ฉบับที่ 174 “จะตะคอกกันทำไม”

ทุกครั้งใช้บริการรถตู้สาธารณะ นอกจากจะคาดหวังให้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้โดยสารต้องการคือ กิริยามารยาทที่สุภาพของคนขับ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถที่สุภาพ หรือแม้แต่การสนทนาอย่างสุภาพกับผู้โดยสาร เพราะนี่ถือเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่ผู้ให้บริการทั้งหลายพึงปฏิบัติเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ผู้ร้องเรียนขึ้นรถตู้โดยสารสาธารณะ ที่วิ่งระหว่างคลองรั้ง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาอีกท่านหนึ่งด้วย โดยผู้พิการได้สอบถามเส้นทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS สถานีที่ใกล้ที่สุด ซึ่งผู้ร้องอาสาจะพาไปส่ง ดังนั้นพอรถตู้มาถึงทางขึ้นสะพานสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ร้องจึงบอกคนขับว่าขอลงป้ายประจำทาง โดยแจ้งความประสงค์ว่าจะพาผู้โดยสารรถตู้ที่เป็นผู้พิการทางสายตา ไปขึ้นบันไดเลื่อนตรงเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า BTS อย่างไรก็ตามเมื่อคนขับรถตู้ได้ยินดังนั้นก็บอกว่า จอดไม่ได้เพราะเป็นเขตห้ามจอด ทำให้ผู้ร้องแจ้งว่าปกติที่โดยสารรถตู้มาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถลงบริเวณนี้ได้ พอได้ยินเช่นนั้นคนขับจึงแสดงอารมณ์โมโห และกล่าววาจาฉุนเฉียว เกรี้ยวกราดเสียงดังว่า “ถ้ากูจอดมึงจะเสียค่าปรับ 500 ให้กูใช่ไหม เป็นพ่อกูหรือจะมาบังคับกู” แม้ผู้ร้องจะพยายามอธิบายต่อไปว่าไม่ได้มีเจตนาบังคับ แต่ถ้าจอดตรงนี้ก็จะทำให้ผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการทางสายตา ได้รับความสะดวกในการขึ้นรถไฟฟ้า อีกทั้งปกติรถตู้คันอื่นก็จอดบริเวณนี้จริงๆ แต่คนขับก็ไม่ได้รับฟังเหตุผลพร้อมกับพูดจาต่อว่า และท้าทายให้ผู้ร้องดำเนินการร้องเรียนกับหน่วยงานใดก็ได้ โดยแจ้งชื่อเล่นของตนเองให้อีกด้วย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำและการให้บริการที่ไม่ดี ต่อผู้ร้องและผู้พิการทางสายตา รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ภายในรถตู้ดังกล่าวด้วย จึงขอให้มีบทลงโทษต่อกรณีนี้ และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาเมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่อง จึงดำเนินการร้องเรียนไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอให้ตรวจสอบปัญหาดังกล่าว และพิจารณาดำเนินการลงโทษตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและรักษาภาพพจน์ที่ดีขององค์กรหรือหน่วยงานต่อไป ซึ่งกรมการขนส่งทางบกก็ ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าพนักงานขับรถคันดังกล่าวมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการบริการ โดยแสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพจริง เจ้าหน้าที่ฝ่ายเปรียบเทียบจึงได้มีการเรียกเจ้าของรถตู้มาตักเตือน พร้อมปรับเงินเป็นจำนวน 1,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “เอ๊ะ ทำไมปลากระป๋องนี้ดูเหมือนมีพยาธิ”

เชื่อว่าใครหลายคนอาจติดใจในรสชาติปลากระป๋อง เพราะไม่ว่าจะนำไปใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำเป็นยำแซ่บ หรือกินคู่กับข้าวเปล่าร้อนๆ ก็อร่อยไปหมด ซึ่งหลักการสำคัญในการเลือกปลากกระป๋องมารับประทานก็เป็นเรื่องทั่วไป เช่น การดูวันเดือนปีที่ผลิต หมดอายุ กระป๋องอยู่ในสภาพดี อย่างไรก็ตามหากเราเลือกแล้วอย่างรอบคอบ แต่กลับพบว่าเมื่อเปิดมารับประทาน ปลากระป๋องนั้นมีสิ่งแปลกปลอม ที่ดูคล้ายกับพยาธิอยู่ด้วย เราจะทำอย่างไรคุณนกได้ซื้อปลากระป๋องยี่ห้อ อะยัม (AYAM) มารับประทาน จากห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาปิ่นเกล้า ราคากระป๋องละ 32 บาท ซึ่งหลังจากรับประทานก็รู้สึกว่ารสชาติผิดปกติไปจากที่เคยกิน และเมื่อตรวจสอบปลาชิ้นนั้นดีๆ ก็พบสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ อยู่ในน้ำซอส จึงคาดเดาไปว่าเจ้าสิ่งนี้มันคือพยาธิแน่ๆ ถึงจุดนี้บางคนอาจจะนำไปทิ้งอย่างรวดเร็วด้วยความขยะแขยง แต่คุณนกผู้ร้องได้เก็บชิ้นส่วนที่น่าตกใจนั้นไว้ และนำมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาความเป็นธรรมแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงส่งตัวอย่างที่ผู้ร้องนำมาให้กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง ช่วยตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าใช่พยาธิหรือไม่ พร้อมเชิญทุกฝ่ายมาร่วมฟังผลการทดสอบ ซึ่งผลปรากฏว่า ตัวอย่างดังกล่าวไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มพยาธิ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อปลาที่เปื่อยยุ่ยเท่านั้น พอได้ฟังอย่างนี้หลายฝ่ายต่างก็พากันโล่งใจ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ทางบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ชิ้นเนื้อที่เปื่อยยุ่ยนั้นอาจเกิดจากคุณภาพและขนาดปลาแต่ละรอบที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งได้ประสานงานไปยังบริษัทใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ให้ควบคุมดูแลปลาแต่ละรอบให้มีความสมบูรณ์เท่ากันมากขึ้น นอกจากนี้ยังชดเชยผู้ร้องด้วยปลากระป๋องใหม่อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นผู้ผลิตไม่ละเลยเรื่องทุกข์ร้อนของผู้บริโภค ซึ่งต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และตัวผู้บริโภคเองที่ไม่ละเลยสิทธิของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สัญญาต้องเป็นสัญญา”’

 สิ่งที่น่าปวดใจ เมื่อเราได้ตกลงทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ไว้คือการที่อีกฝ่ายไม่ทำตามสัญญา ซึ่งจะนำมาสู่ความสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียเงินสำหรับการฟ้องร้องคดีหากไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ หรือเสียเวลาหากคดีนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย หรืออาจจะเสียใจหากคดีของเราถูกตีกลับมาพิจารณาใหม่เพราะฟ้องร้องคดีผิดประเภท!! ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นต่อไปนี้สิ่งที่ผู้ร้องต้องการ เป็นเพียงการเช่าพื้นที่ขายของในโครงการ ตลาดน้ำสวนทวดจีบ กับบริษัท วัชรธร ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี  โดยผู้ร้องทั้ง 15 คนได้จ่ายเงินไปแล้วรวมกันมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทฯ ก็ได้มีกำหนดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้เช่าตั้งแต่เมื่อปลายปี 2554 อย่างไรก็ตามเมื่อถึงกำหนดเวลาก็ไม่มีการดำเนินงานแต่อย่างใดสิ่งที่บริษัทฯ ทำ มีเพียงการแจ้งขอเลื่อนส่งมอบพื้นที่ไปเป็นปลายปี 2555 และกำหนดใหม่ว่าโครงการจะเปิดต้นปี 2556 แน่นอนว่าการเลื่อนระยะเวลาการเปิดตลาดออกไปเรื่อยๆ ย่อมทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เพราะเงินที่เสียไปแล้วไม่สามารถสร้างประโยชน์อะไรได้เลย อีกทั้งการที่บริษัทฯ มาแจ้งใหม่ว่าจะเปิดโครงการในต้นปี 2556 ทำให้ผู้ร้องเกิดความรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะเห็นว่าเป็นกำหนดการที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นผู้ร้องจึงต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ผู้ร้องจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา  สิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนคือ ช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะบริษัทฯ จะคืนเงินด้วยการฝากขาย แต่ผู้ร้องต้องการให้คืนเงินในงวดเดียว ต่อมาเมื่อมีการนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง ผู้ร้องก็พบว่าบริษัทฯ ได้มีการแอบเปลี่ยนข้อความในข้อเท็จจริงว่ายินยอมให้มีการฝากขาย ดังนั้นเมื่อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จึงมีมติดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทฯ แทนผู้ร้องเพื่อบังคับให้คืนเงิน คดีจึงเข้าสู่ชั้นศาลเมื่อกลางปี 2558 แม้เหตุการณ์ดูเหมือนว่ากำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคแต่เป็นคดีแพ่งทั่วไป ทำให้ สคบ.ไม่มีอำนาจในการฟ้องแทน และต้องกลับไปเริ่มฟ้องใหม่โดยการเปลี่ยนประเภทคดี!! แนวการการแก้ปัญหา    สิ่งที่เสียไปแล้ว คือเวลา 4 ปีที่รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี เพียงเพื่อพบว่าฟ้องคดีผิดประเภท แม้ผู้บริโภคจะเสียใจ แต่สิ่งที่ยอมให้เสียไปอีกไม่ได้ก็คือสิทธิของเราเอง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆ ในการทำสัญญา คัดลอกคำตัดสินของศาล และตรวจสอบว่ายังมีการเปิดพื้นที่ให้เช่าในโครงการดังการดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งหากมีการเปิดพื้นที่จริง ปัจจุบันรายละเอียดของสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็จะมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการอีกครั้ง พร้อมหาช่องทางดำเนินการกฎหมายกับบริษัทฯ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ยังไม่ต้องกลัวหมดอายุความ เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาที่มีอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ก็ยังต้องรอคำตัดสินของศาลชั้นต้นอีกครั้งว่าจะยกฟ้องและให้ฟ้องใหม่ หรือให้แก้ฟ้องจากคดีผู้บริโภคเป็นคดีแพ่งทั่วไป โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ก็จะติดตามคดีนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “โปรดระวังเอกสารสำคัญของตัวเอง”

“นักศึกษาช้ำกลายเป็นผู้ค้ำประกันแบบไม่รู้เรื่อง แถมยังโดนทวงหนี้กว่า 150 ล้าน!!”นี่ไม่ใช่เรื่องระหว่างนักธุรกิจร้อยล้านคุยกัน แต่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องที่เป็นนักศึกษาอายุ 20 ปีกับบริษัทประกันภัยชื่อดังอย่าง บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ร้องได้รับจดหมายขอให้ชำระหนี้ ของสำนักงานกฎหมายที่อ้างว่าทวงถามหนี้ให้กับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เหตุเพราะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนขายประกันของบริษัทเนื้อหาในจดหมายอ้างว่าตัวแทนคนหนึ่งของบริษัทฯ ได้ชักชวนให้คนทำประกันภัย โดยเสนอผลตอบแทนสูงกว่าเงื่อนไขในกรมธรรม์ เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยจำนวนมากหลงเชื่อและตกลงทำประกันชีวิต อย่างไรก็ตามต่อมาผู้เอาประกันภัยเหล่านั้นได้ขอยกเลิกกรมธรรม์ ทำให้บริษัทฯ ต้องคืนเงินเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัย และสูญเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการจ่ายเงินค่าบำเหน็จ และผลประโยชน์อื่นๆ ที่ให้ตัวแทนดังกล่าวไปแล้ว รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 159,924,536.12 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบเก้าล้านเก้าแสนสองหมื่นสี่พันห้าร้อยสามสิบหกบาทสิบสองสตางค์) ดังนั้นเพื่อเป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงขอให้ผู้ร้องในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันและตัวแทนดังกล่าว ร่วมกันชำระเงินที่บริษัทได้สูญเสียไปทั้งหมดข้างต้น พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 นับตั้งแต่วันที่บริษัทฯ คืนเบี้ย!! แน่นอนว่าเงินจำนวนมากที่บริษัทเสียหายไปเทียบไม่ได้กับความตกใจของผู้ร้อง เพราะเขาไม่เคยรู้จักกับบุคคลตามสัญญาค้ำประกัน และไม่เคยเซ็นเอกสารหรือสัญญาใดๆ กับทางบริษัทฯ มากไปกว่านั้นด้วยวัยเพียง 20 ปีจะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับตัวแทนดังกล่าวได้อย่างไร ซ้ำยังต้องมาโดนทวงนี้กว่า 150 ล้านทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้นอีก (แค่คิดก็ขนลุกแล้ว)แนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากผู้ร้องได้แจ้งเรื่องมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงได้แนะนำให้ไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ก่อน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือถึงบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา เพื่อขอหนังสือสัญญาดังกล่าวมาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่า สัญญาการค้ำประกันฉบับนั้นมีการปลอมแปลงเอกสารทุกจุดได้อย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นลายเซ็นของผู้ร้องหรือแม้กระทั่งลายนิ้วมือ ทางศูนย์ฯ จึงให้ผู้ร้องไปแจ้งความอีกครั้ง แต่เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร โดยระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ สิ่งน่ากลัวสำหรับผู้บริโภคอย่างเราทุกคนก็คือ เอกสารสำคัญของเราสามารถถูกปลอมแปลงได้ตั้งแต่ต้นทาง และสามารถทำให้เรากลายเป็นหนี้จำนวนมากมายมหาศาลได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา สิ่งที่เราควรทำนอกเหนือไปจากการระมัดระวังไม่ให้เอกสารสำคัญเหล่านั้นสูญหายแล้วก็คือ ในทุกครั้งที่มีการทำสัญญาใดๆ ควรเขียนหรือเซ็นกำกับไว้ว่าเอกสารนั้นใช้สำหรับทำอะไร หรือแสดงความประสงค์แบบเฉพาะเจาะจงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เอกสารของเราถูกนำไปใช้ต่อโดยผู้ไม่ประสงค์ดีนั่นเอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 รถตู้ 100% ขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนดจริงหรือ?

อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ  โดยเฉพาะ”รถตู้” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างดีคือ  สะดวกสบาย  ออกตรงเวลา  ไม่แวะกลางทาง ถึงที่หมายในเวลาที่ชัดเจน รถตู้จึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้วินรถตู้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามอย่างเห็นได้ชัดคือ   อุบัติเหตุจากรถตู้โดยสารสาธารณะก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน   สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก  จึงได้ทำการสุ่มสำรวจความพึงพอใจในการใช้บริการรถตู้ โดยสุ่มสำรวจจากผู้ใช้บริการทั้งหมด 26 วิน วินละ 10 คน  รวมเป็นจำนวนผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 260 คน พื้นที่สำรวจ 3 จังหวัด คือ  1.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (18 วิน ) 2.จังหวัดกาญจนบุรี (12 วิน)  3. สุพรรณบุรี (6 วิน)  เชื่อไหมว่า เราพบประเด็นที่น่าตกใจ จากคำถาม “ท่านเคยพบรถตู้ที่ท่านนั่งขับเร็วเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่” คำตอบคือ  80% ของ 180 คน  (สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) พบรถตู้ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด  และ 100%  ของ 180 คน (จังหวัดประจวบฯ)  ซึ่งผลสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของกรมการขนส่งทางบก   ที่แจ้งว่ารถตู้โดยสาธารณะจังหวัดประจวบฯ เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด โดยพื้นที่ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุ คือบริเวณจังหวัดเพชรบุรี      แม้จำนวนผู้ใช้บริการที่สำรวจครั้งนี้จะมีจำนวนไม่มาก  แต่ผลการสำรวจครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่มากกว่าที่ทำอยู่ขณะนี้  เพราะผล 100% ที่ระบุว่า มีการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  บอกได้หลายมิติ  ทั้งความหย่อนยานของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ  และกำกับดูแล  และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ  รวมถึงความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น   เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และลดจำนวนอุบัติเหตุ   ต้องบอกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำหน้าที่รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก  มิใช่ปล่อยให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงชีวิตทุกครั้งที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ  ที่ตามมาด้วยการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กลิ่นภายในห้องโดยสารสุดจะทน ใครต้องรับผิดชอบ

“กลิ่นรถใหม่” คงเกิดกับคนที่ซื้อรถป้ายแดงทั้งหลาย ได้กลิ่นแล้วอาจสร้างความมั่นใจได้ว่ารถนั้นใหม่จริง มิได้ย้อมแมวขายอย่างแน่นอน เพราะแกะกล่องออกมากลิ่นอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถ ทั้งเบาะรถยนต์ พวงมาลัย คอนโซล ฯลฯ ที่แกะพลาสติกออกจะได้กลิ่นที่เราเรียกกันว่า “กลิ่นของใหม่” อบอวลอยู่ ซึ่งพอใช้รถไปได้ซักพักก็จะหายไปเอง แต่รถยนต์ของคุณศิริลักษ์ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคุณศิริลักษ์ ผู้เป็นนางพยาบาลวิชาชีพ สัมผัสได้ถึงกลิ่นใหม่(พลาสติก) ของรถเชฟโรเลต ที่ซื้อและใช้งานมาเป็นปีแล้วแต่กลิ่นไม่หมดไปเสียที กลับมีแต่กลิ่นที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ชนิดที่ขับไปซักพักจะแสบตา แสบจมูก และเวียนหัว หน้ามืดตาลายกันเลยทีเดียว ต้องจอดทิ้งไว้ซักพักถึงจะขับต่อไปได้ ทนไม่ไหวจึงต้องเข้าศูนย์บริการเพื่อให้ตรวจสอบอาการ ช่างที่ศูนย์บริการ ก็บอกแต่เพียงว่า ปกติ น่าจะคิดไปเอง อ้าว ! เป็นงั้นไป คุณศิริลักษ์เลยจำต้องยอมเอามาใช้ต่อ แต่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะเวลาที่ขับรถ ร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลีย และแสบจมูกมาก เวียนหัวจนไม่กล้าขับ เลยลองใช้บริการยืมรถยนต์ของเพื่อนมาใช้กลับพบว่าไม่เป็นอะไร ทั้งที่รถยนต์ของเพื่อนเป็นรุ่นเก่ากว่า นั่นย่อมแสดงว่า ไม่ได้คิดไปเองแน่ๆ ช้าไม่ได้แล้วต้องนำรถเข้าศูนย์บริการตรวจสอบอีกครั้ง คราวนี้ศูนย์ทำการตรวจสอบ และอ้างว่าเพื่อความสบายใจของลูกค้าก็จะเปลี่ยนอุปกรณ์ในรถยนต์ใหม่ทั้งหมด แต่เปลี่ยนแล้วกลิ่นภายในรถกลับไม่หายไป คุณศิริลักษ์เลยขอให้บริษัท เชฟโรเลตฯ เปลี่ยนรถยนต์ใหม่หรือเอารถคืนไป แต่บริษัทฯ ปฏิเสธอ้างว่าไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย เปลี่ยนให้ไม่ได้และไม่มีนโยบายรับซื้อรถคืน เมื่อเห็นว่าไม่ได้เปลี่ยนแน่นอน และคงทนใช้รถยนต์ไม่ไหวแล้ว เลยต้องขอใช้อำนาจของศาลบังคับให้บริษัทรถและตัวแทนจำหน่ายรับผิดชอบแนวทางแก้ไขปัญหา คุณศิริลักษ์มาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ภายหลังที่ฟ้องคดีบริษัทฯ ไปแล้ว แต่เนื่องจากศาลต้องการให้คุณศิริลักษ์ หาทนายเพื่อจักได้ช่วยเหลือคดี เธอจึงมาขอให้ช่วยจัดหาทนายความช่วยเหลือ เพราะเห็นว่ามูลนิธิฯ เคยฟ้องคดีรถยนต์มีกลิ่นยี่ห้อหนึ่งแล้วชนะ แต่คดีนี้ยากเย็นพอสมควรเนื่องจาก คุณศิริลักษ์ไปฟ้องคดีเอง โดยไม่เคยตรวจสอบกับกรมหรือหน่วยงานใดๆ เลย ทำให้ไม่มีพยานเอกสารใดๆ สนับสนุนการฟ้องเลย เมื่อศูนย์ฯ จัดหาทนายช่วยคดี และได้ประสานกับบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่รับตรวจสอบมลพิษ เพื่อให้ผู้ร้องดำเนินการตรวจสอบห้องโดยสารรถยนต์ ซึ่งตรวจออกมาแล้วพบว่ามีค่าไฮโดรคาร์บอนในห้องโดยสารจริง จึงใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการสืบพยาน แต่เนื่องจากการทดสอบนี้เป็นการทดสอบฝ่ายเดียว บริษัท เชฟฯ จึงไม่ยอมรับการทดสอบและเสนอศาลให้โจทก์นำรถพิพาทไปทดสอบที่กรมควบคุมมลพิษ เพราะเรื่องกลิ่นเป็นเรื่องที่กรมควบคุมมลพิษนั้นตรวจสอบได้ แต่กรมควบคุมมลพิษนั้นมีเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะเรื่องท่อไอเสีย แต่กลับไม่มีมาตรฐานเรื่องกลิ่นในห้องโดยสารของรถยนต์ ว่าควรมีกลิ่นหรือไม่ อย่างไรเสีย บริษัท เชฟฯ ก็ช่วยประสานให้กรมควบคุมมลพิษช่วยดำเนินการตรวจสอบห้องโดยสารรถยนต์พิพาท โดยบริษัทฯ เสนอให้มีการทดสอบกับรถยนต์คันอื่นที่เป็นรุ่นเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน  ต่อมาจึงมีการทดสอบเกิดขึ้นที่กรมควบคุมมลพิษ ผลการทดสอบพบว่ารถของคุณศิริลักษ์มีสารคาร์บอนิล จำพวกฟอร์มาดีไฮน์ ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นก๊าซพิษมีกลิ่นเหม็น ในขณะที่รถยนต์อีกคันไม่พบ และเอกสารจากกรมควบคุมมลพิษ ก็มิได้ระบุว่าสารดังกล่าวเกิดได้อย่างไร ศาลจึงได้จัดตั้งคนกลางเพื่อหาข้อมูลเชิงวิชาการพบอีกว่า ก๊าซพิษดังกล่าว เมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ทำให้เกิดอาการแสบตา แสบจมูก และ หากร่างกายได้รับก๊าซพิษนี้นานจะเกิดผลเสียต่อร่างกายซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อาการตามเอกสารทางวิชาการนั้นเหมือนอาการที่คุณศิริลักษ์เป็นทุกอย่างในขณะขับรถ ศาลจึงพิพากษาให้คุณศิริลักษ์ชนะคดีและให้บริษัท เชฟฯ และตัวแทนจำหน่ายรับผิดชอบ ซื้อรถคืนหรือให้ใช้ราคายนต์เป็นจำนวนเงินกว่า 900,000 บาท  คดีนี้บริษัทฯ คงกำลังอุทธรณ์ เรื่องของคุณศิริลักษ์ จึงเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภครายอื่นที่เกิดปัญหาแล้วบ่นกันอย่างเดียว แต่ไม่เคยลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง แล้วเอาเรื่องเวรกรรมมาเป็นข้ออ้าง ผู้บริโภคประเภทนี้ก็คงมีแต่คำว่า “เสีย” อย่างเดียว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “คอนโดมิเนียม...ฝันร้ายสไตล์คนเมือง”

ใครจะไปคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูในฝัน จะกลายมาเป็นฝันร้ายที่ทำให้หลับไม่ได้ไปอีกนานคอนโดมิเนียม หรือ อาคารชุด ที่เราเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า “คอนโด” เป็นรูปแบบหนึ่งของที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเป็นห้องพักหลายๆ ห้องในอาคารเดียวกัน โดยปัจจุบันได้กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมของผู้พักอาศัยยุคใหม่ส่วนใหญ่ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพราะนอกจากคอนโดจะราคาถูกกว่าการซื้อที่ดินมาปลูกบ้านเองทั้งหลังแล้ว ยังสามารถเลือกทำเลที่เราต้องการมากที่สุดได้อีก เช่น ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ภายในคอนโดยังรายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่จอดรถ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และที่สำคัญคือภายในห้องพักล้วนตกแต่งไว้แล้วอย่างสวยงาม อย่างไรก็ตามการลงทุนเพื่อซื้อคอนโดจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะความสะดวกสบายเหล่านั้นย่อมมาพร้อมกับราคาที่สูง ซึ่งรับประกันไม่ได้ว่าราคากับคุณภาพตามโฆษณาจะไปในทางเดียวกัน หลายคนอาจได้คอนโดอย่างที่ฝันไว้แต่บางคนอาจได้ฝันร้ายมาแทน ดังเช่นกรณีของคุณปาริชาตคุณปาริชาต ซื้อคอนโดหรูทำเลดีราคากว่า 10 ล้านบาทแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่เมื่อปลายปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา เธอพบว่าภายในห้องนอนใหญ่มีน้ำรั่วซึม จนทำให้ไม่สามารถพักอาศัยได้ตามปกติ หลังจากตรวจสอบแล้วก็พบว่า น้ำรั่วซึมดังกล่าวน่าจะเกิดจากฝนตกแล้วรั่วซึมเข้ามาในผนังอาคาร โดยทางคอนโดจะดำเนินการแก้ไขให้หลังจากนำเรื่องเข้าที่ประชุมก่อน ซึ่งอาจล่าช้าในการพิจารณาซ่อม เธอจึงตัดสินใจจ้างช่างซ่อมที่รับเหมาดูแลโครงการมาแก้ไข เพราะ หากรอไปเรื่อยๆ น้ำที่รั่วซึมก็ยิ่งทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหายเพิ่มขึ้น หลังจากการแก้ไขครั้งที่หนึ่งน้ำก็ยังคงรั่วซึมเหมือนเดิม ช่างจึงวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากห้องข้างบนที่ทำให้น้ำซึมลงมาและดำเนินการแก้ไขอีกครั้ง อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถหยุดน้ำรั่วซึมนี้ได้ ทำให้ช่างหมดหนทางแก้ไข และแนะนำให้เธอติดต่อไปยังนิติบุคคลของคอนโดเพื่อให้นำวิศวกรเข้ามาซ่อมแซม เมื่อคุณปาริชาตติดต่อไปยังนิติบุคคล ก็ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์หรืออีเมล์ เธอจึงตัดสินใจติดต่อไปยังกรรมการบริษัทของคอนโด ซึ่งหลังจากรับทราบปัญหาแล้วก็ยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด ทว่าจนปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และในที่สุดเมื่อนิติบุคคลรวมทั้งกรรมการดังกล่าววิเคราะห์สภาพปัญหาเรียบร้อยก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบการดูแลแก้ไข โดยอ้างว่าน้ำรั่วซึมมีสาเหตุมาจากท่อที่ชำรุดภายในห้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามาจากห้องชั้นบน ทำให้ไม่ใช่ปัญหาของส่วนกลาง แต่เป็นปัญหาของแต่ละห้องที่เจ้าของห้องนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบเอง แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีของคุณปาริชาต สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการชำรุดเสียหาย การสร้างผิดรูปแบบ หรือไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญาหากผู้บริโภคเรียกร้อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มักเพิกเฉย จนทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว จึงดำเนินการติดต่อทั้ง 2 ฝ่ายให้มาเจรจา ซึ่งปรากฏว่า นิติบุคคลของโครงการจะนำปัญหานี้เข้าที่ประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไข และการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทางกรรมการยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบดังที่กล่าวอ้างไว้ และกล่าวถึงหลักการรับประกันว่า การประกันโครงสร้างมีกำหนด 5 ปี แต่ความเสียหายเกิดขึ้นภายในส่วนรับผิดชอบของผู้ร้องที่มีการรับประกัน 2 ปี ซึ่งเลยกำหนดการรับประกันแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงมีการได้ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในเรื่องของอายุการประกันภัยโครงสร้าง กำหนดไว้ 5 ปี และส่วนควบ 1 ปี แต่ถ้าเป็นอาคารชุด จะเพิ่มการรับประกันส่วนควบอีก 2 ปี ซึ่งหากพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้น การที่ท่อน้ำชำรุดหลังจากคุณปาริชาตได้ซื้อห้องชุดนั้นมาอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าท่อน้ำนั้นชำรุดตั้งแต่แรกหรือเปล่า และเป็นท่อของส่วนกลางจริงหรือไม่ เพราะท่อน้ำอยู่ภายในผนัง นอกจากนี้ท่อน้ำดังกล่าวยังถือเป็นโครงสร้างของอาคารที่มีอายุการรับประกัน 5 ปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์และผู้ร้องจึงต้องติดตามต่อไปว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะมีการชดใช้หรือรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “เมื่อรถใหม่ ไม่ใหม่อย่างที่คิด”

ปัญหารถยนต์ใหม่ป้ายแดงกลับมาอีกแล้ว หลังผู้บริโภคถอยมาได้สองวันแล้วขับไปเที่ยวต่างจังหวัดพร้อมครอบครัว แต่ดันเกิดอุบัติเหตุยางระเบิดเสียหลักบนทางด่วน เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งครอบครัว หลังสอบถามไปยังบริษัทรถยนต์ดังกล่าว กลับปฏิเสธว่ารถยนต์มีปัญหา อ้างเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม แม้ผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากมายในการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ แต่ความเสี่ยงในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้ลดลงเท่าไรนัก เพราะ เราก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า สินค้าที่เราเลือกไว้อย่างดีแล้วนั้น จะดีจริงตามที่เราคิดไว้หรือไม่ เนื่องจากสินค้าเหล่านั้นอาจมีความชำรุดบกพร่องอันเนื่องมาจากขาดการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ผลิต หรือผ่านการตรวจสอบแต่ไม่พบข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่อง หรือมีคุณภาพตามที่ได้ระบุไว้หรือไม่ รวมถึงการบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่เป็นไปตามโฆษณา เหมือนกรณีของคุณสุชาติที่เกือบได้รับอันตรายถึงชีวิตคุณสุชาติและภรรยาเข้ามาร้องเรียนหลังจากซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงยี่ห้อ เชฟโรเลต รุ่นสปิน (Chevrolet Spin) มาได้ 2 วัน แล้วเกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ทำให้ทั้งครอบครัวที่โดยสารไปด้วยกันวันนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเมื่อทางบริษัทรถยนต์นำยางรถดังกล่าวไปตรวจสอบกลับพบว่า ยางไม่มีความผิดปกติใดๆ จึงปฏิเสธว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากยางรถยนต์ของบริษัท หากแต่เป็นเพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ มากกว่า เช่น ผู้ร้องขับรถยนต์ไปทับตะปูหรือก้อนหินขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ในวันเกิดเหตุกำลังขับรถอยู่บนเส้นทางด่วนบูรพาวิถี ไม่มีก้อนหินใหญ่ใดๆ รวมทั้งอากาศปลอดโปร่ง ไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ยางระเบิดได้แน่นอน อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ร้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้นำยางรถยนต์ที่เหลือไปตรวจสอบ ซึ่งผลปรากฏว่ายางรถที่เหลือทั้ง 3 ล้อเป็นยางเก่าทั้งหมด ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้ผู้ร้องติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยและเจ้าหน้าฝ่ายขายของรถยนต์ (ไฟแนนซ์) เพื่อทำหนังสือยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หรือการจ่ายค่างวดรถยนต์ เพราะ ตั้งแต่เกิดเรื่องผู้ร้องก็ไม่ได้มีการใช้รถ แต่ว่าต้องจ่ายค่าเช่ามาเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตามไฟแนนซ์ก็ได้ปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ให้กู้ยืมเงินไม่เกี่ยวกับกับการซื้อรถยนต์ และไม่ยอมให้ยกเลิกเพียงแต่ให้ชะลอการจ่ายค่างวดแทน ต่อมาก็ได้แนะนำให้ผู้ร้องใช้ประกันภาคสมัครใจชั้น 1 คุ้มครองรถยนต์ที่เสียหาย โดยให้ช่วยตรวจสอบว่ารถยนต์มีความผิดปกติอย่างไรจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แล้ว ยังได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล โดยหลังจากการเจรจากับอัยการก็ได้ข้อเสนอ 2 ข้อดังนี้ 1. ให้ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต รับรถคืนไปและช่วยเหลือเงินชดเชยค่างวดที่ผู้ร้องได้เสียไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ค่าดาวน์รถยนต์และค่าเช่าซื้อ พร้อมขอให้ผู้ร้องได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อรถยนต์ยี่ห้อ เชฟโรเลต คันใหม่ หรือ 2. ทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต และศูนย์บริการซ่อมรถคันดังกล่าวให้เหมือนเดิม พร้อมช่วยเยียวยาค่าเสียหายและค่าเช่าซื้อจนกว่ารถยนต์นั้นจะซ่อมเสร็จ และหารถยนต์คันใหม่ให้ผู้ร้องใช้งานจนกว่าจะได้รถยนต์คืนหลังจากบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต นำข้อเสนอกลับไปพิจารณาก็ได้แจ้งกับผู้ร้องว่า บริษัทประกันภัยรถยนต์ตกลงที่จะรับซื้อซากรถ และทางบริษัทรถยนต์ เชฟโรเลต จะให้การช่วยเหลือส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ร้องขาดทุนน้อยลง ส่วนทางไฟแนนซ์ก็จะยกเว้นค่าเบี้ยปรับให้ ด้านฝ่ายผู้ร้องเมื่อเห็นว่าทุกฝ่ายมีความเต็มใจที่จะให้การช่วยเหลือ จึงตกลงรับข้อเสนอและยุติเรื่องแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 แท็กซี่ป้ายแดง

แท็กซี่ป้ายแดง รถในฝันของคนหาเช้ากินค่ำที่อยากมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปเช่าสหกรณ์แท็กซี่ให้ต้องรำคาญใจ เพราะขับคนเดียวไม่มีใครมาเอี่ยวกับรายได้ อีกทั้งไม่ต้องยุ่งยากต้องไปส่งเมื่อหมดกะ หรือขับไปรถพัง คุณธีรศักดิ์ เลยตั้งใจเก็บหอมรอบริบน้ำพักน้ำแรงจากการขับแท็กซี่ เพื่อทำฝันให้เป็นจริง เมื่อขับรถแท็กซี่จนเหลือเงินเก็บมากพอ คุณธีรศักดิ์ จึงไปดาวน์รถยี่ห้อโตโยต้า ราคาแปดแสนกว่า เพื่อมาเป็นแท็กซี่ในฝัน หลังจากตกลงซื้อรถและทำไฟแนนท์กับบริษัทโตโยต้าลิสซิ่ง จำกัด กันเป็นที่เรียบร้อย จึงได้นัดแนะกันไปรับรถที่ศูนย์ตัวแทนจำหน่าย และด้วยความมั่นใจในแบรนดยี่ห้อดัง แกเลยไม่ได้เช็คสภาพในวันรับรถ รถใหม่ในฝันเมื่อนำไปขับใช้งานได้ 3 วัน คุณธีรศักดิ์พบว่า มีอาการพวงมาลัยหนัก ขับกินซ้าย ทำให้ต้องใช้แรงบังคับมากกว่าปกติ ทั้งเกียร์ก็มีเสียงดัง และเครื่องสั่นผิดปกติ ด้วยความผิดปกติดังกล่าว จึงนำรถเข้าศูนย์บริการตรวจสอบทันที ทางศูนย์ฯ แจ้งคุณธีรศักดิ์ว่า ไม่พบอาการผิดปกติ ส่วนอาการพวงมาลัยหนักน่าจะเพราะรถใหม่ จะทำการตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่ให้ แต่เมื่อนำรถขับออกจากศูนย์ฯ ยังไม่ทันไร อาการยังเหมือนเดิม แต่พอไปเช็ค ช่างที่ศูนย์ฯ กลับบอกว่าปกติ เหตุการณ์นี้วนเวียนอยู่ 3 - 4 ครั้ง จนเริ่มขาดความมั่นใจ และพอได้ลองตรวจสอบรถจนละเอียดทุกซอกมุม กลับพบสิ่งที่ไม่คาดฝันหลายอย่าง เช่น สายเข็มขัดนิรภัยเปื่อยเหมือนของใช้แล้ว คอนโซลหน้าห่างกันจนปากกาแยงได้ ยิ่งตรวจยิ่งเจอ พอเอาไปแจ้งบริษัทฯ กลับบอกว่า “รถรุ่นนี้สเปคประมาณนี้แหละ” เฮ้อเห็นเป็นแบบนี้แล้ว ใครจะกล้าขับล่ะ ลำพังขับคนเดียวยังไม่เท่าไหร่ แต่รถคันนี้เป็นแท็กซี่ หากพาผู้โดยสารไปเกิดอุบัติเหตุจะทำไง เลยต้องจอดรถไว้ทั้งที่ผ่อนค่างวดไปแล้ว 2 งวด     คุณธีรศักดิ์จึงมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งได้ให้คำแนะนำไปว่า ให้ลองเปลี่ยนศูนย์บริการซ่อมใหม่ในครั้งแรกก่อน เผื่อจะพบความผิดปกติอื่น พอลองเปลี่ยนไปใช้สาขาอื่น ก็ได้ผลเช่นเดียวกันบอกว่า เหมือนเดิมแหละซ่อมไม่หาย ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ปรึกษากับทีมนักวิชาการว่าศูนย์ฯ กับผู้ร้องสามารถนำรถไปตรวจสอบเองได้หรือไม่ จึงได้รับทราบว่าเมืองไทยยังไม่มีศูนย์ทดสอบรถยนต์ มีแต่บริษัทบางแห่งที่มีเครื่องมือในการทดสอบรถยนต์มือสอง เมื่อปรึกษากับคุณธีรศักดิ์ จึงขอนำรถไปตรวจสอบบ้างเผื่อเจอปัญหา(เพราะไปศูนย์ของบริษัทรถแล้วไม่เจอปัญหา) หลังการตรวจสอบพบว่า รถมีปัญหาเรื่องช่วงล่างผิดปกติจริงทำให้เกิดอาการอย่างที่เห็น คุณธีรศักดิ์เลยขอให้บริษัทที่ช่วยทดสอบรถให้ เขียนเป็นรายงานการตรวจว่ามีความผิดปกติเรื่องอะไรบ้างและขอให้ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วย ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้เชิญบริษัท โตโยต้า ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์และให้บริการจำหน่าย พร้อมกับเชิญบริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อมาเจรจา แต่ในวันที่นัดหมายกลับมีเพียงบริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ ที่ยอมมาเจรจาด้วย แต่ก็ตกลงกันไม่ได้ คุณธีรศักดิ์จึงขอความช่วยเหลือให้ศูนย์ฯ จัดหาทนายเพื่อดำเนินคดี ปัญหาและอุปสรรคคดีนี้ค่อนข้างพิเศษ มีความต่างจากคดีผู้บริโภคทั่วไป ด้วยเหตุผลดังนี้ แม้จะเป็นเรื่องซื้อรถยนต์ชำรุดบกพร่อง แต่ทว่าผู้ซื้อได้นำรถยนต์มาดัดแปลงเป็นแท็กซี่ พิจารณาแล้วอาจไม่เข้าข่ายผู้บริโภคที่ซื้อรถเพื่อใช้งานเอง ทางทีมศูนย์พิทักษ์ฯ และทีมทนายอาสา จึงไม่ฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค แต่ฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่แทน เพราะเกรงว่า การซื้อรถมาดัดแปลงเป็นแท็กซี่จะไม่ใช่คดีผู้บริโภค ต่อมาเมื่อผู้พิพากษาได้เห็นเรื่องก็พิจารณาว่า น่าจะเป็นคดีผู้บริโภคได้ จึงส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา แต่สุดท้ายศาลอุทธรณ์พิจารณาชัดเจนว่า ไม่ใช่คดีผู้บริโภคจริงๆ เพราะเป็นการนำรถยนต์มาหาประโยชน์ ดังนั้นภาระการพิสูจน์จึงตกเป็นของโจทก์ที่ต้องนำสืบพยานเอง แถมยังโชคไม่ดี บริษัทเอกชนที่เคยตรวจสอบรถให้คุณธีรศักดิ์มาปิดทำการ ทำให้ไม่มีทั้งพยานและเอกสารมายืนยันเอกสาร เมื่อเข้าตาจนแบบนี้ศูนย์ฯ จึงได้เชิญทีมนักวิชาการด้านยานยนต์มาช่วยทดสอบขับรถยนต์ข้างต้น แต่กลับไม่พบปัญหา หลักฐานจึงไม่พร้อมอีก ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงคุยกับผู้ร้องว่าพยานหลักฐานเรามีน้อยและไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำหนักหรือไม่ หากสามารถตกลงกันได้ในนัดเจรจาไกล่เกลี่ยก็จะเป็นการดีที่สุด แต่เมื่อเริ่มเจรจาใหม่ในชั้นศาล สุดท้ายก็ตกลงกันไมได้ เพราะผู้ร้องจะให้บริษัทรับซื้อรถคืนเท่านั้น ศาลจึงกำหนดสืบพยานและแต่ก็ยังอยากให้มีการเจรจากันอีกครั้ง และในวันนั้นเอง เผอิญมีกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของศูนย์บริการรถยนต์มาศาลด้วยตัวเอง ฝ่ายผู้บริโภคจึงขอเปิดการเจรจา โดยนัดหมายไปเจรจากันที่บริษัทโตโยต้าลิสซิ่งฯ สุดท้ายก็ตกลงกันได้ โดยทางบริษัท โตโยต้า จะขยายระยะเวลาการรับประกันให้อีก 1 ปีหรือ 20,000 กม และทำสัญญาเช่าซื้อใหม่ โดยเริ่มผ่อนค่างวดนับต่อจากค่างวดที่ชำระเดิม ส่วนอาการเสียที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ได้ส่งไปซ่อมที่โตโยต้า สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจะแก้ไขให้จนสามารถใช้งานได้ตามปกติ นับว่าจบลงได้ดี เพราะหากจะต้องสู้กันต่อไปในชั้นศาลและมีการสืบพยาน คงต้องนั่งลุ้นกันยาวอีกหลายปี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ซื้อหมู่บ้านเล็ก เขารับประกันยังไง

ซื้อบ้านจัดสรรอยู่ แต่โครงการของบริษัทเล็กๆ เขาจะรับประกันอะไรให้บ้าง คนเรามี 2 สิ่งที่ตัดสินใจยากคือ "เลือกเมีย" กับ "เลือกบ้าน" เพราะมีผลกับชีวิตทั้งชีวิต เป็นคำถามมาสั้นๆ ง่ายๆ ที่ฝากมาในกระทู้รับเรื่องร้องเรียน เลยขอนำมาตอบไว้ที่นี้ด้วย แต่คำตอบจะต้องแยกตอบเป็น 3 คำตอบ (1) ซื้อบ้านจัดสรร (2) เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็ก และ (3) การรับประกันหลังโอนประเด็นแรก คุณเจ้าของกระทู้บอกอยู่แล้วว่าตัดสินใจเลือกซื้อบ้านในโครงการจัดสรร นั่นหมายความว่าเราต้องการซื้อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำก็คือ ให้ตรวจสอบว่าโครงการจัดสรรดังกล่าว ขออนุญาตจัดสรรภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินหรือเปล่า ตรวจสอบข้อมูลได้จากสำนักงานกรมที่ดิน ตัวอย่างเช่น ถ้าจะซื้อบ้านจัดสรรในเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เราก็สามารถไปขอตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินประจำเขตบึงกุ่มเหตุผลที่ต้องตรวจสอบก่อน เพราะกฎหมายจัดสรรบังคับให้บริษัทเจ้าของโครงการต้องจดทะเบียนจัดสรร เพื่อจะได้เข้ามาช่วยควบคุมว่า กรณีที่เป็นโครงการใหญ่ๆ จะต้องมีการลงทุน "พื้นที่ส่วนกลาง" ให้เหมาะสมกับจำนวนบ้าน เช่น ถ้ามีบ้าน 100 หลัง ถนนเมนควรจะกว้าง 16 เมตรไหม ถ้ามีบ้าน 500 หลัง ถนนเมนจะต้องกว้าง 20 เมตรหรือเปล่าหรือถ้าขออนุญาตจัดสรรอย่างถูกต้อง กฎหมายท่านจะบังคับไว้เลยว่า บ้านเดี่ยวจะต้องมีพื้นที่ 50 ตารางวาขึ้นไป บ้านแฝดจะต้องมีที่ดิน 35 ตารางวาขึ้นไป ทาวน์เฮาส์จะต้องมีที่ดินเริ่มต้น 18 ตารางวาขึ้นไป เป็นต้นกรณีที่โครงการที่เราซื้อ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดสรร แสดงว่าเขากำลังเลี่ยงกฎหมายจัดสรรอยู่ โดยพื้นฐานถ้าจำไม่ผิด กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ถ้าขอจัดสรรทำบ้านเดี่ยวตั้งแต่ 10 หลังขึ้นไปต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าต่ำกว่า 10 หลังไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรกลายเป็นช่องว่างให้มีการเลี่ยงกฎหมายจัดสรร เช่น อาจจะมี 40 หลัง แต่ใช้วิธีพัฒนาทีละไม่เกิน 10 หลัง โดยใช้ชื่อคนละบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น ประเด็นที่สอง เรื่องของ "เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็กๆ" สิ่งแรกที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจวางเงินจองเงินดาวน์ และจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิ่งนั้นก็คือความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการในที่นี้ ไม่ได้ฟันธงว่า เวลาเราพูดถึงความน่าเชื่อของผู้ประกอบการแล้ว จะต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นเท่านั้น เรื่องนี้ไม่จริง เพราะมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุนหนาอีกตั้งหลายรายที่ไม่ยอมเข้าตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อของผู้ประกอบการจึงต้องมีองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อแนะนำคือ เวลาดูความน่าเชื่อของผู้ประกอบการสำหรับหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะไปเลือกซื้อนั้น นอกจากจะตรวจสอบจากใบอนุญาตจัดสรรแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสาร อย่างน้อยที่สุด เคยมีประวัติพัฒนาโครงการขายมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่เคย ธุรกิจดั้งเดิมเคยทำอะไรมาก่อนตัวอย่างเช่น ค่ายสยามกลการ ในปัจจุบันรุ่นทายาทธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ให้ความนิยมหันมาลงทุนสร้างคอนโดฯ ขาย เป็นต้น กรณีแบบนี้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีความเป็นมาตรฐานแน่นอน เพราะธุรกิจดั้งเดิมก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่ดี ไม่ใช่ประเภทตีหัวเข้าบ้านประเด็นสุดท้าย "การรับประกันหลังโอนกรรมสิทธิ์" ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า การรับประกันหลังโอน กฎหมายจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของโครงการไว้ที่เป็นการรับประกันเรื่องตัวบ้านเป็นหลัก เช่น สร้างแล้วพังเร็วไหม อยู่แล้วอุ่นใจหรือเปล่าข้อแนะนำสำหรับการรับประกันตัวบ้านก็คือ ให้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การตรวจสอบคุณภาพก่อสร้างที่เป็น "โครงสร้างหลัก" ของตัวบ้าน เช่น เสา คาน ฯลฯ ส่วนผนังที่อาจจะมีรอยแตกลายงา ถือเป็นเรื่องปกติเพราะเกิดจากฝีมือฉาบปูนบ้าง โดดแดดบ้าง อะไรบ้าง หรือจะเป็นก๊อกเป็นสนิม น้ำรั่ว น้ำซึม เป็นเรื่องที่คุยกันได้ พวกนี้เรียกว่า "ส่วนควบของตัวบ้าน" ซึ่งกินความไปถึงประตู หน้าต่าง กรอบอลูมิเนียม บานเลื่อน ฯลฯ จิปาถะเยอะแยะไปหมดข้อแนะนำคือ ตรวจสอบด้วยการหาข้อมูลอ้างอิงว่า ถ้าเป็นกรณีหมู่บ้านใหญ่ๆ เขามีการรับประกันอะไรให้กับลูกค้าบ้าง แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างน้อยที่สุด การรับประกันในจุดหลัก ๆ ก็ควรจะต้องมี แต่ถ้าหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีให้ ข้อแนะนำคือคุณไม่ควรจะรับโอน จนกว่าจะสามารถเคลียร์และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าหากจำเป็นจะต้อง "ค้าความ" หรือมีการฟ้องร้องคดีกันขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสของผู้บริโภคคือจะต้องมีหนังสือนิติกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การดำเนินคดีในศาลจึงจะมีน้ำหนัก และทำให้เราไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ในท้ายที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >