เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ

เสนอหน่วยงานกำกับติดฉลากปลอดภัย “สปอร์ตบรา” เทียบมาตรฐานสากล เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค หลังฉลาดซื้อสุ่มตรวจพบสารก่อมะเร็งในบางยี่ห้อ        พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง จาก 8 ตัวอย่าง แต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ใน 1 ตัวอย่าง  (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) นักวิชาการชี้ สารก่อมะเร็ง 2 ชนิดที่พบ แม้จะไม่เกินมาตรฐานหรือเกินเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสนอหน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ผู้ผลิต ติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ ยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าในยุโรปที่หากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนจะนำสินค้าออกจากตลาดทันทีวานนี้ 28 เมษายน 2566 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ร่วมกับ  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ ที่สุ่มตัวอย่างจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไปในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565   ผลการทดสอบตรวจพบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบสาร 2 ชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal รุ่น Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว        นอกจากนี้ยังพบฟอร์แมลดิไฮด์ใน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ GENTLEWOMAN sports club ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (น้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“สารที่ตรวจพบทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง อาจส่งผลต่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดการเป็นหมัน การตรวจพบสารดังกล่าว แม้จะเป็นไปตามมาตรฐานก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายได้        “กระบวนการที่เราจะได้รับอันตราย มี 2 กระบวนการ คือหนึ่ง กระบวนการ migration เมื่อสีย้อมผ้าหลุดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงกับเรา และสอง กระบวนการ penetration คือการซึมผ่าน ทั้งสองกระบวนการทำให้สารเคมีซึมผ่านร่างกายเราได้ทั้งนั้น เนื่องจากสารเหล่านี้ไม่ได้ลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป ยังปล่อยออกมาสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชื้น หรือระยะเวลาที่เราสัมผัส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่มีสารเคมีเหล่านี้”“เรื่องสารเคมีอันตราย เราไม่มีโอกาสได้เลือก ถ้าไม่มีข้อมูลการทดสอบ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลสามารถทำได้คือให้ผู้ผลิตติดฉลากว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือไม่ เป็นการประกาศตัวเองของผู้ผลิต ในกรณีของยุโรป มีกติกาว่าหากพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในสินค้า จะต้องนำสินค้านั้นออกจากตลาดทันที บริษัทต่างๆ ก็ปฏิบัติตาม”“ภาครัฐต้องกำกับดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกกฎหมายที่มีความเข้มข้น ทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวัง และทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่มีสารเคมีเป็นของแถม ผมคิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะให้ความสำคัญและปรับลดค่าสารเคมีต่างๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยอาจทบทวน ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี ถ้าประเทศเรามีมาตรฐานในประเทศดี สินค้าของเราก็จะได้รับความน่าเชื่อถือไปด้วย ผมจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่ดูแล ออกมาทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอ” คุณทัศนีย์  แน่นอุดร   บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสวมใส่สปอร์ตบราได้รับความนิยมกว้างขวาง ไม่ได้ใส่แค่ตอนออกกำลังกาย แต่เป็นแฟชั่นการแต่งตัวด้วย ซึ่งหากยิ่งใช้ประจำยิ่งต้องพิจารณาถึงคุณภาพ รูปทรง ความทนทานต่างๆ  การทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า สินค้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่สินค้าที่ราคาแพงที่สุด ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อจากการศึกษาข้อมูลประกอบอย่างมีเหตุผล         “ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การผลิตเส้นใยจนไปถึงเมื่อทิ้งยังปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อสินค้าได้ผลิตออกมาแล้ว ยังมีกำลังคนในการเฝ้าระวังน้อย การร่วมกันป้องระวังตั้งแต่ด่านแรก ย่อมดีกว่า”   ติดตามอ่าน “ผลทดสอบสปร์ตบรา” ฉบับเต็มได้ใน https://www.chaladsue.com/article/4212

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 มาสคารา

        แม้ว่ามาสคาราจะมียอดขายลดลงเพราะมีขนตาปลอมและบริการต่อขนตาเข้ามาแย่งตลาด แต่ค่ายเครื่องสำอางก็ยังส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อสนองความต้องการของคนทุกเพศทุกวัยที่รักการมีขนตางอนงาม         หากยังคิดไม่ตกว่าจะเลือกมาสคารายี่ห้อไหน ลงทุนเท่าไรถึงจะคุ้มค่า ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบเปรียบเทียบมาสคารา 24 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้เมื่อปลายปี 2565 มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ (ติดตามผลการทดสอบเปรียบเทียบมาสคารามาครั้งก่อนหน้านี้ได้ในฉลาดซื้อ  ฉบับที่ 138)    การทดสอบครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน        -       การทดลองใช้ โดยผู้ที่เชี่ยวชาญ (ด้านการใช้มาสคารา) ที่ใช้ผลิตภัณฑ์วันละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 30 วัน และตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้งาน เช่น การเปิด/ปิด ความถนัดในการจับด้ามแปรง ความหนาและความโค้งงอนของขนตา ความสม่ำเสมอของเนื้อผลิตภัณฑ์บนเส้นขนตา ความเร็วในการแห้ง การติดทนและไม่ทิ้งคราบ ความยากง่ายในการล้างออก และอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น             -       การให้คะแนนโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยดูจากภาพถ่ายดวงตา ก่อนและหลังการใช้มาสคารา        -       การทดสอบในห้องปฏิบัติการซึ่งแบ่งออกเป็น            ·     การตรวจวิเคราะห์หาสารต้องห้ามและปริมาณโลหะหนัก และ            ·     การวัดปริมาณมาสคาราที่เหลือค้างในบรรจุภัณฑ์ (ทดสอบโดยใช้แปรงจุ่มมาสคาราในหลอดแล้วนำมาเช็ดออก ทำซ้ำจนกว่าจะไม่มีสีติดที่กระดาษหรือหลังมือ จากนั้นนำบรรจุภัณฑ์มาชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำไปล้างและเช็ดให้แห้งด้วยสำลีก้าน แล้วนำมาชั่งอีกครั้งเพื่อหาส่วนต่าง) ผลทดสอบที่น่าสนใจ        ·     การทดสอบครั้งนี้พบว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่มีสารเคมีหรือโลหะหนักเช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม นิกเกิล ฯลฯ เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด ที่น่าสนใจคือตรวจไม่พบสารเหล่านี้เลยในมาสคาราของ Benefit  Lancome  และ Kiko           ·     ในเรื่องของความพึงพอใจและความสามารถในการแปลงลุคขนตาของผู้ใช้ เราพบว่าราคาไม่ใช่ตัวชี้วัดเสมอไป แม้ผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนสูงสุด YVES SAINT LAURENT Mascara Lash Clash จะมีราคาเกิน 1,300 บาท แต่ ISADORA Build-Up Mascara Extra Volume ที่ได้คะแนนตามมาติดๆ ราคาไม่ถึง 500 บาท และมาสคาราหลายยี่ห้อที่ราคาเกินหนึ่งพันบาท ก็ได้คะแนนในอันดับไม่ดีนัก---ข้อควรระวัง หลีกเลี่ยงการใช้มาสคาราที่เปิดใช้งานมานานเกิน 3 เดือน และไม่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ร่วมกับใคร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 262 เรื่องทดสอบ สปอร์ตบรา

        ปัจจุบัน “สปอร์ตบรา” ไม่ได้จำกัดการสวมใส่เฉพาะเพื่อการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเท่านั้น ผู้หญิงหลายคนยังจัดเป็นเสื้อชั้นในเพื่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวันด้วย         สปอร์ตบรานั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของการป้องกันสรีระช่วงอกในขณะออกกำลังกายของผู้หญิง เนื่องจากชุดชั้นในธรรมดาไม่อาจรองรับการเคลื่อนไหวของหน้าอกในระหว่างการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ ได้ ซึ่งอาจนำมาถึงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรืออาการปวดเมื่อยบริเวณดังกล่าว ยังรวมไปถึงเรื่องความสบายในการสวมใส่ ความคล่องตัวและความมั่นใจที่ชุดชั้นในธรรมดาไม่อาจให้ได้         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์สปอร์ตบรา จำนวน 8 ยี่ห้อ จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าทั่วไป ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2565 ส่งตรวจกับห้องทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน  โดยเป็นการทดสอบด้านความปลอดภัย 2 รายการได้แก่ สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัวและปริมาณฟอร์แมลดิไฮด์ และอีก 1 รายการเป็นการทดสอบเรื่อง การจัดการความชื้น (Liquid Moisture Management Properties) รวม 3 รายการ          หมายเหตุการทดสอบ         ในการทดสอบเรื่องการจัดการความชื้น เนื่องจากเนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบรานั้นไม่เหมือนเสื้อชั้นในและเสื้อผ้าทั่วไป เพราะประกอบด้วยผ้าผสมหลายชนิดรวมถึงดีไซน์การตัดเย็บที่ต่างกัน ดังนั้นจึงทดสอบการจัดการความชื้นในสามบริเวณได้แก่ ด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและด้านหลัง (บางชุดวัสดุตรงกลางและด้านข้างต่างกัน)  ผลการทดสอบ        ·     ด้านความปลอดภัย        สีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว พบ สารสองชนิด ได้แก่ BENZIDINE ปริมาณ 17.74 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ 4-METHYL-m-PHENYLENEDIAMINE ปริมาณ 37.32 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในตัวอย่างยี่ห้อ Wacoal Motion Support WR 3448 (มาตรฐานสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว แต่ละตัวต้องไม่เกิน 30 มก./กก.) อีก 7 ตัวอย่างไม่พบสีเอโซที่ให้แอโรแมติกแอมีน 24 ตัว        ฟอร์แมลดิไฮด์ พบฟอร์แมลดิไฮด์ 1 ตัวอย่าง ปริมาณ 26.83 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (มาตรฐานต้องน้อยกว่า 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) ได้แก่ ตัวอย่างยี่ห้อ GENTLEWOMAN sports club GST060 อีก 7 ตัวอย่างไม่พบฟอร์แมลดิไฮด์         ·     การจัดการความชื้น ผลการทดสอบพบว่า ค่า One-way transport capability (R)   ส่วนใหญ่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าที่มีฟองน้ำ ส่วนบริเวณด้านหน้าที่ไม่มีฟองน้ำและบริเวณด้านหลัง มี 3 ยี่ห้อที่ผลการทดสอบน่าพอใจ ดูรายละเอียดได้ที่ การเลือกสปอร์ตบรา         1.เลือกตามการใช้งาน ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นสามระดับของการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง การเล่นกีฬาหนักๆ ควรเลือกชนิด  High Support สำหรับการออกกำลังกายที่เคลื่อนไหวไม่มาก เลือกแบบ Medium Support หรือ Light Support  ซึ่งเหมาะสำหรับ เวทเทรนนิ่ง บอดี้เวท การปั่นจักรยาน การเล่นโยคะ พิลาทีส เป็นต้น         2.เลือกให้พอดีกับขนาดของหน้าอก การทดลองสวมที่ร้านจะดีที่สุด ทั่วไปแล้วสปอร์ตบราจะมีขนาดที่เล็กกว่าไซส์ชุดชั้นในเล็กน้อย ควรเลือกที่ใส่แล้วไม่อึดอัดหรือคับเกินไป ไม่มีเนื้อส่วนเต้าล้นออกมา และไม่มีตะเข็บที่จะก่อให้เกิดการเสียดสี        3.เลือกจากวัสดุที่ช่วยระบายความชื้นและความร้อนได้ดี จะช่วยทำให้รู้สึกแห้งสบาย ไม่เหนอะหนะในระหว่างการใช้งาน วัสดุที่นิยมในปัจจุบันได้แก่ ไนลอน โพลีเอสเตอร์ สแปนเด็กซ์ ไลครา อีลาสติน         4.สาวที่มีช่วงไหล่กว้างอาจใส่สปอร์ตบราบางรุ่นแล้วรู้สึกว่าสายสปอร์ตบรารั้งตรงไหล่ ใส่นานๆ มีอาการปวดเมื่อยอาจเลือกเป็นประเภทที่ปรับสายได้ เพื่อให้รองรับพอดีกับช่วงไหล่        5.การดูแลรักษา เนื้อผ้าและวัสดุของสปอร์ตบรานั้นส่วนใหญ่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ หากดูแลได้ถูกวิธีจะช่วยให้ใช้งานได้นาน   ข้อมูลอ้างอิง        1.มอก.2346-2550 เสื้อผ้าสำเร็จรูป        2.มอก.เอส 6-2561 เสื้อกีฬา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดนเก็บเงินค่ามอเตอร์ไซต์เกินราคา

การใช้บริการรถรับจ้างไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซต์ รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็คงไม่พ้นที่จะต้องระวังเรื่องการฉวยโอกาสคิดเงินเกินราคาของคนขับที่มีข่าวให้เห็นกันบ่อยๆ  ไม่ว่าจะชอบคิดเหมาๆ ไม่ยอมคืนเงินทอน หรือไม่กดมิเตอร์ เหมือนกับที่คุณน้ำตาล ซึ่งชอบนั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ได้มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ เรื่องราวมีอยู่ว่าโดยปกตินั้นเธอมักจะนั่งรถมอเตอร์ไซต์ช่วงเย็นตอนกลับบ้านเนื่องจากมันสะดวกและเร็วดี วันเกิดเหตุเธอต้องแวะไปซื้อของที่ห้างใกล้บ้าน เธอจึงเลือกนั่งรถไฟฟ้าโดยให้เลยไปอีกหนึ่งสถานีซึ่งติดกันกับห้างสรรพสินค้า         เมื่อจัดการธุระซื้อข้าวของที่ห้างฯ อย่างสบายใจ ตอนกลับเธอก็เลือกกลับด้วยมอเตอร์ไซต์เพราะไม่อยากหิ้วของขึ้นรถไฟฟ้าย้อนกลับ จึงลงไปเข้าแถวเพื่อต่อรถวินเตอร์ไซต์กลับบ้าน พอถึงคิวก็บอกพี่วินว่าไป อพาร์ทเม้นท์.....ค่ะ  ครั้นพอมาถึงที่หมายปลายทางก็จ่ายพี่วินไป 30 บาท (เธอนั่งประจำ) แต่พี่วินบอก 35 บาทครับ ก็จ่ายไปโดยไม่คิดอะไร (ปกติ 30 บาท) เพราะตอนนั้นนึกว่าอาจจะขึ้นราคาแล้วก็ได้ก็น้ำมันมันแพง แต่...           “คือก็คิดว่าเรื่องราวจะจบลงไปแค่วันนั้นใช่ไหมคะ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นพออีกไม่กี่วันก็ไปขึ้นวินที่เดิมอีกแต่คราวนี้ยื่นแบงค์ 50 ไปพี่วินทอนมา 20 บาท”  อ้าว! ก็ 30 บาท เลยถามพี่คนขับ (คนละคนกับวันก่อน) ว่าวินขึ้นราคาแล้วไม่ใช่เหรอคะ พี่เขาก็ตอบว่าครับขึ้นราคาแล้วครับแล้วพี่วินก็ขี่รถไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เก็บเงินเธอเพิ่ม แม้จะงงๆ อยู่ แต่คุณน้ำตาลเชื่อว่า วันก่อนหน้านี้น่าจะคิดเกินราคาจริงแน่ๆ เพราะไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยโดน สมัยตอนเป็นนักศึกษาเธอเคยโดนวินคิดเงินเกินราคาอยู่ แต่ที่ตอนแรกเธอไม่ได้เอะใจเพราะเธอไม่ได้นั่งนานแล้วจึงคิดอาจขึ้นราคาจริงๆ แต่พอมาเจออีกคันคิดแค่ 30 บาท จึงคิดขึ้นได้ว่าคงโดนซะแล้วววว  แถมตอนนี้จะให้ไปร้องเรียนกับใครก็คงไม่ได้เพราะเธอก็จำวินคันนั้นไม่ได้แล้ว จึงได้แต่มาเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังเพื่อเป็นประสบการณ์ให้ระมัดระวังกันด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา                                   จริงๆ คุณน้ำตาลมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้บริโภคที่เจอประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ได้ทราบถึงวิธีการร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเพราะไม่อยากให้ปล่อยไปเหมือนคุณน้ำตาล เนื่องจากหากไม่ร้องเรียนวินมอเตอร์ไซต์บางที่ก็จะเอาเปรียบเราไปเรื่อยๆ ดังนั้นควรที่จะร้องเรียนเพื่อสิทธิของตนเอง วิธีการร้องเรียน มีดังนี้        1. จำเบอร์วินมอเตอร์ไซต์คันนั้นไว้ให้แม่น หรือ ชื่อ-นามสกุล        2.บันทึกทะเบียนไว้ หรืออาจจะถ่ายเก็บไว้ยิ่งดี        3.ควรจำเหตุการณ์ว่าเป็นวันไหน เวลาอะไร สถานที่เกิดเหตุที่ไหน        4. โทรไปร้องเรียนกับเบอร์ 1584 (กรมขนส่งทางบก) 24 ชั่วโมง และยังมีช่องทางอื่นๆ ได้แก่                4.1 Line ID “@1584dlt”                  4.2 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/                4.3 E-Mail : dlt_1584complain@hotmail.com และ                4.4 เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”                      อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้บริการลองสอบถามราคาก่อนหรืออ่านป้ายแสดงราคา เพื่อไม่ให้พลาดพลั้งค่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ‘หนังสือ’ ราคาแพงไปหรือไม่? คำถาม คำตอบ และความคาดหวัง

อาจจะ 20 หรือ 30 ปีก่อน ครั้งที่อินเทอร์เน็ตเริ่มบูมและมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดคำทำนายว่า ‘หนังสือเล่มจะหายไป’ นักอ่านจะหันมาอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ยังไม่เป็นจริง) เพราะหนังสือเล่มมีเสน่ห์ในตัวที่ยังไม่มีสื่อชนิดอื่นเข้ามาแทนที่         ‘คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด’ มายาคติที่ไม่เป็นจริง (อย่างน้อยก็ไม่เป็นจริงแล้ว) แต่ก็ถูกเชื่อกันอยู่พักใหญ่ ปัจจุบันมีข้อมูลทางสถิติยืนยันแล้วว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่านั้นเยอะ ผลสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังคงอ่านหนังสือเล่มสูงถึงร้อยละ 88 ขณะที่การอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็สูงขึ้นอย่างน่าจับตา ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat) ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 3 เล่มต่อเดือน         มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมชมงานถึง 1,355,893 คน สามารถสร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน 347,331,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ถึงร้อยละ 74         แต่ ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ก็พบข้อมูลที่ดูขัดแย้งกันว่า         ‘ในภาพรวม พบว่าพฤติกรรมคนไทย มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเป็นทุนเดิม เนื่องจากระบบการศึกษาในประเทศ ที่ไม่ได้สนับสนุนให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านตั้งแต่ระดับเยาวชน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ผู้อ่านมีทางเลือกในการเสพสื่ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันที่ใช้เวลาในการเสพสื่อสั้นลง รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง ยิ่งทำให้คนไทยยิ่งหันไปเสพเนื้อหาแบบอื่นแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ ประกอบกับการเข้าถึงแหล่งหนังสือต่างๆ เช่น ห้องสมุด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่ได้สร้างการเข้าถึงให้กับผู้อ่านอย่างเพียงพอ ทำให้ผู้อ่านในต่างจังหวัดเข้าถึงหนังสือได้ยาก’         ‘รวมถึงทัศนคติของคนไทยที่มองว่าหนังสือคือสินค้าฟุ่มเฟือยเนื่องจากหนังสือมีราคาสูง’ ประโยคนี้คือประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกัน หนังสือไทยแพงจริงไหม?         “คำว่าแพงหรือไม่แพงเป็นเรื่องสัมพัทธ์ มันขึ้นกับว่าเราจ่ายไหวมั้ย เพราะฉะนั้นถ้าเทียบในระดับราคาหนังสือต่อเล่มต่อค่าครองชีพ เมืองไทยถือว่าแพงแน่ๆ เพราะค่าแรงมันต่ำ แต่ค่าหนังสือมันขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคือแพง ถ้ามองในมุมว่าราคาหนังสือปัจจุบันเทียบกับราคาหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถือว่าแพงราคามาตรฐาน แต่ค่าแรงเรามันต่ำเราก็เลยรู้สึกว่าหนังสือแพง อย่างในญี่ปุ่นราคาหนังสือเล่มละ 350-1,000 เยน 1,000 เยนคือเล่มใหญ่ ถือว่าแพงแล้ว ประมาณ 256 บาท (ค่าเงินวันที่ 14 ธันวาคม) แต่ค่าแรงชั่วโมงละ 1,100 เยน ทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อหนังสือได้แล้วเล่มหนึ่ง แต่ของไทยทำงานฟาสต์ฟู้ดเหมือนกัน พาร์ทไทม์ ชั่วโมงละ 28-36 บาท มันซื้อหนังสือไม่ได้ เดี๋ยวนี้ราคาเริ่มต้นก็ร้อยขึ้นแล้ว” ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (pubat)         “ถามว่ามันขึ้นตามเงินเฟ้อมั้ย ใช่ ทุกสำนักพิมพ์น่าจะเจอเหตุผลเดียวกัน เพียงแต่ว่าปัญหาคำว่าแพงมันไปพันกับเรื่องค่าครองชีพและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย ถ้าจะพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยกับราคาปกหนังสือ ณ ปัจจุบัน ผมคิดว่ามันก็แพง” มณฑล ประภากรเกียรติ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน         “แพงนะ รู้สึกเลยว่าแพงขึ้นมากจากตอนที่ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด บางสำนักพิมพ์ราคาสูงมากเลย ในใจทบทวนง่ายๆ อาจจะแบบสามเล่มพัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าสองเล่มพันก็มี เลยรู้สึกว่าแพงมากขึ้น ยิ่งหนังสือแปล ยิ่งแพง ต้องยอมรับว่าแพง เป็นของฟุ่มเฟือย” คชรักษ์ แก้วสุราช แอดมินเพจ ‘อ่านเจอ’         “ทำไมถึงแพง บางคนก็ตอบว่าเพราะค่าแรงมันถูก หมายถึงว่ามันไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นความฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องถูกมองว่าแพง แล้วก็ไม่ใช่ความบันเทิงราคาถูกอีกแล้ว เมื่อก่อนยังพอเป็นไปได้ที่คนทั่วจะสามารถซื้อหนังสืออ่าน ต้องยอมรับแล้วว่ามันสูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กิตติพล สรัคคานนท์ นักเขียน นักออกแบบปก บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ 1001 ราตรี และสำนักพิมพ์ B&B Press ทำไมถึงแพง?         อย่างน้อยคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือในหลายบทบาทก็ยอมรับว่าราคาหนังสือไทยแพง แต่ความแพงนี้มีที่มา เราจะจัดกลุ่มกันดูว่าเป็นเพราะอะไร         ประเด็นแรกคือจำนวนการพิมพ์น้อยทำให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (economy of scale) ถอยกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนการพิมพ์หนังสือเริ่มต้นที่ 3,000 เล่ม ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 500-1,000 เล่ม ขณะที่ fixed cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบรรณาธิการ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าแปล เป็นต้น สูงขึ้น เมื่อตัวหารน้อยลงราคาขายต่อหน่วยจึงต้องแพงขึ้น         คำถามที่ตามมา เหตุใดยอดพิมพ์จึงลดลงทั้งที่คนอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ประเด็นนี้มองได้หลายมุม มุมแรก สำนักพิมพ์มีความหลากหลายมากขึ้นตัวเลือกการอ่านมีมากขึ้น ทำให้ยอดขายต่อเล่มต่อปกลดลงจึงต้องพิมพ์จำนวนน้อยลง เชื่อมโยงสู่ขนาดของตลาดในประเทศซึ่งธีรภัทรมองว่ามีขนาดใหญ่พอ แต่สิ่งที่ต้องนำมาคำนวณคือผู้เสพมีตัวเลือกการเสพ content มากกว่าในอดีตมาก หนังสือไม่ใช่แหล่งสาระความรู้และความบันเทิงเดียวเช่นในอดีต         แต่แม้ว่าขนาดตลาดจะใหญ่พอก็ไม่ใหญ่โตเท่ากับตลาดหนังสือในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่มีจำนวนประชากรไล่ตั้งแต่พันกว่าล้านถึงเกือบร้อยล้านและมีวัฒนธรรมการอ่านที่ค่อนข้างแข็งแรง ยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่ยอดพิมพ์เริ่มต้นกันที่ 10,000 เล่ม เมื่อตลาดเล็กกว่าการอ่านน้อยกว่าก็ย้อนกลับไปเรื่องยอดพิมพ์        กระดาษแพงซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดโลก เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของสำนักพิมพ์ ขณะที่ราคากระดาษในบ้านเราผูกกับราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะปี 2565 ราคากระดาษพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ในไทยมีผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อยู่ 2 เจ้า ได้แก่ เอสซีจีและดับเบิ้ลเอเป็นอีกเกรดหนึ่งไม่เหมาะกับการผลิตหนังสือ(ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่ากระดาษแพงเพราะเก็บภาษีกระดาษ ธีรภัทรบอกว่าประเทศไทยยกเลิกเก็บภาษีนำเข้ากระดาษตั้งแต่ปี 2535 และหนังสือก็ได้รับยกเว้นไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวอะไร?         ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่มักไม่ถูกนำมาคิดในสมการ-โครงสร้างพื้นฐาน เรืองเดช จันทรคีรี ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน โพสต์โครงสร้างราคาหนังสือในเฟซบุ๊กของเขาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2021 พบว่า ในราคาหนังสือ 100 บาทจะถูกคิดเป็นค่าสายส่งและหน้าร้านสูงถึงร้อยละ 40-45 เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือกำไรคืนสู่สำนักพิมพ์น้อยกว่าร้อยละ 10         ดูแล้วเหมือนสายส่งผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือต่างๆ กำลังเอาเปรียบ แต่ธีรภัทรอธิบายว่าความจริงแล้วเมื่อหักต้นทุนแล้ว สายส่งเหลือกำไรเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น          ธีรภัทรอธิบายต่อว่าเหตุผลที่ค่าสายส่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของราคาหนังสือเป็นเพราะต้นทุนการขนส่งของไทยสูง กลับไปที่ญี่ปุ่น ค่าสายส่งคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของราคาหนังสือเท่านั้น เพราะในญี่ปุ่นใช้วิธีขนส่งหนังสือผ่านรถไฟไปยังหัวเมืองหรือจังหวัดต่างๆ แล้วนำรถบรรทุกมารับเพื่อไปกระจายต่อทำให้ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าของไทยที่ต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก         ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพต่ำส่งผลให้ราคาหนังสือแพงกว่าที่ควรจะเป็น         (และแน่นอนว่าค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการเข้าถึงหนังสือ) รัฐควรทำอะไร?         คำถามสำคัญมีอยู่ว่ารัฐควรยื่นมือเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลงหรือไม่         “ผมเห็นด้วยว่ารัฐต้องเข้ามาช่วย ถ้าคุณไม่สามารถสนับสนุนเรื่องการพิมพ์ได้ คุณควรสนับสนุนเรื่องบุ๊คแฟร์ ทุกสำนักพิมพ์อยากมีพื้นที่ในการปล่อยของ บางสำนักพิมพ์เล็กๆ ขายได้งานหนึ่งก็อยู่ได้ทั้งปี แต่ทำไมเขาต้องมาเสียค่าเช่า อย่างศูนย์สิริกิติ์เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ก็แพงขึ้นเป็นพื้นที่ของเอกชน ทำไมรัฐไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดบุ๊คแฟร์คือ มันควรสนับสนุนด้านการขาย การตลาด        “ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังสือราคาแพงคือกระดาษ ทุกวันนี้กระดาษนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่สามารถผลิตในไทยได้หรือกลุ่มเอสซีจีก็ผลิตน้อยลง หันไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่า ถ้าเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ผมว่าช่วยสำนักพิมพ์ได้ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์เลยในการลดต้นทุนการผลิต รัฐเข้ามาช่วยส่วนนี้ได้ด้วยการช่วยดีลกับตลาดต่างประเทศให้ราคาถูกลงหรือเรื่องโลจิสติกส์ที่ควรจะถูกลง แต่การจะให้คนในวงการอยู่ได้จริงๆ คุณต้องสนับสนุนตลาดหนังสือ” มณฑล กล่าว         ส่วนกิตติพลกล่าวด้วยความหวังที่น้อยกว่านั้น “ไม่มีผู้นำในรัฐบาลไหนตั้งใจทำให้เรารู้หรอก กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้าเขาทำได้เขาทำตั้งนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังจู้จี้ว่าประวัติศาสตร์ยังไม่ไทยพอ แสดงว่ามันสวนทางกับเรื่องการศึกษาที่แท้จริงและอย่างที่เราเห็นว่าในตำราในหลักสูตรต่างๆ มันสอนให้เราอ่านได้น้อยลงคิดได้น้อยลงเขียนได้น้อยลง สิ่งที่เราเห็นอยู่ก็เป็นโลกของชนชั้นกลางที่มีโอกาสมากกว่าแต่การศึกษาภาคบังคับทำให้เราพังทุกอย่างที่เราอยากรู้         “พอพูดถึงเรื่องนี้มันไม่มีหรอกแบบล็อตเตอรี่ ฟันด์ของอังกฤษที่ช่วยซัพพอร์ตสิ่งพิมพ์จะไปขอใคร ส่วนใหญ่ก็องค์กรด้านวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ต่างหากที่จะหยิบยื่นเข้ามา ประเทศที่ยากจนกว่าเราในลาติน อเมริกายังมีงบที่ช่วยซัพพอร์ตด้านวัฒนธรรมเลยให้มากกว่าที่รัฐบาลไทยให้กับคนในประเทศอีก ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีความตั้งใจจริงใจจะทำตั้งแต่แรกเขาทำไปตั้งนานแล้วแต่เขาไม่ได้ต้องการ” ทำไมไม่ควรพึ่งพารัฐ?         ขณะที่ธีรภัทรมีมุมมองที่ต่างออกไปประมาณหนึ่ง “เวลาถกเถียงเรื่องแบบนี้เราชอบมองหนังสือเป็นเรื่องเดียวทั้งหมด ถามว่าเราควรอุดหนุนหนังสือเด็ก หนังสือเพื่อการเรียน เพื่อพัฒนาการให้ราคาถูก เข้าถึงได้มั้ย ผมว่าควร จำเป็น แล้วหลังจากนั้นเขาจะไปซื้อหนังสืออ่านในวัยที่โตขึ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง แต่ถามว่ารัฐควรจะอุดหนุนทั้งหมดให้ราคาหนังสือทุกชนิดถูกลงมั้ย ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจของแต่ละฝ่าย หนังสือถูกทั้งหมดแล้วต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการสนับสนุน มันคุ้มหรือเปล่าในมุมมองของรัฐ”         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะสนับสนุนด้านพื้นที่การจัดงานหนังสือและตลาดเพื่อให้สำนักพิมพ์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เท่าเทียมมากขึ้น         เขาเห็นด้วยถ้ารัฐจะอุดหนุนราคากระดาษ เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก สำนักพิมพ์ได้รับประโยชน์ทั่วถึง และแทรกแซงอุตสาหกรรมกระดาษในไทยที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่เขาคัดค้านการสนับสนุนสำนักพิมพ์หรือหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เขายังมองว่าอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการพิมพ์ เพราะหากพึ่งพารัฐมากเกินไปย่อมเท่ากับเปิดช่องโหว่ให้รัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาหนังสือโดยปริยายวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน แผน 20 ปีที่ต่างกัน         ‘รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำฐานข้อมูลและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ (Publishing) ปี 2564’ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 3.64 มีมูลค่ารวมที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2567 ทว่าใน Sector หนังสือกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะมีอัตราการเติบโตคาดการณ์ต่ำสุด         อย่างไรก็ตาม e-book และ audiobook ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จุดนี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการอ่านหนังสือเล่มแค่ไหน อย่างไร (ถึงกระนั้น เราอาจต้องนำเรื่อง digital divided หรือช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตัลมาขบคิดร่วมด้วย)         ในรายงานข้างต้นได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ของเกาหลีและเยอรมนีไว้ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้เห็นว่าทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการอ่านมากเพียงใด เช่น เกาหลีใต้มีการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบกว่า 20 ปี มีหน่วยงานอิสระอย่าง KPIPA ทำหน้าที่ดูแลโดยเฉพาะ ฯลฯ และทั้งสองประเทศมีนโยบายสร้างนิสัยรักการอ่านและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเหมือนกัน         นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาการพิมพ์ ไว้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่        https://article.tcdc.or.th/uploads/media/2022/6/20/media_6-CEA-Publishing-Final-Report.pdf         เรานำเสนอส่วนนี้อย่างรวบรัดตัดความเพราะพื้นที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศที่ใส่ใจกับการเรียนรู้ของพลเมืองนั้นมีอยู่ มีการคิด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และประเทศที่ขาดวิสัยทัศน์ก็มีอยู่เช่นกัน         แผนพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ 20 ปีของเกาหลีใต้กับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 เคอรี่ไม่ส่งทรายแมว ทำเอาทาสลำบากสุดๆ

        เรื่องปวดหัวของทาสแมวรายนี้ คือบริการขนส่งที่ชื่อว่าเคอรี่ในอำเภอที่เธออาศัยอยู่ สวี ไม่ส่งทรายแมวให้เธอแต่สอบถามไปบอกส่งแล้วๆ ช่างเหนื่อยใจนัก              คุณลักษณ์บ้านอยู่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ที่นั่นฝนตกบ่อย บางครั้งตกติดต่อกันหลายวัน “ทรายแมว” จึงเป็นสิ่งที่ทาสตัวแม่อย่างเธอต้องมีติดบ้านไว้ตลอดเวลา ยิ่งตอนนี้มีน้องแมววัยละอ่อนที่กินและถ่ายตลอดเวลา ทรายที่มีอยู่จึงหมดไปอย่างรวดเร็ว         เธอจึงตัดสินใจรีบสั่งซื้อทรายแมวจากแอปฯ ห้างออนไลน์ไว้มาตุนไว้ก่อนสักสองถุง (ถุงละ 10 ลิตร) เพราะช่วงดังกล่าวเธอติดเชื้อโควิด 19 จึงต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ผ่านไปสามวัน เธอได้รับข้อความอัปเดตการจัดส่งจากผู้ให้บริการขนส่ง Kerry เมื่อตอนบ่ายสามของวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า “จัดส่งไม่สำเร็จ รอดำเนินการ” จากนั้นก็เงียบหายไป จนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เธอตัดสินใจโทรไปหาสำนักงานของบริษัทดังกล่าวที่สาขาสวี แต่ได้คำตอบว่า “ช่วงนี้มีปริมาณพัสดุที่ศูนย์กระจายสินค้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการล่าช้า ทางศูนย์อยู่ระหว่างการจัดส่งโดยเร็วที่สุด”  ระหว่างนั้นเธอก็แจ้งไปยังแอปฯ ที่เธอสั่งซื้อสินค้า ให้ช่วยติดตามเรื่องให้ด้วยอีกทาง         ระหว่าง “รอดำเนินการ” ด้วยความกังวล เธอก็ลองดูในแอปฯ อีกเจ้า เจอร้านที่ได้ราคาดีและส่งฟรีด้วย แต่เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบเดิม เธอจึงถามผู้ขายว่าใช้บริการขนส่งเจ้าไหน ผู้ขายตอบว่าโปรฯ ส่งฟรีนั้นใช้ของ Kerry  เพราะผู้ขายเป็นสมาชิกอยู่ คุณลักษณ์จึงเล่าปัญหาให้ผู้ขายทราบ ผู้ขายบอกว่าหากต้องการให้ส่งเจ้าอื่นก็ได้ แต่ลูกค้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งเอง ซึ่งทางร้านแนะนำว่าไม่คุ้ม เพราะสินค้ามีน้ำหนักมาก ของที่ควรจะถูกก็กลายเป็นของแพงไปโดยปริยาย         ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม ทางแอปฯ ที่สั่งซื้อทรายแมวแจ้งว่าบริษัทขนส่งรับเรื่องไปดำเนินการแล้ว และจะนำส่งไม่เกินวันที่ 8 กรกฎาคม แต่จนถึงวันที่ 9 ก็ยังไม่มีการจัดส่ง เธอจึงทำเรื่องขอยกเลิกและขอรับเงินคืน         เรื่องนั้นเธอไม่ติดใจ ถือว่าจบกันไป แต่มางงตอนที่ได้รับข้อความ SMS ว่า “พัสดุเลขที่ XXXXXX ถูกส่งถึงผู้รับแล้วเรียบร้อย” ในวันที่ 10 ... แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ เธอสงสัยว่าการบันทึกข้อมูลลักษณะนี้ ก็เท่ากับไม่ได้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลยใช่ไหม? แล้วสองอาทิตย์ที่ผ่านมา มันเกิดอะไรขึ้นกับเธอ...  ทำอะไรก็พะวักพะวนว่าพกมือถือติดตัวไว้หรือยัง ต้องคอยชะเง้อดูหน้าบ้านตลอดเผื่อมีใครมาส่งของ จะไปซักผ้าหลังบ้านก็ลังเล เดี๋ยวออกตัวช้าจะไม่ทันพนักงานที่เขารีบออกรถไปส่งบ้านอื่นต่อ เพราะบางครั้งมีข้อความอัปเดตสถานะในทำนอง “จัดส่งไม่สำเร็จ ไม่มีผู้รับ”         ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเจอปัญหาเรื่องความล่าช้า ก่อนหน้านี้เธอเคยสั่งซื้อต้นจำปูน ที่กว่าจะมาถึงมือเธอก็อยู่ในสภาพที่รอดยากแล้ว ที่เล่าให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังก็ไม่ได้คิดจะเอาเรื่องอะไรกับบริษัทขนส่ง แต่อยากฝากให้เป็นข้อคิดสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น และหากเป็นไปได้ทางผู้ให้บริการน่าจะได้นำสิ่งที่เป็นปัญหานี้ไปปรับปรุง โดยเฉพาะเรื่องการทำเหตุผลที่ลูกค้าบอกยกเลิกไว้ ว่าเป็นเพราะ “จัดส่งไม่สำเร็จ ไม่มีผู้รับ”  เช่นนี้แล้วก็เสมือนว่า “มันเป็นความผิดของผู้สั่งสินค้าเอง” อันนี้แหละที่เคืองมากๆ เลย คุณลักษณ์กล่าวไว้           แนวทางการแก้ไขปัญหา         กรณีคุณลักษณ์น่าจะเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถนำไปพิจารณาในการสั่งซื้อสินค้าที่มีน้ำหนักมากๆ เช่นกรณีทรายแมว ว่าอาจทำให้ต้องลำบากในการสั่งซื้อเพราะบริษัทอาจไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานในพื้นที่แต่ละพื้นที่ได้ดีพอ อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯ จะได้นำเรื่องบอกเล่าของคุณลักษณ์ไปรวบรวมเป็นข้อเสนอต่อผู้ให้บริการขนส่งเพื่อการปรับปรุงบริการที่ดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 เอาแล้วโดนหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก

        ยุคข้าวของแพง ใจใครจะไม่หวั่นไหวเมื่อมีการเสนอขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด         คุณดาวเรือง เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ทุกวันนี้ต้องปรับราคาขายขึ้นไปเพราะไม่อาจทนต้านราคาสินค้าซึ่งถีบตัวสูงได้ โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ต้องใช้จำนวนมาก และราคาก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ปรับมากไปลูกค้าก็จะหนีหายกันไปหมด วันหนึ่งมีคนรู้จักมาบอกว่า “ฉันรู้แหล่งซื้อน้ำมันพืชยี่ห้อดังนะ น้ำมันปาล์มราคาถูกกว่าตลาด ขายแค่ 3 ขวด 100 บาท เพราะเขาได้รับปันส่วนมาจากบริษัท สนใจไหม”         แน่นอนดีลนี้คุณดาวเรืองหูผึ่งทันที ด้วยว่ารู้จักกันกับคนที่นำข่าวมาบอกพอสมควรและเขาก็เอาหลักฐานที่อยู่ของคนที่เสนอขายมานำเสนอ คุณดาวเรืองจึงสั่งซื้อไปหลายลัง แต่หลังโอนเงินไปรอแล้วรออีกสินค้าก็ไม่มาตามสั่ง วันหนึ่งก็เห็นข่าว ตำรวจรวบแก๊งหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก “ตายๆ ฉันจะทำอย่างไรดี” แน่นอนคุณดาวเรืองมั่นใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ และคนรู้จักคนนั้นก็พลอยหายหน้าไปด้วย จึงโทรมาปรึกษากับทาง มพบ. ว่าตนเองควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณดาวเรืองนำหลักฐานที่มีทั้งหมด ทั้งใบสั่งซื้อ ชื่อ เลขที่บัญชีที่โอนเงินเข้า รีบนำไปแจ้งความทันที         กรณีนี้นำมาฝากเป็นข้อเตือนใจ หากพบว่ามีใครนำเสนอขายสินค้าใดก็ตามที่ราคาถูกผิดปกติ คือถูกกว่าราคาตลาดไปมาก ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า เป็นเรื่องหลอกลวงไม่ควรหลงเชื่อเพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินทอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (2)

        ในปี 2564 คนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 134 ล้านลิตรต่อวัน หากมีการคิดค่าการกลั่นรวมสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นสัก 3 บาทต่อลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าที่ถูกปล้นไปถึงวันละ 500 ล้านบาท ที่น่าสังเกตก็คือ ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาทเพื่อเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึง 9.30 บาทต่อลิตร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือหนี้ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายคืนในภายหลัง เมื่อราคาน้ำมันลดลง         เราในฐานะผู้บริโภคไม่มีทางทราบได้หรอกว่า ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าของโรงกลั่นกับผู้บริโภค แต่การที่โรงกลั่นคิดค่าการกลั่นไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรติดต่อกันมานานอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีเต็ม ก็แสดงว่า ค่าการกลั่นที่ผ่านมาจึงเป็นที่พอใจของเจ้าของโรงกลั่นแล้ว มีกำไรแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าการกลั่นในต่างประเทศ         ถ้ากิจการกลั่นน้ำมันมี “ต้นทุนอย่างอื่น” อยู่จริง แล้วทำไมในปีอื่นๆ จึงมีค่าต่ำกว่านี้มาตลอดอย่างน้อย 6 ปีเต็ม ถ้าจะอ้างว่าเป็นสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะต้นทุนในการกลั่น เช่น ค่าแรง ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าสึกหรอของเครื่องจักร ก็ยังคงเท่าเดิม         หากเรายึดเอาตามนิยามของ “ค่าการกลั่นรวม” คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป (ที่โรงกลั่น) แล้วลบด้วยราคาน้ำมันดิบ (ที่หน้าโรงกลั่น) ทั้งตัวตั้ง (คือมูลค่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) และตัวลบ (คือราคาน้ำมันดิบ) ซึ่งทั้งสองตัวก็มีราคาสูงขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ (คือค่าการกลั่นรวม) จึงควรจะเท่าเดิม (หากค่าใช้จ่ายในการกลั่นเท่าเดิม)         จริงไหมครับ (หยุดคิดสักครู่)         ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า การขึ้นค่าการกลั่นรวมจึงเป็นการฉวยโอกาสของเจ้าของโรงกลั่นนั่นเอง         อยากเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานอธิบายว่า “ต้นทุนอื่นคืออะไร” นอกจากนี้การที่ปลัดกระทรวงพลังงานอ้างว่า ธุรกิจโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี มันเสรีจริงหรือ หรือเสรีที่จะกำหนดราคาเอาตามอำเภอใจกระนั้นหรือ         รายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (7 มิ.ย.65) ได้นำผลประกอบการของโรงกลั่น 2 โรง พบว่า กำไรสุทธิของโรงกลั่นดังกล่าวในรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ทั้งปี (ดูภาพประกอบ)         ยังมีอีกสองประเด็นสำคัญที่ทำให้เราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงอย่างผิดปกติ        ประเด็นแรกคือค่าการตลาด         จากการรวบรวมข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซล (เฉลี่ยรายเดือน) พบว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เหมือนกับค่าการกลั่น กล่าวคือ เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง ค่าการตลาดก็เพิ่มขึ้น ดังแสดงในภาพ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2564 (ค่าการตลาด 2.02 บาทต่อลิตร) และ ธันวาคม 2564 (ค่าการตลาด 2.06 บาทต่อลิตร) เป็นต้น แม้ส่วนต่างของค่าการตลาดจะน้อยแต่เมื่อเทียบกับการใช้วันละ 134 ล้านลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าไม่น้อย        ประเด็นที่สอง การคิดค่าขนส่งเทียม         การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นการกำหนดโดยการอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ (Mean of Platts : MOP Singapore) โดยคิดการบวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงโคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังบวก ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ         แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (สถานการณ์พลังงานไทย 2564) พบว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปโดยโรงกลั่นในประเทศไทย จำนวน  1.106 ล้านบาร์เรลต่อวัน (161.5 ล้านลิตรต่อวัน) โดยมีการใช้ภายในประเทศ 134 ล้านลิตรต่อวัน ที่เหลือจึงมีการส่งออกประมาณ 32.3 ล้านลิตรต่อวัน  แต่ก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพียง 5.6 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเราสามารถกล่าวโดยประมาณได้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทยเราเอง ไม่ได้นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์แต่ประการใด แต่กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยที่ขายให้คนไทยใช้ทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ โดยบวกเอาค่าขนส่งและค่าอื่นๆ หรือที่เรียกว่า “ค่าขนส่งทิพย์” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง        ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริโภคได้เลือกรัฐบาลให้ไปเป็นผู้กำกับดูแลกติกาให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้ ต้องอย่างโปร่งไส และตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลนี้กำลังทำอะไรอยู่จึงได้ปล่อยให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ และนับจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 อัตราภาษีสรรพสามิตจะลดลงอีก(คาดว่าจะเหลือประมาณ 1.34 บาทต่อลิตร) เจ้าของโรงกลั่นจะฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นรวมไปอีกเท่าใด ผู้บริโภคต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบนะครับ มิเช่นนั้นเราจะถูกเขาเอาเปรียบตลอดไป         คราวหน้า(ถ้าไม่ลืมหรือมีอย่างอื่นมาแทรก) ผมจะเขียนเรื่องมีความเป็นไปได้ไหมที่โลกจะเลิกใช้น้ำมัน และเมื่อไหร่ โปรดติดตามครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (1)

        ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนบทความนี้ ผมได้เช็คราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานประกาศ (7 มิ.ย.65) พบว่าราคาเบนซิน 51.46 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาดีเซลหมุนเร็ว 33.94 บาทต่อลิตร  ผมคิดในใจว่าน่าจะเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่ผมจำความได้ แต่เมื่อได้เช็คย้อนหลังไปหนึ่งวันพบว่า ราคาเบนซิน 52.06 บาท โดยที่ราคาดีเซลยังเท่าเดิม        ผู้บริโภคเราหลายคนถูกทำให้เข้าใจว่า ราคาน้ำมันที่คนไทยจ่ายอยู่นี้แพงเพราะกลไกราคาในตลาดโลก เรามาดูความเป็นจริงกันครับ ผมมี 3 เรื่องหลักๆที่จะเล่าให้ฟัง         ผมจึงได้สืบค้นข้อมูลโดยเริ่มต้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(ดูไบ)และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ (ดังรูปแรก) ทำให้เราทราบว่าราคาน้ำมันดิบในวันที่ 7 มิ.ย.65 เท่ากับ 24.68 บาทต่อลิตร  ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเท่ากับ 33.94 บาทต่อลิตร         ราคามันต่างกันถึงเกือบ 10 บาทต่อลิตร มันเป็นเพราะอะไรครับ        ผมได้ฟังการสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพลังงาน(คุณกุลิศ สมบัติศิริ) จากรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (19 พ.ค.65) พอสรุปได้ว่า รัฐบาลได้จะลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะกลุ่มดีเซลเท่านั้น โดยลดลง 5 บาทต่อลิตร พร้อมกับได้เท้าความว่า “คราวที่แล้วได้ลดภาษีลง 3 บาทต่อลิตร โดย 2 บาทเป็นการเอาไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมันซึ่งขาดทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท และอีก 1 บาทเพื่อลดราคาหน้าปั๊มให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังบอกว่ากระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าจะควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร”         สิ่งที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (24.68 บาทต่อลิตร) และราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลหน้าโรงกลั่น (33.94 บาทต่อลิตร)  เราอาจจะสงสัยว่าผลต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทต่อลิตรนั้นเป็นราคาที่เป็นธรรมหรือไม่          ในวงการธุรกิจน้ำมัน เขามีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ “ค่าการกลั่นรวม (Gross Refinery Margin)” ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นได้ทุกชนิดรวมกัน(ที่หน้าโรงกลั่น) กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นเช่นเดียวกัน นั่นคือ ยังไม่รวมค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาถึงโรงกลั่น         คำถามก็คือ ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าไหร่จึงจะเป็นธรรมกับผู้บริโภคและเจ้าของโรงกลั่น         จากคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงาน (ในรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ) ได้ความว่าทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาค่าการกลั่นอยู่ พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผมก็ไปเจรจาเปิดข้อมูลมาดู ค่าการกลั่นมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย และเป็นตลาดเสรีด้วย”         เมื่อพิธีกรในรายการตั้งคำถามแบบชี้นำว่า “ตอนนี้ค่าการกลั่นประมาณ 12-13 ดอลลาร์ (หรือ 2.61-2.83 บาทต่อลิตร) ใช่ไหม” ปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่า “ใช่ และกำลังเจรจาให้เขาลดลงมาอีก”         ผมรู้สึกแปลกๆ กับคำตอบของปลัดกระทรวงพลังงานท่านนี้มาก โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ “เขามีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย” และ “กิจการโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี”         ผมไม่ทราบว่าต้นทุนอย่างอื่นของโรงกลั่นคืออะไร แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองพบว่า  นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนมกราคมปี 2565 ค่าการกลั่นรวมไม่ถึง 2 บาทต่อลิตร (ยกเว้นปี 2560 และ 2561 ที่เกินมาเล็กน้อย)  ซึ่งในช่วงเวลา 6 ปีเศษ อัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.99 บาทมาตลอดแต่พอรัฐบาลลดภาษีลงมาเหลือ 3.20 บาท ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1.35 บาทต่อลิตรในเดือนมกราคม 65 จนมาอยู่ที่ 5.15 และ 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ดูภาพประกอบ         โปรดดูรูปประกอบอีกครั้งครับ พอรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลงมา เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันก็ฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม         เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ผมได้นำเสนอข้อมูลสำคัญใน 2 ช่วงเวลาคือ 27 กันยายน 2564 และ 19 พฤษภาคม 2565 (ดังภาพประกอบ)        จากภาพ ผมได้ใช้ปากกาวงไว้ 4 ก้อน เราจะเห็นว่า เมื่อภาษีสรรพสามิตลดลง ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นจาก 1.15 บาทต่อลิตรเป็น 5.82 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว แล้ว...อย่างไร คราวหน้ามาต่อกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 รู้ว่าทองปลอมแต่ร้านบอกไม่ลอกไม่ดำ ไม่เป็นอย่างโฆษณาขอคืนเงินได้ไหม

        ทองคำแท้นั้นราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายท่านก็มีสะสมไว้แต่ไม่กล้าเอามาใส่จริง หรือบางท่านก็อยากจะมีเครื่องประดับเป็นทองไว้ใส่โชว์บ้างแต่เงินไม่มากพอ ทางออกสมัยนี้ก็คือ การใส่เครื่องประดับทองชุบ หรือ ทองปลอม แต่ว่าเป็นงานดีมากจนใกล้เคียงกับงานทองจริงเป็นทางเลือก ขนาดมีร้านประกาศชัดเจนว่า ขายทองปลอม ไม่ลอก ไม่ดำ แต่จำนำไม่ได้ ที่เป็นข่าวดังในช่วงเดือนที่ผ่านมา หรือการไลฟ์สดขายทองไมครอน ทางเพจที่เรียกตัวเองว่า ร้านทอง ก็มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชิญชวนให้ผู้สนใจงานทองแต่เงินไม่หนาได้แย่งกันเอฟอย่างคึกคัก แต่หลายครั้งหลังจากเผลอพลาดสั่งซื้อไปแล้วสินค้าไม่ได้เป็นอย่างโฆษณาจะทำอย่างไรดีนะ         คุณลูกนกติดตามเพจร้านทองแห่งหนึ่ง และได้เข้าไปดูไลฟ์สดบ่อยๆ จนล่าสุดอดใจไม่ไหวทำให้ซื้อทองที่ทางเพจระบุว่า เป็นทองเกรดไมครอน ในราคา 800 บาท ซึ่งทางร้านบอกว่า ไม่ลอก ไม่ดำ แน่นอน “ร้านเขาพูดแบบนี้นะพี่ เขาบอกว่า แหวนทองเพชรจีนวงนี้นะ ราคาเดิมคือ 1,500 บาท แต่ตอนนี้กำลังทำโปรโมชันพิเศษสุด คือขายเพียงแค่ 800 บาทเท่านั้น เป็นงานไมครอนใส่แล้วไม่ลอกไม่ดำ หนูก็สั่งซื้อเลยพี่งานมันดูดีมาก แต่พอได้มาจริงใส่แป๊บเดียวดำปี๊แล้ว” คุณลูกนกบอกข้อมูลเพิ่มว่า ถูกหลอกกันเยอะเลย ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทองเกรดไมครอน หรือ ทองไมครอน คือ ทองที่ข้างในเป็นโลหะแล้วถูกชุบหรือเคลือบผิวด้วยทองคำแท้ กระบวนการชุบเป็นแบบพิเศษ เป็นการชุบด้วยการใช้ไฟฟ้าซึ่งช่วยให้สารละลายทองคำ มีความติดทนนาน และไม่หลุดล่อนออกจากวัสดุที่นำมาชุบอย่างรวดเร็ว เป็นการทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบให้เสมือนทองคำจริงๆ ส่วนใหญ่จะเลียนแบบพวกทองรูปพรรณ พวกสร้อยคอ แหวนสร้อยข้อมือ กำไล ฯลฯ ด้วยขนาดและลวดลายเช่นเดียวกับทองแท้ในร้านค้าทองคำ คำว่า “ไมครอน” คือหน่วยวัดปริมาณความหนาของผิวทองที่เคลือบ ยิ่งปริมาณทองที่เคลือบหนาราคาก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็คงทราบกันดีว่า “ของปลอม” ใส่ได้สักพักผิวที่เคลือบไว้จะหลุดลอกไป ไม่เป็นอย่างคำโฆษณาที่ระบุว่า ไม่ลอก ไม่ดำ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความหนาที่เคลือบ)         อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณลูกนก เธอรับได้ว่าเป็นทองปลอม แต่ติดที่คำโฆษณาว่า ไม่ลอกไม่ดำนี่แหละ ที่ทำให้รู้สึกว่าเสียท่า ทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิจึงได้แนะนำในเบื้องต้นไปว่า ให้เธอไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าทางเพจได้ขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพตามคำโฆษณาและประสงค์ให้ทางร้านคืนเงินให้ เมื่อได้ใบแจ้งความแล้วให้ส่งเข้าทางเพจของร้านและลองยื่นเงื่อนไขขอคืนเงินหรือให้ทางร้านรับซื้อทองนี้คืนในราคาที่ขายออกมา ซึ่งทาง มพบ.จะช่วยดำเนินงานประสานให้อีกทางหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 พลังงง-พลังงาน !?

        ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าเรื่องพลังงานนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากถึงยากมาก ถ้าเราเชื่อและยอมรับอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าพ่อค้าพลังงานทำงานได้ผลดีมาก เพราะความตั้งใจของพ่อค้าพลังงานเขาไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจอะไรที่สำคัญๆ หรอก เขาต้องการให้เราบริโภคและจ่ายเงินซื้อพลังงานจากเขาเพียงอย่างเดียว แต่ครั้นจะไม่ให้เข้าใจอะไรเสียเลยก็จะผิดหลักการค้าในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องการความโปร่งใส  เป็นธรรมและร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิกฤตโลกร้อน พวกพ่อค้าจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลแบบไม่ครบถ้วนบ้าง  ไม่จริงทั้งหมดบ้าง หรือแกล้งทำให้ดูเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เรียกว่าทำให้เรางงเล่นแล้วจะรู้สึกเบื่อไปเอง         ผมเองเชื่อมานานแล้วว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญกับตนเองได้เกือบทุกคน แต่กับบางคนที่ไม่ยอมเรียนรู้ก็เพราะไปติดกับดักที่เป็นวาทกรรม เช่น “ราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาดโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันขึ้นอยู่ที่พ่อค้าจะปั่นราคาเป็นส่วนใหญ่และเมื่อไหร่ ปัจจัยเรื่องอุปสงค์และอุปทานก็มีส่วนด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป ที่น่าแปลกมากก็คือราคาน้ำมันดิบเคยติดลบถึง $37 ต่อบาร์เรล (ใครสั่งน้ำมันราคาล่วงหน้านอกจากไม่ต้องจ่ายเงินแล้วยังได้เงินกลับไปอีก เพราะบริษัทไม่มีที่จะจัดเก็บ) ในช่วงพฤษภาคม 2563 ทีทั่วโลกกำลังตกใจกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงแรก          อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่มี “พลังงง” อาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ผมจึงมีวิธีการแปลงราคาจาก “ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” มาเป็น “บาทต่อลิตร” พร้อมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างเพิ่มเติม ดังรูป ไม่ยากเลยครับ            ประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 60% ของมูลค่าที่ต้องใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบประเทศเราต้องนำเข้าประมาณ 85%  ดังนั้น หากมีการปั่นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศเราจึงไม่ต่างอะไรกับ“ประเทศเมืองขึ้น” หรือ “ทาส” นั่นเอง         เรามาทดสอบความเข้าใจกันดีไหมครับ หยิบเอาข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบประมาณ $42 ต่อบาร์เรล (อัตราแลกเปลี่ยน 31.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เราสามารถแปลงมาสู่สิ่งที่เราคุ้นเคยได้ว่าประมาณ 8.41 บาทต่อลิตร ถ้าเราอยากจะรู้ว่าตอนนั้นราคาประกาศหน้าโรงกลั่นเป็นเท่าใด ก็ถาม “google” ได้ โดยพิมพ์คำว่า “โครงสร้างราคาน้ำมัน” พบว่าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ราคาเบนซิน(ULG) ขายส่งหน้าโรงกลั่นเท่ากับ 9.88 บาทต่อลิตร และราคาหน้าปั๊มใน กทม.และปริมณฑลเท่ากับ 28.96 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นราคาที่รวมภาษีและค่าอื่นๆ แล้ว รู้สึกงงอีกแล้วใช่ไหมครับ  ก็ต้องขยันค้นคว้า ขยันตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ”         ในปี 2564 (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 7.7 และ 1.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท (จัดเป็นมูลค่าส่งออกที่สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ)  นั่นคือมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าถึง 36% ของมูลค่าน้ำมันดิบที่นำเข้า ถึงตรงนี้เราอาจจะรู้สึกงงๆ ใน 2 ประเด็นคือ         หนึ่ง ทำไมไม่สั่งน้ำมันดิบเข้ามาให้ใกล้เคียงกับปริมาณที่คนไทยใช้  เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยมีจำนวนมาก สามารถกลั่นได้มากกว่าที่คนไทยใช้ ที่เหลือจึงต้องส่งออก ประเด็นนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ นอกจากปัญหามลพิษจากกระบวนการกลั่นที่ได้ทิ้งไว้ให้คนไทยรับไป รวมทั้งน้ำมันดิบรั่ว เป็นต้น         สอง สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆ คือ การกำหนดราคาขายส่งน้ำมันสำเร็จหน้าโรงกลั่น ถ้าขายให้คนไทยใช้(ขายส่งนะ) ให้คิดในราคาเท่ากับที่กลั่นในประเทศสิงคโปร์ แล้วบวกด้วยค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาอำเภอศรีราชา ประเทศไทย บวกด้วยค่าประกันภัย และบวกด้วยค่าน้ำมันหกหรือระเหยระหว่างการขนส่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่บวกเข้ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ความจริงคือกลั่นในประเทศไทย         ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทยที่ขายให้คนไทยใช้นั้นมีราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ นี่คือความไม่เป็นธรรม ที่ทางกระทรวงพลังงานไม่เคยอธิบาย คงจะเป็นเพราะว่ามันไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรมาอธิบาย         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 5 หมื่นล้านลิตร ถ้าราคาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าเท่ากับลิตรละหนึ่งบาท ก็มีมูลค่าเท่ากับ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยตรง         ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายให้คนไทยใช้ภายในประเทศกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกนั้นราคาจะสูงกว่ากันเท่าใด แต่ผมไม่พบข้อมูล(สำเร็จรูปที่สามารถใช้ได้ทันที) จากกระทรวงพลังงาน  ดังนั้นผมจึงลงมือคำนวณเอง โดยเลือกคำนวณเพียงเดือนเดียว (เพราะข้อมูลดิบมีเยอะมาก) ผลการคำนวณในเดือนพฤศจิกายน 2564 ดังแสดงในรูปครับ ผลการคำนวณสรุปว่า        (1)   ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันสำเร็จที่ขายให้คนไทยที่หน้าโรงกลั่น 1.01 บาทต่อลิตร        (2)   ราคาน้ำมันดิบนำเข้าแพงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย(จากหลายตลาด)ในตลาดโลก 1.57 บาทต่อลิตร         ยังมีความจริงอีกหนึ่งอย่างที่กระทรวงพลังงานไทยไม่เคยบอกเรา แต่ผมพบในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาคือ “โดยเฉลี่ยน้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือ 159 ลิตรจะได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรวมกันถึง 170 ลิตร” นี่คือกำไรที่ซ่อนอยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน        เรื่องพลังงานไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องน้ำมันอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องผูกขาด ปั่นราคา ก่อสงคราม (เช่นกรณียูเครน รัสเซีย) และเอื้อให้มีการคอรัปชันได้ง่าย ยังมีเรื่องไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเราสามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ผูกขาดได้ยาก เราสามารถนำแสงแดดมาผลิตไฟฟ้าแล้วใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนน้ำมันได้ด้วย นี่เป็นหนทางที่ประเทศเราจะสามารถพึ่งตนเองหรือเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่เป็นหนทางที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น เป็นหนทางลดรายจ่ายได้ หรือหนทางเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือนหากเราสามารถขายไฟฟ้าที่เราผลิตเองได้        แล้วค่อยคุยในในโอกาสต่อไปครับ ผมจะเขียนประจำที่ “ฉลาดซื้อ”  เพื่อเปลี่ยนพลังงงของผู้บริโภคมาเป็นพลังของการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและลดปัญหาโลกร้อนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 “ราคารถไฟฟ้าควรเป็นเท่าใด ทำไมคมนาคมเสนอ 36 บาทและทำไมสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ 25 บาท”

        ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด บางส่วนยังตั้งคำถามกับราคา 25 บาทที่สภาองค์กรของผู้บริโภคนำเสนอว่าทำได้มั้ย มาจากอะไร         ราคาตั้งต้นของกระทรวงคมนาคมกำหนดค่าโดยสารที่ 49.83 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ลดราคาค่าโดยสารลงเหลือ 50% เฉลี่ยที่ 25 บาทโดยยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรถไฟฟ้าจำนวนเท่าเดิมตามตัวเลขของกระทรวงคมนาคม พบว่ากทม. ยังมีรายได้ในปีพ.ศ. 26020 จำนวน 23,200 ล้านบาท ทั้งยังได้รับการยืนยันจาข้อมูลของนักวิชาการว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของสายสีเขียวระหว่างปี2557-2562 อยู่ระหว่าง 10.10-16.30 บาท เท่านั้น หรือหากติดตามข้อมูลเรื่องนี้ก็จะพบว่า ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือพรรคการเมืองต่างๆ ยืนยันว่าราคา 20 บาทขึ้นไปเป็นราคาที่ทำได้จริง         แต่สิ่งที่สำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหารถไฟฟ้าราคาแพงถึงคนรุ่นต่อไป คือโอกาสของประเทศในการจัดการรถไฟฟ้าทั้งระบบ ระบบตั๋วร่วมการยกเว้นค่าแรกเข้า การกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุด เพราะถึงแม้สายสีเขียวจะถูกลงแต่หากสัญญาสัมปทานไม่มีข้อกำหนดหรือกติกาเหล่านี้ ประชาชนก็ต้องจ่ายราคาแพงในการเดินทางข้ามโครงข่ายรถไฟฟ้าหลากสี ซึ่งสัญญาสัมปทานสายสีเขียวที่นำเข้าสู่การพิจารณาของครม. ไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้เลย และหากจะมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอนคต คงหลีกเลี่ยงค่าโง่ในการดำเนินการมิได้         การดำเนินการครั้งนี้จึงมีความสำคัญกับประชาชน ในการทำให้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพและการเชื่อมต่อกับจังหวัดรอบๆ ปริมณฑลเป็นจริงเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ฝุ่น PM 2.5และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน         ล่าสุดจากการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงคมนาคมวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าสามารถใช้ราคา 36 บาทในการดำเนินการได้จากรายได้ที่กรุงเทพมหานครได้รับ         นอกจากนี้การต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ได้ถูกตั้งคำถามปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ดำเนินการตามพรบ. ร่วมทุน และปัญหาค่าโดยสารราคาแพงที่เป็นภาระหนักของผู้บริโภคในอนาคตนานถึง 37 ปี ที่สูงถึง 65 บาท หรือ 39% ของรายได้ขั้นต่ำของ ประชาชน จะมีทางออกอย่างไร ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะยังชะลอการนำเข้าพิจารณาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา         ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีมีความเสี่ยงในการพิจารณาเรื่องนี้ ทั้งข้อเท็จจริงหรือรายได้ ราคาค่าโดยสารที่ขาดที่ไปที่มา ไม่ครบถ้วน ซึ่งราคาที่กำหนดยังได้รับการยืนยันว่า เป็นการเหมารวมระบบสัมปทานแบบทั้งการเดินรถและสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การโฆษณาตลอดระยะเวลา 37 ปี จึงมั่นใจว่า ราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาทที่นำเสนอจึงเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและหากจะรวมค่าโดยสารรถเมล์หรือบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ อีกไม่เกิน 8 บาท รวม 33 บาทจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 “ผู้ประกันตนกับบำนาญชราภาพ”

        องค์กรผู้บริโภคเสนอประกันสังคม จ่ายบำนาญชราภาพแบบเดิมและอาจเตรียมเกษียณอายุ 60 ปี สำหรับผู้ประกันตนรายใหม่การริเริ่มของประกันสังคมที่จะยกเลิกการจ่ายบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี โดยเลื่อนการจ่าบำนาญชราภาพเมื่ออายุ 60 ปีแทนกลุ่มผู้บริโภคมองว่าเรื่องนี้เมื่อสำนักงานประกันสังคมมีสัญญาที่ตกลงไว้กับผู้ประกันตนว่าจะ        สามารถเกษียณอายุได้ที่อายุ 55 ปีและหากส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปีจะได้รับบำนาญชราภาพประมาณ 3,750บาทต่อเดือน หรือหากส่งเงินสมทบในฐานะผู้ประกันตน 20 ปีก็จะได้รับเงินอยู่ที่ประมาณ 4,125 บาท         สิ่งที่สำนักงานประกันสังคมควรจะดำเนินการซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยก็คือ การขยายเพดานวงเงินสูงสุดของผู้ประกันตนที่สมทบจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท แต่หากเปรียบเทียบกับเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าสัญญาเดิมที่ทำไว้กับผู้ประกันตนก็ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนเป็นผู้มีสิทธิในการเลือกว่าจะรับบำนาญที่อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ซึ่งควรเป็นการตัดสินใจของผู้ประกันตนที่จะเลือกสิทธิของผู้ประกันตนนั้นด้วยตัวเอง แต่หากประกันสังคมจะปรับให้จ่ายคืนบำนาญที่อายุ 60 ปีก็ควรดำเนินการกับผู้ประกันตนใหม่หรืออาจจะดำเนินการอย่างเป็นระบบสอบถามความสมัครใจในการที่จะเลือกสำหรับผู้ประกันตนรายเดิมส่วนรายใหม่ก็จัดการปรับแก้กฎหมายให้ชัดเจน ให้จ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ 60 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลดีก็คือทำให้บริษัทเอกชนทั้งหลายอาจจะต้องยืดระยะเวลาการจ้างงานจาก 55 ปีเป็น 60 ปีแทนที่ในปัจจุบันบริษัทเอกชนใช้วิธียุติการจ้างเมื่อครบอายุ 55 ปี แล้วให้ลูกจ้างไปรับเงินประกันสังคมแล้วอาจจะทำสัญญาจ้างใหม่อีกรอบซึ่งทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิต่างๆอีกหลายอย่าง         แต่ไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรสำนักงานประกันสังคม ควรจะสอบถามผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบเพราะผู้ประกันควรมีสิทธิเลือกและช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ         สิ่งสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมอีกส่วน คือ การปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะในปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ เช่น งบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำนักงานประกันสังคมควรเร่งพัฒนาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์และลดการจ่ายเงินในส่วนบริการสุขภาพหรือยุติการจ่ายเงินในส่วนสุขภาพในที่สุดเพราะรัฐบาลควรรับผิดชอบผู้ประกันตนเช่นเดียวกับผู้ป่วยในระบบบัตรทองหรอระบบสวัสดิการข้าราชการซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมีโอกาสได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ถุงเท้า 1 แถม 1 ที่ราคาไม่ตรงกับป้ายที่ติดไว้

        ผู้บริโภคคงเคยเจอเหตุการณ์ร้านค้าขายสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคาที่แจ้งไว้ แล้วได้จัดการปัญหานี้อย่างไรหรือว่าปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ผ่านไป ถ้าเราอยากจัดการปัญหาลองมาดูกันสิว่าผู้บริโภคที่พบเจอเหตุการณ์แบบนี้เขามีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร         คุณจันจิราพนักงานบริษัทผู้แข็งขันได้รับมอบหมายให้จัดประชุมกรรมการบริหารของบริษัท จึงไปเตรียมการจัดประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อถึงห้องพักเธอนำเสื้อผ้าออกจากประเป๋า เพื่อเตรียมชุดสำหรับประชุมวันรุ่งขึ้น แต่กลับพบว่า เธอไม่ได้นำถุงเท้ามาด้วย จึงต้องออกไปซื้อถุงเท้าที่ร้านสะดวกซื้อใกล้โรงแรม เบื้องต้นก็ถามพนักงานว่า มีถุงเท้าขายไหม อยู่ตรงไหน พนักงานพาเธอมาตรงชั้นสินค้าที่วางถุงเท้า เธอเห็นป้ายราคาติดไว้ 35 บาท ซื้อ 1 แถม 1 “เออก็ถูกดีนะ” เธอจึงหยิบมา 2 คู่ ตามป้ายที่ระบุไว้ คือ 1 แถม 1 (ถุงเท้า 2 คู่ ราคา 35 บาท)        เมื่อพนักงานชำระเงินสแกนบาร์โค้ดสินค้า ราคาถุงเท้าจาก 2 คู่ 35 บาท เป็น 2 คู่ 49 บาท เธอจึงแย้งพนักงานว่า ที่ชั้นวางสินค้าติดราคาไว้ว่า 2 คู่ 35 บาท ทำไมราคาไม่ตรงกัน พนักงานจึงเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า พบว่าป็นอย่างที่เธอพูดจริงๆ คุณพนักงานรีบกล่าวขอโทษ แต่แจ้งเธอว่า “สินค้าหมดโปรโมชั่นแล้วค่ะ” คุณจันจิราคิดในใจ “ไม่เล่นแบบนี้นะคะน้อง” แล้วจึงหยิบป้ายที่ติดราคาไว้มาดูและชี้ให้พนักงานดูว่า “ยังไม่หมดโปรโมชั่นค่ะ” พนักงานจึงกล่าวขอโทษอีกครั้งและแจ้งว่าน่าจะติดราคาสินค้าผิด        คุณจันจิราเริ่มหงุดหงิด จึงบอกให้พนักงานเอาป้ายราคาที่ติดผิดออก พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวจะดำเนินการนำป้ายราคาที่ผิดออก “แน่ะ ยังจะเดี๋ยวอีก” คุณจันจิราแจ้งว่าให้นำออกทันทีสิคะ เพราะอาจจะมีคนอื่นซื้อเพราะเข้าใจผิดอีกก็ได้ เป็นพนักงานของร้านเมื่อพบว่า ป้ายสินค้ามีปัญหาก็ควรรีบแก้ไข และควรระวังการติดป้ายราคาผิดพลาดด้วย  หลังจากจัดพนักงานไปหนึ่งชุด สุดท้ายเธอก็จำต้องซื้อถุงเท้ามาในราคา 49 บาท เพราะจำเป็นต้องใช้งาน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ในใจว่าถ้าเธอหรือคนอื่นเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร ที่เธอทำไปถูกหรือไม่ จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า จริงๆ แล้ว ผู้ร้องสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ร้านค้าติดป้ายไว้ เพราะเป็นความผิดของทางร้านค้า การที่ผู้ขายขายสินค้าไม่ตรงกับราคาตามป้ายแสดงราคา มีความผิดต้องโดนปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผู้ร้องสามารถแจ้งไปได้ที่กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง         นอกจากร้องเรียนไปยังหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาของตัวเองแล้ว ยังสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของร้านค้า ทั้งนี้หน่วยงานยังมีรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสถึง 25 เท่าของค่าปรับ เมื่อหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเบาะแสแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรจะร้องเรียนไปยังหน่วยงาน เพื่อใช้มาตรการทางอ้อมในการให้ร้านค้าคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ซื้อขนมพายสตรอเบอรี่มาแต่มันขึ้นรา ทำไงดี?

        เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมาคงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของใครหลายคน เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของปีก่อนจะเริ่มขึ้นปีใหม่ แถมยังเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวหลายคนคงจะเตรียมออกเดินทางที่จะท่องเที่ยวช่วงกับครอบครัวกันแน่นอน เรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่เราจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องจากคุณน้ำตาล ที่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2564 ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงาน ทริปไปท่องเที่ยวไหว้พระทำบุญก่อนขึ้นปีใหม่         คุณน้ำตาลโอเคมาทริปแบบนี้ดีถือว่าเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเริ่มปีใหม่ เข้าวัดทำบุญเสียหน่อยเผื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีของเธอ วันนัดชาวคณะนั่งรถแท๊กซี่ไปโดยมีจุดมุ่งหมายปลายทาง คือ วัดดังย่านเขตดุสิต วัดแรกทำบุญและให้อาหารปลามีความสุขมาก หลังจากนั้นชาวคณะเริ่มเดินเท้าไหว้พระวัดที่ 2 ซึ่งไม่ไกลจากวัดแรกมากนัก อย่างไรก็ตามอากาศที่ร้อนก็ทำให้การเดินเท้าแบบเดินไปเรื่อยๆ นั้นเหนื่อยเอาเรื่อง เลยเดินเข้าวัดที่ 2 และแวะร้านกาแฟเล็กๆ ภายในวัดเพื่อหากาแฟดื่มให้ชื่นใจ คุณน้ำตาลเดินดุมๆ เข้าไปในร้านกาแฟทันที แต่ดันเห็นน้ำอัดลมและขนมพายสตรอเบอรี่เลยเปลี่ยนใจ ไม่กินกาแฟแล้ว สั่งน้ำอัดลมและขนมพายดีกว่า เมื่อรับสินค้ามาแล้วนั่งดูดน้ำอัดลมอย่างชื่นใจ ขณะฉีกซองพายสตรอเบอรี่เธอดันเห็นอะไรเขียวๆ ดำๆ เป็นจุดๆ หน้าตาเหมือนกับราเลย เธอคิดว่าจะเป็นวิธีการตกแต่งหน้าพายแบบใหม่ก็ไม่น่าใช่ จึงยื่นให้พี่ที่ทำงานช่วยดู ทุกคนก็บอกว่ามันคือราแน่นอน คุณน้ำตาลจึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี และแอบเสียดายเพราะอยากที่จะลองกินขนมพายสตรอเบอรี่ด้วย แต่ก็คิดว่าขนมทั้งหมดนั้นน่าจะมีปัญหาหมดอายุเหมือนกันทั้งหมดด้วยไหมแนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้เอาขนมไปเปลี่ยนกับทางร้านกาแฟทันทีที่เจอ ซึ่งทางร้านก็คืนเงินให้ทันที เพราะหากเปลี่ยนเป็นขนมชิ้นใหม่ ก็คือขนมล็อตเดียวกันและอาจจะขึ้นราอีกทางร้านจึงเลือกคืนเงินแทน พร้อมขอโทษขอโพยคุณน้ำตาล ซึ่งเธอก็ไม่ติดใจอะไรพร้อมรับเงินคืนจากทางร้าน  และขอให้เก็บสินค้าขนมพายสตรอเบอรี่ทั้งหมดออกจากชั้นวางขนมเพราะคิดว่า น่าจะหมดอายุเช่นเดียวกัน ซึ่งทางร้านยินดีจัดการปัญหาตามที่คุณน้ำตาลแนะนำ           ทั้งนี้ คุณน้ำตาลก็ได้มาเล่าประสบการณ์ที่เจอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอกรณีแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่นำสินค้าไปเปลี่ยนและขอเงินคืนได้ทันที และอยากให้ผู้ประกอบการตรวจเช็คสินค้าเสมอก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ระวัง! SMS ชวนหารายได้เสริมแบบใหม่ สูญเงินเกือบ 3 แสน

        “สวัสดี เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของ shopee เราขอเชิญคุณทำงานเสริมที่บ้าน หาเงินง่ายๆ วันละ 3,000 บาทด้วยมือถือ แล้วเงินเดือนออกวันเดียวกัน สนใจสมัครแอดไลน์มาได้เลย ID:863690”         นี่เป็นข้อความ SMS หลอกลวงในรูปแบบใหม่อีกแล้ว หากใครได้รับละก็ แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและให้ลบทิ้งไปเลย ไม่อย่างนั้นคุณอาจต้องสูญเงินแสนเหมือนอย่างคุณพรรณีก็เป็นได้         เมื่อปลายปี 2564 คุณพรรณีได้รับข้อความ SMS เชิญชวนนี้ก็สนใจ เธอจึงแอดไลน์ไอดีนั้นไป ปรากฏข้อความขึ้นว่า ”สวัสดีฉันชื่อเทสซ่า คุณมาสมัครงานใช่หรือไม่?” แล้วแนะนำว่าเป็นแพลตฟอร์มของ shopee ต้องการพนักงานจำนวนมาก เพื่อช่วยผู้ค้าเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรม พร้อมกับส่งลิงค์มาให้ลงทะเบียน เธอกรอกชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ และกำหนดรหัสผ่านลงไป จากนั้นก็ได้รับบัญชีเพื่อทำภารกิจ งานที่ว่านี้ก็คือ การกดคู่สินค้าในแอปพลิเคชั่น เพื่อรับกำไร 7% จากราคาสินค้าต่อชิ้นที่จับคู่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าเธอต้องเติมเงินก่อนเริ่มทำภารกิจ โดยโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง (ชื่อบัญชีนายชัยศักดิ์ เสาวิบูลย์ ) เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นก็จะถอนเงินจากบัญชีได้         ว้าว! เพียงครั้งแรกก็ได้กำไรมาเหนาะๆ เกือบ 300 บาท เมื่อเห็นว่าทำง่ายได้เงินจริง เธอจึงเติมเงินเพื่อทำภารกิจต่อ แต่ครั้งนี้แอดมินแจ้งเงื่อนไขใหม่ว่าจะต้องทำภารกิจทั้งหมด 30 ด่านก่อน ถึงจะถอนเงินจากบัญชีได้ เธอก็ทำตามนั้นโดยได้โอนเงินไปรวมทั้งสิ้น 279,607.49 บาท แต่หลังจากจับคู่สินค้าครบ 30 ภารกิจแล้ว เธอกลับถอนเงินออกมาไม่ได้ ครั้นสอบถามไป แอดมินก็แจ้งว่าเธออาจกดลิงค์ผิด ดังนั้นต้องทำเพิ่มอีก 20 ภารกิจถึงจะถอนเงินได้ เธอคิดว่าน่าจะไม่ชอบมาพากลซะแล้ว จึงไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใหม่นี้ หลังจากนั้นแอดมินไลน์ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย คุณพรรณีเป็นกังวลมากจึงขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณพรรณีรีบไปแจ้งความ โดยรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมนี้ทั้งหมด ได้แก่ หลักฐานข้อความสนทนากันในไลน์ สลิปการโอนเงิน โดยในสลิปจะมีชื่อบุคคลที่รับโอนเงิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้สามารถให้ตำรวจเรียกบุคคลดังกล่าวมาพบ และอาจขอให้ตำรวจทำหนังสือถึงธนาคารให้ระงับบัญชีดังกล่าวได้         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อกลลวงจาก SMS ในลักษณะที่ต้องโอนเงินไปให้ก่อนเด็ดขาด เพราะในที่สุดแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

อ่านเพิ่มเติม >