผิวด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารกันแดด ซึ่งการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดดป้องกันผิวจากรังสียูวีถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ประสิทธิภาพในการกันแดดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้1. ปริมาณการใช้แน่นอนว่าปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ส่งผลต่อการความสามารถในการป้องกันแดด ซึ่งหากลองเปรียบเทียบปริมาณการใช้ครีมกันแดดกับปริมาณเครื่องสำอางผสมสารกันแดดก็จะพบว่า บางครั้งเราใช้เครื่องสำอางเพียงเล็กน้อย เช่น ใช้รองพื้นทาบางๆ หรือแป้งพัฟแตะเบาๆ ที่ผิวหน้า ซึ่งระหว่างวันเครื่องสำอางเหล่านั้นก็จะหลุดลอกไปพร้อมเหงื่ออีกด้วย ในขณะที่การใช้ครีมกันแดดทั่วไป เราจำเป็นต้องใช้ประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้จึงจะทาได้ทั่วผิวหน้า ดังนั้นหากใครที่ใช้เครื่องสำอางในปริมาณเพียงเล็กน้อย อาจทำให้การกันแดดไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทาครีมกันแดดก่อน แล้วตามด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ นั่นเอง2. ค่า SPF และ PA ในผลิตภัณฑ์บางครั้งราคาของแต่ละผลิตภัณฑ์ก็แปรผันตามความสามารถในการกันแดด ซึ่งหากผลิตภัณฑ์มี SPF หรือ PA สูง ราคาก็อาจสูงขึ้นตามไปด้วย สาวๆ หลายคนเลยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเลือกเครื่องสำอางที่มี SPF หรือ PA ไม่สูงมากนัก แต่ใช้หลายๆ ผลิตภัณฑ์ในครั้งเดียว เพราะเชื่อว่าสามารถนำค่าดังกล่าวมาบวกกันให้สูงขึ้นได้ความจริงก็คือ แม้เราจะใช้เครื่องสำอางที่ผสมสารกันแดดหลายผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้การป้องกันรังสียูวีเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากค่า SPF หรือ PA ไม่สามารถนำมาบวกกันได้ และความสามารถในการป้องกันแดดจะนับจากค่า SPF และ PA สูงสุดของผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เราทาเท่านั้นทั้งนี้ในการเลือกค่า SPF และ PA เราสามารถเลือกตามความเหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำ และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าทั้งสองอย่าง เพื่อการป้องกันทั้งรังสียูวีเอและยูวีบี เช่น หากทำงานในร่มเป็นประจำ การเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 15 และไม่เกิน 50 ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะการเลือกค่า SPF ที่สูงเกินไป อาจทำให้เราได้รับสารเคมีมากเกินความจำเป็น ส่วนค่า PA สามารถเลือกตามเครื่องหมาย + ได้ ดังนี้ PA+, PA++, PA+++ และ PA++++ หมายถึง ประสิทธิภาพการป้องกันในระดับต่ำ กลาง สูง และสูงมากตามลำดับ ซึ่งหากเราไม่ได้เจอกับแสงมากนักก็ไม่จำเป็นต้องเลือกค่า PA สูงหรือแค่ PA++ ก็เพี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 It’s smoothie time!

อุณหภูมิขนาดนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าเครื่องดื่มเย็นๆ จากผักหรือผลไม้ ที่ดื่มแล้วชื่นใจแถมได้วิตามิน ฉลาดซื้อฉบับรับร้อนขอนำเสนอผลการผลทดสอบเครื่องปั่น/ผสมอาหารที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้มาฝากสมาชิก ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงของนำเสนอเพียง 18 รุ่น สนนราคาตั้งแต่ 850 ถึง 15,500 บาท* เครื่องปั่นเหล่านี้มีกำลังไฟระหว่าง 250 ถึง 1200w และทั้งหมดผลิตในประเทศจีน ยกเว้น Kitchen Aid และ Vitamix ที่ผลิตในอเมริกาคราวนี้เราวัดประสิทธิภาพของเครื่องปั่นแต่ละรุ่นในการ:   - ทำสมูตตี้ผักและผลไม้ (ส้ม แอปเปิ้ล แครอท โยเกิร์ต และนม)- บดน้ำแข็งก้อนสี่เหลี่ยม (10 ก้อน)- เตรียมอาหารเหลว (มันฝรั่ง แครอท และเนื้อวัวต้มสุก)โดยทีมงานจะทดสอบตามคำแนะนำในคู่มือของเครื่องปั่นรุ่นนั้นๆ วัดเวลาที่ใช้และให้คะแนนความละเอียดและเป็นเนื้อเดียวกันของส่วนผสม นอกจากนี้ยังให้คะแนนเรื่องความสะดวกในการใช้งาน การล้างทำความสะอาด เสียงรบกวนจากการใช้งาน และคุณภาพการประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการทดสอบครั้งนี้อยู่ที่ 9,755 ยูโร หรือประมาณ 365,000 บาท โดยไม่รวมค่าผลิตภัณฑ์  ฉลาดซื้อสามารถนำผลทดสอบมาเผยแพร่ได้เพราะเราเป็นสมาชิกขององค์กร International Consumer Research & Testing ที่จะให้ผลทดสอบกับองค์กรผู้บริโภคที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น  หมายเหตุ: ราคานี้เป็นราคาในเดือนมีนาคม 2560 โปรดตรวจสอบกับทางร้านอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 191 เกร็ดความรู้เรื่องการซักผ้าด้วยเครื่อง ตอนที่ 2

กิจกรรมการซักผ้าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แต่ละครอบครัวจะต้องทำเป็นกิจวัตร คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะมีเวลาไม่มากนัก การซักผ้าอาจจะพึ่งพาแม่บ้านมืออาชีพ (คนรับจ้างทำงานบ้าน) บางท่านอาจยังไม่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นคนโสด ก็อาจจะใช้บริการ จ้างร้านซักรีด หรือไม่ก็ใช้บริการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญ ซึ่งมีแพร่หลายอยู่ทั่วไป บทความในวันนี้จะอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้าอัตโนมัติผงซักฟอกสำหรับผ้าสี กำจัดคราบสกปรกได้ดีหรือไม่เนื่องจากในผงซักฟอกสำหรับผ้าสีโดยทั่วไป ไม่ได้มีสารเคมีที่สำคัญในการกำจัดคราบคือ สารฟอกขาว (bleaching medium) ซึ่งจำเป็นในการกำจัดคราบที่ฝังแน่นบนเนื้อผ้า แต่ผงซักฟอกปัจจุบันมีส่วนผสมสาร Tenside ซึ่งทำหน้าที่ในการละลายคราบไขมันบนผ้า และสารเอนไซม์ที่ช่วยกำจัดคราบได้ดีขึ้น สำหรับผงซักฟอกสำหรับผ้าขาวนั้นมีสารเคมีที่ช่วยกำจัดคราบสกปรกได้ดีอยู่แล้วใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มดีหรือไม่ผ้าบางชนิดไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เช่น ผ้าเช็ดมือ การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มกับผ้าเช็ดมือ ทำให้ผ้าเสื่อมคุณภาพเร็ว และสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เมื่อสัมผัสกับผิวของคน นอกจากนี้การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ยังเป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกด้วยมีผงซักฟอกที่ถนอมเนื้อผ้าหรือไม่ผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอก เมื่อผ่านการซักหลายครั้งย่อมทำให้สีซีดสีจางลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีในผงซักฟอก โดยทั่วไปผงซักผ้าสี ป้องกันสีซีดสีจางได้ดีกว่าผงซักฟอกผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Bleaching medium มีความสามารถในการซักฟอกได้ดี แต่ก็ทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้เร็วเช่นกันกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้าเกิดขึ้นได้อย่างไรในกรณีที่การระบายน้ำในเครื่องซักผ้าไม่หมด และปล่อยทิ้งไว้ในเครื่องซักผ้า แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์สามารถเจริญเติบโตได้ และกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเครื่องซักผ้า ก็อาจติดอยู่กับเสื้อผ้าที่เราซักได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เครื่องซักผ้านั้นเป็นเครื่องซักผ้าสาธารณะ การป้องกันคือ การซักเครื่องเปล่า โดยใช้ผงซักฟอก และใช้น้ำซักที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นทำความสะอาดกล่องใส่ผงซักฟอก เมื่อซักเครื่องเปล่าเสร็จแล้ว ก็เปิดฝาทิ้งไว้จนภายในเครื่องแห้งสนิทในการซักผ้านอกจากเราคำนึงความสะอาดของเนื้อผ้าแล้ว ปัจจุบันเราต้องหันมาสนใจในประเด็นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เครื่องซักผ้าที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และช่วยให้เราประหยัดปริมาณผงซักฟอกที่ใช้ด้วย และท้ายสุดคือ ประหยัดเงินของเรา ดังนั้นการเลือกซื้อเครื่องซักผ้า จึงเป็นสิ่งที่เราควรหาข้อมูลทางด้านประสิทธิภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 8/2012)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เครื่องสำอาง “ปราศจากแอลกอฮอล์” จริงหรือ

คำว่า “ปราศจากแอลกอฮอล์” ถือเป็นหนึ่งในจุดขายของเครื่องสำอางส่วนใหญ่ เพราะแอลกอฮอล์เป็นตัวการหลักที่สามารถทำให้เราเกิดอาการแพ้เครื่องสำอางได้ อย่างไรก็ตามหากใครที่เคยลองพลิกดูส่วนประกอบสำคัญบนฉลากของเครื่องสำอางเหล่านั้น จะเห็นว่ายังคงมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ดี ดังนั้นเราควรซื้อเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้หรือไม่ ลองมาหาคำตอบกันทำความรู้จักแอลกอฮอล์ในเครื่องสำอางแอลกอฮอล์ในเครื่องสำอาง มีส่วนช่วยในการทำละลายส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากัน และช่วยนำสารเข้าสู่ผิวของเรา ดังนั้นเครื่องสำอางทุกประเภทต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามแอลกอฮอล์ที่ใช้ในเครื่องสำอางมีหลายประเภท ซึ่งเราสามารถตรวจสอบก่อนใช้งาน เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผิวได้มารู้จักประเภทของแอลกอฮอล์แอลกอฮอล์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ดีต่อผิวและกลุ่มที่สร้างความระคายเคือง ซึ่งเครื่องสำอางที่โฆษณาว่าปราศจากแอลกอฮอล์ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ แต่หมายความว่าใช้แอลกอฮอล์ในกลุ่มที่ดีต่อผิวนั่นเอง โดยเราสามารถตรวจสอบก่อนซื้อได้ดังนี้1.แอลกอฮอล์กลุ่มที่ดีต่อผิว หรือกลุ่มที่เป็นตัวทำละลาย (Fatty Alcohol)แอลกอฮอล์กลุ่มนี้ใช้เพื่อทำละลายสารที่ไม่ละลายน้ำ ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยให้เครื่องสำอางติดผิวได้ดีขึ้น และสามารถทำความสะอาดผิว ชะล้างสิ่งสกปรกและไขมันได้ โดยมักพบในเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เช่น ครีมหรือโลชั่น ได้แก่ Arachidyl alcohol, Cetyl alcohol, Batyl alcohol, Behenyl alcohol, Ceteareth-20, Hexyl laurate, Lanolin alcohol, Oleyl alcohol, Lauryl alcohol, Panthenol (aka pantothenic acid), Polyvinyl alcohol, Stearyl alcohol, Di-PPG-3 Myristyl Ether Adipate 2.แอลกอฮอล์กลุ่มที่สร้างความระคายเคือง หรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ ใช้แทนสารกันเสียแอลกอฮอล์ประเภทนี้ใช้เป็นส่วนผสมของยาทาผิว มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นสารกันบูด นิยมผสมในเครื่องสำอางประเภทน้ำหรือของเหลว โดยส่วนใหญ่พบใน โทนเนอร์ เซรั่มใส่ผม น้ำหอม สเปรย์ และมักทำให้เกิดผิวระคายเคือง ผิวแห้งเพราะทำให้ผิวสูญเสียน้ำ ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการแพ้เครื่องสำอางได้ โดยแอลกอฮอล์กลุ่มนี้ ได้แก่ Ethyl Alcohol, Isopropyl Alcohol, Chlorphenesin, SD Alcohol, Alcohol Denat, Benzyl Alcohol, Methanolแนะวิธีเลือกแอลกอฮอล์ให้เหมาะกับผิวเนื่องจากเราหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางได้ยาก วิธีการเลือกแอลกอฮอล์ให้เหมาะกับผิวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนอกจากเราจะสามารถเลือกโดยการดูประเภทของแอลกอฮอล์ก่อนนำมาใช้งานแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ อีกเล็กน้อย ดังนี้- เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพผิว เช่น หากเราเป็นคนผิวแห้ง ควรหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่ใช้แอลกอฮอล์กลุ่มฆ่าเชื้อเป็นส่วนผสม เพราะสามารถทำให้ผิวสูญเสียน้ำและยิ่งแห้งขึ้นไปอีก ซึ่งตรงข้ามกับคนผิวมัน ที่สามารถใช้แอลกอฮอล์กลุ่มดังกล่าวได้ เพราะช่วยให้ความมันบนใบหน้าลดลง- ทดสอบการแพ้เบื้องต้นก่อนใช้ทุกครั้ง โดยการทาเครื่องสำอางไว้ตรงบริเวณที่บอบบางอย่างใต้ท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบว่าเกิดอาการแพ้ แดง คันหรือไม่ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวก็ไม่ควรซื้อเครื่องสำอางนั้นมาใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 จองตั๋วเครื่องบินไม่ได้

มีวิธีการมากมายในการจองตั๋วเครื่องบินผ่านสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจองผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามแม้วิธีการเหล่านั้นจะสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน หากระบบการจองเกิดความผิดพลาด เหมือนเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสมชายและเพื่อนต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ จึงจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย ผ่านแอพพลิเคชั่นของสายการบินดังกล่าว และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นเงิน 3,094.72 บาท อย่างไรก็ตามหลังชำระเงินเรียบร้อยกลับขึ้นข้อความว่าแจ้งเตือนว่าหมดเวลา(Time out) คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อสอบถามปัญหา ซึ่งพนักงานตอบกลับว่าไม่มีรายการจองตั๋วดังกล่าว และขอให้ทำรายการใหม่ ดังนั้นเขาจึงต้องทำการจองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง รวมทั้งชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในยอดเงินเท่าเดิม ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนครั้งก่อน โดยมีการแจ้งเตือนผ่านหน้าแอพพลิเคชั่นว่าทำรายการล้มเหลว แต่มีการตัดยอดเงินในบัตรเครดิตเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาได้ตรวจสอบข้อมูลการจองอีกครั้ง กลับพบว่าตนเองจองตั๋วผิด และหลังจากโทรศัพท์ไปยังสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน พนักงานก็ได้แจ้งกลับมาว่าหากสำรองที่นั่งแล้ว สายการบินอนุญาตเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ก่อนกำหนดเดินทางอย่างน้อย 48 ชม. หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงใดๆ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราของสายการบินด้วย ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถขอคืนค่าภาษีสนามบินได้หลังจากที่เที่ยวบินได้ผ่านไปแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวการทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ช่วยติดต่อกับทางบริษัทให้มีการเจรจา ซึ่งใช้หลักฐานประกอบการดำเนินการคือ ข้อมูลหมายเลขบัตรโดยสาร และยอดบัตรเครดิตที่จ่ายไป ทั้งนี้ผู้ร้องต้องการให้ทางสายการบินคืนเงินค่าตั๋วทั้งหมดจำนวน 6,189.44 บาท อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า สามารถคืนเงินค่าโดยสารได้แค่ครั้งแรกที่เกิดความผิดพลาดจากระบบ ส่วนครั้งที่สองเสนอให้เก็บยอดดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เพื่อนบ้านเป็นเหตุวิธีสังเกตเครื่องสำอางที่ปลอดภัย

การเลือกเครื่องสำอางให้ปลอดภัยจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากเราตรวจสอบรายละเอียดสำคัญต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ก่อนใช้งาน ซึ่งจะมีวิธีตรวจสอบเบื้องต้นอย่างไรลองมาดูกันเลย1. ตรวจสอบฉลากกันก่อนฉลากเครื่องสำอาง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดจำเป็นต้องมี ซึ่งตามพระราชพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 กำหนดให้ระบุรายละเอียด ดังนี้ 1. ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า2. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีที่ผลิตในประเทศ ส่วนในกรณีที่นำเข้าให้ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต 3. ปริมาณ วิธีใช้ ข้อแนะนำ คำเตือน เดือนปีที่ผลิตและที่หมดอายุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต และชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต 4. ข้อความอื่นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกขาสำหรับกรณีภาชนะบรรจุเครื่องสำอางมีขนาดเล็ก คือ มีพื้นที่แสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ ดังนี้ 1. ชื่อเครื่องสำอาง 2. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต 3. เดือน ปี ที่ผลิต/ปี เดือนที่ผลิต 4. เลขที่ใบรับแจ้ง ส่วนข้อความอื่นๆ ให้แสดงในใบแทรกหรือเอกสารคู่มือที่ใช้ประกอบเครื่องสำอาง2. ตรวจสอบเลขที่ใบรับแจ้งปัจจุบันเครื่องสำอางทุกชนิดต้องมีเลขที่จดแจ้งเป็นตัวเลขจำนวน 10 หลัก เช่น 10-2-5624168 โดย 2 หลักแรก บ่งบอกว่าแจ้งรายละเอียดที่จังหวัดใด ถัดมาหลักที่ 3 บ่งบอกว่าเป็นสินค้าที่ผลิต (1) หรือนำเข้า (2) หรือผลิตเฉพาะเพื่อการส่งออก (3) และหลักที่ 4 – 5 บ่งบอกว่าแจ้งรายละเอียดในปี พ.ศ. ใด ซึ่งจะมีอายุ 3 ปีนับแต่วันที่ออกใบรับจดแจ้ง ส่วนหลักที่ 6 -10 จะเป็นลำดับของการออกใบรับแจ้งในปี พ.ศ. นั้น ซึ่งเลขที่จดแจ้งจะแตกต่างจากเลข อย. 13 หลักที่ไว้กำกับควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารหากผลิตภัณฑ์ใดผ่านการตรวจสอบจาก อย.แล้วว่าไม่มีสารห้ามใช้ (หรือหากมีสารที่ควบคุมปริมาณการใช้ก็จะต้องมีปริมาณไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด) จะได้รับเลขที่รับแจ้งและต้องแสดงเลขดังกล่าวไว้บนฉลากเครื่องสำอาง เพื่อบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้แจ้งรายละเอียดต่อรัฐตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. (http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/cosmetic/CSerch.asp?id=cos ) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการระบุชื่อผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายตรงกับในฉลากหรือไม่ โดยหากเราพบว่าไม่ตรงกันก็สามารถแจ้ง อย. เพื่อให้ตรวจสอบได้อย่างไรก็ตามการที่ผลิตภัณฑ์มีเลขที่จดแจ้ง ไม่ได้หมายความว่าเราใช้แล้วจะไม่มีอาการแพ้ เนื่องจากการจดแจ้งเป็นเพียงการแจ้งส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่อาการแพ้เป็นปฏิกิริยาเฉพาะบุคคล ซึ่งต่อให้ไม่มีสารต้องห้ามอยู่ในส่วนประกอบ แต่เราสามารถเกิดอาการแพ้ได้จากสารประกอบอื่นๆ เช่น น้ำหอม แอลกอออล์หรือสารกันเสีย จึงควรทดสอบอาการแพ้เบื้องต้นก่อนใช้งานเสมอ3. สังเกตวิธีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ใดที่มีการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่า มีจุดมุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ต่อร่างกายมนุษย์ หรือสำหรับใช้ในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค ถือว่าเป็นข้อความโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญอันเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เช่น “ยกกระชับ หน้าแลเรียวเล็ก ปลอดภัย 100% นวัตกรรมใหม่ ปรับหน้าเรียวง่ายๆ เมื่อใช้ต่อเนื่อง 7-14 วัน” โดยตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา คำว่าปลอดภัย 100% ถือเป็นข้อความที่พิจารณาได้ว่าโอ้อวดเกินจริง ยากแก่การพิสูจน์4. สังเกตร้านค้าร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เป็นทางเลือกที่ดีในการซื้อเครื่องสำอาง เพราะหากเกิดปัญหา เราสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ นอกจากนี้เราก็ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในภาชนะบรรจุหีบห่อสภาพดี และมีการเก็บรักษาอย่างดี ไม่อยู่ในที่ร้อนชื้นหรือโดนแสงแดด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เครื่องดื่มเกลือแร่ “หวาน” แค่ไหนกัน

อย่างที่เรารู้กันดีว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ มีไว้สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะสามารถช่วยชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปในระหว่างการออกกำลังกายได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเครื่องดื่มเกลือแร่หลายยี่ห้อได้ปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่ กลายเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้แม้ไม่เสียเหงื่อ (Functional drink) โดยมีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลลงไป เพื่อปรับรสชาติให้ถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นประจำ เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการในแต่ละวันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้สำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเกลือแร่ จากยี่ห้อยอดนิยมตามท้องตลาด จำนวน 14 ยี่ห้อ ซึ่งเจ้าไหนจะใส่น้ำตาลมากน้อยกว่ากัน เรามาดูผลทดสอบกันเลย  สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า- ร้อยละ 50 หรือ 7 ยี่ห้อ พบมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 25 - 38.5 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา ได้แก่ 1.สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) มีปริมาณน้ำตาล 38.5 กรัม 2.เกเตอเรด กลิ่นมะนาว มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 3.เอ็มสปอร์ต มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 4.สปอนเซอร์ ออริจินัล มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 5.สตาร์ท พลัส มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 6.ซันโว มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม และ 7.สปอนเซอร์ บีเฟรช มีปริมาณน้ำตาล 25 กรัมยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ พอคคา สปอร์ต วอเตอร์- เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้ง ได้แก่ ยี่ห้อ ออราส, สตรอง-เค และ รอแยล-ดี มีการระบุปริมาณปริมาณกลูโคสและซูโครส ตรงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 คือ น้ำตาลกลูโคสหรือฟรุคโตส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนัก หรือซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนักข้อสังเกตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 195) พ.ศ.2543 นิยามความหมายของเครื่องดื่มเกลือแร่ว่า เครื่องดื่มที่มีเกลือแร่เป็นส่วนประกอบหลัก และหมายความรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้งด้วย รวมทั้งไม่ให้ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าว นอกจากนี้ในการแสดงฉลากเครื่องดื่มเกลือแร่ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก โดยต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ด้วยตัวอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดเจนในกรอบสี่เหลี่ยม สีแดง พื้นขาว 1.เด็กและทารกไม่ควรรับประทาน 2.เฉพาะผู้สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย 3.ไม่ควรรับประทานเกินวันละ … หน่วย (ความที่เว้นไว้ให้ระบุจำนวนหน่วยที่ควรบริโภค ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินวันละ 1 ลิตร)อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เรานำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า -มีเพียง 9 ยี่ห้อที่เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ตรงตามประกาศข้างต้น ได้แก่ ยี่ห้อ 1.เกเตอเรด (กลิ่นมะนาว) 2.เอ็มสปอร์ต 3.สปอนเซอร์ (ออริจินัล) 4. สตาร์ท พลัส (เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมซิงค์) 5.ซันโว (กลิ่นบลู พั้นซ์) 6.พอคคา สปอร์ต วอเตอร์ 7.ออราส 8.สตรอง-เค (ถาวร) และ 9.รอแยล-ดีตัวอย่างที่เหลืออีก 5 ยี่ห้อ แม้จะมีส่วนผสมของเกลือแร่ (โซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์) แต่อาจไปเข้าข่ายเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (Functional drink) หรือ เครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ยี่ห้อที่มีการโฆษณาว่า ใช้วัตถุอื่นให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ 1. ยี่ห้อ100 พลัส โฆษณาว่าใช้สตีวิออลไกลโคไซตด์ เป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล 2.สปอนเซอร์ บีเฟรช โฆษณาว่าใช้ซูคราโลสเป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล และอีก 3 ยี่ห้อที่เหลือ ได้แก่ 1.เจเล่บิวตี้ ระบุว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้รสองุ่นขาว ผสมคาราจีแนน คอลลาเจนและเกลือแร่ 2.สปอเรต ระบุว่าเป็นน้ำรสองุ่น และ 3.อควาเรียส ระบุว่าเป็นน้ำผลไม้รวม----------------------------------------------------------------------------------เกลือแร่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. เกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำจากอาการท้องเสีย ซึ่งร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ทันที ทำให้เกลือแร่ชนิดนี้มีส่วนประกอบของเกลือแร่หรือโซเดียมสูง และ2.เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy หรือ ORT) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำหรือเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นเกลือแร่ชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลสูง อย่างไรก็ตามสำหรับเครื่องดื่มเกลือแร่บางยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เราสามารถผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของความหวานลงได้----------------------------------------------------------------------------------เรา (ไม่) จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อน ซึ่งส่วนประกอบของเหงื่อ คือ น้ำกว่าร้อยละ 99 ที่เหลือร้อยละ 1 คือ โซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็กหรือกรดอะมิโนบางชนิด ดังนั้นเมื่อเราเสียเหงื่อ จึงควรชดเชยน้ำให้กับร่างกายเป็นอันดับแรก ซึ่งการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาถือว่าเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สูญเสียน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่อง หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ขี่จักรยานไกล หรือว่ายน้ำระยะไกล อาจจำเป็นที่ต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เนื่องจากในเครื่องดื่มดังกล่าวมีส่วนประกอบของ น้ำตาลกลูโคสและโซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งช่วยให้น้ำเข้าสู่เซลล์ได้เร็วขึ้น----------------------------------------------------------------------------------ผู้นำตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ ยี่ห้อสปอนเซอร์ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นยี่ห้อ เอ็มสปอร์ต 12% และยี่ห้อ ซันโว 8% โดยสำหรับผู้ที่ดื่มเครื่องเกลือแร่มากที่สุด 70% คือกลุ่มผู้แรงงาน ตามด้วยผู้ออกกำลังกาย 30% ทั้งนี้ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาทข้อมูลอ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 เรื่อง เครื่องดื่มเกลือแร่ http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P195.pdf , ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ http://marketeer.co.th/archives/43534

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point