ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ค่าปริ้นเอกสารแพงจังเลย

ปกติเคยปริ้นเอกสารขนาด A4 กันแผ่นละกี่บาท? 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 2 บาท 3 บาท หรือมากกว่านั้น แล้วจริงๆ ราคาควรเป็นเท่าไร ทำไมแต่ละร้านราคาถึงไม่เท่ากัน แล้วราคากลางๆ หรือราคาจริงๆ ที่ควรจ่ายต้องเป็นเท่าไรกันแน่ ถึงจะรับได้ว่าไม่แพงไป         คุณภูผามีเอกสารสำคัญที่จะต้องใช้เพื่อส่งรายงาน จึงไปปริ้นเอกสาร ณ ร้านถ่ายเอกสารแห่งหนึ่งแถวบ้าน เขาเข้าไปสอบถามราคาปริ้น A4 ขาวดำ พี่เจ้าของร้านชี้ให้ไปดูราคาที่ติดไว้ข้างกำแพง เขาเห็นว่า ราคาปริ้น A4 ขาวดำร้านนี้ราคาแรงมาก แผ่นละตั้ง 7 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเขาเคยใช้บริการร้านแถวมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนอยู่ แผ่นละแค่ 25 สตางค์ หรือแพงสุดแผ่นละไม่เกิน 3 บาท แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องใช้เอกสารเขาจึงตกลงปริ้นเอกสารที่ร้านนั้นไป แต่ก็สงสัยว่า ร้านถ่ายเอกสารร้านนี้คิดราคาค่าปริ้นเอกสารแพงเกินจริงหรือไม่ แล้วทำไมร้านปริ้นเอกสารแต่ละร้านถึงคิดราคาไม่เท่ากัน บางร้านถูก บางร้านแพง จึงติดต่อขอข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้คลายข้อสงสัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เรื่องราคาสินค้าและบริการอยู่ในการดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุม เป็นประกาศที่ควบคุมสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการคิดราคาถูกหรือแพงเกินไป ซึ่งค่าปริ้นเอกสารไม่อยู่ในประกาศนี้ จึงถือว่าบริการปริ้นเอกสารไม่ได้ถูกควบคุม ผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาได้เอง แต่ต้องแสดงราคาให้ผู้ใช้บริการเห็นได้ชัดเจน เพื่อการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใช้บริการ  และประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุม จะมีการทบทวนทุกปี ถ้าปีนี้ไม่ได้เป็นสินค้าหรือบริการควบคุมปีหน้าอาจจะเป็นสินค้าหรือบริการควบคุมก็ได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ศาลพิพากษาจ่ายเท่านี้ แต่เจ้าหนี้ให้จ่ายเพิ่มต้องทำอย่างไร

        ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนคงเคยมีปัญหาว่า เมื่อศาลให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวนเงินหนึ่ง หรือระบุว่า ชำระจำนวนหนึ่ง เมื่อถึงคราวจ่ายจริงเจ้าหนี้กลับบอกให้ชำระอีกยอดหนึ่ง ซึ่งสูงกว่าคำพิพากษา ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เราจะทำอย่างไรได้บ้างให้เรื่องมันจบโดยไม่เสียหายเกินไป            คุณบุปผาเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะ ราคา 600,000 บาท ให้ลูกชายกับธนาคารแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกชายของเธอไม่ส่งค่างวดรถ จนทำให้ธนาคารมายึดรถยนต์ไป และเมื่อธนาคารนำรถออกขายทอดตลาดแล้วปรากฎว่า มีส่วนต่างที่ลูกชายต้องชำระเพิ่มอีก 300,000 บาท ธนาคารจึงมาฟ้องเรียกเงินส่วนต่าง 300,000 บาทนั้น เป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 15,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 6,000 บาท กับลูกชายซึ่งเป็นลูกหนี้ เป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องคุณบุปผาในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2          ต่อมาลูกชายของเธอเสียชีวิตกะทันหัน อย่างไรก็ตามเธอได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในฐานะผู้ค้ำประกันจนศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (ลูกชาย) ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 9,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 3,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 162,000 บาท และเธอในฐานะผู้ค้ำประกัน ชำระหนี้ 150,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ 6,000 บาท ค่าติดตามรถยนต์ 2,000 บาท เนื่องจากธนาคารมีหนังสือถึงผู้ค้ำประกัน เรื่องการประมูลรถยนต์เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นเหตุผลและรายละเอียดในคำพิพากษา และให้ชำระค่าทนายความอีก 3,000 บาท         หลังจากมีคำพิพากษาแล้ว ประมาณหนึ่งเดือนสำนักงานทนายความตัวแทนของธนาคารที่ดำเนินการฟ้องคดีคุณบุปผาโทรศัพท์มาทวงถามให้เธอชำระหนี้ทุกวัน ถ้าวันไหนไม่รับสายก็โทรมาหลายครั้ง แต่เมื่อได้พูดคุยทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานทนาย ซึ่งแจ้งว่าตนอยู่ฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน บอกว่าเธอมียอดหนี้ประมาณเกือบ 200,000 บาท อ้างว่า “ยึดยอดหนี้ตามหมายบังคับคดีและบวกดอกเบี้ยเพิ่มเข้าไป”         เธอจึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยอ่านคำบังคับให้ฟัง “ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จังหวัดนครปฐม ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 162,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (18 มีนาคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ หากชำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแทนโจทก์ แต่ค่าขาดประโยชน์ให้รับผิดไม่เกิน 6,000 บาท ค่าติดตามไม่เกิน 2,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกนี้ขอให้ยก” เธอตกใจมาก เพราะว่าเพิ่งผ่านมา 1 เดือน จากยอดหนี้ไม่ถึง 170,000 บาท ทำไมยอดหนี้ถึงเพิ่มขึ้น 20,000 กว่าบาท เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจคำพิพากษาผิดหรือเปล่า จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องไปคัดคำพิพากษาของศาลคดีของผู้ร้อง และยื่นคำร้องให้นิติกรศาลคำนวณเงินที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคำบังคับในฐานะจำเลยที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) ให้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเจรจา และขอให้สำนักงานทนายความชี้แจงรายละเอียดหนี้ของผู้ร้องว่ามีรายละเอียดอย่างไร ทำไมยอดหนี้ถึงสูงขึ้น เช่น จำนวนเงินที่ศาลให้ชำระ ดอกเบี้ย ฯลฯ         ทั้งนี้หากว่าเจ้าหนี้ไม่ชี้แจงยอดหนี้ ผู้ร้องหรือคุณบุปผาสามารถอ้างสิทธิของลูกหนี้ (ลูกหนี้มีสิทธิรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามประมลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558)         ต่อเมื่อได้เอกสารชี้แจงจำนวนยอดหนี้ที่ต้องถูกต้องแล้วจึงค่อยชำระหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ออกเอกสารที่มีข้อความประมาณว่า เมื่อได้ชำระหนี้จำนวนนี้แล้ว ถือว่าไม่เป้นหนี้สินต่อกันอีก หรือขอใบเสร็จรับเงินในการชำระหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่สามารถออกเอกสารเรื่องการชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่สามารถออกใบเสร็จให้ได้ ลูกหนี้ไม่ควรชำระหนี้โดยเด็ดขาด เพราะไม่มีเอกสารอะไรยืนยันเลยว่า ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ครบถ้วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 การต่อสัญญาสัมปทานกับปัญหาราคารถไฟฟ้าแพง

        ข่าวไม่ลงรอยกันของสองบิ๊กมหาดไทยและคมนาคมปลายปีที่แล้ว กรณีการขยายสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS เมื่อคมนาคม “ประกาศค้าน” แผนขยายสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสของ กทม.ที่เสนอคณะรัฐมนตรีโดยกระทรวงมหาดไทย ออกไปอีก 30 ปี (จากเดิมที่จะสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602) แลกกับการเก็บค่าโดยสารตลอดสายเพียง 65 บาท และปลดหนี้แสนล้านของ กทม.         ในขณะที่ภาคสังคมกำลังเกิดความสับสนถึงแผนขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสว่าจะได้ไปต่อหรือไม่  กลับมีข้อมูลอีกชุดที่ปล่อยสู่สาธารณะคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวรวมตลอดทั้งสายจะมีตัวเลขค่าโดยสารสูงถึง 158 บาท ก่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงค่าโดยสารมหาโหด จนบีทีเอสต้องรีบแก้ต่างว่าไม่เป็นความจริงตัวเลข 158 บาท เป็นเรื่องผลการศึกษาเท่านั้นยืนยันจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 15 บาท รวมตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาว กทม.        อย่างไรก็ตาม 15 ม.ค. ผู้ว่าฯ กทม. ใจดีแจกของขวัญปีใหม่ช่วงโควิดออกประกาศเก็บเงินค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย 104 บาท เริ่มเก็บจริง 16 ก.พ. แน่นอน แถมย้ำว่าค่าโดยสาร 104 บาท ตลอดสายไม่แพงสำหรับผู้บริโภค ทันทีที่ ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส 104 บาท ทุกองค์กรหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง นักวิชาการ กรรมาธิการคมนาคม และองค์กรผู้บริโภค ต่างออกมาตั้งคำถามและคัดค้านประเด็นค่าโดยสารแพง ไม่โปร่งใสขัดต่อกฎหมาย ไม่มีที่มาของหลักคิดค่าโดยสาร เร่งรีบขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนทั้งที่ระยะเวลายังเหลืออีก 9 ปี และยังเป็นภาระผูกพันต่อรัฐและประชาชนส่วนรวมต่อเนื่องนานอีก 39 ปี เรียกได้ว่าสร้างภาระไปถึงรุ่นลูกหลานกันเลยทีเดียว         ว่ากันด้วยเหตุผลถึงแม้ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสตลอดสาย 104 บาท ที่ กทม. ประกาศ จะน้อยกว่า 158 บาท ที่ รฟม. เคยศึกษาไว้ แต่ยังถือว่าแพงเมื่อเทียบกับรายได้ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร เพราะหากคิดค่าเดินทางต่อเที่ยวจะเท่ากับร้อยละ 31.5 หรือหากต้องเดินทางไปกลับจะต้องเสียค่าเดินทางมากถึงร้อยละ 63  ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถสองแถว หรือแม้แต่รถแท็กซี่ และเมื่อเทียบกับต่างประเทศค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยกลับแพงที่สุด เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประชากร พบว่า เมืองใหญ่ของโลก เช่น ปารีส ลอนดอน โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง มีค่าใช้จ่ายเพียง 3 - 9% เท่านั้น           ขณะที่กระแส #หยุด104บาท #หยุดกทม. กลายเป็นประเด็นร้อน กทม. กลับเลือกจะไม่ฟังเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากทุกส่วนของสังคมและเดินหน้ายืนยันต้องเก็บค่าโดยสาร 104 บาท จึงอาจจะมองได้ว่า กทม. ต้องการใช้ผู้บริโภคเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองกับคณะรัฐมนตรีให้มีมติขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส จนสุดท้ายทุกฝ่ายต้องยอมรับอัตราค่าโดยสารในราคา 65 บาท แทนที่จะต้องเสีย 104 บาทตามประกาศของ กทม. เพราะตอนนี้ส่วนต่อขยายทั้งหมดเปิดใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว และ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายสะสมที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอส         การมองแบบนี้สอดรับกับการที่บีทีเอสที่เก็บตัวเงียบมาตลอดได้ออกโนติสทวงหนี้ กทม. กว่า 30,000 หมื่นล้านบาท ที่มาจากหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าเครื่องกลที่ต้องจ่าย 20,248 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างบีทีเอสเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอีก 9,377 ล้านบาท เรียกได้ว่าออกมาจังหวะดีช่วยเรียกความน่าเห็นใจให้กับ กทม. ที่ถูกทวงหนี้ ส่วน กทม. ก็รับลูกเล่นตามน้ำโอดโอยไม่มีเงินจ่ายอยากฟ้องก็ฟ้องไปหากรวมหนี้ก้อนใหญ่ที่มาจากการหนี้งานโยธาและดอกเบี้ยถึงปี 2572 ที่ กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ย 69,105 ล้านบาท จะเท่ากับ กทม.มียอดหนี้รวมเกือบแสนล้านบาทเลยทีเดียว         และนี่เองจึงอาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไม กทม. ต้องเร่งรีบต่อสัญญาให้กับบีทีเอส ทั้งที่ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 9 ปี แลกกับการให้บีทีเอสปลดหนี้แสนล้าน เพราะตอนนี้ กทม.อยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย “ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย” ไปซะแล้ว         อย่างไรก็ตามเมื่อ #หยุด104บาท #หยุดกทม. กระจายไปทั่วสังคม ในที่สุดกลางดึกคืนวันที่ 8 ก.พ. ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกประกาศเลื่อนการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าออกไปก่อน และจะกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกรุงเทพมหานครให้เกิดความเหมาะสม แม้การยอมถอยของ กทม. ครั้งนี้ จะช่วยลดบรรยากาศที่กำลังตึงเครียดลงได้บ้าง และถือว่าเป็นชัยชนะก้าวแรกของผู้บริโภคที่ช่วยกันหยุดไม่ให้ กทม. เก็บค่าโดยสาร 104 บาท ได้เป็นผลสำเร็จ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ การขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสครั้งนี้อยู่บนผลประโยชน์นับแสนล้านที่มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายในอนาคตของผู้บริโภค ดังนั้นเมื่อมองถึงทางออกเร่งด่วนตอนนี้ คือ ทำอย่างไรจึงจะหยุดแผนขยายสัญญาสัมปทานก่อน แล้วทบทวนสัญญาสัมปทานทุกเส้นทางหาค่าโดยสารที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกคนใช้ได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อที่นอนผิดขนาด เปลี่ยนได้ไหม

การซื้อสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกรวดเร็ว มีโปรโมชันน่าสนใจมากมาย บางร้านยังมีบริการจัดส่งฟรีอีก บริการขนาดนี้จะ (ทน) ไม่สั่งได้อย่างไร         คุณภู เป็นลูกค้าประจำของร้าน Index มีไลน์ออฟฟิศเชียวของ Index ด้วย เฟอร์นิเจอร์ในบ้านแทบทุกชิ้นก็สั่งที่นี่ ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็เคยสั่งซื้อสินค้าผ่านไลน์มาแล้ว รอบนี้ในไลน์เด้งขึ้นมาว่าที่นอนลดราคา เขาสนใจจึงทักไปในไลน์ สอบถามเรื่องขนาดที่นอน และการวัดขนาดที่นอนว่าวัดอย่างไร เพื่อจะได้สั่งซื้อไม่ผิดขนาด พนักงานขายแนะนำว่าวัดความกว้าง โดยวัดจากความยาวหัวเตียงถึงปลายเตียง โดยวัดจากขอบด้านข้างเตียงจากซ้ายไปขวา         คุณภูเขาก็วัดตามคำแนะนำของแอดมินที่ในไลน์ เมื่อวัดได้เรียบร้อยแล้วก็แจ้งแอดมินไป แอดมินบอกกลับมาว่าขนาดที่วัดได้คือที่นอน 5 ฟุต เขาจึงชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และรอสินค้าด้วยใจจดจ่อ         งานมาเข้าตอนที่สินค้ามาส่ง คุณภูพบว่าที่นอนนั้นเข้ากับขนาดความกว้างของเตียงได้ แต่ขนาดความยาวไม่ได้ เตียงยาวกว่าที่นอนเยอะมากเหลือช่องไว้จนไม่น่ามอง เขาจึงสอบถามไปทางไลน์ว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เปลี่ยนสินค้าได้หรือไม่ แอดมินแจ้งกลับมาว่า ถ้าเขาต้องการคืนสินค้า บริษัทจะหักค่าเสื่อม 50% เพราะสินค้าแกะออกจากกล่องและได้ติดตั้งแล้ว และต้องออกค่าใช้จ่ายในการคืนสินค้าด้วย         คุณภูรู้สึก “ไม่สิ ไม่ถูกต้อง” ฉันทำตามที่แอดมินในไลน์บอกทุกอย่าง พอที่นอนมาส่งมันใส่กับเตียงไม่ได้ เป็นความผิดของฉันตรงไหน แต่ถ้าจะขอคืนสินค้าก็ต้องถูกหักเงินตั้ง 50% ทำไมเป็นอย่างนั้นยังไม่ได้ใช้เลยนะ จึงปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทคู่กรณี ขอให้หาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าคืนเงิน 50% หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนต่อบริษัทางอีเมล์ เพื่อเป็นหลักฐานการติดต่อ         คุณภูได้เขียนอีเมลถึงบริษัทขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ ต่อมาทราบว่าบริษัทตอบกลับผู้ร้องว่า “บริษัททำตามเงื่อนไขที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์แล้ว แต่เกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารของแอดมินกับผู้ร้อง จึงขอหักค่าเสื่อม 30% และบริษัทจะเข้ารับสินค้าคืนโดยผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”         คุณภูคิดว่าการหักค่าเสื่อม 30% ก็ยังไม่เป็นธรรม ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยดำเนินการช่วยเหลือประสานงานกับทางบริษัทฯ โดย “เสนอให้บริษัทคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเต็มจำนวน เพราะว่าการสั่งซื้อสินค้ามีข้อมูลในการสั่งที่ผิดพลาดคือ แอดมินแนะนำผู้ร้องให้วัดเฉพาะความกว้าง ผู้ร้องจึงวัดเฉพาะความกว้างไม่ได้วัดความยาวด้วย จึงทำให้สั่งซื้อที่นอนไม่พอดีกับเตียง” มีการเจรจากันจนสุดท้ายบริษัทยอมไม่หักค่าเสื่อมและคืนเงินให้ผู้ร้องเต็มจำนวน พร้อมเข้ารับสินค้าคืนโดยผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 SMS ขอหักเบี้ยประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็ม

        บ่ายวันหนึ่งขณะที่คุณมธุรสกำลังนั่งดูละครโทรทัศน์เพลินๆ ก็ได้รับข้อความ SMS จากบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งว่า จะมีการหักเงินเบี้ยประกันจำนวนหนึ่งจากบัญชีเงินฝากของคุณมธุรส เนื่องจากครบรอบปีที่ได้ทำประกันไว้         คุณมธุรสงงไปสักพักว่าฉันไปทำประกันภัยไว้เมื่อไร  แต่หลังจากนึกอยู่พักหนึ่งก็พอจะจำได้ว่า ช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว ตนเองได้เคยเปิดบัญชีและทำบัตรเอทีเอ็มกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ ซึ่งตอนทำบัตร พนักงานธนาคารได้ขายประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มให้กับตนด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนทำบัตรเอทีเอ็มเพื่อความสะดวกในการเบิกถอนเงิน คุณมธุรสได้สอบถามกับพนักงานว่า ขอทำบัตรเอทีเอ็มธรรมดาแบบไม่มีประกันพ่วงได้หรือไม่ ตอนนั้นพนักงานธนาคารได้อ้างว่า เพราะคุณมธุรสทำสัญญาเงินกู้กับธนาคารไว้ จึงมีความจำเป็นต้องทำประกันพ่วงบัตรเอทีเอ็มด้วย โดยพนักงานได้แจ้งหักเบี้ยประกันปีแรกจากเงินในบัญชีของคุณมธุรสเลย แต่ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยอะไรมาก บอกเพียงแต่ว่าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตก็จะได้เงินประกัน ด้วยความจำเป็นเพราะเป็นลูกหนี้ของธนาคาร คุณมธุรสจึงตกลงทำบัตรเอทีเอ็มแบบพ่วงประกันไป         เมื่อโดนการเตือนว่าจะมีการหักเงินเพื่อเป็นค่าเบี้ยสำหรับปีถัดไป คุณมธุรสรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมสักเท่าไรนัก เธอจึงโทรศัพท์มาปรึกษาว่าสามารถทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อยกเลิกการทำประกันภัย แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีนี้ พนักงานธนาคารไม่สามารถบังคับให้ผู้บริโภคทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต ที่พ่วงประกันได้ หากผู้บริโภคไม่ได้มีความประสงค์จะทำด้วยความสมัครใจ โดยผู้บริโภคมีสิทธิขอทำบัตรเอทีเอ็ม หรือ บัตรเดบิต แบบธรรมดา ซึ่งธนาคารควรมีบัตรแบบธรรมดาไว้ให้บริการ หากผู้บริโภคพบว่าพนักงานธนาคารบังคับให้ทำบัตรแบบที่พ่วงประกัน สามารถร้องเรียนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) สายด่วน 1213 ได้         นอกจากนี้ พนักงานธนาคารที่ขายประกัน จะต้องมีใบอนุญาตนายหน้าประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย รวมถึงต้องชี้แจงรายละเอียดความคุ้มครองตามกรมธรรม์ให้กับผู้บริโภคทราบด้วย         หากผู้บริโภคต้องการขอยกเลิกประกัน หลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองอย่างละเอียดภายหลังแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่รับทราบมา ก็สามารถบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (15 หรือ 30 วัน กรณีทำผ่านทางโทรศัพท์) หรือตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หลังจากได้รับกรมธรรม์ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับเงินคืนตามจำนวนเบี้ยที่จ่ายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อสินค้าหมดอายุ ใช้สิทธิได้มากกว่าที่คิด

        หากซื้อสินค้าที่หมดอายุมา อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเงินแค่นิดหน่อยเอง ไม่อยากเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิ หรือเหตุผลอื่นๆ ขอให้คิดอีกสักนิดว่าถ้าเราละเลยการใช้สิทธิด้วยเหตุผลเหล่านี้บ่อยครั้งเข้านั่นจะเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ขายเอาเปรียบเราได้เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องฝึกใช้สิทธิที่เรามี มาลองดูผู้บริโภครายนี้ว่าเมื่อเขาเจอร้านขายสินค้าที่ขายวิตามินหมดอายุเขาทำอย่างไร         คุณภูผา ซื้อวิตามินมาจากร้านวสันต์ ราคาประมาณ 300 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซื้อเสร็จก็เก็บไว้ในลิ้นชักในโต๊ะที่ทำงานเพื่อเอาไว้รับประทาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมได้รับประทานเข้าไป 1 เม็ด จนเปิดงานช่วงปีใหม่เขาก็ทำความสะอาดจัดเก็บโต๊ะทำงานใหม่ให้เข้าที่เข้าทางซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีสำหรับเขา เมื่อหยิบที่ขวดวิตามินซึ่งซื้อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็เห็นฉลากข้างขวดระบุวันหมดอายุวันที่ 16/10/62 อ้าว ! หมดอายุมาตั้ง 1 ปีแล้ว เอามาขายให้เขาได้อย่างไร         ปัญหาคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไรดี ใบเสร็จก็ทิ้งไปแล้ว ตัดสินใจลองโทรศัพท์ไปที่ call center ร้านวสันต์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พนักงานฟังและบอกว่าทิ้งใบเสร็จไปแล้ว ช่วยตรวจสอบประวัติในการซื้อสินค้าให้ได้ไหม เพราะเขาต้องการเปลี่ยนสินค้า ต่อมาเจ้าหน้าที่สาขาของร้านได้โทรศัพท์มายอมรับและขอโทษที่ได้ขายสินค้าหมดอายุและขอให้คุณภูผานำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาดังกล่าว  อย่างไรก็ตามคุณภูผาก็คิดเผื่อคนอื่นด้วยว่า แค่เปลี่ยนให้คงน่าจะยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการแก้ปัญหาให้เขาคนเดียว เขาอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้เพราะว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งวิตามินที่หมดอายุนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเพิ่มเติมอะไรได้อีกบ้างนอกจากการเปลี่ยนคืนสินค้า แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แนะนำว่า เบื้องต้นผู้ร้องควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน มีสิทธิเปลี่ยนสินค้าคืนได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่ร้าน เพราะว่าการจำหน่ายสินค้าหมดอายุเกิดจากความบกพร่องของร้านค้า สามารถให้ร้านค้านำสินค้ามาเปลี่ยนให้ผู้ร้องในสถานที่ที่ผู้ร้องสะดวก หรือถ้าไปเปลี่ยนสินค้าที่ร้านผู้ร้องสามารถเรียกให้ร้านชดใช้ค่าเดินทางหรือค่าเสียเวลาได้ หรือต้องการเงินคืนโดยไม่ต้องเปลี่ยนสินค้าก็ได้ กรณีต้องรักษาพยาบาลสามารถให้ร้านค่าชดใช้ค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ยังสามารถให้ร้านค้าออกหนังสือขอโทษผู้ร้องได้ด้วย         หลังจากได้รับคำแนะผู้ร้องโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้ร้านนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ที่บ้าน หลังจากนั้นผู้จัดการสาขาได้นำสินค้าไปเปลี่ยนให้ผู้ร้องที่บ้าน พร้อมมอบกระเช้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบและกล่าวขออภัยผู้ร้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นถึงความจริงใจของร้านก็ได้ไม่ติดใจอะไร แต่ก็ขอให้ร้านมีระบบไม่นำสินค้าหมดอายุมาขายอีก ส่วนกระเช้าผู้ร้องไม่อยากได้จึงขอให้ร้านเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปบริจาคให้แก่จังหวัดสมุทรสาคร ร้านยินดีเปลี่ยนจากกระเช้าเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 2,000 ชิ้น และส่งไปบริจาคยังจังหวัดสมุทรสาคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ขสมก. กับแผนงานที่เริ่มออกห่างคำว่าขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐาน

        2563 เป็นปีที่ทั้งประเทศไม่มีงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีทั้งที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นคึกคัก หลังจากบอบช้ำจากพิษโควิด-19 มาทั้งตลอดปี แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทันทีที่โควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาระบาดอีกรอบทำให้กิจกรรมและการดำเนินชีวิตประจำวันทุกอย่างทั้งประเทศต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกระจายตัวเป็นวงกว้าง แนวทางควบคุมความเสี่ยงใน บริการขนส่งมวลชน จึงถูกนำมากลับมาใช้ให้เห็นกันอีกครั้ง ทั้งการเว้นระยะห่างที่นั่งและการยืนในพื้นที่รถโดยสาร รถไฟฟ้า และเรือโดยสาร นอกเหนือจากการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรอบ วัดอุณหภูมิและให้ผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการ         ขณะที่รัฐบาลเลือกขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและภาคเอกชนปรับแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทางและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเมื่ออยู่นอกบ้าน เพราะมีตัวอย่างผู้ติดเชื้อจากการไปในสถานที่ปิด แออัดอากาศไม่ถ่ายเท มีคนอยู่กันเป็นจำนวนมาก เช่น รถสาธาณะ ร้านอาหาร รวมถึงการสัมผัสสิ่งของหรือผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวเวลาอยู่นอกบ้าน ทว่ายังมีมนุษย์เงินเดือน คนที่ต้องทำงานอีกจำนวนมากที่เลือกจะอยู่บ้านทำงานไม่ได้ พวกเขาต้องยอมรับความเสี่ยงเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนเหมือนทุกวันท่ามกลางกระแสโรคระบาดโควิด-19  แต่โชคยังดีที่รถไฟฟ้า BTS และเรือโดยสารคลองแสนแสบ สองในสามเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทางคนกรุงตอบรับมาตรการลดความเสี่ยง  ยืนยันไม่ลดจำนวนเที่ยววิ่งให้บริการ และเพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดให้แก่ผู้โดยสาร แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดน้อยลงก็ตาม         โชคไม่ดีนักที่แนวคิดผู้บริหาร ขสมก. กลับสวนทางบริการขนส่งอื่น เริ่มด้วยการประกาศลดจำนวนเที่ยววิ่งรถเมล์เหลือเพียง 60% อ้างจำนวนผู้โดยสารลดลง โดยที่ไม่รับฟังความเห็นเสียงวิจารณ์ของผู้บริโภคที่ใช้บริการเลย ซึ่งจะส่งผลให้รถเมล์เกือบทุกสายของ ขสมก. วิ่งบริการน้อยลงและทิ้งระยะห่างนานขึ้น หมายความว่า ผู้โดยสารจะต้องรอรถนาน และแออัดเบียดเสียดบนรถมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครอยากรอรถคันต่อไปที่ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่         เรื่องนี้กลายเป็นคำถามและประเด็นร้อนของสังคมที่เรียกร้องต่อ ขสมก. ว่า ทำไมถึงมองเรื่องต้นทุนรายได้มากกว่าความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการ ทั้งที่ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ขสมก. ควรต้องคงจำนวนเที่ยววิ่ง หรือเพิ่มจำนวนรถในบางเส้นทางในชั่วโมงเร่งด่วนไปซักระยะหนึ่งก่อน เพื่อลดความแออัดและกระจายผู้โดยสารในแต่ละคันให้อยู่ในปริมาณที่กำหนด เพราะต่อให้จำนวนผู้โดยสารน้อยลงเกือบ 40% แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 400,000 คน ต่อวัน ที่ต้องใช้รถเมล์ ขสมก.อยู่ทุกวัน        อีกทั้ง ขสมก. ยังมีประเด็นตามแผนฟื้นฟูที่ประชาชนจำนวนมากยังไม่เห็นด้วยว่าจะทำให้ฟื้นฟูได้จริง เช่น  1) ค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทต่อคนต่อวัน 2) ปฏิรูปเส้นทาง ลดเส้นทาง ขสมก. ปรับเพิ่มเส้นทางเอกชน 3)  การจัดหารถเมล์ปรับอากาศใหม่ 2,511 คัน และจ้างเอกชนวิ่งอีก 1,500 คัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายปลดหนี้แสนล้านภายในสิบปี         ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงค้านทั้งสองฝ่าย ในประเด็นยกเลิกรถเมล์ร้อนขวัญใจคนรายได้น้อย และเพิ่มรถปรับอากาศพร้อมจัดเก็บค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งแม้การจัดเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่นี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่ต้องต่อรถเมล์หลายสาย แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นอนาคตที่ค่าโดยสารเหมาจ่ายจะใช้ร่วมกับรถเมล์ร่วมบริการเอกชนได้เลย และที่สำคัญ ขสมก. จะมีทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการที่จ่ายค่าโดยสารน้อยกว่าอัตราเหมาจ่ายหรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะต้องจ่ายอัตราเหมาตามที่ ขสมก. คิดไว้        ตามเว็บไซต์ www.bmta.co.th ระบุถึงความรับผิดชอบในการจัดบริการรถโดยสารประจำทางวิ่ง รับ-ส่ง ผู้โดยสาร ให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินการจึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยโดยไม่หวังผลกำไร แต่เมื่อดูวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ ขสมก. อย่างน้อยสามปีหลังสุดตามรายงานประจำปี (2560-2562) องค์กรกลับมีเป้าหมายที่ การให้บริการขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวกและปลอดภัยและสามารถเลี้ยงตนเองได้ลดภาระกับภาครัฐ โดยที่ไม่มีเรื่องการให้บริการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยไม่หวังกำไรแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ถูกชักชวนตรวจสุขภาพ พร้อมซื้อคอร์สรักษาโรค

        วันหนึ่งคุณพิสมัยและลูกสาวได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่เดินช้อปปิ้งอยู่ก็มีพนักงานสาวสวยสองคนเดินออกจากบูธตรงมาหาคุณพิสมัย พร้อมชวนพูดคุยสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพและโฆษณาโครงการสิทธิพิเศษโดยอ้างว่า ตนมาจากสถานพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยยื่นข้อเสนอตรวจสุขภาพให้ฟรีมูลค่า 7,000 บาท พร้อมขอชื่อและเบอร์ติดต่อคุณพิสมัยไว้         วันถัดมาคุณพิสมัยได้รับโทรศัพท์จากพนักงานคนดังกล่าวเพื่อขอนัดตรวจสุขภาพ คุณพิสมัยเห็นว่าเป็นการตรวจฟรีจึงได้ตกลงและไปตามนัดในวันดังกล่าว โดยได้รับการตรวจเลือดและบริการอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหลังจากที่ได้รับการเจาะเลือดไปตรวจเพียงหยดเดียวด้วยวิธีการส่องกล้องจุลทรรศน์ คุณพิสมัยก็ได้รับแจ้งว่า พบไขมันจำนวนหนึ่งลอยเกาะกันอยู่ในเลือดและมีปริมาณเกินกว่าที่ควรจะมีอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอนาคตได้ คุณพิสมัยตกใจที่ผลเลือดไม่ดี จึงถามกลับไปว่าควรจะทำอย่างไรดี ซึ่งทางพนักงานได้แนะนำโปรแกรมรักษาราคา 900,000 บาทให้แก่คุณพิสมัย         พอได้ยินราคาสำหรับการรักษา คุณพิสมัยปฏิเสธทันทีในใจคิดว่าน่าจะไปตรวจที่โรงพยาบาลจะดีกว่า แต่พนักงานก็ยื่นข้อเสนอใหม่ว่า ถ้าเช่นนั้นลดจำนวนครั้งการรักษาลง ราคาจะเหลือเพียง 69,000 บาท เมื่อเห็นว่าเป็นราคาที่พอจะรับได้จึงได้ตอบตกลงและชำระเงินมัดจำผ่านบัตรเครดิตไปจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์         อย่างไรก็ตามเมื่อกลับถึงบ้าน คุณพิสมัยขอให้ลูกสาวช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจรักษาแบบดังกล่าวจนพบข้อมูลว่า การตรวจวินิจฉัยโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียวส่องกล้องจุลทรรศน์นั้น เป็นการตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ทั้งเป็นการรักษาที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าได้ผล จึงต้องการเงินคืนจะต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อคอร์สการตรวจรักษาสุขภาพดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และผู้ร้องไม่ยินดีที่จะเข้ารับบริการดังกล่าว ผู้ร้องสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่ามัดจำดังกล่าวคืนได้เต็มจำนวน         การทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับที่สามารถเก็บบันทึกตอบรับไว้เป็นหลักฐานได้ พร้อมทั้งโทรติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อแจ้งกับพนักงานว่า ตนได้ขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวกับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับธนาคารด้วย กรณีของคุณพิสมัยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา แต่ฝากไว้ให้คิดว่า ก่อนเข้ารับบริการทางการแพทย์ควรตรวจสอบให้ถ้วนถี่ว่าผู้ให้บริการเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงหรือไม่ และก่อนตัดสินใจเข้าใช้บริการควรหาข้อมูลให้รอบด้าน

อ่านเพิ่มเติม >