ฉบับที่ 198 รู้เท่าทันอาหารคีโตเจ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ มีหมอบางคนออกมาแนะนำให้กินน้ำมันหมู ขาหมูเพื่อเป็นการลดน้ำหนัก และรักษาสุขภาพ เอ๊ะ...อย่างไร  เพราะเราได้รับการปลูกฝังมาตลอดว่า มันหมู หรือน้ำมันจากสัตว์นั้นเป็นไขมันอิ่มตัว เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  แต่ทำไมคุณหมอจึงกลับบอกว่าดี อันที่จริงความเชื่อเหล่านี้มีทฤษฎีความเชื่อมาจากสูตรอาหารแบบคีโตเจ้น สูตรอาหารแบบแอตกิ้นส์  และเรื่องน้ำมันที่มีประโยชน์และที่เป็นโทษต่อร่างกาย  วันนี้เรามารู้เท่าทันอาหารแบบ คีโตเจ้นหรือคีโตเจนิกไดเอ็ท (Ketogenic diet) กันเถอะอาหารคีโตเจ้นหรือคีโตเจนิกไดเอ็ท คืออะไร คนไทยไม่คุ้นเคยกับชื่ออาหารคีโตเจ้น แต่ถ้าบอกว่า อาหารสำหรับนักเพาะกาย นักกีฬา อาจเข้าใจได้ง่าย  เพราะอาหารนักเพาะกายจะกินโปรตีนเป็นหลัก เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้เป็นมัดๆ  รีดไขมันออก   ดารานักแสดงหนังบู๊ของฮอลลีวู้ดที่เน้นร่างกายที่บึกบึน จะต้องเพาะกายและกินอาหารแบบนี้ อาหารคีโตเจ้นเป็นสูตรอาหารที่คาร์โบไฮเดรตหรือแป้งต่ำ(เหมือนอาหารแอตกิ้นส์)  เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานจากโปรตีนและไขมันแทน  เป็นการลดหรือตัดแป้งออกซึ่งย่อยง่ายกว่า เช่น น้ำตาล น้ำอัดลม ข้าวขาว เป็นต้น เมื่อร่างกายกินแป้งน้อยกว่า 50 กรัมต่อวัน ร่างกายจะขาดพลังงาน (น้ำตาลในเลือด)  ปรากฏการณ์นี้จะกินเวลา 3-4 วัน แล้วร่างกายจะค่อยๆ  ย่อยสลายโปรตีนและไขมันเพื่อสร้างพลังงาน ทำให้น้ำหนักลดลง ภาวะนี้เรียก คีโตซิสมีการใช้อาหารคีโตเจ้นรักษาอะไรบ้าง การแพทย์ทางเลือกใช้เพื่อลดน้ำหนัก แต่มีการใช้รักษาโรคบางชนิด เช่น ลมบ้าหมู โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท สิว เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งยังต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะยอมรับเป็นการรักษาตามมาตรฐานผลเสียจากการกินอาหารคีโตเจ้น อย่างแรกคือ โคเลสเตอรอลสูง เนื่องจากแหล่งโปรตีนมาจากเนื้อสัตว์ นม อาหารมัน  ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ  แต่ผลการศึกษาผู้ที่กินอาหารแบบแอตกินส์มานาน 2 ปี กลับมีไขมันเลวลดลงไตต้องทำงานหนักมากขึ้น อาจเกิดนิ่วในไตอาจทำให้กระดูกพรุน เพราะการกินโปรตีนมาก จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้นท้องผูก น้ำตาลในเลือดต่ำเล็กน้อย อาหารไม่ย่อย อาหารคีโตเจ้นดีจริงหรือไม่ เมื่อทบทวนงานศึกษาวิจัยจากวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ พบว่า อาหารคีโตเจ้นเกิดประโยชน์ดังนี้1. การกินอาหารคีโตเจ้นช่วยควบคุมความหิว สามารถลดน้ำหนัก ระยะเวลาในการกินอาหารคีโตเจ้นอาจเป็นระยะสั้น (2-3 สัปดาห์) จนถึงระยะยาว (6-12 เดือน)  การกินอาหารคีโตเจ้นสามารถรักษาโรคอ้วนได้ ถ้าใช้ในการควบคุมของแพทย์2. การกินอาหารคีโตเจ้นช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่าอาหารไขมันต่ำ และการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบประสาท พบว่ามีผลที่น่าสนใจ ซึ่งต้องการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม3. การกินอาหารคีโตเจ้นระยะยาว ช่วยลดน้ำหนักและดัชนีมวลกาย นอกจากนี้ ยังลดไตรกลีเซอไรด์  LDL น้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่ม HDL  การกินอาหารคีโตเจ้นระยะยาวยังไม่พบผลข้างเคียงกับผู้ป่วย  จึงสามารถกินเป็นเวลานานได้สรุป  การกินอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ กินโปรตีนและไขมันสูงแบบอาหารคีโตเจ้นส์ หรือแบบแอตกินส์นั้นมีผลในการลดน้ำหนัก และทำให้ไขมันเลวลดลง  อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงก็มีตามมา เช่น ท้องผูก ไตทำงานหนัก กระดูกพรุน  ที่สำคัญ ต้องมีการศึกษาระยะยาวกว่านี้ ว่าอาหารที่โปรตีนสูงนั้นอาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 รถรับส่งนักเรียน..ใครเป็นเจ้าภาพ

ผลสำรวจคุณภาพบริการรถรับส่งนักเรียน กับเด็กนักเรียนจำนวน 3,392 คน ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียนใน 32 จังหวัด ทั่วประเทศของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ เช่น เด็กมากกว่า 57% เดินทางทุกวันระยะไกลทางมากกว่า  16 กิโลเมตรเพื่อไปโรงเรียน ผู้ปกครอง 11% ใช้จ่ายมากกว่า 900-1,200 บาท และ ร้อยละ 8.9 ใช้จ่ายมากกว่า 1,200 บาท สำหรับค่ารถรับส่งลูกไปโรงเรียน ซึ่งมากกว่า 10% ของรายได้ขั้นต่ำที่ประเทศมาเลเซียได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ประเด็นสำคัญสุดเรื่องความปลอดภัยความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย พบว่า รถรับส่งนักเรียน เป็นรถผิดกฎหมายสูงถึง 66.5 % เรียกว่าเป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภทรถตู้ รถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งหรือขนส่งจังหวัด  มีนักเรียนยืนบนรถรับส่งนักเรียนประมาณ 15% อุปกรณ์ความปลอดภัยมีไม่เพียงพอ การปล่อยเด็กลงรถเองเพื่อข้ามถนนไปโรงเรียนจากผลการศึกษา สะท้อนต้นตอปัญหาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กต้องไปเรียนไกลบ้านเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดของประเทศ หรือสะท้อนปัญหาบริการสาธาณะของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การสนับสนุนให้มีบริการรถโรงเรียนเป็นความฝันของสังคมไทย สมาชิกฉลาดซื้อจะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่ายังไม่กล้ารับประกันการเยียวยาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนยุ่งยาก ไม่มีประสิทธิภาพ คนขับรถหรือเจ้าของรถที่เป็นเจ้าของรถคันเดียวหรือบุคคลธรรมดาหมดตัวเมื่อเจออุบัติเหตุ มีการเยียวยาขั้นต้น หากต้องการเยียวยาต้องอาศัยการฟ้องร้องดำเนินคดีกรมการขนส่ง เป็นหน่วยงานหลัก แต่ทำเรื่องนี้ได้ลำบากเพราะรถรับส่งนักเรียนไม่ได้จอดที่ขนส่งให้ลงเวลา ตรวจสภาพ โรงเรียนเข้ามามีบทบาท มีตัวอย่างหลายโรงเรียน แต่เมื่อไม่ใช่ภารกิจหลักก็ทำบ้างไม่ทำบ้างขึ้นกับครูที่รับผิดชอบกิจการนักเรียน ผู้อำนวยการจะเห็นความสำคัญแค่ไหนที่จะให้รถรับส่งนักเรียนต้องขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน พร้อมต้องขึ้นทะเบียนกับขนส่ง ท้องถิ่นจะมามีส่วนร่วมได้อย่างไร การสนับสนุนรถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ในหลายประเทศเป็นภารกิจของท้องถิ่น แต่เมืองไทยสตง. จะยอมให้ทำได้หรือไม่การให้ข้อมูลผู้ปกครอง ประธานคณะกรรมการโรงเรียน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะหากผู้ปกครอง พ่อแม่ได้รับทราบข้อมูลความไม่ปลอดภัย รถรับส่งที่ไม่มีมาตรฐาน ย่อมเห็นความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการเรื่องนี้ น่าจะเป็นข่าวดีที่สุดที่จะทำให้เป็นจริงท้ายสุดหวังว่า จะไม่มีข่าวลืมเด็กไว้ในรถรับส่งนักเรียน เพราะการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียน มีการแก้ปัญหาอย่างมีระบบ ไม่ใช่เพียงแค่ติดสติกเกอร์เตือนที่ประตูรถ ตูมตามเมื่อมีเหตุการณ์ การตรวจรถจากบุคคลที่สามก่อนรถออกจากโรงเรียน หรือการจัดการพื้นฐานเรื่องการนับจำนวนเด็ก การใช้เทคโนโลยีร่วมตรวจสอบ หรือเครื่องมืออีกมากมายในการมีส่วนร่วมของพ่อแม่และโรงเรียนจะถูกร่วมมือและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ปัญหา SPAM / SMS กวนใจ กับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

ปัญหา sms ขยะ ที่ส่งข้อความโฆษณามาชวนให้ซื้อสินค้า หรือสมัครใช้บริการต่างๆ ทั้ง sms ชวนสมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล เข้ามายังโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ครั้ง หรือข้อความโฆษณาขายครีม ขายอาหารเสริมที่ส่งมาทาง Line หรือโพสฝากร้านค้าผ่าน Facebook หรือ Instagram ที่โพสซ้ำๆ จนเป็นน่ารำคาญ นับเป็นปัญหาที่พูดกันมานานในสังคมไทย มีการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหา SPAM มาโดยตลอด  ล่าสุด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา SPAM โดยในมาตรา 11 กำหนดว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท   ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ แก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย” ปัจจุบัน ประกาศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่สนใจก็สามารถ Download ข้อมูลกฎหมายดังกล่าว มาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prachachat.net/ict/news-8775  สาระสำคัญโดยย่อของกฎหมายนี้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้ง การส่งข้อความ sms , e- mail , line โฆษณาขายของ การโฆษณาในลักษณะฝากร้านใน facebook , Instragram   การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ไปยังผู้รับ จะต้องได้รับความยินยอมจึงจะไม่เป็นความผิด และข้อมูลที่ส่งไปนั้น จะต้องระบุช่องทางหรือวิธีการในการปฏิเสธการรับข้อมูล เช่น ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร e-mail หรือ มีระบบตอบรับอัตโนมัติที่ผู้รับจะแจ้งยกเลิกการรับข้อมูลได้โดยง่าย   หากแจ้งปฏิเสธการรับข้อมูลไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อมูลโฆษณาต่าง ๆ มาอีก ผู้บริโภคก็จะต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ส่งเป็นครั้งที่ 2 ให้ชัดเจนว่าทางผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการปฏิเสธนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้ายังฝ่าฝืนส่งมาอีกคราวนี้ ก็จะถือว่าผู้ส่งมีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  นอกจากนี้ ก็จะมีบทบัญญัติว่าด้วยข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การส่งข้อมูลเพื่อเรียกคืนสินค้า(Recall) เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า การส่งข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล หรือการส่งข้อมูลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  กฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาตามหลักการ Opt-Out คือ ผู้บริโภคต้องแสดงเจตนาว่าจะไม่รับข้อความโฆษณาต่างๆ ไปยังผู้ประกอบการ เมื่อปฏิเสธไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อความมารบกวนอีกจึงจะถือว่า ผู้ประกอบการมีความผิด  ในต่างประเทศ ที่ใช้ระบบ Opt-Out ควบคุมการทำตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มิให้รุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Do not call register ซึ่ง อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ระบบลงทะเบียนห้ามโทร” ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับข้อความโฆษณาต่าง ๆ ได้มาลงทะเบียนไว้ และในกรณีที่บริษัท ห้างร้าน จะทำการส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็จะต้องมาตรวจสอบข้อมูลกับ Do not call list ก่อน ถ้าเกิดบริษัท ส่งข้อความโฆษณา ไปยังผู้ที่มาลงทะเบียนปฏิเสธไว้ ก็จะถือว่ามีความผิดทันที   ส่วนของไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีระบบกลาง ผู้บริโภคก็ต้องขวนขวายแจ้งไปยังผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แถมยังต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ผู้ประกอบการได้รับทราบคำปฏิเสธแล้วยังฝ่าฝืนส่งข้อความโฆษณามา จึงจะถือว่าเป็นความผิด ก็ไม่รู้ว่า กฎหมายที่มีลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แบบนี้ จะกำราบผู้ประกอบการให้หยุดส่ง SPAM ได้นานสักเท่าไร ปิดท้าย กันด้วยเกร็ดความรู้ของคำว่า SPAM ซึ่งเป็น คำแสลง ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เรียก การพยายามยัดเยียดส่งข้อความโฆษณาไปยังผู้รับจนเกิดความรำคาญ ซึ่งไทยเราก็เรียก ทับศัพท์ตามว่า “สแปม” คำนี้มีที่มาจาก เนื้อหมูกระป๋องยี่ห้อ SPAM ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในชีวิตประจำวันของพวกฝรั่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีหมูกระป๋องยี่ห้อนี้ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเหตุที่ SPAM กลายมาเป็น ศัพท์แสลงก็ต้องย้อนกลับไป เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุค 70 มีรายการโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ ชื่อ Monty Python ซึ่งเป็นรายการตลกสั้นๆ มีอยู่ตอนหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเมนูล้วนแต่มีส่วนผสมของ “SPAM หมูกระป๋อง” แม้ลูกค้าจะบอกว่าไม่ต้องใส่ SPAM ได้ไหม ก็ไม่วายที่พนักงานของร้านจะพยายามยัดเยียด ให้ลูกค้ากิน SPAM ให้จงได้ จนเกิดเป็นความโกลาหล ปนฮาขึ้น ลองเข้าไปชมคลิปรายการ Monty Python ตอน SPAM ทาง YouTube แล้วจะเห็นภาพชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=anwy2MPT5RE  เข้าใจว่า พวกฝรั่ง คงจะอินกับมุขตลกนี้มาก ดังนั้น ต่อมา เมื่อมีการพยายามส่งข้อความโฆษณา ขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภค จนรกหูรกตา หน้ารำคาญ จึงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า SPAM

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 พีรพล อนุตรโสตถิ์ กับชัวร์ก่อนแชร์

 “ ชัวร์เหรอ? ” วลีบ่งบอกอารมณ์สงสัย ที่เขากล่าวท้ายประโยคเรื่องในกระแสที่ยังไม่มีข้อสรุป หรือเป็นข้อมูลที่ถูกส่งต่อๆ กันมา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบค้นหาความจริงที่เรามักได้ยินจนคุ้นชินในช่วงหนึ่งของข่าวภาคค่ำ สำนักข่าวไทย ของโย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย อสมท. (ช่อง 9 MCOT HD) ผู้ผลิตรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งนอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านไอที, บล็อกเกอร์และผู้ให้ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ภายใต้ชื่อ @YOWARE (โยแวร์)ที่เราจะพามารู้จักที่มาของ ชัวร์ก่อนแชร์ กันให้มากยิ่งขึ้นเป็นนักสื่อสารมวลชนแต่แรกใช่ไหมเรียนจบมาวิชาเอกสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตอนเริ่มต้นทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มาก่อน เริ่มงานทำหนังสือ หนังสือเล่ม นิตยสาร เคยทำนิตยสารคอมพิวเตอร์มาก่อน เขียนบทความคอมพิวเตอร์ แปลหนังสือคอมพิวเตอร์ เคยเขียนหนังสือคอมพิวเตอร์ ต่อมาก็อยากมาทำข่าว อยู่ที่สำนักข่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2548 ระยะเวลา 12 ปี พอเป็นผู้สื่อข่าวก็ได้ทำข่าวไปประจำที่กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาฯ และเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนามและในเวลาเดียวกันก็ยังทำงานด้านไอทีไปด้วย ก็คือจัดรายการวิทยุด้านไอทีที่นี่ และด้วยเป็นความชอบและความถนัดอยู่แล้ว ก็ได้ทำข่าวไอทีอยู่บ้างคือเนื่องจากว่าข่าวไอทีของสำนักข่าวไทยนั้นก็จะผสานไปกับข่าวทั่วๆ ไป เราก็เลยได้มีโอกาสไปทำข่าวไอทีอยู่บ้างเป็นระยะ ก็เป็นข่าวไอทีเชิงสังคมที่ทำผ่านมาและก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ พอมียุคโซเชียลมีเดียเราก็เข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย เริ่มเขียนบล็อก ใช้งานทวิตเตอร์และก็พยายามติดตามอ่านโลกไอที ติดตามไอทีอยู่ตลอด บนโซเชียลมีเดียผมก็เป็นคนที่ชอบเขียนข้อมูลและให้ข้อมูลเรื่องของไอทีมากๆ แต่ช่วงการทำงานก็มาทำชัวร์ก่อนแชร์ตั้งแต่เริ่มก็ 2 ปีกว่า ตอนหลังก็ทำแต่ชัวร์ก่อนแชร์อย่างเดียวทำไมถึงคิดว่าการเช็คข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์เป็นเรื่องสำคัญถึงกับมาทำเป็นรายการโทรทัศน์ เป็นเพราะผลกระทบ แต่เดิมเราเห็นข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันผิดๆ มันมีมาตั้งนานแล้ว จริงๆ มันมีตั้งแต่สมัยจดหมายลูกโซ่หรือการบอกกล่าวใครคนนั้น คนนี้บอกมาและพอมาถึงยุคอินเทอร์เน็ตเราก็เจอปัญหานี้ก่อนในยุคที่เป็นฟอร์เวิร์ดอีเมล์ตอนหลังก็มี MSN ที่เป็นช่องทางในการแชร์เรื่องผิดๆ กันมา  ซึ่งตอนฟอร์เวิร์ดอีเมล์ก็เดือดร้อนระดับหนึ่งเพราะยุคนั้นยังไม่มีอะไรให้ตรวจสอบง่ายๆ Google ก็ยังไม่มีแต่ก็ยังไม่กว้างมากเท่าไร เพราะคนยุคนั้นก็ยังใช้อินเทอร์เน็ตไม่เยอะเพราะฉะนั้นก็เหลือข่าวลือไม่เยอะ แต่พอยุคนี้เป็นยุคที่คนจำนวนเยอะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือเทคโนโลยีมันพร้อม คนก็พร้อมและการเข้าถึงก็พร้อมหมายถึงเทคโนโลยีพร้อมคือมันเร็ว มันน่าสนใจ มันดึงดูด มันง่าย มีภาษาไทยและก็พกพาได้ อยู่ในมือถือ มันเล็กลง ราคาก็ถูกและอินเทอร์เน็ตก็ไปทั่วถึง นี่คือเทคโนโลยีพร้อม คนก็เข้าถึงด้วยเพียงแต่คนที่เข้าถึงนั้นไม่พร้อมเพราะว่าถ้านึกภาพสมัยก่อนเราเคยแนะนำว่าถ้าซื้อคอมพิวเตอร์หรือจะให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเราจะมีคำแนะนำว่าให้หันคอมพิวเตอร์ออกมาข้างนอก อย่าหันเข้ากำแพงเพราะเราจะได้ดูว่าเด็กกำลังทำอะไร ระวังเด็กโดนหลอกหรือว่าพ่อแม่บางคนจะไม่ให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเลยจนกว่าจะขึ้นมัธยมแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คืออินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์มาอยู่ในรูปของสมาร์ทโฟนที่จริงๆ มันมีพลังสูงกว่าสมัยก่อนที่เราห้ามเด็กเล่นกันอีก มันมาพร้อมประสิทธิภาพ พร้อมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วด้วยและเข้าได้ทุกอย่าง แต่เผอิญมันไปตกอยู่ในมือคนที่ไม่เคยจับคอมพิวเตอร์มาก่อนในชีวิตเลยซึ่งน่าจะมีพอสมควร ถ้านึกถึงตอนที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้ามาตอนนั้นก็จะมีกลุ่มนักศึกษาที่จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วพอขยายกว้างขึ้น ก็ขยายไปถึงกลุ่มคนทำงานและขยายไปที่นักเรียน   และตอนนี้มันถึงมาที่กลุ่มคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เลย  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหม่มากคือไม่รู้ว่าของบนดิจิทัลมันปลอมง่าย ภาพรีทัชมันง่ายเหลือเกิน ทำวิดีโอให้คนเชื่อ เรื่องวิดีโอสมัยก่อนจะมีคนสอนว่าถ้าแค่ภาพนิ่งอย่าไปเชื่อถ้าเป็นวิดีโอเชื่อได้เลย ปัจจุบันมันก็ไม่ใช่แล้ว วิดีโอก็ยังเชื่อไม่ค่อยได้อีกและถ้ามีวิดีโอแล้วมีแคปชั่นมันก็อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด ถึงมีคำอธิบายแต่คำอธิบายก็อาจจะคนละเรื่องกับวิดีโอนั้นก็ได้ มันมีความซับซ้อนขึ้นแต่คนที่เข้ามานั้นไม่มีความพร้อม ไม่มีความตระหนักรู้ในธรรมชาติของดิจิทัลมากพอ ทำให้โดนหลอกได้และเข้าใจผิดไปบ้างในข้อมูลข่าวสารที่เข้ามา พอเป็นอย่างนี้แล้วมันจึงเป็นภาพใหญ่ๆ ของผลกระทบ คือ สมัยก่อนข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้กระทบต่อคนมากนักและคนที่เข้าไปใช้ข้อมูลพวกนี้ก็ไม่มาก มันอาจจะสร้างความเข้าใจผิดแต่ความเข้าใจผิดนั้นมันไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญอะไรและก็จะมีข่าวลักษณะที่หน่วยงานต้องออกมาชี้แจ้งว่าข่าวนี้ไม่จริง ข่าวนั้นไม่จริงและก็มีปรากฏการณ์พวกที่สร้างข่าวปลอมเพื่อหาโฆษณา หาคนคลิกโฆษณา พวกสร้างข่าวปลอมก็สร้างเรื่องขึ้นมาพอเรื่องแพร่กระจายออกไปก็ต้องมีหน่วยงานออกมาชี้แจงว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง ดาราออกมาฟ้องซึ่งฟ้องไปก็จับใครไม่ได้เพราะใช้เทคโนโลยีในการซ่อนตัว แต่มันมีผู้เสียหายจากการเข้าใจใจผิดเกิดขึ้น พวกข่าวดาราตายอะไรพวกนี้ พอมันมีแบบนี้เกิดขึ้นนักข่าวเองก็มีสำนักงานข่าวไทย อสมท. ก็ทำข่าวแบบนี้บ่อย ผมเองก็ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะตอนนั้นผมทำข่าวไอทีก็จะเหมือนว่าอะไรที่มันเกิดบนโลกโซเชียลมีเดียเขาก็จะให้เราทำ เราก็ทำแบบนั้นอยู่บ่อยๆ รวมทั้งนักข่าวในสายอื่นๆ ก็ต้องทำข่าวแนวนี้อยู่บ่อยๆ เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ที่จะทำอะไรให้เป็นลักษณะหมวดหมู่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นรายการฟอร์มขึ้นมา  การทำงานของชัวร์ก่อนแชร์ชัวร์ก่อนแชร์ เริ่มไอเดียตั้งแต่ปี 2557 และได้เริ่มออกอากาศจริงตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2558 ก็ออกเป็นชัวร์ก่อนแชร์ที่เป็นสกู๊ปสั้นๆ รายสัปดาห์ เน้นเอาเรื่องที่แชร์กันไม่จริงไปหาคำตอบมาว่าความจริงมันคืออะไรและเอามาอธิบายให้ประชาชนฟังบนหน้าจอทีวีในช่วงข่าวค่ำ เป็นสกู๊ปสั้นๆ เหมือนกับสกู๊ปข่าวและหลังจากนั้นกระแสตอบรับก็ดี มีคนชอบและทางผู้บริหารเองก็คิดว่ามันน่าสนใจและมีประโยชน์กับคนก็เลยเพิ่มความถี่ของรายการจากสัปดาห์ละครั้งเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้งคือเสาร์ อาทิตย์ จนประมาณเดือนเมษายน 2559 ก็เพิ่มจากเสาร์ อาทิตย์เป็น 7 วันก็คือมีชัวร์ก่อนแชร์ทุกวันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และเราก็เก็บข้อมูลเหล่านี้มาเรื่อยๆ เพื่อที่จะหาทางว่าเราจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้นในประเด็นต่างๆ ซึ่งการทำเนื้อหาแบบชัวร์ก่อนแชร์ มันก็จะเป็นการต้องแก้ข้อมูลที่ไม่จริงที่มีเข้ามาเรื่อยๆ ไปทีละอันๆ และต้องไปหาคำตอบแต่ละอันมาสะสมไว้และทำเพื่อให้คนดูในปัจจุบันดูและคนดูในอนาคตได้ดู เพราะว่าธรรมชาติหนึ่งของเรื่องที่แชร์กันมันก็จะวนไปวนมา เราต้องการสร้างข้อมูลที่เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วให้กับคนดูทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นฐานชัวร์ก่อนแชร์เกิดขึ้นมานอกจากมีคอนเทนต์ในโทรทัศน์เรายังเปิดช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนคือ ไลน์ของสำนักข่าวไทย (@TNAMCOT) ก็จะเป็นไลน์ที่ส่งข้อมูลเข้ามาถาม คือตอนที่สร้างชัวร์ก่อนแชร์ขึ้นมามันมีโจทย์หนึ่ง คือเรารู้ได้อย่างไรว่าคนแชร์อะไรกัน มันไม่เหมือนข่าวทั่วไป เช่น ข่าวอาชญากรรมเขาก็จะฟังวิทยุสื่อสารตำรวจหรือมีวงข่าวกู้ภัยเพื่อที่จะรู้ว่าเกิดอะไรที่ไหน ข่าวการเมืองเขาก็มีแจ้งหมายอะไรที่ไหนกัน แต่พอมันมาเป็นโซเชียลเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องไหนถูกแชร์ ยากมากที่จะรู้ให้ทั่ว ตอนแรกเลยคิดว่า อยากจะให้คนได้ส่งข้อมูลเข้ามาถามด้วยเพราะจริงๆ แล้วเราก็อยากจะให้ลำดับความสำคัญกับเรื่องที่คนกำลังได้รับแชร์มาแล้วสงสัยในเวลานั้นจริงๆ เราก็มีช่องทางนี้ขึ้นมาแล้วคนก็ส่งข้อมูลเข้ามาถาม เราก็ตอบกลับเข้าไป ทีนี้ส่วนคำถามตรงนี้เลยทำให้ได้ข้อมูลมาว่า เวลาที่คนที่ระดับผู้เชี่ยวชาญนั้น เวลาเขาไม่ตอบ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆ มันมีคนเชื่อจริงๆ เวลาคนส่งเข้ามาถามผมก็จะคุยตอบกลับไป คนส่งเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นผมมาตอบเอง แต่ผมอ่านเองเพราะผมต้องการจะรู้เพราะมันไม่มีระบบที่จะช่วยในเวลานั้น ไม่มีระบบอะไรเลยที่จะช่วยให้กระบวนการตรงนี้มันทำได้ง่ายกว่านั้น ง่ายที่สุดในตอนนั้น คือต้องอ่านเองและอ่านอย่างเดียวไม่ได้ด้วยต้องตอบด้วย เพราะว่าพออ่านปุ๊บมันจะขึ้นอ่านที่ฝั่งคนส่ง ถ้าอ่านไม่ตอบก็ดูไม่มีมารยาทอีก เราก็เลยอ่านเองตอบเองในช่วงประมาณ 2 ปีแรก บางทีเราก็คิดว่าเรื่องแค่นี้เขาเชื่อหรือ เราก็พิมพ์กลับเข้าไปถามเหมือนทดสอบว่า อยากรู้มุมมองความคิดเขาว่าตกลงเขาเชื่อจริงหรือว่าแค่ส่งมาขำๆ ก็ปรากฏว่าเราเจอคนที่เขาเชื่อจริงๆ จนเอาไปลองทำ บางคนส่งมาบอกว่าช่วยรีบตอบด้วยนะคะ เพราะว่ากำลังทุกข์ใจเพราะเป็นโรคมะเร็งอยู่อยากรักษา เห็นช่องทางที่เขาแชร์กันว่ารักษามะเร็งได้ก็อยากทำ เราก็เลยเห็นว่ามันมีคนที่เชื่อจริงๆ และเราไม่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ มันควรจะมองเป็นเรื่องที่จริงจัง อย่างน้อยคือ ให้ค้นหาในอินเทอร์เน็ตเขาจะต้องเจอคำตอบนั้นบ้าง พยายามทำให้มันมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ก็ตั้งใจแบบนั้นมาตลอด คือมันเหมือนการทำงานทีเดียว 2 – 3 อย่างไปด้วยตลอด คือในเชิงการสร้างคอนเทนต์ สร้างเนื้อหาก็คือหาคำตอบออกมาให้คนที่อยู่ในปัจจุบันดู และเวลาเดียวกันก็เอาคำตอบให้คนที่อยู่ในอนาคตดูด้วย  เพราะรู้ว่าเรื่องที่แชร์กันมันจะวนไปวนมา เพราะฉะนั้นระบบคอนเทนต์นี้มันควรจะต้องถูกจัดเก็บเข้าไปในระบบที่คนเข้าถึงง่ายอีกรอบด้วย ก็พยายามจะวางระบบตรงนี้ไว้ ก็ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วนี้ ไม่ได้ให้คนต้องโหลดแอฟฯ อะไรใหม่ เข้า Google พิมพ์คำว่าชัวร์ก่อนแชร์แล้วตามด้วยเรื่องที่สงสัยปัจจุบันทั้ง Google , Youtube , Facebook 3 อันนี้ถ้าค้นคำว่าชัวร์ก่อนแชร์แล้วพิมพ์เรื่องที่สงสัย เช่นชัวร์ก่อนแชร์เว้นวรรคตามด้วยมะเร็ง ก็จะเข้าไปถึงข้อมูลที่เขาสงสัยได้ง่ายขึ้นก็เป็นความตั้งใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวไหนประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่ของคนไทยจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องอะไรที่มันเกี่ยวโยงกับสุขภาพ เช่นทำแล้วสุขภาพจะดีขึ้นอย่างไร หรือจะรักษาโรคอย่างไร แต่ว่าโดยรวมๆ ส่วนใหญ่ 80 % ขึ้นไปของเรื่องที่แชร์กันเป็นเรื่องที่ไม่จริง เรื่องที่เก่าแล้ว ซึ่งอันนี้ผมละนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เห็นด้วยว่ามันมีประมาณนี้แหละคือส่วนใหญ่ 80 - 90 % ของเรื่องที่แชร์กันไม่ใช่เรื่องจริง แล้วใน 80 - 90 % ที่เป็นเรื่องที่ไม่จริงนั้นก็เป็นเรื่องสุขภาพส่วนใหญ่ ในเรื่องสุขภาพมันก็จำแนกออกเป็นเรื่องคำแนะนำกับคำเตือน คำแนะนำก็อย่างเช่นทำแบบนี้ กินแบบนี้เพื่อที่จะได้ดีขึ้น แบบนี้ป้องกันโรคนี้ได้ คำเตือนก็คืออย่าทำแบบนี้ อย่ากินแบบนี้เพราะมันจะทำให้เป็นโรคนั้นโรคนี้ ซึ่งโรคที่เป็นโรคปลายทางมากที่สุดก็จะเป็นโรคมะเร็ง คำเตือนห้ามกินแบบนี้เพราะจะเป็นโรคมะเร็ง คำแนะนำให้ทำแบบนี้เพื่อจะรักษามะเร็ง มันเป็นโรคปลายทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและเป็นโรคที่กระตุ้นให้เกิดการแชร์มากพอสมควร รองลงมาก็เบาหวาน ความดัน ไต อะไรพวกนั้น ส่วนใหญ่ที่คนไทยจะแชร์ๆ กันก็จะเป็นเรื่องพวกนี้หรือถ้าเป็นเรื่องใกล้ๆ ก็จะเป็นเรื่องอาหาร จริงๆ แล้วก็จัดอยู่ในหมวดสุขภาพเหมือนกันเพราะเวลาแชร์เรื่องอาหารอะไรสักอย่างสุดท้ายมันก็จะสะท้อนกลับไปที่เรื่องสุขภาพอีก เช่นแชร์เรื่องอาหารปลอมถ้ากินก็จะเป็นมะเร็ง ต่อจากอาหารเรื่องที่เหลือก็คละเคล้ากันไป เช่นเรื่องกฎหมาย เรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องวิทยาศาสตร์ความเข้าใจทางเทคโนโลยี เตือนการใช้อินเทอร์เน็ต ใช้มือถือ ใช้ไลน์ สติ๊กเกอร์ไลน์ฟรีอะไรแบบนี้ ก็จะมีเรื่องพวกนี้แชร์กันมีทั้งเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างเรื่องไหนที่รู้สึกสนุกที่สุดจนรู้สึกอยากทำต่อหรือเรื่องที่ยากที่สุดมันมีหลายเรื่องที่พยายามจะทำพิสูจน์ คือทุกเรื่องบางทีมันเป็นเรื่องของความเชื่อ ความลี้ลับที่ไม่มีใครเคยพิสูจน์ ถ้าเรื่องไหนพิสูจน์ได้ก็จะพยายามพิสูจน์ให้คนดูเห็นหน้าจอและใช้การได้เปรียบของการเป็นคอนเทนต์วิดีโอซึ่งมันทำให้คนดูเชื่อถือได้มากกว่า ก็พยายามใช้คอนเทนต์วิดีโอเพื่อให้คนเห็นภาพว่ามันไม่จริง อย่างเช่นมันมีเรื่องที่แชร์ว่าน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วก็ทำเป็นคลิปวิดีโอ มีคนเทน้ำสีดำกับของเหลวเทลงไปผสมกันแล้วคนๆ มันก็ฟูขึ้นมากลายเป็นฟองใหญ่ๆ ก็แชร์กันมาว่าให้ระวังอย่ากินน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังไม่อย่างนั้นตายแน่ๆ เพราะถ้ามันผสมกันเข้าไปในท้องมันก็จะออกมาเป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่รู้สึกตื่นเต้นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า  แต่ว่าเวลาเราหาคำตอบเรื่องนี้เราก็ต้องหาให้ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งมันง่ายมากแค่เอาน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วคนๆ ให้เข้ากันตามคลิปซึ่งก็ปรากฏว่ามันไม่ใช่ แต่เราก็ต้องไปหาคำตอบอีกว่าแล้วมันคืออะไร ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ขึ้นมาได้ สุดท้ายกรณีนี้คือได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเรื่องโภชนาการก่อน คือนำน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วก็ทดลองว่ามันไม่เกิดอย่างที่แชร์กัน ในขณะเดียวกันก็ไปหาจนเจอว่ามันคือสารอะไร ซึ่งก็คือโพลียูรีเทนที่ช่างทั่วไปบางคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันคือสารเคมี 2 ตัวคือโพลีและยูรีเทน ผมก็เพิ่งรู้จากการเรื่องนี้ คืออาจารย์ที่ ม.เทคโนฯ ธัญบุรีบอกมาพอรู้แล้วเราก็อยากพิสูจน์เองอีกเพราะเราพิสูจน์เองมันทำให้เราพูดได้อย่างหนักแน่นว่ามันใช่หรือไม่ใช่ บางทีเราต้องใช้เวลามากเลยกับการตามหาซื้อของ พอได้มาแล้วทำเพื่อที่จะพูดแค่ประโยคเดียวว่าใช่ แต่เป็นคำว่าใช่ที่เรารู้สึกมั่นใจที่จะพูดว่าใช่หรือไม่ใช่ พอใช้โพลียูรีเทนมาลองทำดูมันก็ขึ้นมาแบบนั้นจริงๆ ก็ทุกๆ เรื่องถ้าพิสูจน์ได้ ทดลองได้ก็จะพยายามหาทางพิสูจน์ เรื่องที่สนุกนอกจากเรื่องที่ได้ทดลองเอง อย่างเช่นแชร์กันว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันเคลือบแว็กซ์ เราก็ติดต่อไปที่โรงงานเพื่อขอดูคือ ขอดูก็ไม่พอเพราะต้องเอามาให้คนดูในทีวีด้วย ขอดูว่าในกระบวนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันจะมีแว็กซ์อยู่ตรงไหนบ้าง ตอนนั้นก็ติดต่อไป ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เรื่องที่คนส่งเข้ามาให้ช่วยเช็คมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรหรือพอๆ กับเมื่อก่อน มีคนส่งเข้ามามากขึ้น หมายถึงคนที่ส่งมาและมาขอข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น ในวันนั้นเริ่มจากศูนย์เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ตอนนี้ เดือนกรกฎาคม 2560 มีประมาณ 70,000 คนที่อยู่ในไลน์แอด ก็อาจจะเป็นคนที่แอคทีฟอยู่ประมาณหนึ่ง คือมันยังไม่มีเครื่องมือนับ เราพยายามจะนับอยู่ว่าจริงๆ แล้วมีคนที่ส่งมาประจำกี่คน ส่งเรื่องอะไร พยายามจะหาทางนับตรงนี้อยู่ แต่ว่าเรารู้สึกได้ว่ามันมีจำนวนคนที่มากขึ้น ก็จะมี 2 แบบคือมาพร้อมคำถามใหม่กับอีกแบบคือมาพร้อมคำถามเก่าที่เราเคยทำไปแล้ว ส่วนใหญ่คือเรื่องที่แชร์ตอนนี้ ฐานข้อมูลของชัวร์ก่อนแชร์ คือตอบได้ไปส่วนใหญ่แล้ว มันจะมีคำตอบอยู่ในสิ่งที่ชัวร์ก่อนแชร์เคยทำไว้อยู่แล้วมีคำตอบอยู่พอควร แต่ว่ามันก็ยังตอบไม่หมด มีเรื่องที่เราบันทึกไว้แล้วรอคำตอบ รอการผลิตอีกจำนวนพอสมควร ถ้าจะแบ่งย่อยไปก็คือเรื่องที่รอคนมายืนยัน บางเรื่องไม่ได้เร่งด่วนหรือบางเรื่องที่มันซีเรียสมากๆ แล้วยังไม่มีคำตอบ บางทีมันก็ต้องรอคนมาตอบ เราก็ต้องรอคนที่ใช่จริงๆ ซึ่งเรายังเน้นไปที่การทำคำตอบสำหรับในวิดีโอที่ออกทีวีเป็นหลักเพราะมันมีความน่าเชื่อถือในตัวเองและมันเป็นแมส มันออกโทรทัศน์ อยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคชัวร์ก่อนแชร์เป็นเหมือนทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉยๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาวเหมือนเวลาเราไปต่างประเทศแล้วเรามีคู่มือเล่มหนึ่งที่ทำให้เราพูดกับคนในประเทศนั้นได้โดยที่เราพูดภาษานั้นไม่ได้ เราก็ไม่ต้องการให้คนมายึดโยงชัวร์ก่อนแชร์ตลอดเวลา เราต้องการให้คนมีภูมิคุ้มกันระดับสูงในตัวเองที่จะป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใหม่ที่เขากำลังจะเข้าไป ทุกคนอย่างไรก็ต้องเข้าไปสู่โลกใหม่ที่เป็นโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและเป็นโลกที่ทุกอย่างสามารถปลอมขึ้นมาได้ สร้างได้ เขาต้องมีความเข้าใจมากเพียงพอ แต่ก็ไม่ต้องการให้เขาออกจากโลกพวกนี้เพราะว่าการที่เขาไม่สนใจใยดีกับโลกเทคโนโลยียุคใหม่มันก็ทำให้เขาเสียโอกาสอีกหลายอย่างเหมือนกัน เราก็อยากให้เขาเข้าไปอยู่ในนั้น แต่ในเวลาที่มันเป็นเวลาเฉพาะหน้าแบบนี้ที่ข้อมูลมันเยอะมาก นึกภาพคนที่เข้าไลน์ครั้งแรกแล้วไปพบกลุ่มเพื่อนแล้วก็เจอข้อมูลพวกนี้เยอะๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง และตอนนี้เขาก็ไม่รู้ว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ดี ก็เป็นสิ่งที่มันคาใจในชีวิตของเขาว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ เรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริง ค้นก็ค้นไม่เป็นหรือค้นเป็นก็โดนผลการค้นหาหลอกอีก ค้นไปเจอเรื่องหลอกกัน 5 - 6 อันแล้วก็คิดว่ามันเป็นจริงเพราะค้นออกมาแล้วเจอเยอะ สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ใช้ชัวร์ก่อนแชร์เป็นทางลัดในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ดูแลสุขภาพกับ “iCare Health Monitor”

วันนี้ขอมาดูแลสุขภาพกันนะคะ ปัจจุบันการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บในยุคสมัยนี้จะมากับอาหารการกินเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการทำงานที่อยู่ภายใต้ภาวะความกดดันและความเครียด ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาที่ใส่ใจสุขภาพของตนเองได้ตลอดเวลา หรือบางคนอาจจะไม่แม้แต่เสียเวลาในการไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วยซ้ำ สุขภาพร่างกายควรได้รับการดูแลเอาใส่ใจเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอแนะนำแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “iCare Health Monitor” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบสุขภาพในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android หลังจากที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว เมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่นจะปรากฏหน้าหลัก โดยมีให้เลือกตรวจวัดสุขภาพทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการมองเห็นหรือ Vision ด้านการได้ยินหรือ Hearing ด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen ด้านจิตวิทยาหรือ Psychological ด้านการมองเห็นหรือ Vision จะเป็นการตรวจวัดการมองเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นรูป สี เส้น ด้านการได้ยินหรือ Hearing จะเป็นการทดสอบการฟังเสียงที่ได้ยินที่ออกมาจากแอพพลิเคชั่น ด้านความจุของปอดหรือ Lung capacity จะทดสอบการเป่าลมโดยใช้ปอด ซึ่งแอพพลิเคชั่นจะให้เป่าลมอย่างเต็มแรงผ่านช่องไมโครโฟนของสมาร์ทโฟนสำหรับด้านความดันเลือดหรือ Blood pressure ด้านอัตราการเต้นของหัวใจหรือ Heart rate ด้านอัตราการหายใจหรือ Respiratory rate ด้านปริมาณออกซิเจนหรือ Oxygen และด้านจิตวิทยาหรือ Psychological แอพพลิเคชั่นจะให้ตรวจวัดโดยวิธีเดียวกันนั่นคือ ให้นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลังสมาร์ทโฟนโดยให้การกดหน้าจอค้างไว้ในขณะที่นำนิ้วชี้วางไว้บริเวณกล้องด้านหลัง และรอจนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ หรือผู้ใช้สามารถตรวจเช็คสุขภาพแบบรวดเร็ว โดยกดปุ่มวงกลมใหญ่มีข้อความว่า Quick Check จนกว่าแอพพลิเคชั่นจะทำงานสำเร็จ ก็จะได้ผลการตรวจวัดทั้ง 5 ด้านซึ่งภายในแอพพลิเคชั่น “iCare Health Monitor” ยังสามารถเก็บสถิติการตรวจวัดในแต่ละครั้งเพื่อนำมาเปรียบเทียบย้อนหลังได้อีกด้วยนอกจากนี้แอพพลิเคชั่นยังมีหมวดการตรวจวัดจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้ทราบเป็นระยะทางและจำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญออกไปในแต่ละวัน โดยจะมีผลสรุปเป็นกราฟให้เห็นอย่างชัดเจนของการก้าวเดินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาในวันนั้นๆ และผลสรุปเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปีมาใส่ใจสุขภาพกันวันละนิดนะคะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กฎหมายคุ้มครองแม่และเด็กแรกเกิดจากอิทธิพลของบริษัทนมผง

การตลาดที่ได้ผลดีที่สุดของบริษัทนมผง คือการเปลี่ยนให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขกลายมาเป็นตัวแทนขายของบริษัทนม มีรายงานในประเทศไทยระบุว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม ร้อยละ 81.8 จะเลือกยี่ห้อนมตามที่ได้รับแจก(ตัวอย่าง)และคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข ภาพจำในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รูปแบบกิจกรรมการตลาดของบริษัทนมผงมีการบันทึกไว้หลากหลาย กล่าวคือ เป็นการตลาดแบบจู่โจมเข้าถึงเนื้อตัวคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหญิงที่ตั้งครรภ์โดยตรงของตัวแทนขายสินค้า(ส่วนหนึ่งก็เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข) หรือการแจกนมผงฟรีที่โรงพยาบาลให้แม่นำกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน หรือการให้ข้อมูลที่เกินความเป็นจริงต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้คุณแม่เชื่อว่า นมผงเทียบเท่านมแม่ หรือดีกว่าเพราะเพิ่มเติมสารอาหารที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงการที่บริษัทนมบริจาคสิ่งต่างๆ ให้กับสถานพยาบาล ทั้งในรูปแบบ การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับแม่ การให้ค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากรที่ช่วยแนะนำสินค้า การนำผลิตภัณฑ์แจกให้กับแม่ถึงเตียงนอนพักฟื้น ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เหตุเพราะการกระทำดังกล่าวนั้น ผิดจริยธรรม อีกทั้งเข้าข่ายละเมิดสิทธิของแม่และเด็กทารกในการเข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด ซึ่งก็คือ การได้รับน้ำนมแม่อันทรงคุณค่า เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจ ผู้ที่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้คุณแม่ทั้งหลายใช้น้ำนมของตัวเองเลี้ยงดูทารกก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันให้เกิดกติกา ที่จะสามารถลดทอนอิทธิพลทางการตลาดของบริษัทนมผงลง โดยเฉพาะการทำตลาดแบบถึงเนื้อตัวและการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบผ่านสื่อทุกชนิด ซึ่งลำพังกติกาเดิมที่เรียกว่า โค้ดนมแม่ หรือ  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี 2551นั้น ไม่อาจต้านทานพลังจากภาคธุรกิจได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำกลไกที่เป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมาใช้จัดการปัญหา และในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ จะเป็นวันแรกที่ พระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  จะมีผลบังคับใช้ ขอเล่าถึงความยากของการผลักดัน พ.ร.บ.นี้สักเล็กน้อย เนื่องเพราะมีผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมหาศาล ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากภาคธุรกิจผู้ผลิตนมผง แต่ที่น่าตั้งคำถามที่สุดว่ามาคัดค้านเพื่ออะไร กลับเป็นบรรดาองค์กรวิชาชีพบางแห่ง ที่ให้ข้อมูลและคัดค้านจน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวนไปหลายรอบ อย่างไรก็ตามแม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ในที่สุด พ.ร.บ.นี้ก็ผ่านออกมาจนได้ ทำให้ต่อไปนี้การทำตลาดที่ละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงดังที่ผ่านมา จะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ  กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการขายนมผง ผู้บริโภคจะยังสามารถหาซื้อนมผงได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ แต่สิ่งที่กฎหมายห้ามคือ ห้ามบริษัททำการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งหมายความว่า • ห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต• ห้ามแจกตัวอย่างนมผง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงให้แม่หลังคลอด หรือเมื่อไปแจ้งเกิด • ห้ามการส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญ หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา การขายพ่วง• ห้ามติดต่อกับแม่ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด การจัดอีเวนท์ต่างๆนอกจากนี้ กฎหมายจะมีผลในการห้ามให้ของขวัญหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้วย  ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ กฎหมายจะให้ความสำคัญกับการโฆษณาเพื่อคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด(Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านมา แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย  แต่เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ จะถูกห้ามโฆษณาผ่านสื่อทุกชนิด  ผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมการส่งเสริมการตลาดตามกฎหมายนี้ ประกอบด้วย 1.อาหารสำหรับทารก (อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน) 2.อาหารสำหรับเด็กเล็ก(อาหารที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-3 แต่จะต้องมีประกาศรองรับก่อน ส่วนนี้กรมอนามัยจะเป็นผู้จัดทำประกาศดังกล่าว) และ 3. อาหารเสริมสำหรับทารก ดังนั้นจึงขอฝากถึงบรรดาคุณแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิด ให้ตระหนักและช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่องกิจกรรมการทำตลาดนมผง ที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อดูแลลูกหลานของเราให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารอันแสนวิเศษสุดบนโลกใบนี้สำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 คิดก่อนกิน โปรไบโอติกเม็ด

ผลิตภัณฑ์นี้เป็นอาหารเสริมจากอเมริกาที่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์หรือ ”โปรไบโอติก” จำนวน 10 สายพันธุ์ โดย 1 เม็ดจะประกอบด้วยจุลินทรีย์จำนวน 1 หมื่นล้านตัวที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้มีประสิทธิภาพและเสริมภูมิต้านทานโรค อีกทั้งยังประกอบด้วย “อินนูลิน” ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งเรียกว่า “พรีไบโอติก” ... คำกล่าวอ้างนี้เป็นโฆษณาของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวหนึ่ง ท่านผู้อ่านคิดว่า ข้อความนี้ถูกหรือผิดอย่างไรสำหรับผู้เขียน โฆษณาในแนวนี้ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะมีอะไรผิด เพียงแต่ผู้บริโภคควรถามตนเองว่า ฉันควรซื้อสินค้าชนิดนี้มากินด้วยเหตุผลใด ซึ่งคำตอบนั้นอาจเป็น เพราะไม่มีโอกาสได้กินอาหารที่มีองค์ประกอบ ซึ่งให้โปรไบโอติก(เชื้อแบคทีเรียที่ดีต่อลำไส้) หรือไม่ได้กินอาหารที่ให้พรีไบโอติก(ซึ่งเป็นอาหารสำหรับโปรไบโอติก) หรือไม่มีเวลาที่จะกินอาหารให้ครบห้าหมู่ ดังนั้นการขับถ่ายนั้นจึงไม่ดี บลาๆๆก่อนตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ ผู้อ่านจึงจำเป็นต้องทราบข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน  โปรไบโอติก คือ จุลชีพที่ยังมีชีวิตบางชนิดที่ร่างกายได้รับเสริมเข้าไปจากภายนอก ซึ่งถ้าได้ในปริมาณที่เหมาะสมย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกาย โดยปกติร่างกายเรามีจุลินทรีย์หรือจุลชีพ ที่มีประโยชน์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมการกินหรือการปฏิบัติตนประจำวันทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในลำไส้ไม่สมดุล หรือมีปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีน้อยลง ปัจจัยต่างๆ ที่ว่านั้น เช่น การกินยาปฏิชีวนะเป็นประจำ การกินยาแก้ปวดบ่อยๆ การดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือสูบบุหรี่เป็นนิจ ฯลฯ การกระทำแบบนี้มีส่วนทำให้จำนวนของจุลินทรีย์ที่ดีลดน้อยลงประเด็นหนึ่งซึ่งอาจไม่สำคัญนัก แต่รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม คือ ในทางเดินอาหารของเรานั้น มีแบคทีเรียอยู่ในช่วงระหว่าง 300 ถึง 1000 สายพันธุ์ โดยร้อยละ 99 เป็นแบคทีเรียเพียง 30-40 สายพันธุ์ ดังนั้นการลดเพิ่มจำนวนในแต่ละสายพันธุ์จึงส่งผลดีหรือร้ายต่อร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วมีวิธีการใดที่ทำให้โปรไบโอติกเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้ตั้งแต่เกิดโปรไบโอติกเข้าไปอยู่ในร่างกายเราได้อย่างไรมีหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า ในระบบทางเดินอาหารของเด็กในท้องแม่นั้นอยู่ในสภาพปลอดเชื้อ นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า เมื่อเด็กออกมาจากท้องแม่นั้นแบคทีเรียจากแม่(คิดว่าอาศัยอยู่ในช่องคลอดของแม่) และสิ่งแวดล้อมจะเริ่มเข้าสู่ตัวเด็ก ดังนั้นองค์ประกอบของแบคทีเรียในแต่ละคนจึงมี ความแตกต่างที่มีความคล้ายกันไป นับจากจุดเริ่มต้นของชีวิต และรูปแบบชนิดของโปรไบโอติกจะชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่คลอดตามธรรมชาติมักมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของแบคทีเรียในลำไส้เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่กำเนิดจากการถูกผ่าคลอดมีข้อความโฆษณาจากอินเทอร์เน็ตอีกที่หนึ่งกล่าวประมาณว่า หากแม่รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก ช่องคลอดจะมีโปรไบโอติก ซึ่งเป็นการลดการติดเชื้อราในช่องคลอด เวลาลูกคลอดออกมาก็รับโปรไบโอติกจากแม่ทางปากมดลูก และหากลูกดูดนมแม่ลูกก็ได้รับโปรไบโอติกจากหัวนมแม่ด้วย ซึ่งจะช่วยย่อยน้ำตาลแลคโทสในน้ำนมลดการติดเชื้อในลำไส้เด็ก(Atopic Dermatitis) ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วข้อความดังกล่าวดูแปลกดีเพราะมองไม่ออกว่า โปรไบโอติกที่แม่กินเข้าไปนั้นไปสู่ช่องคลอดและหัวนมของแม่ได้อย่างไรโดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียในขั้นเริ่มต้นของชีวิตเด็กนั้น มักเป็นชนิดที่อยู่ได้ทั้งในสภาพที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน ดังนั้นเมื่อออกซิเจนในทางเดินอาหารตอนล่างหมด แบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจนจึงคงอยู่เป็นหลักในลำไส้ใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่ได้รับนมแม่มักมีแบคทีเรียกลุ่ม bifidobacteria ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก ที่เข้าใจกันว่าเพราะในน้ำนมแม่มีปัจจัย(bifidobacterial growth factor) ที่ช่วยให้แบคทีเรียกลุ่มนี้เจริญดี พร้อมทั้งอุดมไปด้วยพรีไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มนี้ ดังนั้นเด็ก ซึ่งดื่มนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจึงมีแบคทีเรียในลำไส้ต่างไปบ้างจากเด็กที่ดื่มนมแม่จนครบเวลาที่ควรเป็นความสำคัญของโปรไบโอติกกล่าวกันในหลายบทความว่า หน้าที่หลักของโปรไบโอติกคือ ยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยมีกลไกกระตุ้นการหลั่งสารหลายชนิดออกมาต่อต้านและช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายเหล่านั้น และเมื่อโปรไปโอติกเหล่านั้นเข้าไปแล้วก็จะไปรบกวนไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคทั้งหลายเกาะติดผนังลำไส้ และถูกขับออกไปกับอุจจาระในที่สุดส่วนอินนูลินที่มีการเติมในสินค้าข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี  (soluble fiber)  ใยอาหารนั้นไม่ถูกจัดเป็นสารอาหารเพราะร่างกายไม่สามารถย่อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงได้ จึงเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่หลังการย่อยอาหารในแต่ละมื้อ โดยใยอาหารชนิดที่จัดว่าเป็นพรีไบโอติก หรือเป็นอาหารของแบคทีเรียในกลุ่มโปรไบโอติกซึ่งอยู่ในลำใส้ใหญ่ (สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ดีอย่างไรจะกล่าวต่อไป) ส่วนใยอาหารอีกกลุ่มซึ่งอุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) นั้น แม้แบคทีเรียไม่สามารถใช้เป็นอาหารได้ ก็มีประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ จับสารพิษที่หลงเหลือในกากอาหารแล้วนำออกจากร่างกายพร้อมกับอุจจาระ และการช่วยทำให้อุจจาระไม่แข็งจนก่อให้เกิดริดสีดวงทวารยังมีงานวิจัยที่กล่าวว่า ใยอาหารกลุ่มที่อุ้มน้ำได้ดีนั้น มีผลช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ในเลือดและลดระดับโคเรสเตอรอล เพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) และลดระดับปริมาณไขมันเลว (LDL) จึงมีการนำมาใช้กับอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและเป็นอาหารลดความอ้วนได้ ประเด็นเหล่านี้ขอไม่กล่าวในบทความนี้เพราะเป็นเรื่องยาวเกินไปผู้เขียนใคร่ขยายความในประเด็นหนึ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจยังไม่ตระหนักนักคือ ทุกครั้งที่ท่านกินผักหรือผลไม้นั้น ท่านควรได้ใยอาหารทั้งสองกลุ่ม มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของพืช ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี ซึ่งมีสบบัติเป็นพรีไบโอติกนั้นมักมีลักษณะสัมผัสที่นุ่มในปาก ในขณะที่ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำไม่ดีนั้นผู้บริโภคจะรู้สึกหยาบเมื่ออยู่ในปาก ประโยชน์ข้างเคียงของใยอาหารกลุ่มนี้คือ การทำความสะอาดซอกฟัน โดยผักที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คะน้า ซึ่งมีก้านใบเป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีแต่เนื้อใบเป็นส่วนที่อุ้มน้ำได้ดีกว่า และถ้าต้องการตัวอย่างของอาหารที่มีใยอาหารอุ้มน้ำดีในปริมาณสูงก็ให้นึกถึง กล้วยชนิดต่างๆ หรือผักตระกูลแตงต่างๆกลับมาที่ประเด็น ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ในตอนต้นของบทความว่า ท่านผู้อ่านรู้ตัวได้อย่างไรว่า ต้องการกินโปรไบโอติกและ/หรือพรีไบโอติก คำตอบนั้นไม่ยากนักโดยให้พิจารณาว่า หากตื่นนอนแล้วปฏิบัติการถ่ายอุจจาระหลังตื่นนอนไม่ไหลลื่นตามที่ควรเป็น(ก่อให้เกิดการคั่งค้างของกากอาหารในลำไส้ใหญ่) เมื่อนั้นท่านผู้อ่านควรคิดถึงโปรไบโอติกและพรีไบโอติกได้แล้วคำถามที่ควรตามมาคือ จำเป็นต้องซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งให้โปรไบโอติกหรือพรีไบโอติก หรือให้ทั้งสองอย่างซึ่งมักมีการใช้คำว่า ซินไบโอติก (synbiotic) หรือไม่ คำตอบคือ ท่านอยากกินสิ่งนี้ในรูปของอาหารที่มีรสชาติ หรือในรูปเม็ดยาซึ่งไม่มีรสอะไรในอินเทอร์เน็ตนั้น มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของโปรไบโอติกอย่างมากมาย แต่ข้อมูลที่ดูจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยคือ อาหารหมักดองของภาคต่างๆ นั่นเอง  แต่เน้นว่า ควรเป็นผักดอง ซึ่งเราควรกินดิบเพื่อให้ได้จุลินทรีย์ที่มีชีวิต แต่ในกรณีของเนื้อสัตว์หมักดอง เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า หอยดอง นั้น ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้กินดิบเพราะโอกาสได้รับพยาธิมีสูงมาก อันตราย แต่ถ้าทำให้สุกโปรไบโอติกก็ตายไปหมดสิ่งที่เหลือคือความอร่อยเท่านั้นสำหรับพรีไบโอติกนั้น ในกรณีที่ท่านผู้อ่านไม่นิยมกินในรูปเม็ดยา ท่านสามารถกินผักและผลไม้ดังที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้น(คะน้า กล้วย แตง) และหากเป็นอาหารที่อยู่ในรูปที่เรียกว่า ซินไบโอติกของไทย แบบซื้อง่ายและกินได้คล่องนอกช่วงเข้าพรรษาก็คือ ข้าวหมาก ยิ่งถ้าเป็นข้าวหมากจากข้าวเหนียวดำแล้ว นอกจากจะได้โปรไบโอติกและพรีไบโอติก ท่านยังได้สารต้านออกซิเดชั่นและสารต้านการก่อกลายพันธุ์พร้อมกันไปด้วย แต่อาจต้องรู้ไว้ก่อนว่า ท่านไม่ควรกินข้าวหมากมากไป เพราะอาจถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ในลมหายใจได้ และอาหารนี้ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่เด็กและสตรีมีครรภ์กิน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 กระแสต่างแดน

หยิบชิ้นปลามันชาวแคนาดาคือ คนกลุ่มแรกที่ได้ลิ้มรสปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรม เพราะแคนาดาเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้ตัวว่ารับประทานเข้าไปตอนไหน! ความแตกเมื่อรายงานประจำไตรมาสของบริษัทอควาบาวน์ตี้ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่บนเกาะพรินซ์เอ็ดเวิร์ด ระบุว่าได้ขายเนื้อปลาที่ว่านี้ไป 4,500 กิโลกรัมในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน  แต่จนถึงขณะนี้บริษัทสัญชาติอเมริกันก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าส่งไปขายที่เมืองใดบ้างแม้บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ขายได้โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลาก และได้รับการรับรองมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาคาใจคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และในช่วง 20 ปีผ่านมารัฐบาลก็มีความโปร่งใสในเรื่องนี้น้อยมากล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกมากำชับให้ “โรงงาน” บนเกาะดังกล่าว ซึ่งมีกำลังผลิตถึง 250 ตันต่อปีปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะถูกสั่งปิด   สถานีต่อไป..โลกรู้แล้วว่าตลาดปลาซึกิจิอันเลื่องชื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่ในเขตโกโตะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจุดเดิมสองกิโลเมตร แต่บรรดาลูกค้าตัวจิ๋วที่เคยเดินทางมาด้วยระบบท่อระบายน้ำใต้ดินเพื่อกินเศษปลาและเศษผักในช่วงบ่ายๆ  จะย้ายไปที่ไหนใครรู้บ้างตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เทศบาลนครโตเกียวได้เริ่มปฏิบัติการกำจัดหนูเพื่อป้องกันไม่ให้มันยกครัวไปลงมือที่อื่น เขาบอกว่างานนี้ไม่ง่ายเลยเพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และหนูส่วนใหญ่เป็นหนูสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่ใกล้น้ำ ว่ายน้ำเก่ง และเท้าที่เปียกตลอดเวลาของมันก็ทำให้มันไม่ติดกับดักง่ายๆ อีกด้วยเฉลยนิด ว่าเป้าหมายใหม่ของมันคือ ย่านกินซ่าที่มีห้างสรรพสินค้ามากมายพร้อมศูนย์อาหาร ไหนจะร้านอาหารจำนวนมากที่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว กินซ่าห่างจากตลาดซึกิจิเดิมแค่หนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น ทวงออกสื่อเมืองมังกาลอร์ทางตอนใต้ของอินเดียมีทะเบียนผู้ซื้อน้ำดื่มจากเทศบาลประมาณ 85,000 ราย จากจำนวนนี้มีถึง 50,000 รายที่ยังค้างจ่าย คิดเป็นยอดหนี้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านรูปีบางคนค้างค่าน้ำมาตั้งแต่ปี 2000 และมีอยู่ 166 รายที่มีหนี้รวมกันประมาณ 750,000 รูปี ข่าวบอกว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีฐานะดีมังกาลอร์ ซิตี้ คอร์ป ประกาศให้เวลาสองสัปดาห์ในการชำระหนี้ หากเกินกว่านั้นลูกหนี้จะได้เห็นชื่อตัวเองบนหน้าหนังสือพิมพ์ เมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอาหรับแห่งนี้มีวิกฤติน้ำดื่มมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางครั้งมีการปนเปื้อนของสารปรอท บางครั้งท่อน้ำชำรุด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้รับการแก้ไขชั่วคราว(ยังไม่มีวี่แววของมาตรการถาวร) ด้วยการจำกัดเวลาปล่อยน้ำในแต่ละพื้นที่ หลายรายคงไม่ยอมจ่ายเงินเพราะทนบริการแย่ๆ นี้ไม่ได้ บุญไร้ควันไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีมลภาวะทางอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรอบๆ วัดซึ่งมีอยู่ประมาณ 30,000 แห่งทั่วทั้งเกาะ ปีนี้มีผู้อยู่อาศัยที่เดือดร้อนเข้ามาร้องเรียนแล้วกว่า 3,000 รายรัฐบาลไต้หวันซึ่งครองแชมป์ประเทศที่มีวัดหนาแน่นที่สุดในโลก(ประชากรร้อยละ 70 นับถือพุทธหรือเต๋า) จึงเริ่มนโยบายจำกัดการใช้ธูปหรือเผากระดาษเงินกระดาษทองในการทำบุญเซ่นไหว้ ขณะนี้มีวัดที่ให้ความร่วมมือแล้ว 1,100 แห่ง บางแห่งยกเลิกการใช้ธูป หลายวัดขอให้ญาติโยมจุดธูปเพียง 1 ดอก(จากฉบับเต็ม 7 ดอก) ในขณะที่บางแห่งอนุญาตเฉพาะธูปชนิดควันน้อยที่ลูกศิษย์วัดเป็นผู้จุดให้เท่านั้นแต่มีคนนับหมื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไปรวมตัวกันประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี พวกเขามองว่า นี่คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา   จ่ายแล้วเป็น “สูญ”เรื่องปวดหัวอันดับหนึ่งของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นาทีนี้คือ การสูญเงินดาวน์หรือไม่ได้รับบริการที่จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้ากรณีร้องเรียนแบบนี้เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2014 สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจหลายแห่งปิดตัวลงและทำให้ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคสิงคโปร์ มูลค่าการสูญเสียอันดับแรกคือ เงินดาวน์รถยนต์ (2.74 ล้านเหรียญ) ตามด้วยค่าสมาชิกบริการฟิตเนส (1.39 ล้านเหรียญ) และค่าบริการต่อเติมซ่อมแซมบ้าน (1.02 ล้านเหรียญ) และที่ต้องระวังเป็นพิเศษนอกจากนั้นคือ บริการท่องเที่ยว เสริมสวย และเฟอร์นิเจอร์ ทางออกคือ การขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการให้มีการ “คุ้มครองการจ่ายเงินล่วงหน้า” ซึ่งความจริงผู้ประกอบการหลายเจ้ามีทางเลือกนี้อยู่แล้วแต่ลูกค้าไม่นิยมเลือกเพราะต้องการของ “ถูก”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 พลาดเพราะแพทย์

หลายคนมักหมดห่วงหากผู้ป่วยถึงมือหมอแล้ว แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะผู้ป่วยบางคนกลับต้องได้โรคเพิ่มจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ แต่ระหว่างการผ่าตัดแพทย์ผ่าตัดผิดพลาดจนไปโดนไตกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้หลังผ่าตัดเธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ทางโรงพยาบาลจึงยอมรับผิดและยินดีชดเชยเยียวยาให้เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมรับรักษาต่อจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งเธอก็ตกลงยอมรับข้อเสนอ อย่างไรก็ตามเมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่ง ทางโรงพยาบาลกลับยื่นข้อเสนอใหม่ว่า จะเพิ่มเงินเยียวยาให้อีก 50,000 บาท แล้วให้ไปรักษาตัวต่อเอง เพราะประเมินว่าคุณสมพรอาการดีขึ้นแล้ว แต่เธอกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น จึงไม่รับข้อเสนอดังกล่าวและไปทำเรื่องร้องเรียนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งเธอยื่นข้อเสนอให้โรงพยาบาลเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ทาง สบส. จึงแนะนำให้เธอไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ คุณสมพรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำว่าสามารถใช้สิทธิอย่างไรได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยสามารถให้แพทย์ประเมินค่ารักษาพยาบาลจะต้องใช้ในการรักษาพยาบาลทั้งหมด รวมถึงการรักษาต่อในอนาคตได้ จากนั้นควรนัดเจรจาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจริง แต่หากพบว่าเจรจาไม่สำเร็จก็สามารถฟ้องดำเนินคดีต่อได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะมีอายุความ 1 ปี ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง เพื่อลดภาระให้กับผู้บริโภคในการฟ้องคดี โดยให้ผู้ร้องส่งประวัติการรักษาและหนังสือข้อตกลงที่ทำไว้กับโรงพยาบาล พร้อมสรุปค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมา เพื่อทำหนังสือและเจรจากับโรงพยาบาลก่อนเบื้องต้น 

อ่านเพิ่มเติม >