ฉบับที่ 228 ซื้อมะม่วง 1 กิโล แต่โดนโกงไป 2 ขีด

เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงาน คุณสุรีย์ได้จอดรถแวะซื้อกับข้าว ณ ตลาดนัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ขณะเดินจ่ายตลาดอยู่นั้น คุณสุรีย์ได้เหลือบไปเห็นมะม่วงในร้านผลไม้สดร้านหนึ่ง ดูแล้วน่ารับประทานดี แม้จะไม่เห็นป้ายราคาเขียนติดเอาไว้ คุณสุรีย์ก็คิดว่าราคาน่าจะไม่แพงเท่าไหร่ เพราะเป็นช่วงที่มะม่วงออกเยอะ จึงได้บอกแม่ค้าไปว่า ขอซื้อมะม่วง 1 กิโล เมื่อแม่ค้าได้ยินดังนั้น ก็หยิบมะม่วงใส่ถุงหูหิ้ว ขึ้นชั่งน้ำหนัก ครั้นส่งถุงมะม่วงให้ก็แจ้งราคาคุณสุรีย์ทราบ        ฝ่ายคุณสุรีย์แม้ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราคามะม่วง แต่ก็แอบสังเกตเข็มตาชั่งของแม่ค้า พอรับถุงมะม่วง ก็ลองเอามือถ่วงๆ ดู ก็เดาว่ามะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัม จึงได้ทักท้วงกลับไป  แม่ค้าเมื่อได้ยินคุณสุรีย์ทักท้วงเรื่องน้ำหนักมะม่วง แต่ยังคงยืนยันกลับมาว่า มะม่วงนั้นหนัก 1 กิโลกรัม แต่ก็ไม่ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการชั่งน้ำหนักมะม่วงให้ลูกค้าดูอีกรอบ         หลังจากได้ยินแม่ค้าตอบอย่างนั้น คุณสุรีย์แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่า มะม่วงในถุงน่าจะหนักไม่ถึง 1 กิโล แน่ๆ แต่ก็ไม่อยากต่อปากต่อคำกับแม่ค้า จึงควักเงินจ่ายไปแต่โดยดี เมื่อกลับถึงบ้าน เพื่อคลายความสงสัยที่มี คุณสุรีย์จึงนำมะม่วงขึ้นชั่งบนตราชั่งที่บ้าน ปรากฏว่า น้ำหนักมะม่วงหายไปเกือบ 2 ขีด คุณสุรีย์รู้สึกว่าโดนแม่ค้าโกง แบบชัดแจ้ง จึงได้ร้องเรียนเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แนวทางแก้ไขแก้ปัญหา        ตาม  พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542  มาตรา 79 กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีเครื่องชั่งตวงวัดไว้เพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โดยรู้ว่าเครื่องชั่งตวงวัดนั้นมีความเที่ยงผิดเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่าเครื่องชั่งนั้นชำรุด ก็จะทำการยึดเครื่องชั่งนั้นไปทำลายด้วย         กรณีที่แม่ค้ารู้อยู่แก่ใจว่า เครื่องชั่งที่ใช้ขายผลไม้นั้นชำรุด แต่ยังนำมาชั่งสินค้าขาย อาจเข้าข่ายความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 ที่กำหนดว่า ผู้ใดใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่ง เครื่องตวง หรือเครื่องวัด ที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า หรือมีเครื่องเช่นว่านั้นไว้เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้ การไม่แสดงป้ายราคาสินค้าอย่างเปิดเผย ณ จุดขาย ยังมีโทษปรับตาม ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ในมาตรา 40 ที่ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 28 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัลนำจับ ร้อยละ 25 ของค่าปรับด้วย         หากผู้บริโภคมาทราบทีหลังว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น น้ำหนักขาดไปจากความเป็นจริง ก็สามารถแจ้งกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อขอให้มาตรวจสอบร้านค้านั้นๆ ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 การตกค้างของ ‘ไกลโฟเสต’ ใน ซีเรียลบาร์

        ซีเรียลบาร์ (Cereal Bar), กราโนลาบาร์ (Granola Bar) หรือ ธัญพืชอัดแท่ง บางครั้งถูกเรียกว่า เอนเนอร์จีบาร์ (Energy Bar) เป็นอาหารเช้าหรือขนมทานเล่น ซึ่งทำจากกราโนลาที่ถูกอัดแท่งแล้วนำไปอบ เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เหมาะสำหรับช่วงเวลาเร่งรีบเพราะสามารถรับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังมีสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิดทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน น้ำตาล ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ          ความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับสารไกลโฟเสตคือ ในการเพาะปลูกธัญพืช เกษตรกรส่วนหนึ่งมีการใช้สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชในปริมาณมาก หรืออาจมีการตกค้างของสารเคมีดังกล่าวอยู่ในดินเพาะปลูก ซึ่งอาจทำให้เมล็ดธัญพืชที่เป็นผลผลิตมีสารพิษตกค้างอยู่ด้วย เมื่อนำธัญพืชมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ซีเรียล ก็มีความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์จะมีสารเคมีตกค้าง         โดยเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์กร “กลุ่มคนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม” หรือ Environmental Working Group ในสหรัฐอเมริกา ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซีเรียลที่วางขายในท้องตลาด จำนวน 45 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ และพบว่ามีซีเรียลถึง 43 ตัวอย่าง ที่มีสารไกลโฟเสต (Glyphosate) ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชปนเปื้อน โดย 2 ใน 3 ของตัวอย่างซีเรียลที่พบการปนเปื้อนนั้น มีปริมาณของไกลโฟเสตในอัตราสูง ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ได้         นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ จำนวน 8 ตัวอย่าง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายน 2562  ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารกำจัดวัชพืช “ไกลโฟเสต (Glyphosate)” เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ซีเรียลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยให้กับผู้บริโภค โดยผลวิเคราะห์แสดงไว้ดังตารางหน้าถัดไปสรุปผลการตรวจวิเคราะห์        จากการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารไกลโฟเสตในผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ จำนวนทั้งหมด 8 ตัวอย่าง พบว่า ไม่พบการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง  ข้อมูลโภชนาการ         จากการสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ ทั้ง 8 ตัวอย่าง โดยเรียงลำดับตามปริมาณน้ำตาล (กรัม) ต่อ น้ำหนักซีเรียลบาร์ 100 กรัม จากน้อยไปมาก พบว่า         ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ ที่มีปริมาณน้ำตาลต่อน้ำหนัก 100 กรัม น้อยที่สุด คือ Carman's (คาร์แมนส์) ธัญพืชชนิดแท่งผสมอัลมอนด์และเฮเซลนัต กลิ่นวานิลลา มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 11.42 กรัม/น้ำหนักซีเรียลบาร์ 100 กรัม         และ ผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์ ที่มีปริมาณน้ำตาลต่อน้ำหนัก 100 กรัม มากที่สุด คือ Kellogg's (เคลล็อกส์) ธัญพืชอบกรอบชนิดแท่งเคลือบโยเกิร์ต ผสมแครนเบอร์รี่อบแห้งและสตรอเบอร์รี่เข้มข้น มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 36 กรัม/น้ำหนักซีเรียลบาร์ 100 กรัมข้อมูลอ้างอิง- ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร  (http://fic.nfi.or.th/)- กราโนล่าคืออะไร ลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ สูตรลดความอ้วนด้วยกราโนล่า และวิธีทำกราโนล่าด้วยตัวเอง    (www.honestdocs.co/what-is-a-granola-to-lose-weight-or-not)   (www.honestdocs.co/what-is-a-granola-to-lose-weight-or-not)- สหรัฐฯ เตือนพบอาหารเช้า "ซีเรียล" ผสมยาฆ่าหญ้า  (www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/87584)- www.ewg.org/childrenshealth/glyphosateincereal- https://th.wikipedia.org/wiki/- www.ewg.org/childrenshealth/glyphosateincereal- https://th.wikipedia.org/wiki/ไกลโฟเสต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 นมข้นหวานและบรรจุภัณฑ์ที่ชวนข้องใจ

เคยทานนมข้นหวานกันหรือไม่ ? แล้วนมข้นหวานที่ท่านรู้จักบรรจุอยู่ในภาชนะแบบไหน ? เมื่อก่อนนมข้นหวานจะบรรจุในกระป๋องโลหะเคลือบดีบุก เวลาใช้งานต้องเจาะรูสองข้าง หรือเจาะฝาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้นมข้นหวานมีชนิดที่บรรจุในหลอดพลาสติกแบบบีบ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน แต่ว่าผู้บริโภคหลายคนก็กังวลเมื่อเจอปัญหานมข้นหวานในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้           คุณภูผาซื้อนมข้นหวานชนิดบีบยี่ห้อหนึ่งมารับประทาน ทั้งรู้สึกชอบใจที่บรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้วิธีการใช้ง่ายดี บีบรับประทานได้สะดวก เมื่อใช้ไม่หมดในครั้งแรกเขาก็เก็บส่วนที่เหลือเข้าตู้เย็นและนำออกมารับประทานอีกหลายครั้ง จนนมใกล้จะหมดหลอด คราวนี้เมื่อบีบออกมาก็พบว่า นมมีกลิ่นแปลกๆ และมีจุดดำๆ ออกมาด้วย         เมื่อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ คุณภูผาจึงผ่าหลอดออกดู เขาพบว่าในหลอดมีสิ่งปนเปื้อนจุดดำๆ หลายจุดลักษณะคล้ายเชื้อรา ตกใจในสิ่งที่เห็นมากมายเขาจึงแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอให้บริษัทฯ นำสินค้าไปตรวจสอบว่า สิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นอะไรกันแน่ เมื่อมอบสินค้ากับเจ้าหน้าที่แล้ว เขาก็รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คลายกังวล  แต่แพทย์ไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากเขาไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งคุณภูผาก็ยังกังวลเพราะไม่ทราบว่า กินสิ่งที่คล้ายเชื้อราไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่         ต่อมาพนักงานของบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่า สิ่งที่คุณภูผาพบนั้นเป็นเชื้อราจริง แต่ไม่สามารถให้ผลการตรวจได้ โดยก่อนมารับตัวอย่างพนักงานของบริษัทเคยรับปากว่า จะนำผลการตรวจสอบส่งให้เขา ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตกลงก่อนมอบสินค้า คุณภูผาจึงขอคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่พนักงานคนดังกล่าวบ่ายเบี่ยง พร้อมส่งเอกสารแจ้งมาว่า “ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด” เขาจึงกังวลว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสงสัยว่ากรณีแบบนี้ บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ อย่างไร จึงสอบถามมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีหนังสือถึงบริษัทผู้ผลิตขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคุณภูผาและบริษัทฯ โดยตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ปกติเชื้อราที่พบในนมไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา เพราะร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เอง ไม่เหมือนเชื้อราอะฟลาทอกซินในถั่วที่อาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ตัวแทนบริษัทได้แสดงการขอโทษด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ผู้ร้องหนึ่งกระเช้าและเงินค่าเสียเวลาจำนวนหนึ่ง คุณภูผาเองเมื่อได้ทราบข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่ติดใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ขอให้บริษัทปรับปรุงการให้ข้อมูลของฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์         อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตของบริษัทนมข้นหวานนี้เพิ่มเติมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 เพจสมุทรสงครามจัดการตนเอง

        อาจารย์บัณฑิต ป้านสวาท เขาทำงานพัฒนาชุมชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างเข้มข้น เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและดูแล เพจสมุทรสงครามจัดการตนเอง และ เพจแม่กลองพานิชย์ ซึ่งเป็นสองเพจดังที่ไม่มีใครในสมุทรสงครามไม่รู้จัก การทำงานผ่านทางเฟซบุ๊คของเพจสมุทรสงครามจัดการตนเองและแม่กลองพานิชย์นั้นเป็นตัวอย่างของสังคมออนไลน์ดีๆ ที่เรียนรู้และพัฒนาการอยู่ร่วมกันของผู้คนในชุมชนออนไลน์เล็กๆ นี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความหวังดี ที่ฉลาดซื้อนำมาฝากกันในวันที่ลมหนาวเริ่มมาเยือน ที่มาของสมุทรสงครามจัดการตนเอง        จริงๆ แล้วสมุทรสงครามจัดการตนเอง “มันไม่ได้ทำแค่เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเดียว” อย่างชื่อที่มันบอกไปคือสมุทรสงคราม คนสมุทรสงคราม  เราจะจัดการในเรื่องของตัวเราเอง ในพื้นที่ของเราเอง ฉะนั้นคือเรื่องความทุกข์ร้อนปัญหาอะไรต่างๆ ก็เอาเข้ามาคุยกันในกลุ่ม โดยกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ค  ผมเคยมีประสบการณ์ในการที่ถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ แล้วก็อาศัยพึ่งพาหน่วยงานบางหน่วยงานของรัฐไม่ได้ อย่างนี้เราก็เลยมีความรู้สึกว่าถ้าอย่างนี้เราจะทำให้มันเกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าหน่วยงานทั้งหมดไม่ดี เพียงแต่ว่ามีบางหน่วยงานเขาอาจจะทำงานไม่เต็มที่          เมื่อคิดว่าส่วนใหญ่แล้วสื่อจะเป็นส่วนที่ช่วยในการกระตุ้นกระบวนการให้มันเป็นไปในแนวทางที่ควรจะเป็น เราก็เลยมองว่า ณ ช่วงนั้นเมื่อ 7 ปีที่แล้วมันมีอะไรที่จะสามารถช่วยได้บ้าง แล้วด้วยตัวของเราเองที่เราเป็นชาวบ้านธรรมดาไม่ได้มีเงินทองมากมายที่จะทำสื่อ เราก็มีความรู้สึกว่า Facebook ง่ายที่สุด คือง่ายสุด ถูกสุด  ผมเชื่อว่าถ้าสังคมมันไม่ได้ฟอนแฟะ คนเขาจะต้องตัดสินใจจากข้อมูลข้อเท็จจริง เช่น เรื่องของการจอดรถในที่ห้ามจอด เมื่อก่อนจะมีปัญหามากเลยในตลาดแม่กลองเราก็ใช้วิธีการว่าเชิญชวนกัน ถ้าใครพบเห็นรถจอดในที่ห้ามจอด จอดผิดกฎจราจร ช่วงหลังๆ จะมีเรื่องรถทัวร์ที่มาเที่ยวในตลาดแม่กลองแล้วชอบจอดส่งนักท่องเที่ยวในที่ห้ามจอด เราก็เลยมีการพูดคุยกันว่าถ้าใครเจอช่วยถ่ายรูปเอามาลง  แต่ไม่ด่า แต่บอกว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลักการคือ หนึ่งใช้ความจริงมาพูด ก็คือข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิป หรือเสียง อะไรก็แล้วแต่ได้หมด ก็คือเอามาวางแต่ต้องให้ข้อมูล หมายความว่าถ้ามีแค่ภาพ คุณต้องอธิบายให้ฟังได้ นอกจากไม่ด่าแล้ว ก็ต้องไม่หมิ่นประมาทใคร เพราะในช่วงแรกๆ เลยมันมีการหมิ่นประมาทกันบ่อย        ตอนที่เริ่มทำแรกๆ ก็จะไม่ค่อยมีคนสนใจ “กฎ” เท่าไหร่ แต่พอสักระยะหนึ่งจะมีคนนำข้อมูลเหล่านี้มาวางลงเรื่อยๆ เริ่มมีคนเยอะขึ้นภาพเหล่านี้มันก็จะแสดงไปด้วยตัวมันเอง พอแสดง คนก็วิพากษ์วิจารณ์หมายถึงว่าหน่วยงานน่าจะมาทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ คอมเม้นท์ด่า(หมิ่นประมาท) ก็มาก  ก็จะมีคนมาแจ้ง Admin ก็คือผม ผมก็ไปจัดการเตือนแล้วก็ลบข้อความ ถ้ายังมีอีกก็อัญเชิญออก อีกอย่างหนึ่งที่บอกว่าตรงนี้เราไม่ใช่แค่ว่าเราบอกเขาเฉยๆ เราทำเป็นกติกาของกลุ่มเลย ข้อตกลงร่วมกันของกลุ่ม ถ้าคุณมีความเห็นแบบไม่ว่าใคร เดี๋ยวผมส่งลิงค์ข้อตกลงให้ดู เป็นประกาศของกลุ่มเลย ถ้าส่งไปให้ดูอาจะรู้สึกว่าทำไมมันยาวจัง แต่ข้อตกลงเหล่านี้เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่ม มีคนเป็นสมาชิกประมาณกี่คนในเพจ        เนื่องจากจังหวัดเราเล็ก เราจะมีสมาชิกอยู่ประมาณ 34,000 ราย ถ้าจำไม่ผิด จังหวัดอื่นเขามีกลุ่มที่ใหญ่กว่านี้เขามีกลุ่มละเป็นแสนเลย แต่ว่าเรามองว่าเราไม่เอาใจใครนะ แต่ว่าเราเอาเรื่องที่เป็นประโยชน์มาคุยกัน เรื่องที่เป็นสาระที่เป็นประโยชน์เป็นเรื่องของการพัฒนาข้อเสนอแนะในส่วนของพื้นที่ แล้วก็เรื่องที่เป็นปัญหาที่ควรจะต้องแก้ อันนี้คือสมุทรสงครามจัดการตนเองดำเนินการมา 7 ปี ปีนี้ขึ้นปีที่ 8 อย่างที่เราบอกคือ กลุ่มเราคุยกันเรื่องส่วนรวม  ตอนนี้มี Admin อยู่ประมาณ 14 – 15 คน เนื่องจากว่าทีแรกผมคิดคนเดียวทำขึ้นมา พอทำขึ้นมาระยะหนึ่งเขาเรียกว่าธรรมชาติของกลุ่มมันทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดการขับเคลื่อนอะไรหลายๆ เรื่องได้ คนที่เขารู้สึกว่าเขาเข้าใจการทำงานของผม เริ่มเข้ามาช่วย มาช่วยเก็บข้อมูลทำนั่นทำนี่ มันก็เลยกลายเป็นว่าพอมีคนเข้ามาช่วย เราก็ได้ Admin เพิ่ม คือจริงๆ แล้วคนเป็นหมื่นๆ ผมควบคุมดูแลคนเดียวไม่ได้ ก็ได้จิตอาสาที่เป็นน้องๆ หลายคนเข้าร่วม เนื่องจากว่าเขาเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับจังหวัดกับพื้นที่ แล้วเพจแม่กลองพานิชย์เริ่มต้นอย่างไร        อย่างที่บอกคือสมุทรสงครามจัดการตนเองดำเนินการมาสักพักหนึ่งเริ่มมีคนโพสต์ขายของเยอะขึ้น เราก็คิดกันในทีม Admin ว่าจะทำอย่างไรดี ก็เลยตัดสินใจยอมเหนื่อยอีกหน่อยหนึ่งไปสร้างกลุ่มอีกกลุ่มหนึ่งให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้(พวกขายของ) ชื่อว่ากลุ่มแม่กลองพานิชย์ ก็คือเป็นกลุ่มขายของ คุณก็ไปขายเลยที่นี่ ทีแรกคนก็ยังไม่เยอะก็ไม่เท่าไหร่ เพราะว่าเขาต้องการขายของต้องการอะไรหลายๆ อย่าง พอเราตักเตือนนิดหน่อยที่ไม่เหมาะสมก็มาหาว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าถ้าอย่างนั้นไม่เตือนแล้ว วิธีการคือทำกติกาเหมือนสมุทรสงครามจัดการตนเองเลย แล้วกติกาของแม่กลองพานิชย์หนักหนากว่าสมุทรสงครามจัดการตนเองอีกในรายละเอียด เพราะว่าประสบการณ์มันค่อยๆ เกิด         ก็คือคนก็อยากจะขายแบบเสรี มาโฆษณาร้านขายเหล้า ร้านดนตรี ซึ่งโดยส่วนตัวของทีม Admin เราก็ไม่ตกลงแล้ว เราไม่อยากให้เรื่องพวกนี้มันสื่อออกไป อย่างกรณีของกฎหมายทางภาครัฐ ก็ไม่ให้โฆษณาขายเหล้าเบียร์อยู่แล้ว ประเด็นหนึ่งที่เราถือเป็นหลัก คือเรื่องของโพสต์ทั้งหมดจะต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหล้า เบียร์ อบายมุข 4  เรื่องการค้าบริการทางเพศ เรื่องของสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เราจะพยายามกรองให้  ได้มากที่สุด  “แต่ว่าบางทีเอาตรงๆ เราก็ไม่รู้ว่าอันไหนผิดก็มีนะก็ต้องปล่อยไป”  ยกตัวอย่างได้ไหม        ยกตัวอย่างเช่น รีเทนเนอร์ที่จัดฟันแฟชั่น ทีแรกเราก็ไม่รู้ว่ามันผิด แต่ว่าพอสักระยะหนึ่งมานั่งนึกดูพวกจัดฟันส่วนใหญ่เป็นทันตแพทย์ เราก็เลยใช้วิธีการปรึกษากับทางทันตแพทย์ในจังหวัด คุณหมอมานะชัย (ทพ.มานะชัย ทองยัง) ใช้วิธีการปรึกษาเราก็รู้ว่า อันนี้มันเป็นเครื่องมือหรือวัสดุทางการแพทย์ ถ้าไม่ใช่หมอฟันหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับใบประกาศเฉพาะทางที่ทำตัวรีเทนเนอร์อันนี้ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย เราก็เริ่มศึกษาพวกนี้ แล้วมันก็จะมีหลายๆ อย่างตามเข้ามาเช่น น้ำหอมฟีโรโมน ซึ่งเราว่าไม่เหมาะแล้ว หลังๆ มาตัวระเบียบกติกาต้องเป๊ะ คือใช้กฎหมายมาจับเป็นหลัก เช่นของที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นของกิน ที่บรรจุภัณฑ์มันก็ต้องมีเลข อย.(เลขสารบบอาหาร) มีมาตรฐานที่ชัดเจนแสดงในการโพสต์ขายด้วย เรื่องยาลดความอ้วนห้ามเลย นมฟู รูฟิต นกเขาแข็ง คุณไม่ต้องหวังที่จะเข้ามาโพสต์ขายในเพจนี้          อีกส่วนหนึ่งที่เราพยายามคัดกรองคือ  เพจแม่กลองพานิชย์ จะมีระบบเลขสมาชิก ไม่ใช่เก็บเงินนะ อย่างที่บอกเรื่องพวกนี้มันเกิดมาจากลักษณะของการเป็นจิตอาสา หนึ่งคือเรามองว่าจัดการปัญหาส่วนรวมโดยมีบทเรียนส่วนหนึ่งจาก เพจสมุทรสงครามจัดการตนเอง แล้วก็มาเรื่องการค้าขายธุรกิจชุมชนที่เป็นแม่กลองพานิชย์ แต่ว่ามันก็ควรจะต้องให้เป็นตลาดสีขาว เราควรเป็นตัวอย่างของตลาดสีขาว มันก็เลยกลายเป็นว่ามีกติกาแล้วก็ของหลายๆ อย่างขายไม่ได้ ระบบเลขสมาชิกนี้เกิดขึ้นเพื่อที่ไม่ให้ผู้ขายเอาเปรียบผู้ซื้อและไม่ให้ผู้ซื้อเอาเปรียบผู้ขาย เพราะว่าในเมื่อคุณเป็นผู้ขาย คุณใช้เฟซอย่างเดียวไม่มีตัวตนก็ได้ จริงไหม เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะฉะนั้นเราเลยตั้งกติกา        ทีม Admin ยอมเหนื่อยหน่อย คนที่เข้ามาที่นี่เขาจะต้องกรอกแบบฟอร์มใน Google Form เข้ามา ชื่อ ที่อยู่ ที่อยู่ปัจจุบัน ภูมิลำเนาเดิม เบอร์โทรศัพท์ ID Line E-mail สินค้าที่ขาย ถ้ามีหน้าร้าน หน้าร้านชื่ออะไรประมาณนี้ แล้วก็ต้องมีการส่งรูปหน้าตรงมาด้วย สิ่งหนึ่งที่เราไม่เอาคือเลขบัตรประชาชนเราไม่อยากมีปัญหา แต่ตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะส่งข้อมูลจริงมา ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาจะส่งไหม แต่อย่างน้อยก็เป็นการให้ได้ข้อมูลมากที่สุด มันก็เป็นการป้องกันอย่างหนึ่งว่า ถ้าเขาไม่ได้จงใจมาหลอกใครจริงๆ เขาก็จะส่งข้อมูลจริงๆ มา อันนี้ก็เป็นการป้องกันระดับหนึ่ง หลังจากที่ผู้ขายได้เลขสมาชิกไปแล้วเขาก็จะโพสต์ขายได้ มันก็จะมีกติกาเพิ่มว่าห้ามโพสต์เกินสามรูป ห้ามโพสต์เกินหนึ่งครั้งต่อวันแบบนี้ หนึ่งคือเพื่อไม่ให้โพสต์ในกลุ่มมากเกินไป เพราะว่ากลุ่มนี้จะมีสมาชิกอยู่ประมาณ 35,000 คน ผู้ขายตอนนี้ปัจจุบันที่เราออกเลขไปแล้วมีอยู่ 6,000 กว่าๆ เฉพาะผู้ขาย ทีนี้ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งมี 6,000 แล้วผู้ขายแค่โพสต์พันเดียวใครจะไปดูในโพสต์ บางคนโพสต์วันละสามสี่ครั้ง คือจำกัดไว้ว่าคนละหนึ่งโพสต์ต่อวันประมาณนั้น            สำหรับการดูแลผู้ซื้อ เราจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อเวลาที่ผู้ขายเขาเอาเปรียบลูกค้า หรือสั่งแล้วไม่ไปส่ง หรือส่งของไปแล้วของบูด ของใช้ไม่ได้ พอลูกค้ารายงานกลับมาทาง Admin ก็สามารถให้ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวผู้ขายได้ ถ้าเป็นลักษณะของการฉ้อโกงหรือเอาเปรียบผู้บริโภค เราก็จะให้ข้อมูลเขาเพื่อไปแจ้งกับ สคบ. หรือไปแจ้งตำรวจก็ได้ ซึ่งแล้วแต่รูปแบบว่าโดนเอาเปรียบแบบไหน นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง          ไม่ใช่แค่ดูแลคนซื้อ เราก็ดูแลคนขายด้วย คือมีวิธีป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อเอาเปรียบผู้ขาย อย่างนี้นะ สมมติว่าคนขายเขาส่งของไปแล้ว เกิดคนสั่งซื้อไม่อยู่ไม่รับของ หรือว่าเกิดความเสียหายกับผู้ขาย อันนี้เราก็จะมีกระบวนการ การเตือน การห้ามโพสต์ การแบนอะไรพวกนี้อยู่ คือให้มันเป็นตลาดที่มีความยุติธรรมกันระหว่างทั้งคู่ เราแค่คอยช่วยกำกับดูแลให้ประมาณนั้น  แล้วก็เป็นตลาดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมามีปัญหามากน้อยแค่ไหนสำหรับทั้งสองเพจที่ดูแลอยู่        ส่วนใหญ่ถ้าจะเกี่ยวกับผู้บริโภคก็จะเป็นแม่กลองพานิชย์ ส่วนหนึ่งที่เราเจอปัญหาก็คือคนจะพยายามขายของประเภทที่ผิดกติกา เช่นพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อก่อนช่วงแรกๆ ที่เรายังไม่สามารถกั๊กโค๊ดไว้ได้ ช่วงแรกๆ ที่ Facebook ออกมา ถึงจะทำเป็นกลุ่มขายของก็จริง แต่ว่าจะยังตั้งค่าไม่ได้ ใครโพสต์มันก็จะลงในกลุ่มเลยแต่ว่าช่วงหลังๆ มันสามารถกันได้   เมื่อก่อนมันจะมีกลุ่มคนพวกนี้ พวกขายยาลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์สุขภาพทุกอย่าง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถึงมี อย. เราก็ไม่ให้ลงขายนะ เพราะว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าถึงจะมี อย. แต่ไม่รู้ว่าเขาจะใส่อะไรที่ไม่ถูกต้องไปหรือเปล่า สูตรที่แจ้งไปเป็นแบบนี้  แต่เวลาคุณทำจริงทำอีกแบบหนึ่งก็ได้เรากันไว้ก่อน คือมันไม่ใช่ของจำเป็นที่คนจะต้องกินก็ได้ เราห้ามเลย อีกส่วนหนึ่งก็คือพวกอาวุธพวกปืนเราก็ไม่ให้ บางคนเสนอขายมีดพับบัตรเครดิต  ซึ่งเป็นลักษณะมีดที่เป็นอาวุธเราก็ไม่ให้ขาย ส่วนของคุ้มครองผู้บริโภคอย่างที่ว่าคือเรามีกติกาเพื่อป้องกันการโกงกัน สิ่งที่ได้รับจากการทำเพจทั้งสอง        เมื่อก่อนผมทำโดยวัตถุประสงค์หลักคือ ผมไม่ได้รับความยุติธรรมจากหน่วยงานรัฐหรือว่าจากสังคม เหมือนมองโลกในแง่ร้าย สมัยก่อนนะ แต่เมื่อเรามีจุดเปลี่ยนบางจุด ผมได้เข้าร่วมการอบรมในเรื่องของจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับที่ใครหลายๆ คนเข้าใจนะ  บางคนจะเข้าใจว่าหลักคิดของจังหวัดจัดการตนเองคือการเลือกตั้งผู้ว่า การแบ่งแยกการปกครองมาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ หลักการคือมันเป็นการจัดการตนเองของภาคประชาชน ของคนในพื้นที่นั้นๆ อันนั้นคือจุดเปลี่ยนของผมที่ผมได้ไปรับรู้ข้อมูล        สมุทรสงครามจัดการตนเองก็คือ เรามีหน้าที่ไปดึงจิตอาสามาจากบุคคลทั่วไปที่เขาอยู่ในชุมชนนี้ให้ออกมาช่วยกัน เราอาจจะดึงไม่ได้ทุกคน แต่เรากระตุ้นด้วยวิธีการผลักดันขับเคลื่อนเอาภาพมาแสดงให้เห็น แล้วหลังจากนั้นไปสักระยะหนึ่งมีการติดตามผล เราทำให้เห็นผลลัพธ์ด้วย ก็คือเราก็เอาภาพผลปลายทางมาลงให้ด้วย เราไม่ได้ลงเพื่อหน่วยงานรัฐ แต่เราลงเพื่อให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลของการที่เรารู้จักสิทธิของตนเอง รู้จักคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตนเองที่มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น เราทำไปแบบนี้แล้วผลที่ได้มันเป็นอย่างไร อันนี้คือที่เราพยายามดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาจากหลายๆ คนซึ่งหลายๆ คนเขาคิดว่าเขาไม่มีนะ แต่บางคนเขาก็สามารถฉุดดึงออกมาได้ก็ถือว่าโอเคนะ ร้อยคนดึงได้สักสองสามคน สร้างกระบวนการให้เขาขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ออกมาจากตัวเขาเองได้ก็ถือว่าโอเคแล้วครับ..................................Fb : เพจสมุทรสงครามจัดการตนเองเป็นกลุ่มที่ใช้การนำเสนอประเด็นปัญหา การพัฒนาชุมชน และมุมมองด้านสังคม วัฒนธรรม โดยใช้กระบวนการปรึกษาพูดคุย ร่วมเสนอแนะแง่มุมต่างๆ ในการแก้ปัญหา และพัฒนาด้วยข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อสรุปก็ช่วยกันผลักดันไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมีหลายปัญหาในจังหวัดได้ถูกแก้ไขและเกิดการพัฒนาหลายอย่างด้วยกระบวนการเหล่านี้ด้วย  Fb : แม่กลองพานิชย์เป็นกลุ่มที่ช่วยให้เกิดช่องทางการค้าขายสินค้าและบริการของชุมชน ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้พบกันง่ายขึ้น ผู้ขายในชุมชนสามารถทำการตลาดได้ง่าย โดยมีโทรศัพท์มือถือ(สมาร์ทโฟน) เพียงเครื่องเดียวก็สามารถของสินค้าและบริการของตนเองได้ โดยกลุ่มแม่กลองพานิชย์มีกติกาที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีกลุ่มจิตอาสาเป็นผู้ควบดูแลกลุ่มไม่ให้เกิดความวุ่นวาย หรือการละเมิดกฎหมาย(พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2562

แบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้        นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป         ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น         สำหรับตัวเลขสารเคมีค้างสต็อก 29,869.58 ตัน หลังมติถูกแบนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ นั้น พบมากสุดคือ พาราควอต 13,063.69 ตัน รองลงมา ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน Media Disruption ทำคนไทยอ่านมากขึ้น แต่เป็น 'เนื้อหาออนไลน์' มากสุด         สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยคนไทยอ่านสื่อต่างๆ นานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่านสื่อต่างๆ 66 นาที และปี 2556 อ่านสื่อต่างๆ เพียง 37 นาที เมื่อพิจารณาสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 69.2 คือการอ่าน 'สื่อสังคมออนไลน์' ตามมาด้วย 'หนังสือพิมพ์' ร้อยละ 60.5 ส่วน 'วารสาร' และ 'นิตยสาร' นั้นคนไทยอ่านเพียงร้อยละ 40.3 และ 31.1 เท่านั้นตามลำดับรับมือปัญหา Romance Scam         ข้อมูลจาก 'คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับผู้ดูแลระบบและผู้บังคับใช้กฎหมาย' ภายใต้โครงการวิจัย 'ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ระบุขั้นตอนการแจ้งความเกี่ยวกับคดี Romance Scam ไว้ดังนี้        1. ให้ผู้เสียหาย เตรียมเอกสารส่วนตัวเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง        2. กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง โดยเตรียมหลักฐาน เช่น ปริ๊นต์เอกสารหน้าจอหน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจ ที่พบการกระทำความผิด        3. กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐาน เช่น หลักฐานการโอนเงิน หน้าจอหรือรูปของบัญชีธนาคารของผู้รับโอน โดยปริ๊นต์เอกสารออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย         Romance scam คือ การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านการแชท การส่งข้อความเป็นการจีบ ทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรัก ยอมเชื่อใจไว้ใจตายใจ จนในที่สุดก็จะโดนขอยืมเงิน หลอกให้ส่งยาเสพติด หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย กรมสรรพสามิตเดินหน้าไอเดียเก็บภาษีความเค็ม        กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่มีความเค็ม โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุป และเสนอให้รมว.คลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้         นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังระบุว่า “ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมฯ กำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่  หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศ และจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน”         สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน "กองทุนแสงอาทิตย์" เปิดตัว ‘โรงพยาบาลภูสิงห์’ รพ. แสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชน         19 ตุลาคม โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่นและนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าวและส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์         “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561  โดยมีท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม เมตตาเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ         กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดบัญชีชื่อ กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายติดตั้งให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลภูสิงห์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย 7 แห่งดังกล่าว         โรงพยาบาลภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย - กัมพูชา และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 85 กิโลเมตร มีแพทย์จำนวน 5 คน ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9 แห่ง และหน่วยโรงพยาบาล 1 แห่ง รองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่อำเภอภูสิงห์กว่า 36,000 คน และรวมถึงประชาชนจากประเทศกัมพูชาด้วย  ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคตทำให้ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายเพิ่มของอาคารและการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน โดยในปี 2560 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทหรือ 1,800,000 บาทต่อปี แต่ในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 160,000 บาทหรือ 1,900,000 บาทต่อปี        คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์และโรงพยาบาลได้คัดเลือกให้ บริษัท เดชาวุฒิ อินเตอร์เทค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ และขณะนี้บริษัท ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว มีขนาดการผลิตไฟฟ้า  35.10 กิโลวัตต์  ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ชนิด Mono ขนาด 390 วัตต์ จำนวน  90 แผง  ภายใต้งบดำเนินการ 795,000 บาท ซึ่งจากการคำนวณคาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและทำให้เกิดผลการประหยัดตลอดเวลา 25 ปี หากคำนวณเชิงธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเอง ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่  3.72  ปีเท่านั้น        ขอขอบพระคุณประชาชนทั่วประเทศที่ได้ร่วมบริจาคผ่านบัญชี  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า เลขที่บัญชี 429-017697-4 ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2562

รู้ยัง ตรวจสอบราคายา รพ.เอกชนได้แล้ว        ‘กรมค้าภายใน’ จัดให้ระบบตรวจสอบราคายา 356 โรงพยาบาลออนไลน์ขึ้นเว็บ-คิวอาร์โค้ด แบ่งระดับสี เขียว-เหลือง-แดง เทียบระหว่างโรงพยาบาลได้ โดยผ่านลิงค์เว็บไซต์กรมการค้าภายใน หรือสแกนคิวอาร์โค้ดที่โรงพยาบาล จากนั้นจะต้องพิมพ์คำค้นเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษ และสามารถเลือกเปรียบราคายาระหว่างโรงพยาบาลได้ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php คลิกเลย กทม. ลุยตรวจ 48 สวนสนุกในกรุงเทพฯ พบ 16.67% สอบตกเกณฑ์มาตรฐาน         ผลสำรวจสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 48 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง และในจำนวนนี้มีที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินสุขลักษณะ 8 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไข เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการและตรวจสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย ประเภทกิจการสวนสนุกในกรุงเทพ ฯ จำนวน 48 แห่ง ในพื้นที่ 26 เขต ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตประกอบกิจการ 33 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 15 แห่ง จึงได้แจ้งให้ดำเนินการขอใบอนุญาตให้ถูกต้องภายใน 15 วัน หากไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยจะสั่งระงับการให้บริการ และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวนสนุกที่ตั้งเป็นการชั่วคราวตามลานกิจกรรมหรืองานต่างๆ ประมาณ 7-30 วัน ที่ต้องขออนุญาตเช่นกัน ซึ่งต้องเข้าไปกวดขันดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงสร้างชั่วคราวมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งาน กทม. จึงได้กำชับให้เขตดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด สสส. เผยไทยมีนักดื่ม 22.5 ล้านคนสูงสุดในรอบ 5 ปี ชี้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10%         กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี  โดยจากการสำรวจพบว่านักดื่มไทยมีกว่า 22.5 ล้านคน สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยการดื่มลง 10% ประเทศประหยัดถึง 10,724 ล้านบาท          ปี 2562 สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ รณรงค์ผ่านแคมเปญ “ตับจะกลับมาดี พรรษานี้เริ่มงดเหล้า” จากการสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ช่วงปี 2544 - 2560 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มการดื่มลดลงจาก 32.7% ในปี 2544 เหลือ 28.4% ในปี 2560 ประกอบกับการสำรวจภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยวิธีการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี 2557 มีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอันตรายลดลงเหลือ 3.4% ลดจากปี 2547 ที่อยู่ที่ 9.1% ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของคนไทยโดยรวมลดลง สอดคล้องกับข้อมูลค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ลดลงจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เหลือ 142,230 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่การรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีทิศทางที่ดี โดยเฉพาะโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในทุกปีสคบ.อำนาจล้น ดีเดย์ 25 สิงหาคม กม.คุ้มครองผู้บริโภคบังคับใช้แล้ว        พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่นี้ เพิ่มเรื่องความคล่องตัวด้วยการมอบอำนาจแก่ท้องถิ่นมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่และเพิ่มอำนาจของกรรมการให้มากขึ้นเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม   รวมถึงยังมี กรรมการด้านความปลอดภัยที่เข้ามาดูแลเรื่องสินค้าบริการและเฝ้าระวังให้ผู้บริโภค ด้วย  นอกจากนั้นยังมีการกำหนดเรื่องการโฆษณาในมาตรา 29 ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพิ่มโทษปรับ 2 - 10 เท่าในกรณีการทำผิดเมื่อเปรียบเทียบกับพ.ร.บ. ฉบับปี พ.ศ. 2556         พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค(ฉบับที่4) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 สิงหาคม นี้ โดยเพิ่มอำนาจให้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ถูกปรับโครงสร้างใหม่ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดในทุกกระทรวงรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 8 คนและผู้แทนความรู้ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบธุรกิจอย่างน้อยภาคละ 2 คน ด้วยโครงสร้างนี้ หน่วยงานจะจัดการปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะจะมีตัวแทนจากทุกกระทรวงเข้ามาจัดการปัญหาได้โดยตรง อีกทั้งยังให้อำนาจกับเลขาธิการสคบ. สามารถพิจารณาและสั่งดำเนินคดีได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการหากพบว่าปัญหานั้นเข้าเกณฑ์ความผิด         สองมีการเพิ่มอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นหนึ่งเท่าในทุกมาตรา อีกทั้งกรณีสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการ   ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือร่างกายก็ต้องมั่นใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นปลอดภัยเพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าหรือบริการ บทลงโทษจะเปรียบเทียบความผิดไม่ได้ กล่าวคือเมื่อพบความผิดของผู้ประกอบธุรกิจจะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาและฟ้องดำเนินคดีทันที         สามการให้อำนาจกับท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ต้องส่งเรื่องมายังหน่วยงานกลางซึ่งทำให้ล่าช้า และเงินค่าปรับที่ได้มาจากการกระทำผิดไม่ต้องส่งให้ส่วนกลางแต่ให้กับพื้นที่เพื่อจะได้นำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่และยังทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไทยติดกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกสูงสุดในโลก         แต่ละปีคนไทยทิ้งขยะรวมกันกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับช้างกว่า 5.56 ล้านตัว เฉพาะ กทม. ทิ้งมากเกือบถึง 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ ที่ชวนให้ต้องตื่นตัวคือไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำเข้าขยะพลาสติกมากที่สุดของโลก          ขยะยังคงเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ยังหาทางกำจัดให้หมดสิ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปริมาณขยะในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 มีกว่า 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.64% จากปี 2560 ปัจจัยจากการมีประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนเมืองขยายตัว รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะในกรุงเทพฯ มีปริมาณ 4.85 ล้านตัน คิดเป็น 17% ของขยะมูลฝอยทั้งประเทศ         อย่างไรก็ดีพบว่า การจัดการขยะมูลฝอยถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงอย่างนั้นมีขยะพลาสติกเพียง 5 แสนตันจาก 2 ล้านตันที่ถูกรีไซเคิล ที่น่าตกใจคือมีขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 27% ประกอบกับการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ขยะจากบกปะปนสู่ทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตดังที่เกิดเหตุการณ์เป็นข่าวเศร้าต่างๆ         ในส่วนของเสียอันตรายจากชุมชนก็เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 13% เท่านั้น นอกจากนี้ มีกากของเสียอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบการจัดการยังลดลง 33% โดยมากเป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตราย โดยได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า         นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้การจัดการขยะอย่างถูกต้องจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีกฎระเบียบการคัดแยกของเสียอันตรายออกจากขยะทั่วไป รวมถึงมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งมีผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 422 รายการ รวมถึงยกเลิกการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นชอบ และได้จัดทำโรดแมป การจัดการขยะพลาสติกปี 2562-2570 โดยลดและเลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ภายในปี 2565

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 กระแสต่างแดน

ปอดไม่สำราญ        รายงานการสำรวจมลพิษในเมืองท่าของยุโรปโดยสหพันธ์การขนส่งและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปพบว่า สเปนคือประเทศที่มีมลภาวะจากเรือสำราญมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองบาร์เซโลนาและพาลม่า        รายงานระบุว่าในปี 2017 มีเรือสำราญมาเทียบท่าเรือบาร์เซโลนาถึง 105 ลำ รวมเวลาปล่อยมลพิษ  8,293 ชั่วโมง และปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลฟูรอกไซด์ และฝุ่นจิ๋ว (พีเอ็ม 2.5) ที่ปล่อยออกมานั้น สูงกว่ามลพิษจากรถยนต์ 558,920 คันบนท้องถนนในเมืองถึงห้าเท่า        เช่นเดียวกับพาลม่าที่มีเรือสำราญมาจอด 87 ลำ แต่มลภาวะจากเรือเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ในเมืองรวมกันถึง 10 เท่า        ต้องติดตามว่าสเปนซึ่งได้ชื่อว่าจริงจังกับการจัดการปัญหามลพิษจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า คนสเปนเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษถึงปีละ 30,000 คน หิวเลือกได้        ข่าวดีสำหรับสายบุญ สายสุขภาพ และสายรักษ์โลก ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นแล้วว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของ “เนื้อสัตว์” ที่เรารับประทานจะไม่เกิดจากการฆ่า        ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสังเคราะห์เนื้อสัตว์ขึ้นในห้องทดลอง หรือใช้พืชผักมาทำเป็นอาหารในรูปแบบที่ต้องการได้        ปัจจุบันมีบริษัท “สตาร์ทอัป” ด้านอาหารทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย เช่น บียอนด์มีท อิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ และจัสต์ฟู้ดส์ และมีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่น้อย        เมื่อ บียอนด์ฟู้ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 240 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท)         การสำรวจในจีน อินเดีย และอเมริกา พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับ “เนื้อทางเลือก” เป็นอย่างดี และขณะนี้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาอาหารทางเลือกยังสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 312,000 ล้านบาท) ด้วย ขอดีกว่านี้        คิวบาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมาหกเดือนแล้ว แต่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้พบว่าบริการนี้ยังต้องปรับปรุงทั้งเรื่องราคาและอิสระในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล        แพ็คเกจอินเทอร์เน็ต 4 GB สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 30 เหรียญ(ประมาณ 950 บาท) ต่อเดือน เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนคิวบาพอดี        ในขณะที่แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบ้านแบบ “เหมาจ่าย” อยู่ที่เดือนละ 800 เหรียญ(ประมาณ 25,000 บาท) คิวบามีประชากรทั้งหมด 11,200,000 คน และมีเพียง 79,000 ครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน        นอกจากนี้เว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมักจะถูกสั่งปิด และ Etecsa ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่าแอบสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย        ก่อนคิวบาจะเริ่มนำเทคโนโลยี 3G มาใช้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 5.3 ล้านคน จะต้องเชื่อมต่อกับชาวโลกผ่านฮอทสปอต wifi ที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงโปรฯ ลดเหลื่อมล้ำ        Digi ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอันดับสามของมาเลเซียออกโปรโมชั่นให้ส่วนลดเดือนละ 10 ริงกิต ตลอดชีพ(ประมาณ 75 บาท) สำหรับผู้พิการที่สมัครใช้บริการรายเดือน        แพ็คเกจโทรไม่อั้นได้ทุกเครือข่ายเริ่มต้นที่เดือนละ 28 ริงกิต(ประมาณ 200 บาท) สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต 6 GB เป็นต้นไป ใครที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วก็รับส่วนลดไปโดยไม่ต้องเปิดเบอร์ใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องมีการแสดงบัตรผู้พิการในการสมัครด้วย        บริษัทบอกว่าโปรฯ นี้เป็นการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน        คนมาเลย์คงกำลังลุ้นกันว่าผู้ประกอบการอีกสองเจ้า ได้แก่ Maxis และ Celcom ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและสองของมาเลเซีย จะจัดโปรฯ อะไรออกมาสู้ เรื่องนี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์เห็นๆ หน้าดินที่หายไป        ความต้องการบริโภคโปรเซกโก(ไวน์มีฟอง) ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียหน้าดินในประเทศอิตาลี          การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยปาดัวพบว่าร้อยละ 74 ของการสูญเสียหน้าดินในไร่องุ่นในเขตทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นผลมากจากอุตสาหกรรมนี้        ไวน์หนึ่งขวดทำให้เสียหน้าดินประมาณ 4.4 กิโลกรัม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในที่สุดก็คืออุตสาหกรรมที่ผลิตโปรเซกโกปีละ 446 ล้านขวด        ในจำนวนนี้ส่งออก 90 ล้านขวด และประเทศที่นำเข้าโปรเซกโกเป็นสามอันดับแรกของโลกได้แก่ อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ        ผู้ประกอบการแย้งว่าข้อกล่าวหานี้ไม่จริง เพราะพวกเขาปลูกองุ่นบนพื้นที่ขั้นบันได ซึ่งป้องกันน้ำท่วมและดินถล่มได้ ผู้ว่าฯ แคว้นเวเนโตก็บอกว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นแพะรับบาปของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ไซบูทรามีนในอาหารเสริมที่กล่าวอ้างลดน้ำหนักจากห้างค้าปลีกออนไลน์ (ภาคต่อ)

        ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับปีนี้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรยายสรรพคุณว่ามีส่วนในการลดน้ำหนัก จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ C mart ,Shop at 24, LAZADA, We mall, Watsons, 11 street, Konvy, Shopee รวม 8 แห่ง รวมทั้งสิ้น 16 ผลิตภัณฑ์ และพบว่า มีผลิตภัณฑ์ 6 ตัวอย่างผสมยาไซบูทรามีนและฟลูออกซิทีน ซึ่งเป็นยาอันตรายที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร (ดูรายละเอียดในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 208)         หลังทราบผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้ส่งรายงานถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อขอให้เพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่พบการลักลอบผสมยาแผนปัจจุบัน และขอความร่วมมือจากห้างออนไลน์ที่จำหน่ายให้นำผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบการซื้อขาย         ทั้งนี้จากการติดตามผลการดำเนินงาน อย. มีหนังสือ ที่ สธ 1010.3/10523 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ว่า “กรณีตรวจพบยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย.ถือว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจะเลือกใช้กฎหมายที่มีโทษสูงสุดในการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการพักใช้ใบอนุญาตสถานประกอบการและยกเลิกเลขสารบบอาหารแล้ว พร้อมกับทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบและหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ปลอดภัย”         ส่วนในเรื่องการขอความร่วมมือจากห้างค้าปลีกออนไลน์ พบว่า ห้าง 11 street ได้แจ้งว่าได้ตรวจสอบและแจ้งผู้ขายทราบพร้อมดำเนินการถอดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวที่พบปัญหาออกจากเว็บไซต์ทั้งหมดแล้ว         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ในเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 นี้ฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก จำนวน 15 ตัวอย่าง โดยอิงจากผลิตภัณฑ์เดิมที่เคยทดสอบเมื่อปีที่แล้วและสินค้าตัวใหม่ที่มีการแนะนำว่าขายดี ซึ่งพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาในครั้งก่อนไม่มีการขายแล้ว ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ S-Line ที่ยังมีการจำหน่ายอยู่ใน LAZADA (เช่นเดิม) การสุ่มเก็บตัวอย่างใช้วิธีการสั่งซื้อจากห้างออนไลน์ 5 แห่ง ได้แก่ LAZADA, SHOPEE, Shop at 24, We mall และ Watsons   ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหายาไซบูทรามีน(Sibutramine) และยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มต้านอาการซึมเศร้า แต่มีผลข้างเคียงในการลดความอยากอาหาร ติดตามผลทดสอบได้เลย  ผลทดสอบ         ผลการทดสอบหา ไซบูทรามีน (Sibutramine) และฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยารักษาโรคซึมเศร้า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 15 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อสั่งซื้อจากเว็บขายสินค้าออนไลน์ 5 แห่ง ในครั้งนี้ พบว่ามีปัญหาน้อยลง คือ พบเพียง 3 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่าง ดังนี้          1. S – Line รุ่นผลิต ไม่ระบุ เลขสารบบอาหารที่อ้างบนฉลาก 74-1-05243-1-0002  พบ ไซบูทรามีน          2. CHALIEW2 (ชะเหลียว2 หรือชะหลิว2) รุ่นผลิต 09/11/2560 เลขสารบบอาหาร 13-1-15857-5-0030  พบ ไซบูทรามีน          3.DELI By NQ รุ่นผลิต 9/01/2562 เลขสารบบอาหาร 10-1-26261-5-0008 พบ ไซบูทรามีน         ทั้งนี้พบว่า ผลิตภัณฑ์ S – Line เป็นตัวที่ผู้ประกอบการที่ขอเลขสารบบอาหาร คือ บริษัทที.ซี.ยูเนียน โกลบอล จำกัด (มหาชน) ได้เคยระบุกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ถูกสวมเลข อย. โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางบริษัทยังไม่ได้มีการผลิต อย่างไรก็ตามบนผลิตภัณฑ์ไม่มีชื่อผู้ผลิตปรากฏอยู่         ในส่วนของ ชะเหลียว2 หรือ ชะหลิว2 เป็นผลิตภัณฑ์รุ่นการผลิตเดียวกันกับที่เคยตรวจเมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่พบการผสมยาแผนปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นทางฉลาดซื้อสั่งซื้อจาก SHOPEE แต่ในครั้งนี้สั่งซื้อจาก LAZADA กลับพบการผสมสารไซบูทรามีน

อ่านเพิ่มเติม >

อย. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล สุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง พบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้ กม.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลตรวจสอบการสุ่มตัวอย่างในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เมื่อ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา นั้น คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้กผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้นนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา)เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่าน โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์   จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค  ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภคยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน 1 หน่วยบริโภคสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ.61) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต (อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กระบวนการดำเนินงาน ที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ข้อมูลและความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาสังคมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน นับเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่บทความ "ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2"บทความ "ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ

              เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี เป็นขนมที่จัดว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นขนมที่นิยมกันทุกเพศวัย  เค้กนั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้ง ไข่ ไขมันและน้ำตาล จึงเป็นอาหารให้พลังงานสูง และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เดิมจัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เนื่องจากส่วนผสมนั้นนิยมใช้ไขมันจากน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์แล้ว ทำให้หลายคนอยากทราบว่า เค้กและบรรดาขนมอบทั้งหลาย จะยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของไขมันทรานส์หรือไม        ฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอาสาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยผลทดสอบเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค เชิญติดตาม       ไขมันทรานส์ คืออะไร                   ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน       ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย       ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ผลทดสอบ        ไขมันทรานส์                                                                                                                                                        จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค   ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค        ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน1 หน่วยบริโภค         ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ หรืออาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) เช่น โดนัททอด ไก่ทอด  จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน·        วัตถุกันเสีย                ฉลาดซื้อทดสอบหากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี เค้กเนยและเค้กชิฟฟ่อน พบว่า เค้กเนยจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ไม่พบกรดเบนโซอิก และพบปริมาณกรดเบนโซอิกเล็กน้อยใน 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสังเกตจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผ่านมาคือ มีการใช้แป้งสาลี ซึ่งใช้สารฟอกขาวที่เรียกว่า กรดเบนโซอิ้ว ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกรดเบนโซอิก ทั้งๆ ที่ในสูตรการผลิตเค้ก ไม่มีการผสมวัตถุกันเสีย ส่วนในเค้กชิฟฟ่อนไม่พบกรดเบนโซอิกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์และพบปริมาณเล็กน้อย 1 ผลิตภัณฑ์        ผลการตรวจหากรดซอร์บิก พบว่าปริมาณของกรดซอร์บิกที่ตรวจพบสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เค้กเนย ของ KUDSAN Bakery & Coffee พบปริมาณกรดซอร์บิก 244.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ซึ่งไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)        ตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2

โดนัท (Doughnut หรือ Donut) ขนมแป้งทอดมีรู ที่ตกแต่งหน้าตาจากน้ำตาลเคลือบหลากรส ด้วยกลิ่นหอมหวาน สีสันสวยงาม และรสสัมผัสนุ่มหนุบหนับ โดนัทจึงเป็นที่นิยมบริโภคของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งแคลอรี่จากโดนัทหนึ่งชิ้นนั้น นับว่าไม่เบาเลยทีเดียว นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงเพิ่มก็คือ ปริมาณไขมันทรานส์ (Trans fat) หรือ กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) ที่อาจแฝงอยู่ในโดนัท ซึ่งหากร่างกายของเราได้รับไขมันทรานส์ในปริมาณมาก ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้        ไขมันทรานส์ (Trans fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ที่พบได้ทั้งในธรรมชาติ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น นม เนย ชีส เนื้อสัตว์ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว ซึ่งพบในอาหารที่มีเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) เป็นส่วนประกอบ เช่น โดนัททอด เค้ก พาย พัฟ เพสตรี้ คุกกี้ ซึ่งจะทำให้อาหารหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น        ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยทดสอบไขมันทรานส์และพลังงานในโดนัทช็อกโกแลต จากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ จำนวน 13 ยี่ห้อ ในฉบับที่ 206 (เมษายน 2561) โดยพบว่ากว่าครึ่ง มีปริมาณไขมันทรานส์สูงเกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำไว้        เมื่อช่วงต้นปีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเริ่มตื่นตัว เมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oil) และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา        เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และนิตยสารฉลาดซื้อจึงเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่างก่อนหน้านี้) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้สรุปผลการทดสอบ1. ผลทดสอบสารกันบูด (กรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก)        จากโดนัทช็อกโกแลตที่นำมาทดสอบ จำนวน 13 ตัวอย่าง พบว่า                   ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิกในปริมาณเพียงเล็กน้อย จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่              1. โดนัทรวมรส (ช็อกโกแลต) / เทสโก้ โลตัส          พบกรดเบนโซอิก 4.72 มก./กก.           2. ริงจิ๋ว (ช็อกโกแลต) / เอ็น.เค.โดนัท                     พบกรดเบนโซอิก 10.45 มก./กก.          3. เรนโบว์ โดนัท / เบรดทอล์ค                               พบกรดเบนโซอิก 11.48 มก./กก.           4. โดนัท ดาร์กช็อกโกแลต / ซับไลม์โดนัท              พบกรดเบนโซอิก 19.48 มก./กก.    และ 5. โดนัทช็อกโกแลต / ฟู้ดแลนด์                           พบกรดเบนโซอิก 29.93 มก./กก.        ซึ่งตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม        ซึ่งตามเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่ตรวจพบวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน        ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตต่อปริมาณกรดเบนโซอิกที่ตรวจพบ ซึ่งมีเพียงเล็กน้อยว่า อาจไม่ใช่กรดเบนโซอิกที่ใส่เพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นสารกันเสีย แต่อาจเป็นวัตถุเจือปนอาหารประเภท เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ซึ่งใช้เป็นสารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก 2. ผลทดสอบไขมันทรานส์        เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541)           พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก        โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทชอคโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัมและตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมข้อสังเกต          จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณไขมันทรานส์ ในตัวอย่างโดนัทช็อกโกแลตทั้ง 13 ตัวอย่างในครั้งนี้ ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเคยสุ่มทดสอบในนิตยสารฉบับที่ 206 (เมษายน 2561) พบว่า ผู้ผลิตโดนัทช็อกโกแลตเกือบทุกยี่ห้อ พัฒนาปรับปรุงสูตรการผลิต ทำให้ปริมาณไขมันทรานส์ลดน้อยลงจากเดิมมาก ซึ่งบางยี่ห้อเคยมีปริมาณไขมันทรานส์เกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่ผลตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้ พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกยี่ห้อ มีปริมาณไขมันทรานส์ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานข้อมูลอ้างอิง- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561- นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 206 เดือน เมษายน 2561- เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยน แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน

        เมื่อวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้ นับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับผู้บริโภคไทยเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทยเราอีกต่อไป เรื่องราวเหล่านี้แม้จะถือว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้นเลย เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการศึกษาข้อมูลและแรงผลักดันจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ลืมไม่ได้เลยคือ นักวิชาการด้านโภชนาการหลายๆ ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา ในคณะ กรรมการอาหารแห่งชาติ และ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการอาหาร ทั้งงานด้านวิจัย พัฒนาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้พาไปฟังเรื่องราวการทำงานของท่านว่ามีความยาก ความสนุกอย่างไรกับงานด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของคนไทยนมโรงเรียน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย        คำถามที่ว่าประสบการณ์การทำงานที่สร้างความหนักใจที่สุด คำตอบน่าจะเป็นเรื่องนมโรงเรียน งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541-2546  ถือว่ามีผลสำเร็จมาก เพราะการวิจัยชิ้นนี้ได้มองปัญหาในขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเรายังต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า นมกล่องยูเอชทีมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากค่ากล่องนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในการดำเนินการวิจัย ก็มีการเลือกใช้นมโรงเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและค่าใช้จ่าย ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ในโรงเรียนใหญ่ๆที่มีศักยภาพ  สามารถนำนมผงมาเตรียมเป็นนมโรงเรียน เพราะนมผงสมัยใหม่ละลายน้ำธรรมดาได้ง่าย ไม่เป็นภาระ ถ้าให้เด็กดื่มภายใน 30 นาที ก็ปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตนม ผลการวิจัยเสนอว่าขนส่งเป็นนมถังใหญ่ ซึ่งเหมือนกับพวกโรงเรียนฝรั่งใหญ่ๆ ที่เขาก็ใช้นมถังตักให้เด็ก แต่เพื่อป้องกันถังใส่นมสกปรก ก็แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ มาใส่นมก่อนวางลงในถัง วันหนึ่งๆ โรงเรียนหนึ่งก็ใช้เพียง 3-4 ถุงเท่านั้น และถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ใช้ใส่นมแล้ว ก็สามารถนำมาล้างแล้วทำเป็นเสื้อคลุมกันฝนให้เด็กๆได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้นมกล่องยูเอชที ซึ่งทำให้ต้นทุนนมโรงเรียนสูง เพราะเฉพาะค่ากล่องยังไม่รวมค่านม ก็ตกกล่องหนึ่งตั้ง 1.10 -1.20 บาทแล้ว  ต้นทุนนี้ควรนำมาใช้เป็นค่านมให้เด็กดีกว่า  นมกล่องยูเอชทีควรให้เฉพาะโรงเรียนที่ทุรกันดารจริงๆ เพราะขาดครู และไม่มีน้ำสะอาด แนวคิดนี้  ทีมวิจัยนำเสนอที่จังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดตกลง เลยทดลองทำวิจัยทั้งจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี  ช่วยแก้ปัญหาขยะกล่องนมล้นเมืองในขณะนั้น เพราะเดิมต้องใช้รถขยะเข้าขน โดยขนครั้งละ 3,000-4,000 กล่อง จึงต้องรอให้ได้จำนวนกล่องนมจนเต็มรถขยะแล้วค่อยขน กล่องนมจึงถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน เนื่องจากนมที่เหลือติดก้นกล่องบูดเน่าง่าย จึงส่งกลิ่นเหม็นไปหมด สร้างปัญหาให้โรงเรียน การเตรียมนมเอง จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว  โรงเรียนใหญ่ๆที่ทดลองใช้นมผง เราเตรียมนมผงแพคถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วโรงเรียนไปเติมน้ำ โดยทางโรงเรียนได้ใช้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 เป็นผู้เตรียมนมเลี้ยงน้องชั้นเล็ก และนักเรียนทุกคนก็หัดล้างแก้วใส่นมกันเอง จนโครงการเข้าที่ ส่งผลให้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โรงเรียนมีเงินค่านมโรงเรียนเหลือหัวละ 2 บาท จากที่ขณะนั้นรัฐให้หัวละ 5 บาท เลยสามารถทำการวิจัยโครงการนมโรงเรียนในช่วงปิดเทอมได้อีก ซึ่งก็ได้เห็นผลสำเร็จ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้มีนมดื่มในช่วงปิดเทอม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเด็กๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้แม้จะได้ผลสำเร็จ และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบรางวัล 1 ใน 10 การวิจัยที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม การวิจัยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะผลการวิจัยกระทบถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น/หน่วยงานอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้         ตอนเริ่มโครงการ มันดูขุ่นมัวเหมือนอยู่ในน้ำขุ่นๆ มองไม่เห็นอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนปิดโครงการ หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายจนเกิดแนวร่วมที่เห็นประโยชน์จริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงนม โรงเรียนและแม้แต่จังหวัด เมื่อทุกอย่างแจ่มชัดขึ้น เหมือนกับน้ำที่ขุ่นเกิดการตกตะกอน  บทเรียนในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราทำงานด้วยกัน คลุกคลีกัน เปิดใจกัน เราก็สามารถตกตะกอนปัญหา ช่วยกันกรองมันออกไป เราจะเจอว่าตะกอนที่ก่อปัญหาอย่างจงใจ มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิดผูกมิตรดีกว่าสร้างศัตรู        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทย นักวิชาการและผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน จะไม่ทำงานร่วมกัน หากนักวิชาการไปทำงานให้ภาคเอกชน จะถูกมองในแง่ลบ ดังนั้น เมื่อผมไปเชิญภาคเอกชนมาร่วมทำโครงการฉลากทางเลือก(Healthier Choice Logo ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ หลายคนมองว่าผมไปทำดี เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราสงสัยเขา เขาก็สงสัยเรา ปัญหาก็จะเกิดน้อยลงหรือไม่เกิดเลย ถ้าเราได้พูดจาอธิบายและรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานในโครงการ Healthier Logo กรรมการบางท่านก็เครียดเรื่องการทำงานร่วมกับเอกชน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดี มีการเอื้อประโยชน์กัน ก็เรียนท่านว่าประเด็นหลักๆ มันก็มีสองทาง ท่านจะมองเรื่องเดียวกันให้เป็นลบหรือบวก        ถ้าเรามองลบ เราต้องหาคนรับผิดชอบและลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คงจะมีหลากหลายไปหมด เพราะอาหารที่เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เพราะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง และไขมันสูง คนที่จะถูกให้รับผิดชอบก็ต้องเป็นคนขายน้ำตาล คนขายของเค็ม คนขายของมัน  คนปรุงและขายอาหาร คนผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร  สมัยก่อนคนขายวัตถุดิบที่หวาน มัน เค็ม ก็พยายามผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการความขาดแคลนของผู้บริโภค  พอเศรษฐกิจดีขึ้น ราคายังถูกลงอีก คนก็หาซื้อหากินได้มากขึ้น แถมมีตัวช่วยลดกิจกรรมทางกายลง คนกลุ่มหนึ่งก็พอใจว่าราคาอาหารไม่แพงดี อีกกลุ่มก็โวยวายว่าปล่อยมายังไงให้เต็มตลาด นักวิชาการก็เรียกร้องรัฐว่า หากยังปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ ประเทศต้องวิบัติแน่  ถ้าถามคนขายอาหาร คนขายก็คงอยากขายอาหารที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เขาก็คงอยากเปลี่ยนสูตร แต่เปลี่ยนแล้วก็กลัวขายไม่ได้ ถ้าเขาขายไม่ได้หรือได้น้อยลง เราก็ผิดด้วยที่ไม่ได้ให้การศึกษากับผู้บริโภค เช่น เราตั้งเกณฑ์ว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอุตสาหกรรม 1 ซองต้องมีโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม แต่ คนทั่วไปกินบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ทั่วไปกินโดยที่ยังไม่ได้ปรุงก็มีโซเดียมอยู่ที่ชามละ 1,500 - 2,000 มิลลิกรัมแล้ว  แถมก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเจ้าก็มีโซเดียมสูงถึง 4,000 – 5,000 มิลลิกรัม “ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตมันก็เปลี่ยน แต่เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน” ถึงได้มีแนวคิดว่า จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้าไปกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรมันก็จบไม่มีประโยชน์ นักวิชาการอยู่ตรงกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมก็ว่าเรา กลุ่มผู้บริโภคก็บ่นเรา ทั้งสองฝ่ายก็รอว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนก่อน ถ้าจะดูกันให้ลึกซึ้งจริงๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมากมีความเฉพาะตัวตน สังคมและวัฒนธรรมสูงมาก ภาครัฐต้องร่วมมือกัน ทั้งงานส่งเสริม และการบังคับใช้กฎหมาย        การที่เราได้ทำงานในโครงการ Healthier logo ที่เรามุ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารอุตสาหกรรมและนิสัยผู้บริโภคให้ลดหวาน มัน เค็ม ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือมักเจอการตีความที่เลยเถิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ดีในเรื่องอื่นด้วย มิใช่น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำหรือไขมันต่ำ การสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งพบว่าการเจรจาและขอร้องกันโดยตรง ได้รับความร่วมมือกว่าที่ไปวางมาตรการอื่นในเชิงลบ        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้และหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปราม หน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ก็ว่าอีกหน่วยงานว่าไม่ยอมออกกฏหมายมาจัดการภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามก็ต้องรับหน้าภาคเอกชนที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงการยอมรับของผู้บริโภค นั่นหมายถึง ยอดจำหน่ายหรือรายได้ของภาคเอกชน ทั้งที่การทำงานมันต้องขนานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมซึ่งกันและกัน  เมื่อเริ่มทำโครงการ Healthier Logo นี้ เราขอหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามมาช่วย เพื่อให้ Logo มีหน่วยงานรัฐรองรับ ส่วนเกณฑ์ด้านโภชนาการต้องเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ร่วมดำเนินการ แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่สนิทใจกัน การไม่สนิทใจกัน ทำให้ไม่รู้ถึงความคาดหวังของอีกฝ่าย เกิดความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งที่ภาครัฐต้องชี้นำสังคมให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง การสร้างฐานข้อมูลด้านคุณค่าโภชนาการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันสมัย เท่าทันปัญหาโภชนาการที่เป็นพลวัตสำหรับทุกภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณค่าโภชนาการของอาหาร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เพราะไปเสียเวลาในการหวาดระแวงกัน ทำงานไม่ประสานกัน ไม่พูดคุยกันอย่างจริงใจ ถ้าร่วมมองปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาเชิงระบบและพหุภาคีจะเกิดขึ้นพฤติกรรมติดหวานมันเค็มไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ สาธารณสุขเชิงป้องกันหรือแม้แต่รักษาก็ต้องการโภชนาการที่เหมาะสมทั้งสิ้น พฤติกรรมการบริโภคจึงมีความสำคัญมาก ประสบการณ์เรื่องนี้มีมากมาย ที่ยกตัวอย่างคือเจลลี่ที่สถาบันโภชนาการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน โดยมีสารอาหารครบ กลืนง่าย รสชาติยอมรับได้ ราคาไม่แพง เราได้พบชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เมียเขาบอกว่าสามีเป็นมะเร็งกินอะไรไม่ได้ หมดแรงนอนอยู่กับบ้าน พอให้กินเจลลี่ที่มีสารอาหารครบ อีก 2-3 วัน มีแรงขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างต่อได้ มันมีแรง นี่คือความมหัศจรรย์ของโภชนาการที่ถูกตามหลักวิชาการ แต่ทำอย่างไรให้ถึงประชาชนได้ เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีคุณป้าคนหนึ่งขึ้นเวทีกับลูกสาว ลูกสาวบอกว่าเขาเกือบเสียคุณแม่ของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็น NCDs แทบทุกโรค  เธอพยายามให้แม่งดอาหารหวาน มัน เค็มทุกอย่าง แม่ทนไม่ไหว ก็เลยด่าลูกเป็นประจำว่า “มึงอกตัญญู ตอนที่กูเลี้ยงมึงมามึงอยากกินอะไรกูก็ให้มึงกิน พอกูจะแ_กอะไรมึงก็ห้ามกูทุกอย่าง” ลูกสาวทนไม่ไหวไปบอกหมอ หมอก็แนะนำว่า “ไม่เป็นไร คุณป้าอายุขนาดนี้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมคงยากแล้ว ให้แกกินไปตามสบาย เราก็ให้กินยารักษาเอา อีกสักปีนึง ก็ต้องล้างไตไป ให้แกมีความสุขเถอะ” แต่ลูกสาวก็รับไม่ได้ วันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจคุยกับแม่ว่า “ แม่อยากกินอะไรเดี๋ยวจะไม่ขัดใจแล้ว หนูจะกตัญญู หากแม่ป่วย หนูจะพาไปรักษาอย่างดี หมอดีๆ มีเยอะแยะ หนูยอมเสียตังค์ หากแม่ตายหนูจัดงานให้สมเกียรติ แต่ตอนที่แม่นอนฟอกไต เข็มที่ทิ่มเข้าตัวแม่เองนะ หนูรับให้ไม่ได้ อันอื่นหนูช่วยได้หมด แล้วช่วงที่แม่ทรมานก่อนตายแม่รับเองนะ หนูช่วยไม่ได้จริงๆ” จากที่ฟังลูกสาวพูด  แม่เลยคิดได้ แล้วปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ตามที่ลูกสาวแนะนำ คุณป้าบอกว่าลูกสั่งอะไรก็ต้องกินตาม อันที่จริง ลูกสาวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรซับซ้อน ก็ลดหวานมันเค็มธรรมดา ให้กินผักผลไม้เยอะขึ้น คุณป้าบอกว่าภายใน 6 เดือน ไปหาหมอ ก็พบว่าอาการดีขึ้นมาก โดยไม่ต้องฟอกไตแล้ว และงดยาได้ในที่สุด คุณป้าเล่าไปก็ร้องไห้ไป ดีใจที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น ชีวิตยืนยาวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของโภชนาการและความซับซ้อนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ละบ้าน แต่ละคน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันไป บางบ้านก็ปล่อยคือตายไป แต่บางบ้านที่เขาชนะใจตัวเองได้ก็ดีขึ้น มันเป็นเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการมีความตระหนักรู้ทางโภชนาการจำเป็นมาก         ประเด็นเรื่องไขมันทรานส์                           ไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นในไขมันไม่อิ่มตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไขมันทรานส์คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีการจับไฮโดรเจนแบบทรานส์ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องกินไขมันไม่อิ่มตัวที่มีอยู่ในอาหารเข้าไป ไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านั้นก็เปลี่ยนไขมันทรานส์ นั่นคือไขมันทรานส์ชนิดที่ 1 ที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนไขมันทรานส์ชนิดที่สอง พบในน้ำมันพืชที่เราใช้ทำกับข้าว ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ในขั้นตอนขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่สกัดได้เริ่มต้น จะมีสารที่ไม่บริสุทธิ์ออกมาจำนวนมากจากเมล็ดถั่วเหลือง วิธีกำจัดสารไม่บริสุทธิ์ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตกตะกอนต่างๆมากมาย และสุดท้ายก็ต้องขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้ความร้อน จนกลิ่นเหล่านี้ระเหยไป ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราก็ต้องทำเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการ deodorization ซึ่งใช้ความร้อน 127-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ แต่เปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น น้ำมันทั่วๆ ไปที่เราใช้ทำอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ที่ผ่านขั้นตอนการดึงกลิ่นออกไปแล้ว ก็จะมีไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 0.8 0 – 2%( ไม่เกินนี้) เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าห้ามกิน ไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังแทรกซึมในอาหารในวัฒนธรรมการกินทั่วไป แต่ที่น่าห่วง คือ พวกไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ ที่ตอนนี้มีกฎหมายห้ามใช้กรรมวิธีนี้แล้ว        หลังกฎหมายมีผลบังคับ ทำไมยังพบว่าอาหารบางประเภทมีไขมันทรานส์สูง เพราะอะไร                หากเป็นไขมันทรานส์ธรรมชาติเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือ PHO (Partially Hydrogenated Oils) ต้องควบคุม จากหลักฐานประกอบเพื่อยืนยัน ได้แก่ หนึ่ง คือ เอกสารรับรองจากโรงงานผลิตน้ำมัน (certificate of analysis)ที่ระบุว่าไม่ใช่หรือไม่ได้ใช้ PHO ในการผลิต สอง คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร  และ สาม คือปริมาณไขมันและโปรไฟล์กรดไขมันในอาหาร ถ้ามีไขมันทรานส์ มากกว่า 20 % ในน้ำมันทั้งหมด ก็เป็น PHO ชัวร์แน่นอน บางทีอาจสูงถึง 60 % เลย  ถ้าในน้ำมันมีไม่เกิน 2 % ไม่ใช่ PHO อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เราก็สามารถดูได้จากข้อมูลพื้นฐาน ถ้าไม่ใช้ PHO ส่วนใหญ่จะพบไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดย 0.5 กรัมนี้ถือว่ามากแล้ว ถ้าพบว่าเกิน 0.5 กรัม ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบด้วย                หากพบว่าอาหารชนิดใดมีกรดไขมันทรานส์สูงเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ต้องพิจารณาปริมาณไขมันและโปรไฟล์ของกรดไขมันเพิ่มเติม บางทีคนขายใส่เนยเยอะมาก ไขมันทรานส์ก็จะสูงตาม แต่เนยธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เพียง 5% ซึ่งต่างจาก PHO ที่มีไขมันทรานส์มากกว่า 20% ก็จะประมาณได้ว่าควรมีไขมันทรานส์เท่าไร ที่มาจากเนยจริง นอกจากนี้ การดูโปรไฟล์ของกรดไขมันว่าเป็นชนิดไหนก็เป็นเครื่องยืนยัน เพราะไขมันทรานส์ในเนยจะมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่น หลังจากนั้น ก็ควรไปสอบสวนเพื่อยืนยันที่ร้านหรือโรงงานด้วย (เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องเข้าไปทำ)            ถ้าเป็นทรานส์ธรรมชาติไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะที่เราจะบริโภคใช่ไหม                    พูดยากมาก เพราะนักวิชาการยังมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจากธรรมชาติไม่เป็นอะไร แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันก็คือทรานส์ (ก็อันตรายสิ) แม้แต่ในการประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลก( WHOX ก็ยังมีการถกเถียงกัน  ดังนั้น ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ เราคงต้องดูตามปริมาณที่บริโภค(หน่วยบริโภค) มิใช่ต่อร้อย เพราะเป็นประเด็นความปลอดภัย ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในหนึ่งวัน ไม่ควรกินไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัม ถ้าหารด้วย 5 มื้อ ก็คือ 0.4 – 0.5 กรัมต่อมื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ควรจะกินเกินนี้  จากการสำรวจดูทั่วไปๆ พบที่เกินกว่า 0.5 กรัมต่อมื้อ มีน้อยมาก ส่วนที่เจอเกิน 0.5 มันไม่มีกฎหมายกำหนด                   เนื่องจากกฎหมายห้าม PHO ไม่ได้ห้าม trans fat เพราะฉะนั้นการดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่าเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็น PHO หรือเปล่า ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องเอาตัวอย่างที่พบว่ามีไขมันทรานส์เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่งไปวิเคราะห์ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น        นอกจากเรื่องไขมันทรานส์ อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนจำเป็นและเร่งด่วนขณะนี้                 เรื่องยาพืชและยาสัตว์ เพราะเราต้องการให้คนกินผักผลไม้เยอะๆ เราก็ไม่อยากให้การปนเปื้อนสารเคมีในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์มากอยู่แล้ว แต่ผักผลไม้คนไทยยังกินน้อย จึงเราก็อยากให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้มากขึ้นถึงวันละ 400 กรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการดูแลที่ดี ทั้งผักผลไม้นำเข้าและที่ปลูกเองในบ้านเรา เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และสร้างความมั่นใจในการกิน คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องให้การศึกษากับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีความรู้ และเกิดรายได้ที่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างปลายทาง คือ ผู้บริโภคที่มีพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ท้อง 3 เดือนแรก และ 6 เดือนขึ้นไปไม่ควรนวด             ข่าวหญิงท้อง 6 เดือน ช็อกคาร้านนวดทำให้แท้งลูกส่วนตัวเองมีอาการเจ้าหญิงนิทรานั้น รองโฆษก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นสามารถนวดได้เพียงแต่ต้องดูอายุครรภ์และนวดกับหมอนวดผู้ชำนาญ        โดยหากอายุครรภ์ตั้งแต่เริ่มจนถึง 3 เดือน ไม่ควรนวด เพราะการนวดจะไปกระตุ้นให้มดลูกรัดตัว เสี่ยงแท้งลูกได้ อีกช่วงที่ต้องระวังคือ อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไป การนวดอาจทำให้มดลูกไปกดเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงในท้อง ในลำไส้ อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ ไม่ควรไปนวดตามร้านนวดทั่วไป หากเลือกที่จะนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ควรเลือกใช้บริการกับหมอแผนไทยที่มีการร่ำเรียนมา 800 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพราะการนวดเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการต้องผ่านการอบรม และสอบจนผ่านการรับรองจากทางราชการ รถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปีสวนทางวิกฤตฝุ่นจิ๋ว        ไม่น่าแปลกใจที่ค่าฝุ่นพิษใน กทม. จะเพิ่มขึ้น เมื่อสถิติรถจดทะเบียนใหม่ใน กทม. สูงขึ้นทุกปี จากการเปิดเผยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551 - 2560 โดยสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. พบว่า รถยนต์ส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 3.5% ต่อปี โดยการที่กรุงเทพฯ มีปริมาณรถส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลง 22% พื้นที่ชั้นกลางลดลง 17% และพื้นที่ชั้นในลดลง 11%         ขณะที่กรมการขนส่งทางบก รายงานข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2562 พบว่า มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ทั้งหมด 4,529,691 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล 1,378,623 คัน รวม 5,908,314 ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 2.2 ล้านคัน หรือ 38.73% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล        ทั้งนี้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก จำเป็นต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งประกอบไปด้วย PM 2.5 มากกว่า 90% และควรเพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดรถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ส่งเสียงถึง คกก.วัตถุอันตราย ทบทวนลงมติแบน 'พาราควอต'        มูลนิธิชีววิถี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ในรอบการประชุมที่จะมีการพิจารณาคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม สามารถให้ประชาชนทราบได้ว่าใครตัดสินอย่างไร  และเรียกร้องให้กรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีลาออก        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงปัญหาพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว         ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า ควรประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีก่อน จนกว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะสามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าสารเคมีเหล่านี้ปลอดภัย ไม่เป็นพิษ และไม่ทำให้คนป่วยหรือเสียชีวิตดับฝันคอนโดให้เช่ารายวัน จับปรับ “เจ้าของห้อง-นิติบุคคลฯ”        “ศาลจังหวัดหัวหินถึงเพชรบุรี” ตัดสินคดีตัวอย่างเชือดเจ้าของห้องชุดปล่อยเช่ารายวันผิด กม.โรงแรม จำคุก 6 เดือน ปรับ 5 พัน-1 หมื่น          จากภาวะบูมของตลาดคอนโดมิเนียมนำไปสู่การตลาดแนวใหม่ที่หันไปเน้นลูกค้าซื้อลงทุนปล่อยเช่ามากขึ้น โดยปกติเน้นการปล่อยเช่าแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเริ่มหันมาเน้นปล่อยห้องชุดเช่ารายวันมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งของโรงแรมและเป็นการทำผิดกฎหมายโรงแรมโดยตรง        ล่าสุด การนำห้องชุดมาปล่อยเช่ารายวันได้มีคำพิพากษาถูกลงโทษหนักทั้งปรับและจำคุก คำพิพากษาของศาลจังหวัดหัวหิน คดีดำเลขที่ 50/2561 คดีแดงเลขที่ 59/2561 วันพิพากษา 5 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 4, 15, 59 รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ปอ.ม.78 ปรับ 5,000 บาท และปรับรายวัน วันละ 500 บาท เป็นเวลา 20 วัน เป็นเงิน 10,000 บาทกับคดีดำเลขที่ 107/2561 คดีแดงเลขที่ 106/2561 วันพิพากษา 16 มกราคม 2561 จำเลยมีความผิดตามฟ้อง รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับ 5,000 บาท ปรับรายวัน วันละ 100 บาท เป็นเวลา 81 วัน เป็นเงิน 8,100 บาท        อีกตัวอย่างการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวันและรายสัปดาห์ ทำเลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยศาลจังหวัดเพชรบุรี คดีดำเลขที่ 277/2561 คดีแดงเลขที่ 900/2561 มีการนำห้องชุดปล่อยเช่ารายวัน ค่าเช่าวันละ 4,990 บาท ผิด พ.ร.บ.โรงแรมฯ พิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท ปรับอีกวันละ 1,000 บาท        “กรณีนี้เป็นการป้องปรามไปยังกรรมการนิติบุคคลด้วย เพราะเริ่มมีตัวอย่างจากหลายนิติฯ ที่มีตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อลงทุนปล่อยเช่า ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการนิติฯ และพยายามออกระเบียบให้ปล่อยเช่ารายวันได้ ที่หนักข้อสุดน่าจะเป็นตัวแทนลูกค้าจีน ซึ่งซื้อในโควตาต่างชาติ 49% แล้วส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการ ดังนั้น คำพิพากษาลงโทษเจ้าของห้องชุดมีผลผูกพันกับนิติบุคคลในฐานะรับฝากเช่ารายวันที่จะทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน” ร้องเรียนปี 61 พบปัญหาโฆษณาเกินจริงมากที่สุด        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยตัวเลขการให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนผู้บริโภค จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,545 เรื่อง โดยพบว่า เรื่องร้องเรียนด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,505 ราย ส่วนอันดับสอง ด้านบริการสาธารณะ 930 ราย และอันดับสาม ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข 705 ราย        โดยเรื่องร้องเรียนด้านอาหารฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโฆษณาหลอกลวงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค และทางช่องเคเบิ้ลทีวี รวมไปถึงวิทยุท้องถิ่น ส่วนหมวดบริการสาธารณะ พบปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนมากที่สุด โดยเป็นเรื่องการชดเชยเยียวยาจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการร้องเรียนพฤติกรรมพนักงานผู้ให้บริการ เช่น พูดจาไม่สุภาพ สูบบุหรี่ขณะขับรถ ขับรถหวาดเสียว        สำหรับหมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเรื่องการย้ายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิบัตรทอง ซึ่งนอกจากการไม่รู้สิทธิแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรหรือไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ การได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และการถูกเรียกเก็บค่าบริการจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 พาราควอตใน ‘ปูนาดองเค็ม’ วัตถุดิบอาหารในจานส้มตำ

พาราควอตใน ‘ปูนาดองเค็ม’ วัตถุดิบอาหารในจานส้มตำส้มตำ หรือ ตำส้ม ตำรับอาหารอีสานยอดฮิต ที่ทำเอาฝรั่งติดใจ คนไทยขาดไม่ได้ เพราะความแซ่บนัวจัดจ้าน จึงทำให้ส้มตำเป็นอาหารยอดนิยมตลอดกาล ไม่ว่าจะไปที่ใด ก็สามารถหาร้านส้มตำรับประทานได้แทบทุกที่ หนึ่งในเมนูยอดนิยมคือ ส้มตำปูปลาร้า นอกจากมะละกอที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำส้มตำ และปลาร้าที่ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันแล้ว ที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กันคือ ปูดองเค็ม ซึ่งปูที่นิยมนำมาดองเค็มใส่ส้มตำคือ ปูแสม และปูนา        ปูดองเค็มที่วางขายตามตลาดในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่จะเป็นปูแสม เพราะกรุงเทพฯ อยู่ติดกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลอย่าง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตราด ถึงอย่างนั้นด้วยความนิยมปูดองเค็มที่มีมาก ก็ยังต้องมีการนำเข้าปูแสมจากเพื่อนบ้านเพิ่ม ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนปูนาที่นำมาทำปูดองนั้น ปูที่จับจากธรรมชาติจะไม่ค่อยมีแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมในนาไม่เอื้อให้ปูอยู่ได้และความต้องการที่สูงในตลาด ปูนาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปูดองจึงเป็นปูเลี้ยง ในสภาพเลียนแบบธรรมชาติ        อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปูนาดองเค็ม จำนวน 16 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้งหมด 14 แห่ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2561 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงหากปูนาดองเค็มนั้นเป็นปูที่มาจากนาธรรมชาติโดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตาราง ต่อไปนี้หมายเหตุ: - ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์แบบ HPLC-MS-MS ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นจากผลการตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอตในปูนาดองเค็ม ทั้งหมด 16 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของพาราควอตทุกตัวอย่าง        อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปูนาดองจะไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่ปูนา เป็นปูน้ำจืด ซึ่งกินอาหารทั้งในดินและในน้ำ จึงอาจพบปลิงหรือพยาธิ เช่น พยาธิตัวจี๊ด หรือพยาธิใบไม้ในปอด ติดอาศัยมากับปู การบริโภคปูดิบๆ จึงมีโอกาสที่เราจะกินไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้เข้าไป ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของมนุษย์นั้นไม่สามารถฆ่าพยาธิให้ตายได้ แม้จะนำปูนาไปดองเค็ม ก็ไม่อาจทราบระยะเวลาการดองที่แน่นอน ดังนั้นควรทำปูนาให้สุกก่อนรับประทานจะดีกว่า        นอกจากนี้ หากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั้นสามารถควรคุมมาตรฐานความสะอาดได้ ซึ่งอาจปลอดภัยกว่าปูนาตามธรรมชาติในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบปลิง พยาธิ หรือการตกค้างของสารเคมีมารู้จัก.. ปูแสม แล ปูนา         ปูแสม เป็นปูน้ำเค็มที่ขุดรูอาศัยอยู่ตามดินโคลนป่าชายเลน เช่น ป่าแสม ป่าโกงกาง หรือบริเวณปากแม่น้ำ พบได้ในจังหวัดที่ติดชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง ตรัง กระดองของปูแสมมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่โค้งมาก ส่วนกว้างของกระดอง ยาวกว่า ส่วนยาวเล็กน้อย โดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 3-7 เซนติเมตร ก้ามมีลักษณะกว้างกลม สีแดงปนม่วง มีกลุ่มขนสั้นๆ กระจัดกระจายอยู่บนกระดองและก้าม        ส่วน ปูนา เป็นปูน้ำจืด มักอาศัยอยู่ในนาข้าว พบได้ในบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง กระดองมีลักษณะโค้งนูน ผิวเรียบมัน ขอบกระดองด้านหน้ามีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ส่วนใหญ่กระดองมีสีม่วงดำและเหลือง ชอบขุดรูอยู่ตามแปลงนา คันนา รูปูจะมีลักษณะกลมรีตามขนาดลำตัว ชาวนาถือว่าปูนาเป็นศัตรูพืชของข้าว เพราะปูนาจะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ ทำให้ชาวนาต้องปักดำซ้ำหลายครั้ง ปูนาเป็นอาหารราคาถูกโดยเฉพาะเหมาะกับวิถีชีวิตผู้คนในชนบท และยังพบได้เกือบทุกภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำ หลนปูเค็ม แกงอ่อมปูนา น้ำปู๋ ปูนาดองน้ำปลา แกงส้ม อ่องปูนา และส้มตำ‘พาราควอต’ ยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้        พาราควอต (paraquat) เป็นยากำจัดวัชพืชที่เกษตรกรไทยนิยมใช้เป็นยาฆ่าหญ้า มีคุณสมบัติเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่ทำลายพืชผลผลิต นิยมใช้ในไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา และนาข้าว พาราควอตยังเป็นที่นิยมของเกษตรกรทั่วโลก เพราะราคาถูก เห็นผลเร็ว และยังละลายน้ำได้ดี จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ง่าย อีกทั้งสามารถสะสมอยู่ในดินตะกอน        เมื่อปี ค.ศ. 2009 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้พาราควอต เป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง และยังพบข้อสังเกตในรายงานว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเป็นอันตรายต่อชีวิต        พาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ และยังส่งผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น การก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม พาราควอตสามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนังหรือบาดแผล นอกจากนั้นยังพบการตกค้างของพาราควอตในอาหาร สิ่งแวดล้อมและมนุษย์จากการวิจัยของหลายสถาบัน ทั้งนี้ยังสามารถถ่ายทอดผ่านมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ด้วย โดยจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 % และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบพาราควอตเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน        แหล่งข้อมูล:- ปูนา และการเลี้ยงปูนา (https://pasusat.com/ปูนา/)- วิธีอนุรักษ์ “ปูนา” จากสุรินทร์ จับมาแปรรูปเป็นอาหาร (https://mgronline.com/science/detail/9610000083393)- หนุ่มสิงห์บุรี ลาออกงานมาดูแลพ่อป่วย จับอาชีพเลี้ยงปูนา สร้างรายได้เดือนละล้าน (https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_530047)- พบสารพาราควอตตกค้างใน "น้ำปู๋ " 200 เท่า  (https://news.thaipbs.or.th/content/272293)- พาราควอต สารอันตรายที่ประเทศผู้ผลิตและทั่วโลกยังต้องแบน แต่ไทยยังปล่อยให้ใช้ต่อ (http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61559/)- งานวิจัยมหิดล พบพาราควอตตกค้างในขี้เทาทารกสูงเกินครึ่ง ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก (https://www.isranews.org/isranews-news/64489-paraquat-64489.html)- นักวิชาการแจงข้อเท็จจริงสารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช หนุนยกเลิก พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส(https://thaipublica.org/2018/05/seminar-paraquat-glyphosate-chlorpyrifos/)- เบื้องหลัง “พาราควอต” ไม่โดนแบน (https://www.the101.world/banning-paraquat-in-thailand/)- ส้มตำปูดิบ เสี่ยงพยาธิในปอด (http://www.thaihealth.or.th/Content/26769-ส้มตำปูดิบ%20เสี่ยงพยาธิในปอด.html)- เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (https://thaipan.org/)- https://th.wikipedia.org/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 จดหมายถึงบอกอ

จดหมายจากบอกอ             เรื่องไขมันทรานส์ ที่ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว ทำไมยังเห็นขนมและขนมปังหลายยี่ห้อ ยังผสมมาการีน เนยขาว เนยเทียม เนยผสม ให้ผู้บริโภคกินอยู่เลยครับ Phothibut Osaithai          ตอบ            ทีมงานฉลาดซื้อขอบพระคุณสำหรับข้อเสนอนะคะ เราจัดเรื่องนี้เป็นเรื่องทดสอบมาให้อ่านรวดเร็วทันใจกันในฉบับถัดไปเลยค่ะ มาการีน เนยขาว เนยเทียม เนยผสม ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ต้องเติมไฮโดรเจนบางส่วนได้ค่ะ จาก “ประกาศแบนไขมันทรานส์” มีข้อเท็จจริงที่หลายคนยังไม่ทราบคือ ประกาศนี้ไม่ได้แบนไขมันทรานส์ทั้งหมด แต่เป็นประกาศ “ห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์” ส่วนไขมันทรานส์จากธรรมชาตินั้นไม่ได้ห้าม เห็นได้จากเนื้อหาในประกาศที่ว่า“ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย”             ซึ่ง “ห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์” นั้น ก็เพราะว่า ไขมันทรานส์ตามธรรมชาตินั้นไม่เป็นอันตรายเหมือนไขมันทรานส์สังเคราะห์ค่ะ แล้วจะใช้อะไรทดแทนไขมันทรานส์สังเคราะห์ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อธิบายไว้ว่า ยังสามารถใช้ไขมันสังเคราะห์ เนยเทียม ครีมเทียมต่าง ๆ ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ต้องปรับกระบวนการผลิตให้เป็นสูตรที่ไม่เกิดไขมันทรานส์            ดังนั้นสิ่งที่จะใช้แทนไขมันที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน ก็คือการใช้ไขมันที่เติมไฮโดรเจนเต็มส่วน ที่เรียกว่า fully hydrogenated แล้วนำไปผสมกับน้ำมันเพื่อให้ลดความแข็งลง เรียกวิธีการนี้ว่า “เทคนิคการผสมน้ำมัน” หรือ “oil-blending” ซึ่งอุตสาหกรรมในเมืองไทยทำได้ดีมาก เพราะบ้านเรามีไขมันพืชที่เป็นไขมันอิ่มตัวอยู่แล้ว เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ต่างจากประเทศเมืองหนาวที่ไม่มีไขมันพืชแบบอิ่มตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ยาทาฝ้าจากอินเดียสั่งออนไลน์ได้นะจ๊ะนายจ๋า

ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในหัวข้อ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้มอบหมายให้นักศึกษาไปตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ และให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นักศึกษารายหนึ่งตรวจพบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางออนไลน์ของเว็บขายสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง          นักศึกษาเล่าว่า เมื่อตนเข้าไปที่เว็บขายสินค้านี้  พบผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่า เป็นยาทาลบรอยฝ้า รอยจุดด่างดำ เห็นผลจริง เป็นของดีจากอินเดีย มีการบรรยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับการรักษาผิวใต้วงแขนที่หยาบกร้าน แผลพุพอง รอยดำของบิกินี่ รอยบวมเล็กๆ บนผิวหนัง ช่วยลดรอยฝ้า กระอ่อน รอยแห่งวัย จุดด่างดำ หน้าท้องลายจากการตั้งครรภ์ และอื่นๆ มีวิธีใช้ง่ายๆ คือ ทาบางๆ บริเวณที่เป็นฝ้า ทุกวันหลังล้างหน้าตอนเย็น  แนะนำให้ทาติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน โดยมีคำเตือนว่า สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้          ผลิตภัณฑ์นี้ระบุส่วนประกอบ ได้แก่  Hydroquinone, Mometasone Furoate และ Tretinoin ซึ่งทั้งสามตัวมีสรรพคุณเป็นยา และเป็นยาที่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น Hydroquinone หากใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน แทนที่หน้าจะขาวผ่อง กลับจะยิ่งทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรขึ้นได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย          ส่วน Mometasone Furoate เป็นครีมสเตียรอยด์ ที่ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาผื่นคัน หรือการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาที่มีความแรงสูงๆ หรือใช้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ ผิวหนังแดง แห้ง แสบร้อน คัน สีผิวจางลง หรืออาจมีผื่นคล้ายสิว และยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้ อาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากได้ เช่น กดไขกระดูก หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น          ส่วนตัวสุดท้าย tretinoin เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ทางการแพทย์จะใช้เป็นยารักษาสิว แต่มีข้อควรระวังที่น่ากลัวคือ ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะตัวยาอาจดูดซึมเข้าสู่ทารก จนร่างกายทารกอาจพิการได้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงเป็นยา ซึ่งผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องนำมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายได้ และต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่ยานี้กลับจำหน่ายทางออนไลน์ให้สั่งซื้อได้อย่างง่ายๆ เมื่อนักศึกษาได้ลองสั่งซื้อ ก็ได้รับสินค้ามาอย่างรวดเร็ว นักศึกษาได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแจ้งไปที่เว็บจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย          ปรากฏว่าทั้งสองแห่งต่างก็ตอบว่าได้รับเรื่องแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนผมลองเข้าไปดูก็ยัง พบการโฆษณาในเว็บอยู่ เพียงแต่ขึ้นข้อความว่าสินค้าหมด ใครนิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ก็ระวังด้วยนะครับ การจำหน่ายยาทางนี้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ถ้าใครเจอ ช่วยๆ กันเตือนและช่วยๆ กันร้องทุกข์ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 7 วันอันตราย

เริ่มต้นปีใหม่ ปี 2562 ที่หลายคนบอกว่าเป็นปีหมูทอง แสดงว่าน่าจะเป็นปีที่มีแต่สิ่งดีๆ เป็นปีที่พวกเราทุกคนน่าจะมีความหวังเรืองรองเหมือนดั่งทองกับการงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยแม้ว่าในรอบปีที่ผ่านมาต้องเรียกว่าเป็นปีหมาไฟก็ว่าได้ เพราะเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงติดต่อกันหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บหลายราย มีการประท้วงขอขึ้นค่าโดยสารของกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารเกือบทุกประเภททั้งรถแท็กซี่ รถตู้ รถทัวร์โดยสาร หรือแม้กระทั่งรถเมล์          รวมถึงประเด็นห้ามรถตู้โดยสารที่อายุ 10 ปี วิ่งรับส่งคนโดยสารที่เรียกได้ว่าสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การประท้วงและรวมกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร 731 รายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวและยกเลิกคำสั่งห้ามรถตู้สิบปีวิ่งรับส่งคนโดยสาร          อย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกเรื่องความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมีภาพรวมดีขึ้นขยับจากอันดับที่ 2 มาเป็นอันดับที่ 9  แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ลดลง ที่สำคัญประเทศไทยยังติดอยู่ใน 10 อันดับอยู่ดี ขณะที่อัตราการตายจากรถจักรยานยนต์ยังคงสูงติดอันดับ 1 ของโลก โดยเป็นการเสียชีวิตที่เกิดตลอดทุกช่วงของปี          ซึ่งหากจะนับตัวเลขเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย คือ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม – 2 มกราคม  ในสองปีหลังสุดพบว่า ในปี 2561 เกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศทั้งหมด 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน ขณะที่ในปี 2562 เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น  3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 463 คน และมีผู้บาดเจ็บรวม 3,892 คน โดยมีจังหวัดนครศรีธรรมเป็นจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดจำนวน 118 ครั้ง และเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุดจำนวน 137 คน ขณะที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดจำนวน 25 ราย          ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายปี 2562 พบว่า มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย หรือลดลง 1.3% และ 5.5% ตามลำดับ  ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงกว่าปีที่แล้วถึง 10%  โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถด้วยความเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง          ขณะที่อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในช่วง 7 วันอันตรายของปี 2562 นี้ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะจำนวน 5 ครั้ง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยผลการตรวจสภาพความพร้อมรถโดยสารทั่วประเทศ 132,813 คัน พบรถโดยสารบกพร่อง 7 คัน สั่งเปลี่ยนรถ 6 คัน และพ่นสีห้ามใช้รถทันที 1 คัน นอกจากนี้ยังได้ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ 132,813 ราย พบพนักงานขับรถที่ไม่มีความพร้อมร่างกายอ่อนเพลีย 2 ราย          แต่จากรายงานผลการตรวจเข้มของกรมการขนส่งทางบกจากสถานีขนส่งและจุดจอดรถ 196 แห่งทั่วประเทศที่ระบุว่าไม่มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเลยนั้น อาจจะคลาดเคลื่อนขัดกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอยู่บ้าง          เพราะเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ในช่วง 7 วันอันตราย เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทางของบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เสียหลักตกข้างทางบริเวณถนนสายฮอด – แม่สะเรียง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บมากถึง 8 ราย โชคดีที่เหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต ไม่งั้นก็คงเป็นข่าวใหญ่สะเทือนขวัญส่งท้ายปีกัน แต่จำนวนผู้บาดเจ็บในครั้งนี้กลับไม่ถูกนำรวมกับข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในช่วง 7 วันอันตราย          อย่างไรก็ดีแม้ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ จะไม่มีความรุนแรงชนิดที่มีคนเสียชีวิตกับอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะให้เราได้เห็นกันก็ตาม แต่ทุกฝ่ายทุกคนก็ไม่อาจนิ่งเฉยหรือปล่อยปละละเลยกันเหมือนเคยได้ การเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ควรทำแค่ช่วง 7 วันอันตราย แต่ควรมีมาตรการที่สามารถทำได้ในทุกวัน         แน่นอนแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการแล้ว อาจจะมีผู้กระทำความผิดบางรายที่หลุดเล็ดลอดไปบ้าง แต่ภาพรวมต้องถือว่าสถานการณ์ของรถโดยสารสาธารณะดูดีมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรการที่เข้มข้นและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน อาสาสมัครเฝ้าระวัง ผู้ประกอบการ ที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่ในกฎกรอบกติกา ที่ร่วมกันสร้างให้ประชาชนและทุกฝ่ายทุกคนตระหนักถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและความปลอดภัยทางถนนร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ทีวีดิจิทัลกับสิ่งแอบแฝง

“สารสกัดตัวนี้นำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผิวหน้าของคุณกระจ่างใส ชุ่มชื่น”“กลัวไหมว่าแต่งหน้าแล้วหน้าเทา พี่ใช้ครีมตัวนี้แล้วไม่มีปัญหาเลย “ถ้าไม่ดีจริง ไม่กล้าบอกต่อหรอก”“มั่นใจได้เพราะเขามี อย.”เรามักจะพบประโยคเหล่านี้อยู่เนืองๆ ผ่านทางรายการโทรทัศน์สักช่อง บางครั้งอาจถึงขนาดที่ว่าเปิดไปกี่ช่องๆ ก็เจอคนดังกำลังบรรยายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ที่ถืออยู่ในมือ พร้อมกับสาธิตการใช้งาน ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยโปรโมชั่นเขย่าใจ ลดแลกแจกแถมขนานใหญ่ จนผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรสั่งซื้อทันทีทันใดแต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้สึกเคยชิน หากแต่ต้องสะกิดตัวเองแรงๆ แล้วเตือนสติว่า เรากำลังเสพ ‘โฆษณาแฝง’ โดยไม่ได้ตั้งใจหลายคนอาจจะสงสัยว่าเสพไปแล้วเป็นอะไร มีผลเสียอย่างไร ก็คงต้องเท้าความเสียก่อนว่า ในยุคปัจจุบันผู้คนมักจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของสื่อใหม่ (new media) มากขึ้น เนื่องด้วยคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ เช่น เนื้อหาสั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ฯลฯ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อเก่า (old media) หลายๆ ประเภทยังคงได้รับการใช้งานจากกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่มีการพัฒนาจากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่คุณภาพของการรับชมที่ดีขึ้น มีการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่มีโอกาสเข้ามาผลิตเนื้อหาและสร้างความหลากหลายในวงการสื่อ ขณะที่ผู้ชมเองก็มีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นทว่าเมื่อการแข่งขันระหว่างช่องโทรทัศน์ไต่ระดับขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับการเติบโตของสื่อใหม่ที่เข้ามาช่วงชิงความสนใจของผู้รับสาร ทำให้โฆษณา (advertising) ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์เกิดการเลื่อนไหลไปยังพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลหรือ ‘ทีวีดิจิทัล’ จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจตนเอง กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ ‘โฆษณาแฝง’ ซึ่งเป็นการโฆษณาสินค้าและบริการที่สอดแทรกไปกับเนื้อหาอย่างแยบยล จนผู้บริโภคไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับโฆษณาทั่วไป ทำให้สินค้าและบริการนั้นๆ มีโอกาสซึมลึกเข้าไปในใจของผู้บริโภคโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพที่มักจะพบได้บ่อยๆ เช่น อาหารเสริม ยาบำรุงร่างกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น สิ่งที่น่ากังวลคือสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่และครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้บริโภคจึงมีลักษณะทางประชากรศาสตร์หลากหลาย ทั้งในด้านเพศ อายุ อาชีพ การศึกษา และด้านอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณและความรู้เท่าทันสื่อที่ไม่เท่ากัน อันนำไปสู่ทัศนคติและพฤติกรรมการตอบสนองต่อโฆษณาแฝงที่แตกต่างกัน เช่น โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมความงามยี่ห้อหนึ่งอาจไม่มีผลต่อผู้สูงวัย แต่กลับกระตุ้นความต้องการซื้อในกลุ่มวัยรุ่นได้อย่างมาก จนนำไปสู่ค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายนอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสาระหรือความบันเทิงจากรายการโทรทัศน์อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกยัดเยียดโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาด้วย เนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจของผู้ประกอบการโทรทัศน์และเจ้าของสินค้าและบริการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ขององค์กรสื่อโดยละเลยต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคหรือไม่ ทว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการตั้งคำถามไปยังจริยธรรมของผู้ประกอบการ เจ้าของสินค้าและบริการ หรือนักการตลาดเพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการขาดความรู้เท่าทันสื่อของผู้บริโภค และประสิทธิภาพในการคัดกรองโฆษณาแฝงของหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระดับที่ผู้บริโภคจะสามารถฝากความเชื่อมั่นไว้ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่งานศึกษาเรื่อง “รูปแบบของโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพในรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล” ซึ่งมุ่งที่จะค้นหาคำตอบว่าทีวีดิจิทัลยุคปัจจุบันมีการใช้โฆษณาแฝงในลักษณะใดบ้าง โดยใช้การสำรวจทีวีดิจิทัล 2 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ รวมทั้งเลือกรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction) เช่น ข่าว สาระความรู้, รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) เช่น ละคร ซิทคอม ซีรีส์ และรายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment) เช่น ทอล์กโชว์ เกมโชว์ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2561 โดยเลือกพิจารณาเฉพาะอาหาร ยา เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรงข้อค้นพบในการศึกษาครั้งนี้อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้1. ประเภทของผลิตภัณฑ์สุขภาพ  ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อสุขภาพอนามัยหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในงานศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปรากฏในรูปของโฆษณาแฝง ได้แก่              •      อาหาร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร              •      ยา เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร              •      เครื่องสำอาง เช่น ครีมบำรุงผิว เซรั่มบำรุงเส้นผม         2. รูปแบบของโฆษณาแฝงจากการศึกษาสามารถจำแนกข้อมูลโฆษณาแฝงตามแนวทางของ ธาม เชื้อสถาปนศิริ (2552) ที่อธิบายว่าโฆษณาแฝงมีทั้งหมด 5 รูปแบบได้ดังนี้            •      แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) ก่อนเข้ารายการแต่ละช่วงจะมีโลโก้สินค้าและเสียงบรรยายว่า “สนับสนุนรายการโดย...” พร้อมกับบรรยายสรรพคุณสินค้าพ่วงเข้ามาด้วย เช่น “ดื่มง่าย ละลายน้ำดี ไม่มีกลิ่นคาว ราคาพิเศษสุดๆ โทรสั่งเลย...”    •      แฝงภาพกราฟิก โดยมีโลโก้สินค้าปรากฏที่ฉากหลัง หรือมีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ รวมทั้งมีกรอบสินค้าที่บริเวณขอบจอ (window logo)   •      แฝงวัตถุ พบค่อนข้างมาก เช่น วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก มีป้ายสินค้าหรือภาพสินค้าเป็นฉากหลัง   •      แฝงบุคคล พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า หรือตัวละครหยิบจับสินค้าขึ้นมาใช้งาน พร้อมกับพูดชื่อยี่ห้ออย่างชัดเจน    •      แฝงเนื้อหา พบได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะออกแบบเนื้อหาโฆษณาแฝงให้สอดคล้องกับเนื้อหารายการ หากเป็นรายการทอล์กโชว์จะมีการสัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วนำไปสู่เรื่องของความงามหรือความสำเร็จซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสินค้า พร้อมสาธิตการใช้งาน เช่น ทาครีม รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนมอบสินค้าให้แก่พิธีกรหรือผู้ร่วมรายการ หรือรายการสุขภาพก็มีการแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการออกแบบให้ผู้ดำเนินรายการหรือตัวละครต้องใช้สินค้านั้นๆ เช่น ใช้ในการประกอบอาหาร หรือประกอบอาชีพ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการสอดแทรกโฆษณาแฝงที่โจ่งแจ้งและไม่เชื่อมโยงกับเนื้อหาเช่นกัน โดยผู้ประกาศข่าวพูดโฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นในช่วงหนึ่งของรายการ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อยนอกจากนี้ ยังพบรูปแบบของการทำโฆษณาแฝงที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือ การผลิต ‘รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ’ ขึ้นมา โดยออกแบบให้มีลักษณะคล้ายรายการสุขภาพเป็นหลัก บางส่วนเป็นรายการวาไรตี้ และบางส่วนออกแบบให้คล้ายรายการเล่าข่าว ลักษณะการนำเสนอจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับรายการแล้วจึงเชื่อมโยงไปสู่สินค้า เช่น รายการสุขภาพก็จะให้ความรู้เรื่องสุขภาพ หรือรายการข่าวนำเสนอข่าวเกี่ยวกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แล้วชี้นำว่าสินค้าสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้สินค้าจริงและอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือของสินค้า ในส่วนของรายการวาไรตี้มีการจัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก และนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันทายราคา   จุดประสงค์สำคัญของรายการประเภทนี้ คือ แนะนำสรรพคุณสินค้าและโปรโมชั่น พร้อมกับเชิญชวนให้เกิดการซื้อ แม้ว่าหน้าตาของรายการประเภทจะละม้ายคล้ายคลึงกับการแฝงเนื้อหาโดยทั่วไป ทว่าจุดต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ            3. ความสัมพันธ์ของประเภทรายการและโฆษณาแฝง    การศึกษาในครั้งนี้ยังพบความสอดคล้องระหว่าง ‘ประเภทของรายการโทรทัศน์’ กับโฆษณาแฝงที่นำเสนอ โดยประเภทของรายการโทรทัศน์มักจะมีผลต่อการออกแบบโฆษณาแฝง ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาหรือด้านรูปแบบของโฆษณาแฝง ดังรายละเอียดต่อไปนี้              3.1 รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (non-fiction)                 มักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงข้อมูลหรือสาระความรู้แล้วค่อยๆ สอดแทรกโฆษณาแฝงเข้าไป พิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการสื่อสารด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างเป็นทางการ น่าเชื่อถือ มีการอ้างข้อมูลประกอบ                1) รายการข่าว/เล่าข่าว                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (ตราสินค้าปรากฏที่ฉากหลัง, มีโลโก้สินค้าปรากฏในจอด้านหน้าโต๊ะผู้ประกาศข่าว) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ที่โต๊ะ, พิธีกรพูดถึงสินค้าและมีการแพนกล้องไปที่สินค้า) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับปัญหาความงาม แล้วโยงไปสู่สินค้า)                2) รายการสุขภาพ                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (พิธีกรนำเสนอเรื่องสุขภาพ แล้วแนะนำสินค้าที่มีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพ)           3.2 รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction)                 มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงเข้ากับเรื่องราวหรือตัวละคร เช่น แฝงกับสถานที่ หรือตัวละครมีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้นๆ                1) ซิทคอม                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงวัตถุ (วางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก, มีป้ายสินค้าเป็นฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครมีอาชีพที่ต้องใช้สินค้านั้นๆ)                2) ละคร/ซีรีส์                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (ตัวละครหยิบสินค้าขึ้นมาใช้ มีการพูดถึงตราสินค้าโดยตรงหรือกล้องแพนไปที่สินค้านั้น)           3.3 รายการให้ความบันเทิงเบาสมอง (Light Entertainment)                 พบว่าโฆษณาแฝงมีความกลมกลืนกับเนื้อหาของรายการ เช่น รายการทอล์กโชว์ที่สัมภาษณ์นักแสดงหญิงก็มักจะแฝงสินค้าด้านความสวยความงาม หรือรายการทำอาหารก็มีโฆษณาแฝงเกี่ยวกับอาหาร                1) รายการทอล์กโชว์                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (ก่อนเข้ารายการมีโลโก้และเสียงบรรยายผู้สนับสนุนรายการ) แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอเป็นระยะ) แฝงวัตถุ (มีสินค้าวางบนโต๊ะและมีภาพสินค้าที่ฉากหลัง) และแฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ผลงาน แล้วโยงไปสู่สินค้าในตอนท้าย)                2) รายการเกมโชว์/แข่งขัน                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงสปอตสั้น (แนะนำผู้สนับสนุนรายการ) และแฝงวัตถุ (มีป้ายโลโก้สินค้าตรงที่นั่งของผู้แข่งขัน)                3) รายการอาหาร                    รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (โลโก้สินค้าปรากฏที่มุมจอ) แฝงวัตถุ (วางสินค้าไว้ในฉาก) แฝงบุคคล (พิธีกรใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีตราสินค้า) และแฝงเนื้อหา (แจกสินค้าให้แขกรับเชิญ หรือร่วมสนุกตอบคำถามชิงรางวัลจากสินค้ายี่ห้อนั้นๆ)                4) รายการแนะนำอาชีพ                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงเนื้อหา (สัมภาษณ์แขกรับเชิญที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แล้วเชื่อมโยงไปถึงสินค้า)                5) รายการประเภทอื่นๆ เช่น วาไรตี้ ท่องเที่ยว                     รูปแบบของโฆษณาแฝง ได้แก่ แฝงภาพกราฟิก (มีภาพสินค้า ตราสินค้า และสโลแกนปรากฏที่มุมจอ) และแฝงเนื้อหา (พาชมบ้านแขกรับเชิญแล้วพบสินค้าวางอยู่ แขกรับเชิญก็บรรยายสรรพคุณสินค้า พร้อมกับชี้ชวนให้ซื้อ)          3.4 รายการแนะนำสินค้าโดยเฉพาะ                มักจะสอดแทรกโฆษณาแฝงที่เข้ากับรูปแบบรายการ เช่น รายการเชิงสุขภาพก็นำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีการอ้างอิงข้อมูลจากผู้ใช้สินค้าจริงและข้อมูลทางการแพทย์หรืองานวิจัย รายการวาไรตี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกมีลักษณะเป็นซิทคอมก็ใช้รูปแบบแบบแฝงวัตถุ (จัดวางสินค้าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก) ช่วงต่อมาจะเป็นการแข่งขันโดยนำสินค้ามาเป็นโจทย์ให้ผู้แข่งขันทายราคา เป็นต้น                จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นว่าโฆษณาแฝงในรูปแบบดั้งเดิมก็ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ล้มหายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ และในขณะเดียวกันก็ยังมีโฆษณาแฝงรูปแบบใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ใน 2 ประเด็น ดังนี้                 1. รายการ ‘ยั่งยืน’ กับ ‘ไม่ยั่งยืน’                      เราสามารถแบ่งลักษณะของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รายการ ‘ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่ออกอากาศมานาน/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 1 ชั่วโมงขึ้นไป/อยู่ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ (prime time)/กำหนดวันและเวลาออกอากาศที่แน่นอน/เป็นรายการที่มีจำนวนผู้ชมมากหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ในระยะยาว เช่น รายการทูเดย์โชว์ (3 HD), คุยโขมงบ่ายสามโมง (MCOT HD), ซีรีส์เป็นต่อ 2018 (ONE 31)                     รายการ ‘ไม่ยั่งยืน’ หมายถึง รายการที่เพิ่งผลิตและออกอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา/มีระยะเวลาในการออกอากาศ 10-30 นาที (บางรายการอาจถึง 1 ชั่วโมง)/วันและเวลาออกอากาศไม่แน่นอน กล่าวได้ว่า เป็นรายการที่มีแนวโน้มจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือในระยะสั้นๆ เช่น รายการใส่ใจไกลโรค (ช่อง 8), รายการพลังชีวิต (NOW 26)                     แม้ว่ารายการทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านคุณลักษณะ แต่กลับพบว่ามีการนำเสนอโฆษณาแฝงด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งในอดีตนั้นรายการยั่งยืนจะไม่นำเสนอโฆษณาแฝงอย่างหนักหน่วงเหมือนเช่นปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นวิกฤตการณ์ขององค์กรสื่อ ตลอดจนความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องหาทางเอาตัวรอดจากสภาวะดังกล่าว เราจึงพบโฆษณาแฝงกระจายตัวไปตามรายการต่างๆ อย่างครอบคลุมไม่ว่าช่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม                  2. แฝงแบบ ‘เนียน’ กับ ‘ไม่เนียน’                      อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบของโฆษณาแฝงมีทั้งแนบเนียนและไม่แนบเนียน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้                      แนบเนียน หมายถึง นำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรายการ แล้วจึงนำไปสู่การเสนอขายผลิตภัณฑ์  เช่น รายการทอล์กโชว์มีการสัมภาษณ์นักแสดงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง แล้วจึงโยงเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ หรือรายการด้านสุขภาพนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการดูแลสุขภาพ แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งลักษณะการดำเนินรายการจะค่อนข้างราบลื่น (smooth) มีลำดับขั้นตอนในการนำพาไปสู่เป้าหมาย (ผลิตภัณฑ์สุขภาพ) มีจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามได้                      ไม่แนบเนียน หมายถึง เสนอขายผลิตภัณฑ์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระในรายการ เช่น รายการข่าว ผู้ประกาศข่าวอธิบายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง พร้อมชี้ชวนช่องทางการสั่งซื้อให้แก่ผู้ชม โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวที่นำเสนอแม้แต่น้อย ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ชมเกิดความตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน                       ข้อแตกต่างดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสร้างสรรค์ของผู้ผลิตในการจัดวางโฆษณาแฝงลงในรายการของตนเองแล้ว ยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อไปได้อีกว่า การนำเสนอแบบแนบเนียนนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่า เพราะผู้ชมเสพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้คล้อยตามไปกับสารที่ได้รับอย่างง่ายดาย ในขณะที่การนำเสนอแบบไม่แนบเนียนมักจะทำให้ผู้ชมรู้ตัวและรู้ทันเสียก่อน จนนำไปสู่การระแวดระวังได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปหากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ดำเนินรายการ ความถี่ในการรับชม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ชมได้ทั้งสิ้น                        แต่ไม่ว่าโฆษณาแฝงเหล่านี้จะถูกนำเสนอหรือรังสรรค์ออกมาในแบบใดก็ตามต่างก็สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการทีวีดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ในยุคสมัยที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ คาดหวังเนื้อหาน้ำดีมีคุณภาพ ผู้ประกอบการเองก็ต้องขวนขวายหาทางอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องตระหนักถึงสิทธิที่พึงมี เสพสื่ออย่างระแวดระวัง และรู้จักตรวจสอบสิ่งที่เสพอยู่เสมอ เมื่อผู้บริโภคมีความกระตือรือร้น (active consumers) ก็ย่อมส่งผลไปยังผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวให้ตอบสนองต่อความรู้เท่าทันและพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในอนาคต  แหล่งข้อมูล:ธาม เชื้อสถาปนศิริ. (2552). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ: ออฟเซ็ทครีเอชั่น.ปวรรศ จันทร์เพ็ญ. (2560). กลยุทธ์ใหม่กับโฆษณาแฝงในปัจจุบัน. นิเทศสยามปริทัศน์, 12(13).พชร แกล้วกล้า และคณะ. (2559). จับตายโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดี. 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู

     ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ในบ้านเรายืดเยื้อมามากกว่าหนึ่งปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่หน้าเพจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 ชุด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเอง แสดงจุดยืนชัดเจนในการแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต) หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมได้แถลงจุดยืนดังกล่าวก่อนแล้วและในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคและทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากการใช้ยาฆ่าหญ้า 2 พื้นที่ คือที่ รพสต.หนองเรือ อ.โนนสัง และรพสต.บ้านพนาวัลย์ อ.นากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมผู้ได้รับผลกระทบที่ให้ข้อมูลจำนวน 7 ราย โดย 4 รายจาก อ.โนนสัง นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่ผู้เสียหายจะได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้า ลักษณะบาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิด 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) ส่วนอีก 3 รายจาก อ.นากลาง เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด มีผู้เสียหายใช้สารเคมียี่ห้อพาราควอต 2 ราย ใช้ เอชโซนัด 95 ตราหมาแดง 1 ราย บาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิน 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้าทางทีมงานจึงได้พูดคุยกับ ทญ.วรางคณา  อินทโลหิต หรือหมอฝน ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู และหัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้เล่าเรื่องสารเคมีในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาว่า “เริ่มมาจากการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม  เรื่องสารเคมีมันเกิดจากเมื่อปี 2555 จังหวัดหนองบัวลำภู และทำโครงการร่วมกับ อบจ.กับ สสส. เรื่องจังหวัดน่าอยู่ เรื่องสารเคมีเกษตรเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน 5 เรื่องที่เราทำ ตอนแรกที่คณะทำงานคิด เราคิดว่าจะทำเรื่องป่ากับขยะ ในเวทีนั้นมีเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แกนำเข้าข้อมูลสารเคมีเกษตร ซึ่งตอนนั้นถือว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ของกรรมการเลยว่ามันมีปัญหาสารเคมีในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าปัญหาสารเคมีในพื้นที่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา คิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ต่อมาพยาบาลโรงพยาบาลนากลางเขาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่า พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ มีโรงเรียนต้องปิดโรงเรียนเพราะเด็กๆ ได้รับผลกระทบจาการฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะต้องเดินผ่านจากไร่อ้อยไปโรงเรียน แล้วเกิดอาการวิงเวียน อาเจียนจนต้องปิดโรงเรียน พยาบาลก็นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็รู้ว่าสารเคมีเป็นพิษ แต่ก็ต้องทำมาหากิน พยาบาลเลยมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเราเลยนึกถึงเวทีที่เกษตรกรคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ท่านนั้นพูดถึง ตัวเราคิดว่าเราสาธารณสุขคงมีกำลังไม่พอที่จะทำเรื่องนี้  เลยว่าจะชวนเครือข่ายเกษตรมาช่วย แล้วในโครงการจังหวัดน่าอยู่มีงบประมาณที่จะพอจัดเวทีให้ความรู้ได้ แล้วตอนนั้นได้รู้จักกับนายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เลยจัดเวทีให้ความรู้ที่นากลาง และศรีบุญเรือง เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและคุณหมอปัตพงษ์มาพูดเรื่องผลกระทบ นักวิชาการของเรา นักวิชาการสมัชชาสุขภาพ คุณโกวิท พรหมวิหารสัจจา ก็อยู่บนเวทีนี้ด้วย แกจะทำพื้นที่นวเกษตร เราเลยจะทำเป็นพื้นที่นำร่อง ใครไม่ทำ เราจะทำ คุณโกวิทเลยไปซื้อที่ใหม่แล้วเข้าไปตัดหญ้าถางพื้นที่ อยู่ๆ วันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าแกเป็นโรคเนื้อเน่า แกบอกว่าแกไปสัมผัสอยู่ 2 วันในพื้นที่นั้น บอกว่ามียาฆ่าหญ้า ปวดขามาก เลยไปหาหมอกระดูก หมอบอกว่ามันเป็นการติดเชื้อ ก็ส่งต่อไปที่ รพ.อุดรตอนนั้นแกเกือบเสียชีวิตเลยนะ ช็อกไปเลยที่ถูกลอกหนัง ถูกทำอะไรหลายอย่าง เราก็เลยได้มาศึกษาว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรเนื่องจากคนใกล้ตัวเป็น จึงนำเรื่องปรึกษากับหมอปัตพงษ์ อาจารย์บอกว่า เกิดจากยาฆ่าหญ้า ประจวบกับสมัชชาสุขภาพนั้นต้องคิดนโยบายและการทำงานเชิงวิชาการด้วย ช่วงนั้นพออาจารย์โกวิท หายป่วย ซึ่งเป็นระยะเวลาปีกว่า เราก็มาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ทำโฟกัสกรุ๊ปก็พบว่าส่วนใหญ่จะไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มียาฆ่าหญ้า จึงเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกัน การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพาราควอต ในช่วงที่ทำสมัชชาสุขภาพจังหวัดในที่ประชุมของสาธารณสุขจังหวัด มีศัลยแพทย์ท่านหนึ่งได้มานำเสนอในที่ประชุมว่า โรคเนื้อเน่าเป็นโรคอันดับ 1 ในแผนกศัลยฯ ของหนองบัวลำภู ซึ่งเขาก็ไม่รู้สาเหตุ ในวันนั้นเราก็พูดในที่ประชุมว่า มันเกิดจากยาฆ่าหญ้าทุกคนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเองเป็นทันตแพทย์ พี่เป็นทันตแพทย์ไง ศัลยแพทย์ท่านจึงบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกว่าในส่วนของโรงพยาบาล เขาจะมีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยอะไรมาก สถิติการป่วยของผู้ป่วย มีค่าใช้จ่ายสูงไหม เขาจะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งเขายังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้นะ เป็นปัญหาอันดับ 1 ในปี 2556  ของแผนกศัลยฯ พอปี 57 มีพยาบาลไปเรียนโท แล้วทำงานวิจัยเรื่องสารเคมีเกษตร เขาเลยเจาะไปที่อ้อย เพราะที่ อ.ศรีบุญเรืองปลูกอ้อยเยอะ เลยทำข้อมูลมาให้เห็นว่าสารเคมีที่ใช้เยอะที่สุดคือยาฆ่าหญ้า อันดับ 1 คือ พาราควอต และก็บอกปริมาณ บอกอะไร ข้อมูลที่เราเริ่มรณรงค์กับชาวบ้านก็เป็นสไลด์จากข้างนอก แล้วก็มีข้อมูลจากข้างใน ระหว่างนั้นก็มีการเจาะเลือดเกษตรกร โครงการ เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เขาจะเจาะเลือดเกษตรกรเพื่อดูยาฆ่าแมลง ก็จะพบว่าเสี่ยงกว่า 50%  ซึ่งตอนนั้นอาจารย์หมอปัตพงษ์ บอกว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะมีแต่ยาฆ่าแมลง เราเคยไปเยี่ยม รพ.สต.กำนันคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาเป็นคนรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า แต่เขาไปเจาะเลือดแล้วเขาปลอดภัย เขาเลยนึกได้ว่าเคยคุยกับอาจารย์หมอปัตพงษ์ว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะเป็นยาฆ่าแมลง เราจึงทำรณรงค์ว่าที่เราเจาะเลือดเจอไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า แต่เป็นยาฆ่าแมลง จนมาปี 57 เราไปหาว่าที่ไหนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ เพราะเรารู้ว่าคนเขาใช้เยอะ ทางด้านเกษตรกรที่งานสมัชชาสุขภาพก็มองว่ามันต้องลด ละเลิก พอดีว่ารู้จักกับคุณนิพัท ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปรึกษาของนายก อบจ. พอเรานำประเด็นของสมัชชาสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  แล้วแนวทางที่เราไปศึกษามาจากต่างประเทศนี่บอกว่า ต้องเกษตรอินทรีย์นะ ต้องลดการใช้จึงจะปลอดภัย เราก็ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลแบบนี้ไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พอปี 58 พอเราจะขับเคลื่อนสมัชชาคุณนิพัทก็รวมเครือข่ายได้ 6 เครือข่าย ซึ่งดิฉันมีหน้าที่ไปให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ ในการทำงานเรายังมีอีกเครือข่ายชื่อ สกว.ท้องถิ่น ซึ่งเสนอว่า สมัชชาฯ ต้องมีการวิจัยในท้องถิ่นว่ามีการใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ขนาดไหน แต่ในปี 57-58 ยังไม่ได้ทำประเด็นนั้น ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ ก่อนจาก 6 เครือข่ายเพิ่มมาเป็น 12 เครือข่าย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านผู้ว่าจะย้ายบ่อย ผู้ว่ามาทีไรคณะกรรมการสมัชชาจะต้องไปให้ข้อมูล ผู้ว่าฯ สองท่านมองว่า ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน พอปี 60 เราก็ไปเจาะที่อำเภอสุวรรณคูหาให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ว่าเขามีปํญหาอะไร มีที่บุญทันทำเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ที่นาดีทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาสารเคมี ที่กุดผึ้งทำเรื่องสารทดแทนยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย จนในปี 60 ที่มีการเริ่มแบนพาราควอต ดิฉันกับคุณนิพัทก็ได้รับเชิญไปที่กรุงเทพฯ โดยองค์กรไทยแพน ได้จัดแถลงข่าวที่จะแบนสารเคมี เพราะในเดือนเมษายน ปี 60 รมต.สาธารณสุขขอให้แบนสารเคมี เราก็ดีใจนะในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ เดือนกันยายนช่วงนั้น ญาติของคุณนิพัทแกเป็นโรคเนื้อเน่าที่แขนพอดี แกเลยถ่ายรูปแล้วโพสต์ขึ้นไลน์ของเครือข่ายเกษตรอินทรย์ พอวันรุ่งขึ้นไปประชุมที่ไทยแพนเขาก็ถามว่า จังหวัดไหนจะแบนบ้าง เราก็เลยขึ้นไปแถลงข่าวกับเขา เราพูดเรื่องโรคเนื้อเน่าหรือ NF (Necrotizing fasciitis) คนก็ไม่เข้าใจ ภาษาวิชาการเรียกว่าโรคหนังเน่า ต่อมาก็เรียกว่าโรคเนื้อเน่า เราก็เล่าว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร คุณนิพัทก็โพสต์ภาพไป มันก็เป็นข่าวดังเพราะคนไม่รู้จัก นักข่าวก็มาทำข่าวที่ รพ.หนองบัวลำภู ประกอบกับช่วงนั้นท่านผู้ว่าคนที่แล้ว(ตอนนี้ย้ายไปอุตรดิตถ์) เราไปเล่าให้ท่านฟังพร้อมกับให้ข้อมูล ประโยคเด็ดซึ่งท่านผู้ว่าบอกมาทีหลังว่า ฟังแล้วกระตุกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง คือนำเสนอท่านว่า “ในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ” แล้วเราเอาเอกสารข้อเท็จจริงเสนอผู้ว่าฯ ท่านก็นำเสนอส่วนราชการ นี่คือก่อนจะเป็นข่าว พอเป็นข่าวนักข่าวมาทำข่าวเยอะ ท่านผู้ว่าไปเยี่ยมผู้ป่วย พอท่านถามก็จะพบว่า ผู้ป่วยจะมีแผลก่อนแล้วไปสัมผัสยา มีคนหนึ่งโดนปูหนีบแล้วไปล้างมือในที่นา จากนั้นเกิดอาการแขนบวมพอง จึงต้องลอกเนื้อที่แขน พอใครไปสัมภาษณ์ก็จะพบว่าที่บ้านผู้ป่วยมียาฆ่าหญ้าเยอะมาก พอได้ข้อมูลแบบนี้เลยคิดว่าเราต้องขยับต่อ ต้องทำงานต่อ พอหนองบัวลำภูบูมขึ้นมา ทางส่วนวิชาการก็มา แพทย์จากสำนักระบาดวิทยาก็ลงมา เขาก็ไม่รู้จักมาก่อนก็มาทำข้อมูลให้ เราบอกว่าเกิดจากยาฆ่าหญ้า เขาก็ไม่ฟันธง สงสัยว่ามันเกิดได้อย่างไร เนื้อเน่า NF เกิดจากเชื้อโรค แต่เขาก็บอกว่า รูปกราฟการติดเชื้อที่เป็นฟันปลาว่า ถ้าติดเชื้ออย่างเดียวรูปกราฟจะไม่เป็นฟันปลาแบบนี้ เขาต้องไปค้นหาให้ได้ว่าเกี่ยวข้องกับฤดูกาลอย่างไร ประกอบกับในปี 60 นี้ทางไทยแพนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ นักวิจัยชุมชนที่เก็บข้อมูลมาจากหลายพื้นที่ ก็บอกว่าที่เขาเก็บมาเห็นชัดเจนว่ามีการใช้พาราควอตเยอะ เราก็อยากรู้ว่าใช้เยอะแล้วมีการตกค้างเยอะขนาดไหน เรามีหน้าที่ประสานก็ประสาน จนในที่สุดได้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมา ตอนแรกทางนั้นจะไม่มาเพราะว่าไกล แล้วเคยทำที่น่านแล้วแต่ผู้ว่าฯ ไม่ยอมรับ แต่หลังจากเราโทรหา ดร.พวงรัตน์ ซึ่งตอนแรกไม่รู้จักหนองบัวลำภูมาก่อน ระหว่างนั้นเราก็สื่อสารกับผู้ว่าฯ ว่าแพทย์ระบาดวิทยาให้ทำวิจัยเพิ่มเติม ท่านบอกว่าเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วง อย่ากังวลเรื่องราคา ท่านบอกว่าจะหาเงินทำวิจัยให้ เลยคุยกับดร.พวงรัตน์ว่า ท่านผู้ว่าฯ เห็นด้วย ทางนักวิจัยจากนเรศวรเลยมาเก็บข้อมูลก่อนว่า สมเหตุสมผลไหมที่จะมาทำ หลังจากที่ดร.พวงรัตน์มาเก็บข้อมูลในเดือนธันวาคม คราวนี้ตกใจมาก เนื่องจากเห็นสภาพแวดล้อมแล้วน่ากลัวมาก เพราะที่ทำกินคือ ไร่อ้อยกับบ้านชาวบ้านนี่อยู่ติดกันเลย ซึ่งต่างจากที่น่าน ที่จะมีที่ทำกินอยู่ที่หนึ่ง บ้านอยู่ที่หนึ่ง เขาบอกว่าน่ากลัว เมื่อกลับไปวิเคราะห์ตัวอย่าง 2-3 วันแกรีบโทรกลับมาเลยว่า ที่นี่มีการตกค้างสูงมาก ในที่สุดต้องมีการจัดการ ทางจังหวัดต้องทำอย่างไร โดยการทำต้องไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนกด้วย พอเดือนมกราคมก็ให้มีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน เช่น ที่ระบบประปา แบ่งหน้าที่กันว่า อบจ.ต้องทำอะไร แล้วผู้ว่าก็เน้นว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นจริง จึงนำปัญหาสารเคมีนำเข้าเป็นวาระของจังหวัด ต่อมาเราก็มีการวางแผนการลดใช้สารเคมี โดยมี ม.นเรศวร(มน.) มาช่วยเก็บตัวอย่าง 500 ตัวอย่าง ได้ข้อมูลมาว่าตกค้างเยอะ จากนั้นเราก็ขอทุนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ มช.ว่าจะลดสารเคมี เขาเลยให้เข้าโครงการท้าทายไทย ในเรื่องของการลดการใช้สารเคมี ให้ทาง มน.ช่วยเขียนโครงการว่าจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร ได้ผลสรุปว่า ต้องลดการใช้สารเคมีประมาณ 40% ให้ได้ในปี 64 และจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างไร การกรองสารพาราควอตในน้ำประปา โดยที่จังหวัดน่านใช้ถ่านกัมมัน ได้เชิญคนที่เผาถ่านกัมมันเป็นมาช่วย อันนี้เป็นการแก้ไขเองปัญหาสารเคมี ส่วนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มีการขับเคลื่อน เช่น รพ.สต.ไปเจาะเลือดเกษตรกรเจอตกค้างเยอะ ปลูกผักในพื้นที่สาธารณะ สนับสนุนเรื่องน้ำประปา สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทำโครงการหัวนาโมเดลให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ มีบุญทันโมเดลที่แก้ปัญหาสารเคมี และกำลังจะประกาศยกระดับเป็นหนองบัวลำภูโมเดล ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารเคมี 3 ปี เพราะถ้าหนองบัวลำภูเป็นโมเดล(ต้นแบบ) ได้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ได้ เมื่อปี 57 เราเล่าเรื่องโรคเนื้อเน่าให้ นพ.วีรวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ฟังท่านยังไม่รู้จัก แต่พอเมื่อปีที่ผ่านมาเจอท่านอีกครั้งท่านบอกว่าให้ไปช่วยที่ยโสธรด้วยที่นั่นเป็นเยอะ พอเราไปถามหลายๆ จังหวัด โรคนี้เป็นเยอะนะแต่คนยังไม่สนใจ   บทเรียนในการทำงานและสิ่งที่อยากเห็นในการแก้ปัญหา เวลาเราไปให้ข้อมูลชาวบ้าน เขาจะรู้สึกว่าเขาใช้มัน(ยาฆ่าหญ้า) จนเหมือนเป็นยาธรรมดา เหมือนเรากินยาพาราที่เราไปซื้อที่ไหนก็ได้ แล้ววันดีคืนดีพอเราไปบอกว่าพาราเป็นพิษ ชาวบ้านจะถามว่า ถ้ามันอันตรายทำไมนำเข้าล่ะ ชาวบ้านจะมองแบบนี้ จะมองว่ามันไม่อันตราย เราเลยคุยกับชาวบ้านว่าทำอย่างไรเราจะลด ละ เลิก ได้ก่อน เพราะ 50 ประเทศยกเลิกไปแล้ว เราไม่ใช่ประเทศแรกที่ยกเลิกแล้วทำไมเราจะยกเลิกไม่ได้ ชาวบ้านจะถามว่า สารทดแทนเขาจะใช้อะไร ในขณะเดียวกันหน่วยงานของกระทรวงเกษตรก็บอกว่าแล้วชาวบ้านจะใช้อะไรแทนพาราควอต มันยังจำเป็นอยู่ ตัวเราเองเป็นผู้บริโภคอยากให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะเวลาไปซื้อผัก เราไว้ใจไม่ได้เลย คือเราไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลยนะ ความมั่นคงทางอาหารเราไม่มีเลย เราจะทำอย่างไร ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสารเคมีเกษตร ยังไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธินะคะ โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องเป็นเรื่องใหม่มาก เราก็อยากให้เขายกเลิกการใช้ เพราะเรารู้ว่ามันอันตราย ในส่วนของตัวเองก็จะพยายามทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมารองรับมันก็จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นความรู้ใหม่ของหมอว่ามันดูแลตรงนี้ได้นะ ต้องขอบคุณทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงตรงนี้ก็อยากฝากว่า เราทุกคนอยู่ในอันตรายทั้งนั้น เพราะว่าตอนนี้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ตอนนี้พืชผัก ผลไม้มันปนเปื้อนหมดเลย ที่ผ่านมาไทยแพนตรวจเจอแต่ยาฆ่าแมลงไม่เคยตรวจยาฆ่าหญ้า ปี 60 เจอยาฆ่าหญ้าเยอะมากเพราะมันแทรกซึมไปทุกที่ เพราะมันลงน้ำบาดาลแล้ว ฉะนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนด้วยการไม่ใช้และไม่นำเข้า ถ้าไม่ลุกขึ้นมา ถ้าไม่ห่วงตัวเอง คนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >