ฉบับที่ 196 เครื่องสำอางราคาไม่เหมาะสม

เครื่องสำอางกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน เพราะไม่ว่าใครก็อยากดูดี ดังนั้นต่อให้เครื่องสำอางราคาแพงแค่ไหน เชื่อว่าหลายคนก็ยอมที่จะซื้อมาใช้ อย่างไรก็ตามเครื่องสำอางบางยี่ห้อ กลับคิดราคาตามใจชอบ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนที่ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้ รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้คุณปราณีไปเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านรังสิต และถูกชักชวนจากพนักงานขายเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างชาติหน้าตาดีมาเชิญชวนให้เข้ามาทดลองสินค้า ซึ่งเธอได้บอกปฏิเสธไป เพราะไม่ได้ต้องการซื้อเครื่องสำอางดังกล่าว แต่พนักงานเหล่านั้นก็หว่านล้อมต้อนหน้าหลัง จนทำให้เธอไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าไปทดลองสินค้าในที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลองสินค้าหลายชนิดที่พนักงานนำมาทดสอบให้ดู เธอก็มีความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อสอบถามราคากลับต้องตกใจ เพราะเครื่องสำอางแต่ละชิ้นราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนเลยทีเดียวเมื่อพนักงานเห็นว่าคุณปราณีมีท่าทางตกใจในราคาก็พากันเสนอโปรโมชั่นมากมาย ซึ่งเธอก็ได้ปฏิเสธไปเพราะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากแต่พนักงานก็ไม่ได้ลดละความพยายามในการขาย ด้วยการเสนอราคาโปรโมชั่นสุดร้อนแรงลดกระหน่ำไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นอย่างนี้ คุณปราณีก็เริ่มลังเลใจและเกรงใจพนักงาน จนทำให้ตกลงซื้อสินค้ามาทั้งหมด 7 ชิ้น รวมเป็นเงินกว่า 100,000 บาทอย่างไรก็ตามเมื่อเธอกลับบ้านมาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ก็พบว่า มีคนรีวิวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสินค้าในด้านบวกไว้มากมาย แต่หลายคนก็ไม่พอใจกับราคาสินค้า เพราะนอกจากจะแพงมากแล้ว ยังเสนอขายในราคาตามใจชอบ ทั้งๆ ที่หน้าร้านไม่ได้มีการจัดโปรโมชั่นที่เห็นได้แต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่จะถูกเชิญชวนเพราะบอกว่าเป็นโปรโมชั่นลับเฉพาะสำหรับพนักงาน และเสนอให้กับผู้ซื้อเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ภายหลังการใช้สินค้าคุณปราณีพบว่ามีอาการผื่นคัน จึงไปพบแพทย์และขอใบรับรองแพทย์มา เพื่อนำไปแจ้งยังบริษัทฯ เพื่อขอให้คืนเงิน แต่ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ใบรับรองแพทย์ไม่ได้ระบุว่าเธอแพ้ครีมของบริษัท จึงไม่สามารถคืนเงินให้ได้ ทำให้คุณปราณีส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดสินค้าทั้งหมด ภาพถ่ายสินค้า ใบเสร็จรับเงิน และใบรับรองแพทย์มาให้เพิ่มเติม และช่วยทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบราคา รวมทั้งส่งสินค้าทดสอบสารประกอบ ซึ่งในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลจะเป็นอย่างไรไว้ติดตามกันต่อไป ทั้งนี้สำหรับใครที่พบเห็นสินค้ามีราคาไม่เหมาะสม ควรถ่ายรูปป้ายราคาสินค้าที่หน้าร้านเก็บไว้ หรือหากซื้อสินค้ามาแล้วก็ควรเก็บใบเสร็จรับเงินไว้ก่อน และโทรศัพท์ไปร้องเรียนโดยตรงได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายในเบอร์ 1569 นอกจากนี้ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางโดยพิจารณาจากปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งสามารถทดสอบด้วยการทาทิ้งไว้ในบริเวณที่บอบบางอย่างใต้ท้องแขนเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ รวมทั้งเลือกซื้อเครื่องสำอางที่แสดงรายละเอียด ดังนี้1.มีเลขที่จดแจ้ง10หลักซึ่งเราสามารถนำเลขดังกล่าวเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของ อย.หรือ ค้นหาที่นี่ เพื่อดูว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการอนุญาตให้ขายจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าชื่อจดแจ้งข้างกล่องกับในเว็บไซต์ไม่ตรงกันก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเครื่องสำอางดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย นอกจากนี้เลขที่จดแจ้งยังมีไว้ในกรณีที่ผู้ใช้เกิดความผิดปกติกับผิวหนัง ซึ่งจะทำให้สามารถแจ้งหรือตามตัวผู้ผลิตได้  2. มีฉลากภาษาไทยที่อย่างน้อยแสดงข้อความต่อไปนี้ (1) ชื่อเครื่องสำอาง (2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง (3) ส่วนประกอบ (4) วิธีใช้ (5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/นำเข้า (6) ปริมาณสุทธิ (7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต (8) เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ถูกฟ้องเพราะอาหารสุนัข

หลายคนที่รักสัตว์เลี้ยง มักมีความกังวลเรื่องอาหารของสัตว์เหล่านั้น เพราะต่างต้องการให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ แต่หากเผลอไปเลือกซื้ออาหารสัตว์ที่โฆษณาเกินจริง และส่งผลด้านลบต่อสัตว์เลี้ยงของเรา รวมทั้งลุกลามมาถึงเราด้วย จะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้างมาดูกัน คุณสมใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์ชิวาวาและต้องการให้น้องหมาได้รับอาหารที่ดีที่สุด เธอจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้ออาหารสัตว์ยอดนิยมที่ขายผ่านทางออนไลน์ และในที่สุดก็ได้พบกับอาหารเม็ดของน้องหมายี่ห้อหนึ่งที่มีผู้มาลงประกาศไว้ในกลุ่มของคนรักสุนัขในเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาว่าสุนัขกินได้ทุกเพศ ทุกวัย มีกลิ่นหอมจนคนแอบเอาไปกิน ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายคนได้รีวิวสินค้าไว้ว่าคุณภาพดีจริง ทำให้คุณสมใจและเพื่อนๆ ตัดสินใจรวมกันสั่งซื้อจำนวน 15 กิโลกรัมในราคา 1,800 บาท ภายหลังได้รับสินค้า เธอพบว่าบรรจุภัณฑ์ของจริงไม่เหมือนในรูปที่ลงประกาศไว้ในเฟซบุ๊ก รวมทั้งการบรรจุอาหารยังใส่มาในถุงฟอยส์ธรรมดา ไม่มียี่ห้อ ไม่มีฉลาก รวมทั้งมีกลิ่นเหม็น มีรสเค็ม และวันหมดอายุเป็นเพียงกระดาษสติกเกอร์ติดที่ถุง นอกจากนี้เมื่อแกะถุงออกมาพบว่า ข้างในเป็นถุงพลาสติกมัดปากถุงเท่านั้น แต่เธอก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจและทดลองนำอาหารดังกล่าวให้สุนัขรับประทาน ซึ่งพบว่าน้องหมาไม่ยอมแตะอาหารดังกล่าวเลย แม้จะผสมกับอาหารเก่าให้รับประทาน น้องหมาก็เลือกเฉพาะอาหารเดิมและทิ้งอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ไว้ คุณสมใจจึงคิดว่าเป็นเพราะเปลี่ยนอาหารใหม่สุนัขจึงไม่ชิน เธอจึงใช้วิธีหักดิบให้อาหารใหม่เพียงอย่างเดียว แต่พบว่าเมื่อน้องหมากินเข้าไปแล้ว ไม่นานก็มีอาการอาเจียนและท้องเสีย คุณสมใจจึงลองเปลี่ยนกลับไปเป็นอาหารเม็ดยี่ห้อเดิมที่เคยให้ และพบว่าสุนัขของเธอกลับมามีอาการเป็นปกติเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงคิดว่าอาหารเม็ดยี่ห้อใหม่ที่เธอซื้อมา ต้องไม่มีความปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐาน จึงไปโพสต์ระบายความรู้สึกไม่ประทับใจลงในเฟซบุ๊กของกลุ่มของคนรักสุนัขดังกล่าว ซึ่งภายหลังก็ได้มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้านลบต่อสินค้าจำนวนมาก และเมื่อผู้ขายสินค้ามาเห็นข้อความดังกล่าวจึงทำให้เกิดการโต้เถียงกัน จนในที่สุดผู้ขายสินค้าก็ตัดสินใจนำข้อความดังกล่าวไปฟ้องหมิ่นประมาท และฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทำให้คุณสมใจส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยตรวจสอบให้ว่าสินค้าดังกล่าวได้มาตรฐานจริงหรือไม่ หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายอย่างไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดมาให้เพิ่มเติมได้แก่ ใบรับรองแพทย์ของสุนัข หลักฐานการซื้อขายสินค้าและตัวอย่างสินค้า เพื่อนำไปส่งทดสอบต่อไป ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผู้ร้องพบว่า บรรจุภัณฑ์ของจริงไม่ตรงกับในรูปที่โฆษณาไว้ ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายผลิตภัณฑ์จริงและรูปที่ใช้โฆษณาในเฟซบุ๊กมาให้เพิ่มเติม ซึ่งอาจเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงได้ นอกจากนี้การเลือกซื้ออาหารสัตว์ให้ปลอดภัยควรเลือกยี่ห้อที่มีฉลากแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อสินค้า ส่วนผสม อายุการเก็บหรือชื่อผู้ผลิต เป็นต้นสำหรับกรณีที่ผู้ร้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท และถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องว่าปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560) ได้แก้ไขจากฉบับเดิมโดยได้ตัดความผิดฐานหมิ่นประมาทออกไป ดังนั้นหากข้อมูลที่ผู้ร้องได้โพสต์ไป สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงก็ไม่ถือว่าผิด พ.ร.บ.คอมฯ ดังกล่าว ทั้งนี้หากใครที่ไม่ต้องการให้ถูกฟ้องร้องจาก พ.ร.บ.คอมฯ ก็สามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการโพสต์ข้อความที่แสดงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้เท่านั้น และหลีกเลี่ยงการแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นด้านลบ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการโต้เถียงและเสียเวลาในการฟ้องร้องคดีได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ถูกเรียกเก็บภาษีที่สนามบิน

สำหรับใครที่มักซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับมาหลังจากไปเที่ยวต่างประเทศ ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน เพื่อป้องกันการถูกเรียกเก็บเสียภาษีจากของที่นำมาด้วยคุณปาริชาติซื้อขนมและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปติดตัวมาจากประเทศเกาหลีใต้ รวมมูลค่าประมาณ 2,000 บาท ซึ่งเธอคิดไว้ว่าจะเก็บไว้รับประทานเองและแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องบางส่วน อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงสนามบินขาเข้า กลับถูกเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินจำนวน 1,000 บาท ทั้งๆ ที่เธอทราบข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่า หากของที่นำมาด้วยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้นอากร ทำให้คุณปาริชาติส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อสอบถามว่าการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้วหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรมาให้ทางอีเมล์ และช่วยโทรศัพท์สอบถามไปยังสายด่วนกรมศุลกากรที่เบอร์ 1164 ซึ่งได้รับการชี้แจงกลับมาว่า ขนมหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในกรณีของคุณปาริชาติ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มีลักษณะเป็นสิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์หรือทางการค้า ไม่ใช่ของติดตัวที่ทำให้ได้รับการยกเว้นการเสียภาษี ทำให้ต้องชำระภาษีอากรปากระวางดังกล่าว ด้านผู้ร้องเมื่อได้รับการชี้แจงก็เข้าใจและยินดียุติข้อร้องเรียนทั้งนี้สำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากร มีข้อกำหนดดังนี้ 1. ของใช้ส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง เครื่องประดับ รองเท้า นาฬิกา ปากกา แว่นตา น้ำหอม เป็นต้น หรือของใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ (เห็นได้ชัดว่ามิใช่เพื่อการค้า) มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้นอากร ทั้งนี้ต้องมีเอกสารใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน แต่หากไม่มี เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามหลักฐานอื่นประกอบ อย่างไรก็ตามสำหรับของใช้ส่วนตัวดังต่อไปนี้จะต้องมีปริมาณไม่เกินที่กำหนด คือ 1. บุหรี่ ไม่เกิน 200 มวน หรือ ซิการ์และยาเส้น ไม่เกิน 250 กรัม 2. สุรา 1 ลิตร 2. ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้ว เช่น โทรทัศน์ วิทยุ วีดีทัศน์ เครื่องโทรสาร ที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่อง จากการย้ายภูมิลำเนาและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ ได้รับยกเว้นอากร แต่ก็จะต้องมาผ่านพิธีการศุลกากรที่ช่องตรวจสีแดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบของ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ของหลุดจำนำ

หากเรามีเหตุจำเป็นที่ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำที่โรงรับจำนำ และไม่ต้องการให้ทรัพย์สินดังกล่าวหลุดจำนำ เราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณสมพรนำสร้อยคอทองคำไปจำนำ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว โดยมีการตกลงวันชำระดอกเบี้ยที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังจากชำระดอกเบี้ยไปได้ไม่กี่เดือน เธอก็ขาดส่งติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งภายหลังทางโรงรับจำนำก็ได้แจ้งมาว่าให้นำเงินมาไถ่ เพราะสร้อยคอดังกล่าวกำลังจะหลุดจำนำแล้ว ทำให้คุณสมพรไปกู้เงินมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปไถ่สร้อยคอของเธอ แต่เมื่อไปถึงที่โรงรับจำนำ กลับพบว่าไม่สามารถไถ่สร้อยคืนได้แล้ว จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลผู้ร้องเพิ่มเติม ถึงวันและเวลาการขาดส่ง รวมถึงระยะเวลาการกลับไปไถ่สร้อยคอดังกล่าวคืน อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่สามารถจำวันและเวลาที่แน่นอนได้ ศูนย์ฯ จึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดขั้นตอนของทรัพย์สินที่จะหลุดเป็นของผู้รับจำนำไว้ ดังนี้  มาตรา 25 ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือนยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถ้าผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามข้างต้นแล้ว ทรัพย์จำนำจะหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนำก็ต่อเมื่อ 1. ทรัพย์นั้นอยู่ในประกาศของโรงรับจำนำ 2. ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ และ 3. ผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันประกาศ ดังนั้นหากผู้ร้องไม่ได้ไปไถ่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทรัพย์นั้นย่อมหลุดเป็นของผู้รับจำนำ ซึ่งมีสิทธินำไปขายต่อได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 หนี้ไม่หาย แม้ตายไปแล้ว

บางครั้งบางทีชีวิตก็เล่นตลกร้ายให้เราอาจกลายเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เพราะคนในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้วมีภาระหนี้สินทิ้งเป็นมรดกไว้ให้ ซึ่งเราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร ลองไปดูกันคุณสมชายโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาว่า ลูกสาวของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตไป เป็นหนี้บัตรเครดิตรวมมูลค่ากว่า 400,000 บาท ทำให้เขาไม่แน่ใจว่าต้องชำระหนี้ดังกล่าวแทนลูกสาวหรือไม่ นอกจากนี้ทางครอบครัวได้รับเงินชดเชยมาจากบริษัทที่เธอเคยทำงานอยู่จำนวน 200,000 บาท จะถือว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกของลูกสาวหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า หนี้ไม่สูญเมื่อเสียชีวิต ซึ่งทายาทต้องเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวแทน โดยหากพบว่า ผู้ตายมีมรดกและมรดกนั้นตกทอดไปถึงทายาทหรือผู้จัดการมรดก เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องทายาทหรือผู้จัดการมรดกนั้นเพื่อให้ชำระหนี้แทนผู้ตายได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ได้รู้ถึงความตาย และทายาทจะต้องชำระหนี้ไม่เกินจำนวนที่ได้รับมรดกนั้น เช่น ได้มรดกมา 200,000 บาท แต่ผู้ตายมีหนี้ถึง 400,000 บาท ทายาทที่ได้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกก็จะต้องชำระหนี้เพียง 200,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจากกรณีนี้เงินชดเชยที่บริษัทให้มาถือว่าเป็นมรดกของลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้วทั้งนี้สำหรับกรณีอื่นที่ผู้ตายไม่มีมรดก ทายาทหรือผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินดังกล่าวที่ผู้ตายได้ทำไว้ แต่ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องมาทายาทหรือผู้จัดการมรดกก็จะต้องไปแถลงต่อศาลว่า ผู้ตายไม่มีมรดกตกทอดแต่อย่างใด ซึ่งหากศาลไต่สวนดูแล้วว่าเป็นตามที่ได้แถลงมาศาลก็จะยกฟ้อง ผู้ที่ไม่ได้รับมรดกก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เปลี่ยนคืนสินค้าชำรุด

หากเราซื้อสินค้าใดๆ มาใช้ แล้วพบว่าเกิดความชำรุดบกพร่อง และต้องการเปลี่ยนคืนสินค้าดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กันคุณสมหมายซื้อกาต้มน้ำไฟฟ้า จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมาใช้งาน ซึ่งโฆษณาว่ารับประกันการใช้งาน 1 ปี อย่างไรก็ตามหลังจากใช้ไปได้ประมาณ 3 เดือนก็พบความชำรุดบกพร่องกับสายปลั๊กไฟของกาต้มน้ำ โดยเขาพบว่าปลั๊กของกาน้ำละลาย และทำให้ปลั๊กสามตาที่ต่อพ่วงเอาไว้เสียหายด้วยเช่นกัน คุณสมหมายจึงโทรศัพท์ไปยังเบอร์พิเศษ(เลข 4 หลัก) ของบริษัทดังกล่าว ซึ่งโฆษณาว่าโทรฟรี 24 ชั่วโมงเพื่อแจ้งปัญหา แต่กลับพบว่าต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์ฟรีๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างที่คิดไว้ เพราะพนักงานระบุเพียงว่าให้ส่งกาต้มน้ำดังกล่าวไปยังศูนย์บริการที่จังหวัดสมุทรสาคร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีการเปลี่ยนหรือซ่อมให้ใหม่อย่างไรบ้าง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมหมายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักสิทธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ขอเอกสารผู้ร้องเพิ่มเติมได้แก่ รูปถ่ายสินค้า ใบรับประกันสินค้าและใบเสร็จรับเงิน แต่ผู้ร้องแจ้งกลับมาว่าใบรับประกันและใบเสร็จรับเงินฉบับจริงได้สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงรูปถ่ายใบเสร็จสินค้า ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินให้ใหม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาการซื้อเกิน 3 เดือนแล้วอย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือผู้ร้องด้วยการแนบหลักฐานทั้งหมดที่ผู้ร้องมีส่งเป็นหนังสือร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ผลิต เพื่อขอให้มีการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งภายหลังทางบริษัทก็ได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยและเสนอเปลี่ยนกาต้มน้ำ รวมทั้งปลั๊กสามตาที่เสียหายไปให้ใหม่ พร้อมแจ้งว่าหากเกิดความเสียหายขึ้นอีก ทางบริษัทยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาสินค้าให้กับผู้ร้อง ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ไม่ได้ถูกกว่าเสมอไป

ร้านอาหารส่วนใหญ่มักมีการจัดเซ็ตหรือชุดอาหารพร้อมโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นว่าถ้าซื้อเป็นเซ็ต จะได้ความคุ้มค่ากว่าการสั่งอาหารทีละรายการ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เราลองไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้กัน คุณปราณีไปรับประทานพิซซ่ากับครอบครัวที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังจากดูเมนูอาหารแล้วพบว่า มีการจัดโปรโมชั่นเซ็ตอาหารในราคา 399 บาท เธอจึงเลือกสั่งเมนูนี้มารับประทาน อย่างไรก็ตามภายหลังเธอได้ตรวจสอบราคาอาหารแต่ละรายการในเซ็ตดังกล่าว จึงพบว่าราคาเซ็ตกลับมีราคาแพงกว่าการซื้อแยกแต่ละรายการ ทำให้คุณปราณีแสดงความคิดเห็นไปยังหน้าเว็บไซต์ของร้านอาหารดังกล่าว โดยขอให้มีการปรับปรุงราคา เนื่องจากเธอเห็นว่าเป็นการหลอกลวงลูกค้า เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น แต่ก็ไม่มีการตอบกลับจากร้านค้าดังกล่าวแต่อย่างใด คุณปราณีจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้ ผู้ร้องได้แนบหลักฐานราคาอาหารจากหน้าเว็บไซต์ของร้านดังกล่าวมาด้วย ซึ่งเมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิเข้าไปตรวจสอบก็พบว่า การจัดชุดโปรโมชั่นดังกล่าวมีราคาสูงกว่าการซื้อแยกรายการจริง จึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทให้มีการปรับปรุงโฆษณา ซึ่งภายหลังพบว่าทางบริษัทได้นำรายการเช็ตอาหารดังกล่าวออกจากเมนูไปแล้ว ศูนย์ฯ จึงขอฝากเตือนผู้บริโภคให้เปรียบเทียบราคาเซ็ตอาหารกับการสั่งแยกแต่ละรายการก่อนตัดสินใจ เพื่อป้องกันการถูกลวงจากโฆษณาส่งเสริมการขายที่เอาเปรียบผู้บริโภคนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 โฮมสเตย์ไม่คืนเงินค่ามัดจำ

ปัจจุบันการจองที่พักตามสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มักให้ลูกค้าโอนเงินค่ามัดจำส่วนหนึ่งมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากลูกค้าเปลี่ยนใจที่จะไม่เข้าพักตามที่ตกลงกันไว้ คู่สัญญาก็มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าว อย่างไรก็ตามการริบค่ามัดจำ ต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการร้องเรียน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติสนใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์ชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า จึงโทรศัพท์ไปสอบถามอัตราค่าห้องพัก ซึ่งทางโฮมสเตย์ได้แจ้งมาว่าห้องละ 600 บาท/คืน ด้านคุณสุชาติต้องนำข้อมูลไปพิจารณาก่อน จึงยังไม่ได้ตอบตกลงในวันนั้น อย่างไรก็ตามภายหลังเขาก็ตัดสินใจจะเข้าพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้ จึงโทรศัพท์กลับไปอีกครั้งเพื่อยืนยันการจองห้องพัก แต่กลับพบว่าราคาห้องไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ตอนแรก เนื่องจากพนักงานคนเดิมแจ้งว่าเธอได้บอกราคาผิด ซึ่งจริงๆ แล้วห้องพักราคา 800 บาท/คืน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบก็จะลดราคาให้เหลือห้องละ 700 บาท/คืน ซึ่งคุณสุชาติเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจึงตอบตกลงและจองห้องพักไปทั้งหมด 5 ห้อง พร้อมโอนเงินค่ามัดจำจำนวน 3,500 บาทไปให้ เนื่องจากทางโฮมสเตย์กำหนดให้ลูกค้าที่จองห้องพักต้องวางเงินมัดจำเต็มจำนวน ต่อมาภายหลังคุณสุชาติพบว่า เขาถูกยกเลิกกำหนดการที่จะต้องเดินทางไปทำงานที่จังหวัดดังกล่าวกะทันหัน ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าพักที่โฮมสเตย์นั้นอีกต่อไป จึงโทรศัพท์แจ้งไปยังโฮมสเตย์เพื่อขอให้คืนเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะที่เขาโทรศัพท์กลับไปเหลือเวลาอีก 25 วัน ก่อนจะถึงกำหนดวันเข้าพักที่จองไว้ อย่างไรก็ตามทางโฮมสเตย์ได้ปฏิเสธการคืนเงินมัดจำทุกกรณี แต่เสนอทางเลือกมาว่าจะขยายเวลาเข้าพักให้ โดยคุณสุชาติจะเข้ามาพักเองหรือให้ผู้อื่นมาแทนก็ได้ ด้านคุณสุชาติเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบมากเกินไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิให้คำแนะนำว่า โดยปกติเงินมัดจำเป็นเงินที่จ่ายไว้กับคู่สัญญาเพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะทำตามสัญญา ซึ่งหากผู้ร้องผิดสัญญาไม่เข้าพักทางโฮมสเตย์ก็จะสามารถริบเงินมัดจำได้ทันที แต่การเก็บเงินมัดจำเต็มจำนวนราคาห้องพัก ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ควรลดลงได้เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์ฯ จะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้ อย่างไรก็ตามสำหรับเหตุการณ์นี้ผู้ร้องได้ไปดำเนินการเจรจาต่อเองที่ สคบ. และได้ผลสรุปว่าทางโฮมสเตย์จะคืนเงินค่ามัดจำให้ในอัตราร้อยละ 50 ของทั้งหมด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ถูกยกเลิกสัญญาไม่มีเหตุผล

สัญญาเช่าที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจน อาจทำผู้บริโภคบางคนถูกเอาเปรียบด้วยการบอกเลิกสัญญากะทันหัน ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ ซึ่งเราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจตกลงเช่าห้องพักรายเดือนย่านอนุสาวรีย์ชัย ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท โดยขอเช่าพื้นที่จอดรถด้วย เป็นรถยนต์ 1 คันในราคาค่าเช่าที่จอดคันละ 1,000 บาท/เดือน และรถจักรยานยนต์ 1 คัน คันละ 200 บาท/เดือน อย่างไรก็ตามหลังอยู่ไปได้ 8 เดือนกว่า ทางเจ้าของหอพักก็ส่งหนังสือมาแจ้งว่า ห้ามนำรถมาจอดในพื้นที่ของหอพักอีกต่อไป โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใดๆ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับคุณสมใจอย่างมาก เนื่องจากเธอไม่เคยผิดนัดชำระค่าที่จอดรถหรือฝ่าฝืนกฎการจอดรถของหอพักแต่อย่างใด ทำให้เธอยังคงนำรถเข้ามาจอดในพื้นที่ที่เช่าไว้ตามปกติ เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับแย่ลงกว่าเดิม เมื่อทางหอพักได้ส่งหนังสือแจ้งมาอีกครั้งว่า ได้ยกเลิกสัญญาเช่าห้องพักของเธอเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเธอได้เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหนังสือขอยกเลิกที่จอดรถ โดยกำหนดให้ขนย้ายสิ่งของออกจากห้องพักดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์อีกด้วยเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนที่ต้องหาห้องพักใหม่กะทันหัน และอยากให้ทางหอพักเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ส่งจดหมายเชิญทั้งสองฝ่ายมาเจรจา และให้ผู้ร้องส่งหลักฐานสัญญาเช่ามาเพิ่มเติม เพื่อนำมาตรวจสอบระยะเวลาการเช่า ซึ่งหากพบว่าได้กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจนไว้ ผู้ให้เช่าก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้ หากผู้เช่าไม่ผิดสัญญาหรือไม่มีเหตุให้บอกเลิก หรือกรณีที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาเช่าที่ชัดเจนไว้ การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ตามมาตรา 566 ความระงับแห่งสัญญาเช่าที่กำหนดไว้ว่า คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน ดังนั้นการที่ผู้ให้เช่ากำหนดให้ผู้ร้องต้องขนย้ายสิ่งของออกภายใน 2 สัปดาห์ อาจถือเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่มีความเป็นธรรม เพราะทำให้ผู้ร้องเดือดร้อนและไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ทัน นอกจากนี้อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งผู้ร้องสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ผลเจรจาจะเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >