ฉบับที่ 242 โซฟาซิปแตก ซ่อมแล้วไม่เหมือนซ่อม

        สินค้าหลายอย่างที่ชิ้นใหญ่ๆ ถ้าเกิดถึงคราวต้องซ่อมแซม มักจะสร้างความกังวลให้เราได้มาก เพราะมันยากต่อการเคลื่อนย้าย แล้วทีนี้เมื่อส่งซ่อมไปแล้วเมื่อได้ของกลับมา แต่พบว่า “อ้าว ร้านซ่อมไม่ตรงจุด” เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างนะ         สายชล หนุ่มผู้รักการจัดบ้าน เขามักจะจัดบ้านปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านบ่อยๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ บางทีก็ย้ายมุมโน้น ขยับมุมนี้อยู่เป็นประจำ บางครั้งเขาก็จะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับรูปแบบหรือมุมที่เขาจัด ซึ่งล่าสุดธีมที่เขาต้องการคือ ทำให้บ้านดูอบอุ่นขึ้น จึงเลือกซื้อโซฟา 2 ตัวติดกันเป็นรูปตัวแอล (L) ยี่ห้อหนึ่ง จากร้านเฟอร์นิเจอร์ดัง ซึ่งราคาเต็มคือ 55,000 บาท แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงโปรโมชั่นลดราคาเหลือ 36,000 บาทพอดี ทำให้ตัดสินใจไม่ยาก ซื้อทันทีเมื่อโซฟามาส่งสายชลก็ดีใจอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เพราะเผอิญเขาเห็นว่าซิปด้านหลังโซฟาแตก จึงโทรศัพท์แจ้งร้านเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้มารับไปซ่อม แต่ร้านบอกว่าเกินระยะเวลา 6 เดือนแล้ว จะต้องจ่ายค่าบริการ 500 บาท ซึ่งเขาก็ยินดีนะ ไม่ว่ากัน บอกให้ร้านค้ามารับโซฟาไปซ่อม พร้อมทั้งโอนเงินค่าบริการไปให้ด้วย ร้านค้ามารับเฟอร์นิเจอร์ไปและใช้ระยะเวลาในการซ่อมอยู่หลายวัน บ้านก็ดูโล่งๆ ไปนิด         และเมื่อทางร้านนำโซฟากลับมาส่ง สายชลดีใจได้แป๊บเดียว เขาก็พบปัญหาเดิม คือซิปโซฟายังแตกอยู่ ไม่สามารถรูดขึ้นรูดลงได้ เหมือนไม่ได้ซ่อมอะไรให้เลย เขาจึงแจ้งร้านค้าให้มารับไปซ่อมอีกรอบหนึ่ง แต่คราวนี้เขาสงสัยว่าถ้าเขาไม่พอใจที่ร้านซ่อมมาให้เป็นรอบที่ 2 เขาสามารถทำอะไรได้บ้างไหม แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีสินค้าที่ส่งซ่อมได้รับการแก้ไขแล้ว เมื่อพนักงานนำกลับมาส่งให้แล้ว ผู้บริโภคควรตรวจสอบดูให้ละเอียดก่อนรับสินค้าว่ามันได้รับการแก้ไขตรงจุดหรือไม่ น่าพอใจหรือไม่ ถ้าไม่พอใจผู้ร้องสามารถคุยกับทางร้านค้าว่าสามารถจะเยียวยาผู้ร้องอย่างไรได้บ้าง เช่น ซื้อตัวใหม่โดยจ่ายเงินเพิ่มได้หรือไม่ หรือขอเงินคืนบางส่วนได้หรือไม่ หรือซ่อมใหม่ต้องไม่เสียค่าบริการเพิ่มอีก ซึ่งทางคุณสายชลอาจไม่ได้ระวังตรงนี้ในครั้งแรก แต่เมื่อสินค้านำกลับมาส่งครั้งที่สอง ควรตรวจดูให้ละเอียดว่าเป็นได้ตามที่ตั้งใจหรือไม่  ซึ่งต่อมาได้รับแจ้งจากคุณสายชลว่า ในครั้งที่สองนี้ เมื่อได้รับโซฟาคืนกลับมาแล้ว ผู้ร้องพอใจกับการซ่อมครั้งนี้ เพราะว่าร้านได้เปลี่ยนซิปใหม่ให้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณสายชลโอเคมาก เป็นอันว่าจบด้วยดี         อย่างไรก็ตามอยากฝากกับผู้บริโภคว่า เมื่อสินค้าที่ซื้อหรือซ่อมถูกนำมาส่งที่บ้าน ขณะรับสินค้าจากพนักงาน สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรทำคือตรวจเช็คสินค้าว่า มีตำหนิ มีรอยชำรุด เสียหายหรือเปล่า ถ้ามีควรรีบแจ้งทางร้านค้าทันที เพราะว่าถ้าไม่รีบแจ้งร้านค้าอาจจะอ้างได้ว่าความชำรุดนั้นเกิดจากผู้บริโภคเอง และไม่ยอมรับผิดชอบ จึงควรตรวจสอบให้ดีและเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ มีระบบบริการหลังการขายที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ใส่น้ำมันในข้าวสวยทำไมไม่บอก

        อาหารแช่เย็น แช่แข็งในร้านสะดวกซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวก ตอบโจทย์ชีวิตสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาไปกับการเตรียมอาหาร แต่กระนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็คือฉลากสินค้าที่ต้องครบถ้วนเพียงพอสำหรับการซื้อ ส่วนประกอบสำคัญต้องมีอะไรบ้างก็ต้องบอกให้หมดไม่ปิดบัง เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์         คุณภูผาเป็นหนุ่มโสดรักสุขภาพ แต่ก็ไม่อยากหุงข้าวรับประทานเองสักเท่าไรเพราะไม่ค่อยสะดวก จึงเลือกซื้อข้าวสวยอีซี่โก ในร้านสะดวกซื้อชื่อดังมารับประทานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิหุงสุก ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซเบอรี่ผสมข้าวหอมมะลิ เพราะสะดวกเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา และเชื่อมั่นในตราสินค้าด้วยว่าคงไม่เอาเปรียบผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภูผาได้เห็นข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า ข้าวที่เขาซื้อประจำนั้นมีน้ำมันผสมอยู่ ซึ่งในฉลากอาหารก็ไม่ได้ระบุว่ามีน้ำมันเป็นส่วนผสม เขารู้สึกเหมือนถูกหลอก เพราะเขาไม่ต้องการร้บประทานข้าวที่ผสมน้ำมันเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับสุขภาพ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้มูลนิธิฯ ไม่เพียงได้รับเรื่องจากคุณภูผา ยังได้ร้บการร้องเรียนจากสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้ออีกหลายท่านด้วย  จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของตราผลิตภัณฑ์อีซี่โก เพื่อขอคำชี้แจ้งว่ามีการใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมในการหุงข้าวจริงหรือไม่ และหากมีจริงดังปรากฎเป็นข่าวบริษัทควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงฉลากให้เป็นฉลากสินค้าที่บอกข้อมูลที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภคต่อมาทางบริษัท ซีพีแรมฯ ได้ชี้แจงต่อมูลนิธิฯ ว่า บริษัทฯ มีการเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันรำข้าวจริงในผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการเติมน้ำมันรำข้าวไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำมันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าว และเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทที่ได้วิจัยมา ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยข้าวเมื่อทำให้เป็นอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง การใช้น้ำมันรำข้าวจึงช่วยรักษาคุณภาพข้าวหลังแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง ให้มีคุณภาพ เหนียว นุ่ม หนึบ และอร่อย ตลอดอายุการจัดเก็บจนถึงการบริโภค         ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มข้อมูลว่าใส่น้ำมันรำข้าวไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ข้าวแช่เย็น แช่แข็ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564         ดังนั้นผู้บริโภคทุกท่านโปรดอ่านฉลากสินค้าให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง และหากพบข้อสังเกตใดที่สร้างความไม่มั่นใจ ควรสอบถามต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าโดยตรงหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สั่งสินค้าจากร้านค้าบนเฟซบุ๊กแล้วไม่ได้ของต้องทำอย่างไร

        เฟซบุ๊กนอกจากจะเป็นช่องทางในการติดต่อพูดคุย อัปเดทข่าวสารและติดตามชีวิตของเพื่อนแล้ว เฟซบุ๊กยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถซื้อขายสินค้าได้ ซึ่งก็มีสินค้าจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าในเฟซบุ๊กต้องอาศัยความเชื่อกันอย่างมากจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะว่าผู้ซื้อไม่เห็นสินค้า ไม่แน่ใจว่าจะได้สินค้าตามที่โฆษณาไว้หรือไม่ หรือผู้ขายอาจจะไม่ส่งสินค้ามาเลยก็ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน         นักรบสั่งซื้อเสื้อออกกำลังกาย จำนวน 2 ตัว ราคา 500 บาท จากเพจเฟซบุ๊กหนึ่ง และได้โอนเงินจ่ายค่าเสื้อเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขายตามที่ได้รับการแจ้งมา หลังจากโอนเงินเสร็จเรียบร้อยก็ได้แจ้งการโอนเงิน ชื่อ เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าไปทางกล่องข้อความ ซึ่งทางแอดมินเพจแจ้งว่าจะจัดส่งสินค้าให้ภายใน 3-5 วัน ครั้นเมื่อครบ 5 วันนักรบก็ยังไม่ได้สินค้า เขาจึงแจ้งไปยังแอดมินเพจว่ายังไม่ได้สินค้านะครับ แอดมินตอบกลับมาว่าได้ดำเนินการต่อแล้ว ทางระบบจัดส่งจะโทรหาล่วงหน้า แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่มีใครติดต่อมาอีกเลย เขาจึงสอบถามแอดมินอีกครั้งเพราะว่าเลยกำหนดมา 11 วันแล้ว คราวนี้แอดมินอ่านข้อความเขาแล้วแต่ไม่ตอบอะไรเลย เขาไม่รู้จะทำอย่างไร จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจัดการอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้รับคำร้องของคุณนักรบแล้ว ได้แนะนำว่า ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ดังนี้        1. ไปแจ้งความดำเนินคดีกับร้านค้าที่สถานีตำรวจ โดยนำหนักฐานข้อความในแชทสลิปโอนเงิน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย        2. ขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารของร้านค้า (บัญชีที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป) ปล. เอกสารตัวนี้จะเป็นเอกสารที่มีครุฑอยู่ด้านบน        3. นำเอกสารขออายัดบัญชีธนาคารไปดำเนินการขออายัดบัญชีที่ธนาคารที่ผู้ร้องได้โอนเงินไป ณ สาขาไหนก็ได้        4. บัญชีธนาคารขอร้านค้าจะถูกระงับ และร้านค้าจะรีบติดต่อกลับมา เพื่อเจรจากับผู้ร้อง        สำหรับการจัดการเบื้องต้นนี้ควรเร่งดำเนินการทันที เมื่อเปิดการเจรจาแล้วค่อยดูกันต่อไปว่ายังต้องการสินค้าอีกหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ตลกร้ายของประเทศนี้

        ไทย ประเทศที่มีผู้คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือเฉลี่ย 20,000 คน ต่อปี แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีพันธะสัญญากับองค์การอนามัยโลกและนานาชาติว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ตามปฎิญญามอสโกที่กำหนดให้ ปี 2554 - 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทว่าสิบปีผ่านไปทุกอย่างกลับล้มเหลว และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับสองหมื่นคนไม่ได้ลดลงตามเป้าหมาย         แย่ยิ่งกว่านั้นทิศทางหรือนโยบายของรัฐบาลยังสวนทางกับเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งยังขาดประสิทธิภาพในการกำกับบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความปลอดภัยทางถนนอีกด้วย  แม้ว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบร้อยละ 70 จะมีสาเหตุจากรถจักรยานยนต์ แต่ภาพรวมของความรุนแรง บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพาหนะทุกประเภทเกือบทั้งหมดล้วนมาจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด         ขณะที่ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ ล่าสุดรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมยังส่งเสริมให้คนเข้าถึงความเร็วของถนนได้มากขึ้นกับกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มคิกออฟเส้นทางแรก คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ระยะทางประมาณ 50 กม.         กฎกระทรวงฉบับนี้มีสาระสำคัญที่กำหนดให้ผู้ขับรถยนต์ใช้ความเร็วบนถนนทางหลวงได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. หากใช้ช่องขวาสุดต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. ซึ่งเงื่อนไขของถนนที่จะใช้ความเร็วได้ 120 กม./ชม. ประกอบด้วย มี 4 ช่องจราจร ไปกลับสองช่องจราจร เกาะกลางถนนแบบกำแพงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน โดยต้องเป็นเส้นทางที่ประกาศโดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เท่านั้น         ที่สำคัญกฎกระทรวงฉบับนี้ออกมาท่ามกลางข้อทักท้วงจากนักวิชาการถนนปลอดภัยที่ต่างให้ข้อคิดเห็นว่ากฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ยังไม่ใช่ทางออก และไม่เหมาะสมที่จะประกาศใช้ ชี้ความเร็วคือจุดเริ่มต้นของปัญหาอุบัติเหตุและความรุนแรง อีกทั้งถนนในบ้านเรายังไม่รองรับความเร็ว 120 กม/ชม. ที่มีก็อาจจะมีเพียงทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เท่านั้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นเพียงเสียงลมพัดผ่าน เพราะถึงตอนนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว        ส่วนประเด็นความไม่พร้อมของถนนที่นักวิชาการทักท้วงนั้น ไม่ใช่ปัญหาของกระทรวงคมนาคม เพราะมีหลายคนบอกต่อกันว่า “เขาออกกฎหมายมาก่อนแล้วค่อยสร้างถนนตามทีหลัง” ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริง ภายหลังที่กฎหมายความเร็ว 120 กม/ชม. มีผลบังคับใช้ หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ต่างประกาศแผนสร้างถนนรองรับนโยบายความเร็ว 120 กม/ชม. อีกกว่า 25 เส้นทางทั่วประเทศทันที เรียกได้ว่าพร้อมขานรับนโยบายเจ้ากระทรวงกันเต็มที่         ขณะที่ข้อมูลของ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เรื่องความเร็วกับถนนยกตัวอย่างของต่างประเทศจะดูตามสภาพของถนนและกายภาพของถนน โดยจะแบ่งถนนเป็นลำดับชั้น เช่น Freeway เทียบได้กับทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ในบ้านเรา โดยจะต้องเป็นถนนที่มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีทางเข้าออกอื่น ไม่มีจุดยูเทิร์น  ไม่มีรถจักรยานยนต์วิ่ง ต่อมา คือ ถนน Arterial หรือถนนสายหลักเทียบได้กับถนนสายเอเชีย สุขุมวิท มิตรภาพ ที่เป็นถนนแบบมีทางเข้าออก มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีจุดยูเทิร์นกลับรถ ซึ่งในต่างประเทศการกำหนดความเร็วของถนนจะกำหนดตามลำดับชั้นก่อน ถ้าเป็น Freeway ก็จะวิ่งได้ความเร็วสูงกว่าถนนลำดับรอง แต่ก็ดูต้องด้วยว่าถนนเส้นนั้นอยู่ในเขตเมืองหรือนอกเมืองอีกด้วยหรือไม่ ที่สำคัญในต่างประเทศถ้าเป็นถนนฟรีเวย์แบบนอกเมืองที่ไม่ค่อยมีรถวิ่งจะจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ไม่เกิน 110 กม./ชม. และยังไม่เห็นมีประเทศไหนที่กำหนดความเร็ว 120 กม./ชม. เหมือนบ้านเรา         กลับมาที่ถนนสายเอเชียที่เป็นจุดคิกออฟความเร็ว 120 กม./ชม. แม้จะได้รับการปรับปรุงเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมนตรี แต่กายภาพของถนนสายเอเชียไม่ได้ถูกออกแบบเหมือนถนน Freeway เช่น ทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ ที่มีทางเข้าออกชัดเจน ไม่มีจุดกลับรถ แต่ถนนสายเอเชียโดยปกติ มีรถจักรยานยนต์วิ่ง มีรถขับออกมาจากถนนด้านข้าง ไม่มีแบริเออร์กั้นกลาง หรืออาจจะมีคนเดินข้ามถนน ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงจากความเร็วของรถที่วิ่งไปมาได้         นอกจากนี้กฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. ยังส่งผลถึงพฤติกรรมผู้ขับรถยนต์ที่รู้สึกอยากขับรถเร็วขึ้น เพราะเบื่อเลนขวาแต่ขับช้า พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดความคุ้นชินในการขับรถเร็วที่ต่อไปอาจจะไม่อยู่แค่ในเขตเส้นทางที่กำหนดก็เป็นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อไปได้         อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้วกฎหมายความเร็ว 120 กม./ชม. อาจจะถูกใจคนขับรถเร็ว และเอาใจรัฐมนตรีที่ประกาศนโยบายไว้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความปลอดภัยทางถนน และยังไม่เห็นถึงข้อดีตามแบบที่รัฐมนตรีคิดไว้  ที่สำคัญรัฐควรตาสว่าง ไม่ควรมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ความเร็วที่ไม่ปลอดภัย แต่ควรส่งเสริมความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนมากกว่า เพราะคงเป็นเรื่องตลกขำไม่ออกที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามลดความเร็วลงเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน แต่รัฐบาลประเทศไทยกลับมุ่งมั่นทำให้ทุกคนได้ขับรถเร็วขึ้น มันน่าอายเขาครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สิทธิบัตรทองต้องใช้ที่ไหน

        ย้อนไปเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 หลายคนคงได้ยินข่าว สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองของคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง “สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองเพิ่ม 108 แห่ง รวมแล้ว 190 แห่งทุจริตงบ เสียหาย 198 ล้าน” ทำให้คนที่ใช้สิทธิบัตรทองต่างตกใจเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปรักษาที่ไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เรื่องนี้มีคำแนะนำอย่างไร        คุณสกุลมีภาวะเครียดต้องรับการรักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยสิทธิบัตรทอง โดยต้องเข้ารับยาต่อเนื่องทุกเดือน แต่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกแจ้งเขาว่า คลินิกเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือน ดังนั้นวันนี้ต้องขอเก็บค่าบริการและค่ายาสำหรับรับประทาน 1 เดือน เป็นจำนวน 700 บาท เนื่องจากทางคลินิกไม่สามารถเบิกเงินสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แล้ว เพราะคลินิกถูกยกเลิกสัญญา         คุณสกุลจ่ายไป 700 บาท ได้ยากลับบ้านพร้อมกับประวัติการรักษา หลังจากกลับมาถึงบ้านเขาก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องกินยาต่อเนื่องทุกเดือน จะต้องจ่ายเงินค่ายาทุกเดือนเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แล้วไม่รู้ว่าต้องไปรักษาต่อที่ไหน แล้วจะใช้สิทธิบัตรทองได้อีกหรือเปล่า จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้อธิบายคุณสกุลว่า ขณะ สปสช. ยกเลิกสัญญาการให้บริการกับคลินิกหลายแห่งเนื่องจากเหตุทุจริต ดังนั้นทำให้คุณสกุลต้องชำระค่าบริการและค่ายาเองไปก่อน อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองของคุณสกุลยังคงอยู่ เรียกว่า สิทธิว่าง ทำให้คุณสกุลสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทุกที่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ สปสช. โดยไม่ต้องชำระเงิน             โดยทาง สปสช. จะรีบดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาให้กับผู้มีสิทธิว่างทุกคนโดยเร็วที่สุด คุณสกุลไม่ต้องกังวลใจ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับการรักษาแบบต่อเนื่องเข้าใช้บริการได้ตามที่แจ้งข้างต้น หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อ สายด่วน 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สมัครคอร์สดูแลสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

        ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดีแล้วถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้สุขภาพดีและมีรูปร่างดูดีด้วยแล้ว เราก็คงอยากจะทำ เช่น คอร์สดูแลสุขภาพพร้อมความงาม แต่ถ้าเราตกลงแล้วจ่ายเงินเป็นค่าคอร์สไปเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง และหากยังฝืนทำตามคอร์สที่ซื้อมาอาจทำให้อาการป่วยเราแย่ลงจะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม         คุณนวล ได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้ “เขา” เข้าตรวจสุขภาพของศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งหนึ่ง เขาตอบรับคำชวนและเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะฟังคำเชิญชวนแล้วรู้สึกดีมาก ผลการตรวจพนักงานวิเคราะห์ว่า เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนักมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ซึมเศร้า ไตไม่ดี และอื่นๆ ถ้าอยากจะรักษาต้องมีการตรวจเลือดแล้วนำผลเลือดมาพบแพทย์เพื่อห้วินิจฉัยโรคต่อไปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในคอร์สนี้ 499,000 บาท         คุณนวลชะงักไปเมื่อได้ยินค่าใช้จ่าย บอกพนักงานไปว่าเขาเกษียณแล้วจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน พนักงานเสนอราคาพิเศษลดให้เหลือ 199,000 บาท แต่เขาก็ยังไม่มีเงินพออยู่ดี จึงต่อรองกับพนักงานและจ่ายไปก่อน 30% เป็นเงิน 59,700 บาท ด้วยบัตรเครดิตโดยรายละเอียดคอร์สนี้จะต้องได้รับการรักษา 17 ครั้ง เท่ากับเฉลี่ยครั้งละ 3,512 บาท         หลังจากพบคุณหมอที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ เขาได้รับการฉีดวิตามิน 2 ตัว และ Zinc เมื่อฉีดวิตามินแล้วเขารู้สึกเหมือนว่าหน้าอกเขาเริ่มใหญ่ขึ้น(พองขึ้น) และเจ็บที่หน้าอก หลังจากนั้นเขาได้รับวิตามินอีก 4 ครั้ง มีอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลใจรีบได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลออกมาว่าเขาเป็นมะเร็งปอด ต้องรับการรักษาด่วน         เมื่อคุณนวลแจ้งกับแพทย์ของโรงพยาบาลว่า เขาสมัครคอร์สดูแลสุขภาพไว้ โดยรับการฉีดวิตามินและอื่นๆ  แพทย์บอกว่าให้หยุดการรักษาทุกอย่างก่อนเพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด         หลังจากนั้นเขาไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ แพทย์เห็นด้วยว่า ควรหยุดการรักษาที่ศูนย์สุขภาพฯ ก่อน และเซ็นเอกสารให้ยกเลิกการรักษา คุณนวลจึงทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินส่วนต่างที่ยังไม่ใช้บริการจำนวน 42,140 บาทคืน แต่ทางศูนย์ฯ โดยพนักงานยึกยักแจ้งว่าสามารถคืนได้เพียง 22,140 บาทเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ให้ชวนคนอื่นเข้ามารักษาแทน (โอนสิทธิ) โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คุณนวลไม่สบายใจ เมื่อไม่อาจตกลงกันได้จึงมาขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากคุณนวลขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนเพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ คุณนวลย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างคืนตามยอดที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยการเข้าคอร์ส​ครั้ง​นี้​พนักงาน​ได้​เรียก​เก็บ​เงิน​ไป​เป็​นเงินจํานว​น ​59,700 บาท​ ซึ่ง​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​ทั้ง​หมด​ 17 ครั้ง​ เท่ากับเป็นการ​รักษา​ครั้ง​ละ​ 3,512 บาท​ แต่คุณนวลได้รับการ​รักษาไปเพียง 5 ครั้ง​ รวม​เป็น​เงิน​ทั้ง​สิ้น​จํานว​น 17,560 บาท​ ดังนั้นจึง​มี​จํานวน​ส่วน​ต่าง​ที่จะ​ต้องได้คืนคือ ​42,140 บาท         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำให้คุณนวลทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน หลังจากที่หนังสือถึงศูนย์สุขภาพ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์สุขภาพโดยช่วยคุณนวลอธิบายเรื่องสิทธิของลูกค้าที่จะได้รับเงินคืนและนัดวันเวลาเพื่อเจรจาเรื่องจำนวนเงินส่วนต่างที่จะต้องคืนให้แก่คุณนวล          ต่อมาทราบจากคุณนวลว่า ศูนย์สุขภาพฯ จะคืนเงินส่วนต่างให้เขาจำนวน 37,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คุณนวลพอใจจึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถูกหลอกให้กรอก OTP ผ่านลิงค์ธนาคารปลอม เงินหาย 88,000

        เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์กันทั้งนั้น เพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่เรื่องความปลอดภัยนั้นต้องระมัดระวังให้มาก เพราะแม้จะมี OTP ( One Time Password) หรือชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียวที่ระบบของผู้ให้บริการแต่ละแห่งสร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัย โดยที่ระบบจะส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือของเจ้าของข้อมูลนั้นๆ เพื่อใช้ตรวจสอบและยืนยันการเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง ก่อนจะเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนได้แล้วก็ตาม แต่ความพยายามของเหล่าแฮ็กเกอร์ที่จะล่อลวงล้วงเงินออกจากบัญชีธนาคารของเหยื่อโดยใช้รหัส OTP นี้ก็ยังมีปรากฏให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ          วิรัตน์เองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อ เขาได้รับอีเมลที่เหมือนกับส่งมาจากธนาคารกรุงไทย แจ้งให้เขาเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านโดยกดในลิงค์ที่แนบมา เขาจึงทำตาม หน้าจอปรากฏให้ใส่เลข OTP และข้อความว่าอย่าเปิดเผยรหัสนี้กับบุคคลอื่นเพื่อความปลอดภัย ในจังหวะต่อเนื่องกันเขาก็ได้รับเลข OTP ทางข้อความจากเบอร์โทรศัพท์ที่ธนาคารกรุงไทยเคยส่งมาปกติ จึงไม่ได้เอะใจอะไร แต่พอใส่ตัวเลข OTP เข้าไปในลิงค์ แล้วจู่ๆ หน้าลิงค์ก็หายไป เขารู้ทันทีว่าต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ         วิรัตน์รีบเข้าไปตรวจสอบบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร แล้วก็จริงดังคาด บัญชีของเขาถูกแฮ็ก! เงินหายไป 88,000 บาท เขาบึ่งไปแจ้งความที่สถานีตำรวจจรเข้น้อยในบ่ายวันนั้นเลย ซึ่งตำรวจสืบได้ว่าเงินของเขาถูกโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง จากนั้นปลายทางใช้เอทีเอ็มกดเงินออกไปที่ต่างประเทศในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก         เหตุการณ์ผ่านไปเกือบเดือน ตำรวจสืบจนเจอตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีที่เงินถูกโอนเข้าไป สมมติว่าชื่อนางดวงใจ ตำรวจจึงแจ้งให้วิรัตน์ไปพบ โดยนางดวงใจได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ที่สถานีตำรวจว่าจะใช้เงินคืนให้ทั้งหมด แต่วิรัตน์ยังกังวลว่าจะได้เงินคืนจริงหรือเปล่า เขาจึงได้มาขอคำปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในเหตุการณ์นี้ วิรัตน์ทำถูกต้องแล้วที่รีบไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานและติดตามหามิจฉาชีพได้ ในส่วนของธนาคารกรุงไทยนั้น ตอนแรกวิรัตน์โทรศัพท์แจ้งไปที่คอลเซ็นเตอร์แต่ก็เงียบหาย ทางมูลนิธิฯ จึงทำหนังสือส่งเรื่องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบเรื่องนี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารได้แจ้งวิรัตน์ว่าจะดำเนินการเยียวยาให้ ต่อมาทราบว่าวิรัตน์ได้รับเงินคืนจากนางดวงใจ 88,000 บาทครบตามจำนวนแล้ว         อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนออกมาอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ไม่มีธนาคารไหนที่จะติดต่อไปให้ลูกค้าอัปเดตข้อมูลส่วนตัวในทุกช่องทางการสื่อสาร แล้วถ้าคุณไม่ได้กำลังทำธุรกรรมออนไลน์กับธนาคารอยู่ในขณะนั้น ธนาคารก็ไม่มีความจำเป็นต้องส่ง OTP ไปให้ ดังนั้นหากใครเจอกรณีเช่นเดียวกันนี้แสดงว่ากำลังมีคนพยายามแฮกเข้าบัญชีธนาคารของคุณอยู่ จึงหาสารพัดวิธีลวงให้คุณเข้าไปอัปเดตข้อมูลส่วนตัว แล้วหลอกขอรหัส OTP ไป เพื่อจะขโมยเงินของคุณนั่นเอง ดังนั้นทุกครั้งที่คุณทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ต้องรอบคอบ และหากมีข้อสงสัยให้ติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 บอกว่าไม่เอาห้องที่โดนบล็อกวิว

        คุณแสงเดือนเข้าชมโครงการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ซึ่งตัวอาคารอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ามาก เดินจากคอนโดไปสถานีเพียงแค่ 150 เมตร เป็นโครงการที่ตึกบางโซนสร้างเสร็จแล้วและมีผู้คนจับจองค่อนข้างมาก เมื่อสอบถามรายละเอียดจากพนักงานขาย โดยคุณแสงเดือนต้องการห้องชุดแบบหนึ่งห้องนอน ที่มีทัศนียภาพที่เปิดโล่ง (ไม่โดนบล็อกวิว) คือเมื่อมองจากห้องออกไปแล้วไม่มีอาคารหรือตึกสูงมาบดบังสายตา ซึ่งถือเป็นเรื่องหลักที่เธอต้องการ         พนักงานแนะนำห้องในตึกโซนซีให้เธอ เมื่อเธอขอไปชมห้องเพื่อให้แน่ใจว่าได้อย่างที่แจ้งพนักงานไป ทางพนักงานปฏิเสธบอกว่า แม้อาคารโซนซีเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบไม่เปิดให้เข้าชมแต่ห้องที่แนะนำไม่ถูกบล็อกวิวแน่นอนเพราะอยู่ชั้น 10 ซึ่งรอบด้านอาคารมีตึกพาณิชย์ซึ่งสูงไม่เกินสี่ชั้น อย่างไรก็ตาม คุณแสงเดือนก็ขอให้พนักงานช่วยถ่ายรูปมาให้ดูได้ไหม ซึ่งพนักงานก็ปฏิเสธอ้างเรื่องที่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้         ด้วยทำเลที่ดีและราคาที่น่าสนใจอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องการพอดี เธอจึงตัดสินใจซื้อสิทธิการจองห้องจากเจ้าของสิทธิเดิม และทำเรื่องราวสินเชื่อต่างๆ จนผ่าน และได้กรรมสิทธิในห้องชุดดังกล่าวที่เธอเลือกไว้ตามคำแนะนำของพนักงานขาย         แต่เมื่อได้เข้าตรวจดูห้องชุด กลับพบว่า ไม่เป็นตามที่ตั้งใจ เมื่อมองจากห้องก็เจออาคารพาณิชย์บดบังทัศนียภาพที่วาดหวังไว้ จึงแจ้งให้ทางโครงการฯ รับผิดชอบแก้ไขเรื่องให้เป็นตามวัตถุประสงค์ของเธอ ทางโครงการฯ ปฏิเสธอ้างว่า เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิในห้องชุดแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามเพื่อความสบายใจของผู้ร้องทางโครงการฯ ยินดีช่วยเหลือด้วยการติดต่อหาคนมาซื้อห้องชุดดังกล่าวให้         คุณแสงเดือนจึงทำหนังสือขอยกเลิกสัญญา และแจ้งร้องทุกข์กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต่อมา ทาง สคบ.แจ้งว่า ขอยุติเรื่องของเธอ เพราะไม่เข้าข่ายว่าคุณแสงเดือนเป็นผู้บริโภค ด้วยเหตุว่าห้องชุดดังกล่าวคุณแสงเดือนจะปล่อยเช่าให้กับชาวต่างชาติ เธอจึงนำเรื่องไปฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเอง         ต่อมาทางศาลเห็นว่าเธอฟ้องร้องแบบไม่มีทนายความ จึงให้เธอหาทนายมาว่าความเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เธอจึงปรึกษาขอให้ทางศุนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา        โดยหลักของประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 158 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคูกรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น ในส่วนทางคดียังอยู่ระหว่างพิจารณา

อ่านเพิ่มเติม >