ฉบับที่ 198 พลาดเพราะแพทย์

หลายคนมักหมดห่วงหากผู้ป่วยถึงมือหมอแล้ว แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะผู้ป่วยบางคนกลับต้องได้โรคเพิ่มจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ แต่ระหว่างการผ่าตัดแพทย์ผ่าตัดผิดพลาดจนไปโดนไตกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้หลังผ่าตัดเธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ทางโรงพยาบาลจึงยอมรับผิดและยินดีชดเชยเยียวยาให้เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมรับรักษาต่อจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งเธอก็ตกลงยอมรับข้อเสนอ อย่างไรก็ตามเมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่ง ทางโรงพยาบาลกลับยื่นข้อเสนอใหม่ว่า จะเพิ่มเงินเยียวยาให้อีก 50,000 บาท แล้วให้ไปรักษาตัวต่อเอง เพราะประเมินว่าคุณสมพรอาการดีขึ้นแล้ว แต่เธอกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น จึงไม่รับข้อเสนอดังกล่าวและไปทำเรื่องร้องเรียนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งเธอยื่นข้อเสนอให้โรงพยาบาลเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ทาง สบส. จึงแนะนำให้เธอไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ คุณสมพรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำว่าสามารถใช้สิทธิอย่างไรได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยสามารถให้แพทย์ประเมินค่ารักษาพยาบาลจะต้องใช้ในการรักษาพยาบาลทั้งหมด รวมถึงการรักษาต่อในอนาคตได้ จากนั้นควรนัดเจรจาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจริง แต่หากพบว่าเจรจาไม่สำเร็จก็สามารถฟ้องดำเนินคดีต่อได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะมีอายุความ 1 ปี ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง เพื่อลดภาระให้กับผู้บริโภคในการฟ้องคดี โดยให้ผู้ร้องส่งประวัติการรักษาและหนังสือข้อตกลงที่ทำไว้กับโรงพยาบาล พร้อมสรุปค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมา เพื่อทำหนังสือและเจรจากับโรงพยาบาลก่อนเบื้องต้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 สินค้าใกล้หมดอายุ วางจำหน่ายได้หรือไม่

ที่ผ่านมาเราเคยเสนอเรื่องสินค้าหมดอายุควรวางจำหน่ายในร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ เพราะผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากกว่าที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา ซึ่งแม้จะยังมีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายหลายรายยินดีที่จะปรับปรุงการบริการและชดเชยเยียวยาผู้เสียหายตามสมควร กระนั้นประเด็นดังกล่าวนี้ก็ได้กลับมาสร้างปัญหาให้อีกครั้ง เมื่อมีผู้ร้องเรียนถึงสินค้าที่ “ใกล้” หมดอายุ ซึ่งเขาเห็นว่าการจำหน่ายสินค้าที่ใกล้หมดอายุนั้น ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเช่นกัน แต่เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คุณสมชายซื้อยาสีฟันจากร้านค้าส่งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา และหลังจากนำกลับไปใช้งานที่บ้านก็สังเกตว่า ยาสีฟันดังกล่าวระบุวันหมดอายุเป็นหนึ่งเดือนข้างหน้า ทำให้คุณสมชาย ซึ่งเป็นผู้ใช้งานยาสีฟันดังกล่าวเพียงคนเดียวรู้สึกว่า ตนเองไม่น่าจะใช้งานทันภายในหนึ่งเดือนแน่ๆ  ดังนั้นการที่ร้านค้านำยาสีฟันที่ใกล้หมดอายุแล้ว มาวางจำหน่ายรวมกับสินค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ใกล้วันหมดอายุ อาจเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า ยาสีฟันจัดอยู่ในหมวดเครื่องสำอาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 มาตรา 32 (6) กำหนดว่าห้ามจำหน่ายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้งานตามที่แสดงไว้บนฉลาก ทำให้จากกรณีนี้ทางร้านค้ายังสามารถวางขายได้จนกว่าสินค้าดังกล่าวจะหมดอายุ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อ แต่ในกรณีนี้ที่สินค้าใกล้หมดอายุแล้ว ทางร้านก็ควรมีหลักจริยธรรมในการค้าขายและดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของตนเองด้วย โดยหากพบว่า สินค้าใดที่กำลังจะหมดอายุ ควรมีการขายแยกหรือจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่วางปะปนไปกับสินค้าที่ยังคงสภาพดี และได้ทำเรื่องแจ้งแก่ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงการจัดวางสินค้าในร้านค้าของตนเพื่อมิให้เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ไม่มีแถวที่นั่งตามบัตรที่ซื้อ

ในคอลัมน์เสียงผู้บริโภคในเล่มก่อนๆ เคยมีกรณีที่ ผู้โดยสารพบปัญหาซื้อตั๋วรถไฟที่มีเลขที่นั่ง แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งศูนย์พิทักษ์ได้ช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามเราได้พบปัญหานี้อีกครั้ง แต่เป็นการซื้อบัตรคอนเสิร์ตแล้วไม่มีแถวที่นั่งตามที่ซื้อไว้แทนเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่แล้วกับคุณดวงใจและเพื่อนๆ โดยพวกเธอได้ซื้อบัตรชมคอนเสิร์ตของศิลปินวง Coldplay ในราคา 6,500 บาท และเมื่อถึงวันจัดคอนเสิร์ต พวกเธอก็ได้เดินไปยังแถวที่ได้ซื้อไว้ แต่กลับไม่พบแถวดังกล่าว จึงแจ้งให้ผู้ดูแลงานทราบและพบกับคำตอบว่า ไม่มีแถวที่พวกเธอได้ซื้อไว้จริง แต่จะแก้ปัญหาให้ด้วยการพาไปนั่งจุดอื่น ซึ่งราคาถูกว่าบัตรที่ซื้อไว้ตอนแรกแทน ทำให้คุณดวงใจและเพื่อนๆ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องฝืนรับข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรได้ เพราะต้องการชมการแสดงของศิลปินแล้วเหตุการณ์กลับไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเมื่อมีคนที่ซื้อเลขที่นั่งดังกล่าวไว้จริงๆ(ที่ๆ ผู้ดูแลงานพาไปนั่งแทน) เดินทางมาถึง ทำให้เธอและเพื่อนๆ ต้องย้ายจากที่นั่งนั้นไปยังที่นั่งอื่นอีกรอบ และที่มากไปกว่านั้นคือ เธอได้สังเกตว่ามีหลายคนที่ต้องยืนดู เพราะไม่มีที่นั่งตามที่ได้ซื้อ ทำให้คุณดวงใจคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำหนังสือถึงบริษัท Thai Ticket Major และ BEC-Tero ในกรณีที่จำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตเกินตามที่นั่งจริง โดยขอให้มีการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ซึ่งภายหลังทางบริษัทได้ชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากทางสถานที่จัดงานหรือสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งได้ปรับผังสถานที่ใหม่ โดยไม่ได้แจ้งกับทางผู้จัดงานก่อน ทำให้เกิดความผิดพลาดในการจำหน่ายบัตร อย่างไรก็ตามในวันที่จัดคอนเสิร์ตได้แจ้งให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องเรียนและขอเงินคืนไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามนโยบายของบริษัทจะสามารถขอเงินคืนได้เฉพาะในวันงานเท่านั้น อย่างไรก็ตามยินดีจะเยียวยาชดเชยผู้เสียหายที่เหลือเพิ่มเติมด้วยการให้เสื้อยืดคอนเสิร์ตของศิลปิน ด้านผู้ร้องเมื่อเห็นว่า บริษัทเสนอการเยียวยาดังกล่าวก็รู้สึกว่า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จึงต้องการฟ้องร้องต่อ ศูนย์ฯ จึงแนะนำว่าสามารถทำได้ เนื่องจากกรณีนี้เข้าข่ายตามมาตรา 215 ที่กำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ โดยหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เสียเลย หรือชำระหนี้ขาดตกบกพร่อง ล่าช้าผิดเวลา ผิดสถานที่หรือผิดวัตถุแห่งหนี้ ย่อมทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นเจ้าหนี้สามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน จากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ บทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามด้วยใจระทึก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 โดนหลอกให้ทำประกัน

แม้การทำประกันชีวิตจะมีข้อดีหลายประการ แต่ควรเกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้บริโภคแต่ละคน เพราะหากผู้บริโภคถูกหลอกให้ทำประกัน สามารถส่งผลให้บริษัทเสียชื่อเสียงจากการถูกฟ้องร้อง และสร้างความรู้สึกด้านลบให้กับผู้บริโภคได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 คุณสุชาติต้องการทำบัญชีสะสมทรัพย์กับธนาคารกสิกรไทย ในจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเขาแจ้งความประสงค์ พนักงานพร้อมผู้จัดการธนาคารในปีดังกล่าว ได้แนะนำว่า ถ้าออมเงินฝากกับธนาคารในวงเงินประมาณ 600,000 บาท จะได้รับบัตรเครดิต Wisdom พร้อมด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ มากมาย ทำให้เขาตัดสินใจที่จะฝากเงินจำนวนดังกล่าว เพราะเห็นว่าได้สิทธิประโยชน์หลายอย่างของบัตรเครดิต และตกลงกรอกรายละเอียดพร้อมเซ็นชื่อลงในเอกสารต่างๆ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อน เพราะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับพนักงานธนาคารอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในอีก 2 ปีถัดมา คุณสุชาติต้องการนำเงินที่ฝากไว้ไปลงทุนทำธุรกิจ จึงไปแจ้งความประสงค์ขอปิดบัญชี แต่กลับพบว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเงินทั้งหมดที่เขาฝากไว้นั้น เป็นการทำประกันชีวิตกับธนาคาร ซึ่งหากส่งเบี้ยประกันไม่ครบ 5 ปีตามเงื่อนไข เขาจะไม่ได้รับเงินคืนเมื่อถึงกำหนด เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุชาติจึงแจ้งไปว่า เขาไม่ทราบเรื่องการทำประกันชีวิตดังกล่าว เพราะหากทราบก่อนก็คงไม่ทำ และเขาไม่ยอมที่จะสูญเสียเงินที่ฝากไปแน่นอน เขาจึงไปร้องเรียนกับพนักงานที่เคยคุยกันไว้ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบกำหนดก่อน ถึงจะได้รับเงินคืน มิฉะนั้นก็จะถูกริบเงินทั้งหมด ทำให้คุณสุชาติต้องเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทประกันชีวิต เพื่อร้องเรียนและขอรับเงินคืน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและ คปภ. โดยให้ขอเงินคืนทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า ขณะที่ทำการฝากเงินนั้นผู้ร้องไม่ทราบว่าเป็นการทำประกัน เพราะพนักงานไม่ได้แจ้งรายละเอียดดังกล่าวให้ทราบก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บริโภคหลายรายที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ทั้งหมด แต่อาจเสียเวลาการดำเนินการสักหน่อย ดังนั้นก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อหรือกรอกรายละเอียดส่วนตัวลงในเอกสารใดๆ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เหตุเกิดจากพนักงานขาย

แม้พนักงานขายจะถือเป็นตัวแทนของบริษัท ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยทำหน้าที่แนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ แต่หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทบางแห่งกลับปฏิเสธการรับผิดชอบจากพนักงานขายของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราจะแก้ไขเหตุการณ์ได้อย่างไร ลองไปดูกันมาเริ่มกันที่กรณีแรกกับคุณสุชัย เขาตกลงสั่งจองรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากับพนักงานขายรถคนหนึ่ง โดยแสดงความต้องการว่าจะซื้อรุ่นที่ผลิตในปี 2016 เท่านั้น ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็รับทราบและสั่งจองรถยนต์รถยนต์รุ่นดังกล่าวให้คุณสุชัย อย่างไรก็ตามพนักงานและสุชัยไม่ได้ตกลงทำสัญญาการจองรถภายในศูนย์บริการ และไม่มีเอกสารการจองรถที่มาจากบริษัท รวมทั้งเงินค่ามัดจำการจองรถพนักงานก็ได้แจ้งให้คุณสุชัยโอนเข้าบัญชีส่วนตัว ซึ่งคุณสุชัยก็ทำตามที่พนักงานระบุและนัดรับรถในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะผ่านไปไม่กี่อาทิตย์พนักงานขายคนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง ทำให้คุณสุชัยต้องดำเนินการติดต่อเรื่องใหม่ทั้งหมดกับบริษัท ซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้เขาด้วยการส่งรถให้ตามกำหนดเดิม ทำให้คุณสุชัยได้รับรถไปใช้งานอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อคุณสุชัยได้ใช้งานรถไปถึง 5 เดือนและต้องไปรับป้ายทะเบียนรถ เขากลับพบความจริงว่า ในสำเนาทะเบียนรถระบุว่ารถคันดังกล่าวเป็นรุ่นที่ผลิตในปี 2015 ซึ่งหลังสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นรุ่นที่ผลิตในปีดังกล่าวจริง ทำให้คุณสุชัยจึงแจ้งกลับไปว่า ก่อนหน้าทำสัญญาจองรถ เขาต้องการซื้อรถที่ผลิตในปี 2016 ซึ่งพนักงานขายที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้จองให้ แต่ทางบริษัทได้ตอบกลับว่าไม่ทราบรายละเอียดที่คุณสุชัยได้แจ้งความจำนงไว้กับพนักงานคนดังกล่าว แต่จะรับผิดชอบด้วยการให้เช็คระยะฟรี 10,000 – 20,000 กิโลเมตรอย่างไรก็ตามคุณสุชัยได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และขอให้บริษัทเปลี่ยนรถให้ใหม่ โดยให้เป็นรุ่นที่ตกลงกันไว้แต่แรก แต่บริษัทกลับตอบกลับว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้  เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำว่าเขามีสิทธิที่จะขอเงินคืนได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่สอง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอตกลงใช้บริการรับส่งน้ำดื่มตามบ้าน ซึ่งก่อนใช้บริการพนักงานแจ้งว่าต้องเสียค่ามัดจำถังจำนวน 700 บาท และจะคืนให้เมื่อเลิกใช้บริการ เมื่อใช้บริการดังกล่าวไปได้สักระยะ คุณปราณีต้องการหยุดใช้บริการ โดยเข้าใจว่าต้องได้เงินมัดจำที่เคยเสียไปคืนด้วย แต่เมื่อติดต่อไปยังบริษัทกลับได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ เพราะพนักงานที่คุณปรานีเคยติดต่อซื้อขายนั้น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งบริษัท ทำให้เธอส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นล้วนมาสาเหตุจากการพูดคุยติดต่อกับพนักงานขาย ซึ่งเป็นตัวแทนในการซื้อขายระหว่างบริษัทกับผู้ร้อง และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเพราะตัวแทนขายดังกล่าว ผู้บริโภคก็ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากบริษัท ทั้งนี้สำหรับกรณีแรกการซื้อรถยนต์แล้วไม่ได้รถอย่างที่คุยกันไว้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า รายละเอียดต้องเป็นไปตามสัญญาที่ผู้ร้องทำไว้ แม้พนักงานคนที่ได้ทำสัญญาไว้จะเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งหากไม่ได้รถตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ เพราะตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2551 โดยกำหนดไว้ว่า ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น (2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด (3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา (4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามรูปแบบของสัญญาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่ได้ทำตามที่กฎหมายกำหนดก็อาจถูกฉ้อโกงได้ ซึ่งหากใครกำลังจะตกลงจองรถ ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าสัญญาที่ทำกับตัวแทนมีลักษณะตรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยตามประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ดังนี้ (2) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ (3) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี) (4) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี) (5) ราคา (6) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ส่วนกรณีที่สองผู้ร้องถูกปฏิเสธการคืนเงินมัดจำ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า บริษัทไม่สามารถอ้างว่าพนักงานไม่นำส่งได้ เนื่องจากการที่พนักงานไม่ส่งเงินค่ามัดจำให้บริษัท ถือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในของบริษัท ซึ่งต้องไปติดตามเอาผิดกับพนักงานคนดังกล่าวเอง แต่ในส่วนที่ผู้ร้องได้จ่ายเงินไปและทำตามสัญญา รวมถึงมีใบเสร็จยืนยันการชำระเงิน บริษัทจำเป็นต้องทำตามสัญญาและคืนเงินค่ามัดจำดังกล่าวให้ผู้ร้อง ซึ่งหากไม่ดำเนินการภายในกำหนด จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้บริโภค โดยผู้ร้องสามารถดำเนินการแจ้งความเอาผิดกับบริษัทได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ใช้สิทธิฉุกเฉินไม่ได้

ก่อนหน้านี้เราเคยเสนอเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคหลายรายที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ไม่สามารถใช้สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทุกแห่งโดยไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าได้ ปัจจุบันเราก็ยังพบปัญหานี้อยู่ แต่มีความคืบหน้ามาให้ผู้บริโภคได้รู้กันช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณสมจิตรเรียกรถพยาบาลให้รีบมารับเพื่อนที่มีอาการหมดสติอยู่ภายในบ้าน ซึ่งได้ถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลเปาโล เพราะอยู่ที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น โดยแพทย์ได้ช่วยเหลือด้วยการพาเข้าห้องไอซียู อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษา ทางโรงพยาบาลได้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าเป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งคุณสมจิตรก็ยินยอมจ่ายเงินดังกล่าวไปในเวลาต่อมาเพื่อนของเธอได้เสียชีวิตลง แต่ภาระอื่นๆ ยังคงอยู่ เพราะแพทย์ได้แจ้งว่ายังมีค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมอีกเกือบ 1,000 บาท ซึ่งคุณสมจิตรก็ได้จ่ายเพิ่มไปอีกครั้ง แต่เธอก็สงสัยว่ากรณีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้หรือไม่ จึงสอบถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และได้รับการตอบกลับว่า กรณีดังกล่าวสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้ โดยให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายผ่านระบบของ สปสช. ได้เลย อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสมจิตรติดต่อกลับไปยังโรงพยาบาลก็พบว่า ทางโรงพยาบาลไม่ได้ทำเรื่องตั้งเบิกให้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คุณสมจิตรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งเอกสารต่างๆ มาเพิ่มเติม ได้แก่ ใบเสร็จการชำระเงิน สำเนาบัตรประชาชนของผู้เสียชีวิต และช่วยร่างหนังสือถึง สปสช. เกี่ยวกับมาตรฐานการรักษาพยาบาลโดยการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า และทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเพื่อให้ดำเนินการตั้งเบิกกองทุนฉุกเฉิน พร้อมโทรศัพท์สอบถามที่โรงพยาบาลถึงการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังไม่มีการตั้งเบิก อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีดังกล่าวจะนำเรื่องเข้าพิจารณาและขอติดต่อกลับมา โดยภายหลังได้มีการเยียวยาผู้ร้องด้วยการแจ้งว่าจะตั้งเบิกกรณีฉุกเฉินให้ แต่จะได้รับเงินคืนเพียง 10,000 กว่าบาท โดยเช็คจะออกอีกประมาณ 2 เดือนถัดไป ซึ่งผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติเรื่องร้องเรียนทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหากรณีการใช้สิทธิฉุกเฉินที่ไม่ทั่วถึง ทาง สปสช. จึงได้ได้ออกประกาศล่าสุด โดยกำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดฟรี โดยไม่ต้องจ่ายเงินใน 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งกลุ่มอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถใช้สิทธิได้มี 6 ประเภท ดังนี้ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตนอกจากนี้เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะต้องดูแลรักษาเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมงแรกนอกจากนี้เมื่อโรงพยาบาลแต่ละแห่งรับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว จะต้องดูแลรักษาเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของตน โดยไม่มีเงื่อนไขการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในระยะ 72 ชั่วโมงแรก แต่ให้เรียกเก็บจากกรมธรรม์ประกันภัย หรือกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิรักษาพยาบาลตามกฎหมาย เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง หรือตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายตามที่ภาครัฐกำหนด เช่น ค่าห้องผ่าตัดใหญ่ 2,400 บาท/ชั่วโมง ค่าอัลตราซาวน์ 1,150 บาท/ครั้ง ค่า MRI สมอง 8,000 บาท/ครั้ง ค่าลิ้นหัวใจเทียม 29,000 บาท/อัน ค่าสายยางและปอดเทียม 80,000 บาท/ชุด ส่วนการรักษาพยาบาลหลัง 72 ชั่วโมงนั้น ให้โรงพยาบาลที่รับตัวผู้ป่วยฉุกเฉินส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิรับการรักษาอยู่ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบปกติ แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรักษาต่อในโรงพยาบาลแห่งนั้นก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามหากใครสงสัยว่าจะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้หรือไม่ก็สามารถโทรศัพท์สอบถามก่อนได้ที่สายด่วน 1669 (ฟรี) เพื่อช่วยให้เกิดการคัดกรองที่ถูกต้อง รวมทั้งหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรแจ้งที่เบอร์สายด่วนดังกล่าวได้เช่นกัน โดยมีแนวทางในการแจ้งรายละเอียดดังนี้ 1. ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 2. บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 3. บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 4. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย 5. บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก๊ส 6. บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 7. ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และ 8. รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล หรือในกรณีที่มีข้อสงสัยอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ โทร. 02-8721669 หรือสายด่วน สปสช. 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 บันไดเลื่อนเป็นเหตุ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวคนจีนประสบอุบัติเหตุจากบันไดเลื่อนในห้างสรรพสินค้า ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนั้นในฝั่งบ้านเราบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าตัวแทนของห้างร้านหลายแห่งก็ได้ออกมายืนยันถึงระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสุชาติและลูกชายไปเดินซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านถนนสามเสน โดยหลังจากซื้อสินค้าเสร็จเรียบร้อยและกำลังลงบันไดเลื่อนกลับบ้าน เขาพบว่าบันไดเลื่อนมีอาการสั่นจนรู้สึกได้ ทำให้ลูกชายที่จูงมือลงมาพร้อมกันล้มลง ซึ่งในขณะนั้นลูกชายได้ใช้มือยันพื้นเอาไว้ ทำให้ถูกบันไดเลื่อนหนีบมือได้รับบาดเจ็บรุนแรง โดยเกิดแผลฉีกขาดที่บริเวณมือขวาและมีเลือดออกจำนวนมากคุณสุชาติจึงรีบพาลูกชายไปโรงพยาบาลที่ทำประกันอุบัติเหตุไว้ ซึ่งได้รับการรักษาตามวงเงินประกัน คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่อาการของลูกชายจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติม เขาจึงพาไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่สู้ค่าใช้จ่ายไหวแทน ซึ่งทางโรงบาลดังกล่าวได้ช่วยเหลือด้วยการเบิกค่ารักษาพยาบาลกับสิทธิฉุกเฉินให้ ต่อมาคุณสุชาติจึงไปร้องเรียนที่ห้างสรรพสินค้าดังกล่าว เพื่อให้มีการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับแต่อย่างใด เขาจึงต้องโทรศัพท์ไปร้องเรียนอีกครั้ง ซึ่งภายหลังพนักงานส่งเรื่องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ขอโทษคุณสุชาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมตอบกลับมาว่า ให้เขานำรายละเอียดใบเสร็จการรักษามาฝากไว้ที่จุดประชาสัมพันธ์ของห้างฯ และจะดำเนินการเยียวยาชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามจริงให้อย่างไรก็ตามคุณสุชาติกลับไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหาย เพราะหลังจากพนักงานได้ตรวจสอบรายละเอียดของใบเสร็จการรักษาพยาบาลก็พบว่า ในใบเสร็จระบุว่าเบิกได้ ทำให้ประกันของบริษัทไม่จ่ายให้ ทางห้างฯ จึงไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามใบเสร็จ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสุชาติจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แจ้งให้ผู้ร้องไปขอภาพจากกล้องวงจรปิดวันที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากบันไดเลื่อนของห้างจริง แต่พบว่าหลังจากผู้ร้องไปขอพนักงานแจ้งว่าในบริเวณที่เกิดเหตุภาพจากกล้องไปไม่ถึง จึงไม่สามารถขอภาพมาเป็นหลักฐานได้ อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ให้ผู้ร้องทำเอกสารสรุปค่าเสียหายทั้งหมดที่มี เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปแล้วและในอนาคตที่คาดว่าจะต้องไปรักษาจนกว่าแผลจะหาย ค่าเดินทางในการไปรักษาพยาบาลหรือไปดำเนินการเรียกร้องในเรื่องดังกล่าว จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องให้มีการเจรจากับตัวแทนของห้าง ซึ่งภายหลังยินดีชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้ตามใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางห้างจะขอนำไปพิจารณาก่อนและจะติดต่อกลับมาภายหลัง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์

สาวๆ เกือบทั่วโลกใฝ่ฝันให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดีได้สัดส่วน ทำให้อาหารเสริมลดน้ำหนักเป็นหนึ่งสินค้าขายดีสำหรับคนอยากหุ่นดีด้วยวิธีลัด ยิ่งด้วยยุคสมัยนี้ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้การซื้อของสะดวกสบายง่ายเพียงปลายนิ้ว ธุรกิจการขายอาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์จึงยิ่งขยายตัวและควบคุมได้ยากขึ้น ซึ่งหากใครไม่อยากโดนหลอกให้เสียเงินฟรี ลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ร้องรายนี้กันคุณมานีสนใจอยากลดน้ำหนัก เธอจึงเลือกซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักที่โฆษณาผ่านทางร้านค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม (Instagram) และพบว่ามียี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่า เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศเกาหลี ได้มาตรฐานปลอดภัย มี อย. และ GMP ช่วยให้แขนขาเรียว ลดไวไม่ลดทานฟรี เหมาะกับคนดื้อยา อ้วนสะสม หลังคลอด ซึ่งหลังจากดูรายละเอียดต่างๆ แล้ว เธอก็คิดว่าสินค้าดังกล่าวน่าจะปลอดภัยจริง จึงตัดสินใจสั่งซื้อและโอนเงินชำระค่าสินค้าไปจำนวน 550 บาทอย่างไรก็ตามหลังแจ้งแม่ค้าว่าโอนเงินเรียบร้อยแล้วและสอบถามถึงเลขพัสดุสินค้ากลับพบว่า แม่ค้าไม่สนใจข้อความของเธอและปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเป็นอาทิตย์ โดยได้ตอบกลับมาภายหลังว่ากำลังจัดส่งอยู่ ขอให้เธอเย็นๆ ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้คุณมานีมั่นใจว่าโดนโกงเงินแน่นอน เธอจึงไปแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของแม่ค้าและขอให้คืนเงินที่โอนไป ซึ่งแม่ค้าก็ได้เข้ามาตอบกลับว่าจะคืนเงินให้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปพร้อมส่งสินค้ามาให้แทน เมื่อได้รับสินค้าคุณมานีก็พบว่าบรรจุภัณฑ์ไม่เหมือนกับในรูปที่โฆษณาไว้ เธอจึงไม่กล้ารับประทานและติดต่อกลับไปยังแม่ค้าอีกครั้งเพื่อขอให้คืนเงิน ซึ่งแม่ค้าก็ได้แจ้งมาว่าจะคืนเงินให้ แต่ต้องส่งสินค้าคืนมาก่อน และเมื่อคุณมานีส่งสินค้าดังกล่าวคืนไป แน่นอนว่าแม่ค้าก็หายเข้ากลีบเมฆไป ด้วยการลบบัญชีผู้ใช้ในอินสตาแกรมทิ้งและปิดทุกช่องทางการสื่อสารกับเธอ ทำให้คุณมานีต้องส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ขอแยกเป็นสองกรณี กรณีที่ซื้อสินค้าแล้วโดนโกงเงินนั้น ผู้ร้องสามารถรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น โฆษณาการขายสินค้าดังกล่าวบนอินสตาแกรม บทสนทนาซื้อขาย หลักฐานการโอนเงินและสินค้าที่ซื้อมา ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้ หรือแจ้งเบาะแสและส่งตัวอย่างสินค้าให้ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบผ่านทางสายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไปอย่างไรก็ตามในกรณีนี้พบว่าผู้ขายได้ปิดร้านค้าบนอินสตาแกรมไปแล้ว รวมทั้งผู้ร้องได้ส่งสินค้าคืนไปแล้ว และไม่สามารถติดตามหาเบาะแสอื่นๆ ของสินค้านี้ได้อีกเลย มีเพียงชื่อยี่ห้อเท่านั้น จึงแนะนำให้ผู้ร้องร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. เพื่อให้ติดตามและสุ่มเก็บตัวอย่างมาเพื่อตรวจสอบต่อไป สำหรับกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมักโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผิวขาวหรือเสริมสรรถทางเพศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงอาหารที่ช่วยเสริมหรือเติมเต็มสารอาหารที่ร่างกายขาดเท่านั้น ไม่ใช่ยาที่สามารถออกฤทธิ์หรือมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากดังนี้ 1. หากสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารจะต้องใช้เลข อย. 13 หลัก 2. หากเป็นยาจะต้องใช้เลขทะเบียนยาและไม่ได้อยู่ในกรอบของ อย. ซึ่งจะต้องระบุว่า “ทะเบียนยาเลขที่” หรือ “Reg. No.” ตามด้วยอักษรและตัวเลขนอกจากนี้เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองจากอย. ได้จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx ซึ่งหากพบว่า รายละเอียดในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ ควรสันนิษฐานว่าอาจเป็นสินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน และไม่ควรเสี่ยงรับประทานเนื่องจากอาจทำให้ได้รับสารอันตรายอย่าง ไซบูทรามีน (Sibutramine) เพราะที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ที่มักโฆษณาว่าช่วยลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายและมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ มากไปกว่านั้นหากพบว่า สินค้าดังกล่าวเข้าข่ายเป็นยารักษาโรคก็ถือว่าผิดกฎหมายได้เช่นกัน เพราะตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ยา มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เพราะยาถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท            ทั้งนี้หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจพบสารอันตรายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือสารอันตรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้การรับประทานยาลดความอ้วน ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เพื่อช่วยให้รูปร่างสมส่วนและสุขภาพดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ตั๋วรถไฟมีเลขที่นั่ง แต่ไม่มีเก้าอี้

ใครที่เคยเดินทางโดยสารด้วยรถไฟของบ้านเรา คงเจอปัญหารถไฟมาช้าไม่ตรงเวลากันมาบ้าง แต่จะมีสักกี่คนที่เจอปัญหาซื้อตั๋วที่มีเลขนั่งแล้ว แต่บนรถไฟกลับไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะเก้าอี้เบอร์ดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณสมชาย เขาซื้อตั๋วรถไฟที่สถานีรังสิต เพื่อที่จะกลับบ้านที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้ซื้อตั๋วนั่งชั้นที่ 2 ในราคา 190 บาท ซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเมื่อรถไฟมาถึงผู้ร้องจึงขึ้นไปที่โบกี้ชั้น 2 และเดินดูหมายเลขที่นั่งตามตั๋วที่ซื้อมา แต่เขาไม่พบเบอร์เก้าอี้ของตนเอง จึงไปสอบถามกับพนักงานตรวจตั๋ว ซึ่งตอบกลับมาว่า ชั้น 2 มีที่นั่งถึงเบอร์ 20 กว่าเท่านั้น ส่วนเบอร์อื่นได้ถูกยกเลิกไปหมดแล้ว เพราะทางการรถไฟได้ตัดตู้ชั้น 2 ไปหนึ่งตู้ ทำให้เบอร์ที่นั่งของผู้ร้องหายไป แต่สามารถไปร้องเรียนหรือขอคืนเงินค่าตั๋วได้ที่สถานีปลายทาง ส่วนตอนนี้ถ้ามีที่ว่างก็นั่งไปก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของหมายเลขเขาขึ้นมาก็ต้องลุกให้เขานั่งแทน ดังนั้นผู้ร้องจึงไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ซึ่งภายหลังก็มีเจ้าของหมายเลขขึ้นมา ทำให้ผู้ร้องต้องลุกไปนั่งที่อื่นสลับไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหมาย เมื่อลงจากรถไฟ คุณสมชายจึงไปสอบถามกับพนักงานขายตั๋ว ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการเงินคืน เพียงแต่ไม่เข้าใจว่าหากไม่มีเบอร์หมายเลขที่นั่ง แล้วพนักงานจะขายตั๋วเบอร์ดังกล่าวให้ทำไม ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามพนักงานขายตั๋วก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ กับคุณสมชายได้ เขาจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการทำงานของการรถไฟ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตั๋วโดยสารว่า ผู้ร้องได้ไปคืนตั๋วที่ปลายทางหรือยังและได้รับเงินคืนหรือไม่ เพราะถ้าไม่ได้รับเงินคืนจะได้ทำจดหมายขอเงินคืนในครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ยังไม่ได้ไปขอเงินคืน เนื่องจากจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน  จึงขอให้ผู้ร้องส่งรูปถ่ายมาให้กับศูนย์ฯ เพิ่มเติม จากนั้นจึงช่วยผู้ร้องทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำเนาถึงปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 สถานบริการเสริมความงามไม่สะอาด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการสถานบริการเสริมความงาม หนีไม่พ้นเรื่องความสะอาดของสถานที่ เพราะจัดว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสถานที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามหากเราบังเอิญเข้ารับบริการแล้วเผอิญพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีการรักษาความสะอาดเท่าที่ควร จะสามารถแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณสมปองเข้าใช้บริการร้อยไหมแก้มที่สถานบริการเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เข้าไปพักในห้องพักของสถานบริการดังกล่าว เธอพบว่าห้องพักมีการนำเตียง 3 – 4 เตียงมาวางเรียงกัน โดยมีเพียงผ้าม่านโปร่งกั้นไว้ แต่ในวันที่คุณสมปองเข้าไปใช้บริการกลับไม่มีการกั้นม่านแต่อย่างใด อีกทั้งเตียงด้านข้างของคุณสมปองก็เป็นลูกค้าผู้ชาย ซึ่งในขณะนอนพักนั้นคุณสมปองมีเพียงผ้าขนหนูผืนเล็กสำหรับปิดช่วงหน้าอกเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อลูกค้าได้รับบริการเสร็จเรียบร้อยและลุกออกจากเตียง พนักงานก็จะทำความสะอาดเตียงด้วยการสะบัดและพับผ้าให้เข้าที่โดยไม่มีการเปลี่ยนผืนใหม่ และสิ่งที่เธอรู้สึกรับไม่ได้มากที่สุดคือ พยาบาลไม่ใส่ถุงมือ ใช้เพียงมือเปล่าหยิบเครื่องมือแพทย์ หรือหยิบยาที่ส่งให้กับลูกค้ารับประทาน ทำให้คุณสมปองส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินงานของสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้ส่งหนังสือส่งถึง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลดังกล่าว ด้วยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และได้รับหนังสือตอบกลับมาดังนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เข้าตรวจสอบสถานบริการเสริมความงามดังกล่าวแล้ว ซึ่งพบว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการจดแจ้งถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน  พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมสนับสนุนฯ ได้เข้าไปตรวจสอบสถานบริการดังกล่าวก็พบว่า มีลักษณะเป็นจริงตามที่มีการร้องเรียนมา ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงแก้ไข ดังนี้1. กรณีห้องพักของสถานพยาบาล (ห้อง Treatment) สามารถจัดรวมให้มีได้ 4 เตียง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และเปลี่ยนม่านกั้นเป็นแบบทึบแสง กั้นระหว่างเตียง เพื่อให้เป็นสัดส่วน มิดชิดและมีความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ นอกจากนี้ให้เปลี่ยนผ้าปูเตียง และผ้าอื่นๆ ที่ใช้แล้วทุกครั้ง เพื่อความอนามัยและป้องกันการติดเชื้อ2. ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม โดยทำตามคู่มือการทำความสะอาดเพื่อให้เครื่องมือปราศจากเชื้อ นอกจากนี้ให้พนักงานสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำหัตถการ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ 

อ่านเพิ่มเติม >