ฉบับที่ 234 ร้านยาไม่ติดป้ายราคา

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อยาในร้านขายยาแห่งหนึ่ง ว่า..         “มีอาการไอและเจ็บคอขณะเดินทางกลับบ้าน จึงจอดรถแวะซื้อยาในร้านยาแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา” คุณกชกร ผู้บริโภคที่ร้องทุกข์ผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ แจ้งชื่อยาแก้ไอตัวเดิมที่เคยซื้อก่อนหน้านี้ คนขายหยิบยามาให้พร้อมแจ้งราคา ปรากฏว่ายานั้นมีราคาแพงกว่าที่เคยซื้อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (กับคนขายอีกคนหนึ่ง) คุณกชกรจึงถามกลับไปว่า “ยาปรับขึ้นราคาเป็น 65 บาทหรือคะ” ซึ่งคนขายตอบว่า “ยาตัวนี้ก็ราคานี้แหละ” คุณกชกรคิดในใจจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งซื้อไปราคา 55 บาท แต่ด้วยความรีบร้อนคุณกชกรจึงไม่ได้กล่าวคัดค้านเหมือนอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามคุณกชกรสังเกตว่าสินค้าอื่นๆ ภายในร้าน เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ไม่มีการติดป้ายบอกราคาเช่นกัน         อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ ร้านขายยาแห่งนี้ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน ซึ่งตนเองพอจะทราบมาว่า ตามกฎหมายร้านขายยาทุกร้านต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำเพื่อคอยให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยา คุณกชกรรู้ว่า ยาที่ตนเองซื้อมาเป็นยาแก้ไอเคยรับประทานและพอทราบวิธีใช้อยู่บ้าง แต่หากเป็นผู้บริโภคคนอื่นที่เข้ามาซื้อยาแล้วไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายขึ้นได้        ดังนั้นถึงแม้คุณกชกรจะไม่กลับไปใช้บริการร้านนี้อีก แต่ก็คิดว่าน่าจะมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบร้านยาแห่งนี้ จึงได้ร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนาเพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูล แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เรื่องของการไม่ติดป้ายราคาสินค้านั้นอยู่ในการกำกับดูแลของทางพาณิชย์จังหวัด หลังจากแจ้งข้อมูลไปหน่วยงานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษปรับร้านยาดังกล่าวแล้ว ซึ่งการไม่แสดงราคาสินค้ามีบทกำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542          ส่วนกรณีที่ร้านขายยาไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยหากร้านยาขายยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510         ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบร้านขายยาใดไม่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือ ไม่แสดงป้ายราคาสินค้า ก็สามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานข้างต้นให้ช่วยดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งหากผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ท่านสามารถขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา โทร. 054-458-757

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ฟรีแลนซ์กับการผ่อนคอนโด

        อาชีพรับจ้างอิสระหรือที่เรียกภาษาปากว่า ฟรีแลนซ์ นั้นให้อิสระได้จริงเพราะไม่มีสังกัดหรือขึ้นตรงกับใคร รับทำงานเฉพาะกับคู่สัญญาจ้าง บริหารเวลาได้เอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันด้านการเงินจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการรับงานจ้าง ไม่ได้รับประจำเป็นเงินเดือน การตัดสินใจมีทรัพย์สินอย่างคอนโดมีเนียมซึ่งต้องใช้สินเชื่อ อาจไม่ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ดีฟรีแลนซ์บางท่านแม้ทราบดีถึงข้อจำกัดตรงนี้แต่บางครั้งก็ถูกโน้มน้าวให้ตัดสินใจพลาดได้ อย่างเช่นกรณีของคุณวิมล         คุณวิมลเป็นครูสอนโยคะ พักอาศัยอยู่แถวรามคำแหง วันหนึ่งในปลายปี 2560 เดินผ่านโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในย่านรามคำแหงรู้สึกสนใจจึงแวะเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานขายของโครงการ หลังจากได้ฟังคำชักชวนต่างๆ ก็ค่อนข้างพอใจ จึงลองสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะตนเองนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์พอจะทราบมาบ้างว่า การขอสินเชื่อไม่ง่าย         ถึงตรงนี้พนักงานขายแสดงข้อมูลกับคุณวิมลว่า ทางโครงการของเรามีระบบบัญชีที่สามารถติดต่อกับทางธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง ถ้าตัดสินใจซื้อกับทางเรา “สินเชื่อผ่านแน่นอน” เมื่อเห็นท่าทางมั่นอกมั่นใจของพนักงานและการแสดงประวัติต่างๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมนี้ คุณวิมลจึงวางเงินจองเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และจ่ายเงินอีก 50,000 บาทในวันทำสัญญา คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นก็ผ่อนชำระเรื่อยมาเดือนละ 4,300 บาท จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563         เมื่อโครงการฯ เสร็จทางบริษัทติดต่อคุณวิมลให้เข้าไปตรวจสอบและโอนกรรมสิทธิ คุณวิมลได้ดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารสี่แห่ง ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณวิมลประเมินแล้วว่า ตนเองคงผ่อนไม่ครบแน่ จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองและเงินดาวน์ที่ผ่อนไปคืน แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมจึงปรึกษามา  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ส่งตัวอย่างหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนให้ผู้ร้องใช้เป็นตัวอย่างในการทำหนังสือยกเลิกสัญญา เพื่อให้ทางโครงการฯ ตอบกลับมาว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมช่วยเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้         กรณีของคุณวิมลนี้ เข้าข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เรื่องเข้าทำสัญญา...มาตรา 378 เรื่องเงินมัดจำ...มาตรา 379 เรื่องลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้... และมาตรา 383 กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร         กล่าวคือ เงินจองหรือเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้บริโภควางให้ผู้ประกอบการไว้แล้ว ต้องการยกเลิกสัญญาเงินส่วนนี้จะถูกริบ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองก็จะต้องคืนให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็น เงินจอง หรือ เงินมัดจำ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีด้วยว่าเจตนาของทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นการชำระหนี้หรือกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องชุดด้วย ส่วนเงินดาวน์ที่ผ่อนไปก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญา แล้วผู้ประกอบการริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เงินส่วนนั้นจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน สามารถฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลดลงเหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ จะริบทั้งหมดไม่ได้         กรณีของคุณวิมล หากตกลงไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทฯ ไม่ได้ คุณวิมลต้องใช้การฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 อย่าซื้ออุปกรณ์จัดฟันเถื่อน

        จัดฟันถ้าไม่ได้ทำด้วยทันตแพทย์จะมีความเสี่ยงสูง ผู้บริโภคพึงระวัง แต่เพราะช่องทางการค้าขายวัสดุอุปกรณ์การทำฟันหรือจัดฟันแฟชั่นนั้นเข้าถึงง่าย จึงมีหลายคนอยากทดลอง รายนี้ร้องเรียนเข้ามาเพราะสินค้าและบริการขายมีปัญหา (ถือว่าโชคดีที่ยังไม่ถึงขั้นสุขภาพฟันเสียหาย) เรามาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น        คุณพลอยเห็นเพจจัดฟันแฟชั่น ชื่อ เพจโกดัง Cute smile ฟันสวย มีคนติดตามเกือบแสนคน จึงสั่งซื้อรีเทนเนอร์จากเพจดังกล่าว เมื่อโอนเงินไปแล้ว ได้รับผงสำหรับพิมพ์ฟันส่งมาเพื่อให้ลูกค้าพิมพ์ฟันแล้วส่งกลับไป       ครั้งแรก “ก็ทำตามคลิปวิดีโอแล้วทุกอย่าง” แต่ไม่สำเร็จ คุณพลอยเลยต้องสั่งใหม่อีกรอบ ซึ่งครั้งนี้ตนเองคิดว่าโอเคแล้ว แต่พอส่งไปทางเพจบอกว่า ไม่ผ่าน เลยวิตกว่าตนเองต้องทำพิมพ์ฟันอีกกี่ครั้งกันถึงจะผ่าน เลยแจ้งทางเพจว่า “ขอเงินคืนนะคะ” เพราะทำแล้วไม่ผ่านทั้งที่ทำตามคู่มือทุกอย่างแล้ว        แต่งานนี้เพจบอกว่า ไม่มีกฎการคืนเงิน คุณพลอยจึงปรึกษามาว่าทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        ลักษณะการขายสินค้าของทางเพจนั้นผิดกฎหมาย ศูนย์ฯ จึงทำหนังสือแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้จัดการเพจดังกล่าวตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1/2561  เรื่องห้ามขายสินค้าอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562  มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมสำเนาหนังสือร้องเรียนถึงทันตแพทยสภา       ต่อมาได้รับแจ้งว่า เพจดังกล่าวเป็นเพจที่มีถิ่นฐานอยู่นอกราชอาญาจักรไทย แต่แอดมินหรือเจ้าของเพจนั้น คือนายวีระยุทธ กลิ่นหอม (คนที่คุณพลอยโอนเงินสั่งซื้อสินค้า) เขาเป็นผู้ต้องหาพร้อมนายอนุพล เชื้อโชติ ที่ร่วมกันผลิตลวดและอุปกรณ์ดัดฟันแฟชั่น ซึ่งขณะนี้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว           ข่าว บุกจับ แหล่งผลิตเหล็กดัดฟันแฟชั่นเถื่อน        https://mgronline.com/local/detail/9620000087583

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ชมโครงการเห็นเป็นสวนหย่อม ต่อมากลายเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย

        ต่อกันด้วยเรื่องบ้านอีกสักเรื่อง เป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจัดสรร ท่านต้องเพิ่มความรอบคอบ ไม่เพียงเฉพาะเรื่องคุณภาพของบ้าน แต่ต้องดูเรื่องสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านด้วย อย่าด่วนตัดสินใจ         คุณสายใจร้องเรียนเข้ามาว่า ตนเองซื้อบ้านในโครงการหนึ่ง เหตุจากขับรถผ่านไปเห็นป้ายโฆษณาที่เชิญชวนด้วยข้อความที่น่าสนใจ จึงเลี้ยวรถเข้าไปในโครงการดังกล่าว จากการพูดคุยกับพนักงานขาย ซึ่งให้ข้อมูลดีๆ (ตอนนั้น) มากมาย ทั้งมีการนำชมบ้านซึ่งกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จที่ยังไม่ได้จำหน่ายอีกหลายหลัง “ดิฉันสนใจหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่สุดซอยเป็นบ้านสองชั้น สร้างไปแล้วกว่า 80 % จึงสอบถามราคาและรายละเอียด พนักงานขายเชียร์ว่าหลังนี้ดีมาก ทำเลดีมาก ติดสวนของโครงการฯ ที่อยู่สุดซอย พื้นที่ตรงข้ามบ้านก็ปลูกหญ้าเขียวสวย ร่มรื่นมีต้นไม้มากพอสมควร ไม่มีแววว่าจะก่อสร้างอะไร พนักงานก็บอกว่าเป็นสวน”   ทั้งหมดนี้ตรงใจคุณสายใจเพราะกำลังอยากได้บ้านที่ค่อนข้างสงบร่มรื่นเนื่องจากจะให้เป็นบ้านพักของคุณแม่ จึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังดังกล่าว โดยโอนเงินจองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และทำสัญญาพร้อมโอนบ้านในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน        เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยได้ประมาณ 1 ปี พบว่า ที่เคยเห็นเป็นสวนหย่อมกลับกลายเป็น บ่อบำบัดน้ำ มีการนำเครื่องจักรมาวางไว้รระเกะระกะ อีกทั้งน้ำที่พักไว้ก็เน่ามีสีดำ มีขยะมากมาย เมื่อตนเองนำเรื่องไปสอบถามกับโครงการ ได้คำตอบว่า ไม่ใช่บ่อบำบัดเป็นเพียงบ่อน้ำธรรมดา ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ใช่แน่ อีกทั้งยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในหมู่บ้านใช้เป็นที่แวะเวียนเข้าไปปัสสาวะ จับกลุ่ม อีกทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่วางไว้ก็เริ่มเปิดใช้งาน ส่งเสียงดังรบกวนตนเองและคนในบ้าน         “จากเดิมที่คิดว่าจะเป็นบ้านที่สงบเงียบจึงลงทุนไปถึง 16 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต ตอนนี้ทุกคนในบ้านปวดหัวอยู่ไม่สงบสุข เสียงดังของเครื่องจักรรบกวนมาก พนักงานก็เชียร์แต่ว่าพื้นที่ตรงข้ามบ้านเป็นสวน ไม่เคยให้ข้อมูลว่าจะเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียเลย อย่างนี้ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อสอบถามถึงความต้องการในส่วนของผู้บริโภค คุณสายใจต้องการให้ทางโครงการฯ ซื้อบ้านคืนไป พร้อมชดเชยค่าเสียหายให้บางส่วน “ตอนนี้ไม่อยากอยู่บ้านนี้แล้ว” ถ้าจะประกาศขายก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครซื้อไหม เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดีแบบนี้         เบื้องต้นเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันก่อน จึงเชิญผู้ร้องและตัวแทนโครงการเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อตกลง ผู้ร้องเพิ่มเติมว่าถ้าไม่ซื้อบ้านคืนทางโครงการย้ายบ่อบำบัดได้ไหม ทั้งนี้ตัวแทนของโครงการปฏิเสธข้อเสนอของฝ่ายผู้บริโภคโดยอ้างว่า แม้พนักงานขายไม่ได้บอกว่า พื้นที่ตรงข้ามเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ผู้บริโภคเข้าไปดูภายในโครงการหลายครั้ง จะต้องเห็นอยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงข้ามเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียและเมื่อได้ทดสอบวัดเสียงหน้าบ้านคุณสายใจก็พบว่า เสียงดังในระดับ 40 เดซิเบลเท่านั้น ซึ่งทางผู้บริโภคแย้งว่า เมื่อเข้าไปดูการก่อสร้างบ้านนั้น ไม่พบว่ามีการจัดวางอุปกรณ์ทำบ่อบำบัดแต่อย่างใด เห็นเป็นพื้นที่ว่างๆ เขียวๆ  อีกทั้งในแบบแปลนที่นำเสนอขายก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเชื่อตามพนักงานขายว่าเป็นสวนหย่อม         เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ทางศูนย์ฯ จึงเสนอคุณสายใจเรื่องการดำเนินคดี ซึ่งผู้บริโภคจะหาทนายทำเรื่องฟ้องคดีเองแต่จะปรึกษากับศูนย์ฯ หากเกิดเรื่องไม่เข้าใจขึ้นมา         คำแนะนำ กรณีการทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านตามข้อเท็จจริงนั้น ผู้ร้องไม่ทราบว่าพื้นที่ว่างตรงข้ามบ้านที่ซื้อเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยแบบแปลนการเสนอขายก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นพื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ใด แสดงเพียงว่าเป็นพื้นที่ว่างเปล่า แต่ภายหลังผู้ร้องเข้าอยู่อาศัยจึงทราบว่าเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ว่า ตรงข้ามบ้านจะไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียอย่างที่เกิดขึ้นจริง ผู้ร้องสามารถบอกล้างสัญญาได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

        ความสูญเสียที่ป้องกันได้ เหตุการณ์ผู้ใหญ่ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่งเมื่อ 14 สิงหาคม 2563 คือเหตุสลดอีกครั้งที่พรากชีวิตเด็กน้อยอายุเพียง 3 ปี จากนครศรีธรรมราช “น้องกองบิน” ไป         เชื่อหรือไม่ สถิติเด็กถูกลืมไว้ในรถตั้งแต่ปี 2557 ถึง 17 สิงหาคม 2563 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่ามีเด็กถูกลืมและถูกทิ้งไว้ในรถทุกประเภทมากถึง 129 ครั้ง ที่สำคัญมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 6 ราย ซึ่ง 5 ใน 6 ราย เป็นเด็กที่ถูกลืมในรถรับส่งนักเรียน และเด็กทุกคนที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กเล็กอายุเพียง 2 - 6 ปี โดยมีสาเหตุจากการขาดอากาศหายใจเพราะอยู่ในรถที่มีสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง         สอดรับกับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตในเด็ก ที่ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) ระบุ กล่าวคือ “การเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมไว้ในรถส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายของเด็กมีความร้อนสูงเกินขนาด คือมีความร้อนสูงถึง 42 องศา หากถูกลืมไว้ในรถนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป จากนั้นเซลล์ในร่างกายจะเริ่มตาย เลือดในร่างกายจะเริ่มเป็นกรด ต่อมาสมองก็จะบวมจนไปทับก้านสมองในส่วนการควบคุมในระบบการหายใจ”         เรื่องนี้บอกอะไรกับสังคมบ้าง แน่นอนมันสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการคุณภาพและมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานรถและคุณภาพบริการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันรถรับส่งนักเรียนถูกแปรสภาพกลายเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของเด็กนักเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว และคาดว่ามีรถที่ถูกนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต ขาดการจัดการควบคุมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ปลอดภัย        เมื่อปัญหาเกิดขึ้นสังคมก็ขยับเขยื้อนไปบ้าง เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยากให้เหตุการณ์น้องกองบินเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย สังคมไทยไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจึงเห็นข่าวหลายโรงเรียนที่มีเด็กเล็กใช้รถรับส่งนักเรียน ได้พยายามหาแนวทางและมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเมื่อติดอยู่ในรถว่าต้องทำอย่างไร (ทั้งที่เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยที่อ่อนด้อยศักยภาพเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้)  หรือจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนและเช็คนักเรียนทุกครั้งที่มาถึงโรงเรียน เป็นต้น        แต่หากวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้น การให้ความรู้เด็กและจัดทำรายชื่อเด็กที่ใช้รถรับส่งนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดนั้นคงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น มิใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการคืออะไร        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเสนอแนวทางป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง ดังนี้           1) มีระบบฐานข้อมูลนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียน รายชื่อคนขับรถรับส่งนักเรียน และเส้นทางเดินรถแต่ละคันที่มีนักเรียนใช้บริการ         2) มีระบบการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนก่อนขึ้นและหลังลงรถรับส่งนักเรียน โดยคนขับรถรับส่งนักเรียนหรือพี่เลี้ยงทุกครั้ง         3) ตรวจเช็คนักเรียนบนรถทุกครั้งหลังจากส่งถึงจุดหมายปลายทาง         4) มีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครองและคนขับรถรับส่งนักเรียนตลอดการรับส่งนักเรียน เช่น กลุ่มไลน์ ว่ารับเด็กจากต้นทางและส่งเด็กถึงจุดหมายปลายทางแล้วทุกครั้ง         และ 5) มีการประเมินมาตรการความปลอดภัยบนรถรับส่งนักเรียนทุกเดือนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วแม้จะกำหนดกฎกติกาความปลอดภัยเพียงใด หากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง ครู ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน ยังไม่ใส่ใจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ปัญหาที่ควรแก้ไขป้องกันได้แบบนี้ก็จะเกิดซ้ำย้ำรอยเดิม ขอภาวนาให้เหตุการณ์น้องกองบิน เป็นครั้งสุดท้ายของการลืมเด็กนักเรียนในรถรับส่ง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 บ้านที่สร้างเสร็จไม่เรียบร้อย อย่าเซ็นรับ

การมีบ้านเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของคนทั่วไป การจะมีบ้านสักหลังหากไม่ปลูกสร้างเอง โครงการบ้านจัดสรร โครงการห้องชุดคอนโดมิเนียมก็เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม แต่การซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะราคาที่ต้องจ่ายออกไปไม่ใช่ถูกๆ ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งการทำสินเชื่อ ทำสัญญาให้รอบคอบ และที่จะพบปัญหาได้บ่อยอีกอย่างหนึ่ง คือ การตรวจรับบ้าน ครั้งนี้มีเรื่องราวเตือนใจมาฝากผู้บริโภค ว่าอย่าเซ็นรับ หากบ้านหรือห้องชุดคอนโดไม่เรียบร้อยตามสัญญา           กรณีคุณนวลฉวี เธอทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านกับโครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง โดยเป็นลักษณะบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ซึ่งคุณนวลฉวีได้วางเงินจองเอาไว้กับโครงการฯ เป็นเงิน 10,000 บาท โดยจะต้องจ่ายเพิ่มในวันทำสัญญาอีก 30,000 บาท          เมื่อโครงการฯ สร้างบ้านเสร็จ ได้ติดต่อให้คุณนวลฉวีเข้าไปตรวจรับบ้าน แต่เนื่องจากคุณนวลฉวีไม่เคยมีประสบการณ์ในการตรวจรับบ้านมาก่อน จึงได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกที่มีความรู้เกี่ยวกับบ้านมาช่วยตรวจสอบอย่างละเอียด         หลังจากตรวจสอบสภาพบ้าน พบจุดชำรุดบกพร่องหลายจุดที่ต้องแก้ไข คุณนวลฉวีจึงแจ้งความไม่เรียบร้อยดังกล่าวให้ทางโครงการฯ ทราบ และขอให้แก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะเซ็นเอกสาร ตรวจรับบ้าน แต่พนักงานของทางโครงการฯ บ่ายเบี่ยง ขอให้คุณนวลฉวีเซ็นรับบ้านไปก่อน แล้วจะแก้ไขให้ภายหลัง โดยทางพนักงานอ้างว่า “เป็นนโยบายของโครงการฯ หากไม่รีบเซ็นรับก็จะถูกริบเงินทั้งหมด”         คุณนวลฉวีทราบดังนั้นก็เกิดความไม่สบายใจ เกรงจะถูกริบเงินตามคำขู่ จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีที่คุณนวลฉวีได้ว่าจ้างผู้ที่มีประสบการณ์ในการตรวจรับบ้านมาช่วยดูความเรียบร้อยของบ้านที่สร้างเสร็จนั้น นับว่ามีความละเอียดรอบคอบดี ผู้บริโภคที่ไม่มีความรู้ตรงนี้อาจใช้บริการลักษณะนี้เป็นทางเลือกได้ ทั้งนี้ควรถ่ายภาพจุดที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งต้องให้ทางโครงการฯ ดำเนินการแก้ไขให้ครบทุกจุดก่อน แล้วให้ผู้ที่เราจ้างมาช่วยตรวจรับว่าแก้ไขตรงจุดหรือไม่ซ้ำอีกครั้ง         สำหรับกรณีคุณนวลฉวี ศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ทำหนังสือถึงโครงการฯ โดยส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ ให้ทางโครงการฯ รีบเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขตามจุดต่างๆ ให้เรียบร้อย พร้อมนัดวันตรวจรับใหม่ โดยอาจกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้คุณนวลฉวีต้องไม่เซ็นรับบ้านก่อนโดยเด็ดขาด ควรปล่อยให้ทางโครงการฯ ซ่อมแซมจุดชำรุดบกพร่องให้แล้วเสร็จก่อน การที่มาอ้างเรื่องการริบเงินของคุณนวลฉวีเอาไว้ ก็ไม่ต้องกลัวแต่อย่างใด เพราะหากโครงการฯ ริบเงินไป คุณนวลฉวีก็สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ทันที เรื่องนี้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ซื้อบ้านกำหนดไว้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 สมรรถภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร

        เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ของวันที่ 6 มกราคม 2562 เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้น สายกรุงเทพฯ-พนมไพร เสียหลักพลิกคว่ำลงร่องกลางถนน บริเวณ (ขาเข้า) ตรงข้ามร้านไทวัสดุ ถนนพหลโยธิน คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  หลังรับผู้โดยสารมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิตถึง 6  ราย        จากเหตุการณ์นั้นนอกจากความสูญเสียจากอุบัติเหตุแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่น่าตกใจจากการสืบสวนสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และเป็นข้อมูลสำคัญที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น คือ สมรรถภาพและความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสาร ซึ่งปกติหากเราต้องการความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ องค์ประกอบสำคัญของความปลอดภัยจะประกอบด้วย คน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะ “คน” สามารถแยกออกได้เป็น พนักงานขับรถโดยสาร พนักงานผู้ช่วยคนขับ และ ผู้โดยสาร        ในกรณีพนักงานขับรถโดยสาร หากเจาะจงเรื่องสมรรถนะและความพร้อมในการขับรถ ย่อมรวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การกินอยู่ตามอัตภาพปกติที่คนทั่วไปพึงกระทำ และรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอดูแลตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งในกรณีนี้พบว่าพนักงานขับรถโดยสารคันเกิดเหตุนอกจากจะต้องขับรถมือเดียวจากต้นทางอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดมากรุงเทพมหานครที่มีระยะเวลาขับรถต่อเนื่องมากกว่า 10 ชั่วโมงแล้ว ยังได้รับค่าตอบแทนจากการขับรถโดยสารเพียงเที่ยวละ 500 บาท เท่ากับสามารถวิ่งได้เพียง 1 เที่ยวต่อวัน และหากขับรถทุกวันๆละ 1 เที่ยวในหนึ่งเดือนจะได้ค่าตอบแทนเพียง 15,000 บาท เท่านั้น        ค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพนักงานขับรถโดยสารที่ย่ำแย่ เพราะหากพนักงานขับรถโดยสารมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี มีปัญหารุมเร้ม พักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลถึงสมรรถนะและความพร้อมในการบริการขับรถโดยสาร ที่ต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบในชีวิตทรัพย์สินของผู้โดยสารจำนวนมาก        จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับสำนักงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDI) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการศึกษา “ความพึงพอใจของพนักงานขับรถโดยสารประจำทางที่มีต่อค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน” เพื่อสร้างเป็นโมเดลต้นแบบการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับพนักงานขับรถโดยสารในประเภทต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายในการช่วยบรรเทาผลกระทบและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของพนักงานขับรถได้ โดยอาศัยหลักปฏิบัติ 4 ข้อที่ผู้ประกอบการขนส่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนี้        1) ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยทั่วไปของพนักงานขับรถและปัจจัยองค์กร เช่น ประสบการณ์ ขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ประสิทธิภาพการขับขี่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้โดยสาร ความเชี่ยวชาญเส้นทาง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดรายได้ของพนักงาน ผนวกกับปัจจัยองค์กรที่จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกัน เช่น การกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่เพียงพอและเป็นธรรม การให้ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงินหรือสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าชดเชยวันหยุด ค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมบุตร เป็นต้น         2) ปัจจัยร่วม เป็นปัจจัยส่งเสริมอื่น ๆ เช่น เงินรางวัลเมื่อพนักงานขับรถได้ตามเป้าหมาย ค่าตอบแทนเหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย การได้รับการยกย่อง ชื่นชมจากผู้โดยสาร จำนวนวันหยุดที่เพียงพอ และเงินรางวัลและสวัสดิการเพียงพอครอบคุมถึงครอบครัว เป็นต้น         3) การสร้างแรงจูงใจ เป็นอีกปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พนักงานขับรถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานจะมีวิธีการดังนี้คือ 1) มีความพยายามในการพัฒนาวิธีการทำงานของตนเอง 2) เป็นโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ 3) ได้รับความไว้วางใจจากองค์กร และ 4) ได้รับการยอมรับจากผู้โดยสาร         4) การเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพการทำงาน การเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญและทำให้พนักงานขับรถมีความพึงพอใจและภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง อีกทั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาสร้างโครงสร้างรายได้ของผู้ขับรถโดยสาร        ทั้งนี้เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับความมั่นคงทางอาชีพให้กับพนักงานขับรถโดยสาร ซึ่งจากการสอบถามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการทั่วไปพบว่า เห็นด้วยกับการกำหนดโครงสร้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรมให้กับพนักงานขับรถโดยสารและสมควรที่จะเร่งดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะหากพนักงานขับรถโดยสารมีรายได้ที่เพียงพอดูแลครอบครัว พักผ่อนเพียงพอไม่ต้องทนเหนื่อยง่วงขับรถทำรอบ เพียงเพื่อหวังรายได้ให้มากขึ้น ก็จะลดโอกาสความเหนื่อยล้าและความเสี่ยงที่นำไปสู่การหลับใน อันเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาดต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจริงหรือ

        คนไทยนิยมใช้รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก และสถิติอุบัติเหตุอันดับหนึ่งของไทยก็มาจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับให้รถจักรยานยนต์ทุกคันต้องทำพ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ         พี่ชายของคุณวิเชียร เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์เสียหลักล้ม ตัวพี่ชายกระแทกแท่งแบริเออร์อย่างแรง อาการหนัก กู้ภัยมาช่วยและดำเนินการส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา โรงพยาบาลแรกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อทำการรักษา แพทย์ผู้ทำการรักษาตรวจพบว่า อวัยวะภายในเสียหายอย่างมาก ตับแตก ต้องทำการผ่าตัด และทางโรงพยาบาลบอกเขาว่าต้องออกค่ารักษาเอง เป็นค่าผ่าตัด 30,000 บาท เพราะพ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ขาด (หมดอายุ) เขางงว่าในเมื่อพี่ชายของเขามีสิทธิประกันสังคมทำไมใช้สิทธิประกันสังคมรักษาไม่ได้ และสงสัยว่าโรงพยาบาลสามารถเรียกค่ารักษา 30,000 บาท โดยอ้างว่า พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ได้หรือ จึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         รถมอเตอร์ไซค์ทุกคันต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้รับทำประกัน กรณีมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุล้มเอง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ถ้ามอเตอร์ไซค์คันที่เกิดเหตุมีประกันภาคบังคับไว้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า พ.ร.บ. รถมอเตอร์ไซค์ อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังไม่หมดอายุ ผู้ประสบเหตุจะได้รับความคุ้มครองเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เบิกได้สูงสุดไม่เกินคนละ 30,000 บาท ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เบิกได้คนละไม่เกิน 35,000 บาท         แต่กรณีของผู้ร้องเสียหลักล้มเอง เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี และพ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ขาด ผู้ร้องจึงต้องออกค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 30,000 บาทเอง หรือผู้ร้องสามารถเบิกจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ แต่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจะเรียกเงินตามจำนวนที่จ่ายไปคืนจากเจ้าของรถ (เพราะขาดการต่ออายุ พ.ร.บ.) รวมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ประสบภัย         ส่วนเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายเฉพาะ จึงต้องใช้สิทธิในส่วนนี้ก่อน ถ้าการรักษาพยาบาลเกินวงเงิน 30,000 บาทแล้ว ส่วนที่เกินมาจึงจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทองได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 คอมพิวเตอร์(ยัง)ใหม่พังจ้า ขอเปลี่ยนเครื่องได้ไหม

        ชาวออฟฟิศทั้งหลายปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ค เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ถือว่าเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เลยก็ว่าได้ ถ้าขาดไปชาวออฟฟิศคงทำงานกันไม่ได้ ถ้าวันไหนคอมพิวเตอร์เสียหรือมีปัญหาเราก็อยากให้ซ่อมให้เสร็จภายในเร็ววัน        ที่ทำงานของคุณภูผา ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ 1 เครื่อง ให้เขาใช้งาน โดยซื้อในงานคอมมาร์ท จากร้านค้าชื่อ Advice เป็นเครื่องของ Lenovo ออล-อิน-วัน ราคา 15,900 บาท ตั้งแต่ซื้อเขาก็ใช้งานตามปกติเรื่อยมา ใช้ได้ประมาณ 7-8 เดือน จอคอมก็มีเส้นวิ่งๆ ขึ้นมาและก็หายไป จนกระทั่งเข้าสู่เดือนที่ 10 ก็มีเส้นค้างหน้าจอตลอดเวลา เขาติดต่อไปยัง Lenovo เพื่อสอบถามวิธีการแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่บอกเขาว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาก็ให้ความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเส้นค้างหน้าจอได้ ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ทาง Lenovo จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ เขาก็แจ้งไปยังหัวหน้าว่า คอมพิวเตอร์มีปัญหาและยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ทาง Lenovo จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้         หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของ Lenovo ก็อีเมลมาแจ้งสเปคของคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนให้ใหม่ ภูผาพบว่าเครื่องที่จะเปลี่ยนให้ใหม่สเปคต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมา เมื่อตรวจสอบราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนให้ราคาก็ต่างจากเครื่องที่ซื้อมาเกือบ 3,000 บาท เขาปรึกษาหัวหน้า เพราะเป็นคอมพิวเตอร์ของที่ทำงาน หัวหน้าให้ยืนยันไปว่าต้องการเปลี่ยนคอมเป็นสเปคเท่ากับเครื่องที่ซื้อมา         ภูผาจึงได้อีเมลตอบกลับไปตามที่หัวหน้าแนะนำ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ Lenovo โทรศัพท์มาอธิบายว่า เครื่องรุ่นที่ซื้อมาไม่มีในสต็อกเมืองไทยแล้ว เลยขอเปลี่ยนเครื่องตามที่ Lenovo เสนอไป ถ้าตกลง Lenovo ก็จะนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ทันที ภูผางงใจ ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี เครื่องก็ไม่ใช่ของเขา หัวหน้าก็บอกให้เปลี่ยนเท่ากับสเปคที่ซื้อมา Lenovo ก็บอกว่าไม่มีสินค้าในไทยแล้ว เขาจึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมตามสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ผู้ร้องซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ ผู้ร้องต้องได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ หากเกิดปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันบริษัทยิ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีของผู้ร้องบริษัทจะต้องเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสเปคเท่ากับตัวที่ซื้อมา จะอ้างว่าไม่มีสต็อกสินค้าในประเทศและขอเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีสเปคต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมาไม่ได้ ถ้าไม่มีในสต็อก บริษัทต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นที่มีสเปคเท่ากับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา หรือคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเดิมแต่สเปคต้องไม่ต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมา หรือคืนเงินจำนวน 15,900 เท่ากับราคาที่ซื้อมาให้แก่ผู้ร้อง          ผู้ร้องได้โทรศัพท์ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของ Lenovo โดยบอกข้อเสนอตามที่มูลนิธิแนะนำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันว่าขอเปลี่ยนเครื่องตามที่เขาเสนอมา ผู้ร้องจึงบอกเจ้าหน้าที่ไปว่า ข้อเสนอของ Lenovo เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ร้องขอให้ Lenovo ดำเนินการแก้ไขปัญหาขั้นต่ำตามที่ผู้ร้องเสนอ ถ้า Lenovo ยังยืนยันตามข้อเสนอที่เอาเปรียบผู้บริโภคเช่นเดิม ผู้ร้องขอไม่รับการแก้ไขปัญหาแบบนี้ และคงต้องดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นตัวอย่างกรณีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภค         สุดท้ายเรื่องนี้จบด้วยการที่ Lenovo ยอมเปลี่ยนเครื่องที่มีสเปคสูงกว่านิดหน่อยให้แก่ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >